คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22746/2555
จำเลยขับรถจักรยานยนต์มาที่วินรถจักรยานยนต์พูดว่า หากใครไม่จ่ายไม่ให้จอด ระวังจะจำเบอร์ไม่ได้ จำซอยไม่ได้ ขับเงียบ ๆ ใกล้จะหมดเวลาของพวกมึงแล้ว มีลักษณะเป็นการข่มขู่ผู้เสียหายทั้งสามว่าอาจถูกทำร้าย หลังจากมีการแจ้งความร้องทุกข์แล้วแต่ไม่มีการควบคุมตัวจำเลยในระหว่างดำเนินคดี ผู้เสียหายทั้งสามเกรงจะได้รับอันตรายและถูกห้ามขับรถจักรยานยนต์รับจ้างในซอยเกิดเหตุจึงต้องจำยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยวันละ 15 บาท ตามที่จำเลยเรียกร้อง แต่ข้อเท็จจริงที่ผู้เสียหายทั้งสามจำยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยวันละ 15 บาท ภายหลังมีการแจ้งความร้องทุกข์แล้วนั้น ปรากฏแต่ในทางพิจารณาโดยโจทก์ไม่ได้กล่าวไว้ในฟ้อง ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ จึงต้องห้ามมิให้ศาลลงโทษจำเลยโดยอาศัยข้อเท็จจริงนั้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาจึงลงโทษจำเลยได้แต่ในความผิดฐานพยายามกรรโชกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก ประกอบมาตรา 80 เท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22745/2555
จำเลยกับพวกเตรียมอาวุธปืนเพื่อก่อเหตุร้ายโดยต่างทราบดีว่ามีบุคคลใดพาอาวุธปืนชนิดใดติดตัวไป และหากมีเรื่องร้ายแรงเกิดขึ้นก็จะใช้อาวุธปืนดังกล่าว แม้จำเลยรับอาวุธมาแล้วส่งมอบให้ผู้อื่นไปทันที ซึ่งไม่อาจถือได้ว่าจำเลยครอบครองอาวุธปืนดังกล่าวด้วยตนเอง แต่เมื่อจำเลยสมัครใจให้พวกของจำเลยรับอาวุธปืนไปเพื่อใช้ก่อเหตุด้วยกัน ย่อมถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่จะยึดถืออาวุธปืนดังกล่าวร่วมกับพวก การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันมีและพาอาวุธปืน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22725 - 22726/2555
วันเวลากระทำความผิดในสำนวนคดีแรกและในสำนวนคดีที่สองที่โจทก์บรรยายฟ้องทั้งในความผิดฐานลักทรัพย์และความผิดฐานรับของโจรนั้นต่างกัน โจทก์จะฟ้องรวมกันมาเป็นคดีเดียวกันหรือจะแยกฟ้องเป็นคนละคดีก็ได้ การที่โจทก์แยกฟ้องจำเลยในสำนวนคดีแรกและสำนวนคดีที่สองคนละคดีเป็นรายกระทงความผิดจึงกระทำได้ ประกอบกับวันที่จำเลยถูกจับกุมมิใช่วันกระทำความผิด และทรัพย์ที่ยึดได้ก็เป็นทรัพย์ของผู้เสียหายคนละคนต่างรายการกัน มิใช่ทรัพย์ของผู้เสียหายคนเดียวกัน นอกจากนี้เจ้าพนักงานตำรวจก็ตรวจค้นพบทรัพย์ของกลางที่บ้านพวกของจำเลยและที่ห้องพักของจำเลยคนละวันกัน แสดงว่าทรัพย์ของกลางที่ถูกตรวจค้นพบทั้งสองครั้งจำเลยมิได้รับไว้ในคราวเดียวกัน จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดวันเดียวกัน คำฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานรับของโจรจึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระคนละกระทงความผิดกัน
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจร เป็นการฟ้องให้ศาลเลือกลงโทษจำเลยในข้อหาใดข้อหาหนึ่งตามที่พิจารณาได้ความ ศาลไม่อาจลงโทษจำเลยพร้อมกันทั้งสองข้อหาได้ เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจร จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว เพียงแต่ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ส่วนศาลอุทธรณ์เห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ดังนั้นแม้โจทก์และโจทก์ร่วมมิได้ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานรับของโจร ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานรับของโจรได้ตามที่โจทก์บรรยายข้อเท็จจริงดังกล่าวมาในฟ้องแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22658/2555
ก. ออกเช็คสั่งให้ธนาคารโจทก์ร่วมจ่ายเงินให้แก่ผู้ถือ จำเลยนำเช็คไปเรียกเก็บเงินตามวิธีการของธนาคารในขณะที่จำเลยเป็นผู้ถือเช็คดังกล่าว จำเลยจึงเป็นผู้มีเช็คไว้ในครอบครองในฐานเป็นผู้รับเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 904 ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเงินตามเช็คได้ เมื่อเช็คถึงกำหนดจำเลยนำเช็คฝากเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารของจำเลยเพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารโจทก์ร่วมจำต้องใช้เงินตามเช็คซึ่ง ก. ผู้เคยค้ากับธนาคารโจทก์ร่วมให้แก่จำเลย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม่มีเงินในบัญชีของ ก. เป็นเจ้าหนี้พอจะจ่ายตามเช็คนั้น กรณีจึงต้องด้วยข้อยกเว้นตาม (1) ตาม ป.พ.พ. มาตรา 991 ซึ่งให้สิทธิแก่ธนาคารโจทก์ร่วมที่จะไม่จ่ายเงินตามเช็คได้โดยไม่ต้องรับผิดต่อผู้เคยค้าหรือผู้สั่งจ่าย หรือธนาคารโจทก์ร่วมจะจ่ายเงินตามเช็คนั้นก็ได้ ซึ่งครั้งแรกธนาคารโจทก์ร่วมใช้สิทธิปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คโดยให้เหตุผลว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่าย แม้ต่อมาโจทก์ร่วมจะดำเนินการทางบัญชีผิดพลาดอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อจากพนักงานของธนาคารโจทก์ร่วม โดยธนาคารโจทก์ร่วมได้จ่ายเงินไปตามที่ ก. ออกเช็คสั่งจ่ายมา ถือว่าธนาคารโจทก์ร่วมใช้ดุลพินิจจ่ายเงินตามเช็คแล้วภายหลังจะอ้างว่าสั่งจ่ายโดยไม่มีเงินในบัญชีของ ก. พอที่จะจ่ายตามเช็คนั้น เพื่อนำมาเป็นเหตุปฏิเสธความรับผิดว่าเป็นการจ่ายเงินตามเช็คโอนเข้าบัญชีของจำเลยผู้ทรงเช็คโดยสุจริตโดยสำคัญผิดหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22267/2555
กฎหมายมิได้กำหนดรูปแบบของการร้องทุกข์ว่าต้องดำเนินการอย่างไร การที่โจทก์ร่วมแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า ประสงค์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย และพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำโจทก์ร่วมไว้ จึงถือว่าเป็นการร้องทุกข์แล้ว แม้พนักงานสอบสวนไม่ได้บันทึกการมอบคดีความผิดอันยอมความไว้ก็ตาม พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ร่วมมอบเงินให้จำเลยไว้ใช้จ่ายร่วมกันในครอบครัว การที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ร่วมเป็นชาวต่างชาติไม่สามารถเปิดบัญชีได้ จำเลยจึงเปิดบัญชีและฝากเงินในชื่อของจำเลยเพียงคนเดียว ถือได้ว่าจำเลยครอบครองเงินที่โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เมื่อโจทก์ร่วมบอกให้จำเลยคืนเงินแต่จำเลยไม่ยอมคืนให้แก่โจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังยักยอกเอาเงินซึ่งโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปเป็นของตนโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอก หาใช่เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นไม่ แต่เมื่อโจทก์ร่วมและจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกันในเงินดังกล่าว โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเพียงกึ่งหนึ่งในเงินจำนวนดังกล่าวเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22039/2555
แม้จำเลยจะกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันโดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จย้ายชื่อบุคคลทั้งแปดเข้าไปมีชื่อในทะเบียนบ้านของผู้อื่น และแจ้งย้ายชื่อ พ. และ น. วันเดียวกัน แจ้งย้ายชื่อ ก. ต. ย. และ ม. กับ ส. วันเดียวกัน กับแจ้งย้ายชื่อ ธ. อีกวันก็ตาม แต่จำเลยก็แจ้งย้ายชื่อบุคคลต่างรายกันและเข้าไปในทะเบียนบ้านคนละฉบับกัน จำเลยจึงมีเจตนากระทำความผิดแยกต่างหากจากกันตามจำนวนครั้งที่จำเลยแจ้งย้ายบุคคลเข้าไปมีชื่อในทะเบียนบ้านของผู้อื่นแต่ละฉบับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20395/2555
ความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 เป็นคดีอาญาความผิดต่อแผ่นดิน มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวที่ห้ามพนักงานสอบสวนทำการสอบสวน เว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนโดยมิพักต้องมีผู้เสียหายตามกฎหมายมาร้องทุกข์กล่าวโทษ การที่ผู้เสียหายจะเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ จึงมิใช่ข้อสาระสำคัญของการสอบสวน ดังนี้ แม้ผู้เสียหายจะยินยอมให้ดอกเบี้ยแก่จำเลยในอัตราที่ขัดต่อกฎหมาย พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20388/2555
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย แต่ความผิดดังกล่าวรวมการกระทำหลายอย่าง ซึ่งแต่ละอย่างเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง เมื่อจำเลยใช้กำลังทำร้ายดาบตำรวจ ว. แต่ไม่เป็นเหตุให้ดาบตำรวจ ว. ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นแต่ไม่เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ซึ่งมีบทลงโทษเบากว่าตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20377/2555
การที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันเก็บกวาดเศษกระจก และเศษชิ้นส่วนของรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ตายขับเฉี่ยวชนกับรถไถนาที่จำเลยที่ 1 ขับ ซึ่งตกอยู่ในที่เกิดเหตุ และจำเลยที่ 2 นำรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ตายขับซึ่งล้มอยู่ในที่เกิดเหตุไปทิ้งลงในคลองชลประทาน เป็นการกระทำด้วยเจตนาอันเดียวกัน คือ เพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 มิให้ต้องรับโทษ และเป็นการกระทำในคราวเดียวกัน ต่อเนื่องกัน การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันเพื่อจะช่วยเหลือผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษ ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำความผิดตาม ป.อ.มาตรา 184 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเรื่องดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 4 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20375/2555
จำเลยที่ 1 ใช้ปืนซึ่งเป็นอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรงยิงผู้เสียหาย ขณะที่ผู้เสียหายกอดรัดอยู่กับจำเลยที่ 2 แม้กระสุนปืนจะเฉี่ยวศีรษะของผู้เสียหายไปเป็นเหตุให้มีเพียงบาดแผลฉีกขาดที่ศีรษะได้รับบาดเจ็บเท่านั้นก็ตาม ก็ถือได้ว่าเป็นการยิงโดยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายและจำเลยได้กระทำไปตลอดครบองค์ประกอบของความผิดฐานพยายามฆ่าแล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า เมื่อผู้เสียหายหนีไปอยู่หลังกระต๊อบ จำเลยที่ 2 ไปลากผู้เสียหายออกมาแล้ว จำเลยที่ 1 จะยับยั้งไม่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายต่อไปจนถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ก็ยังต้องรับโทษสำหรับความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นที่ได้กระทำไปแล้ว กรณีหาใช่การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 เป็นการยับยั้งเสียเองไม่กระทำให้ตลอดหรือจำเลยที่ 1 กลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำนั้นบรรลุผลอันจะทำให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับโทษสำหรับการกระทำความผิดนั้น ตาม ป.อ. มาตรา 82
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20100/2555
แม้ตามฟ้องคดีนี้จะระบุว่าเหตุเกิดระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2548 ก็ตามแต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ความจากคำเบิกความของ ม. ผู้เสียหายที่ 1 และ ป. เพื่อนผู้เสียหายที่ 1 ตรงกันว่า ระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2548 ผู้เสียหายที่ 1 ได้ออกจากบ้านไปพักอยู่กับ ป. มาโดยตลอด จนกระทั่งวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ผู้เสียหายที่ 1 จึงเดินทางจากบ้านของ ป. ที่จังหวัดนครราชสีมาไปหาจำเลยที่จังหวัดอุบลราชธานีโดยจำเลยโอนเงินค่ารถไฟไปให้ 300 บาท แล้วจำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปอยู่ด้วยกัน ดังนั้นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ของจำเลยจึงเกิดขึ้นและเป็นความผิดสำเร็จในวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ซึ่งข้อแตกต่างกันเกี่ยวกับเวลากระทำความผิดเช่นนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ถือว่าเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียดมิใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญ เมื่อจำเลยไม่หลงข้อต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นได้ ตามมาตรา 192 วรรคสามประกอบวรรคสอง กรณีจึงต้องถือว่าเหตุความผิดฐานพรากผู้เยาว์ในคดีนี้เกิดขึ้นในวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ตามที่พิจารณาได้ความ หาใช่เหตุเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2548 ดังที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องไม่ เมื่อปรากฏว่าจำเลยถูกพนักงานอัยการจังหวัดนครราชสีมาเป็นโจทก์ฟ้องในข้อหาความผิดฐานพรากผู้เยาว์ ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 538/2550 ของศาลจังหวัดนครราชสีมาอีกคดีหนึ่ง โดยบรรยายฟ้องว่าเหตุเกิดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2549 กรณีจึงเป็นความผิดกรรมเดียวกัน ซึ่งคดีดังกล่าวจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยฐานพรากผู้เยาว์จึงเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) การที่โจทก์นำเอาการกระทำของจำเลยที่พรากผู้เยาว์ในคดีดังกล่าวมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีก จึงเป็นฟ้องซ้ำตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20075/2555
จำเลยหลอกลวงให้ผู้เสียหายทั้งสองนำเงินที่จะซื้อหวยมาทำพิธีทาน้ำมันตาทิพย์ก่อนจึงจะแทงหวยถูก เมื่อผู้เสียหายทั้งสองนำเงินใส่บาตรเพื่อให้จำเลยทำพิธี จำเลยไม่คืนเงินให้โดยแจ้งว่าขอให้นำเงินดังกล่าวร่วมทุนกับทางวัดเพื่อไปซื้อหวย ความจริงผู้เสียหายที่ 1 ไม่ยินยอม แต่กลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่ตนและบุตรชาย แสดงว่าผู้เสียหายทั้งสองไม่มีเจตนาที่จะมอบเงินให้จำเลยไปซื้อหวยให้ เพราะสามารถซื้อเองได้อยู่แล้ว ผู้เสียหายทั้งสองจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมีสิทธิร้องทุกข์ให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีแก่จำเลยกับพวกได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19980/2555
ความผิดฐานฟ้องเท็จและเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญา โจทก์ต้องบรรยายฟ้องถึงข้อความที่อ้างว่าเป็นเท็จ โดยมีความจริงว่าอย่างไรและผู้กระทำทราบว่าความที่นำไปฟ้องและเบิกความเป็นเท็จด้วย ที่โจทก์กล่าวบรรยายฟ้องว่า การที่ ว. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 250/2548 ของศาลชั้นต้น โจทก์เพียงบรรยายและเรียงคำฟ้องในฐานะทนายความที่รับคำบอกเล่ามาจาก ว. ซึ่งเป็นลูกความ ข้อความที่ปรากฏในคำฟ้องจะเป็นความเท็จหรือความจริงโจทก์ย่อมไม่มีโอกาสทราบได้ หากในเวลาภายหน้าความปรากฏว่า คำฟ้องเป็นความเท็จผู้ที่จะต้องรับผิดชอบคือ ว. ไม่ใช่โจทก์นั้น เป็นเพียงการอ้างผลของคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 310/2548 หมายเลขแดงที่ 895/2549 ของศาลชั้นต้น ว่าศาลในคดีดังกล่าววินิจฉัยชี้ขาดคดีว่าอย่างไรเท่านั้น มิใช่เป็นการกล่าวยืนยันข้อความใดที่อ้างว่าเป็นความเท็จ โดยความจริงมีว่าอย่างไรแต่อย่างใด
ส่วนที่โจทก์กล่าวว่า โจทก์ทำหน้าที่เพียงเป็นทนายความที่รับคำบอกเล่ามาจาก ว. ตัวความซึ่งจำเลยทั้งสองทราบดี แต่การเป็นทนายความผู้เรียงคำฟ้องก็อาจเป็นตัวการร่วมกับตัวความกระทำความผิดฐานฟ้องเท็จได้ หากทนายความกระทำไปโดยรู้เห็นหรือร่วมกับตัวความวางแผนเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นมาตั้งแต่ต้น โจทก์จึงต้องบรรยายฟ้องยืนยันข้อเท็จจริงที่เป็นความจริงด้วยว่า ความจริงจำเลยทั้งสองทราบเป็นอย่างดีว่า โจทก์มิได้รู้เห็นหรือทราบมาก่อนว่าเรื่องราวตามที่โจทก์บรรยายและเรียงคำฟ้องในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 250/2548 ของศาลชั้นต้น เป็นความเท็จ ลำพังการอ้างว่า โจทก์บรรยายและเรียงคำฟ้องในฐานะทนายความ จึงมิใช่เป็นการกล่าวถึงข้อความที่อ้างว่าเป็นเท็จนั้นเช่นไร โดยมีความจริงเป็นอย่างไรและจำเลยทั้งสองทราบดีเช่นเดียวกัน ถือว่าฟ้องโจทก์มิได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายของจำเลยทั้งสองที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 ฟ้องเท็จและจำเลยทั้งสองเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) คดีไม่มีมูลความผิดตาม ป.อ. มาตรา 175 และ 177 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19979/2555
จำเลยเพียงแต่โทรศัพท์นัดให้โจทก์ร่วมที่ 3 ไปพบบริเวณที่เกิดเหตุ โดยโจทก์ร่วมที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์ไปพบ แล้วจำเลยข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 3 บริเวณจุดที่นัดพบทุกครั้ง ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้พาโจทก์ร่วมที่ 3 ไปที่อื่นอีก แสดงว่าจำเลยมิได้หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังโจทก์ร่วมที่ 3 การที่จะเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จะต้องเป็นการพาไปหรือแยกเด็กออกไปจากความปกครองดูแล ทำให้ความปกครองดูแลของบิดามารดาหรือผู้ปกครองเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน ซึ่งคำว่า "พราก" ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หมายความว่า จากไป พา เอาไปจาก แยกออกจากกัน หรือเอาออกจากกัน ดังนั้น การกระทำของจำเลยดังกล่าวยังไม่เข้าลักษณะพา และแยกเด็กไปจากความปกครองดูแลของผู้ปกครองเด็กอันทำให้ความปกครองดูแลของผู้ปกครองเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนสิทธิ จึงไม่เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19958/2555
ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตาม ป.อ. มาตรา 317 แม้จะมุ่งคุ้มครองมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวน หรือกระทำการใด ๆ อันจะกระทบต่ออำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็ก แต่กรณีจะเป็นความผิดดังกล่าวได้จะต้องมีการกระทำที่เป็นการพราก ซึ่งหมายถึงการพาไปเสียประกอบด้วย การที่เด็กทั้งห้ามาที่ห้องพักของจำเลยด้วยความสมัครใจ จำเลยไม่เคยเป็นผู้พามา และเด็กทั้งห้าสามารถกลับบ้านของตนเองได้เสมอหากต้องการเช่นนั้น เช่นนี้จำเลยจึงมิได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการพรากเด็กทั้งห้าไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล จำเลยย่อมไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19715/2555
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายกระทำอนาจารโจทก์ร่วมใช้มือดึงเสื้อและเสื้อชั้นในของโจทก์ร่วมขึ้นแล้วจับหน้าอกของโจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมดึงเสื้อดังกล่าวลงมา จำเลยยังเอามือสอดเข้าไปใต้เสื้อของโจทก์ร่วม แล้วใช้มือกดที่หน้าอกของโจทก์ร่วมหลายครั้งและจำเลยเอามือสอดเข้าไปใต้กางเกงของโจทก์ร่วมและกดตรงหัวเหน่าของโจทก์ร่วมในขณะที่จำเลยตรวจรักษาโรคให้โจทก์ร่วม ซึ่งโจทก์ร่วมอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ เช่นนี้ ถือว่า การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายในฟ้องเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตาม ป.อ. มาตรา 1 (6) และโจทก์ร่วมอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ฟ้องของโจทก์จึงบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19513 - 19514/2555
พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 กับพวกตระเตรียมอาวุธปืนมาแก้แค้นทำร้าย บ. พวกของโจทก์ร่วม แต่เมื่อไม่พบ บ. ก็ไปสอบถามและนำโจทก์ร่วมนั่งรถกระบะให้พาไปตามหา บ. โดยขับรถจากเขตเทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานีไปถึงอำเภอเคียนซา แล้วย้อนกลับมาตามถนนสายกระบี่ - ขนอม เป็นเวลาหลายชั่วโมง ครั้นไม่พบ บ. จึงขับไปหยุดรถบนสะพานข้ามแม่น้ำตาปี หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองกับพวกทั้งหมดก็ลงจากรถและพาโจทก์ร่วมไปยังท้ายรถให้จำเลยที่ 2 กับพวกอีก 2 คน ใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมคนละนัดติดต่อกันรวม 3 นัด แล้วร่วมกันจับโจทก์ร่วมโยนทิ้งลงในแม่น้ำตาปีเช่นนี้ แม้ทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมจะไม่ได้ความว่ามีการตกลงสมคบกันวางแผนล่วงหน้าที่จะฆ่าโจทก์ร่วมมาก่อน แต่การทำร้ายโจทก์ร่วมก็เห็นได้ว่ามิได้เกิดขึ้นจากโทสะที่พลุ่งขึ้นเฉพาะหน้าแล้วทำร้ายในทันทีทันใด แต่น่าจะเป็นการเกิดโทสะขึ้นก่อนจากการที่โจทก์ร่วมไม่บอกที่อยู่และไม่สามารถพาไปตามหา บ. ได้ จึงเกิดความคิดร่วมกันที่จะทำร้ายและฆ่าโจทก์ร่วมขึ้นในภายหลัง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่จำเลยทั้งสองกับพวกจะต้องใช้เวลาไตร่ตรองและตัดสินใจอยู่เป็นเวลานานในการตกลงใจกระทำผิดในครั้งนี้ จึงเป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ. มาตรา 289 (4)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19406/2555
ผู้เสียหายร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาพยายามข่มขืนกระทำชำเราโดยใช้กำลังประทุษร้าย พฤติการณ์ของจำเลยที่ใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้เสียหายก็เพียงเพื่อให้ผู้เสียหายเกรงกลัวและยอมให้จำเลยข่มขืนกระทำชำเรา อันเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเราโดยใช้กำลังประทุษร้ายตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคแรก ประกอบมาตรา 80 ดังนั้น เมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ในข้อหาพยายามข่มขืนกระทำชำเราโดยใช้กำลังประทุษร้ายจึงย่อมมีผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในข้อหาทำร้ายร่างกายระงับไปด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19287/2555
จำเลยเป็นเพียงผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนโจทก์ การที่จำเลยรู้อยู่แล้วว่าโฉนดที่ดินพิพาทอยู่ในความครอบครองของโจทก์มิได้สูญหาย แต่กลับไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าโฉนดที่ดินพิพาทสูญหาย แล้วนำบันทึกคำแจ้งความไปขอออกใบแทนโฉนดที่ดินแล้วโอนขายที่ดินพิพาทให้บุคคลภายนอก เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137 และโจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายเป็นพิเศษในการกระทำความผิดดังกล่าว มีอำนาจฟ้องคดีได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19280/2555
การที่จำเลยรับสัญญากู้เงินไว้จากโจทก์ แต่จำเลยไม่นำสัญญากู้เงินฉบับดังกล่าวฟ้อง ว. ต่อศาล เมื่อโจทก์ขอคืนแต่จำเลยไม่ให้ จึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น แต่โจทก์ยังมีสำเนาหนังสือสัญญากู้เงิน โจทก์ย่อมนำสำเนาเอกสารหรือพยานบุคคลมาสืบได้ โดยอ้างว่าต้นฉบับเอกสารสูญหายหรือถูกทำลายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 (2) โจทก์จึงไม่เสียสิทธิที่จะฟ้องบังคับให้ ว. ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินได้ การที่จำเลยไม่คืนสัญญากู้เงินให้แก่โจทก์ จึงไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเงินตามสัญญากู้เงิน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19246/2555
โจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้กับคดีอาญาอื่นอีกสี่สำนวนของศาลชั้นต้นในวันเดียวกัน ศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้กับในคดีอื่นอีกสามสำนวนติดต่อกันไป ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาคดีนี้ โจทก์ย่อมไม่อาจแถลงต่อศาลชั้นต้นได้ว่าคดีอื่นอีกสามสำนวนนั้นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยหรือไม่ อย่างไร ตามพฤติการณ์ถือได้ว่าความปรากฏต่อศาลและคู่ความชัดแจ้งแล้วว่าคดีอื่นอีกสามสำนวนนั้นศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาให้นับโทษจำเลยติดต่อกันได้ โดยไม่จำต้องให้โจทก์แถลงต่อศาลซ้ำอีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19016/2555
จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ซึ่งมิใช่ความผิดต่อส่วนตัว แม้จำเลยจะยินยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วม ก็หาทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18982/2555
จำเลยนั่งรถยนต์ที่มี ร. เป็นผู้ขับเพื่อส่งเมทแอมเฟตามีนให้สายลับ เมื่อถึงจุดนัดหมาย ร. จอดรถสายลับเดินไปทางด้านซ้ายของรถที่จำเลยนั่งอยู่แล้วกระจกประตูรถด้านซ้ายลดลงสายลับคุยกับบุคคลภายในรถแล้วคนในรถส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับและสายลับส่งธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อให้แก่คนในรถ หากจำเลยมิได้มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องสายลับก็ต้องเดินไปหา ร. ซึ่งเป็นคนขับ ตามพฤติการณ์บ่งชี้ว่า จำเลยรู้เห็นในการจำหน่ายและได้ช่วยเหลือในการส่งมอบเมทแอมเฟตามีนจนทำให้การซื้อขายเป็นผลสำเร็จ อันถือได้ว่าจำเลยช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ ร. ในการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18641/2555
ความผิดฐานรับของโจรตาม ป.อ. มาตรา 357 นั้น กฎหมายมิได้บัญญัติว่าความผิดฐานลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชกทรัพย์ รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์จะต้องเป็นความผิดที่ปรากฏตัวผู้กระทำความผิดและศาลพิพากษาลงโทษเป็นความผิดแล้ว ผู้ที่ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด จึงจะมีความผิดฐานรับของโจร ดังนั้น แม้ความผิดที่บัญญัติไว้ในมาตรา 357 จะไม่ปรากฏตัวผู้กระทำความผิดเลยก็ตาม ผู้ที่ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ โดยประการใด ก็ย่อมมีความผิดฐานรับของโจรได้