คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15732/2558 พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ม. 57, ม. 99 วรรคหนึ่ง
ในการพิพากษาคดีแพ่งศาลต้องพิจารณาตามหลักเรื่องภาระการพิสูจน์และการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานว่าฝ่ายใดมีน้ำหนักดีกว่ากัน เมื่อทางนำสืบของโจทก์มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า จำเลยซึ่งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลใหม่พัฒนา จัดทำโครงการทัศนศึกษาดูงานที่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านสา อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง โดยใช้งบประมาณของทางราชการ แต่กลับนำคณะทัศนศึกษาดูงานไปลงแพที่เขื่อนกิ่วลม และมีการจัดเลี้ยงอาหารและสุราแก่คณะเดินทางเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลย โดยมิได้มีการอบรมและศึกษาดูงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ การกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ ตามมาตรา 99 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว
การใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว มิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ที่ศาลจะต้องถือข้อเท็จจริงตามคดีอาญาที่จำเลยถูกฟ้องขอให้ลงโทษตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวแต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15731/2558 ป.อ. ม. 90, ม. 91 พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ.2518 ม. 30, ม. 63, ม. 71, ม. 72/4
ตาม พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ.2518 ผู้ฝ่าฝืนมาตรา 30 (1) (5) ถ้าเป็นปุ๋ยเคมีจะมีบทลงโทษตามมาตรา 63 และ 71 เป็นปุ๋ยอินทรีย์จะมีบทลงโทษตามมาตรา 72/4 ซึ่งมีโทษแตกต่างกัน บทบัญญัติดังกล่าวแยกการกระทำความผิดเกี่ยวกับปุ๋ยทั้งสองชนิดออกจากกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน แต่ปุ๋ยเคมีที่จำเลยผลิต แม้จะเป็นคนละตรากันแต่จำเลยมีเจตนาเดียว ทั้งจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบก็ไม่ได้ความชัดเจนว่า จำเลยผลิตปุ๋ยดังกล่าวต่างวาระกันอย่างไร การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15722/2558 ป.วิ.พ. ม. 179, ม. 180, ม. 181
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่านายสมเกียรติ คล้ายทอง กับนายสมเกียรติ์ คล้ายทอง เป็นบุคคลคนเดียวกัน การขอแก้ไขเพิ่มเติมชื่อนายสมเกียรติ์ เข้ามา จึงมิใช่เป็นกรณีฟ้องจำเลยที่ 3 ผิดตัวหรือฟ้องคดีต่างบุคคลกันและมิใช่เป็นการเพิ่มเติมข้อหาใหม่ หากแต่เป็นการเพิ่มเติมในรายละเอียดให้ชัดเจนถูกต้องตรงตามความเป็นจริง แม้จะอยู่ในชั้นบังคับคดี แต่ก็มิได้เป็นการเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาหรือเป็นการบังคับคดีนอกเหนือไปจากคำพิพากษาอย่างใด ทั้งกรณีเช่นนี้มิใช่เป็นการแก้ไขคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 ฉะนั้น จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 180 และมาตรา 181 ที่จะต้องถูกจำกัดระยะเวลาการยื่นคำร้องว่าต้องยื่นก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยาน และไม่จำต้องส่งสำเนาคำร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งก่อน
การแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำฟ้องของโจทก์ให้บริบูรณ์เพื่อแสดงและยืนยันตัวบุคคลว่าเป็นบุคคลคนเดียวกัน เมื่อ"นายสมเกียรติ" กับ "นายสมเกียรติ์" เป็นบุคคลคนเดียวกัน การขอแก้ไขเพิ่มเติมชื่อนายสมเกียรติ์เข้ามา จึงมิใช่เป็นกรณีฟ้องผิดตัวหรือฟ้องคดีต่างบุคคลกันและมิใช่เป็นการเพิ่มเติมข้อหาใหม่ หากแต่เป็นการเพิ่มเติมในรายละเอียดให้ชัดเจนถูกต้องตรงตามความเป็นจริง แม้จะอยู่ในชั้นบังคับคดี แต่ก็มิได้เป็นการเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาหรือเป็นการบังคับคดีนอกเหนือไปจากคำพิพากษาอย่างใด ทั้งมิใช่เป็นการแก้ไขคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 179 ฉะนั้น จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 180 และมาตรา 181 ที่จะต้องถูกจำกัดระยะเวลาการยื่นคำร้องว่าต้องยื่นก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยาน และไม่จำต้องส่งสำเนาคำร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งก่อน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15721/2558 ป.พ.พ. ม. 850, ม. 852, ม. 1612, ม. 1613, ม. 1750
ตามบันทึกถ้อยคำไม่รับมรดกที่โจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสอง และ ก. ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินมีใจความสำคัญว่า ที่ดินพิพาทที่มีชื่อ ว. เจ้ามรดกเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ อ. สามีของ ว. ได้มายื่นเรื่องราวขอรับมรดกที่ดินแปลงนี้ของ ว. ซึ่งโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสอง และ ก. ทายาทของ ว. ไม่ประสงค์จะขอรับมรดกที่ดินแปลงนี้ และยินยอมให้ อ. เป็นผู้ขอรับมรดกแต่เพียงผู้เดียว ต่อมา อ. จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสอง ดังนี้ ไม่ใช่การสละมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1612, 1613 เพราะการสละมรดกต้องเป็นการสละส่วนของตนโดยไม่เจาะจงว่าจะให้แก่ทายาทคนใด แต่บันทึกถ้อยคำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการประนีประนอมยอมความมีผลบังคับได้ตามมาตรา 850, 852 และ 1750 วรรคสอง โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ว. จึงไม่มีสิทธิฟ้องแบ่งที่ดินพิพาทจากจำเลยทั้งสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15711/2558 ป.พ.พ. ม. 150 พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ม. 39
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของรัฐในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมอบที่ดินพิพาทและอนุญาตให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน มิได้มีผลให้โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท คงมีแต่เพียงสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเท่านั้น พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 39 บัญญัติว่า "ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมหรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร ฯลฯ" นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองจึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เจ้าหน้าที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดนครราชสีมาแจ้งให้โจทก์ทราบแล้วว่าหากจำหน่ายจ่ายโอนหรือให้เช่าที่ดินพิพาท โจทก์จะสิ้นสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททันที การที่โจทก์กลับมาอ้างว่าให้จำเลยทั้งสองเช่าที่ดินพิพาท มิได้โอนขายสิทธิในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองและโจทก์ยังมีชื่อเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จึงฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทไปจากโจทก์เอง ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาท ส่วนการที่จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเป็นกรณีที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบหลักเกณฑ์ต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15710/2558 ป.วิ.พ. ม. 55, ม. 142 วรรคหนึ่ง ป.พ.พ. ม. 1382 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ม. 33 (2), ม. 34 วรรคหนึ่ง, ม. 34 วรรคท้าย
โจทก์บรรยายฟ้องตั้งสิทธิเป็นประเด็นแห่งคดีประการแรกว่า วัด ช. เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและยกให้โจทก์ เพียงแต่วัด ช. จดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของแทน กับประการที่สอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำบันทึกแสดงเจตนาจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ แต่ภายหลังไม่ปฏิบัติตาม เป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 โต้แย้งสิทธิต้องตามหลักเกณฑ์ในการนำคดีเข้าสู่ศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า โจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากวัด ช. ผู้เป็นเจ้าของ กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำบันทึกเพราะถูกข่มขู่และถูกกลฉ้อฉล ประเด็นข้อพิพาทมิใช่มีเพียงโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินหรือไม่เท่านั้น เพราะหากศาลวินิจฉัยว่าโจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาท ยังมีประเด็นต้องวินิจฉัยบันทึกว่ามีผลตามกฎหมายหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาท เพราะการโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์ รัฐต้องตราเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 33 (2) ประกอบมาตรา 34 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแล้วด่วนพิพากษายกฟ้องนั้นหาชอบด้วยกระบวนพิจารณาไม่ เพราะยังมีประเด็นต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับบันทึกอันมีผลเกี่ยวกับเนื้อหาคดีที่ศาลต้องพิพากษาอีก ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ใช้ดุลพินิจหยิบยกวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทยังเป็นของวัด ช.ตามเดิมหรือไม่นั้น เป็นปัญหาเกี่ยวกับการโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์อยู่ในบังคับตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยส่วนนี้ชอบแล้ว
แม้จะรับฟังตามบันทึกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามความประสงค์ของวัด ช. แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าวัด ช. เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท การโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์จะกระทำได้ก็แต่โดยรัฐต้องตราเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น ดังนี้ การจะบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนโดยตรงให้แก่โจทก์ ย่อมเป็นการพ้นวิสัย จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีหน้าที่จดทะเบียนโอนใส่ชื่อวัด ช. เป็นเจ้าของตามความเป็นจริงก่อน และจะหยิบยกอายุความได้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 มากล่าวอ้างมิได้ เพราะมีบัญญัติห้ามไว้ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 34 วรรคท้าย แต่ศาลจะพิพากษาในคดีนี้มิได้เพราะเป็นการเกินคำขอต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ชอบที่จะไปว่ากล่าวกันระหว่างวัด ช. กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 และเป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องติดต่อกับวัด ช. ต่อไป ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำบันทึกยินยอมที่จะไปโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์และจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทต่อไป ย่อมแสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยอมรับว่าโจทก์มีสิทธิได้ดอกผลในที่ดินพิพาทด้วย กับถือว่าเจตนาสละการครอบครองและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทแก่โจทก์แล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ผลผลิตยางพาราในที่ดินพิพาท และห้ามยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15690/2558 ป.วิ.พ. ม. 249 วรรคหนึ่ง ระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ว่าด้วยค่าป่วยการที่ปรึกษากฎหมายที่ศาลแต่งตั้งให้แก่เด็กหรือเยาวชน พ.ศ.2555 ข้อ 5 (4) ระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ว่าด้วยค่าป่วยการที่ปรึกษากฎหมายที่ศาลแต่งตั้งให้แก่เด็กหรือเยาวชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2557
ค่าป่วยการที่กำหนดแก่ที่ปรึกษากฎหมายเทียบได้กับค่าฤชาธรรมเนียม ไม่ใช่เป็นค่าจ้างที่ปรึกษากฎหมาย ศาลจะกำหนดค่าป่วยการโดยคำนึงถึงความยากง่าย เวลาและงานหรือตามสมควรแก่พฤติการณ์ในการทำงานของที่ปรึกษากฎหมาย หาได้เป็นการกำหนดเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่ที่ปรึกษากฎหมายได้ใช้จ่ายไปจริงไม่ และในกรณีมีการอุทธรณ์หรือฎีกา ศาลสามารถกำหนดเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร แต่รวมทั้งหมดต้องไม่เกินอัตราขั้นสูงที่กำหนดไว้สำหรับคดีประเภทนั้น ตามระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยค่าป่วยการที่ปรึกษากฎหมายที่ศาลแต่งตั้งให้แก่เด็กและเยาวชน พ.ศ.2555 ข้อ 5 (4) ซึ่งตามระเบียบดังกล่าวเป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นและถือเป็นเด็ดขาดจะอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ได้
ผู้ร้องเป็นที่ปรึกษากฎหมายของจำเลยอุทธรณ์ทำนองว่า ศาลชั้นต้นกำหนดค่าป่วยการแก่ผู้ร้องน้อยเกินไป ไม่เหมาะสมกับการทำงาน อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามตามกฎหมายไม่อาจรับวินิจฉัยได้ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จะรับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องก็ไม่ถือเป็นข้อที่ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 9 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15668/2558 ป.พ.พ. ม. 149, ม. 369 ป.วิ.พ. ม. 134, ม. 142
การที่จำเลยมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1 ประมูลงานและทำสัญญารับจ้างก่อสร้างอาคารเรียนกับกรมสามัญศึกษาและให้โจทก์ทั้งสามก่อสร้างโดยโจทก์ทั้งสามเป็นผู้ลงทุนและรับค่าจ้างในนามจำเลย หากโจทก์ทั้งสามขาดเงินทุนและจำเลยออกเงินทดรองจ่ายไป โจทก์ทั้งสามจะใช้คืนพร้อมดอกเบี้ย ไม่ทำให้จำเลยกลายเป็นตัวแทนของโจทก์ทั้งสามในการทำสัญญารับจ้างก่อสร้างกับกรมสามัญศึกษา เพราะจำเลยยังคงต้องรับผิดตามสัญญาจ้างก่อสร้างกับกรมสามัญศึกษา แต่การที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยต่างต้องลงทุนและก่อสร้าง และจำเลยยังต้องรับผิดตามสัญญาจ้างดังกล่าวเป็นการตกลงร่วมกันประกอบกิจการโดยต่างได้รับผลประโยชน์ตอบแทน เป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อสัญญาดังกล่าวไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 สัญญานี้ย่อมบังคับกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 และ 369 แม้โจทก์ทั้งสามจะฟ้องอ้างว่าจำเลยเป็นตัวแทน แต่เมื่อข้อตกลงระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่โจทก์บรรยายฟ้องเป็นเรื่องตกลงร่วมกันประกอบการโดยต่างได้รับผลประโยชน์ตอบแทน จึงเป็นเรื่องที่โจทก์เข้าใจข้อกฎหมายคลาดเคลื่อนไปว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาตัวแทน ศาลย่อมมีอำนาจใช้บทบัญญัติเรื่องสัญญาต่างตอบแทนบังคับแก่คดีนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 134 มิใช่การพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องอันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15667/2558 ป.อ. ม. 92, ม. 295, ม. 297 (8) ป.วิ.อ. ม. 39 (2) พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ม. 4
แม้รายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารท้ายฟ้องระบุว่า การบาดเจ็บของผู้เสียหายใช้เวลารักษา 2 สัปดาห์ หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงความเห็นของแพทย์ที่ทำไว้ขณะตรวจรักษาบาดแผลของผู้เสียหายเท่านั้น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส ต้องทุพพลภาพป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน ซึ่งเข้าองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) แล้ว ดังนี้ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพและความผิดดังกล่าวมิใช่เป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ซึ่งศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องโดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังตามฟ้องว่า การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสและลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) ได้ เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว จึงไม่เป็นความผิดอันยอมความได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาตรา 4 วรรคสอง ตอนท้าย แต่อย่างไรก็ตาม ความผิดฐานกระทำการอันเป็นความรุนแรงในครอบครัวตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวมาตรา 4 วรรคหนึ่ง เป็นความผิดอันยอมความได้ตามมาตรา 4 วรรคสอง ตอนต้น เมื่อผู้เสียหายยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 เอกสารท้ายอุทธรณ์หมายเลข 2 ว่า ไม่ประสงค์หรือติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป พอแปลความได้ว่าเป็นการยอมความโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าว ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15649 - 15650/2558 พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 ม. 4, ม. 14, ม. 15, ม. 18, ม. 19, ม. 20, ม. 21, ม. 26, ม. 33, ม. 73 พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ม. 36, ม. 37, ม. 38
พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง มีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองข้อมูลข่าวสารที่มีความอ่อนไหว โดยแบ่งข้อมูลข่าวสารที่ต้องปกปิดเป็น 2 ประเภท คือ ข้อมูลข่าวสารที่ต้องปกปิดโดยสาระและเนื้อหา ซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นความลับโดยสภาพ เช่น หากเปิดเผยแล้วจะเป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขันที่สำคัญแก่คู่แข่ง หรือเปิดเผยแล้วจะเกิดผลเสียที่สำคัญต่อผู้ให้ข้อมูลหรือต่อบุคคลที่ให้ข้อมูลแก่ผู้ให้ข้อมูล (a person from whom that person acquired the information) กับข้อมูลข่าวสารที่ผู้ให้ข้อมูลข่าวสารนั้นขอให้ปกปิด เมื่อข้อมูลข่าวสารในแบบคำขอให้ดำเนินการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดในกรณีนี้ ถือเป็นข้อมูลข่าวสารประเภทที่บริษัท บ. ซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลขอให้ปกปิด จำเลยจึงตกอยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว มาตรา 26 วรรคสอง ที่ว่า "ข้อมูลข่าวสารที่ผู้ให้ข้อมูลข่าวสารขอให้ปกปิดนั้น การเปิดเผยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้นั้นก่อน..." ทำให้จำเลยไม่อาจเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่บริษัท บ. ขอให้ปกปิดได้ การที่จำเลยปฏิบัติต่อข้อมูลข่าวสารด้วยความระมัดระวังตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.นี้ใน มาตรา 26 รวมทั้งให้สิทธิแก่ผู้มีส่วนได้เสียดูข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการไต่สวนตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2543) ออกตามความใน พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 ข้อ 2 (3) จึงถือได้ว่าเจ้าหน้าที่จำเลยดำเนินการมาตรการที่เหมาะสมและตามควรแก่กรณีแล้ว ส่วนในเรื่องเหตุผลอันสมควรนั้นตามบทบัญญัติมาตรา 6.5 แห่งความตกลงว่าด้วยการทำให้มีผลซึ่งบังคับใช้มาตรา 6 แห่งความตกลงทั่วไปว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีศุลกากรและการค้า ค.ศ.1994 (Agreement on lmplement of Article VI of the General Agreement on Tariffs and Trade 1994) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีในความตกลงทั่วไปว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีศุลกากรและการค้าด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับ พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 มาตรา 26 ซึ่งมิได้กำหนดในเรื่องเหตุผลอันสมควรไว้ แต่อย่างไรก็ดี เพื่อให้การพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดเป็นกระบวนการที่เป็นธรรม และเกิดความสมดุลระหว่างการรักษาความลับของข้อมูลกับสิทธิในการรับรู้ข้อมูลของผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายต่างๆ เจ้าหน้าที่จำเลยสมควรตรวจสอบด้วยว่าเหตุผลการปกปิดที่ผู้ให้ข้อมูลปกปิดรับฟังได้หรือไม่ เมื่อเนื้อหาข้อมูลข่าวสารที่บริษัท บ. ขอปกปิดนั้นมีข้อมูลภายในที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัท บ. รวมอยู่ด้วย จึงเห็นได้ชัดเจนว่าหากเปิดเผยแล้วกระทบต่อการประกอบธุรกิจของบริษัทดังกล่าว ดังนั้นเจ้าหน้าที่จำเลยจึงพิจารณาถึงเหตุสมควรก่อนที่จะใช้ดุลพินิจเชื่อตามที่บริษัท บ. ชี้แจงแล้ว ส่วนมาตรา 30 เป็นขั้นตอนก่อนประกาศคำวินิจฉัย โดยกฎหมายให้โอกาสผู้มีส่วนได้เสียโต้แย้งก่อนมีการประกาศคำวินิจฉัยชั้นที่สุด จึงกำหนดหน้าที่ให้จำเลยแจ้งให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบถึงข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ใช้เป็นพื้นฐานในการพิจารณาหรืออีกนัยหนึ่งคือร่างผลการไต่สวนชั้นที่สุด จำเลยได้ส่งร่างผลการไต่สวนชั้นที่สุดให้แก่โจทก์แล้ว ซึ่งต่อมาโจทก์โต้แย้งร่างผลการไต่สวนชั้นที่สุดดังกล่าว แต่ในคดีนี้เป็นขั้นตอนการตรวจดูข้อมูลของผู้มีส่วนได้เสียซึ่งหากพิจารณาจากความตกลงว่าด้วยการทำให้มีผลบังคับใช้ซึ่งมาตรา 6 แห่งความตกลงทั่วไปว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีศุลกากรและการค้า ค.ศ.1994 (Agreement on lmplement of Article VI of the General Agreement on Tariffs and Trade 1994) จะเห็นได้ว่ามาตรา 30 ดังกล่าวมีที่มาจากมาตรา 6.9 ของความตกลงดังกล่าว ส่วนเรื่องการตรวจดูข้อมูลของผู้มีส่วนได้เสียความตกลงดังกล่าวบัญญัติไว้ในมาตรา 6.4
พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 วรรคหนึ่ง จะไม่นำมาใช้กับกรณีที่คณะกรรมการฯ มีคำวินิจฉัยเบื้องต้นหรือคำวินิจฉัยชั้นที่สุดเกี่ยวกับการไต่สวนการทุ่มตลาด เนื่องจาก พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 38 บัญญัติว่า "บทบัญญัติมาตรา 36 และมาตรา 37 วรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับกับคำสั่งทางปกครองที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง" ซึ่งในเรื่องการทุ่มตลาดมีกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2543) ออกตามความใน พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ กำหนดรูปแบบของคำสั่งทางปกครองไว้เป็นการเฉพาะ กล่าวคือ เมื่อคณะกรรมการฯ มีคำวินิจฉัยเบื้องต้นหรือคำวินิจฉัยชั้นที่สุดเกี่ยวกับการไต่สวนการทุ่มตลาดแล้ว จำเลยจะออกประกาศแสดงรายละเอียดข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอันเป็นสาระสำคัญที่ใช้เป็นพื้นฐานในการพิจารณาไต่สวนและเนื่องจากคำวินิจฉัยชั้นที่สุดของคณะกรรมการฯ ในคดีนี้ให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด จำเลยจึงต้องประกาศรายละเอียดข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่คณะกรรมการฯ ใช้เป็นหลักในการวินิจฉัยให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด โดยมีรายการตามกฎหมายดังกล่าว ข้อ 1 (1) (ก) ถึง (จ) กับรายการที่เพิ่มเติมในข้อ 1 (2) เมื่อพิจารณาประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่องผลการไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2548 แล้วปรากฏว่ามีรายละเอียดข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอันเป็นสาระสำคัญที่ใช้เป็นพื้นฐานในการพิจารณาผลการไต่สวนตลอดจนรายการครบถ้วนตามที่กำหนดกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2543) ออกตามความใน พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ จึงฟังว่าประกาศดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ดังนั้น ไม่จำเป็นที่จำเลยหรือคณะกรรมการฯ ต้องแจกแจ้งข้อเท็จจริงทุกอย่าง ที่ใช้เป็นข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนโดยละเอียด
ตามพ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ ส่วนที่ 1 ว่าด้วยการเริ่มต้นกระบวนพิจารณาเมื่อบุคคลหรือคณะบุคคลตามมาตรา 33 ยื่นคำขอต่อกรมจำเลยเพื่อขอให้คณะกรรมการฯ ดำเนินการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาด จำเลยต้องตรวจสอบรายละเอียดและพยานหลักฐาน แล้วเสนอคำขอต่อคณะกรรมการดังกล่าวเพื่อพิจารณาโดยคณะกรรมการฯ จะพิจารณาว่าคำขอมีมูลเกี่ยวกับการทุ่มตลาดและความเสียหายหรือไม่ จึงเห็นได้ว่าบุคคลและบุคคลตามมาตรา 3 เป็นเพียงผู้เริ่มกระบวนการพิจารณา แต่กระบวนพิจารณาต่อไปเป็นเรื่องของจำเลย ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการด้านกฎหมายว่าด้วยการตอบโต้การทุ่มตลาดและดำเนินมาตรการป้องกันและตอบโต้ทางการค้าเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางการค้า ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พ.ศ.2545 และของคณะกรรมการฯ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 มาตรา 73 ดังเห็นได้จากก่อนเริ่มการไต่สวนการทุ่มตลาดและความเสียหาย คำขอต้องผ่านการพิจารณาของจำเลยและคณะกรรมการฯ ก่อน การไต่สวนการทุ่มตลาดและความเสียหายจึงมิได้ถูกจำกัดเฉพาะสินค้าที่ระบุในคำขอหรือตามเจตนารมณ์ของผู้ยื่นขอเท่านั้น จำเลยและคณะกรรมการฯ ดังกล่าวในฐานะผู้มีอำนาจ (the authorities) ย่อมสามารถประเมิน ทบทวน รวมทั้งพิจารณาว่าข้อเท็จจริงตามคำขอควรครอบคลุมถึงสินค้าใดบ้าง มิฉะนั้นอำนาจในการกำหนดขอบเขตจะกลายเป็นอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลผู้ยื่นคำขอ ทั้งที่การทุ่มตลาดมีผลถึงผู้บริโภค ประโยชน์สาธารณรัฐ และเศรษฐกิจโดยรวมด้วย มิใช่มีผลกระทบเฉพาะผู้ยื่นคำขอเท่านั้น ในเรื่องการกำหนดขอบเขตนี้ การวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ ที่ได้วินิจฉัยไว้ดังกล่าวจึงเป็นการวินิจฉัยตามอำนาจของคณะกรรมการฯ ตาม พ.ร.บ.นี้ในมาตรา 73 โดยมิได้เป็นการใช้ดุลพินิจเกินกว่าขอบเขตแต่อย่างใด ประกอบกับการกำหนดขอบเขตการไต่สวนให้ครอบคลุมสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสทุกขนาดเพื่อป้องกันปัญหาการหลีกเลี่ยงการชำระอากรตอบโต้การทุ่มตลาด โดยวิธีการเปลี่ยนขนาดของสินค้าบล็อกแก้วชนิดใส ซึ่งจะทำให้การตอบโต้การทุ่มตลาดไม่สมประโยชน์และเป็นอันไร้ผลถือได้ว่าการวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ กระทำตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติแล้ว นอกจากนี้ตาม พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ มาตรา 4 คำว่า "สินค้าชนิดเดียวกัน" หมายความว่า "สินค้าที่มีคุณสมบัติเหมือนกันทุกประการกับสินค้าที่ถูกพิจารณา แต่ในกรณีที่ไม่มีสินค้าดังกล่าวให้หมายความว่าสินค้าที่คล้ายคลึงกันอย่างมากกับสินค้าดังกล่าว" นิยามดังกล่าวบัญญัติไว้กว้างๆ มิได้กำหนดรายละเอียดในการพิจารณาเอาไว้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป ดังนั้น ในการพิจารณาสินค้าชนิดเดียวกัน จำเลยใช้องค์ประกอบทั้งหกประการประกอบกัน ในเรื่องพิกัดอัตราศุลกากรซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบนั้น เป็นระบบจัดแบ่งสินค้าตามประเภทโดยมีเลขรหัสกำกับ หรือ "Harmonized System" แม้โดยหลักจะใช้เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีศุลกากร แต่ยังมีประโยชน์ในการเก็บสถิติทางการค้าระหว่างประเทศ และช่วยแยกแยะความเหมือนและแตกต่างของสินค้าได้ และโดยสภาพย่อมทดแทนกันได้ สำหรับขนาดและลวดลายของบล็อกแก้วชนิดใสเป็นเรื่องกลยุทธ์ทางการตลาดที่ต้องการทำให้สินค้าครอบคลุมความต้องการและรสนิยมที่แตกต่างกันของผู้บริโภค โดยใช้การโฆษณาประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้ของผู้บริโภคว่าสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสมีความแตกต่างกัน ทั้งที่สินค้าบล็อกแก้วชนิดใสไม่มีคุณลักษณะแตกต่างกันในสาระสำคัญในแง่ของประโยชน์ใช้สอย ถือได้ว่าสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสทุกขนาดเป็นสินค้าชนิดเดียวกัน ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ การกำหนดมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด จึงไม่ต้องจำกัดเฉพาะสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสขนาด 190 x 190 x 80 มิลลิเมตร และขนาด 190 x 190 x 100 มิลลิเมตร เท่านั้น
ในการหามูลค่าปกติเมื่อได้ราคาขายภายในประเทศผู้ส่งออก ตาม พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ มาตรา 15 วรรคหนึ่งแล้ว ต้องพิจารณาว่าเป็นราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตตามวรรคสามด้วย จะเห็นได้ว่าการตัดราคาส่งออกบางจำนวนออกไปอาจทำให้ราคาส่งออกโดยวิธีถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักเกิดความคลาดเคลื่อนได้ นอกจากนี้เมื่อคำนวณส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดแล้ว ปรากฏว่าราคาส่งออกต่ำกว่ามูลค่าปกติประมาณร้อยละ 9 วิธีการคำนวณของจำเลยจึงมีความแม่นยำกว่า การคำนวณของจำเลยจึงสอดคล้องกับหลักเกณฑ์วิธีการที่กำหนดใน พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ มาตรา 15 และมาตรา 14 กล่าวคือใช้วิธีการตามมาตรา 15 วรรคสาม ประกอบวรรคหนึ่ง ในการหามูลค่าปกติและใช้วิธีการตามมาตรา 14 วรรคหนึ่ง ในการหาราคาส่งออก จากนั้นใช้วิธีเปรียบเทียบที่เรียกว่าวิธีเปรียบเทียบระหว่างมูลค่าปกติถั่วเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักกับราคาส่งออกถั่วเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก (weighted average - to - weighted average) ตามมาตรา 18 วรรคสอง (1) เพื่อหาส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาด ส่วนเรื่องความเสียหายต้องพิจารณาเป็น 2 ส่วนคือ ความเสียหายอย่างสำคัญที่เกิดแก่อุตสาหกรรมภายใน และความสัมพันธ์ระหว่างสินค้าทุ่มตลาดกับความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายใน (causal link between dumped imports and material injury) เรื่องความเสียหายอย่างสำคัญเกิดแก่อุตสาหกรรมภายในตาม พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ มาตรา 19 (1) ต้องมีพยานหลักฐานโดยตรงสนับสนุนเกี่ยวกับความเสียหายอย่างสำคัญที่เกิดแก่อุตสาหกรรม ซึ่งกำหนดโดยมาตรา 20 วรรคหนึ่ง ได้แก่ (1) ปริมาณของสินค้าทุ่มตลาดและผลของการทุ่มตลาดที่มีต่อราคาของสินค้าชนิดเดียวกันในตลาดภายในประเทศ และ (2) ผลกระทบของการทุ่มตลาดนั้นที่มีต่ออุตสาหกรรมภายใน เมื่อพิสูจน์ได้ว่ามีความเสียหายเนื่องจากปริมาณของสินค้าทุ่มตลาด และการทุ่มตลาดมีผลต่อราคาของสินค้าชนิดเดียวกันในตลาดภายในประเทศตาม พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาด มาตรา 20 วรรคหนึ่ง (1) แล้ว การที่เจ้าหน้าที่จำเลยพิจารณาความเสียหายจากปัจจัยทั้งสิบห้าประการดังกล่าวสอดคล้องกับความตกลงด้วยการทำให้มีผลบังคับใช้ ซึ่งมาตรา 6 แห่งความตกลงทั่วไปว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีศุลกากรและการค้า ค.ศ.1994 (Agreement on lmplement of Article VI of the General Agreement on Tariffs and Trade 1994) มาตรา 3.4 การพิจารณาของจำเลยจึงมีความน่าเชื่อถือ ทั้งการพิจารณาข้อมูลในเรื่องการทุ่มตลาดเป็นการพิจารณาในภาพรวมเรื่องปริมาณของสินค้าทุ่มตลาด โดยพิจารณาจากสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสจากประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซียทุกรายเพียงแต่มีบริษัท พ. ซึ่งเป็นผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกจากประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซียเพียงบริษัทเดียวที่ตอบแบบสอบถาม สำหรับเรื่องผลกระทบของการทุ่มตลาดต่ออุตสาหกรรมภายในโดยพิจารณาผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันภายในประเทศที่มีผลผลิตรวมกันได้เกินกึ่งหนึ่งของปริมาณการผลิตภายในประเทศ ดังนั้นการที่จำเลยได้รับข้อมูลจากบริษัททั้งสองซึ่งครอบคลุมปัจจัยต่างๆ เพียงพอที่จะใช้ในการพิจารณาผลกระทบแล้ว แม้บริษัท บ. อยู่ในระหว่างฟื้นฟูกิจการก็ไม่มีผลต่อการพิจารณาข้อมูลแต่อย่างใด
สำหรับการพิจารณาความเสียหายในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสินค้าทุ่มตลาดกับความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในนั้น พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ มาตรา 21 เมื่อเทียบเคียงกับความตกลงว่าด้วยการทำให้มีผลบังคับใช้ซึ่งมาตรา 6 แห่งความตกลงทั่วไปว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีศุลกากรและการค้า ค.ศ.1994 มาตรา 3.5 แล้วจะเห็นได้ว่าสาระสำคัญของบทบัญญัติมาตรานี้คือการพิจารณาปัจจัยที่ทราบทั้งหมด (ซึ่งรวมถึงปัจจัยที่มีการหยิบยกขึ้นในระหว่างการไต่สวน) นอกเหนือจากการทุ่มตลาด (any known factors other than dumped imports) แต่ให้พิจารณาเฉพาะปัจจัยที่ก่อความเสียหายแก่อุตสาหกรรมภายในในเวลาเดียวกันกับการทุ่มตลาด และความเสียหายจากปัจจัยอื่นนั้นต้องไม่ถือว่าเกิดจากการทุ่มตลาด (the injuries caused by these other factors must not be attributed to the dumped imports) โดยการฟื้นฟูกิจการของบริษัท บ. ย่อมเกี่ยวกับสถานะของอุตสาหกรรมภายใน (the state of the industry) ซึ่งเป็นเรื่องต้องใช้พิจารณาตาม พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ มาตรา 20 วรรคหนึ่ง (2) และปัจจัย 15 ประการ ที่จำเลยพิจารณาครอบคลุมการดำเนินงานของบริษัทดังกล่าวระหว่างที่ฟื้นฟูกิจการอยู่แล้ว โดยมีความตกลงว่าด้วยการทำให้มีผลบังคับใช้ซึ่งมาตรา 6 แห่งความตกลงทั่วไปว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีศุลกากรและการค้า ค.ศ.1994 มาตรา 3.4 เป็นบทบัญญัติในเรื่องผลกระทบของการทุ่มตลาดที่มีต่ออุตสาหกรรมภายใน ซึ่งใช้พิจารณาว่ามีความเสียหายอย่างสำคัญเกิดแก่อุตสาหกรรมภายในหรือไม่ และเทียบเคียงได้กับ พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ มาตรา 20 วรรคหนึ่ง (2) นอกจากนี้ยังปรากฏว่ากระทรวงพาณิชย์นำข้อความในมาตรา 3.4 แห่งความตกลงนี้ไปบัญญัติไว้ในกฎกระทรวงพาณิชย์กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการพิจารณาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่อุตสาหกรรมภายในจากการทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน พ.ศ.2545 โดยข้อความตอนท้ายของมาตราดังกล่าวที่ว่า "This list is not exhaustive, nor can one or several of these factors necessarily give decisive guidance." บัญญัติไว้ในข้อ 2 วรรคท้าย ว่า "ทั้งนี้ ปัจจัยข้างต้นยังไม่ครอบคลุมทุกอย่าง และปัจจัยหนึ่งหรือหลายปัจจัยที่กล่าวนี้ ไม่ถือเป็นข้อพิจารณาที่ตายตัว" ส่วนเรื่องความสัมพันธ์สินค้าทุ่มตลาดกับความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในเป็นกรณีของพ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ มาตรา 21 หรือเทียบเคียงได้กับ มาตรา 3.5 แห่งความตกลงว่าด้วยการซึ่งให้มีผลซึ่งบังคับใช้ซึ่งมาตรา 6 แห่งความตกลงทั่วไปด้วยพิกัดอัตราภาษีศุลกากรและการค้า ค.ศ.1994 ดังนั้น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศอ้างกฎกระทรวงพาณิชย์ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการพิจารณาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่อุตสาหกรรมภายในจากการทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน พ.ศ.2545 ข้อ 2 วรรคท้าย กับความตกลงว่าด้วยการทำให้มีผลซึ่งบังคับใช้ซึ่งมาตรา 6 แห่งความตกลงทั่วไปว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีศุลกากรและการค้า ค.ศ.1994 มาตรา 3.4 ในการพิจารณาความสัมพันธ์สินค้าทุ่มตลาดกับความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในจึงไม่ถูกต้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15645/2558 พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ม. 14 พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 ม. 30 วรรคห้า
พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 14 ให้อำนาจคณะกรรมการ กลต. กำกับดูแลในเรื่องหลักทรัพย์และธุรกิจหลักทรัพย์ และให้รวมถึงออกระเบียบหรือข้อกำหนดตาม พ.ร.บ.นี้ ซึ่งคณะกรรมการ กลต. อาศัยอำนาจตามมาตรา 14 และมาตรา 117 ออกข้อกำหนด ตามประกาศคณะกรรมการ กลต. เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม ซึ่งเป็นข้อกำหนดเพื่อการยื่นคำขออนุญาตจดทะเบียนจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม ซึ่งหากการยื่นคำขอไม่เข้าหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการตามข้อกำหนด สำนักงานคณะกรรมการ กลต. ย่อมมีอำนาจที่จะไม่อนุมัติให้จดทะเบียนจัดตั้งกองทุนรวมเสียได้เท่านั้น หาใช่เป็นการออกประกาศข้อกำหนด หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการในกิจการ ซึ่งบังคับให้ต้องกระทำหรือห้ามมิให้กระทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่หากฝ่าฝืนแล้วจะมีความผิดและต้องรับโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ไม่ การจดทะเบียนจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม แม้ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด จึงมิใช่เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายอันจะตกเป็นโมฆะ ทั้งข้อกำหนดดังกล่าวก็มิใช่เป็นแบบของนิติกรรมที่กฎหมายบังคับไว้ ซึ่งหากมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบแล้วจะมีผลทำให้นิติกรรมเป็นโมฆะเช่นกัน
ข้อสนเทศการจำหน่ายสินทรัพย์ ฯ ที่กำหนดว่า หากผู้ชนะการประมูลต้องการเสนอให้ผู้อื่นลงนามในสัญญาขายแทน ผู้ชนะการประมูลจะต้องระบุชื่อพร้อมกับยื่นเอกสารของผู้ที่จะลงนามในสัญญาขายตามที่ระบุในรายละเอียดเอกสารเพิ่มเติมมายังองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ป.ร.ส.) ภายใน 2 วัน ทำการ นับจากวันประมูลนั้น เป็นเพียงระเบียบที่องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินกำหนดขึ้นเพื่อความสะดวกและความเป็นระเบียบในการประมูล หาใช่เป็นบทกฎหมายที่หากไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนแล้วจะมีผลทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆะ การที่ ป.ร.ส. ไม่ได้ยึดถือข้อสนเทศการจำหน่ายสินทรัพย์ ฯ ดังกล่าวที่กำหนด เกี่ยวกับวันเวลาตามที่บริษัทเงินทุน ก. โอนสิทธิที่จะเข้าทำสัญญาขายแก่โจทก์เกินกำหนดเวลา 2 วันทำการ นับจากวันประมูล จึงไม่ทำให้สัญญาขายเสียไปและการที่โจทก์เข้าทำสัญญาซื้อขาย โดยไม่ได้เข้าประมูลแข่งขันก็ไม่เป็นการขัดต่อ พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 มาตรา 30 วรรคห้า เพราะข้อสนเทศการจำหน่ายสินทรัพย์ ฯ เป็นระเบียบที่ออกมาเพื่อเป็นข้อปฏิบัติภายหลังจากที่มีการประมูลซื้อทรัพย์สินเปิดประมูลโดยเปิดเผยแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15643/2558 ป.พ.พ. ม. 193/12, ม. 193/14 (2), ม. 193/15, ม. 193/17, ม. 193/32 พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483
หนี้ที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม จึงมีอายุความ 10 ปี นับจากวันที่เจ้าหนี้อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 และ 193/32 เมื่อปรากฏว่าก่อนครบระยะเวลา 10 ปี นับจากวันที่เจ้าหนี้อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ เจ้าหนี้นำหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวไปรวมกับหนี้อื่นฟ้องลูกหนี้และลูกหนี้ร่วมรายอื่นเป็นคดีล้มละลาย จึงเป็นการฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) มีผลทำให้อายุความตามสิทธิเรียกร้องสะดุดหยุดลง ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 วันที่ 30 กรกฎาคม 2552 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้คดีดังกล่าวไว้เด็ดขาด ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลว่าลูกหนี้เคยถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2551 อันเป็นระยะเวลาก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้คดีดังกล่าวไว้เด็ดขาด จึงขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ วันที่ 30 สิงหาคม 2553 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีลูกหนี้ออกจากสารบบความ กรณีมิใช่คดีเสร็จไปโดยการจำหน่ายคดีเพราะเหตุถอนฟ้องหรือทิ้งฟ้อง ที่จะให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 ดังนั้น การที่เจ้าหนี้นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งดังกล่าวมายื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ในวันที่ 6 มีนาคม 2552 หนี้ของเจ้าหนี้จึงยังไม่ขาดอายุความ เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาหลังหักราคาขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15641/2558 ป.พ.พ. ม. 1273/3, ม. 1273/4 พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 9
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1273/3 และ 1273/4 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2551 มาตรา 19 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2551 บัญญัติให้บริษัทนั้นสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อบริษัทออกเสียจากทะเบียน และบริษัทที่ถูกขีดชื่อจะกลับคืนสู่ทะเบียนมีฐานะนิติบุคคลอีกครั้งเมื่อศาลสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน เมื่อปรากฏว่าในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีล้มละลายนี้ (วันที่ 15 สิงหาคม 2554) ศาลจังหวัดนครสวรรค์ยังมิได้มีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียน ขณะฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยจึงไม่มีฐานะนิติบุคคลที่โจทก์ฟ้องได้ แม้ต่อมาศาลจังหวัดนครสวรรค์มีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2554 และตามมาตรา 1273/4 กำหนดให้ถือว่าบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย ก็เป็นเพียงการรับรองสภาพนิติบุคคลภายหลังศาลมีคำสั่งเท่านั้น หาทำให้โจทก์ซึ่งไม่มีอำนาจฟ้องมาตั้งแต่ต้นกลับกลายเป็นมีอำนาจฟ้องไปไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15641/2558 ป.พ.พ. ม. 1273/3, ม. 1273/4 ป.วิ.พ. ม. 55
ป.พ.พ. มาตรา 1273/3 และ 1273/4 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2551 มาตรา 19 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2551 บัญญัติให้บริษัทนั้นสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อบริษัทออกเสียจากทะเบียน และบริษัทที่ถูกขีดชื่อจะกลับคืนสู่ทะเบียนมีฐานะนิติบุคคลอีกครั้ง เมื่อศาลสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน เมื่อปรากฏว่าในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีล้มละลายนี้ (วันที่ 15 สิงหาคม 2554) ศาลยังมิได้มีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียน ขณะฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยจึงไม่มีฐานะนิติบุคคลที่โจทก์จะฟ้องได้ แม้ต่อมาภายหลังศาลมีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2554 และตามมาตรา 1273/4 กำหนดให้ถือว่าบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย ก็เป็นเพียงการรับรองสภาพนิติบุคคลภายหลังศาลมีคำสั่งเท่านั้น หาทำให้โจทก์ซึ่งไม่มีอำนาจฟ้องมาตั้งแต่ต้นกลับกลายเป็นมีอำนาจฟ้องไปไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15638/2558 ป.พ.พ. ม. 193/30, ม. 193/35 พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 14, ม. 82 พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ม. 58 วรรคสี่
ผู้ร้องนำสืบเพียงการรับโอนสิทธิเรียกร้องของผู้ร้องและการเป็นหนี้ค้างชำระของลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 5 และ ส. ลูกหนี้ที่ตายหลังจากผู้ร้องรับโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้มาเท่านั้น มิได้นำสืบถึงมูลหนี้เดิมเพื่อให้รับฟังได้ว่าฝ่ายลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้เดิมในหนี้ประเภทใด และผิดนัดผิดสัญญาต่อเจ้าหนี้เดิมเมื่อใดหรือชำระหนี้ครั้งสุดท้ายก่อนผู้ร้องรับโอนสิทธิเรียกร้องเมื่อใด ซึ่งแม้หากนับอายุความตั้งแต่ขณะนั้นตามแต่กรณีจนถึงวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ยังไม่พ้นกำหนดอายุความ แต่ฝ่ายลูกหนี้ยื่นคำคัดค้านโต้แย้งว่า มูลหนี้เดิมเป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี หนังสือรับรองการขายตั๋วสัญญาใช้เงิน สัญญาค้ำประกันและจำนอง ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ อายุความจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ฝ่ายลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้แก่ธนาคารเจ้าหนี้เดิมตั้งแต่ปี 2537 และโต้แย้งด้วยว่า การที่ฝ่ายลูกหนี้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งก็คือทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้และบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาปรับโครงสร้างหนี้เมื่อปี 2548 และปี 2549 เป็นการรับสภาพความรับผิดหลังจากหนี้ขาดอายุความแล้ว อายุความมีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดตาม มาตรา 193/35 หนี้ตามคำร้องของผู้ร้องขาดอายุความแล้ว ดังนี้ หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่ฝ่ายลูกหนี้คัดค้านดังกล่าว คดีของผู้ร้องย่อมขาดอายุความตามที่ฝ่ายลูกหนี้คัดค้าน เมื่อผู้ร้องมิได้นำสืบว่า เจ้าหนี้เดิมและผู้ร้องอาจบังคับสิทธิเรียกร้องจากฝ่ายลูกหนี้ตั้งแต่เมื่อใดหรือมีเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเพื่อแสดงให้เห็นว่าคดีของผู้ร้องไม่ขาดอายุความจึงต้องฟังว่าสิทธิเรียกร้องของผู้ร้องขาดอายุความ ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 เด็ดขาด กับพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของ ส. ลูกหนี้ที่ตายตาม พ.ร.ก. บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 และมาตรา 82
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15620/2558 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31, ม. 51 วรรคหนึ่ง ป.วิ.พ. ม. 55
การที่โจทก์ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารทั่วไป มีหน้าที่จัดทำคำสั่งลงโทษทางวินัยบุคคลเสนอต่ออธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้จัดทำคำสั่งสำนักงานธนานุเคราะห์ ที่ 68/2550 เรื่อง ลงโทษตัดเงินเดือน สั่ง ณ วันที่ 9 พฤษภาคม 2550 อันเป็นคำสั่งลงโทษโจทก์และลงนามรับรองสำเนาถูกต้องนั้น เป็นการรับทราบในฐานะที่ตนมีหน้าที่จัดทำเอกสารดังกล่าว ซึ่งถือเป็นเพียงการดำเนินการภายในของฝ่ายปกครองที่มิได้มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ในขณะนั้น โจทก์จึงยังมิใช่พนักงานผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการถูกผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษ กระทั่งวันที่ 21 พฤษภาคม 2550 โจทก์จึงได้รับคำสั่งลงโทษทางวินัยดังกล่าวและได้ลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งลงโทษทางวินัยในวันเดียวกัน โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งตามระเบียบสำนักงานธนานุเคราะห์ ว่าด้วยการแบ่งส่วนงานและการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2543 ข้อ 69 โดยนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2550 ดังนั้น เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องทุกข์ต่อประธานกรรมการอำนวยการสำนักงานธนานุเคราะห์ในวันที่ 4 มิถุนายน 2550 จึงอยู่ในระยะเวลา 15 วัน ที่มีสิทธิอุทธรณ์ได้
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษโจทก์และคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ตามหนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ พม 0202/24546 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2550 เรื่อง แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษตัดเงินเดือน กับขอให้บังคับจำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคืนเงินเดือนที่ถูกตัดแก่โจทก์ หากไม่ดำเนินการให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เป็นเงินพร้อมดอกเบี้ย และให้พิจารณาขึ้นเงินเดือนประจำปีงบประมาณ 2551 พร้อมคืนสิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีว่าโจทก์ร่วมกระทำความผิดกับ ช. และโจทก์ไม่รีบดำเนินการตามคำสั่งของผู้อำนวยการสำนักงานธนานุเคราะห์ เป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและปฏิบัติงานล่าช้า จึงลงโทษตามคำสั่งพิพาท คดีจึงมีประเด็นแห่งคดีว่า โจทก์กระทำความผิดตามข้อต่อสู้ในคำให้การของจำเลยทั้งสอง คำสั่งลงโทษโจทก์ของจำเลยทั้งสองที่พิพาทชอบด้วยกฎหมาย มีเหตุเพิกถอนและต้องคืนเงินและสิทธิตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ อันเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับเอาแก่จำเลยทั้งสองโดยอาศัยสิทธิในทางแพ่ง เมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ได้โต้แย้งเกี่ยวกับอำนาจในการนำคดีมาสู่ศาลของโจทก์หรืออำนาจในการออกคำสั่งของจำเลยที่ 1 และอำนาจในการพิจารณาชั้นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงเหลือปัญหาที่โต้แย้งกันเฉพาะเนื้อหาของการกระทำความผิดของโจทก์เท่านั้น คำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่วินิจฉัยโดยยกเหตุเฉพาะที่จำเลยที่ 2 ยกคำร้องทุกข์ในการอุทธรณ์ว่าโจทก์อุทธรณ์เกิน 15 วัน ตามระเบียบ เป็นการไม่ชอบด้วยระเบียบ แล้วพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ พม 0202/24546 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2550 แล้วให้จำเลยที่ 2 รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไปโดยยังมิได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีจึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15617/2558 ป.วิ.พ. ม. 145 วรรคหนึ่ง, ม. 225 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 123, ม. 124, ม. 125 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31, ม. 49
โจทก์ฟ้องเรียกดอกเบี้ยของต้นเงินค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และเงินเพิ่มของต้นเงินค่าชดเชยตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 101/2549 นั้น เมื่อปรากฏว่าวันที่ 6 มีนาคม 2557 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในคดีที่จำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องพนักงานตรวจแรงงานเป็นจำเลยที่ 1 และโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าว ซึ่งเป็นคู่ความเดียวกันและได้วินิจฉัยเรื่องพิพาทที่เกิดขึ้นคราวเดียวกันตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2149/2557 ให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 101/2549 ของจำเลยที่ 1 เฉพาะในเรื่องค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเสียแล้ว จึงมีผลเท่ากับว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว ดังนั้น ปัญหาที่ว่าโจทก์จะมีสิทธิฟ้องเรียกร้องดอกเบี้ยของต้นเงินค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และเงินเพิ่มของต้นเงินค่าชดเชยตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวหรือไม่ จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
สำหรับที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องดอกเบี้ยและเงินเพิ่มของต้นเงินค่าจ้างตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 101/2549 นั้น เมื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัตินี้ และลูกจ้างมีความประสงค์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน..." ไว้เช่นนี้ ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเรียกร้องเงินที่มีสิทธิจะได้รับจากนายจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ได้ เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานดำเนินการสอบสวนและมีคำสั่งตามมาตรา 124 และเมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งแล้วหากนายจ้างหรือลูกจ้างไม่พอใจก็สามารถนำคดีไปสู่ศาลภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้ศาลแรงงานพิจารณาอีกครั้งหนึ่งได้ตามมาตรา 125 เมื่อปรากฏว่ามูลเหตุในการยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานและการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องจากโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างอ้างว่านายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ ซึ่งเป็นการอ้างมูลเหตุแห่งข้อพิพาทอย่างเดียวกัน โจทก์จึงชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องขอให้นายจ้างจ่ายดอกเบี้ยและเงินเพิ่มของค่าจ้างไปพร้อมกันกับที่ขอให้จ่ายค่าจ้างได้ตั้งแต่ชั้นยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน การที่โจทก์ใช้แบบฟอร์มคำร้องที่มีข้อความว่า ขอให้นายจ้างจ่ายเงินค่าจ้าง ซึ่งในข้อ 7.17 ที่มีข้อความระบุว่า "ดอกเบี้ย/เงินเพิ่ม เป็นเงิน...บาท (...)" โดยไม่ได้ขีดฆ่าว่าไม่ประสงค์ให้จ่ายดอกเบี้ยหรือเงินเพิ่มก็ตาม แต่ต่อมาเมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบหรือถือว่าได้ทราบคำสั่ง โดยคำสั่งดังกล่าวไม่ได้สั่งให้จำเลยที่ 1 ต้องเสียดอกเบี้ยหรือเงินเพิ่มจากต้นเงินค่าจ้างแก่โจทก์ ซึ่งโจทก์เองก็ทราบคำสั่งนั้นแล้วและไม่ได้นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด คงมีเพียงจำเลยที่ 1 เท่านั้นที่เป็นโจทก์ฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานต่อศาลแรงงานกลางโดยฟ้องพนักงานตรวจแรงงานเป็นจำเลยที่ 1 และฟ้องโจทก์เป็นจำเลยที่ 2 พร้อมวางเงินที่จะต้องชำระตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานต่อศาลแรงงานกลางแล้ว ซึ่งโจทก์ในฐานะจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวก็มิได้โต้แย้งคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 101/2549 จึงเป็นที่สุดสำหรับโจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสอง ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจฟ้องเรียกร้องดอกเบี้ยและเงินเพิ่มของต้นเงินค่าจ้างนอกเหนือจากคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานซึ่งถึงที่สุดไปแล้วได้อีก
ในส่วนที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยนั้น แม้คำฟ้องส่วนนี้เป็นการฟ้องเรียกร้องตามสิทธิในมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 อันมิใช่สิทธิได้รับเงินตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่โจทก์จะดำเนินการยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อให้มีคำสั่งได้ และพนักงานตรวจแรงงานไม่มีอำนาจดำเนินการและมีคำสั่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 และมาตรา 125 แม้โจทก์จะมีอำนาจฟ้องได้โดยตรงต่อศาลแรงงานและศาลแรงงานกลางมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีส่วนนี้ได้ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏต่อมาว่าเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2557 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในคดีที่จำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องพนักงานตรวจแรงงานเป็นจำเลยที่ 1 และโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าว ซึ่งเป็นคู่ความเดียวกันและได้วินิจฉัยเรื่องพิพาทที่เกิดคราวเดียวกันตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2149/2557 ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้เลิกจ้างโจทก์เสียแล้ว ดังนั้น จึงมีผลทำให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามฟ้องแก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15600/2558 พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 90/12, ม. 90/58 วรรคสาม
คดีที่โจทก์อุทธรณ์คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผน และมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 3 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/58 วรรคสาม ผลของคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวทำให้มาตรการคุ้มครองกิจการหรือสภาวะพักการชำระหนี้ตามมาตรา 90/12 ในคดีฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 3 ย่อมสิ้นสุดลง สิทธิและหน้าที่ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ย่อมกลับเป็นไปดังเดิมที่มีต่อกันอยู่ก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้เพิกถอนการยึดห้องชุดพิพาทได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15599/2558 พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ม. 57, ม. 91 พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ม. 18 วรรคหนึ่ง, ม. 19 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเสพเมทแอมเฟตามีน ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ยังไม่ครบถ้วน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานเสพเมทแอมเฟตามีน คดีนี้เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจึงอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง, 19 วรรคหนึ่ง ดังนี้ เมื่อโจทก์ฎีกาโดยไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีการับฎีกาไว้พิจารณา อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15591/2558 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ม. 7, ม. 12 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 41 (1)
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 41 (1) ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเผยแพร่ข่าวสารการสอบราคาโดยมีสาระสำคัญว่า ให้ส่วนราชการเจ้าของโครงการปิดประกาศสอบราคาไว้โดยเปิดเผย ณ ที่ทำการของส่วนราชการนั้นกับส่งประกาศสอบราคาไปยังผู้มีอาชีพรับจ้างก่อสร้างโดยตรงหรือโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งการส่งประกาศสอบราคาไปยังผู้รับเหมาก่อสร้างโดยตรงนั้น นอกจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีข้างต้นจะไม่ได้วางหลักปฏิบัติว่าต้องกระทำโดยวิธีการอย่างใดแล้ว ส. พยานโจทก์ยังให้ความเห็นยืนยันว่า หากผู้รับเหมาก่อสร้างรายใดมารับเอกสารประกาศสอบราคาโดยตรงที่หน่วยงานเจ้าของโครงการ ก็ถือว่าเป็นการส่งประกาศสอบราคาให้แก่ผู้รับเหมาก่อสร้างโดยตรงแล้ว ประกอบกับในช่วงปีที่เกิดเหตุ กรมชลประทานไม่มีงบประมาณค่าใช้จ่ายในการส่งเอกสารประกาศสอบราคาให้แก่ผู้รับเหมา ก่อสร้างโดยตรงตามคำเบิกความตอบคำถามค้านของ ว. พยานโจทก์ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองพัสดุ กรมชลประทาน ดังนี้ การที่จำเลยจัดให้บรรดาผู้รับเหมาก่อสร้างมารับเอกสารประกาศสอบราคา ณ โครงการชลประทานสระบุรีซึ่งเป็นที่ทำการของจำเลย จึงถือเป็นการปฏิบัติโดยถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 41 (1) แล้ว
สำเนาบัญชีขอส่งเอกสารสอบราคา ล้วนมีลายมือชื่อของจำเลยลงไว้ในตอนล่างของเอกสารว่าเป็นผู้แจกเอกสารประกาศสอบราคาให้แก่ผู้รับเหมาก่อสร้างทั้งหลาย แต่เมื่อผู้รับเหมาก่อสร้างรายอื่นนอกเหนือจากผู้รับเหมาก่อสร้างสามรายที่ประมูลงานได้ ไม่เคยรับรู้หรือได้รับเอกสารประกาศสอบราคาจ้างเหมาก่อสร้างงานขุดลอกคลองทั้ง 7 โครงการ คดีจึงต้องถือว่า จำเลยกระทำการโดยวิธีปกปิดกีดกัน การรับรู้ข้อมูลข่าวสารการสอบราคาเป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่มีโอกาสเข้าทำการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม อันเป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 ประกอบมาตรา 7 ดังฟ้อง แม้ผู้รับเหมาก่อสร้างสามรายที่ประมูลงานได้จะเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางและปฏิบัติงานสำเร็จเรียบร้อยโดยไม่เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ แต่การประมูลงานได้ของผู้รับเหมาก่อสร้างทั้งสามรายก็เกิดจากการกระทำของจำเลยที่มุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ความสำเร็จในการทำงานของผู้รับเหมาก่อสร้างทั้งสามราย จึงไม่อาจลบล้างความผิดของจำเลยซึ่งเกิดขึ้นก่อนถึงขั้นตอนการเสนอราคาได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15586/2558 ป.วิ.พ. ม. 55, ม. 173 วรรคสอง (1) พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ม. 42 พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 ม. 32
คดีก่อนโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นคนต่างด้าวฟ้อง ส. กับพวกในฐานะคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน คำฟ้องระบุว่าแนวปฏิบัติตามหนังสือที่ รส 0711/ว751 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2544 กำหนดเงื่อนไขการรับเงินทดแทนของลูกจ้างต่างด้าวจากกองทุนเงินทดแทนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีคำวินิจฉัยไม่จ่ายเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนให้โจทก์ที่ 1 เนื้อหาคำฟ้องเป็นเช่นเดียวกับคำฟ้องคดีนี้ที่มุ่งประสงค์ให้เพิกถอนแนวปฏิบัติฉบับเดียวกันโดยโจทก์ที่ 1 อ้างว่าแนวปฏิบัติไม่มีผลบังคับเพื่อขอรับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน จึงเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกัน
พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 บัญญัติให้มีกองทุนเงินทดแทนขึ้นในสำนักงานประกันสังคม (จำเลย) เพื่อจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้างแทนนายจ้าง ทรัพย์สินของกองทุนเงินทดแทนตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานประกันสังคม โดยให้คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนทำหน้าที่ปฏิบัติงานให้แก่สำนักงานประกันสังคมหรืออาจมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคมเป็นผู้ปฏิบัติแทนได้ การที่คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีมติโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 32 กำหนดแนวปฏิบัติให้ความคุ้มครองแรงงานต่างด้าวที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง ซึ่งต่อมาสำนักงานประกันสังคมถือปฏิบัติตามมตินั้นโดยจัดทำหนังสือวางแนวปฏิบัติแจ้งต่อสำนักงานประกันสังคมจังหวัด คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนกับสำนักงานประกันสังคมจึงเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเดียวกัน หากการปฏิบัติงานของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ที่ 1 สำนักงานประกันสังคมต้องรับผิด การที่โจทก์ที่ 1 ฟ้อง ส. กับพวกในฐานะคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเป็นจำเลยในคดีก่อน กับฟ้องสำนักงานประกันสังคมเป็นจำเลยในคดีนี้ จึงเป็นการฟ้องในเรื่องเดียวกันโดยคู่ความเดียวกัน เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
เมื่อคดีนี้เป็นคดีแรงงาน ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 สำหรับเรื่องที่ไม่ได้บัญญัติไว้ก็ให้นำบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 31 จึงนำ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาใช้ในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15582/2558 พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 ม. 12 (1) พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ม. 17 พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 ม. 18 (1), ม. 44, ม. 52
คดีนี้แม้โจทก์เป็นคนต่างด้าวสัญชาติพม่าซึ่งเข้าเมืองมาโดยมิชอบ แต่ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี ได้อนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะเรื่องตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 17 ประกอบประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ฉบับลงวันที่ 22 มิถุนายน 2549 และวันที่ 19 มกราคม 2551 ซึ่งโจทก์ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรแล้วเรียกว่า บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย(พม่า) กับแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ เป็นหลักฐานที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จัดทำขึ้น นอกจากนี้โจทก์ยังได้รับอนุญาตให้ทำงานตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 12 (1) (ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะนั้น) และกฎกระทรวงกำหนดแบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการในการขอรับใบอนุญาตทำงานและการออกใบอนุญาตทำงาน สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่หลบหนีเข้าเมือง พ.ศ.2547 กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ออกใบอนุญาตทำงานให้โจทก์ทำงานกับ ว. ซึ่งเป็นนายจ้าง มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2549 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2550 โดยมีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (พม่า) กับแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติ อันเป็นหลักฐานที่สามารถใช้นำมาจัดทำฐานทะเบียนของโจทก์ ทั้งมีใบอนุญาตให้ทำงานได้ที่ทางราชการออกให้แล้ว ว. ผู้เป็นนายจ้างสามารถใช้หลักฐานดังกล่าวไปดำเนินการลงทะเบียนโดยการยื่นแบบลงทะเบียนนายจ้างและแบบรายการแสดงรายชื่อลูกจ้างได้ ตามประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง การลงทะเบียนนายจ้างตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2537 ที่แนวปฏิบัติของสำนักงานประกันสังคมตามหนังสือที่ รส 0711/ว 751 ข้อ 2.1 ที่กำหนดว่า แรงงานต่างด้าวที่จะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนต้องมีหลักฐานแสดงว่ามีการจดทะเบียนและมีใบอนุญาตให้ทำงานที่ทางราชการออกให้มาแสดงประกอบกับหนังสือเดินทางหรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวนั้น เมื่อโจทก์เป็นคนต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันจากทางราชการให้ประกอบอาชีพในราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราว และได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นกรณีพิเศษ โจทก์จึงเป็นผู้ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 และมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนได้ ในการอนุญาตให้ทำงานและให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรนั้น กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ได้ออกใบอนุญาตให้ทำงาน โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้จดทะเบียนไว้ในแบบรายการทะเบียนประวัติเพื่อให้ได้สิทธิอาศัยชั่วคราว (ท.ร.38/1) และจัดบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยให้แก่โจทก์แล้ว มิอาจถือได้ว่าโจทก์ขาดคุณสมบัติตามข้อ 2.1 ที่กำหนดไว้ในหนังสือที่ รส 0711/ว 751
สำหรับเรื่องการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนเป็นหน้าที่โดยตรงของนายจ้างตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 44 หากนายจ้างไม่ดำเนินการ ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 46 และรับโทษทางอาญาตามมาตรา 62 และเป็นหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคมตามมาตรา 47 ที่จะต้องดำเนินการต่อนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กรณีไม่อาจอ้างว่านายจ้างไม่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนมาปฏิเสธสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง ทั้ง พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 ไม่มีบทบัญญัติจำกัดเงื่อนไขการเข้าถึงสิทธิในการได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนว่าลูกจ้างจะต้องยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ประเทศไทยเสียก่อน ดังนั้นการที่สำนักงานประกันสังคมออกหนังสือที่ รส 0711/ว 751 กำหนดในส่วนที่ว่า แรงงานต่างด้าวจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน จะต้องมีหลักฐานว่านายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนในอัตราไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และแรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนต้องยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับประเทศไทย จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 เมื่อโจทก์เป็นลูกจ้างประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างที่มีสิทธิได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 และมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน แต่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่อาศัยแนวปฏิบัติตามหนังสือที่ รส 0711/ว 751 ที่ไม่ชอบมาออกคำสั่งปฏิเสธสิทธิไม่ให้โจทก์ขอรับค่าทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับค่าทดแทนรายเดือนตามมาตรา 18 (1) เดือนละ 2,418 บาท ส่วนที่ขาดอีก 4 เดือน 20 วัน จึงเป็นออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 และการที่คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีมติให้จำหน่ายเรื่องที่โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่เรียกร้องค่าทดแทนส่วนที่ขาดก็เป็นการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 52 กรณีจึงมีเหตุให้ต้องเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ 401/2550 ในส่วนที่มีมติให้จำหน่ายอุทธรณ์ของโจทก์ที่เรียกร้องให้กองทุนเงินทดแทนจ่ายค่าทดแทนรายเดือนตามมาตรา 18 (1) เพิ่มเติมแก่โจทก์ แล้วให้สำนักงานประกันสังคม โดยกองทุนเงินทดแทนรับผิดชอบจ่ายค่าทดแทนส่วนนี้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15577/2558 ป.พ.พ. ม. 157, ม. 176
โจทก์มีเจตนาซื้อที่ดินพิพาทเพื่อก่อสร้างอาคารพาณิชย์ 2 ชั้น โจทก์และ จ. ซึ่งต่างเป็นนักธุรกิจได้แสดงเจตนาและรู้ถึงเจตนาโจทก์ว่ามีเจตนาทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเพื่อก่อสร้างอาคารพาณิชย์ 2 ชั้น ดังกล่าว เมื่อภายหลังปรากฏว่าองค์การบริหารส่วนตำบลท่าอิฐแจ้งว่าที่ดินพิพาทติดถนนสาธารณะ การก่อสร้างอาคารพาณิชย์ 2 ชั้น ต้องมีระยะร่นจากแนวถนนสาธารณะ 15 เมตร แต่ที่ดินพิพาทมีระยะที่วัดจากแนวถนนสาธารณะจรดเขตที่ดินเพียง 16 เมตร จึงไม่สามารถก่อสร้างอาคารพาณิชย์ 2 ชั้น ได้ตามที่โจทก์ขอยื่นแบบก่อสร้าง กรณีถือได้ว่าโจทก์แสดงเจตนาทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับจำเลย โดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ ซึ่งหากมิได้มีความสำคัญผิดดังกล่าว สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวคงจะมิได้กระทำขึ้น การแสดงเจตนาของโจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายจึงเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 157
เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆียะ และโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวเลิกสัญญากับจำเลยแล้ว ถือได้ว่าโจทก์บอกล้างโมฆียะกรรมแล้ว สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจึงตกเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก โจทก์และจำเลยผู้เป็นคู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง จำเลยต้องคืนเงินมัดจำ 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15572/2558 ป.พ.พ. ม. 798 วรรคสอง, ม. 810 วรรคหนึ่ง ป.วิ.พ. ม. 94 (ข), ม. 148, ม. 225 วรรคสอง
ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ แม้จำเลยมิได้ยกเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ แต่เป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมยกปัญหานี้ขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง
โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดพร้อมเพื่อให้โจทก์หาเงินมาชำระค่าขึ้นศาล เป็นการทิ้งฟ้องและศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์โดยที่ยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้อง การที่โจทก์ฟ้องจำเลยใหม่เป็นคดีนี้โดยอ้างเหตุอย่างเดียวกับคดีก่อน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
โจทก์ให้จำเลยเป็นตัวแทนมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และฟ้องบังคับให้จำเลยคืนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ เป็นเรื่องตัวการฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 วรรคหนึ่ง แม้ไม่ได้ทำหนังสือตั้งให้เป็นตัวแทนก็ไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 798 วรรคสอง
โจทก์สืบพยานบุคคลว่าผู้มีชื่อในหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินและในโฉนดเป็นตัวแทนของโจทก์นั้น หาได้สืบในข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญาซื้อขายที่ดินซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือตามความหมายใน ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) นั้นไม่ แต่เป็นการสืบพยานในข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยในกรณีตัวแทนอีกส่วนหนึ่ง จึงหาใช่การนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารที่กฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือแต่ประการใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15564/2558 ป.วิ.อ. ม. 186 (9), ม. 215
การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 เป็นมาตรการของรัฐที่ต้องการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือไม่ก็ตาม โดยศาลจะมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้ติดยาเสพติดไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดก่อน และคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีอำนาจวินิจฉัยว่าผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ ผู้ใดเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด จากนั้นต้องจัดให้มีแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 22 โดยคำนึงถึงความหนักเบาของการเสพหรือติดยาเสพติดของผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 23 ซึ่งผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดต้องถูกบังคับให้อยู่รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเป็นเวลาไม่เกินหกเดือน ซึ่งอาจขยายหรือลดระยะเวลาการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามความเหมาะสมตามมาตรา 25 หากผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนระเบียบ เงื่อนไข หรือข้อบังคับที่กำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จับตัวผู้นั้นกลับเข้าไว้ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด สถานที่เพื่อการตรวจพิสูจน์ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด หรือการควบคุมตัวได้ โดยให้ถือว่าผู้นั้นหนีการคุมขังตามมาตรา 190 แห่ง ป.อ. พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจติดตามจับกุมผู้นั้นได้ด้วยตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง และมีอำนาจลงโทษตามมาตรา 32 ได้อีกด้วย การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 จึงมีวัตถุประสงค์แก้ไขฟื้นฟูผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติดทุกคนเพื่อประโยชน์ของสังคมเป็นส่วนรวม พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงต้องดำเนินการตามมาตราดังกล่าวก่อนแล้วคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจึงจะมีสิทธิพิจารณาผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เมื่อคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดนครศรีธรรมราช มีคำวินิจฉัยให้จำเลยเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพแบบไม่ควบคุมตัวในโปรแกรมของสำนักงานคุมประพฤติ เป็นเวลา 180 วัน แต่จำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดนครศรีธรรมราชไม่ครบถ้วน เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ออกหนังสือเตือนไปยังจำเลยให้มาพบ พนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยก็ไม่มาพบพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นกรณีที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดนครศรีธรรมราชกำหนดไว้ เมื่อมาตรา 33 บัญญัติให้ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการดำเนินคดีผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เมื่อผู้นั้นเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดครบถ้วนตามกำหนดเวลาแล้ว แต่ผลการฟื้นฟูยังไม่เป็นที่พอใจ การที่ได้ตัวจำเลยมาหลังจากที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามแผนการฟื้นฟูดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีหน้าที่นำตัวจำเลยกลับไปบำบัดแก้ไขตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดนครศรีธรรมราช อันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ครบถ้วนตามมาตรา 25 ก่อน เมื่อคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ ดังกล่าวข้างต้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
แม้ศาลพิพากษายกฟ้องก็ชอบที่จะต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับของกลางที่โจทก์ขอให้ริบด้วย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) ประกอบมาตรา 215 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 เมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จึงให้ริบเสียตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 ส่วนกระเป๋าหนังของกลางเป็นกระเป๋าหนังที่จำเลยใส่เมทแอมเฟตามีนของกลาง จึงเป็นทรัพย์ที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง จึงเห็นสมควรริบตาม ป.อ มาตรา 33 (1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15529/2558 ป.วิ.อ. ม. 226/3 วรรคสอง (1)
แม้คำให้การในชั้นสอบสวนของ ก. จะมีลักษณะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกันกระทำผิดและเป็นพยานบอกเล่า แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายบังคับโดยเด็ดขาดห้ามมิให้รับฟังคำให้การดังกล่าว ซึ่งข้อเท็จจริงที่ปรากฏก็ระบุถึงพฤติการณ์การกระทำที่ร่วมกับจำเลยตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุต่อเนื่องเชื่อมโยงกันไปจนกระทั่งจำเลยยิงผู้ตายแล้วก็หลบหนีไปด้วยกัน อันเป็นข้อเท็จจริงที่บอกเล่าถึงเหตุการณ์แห่งคดีที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับมูลเหตุแห่งการกระทำผิด มิใช่กระทำไปโดยมุ่งต่อผลเพื่อให้ตนเองพ้นผิดแล้วให้จำเลยรับผิดเพียงลำพัง ประกอบกับจำเลยกับ ก. ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกัน จึงไม่มีข้อสงสัยว่า ก. จะให้การกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยเพราะไม่มีเหตุผลใดที่ ก. จะกระทำเช่นนั้น เมื่อพิจารณาตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มาและข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานดังกล่าวนั้นน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ จึงรับฟังได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง (1)
แม้ว่าโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นขณะจำเลยยิงผู้ตาย แต่โจทก์มีพยานแวดล้อมเห็นเหตุการณ์ใกล้ชิดก่อนผู้ตายถูกยิงจนถึงแก่ความตายโดยเห็นจำเลยกับพวกมาตามหาผู้ตาย เมื่อรู้ว่าผู้ตายอยู่ที่ห้องน้ำหลังบ้านจำเลยกับพวกก็เดินไปหาผู้ตายทันทีแล้วมีเสียงปืนดังขึ้น 2 นัด พวกของจำเลยวิ่งออกไปก่อน แล้วมีเสียงปืนดังขึ้นอีก 3 นัด พอเสียงปืนสงบจำเลยเดินออกมาจากทางหลังบ้านไปหน้าบ้านแล้วถอดเสื้อกันฝนสีแดงทิ้งไว้เยื้องกับบ้านที่เกิดเหตุก่อนที่จะขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไป ระยะเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาไม่นานซึ่งไม่พอระแวงสงสัยได้ว่าจะมีผู้อื่นเข้ามาฆ่าผู้ตายในช่วงเวลานั้น จึงเชื่อได้ว่าต้องเป็นจำเลยอย่างแน่แท้ที่ฆ่าผู้ตาย พนักงานสอบสวนนำโลหิตของจำเลยไปตรวจพิสูจน์หาสารพันธุกรรม (DNA) กับเสื้อกันฝนสีแดงที่จำเลยสวมขณะเกิดเหตุที่ยึดไว้เป็นของกลาง ผลการตรวจพิสูจน์พบสารพันธุกรรมของจำเลยที่เสื้อกันฝนสีแดงของกลาง พยานหลักฐานโจทก์ประกอบกันมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยฆ่าผู้ตาย พฤติการณ์ของจำเลยแสดงให้เห็นถึงการกระทำที่มีการวางแผนเตรียมการไว้ล่วงหน้าอันเป็นการคิดทบทวนตกลงใจก่อนจะกระทำผิดแล้ว จำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15503/2558 ป.วิ.พ. ม. 199 จัตวา พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 ม. 14 พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 117
กระบวนพิจารณาในกรณีขอให้พิจารณาคดีใหม่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 และการยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 จัตวา บัญญัติให้ยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ ซึ่งในคดีล้มละลายแม้จะไม่มีการส่งคำบังคับให้แก่จำเลยดังเช่นในคดีแพ่งก็ตาม แต่การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหมายเรียกไปยังจำเลยเพื่อไปให้การเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สิน ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 117 ถือเสมือนว่าเป็นการส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งจำเลยมีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่ได้รับหมายเรียกดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15496/2558 ป.พ.พ. ม. 193/32 ป.วิ.พ. ม. 93 (3), ม. 142 (5), ม. 246, ม. 247 ป.วิ.อ. ม. 119 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 ม. 28 พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 94 (1)
เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ค่าปรับตามสัญญาประกันในคดีอาญาของศาลแขวงดุสิต โดยแนบสำเนาคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว สำเนาสัญญาประกัน สำเนารายงานกระบวนพิจารณา และสำเนาหมายบังคับคดี ซึ่ง ป. ผู้รับมอบอำนาจเจ้าหนี้ลงชื่อรับรองความถูกต้องของสำเนาเป็นหลักฐานไว้ท้ายคำขอรับชำระหนี้ เมื่อต้นฉบับเอกสารดังกล่าวอยู่ในความควบคุมของศาลแขวงดุสิต สำเนาเอกสารที่ ป. ซึ่งเป็นข้าราชการตำแหน่งนิติกร 5 ในหน่วยงานของรัฐดังกล่าวรับรองความถูกต้องย่อมรับฟังแทนต้นฉบับได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 (3)
ลูกหนี้ที่ 1 ผิดสัญญาประกันต่อศาลในคดีอาญาของศาลแขวงดุสิต และศาลมีคำสั่งปรับลูกหนี้ที่ 1 ตามสัญญาประกันเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2538 ซึ่งกรณีผิดสัญญาประกันต่อศาล ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคหนึ่ง ให้ศาลมีอำนาจสั่งบังคับตามสัญญาประกันโดยมิต้องฟ้อง ดังนี้ สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ค่าปรับที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้จึงเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุด มีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 เมื่อคำสั่งปรับผู้ประกันถึงที่สุดโดยไม่มีผู้ใดอุทธรณ์ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2538 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2550 จึงเกินระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่คำสั่งศาลถึงที่สุด สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ค่าปรับดังกล่าวเป็นอันขาดอายุความถือเป็นหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้อันต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 (1) ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15479/2558 ป.วิ.พ. ม. 177 วรรคสาม ป.พ.พ. ม. 251, ม. 274 วรรคหนึ่ง, ม. 275 วรรคหนึ่ง
ป.พ.พ. มาตรา 251 บัญญัติว่า "ผู้ทรงบุริมสิทธิย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในการที่จะได้รับชำระหนี้อันค้างชำระแก่ตนจากทรัพย์สินนั้นก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ โดยนัยดังบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้ หรือบทกฎหมายอื่น" บุริมสิทธิจึงมีลักษณะเป็นสิทธิอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ กรณีจึงต้องมีหนี้ที่ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบต่อเจ้าหนี้ก่อน เจ้าหนี้จึงสามารถใช้สิทธิของตนในอันที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อนเจ้าหนี้คนอื่น ดังนั้น ไม่ว่าโจทก์จะเรียกร้องเอาค่ารักษาอสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา 274 วรรคหนึ่ง หรือเรียกเอาค่าจ้างทำของเป็นการงานทำขึ้นบนอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 275 วรรคหนึ่ง ก็จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ที่โจทก์เรียกร้องให้ชำระหนี้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาททั้งสองแปลงและหนี้ที่เรียกร้องเอามีมูลมาจากการที่โจทก์ได้รักษาที่ดินพิพาทหรือได้ใช้จ่ายเงินไปเพื่อจะสงวนสิทธิหรือรับสภาพสิทธิหรือบังคับสิทธิอันเกี่ยวด้วยที่ดินพิพาททั้งสองแปลง หรือมีมูลจากการจ้างทำของเป็นการงานขึ้นบนที่ดินพิพาท เมื่อตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า ขณะโจทก์ก่อสร้างรั้วล้อมรอบที่ดินพิพาททั้งสองแปลงก็ดี ขณะก่อสร้างอาคาร วางระบบท่อน้ำ อุปกรณ์จ่ายน้ำ ขุดบ่อน้ำ เดินสายไฟและปลูกต้นไม้ในที่ดินพิพาท โจทก์เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง กรณีจึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ได้ดูแลรักษาอสังหาริมทรัพย์ของ ท. หรือ บ. แล้วเรียกเอาค่ารักษาดูแลหรือได้ว่าจ้างให้โจทก์กระทำการต่าง ๆ ลงบนอสังหาริมทรัพย์ อันจะทำให้โจทก์มีบุริมสิทธิเหนือที่ดินพิพาททั้งสองแปลง
ตามข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์จะเรียกเอาค่ารักษาดูแลที่ดินพิพาทและค่าการงานที่ได้ทำลงในที่ดินพิพาทจากจำเลยทั้งสอง การที่จำเลยทั้งสองมาฟ้องแย้งขอให้ขับไล่โจทก์และเรียกค่าเสียหายกับขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทตามโฉนดที่ดินเลขที่ 26998 ซึ่งไม่เกี่ยวกับประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาค่ารักษาอสังหาริมทรัพย์และค่าการงานหรือไม่ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นฟ้องแย้งที่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมที่ศาลจะรับไว้พิจารณาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม สำหรับคำขอท้ายคำฟ้องแม้เป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง แต่ก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่จะใช้เป็นข้อพิจารณาว่าฟ้องแย้งเกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิมหรือไม่
การที่จำเลยจะฟ้องแย้งมาในคำให้การได้ ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม บัญญัติบังคับไว้ว่าฟ้องแย้งนั้นจะต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับฟ้องเดิม หากเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ให้ศาลสั่งให้จำเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า หากฟ้องแย้งที่จำเลยฟ้องมาในคำให้การไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ฟ้องแย้งนั้นก็ไม่ใช่ฟ้องแย้ง แม้ศาลชั้นต้นรับฟ้องแย้งนั้นไว้เป็นฟ้องแย้ง ฟ้องแย้งนั้นก็เป็นฟ้องแย้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาว่าฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองเป็นฟ้องแย้งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยจึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15467/2558 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 123, ม. 124, ม. 125 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31 ป.พ.พ. ม. 575, ม. 852 ป.วิ.พ. ม. 142 (5)
อ. ลูกจ้างโจทก์เคยใช้สิทธิเรียกร้องค่าล่วงเวลาที่พิพาทจากโจทก์พร้อมเงินอื่น เนื่องจากถูกโจทก์เลิกจ้างในคดีหมายเลขแดงที่ รย.310/2551 ของศาลแรงงานภาค 2 ซึ่งระหว่างการพิจารณาในคดีดังกล่าว อ. กับโจทก์ตกลงกันได้และ อ. ได้สละสิทธิเรียกร้องในเงินค่าล่วงเวลาดังกล่าวแล้ว สิทธิเรียกร้องในค่าล่วงเวลาดังกล่าวนั้นจึงระงับสิ้นไป อ. จึงไม่อาจนำเอาสิทธิเรียกร้องค่าล่วงเวลาที่ระงับไปแล้วไปยื่นคำร้องต่อจำเลยเพื่อให้พิจารณาและมีคำสั่งได้อีก ดังนั้น อ. จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาจากโจทก์ คำสั่งของจำเลยที่ 78/2551 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2551 ที่ให้โจทก์จ่ายค่าล่วงเวลาแก่ อ. จึงไม่ชอบ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15463 - 15464/2558 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 133, ม. 134
การที่จำเลยทั้งสิบสี่มีมติไม่เห็นชอบให้กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างจ่ายเงินสงเคราะห์แก่โจทก์ทั้งสองเป็นการอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 129 วรรคสาม (1) (3) และ (6) และมาตรา 134 ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างกำหนดระเบียบการจ่ายเงินในกรณีอื่นนอกจากกรณีตามมาตรา 133 ได้ ซึ่งตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์ อัตราเงินที่จะจ่ายและระยะเวลาการจ่าย พ.ศ.2546 ข้อ 12 หาได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเกินกว่าที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 134 กำหนดไว้แต่อย่างใด หากแต่เป็นระเบียบที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 134 โดยชอบ และการพิจารณาในเรื่องดังกล่าวนี้ก็หาใช่เป็นอำนาจของอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานแต่เป็นอำนาจของคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง การกำหนดขั้นตอนการให้ความเห็นชอบโดยคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างตามระเบียบดังกล่าวก็เพื่อเป็นการตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนที่จะมีการจ่ายเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างในกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายเงินอื่นนอกเหนือจากค่าชดเชยเท่านั้น มิใช่เป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นดังที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ เมื่อตามระเบียบดังกล่าวกำหนดให้คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างมีอำนาจให้ความเห็นชอบได้ ภายหลังจากที่พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินอื่นนอกเหนือจากค่าชดเชยและได้เสนอคำขอรับเงินสงเคราะห์พร้อมด้วยความเห็นต่อคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างแล้ว และระเบียบดังกล่าวก็มิได้กำหนดเงื่อนไขด้วยว่าคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานในกรณีเช่นว่านี้จะต้องเป็นคำสั่งที่เป็นที่สุดตามมาตรา 125 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ดังเช่นกรณีที่พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยแต่อย่างใด จำเลยทั้งสิบสี่ซึ่งเป็นคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างย่อมอาศัยเหตุอย่างอื่นซึ่งแตกต่างจากความเห็นของพนักงานตรวจแรงงานในการพิจารณาไม่เห็นชอบให้กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างจ่ายเงินสงเคราะห์แก่โจทก์ทั้งสองได้ และจำเลยทั้งสิบสี่ย่อมไม่ถูกผูกพันโดยคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานแม้จะเป็นคำสั่งที่เป็นที่สุดแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15462/2558 ป.พ.พ. ม. 575 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 5, ม. 13
การปรับขึ้นเงินเดือนประจำปีให้แก่ลูกจ้างหรือพนักงานไม่มีบทกฎหมายบังคับให้นายจ้างจะต้องกระทำ จึงเป็นอำนาจทางการบริหารจัดการของนายจ้างตามแต่ที่จะกำหนดหรือตามที่ได้ตกลงกันไว้ การปรับขึ้นเงินเดือนประจำปีแก่พนักงานของจำเลยจึงต้องเป็นไปตามนโยบายหรือแนวทางการพิจารณาปรับเงินเดือนให้แก่พนักงานตามที่จำเลยประกาศไว้ ซึ่งมีเงื่อนไขว่า พนักงานจะได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนในเดือนมีนาคมของปีถัดไป ส่วนพนักงานที่พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานก่อนงวดการจ่ายเงินเดือนในเดือนมีนาคม 2550 จำเลยจะไม่พิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนให้ เมื่อโจทก์พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานเนื่องจากเกษียณอายุเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2550 การที่จำเลยไม่ปรับขึ้นเงินเดือนให้โจทก์จึงเป็นไปตามอำนาจทางการบริหารจัดการของจำเลยตามระเบียบโดยชอบแล้ว
โจทก์ใช้รถประจำตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2554 อันเป็นสิทธิประโยชน์และสวัสดิการในรูปที่มิใช่ตัวเงินที่จำเลยจัดให้เฉพาะพนักงานระดับสูง แม้ต่อมาโจทก์จะได้รับอนุมัติเป็นกรณีพิเศษให้เปลี่ยนเป็นการรับเงินช่วยเหลือค่ารถเดือนละ 50,000 บาท และค่าน้ำมันรถเดือนละ 3,000 บาท แทนรถประจำตำแหน่งก็ตาม ก็ยังคงเป็นสวัสดิการเพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบเป็นตัวเงิน เงินช่วยเหลือค่ารถและค่าน้ำมันรถนั้นจึงเป็นการจ่ายเพื่อเป็นสวัสดิการ มิใช่ค่าจ้างที่จะต้องนำมารวมเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชย
จำเลยประกอบกิจการธนาคาร เดิมใช้ชื่อว่าธนาคาร ส. ส่วนโจทก์เคยเป็นพนักงานของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ร. ซึ่งธนาคารและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต้องรวมกิจการกันตามประกาศกระทรวงการคลัง จำเลยกำหนดเงื่อนไขในการจ้างงานกับโจทก์ว่า จำเลยจะจัดสวัสดิการให้แก่โจทก์ตามระเบียบว่าด้วยสวัสดิการที่จำเลยจัดให้แก่พนักงานของจำเลย (ขณะนั้นจำเลยใช้ชื่อว่าธนาคาร ส.) ยกเว้นสวัสดิการว่าด้วยเงินบำเหน็จ จึงเป็นกรณีที่จำเลยต้องการสงวนสิทธิที่จะจัดสวัสดิการเงินบำเหน็จไว้ให้แก่พนักงานที่ร่วมทำงานกับจำเลยมาตั้งแต่แรกไม่รวมถึงโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานใหม่ที่เข้ามาภายหลังรวมกิจการ ทั้งเงินบำเหน็จดังกล่าวไม่ถือเป็นสิทธิของโจทก์ที่มีต่อนายจ้างเดิมที่จะทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างใหม่ต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินบำเหน็จตามฟ้องแก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15462/2558 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 5, ม. 13
การปรับขึ้นเงินเดือนประจำปีให้แก่ลูกจ้างหรือพนักงานนั้น ไม่มีบทกฎหมายบังคับให้นายจ้างจะต้องกระทำ จึงเป็นอำนาจทางการบริหารจัดการของนายจ้างตามแต่ที่จะกำหนดหรือตามที่ได้ตกลงกับลูกจ้างหรือพนักงานไว้ เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่จะให้รับฟังได้ว่าการปรับขึ้นเงินเดือนประจำปีให้แก่พนักงานเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง การปรับขึ้นเงินเดือนให้แก่พนักงานเป็นสิทธิเฉพาะของจำเลย และเป็นไปตามนโยบายหรือแนวทางการพิจารณาปรับเงินเดือนให้แก่พนักงานตามที่จำเลยประกาศไว้ ซึ่งได้กำหนดเงื่อนไขว่าพนักงานจะได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนในเดือนมีนาคมของปีถัดไป โดยพนักงานจะรู้ว่าได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนประมาณวันที่ 15 มีนาคม ส่วนพนักงานที่พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานก่อนงวดการจ่ายเงินเดือนในเดือนมีนาคม 2550 จำเลยจะไม่พิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนให้ ดังนั้นเมื่อโจทก์พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานเนื่องจากเกษียณอายุเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2550 การที่จำเลยไม่ปรับขึ้นเงินเดือนประจำปี 2550 ให้แก่โจทก์นั้น จึงเป็นไปตามอำนาจทางการบริหารจัดการของจำเลยตามระเบียบโดยชอบแล้ว
การที่โจทก์ใช้รถประจำตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2544 นั้น เป็นสิทธิประโยชน์และเป็นสวัสดิการในรูปแบบที่มิใช่ตัวเงินที่จำเลยจัดให้เฉพาะพนักงานระดับสูง แม้ต่อมาโจทก์จะได้รับอนุมัติจากจำเลยเป็นกรณีพิเศษ ให้เปลี่ยนเป็นการรับเงินช่วยเหลือค่ารถเดือนละ 50,000 บาท และค่าน้ำมันรถเดือนละ 3,000 บาท แทนก็ตามก็ยังถือว่าเป็นสวัสดิการอยู่นั่นเองเพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบเป็นเงินแทน เงินช่วยเหลือค่ารถและค่าน้ำมันรถ จึงเป็นการจ่ายเพื่อเป็นสวัสดิการ มิใช่เป็นค่าตอบแทนในการทำงานโดยตรงไม่ถือเป็นค่าจ้าง
โจทก์ขอและจำเลยยินยอมให้โจทก์รับเงินช่วยเหลือค่ารถและค่าน้ำมันรถแทนการใช้รถประจำตำแหน่ง หลังจากจำเลยออกระเบียบงานที่ 14/2549 โดยข้อ 2.7 กำหนดไม่ให้นำเงินช่วยเหลือค่ารถไปรวมกับเงินเดือนเพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณผลประโยชน์อื่นใด อันรวมถึงค่าชดเชยด้วย ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางไม่นำเงินช่วยเหลือค่ารถและค่าน้ำมันรถมารวมเพื่อเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยให้แก่โจทก์จึงชอบแล้ว
จำเลยประกอบกิจการธนาคารและเคยใช้ชื่อว่าธนาคาร ส. จำกัด โจทก์เคยเป็นพนักงานของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ร. ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่จะต้องรวมกิจการ ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ให้ความเห็นชอบโครงการรวมกิจการระหว่างธนาคาร ส. กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อื่น จำเลยกำหนดเงื่อนไขในการจ้างงานไว้กับโจทก์ ว่าจำเลยจะจัดสวัสดิการให้โจทก์ตามระเบียบว่าด้วยสวัสดิการที่จำเลยจัดให้กับพนักงานของจำเลยซึ่งขณะนั้นจำเลยใช้ชื่อว่า ธนาคาร ส. ยกเว้นสวัสดิการว่าด้วยเงินบำเหน็จนั้น แสดงว่ากรณีเงินบำเหน็จที่จัดไว้สำหรับพนักงานของธนาคาร ส. ที่ทำงานมาก่อนที่จะมีการรวมกิจการ เป็นสวัสดิการที่มีมาก่อนแล้วและจำเลยยังคงที่จะสงวนสิทธิไว้ให้แก่พนักงานที่ร่วมทำงานกับจำเลยมาแต่แรก ไม่รวมถึงโจทก์ที่เป็นพนักงานใหม่ซึ่งเพิ่งเข้ามาหลังมีการรวมกิจการ ทั้งไม่ถือเป็นสิทธิของโจทก์ที่มีต่อนายจ้างเดิมที่จะให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างใหม่รับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ ตามความหมายในมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ดังนั้น ที่จำเลยไม่จ่ายเงินบำเหน็จในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15456/2558 ป.วิ.พ. ม. 145 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 100 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31
กรณีได้ความว่าในคดีเดิมที่ อ. เป็นโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 คดีนี้เป็นโจทก์ที่ 2 กับพวก รวม 6 คน ฟ้องโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานเป็นจำเลยที่ 1 และฟ้องจำเลยที่ 1 คดีนี้ ในฐานะประธานกรรมการของโจทก์ที่ 1 ขณะนั้น เป็นจำเลยที่ 2 ให้เพิกถอนคำสั่งที่ 3/2549 ที่ให้ อ. กับพวก พ้นจากการเป็นสมาชิกของโจทก์ที่ 1 เป็นคดีหมายเลขแดงที่ 2212 - 2217/2550 ของศาลแรงงานกลาง ซึ่งศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาว่าคำสั่งที่ 3/2549 ขัดต่อข้อบังคับของโจทก์ที่ 1 จึงถือว่า อ. กับพวก คงเป็นสมาชิกของโจทก์ที่ 1 และให้ ร. จัดให้มีการเลือกตั้งกรรมการของโจทก์ที่ 1 ภายในกำหนด 45 วัน โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์คำพิพากษาศาลแรงงานกลางในคดีดังกล่าวต่อศาลฎีกาอ้างเหตุว่าศาลแรงงานกลางยังรับฟังข้อเท็จจริงไม่ยุติจึงเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบและคำสั่งศาลแรงงานกลางที่ให้ ร. จัดการเลือกตั้งกรรมการของโจทก์ที่ 1 เป็นคำพิพากษาที่เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ซึ่งต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3099 - 3104/2554 ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางและย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงและมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี จึงมีผลเท่ากับว่าคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนที่ให้ ร. ดำเนินการจัดการเลือกตั้งกรรมการของโจทก์ที่ 1 ได้ถูกยกและสิ้นผลผูกพันไปตามคำพิพากษาศาลฎีกานั้นด้วย เมื่อการจัดการเลือกตั้งกรรมการของโจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2550 ได้ถูกยกและสิ้นผลผูกพันไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวแล้ว โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีเดิมจึงผูกพันในผลคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์ที่ 2 จึงมิใช่กรรมการของโจทก์ที่ 1 ที่จะมีอำนาจดำเนินกิจการหรือเป็นผู้แทนของโจทก์ที่ 1 ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกโดยชอบมาตั้งแต่แรกตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 100 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อในวันที่ 28 กรกฎาคม 2550 ขณะโจทก์ทั้งสองฟ้องคดี โจทก์ที่ 2 ในฐานะประธานกรรมการของโจทก์ที่ 1 และในฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจตามกฎหมายเสียแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15455/2558 ป.วิ.พ. ม. 148
แม้ประเด็นในคดีนี้กับคดีอาญาและคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาในคดีหมายเลขดำที่ อ.36/2540 หมายเลขแดงที่ อ.459/2543 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยถึงการละเมิดลิขสิทธิ์ต่อโจทก์ในผลงานสร้างสรรค์อุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์ต่าง ๆ เช่นเดียวกัน แต่มูลเหตุแห่งการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ในคดีนี้กับในคดีหมายเลขดำที่ อ.36/2540 หมายเลขแดงที่ อ.459/2543 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดังกล่าวอันเป็นการโต้แย้งสิทธิที่ก่อให้โจทก์มีอำนาจฟ้องนั้นแตกต่างกัน มิได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ทั้งมูลเหตุแห่งการละเมิดลิขสิทธิ์ในคดีนี้กับในคดีหมายเลขดำที่ อ.36/2540 หมายเลขแดงที่ อ.459/2543 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังเป็นการกระทำคนละช่วงวันเวลากัน จึงเป็นการที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์คนละครั้งกัน ชอบที่โจทก์จะใช้สิทธิฟ้องเป็นคนละคดีได้ และแม้โจทก์จะฟ้องกล่าวอ้างเรียกให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และบริษัท บ. ใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์อุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์ต่าง ๆ โดยอาศัยมูลเหตุแห่งการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ด้วยการแต่งตั้งให้บุคคลอื่นเป็นตัวแทนจัดหาผู้รับอนุญาตผลิตสินค้าต่าง ๆ ออกจำหน่าย และทำสัญญาอนุญาตให้บุคคลอื่นจัดทำวิดีโอเทปออกจำหน่าย ในคดีหมายเลขดำที่ อ.36/2540 หมายเลขแดงที่ อ.459/2543 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางด้วย ก็เป็นการทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในลิขสิทธิ์ผลงานสร้างสรรค์อุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์ต่าง ๆ กับบริษัท ร. บริษัท ซ. บริษัท ท. และบริษัท น. อันเป็นคู่สัญญาคนละรายกันกับบุคคลที่โจทก์กล่าวอ้างว่ามีการทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในลิขสิทธิ์ผลงานอุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์ต่าง ๆ รวมจำนวนเกือบ 30 ราย ในคดีนี้ ส่วนที่โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างมูลเหตุแห่งการทำละเมิดลิขสิทธิ์ในคดีนี้จากการอนุญาตให้บริษัท อ. ผลิตสมุดระบายสีโดยทำซ้ำหรือดัดแปลงคาแรกเตอร์อุลตร้าแมนต่าง ๆ นั้น ก็ไม่ปรากฏว่าบริษัทดังกล่าวเป็นนิติบุคคลเดียวกันกับบริษัท บ. ซึ่งเป็นจำเลยที่ 4 ในคดีหมายเลขดำที่ อ.36/2540 หมายเลขแดงที่ อ.459/2543 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ทั้งยังปรากฏตามสัญญาการให้ใบอนุญาตในคดีนี้ว่าโจทก์กล่าวอ้างมูลเหตุแห่งการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ในคดีนี้เป็น "สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิที่ทำขึ้นวันที่ 13 กันยายน 2543 อนุญาตให้ใช้สิทธิในลิขสิทธิ์งานศิลปประยุกต์ "ผลงานหนุมาน VS เจ็ดยอดมนุษย์" ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2543 ถึงวันที่ 12 กันยายน 2549 และบันทึกต่อท้ายสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในลิขสิทธิ์ดังกล่าวว่าเป็นการชำระเงินค่าตอบแทนการขยายระยะเวลาตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในลิขสิทธิ์ดังกล่าวออกไปอีก 5 ปี กับสัญญาการให้ใบอนุญาตอันเป็นการอนุญาตให้ใช้สิทธิในลิขสิทธิ์งานภาพยนตร์เรื่องยักษ์วัดแจ้งพบจัมโบ้เอ และเรื่องยอดมนุษย์จัมโบ้เอ อันเป็นมูลเหตุแห่งการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์คนละครั้งกันกับที่โจทก์กล่าวอ้างดำเนินคดีในคดีหมายเลขดำที่ อ.36/2540 หมายเลขแดงที่ อ.459/2543 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงยังถือไม่ได้ว่าศาลในคดีก่อนได้วินิจฉัยการกระทำอันเป็นมูลเหตุแห่งการละเมิดลิขสิทธิ์ที่โจทก์กล่าวอ้างในคดีนี้แล้ว นอกจากนี้แม้ในคดีหมายเลขดำที่ อ.36/2540 หมายเลขแดงที่ อ.459/2543 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายนับแต่วันฟ้องคดีก่อนเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่ในคดีก่อนซึ่งรวมถึงจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในคดีนี้ จะหยุดการกระทำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์นั้น แต่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยในคดีดังกล่าวว่า ศาลวินิจฉัยและกำหนดค่าเสียหายจากการกระทำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ซึ่งเป็นการกระทำเป็นครั้งคราวก่อนโจทก์ยื่นฟ้องคดีดังกล่าวเท่านั้น หากภายหลังวันฟ้องคดีก่อนจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวหรือจำเลยที่ 1 ในคดีนี้กระทำการใดอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์อีก ชอบที่โจทก์จะต้องว่ากล่าวเอาแก่จำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวหรือจำเลยที่ 1 ในคดีนี้สำหรับการละเมิดลิขสิทธิ์ภายหลังวันฟ้องนั้น กรณีไม่อาจกำหนดค่าเสียหายเป็นรายเดือนนับแต่วันฟ้องในคดีก่อนให้แก่โจทก์ได้ และการที่โจทก์มีคำขอท้ายคำฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ อ.36/2540 หมายเลขแดงที่ อ.459/2543 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสี่ในคดีดังกล่าวซึ่งรวมถึงจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในคดีนี้หยุดกระทำการอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยห้ามมิให้จำเลยทั้งสี่ในคดีดังกล่าวซึ่งรวมถึงจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในคดีนี้อ้างตนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือเป็นผู้มีสิทธิแต่ผู้เดียวในอุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์ทั้งปวง และห้ามมิให้จำเลยทั้งสี่ในคดีดังกล่าวซึ่งรวมถึงจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในคดีนี้ทำสัญญามอบสิทธิหรือลิขสิทธิ์ในอุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์ทั้งปวงเหล่านี้ให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งหมายถึงการละเว้นการกระทำดังกล่าวหลังจากวันที่โจทก์ฟ้องคดีหมายเลขดำที่ อ.36/2540 หมายเลขแดงที่ อ.459/2543 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเป็นต้นไปนั้น แต่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยในคดีดังกล่าวว่า คำขอบังคับของโจทก์ดังกล่าวเป็นเรื่องการกระทำในอนาคตซึ่งยังมิได้มีการโต้แย้งสิทธิของโจทก์อยู่ในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีหมายเลขดำที่ อ.36/2540 หมายเลขแดงที่ อ.459/2543 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางซึ่งหมายถึงวันที่ 16 ธันวาคม 2540 โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสี่ในคดีดังกล่าวได้ จึงถือไม่ได้ว่าศาลในคดีก่อนได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ในคดีนี้แล้ว ยิ่งไปกว่านั้นจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ในคดีนี้มิได้เป็นคู่ความในคดีหมายเลขดำที่ อ.36/2540 หมายเลขแดงที่ อ.459/2543 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางด้วย การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งหกรายว่ากระทำการอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์อุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์ต่าง ๆ ของโจทก์เป็นคดีนี้จึงไม่เป็นการฟ้องซ้ำกับคำฟ้องส่วนแพ่งในคดีหมายเลขดำที่ อ.36/2540 หมายเลขแดงที่ อ.459/2543 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางแต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15453 - 15454/2558 ป.วิ.พ. ม. 145 วรรคหนึ่ง, ม. 173 วรรคสอง (1) พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ม. 4 (1), ม. 18
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ม. 26
คดีก่อนโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกเดิมเป็นคดีอาญาและคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยอื่นละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์โจทก์โดยร่วมกันทำซ้ำดัดแปลงที่รูปภาพหรือตัวงานที่เรียกว่า อุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์ชนิดต่าง ๆ มาจัดทำสมุดภาพระบายสี ขาย เสนอขาย หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งสมุดภาพระบายสีที่ละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์เพื่อการค้าและหากำไรและจำเลยที่ 1 แอบอ้างว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในอุลตร้าแมน เอซ อุลตร้าแมน อุลตร้าเซเว่น อุลตร้าแมนทาโร่ อุลตร้าแมนซอฟฟี่ อุลตร้าแมนแจ็ค จัมโบเอหรือจัมบอร์กเอซ และได้ตั้งตัวแทนในการจัดหาผู้รับอนุญาตผลิตสินค้ารูปอุลตร้าแมนออกจำหน่าย ทำสัญญาให้บุคคลอื่นใช้สิทธิบันทึกสำเนาภาพยนตร์เป็นวีดิทัศน์โดยนำไปแสวงหาประโยชน์ทางการค้า และแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ และขายสิทธิในตัวอุลตร้าแมนแก่บริษัท ซ. ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกร่วมกันชำระค่าเสียหาย แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 อนุญาตให้จำเลยที่ 3 สร้างอุลตร้าแมนมิลเลนเนียม อุลตร้าแมนโซลหรือดาร์คอุลตร้าแมนและอุลตร้าแมนเอลิท โดยลอกเลียนดัดแปลงลักษณะพิเศษหรือคาร์แรกเตอร์ของอุลตร้าแมนที่โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นงานที่โจทก์สร้างขึ้นภายหลังภาพยนตร์อุลตร้าแมนทั้งเก้าเรื่องที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 มีคดีพิพาทกันตามคดีก่อน จำเลยทั้งสามร่วมกันนำตัวละครอุลตร้าแมนมิลเลนเนียม อุลตร้าแมนโซลหรือดาร์คอุลตร้าแมนและอุลตร้าแมนเอลิทออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อประโยชน์การค้า โดยการนำออกแสดงสดบนเวทีและเก็บค่าแสดง ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นการที่โจทก์ฟ้องโดยกล่าวอ้างว่าเป็นการที่จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดต่างกรรมกันกับคดีละเมิดในคดีก่อนและเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังที่โจทก์ฟ้องคดีเดิมไว้แล้ว ทั้งเป็นเวลาภายหลังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาในคดีก่อนแล้ว โดยที่โจทก์มิอาจยกขึ้นกล่าวอ้างหรือมีคำขอบังคับขณะยื่นฟ้องคดีก่อนได้ จึงไม่ใช่คำฟ้องในเรื่องเดียวกันกับคำฟ้องในคดีก่อน ไม่เป็นฟ้องซ้อนที่ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
เมื่อพิจารณาลักษณะของการกระทำของจำเลยทั้งสามที่จัดทำอุลตร้าแมนมิลเลนเนียม ดาร์คอุลตร้าแมน และอุลตร้าแมนเอลิท เพื่อนำไปอนุญาตให้บุคคลอื่นผลิตตัวหุ่นและของเล่น หรือใช้กับฉลากสินค้าต่าง ๆ หรือจัดทำเป็นชุดหุ่นที่ใช้ในการแสดงบนเวทีแล้ว มีเหตุผลให้เชื่อว่า การจัดทำอุลตร้าแมนของจำเลยทั้งสามจนทำให้ปรากฏเป็นรูปลักษณะตามคำฟ้องได้ต้องอาศัยรายละเอียดจากภาพวาดที่แสดงลักษณะอุลตร้าแมนของโจทก์ ดังนั้นการจัดทำอุลตร้าแมนมิลเลนเนียม ดาร์คอุลตร้าแมน และอุลตร้าแมนเอลิทของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการกระทำต่อผลงานอุลตร้าแมนของโจทก์ที่แสดงออกในรูปของงานจิตรกรรมอันได้แก่ภาพวาดที่แสดงลักษณะของอุลตร้าแมน ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของผลงานอุลตร้าแมนที่โจทก์ได้ออกแบบหรือสร้างสรรค์ก่อนที่โจทก์จะนำงานจิตรกรรมนั้นมาดัดแปลงเป็นงานภาพยนตร์อุลตร้าแมน
เมื่อเปรียบเทียบตัวละครอุลตร้าแมนมิลเลนเนียม ดาร์คอุลตร้าแมน และอุลตร้าแมนเอลิทของจำเลยทั้งสามกับอุลตร้าแมนที่โจทก์สร้างสรรค์มาก่อนแล้วจะเห็นได้ว่าอุลตร้าแมนของจำเลยทั้งสามมีลักษณะคล้ายคลึงกับอุลตร้าแมนที่โจทก์สร้างสรรค์มาก่อน และความคล้ายคลึงกันดังกล่าวเป็นความคล้ายคลึงในส่วนที่เป็นสาระสำคัญเพราะทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ว่าอุลตร้าแมนที่จำเลยทั้งสามสร้างขึ้นเป็นอุลตร้าแมนที่ปรากฏในภาพยนตร์อุลตร้าแมนจนมีบุคคลที่สามมาขออนุญาตใช้สิทธิในอุลตร้าแมนของจำเลยทั้งสามหรือทำให้จำเลยทั้งสามสามารถนำไปจัดแสดงบนเวทีได้โดยใช้ชื่องานว่าอุลตร้าแมนไลฟ์โชว์ได้ จึงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามดัดแปลงงานจิตรกรรมอุลตร้าแมนอันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานจิตรกรรมอุลตร้าแมนของโจทก์
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในคดีก่อนพิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมนแต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ไม่ใช่ผู้สร้างสรรค์ร่วม จำเลยที่ 1 ได้รับโอนสิทธิเฉพาะผลงานภาพยนตร์ 9 เรื่อง ตามที่ระบุไว้ในสัญญาพิพาทเท่านั้น ส่วนภาพยนตร์ตอนใหม่ ๆ ที่โจทก์ผลิตขึ้นเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ ดังนั้น เมื่ออุลตร้าแมนเพาเวอร์ อุลตร้าแมนคิง อุลตร้าแมนทิก้า และอุลตร้าแมนคอสมอส เป็นผลงานจากภาพยนตร์ตอนใหม่ไม่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์จำนวน 9 เรื่อง ในสัญญาพิพาท ประกอบกับจำเลยทั้งสามมิได้อุทธรณ์โต้แย้งในประเด็นที่วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 สร้างตัวละครอุลตร้าแมนมิลเลนเนียม ดาร์คอุลตร้าแมนและอุลตร้าแมนเอลิทโดยดัดแปลงจากผลงานอุลตร้าแมนอันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์และไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ จำเลยทั้งสามจึงไม่มีเหตุที่จะอ้างได้ว่า ทำการสร้างสรรค์อุลตร้าแมนมิลเลนเนียม ดาร์คอุลตร้าแมน และอุลตร้าแมนเอลิทไปโดยชอบ อีกทั้งภายหลังศาลฎีกาพิพากษาว่าสัญญาพิพาทเป็นเอกสารปลอม จำเลยทั้งสามจึงไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ในผลงานอุลตร้าแมนได้อีก
ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดกลับคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางโดยวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมน สัญญาพิพาทเป็นเอกสารปลอม จำเลยที่ 1 และที่ 2 หาอาจมีสิทธิที่จะแสวงหาประโยชน์ใด ๆ ในผลงานอุลตร้าแมนตามสัญญาพิพาท คำพิพากษาดังกล่าวจึงผูกพันโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นคู่ความเดียวกัน โจทก์จึงมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน ให้ประโยชน์อันเกิดแต่ลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น หรืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิในผลงานอุลตร้าแมน การที่โจทก์และตัวแทนการค้าของโจทก์นำผลงานอุลตร้าแมนตามสัญญาพิพาท ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน และแต่งตั้งบริษัท พ. ให้เป็นตัวแทนโจทก์ในประเทศไทย จึงไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1
ผลงานอุลตร้าแมนซึ่งเป็นตัวละครในภาพยนตร์ที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้น โจทก์ประสงค์ให้ตัวละครอุลตร้าแมนเป็นภาพลักษณ์ของฝ่ายคุณธรรมโดยเป็นผู้พิทักษ์โลก การที่จำเลยทั้งสามดัดแปลงโดยสร้างตัวอุลตร้าแมนให้มีลายเส้นเน้นให้เห็นกล้ามเนื้อที่บริเวณผิวแตกต่างจากอุลตร้าแมนของโจทก์ซึ่งไม่ใช้ลายเส้นเน้นกล้ามเนื้อ และมีการเปลี่ยนแปลงมาใช้ศิลปะการต่อสู้แบบมวยไทยที่แตกต่างจากเดิมเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ที่แสดงออกของตัวอุลตร้าแมนออกมาอีกลักษณะหนึ่งเท่านั้น หาได้ทำให้ภาพลักษณ์ของตัวอุลตร้าแมนผู้ทรงคุณธรรมพิทักษ์โลกเสียไปแต่อย่างใดไม่ การดัดแปลงตัวอุลตร้าแมนของจำเลยทั้งสามดังกล่าวจึงไม่ใช่การบิดเบือนผลงานอุลตร้าแมนของโจทก์จนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของโจทก์ผู้สร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมน การกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าวย่อมไม่เป็นการละเมิดในธรรมสิทธิ์ของโจทก์ผู้สร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมนอันมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 18 โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้จากจำเลยทั้งสามได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15407/2558 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ม. 43 วรรคหนึ่ง ป.วิ.พ. ม. 142 ป.พ.พ. ม. 1387, ม. 1390
สัญญาข้อ 2 มีใจความว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงดำเนินการจดทะเบียนทางภาระจำยอม โดยโจทก์ตกลงจดทะเบียนให้ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 36717 ของโจทก์เป็นทางภาระจำยอมสำหรับที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 36715 ของจำเลยที่ 1 ให้มีความกว้าง 12 เมตร ส่วนจำเลยที่ 1 ตกลงจดทะเบียนทางภาระจำยอมให้มีความกว้าง 9 เมตร ซึ่งอยู่ภายในเขตที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 36715 ของจำเลยที่ 1 ให้เป็นทางภาระจำยอม สำหรับที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 36716, 36717 และ 341 ของโจทก์ ทั้งสองฝ่ายยินยอมให้ใช้เป็นทางภาระจำยอมตลอดไป เว้นแต่จำเลยที่ 1 ไม่ใช้ทางภาระจำยอมเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันทำสัญญานี้เป็นต้นไป ก็ยินยอมให้จดทะเบียนยกเลิกทางภาระจำยอมได้ ตามคำฟ้องและคำให้การทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างฝ่ายต่างอ้างว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ดำเนินการจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่ฝ่ายตนตามสัญญา ถือว่าทั้งสองฝ่ายมีข้อโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ตามสัญญากันแล้ว หากจำเลยที่ 1 ประสงค์จะให้ศาลบังคับให้โจทก์จดทะเบียนทางภาระจำยอมให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นการตอบแทนด้วยนั้น จำเลยที่ 1 จะต้องฟ้องหรือฟ้องแย้งตั้งประเด็นแห่งคดีเข้ามาเพื่อให้ศาลวินิจฉัยข้อพิพาทในส่วนที่โจทก์จะต้องชำระหนี้ตอบแทนให้แก่จำเลยที่ 1 ไปในคราวเดียวกัน ทั้งตามพฤติการณ์แห่งคดีนี้ หากจำเลยที่ 1 ตั้งประเด็นแห่งคดีเข้ามา โจทก์อาจมีข้อต่อสู้ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทที่ศาลจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดก่อนที่จะพิพากษาบังคับโจทก์ก็ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ฟ้องแย้งเข้ามาโดยมีคำขอให้ศาลบังคับโจทก์ ศาลย่อมไม่อาจวินิจฉัยข้อพิพาทในส่วนนี้และพิพากษาบังคับให้โจทก์ดำเนินการดังกล่าวเป็นการตอบแทนได้ เพราะเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างได้ว่าโจทก์ไม่ยอมดำเนินการจดทะเบียนทางภาระจำยอมให้จำเลยที่ 1 เป็นการตอบแทน จำเลยที่ 1 ก็มีสิทธิปฏิเสธที่จะไม่ดำเนินการจดทะเบียนทางภาระจำยอมให้โจทก์เช่นกันได้
ขณะทำสัญญาก็ดี ขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ก็ดี ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ใช้บังคับอยู่ จึงต้องนำประกาศดังกล่าวมาปรับแก่คดีนี้ แม้ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นมี พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ให้ยกเลิกประกาศดังกล่าว และให้ใช้ พ.ร.บ.นี้เกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินต่อไปก็ตาม ก็ยังคงต้องนำประกาศดังกล่าวมาปรับแก่คดีนี้ ซึ่งตามประกาศดังกล่าวข้อ 30 วรรคหนึ่ง ก็มีใจความทำนองเดียวกับมาตรา 43 วรรคหนึ่ง พิจารณาพฤติการณ์แห่งคดีนี้แล้ว หากให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้ถนนดังกล่าวเป็นทางภาระจำยอมให้แก่ที่ดินของโจทก์ โจทก์ก็ย่อมใช้ถนนดังกล่าวในฐานะทางภาระจำยอมทำนองเดียวกันกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจากโครงการที่ได้รับอนุญาต กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก อันจะเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยประกาศดังกล่าวข้อ 30 วรรคหนึ่ง จึงไม่เป็นโมฆะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15403/2558 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 5, ม. 70 วรรคสอง
(จำเลยทั้งสองทำสัญญาจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2548 แต่ร้านเปิดดำเนินกิจการในวันที่ 21 มกราคม 2549 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2548) โจทก์และคณะบุคคลแมสคอตโดยจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงว่า โจทก์จะนำสิทธิในวันหยุดพักผ่อน วันหยุดนักขัตฤกษ์ และวันหยุดประจำสัปดาห์ของโจทก์มาใช้หยุดในระหว่างที่ร้านปิดปรับปรุง หากโจทก์ใช้วันหยุดเกินสิทธิ คณะบุคคลแมสคอตขอสงวนสิทธิไม่จ่ายค่าจ้างในวันหยุดดังกล่าว และโจทก์ลงลายมือชื่อรับทราบและยินดีให้ความร่วมมือในเอกสารดังกล่าว แต่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ให้คำจำกัดความของคำว่า "ค่าจ้าง" ให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งวันหยุดตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวล้วนเป็นวันหยุดที่กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างแม้ลูกจ้างจะมิได้ทำงานทั้งสิ้น นอกจากนี้การมอบหมายงานหรือการสั่งให้ลูกจ้างทำงานเป็นสิทธิของนายจ้าง การที่นายจ้างไม่อาจมอบหมายงานหรือสั่งงานให้ลูกจ้างทำ ทั้งที่ลูกจ้างมีความพร้อมที่จะทำงานให้แก่นายจ้างนั้นนายจ้างจึงยังต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตลอดระยะเวลาที่ตกลงจ้างกัน นายจ้างจะยกขึ้นเป็นเหตุอ้างว่าไม่มีงานให้ลูกจ้างทำจึงไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองให้โจทก์หยุดงานในระหว่างที่ร้านปิดปรับปรุงอันเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองไม่มีงานให้โจทก์ทำ มิใช่โจทก์ไม่สามารถทำงานให้แก่จำเลยทั้งสองได้ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธินำค่าจ้างที่จ่ายให้แก่โจทก์ ในช่วงนหยุดดังกล่าวมาหักกับค่าจ้างที่โจทก์มีสิทธิได้รับหลังจากร้านเปิดดำเนินการแล้ว
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงทำสัญญาจ้างมีกำหนด 2 ปี แต่จำเลยทั้งสองบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด ทำให้โจทก์สูญเสียโอกาสในการทำงานกับผู้อื่นและได้รับความเสียหาย โจทก์ขอคิดค่าเสียหายนับแต่วันบอกเลิกสัญญาถึงวันที่สัญญาจ้างครบกำหนด คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายและมีคำขอให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายจากการปฏิบัติผิดสัญญาโดยบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดแล้ว ที่ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างจึงไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในฟ้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 70 วรรคสอง บัญญัติว่าในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้าง ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างภายใน 3 วัน นับแต่วันเลิกจ้าง ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 18 มีนาคม 2549 จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ภายในวันที่ 21 มีนาคม 2549 จำเลยทั้งสองไม่จ่ายภายในเวลาดังกล่าวจึงต้องเสียดอกเบี้ยจากต้นเงินค่าจ้างค้างจ่ายตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2549 เป็นต้นไป ไม่มีบทกฎหมายใดให้จำเลยทั้งสองต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ทันทีเมื่อเลิกจ้าง จำเลยทั้งสองต้องเสียดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันผิดนัดคือวันทวงถาม ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองจ่ายในวันใด ต้องถือวันฟ้องเป็นวันทวงถาม จำเลยทั้งสองจึงต้องเสียดอกเบี้ยจากต้นเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ในปัญหานี้ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงสามารถหยิบยกแก้ไขให้ถูกต้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15401/2558 ป.พ.พ. ม. 575 พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ.2503 ม. 13 (3) ข้อบังคับสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยค่าเช่าบ้าน พ.ศ.2533 ข้อ 15 ข้อบังคับคณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยค่าเช่าบ้าน พ.ศ.2548 ข้อ 15 ระเบียบสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินค่าเช่าบ้าน พ.ศ.2550 ข้อ 21
ข้อบังคับสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยค่าเช่าบ้าน พ.ศ.2533 (ข้อบังคับเดิม) ข้อ 15 (1) มีข้อความว่า "ในกรณีที่ผู้ซึ่งมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านตามข้อบังคับนี้ ได้เช่าซื้อบ้านหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านที่ค้างชำระอยู่ในท้องที่ที่ไปประจำสำนักงานใหม่ เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและได้อาศัยอยู่จริงในบ้านนั้น ให้ผู้นั้นมีสิทธินำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชำระเงินกู้ดังกล่าวมาเบิกค่าเช่าบ้านได้ไม่เกินจำนวนที่กำหนดไว้ตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านท้ายข้อบังคับนี้ ตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (1) ตนเอง และสามีหรือภริยา ได้ทำการผ่อนชำระค่าเช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านอยู่เพียงหลังเดียวในท้องที่นั้น" เป็นการกำหนดให้การใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านเพื่อชำระราคาบ้านจะต้องอยู่ในท้องที่ที่ไปประจำสำนักงานใหม่ เบิกได้ไม่เกินจำนวนเงินที่กำหนดไว้ตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านท้ายข้อบังคับ โดยตนเองและสามีหรือภริยาได้ทำการผ่อนชำระอยู่เพียงหลังเดียวในท้องที่นั้น แต่ในข้อบังคับใหม่ ข้อ 15 (1) กำหนดว่า "ในกรณีที่พนักงานซึ่งมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านตามข้อบังคับนี้ ได้เช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านที่ค้างชำระอยู่ในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่สามารถเดินทางไปปฏิบัติงานประจำสำนักงานใหม่ได้ตามหลักเกณฑ์ที่ผู้อำนวยการกำหนดเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและได้อาศัยอยู่จริงในบ้านนั้น ให้พนักงานผู้นั้นมีสิทธินำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชำระเงินกู้ดังกล่าวมาเบิกค่าเช่าบ้านได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกินอัตราร้อยละ 20 ของเงินเดือนและอย่างสูงไม่เกินจำนวนเงินที่คณะกรรมการกำหนดตาม ข้อ 6 ตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ (1) ตนเองหรือคู่สมรส ได้ทำการผ่อนชำระค่าเช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านในท้องที่นั้น จะเบิกจ่ายได้เพียงหลังเดียว" ตามข้อบังคับใหม่นี้มิได้กำหนดให้ต้องเป็นการเบิกค่าเช่าบ้านเพื่อชำระราคาบ้านเฉพาะในท้องที่ที่ไปประจำสำนักงานใหม่เท่านั้น แต่กำหนดให้เป็นบ้านที่อยู่ในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่สามารถเดินทางไปปฏิบัติงานประจำสำนักงานใหม่ได้ด้วย โดยเปลี่ยนแปลงให้ตนเองหรือคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งซึ่งทำการผ่อนชำระค่าเช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านในท้องที่นั้นสามารถจะเบิกจ่ายค่าเช่าบ้านได้เพียงหลังเดียว
โจทก์เคยร่วมกับสามีกู้ยืมเงินจากธนาคาร อ. สาขาตรัง ในโครงการสินเชื่อเคหะสงเคราะห์เพื่อก่อสร้างบ้านพักเพื่ออยู่อาศัยร่วมกันมาก่อน แม้ต่อมาสามีโจทก์แต่เพียงผู้เดียวได้กู้เงินจากธนาคาร ก. สาขาตรัง ตามโครงการเคหะสงเคราะห์และสวัสดิการแก่พนักงานการไฟฟ้า เพื่อใช้สิทธิในส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายลดลง ซึ่งหากเป็นการกู้เงินตามสัญญาใหม่ที่มีจำนวนเงินไม่สูงกว่าจำนวนหนี้เดิมก็จะเป็นการชำระหนี้ราคาบ้านที่ค้างชำระอยู่เดิมนั่นเอง และแม้สามีโจทก์จะเป็นผู้กู้เงินตามสัญญาใหม่แต่เพียงผู้เดียว บ้านที่ปลูกสร้างขึ้นดังกล่าวโดยอาศัยเงินกู้นั้นก็เป็นสินสมรสของโจทก์ด้วย และนอกจากโจทก์จะต้องรับผิดชำระหนี้ที่สามีโจทก์ได้กู้ยืมตามโครงการเคหะสงเคราะห์และสวัสดิการแก่พนักงานการไฟฟ้า ของธนาคาร ก. สาขาตรัง ดังกล่าว เพราะเป็นหนี้ร่วมแล้ว โจทก์ยังต้องรับผิดในฐานะผู้จำนองที่ดินเป็นประกันเงินกู้ดังกล่าวด้วย ดังนั้นไม่ว่าสามีโจทก์หรือโจทก์จะเป็นผู้ทำสัญญากู้ยืมเงินเอง สิทธิและหน้าที่ของโจทก์ก็ไม่มีความแตกต่างกัน โจทก์จึงมีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านเพื่อชำระค่าผ่อนชำระเงินกู้ดังกล่าวได้ตามเงื่อนไขของข้อบังคับคณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยค่าเช่าบ้าน พ.ศ.2548 ข้อ 15 (ข้อบังคับใหม่) ข้อบังคับดังกล่าวจึงถือว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายและเป็นคุณกับโจทก์
ระเบียบสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินค่าเช่าบ้าน พ.ศ.2550 ข้อ 21 ส่วนที่กำหนดให้เบิกจ่ายย้อนหลังได้ไม่เกินวันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามข้อบังคับคณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยค่าเช่าบ้าน พ.ศ.2548 เป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณและลูกจ้างมิได้ยินยอม จึงไม่สามารถใช้เพื่อตัดสิทธิของโจทก์ให้ลดน้อยลงจากสิทธิที่โจทก์มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านเพื่อผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านที่ค้างชำระย้อนหลังได้ถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 ตามข้อบังคับคณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยค่าเช่าบ้าน พ.ศ.2548 ข้อ 15 (1) แต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15400/2558 พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ม. 13
ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2547 ที่เห็นชอบให้กำหนดขอบเขตสภาพการจ้างเกี่ยวกับการเงินตามมาตรา 13 (2) แห่ง พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ที่รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งสามารถดำเนินการได้เองเมื่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจให้ความเห็นชอบแล้ว เป็นเพียงการให้อำนาจคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งในการปรับปรุงค่าจ้าง การกำหนดอัตราค่าจ้างแรกบรรจุ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำขั้นสูงของลูกจ้างทุกตำแหน่งเท่านั้น หาได้มีมติให้ปรับขึ้นอัตราเงินเดือนค่าจ้างของพนักงานลูกจ้างรัฐวิสาหกิจไม่ ดังนั้นโรงงานยาสูบโดยคณะกรรมการอำนวยการโรงงานยาสูบจึงไม่อาจอ้างมติคณะรัฐมนตรีมามีมติและคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนให้โจทก์ทั้งแปดร้อยหกเป็นกรณีพิเศษ คนละ 1 ขั้นได้ การเลื่อนขั้นเงินเดือนของโจทก์ทั้งแปดร้อยหกจึงต้องตกอยู่ภายใต้ระเบียบโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลังว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานยาสูบ พ.ศ.2520 ซึ่งกำหนดให้การเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีให้เลื่อนตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนแรกของปีที่ได้เลื่อน อันได้แก่วันที่ 1 ตุลาคมของปีงบประมาณภายใต้วงเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนที่ได้รับอนุมัติไว้ในแต่ละปี ดังนั้น คำสั่งที่ให้เลื่อนขั้นเงินเดือนโจทก์ทั้งแปดร้อยหกคนละ 1 ขั้น ให้มีผลในวันที่ 7 เมษายน 2547 จึงขัดต่อระเบียบดังกล่าว ย่อมไม่มีผลใช้บังคับ แม้คณะกรรมการอำนวยการโรงงานยาสูบจะมีคำสั่งให้ปรับเงินเดือนของโจทก์ทั้งแปดร้อยหกไปแล้วอันอาจมีลักษณะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่เป็นคุณแก่โจทก์ทั้งแปดร้อยหกมากกว่าก็ตาม แต่สภาพการจ้างที่เป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าซึ่งไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้โดยพลการนั้นต้องเป็นสภาพการจ้างที่เกิดขึ้นโดยชอบเท่านั้น เมื่อคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนแก่โจทก์ทั้งแปดร้อยหกไม่ชอบตามระเบียบข้างต้น โจทก์ทั้งแปดร้อยหกจึงไม่มีสิทธิได้รับการปรับอัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15399/2558 พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ.2503
ตามข้อบังคับสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยค่าเช่าบ้าน พ.ศ. 2533 ข้อ 15 ระบุว่า "ในกรณีที่ผู้ซึ่งมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านตามข้อบังคับนี้ ได้เช่าซื้อบ้านหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านที่ค้างชำระอยู่ในท้องที่ที่ไปประจำสำนักงานใหม่ เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและได้อาศัยอยู่จริงในบ้านนั้น ให้ผู้นั้นมีสิทธินำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชำระเงินกู้ดังกล่าวมาเบิกค่าเช่าบ้านได้ไม่เกินจำนวนเงินที่กำหนดไว้ตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านท้ายข้อบังคับนี้..." ดังนั้นการที่พนักงานของจำเลยจะนำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชำระเงินกู้มาเบิกค่าเช่าบ้านได้นั้นจะต้องเป็นกรณีที่ได้เช่าซื้อบ้านหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านซึ่งอยู่ในท้องที่ที่ไปประจำสำนักงานใหม่เท่านั้น ซึ่งตามข้อบังคับสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยค่าเช่าบ้าน พ.ศ.2533 ข้อ 4 ระบุว่า "ท้องที่หมายความว่า กรุงเทพมหานคร อำเภอ กิ่งอำเภอ หรือท้องที่ของอำเภอ และหรือกิ่งอำเภอที่ผู้อำนวยการประกาศกำหนดให้เป็นท้องที่เดียวกันตามข้อ 5 โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยาง" และข้อ 5 ระบุว่า "ให้คณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยางมีอำนาจประกาศกำหนดให้อำเภอและหรือกิ่งอำเภอหลายท้องที่รวมกันเป็นท้องที่เดียวกันได้" เมื่อโจทก์ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในท้องที่อำเภอเมืองอุบลราชธานี แต่โจทก์ได้ไปเช่าซื้อบ้านหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านในอำเภอวารินชำราบโดยไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยางได้ประกาศกำหนดให้สองอำเภอดังกล่าวเป็นท้องที่เดียวกันอำเภอวารินชำราบจึงเป็นท้องที่อื่น มิใช่เป็นท้องที่ที่ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชำระเงินกู้ดังกล่าวมาเบิกค่าเช่าบ้านได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15358/2558 ป.พ.พ. ม. 391
แม้จำเลยที่ 1 จะผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2550 ติดต่อกันเกิน 3 งวด แต่ปรากฏตามหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบอกเลิกสัญญาพร้อมใบตอบรับว่า โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระภายในระยะเวลาที่กำหนด ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันที และตามใบตอบรับจำเลยที่ 1 รับหนังสือในวันที่ 31 พฤษภาคม 2551 ซึ่งจะครบ 30 วันในวันที่ 30 มิถุนายน 2551 แต่โจทก์ไปยึดรถที่เช่าซื้อคืนเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2551 ซึ่งยังไม่ล่วงพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวโดยจำเลยที่ 1 ยินยอมให้ยึดรถและไม่ได้โต้แย้งทักท้วง อันเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายในวันยึดรถดังกล่าว
โจทก์กับจำเลยที่ 1 สมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย อันเป็นการเลิกสัญญาด้วยเหตุอื่นมิใช่เป็นการเลิกสัญญาที่มีผลมาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาเช่าซื้อ คู่สัญญาจึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้ออีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาจากค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระโดยอาศัยข้อสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อซึ่งระงับไปแล้วได้ โจทก์คงมีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เช่าซื้อในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ครอบครองนับตั้งแต่วันผิดนัดจนถึงวันที่ยึดรถที่เช่าซื้อได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15357/2558 ป.พ.พ. ม. 391, ม. 466 พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ม. 4
โจทก์กำหนดในสัญญาเช่าซื้อข้อ 1 วรรคท้าย ให้ใช้เนื้อที่ห้องชุดตามสัญญาเช่าซื้อ โดยไม่ให้คิดราคาเพิ่มหรือลดตามเนื้อที่ในหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดที่ออกในภายหลัง เป็นการยกเว้น ป.พ.พ. มาตรา 466 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการส่งมอบทรัพย์สินในการซื้อขายซึ่งนำมาใช้บังคับกับการเช่าซื้อ โจทก์ส่งมอบห้องชุดเนื้อที่ขาดตกบกพร่องจากสัญญาเช่าซื้อ 6.51 ตารางเมตรคิดเป็นร้อยละ 9.1 ของเนื้อที่ทั้งหมด แต่โจทก์ก็ยังคงให้จำเลยรับเอาห้องชุดไว้โดยไม่อาจใช้ราคาตามส่วนได้ ทั้งที่ความแตกต่างของเนื้อที่ห้องชุดมาจากการคำนวณของโจทก์เอง จำเลยจะต้องรับภาระชำระราคาเกินกว่าเนื้อที่ห้องชุดถึง 162,000 บาท จึงเป็นข้อตกลงที่นอกจากจะไม่เป็นไปตามมาตรา 466 แล้ว ยังเป็นข้อตกลงในสัญญาสำเร็จรูปที่โจทก์ซึ่งมีอำนาจต่อรองมากกว่าเป็นผู้กำหนดให้จำเลยรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนพึงคาดหมายได้ตามปกติ อีกทั้งโจทก์เป็นฝ่ายบกพร่องในการคำนวณเนื้อที่ห้องชุดและสามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้อยู่ก่อนแล้วถือได้ว่าข้อตกลงเช่นนี้ทำให้โจทก์ได้เปรียบจำเลยคู่สัญญาอีกฝ่ายเกินสมควร จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและไม่มีผลใช้บังคับ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 ข้อสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 1 วรรคท้าย จึงไม่อาจใช้บังคับได้
สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทน โจทก์ต้องปรับลดราคาห้องชุดให้เป็นไปตามเนื้อที่จริงจึงจะเรียกให้จำเลยชำระค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายได้หากโจทก์ไม่ปรับลดราคาห้องชุด จำเลยก็มีสิทธิที่จะอ้างเหตุดังกล่าวปฏิเสธการชำระค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายและถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อห้องชุด เมื่อสัญญาเช่าซื้อข้อ 1 วรรคท้าย ไม่มีผลบังคับ จำเลยย่อมมีสิทธิบอกปัดไม่รับเอาห้องชุดที่โจทก์ส่งมอบเนื้อที่ขาดจำนวนจากสัญญาเช่าซื้อเกินกว่าร้อยละ 5 การที่จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์เป็นการใช้สิทธิบอกปัดโดยขอเลิกสัญญา สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นอันเลิกกันซึ่งมิใช่เป็นการเลิกสัญญาด้วยความผิดของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิริบเงินค่าเช่าซื้อไว้ ผลของการเลิกสัญญาคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 โจทก์ต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อที่ได้รับชำระมาแล้วแก่จำเลย ส่วนจำเลยต้องส่งมอบห้องชุดคืนแก่โจทก์ และการที่จำเลยเข้าครอบครองใช้ประโยชน์ห้องชุดถือเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์ของโจทก์ จำเลยจึงต้องชดใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นตามมาตรา 391 วรรคสาม ในส่วนที่จำเลยขอให้โจทก์คืนเงินค่าเช่าซื้อตามฟ้องแย้ง จึงต้องหักด้วยค่าใช้ทรัพย์ และโจทก์ชอบที่จะได้รับค่าใช้ทรัพย์ตลอดเวลาที่จำเลยครอบครองห้องชุดของโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15349/2558 กฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541 ข้อ (3) พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 125 วรรคสอง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 52
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสอง ประเด็นแห่งคดีจึงมีเพียงว่า มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ย และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าซึ่งจำเลยไม่ได้มีคำสั่งให้เสียดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวหรือไม่เท่านั้น ทั้งคดีนี้ลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับเงินตามคำสั่งของจำเลยก็ไม่ได้เข้ามาในคดีเพื่อเรียกร้องดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าว การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาล่วงเลยไปให้โจทก์เสียดอกเบี้ยจากต้นเงินค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง มิใช่กรณีเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52
โจทก์เป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ที่ต้องดำเนินกิจการภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายและข้อบังคับของโจทก์ ข้อบังคับของโจทก์แสดงถึงวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการของโจทก์ว่าเป็นไปเพื่อบริการสาธารณะ อาทิ เพื่อบำรุงรักษาระบบสาธารณูปโภค ดูแลรักษาความปลอดภัย การจราจร ความสะอาด จัดการดูแลรักษาและซ่อมแซมบรรดาทรัพย์สินส่วนกลาง อันเป็นการกระทำโดยมีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของสมาชิกในหมู่บ้าน แม้ข้อบังคับเกี่ยวกับงานบัญชีและการเงินจะกำหนดให้โจทก์สามารถจัดหารายได้จากแหล่งต่าง ๆ ได้ เช่น ค่าสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะรายเดือนที่เรียกเก็บจากสมาชิกหมู่บ้าน รายได้จากการจัดกิจกรรมต่าง ๆ รายได้จากค่าสัมปทานหรือค่าสิทธิในการใช้ประโยชน์พื้นที่สโมสร แต่รายได้ที่โจทก์ได้รับมาก็นำมาเป็นค่าใช้จ่ายตามที่ระบุไว้ในระเบียบ โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์นำเงินรายได้ที่หามาได้นั้นมาจัดสรรหรือแบ่งปันผลกำไรระหว่างกัน การที่โจทก์ให้บุคคลภายนอกเช่าสิทธิในสโมสรของโจทก์ หารายได้ก็เป็นไปเพื่อการจัดการดูแล บำรุงรักษาสโมสรซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนกลางให้อยู่ในสภาพที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ดี จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ดำเนินกิจการเพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ กรณีจึงมิให้ใช้บทบัญญัติหมวด 11 ค่าชดเชยตั้งแต่มาตรา 118 ถึงมาตรา 122 บังคับแก่โจทก์ตามกฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ (3) โจทก์จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยตามคำสั่งของจำเลยแก่ลูกจ้าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15348/2558 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 49
แม้ศาลแรงงานกลางจะรับฟังข้อเท็จจริงว่า สาเหตุที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์จะไม่ใช่เพราะโจทก์ขาดประสิทธิภาพในการทำงานถึงขนาดต้องเลิกจ้างก็ตาม แต่อีกสาเหตุหนึ่งที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เป็นเพราะโจทก์ขาดวุฒิภาวะในการเป็นผู้บริหารระดับสูง ใช้อารมณ์ฉุนเฉียว ทำให้เพื่อนร่วมงานไม่อาจทำงานร่วมกับโจทก์ได้ ศาลแรงงานกลางได้ฟังข้อเท็จจริงมาแล้วว่า มีพนักงานในแผนกของโจทก์ 2 คน ในจำนวน 4 คนลาออก เพราะไม่สามารถทนร่วมงานกับโจทก์ได้ เมื่อโจทก์เป็นผู้บริหารระดับสูงของจำเลยที่ 1 คุณสมบัติในการเป็นผู้บริหารและความสามารถในการบังคับบัญชาบริหารจัดการภายในองค์กรจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ การที่โจทก์ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมจนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ต้องเลิกจ้างโจทก์ ทั้งไม่ปรากฏว่าการเลิกจ้างโจทก์เป็นไปโดยมีเจตนากลั่นแกล้ง จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรเพียงพอ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 1 ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15347/2558 พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 13, ม. 121, ม. 123
แม้ผู้กล่าวหาซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์จะมิได้ร่วมลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องมาตั้งแต่ต้น แต่เมื่อภายหลังจากฝ่ายลูกจ้างแจ้งข้อเรียกร้อง ฝ่ายโจทก์กับฝ่ายลูกจ้างมีการเจรจากันตามกฎหมายแล้วแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จนกระทั่งพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเข้ามาดำเนินการไกล่เกลี่ย แสดงว่ากระบวนการเจรจาต่อรองตามบทบัญญัติของกฎหมายยังไม่เสร็จสิ้น ทั้งเมื่อไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดห้ามมิให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องเพิ่มเติม การที่ผู้กล่าวหาลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องเพิ่มเติมในระหว่างกระบวนการใช้สิทธิตามกฎหมายดังกล่าวนั้น จึงถือว่าผู้กล่าวหาเป็นผู้ลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องด้วยแล้ว การที่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมรับ ไม่มีผลทำให้ผู้กล่าวหาไม่อาจใช้สิทธิของตนตามกฎหมายได้ เมื่อผู้กล่าวหา เป็นผู้เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องจึงร่วมนัดหยุดงานตามสิทธิที่กฎหมายบัญญัติรับรองไว้ได้ ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการผละงานหรือละทิ้งหน้าที่ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15345/2558 ป.รัษฎากร ม. 12, ม. 18, ม. 31 พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 ม. 31 วรรคหนึ่ง, ม. 31 วรรคสี่, ม. 36 (4) ระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม พ.ศ.2539 ข้อ 25
เอกสารที่โจทก์ยื่นพร้อมกับแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ฉบับเพิ่มเติมครั้งที่ 1 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีพิพาท ที่ระบุข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกำไรหรือผลขาดทุนของกิจการโจทก์ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี รวมถึงผลกำไรหรือผลขาดทุนของโครงการโจทก์ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนแต่ละโครงการ เพียงพอให้เจ้าพนักงานประเมินนำมาใช้ในการคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและทำการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ได้ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงเป็นการประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 18 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 ไม่ได้กำหนดวิธีการคำนวณผลกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนไว้แต่อย่างใด ทั้งประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ ป.13/2541 เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์การใช้สิทธิและประโยชน์ตามมาตรา 36 (4) ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2541 ก็ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้เช่นกัน กรณีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนไม่ว่ามีการประกอบกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนร่วมด้วย หรือมีการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมากกว่าหนึ่งโครงการก็ตาม ย่อมต้องอยู่ภายใต้บังคับของ ประมวลรัษฎากร พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 มาตรา 31 วรรคสี่ และมาตรา 36 (4) หาได้เป็นบทยกเว้นบทบัญญัติตาม ประมวลรัษฎากร ไม่ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินภาษีอากรโดยอาศัย ประมวลรัษฎากร จึงชอบแล้ว
เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยประเมินให้โจทก์เสียภาษีอากร แล้วโจทก์ไม่เสียภายในกำหนด ถือเป็นภาษีอากรค้าง จำเลยมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ได้ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 12 และมาตรา 31 ซึ่งการยึดย่อมหมายความรวมถึงการนำเอาเงินที่จำเลยต้องคืนให้โจทก์มาหักกลบลบหนี้กับหนี้ภาษีอากรที่โจทก์ค้างจำเลยได้ด้วย แม้โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอทุเลาการเสียภาษีอากร และจำเลยอนุมัติให้ทุเลาการเสียภาษีอากรดังกล่าวแล้ว แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุมัติให้ทุเลาก่อนวันที่มีการหักกลบลบหนี้ ดังนี้ การที่เจ้าพนักงานของจำเลยทำการหักกลบลบหนี้จึงเป็นการปฏิบัติไปตามระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม พ.ศ.2539 ข้อ 25 แล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15341/2558 พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 14, ม. 90/60 วรรคสอง
แม้หนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์ จำเลยรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ของบริษัท ท. และบริษัท ท. ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามแผนแล้วก็ตาม แต่ในส่วนความรับผิดของผู้ค้ำประกัน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง บัญญัติว่า "คำสั่งของศาลซึ่งเห็นชอบด้วยแผนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้ หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกันหรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ในหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน และไม่มีผลให้บุคคลเช่นว่านั้นต้องรับผิดในหนี้ที่ก่อขึ้นตามแผนตั้งแต่วันดังกล่าว..." เช่นนี้ หนี้ส่วนที่ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดย่อมระงับไปเฉพาะส่วนที่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามแผน แต่ในหนี้ส่วนที่ขาดผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอยู่ตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง เมื่อได้ความว่าตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ได้รับชำระหนี้จากส่วนที่เป็นต้นเงิน 12,299,632.50 บาท หาใช่เต็มจำนวน 44,820,878.50 บาท ตามที่โจทก์ขอรับชำระหนี้ไม่ ดังนั้น แม้โจทก์จะได้รับชำระหนี้ครบถ้วนตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ชั้นต้น โจทก์ก็ยังมีสิทธิเรียกร้องส่วนที่ขาดจากจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันได้ เมื่อส่วนที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ในมูลหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท
จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง แม้โจทก์จะได้รับชำระหนี้จากบริษัท ท. ลูกหนี้ชั้นต้นตามแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว แต่ยังไม่ครบถ้วน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยชำระหนี้ให้โจทก์ กรณีจึงไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15326/2558 ป.วิ.พ. ม. 290
ป.วิ.พ. มาตรา 290 มิได้บัญญัติไว้ว่าศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้เฉลี่ยทรัพย์ได้จะต้องมีการประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ก่อน จึงแปลความได้ว่าแม้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะมิได้มีคำสั่งประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษายึดไว้ก็ตาม ผู้ร้องย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องเฉลี่ยทรัพย์ได้ก่อนเสมอซึ่งมิได้ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว
ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลย แต่จากสภาพทรัพย์จำนองเห็นได้ว่าหากขายทอดตลาดแล้วจะได้เงินไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่ผู้ร้อง ประกอบกับจำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นที่ผู้ร้องจะบังคับชำระหนี้ได้ซึ่งถือว่าเป็นเหตุผลที่ผู้ร้องใช้อ้างมาในคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นที่ผู้ร้องจะบังคับชำระหนี้ได้อันเป็นการสนับสนุนคำร้องเพื่อให้มีความชัดแจ้งถึงวัตถุประสงค์แห่งความจำเป็นที่จะต้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีนี้เท่านั้น แม้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1381/2545 และ 666/2546 ผู้ร้องจะได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองไว้แล้วแต่ยังไม่ได้ขายทอดตลาดก็ตาม ผู้ร้องก็มีสิทธิเข้าเฉลี่ยเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดคดีนี้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15324/2558 ป.วิ.พ. ม. 27, ม. 74, ม. 142 (5), ม. 173 วรรคหนึ่ง, ม. 199 จัตวา, ม. 199 เบญจ
จำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่โดยอ้างว่า ไม่จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไม่ชอบ เป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 74 (2) ให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นไม่ได้พิจารณาคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 เบญจ คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงไม่เป็นที่สุด ตามบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าว
เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2555 พนักงานเดินหมายได้นำคำบังคับไปส่งให้แก่จำเลยที่บ้านเลขที่ 370/207 หมู่ที่ 21 ตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของจำเลยตามคำฟ้องโดยวิธีปิดหมายตามคำสั่งศาลชั้นต้น ต่อมาวันที่ 28 มกราคม 2557 จำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่อ้างว่า จำเลยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่ 370/207 หมู่ที่ 21 ตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น แต่มิใช่ที่อยู่ที่แท้จริงเพราะจำเลยพักอาศัยอยู่ที่ราชอาณาจักรเดนมาร์กตลอดมาไม่เคยเดินทางกลับประเทศไทยเป็นเวลา 5 ปีแล้ว เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2556 ป. น้าจำเลยโทรศัพท์บอกว่าคนดูแลบ้านของจำเลยเห็นโจทก์กับพวกเข้าไปในบ้านจำเลย หลังจากตรวจสอบแล้วปรากฏว่าบ้านและที่ดินถูกยึด จำเลยติดต่อทนายความจึงทราบว่าถูกโจทก์เป็นคดีนี้ อันเป็นกล่าวอ้างว่ากรณีมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ที่ทำให้จำเลยไม่สามารถยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ภายในสิบห้าวันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาให้แก่จำเลย ซึ่งจำเลยจะต้องบรรยายให้ชัดแจ้งว่าพฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลงเมื่อใด เพื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ยื่นคำขอภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้สิ้นสุดลงหรือไม่ แต่ในคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยดังกล่าวไม่ปรากฏว่าพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้นั้นได้สิ้นสุดลงเมื่อใด ทั้งในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 จำเลยได้แต่งตั้งทนายความยื่นคำร้องขอถ่ายเอกสารต่าง ๆ ในสำนวนเพื่อยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ จึงต้องถือว่าพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ดังกล่าวได้สิ้นสุดอย่างช้าในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 แล้ว แต่จำเลยเพิ่งยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ในวันที่ 28 มกราคม 2557 จึงพ้นกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 199 จัตวา วรรคหนึ่ง ปัญหาว่าคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15320/2558 พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 22, ม. 27, ม. 91, ม. 94
หลังจากศาลมีคำสั่งพิทักทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและบ้านพิพาทของโจทก์และเรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์ไม่อาจนำที่ดินและบ้านพิพาทออกให้เช่าซึ่งจะได้ค่าเช่าไม่น้อยกว่าเดือนละ 60,000 บาท คิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 1 เดือน เป็นเงิน 60,000 บาท พร้อมทั้งค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 60,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาท จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า สัญญาเช่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา จำเลยไม่ได้ผิดสัญญาต่อโจทก์ ขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนสิทธิการเช่าที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่จำเลย ดังนี้ คดีโจทก์ในส่วนที่ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและบ้านพิพาทอันเป็นทรัพย์สินของโจทก์ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยโดยตรง จึงไม่อยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะดำเนินคดีแทนจำเลยตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) จำเลยย่อมมีอำนาจต่อสู้คดีได้โดยลำพัง สำหรับค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมานั้นโจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าเป็นค่าเสียหายนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 พร้อมทั้งค่าเสียหายนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาท เมื่อปรากฏว่าศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2554 ค่าเสียหายดังกล่าวจึงเป็นมูลหนี้อันเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่เกิดขึ้นภายหลังที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว โจทก์ไม่อาจนำมาขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 27, 91 และ 94 โจทก์ชอบที่จะฟ้องจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ในคดีล้มละลายได้โดยตรง ไม่อาจฟ้องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นจำเลยแทนลูกหนี้หรือเข้าดำเนินคดีนี้แทนลูกหนี้ จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ด้วยตนเอง แต่ในส่วนฟ้องแย้งของจำเลยนั้น เป็นการขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนสิทธิการเช่าที่ดินและบ้านพิพาทตามสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาอันเป็นประโยชน์ในทางทรัพย์สินของจำเลย กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยใช้สิทธิฟ้องร้องเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยระหว่างจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 22 (3) ที่ศาลชั้นต้นรับฟ้องแย้งและพิพากษาตามฟ้องแย้งจึงไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15315/2558 ป.พ.พ. ม. 1336
แม้ตามคำคัดค้านและฟ้องแย้งของผู้คัดค้านจะอ้างว่า การครอบครองที่ดินพิพาทของผู้ร้องเป็นละเมิดต่อผู้คัดค้านเพราะผู้คัดค้านมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทและผู้คัดค้านไม่ยินยอมให้ผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพิพาท ขอให้ศาลพิพากษาขับไล่ผู้ร้องและบริวารออกจากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหาย แต่เมื่อได้ความว่า ผู้คัดค้านเคยฟ้องขับไล่สามีของผู้ร้องในที่ดินพิพาทแปลงเดียวกันจนศาลฎีกามีคำวินิจฉัยพิพากษายกฟ้อง โดยยกเหตุผลเรื่องการรับโอนในที่ดินพิพาทมิได้เป็นไปโดยสุจริตตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2808-2809/2539 คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวจึงต้องผูกพันผู้คัดค้าน ฟังได้ว่าการฟ้องขับไล่สามีของผู้ร้องเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตแม้ผู้คัดค้านจะอ้างสิทธิในฐานะเจ้าของที่ดินซึ่งผู้คัดค้านมีสิทธิฟ้องขับไล่ผู้ร้องได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ก็ตาม แต่ผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาย่อมผูกมัดผู้คัดค้านว่า ผู้คัดค้านใช้สิทธิฟ้องขับไล่สามีของผู้ร้องโดยไม่สุจริต ที่ผู้คัดค้านฟ้องแย้งขับไล่ผู้ร้องและบริวารออกจากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหายในคดีนี้โดยอ้างการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเช่นคดีเดิมที่เคยฟ้องขับไล่สามีผู้ร้องมาก่อนจึงเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตเช่นกัน ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิฟ้องแย้งขับไล่ผู้ร้องและเรียกค่าเสียหาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15313/2558 ป.วิ.พ. ม. 248 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินเนื้อที่ 1 ไร่ 79 ตารางวา และเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 45 ตารางวา เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 4366 และ 4367 ตามลำดับ เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง กับให้จำเลยรื้อถอนพืชผลทางการเกษตรในส่วนที่รุกล้ำและทำให้ที่ดินเป็นไปตามสภาพเดิม จำเลยให้การว่า จำเลยครอบครองและเข้าทำประโยชน์ตามเนื้อที่โฉนดเลขที่ 4360 ซึ่งจำเลยเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ มิได้รุกล้ำแนวเขตที่ดินของโจทก์ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน อันเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ซึ่งศาลต้องแยกพิจารณาที่ดินแต่ละแปลงออกต่างหากจากกันเป็นรายแปลงว่าเป็นดังที่โจทก์กล่าวอ้างหรือเป็นดังที่จำเลยปฏิเสธ ทุนทรัพย์จึงต้องแยกออกเฉพาะที่ดินแต่ละแปลง เมื่อปรากฏตามบัญชีกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินว่าที่ดินมีราคาประเมินตารางวาละ 200 บาท หรือไร่ละ 80,000 บาท ที่ดินส่วนที่จำเลยรุกล้ำทั้งสองแปลงตามโฉนดเลขที่ 4366 และ 4367 มีราคา 95,800 บาท และ 129,000 บาท ตามลำดับ ซึ่งราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาในที่ดินแต่ละแปลงไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย จึงต้องฟังว่า เนื้อที่ดินในส่วนที่พิพาทตามแผนที่พิพาท อยู่ในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์และเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์นั้น เป็นฎีกาที่โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 อันเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15310/2558 ป.พ.พ. ม. 246 พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ม. 51 พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 ม. 9
ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 51 และ พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 9 บัญญัติให้ เงินสมทบที่ค้างชำระและเงินเพิ่ม เงินทดแทนที่ค้างชำระและเงินเพิ่ม มีบุริมสิทธิในระดับเดียวกับบุริมสิทธิในค่าภาษีอากรตาม ป.พ.พ. โดยมิได้บัญญัติให้เรียกได้ในวงเงินที่ค้างในปีปัจจุบันและปีก่อนหน้านั้นหนึ่งปี แม้ ป.พ.พ. มาตรา 256 จะบัญญัติให้ บุริมสิทธิค่าภาษีอากรใช้สำหรับของบรรดาค่าภาษีอากรที่ยังค้างอยู่ในปีปัจจุบันและก่อนนั้นขึ้นไปอีกปีหนึ่ง ก็เป็นเรื่องที่บัญญัติเอาไว้ในเฉพาะเรื่องบุริมสิทธิในมูลค่าภาษีอากรเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15303/2558 ป.พ.พ. ม. 572, ม. 1299 วรรคหนึ่ง
การที่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้ว แม้กรรมสิทธิ์ในห้องชุดตกเป็นของโจทก์โดยผลของกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 วรรคหนึ่ง แล้วก็ตาม แต่ห้องชุดเป็นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งการได้มาโดยนิติกรรมย่อมไม่บริบูรณ์ เว้นแต่จะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง โจทก์ยังต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดในทางทะเบียนด้วย เพราะไม่เช่นนั้นย่อมไม่อาจที่จะใช้สอยห้องชุดในฐานะเจ้าของทรัพย์สินอย่างสมบูรณ์ได้ จำเลยจึงยังมีหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในทางทะเบียนให้แก่โจทก์ ส่วนที่ตามรายละเอียดแนบท้ายสัญญาเช่าซื้อห้องชุด ข้อ 16 กำหนดว่า "เมื่อผู้ให้เช่าซื้อได้จดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อจะแจ้งให้ผู้เช่าซื้อทราบเพื่อให้ผู้เช่าซื้อมารับโอนกรรมสิทธิ์ และผู้เช่าซื้อจะต้องมาขอรับโอนกรรมสิทธิ์ให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาที่ผู้ให้เช่าซื้อแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้เช่าซื้อทราบ..." ก็ไม่ได้ระบุว่า จำเลยจะดำเนินการเมื่อใด จึงเป็นเรื่องที่สุดแล้วแต่ใจของจำเลยโดยแท้ เมื่อปรากฏว่านับแต่ที่โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อห้องชุดในโครงการของจำเลยวันที่ 16 มีนาคม 2541 จนผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยครบถ้วนวันที่ 10 พฤษภาคม 2552 และฟ้องคดีวันที่ 29 มีนาคม 2553 เป็นเวลา 12 ปีเศษ จำเลยยังมิได้ดำเนินการอย่างใด ๆ เพื่อการจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดเลย ถือได้ว่าเป็นเวลาที่เนิ่นนานจนเกินสมควรไปมาก ส่วนที่จำเลยอ้างว่า เหตุที่จำเลยไม่จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลอาคารชุดขึ้นและโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ เพราะเหตุว่าประสบปัญหาขาดทุนและเกี่ยวกับเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ก็มิใช่เป็นเหตุที่จำเลยจะอ้างเพื่อที่จะปฏิเสธไม่จดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดและไม่โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ได้ ฟังได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15303/2558 ป.พ.พ. ม. 572 วรรคหนึ่ง, ม. 1299 วรรคหนึ่ง ป.วิ.พ. ม. 150
โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยครบถ้วน แม้กรรมสิทธิ์ในห้องชุดตกเป็นของโจทก์โดยผลของกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 วรรคหนึ่ง แล้วก็ตาม แต่ห้องชุดเป็นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งการได้มาโดยนิติกรรมย่อมไม่บริบูรณ์ เว้นแต่จะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง โจทก์ยังต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดในทางทะเบียนด้วย เพราะไม่เช่นนั้นย่อมไม่อาจที่จะใช้สอยห้องชุดในฐานะเจ้าของทรัพย์สินอย่างสมบูรณ์ได้ จำเลยจึงยังมีหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในทางทะเบียนให้แก่โจทก์
รายละเอียดแนบท้ายสัญญาเช่าซื้อห้องชุด ข้อ 16 กำหนดว่า "เมื่อผู้ให้เช่าซื้อได้จดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อจะแจ้งให้ผู้เช่าซื้อทราบเพื่อให้ผู้เช่าซื้อมารับโอนกรรมสิทธิ์ และผู้เช่าซื้อจะต้องมาขอรับโอนกรรมสิทธิ์ให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาที่ผู้ให้เช่าซื้อแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้เช่าซื้อทราบ..." ก็ไม่ได้ระบุว่า จำเลยจะดำเนินการเมื่อใดจึงเป็นเรื่องที่สุดแล้วแต่ใจของจำเลยโดยแท้ เมื่อปรากฏว่านับแต่ที่โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อห้องชุดในโครงการของจำเลยจนผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยครบถ้วน และฟ้องคดีเป็นเวลา 12 ปีเศษ จำเลยยังมิได้ดำเนินการอย่างใด ๆ เพื่อการจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดเลย ถือว่าเป็นเวลาที่เนิ่นนานจนเกินสมควรไปมาก เหตุที่จำเลยไม่จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลอาคารชุดขึ้นและโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ เพราะเหตุว่าประสบปัญหาขาดทุนและเกี่ยวกับเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนกลาง มิใช่เป็นเหตุที่จำเลยจะอ้างเพื่อที่จะปฏิเสธไม่จดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดและไม่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ได้ จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อโจทก์
โจทก์ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยจนครบถ้วนและได้กรรมสิทธิ์ในห้องชุดแล้ว ย่อมไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์จะต้องขอเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลย คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ขอคืนเงินค่าเช่าซื้อ 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยเป็นเพียงคำขอรองในกรณีที่สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้โจทก์บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ตามคำขอหลักได้เท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไม่ จำเลยไม่อาจที่จะขอคืนเงินค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์โดยหักกลบลบหนี้กับค่าเช่าและค่าใช้ประโยชน์ห้องชุดพิพาทจากโจทก์ได้
จำเลยให้การรับว่า ห้องชุดเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แล้ว มิได้ต่อสู้กรรมสิทธิ์ว่าห้องชุดเป็นของจำเลย เพียงแต่อ้างว่ายังไม่ถึงกำหนดเวลาในการโอนกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียน การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ มิได้ทำให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ห้องชุดเพิ่มมากขึ้นไปกว่าเดิม จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ส่วนคำขอรองที่ว่า หากจำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ให้จำเลยชดใช้เงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 600,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ไม่ทำให้กลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์ไปได้ ที่ศาลชั้นต้นเรียกค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่กำหนดไว้ตลอดมาไม่ถูกต้อง จึงต้องคืนส่วนที่เสียเกินมาให้แก่คู่ความทุกฝ่าย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15301/2558 ป.พ.พ. ม. 1488 ป.วิ.พ. ม. 284
การบังคับคดีโดยการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น เบื้องต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 284 กำหนดหลักการสำคัญไว้เพียงว่า เว้นแต่จะได้มีกฎหมายบัญญัติไว้หรือศาลจะได้มีคำสั่งไว้เป็นอย่างอื่น ห้ามมิให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีโดยบทบัญญัติดังกล่าวไม่บังคับว่าการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องกระทำทีละสิ่งเสมอไป ทั้งไม่ได้กล่าวถึงการชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินนั้นว่าจะแบ่งภาระแห่งหนี้กันอย่างไร ดังนี้ การจะชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดนั้นเป็นประการใดจึงเป็นข้อที่จะต้องว่ากล่าวกันต่อไป เมื่อคดีได้ความว่าที่ดินอันเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 9 เจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดน่านประเมินราคาไว้ 337,200 บาท ไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ ซึ่งโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 9 ไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจอายัดสิทธิเรียกร้องเงินฝากในบัญชีธนาคารทั้งสองบัญชีของ ย. ภริยาจำเลยที่ 9 อันเป็นสินสมรสที่เป็นของจำเลยที่ 9 เพื่อการชำระหนี้ได้ ไม่ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้โจทก์จะเคยขอให้ออกหมายบังคับคดีนำเจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องเงินฝากดังกล่าวมาก่อน แต่เมื่อมีการถอนอายัดครั้งก่อนแล้ว การอายัดครั้งหลังย่อมไม่เป็นอายัดซ้ำ ปัญหาว่าจะบังคับคดีแก่ทรัพย์สินใดได้หรือไม่นั้น ศาลจะต้องวินิจฉัยว่าทรัพย์สินนั้นอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีหรือไม่ ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น อย่างไรก็ดี เมื่อหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ส่วนตัวของจำเลยที่ 9 การชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดมานั้นจึงต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1488 กล่าวคือ ต้องบังคับชำระหนี้ด้วยสินส่วนตัวของจำเลยที่ 9 ก่อน เมื่อไม่พอจึงให้ชำระหนี้ด้วยเงินฝากอันเป็นสินสมรสส่วนที่เป็นของจำเลยที่ 9 ต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15301/2558 ป.พ.พ. ม. 1488 ป.วิ.พ. ม. 284 วรรคสอง, ม. 290
การบังคับคดีโดยการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น เบื้องต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 284 กล่าวเป็นหลักการสำคัญไว้เพียงว่า เว้นแต่จะได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ หรือศาลจะได้มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ห้ามไม่ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี โดยไม่ได้กล่าวถึงการชำระหนี้ด้วยทรัพย์ที่ยึดหรืออายัดไว้นั้นว่าจะกระทำโดยประการใดหรือจะแบ่งภาระแห่งหนี้กันอย่างไร ดังนี้ เมื่อมีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว การจะชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดนั้นประการใดจึงเป็นข้อที่จะต้องว่ากล่าวกันต่อไป คดีนี้ไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติเรื่องการยึดหรืออายัดหรือศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับการยึดหรืออายัดไว้เป็นอย่างอื่นและตามบทบัญญัติดังกล่าวก็ไม่บังคับว่าการยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นต้องกระทำไปทีละสิ่งเสมอไปแต่อย่างใด เมื่อได้ความตามบันทึกของเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าที่ดินอันเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 9 นั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดน่านประเมินราคาไว้ไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งโจทก์ยืนยันต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า มีหนี้ที่จะต้องชำระยังเหลือหนี้จำนวนมากโดยที่โจทก์ก็อ้างอยู่ว่าจำเลยที่ 9 ไม่มีทรัพย์สินอื่น ทั้งแถลงจะรับผิดชอบในความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ส่วนจำเลยที่ 9 ไม่ได้นำสืบโต้แย้งให้รับฟัง ได้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น การอายัดสิทธิเรียกร้องเงินฝากในบัญชีประเภทฝากประจำ และประเภทออมทรัพย์ ธนาคาร ท. ของภริยาจำเลยที่ 9 เพื่อให้ได้ชำระหนี้ด้วยสินสมรสที่เป็นส่วนของฝ่ายจำเลยที่ 9 จึงไม่เกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดี จึงไม่ต้องห้ามตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว เมื่อหนี้ที่ต้องชำระเป็นหนี้ส่วนตัวของจำเลยที่ 9 จึงต้องบังคับชำระหนี้นั้นด้วยสินส่วนตัวของจำเลยที่ 9 ก่อน เมื่อไม่พอจึงให้ชำระหนี้ด้วยเงินฝากอันเป็นสินสมรสที่เป็นส่วนของฝ่ายจำเลยที่ 9 ต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1488
เมื่อมีการถอนอายัดครั้งก่อนแล้ว การอายัดครั้งหลังย่อมไม่เป็นอายัดซ้ำ ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจหน้าที่กระทำได้ตามหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาล
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15283/2558 ป.วิ.พ. ม. 145 พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 22, ม. 25, ม. 27, ม. 91, ม. 94, ม. 110
แม้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในคดีนี้ยังคงมีผลผูกพันโจทก์และผู้คัดค้านอยู่ก็ตาม แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด อำนาจในการจัดการกิจการและรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ย่อมตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 โจทก์จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ ใน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27, 91 และ 94 ข้อเท็จจริงได้ความว่าศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 ในคดีหมายเลขแดงที่ ล.606/2556 แม้คดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะได้แจ้งอายัดเงินค่าจ้างแปรสภาพหัวมันสำปะหลังไปยังผู้คัดค้านไว้ก่อนแล้วก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านยังไม่ได้ส่งเงินตามที่อายัดแก่เจ้าพนักงานบังคับคดี ย่อมถือไม่ได้ว่าการบังคับคดีสำเร็จบริบูรณ์ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ การบังคับคดีโดยการอายัดเงินดังกล่าวไม่อาจใช้ยันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 110 การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้งดการพิจารณาและจำหน่ายคดีนี้ตามมาตรา 25 จึงเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะได้ใช้อำนาจว่ากล่าวเอาความจากผู้คัดค้านต่อไปตามที่ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ให้อำนาจไว้ กรณีจึงไม่มีประโยชน์ที่ศาลฎีกาจะพิจารณาฎีกาของผู้คัดค้านอีกต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15232/2558 ป.อ. ม. 56, ม. 83, ม. 157 ป.วิ.อ. ม. 2 (4) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ม. 147 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 ม. 24, ม. 42
คณะกรรมการการเลือกตั้งถูกจัดตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ให้มีหน้าที่ควบคุมและดำเนินการจัด หรือจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงเป็นองค์กรที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการได้มาซึ่งผู้แทนของประชาชน หากไม่สามารถควบคุมหรือจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมแล้วจะบังเกิดผลทำให้บุคคลที่ไม่สุจริตโกงการเลือกตั้งได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปใช้อำนาจนิติบัญญัติหรืออำนาจบริหารราชการแผ่นดิน ย่อมคาดหมายได้ว่าบุคคลจำพวกนี้จะใช้อำนาจหน้าที่ของตนเพื่อประโยชน์แก่ตนและพวกพ้องยิ่งกว่าประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม อันทำให้ระบบการปกครองที่เรียกว่าประชาธิปไตยผิดเพี้ยนไป ความเสียหายย่อมตกแก่ประชาชน หรือรัฐซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน อันถือเป็นความเสียหายอย่างร้ายแรง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มาตรา 24 จึงได้บัญญัติเป็นข้อห้ามของกรรมการการเลือกตั้งว่า ห้ามมิให้กรรมการการเลือกตั้ง กรรมการการเลือกตั้งจังหวัด ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดและอนุกรรมการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้ง กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด หรือกระทำการหรือละเว้นกระทำการโดยทุจริตหรือประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ และมาตรา 42 บัญญัติกำหนดโทษทางอาญาแก่กรรมการการเลือกตั้งผู้ฝ่าฝืนมาตรา 24 ไว้ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ได้ยื่นคำร้องกล่าวโทษต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามกฎหมาย เพราะก่อนวันรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรค ท. หรือผู้บริหารพรรค ท. กระทำการโดยไม่สุจริตด้วยการจ้างวานหรือใช้ให้พรรค พ. และพรรค ผ. จัดส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งต่าง ๆ หลายเขตหลายจังหวัดในประเทศเพื่อแข่งขันกับผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรค ท. ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขตดังกล่าวนั้น โดยผู้บริหารของพรรคการเมืองทั้ง 3 พรรค ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งปลอมทะเบียนผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งซึ่งเป็นเอกสารราชการเก็บรักษาอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยการแก้ไขฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บรรจุข้อมูลผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ด้วยการลบชื่อผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งที่แท้จริงออกไปแล้วใส่ชื่อผู้ที่จะจัดให้ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรค พ. และพรรค ผ. แทน เพื่อให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรค พ. และพรรค ผ. มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่สุจริตอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แต่เมื่อคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 แต่งตั้งทำการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติว่าพรรค พ. และพรรค ผ. ได้รับเงินสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูงของพรรค ท. เพื่อดำเนินการแก้ไขข้อมูลในทะเบียนผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและจัดส่งสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศในการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 จริง สมควรแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้เกี่ยวข้องรวมทั้งพันตำรวจโท ท. รักษาการนายกรัฐมนตรีและในฐานะหัวหน้าพรรค ท. จำเลยทั้งสี่กลับดำเนินการบางส่วนแก่พรรค พ. และพรรค ผ. แต่เพิกเฉยไม่ดำเนินการแก่พรรค ท. และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งมีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีเจตนาหน่วงเหนี่ยวประวิงเวลาเพื่อช่วยเหลือพรรค ท. อันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นการปฏิบัติต่อโจทก์โดยไม่เป็นธรรม โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้อง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 136 ถึง มาตรา 148 กำหนดให้มีคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นองค์กรอิสระโดยให้มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และให้มีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และกฎหมายเกี่ยวกับคณะกรรมการการเลือกตั้งอื่น ทั้งมาตรา 147 แห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้กำหนดไว้ด้วยว่า หากปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าก่อนได้รับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ฯลฯ ผู้ใดได้กระทำการโดยไม่สุจริตเพื่อให้ตนเองได้รับการเลือกตั้ง หรือได้รับการเลือกตั้งมาโดยไม่สุจริตโดยผลของการที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดได้กระทำลงไปอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง นอกจากคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงโดยพลันแล้ว เมื่อได้ผลการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องวินิจฉัยสั่งการโดยพลันด้วย การที่ข้อเท็จจริงปรากฏต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกตั้งแต่แรกแล้วว่า พลเอก ธ. รองหัวหน้าพรรค ท. และ พ. รองเลขาธิการพรรค ท. ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อันแสดงให้เห็นได้ว่าคนทั้งสองเป็นกรรมการบริหารของพรรค ท. ที่มีบทบาทสูงจึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ คนทั้งสองได้กระทำการอันฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 และกระทำความผิดต่อกฎหมายอาญาในเรื่องของการสนับสนุนให้มีการปลอมแปลงเอกสารราชการด้วย แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก กลับมิได้วินิจฉัยสั่งการให้ดำเนินคดีแก่คนทั้งสองโดยพลันทั้งนี้น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก ทราบดีอยู่แล้วว่าการดำเนินคดีแก่พลเอก ธ. และ พ. ย่อมส่งผลกระทบต่อพรรค ท. อย่างรุนแรง เพราะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐทั้งขัดต่อกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายทะเบียนพรรคการเมืองย่อมมีหน้าที่แจ้งต่ออัยการสูงสุดให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุบพรรค ท. ได้ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 ตามมาตรา 67 ประกอบมาตรา 66 (1) และ (3) การประชุมของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก เพื่อพิจารณารายงานการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงที่มี น. เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2549 และลงมติในส่วนที่เกี่ยวกับพรรค ท. ว่าให้คณะอนุกรรมการฯ สอบสวนพยานเพิ่มเติมจึงมิได้เป็นการวินิจฉัยสั่งการโดยพลันเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่เพื่อเป็นคุณแก่พรรค ท. และจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก มิได้กระทำการตามหน้าที่โดยสุจริต จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มาตรา 24, 42 ประกอบ ป.อ. มาตรา 83
การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เคยรับราชการในตำแหน่งสำคัญและทำคุณความดี ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติมากมายขณะดำรงตำแหน่งหรือในระยะต่อมาจนได้รับการสรรหาและคัดเลือกให้เป็นกรรมการการเลือกตั้ง แสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับการเชื่อถือว่าเป็นผู้มีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์โดยผลงาน ชื่อเสียงและเกียรติคุณที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้สร้างสมไว้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งมีอำนาจหน้าที่อันสำคัญ ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ดังนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องดำรงความซื่อสัตย์สุจริตและความเป็นกลางทางการเมืองให้มั่นคงที่สุด แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับกระทำการในลักษณะตรงกันข้าม วินิจฉัยสั่งการโดยมิชอบด้วยหน้าที่เป็นคุณแก่พรรค ท. อันเป็นพรรครัฐบาล อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและคุณธรรม เท่ากับว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยอมละทิ้งคุณความดี คุณประโยชน์ของตนที่มีมาก่อนจนหมดสิ้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ควรยกคุณความดี คุณประโยชน์ที่เคยทำมากล่าวอ้างเพื่อประโยชน์แก่ตนได้อีก แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่ละคนจะมีอายุประมาณ 70 ปีแล้ว และมีสุขภาพไม่ดีก็ยังไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15218/2558 พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ม. 7
คำว่า "BONDACE" เป็นคำที่ไม่มีคำแปลหรือไม่มีปรากฏในพจนานุกรม จึงเป็นคำที่โจทก์ประดิษฐ์ขึ้น นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาความหมายของคำดังกล่าวโดยแยกคำเป็นภาคส่วน แล้วนำความหมายของแต่ละภาคส่วนตามที่พิจารณาเลือกมารวมกันเพื่อให้ความหมายของคำดังกล่าว โดยไม่ปรากฏหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าเหตุใดนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าหยิบยกความหมายนั้น ๆ มาใช้จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) เนื่องจากคำว่า "BON" และ "DACE" นั้นมีหลายความหมายได้ การนำคำทั้งสองมารวมกันจึงไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่ามีความหมายว่าอย่างไร และแม้ใช้วิธีพิจารณาของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าก็อาจแปลหรือมีความหมายอย่างอื่นได้เช่นกัน เมื่อพิจารณาประกอบกับเสียงเรียกขานซึ่งเป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าเพราะทำให้ประชาชนผู้ใช้สินค้าทราบ และเข้าใจได้ว่าสินค้าที่มีเสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างจากสินค้าอื่น หากจะให้มีความหมายตามที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าแปลความก็ควรมีเสียงเรียกขานว่า บอน - เอซ แต่ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ระบุว่าคำดังกล่าวอ่านว่า บอน - เดส การที่เสียงเรียกขานไม่สอดคล้องกับวิธีการแปลความของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าทำให้น่าเชื่อว่า คำว่า "BONDACE" ทั้งคำเป็นคำประดิษฐ์ที่ไม่มีความหมาย ไม่อาจสื่อให้สาธารณชนเข้าใจได้ว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง จึงเป็นคำประดิษฐ์ที่ไม่มีความหมาย มิใช่คำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้ากาวที่ใช้ในอุตสาหกรรมรองเท้า ถือเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเอง และมีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15217/2558 พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ม. 6
เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์ประกอบด้วยตัวอักษรโรมันพิมพ์ใหญ่ 8 ตัวอักษร คือ "C, I, T, R, ?, N, G และ E" ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วประกอบด้วยตัวอักษรโรมันเพียง 6 ตัวอักษร คือ "C, I, T, R, O และ N" ดังนั้นเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์มีตัวอักษรที่เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้ว 6 ตัวอักษร คือตัวอักษร "C. I, T, R, O และ N" แต่มีอักษรมากกว่า 2 ตัวอักษรคือ ตัวอักษร "G" และ "E" ซึ่งเป็นอักษร 2 ตัวสุดท้าย นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์มีเพียงภาคส่วนสำคัญอยู่ที่ตัวอักษรโรมัน 8 ตัวอักษร เท่านั้น ไม่มีภาคส่วนอื่นที่เป็นรูปรอยประดิษฐ์อื่นประกอบอยู่ด้วย ส่วนเครื่องหมายการค้า ของบุคคลอื่นมีภาคส่วนอื่นประกอบคำว่า "CITRON" ด้วยคือส่วนที่เป็นอักษรโรมันประดิษฐ์ตัว "N" อยู่ในวงกลมเหนือคำว่า "CITRON" ซึ่งทั้งอักษรโรมันและคำว่า "CITRON" ต่างก็อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมคล้ายใบประกาศหรือฉลากที่มีคำบรรยายเป็นอักษรโรมัน ตัวเลขอารบิก และรูปผลไม้คล้ายส้มผ่าซีกอยู่ด้านล่างของกรอบสี่เหลี่ยมดังกล่าว นอกจากนี้ที่สำคัญคือเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วดังกล่าวยังมีอักษรโรมันคำว่า "Nemiroff" อ่านออกเสียงได้ว่า "เนมิรอฟฟ์" ขนาดค่อนข้างใหญ่วางเรียงกันอยู่ใต้คำว่า "CITRON" ในลักษณะขนานกับด้านข้างของกรอบรูปสี่เหลี่ยมดังกล่าว คำดังกล่าว จึงนับได้ว่าเป็นภาคส่วนสำคัญเนื่องจากมีลักษณะเด่นคือตัวอักษรใหญ่และหนากว่าคำว่า "CITRON" จึงนับเป็นภาคส่วนสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ ส่วนเครื่องหมายการค้า ก็มีอักษรโรมันประดิษฐ์ตัว "N" อยู่ภายในกรอบวงกลมประดิษฐ์ และมีอักษรโรมันคำว่า "Nemiroff" เป็นภาคส่วนสำคัญอยู่ด้วยเช่นกัน โดยคำดังกล่าววางอยู่ที่ฐานด้านล่างของรูปคล้ายขวดแก้วและมีขนาดตัวอักษรใหญ่กว่าคำว่า "Citron" ซึ่งอยู่บริเวณด้านบนที่เป็นรูปคล้ายฝาขวด ทั้งยังมีภาพผลไม้คล้ายส้มผ่าซีกอยู่ด้านล่างของขวดแก้วด้วย เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์และของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วทั้งสองเครื่องหมายจึงมีความแตกต่างกันในส่วนของรูปลักษณ์ นอกจากนี้ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้ว ยังมีข้อจำกัดกำหนดไว้ว่าเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้แล้วนั้นไม่ขอถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้อักษรโรมันคำบรรยายทั้งหมด ตัวเลขทั้งหมด ยกเว้นรูปอักษร "N" ในลวดลาย และคำว่า"NEMIROFF" เท่านั้น ซึ่งเท่ากับปฏิเสธที่จะไม่ขอถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในคำว่า "CITRON" และ "Citron" ด้วย ดังนั้น แม้เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนและเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วจะออกเสียงเรียกขานได้ว่า "ซิทรอนจ์" และเป็นเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 33 รายการสินค้า เหล้าประเภทต่าง ๆ เหมือนกัน และสาธารณชนผู้บริโภคสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วเป็นกลุ่มเดียวกันคือผู้นิยมดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ประเภทต่าง ๆ แต่เมื่อพิจารณาภาพรวมทั้งหมดของเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้า และ ของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วมีรูปลักษณ์ที่แตกต่างกัน เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์จึงไม่อาจทำให้สาธารณชนทั่วไปอาจสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ว่าเป็นของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วได้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงมีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15209/2558 ป.พ.พ. ม. 226 วรรคหนึ่ง, ม. 880 วรรคหนึ่ง
แม้จำเลยกับ ส. ทายาทของ ป. ผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุจากโจทก์จะตกลงระงับข้อพิพาทต่อกันอันเป็นการประนีประนอมยอมความกัน ทำให้มูลหนี้ระหว่าง ป. ผู้ตายกับจำเลยระงับไปก็ตาม แต่โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ส. ทายาทของ ป. ผู้เอาประกันภัยไป โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของ ส. ทายาทของ ป. และอาจใช้สิทธิในฐานะผู้รับช่วงสิทธิที่มีต่อจำเลยผู้กระทำละเมิดได้ตั้งแต่วันที่โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 226 วรรคหนึ่ง และ 880 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยกับ ส. ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความระงับข้อพิพาทต่อกันในภายหลัง ผลของการทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงหาได้กระทบกระเทือนต่อสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ได้เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นแล้วไม่ โจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิของ ส. ทายาทของ ป. จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยผู้กระทำละเมิดให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์จ่ายไปนั้นได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15201/2558 ป.พ.พ. ม. 1706 (2), ม. 1706 (3), ม. 1713, ม. 1715 ป.วิ.พ. ม. 142 (5), ม. 246, ม. 247
ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่มิได้กำหนดให้บุคคลใดได้รับทรัพย์มรดก เพียงแต่ให้ผู้จัดการมรดกจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้มีชื่อตามความจำเป็น นับว่าเป็นการไม่กำหนดตัวบุคคลแน่นอนให้เป็นผู้รับพินัยกรรม ทั้งระบุไว้ไม่ชัดแจ้งจนไม่อาจที่จะทราบแน่นอนได้ว่าให้ทรัพย์สินแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจำนวนมากน้อยเพียงใดตามแต่ใจของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการทรัพย์มรดก จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (2) และ (3) และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 ยกขึ้นวินิจฉัยตามมาตรา 142 (5)
แม้ข้อกำหนดในพินัยกรรมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (2) และ (3) แต่พินัยกรรมในส่วนที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาตั้งผู้จัดการมรดกยังคงสมบูรณ์ หาตกเป็นโมฆะไปด้วยไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15199 - 15200/2558 ป.พ.พ. ม. 425, ม. 1077, ม. 1087, ม. 1088
จำเลยที่ 6 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 4 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 6 ขับรถบรรทุกสินค้าไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 ในฐานะนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 6 ในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 6 ได้กระทำไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 จำเลยที่ 3 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการย่อมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 ด้วยโดยไม่จำกัดจำนวนตามมาตรา 1077 (2) และ 1087 ส่วนจำเลยที่ 2 แม้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ที่แสดงตัวออกว่าเป็นนายจ้างจำเลยที่ 6 และเข้าไปติดต่อเจรจาเกี่ยวกับการใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตลอดมาถือได้ว่าเป็นการสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 4 เช่นนี้จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ทั้งหลายของจำเลยที่ 4 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1088 ด้วย
โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 6 และในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 6 ขับรถไปในทางการที่จ้างหรือได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ด้วย แต่จากทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความว่า จำเลยที่ 1 มีความเกี่ยวข้องหรือมีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลยที่ 6 หนังสือรับรองจำเลยที่ 4 ก็ไม่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วน และไม่ได้ความว่า จำเลยที่ 1 ร่วมลงทุนทำกิจการใดกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 หรือมีส่วนเป็นเจ้าของสินค้าที่บรรทุกมาในรถกระบะที่จำเลยที่ 6 ขับไปเกิดเหตุคดีนี้ คงได้ความเพียงว่า จำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้ครอบครองรถกระบะคันเกิดเหตุเท่านั้น ดังนี้จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดใด ๆ ในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 6 กระทำ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15189/2558 ป.อ. ม. 2 วรรคสอง พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 ม. 13 (2) พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ม. 26 วรรคหนึ่ง (4) พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ม. 14, ม. 31 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 26 บัญญัติว่า "เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินใช้บังคับในท้องที่ใดแล้ว (4) ถ้าเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติส่วนใดแล้ว เมื่อ ส.ป.ก. จะนำที่ดินแปลงใดในส่วนนั้นไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินแปลงนั้น..." แม้ปรากฏว่ามี พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอบ้านแพง อำเภอท่าอุเทน และกิ่งอำเภอโพนสวรรค์ อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2534 ก็ตาม แต่ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินดังกล่าวเป็นเพียงการกำหนดขอบเขตของที่ดินที่จะทำการปฏิรูปที่ดินเท่านั้น ไม่ได้มีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในทันที พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติยังคงเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอยู่เช่นเดิม จนกว่าจะได้มีการส่งมอบพื้นที่ให้แก่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อดำเนินการจัดสรรที่ดินให้แก่ผู้ได้รับอนุญาตตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป หากจะถือว่าการประกาศ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินแปลงใด มีผลเป็นการเพิกถอนสภาพป่าสงวนแห่งชาติในทันที ก็จะเป็นการส่งเสริมให้บุคคลใด ๆ บุกรุกเข้ามาทำประโยชน์หรือเข้าครอบครองที่ป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 อันจะเป็นช่องว่างของกฎหมาย บทบัญญัตินี้จึงมุ่งหมายให้ ส.ป.ก. เข้าไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรกรรมในพื้นที่ป่านั้นและจัดสรรให้ผู้ได้รับอนุญาตก่อน จึงจะถือเป็นการเพิกถอนสภาพป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและที่ดินของรัฐ เมื่อคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครพนมได้ออกประกาศให้เกษตรกรยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเกิดเหตุหลังจากที่ผู้ร้องถูกดำเนินคดีนี้แล้ว ดังนั้น ในขณะที่ผู้ร้องกระทำความผิดคดีนี้ ผู้ร้องจึงยังไม่เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินเกิดเหตุ การจัดสรรที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินยังไม่เสร็จสิ้น ที่ดินเกิดเหตุจึงยังมีสภาพเป็นที่ป่าสงวนแห่งชาติอยู่ การกระทำของผู้ร้องจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง แม้ต่อมาผู้ร้องจะได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งรวมถึงที่ดินเกิดเหตุ ก็เป็นเพียงทำให้การครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของผู้ร้องนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตไม่เป็นความผิดต่อกฎหมาย แต่ไม่มีผลเป็นการลบล้างการกระทำความผิดก่อนหน้าที่ผู้ร้องจะได้รับอนุญาต กรณีหาใช่เป็นเรื่องมีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังทำให้การกระทำของผู้ร้องไม่เป็นความผิดต่อไปตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15163/2558 พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 95, ม. 96
เจ้าหนี้มีประกันมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ 2 วิธี วิธีแรก เจ้าหนี้มีประกันใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 95 โดยถือสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันโดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย แต่ต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจดูทรัพย์สินนั้น และหากบังคับชำระหนี้เหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ เจ้าหนี้มีประกันย่อมหมดสิทธิขอรับชำระหนี้ที่ยังขาดอยู่จากทรัพย์สินอื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย วิธีที่สอง โดยเจ้าหนี้มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายภายใต้เงื่อนไข มาตรา 96 ซึ่งมีอยู่ 4 ประการ ในประการใดประการหนึ่ง กล่าวโดยเฉพาะเจ้าหนี้ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันในคดีนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96 (3) ในกรณีนี้หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วได้เงินมายังไม่พอชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่จากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ แต่การขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96 ต้องยื่นภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตามมาตรา 91 บทบัญญัติทั้งสองมาตราแยกให้เห็นข้อแตกต่างในวิธีการขอรับชำระหนี้และข้อแตกต่างในผลของการใช้สิทธิมาตราใดมาตราหนึ่ง ดังนั้นเจ้าหนี้มีประกันชอบที่จะเลือกใช้สิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 95 หรือมาตรา 96 มาตราใดมาตราหนึ่งเท่านั้น เมื่อเจ้าหนี้เลือกใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96 (3) แล้ว เจ้าหนี้ย่อมหมดสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตามมาตรา 95 อีกต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15161/2558 ป.พ.พ. ม. 716 ป.วิ.พ. ม. 21 (2), ม. 27 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 ม. 14 พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 146
คำร้องของผู้ซื้อทรัพย์ที่ยื่นต่อศาลล้มละลายกลางขอหักส่วนได้ของตนในฐานะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ยึดเพื่อใช้แทนราคาซื้อจากการขายทอดตลาดนั้น ผู้ซื้อทรัพย์อ้างว่าผู้ซื้อทรัพย์ได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในเรื่องนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งยกคำร้อง กรณีจึงเป็นการยื่นคำร้องคัดค้านการกระทำหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 146 ทั้งไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าคำร้องนี้อาจทำได้แต่ฝ่ายเดียว การที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องได้ต้องให้คู่ความที่เกี่ยวข้องมีโอกาสคัดค้านก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งกลับคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยอนุญาตให้ผู้ซื้อทรัพย์หักส่วนได้ใช้แทนโดยไม่ได้ส่งสำเนาคำร้องของผู้ซื้อทรัพย์ให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองคัดค้านก่อนจึงเป็นการไม่ชอบ เพราะเป็นกรณีที่ศาลล้มละลายกลางไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติกฎหมายในการพิจารณาคดีดังกล่าวอันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14
จำเลยและผู้ซื้อทรัพย์ร่วมกันจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ของจำเลยไว้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้จำนองมีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนองจากการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ยึดทั้งหมด เพราะสิทธิจำนองครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมดทุกสิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 716 ส่วนผู้ซื้อทรัพย์ในฐานะผู้จำนองก็มีภาระหนี้จำนองที่จะต้องรับผิดชำระหนี้แก่ผู้ร้องและจะขอกันส่วนในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมโดยยังไม่ได้ชำระหนี้จำนองเสียก่อนไม่ได้ เนื่องจากเป็นการกระทบต่อสิทธิของผู้ร้องในการบังคับจำนองเอาจากทรัพย์จำนองทั้งหมดดังกล่าว ผู้ซื้อทรัพย์จึงไม่มีสิทธิขอกันส่วนของตนจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ยึด ส่วนหากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์รายนี้พอชำระหนี้จำนองแก่ผู้ร้องแล้วมีเงินเหลืออยู่อีกก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะดำเนินการจ่ายคืนส่วนของผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในภายหลังต่อไป อันเป็นคนละเรื่องคนละส่วนกับเรื่องนี้ ผู้ซื้อทรัพย์จึงไม่มีสิทธิขอหักส่วนได้ใช้แทน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15158/2558 ป.พ.พ. ม. 193/33 (2), ม. 745 พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 96 (3)
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้กู้ยืมและจำนองจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนอง แต่ตามสัญญากู้ยืมเงินที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้ดังกล่าวปรากฏว่า เป็นสัญญาที่มีข้อตกลงชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ จึงมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2) และเจ้าหนี้ไม่มีหลักฐานว่าลูกหนี้ที่ 1 ผิดนัดเมื่อใด แม้เจ้าหนี้จะอ้างว่าในตอนที่รับโอนหนี้มาจากเจ้าหนี้เดิมจะไม่มีดอกเบี้ยค้างชำระและเงินต้นน้อยกว่าสัญญาก็ตาม แต่พยานหลักฐานของเจ้าหนี้มีเพียงเอกสารการคำนวณภาระหนี้ของเจ้าหนี้ที่เจ้าหนี้จัดทำขึ้นเอง โดยไม่มีหลักฐานว่าลูกหนี้นำเงินไปชำระให้แก่เจ้าหนี้เดิมเมื่อใด อย่างไร การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังว่าลูกหนี้ที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่งวดแรก (วันที่ 2 มีนาคม 2539) จึงชอบแล้ว เมื่อเจ้าหนี้นำหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินมายื่นคำขอรับชำระหนี้ในวันที่ 20 ตุลาคม 2551 สิทธิเรียกร้องในหนี้กู้ยืมเงินจึงขาดอายุความแล้ว และการขาดอายุความในส่วนของหนี้กู้ยืมเงินถือว่าหนี้กู้ยืมเงินขาดอายุความทั้งหมด มิใช่เพียงส่วนที่เกิน 5 ปี แต่ในส่วนหนี้จำนองนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 745 บัญญัติให้ผู้รับจำนองบังคับจำนองได้แม้หนี้ที่ประกันขาดอายุความ แต่จะบังคับดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ดังนั้น แม้หนี้ประธานตามสัญญากู้ยืมเงินจะขาดอายุความ แต่เจ้าหนี้ยังคงมีสิทธิบังคับจำนองได้ ซึ่งตามคำสั่งของศาลแพ่งในคดีที่เจ้าหนี้ไปยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่น ศาลมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของลูกหนี้ที่ 1 ในต้นเงิน 427,449.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.3 ต่อปี แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ดังนั้น แม้ลูกหนี้ที่ 1 จะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้จึงไม่เสียสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์จำนองของลูกหนี้ที่ 1 หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมทรัพย์ดังกล่าวเข้าสู่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15157/2558 พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 107 (1), ม. 108
คดีนี้ในชั้นตรวจคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายที่ 1 มีลูกหนี้ที่ 2 โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าว ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจคำขอรับชำระหนี้และคำคัดค้านของลูกหนี้ที่ 2 แล้ว เห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้จึงมีคำสั่งงดสอบสวนพยานฝ่ายเจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ 2 แล้วทำความเห็นเสนอต่อศาลล้มละลายกลางให้ยกคำขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 107 (1) ต่อมาศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ คำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ซึ่งศาลได้มีคำสั่งแล้วดังกล่าว จึงล่วงพ้นกำหนดเวลาที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจขอแก้ไขความเห็นคำขอรับชำระหนี้ได้แล้ว ทั้งกรณีดังกล่าวไม่ใช่กรณีตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 108 (เดิม) ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขอให้ศาลมีคำสั่งแก้ไขคำขอรับชำระหนี้ได้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องเพื่อขอแก้ไขความเห็นคำขอรับชำระหนี้จึงมิอาจกระทำได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15152/2558 พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 56, ม. 63
แม้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้หลังล้มละลายของลูกหนี้ที่ 2 และให้ยกเลิกการล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 63 แต่การประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว ย่อมผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระได้ตามมาตรา 63 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 56 ลูกหนี้ที่ 2 จึงยังคงต้องผูกพันชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้ตามข้อความในคำขอประนอมหนี้ ศาลฎีกาจึงต้องพิจารณาอุทธรณ์ของลูกหนี้ที่ 2 ในสำนวนคำขอรับชำระหนี้ต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15145/2558 พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 27, ม. 91, ม. 94
เมื่อสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อเนื่องจากลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้คงมีสิทธิริบบรรดาเงินค่าเช่าซื้อที่ลูกหนี้ได้ชำระไปแล้ว และกลับเข้าครอบครองรถที่เช่าซื้อ โดยลูกหนี้มีหน้าที่ส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนแก่เจ้าหนี้ในสภาพเรียบร้อยและใช้การได้ดี หากไม่คืนเจ้าหนี้ย่อมได้รับความเสียหายเพราะขาดประโยชน์เนื่องจากไม่ได้รับรถที่เช่าซื้อคืน เจ้าหนี้ไม่อาจเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระค่าปรับเพราะเหตุที่ลูกหนี้ชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าก่อนสัญญาเช่าซื้อเลิกกันได้อีก แต่เนื่องจากหนี้ที่เจ้าหนี้อาจขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้นั้น ต้องเป็นหนี้เงินซึ่งมูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 การที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดโดยอ้างว่าเป็นค่าขาดราคารถ (ที่ถูก ค่าขาดประโยชน์) จึงเป็นการขอรับชำระหนี้ค่าเสียหายเพราะลูกหนี้ไม่ส่งมอบรถคืนแก่เจ้าหนี้อันถือได้ว่ามูลหนี้เกิดขึ้นภายหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามบทบัญญัติดังกล่าว สำหรับสิทธิของเจ้าหนี้ในการติดตามเอารถคืนจากลูกหนี้มิใช่หนี้เงินอันพึงขอรับชำระหนี้ได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 และมาตรา 91 ส่วนคำขอรับชำระหนี้กรณีหากคืนรถไม่ได้เจ้าหนี้เรียกร้องให้ลูกหนี้ชดใช้ราคาแทนเท่าจำนวนเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระตามสัญญาเช่าซื้อนั้น ก็เกิดขึ้นภายหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด มิใช่หนี้อันพึงขอรับชำระในคดีล้มละลายได้เช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15144/2558 พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 135 (3), ม. 136
เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลให้มีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายเนื่องจากมีเจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ 2 ราย แล้วเจ้าหนี้รายที่ 1 ขอถอนคำขอรับชำระหนี้ไป ส่วนลูกหนี้ขอวางเงินชำระหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 2 พร้อมค่าธรรมเนียม แต่ขอโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ ศาลล้มละลายกลางจึงมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของลูกหนี้ตาม มาตรา 135 (3) ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีความเห็นเกี่ยวกับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ต่อศาลล้มละลายกลางและศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ แม้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 135 (3) ซึ่งทำให้ลูกหนี้กลับมีอำนาจในการจัดกิจการและทรัพย์สินของตนเองได้ แต่ผลของการยกเลิกการล้มละลายเพราะหนี้สินของลูกหนี้ได้ชำระเต็มจำนวนแล้ว ตามมาตรา 135 (3) ย่อมทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นหนี้สินทั้งหมดที่อาจขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายไปตามนัยแห่งมาตรา 136 เมื่อคดียังมีปัญหาเกี่ยวกับคำขอรับชำระหนี้ซึ่งลูกหนี้โต้แย้งอยู่ตามมาตรา 104 และมาตรา 135 (3) วรรคสอง อันจะมีผลต่อสิทธิในการได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้หรือไม่ เพียงใด ดังนี้ ศาลย่อมมีอำนาจพิจารณาและสั่งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ได้ ศาลฎีกาจึงต้องพิจารณาอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15141/2558 ป.วิ.พ. ม. 173 วรรคสอง (1) พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 ม. 14
โจทก์นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ ธ.15035/2543 มาฟ้องต่อศาลล้มละลายกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ ล.10810/2552 ขอให้จำเลยล้มละลาย ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2552 โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีดังกล่าว ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2552 สำหรับคดีนี้โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2552 โดยนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ ธ.15035/2543 และคดีหมายเลขแดงที่ ธ.19355/2542 มาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย คำฟ้องของโจทก์ทั้งคดีหมายเลขดำที่ ล.10810/2552 กับคดีนี้ ต่างมีประเด็นที่ต้องพิจารณาอย่างเดียวกันว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว และสมควรเป็นบุคคลล้มละลายหรือไม่ แม้ว่าโจทก์จะกล่าวอ้างมูลหนี้ตามคำพิพากษาศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ ธ.19355/2542 เพิ่มเติมจากมูลหนี้ตามคำพิพากษาศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ ธ.15035/2543 มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ แต่ก็ยังคงต้องพิจารณาในประเด็นเรื่องเดียวกันนั่นเอง เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ในวันที่ 8 ตุลาคม 2552 ขณะที่คดีหมายเลขดำที่ ล.10810/2552 ยังอยู่ระหว่างการขอถอนฟ้อง และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2552 จึงมีผลให้คดีหมายเลขดำที่ ล.10810/2552 ยังอยู่ระหว่างพิจารณา คำฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15130/2558 พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ม. 85, ม. 87
พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 85 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ชัดเจนว่า นายจ้าง ผู้ประกันตนหรือบุคคลอื่นใดซึ่งไม่พอใจในคำสั่งของเลขาธิการหรือของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งการตามพระราชบัญญัตินี้เว้นแต่เป็นคำสั่งตามมาตรา 50 ให้มีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว ทั้งมาตรา 87 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้คณะกรรมการอุทธรณ์มีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ยื่นตามมาตรา 85 โดยวรรคสามบัญญัติว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์นั้น ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่พอใจให้มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย แต่ถ้าไม่นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์เป็นที่สุด บทบัญญัติดังกล่าวหาได้ให้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานส่งมอบให้คณะกรรมการอุทธรณ์อีกทางหนึ่งไม่ที่ศาลแรงงานภาค 4 วินิจฉัยว่า หนังสือที่โจทก์ทำถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานไม่เป็นการยื่นอุทธรณ์คำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม มาตรา 85 โจทก์ต้องอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ภายในสามสิบวันก่อน เมื่อคณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยแล้ว ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่พอใจให้มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย ตามมาตรา 87 โจทก์ไม่ดำเนินการตามขั้นตอน จึงไม่มีอำนาจฟ้อง แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นจึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15117 - 15120/2558 ป.พ.พ. ม. 583 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 119 วรรคหนึ่ง (4)
โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างของจำเลยปฏิบัติงานฝ่ายพัสดุที่โรงงานหลังคาเหล็ก จำเลยมีขั้นตอนการดำเนินงาน ให้พนักงานฝ่ายพัสดุปฏิบัติตามเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับจำเลย การที่โจทก์ทั้งสามไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการดำเนินงานดังกล่าว จนทำให้พัสดุขาดหายไปคิดเป็นเงินจำนวนมากถึง 2,852,559.82 บาท แม้สาเหตุที่พัสดุขาดหายไปอาจเกิดจากการทุจริตของผู้อื่นก็ตาม แต่การที่โจทก์ทั้งสามไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการดำเนินงานของจำเลยก็ย่อมเป็นการเปิดโอกาสให้พัสดุสูญหายได้ง่ายขึ้น และหากโจทก์ทั้งสามปฏิบัติตามขั้นตอนการดำเนินงานของจำเลยอย่างเคร่งครัดแล้วพัสดุอาจจะไม่ขาดหายก็ได้ ทั้งการที่โจทก์ทั้งสามยังยึดติดกับการปฏิบัติอย่างเดิม ๆ เช่นเคยปฏิบัติมาก็แสดงให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสามไม่นำพาต่อระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมอันจะทำให้การบริหารจัดการงานของนายจ้างไม่สามารถดำเนินการให้สัมฤทธิ์ผลได้ การกระทำของโจทก์ทั้งสามแม้จะไม่ปรากฏว่ากระทำโดยทุจริต แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมเป็นกรณีที่ร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4) และเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามตามมาตรา 119 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามมาตรา 67 ทั้งการกระทำของโจทก์ทั้งสามดังกล่าวยังเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสามและการเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวถือเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลสมควรเพียงพอ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15116/2558 ป.พ.พ. ม. 193/17 วรรคสอง ป.วิ.พ. ม. 245 (1) พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31
หนังสือมอบอำนาจของโจทก์โดยผู้อำนวยการได้มอบอำนาจให้ ธ. รองผู้อำนวยการ มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ในบรรดากิจการต่าง ๆ ซึ่งรวมทั้งเป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งด้วย โดยความตอนท้ายระบุว่า "ในการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น ให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจแต่งตั้งทนายความเพื่อว่าต่างแก้ต่างคดีหรือมอบอำนาจให้ตัวแทนช่วงดำเนินการแทนได้ในทุกกรณีแห่งกิจการที่มอบอำนาจ" ธ. จึงมอบอำนาจช่วงให้ ร. ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายมีอำนาจกระทำการแทนรวมทั้งเป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งได้ เพราะเป็นการมอบอำนาจช่วงที่มีการให้อำนาจไว้ แต่การที่ ร. มอบอำนาจช่วงต่อให้ อ. ฟ้องจำเลยทั้งห้าแทนโจทก์อีกต่อหนึ่งนั้น เป็นการกระทำนอกขอบเขตของหนังสือมอบอำนาจเพราะหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว มิได้ระบุให้อำนาจผู้ที่ได้รับมอบอำนาจช่วงจาก ธ. มีอำนาจมอบอำนาจช่วงให้บุคคลอื่นต่อไปอีกช่วงหนึ่งได้ด้วย อ. จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ (ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1116 - 1117/2495 (ประชุมใหญ่) แม้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 จะมิได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ แต่คำพิพากษาคดีนี้เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรให้คำวินิจฉัยในปัญหานี้มีผลไปถึงจำเลยอื่นซึ่งเป็นคู่ความในคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15114/2558 พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ม. 39, ม. 41 (5)
พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มีเจตนารมณ์เพื่อให้การสงเคราะห์แก่ลูกจ้างผู้ประกันตนและบุคคลอื่น บทบัญญัติมาตราใดที่กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกันตนหรือบุคคลอื่นจะต้องสิ้นสิทธิจึงต้องตีความอย่างเคร่งครัด ตามมาตรา 41 (5) บัญญัติให้ความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 สิ้นสุดลงเมื่อภายในระยะเวลา 12 เดือนส่งเงินสมทบมาแล้วไม่ครบ 9 เดือนนั้น หมายถึงกรณีที่ผู้ประกันตนนำส่งเงินสมทบไม่ครบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างแท้จริง
ในกรณีที่ผู้ประกันตนไม่ส่งเงินสมทบหรือส่งไม่ครบจำนวนภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรา 39 วรรคสี่ ให้สิทธิผู้ประกันตนนำส่งเงินสมทบได้โดยต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของจำนวนเงินสมทบที่ยังมิได้นำส่งหรือของจำนวนเงินสมทบที่ยังขาดอยู่นับแต่วันถัดจากวันที่ต้องนำส่งเงินสมทบ เมื่อโจทก์นำเงินสมทบและเงินเพิ่มของเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน 2550 ไปชำระแก่จำเลยในวันที่ 8 มิถุนายน 2550 ซึ่งจำเลยได้รับไว้ก่อนที่จำเลยมีหนังสือแจ้งการสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ของโจทก์จึงเป็นกรณีที่จำเลยผ่อนผันให้โจทก์นำส่งเงินสมทบของเดือนดังกล่าวล่าช้าโดยไม่ตัดสิทธิความเป็นผู้ประกันตนของโจทก์ ถือได้ว่าโจทก์นำส่งเงินสมทบภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้ว
ภายในระยะเวลา 12 เดือนนับแต่เดือนพฤษภาคม 2549 ถึงเดือนเมษายน 2550 โจทก์เพียงแต่ขาดส่งเงินสมทบของเดือนมิถุนายนและเดือนธันวาคม 2549 โจทก์จึงส่งเงินสมทบมาแล้วเป็นเวลา 10 เดือน เกินกว่า 9 เดือน ตามที่มาตรา 41 (5) กำหนดไว้แล้ว โจทก์ยังไม่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนและยังคงเป็นผู้ประกันตนตลอดมา ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์มีสิทธิตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2550 เป็นต้นไป จึงไม่ถูกต้องและเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15113/2558 ป.วิ.พ. ม. 55, ม. 57 (3), ม. 57 (ข) พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 125 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31
โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอท้ายคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี ที่มีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลย และให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์ คำฟ้องของโจทก์จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะเพิกถอนหรือทำลายคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานนั้น ซึ่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่พอใจคำสั่งนั้น ให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง" และวรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตาย ไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนด ให้คำสั่งนั้นเป็นที่สุด"
จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี พนักงานตรวจแรงงานสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วมีคำสั่งว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ทราบคำสั่งนั้นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2550 แล้วโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2550 โดยฟ้องโจทก์มีคำขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี จึงเป็นกรณีแปลความได้ว่า โจทก์ไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานและนำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง แล้ว ซึ่งศาลแรงงานกลางย่อมต้องเรียกพนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งเป็นผู้ออกคำสั่งเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ข) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 การที่ศาลแรงงานกลางมิได้เรียกพนักงานตรวจแรงงานเข้ามาในคดี จึงทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแก่โจทก์ ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งกองทุนชื่อ "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพธนชาติทวีค่า ซึ่งจดทะเบียนแล้ว" กองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวจึงเป็นนิติบุคคลต่างหากจากจำเลยตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 กำหนดให้ผู้จัดการกองทุนมีหน้าที่จ่ายเงินจากกองทุนให้โจทก์ จำเลยจึงไม่มีอำนาจจัดการกองทุน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในส่วนนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15108/2558 ป.พ.พ. ม. 420 ป.วิ.พ. ม. 55 พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ม. 32
แม้ พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 มาตรา 32 จะบัญญัติให้ผู้ได้รับความเสียหายเพราะการประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้ใด มีสิทธิกล่าวหาผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้นั้น โดยทำเรื่องยื่นต่อแพทยสภา และคณะกรรมการมีสิทธิกล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้มีพฤติการณ์ที่สมควรให้มีการสืบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม แต่บทกฎหมายดังกล่าวมิได้จำกัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่ใช้สิทธิตามบทกฎหมายนั้น มิให้ใช้สิทธิทางศาลฟ้องร้องผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่กระทำละเมิดต่อตนแต่อย่างใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งหกโดยไม่จำต้องรอฟังผลคำสั่งของแพทยสภา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15107/2558 ป.พ.พ. ม. 383, ม. 574 ป.วิ.พ. ม. 142 (5)
เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว โจทก์มีสิทธิริบเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระมาแล้วและกลับเข้าครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 574 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ คงเรียกได้เพียง ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ที่เช่าซื้อในระหว่างที่ยังมิได้ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าซื้อคืนเท่านั้น แม้สัญญาเช่าซื้อข้อ 14.2 กำหนดว่า "ก่อนวันที่สัญญาเลิกกัน หากผู้เช่าติดค้างชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ถึงกำหนดแล้วแต่ยังไม่ได้ชำระ ผู้เช่าซื้อสัญญาว่าจะต้องชำระแก่เจ้าของจนครบถ้วน และการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไม่เป็นการลบล้างสิทธิของเจ้าของบรรดาที่มีอยู่ก่อนวันเลิกสัญญา" ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการกำหนดความรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งศาลอาจพิจารณากำหนดค่าเสียหายให้ตามที่เห็นสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระตั้งแต่งวดที่ 10 ถึงงวดที่ 18 เป็นเงิน 133,386 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15105/2558 ป.พ.พ. ม. 1012
การเป็นหุ้นส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 คือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น สัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจึงเป็นการตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้นโดยชัดแจ้ง
โจทก์ทั้งสามและจำเลยเป็นบุตรของ ก. และ ช. บุคคลทั้งสองประกอบอาชีพค้าขายดำเนินกิจการร้านกุหลาบขาวตั้งแต่ปี 2475 และดำเนินกิจการร้านกุหลาบแดงซึ่งเดิมชื่อร้านกุ่ยเชียง มีที่ตั้งร้านอยู่บ้าน เลขที่ 2 - 4 อำเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร โดยเริ่มประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2494 ก่อนจะแจ้งย้ายสถานที่ประกอบกิจการมาตั้งอยู่อาคารพาณิชย์เลขที่ 95/86 เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร และเปลี่ยนชื่อร้านเป็นร้านกุหลาบแดง ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2508 โดย ก. เป็นผู้ดูแลกิจการร้านค้าทั้งสองและเมื่อ ก. เสียชีวิต ช. เป็นผู้ดูแลแทนจนกระทั่งเจ็บป่วยจึงให้จำเลยเป็นผู้ดูแล โดย ก. และ ช. ให้การอุปการะเลี้ยงดูบุตรทุกคนในฐานะบิดามารดากระทำต่อบุตร โดยโจทก์ทั้งสามและบุตรคนอื่น ๆ รวมทั้งจำเลยหากมีเวลาว่างจะมาช่วยงาน ก. และ ช. ที่ร้านค้าทั้งสอง และเมื่อบุตรแต่ละคนมีรายได้จากอาชีพการงานอื่นจะส่งเงินมาช่วยจุนเจือบิดามารดาอันเป็นการปฏิบัติตนในฐานะบุตรที่มีความกตัญญูรู้คุณต่อบุพการี ไม่ปรากฏโดยชัดแจ้งว่า ก. และ ช. ตกลงร่วมค้าขายกับโจทก์ทั้งสามและบุตรคนอื่น ๆ โดยให้โจทก์ทั้งสามลงแรงเป็นหุ้น และประสงค์จะแบ่งเงินกำไรกันหรือหากขาดทุน โจทก์ทั้งสามและบุตรคนอื่น ๆ ต้องรับผิดชอบอย่างไร ก. และ ช. ไม่เคยแบ่งปันผลกำไรที่ได้จากการดำเนินกิจการร้านค้าทั้งสองให้แก่บุตรคนใดคนหนึ่ง แต่หากบุตรคนใดมีความเดือดร้อนต้องการใช้เงินจึงจะไปขอเบิกจาก ก. และ ช. การที่โจทก์ทั้งสามอ้างว่ามีการช่วยงานที่ร้านค้าทั้งสองหรือแม้แต่แบ่งเงินรายได้บางส่วนให้แก่ ช. หลังจาก ก. เสียชีวิตแล้วจึงไม่เป็นการลงหุ้น คงเป็นความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างบิดามารดากับบุตร หาทำให้กิจการของบิดามารดาเป็นกิจการของครอบครัวอันจะถือว่าเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนระหว่างบุตรกับบิดามารดาโดยปริยายไม่ โจทก์ทั้งสามและจำเลยรวมทั้งบุตรคนอื่น ๆ จึงไม่เป็นหุ้นส่วนในร้านค้าทั้งสองกับ ก. และ ช. ตามบทกฎหมายดังกล่าวที่โจทก์ทั้งสามจะมาฟ้องขอเลิกห้างหุ้นส่วนร้านค้าทั้งสองและขอแบ่งส่วนผลกำไรจากการดำเนินกิจการร้านค้าทั้งสองตั้งแต่ครั้งที่ ก. ยังมีชีวิตอยู่ในฐานะเป็นหุ้นส่วนตามฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15104/2558 ป.วิ.พ. ม. 243, ม. 248 วรรคหนึ่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่เสียเกินมา 200 บาท เนื่องจากทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ของจำเลยมีเพียง 115,219 บาท จำเลยยื่นฎีกาพร้อมทั้งยื่นคำร้องขอให้รับรองฎีกา ศ. ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับรองฎีกา และให้ส่งคำร้องไปให้ ส. ผู้พิพากษาองค์คณะพิจารณา ในระหว่างนั้นทนายจำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขทุนทรัพย์ โดยอ้างว่าคดีนี้จำเลยกล่าวแก้เรื่องกรรมสิทธิ์ เป็นคดีมีทุนทรัพย์ รวมทุนทรัพย์ชั้นฎีกา 562,069 บาท จึงไม่ต้องห้ามฎีกา ขอให้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลย ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการพิจารณาคดีและมีคำสั่งที่ผิดระเบียบ ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติและเขตอุทยานแห่งชาติ จำเลยให้การว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองจึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ และเห็นว่าทุนทรัพย์เกิน 200,000 บาท จึงมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิม และมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยโดยไม่ต้องส่งคำร้องขอให้รับรองฎีกาให้ ส. พิจารณาสั่งอีก ซึ่งในข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่าคำให้การจำเลยมิได้เป็นการกล่าวแก้เรื่องกรรมสิทธิ์ คดีจึงมีทุนทรัพย์ที่พิพาทเฉพาะค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 จำนวน 71,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจึงไม่ชอบเนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง ศาลฎีกามีอำนาจเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งรับฎีกาดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247 ให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องที่จำเลยขอให้ศาลรับรองฎีกาไปให้ผู้พิพากษาซึ่งมีชื่อตามคำร้องพิจารณาว่ามีเหตุสมควรรับรองให้ฎีกาต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15100/2558 พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 ม. 31 ป.รัษฎากร ม. 65 ตรี (12)
พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 ไม่มีบทบัญญัติที่กำหนดวิธีการคำนวณผลกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่ามีการประกอบกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนด้วยหรือไม่ จึงย่อมต้องอยู่ภายใต้บังคับของ ป.รัษฎากร การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่อาศัยหลักการอ้างอิงตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (12) และประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2550 กับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 38/2552 เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการนำผลขาดทุนของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนไปหักออกจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นภายหลังระยะเวลาที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล จึงหาได้ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 มาตรา 31 แต่อย่างใด และเป็นการวางหลักเกณฑ์สำหรับบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในการนำผลขาดทุนสะสมมาใช้ในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ ระหว่างเวลาที่บริษัทได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลต่อเนื่องไปจนถึงระหว่างเวลาที่บริษัทได้รับลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล
ผลขาดทุนสะสมของกิจการโจทก์ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2540 มีอยู่ 925,073,207.26 บาท โจทก์มีสิทธินำไปใช้ได้อีกกับกิจการที่ได้รับลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล และกิจการที่ไม่ได้รับลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2541 ถึงปี 2545 ได้ เมื่อรอบระยะเวลาบัญชีปี 2545 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่โจทก์ได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลตามบัตรส่งเสริมการลงทุน กิจการที่โจทก์ได้รับลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลมีกำไร 529,193,933.48 บาท แต่รอบระยะเวลาบัญชีอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ คือ รอบระยะเวลาบัญชีปี 2542 ถึงปี 2544 กิจการของโจทก์ที่ได้รับลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขาดทุนทุกปีจำนวน 17,327,968.11 บาท 343,670,021.13 บาท และ 5,820,970.03 บาท ตามลำดับ โจทก์จะนำเอาผลขาดทุนสะสมของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2540 ที่ยังเหลืออยู่อีก 925,073,207.26 บาท ไปใช้กับกิจการที่ได้รับลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2541 ถึงปี 2545 ได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ได้นำเอาผลขาดทุนของกิจการที่ได้รับลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีปี 2541 ถึงปี 2545 ตามลำดับมาใช้ก่อน หลังจากนั้นในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวโจทก์จึงจะมีสิทธิเอาผลขาดทุนสะสมของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2540 ที่เหลืออยู่ 925,073,207.26 บาท มาใช้ได้มีกำหนดเวลาไม่เกินห้าปี โดยในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2541 ถึงปี 2545 โจทก์จะเลือกหักจากกำไรสุทธิของปีใดปีหนึ่งหรือหลายปีก็ได้ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 มาตรา 31 วรรคสี่ ซึ่งจะทำให้กิจการที่ได้รับลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2545 ไม่มีกำไร และมีผลขาดทุนสะสมเหลืออยู่อีก 762,698,233.05 บาท เมื่อนำไปหักกับกำไรของกิจการที่ไม่ได้รับลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2545 จำนวน 342,816,923.13 บาท จะทำให้กิจการที่ไม่ได้รับลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2545 ไม่มีกำไร ส่วนผลขาดทุนสะสมของกิจการโจทก์ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2540 เหลืออยู่อีก 419,881,309.92 บาท โจทก์ไม่มีสิทธินำไปใช้อีกเพราะสิ้นกำหนดเวลาห้าปีนับแต่พ้นกำหนดเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 มาตรา 31 วรรคสี่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15098/2558 ป.รัษฎากร ม. 40 (4), ม. 40 (ข) พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 284) พ.ศ.2538 ม. 3
โจทก์เป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 โดยบริษัท ร. เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโจทก์ และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของบริษัทให้แก่โจทก์เพื่อใช้ประกอบกิจการวิทยาลัย ต่อมาโจทก์จัดสรรเงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้จากการประกอบกิจการของโจทก์ให้แก่บริษัท ร. อันเป็นการจัดสรรเงินรายได้จากการประกอบกิจการให้บริการด้านการศึกษาของโจทก์ตามมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 เงินผลประโยชน์ที่ผู้รับใบอนุญาตได้รับจากโจทก์จึงเป็นเงินได้จากการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) ตามมาตรา 40 (8) แห่ง ป.รัษฎากร และตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่ง ป.รัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ข้อ 12/1 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า "ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) เฉพาะที่เป็นการจ่ายเงินได้จากการให้บริการอื่น ๆ... หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 3.0 ..." ตาม พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 284) พ.ศ.2538 มาตรา 3 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่ง ป.รัษฎากร สำหรับเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ดังนี้ (1) กำไรสุทธิที่ได้จากกิจการสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน... (2) เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการตาม (1) โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ฯ ไม่เข้าลักษณะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่ง ป.รัษฎากร เงินผลประโยชน์ที่โจทก์จ่ายให้แก่บริษัท ร. จึงไม่อาจถือเป็นเงินส่วนแบ่งของกำไรตามมาตรา 40 (4) (ข) เงินผลประโยชน์ที่ผู้รับใบอนุญาตได้รับจากโจทก์ จึงไม่ได้รับยกเว้นตาม พ.ร.ฎ.ดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15097/2558 ป.พ.พ. ม. 456 วรรคสอง, ม. 519
ป.พ.พ. มาตรา 519 บัญญัติว่า "บทบัญญัติทั้งหลายในลักษณะซื้อขายนั้น ท่านให้ใช้ถึงการแลกเปลี่ยนด้วย โดยให้ถือว่าผู้เป็นคู่สัญญาแลกเปลี่ยนเป็นผู้ขายในส่วนทรัพย์สินซึ่งตนได้ส่งมอบ และเป็นผู้ซื้อในส่วนทรัพย์สินซึ่งตนได้รับในการแลกเปลี่ยนนั้น" แม้หนังสือแบ่งแยกโฉนดที่ดินจะระบุชื่อสัญญาว่าเป็นหนังสือแบ่งแยกโฉนดที่ดิน อันอาจจะแปลได้ว่าเป็นสัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินเสร็จเด็ดขาดก็ตาม แต่เมื่อตามสัญญาโจทก์กับจำเลยตกลงกันว่าจะแลกโฉนดที่ดินกัน โดยจำเลยจะแบ่งที่ดินคืนให้โจทก์ 12 ไร่เศษ ตามจำนวนที่จำเลยแบ่งขาย จึงไม่ใช่สัญญาที่ตกลงกันให้ความเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโอนไปทันทีที่มีการทำสัญญา แต่จำเลยยังมีหน้าที่แบ่งแยกที่ดินแล้วจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ตามข้อตกลงในสัญญา จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่าโจทก์กับจำเลยมีเจตนาที่จะไปจดทะเบียนโอนที่ดินที่แลกเปลี่ยนกันในภายหลัง หามีเจตนาจะให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่แลกเปลี่ยนกันโอนทันทีในวันทำสัญญาไม่ หนังสือแบ่งแยกโฉนดที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงเป็นสัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 519 ประกอบมาตรา 456 วรรคสอง หาใช่สัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินเสร็จเด็ดขาดซึ่งจะตกเป็นโมฆะเพราะไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 519 ประกอบมาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใดไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15084/2558 ป.วิ.พ. ม. 271
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2546 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 57197 พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำเลยทั้งสองจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ ถ้าได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองบังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่อุทธรณ์ ต่อมาในชั้นบังคับคดี โจทก์ร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินจำนองออกขายทอดตลาดแต่ยังขายไม่ได้ โจทก์จึงยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 20483 และ 20484 กับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่1920 โดยโจทก์เพิ่งยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2556 อันเป็นการร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาชั้นที่สุดสำหรับคดีนี้แล้ว ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าศาลชั้นต้นได้ขยายระยะเวลาการบังคับคดีให้โจทก์ ดังนี้ คำขอของโจทก์จึงไม่ต้องด้วยระยะเวลาในการร้องขอให้บังคับคดีภายในสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดียึดโฉนดที่ดินเลขที่ 20483 และ 20484 กับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่1920
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15073/2558 ป.วิ.อ. ม. 218 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ม. 48 วรรคหนึ่ง, ม. 73 วรรคหนึ่ง, ม. 73 วรรคสอง (1)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคหนึ่ง, วรรคสอง (1) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงไป ฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 3 เดือน ฐานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 3 เดือน ฐานมีไม้สักและไม้เหียงแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานมีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 9 เดือน บวกโทษจำคุก 18 เดือน ที่รอการลงโทษไว้แล้ว เป็นจำคุก 27 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้เหียงและไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานแปรรูปไม้เหียงและไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานแปรรูปไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี อันเป็นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ลงโทษจำเลยฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง และ 73 วรรคหนึ่ง ทั้งสองฐานความผิด เป็นลงโทษจำเลยฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานแปรรูปไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง และ 73 วรรคสอง (1) ทั้งสองฐานความผิด จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้วรรคของความผิดในบทมาตราเดียวกัน ไม่ถือเป็นการแก้บทความผิด แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แก้ไขโทษด้วยก็เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และคงให้ลงโทษจำคุกกระทงละไม่เกินห้าปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 5 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15055/2558 ป.วิ.อ. ม. 158 (5) ป.อ. ม. 33, ม. 91, ม. 144 พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ม. 4, ม. 7, ม. 8, ม. 15, ม. 66, ม. 102 พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2535 ม. 6 (2)
ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า มีการจับกุม ป. โดยการล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนเมื่อเวลา 18.25 นาฬิกา หลังจากนั้นพันตำรวจตรี ธ. ขอให้ศาลออกหมายค้นร้านเสริมสวยพูนศิริบิวตี้และไปตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนพร้อมกับอาวุธปืนและกระสุนปืนแล้วจึงนำตัว ป. มาที่กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งย่อมจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการตามที่กล่าวพอสมควร ในเวลาประมาณ 20 นาฬิกา พันตำรวจตรี ธ. ได้ควบคุม ป. มายังห้องสืบสวนกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ เหตุที่ยังไม่ได้นำตัว ป. ไปยังสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองศรีสะเกษเนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการสืบสวนขยายผล สอดคล้องกับบันทึกการจับกุม ป. ที่ระบุว่า ทำขึ้นเมื่อเวลา 20.30 นาฬิกา ของวันที่ 25 เมษายน 2549 เชื่อว่าในขณะนั้นพันตำรวจตรี ธ. ยังไม่ได้นำตัว ป. ส่งพนักงานสอบสวน ป. จึงยังอยู่ในการควบคุมของพันตำรวจตรี ธ.
ต่อมาเวลาประมาณ 21 นาฬิกา จำเลยมาพบพันตำรวจตรี ธ. แจ้งว่าเป็นน้องชาย ป. และเสนอจะให้เงิน 400,000 บาท ถ้าปล่อยตัว ป. พันตำรวจตรี ธ. รับปากจะช่วยเหลือ จำเลยนัดจะนำเงินมาให้ในวันรุ่งขึ้นเวลา 9 นาฬิกา หลังจากนั้นพันตำรวจตรี ธ. ได้รายงานผู้บังคับบัญชาและไปขอลงรายงานประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองศรีสะเกษเพื่อวางแผนจับกุมตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ซึ่งร้อยตำรวจตรี ม. เป็นผู้บันทึก ต่อมาวันรุ่งขึ้นเวลาประมาณ 10 นาฬิกา จำเลยถือถุงกระดาษสีน้ำตาลมาหาพันตำรวจตรี ธ. ที่ห้องสืบสวนกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ จำเลยแจ้งว่าเงินครบ แล้วล้วงเอาธนบัตรจำนวน 400,000 บาท ออกมาจากถุง พันตำรวจตรี ธ. จึงจับกุมจำเลยพร้อมยึดธนบัตรจำนวนดังกล่าวเป็นของกลาง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานให้และขอให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงาน เพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 144 และเงินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิด จึงต้องริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 (2) บัญญัติว่า ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดผู้ใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น...(2) จัดหาหรือให้เงิน... เพื่อมิให้ผู้กระทำผิดถูกลงโทษ... และมาตรา 3 นิยามคำว่า "ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด" หมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด... โจทก์บรรยายฟ้องในข้อหานี้ว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 พันตำรวจตรี ธ. กับพวกร่วมกันจับกุม ป. ผู้ต้องหา พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เป็นของกลางเพื่อดำเนินคดี ต่อมาจำเลยได้เสนอขอให้และให้เงินสินบน 400,000 บาท แก่ผู้จับกุม เพื่อจูงใจให้ปล่อยตัว ป. ไปเสีย การกระทำของจำเลยเป็นการจัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานผู้จับกุม ป. ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2260/2549 ของศาลชั้นต้น เพื่อมิให้ ป. ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดถูกลงโทษ จำเลยจึงต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดฐานนั้น เห็นได้ว่า ป. ต้องกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฐานใดฐานหนึ่ง และจำเลยให้เงินเพื่อมิให้ ป. ถูกลงโทษ จึงต้องระวางโทษจำเลยเช่นเดียวกับ ป. ในความผิดฐานนั้น ดังนั้น โจทก์ต้องบรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่า ป. ได้กระทำความผิดในข้อหาใด ปริมาณยาเสพติดให้โทษมีเพียงใด และศาลลงโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 บทมาตราใด โจทก์จะบรรยายคลุมๆ ว่า ป. กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไม่ได้ เพราะหากจำเลยมีความผิดก็ต้องระวางโทษจำเลยเช่นเดียวกับ ป. เมื่อไม่ได้บรรยายความผิดของ ป. ตามที่กล่าว ศาลไม่อาจลงโทษจำเลยได้ แม้โจทก์จะระบุหมายเลขคดีที่ ป. ถูกลงโทษมาในฟ้อง แต่ก็ไม่มีรายละเอียด เมื่อฟ้องโจทก์ขาดข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15050/2558 พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ม. 19, ม. 22, ม. 23, ม. 25, ม. 29 วรรคหนึ่ง, ม. 32, ม. 33 พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ม. 57, ม. 91
การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 เป็นมาตรการของรัฐที่ต้องการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือไม่ก็ตาม โดยศาลจะมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้ติดยาเสพติดไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดก่อน และคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีอำนาจวินิจฉัยว่าผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ผู้ใดเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด จากนั้นต้องจัดให้มีแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 22 โดยคำนึงถึงความหนักเบาของการเสพหรือติดยาเสพติดของผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 23 ซึ่งผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดต้องถูกบังคับให้อยู่รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเป็นเวลาไม่เกินหกเดือน ซึ่งอาจขยายหรือลดระยะเวลาการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามความเหมาะสมตามมาตรา 25 หากผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนระเบียบ เงื่อนไข หรือข้อบังคับที่กำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จับตัวผู้นั้นกลับเข้าไว้ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด สถานที่เพื่อการตรวจพิสูจน์การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด หรือการควบคุมตัวไว้โดยให้ถือว่าผู้นั้นหนีการคุมขังตามมาตรา 190 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจติดตามจับกุมตัวผู้นั้นได้ด้วยตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง และมีอำนาจลงโทษตามมาตรา 32 ได้อีกด้วย การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 จึงมีวัตถุประสงค์แก้ไขฟื้นฟูผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติดทุกคนเพื่อประโยชน์ของสังคมเป็นส่วนรวม โดยไม่จำเป็น ต้องคำนึงถึงว่าผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติดจะเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบควบคุมตัวหรือแบบไม่ควบคุมตัวตามมาตรา 23 หรือไม่ ดังนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงต้องดำเนินการตามมาตราดังกล่าวก่อนแล้วคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจึงจะมีอำนาจพิจารณาผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด
คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดนครราชสีมามีคำวินิจฉัยให้จำเลยเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพแบบไม่ควบคุมตัวในโปรแกรมคุมประพฤติ 180 วัน อบรมพัฒนาคุณภาพชีวิต 1 หลักสูตร พร้อมทั้งให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เป็นเวลา 24 ชั่วโมง แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามแผนการฟื้นฟูโดยไม่เข้ารับการฟื้นฟู และพนักงานคุมประพฤติได้แจ้งเตือนจำเลยแล้ว แต่จำเลยก็ไม่มาเข้ารับการฟื้นฟู จึงเป็นกรณีที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดนครราชสีมากำหนดไว้ เมื่อมาตรา 33 บัญญัติให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการดำเนินคดีผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เมื่อผู้นั้นเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดครบถ้วนตามกำหนดเวลาแล้ว แต่ผลการฟื้นฟูยังไม่เป็นที่พอใจ การที่ได้ตัวจำเลยมาหลังจากที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามแผนการฟื้นฟูดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีหน้าที่นำตัวจำเลยกลับไปบำบัดแก้ไขตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดนครราชสีมา อันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ครบถ้วนตามมาตรา 25 ก่อน เมื่อคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวข้างต้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15049/2558 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ม. 43 ทวิ, ม. 157/1 วรรคสอง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ม. 58, ม. 91
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ทั้งนี้ ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา" ซึ่งคำว่า "ทั้งนี้" ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ว่า ตามที่กล่าวมานี้ ดังนี้ คำว่า ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาจึงครอบคลุมถึงเสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ซึ่งเป็นข้อความที่กล่าวไว้ก่อนคำว่าตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย เมื่ออธิบดีกรมตำรวจยังไม่ได้ออกข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพฝิ่นซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15036/2558 ป.พ.พ. มาตรา 193/30
โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างฟ้องจำเลยที่ 1 ลูกจ้างให้ชำระหนี้ที่เกิดจากการที่ลูกจ้างกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าแล้วไม่นำส่งโจทก์ เบิกสินค้าของโจทก์ไปแล้วไม่ส่งเงินค่าสินค้าให้ครบถ้วนหรือนำสินค้ามาคืน จึงเป็นการฟ้องคดีให้จำเลยที่ 1 รับผิดทั้งจากมูลละเมิดและมูลสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อการฟ้องให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามสิทธิเรียกร้องอันเนื่องมาจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานมิได้มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15031/2558 ป.พ.พ. ม. 575, ม. 583 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 119 วรรคหนึ่ง (3)
การที่โจทก์ได้รับมอบหมายให้เข้าไปดำเนินการปลดธงชาติและธงเฉลิมพระเกียรติซึ่งต้องมีการปฏิบัติงานภายในห้องประธานกรรมการบริหารของจำเลย การที่โจทก์ใช้กุญแจอาคารเปิดเข้าห้องประธานกรรมการบริหารของจำเลยเพื่อปฏิบัติงานตามคำสั่งนั้น หน้าที่ของโจทก์นอกจากดำเนินการปลดธงลงแล้วโจทก์ยังมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้เกิดความเรียบร้อยและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สถานที่ที่โจทก์เข้าไปดำเนินงานด้วย เมื่อสถานที่ดังกล่าวเป็นห้องประธานกรรมการบริหารของจำเลยซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่าภายในห้องดังกล่าวอาจมีทรัพย์สินมีค่า หรือเอกสารสำคัญ โจทก์ยิ่งต้องใช้ความระมัดระวังตรวจตรารักษาความปลอดภัยแก่สถานที่นั้นเป็นอย่างดี เมื่อโจทก์มิได้ใช้ความระมัดระวังตรวจตราดูแลทำให้พระทองคำ ฮก ลก ซิ่ว ซึ่งมีมูลค่าถึง 75,000 บาท ที่อยู่ในห้องดังกล่าวสูญหายไป จึงเป็นการประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างก่อนครบระยะเวลาตามสัญญาจ้างแก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15025/2558 ป.พ.พ. ม. 824
จำเลยได้ร่วมกับบริษัท ว. ตัวการซึ่งอยู่ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในการทำสัญญาจ้างกับโจทก์ การที่จำเลยให้โจทก์ลงลายมือชื่อในสัญญาจ้างดังกล่าวกับนายจ้างผู้เป็นตัวการโดยจำเลยมิได้ลงลายมือชื่อในสัญญาจ้างด้วยตนเองแทนนายจ้างผู้เป็นตัวการ ก็เห็นได้ชัดแจ้งว่าจำเลยประสงค์จะหลีกเลี่ยงวิธีปฏิบัติตามขั้นตอนของผู้จัดหางานที่จะต้องตรวจสอบและลงนามในสัญญาจ้างดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยเป็นตัวแทนทำสัญญาจ้างแทนนายจ้างผู้เป็นตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญาจ้างแต่โดยลำพังแม้ชื่อของตัวการจะได้เปิดเผยแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 824
จำเลยกำหนดให้โจทก์เดินทางไปเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในวันที่ 20 เมษายน 2551 แต่จำเลยขอเลื่อนกำหนดไปในวันที่ 2 พฤษภาคม 2551 ก่อนถึงกำหนดนัดพนักงานของจำเลยสั่งให้โจทก์เตรียมเงิน 15,000 บาท เพื่อเป็นค่าบริการแก่จำเลย โจทก์แจ้งว่าจะจ่ายให้หลังจากไปทำงานและได้รับเงินเดือนแล้ว วันที่ 2 พฤษภาคม 2551 โจทก์ยังไปที่บริษัทจำเลยและตรวจสอบเอกสารการเดินทางและการเข้าเมือง จึงพบว่าเอกสารระบุเพศไม่ตรงกับเพศของโจทก์ โจทก์จึงเดินทางกลับบ้านมิได้เดินทางไปที่สนามบิน เห็นได้ว่าโจทก์ยินยอมเสียค่าบริการให้แก่จำเลยเพียงแต่ขอผัดใช้ให้หลังจากเดินทางไปทำงานกับนายจ้างและได้รับเงินเดือนแล้วเท่านั้น เมื่อถึงวันนัดโจทก์ก็เดินทางไปที่บริษัทจำเลยตามกำหนด แสดงว่าโจทก์มิได้ถือเอาเหตุที่จำเลยเรียกค่าบริการมาเป็นเหตุว่าจำเลยผิดสัญญาเพื่อเรียกค่าเสียหายตามฟ้อง การที่ระบุเพศผิดพลาดโจทก์ก็หาได้เรียกให้จำเลยจัดการเสียให้ถูกต้องเสียก่อนซึ่งหากจำเลยมิได้ดำเนินการให้ก็จะถือได้ว่าจำเลยผิดสัญญา แต่โจทก์กลับเดินทางกลับบ้าน มิได้ไปที่สนามบิน ย่อมแสดงว่าโจทก์ประสงค์ที่จะไม่เดินทางไปเมืองดูไบตามสัญญาจ้างเอง ไม่ถือว่าจำเลยผิดสัญญาที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15022/2558 ป.วิ.พ. ม. 290 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31
แม้ศาลจะมีคำสั่งรวมการพิจารณาพิพากษาคดีระหว่างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 15 กับโจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 13 และที่ 16 เข้าด้วยกัน ทั้งออกคำบังคับและออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีฉบับเดียวกันก็ตาม แต่สิทธิเรียกร้องของโจทก์แต่ละรายเป็นสิทธิที่เกิดจากสัญญาจ้างแรงงานของโจทก์แต่ละคน จึงเป็นสิทธิเฉพาะตัว โจทก์ทั้งหมดมิได้เป็นเจ้าหนี้ร่วมกัน การที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 15 ขออายัดเงินต่อสิทธิเรียกร้องจากบุคคลภายนอก และแจ้งแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีว่ายินดีรับเงินตามจำนวนที่บุคคลภายนอกแจ้งมา เป็นการบังคับคดีเฉพาะตัว เมื่อโจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 13 และที่ 16 มิได้ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยหนี้ของตนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 13 และที่ 16 จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับส่วนเฉลี่ยจากเงินจำนวนดังกล่าว การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีและจ่ายเงินแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 15 จึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15020/2558 พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ม. 6, ม. 7
แม้หนังสือมอบอำนาจไม่ได้เขียนชัดแจ้งให้ผู้รับมอบอำนาจอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า แต่ก็มีข้อความระบุให้มีอำนาจฟ้องคดีเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการอุทธรณ์และมีอำนาจปกป้องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาให้ปลอดจากการคัดค้านหรือโต้แย้ง และยื่นฟ้องเกี่ยวกับข้อเรียกร้องทั้งปวงของโจทก์เกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า เมื่อข้อเรียกร้องโจทก์ในคดีนี้คือให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ การฟ้องคดีนี้จึงเป็นการกระทำภายในขอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจ
ในการพิจารณาว่าคำใดเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่าคำดังกล่าวสามารถสื่อให้สาธารณชนทราบหรือเข้าใจได้ในทันทีว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านั้นมีคุณสมบัติอย่างไร หากคำดังกล่าวเป็นเพียงคำที่อาจสื่อให้สาธารณชนผู้ใช้สินค้าคิดหรือจินตนาการและยังต้องใช้วิจารณญาณพอสมควรจึงจะเข้าใจว่าคำดังกล่าวสื่อให้ทราบถึงลักษณะของตัวสินค้าหรือคุณสมบัติของสินค้านั้น ก็ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง เมื่อคำว่า "Superdry" เกิดจากการนำคำว่า "Super" และ "dry" มารวมกันได้ความหมายว่า "ทำให้แห้งอย่างมาก" ซึ่งตรงกับคำแปลของอักษรญี่ปุ่นในเครื่องหมายการค้า สำหรับสินค้าจำพวกเครื่องแต่งกายประเภทเข็มขัด รองเท้า หมวก เสื้อ กางเกง ชุดลำลอง ผ้าพันคอ ถุงมือ และชุดชั้นใน ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้น คุณสมบัติความแห้งมากของสินค้ามิใช่คุณสมบัติพิเศษที่ผู้ซื้อสินค้าดังกล่าวทั่วไปต้องการ เครื่องหมายการค้าอักษรญี่ปุ่นและอักษรโรมันคำว่า ของโจทก์จึงไม่ถือเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15019/2558 ป.วิ.พ. ม. 104, ม. 198 ทวิ วรรคหนึ่ง ป.พ.พ. ม. 616 พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ม. 39, ม. 40 (1), ม. 40 (3), ม. 49
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง และมาตรา 104 ซึ่งมาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเพราะจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย และมาตรา 104 บัญญัติให้ศาลมีอำนาจเต็มในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เป็นยุติได้หรือไม่แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น ซึ่งในการสืบพยานตามข้ออ้างของโจทก์ นั้น แม้โจทก์จะไม่มีเอกสารเป็นพยานหลักฐาน แต่โจทก์ก็มีพนักงานพิจารณาสินไหมบริษัทโจทก์ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาเหตุที่เกิดแก่สินค้าดังกล่าวมาเป็นพยานตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยาน โดยจำเลยที่ 4 มิได้นำพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น เมื่อการขนส่งดังกล่าวมีลักษณะเป็นการขนส่งสินค้าทางทะเลในประเทศ ซึ่งต้องบังคับตาม ป.พ.พ. ว่าด้วยการรับขนของ ซึ่งมิได้บัญญัติว่า สัญญาเช่นนี้ต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร หรือต้องมีหลักฐานเป็นเอกสารมาแสดงจึงจะบังคับกันได้ ดังนั้น ที่โจทก์นำสืบและพยานดังกล่าวเบิกความยืนยันจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้
ส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับขนสินค้านั้นทางทะเลจากท่าเรือ ซึ่งแม้จะปรากฏว่าเป็นการรับขนตามสัญญาเช่าเรือ (Charterparty) แต่ก็มีการออกใบตราส่ง ดังนั้น การรับขนสินค้าทางทะเลในกรณีนี้ในส่วนของหน้าที่และสิทธิของผู้ขนส่งและผู้รับตราส่งซึ่งมิใช่ผู้จ้างเหมาจึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 5 ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นผู้ขนส่งสินค้าทางทะเลในประเทศ จึงไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.การรับขนของทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 4 วรรคสอง โดยหน้าที่และสิทธิของจำเลยที่ 4 ให้บังคับตาม ป.พ.พ. ว่าด้วยการรับขนของดังกล่าวแล้ว เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับสินค้าที่ขนส่งไว้ในความดูแลเพื่อขนส่งและออกใบตราส่ง ซึ่งมีข้อความว่าสินค้าที่ขนส่งมีน้ำหนัก 1,964,583 เมตริกตัน และมีข้อความระบุว่า "Shipped, in apparent good order and condition" และข้อความว่า "Clean on board" แสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับสินค้าที่ขนส่งไว้เพื่อการขนส่งสินค้ามีจำนวนตรงตามที่ระบุในใบตราส่ง และสินค้าอยู่ในสภาพดี และผู้รับตราส่งรับมอบสินค้าที่ขนส่งกับได้ส่งมอบสินค้าดังกล่าวให้แก่เรือ ที่ผู้รับตราส่งจัดหามา จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้ขนส่งทางทะเลได้ส่งมอบสินค้านั้นแก่ผู้รับตราส่งแล้ว เมื่อเรือมาถึงเกาะสีชังผู้สำรวจและประเมินความเสียหายของสินค้าที่โจทก์เป็นผู้ว่าจ้างยังได้ออกรายงาน ยืนยันน้ำหนักสินค้าที่ขนส่งว่าเท่ากับที่รับไว้เพื่อการขนส่งจากต้นทาง จึงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ขนส่งได้มอบของซึ่งมีสภาพ จำนวน น้ำหนัก และรายละเอียดอื่น ๆ ตรงตามที่ระบุไว้ในใบตราส่ง หรือถ้าไม่ได้ออกใบตราส่งให้ไว้แก่กัน ให้สันนิษฐานว่าได้ส่งมอบของซึ่งมีสภาพดี แล้วแต่กรณี และโจทก์มีภาระการพิสูจน์ว่าสินค้าที่ส่งมอบไม่ครบตามจำนวนที่ระบุในใบตราส่ง ถือไม่ได้ว่าการที่สินค้าขาดจำนวนไป มาจากเหตุที่เกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าที่ขนส่งอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อการที่สินค้าที่ขนส่งขาดจำนวนหรือสูญหายไปดังกล่าว สำหรับจำเลยที่ 4 นั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ส่งมอบสินค้าที่ขนส่งแก่จำเลยที่ 4 ขาดจำนวนไปจากที่ได้รับไว้เพื่อการขนส่ง และโจทก์เองก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยที่ 4 ได้รับมอบสินค้าที่ขนส่งไว้เพื่อขนส่งเป็นจำนวนเท่าใด ประกอบกับตามใบกำกับสินค้าก็ได้กำหนดคุณสมบัติเกี่ยวกับความชื้นของสินค้าดังกล่าวไว้ด้วย ทั้งการขนส่งก็เป็นแบบเทกอง จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดในการที่สินค้าข้าวสาลีที่ขนส่งขาดจำนวนไปดังกล่าวเช่นกัน ส่วนปัญหาเรื่องฝนตกอย่างฉับพลันคนเรือดึงผ้าใบปิดระวางเรือไม่ทัน เป็นเหตุให้สินค้าที่เหลืออยู่ในระวางเรือเปียกฝน เช่นนี้ถือว่าสินค้าที่ขนส่งได้รับความเสียหายในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 4 ทั้งไม่ใช่เหตุสุดวิสัยเพราะสามารถรู้ล่วงหน้าและป้องกันได้ในฐานะผู้ประกอบอาชีพรับขนส่งสินค้า จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดในการที่สินค้าข้าวสาลีที่ขนส่งได้รับความเสียหายจำนวนนี้ด้วย
ส่วนค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องเสียไปในการค้นหาสาเหตุของการที่สินค้าที่ขนส่งได้รับความเสียหายดังกล่าวนั้นถือได้ว่าเป็นค่าเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดจากการที่จำเลยที่ 4 ไม่ชำระหนี้ด้วยการขนส่งสินค้าที่ได้รับไว้ในความดูแลให้ปลอดจากความเสียหาย เพราะเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นย่อมเป็นธรรมดาที่จะต้องมีการสำรวจตรวจสอบเพื่อให้ทราบปริมาณความเสียหายและจำนวนค่าเสียหายของสินค้า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อค่าใช้จ่ายดังกล่าวเกิดจาก 2 สาเหตุ เมื่อจำเลยที่ 4 ต้องรับผิดจากเหตุสินค้าเปียกน้ำเท่านั้น จึงเห็นควรลดค่าเสียหายส่วนนี้ลงตามส่วน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15018/2558 ป.พ.พ. ม. 623 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ม. 38 ป.วิ.พ. ม. 225
จำเลยให้การเพียงว่า ซ. รับมอบสินค้าเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2554 แต่ไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบความเสียหายของสินค้าภายใน 8 วัน นับแต่วันที่รับมอบจากจำเลยในกรณีความเสียหายของสินค้าไม่เห็นประจักษ์ สิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจึงขาดอายุความ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิจึงขาดอายุความเช่นกัน แต่จำเลยอุทธรณ์ว่า ความรับผิดของจำเลยสิ้นสุดลงแล้วเนื่องจาก ซ. รับสินค้าไปโดยมิได้อิดเอื้อน ชำระค่าระวางแล้วและมิได้แจ้งให้จำเลยทราบถึงความเสียหายของสินค้าพิพาทภายใน 8 วัน นับแต่วันรับมอบสินค้า อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยจึงเป็นปัญหาตาม ป.พ.พ. มาตรา 623 ซึ่งเป็นปัญหาความรับผิดของจำเลยสิ้นสุดลงเพราะผู้รับสินค้าไม่อิดเอื้อนหรือไม่ หรือในกรณีความเสียหายไม่เห็นประจักษ์ ผู้รับสินค้าไม่แจ้งผู้ขนส่งภายใน 8 วัน นับแต่วันส่งมอบหรือไม่ ไม่ใช่ปัญหาเรื่องสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายขาดอายุความหรือไม่ตามที่ให้การไว้ ซึ่งเป็นปัญหาตามกฎหมายบทอื่น จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว โดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15017/2558 พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ม. 7 วรรคสอง (2), ม. 80
เครื่องหมายบริการที่จะเป็นเครื่องหมายบริการประเภทคำหรือข้อความที่ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะได้ จะต้องเป็นเครื่องหมายบริการที่มีคำหรือข้อความอันไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของบริการนั้นโดยตรง เครื่องหมายบริการตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์คำว่า Dream , Believe and Achieve ... นั้นประกอบด้วยตัวอักษรโรมัน เครื่องหมายจุลภาค และจุดไข่ปลา ประกอบกัน เขียนด้วยลายมือของโจทก์ ซึ่งโจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการดังกล่าวเพื่อใช้กับบริการจำพวกที่ 35 รายการบริการ จัดการธุรกิจในห้างสรรพสินค้า แม้ถ้อยคำแต่ละคำเป็นคำที่มีความหมายอยู่แล้ว ไม่ใช่คำที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ โดยความหมายของคำดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นการแปลเป็นภาษาไทยตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์และที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าแปลความหมายของคำดังกล่าวไว้ว่า ฝัน เชื่อ และ สำเร็จ หรือความหมายว่า จงมีความฝัน จงมีความเชื่อและจะประสบความสำเร็จ ตามคำแปลของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า แต่เมื่อถ้อยคำดังกล่าวนั้นโจทก์เป็นผู้ริเริ่มนำมารวมกันเพื่อใช้เป็นเครื่องหมายบริการสำหรับรายการบริการจัดการธุรกิจในห้างสรรพสินค้าของโจทก์ ทั้งยังมีลักษณะพิเศษคือตัวอักษรโรมันและเครื่องหมายที่ใช้ประกอบกันเป็นคำนั้นเป็นตัวอักษรโรมันที่เขียนด้วยลายมือของโจทก์ซึ่งไม่เหมือนกับผู้ใด การวางตำแหน่งตัวอักษรก็จัดวางเป็นสองแถวซ้อนกัน ดังนั้นประชาชนหรือผู้ใช้บริการย่อมสามารถทราบและเข้าใจได้ว่าการบริการที่ใช้เครื่องหมายบริการตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์นั้นแตกต่างไปจากการบริการอื่น ประกอบกับคำว่า Dream , Believe and Achieve ... ที่โจทก์ขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับบริการจำพวกที่ 35 รายการบริการ จัดการธุรกิจในห้างสรรพสินค้า เมื่อพิจารณาแล้วไม่ปรากฏว่าคำดังกล่าวเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับลักษณะของการบริการจัดการธุรกิจในห้างสรรพสินค้าอันเป็นรายการบริการที่โจทก์มุ่งใช้กับเครื่องหมายบริการดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้นคำว่า Dream , Believe and Achieve ... จึงเป็นคำหรือข้อความอันไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของรายการบริการของโจทก์ที่ขอจดทะเบียนโดยตรง และถือได้ว่าเป็นเครื่องหมายบริการที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้บริการนั้นทราบและเข้าใจได้ว่าบริการของโจทก์ที่ใช้เครื่องหมายบริการนั้นแตกต่างไปจากบริการที่ใช้เครื่องหมายอื่น จึงเป็นเครื่องหมายบริการที่มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองตามมาตรา 80 ประกอบมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 แล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15016/2558 ป.พ.พ. ม. 369, ม. 472
สัญญาการให้สิทธิและการบริการทั้งสองฉบับเป็นสัญญาที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้ซอฟต์แวร์ระบบบริหารจัดการโรงแรมโดยจำเลยยินยอมจ่ายค่าตอบแทน ดังนั้น นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนชนิดหนึ่งซึ่งมีผลผูกพันคู่สัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 369 ไม่ใช่สัญญาซื้อขาย จำเลยจึงไม่อาจยกเหตุที่ทรัพย์สินซึ่งซื้อขายชำรุดบกพร่องมาเป็นเหตุปฏิเสธไม่ชำระเงินแก่โจทก์ได้
สำหรับวัตถุประสงค์ของสัญญานั้นปรากฏข้อความในตอนต้นของสัญญาการให้สิทธิและการบริการทั้งสองฉบับว่า จำเลยประสงค์จะได้รับการจัดหา การติดตั้ง การบำรุงรักษา และสิทธิการใช้ระบบบริหารโรงแรมตามที่ระบุในภาคผนวก ก ซึ่งคือระบบซอฟต์แวร์ทั้งสี่ระบบ เมื่อโจทก์ได้จัดหา ติดตั้ง บำรุงรักษา และให้สิทธิจำเลยใช้ระบบซอฟต์แวร์ทั้งสี่ระบบตามสัญญาแล้ว ถือว่าโจทก์ได้ปฏิบัติการชำระหนี้ตรงตามวัตถุประสงค์แห่งสัญญาการให้สิทธิและการบริการทั้งสองฉบับซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนในส่วนของตนแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระราคาสัญญาให้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15015/2558 พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ม. 6, ม. 7 วรรคสอง (2)
การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้านั้น ไม่ใช่พิจารณาเปรียบเทียบเฉพาะรูปหรือคำหรือข้อความที่ปรากฏหรือเสียงเรียกขานอย่างใดอย่างหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบอื่น ๆ ของเครื่องหมายการค้าที่ประกอบกันขึ้นเป็นองค์ประกอบรวมของเครื่องหมายการค้านั้นทั้งหมด รวมทั้งสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นด้วยว่าเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันหรือเป็นสินค้าต่างจำพวกกันแต่มีลักษณะอย่างเดียวกัน และสาธารณชนผู้ใช้หรือบริโภคสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นเป็นกลุ่มเดียวกันหรือไม่ ทั้งยังต้องคำนึงถึงความสุจริตในการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โดยสาระสำคัญอยู่ที่ว่าความเหมือนหรือคล้ายกันของเครื่องหมายการค้านั้นถึงขนาดที่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่
เครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายการค้า ของโจทก์ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้า ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเฉพาะภาคส่วนที่เป็นอักษรโรมัน "HOLLISTER" แล้วเห็นได้ว่าคำดังกล่าวตามคำขอจดทะเบียนทั้งสองคำขอของโจทก์ประกอบด้วยอักษรโรมันที่เหมือนกันกับของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เพียงแต่คำดังกล่าวตามคำขอจดทะเบียนทั้งสองคำขอของโจทก์นั้นเป็นอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด ส่วนของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วมีเพียงอักษรโรมัน H ซึ่งเป็นอักษรโรมันตัวแรกเท่านั้นที่เป็นตัวพิมพ์ใหญ่ ส่วนเสียงเรียกขานทั้งเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนทั้งสองคำขอของโจทก์และของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วมีเสียงเรียกขานคล้ายกันว่า "โฮลลิสเตอร์" แต่เมื่อพิจารณาในส่วนองค์ประกอบรวมของเครื่องหมายการค้า และ ตามคำขอจดทะเบียนทั้งสองคำขอของโจทก์แล้วเห็นว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองคำขอของโจทก์ยังมีภาคส่วนอื่นประกอบอยู่ด้วย โดยเครื่องหมายการค้า มีรูปนกประดิษฐ์อยู่ตรงกลางของเครื่องหมาย มีคำว่า "HOLLISTER" อยู่ด้านบน และมีคำว่า "CALIFORNIA" อยู่ด้านล่างของเครื่องหมาย ส่วนเครื่องหมายการค้า มีรูปนกประดิษฐ์อยู่ด้านบน มีคำว่า "HOLLISTER" อยู่ตรงกลาง และมีคำว่า "CALIFORNIA" อยู่ด้านล่างของเครื่องหมาย แม้คำว่า "CALIFORNIA" จะเป็นชื่อมลรัฐหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกาอันเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และในระหว่างพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางโจทก์ได้แถลงขอสละประเด็นตามคำฟ้องว่าโจทก์มีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนคำดังกล่าวด้วยหรือไม่ โดยโจทก์แถลงว่าโจทก์ยินยอมที่จะแสดงปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้คำว่า "CALIFORNIA" แต่คำดังกล่าวก็ถือเป็นภาคส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าตามคำขอทั้งสองของโจทก์ที่ทำให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าตามคำขอทั้งสองของโจทก์และของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว นอกจากนี้ เครื่องหมายการค้าตามคำขอทั้งสองของโจทก์ยังมีรูปนกประดิษฐ์เป็นภาคส่วนที่สำคัญซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าตามคำขอทั้งสองของโจทก์และเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเช่นกัน โดยเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วมีแต่เพียงรูปประดิษฐ์ซึ่งเป็นอักษรโรมัน H จำนวน 4 ตัว ประกอบกันเป็นรูปคล้ายอักษรโรมัน X หรือรูปกากบาท วางอยู่ด้านหน้าคำว่า "Hollister" เท่านั้น เมื่อพิจารณาองค์ประกอบรวมทุกภาคส่วนของเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนทั้งสองคำขอของโจทก์เปรียบเทียบกับรายการสินค้าตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เห็นได้ว่าสินค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองคำขอนั้นเป็นสินค้าจำพวกที่ 3 รายการสินค้า ลิปบาล์ม ลิปกลอส สเปรย์ฉีดตัวสำหรับใช้เป็นเครื่องสำอางระงับกลิ่นตัวและให้กลิ่นหอม เครื่องสำอางระงับกลิ่นตัวใช้กับร่างกาย เครื่องสำอางระงับกลิ่นตัว ยาดับกลิ่นตัว เครื่องสำอางระงับกลิ่นเหงื่อ ครีมเสริมสวย ครีมเสริมสวยสำหรับทาตัว โลชั่นเสริมสวย เครื่องสำอางใช้กับร่างกาย เครื่องสำอางใช้เสริมสวย โลชั่นทาตัว โลชั่นทามือ เครื่องสำอางใช้ทำความสะอาดร่างกาย โคโลญ สารให้กลิ่นหอมสำหรับใช้กับร่างกาย น้ำหอม ซึ่งเป็นสินค้าประเภทเครื่องสำอางและเครื่องประทินผิว ซึ่งมักวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้าทั่วไป และผู้ใช้สินค้าดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นประชาชนทั่วไป แต่สินค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเป็นสินค้าจำพวกที่ 5 รายการสินค้า วัสดุตกแต่งบาดแผล น้ำยาทำความสะอาดผิว ครีมปรับสภาพผิว ขี้ผึ้งกันความชื้น กาวใช้ในทางการแพทย์ สารลอกกาวใช้ในทางการแพทย์ แผ่นปิดผิวหนัง ครีมและแป้งใช้รักษาบาดแผลและแผลเปิดของลำไส้บริเวณหน้าท้อง สารหล่อลื่นรูเปิดผนังหน้าท้อง เจลทาผิวใช้ในทางการแพทย์ ยาดับกลิ่นที่ไม่ได้ใช้กับร่างกาย ซึ่งเป็นสินค้าที่ใช้ในทางการแพทย์ ดังนั้น ผู้ใช้สินค้าดังกล่าวจึงเป็นแพทย์ พยาบาล หรือผู้ป่วยที่แพทย์แนะนำให้ใช้สินค้าดังกล่าวเท่านั้น และสถานที่จำหน่ายก็มีเพียงเฉพาะในโรงพยาบาลหรือร้านขายยาซึ่งมีเภสัชกรคอยแนะนำซึ่งบุคคลดังกล่าวย่อมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเป็นอย่างดี ดังนั้น ทั้งรายการสินค้า กลุ่มผู้ใช้สินค้า และสถานที่จำหน่ายสินค้าของโจทก์และของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจึงแตกต่างกัน ยังไม่มีเหตุผลให้เชื่อว่าสาธารณชนผู้ใช้สินค้าของโจทก์และผู้ใช้สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจะสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ไม่มีเหตุผลให้เชื่อว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองคำขอคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนทั้งสองคำขอของโจทก์จึงมีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15010/2558 พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ม. 17 วรรคหนึ่ง, ม. 17 วรรคสอง, ม. 20 วรรคหนึ่ง
สัญญาประกันภัยต่อระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านมีข้อกำหนดการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการว่า หากคู่ความมีข้อพิพาทใด ๆ เกี่ยวข้องกับสัญญานี้ ให้เสนอข้อพิพาทนั้นต่อคณะอนุญาโตตุลาการ (an arbitration tribunal) ตามสำเนาข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ ซึ่งมาตรา 20 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 บัญญัติว่า ในกรณีที่คู่พิพาทมิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น คู่พิพาทฝ่ายที่ประสงค์จะคัดค้านอนุญาโตตุลาการจะต้องยื่นหนังสือแสดงเหตุแห่งการคัดค้านต่อคณะอนุญาโตตุลาการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รู้ถึงการตั้งอนุญาโตตุลาการหรือรู้ข้อเท็จจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 วรรคสาม ที่กำหนดเหตุแห่งการคัดค้านไว้ตามคำร้องและคำคัดค้าน เมื่อผู้คัดค้านแจ้งการแต่งตั้ง จ. เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้าน ผู้ร้องแจ้งคัดค้านการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้าน ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้ร้องแล้วร่วมกันตั้งอนุญาโตตุลาการเพิ่มอีกหนึ่งคนเป็นประธานคณะอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 17 วรรคหนึ่งและวรรคสอง เพื่อประกอบกันเป็นคณะอนุญาโตตุลาการ ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้ร้องและผู้คัดค้านตกลงวิธีคัดค้านอนุญาโตตุลาการไว้เป็นอย่างอื่น จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องยังไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง คือไม่ได้ยื่นหนังสือแสดงเหตุแห่งการคัดค้านต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการแต่งตั้ง จ. เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้าน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15009/2558 ป.วิ.พ. ม. 55 พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ม. 18, ม. 29 วรรคสาม
ตามคำเตือนในการขายทอดตลาดระบุว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อห้องชุดจากการขายทอดตลาดมีหน้าที่ตรวจสอบยอดหนี้ว่าเจ้าของห้องชุดเดิมมีหนี้ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ค้างชำระแก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ และหากมีโจทก์จะต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 1 หลังจากซื้อห้องชุดพิพาทแล้ว การที่โจทก์มีหนังสือให้จำเลยที่ 2 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้โดยเสนอว่าโจทก์จะชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเฉพาะภายหลังจากโจทก์ซื้อห้องชุดพิพาทจากการขายทอดตลาดนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์เป็นต้นไป เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ตอบหนังสือว่าข้อเสนอชำระหนี้ของโจทก์ชอบหรือไม่ และไม่ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้แก่โจทก์ ถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์แล้ว โจทก์ฟ้องขอให้ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ได้
พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 29 วรรคสาม บัญญัติว่า ผู้จัดการต้องดำเนินการออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 โดยต้องมีหนังสือรับรองการปลอดหนี้ตามวรรคสองให้แก่เจ้าของร่วมภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องและเจ้าของร่วมได้ชำระหนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 ครบถ้วนแล้ว จะเห็นว่าการชำระหนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามมาตรา 18 เป็นเงื่อนไขสำคัญของการออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ เมื่อกรณีไม่ได้ความว่าเจ้าของห้องชุดพิพาทเดิมค้างค่าใช้จ่ายต่าง ๆ หรือไม่ และเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 1 ศาลย่อมกำหนดได้ว่าหากมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ นับถึงวันที่โจทก์ซื้อห้องชุดพิพาทจากการขายทอดตลาดซึ่งเจ้าของห้องชุดพิพาทเดิมค้างชำระแก่จำเลยที่ 1 ก็ให้โจทก์ชำระแก่จำเลยที่ 1 ให้เรียบร้อยแล้วให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้โจทก์ และเมื่อทางนำสืบโจทก์ยังไม่แน่ชัดว่าเจ้าของห้องชุดเดิมค้างค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ การที่จำเลยที่ 1 ไม่ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้แก่โจทก์จึงไม่เป็นการละเมิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15004/2558 ป.วิ.อ. ม. 116, ม. 118
ขณะที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลพัทยายื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาที่ใช้ชื่อ ล. ผู้ประกันยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาดังกล่าวโดยมีประกัน ศาลชั้นต้นอนุญาต สัญญาประกันจึงมีผลสมบูรณ์ตลอดไปในระหว่างสอบสวน สัญญาประกันในคดีอาญาจะสิ้นสุดก็ต่อเมื่อคดีถึงที่สุด เว้นแต่มีการถอนสัญญาประกันหรือขอถอนหลักประกัน ผู้ต้องหาตาย ผิดสัญญาประกัน หรือศาลสั่งยกเลิกสัญญาประกัน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 116 และมาตรา 118 ที่ผู้ประกันอ้างว่าทำสัญญาประกันไปโดยสำคัญผิดในตัวบุคคลนั้น เห็นว่า ผู้ประกันไม่ได้สำคัญผิดในตัวบุคคลเพราะผู้ประกันต้องการขอปล่อยชั่วคราวบุคคลที่ใช้ชื่อ ล. ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลพัทยายื่นคำร้องขอฝากขัง การที่ผู้ประกันยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาดังกล่าวโดยมีประกัน และศาลชั้นต้นอนุญาตจึงเป็นการถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้วว่า ศาลได้สั่งปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาที่ใช้ชื่อ ล. โดยมีประกันตรงตามเจตนาของผู้ประกัน หาใช่ผู้ประกันสำคัญผิดในตัวบุคคลไม่ สัญญาประกันที่ผู้ประกันทำต่อศาลชั้นต้นจึงมีผลสมบูรณ์ เมื่อผู้ประกันผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวผู้ต้องหาดังกล่าวตามกำหนดนัด จึงต้องรับผิดตามสัญญาประกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15000/2558 ป.วิ.อ. ม. 163, 190
การที่โจทก์ยื่นคำฟ้องฉบับใหม่แทนคำฟ้องฉบับเดิมก็เพื่อความสะดวกในการพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นเท่านั้น ศาลชั้นต้นต้องพิจารณาคำฟ้องฉบับเดิมและคำร้องขอแก้ฟ้องประกอบคำฟ้องฉบับใหม่ด้วย จะถือคำฟ้องฉบับใหม่ฉบับเดียวแทนคำฟ้องฉบับเดิมไม่ได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้ขอแก้ไขฟ้องส่วนที่เกี่ยวกับการขอนับโทษต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 277/2556 ทั้งในคำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็ระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 265/2556 การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 277/2556 จึงขัดแย้งกัน เชื่อว่าศาลชั้นต้นพิจารณาจากคำฟ้องฉบับใหม่ที่โจทก์พิมพ์ผิดพลาด ไม่ได้พิจารณาจากคำฟ้องฉบับเดิม ถือว่าเป็นการเขียนหรือพิมพ์ผิดพลาดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 190
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14979/2558 พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ม. 8 (3), ม. 13 พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ม. 4, ม. 90 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มาตรา 8 (3) บัญญัติห้ามมิให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจที่คนไทยยังไม่มีความพร้อมที่จะแข่งขันในการประกอบกิจการกับคนต่างด้าว ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีสาม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ซึ่งตามบัญชีสามข้อ (11) ได้กำหนดการทำกิจการนายหน้าหรือตัวแทนไว้ด้วย แต่ยกเว้นไว้ 4 กรณี ได้แก่ (ก) การเป็นนายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์หรือการบริการที่เกี่ยวกับการซื้อขายล่วงหน้าซึ่งสินค้าเกษตรหรือตราสารทางการเงินหรือหลักทรัพย์ (ข) ... (ค) ... (ง) . โดยไม่มีข้อกำหนดว่าการเป็นนายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้เกี่ยวข้องตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535บทบัญญัติมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 กำหนดว่า กรณีที่มีกฎหมายอื่นกำหนดเรื่องการถือหุ้น การเป็นหุ้นส่วนหรือการลงทุนของคนต่างด้าว การอนุญาตหรือการห้ามคนต่างด้าวในการประกอบธุรกิจบางประเภทหรือกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวไว้เป็นประการใด ให้ใช้บังคับตามกฎหมายและมิให้นำความใน พ.ร.บ. นี้ไปใช้บังคับในส่วนที่มีกฎหมายอื่นกำหนดไว้เป็นการเฉพาะแล้ว การประกอบธุรกิจเป็นนายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์และการเป็นที่ปรึกษาการลงทุนของจำเลยทั้งเจ็ดได้รับการยกเว้นไม่ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ตามมาตรา 8 (3) กรณีจึงไม่มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจะเป็นการประกอบธุรกิจบริการอื่น อันจะเป็นการต้องห้ามตามบัญชีสาม ข้อ 21 หรือไม่ การประกอบธุรกิจเป็นนายหน้าหรือตัวแทนในการซื้อขายหลักทรัพย์และเป็นที่ปรึกษาการลงทุนของจำเลยทั้งเจ็ด จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 8 (3)
ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ให้คำจำกัดความธุรกิจหลักทรัพย์ว่าหมายถึง ธุรกิจหลักทรัพย์ รวม 7 ประเภท ได้แก่ (1) การเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (2) การค้าหลักทรัพย์ (3) การเป็นที่ปรึกษาการลงทุน (4) การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และ (5) ... (6) ... (7) ... และให้ความหมายการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ว่า การเป็นนายหน้าหรือตัวแทนเพื่อซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ให้แก่บุคคลอื่นเป็นทางค้าปกติ โดยได้รับค่านายหน้า ค่าธรรมเนียม หรือค่าตอบแทนอื่น การค้าหลักทรัพย์หมายความว่า การซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ในนามของตนเองเป็นทางค้าปกติโดยกระทำนอกตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ การที่เป็นที่ปรึกษาการลงทุน หมายความว่า การให้คำแนะนำแก่ประชาชนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกี่ยวกับคุณค่าของหลักทรัพย์ หรือความเหมาะสมในการลงทุนที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์นั้น หรือที่เกี่ยวกับการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใด ๆ เป็นทางค้าปกติ ทั้งนี้โดยได้รับค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนอื่น แต่ไม่รวมถึงการให้คำแนะนำแก่ประชาชนในลักษณะที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด และการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ หมายความว่า การรับหลักทรัพย์ทั้งหมดหรือบางส่วนจากบริษัทหรือเจ้าของหลักทรัพย์ไปเสนอขายต่อประชาชน โดยได้รับค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนอื่น ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่ก็ตาม นอกจากนี้ยังได้ให้คำจำกัดความของหลักทรัพย์ว่าหมายถึง (1) ตั๋วเงินคลัง (2) พันธบัตร (3) ตั๋วเงิน (4) หุ้น (5) หุ้นกู้ (6) หน่วยลงทุนอันได้แก่ ตราสารหรือหลักฐานแสดงสิทธิในทรัพย์สินของกองทุนรวม (7) ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น (8) ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้ (9) ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงุทน และ (10) ตราสารอื่นใดที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด ซึ่งหลักทรัพย์ทั้งสิบประเภทมิได้กำหนดหรือจำกัดว่าเป็นหลักทรัพย์ในประเทศไทยเป็นการเฉพาะ แต่หมายถึงหลักทรัพย์ทั้งสิบประเภททั้งในประเทศและต่างประเทศ แม้จำเลยทั้งเจ็ดอ้างว่ามิได้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทยเนื่องจากนักลงทุนเป็นชาวต่างประเทศที่มิได้อยู่ในประเทศไทย หลักทรัพย์ที่ซื้อขายเป็นหลักทรัพย์ในต่างประเทศ ทั้งไม่มีการนำเงินที่มีการซื้อขายเข้ามาในประเทศไทยจึงไม่เป็นความผิด แต่เมื่อจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันทำการเป็นนายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ในนาม ด. ในประเทศไทย จึงเป็นการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 4 ซึ่งตามมาตรา 90 บัญญัติว่า การประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จะกระทำได้ต่อเมื่อได้จัดตั้งในรูปบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด เมื่อเป็นสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายอื่น ทั้งนี้ โดยได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกอบกับเมื่อมีการตรา พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ขึ้นบังคับใช้ โดยให้ยกเลิก พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2517 และ พ.ศ.2527 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาตลาดทุนทั้งตลาดแรกและตลอดรองให้กว้างขวางและเป็นสากลยิ่งขึ้น มีตราสารประเภทต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นและเพื่อควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ซึ่งกระจายความรับผิดชอบอยู่หลายหน่วยงานให้มีความเป็นเอกภาพ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและสามารถคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้กฎหมายและหน่วยงานที่ใช้ในการกำกับเดียวกันโดยไม่ได้จำกัดว่าเป็นหลักทรัพย์ในตลาดทุนไทยหรือต่างประเทศ ทั้งไม่คำนึงว่าผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทยเป็นคนสัญชาติใด ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จึงต้องปฏิบัติตามกฎหมาย โดยต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ตามมาตรา 90 เมื่อจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันประกอบธุรกิจหลักทรัพย์โดยมิได้จัดตั้งในรูปบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด หรือเป็นสถาบันการเงินที่จัดตั้งตามกฎหมายอื่น ทั้งนี้โดยได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 90 วรรคหนึ่ง และต้องรับโทษตามมาตรา 289
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14978/2558 พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ม. 6 (1), ม. 13
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 13 บัญญัติว่า "ถ้าเจ้าของโรงเรือนใดติดตั้งส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไก เครื่องกระทำหรือเครื่องกำเนิดสินค้าเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมบางอย่าง เช่น โรงสี โรงเลื่อย ฯลฯ ขึ้นในโรงเรือนนั้น ๆ ในการประเมินท่านให้ลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามของค่ารายปีของทรัพย์สินนั้น รวมทั้งส่วนควบดังกล่าวแล้วด้วย" เครื่องชั่งน้ำหนักมีระบบคานชั่งติดตั้งอยู่ใต้พื้นดินด้านข้างของอาคารเครื่องชั่งทั้งสองด้าน โดยใต้คานชั่งน้ำหนักจะมีอุปกรณ์เกี่ยวกับการชั่งน้ำหนักซึ่งเป็นระบบกลไกเชื่อมโยงไปยังอาคารควบคุมเครื่องชั่ง เมื่อมีรถบรรทุกผ่านเครื่องชั่งคอมพิวเตอร์จะทำงานและส่งข้อมูลน้ำหนักรถและวัตถุที่บรรทุกไปยังอาคารควบคุมเครื่องชั่ง เครื่องชั่งน้ำหนักของโจทก์จึงเป็นเครื่องจักรกลไกที่ไม่ได้ติดตั้งอยู่ภายในอาคารควบคุมเครื่องชั่ง แต่ถูกติดตั้งลงใต้พื้นดินด้านข้างอาคารดังกล่าว โดยมิได้ยึดติดอยู่กับตัวอาคาร เครื่องชั่งน้ำหนักของโจทก์จึงมิใช่ส่วนควบที่สำคัญที่มีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไก เครื่องกระทำ หรือเครื่องกำเนิดสินค้าเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมที่ติดตั้งขึ้นในโรงเรือนตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475
สภาพของเครื่องชั่งน้ำหนักมีระบบคานชั่งติดตั้งอยู่ใต้พื้นและติดตรึงถาวรกับพื้นดิน มีแผ่นเหล็กขนาดใหญ่ปิดให้รถบรรทุกวิ่งขึ้นชั่งน้ำหนักจึงมีสภาพเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นตามมาตรา 6 (1) แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 การประเมินและคำชี้ขาดของจำเลยที่ไม่ลดค่ารายปีในทรัพย์สินรายการนี้ลงเหลือหนึ่งในสามของค่ารายปีจึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14977/2558 พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ม. 5, ม. 6, ม. 8, ม. 13
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 5 บัญญัตินิยามของคำว่า "โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ" ให้กินความถึงแพด้วยเท่านั้น มิได้กำหนดความหมายไว้โดยเฉพาะ หม้อแปลงไฟฟ้าพิพาทติดตั้งยึดติดอยู่บนคานปูนที่วางพาดระหว่างเสาไฟฟ้า เสาไฟฟ้าทั้งสองต้นหล่อด้วยปูนมีฐานติดตรึงถาวรอยู่กับพื้นดินจึงมีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างหนึ่ง แม้หม้อแปลงไฟฟ้าติดตั้งอยู่บนคานปูน ไม่ได้ยึดติดกับพื้นดิน และสามารถเคลื่อนย้ายออกไปจากเสาไฟฟ้าได้ แต่โดยสภาพของหม้อแปลงไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ซึ่งต้องใช้ประจำอยู่กับเสาไฟฟ้าเพื่อประโยชน์ในการแปลงค่ากระแสไฟฟ้าจ่ายให้แก่โรงงาน ถือเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ ตามมาตรา 6 (1) การที่จำเลยกำหนดค่ารายปีในส่วนของหม้อแปลงไฟฟ้าโดยนำค่าเช่าที่โจทก์ได้รับมาเป็นเกณฑ์จึงเป็นไปตามมาตรา 8 วรรคสอง แล้ว
เครื่องชั่งน้ำหนักของโจทก์เป็นระบบคานชั่งและระบบ LOAD CELL ติดตรึงถาวรลงใต้พื้นดิน มีโครงสร้างรองรับเป็นสิ่งปลูกสร้างโดยสภาพ จึงเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ ตามมาตรา 6 (1) แต่เครื่องชั่งน้ำหนักเป็นเครื่องจักรกลไกที่ไม่ได้ติดตั้งอยู่ภายในอาคารเครื่องชั่งน้ำหนัก แต่ถูกติดตั้งลงใต้พื้นดินด้านข้างห้องเครื่องชั่ง และมิได้ยึดติดกับตัวห้องเครื่องชั่ง ดังนั้น จึงไม่เป็นส่วนควบที่สำคัญอันมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไก เพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมที่ติดตั้งในโรงเรือนตามมาตรา 13 คำชี้ขาดของจำเลยที่ไม่ลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสาม จึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14975/2558 พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ม. 78, ม. 79 กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ.2547 ข้อ 2
การพิจารณาว่าโจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานหรือไม่ต้องพิจารณาไปตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 78 มาตรา 79 และกฎกระทรวงที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 79 เป็นสำคัญ ซึ่งตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ.2547 ซึ่งออกตามความในมาตรา 79 ข้อ 2 กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 78 ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามข้อ 1 ตั้งแต่วันที่แปดนับแต่วันว่างงานจากการทำงานกับนายจ้างรายสุดท้าย เว้นแต่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนผู้ใดไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน นับแต่วันว่างงาน ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานนับตั้งแต่วันที่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนนั้นได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐ และข้อ 3 กำหนดเงื่อนไขให้สำนักงานประกันสังคมงดจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานแก่ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนไว้เพียง 3 กรณี ตาม (1) ถึง (3) เท่านั้น
กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ.2547 ข้อ 2 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน กรณีลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน นับแต่วันว่างงานไว้ว่า ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานนับตั้งแต่วันที่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนผู้นั้นได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐ ทั้งการไปขึ้นทะเบียนหางานเกินระยะเวลาที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนก็ไม่เป็นเหตุตัดสิทธิหรืองดจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามที่บัญญัติไว้ในกฎกระทรวงดังกล่าว การที่สำนักงานประกันสังคมออกประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2547 ในข้อ 3.2 (2) กำหนดให้ผู้ประกันตนที่ขึ้นทะเบียนหางานหลัง 90 วัน หรือหลัง 180 วัน นับแต่วันที่แปดของการว่างงานในกรณีลาออกหรือถูกเลิกจ้างแล้ว แต่กรณีไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน อันเป็นการตัดสิทธิประโยชน์ของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกันตนเกินไปกว่าที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 และกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ.2547 ประกาศดังกล่าวจึงไม่อาจนำมาใช้บังคับเพื่อตัดสิทธิโจทก์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14971/2558 ป.พ.พ. ม. 391 วรรคสาม ป.วิ.พ. ม. 161 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์รวม 12 งวด จนกระทั่งวันที่ 28 ธันวาคม 2544 จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถบรรทุกที่เช่าซื้อทั้งสองคันให้แก่โจทก์ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองใช้ประโยชน์ในรถบรรทุกที่เช่าซื้อโดยไม่ได้ให้ค่าตอบแทนแก่โจทก์นับแต่งวดที่ 13 จนถึงวันที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถบรรทุกที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ ย่อมทำให้โจทก์เสียหายเนื่องจากไม่ได้ใช้รถบรรทุกดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงต้องชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม มิใช่ต้องรับผิดเฉพาะกรณีที่ผิดนัดเท่านั้น
ป.วิ.พ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ บัญญัติให้ความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีและวรรคสองยังบัญญัติว่า ค่าฤชาธรรมเนียมนั้นให้รวมถึงค่าทนายความด้วย เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายแพ้คดี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาท จึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14968/2558 ป.วิ.พ. ม. 142 ป.พ.พ. ม. 1012, ม. 1025, ม. 1026
โจทก์เป็นผู้จัดล็อกพื้นที่ในตลาดเพื่อให้ผู้ค้าเช่าแผงขายสินค้าและจัดทำบัญชีเพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการค้านั้น ดังนี้ ย่อมเท่ากับว่าโจทก์ได้ร่วมลงทุนหรือลงหุ้นเป็นแรงงานแล้ว เข้าลักษณะเป็นสัญญาห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 และ 1025 ที่บัญญัติว่า สัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนคือ สัญญาซึ่งบุคคลสองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น ซึ่งสิ่งที่นำมาลงหุ้นนั้นจะเป็นเงิน หรือทรัพย์สินสิ่งอื่น หรือแรงงานก็ได้ ตามมาตรา 1026 วรรคสอง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นหุ้นส่วนกับจำเลยในการประกอบกิจการค้าตลาดนัด แต่จำเลยไม่แบ่งผลกำไรให้โจทก์ ทั้งมีพฤติการณ์กีดกันไม่ให้โจทก์เข้าเกี่ยวข้องในกิจการที่เข้าหุ้นกัน โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาหุ้นส่วนและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ได้ระบุขอให้ศาลพิพากษาให้เลิกหุ้นส่วนสามัญและให้มีการชำระบัญชี ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ห้างเลิกกัน โดยระบุวันที่เลิกอันเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่ได้ความว่าห้างดังกล่าวเลิกกันเมื่อใด จึงยังอยู่ในขอบเขตแห่งคำขอ เพียงแต่ระบุวันที่ห้างเลิกให้ชัดเจนเพื่อประโยชน์ในการชำระบัญชีเท่านั้น ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอแต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14961/2558 ป.อ. ม. 22
โจทก์บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1144/2555 ของศาลชั้นต้น กับขอให้นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาดังกล่าว ถือว่าฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1144/2555 ของศาลชั้นต้นแล้ว โดยไม่จำต้องระบุรายละเอียดว่าคดีดังกล่าวศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 หรือไม่ อย่างไร เพราะการขอให้นับโทษต่อหาได้มีกฎหมายบัญญัติว่าต้องกล่าวรายละเอียดมาในคำฟ้องหรือเป็นหน้าที่โจทก์ที่ต้องแถลงผลคดีให้ศาลทราบไม่ เมื่อจำเลยที่ 2 ยอมรับข้อเท็จจริงในข้อที่ว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1144/2555 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อตามคำให้การฉบับลงวันที่ 25 เมษายน 2557 โดยไม่ได้คัดค้านว่าไม่อาจนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1144/2555 ของศาลชั้นต้น จึงเป็นการไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14953/2558 ป.พ.พ. ม. 193/7 ป.วิ.พ. ม. 23 ป.วิ.อ. ม. 15, ม. 195 วรรคสอง, ม. 225
ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2556 ครบกำหนดที่คู่ความต้องยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 แต่เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2556 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 30 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนด การนับเวลาที่ขยายออกไปต้องเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2556 อันเป็นวันที่ต่อจากวันสุดท้ายของระยะเวลาเดิม แม้วันดังกล่าวจะเป็นวันหยุดราชการ ทั้งนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/7 จึงครบกำหนดที่จำเลยต้องยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 26 สิงหาคม 2556 การที่จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์อีกในวันที่ 27 สิงหาคม 2556 จึงเป็นการยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นขยายให้แล้ว และเมื่อตามคำร้องดังกล่าวไม่ปรากฏว่าเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แม้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์อีก 2 ครั้ง จนกระทั่งจำเลยยื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 25 ตุลาคม 2556 ก็ตาม ก็ถือได้ว่าอุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ที่ยื่นเกินกำหนดระยะเวลา คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้รับอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชอบ และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาพิพากษาอุทธรณ์ของจำเลยก็เป็นการไม่ชอบเช่นกัน เป็นเหตุให้จำเลยย่อมไม่มีสิทธิฎีกาต่อมา ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14948/2558 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ
การชำระหนี้ค่าสินค้าด้วยเช็ค เช็คนั้นอาจออกสั่งจ่ายโดยบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ซื้อสินค้าก็ได้เพียงแต่หนี้ค่าสินค้านั้นมีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายก็เข้าองค์ประกอบความผิดฐานออกเช็คตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ แล้ว
จำเลยสั่งจ่ายเช็คอันเป็นการออกเช็คทั้งสี่ฉบับ เพื่อชำระค่าสินค้านมผงเด็กให้แก่ผู้เสียหาย เมื่อวันที่ลงในเช็คซึ่งเป็นวันถึงกำหนดใช้เงินแต่ละฉบับ ไม่มีเงินอยู่ในบัญชีเงินฝากของจำเลยในธนาคารตามเช็คที่จะพอจ่ายเงินตามเช็คแก่ผู้เสียหายได้ จำเลยจึงมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค หรือออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันพึงจะให้ใช้เงินได้ในขณะออกเช็คนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14938/2558 ป.พ.พ. ม. 374
เมื่อความล่าช้าของงานก่อสร้างเกิดจากความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 สัญญาจ้างควบคุมงาน ข้อ 19 วรรคแรก ระบุกรณีที่ผู้รับจ้างของหมวดงานใดหมวดงานหนึ่งหรือหลายหมวดงานปฏิบัติงานล่วงเลยกำหนดเวลาตามสัญญาจ้างก่อสร้างเนื่องจากความผิดของผู้รับจ้างของหมวดงานนั้น ที่ปรึกษาจะได้รับค่าจ้างในอัตราตามที่ระบุไว้ในสัญญาของแต่ละหมวดงาน ตามจำนวนวันที่ได้ปฏิบัติล่วงเลยกำหนดเวลานั้นต่อเมื่อผู้ว่าจ้างได้เรียกร้องเอาจากผู้รับจ้างมาจ่ายให้ที่ปรึกษา จำเลยที่ 1 ได้หักเงินค่าจ้างที่ค้างจ่ายให้จำเลยที่ 2 ในกรณีที่โจทก์ทั้งสามได้ปฏิบัติงานเกินกำหนดเวลาตามสัญญาจ้างไว้แล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะคู่สัญญากับโจทก์ทั้งสาม จึงต้องรับผิดชำระค่าควบคุมงานในส่วนที่จำเลยที่ 2 ทำงานเกินกำหนดเวลา 28 วัน ตามที่ระบุในสัญญาแก่โจทก์ทั้งสาม แต่สำหรับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ได้หักเงินหรือได้เรียกร้องค่าจ้างจากจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เพื่อนำมาจ่ายให้โจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามจึงไม่อาจเรียกเงินส่วนนี้จากจำเลยที่ 1 ได้ และในระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ข้อตกลงตามสัญญาจ้างแต่ละฉบับของคู่สัญญากำหนดไว้ว่าหากผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา และผู้ว่าจ้างยังมิได้บอกเลิกสัญญา ผู้รับจ้างจะต้องชำระค่าปรับให้แก่ผู้ว่าจ้างตามจำนวนเงินที่กำหนดและจะต้องชำระค่าใช้จ่ายในการควบคุมงานในเมื่อผู้ว่าจ้างต้องจ้างผู้ควบคุมงานอีกต่อหนึ่ง อันมีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 เมื่อโจทก์ทั้งสามได้ทวงถามให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ชำระเงินดังกล่าวแล้ว ถือได้ว่าได้เข้ารับเอาประโยชน์จากสัญญาแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 จึงต้องผูกพันรับผิดตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง
โจทก์ทั้งสามเป็นเพียงตัวแทนจำเลยที่ 1 ในการควบคุมงานก่อสร้าง มีหน้าที่ควบคุมงานให้เป็นไปตามสัญญาก่อสร้าง และให้ถูกต้องตามหลักวิชาการทางด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 โดยตรง จึงไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในฐานะต้องรับผิดชอบหากจำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ทำงานไม่เสร็จตามกำหนดเวลา ทั้งตามข้อกำหนดในสัญญาระบุว่าการทำงานล่วงเวลาต้องได้รับอนุมัติจากผู้ควบคุมงานก่อนทุกครั้งและต้องมีตัวแทนผู้ควบคุมงานอยู่ด้วยตลอดเวลา ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นผู้รับจ้างจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ต้องแจ้งความจำนงไปยังโจทก์ว่าจะทำงานล่วงเวลา มิใช่โจทก์เป็นผู้สั่งและการทำงานล่วงเวลาถ้าเป็นผลทำให้งานตามสัญญาจ้างของผู้รับจ้างทำเสร็จเร็วขึ้น ถือเป็นประโยชน์ของผู้รับจ้างโดยตรง ซึ่งตามสัญญาจ้างได้กำหนดให้ผู้รับจ้างซึ่งจะได้ประโยชน์โดยตรงจากการทำงานล่วงเวลามีหน้าที่ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้ผู้ควบคุมงาน จำเลยที่ 1 จึงหาต้องร่วมรับผิดชำระค่าล่วงเวลาด้วยไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14931/2558 ป.พ.พ. ม. 575 พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550
โทษทางวินัยตามระเบียบของจำเลยมี 6 ประเภท คือ ตักเตือน พักงาน ตัดเงินเดือน ให้ออก ปลดออก และไล่ออก ดังนั้น การยกเลิก เรียกคืน หรือระงับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จึงมิอาจถือได้ว่าเป็นโทษทางวินัยของจำเลย และแม้การได้รับสิทธิในการใช้บัตรโดยสารของพนักงานจำเลยตามระเบียบของจำเลยจะถือเป็นสภาพการจ้าง แต่การได้รับสิทธินั้นย่อมต้องเป็นไปตามข้อตกลงที่กำหนดไว้ในระเบียบดังกล่าว เมื่อระเบียบของจำเลยกำหนดห้ามมิให้พนักงานใช้สิทธิเรื่องบัตรโดยสารเพื่อประโยชน์ทางการค้า และ/หรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น ผู้ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษทางวินัยและถูกระงับการขอบัตรโดยสาร และจำเลยสงวนสิทธิ์ที่จะระงับการใช้บัตรโดยสารของพนักงานเป็นการชั่วคราวหรือตลอดไปได้ตามที่เห็นสมควร เมื่อจำเลยเห็นว่าโจทก์มีส่วนร่วมรู้เห็นกับภริยาในการใช้บัตรโดยสารโดยไม่ชอบ จำเลยย่อมมีคำสั่งระงับใช้สิทธิบัตรโดยสารของโจทก์และภริยาได้ตามระเบียบ และเมื่อจำเลยไม่ได้ลงโทษทางวินัยแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่อาจอ้าง พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาเป็นประโยชน์แก่ตนได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14928/2558 พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 ม. 13, ม. 25 วรรคหนึ่ง กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่ายตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 พ.ศ.2548 ข้อ 4 (2)
กรณีที่นายจ้างต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่ายตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 พ.ศ.2548 ข้อ 4 (2) ที่ระบุว่าการประสบอันตรายไม่ว่าเป็นกรณีต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือต้องพักรักษาตัวอยู่ในหอผู้ป่วยหนัก หอผู้ป่วยวิกฤต หรือหอผู้ป่วยไฟไหม้น้ำร้อนลวกตั้งแต่ 20 วัน ขึ้นไปนั้น ต้องมีระยะเวลาตั้งแต่ 20 วัน ขึ้นไปประกอบด้วย
ร. ลูกจ้างโจทก์ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 17 วัน และพักรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียูซึ่งอาจแปลได้ว่าพักรักษาตัวอยู่ในหอพักผู้ป่วยหนัก 15 วัน แม้หลังจากนั้น ร. พักรักษาตัวอยู่ในห้องผู้ป่วยรวมจนถึงวันออกจากโรงพยาบาลรวมเป็นเวลาที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลที่สาธารณรัฐเกาหลี 27 วัน แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าห้องผู้ป่วยรวมที่สาธารณรัฐเกาหลีมีลักษณะเป็นหอผู้ป่วยหนักหรือหอผู้ป่วยวิกฤตหรือไม่ การประสบอันตรายของ ร. จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่โจทก์ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่ายตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 พ.ศ.2548 ข้อ 4 (2) โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลที่ได้ทดรองจ่ายไปคืนจากจำเลยเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 13 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง