ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร

มาตรา ๒๖๔ ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น ถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน

มาตรา ๒๖๕ ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท

มาตรา ๒๖๖ ผู้ใดปลอมเอกสารดังต่อไปนี้
(๑) เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ
(๒) พินัยกรรม
(๓) ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ หรือใบสำคัญของใบหุ้นหรือใบหุ้นกู้
(๔) ตั๋วเงิน หรือ
(๕) บัตรเงินฝาก

ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

มาตรา ๒๖๗ ผู้ใดแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๒๖๘ ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา ๒๖๔ มาตรา ๒๖๕ มาตรา ๒๖๖ หรือมาตรา ๒๖๗ ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น หรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความนั้นเองให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียว

มาตรา ๒๖๙ ผู้ใดในการประกอบการงานในวิชาแพทย์ กฎหมาย บัญชีหรือวิชาชีพอื่นใด ทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ใดโดยทุจริตใช้หรืออ้างคำรับรองอันเกิดจากการกระทำความผิดตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8482/2563
จำเลยที่ 1 กรรมการคนหนึ่งของบริษัท ช. ลงลายมือชื่อในรายการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมและ/หรือมติพิเศษ (แบบ บอจ.4) โดยระบุชื่อโจทก์เป็นกรรมการที่ออกจากตำแหน่ง เป็นการลงลายมือชื่อในนามของจำเลยที่ 1 เอง มิได้เป็นการปลอมลายมือชื่อผู้อื่นในเอกสารและไม่ใช่การเพิ่มเติมข้อความในเอกสารที่แท้จริง เอกสารดังกล่าวจึงมิใช่เอกสารปลอม แม้ไม่มีตราประทับของบริษัท ช. ก็ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำในนามของบุคคลอื่น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8475/2563
การที่ ศ. ยินยอมให้ ร. ลงลายมือชื่อของ ศ. ในใบเสร็จรับเงินโดยไม่ได้กรอกข้อความอื่นแล้วมอบให้จำเลย แม้ว่าจำเลยจะเป็นผู้กรอกข้อความในใบเสร็จรับเงินหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อข้อความที่กรอกนั้นตรงกับความเป็นจริง ทั้งข้อความนั้นเป็นประโยชน์แก่ ศ. ผู้มีอำนาจทำเอกสาร จึงไม่เกิดความเสียหายแก่เจ้าของเอกสารหรือผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ถือไม่ได้ว่าเป็นการปลอมเอกสาร และเมื่อใบเสร็จรับเงินไม่ใช่เอกสารปลอม จำเลยนำใบเสร็จรับเงินไปใช้แสดงต่อที่ประชุมสมาคมโจทก์ก็ไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารปลอม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5134/2563
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 251, 252, 264, 265, 268 และริบใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมปลอมของกลางจำเลยให้การรับสารภาพศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 251 (เดิม), 252 (เดิม), 265 (เดิม), 268 วรรคแรก (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานปลอมดวงตราของเจ้าพนักงานและฐานใช้ดวงตราปลอมของเจ้าพนักงานเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานใช้ดวงตราปลอมของเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี ฐานปลอมเอกสารราชการและฐานใช้เอกสารราชการปลอม จำเลยเป็นผู้ใช้เอกสารราชการที่จำเลยเป็นผู้ปลอมเอง จึงให้ลงโทษฐานใช้เอกสารราชการปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง (เดิม) จำคุกกระทงละ 4 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 8 ปี รวมจำคุก 14 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 7 ปี ริบใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมปลอมของกลางจำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 251 (เดิม), 252, 265 (เดิม), 268 วรรคสอง ฐานปลอมดวงตราของเจ้าพนักงาน ฐานใช้ดวงตราปลอมของเจ้าพนักงาน ฐานปลอมเอกสารราชการ และฐานใช้เอกสารราชการปลอมเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานปลอมดวงตราของเจ้าพนักงานซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 8 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยฎีกาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยยื่นคำฟ้องฎีกาพร้อมคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ไม่ได้รับอนุญาตตามคำร้องลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งในคำฟ้องฎีกาว่า คดีนี้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงไม่รับฎีกาจำเลยในปัญหาข้อเท็จจริง ส่วนฎีกาจำเลยในปัญหาข้อกฎหมาย ให้รับฎีกาจำเลย ซึ่งจำเลยอาจฎีกาเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 224 แต่ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยทราบ ซึ่งเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 251 (เดิม), 252 (เดิม), 265 (เดิม), 268 วรรคแรก (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ฐานปลอมดวงตราของเจ้าพนักงานและฐานใช้ดวงตราปลอมของเจ้าพนักงานเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานใช้ดวงตราปลอมของเจ้าพนักงาน จำคุก 6 ปี ฐานปลอมเอกสารราชการและฐานใช้เอกสารราชการปลอม จำเลยเป็นผู้ใช้เอกสารราชการที่จำเลยเป็นผู้ปลอมเอง จึงให้ลงโทษฐานใช้เอกสารราชการปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง (เดิม) จำคุกกระทงละ 4 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 8 ปี รวมจำคุก 14 ปี ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 7 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 251 (เดิม), 252, 265 (เดิม), 268 วรรคสอง ฐานปลอมดวงตราของเจ้าพนักงาน ฐานใช้ดวงตราปลอมของเจ้าพนักงาน ฐานปลอมเอกสารราชการ และฐานใช้เอกสารราชการปลอมเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานปลอมดวงตราของเจ้าพนักงานซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 4 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 8 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 ปี เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้จากการกระทำความผิดหลายกรรมเป็นความผิดกรรมเดียว แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แก้โทษด้วยก็เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และยังคงให้ลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาในข้อที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วางโทษจำคุกจำเลยสูงเกินไปและขอให้รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 2 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นไม่ได้แจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อนี้ให้จำเลยทราบ แต่เมื่อฎีกาในข้อนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามที่วินิจฉัยมาแล้ว จึงไม่เป็นการจำเป็นที่ศาลฎีกาจะสั่งให้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยทราบมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า การปลอมใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมแต่ละฉบับเป็นการกระทำกรรมเดียวกันหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 บัญญัติถึงการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน โดยมิได้บัญญัติว่าการกระทำความผิดหลายกรรมนั้นจะเกิดขึ้นในวาระเดียวกันไม่ได้ การกระทำในวันเดียวกันหรือต่อเนื่องในคราวเดียวกันก็อาจเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันได้ คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้องว่า จำเลยปลอมใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ทะเบียนเลขที่ 23 ใบอนุญาตเลขที่ 6/2558 และทะเบียนเลขที่ 24 ใบอนุญาตเลขที่ 7/2558 อันเป็นการปลอมใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมต่างฉบับกัน ซึ่งโดยสภาพของการกระทำดังกล่าวจำเลยต้องปลอมใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมดังกล่าวทีละฉบับ ในทันทีที่จำเลยปลอมใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมฉบับหนึ่งเสร็จ ก็เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการสำเร็จแล้วกระทงหนึ่ง ชี้ให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาให้เกิดผลเป็นเอกสารปลอมแต่ละฉบับแยกต่างหากจากกัน แม้จำเลยกระทำต่อเนื่องกันและนำใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมปลอม 2 ฉบับ ไปใช้ร่วมกันเพื่อเปลี่ยนชื่อให้แก่โรงแรมแห่งเดียว ก็ไม่ทำให้เจตนาของจำเลยที่มีมาตั้งแต่ต้นเปลี่ยนแปลงไปเป็นเจตนาเดียวได้ การกระทำของจำเลยที่ปลอมใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมอันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการจึงเป็นความผิด 2 กรรมต่างกัน คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้าง ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงโทษจำเลยในความผิดฐานปลอมดวงตราของเจ้าพนักงาน 2 กระทง ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า จำเลยเป็นผู้ปลอมดวงตราของเจ้าพนักงาน อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 251 (เดิม) และใช้ดวงตราของเจ้าพนักงานปลอมประทับลงในใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมปลอม อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 252 รวม 2 ครั้ง ซึ่งในการใช้ดวงตราปลอมของเจ้าพนักงานประทับลงในใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมปลอม ทะเบียนเลขที่ 23 ใบอนุญาตเลขที่ 6/2558 จำเลยทำดวงตราของเจ้าพนักงานปลอมและใช้ดวงตราของเจ้าพนักงานปลอมด้วย จำเลยจึงมีความผิดตามมาตรา 251 (เดิม) ประกอบมาตรา 263 กระทงหนึ่ง แต่การใช้ดวงตราของเจ้าพนักงานปลอมประทับลงในใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมปลอม ทะเบียนเลขที่ 24 ใบอนุญาตเลขที่ 7/2558 นั้น จำเลยมิได้ปลอมดวงตราของเจ้าพนักงานขึ้นอีก คงใช้ดวงตราของเจ้าพนักงานปลอมอันเดิม จำเลยจึงมีความผิดฐานใช้ตราของเจ้าพนักงานปลอมอย่างเดียวตามมาตรา 252 อีกกระทงหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงโทษจำเลยฐานปลอมดวงตราของเจ้าพนักงาน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด รวม 2 กระทง จึงไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 ชอบหรือไม่ เห็นว่า แม้ฟ้องโจทก์ข้อ 1.1 ถึง 1.3 ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยใช้เอกสารราชการปลอม แต่ฟ้องโจทก์ข้อ 1.4 และ 1.5 บรรยายว่า จำเลยใช้อ้างแสดงใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมปลอม ทะเบียนเลขที่ 23 ใบอนุญาตเลขที่ 6/2558 และใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมปลอม ทะเบียนเลขที่ 24 ใบอนุญาตเลขที่ 7/2558 ต่อนายสุวิทย์และนายภิรมย์ ต่างวันเวลากัน แสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม รวม 2 กรรม เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอมตามฟ้องโจทก์ ทั้งศาลชั้นต้นได้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า การที่จำเลยนำใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมปลอม 2 ฉบับ ไปใช้แสดงต่อนายสุวิทย์ เป็นการกระทำ 2 กระทง และไปใช้แสดงต่อนายภิรมย์ เป็นการกระทำ 2 กระทง รวมเป็นความผิด 4 กระทงนั้น ไม่ถูกต้อง เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.4 และ 1.5 ว่า จำเลยใช้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมอันเป็นเอกสารปลอม 2 ฉบับ ต่อนายสุวิทย์ และต่อนายภิรมย์ อันเป็นการบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานใช้เอกสารราชการปลอมคราวละ 2 ฉบับ ในการกระทำคราวเดียวกัน การกระทำความผิดของจำเลยต่อนายสุวิทย์กับต่อนายภิรมย์จึงเป็นการกระทำความผิดโดยมีเจตนาเดียวกัน อันถือเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียว มิใช่เป็นการกระทำ 2 กรรม ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จะไม่มีผลต่อการพิพากษาลงโทษจำเลย แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเพื่อให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 251 (เดิม), 252, 265 (เดิม), 268 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 265 (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 252 ประกอบมาตรา 263 ที่บัญญัติให้ลงโทษตามมาตรา 251 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด กระทงหนึ่ง และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 252, 265 (เดิม), 268 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 265 (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 252 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามอัตราโทษในมาตรา 251 (เดิม) อีกกระทงหนึ่ง โทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5038/2563
ผู้เสียหายที่ 1 ต้องใช้คู่ฉบับใบสัญญาจองรถยนต์ ฉบับสีชมพูที่มีลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 เป็นหลักฐานในการรับมอบเงินมัดจำจากจำเลย จึงถือได้ว่าเป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 ในการเรียกให้จำเลยมอบเงินมัดจำ จึงเป็นเอกสารสิทธิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3872/2563
จำเลยปลอมใบสมัครบัตรเครดิตและบัตรวงเงินสดหมุนเวียนของโจทก์ร่วม ใช้แสดงเป็นพยานหลักฐานในการขอออกบัตร โดยจำเลยใช้เอกสารของผู้เสียหายที่ 2 ที่จำเลยปลอมขึ้นไปแสดงต่อพนักงานของโจทก์ร่วมพร้อมกับแสดงตนว่าเป็นผู้เสียหายที่ 2 โจทก์ร่วมได้ออกบัตรเครดิตและบัตรวงเงินสดหมุนเวียนให้แก่จำเลย ถือได้ว่าจำเลยใช้โจทก์ร่วมเป็นเครื่องมือในการออกบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่แท้จริงของโจทก์ร่วมในนามของผู้เสียหายที่ 2 ให้แก่จำเลย เพื่อจำเลยจะนำไปใช้ชำระค่าสินค้าค่าบริการและเบิกถอนเงินสดในนามของผู้เสียหายที่ 2 แทนตัวจำเลยเอง ซึ่งมีผลทำให้ผู้เสียหายที่ 2 อาจต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ร่วมแทนจำเลย เมื่อจำเลยได้นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ทั้งสองใบดังกล่าวไปใช้ จึงเป็นความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบจำเลยใช้บัตรเครดิตและบัตรวงเงินสดหมุนเวียนของผู้อื่นไปเบิกถอนเงินสดเป็นความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์และความผิดฐานลักทรัพย์ ส่วนการใช้บัตรเครดิตดังกล่าวไปชำระค่าสินค้าและค่าบริการเท่ากับจำเลยแสดงตนเป็นผู้เสียหายที่ 2 หลอกลวงร้านค้าและโจทก์ร่วม เมื่อจำเลยได้ไปซึ่งตัวสินค้าและบริการจากผู้ถูกหลอกลวงจึงเป็นความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์และความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งพนักงานอัยการมีอำนาจเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3823/2563
สัญญาบันทึกข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายมี ส. และผู้เสียหายร่วมลงลายมือชื่อเพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันว่า ผู้เสียหายยินยอมชำระเงินให้แก่ ส. ซึ่งเป็นตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจช่วงของบริษัท ด. โดยเอกสารดังกล่าวมีหัวกระดาษและตราสัญลักษณ์ของบริษัท ด. ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า ทำให้บุคคลทั่วไปเห็นแล้วเชื่อว่าบริษัทดังกล่าวทำขึ้น แม้ความจริงบริษัทดังกล่าวไม่ได้ทำบันทึกข้อตกลงนั้นกับผู้เสียหาย แต่การที่พวกของจำเลยซึ่งไม่ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงกลับทำสัญญาบันทึกข้อตกลงดังกล่าวกับผู้เสียหาย เพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารสิทธิที่แท้จริงแล้วนำไปใช้อ้างต่อพันตำรวจตรี น. เพื่อแสดงให้เห็นว่าได้ยอมความโดยชอบ ทำให้คดีในส่วนอาญาระงับโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน แม้จะมิใช่เอกสารที่แท้จริงของบริษัทดังกล่าวก็ตาม ก็เป็นการทำปลอมเอกสารสิทธิขึ้นทั้งฉบับและใช้เอกสารสิทธิปลอมการที่จำเลยกับพวกร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานในการตรวจค้นผู้เสียหาย แล้วนำสัญญาบันทึกข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายกลับมาลงบันทึกประจำวันโดยแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในบันทึกรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานอันเป็นเอกสารราชการเพื่อใช้เป็นหลักฐานว่า ส. พวกของจำเลยเป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงและผู้เสียหายเป็นผู้ละเมิดสินค้าลิขสิทธิ์ แต่ตกลงค่าเสียหายได้โดยผู้เสียหายยินยอมชดใช้เป็นเงิน และทุกฝ่ายจะไม่เอาความกันภายหลังทั้งทางแพ่งและทางอาญา แม้จะกระทำต่างเวลากันแต่เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกันเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าพวกของจำเลยได้รับมอบอำนาจมาและมีอำนาจกระทำการแทนเจ้าของลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้าในการเรียกรับเงินค่าเสียหายและตกลงยอมความกับผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1352/2563
แม้การทำปลอมสำเนาใบส่งสินค้า/สำเนาใบกำกับภาษีและสำเนาใบวางบิล ผู้กระทำมีเจตนามุ่งให้เกิดผลเป็นหนี้ค่าสินค้าแยกต่างหากจากกันรวม 6 ครั้ง แต่การขายเอกสารปลอมทั้ง 6 ฉบับดังกล่าวโดยการโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่บริษัท ค. โดยอ้างว่าโจทก์ร่วมเป็นลูกหนี้จำเลยที่ 1 กระทำในวันและเวลาเดียวกันเพียงสองวัน เจตนาของการใช้เอกสารสิทธิปลอมในการทำนิติกรรมดังกล่าวจึงแยกออกจากกันได้เป็นสองกรรม หาใช่เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว แต่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ตาม ป.อ. มาตรา 91 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ แต่ไม่อาจเรียงกระทงลงโทษจำเลยทั้งสองได้ทุกกระทงความผิด เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสองโดยโจทก์และโจทก์ร่วมมิได้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195, 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1221/2563
ขณะจำเลยใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมซื้อขายที่ดิน โจทก์ยังไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว ความเสียหายโดยตรงที่เกิดขึ้นเมื่อมีการใช้เอกสารปลอมจึงมีเฉพาะเจ้าของที่ดินซึ่งอาจต้องสูญเสียที่ดินไป อ. ผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่อปลอม และ ป. ซึ่งควรได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินอย่างถูกต้องเท่านั้น หามีความเสียหายใดเกิดขึ้นแก่โจทก์ในขณะเวลาที่มีการใช้เอกสารปลอมไม่ โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ที่จะฟ้องจำเลยในความผิดฐานใช้เอกสารปลอมต่อศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 (2)ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 760/2563
พ. ปลอมหนังสือมอบอำนาจ แล้วนำไปใช้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความลดยอดหนี้และรับเงินจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ทั้งห้า และแม้ว่าโจทก์ทั้งห้าจะได้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความมอบให้แก่ พ. ไป แต่ พ. เป็นทนายความของโจทก์ทั้งห้าย่อมถือเป็นผู้มีวิชาชีพและมีจรรยาบรรณเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนว่าจะกระทำการใด ๆ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตตามหลักจริยธรรมทางวิชาชีพของตนเพื่อจรรโลงความยุติธรรมในสังคม ทั้งจะต้องรักษาผลประโยชน์แห่งลูกความของตนไม่ให้เป็นที่เสื่อมเสีย เช่นนี้ การที่ พ. นำหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ทั้งห้าลงลายมือชื่อไปปลอมเอกสาร ย่อมถือไม่ได้ว่าเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ทั้งห้า เมื่อ พ. นำหนังสือมอบอำนาจปลอมของโจทก์ทั้งห้าไปใช้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความลดยอดหนี้และรับเงินจากจำเลยที่ 2 โดยไม่ปรากฏว่า โจทก์ทั้งห้าร่วมรู้เห็นกับการกระทำของ พ. ดังกล่าว การทำสัญญาระหว่าง พ. กับจำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งห้า พ. จึงไม่มีฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์ทั้งห้า ไม่มีอำนาจรับเงินหรือเช็คจากจำเลยที่ 2 ไว้แทนโจทก์ทั้งห้า และมิใช่กรณีตัวแทนกระทำการโดยปราศจากอำนาจหรือทำนอกเหนือขอบอำนาจในอันที่ตัวการจะให้สัตยาบัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 ได้ ดังนี้ แม้โจทก์ที่ 3 และที่ 4 จะได้ฟ้อง พ. ให้คืนเงินที่รับไว้จากจำเลยที่ 2 แก่โจทก์ที่ 3 และที่ 4 หรือร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาต่อ พ. กับพวกก็ตาม ก็เป็นเพียงการเรียกร้องค่าเสียหายและการดำเนินคดีเนื่องจากโจทก์ที่ 3 และที่ 4 ถูก พ. กระทำละเมิด ฉ้อโกง และยักยอกไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ที่ 3 และที่ 4 ได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำของ พ. ภายหลังจากที่ พ. รับเงินและเช็คจากจำเลยที่ 2 แล้ว พ. นำเช็คไปเรียกเก็บเงินและรับเงินตามเช็คเป็นของตน มิได้นำเงินที่ได้รับมาไปมอบให้แก่โจทก์ทั้งห้า ทั้งยังนำเช็คส่วนที่เหลืออีก 29 ฉบับ รวมเป็นเงิน 3,050,000 บาท ไปขายลดคืนให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคาเพียง 900,000 บาท ต่ำกว่าจำนวนเงินตามเช็คจำนวนมาก ซึ่งไม่มีเหตุผลใดที่ พ. จะต้องนำเช็คมาขายลดคืนแก่จำเลยที่ 2 ในราคาดังกล่าวและไม่เป็นประโยชน์ต่อโจทก์ทั้งห้าที่เป็นลูกความ การที่จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 900,000 บาท แก่ พ. เพื่อแลกกับเช็คจำนวน 3,050,000 บาท ที่จำเลยที่ 2 ไม่ต้องชำระแก่โจทก์ทั้งห้า ย่อมส่อแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ 2 ที่สมคบกับ พ. เพื่อที่จะไม่ชำระเงินแก่โจทก์ทั้งห้าตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นไปโดยไม่สุจริต เช่นนี้ จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจอ้างว่าตนได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งห้าครบถ้วนแล้วขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งห้าได้ เมื่อโจทก์ทั้งห้ายังไม่ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ที่ 3 และที่ 4 จึงยังคงมีสิทธิขอให้ศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6538/2562
การที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อรับรองรายงานการประชุม และจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้บันทึกการประชุมในเอกสารฉบับเดียวกัน ย่อมเป็นการรับรองเป็นหลักฐานว่า การประชุมคณะกรรมการกำหนดโครงสร้างส่วนราชการและจัดทำแผนอัตรากำลัง 3 ปี (รอบปีงบประมาณ 2558 - 2560) เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2557 ได้กระทำต่อหน้าตนนั้น เมื่อคณะกรรมการดังกล่าวมิได้มีการประชุมกันจริง การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับรองเป็นหลักฐานว่า การอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ และรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ ตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และ (4) แต่โจทก์ทั้งห้ามิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และ (4) มาด้วย ต้องถือว่าโจทก์ทั้งห้าไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และ (4) จึงลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และ (4) ไม่ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่ และกรณีมิใช่เป็นเรื่องที่ข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์ทั้งห้าสืบสม แต่อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด เพราะโจทก์ทั้งห้ามิได้บรรยายองค์ประกอบความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และ (4) มาในฟ้องด้วย อีกทั้งองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และ (4) กับมาตรา 265 มีความแตกต่างกันมาก จึงมิใช่เป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในเรื่องที่มิใช่ข้อสาระสำคัญ และจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้หลงต่อสู้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3665 - 3666/2562
การปลอมหนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนและการใช้หนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนซึ่งเป็นเอกสารปลอมก็เพื่อให้เจ้าพนักงานบริหารงานป่าไม้ประจำด่านป่าไม้จังหวัดมุกดาหารออกใบเบิกทางนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไม้พะยูงจำนวนและปริมาตรตามที่ระบุไว้ในหนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดน ซึ่งเป็นเอกสารปลอมเคลื่อนที่จากโกดังด่านศุลกากรมุกดาหารไปยังท่าเรือลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ความผิดฐานปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอมและนำไม้เข้าเขตด่านป่าไม้ ไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านป่าไม้นั้น จึงเป็นความผิดกรรมเดียว เมื่อคดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และ จ. ในความผิดฐานร่วมกันนำไม้เข้าเขตด่านป่าไม้ ไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านป่าไม้นั้น ศาลจังหวัดพระโขนงมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้อง จำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารและร่วมกันใช้เอกสารปลอม ซึ่งเป็นกรรมเดียวกับความผิดที่ศาลจังหวัดพระโขนงมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้วดังกล่าว จึงเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1040/2562
การที่จำเลยปลอมคำร้องขอออกหนังสือเดินทาง เลขที่ Y 684619 เพื่อขอออกหนังสือเดินทางหลังจากนั้นได้นำคำร้องดังกล่าวไปใช้แสดงเป็นพยานหลักฐานในการขอออกหนังสือเดินทางของจำเลยต่อเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เพื่อให้ดำเนินการออกหนังสือเดินทางดังกล่าวให้แก่จำเลย โดยจำเลยใช้สำเนาสูติบัตรและสำเนาหนังสือเดินทางของ ร. ที่จำเลยทำปลอมขึ้นไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ เพื่อประกอบคำร้องขอออกหนังสือเดินทางพร้อมทั้งลงลายมือชื่อปลอมของ ร. ในคำร้องดังกล่าว เป็นการแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จเพื่อให้เจ้าหน้าที่สถานกงสกุลใหญ่หลงเชื่อ นำข้อมูลดังกล่าวตามคำร้องขอออกหนังสือเดินทาง ซึ่งเป็นเอกสารปลอมเข้าฐานข้อมูลการจัดทำหนังสือเดินทางของสถานกงสุลใหญ่ และสแกนลายมือชื่อปลอมที่จำเลยลงไว้ในคำร้องขอออกหนังสือเดินทางในช่องผู้ถือหนังสือเดินทาง เพื่อประมวลผลออกมาเป็นรูปเล่มหนังสือเดินทางเลขที่ Y 684619 ถือเป็นการปลอมเอกสารราชการโดยใช้เจ้าพนักงานเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นขั้นตอนสุดท้ายของผู้ขอออกหนังสือเดินทาง อันถือว่าเป็นการกระทำที่ใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จเข้าขั้นลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผลเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วพบว่าจำเลยเคยยื่นคำร้องขอออกหนังสือเดินทางในชื่อของจำเลย กรมการกงสุลจึงไม่ออกหนังสือเดินทางตามคำร้องขอออกหนังสือเดินทางปลอม เลขที่ Y 684619 ให้จำเลย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามปลอมเอกสารราชการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7386/2561
ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ซึ่งเมื่อข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาที่ถึงที่สุดแม้จะไม่ได้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมเนื่องจากฟังได้ว่าลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของโจทก์ แต่ทางพิจารณากลับได้ความว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันนำหนังสือมอบอำนาจที่มีลายมือชื่อโจทก์และข้อความซึ่งไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ไปใช้อ้างแสดงซึ่งอาจเป็นการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารโดยการปลอมข้อความตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคสอง ได้ แต่เหตุที่ไม่ได้ลงโทษในความผิดฐานนี้เพราะข้อเท็จจริงที่ได้ในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงในคำฟ้อง ศาลจึงไม่อาจลงโทษในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง มิใช่ว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้เสียทีเดียวว่าไม่มีการปลอมเอกสาร ทั้งยังได้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ โดยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยที่ 1 ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อว่าโฉนดได้สูญหายไปจริง จึงออกใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับ และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ใช้ใบแทนโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นหลักฐานในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 2 แปลงจากของโจทก์เป็นของจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ได้โอนขายที่ดินทั้ง 2 แปลงให้แก่บุคคลอื่นไปอีกทอดหนึ่ง ดังนี้ การออกใบแทนโฉนดที่ดินของเจ้าพนักงานที่ดินจึงเป็นไปโดยผิดหลงเนื่องจากหลงเชื่อการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยที่ 1 และเมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีรับฟังได้ว่า โฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลง ดังกล่าว อยู่ในความยึดถือครอบครองของโจทก์มาโดยตลอดและไม่ได้สูญหายไป ใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับที่จำเลยที่ 1 นำไปใช้จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์จึงเป็นใบแทนโฉนดที่ดินที่ออกมาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และมีเหตุให้ต้องเพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 833/2561
ความผิดฐานใช้หรืออ้างเอกสารปลอม เป็นความผิดสำเร็จเมื่อยื่นเอกสารต่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ รับเรื่อง ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นเอกสารราชการปลอมตามฟ้องต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ตรวจเอกสารเพื่อยื่นซองประกวดราคาจึงเป็นความผิดสำเร็จแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6505/2560
ใบเสร็จรับเงินของโจทก์ร่วมพิมพ์เป็นเล่มมีขนาดประมาณครึ่งหนึ่งของกระดาษขนาด เอ 4 แต่บางกว่า บนหัวกระดาษมีรูปเต่าพร้อมชื่อที่อยู่ของบริษัทพิมพ์ด้วยหมึกสีน้ำเงินเข้ม มุมขวาบนระบุเลขที่ของใบเสร็จรับเงิน ซึ่ง 1 ฉบับมี 1 เลขที่ใบเสร็จ ประกอบด้วยกระดาษ 4 แผ่น ใบแรกเป็นสีขาว มีคำที่มุมขวาบนว่า ต้นฉบับ ซึ่งส่งมอบให้ลูกค้าที่ชำระเงิน ใบที่ 2 เป็นสีฟ้า มีคำที่มุมขวาบนว่า สำเนาส่วนนี้ส่งให้สำนักงานบัญชีตอนปลายเดือนเพื่อนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ใบที่ 3 เป็นสีเหลืองที่มุมขวาบนมีคำว่า สำเนา ส่วนนี้เก็บไว้ในแฟ้มของลูกค้าแต่ละราย ใบสุดท้ายเป็นสีชมพูมีคำที่มุมขวาบนว่า สำเนา ส่วนนี้ติดเล่มใบเสร็จรับเงินไว้กับต้นขั้ว เมื่อใช้ใบเสร็จรับเงินหมดทั้งเล่มแล้วฝ่ายบัญชีจะคืนเล่มใบเสร็จรับเงินให้จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 นำไปคืนกรรมการบริษัทโจทก์ร่วม ใบเสร็จรับเงินที่ยังใช้ไม่หมดเล่มจะอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ 2 ในการนำเอกสารไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถให้ผู้เช่าซื้อที่สำนักงานขนส่งจะใช้ใบเสร็จรับเงินสีขาวเป็นต้นฉบับที่กรอกข้อความครบถ้วนแล้ว โดยนำไปถ่ายเอกสารมาให้กรรมการลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องพร้อมประทับตราสำคัญของบริษัทนำไปประกอบเอกสารชุดโอน แต่ปรากฏว่าใบเสร็จรับเงินที่ออกให้แก่ผู้เช่าซื้อราย ร. พ. จ. ส. ส. ก. ส. ม. ส. และ อ. ตามลำดับ รวม 10 รายนี้ โจทก์ร่วมได้ออกให้แก่ ศ. ส. ธ. พ. ส. และ อ. ไปแล้วตามใบเสร็จรับเงินสีชมพูซึ่งติดต้นขั้วในเล่มใบเสร็จรับเงินที่ ก. กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมเก็บไว้ และตามสำเนาใบเสร็จรับเงินสีฟ้าที่ส่งให้สำนักงานบัญชีซึ่งเป็นใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงของโจทก์ร่วม โดยใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงฉบับที่ออกให้ ส. เลขที่ 4351 ถูกนำไปใช้ออกใบเสร็จรับเงินแก่ พ. ส. และ ส. ฉบับที่ออกให้ ธ. เลขที่ 4451 ถูกนำไปใช้ออกใบเสร็จรับเงินแก่ จ. และ ม. กับฉบับที่ออกให้ พ. เลขที่ 4501 ถูกนำไปใช้ออกใบเสร็จรับเงินแก่ ก. และ ส. จึงเชื่อว่าใบเสร็จรับเงินที่ออกผู้เช่าซื้อทั้ง 10 ราย ซึ่งพบและถ่ายสำเนามาจากเอกสารชุดโอนรถที่คัดสำเนามาจากสำนักงานขนส่งเป็นเอกสารปลอมมาจากใบเสร็จรับเงินฉบับที่แท้จริงสีชมพูที่ติดอยู่ต้นขั้วในเล่มที่กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมเก็บไว้โดยวิธีการถ่ายสำเนามาจากต้นฉบับใบเสร็จรับเงินสีขาวที่แท้จริงขณะยังไม่กรอกข้อความแล้วนำมากรอกข้อความแสดงการรับเงินจากลูกค้า โดยฉบับที่ออกให้ จ. ส. และ ก. ระบุจำนวนเงินน้อยกว่าที่คนเหล่านี้จ่ายให้ จากนั้นนำไปถ่ายสำเนาอีกครั้งเพื่อนำไปใช้ประกอบเอกสารชุดโอนรถที่สำนักงานขนส่ง เมื่อพิจารณาจากหน้าที่ความรับผิดชอบของพนักงานของโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการทั่วไปของบริษัทมีหน้าที่เร่งรัดติดตามหนี้เงินค่าเช่าซื้อ จัดทำเอกสารชุดโอนปิดบัญชี และนำเอกสารชุดโอนปิดบัญชีไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถให้แก่ผู้เช่าซื้อที่สำนักงานขนส่ง และตามคำเบิกความของผู้เช่าซื้อในจำนวน 10 รายนั้น บางคนไปที่บริษัทโจทก์ร่วม ที่เต็นท์ขายรถ ที่ศาลแขวงชลบุรี ที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ฉะเชิงเทรา พบจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเช่าซื้อเพื่อปิดบัญชีแก่จำเลยที่ 1 หรือพบจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 บอกให้ชำระเงินแก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 บอกว่าจะโอนกรรมสิทธิ์รถให้หรือจะได้รับสมุดคู่มือจดทะเบียนภายในกำหนดระยะเวลาที่แจ้ง จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการปลอมใบเสร็จรับเงินและใช้ใบเสร็จรับเงินปลอมเหล่านี้ประกอบเอกสารชุดโอนรถ อันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม จึงต้องลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้ใช้เอกสารปลอมแต่กระทงเดียว ตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคสอง ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นพนักงานฝ่ายบัญชีของโจทก์ร่วม มีหน้าที่รับเงินจากลูกค้าผู้เช่าซื้อออกใบเสร็จรับเงินรวมทั้งดูแลเล่มใบเสร็จรับเงินของโจทก์ร่วม ในใบเสร็จรับเงินเอกสารปลอมเหล่านี้ล้วนมีลายมือชื่อจำเลยที่ 2 ในช่องเจ้าหน้าที่ผู้รับมอบอำนาจและช่องฝ่ายบัญชี ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็เบิกความยอมรับว่าลายมือชื่อดังกล่าวเป็นลายมือชื่อของตนจริง โดยจำเลยที่ 1 เป็นคนส่งใบเสร็จรับเงินเหล่านี้มาให้ตนเขียนกรอกข้อความบอกว่าจะเอาไปแนบประกอบเอกสารชุดโอนปิดบัญชีเพื่อดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถให้ลูกค้า จำเลยที่ 2 รู้ว่าใบเสร็จรับเงินในเล่มที่ตนเก็บรักษาดูแลไว้เป็นของที่แท้จริงของโจทก์ร่วมมีเลขที่ใบเสร็จรับเงินในแต่ละเลขที่ 1 เลขที่ซึ่งมีจำนวน 4 แผ่น แผ่นแรกเป็นต้นฉบับอีก 3 แผ่นเป็นสำเนา การออกใบเสร็จรับเงินต้องออกเรียงตามลำดับเลขที่พร้อมใบเสร็จรับเงิน การที่จำเลยที่ 2 ยอมกรอกข้อความลงในแบบใบเสร็จรับเงินที่ถ่ายสำเนามาทั้งที่รู้อยู่ว่าใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงของโจทก์ร่วมเป็นอย่างไร ใบเสร็จรับเงินที่ตนจะออกต้องเป็นใบเสร็จรับเงินที่ตนดูแลเก็บรักษาและใช้งานอยู่เท่านั้น ไม่ใช่ออกใบเสร็จรับเงินเหล่านั้นซึ่งเป็นเอกสารถ่ายสำเนาไม่ใช่ของบริษัททั้งที่จำเลยที่ 2 ก็รู้อยู่ว่าใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงเลขที่เดียวกันนั้นตนได้ออกให้ลูกค้าคนอื่นไปแล้วจำเลยที่ 2 จึงมีเจตนาร่วมปลอมใบเสร็จรับเงินเหล่านั้นด้วย อันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร แต่จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการนำเอกสารชุดโอนไปจดทะเบียนแม้จะยอมรับว่าจำเลยที่ 1 บอกว่าจะใช้ในการโอนรถ แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดจากการนำสืบพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมว่าจำเลยที่ 2 มีการกระทำอื่นใดนอกเหนือจากนั้นในการใช้ใบเสร็จรับเงินปลอม จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมใช้เอกสารปลอมด้วย

แม้จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานฝ่ายบัญชี มีหน้าที่รับเงินค่าเช่าซื้อจากลูกค้าผู้เช่าซื้อรถของโจทก์ร่วม และลงลายมือชื่อรับเงินในช่องฝ่ายบัญชีของใบเสร็จรับเงินซึ่งเป็นเอกสารปลอมในการปิดบัญชีเพื่อใช้ประกอบเอกสารชุดโอนรถที่จำเลยที่ 1 ใช้ทั้ง 10 รายดังกล่าว และแม้โจทก์และโจทก์ร่วมมี ส. จ. ส. ส. และ อ. เบิกความว่า นำเงินค่าเช่าซื้อไปชำระเพื่อปิดบัญชีที่บริษัทโจทก์ร่วมพบพนักงานหญิงคนหนึ่งของบริษัทซึ่งเป็นฝ่ายบัญชีหรือเจ้าหน้าที่การเงินจึงส่งมอบเงินนั้นให้ไปแล้วพนักงานหญิงนั้นออกใบเสร็จรับเงินให้พยาน แต่ในทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วม ข้อเท็จจริงได้ความจากกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 2 ต้องนำเงินนั้นมาส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ในตอนเย็นทุกวันเพื่อให้จำเลยที่ 1 นำไปส่งให้กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมทุกวัน ซึ่งทางปฏิบัติการทำงานเป็นเช่นนี้โจทก์และโจทก์ร่วมจะต้องนำสืบพยานหลักฐานให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่กระทำการตามหน้าที่ดังกล่าวโดยมิได้ส่งมอบเงินแก่จำเลยที่ 1 หรือส่งมอบเงินให้จำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1 เบียดบังเอาเป็นของตนโดยมิได้นำส่งกรรมการตามหน้าที่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้เพียงตามที่วินิจฉัยแล้วว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ปลอมใบเสร็จรับเงินค่าเช่าซื้อที่ลูกค้าทั้ง 10 ราย นำมาปิดบัญชี แต่จะรับฟังโดยสันนิษฐานข้อเท็จจริงให้เป็นโทษแก่จำเลยที่ 2 ถึงขนาดว่าเป็นการแบ่งงานกันทำกับจำเลยที่ 1 หาได้ไม่ และไม่เป็นพยานแวดล้อมกรณีอย่างหนึ่งที่จะนำมารับฟังประกอบกันเพื่อลงโทษจำเลยที่ 2 เพราะการรับเงินจากลูกค้าผู้เช่าซื้อเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6355/2560
ในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิจารณาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 เมื่อในคดีอาญาศาลพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้อง จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ร่วมและต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วม แม้โจทก์ร่วมไม่ได้อุทธรณ์เรื่องค่าสินไหมทดแทน ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจหยิบยกคดีส่วนแพ่งขึ้นวินิจฉัยเพื่อให้เป็นไปตามผลคดีอาญาได้ เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมหนังสือมอบอำนาจและใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อให้ดำเนินการจดทะเบียนขายฝากที่ดินของโจทก์ร่วมให้ ก. จนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองแล้ว โจทก์ร่วมมีสิทธิขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ซึ่งได้แก่การคืนทรัพย์สินอันโจทก์ร่วมต้องเสียไปจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองอันเป็นการกระทำละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์ รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3540/2560
การที่จำเลยปลอมคำร้องขอหนังสือเดินทางไปต่างประเทศ (ทั่วไป) เพื่อขอออกหนังสือเดินทางหมายเลข H 759XXX แล้วนำคำร้องดังกล่าวไปใช้แสดงเป็นพยานหลักฐานในการขอหนังสือเดินทางไปต่างประเทศ (ทั่วไป) ต่อเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เพื่อดำเนินการออกหนังสือเดินทางหมายเลขดังกล่าวให้แก่จำเลย โดยใช้หนังสือเดินทางปลอมหมายเลข J 336XXX แสดงประกอบคำร้องขอด้วย ต่อจากนั้นจำเลยปลอมหนังสือเดินทางหมายเลข H 759XXX อันเป็นเอกสารราชการโดยแจ้งข้อมูลเท็จเพื่อให้เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตไทยหลงเชื่อนำข้อมูลตามคำร้องขอหนังสือเดินทางไปต่างประเทศ (ทั่วไป) ซึ่งเป็นเอกสารปลอมเข้าฐานข้อมูลการจัดทำหนังสือเดินทางของกรมการกงสุล แล้วประมวลผลเป็นรูปเล่มหนังสือเดินทางหมายเลข H 759XXX ต่อมาจำเลยมีหนังสือเดินทางปลอมหมายเลข H 759XXX ดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อใช้ซึ่งหนังสือเดินทางปลอมดังกล่าวเป็นหลักฐานแสดงต่อเจ้าพนักงานหรือบุคคลอื่นว่าจำเลยเป็นผู้มีหรือผู้ถือหนังสือเดินทางฉบับดังกล่าวฉบับที่ถูกต้องแท้จริง เป็นการกระทำต่อเนื่องเชื่อมโยงกันโดยมีเจตนาให้สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ออกหนังสือเดินทางให้แก่จำเลยเป็นหลัก แม้เอกสารที่จำเลยปลอมและใช้จะเป็นเอกสารคนละประเภทกัน การกระทำของจำเลยก็เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 785/2560
เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษาคดีในส่วนอาญาว่า จำเลยกระทำความผิดโดยปลอมแปลงเอกสารสัญญากู้เงินและใช้เอกสารปลอมดังกล่าว แล้วโจทก์ทั้งสองมาฟ้องคดีนี้ว่าจำเลยปลอมและใช้เอกสารสัญญากู้เงินปลอม อันเป็นสัญญากู้เงินฉบับเดียวกัน ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายตามผลการกระทำความผิดอาญาดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การรับฟังข้อเท็จจริงในคดีนี้ย่อมต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ว่า จำเลยได้ปลอมเอกสารสัญญากู้เงินและนำเอกสารปลอมดังกล่าวไปฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1000/2545 ของศาลชั้นต้น แม้คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1000/2545 ของศาลชั้นต้น จะพิพากษาว่าจำเลยมิได้ปลอมและใช้เอกสารสัญญากู้เงินปลอม และคดีถึงที่สุดแล้ว ซึ่งแตกต่างกับคำวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีนี้ ก็ถือว่าเป็นกรณีที่มีคำพิพากษาอันเป็นที่สุดของสองศาลซึ่งต่างชั้นกัน ต่างกล่าวถึงการปฏิบัติชำระหนี้อันแบ่งแยกจากกันไม่ได้ จำต้องถือตามผลคำพิพากษาคดีนี้ ซึ่งเป็นคำพิพากษาของศาลที่สูงกว่าตาม ป.วิ.พ. มาตรา 146 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยปลอมเอกสารสัญญากู้เงินและใช้เอกสารปลอมดังกล่าวฟ้องโจทก์ทั้งสองตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1000/2545 ของศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10854/2559
คดีแรกจำเลยฟ้องโจทก์ให้รับผิดตามสัญญากู้เงิน จึงมีประเด็นเพียงว่าโจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยตามสัญญากู้เงินหรือไม่ ส่วนคดีหลังโจทก์ฟ้องจำเลยว่าจงใจฟ้องหรือนำสืบในคดีแรกด้วยสัญญากู้เงินปลอมทำให้โจทก์เสียหาย คดีหลังจึงมีประเด็นว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ฟ้องโจทก์คดีหลังจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

จำเลยปลอมสัญญากู้เงินใช้เป็นหลักฐานฟ้องโจทก์ และนำสืบสัญญากู้เงินปลอมนั้นจนศาลรับฟังและพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลย เป็นการทำให้โจทก์เสียหายและเป็นละเมิด ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์

การที่จำเลยต้องชำระเงินที่ได้รับจากเจ้าพนักงานบังคับคดีคืนแก่โจทก์เป็นการใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10517/2559
จำเลยไม่ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านขว้าง หรือเป็นกรรมการวัด หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในวัดบ้านขว้างที่จะมีอำนาจจัดทอดผ้าป่าโดยลำพัง การที่จำเลยจัดพิมพ์ซองผ้าป่าซึ่งข้อความบนซองผ้าป่าของกลางเป็นการเชิญชวนให้ร่วมทำบุญทอดผ้าป่าสามัคคี ณ วัดบ้านขว้าง ทั้งที่จำเลยไม่มีอำนาจโดยลำพังที่จะจัดทอดผ้าป่าในนามวัดบ้านขว้างโดยพลการเพราะไม่ได้แจ้งหรือขออนุญาตเจ้าอาวาสวัดและไม่ได้ผ่านการประชุมระหว่างไวยาวัจกร กรรมการวัด เจ้าอาวาสวัด ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนรวมทั้งชาวบ้าน ทั้งซองผ้าป่าของกลางที่จัดพิมพ์แจกจ่ายให้ผู้อื่นไม่มีรอยตราของวัดประทับด้านหลังซอง การจัดพิมพ์ซองผ้าป่าดังกล่าวจึงเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ โดยจำเลยไม่มีอำนาจ ลักษณะข้อความตามซองผ้าป่าของกลางระบุชัดเจนว่าเป็นการทอดผ้าป่า ณ วัดบ้านขว้าง ทำให้ประชาชนทั่วไปเชื่อว่าเป็นซองผ้าป่าที่แท้จริงที่จัดทำขึ้นโดยวัดบ้านขว้าง ทั้งที่ความจริงแล้วทางวัดบ้านขว้างมิได้รับรู้ด้วย หากมีการนำซองผ้าป่าดังกล่าวไปใช้โดยไม่สุจริตนำออกเรี่ยไรเงินจากชาวบ้านแล้วไม่นำเงินมาทำบุญที่วัดบ้านขว้างตามที่ระบุในซองผ้าป่า ย่อมเกิดความเสื่อมเสีย หรือเสียชื่อเสียง หรือขาดความเลื่อมใสศรัทธาที่มีต่อวัดบ้านขว้างและพระครู ป. เจ้าอาวาสวัดบ้านขว้าง แม้ผลของการกระทำจะยังไม่ปรากฏความเสียหายแต่พิจารณาพฤติการณ์ประกอบการกระทำของจำเลยที่พิจารณาได้จากความคิดธรรมดาของบุคคลทั่วไปในลักษณะเดียวกับจำเลยก็น่าจะเกิดความเสียหายได้ ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3637/2559
การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียหายที่ 1 และนำไปใช้แสดงต่อ ภ. พนักงานธนาคารออมสิน ผู้เสียหายที่ 2 จากนั้นจำเลยทำเอกสารคำขอเปิดบัญชี แบบคำขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์ แบบแสดงข้อมูลลูกค้าและเอกสารเงื่อนไขการใช้บริการบัญชีเงินฝากและบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้เสียหายที่ 2 โดยกรอกข้อมูลในแบบคำขอเปิดบัญชี แบบคำขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์ว่า จำเลยชื่อ ส. เป็นผู้ขอเปิดบัญชีและแสดงข้อมูลลูกค้าของผู้เสียหายที่ 1 กับปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 1 ในช่องลงชื่อผู้ขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์และในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน แล้วนำแบบคำขอเปิดบัญชี แบบคำขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์ แบบแสดงข้อมูลลูกค้าและเอกสารเงื่อนไขการใช้บริการบัญชีเงินฝากและบัตรอิเล็กทรอนิกส์ และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียหายที่ 1 ดังกล่าวไปยื่นแสดงต่อ ภ. เพื่อขอเปิดบัญชีและใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์กับผู้เสียหายที่ 2 นั้น เป็นการกระทำต่อเนื่องเชื่อมโยงกันโดยมีเจตนาเพื่อให้ผู้เสียหายที่ 2 เปิดบัญชีเงินฝากและทำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่จำเลยเป็นหลัก แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องการกระทำความผิดของจำเลยแยกออกเป็นข้อ ๆ และการกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ในแต่ละข้อเป็นความผิดสำเร็จในตัวก็ตาม การกระทำของจำเลยก็เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 961/2559 
แม้ข้อความที่จำเลยแจ้งจะเป็นความเท็จเพราะความจริงโฉนดที่ดินอยู่ที่ ภ. และจำเลยนำรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานที่เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จไปใช้อ้างเพื่อขอให้ออกใบแทนโฉนดที่ดินก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเลยกระทำต่อพันตำรวจโท บ.เจ้าพนักงาน ธ. และ พ. เจ้าพนักงานที่ดิน มิได้กล่าวพาดพิงไปถึง ภ. หรือนำรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานที่เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จไปใช้อ้างต่อ ภ. อันจะถือว่า ภ. ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำของจำเลย อีกทั้งจำเลยมอบให้มารดานำโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับไปเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินกับ ภ. เท่านั้น ซึ่ง ภ. ไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอากับโฉนดที่ดินดังกล่าวได้ตามกฎหมาย ภ. จึงมิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ และใช้หรืออ้างเอกสารราชการซึ่งแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) และไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ ภ. เข้าร่วมเป็นโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ เมื่อ ภ. มิใช่คู่ความในคดีจึงไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของ ภ. จึงเป็นการไม่ชอบเช่นกัน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 278 - 284/2559 
ป.อ. ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุมิได้บัญญัติบทนิยามของ "เจ้าพนักงาน" ไว้ เมื่อพิจารณาจากสภาพการณ์ปัจจุบัน หน่วยงานของรัฐมิได้มีแต่ส่วนราชการ แต่ประกอบไปด้วย รัฐวิสาหกิจ องค์การของรัฐ รวมทั้งองค์กรอิสระ สำหรับองค์การคลังสินค้าผู้เสียหายเป็นองค์การของรัฐบาลที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ.2496 และโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวได้มีการจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ.2498 ซึ่งทั้ง พ.ร.บ. และ พ.ร.ฎ. ล้วนระบุว่าการจัดตั้งใช้เงินทุนจากงบประมาณแผ่นดินและทุนประเดิมจากรัฐบาล เมื่อรัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีมีมติให้นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติจัดให้มีโครงการรับจำนำข้าวเปลือก และมอบหมายให้ผู้เสียหายเป็นผู้รับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่ตามโครงการดังกล่าว 

ดังนั้น ว. หัวหน้าหน่วยรับจำนำข้าวเปลือกนอกจากจะมีฐานะเป็นพนักงานองค์การคลังสินค้าผู้เสียหายแล้ว ยังต้องปฏิบัติหน้าที่ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลตามที่ผู้เสียหายได้รับมอบหมายจากรัฐบาลโดยมีหน้าที่ออกใบรับของคลังสินค้าและใบประทวนสินค้าให้เกษตรกรเพื่อนำไปทำสัญญาจำนำและรับเงินจากธนาคาร พ. เมื่อธนาคารดังกล่าวจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรแล้วก็จะนำเอกสารที่เกษตรกรมอบให้ไปเบิกเงินจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลซึ่งบางส่วนเป็นเงินงบประมาณแผ่นดิน การกระทำของ ว. จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของรัฐในโครงการดังกล่าว แม้ ว. ไม่ใช่เป็นข้าราชการที่รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดิน แต่เป็นพนักงานที่รับเงินเดือนหรือค่าจ้างจากผู้เสียหายที่เป็นองค์การของรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นโดยใช้เงินทุนจากงบประมาณแผ่นดิน อีกทั้งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในกิจการงานของรัฐบาลโดยแท้ อันมีลักษณะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ย่อมถือได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของ ว. ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล เป็นการกระทำในฐานะเจ้าพนักงาน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12137/2558 
ความผิดฐานปลอมเอกสารต้องเป็นการกระทำต่อเอกสารอันเป็นผลให้เอกสารนั้นผิดแผกแตกต่างไป ด้วยเจตนาให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเอกสารนั้นเป็นเอกสารที่แท้จริง แม้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจะเป็นเอกสารราชการ แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่ามีเพียงการปลอมลายมือชื่อของโจทก์ร่วมลงในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่แท้จริงของโจทก์ร่วม โดยไม่มีการเติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนให้แตกต่างไปจากสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนนี้แต่อย่างใด สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าวยังคงเป็นเอกสารที่แท้จริง การปลอมลายมือชื่อโจทก์ร่วมลงในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจึงเป็นเพียงการปลอมเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก เท่านั้น เมื่อจำเลยใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ร่วมดังกล่าว จึงไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม คงมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9557/2558 
ใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.ท.บ. 5) ไม่ใช่เอกสารที่แสดงว่าผู้ชำระค่าภาษีมีสิทธิในที่ดิน คือ สิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เพราะเอกสารที่แสดงถึงสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดินย่อมเป็นไปตาม ป.ที่ดิน มาตรา 1 คือ หนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดิน การกระทำการเกี่ยวกับใบภาษีบำรุงท้องที่ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่กระทบถึงการที่โจทก์ยึดถือที่ดินซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิที่จำเลยทั้งหกมอบให้ไว้เป็นหลักประกันเมื่อเข้าร่วมโครงการปลูกพืชพลังงานทดแทนกับโจทก์ ทั้งโจทก์ก็ไม่เคยมีเจตนาจะชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งต้องนำใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.ท.บ. 5) ท่อนที่มอบให้เจ้าของที่ดินนี้มาแสดงด้วยเมื่อมาติดต่อขอชำระภาษีบำรุงท้องที่ การที่จำเลยที่ 1 ไปแจ้งความว่าใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ที่มอบให้โจทก์ยึดถือไว้หาย แล้วไปขออกใบแทนใหม่ จึงไม่ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2322/2558 
การลงลายมือชื่อปลอมของ ด. กับ ส. ผู้ซึ่งไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นเพียงรายละเอียดของการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตาม ป.อ. มาตรา 157 ที่โจทก์ขอให้ลงโทษ นอกเหนือจากการเป็นสาระสำคัญของการกระทำอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานปลอมเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 265 ที่โจทก์ขอให้ลงอีกข้อหาหนึ่ง เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีมีข้อควรสงสัยว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำความผิดฐานทำและใช้เอกสารราชการปลอมหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยทั้งสี่ แต่การที่จำเลยทั้งสี่ทราบเรื่องที่มีการแก้ไขเพิ่มชื่อ ด. กับ ส. ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง กลับนิ่งเฉยปล่อยให้มีการแก้ไขโดยไม่ทักท้วงหรือให้คำแนะนำให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง อันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จึงคงเป็นข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในรายละเอียดมิใช่ในข้อสาระสำคัญสำหรับข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ทั้งมิใช่กรณีที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ เมื่อจำเลยทั้งสี่มิได้หลงต่อสู้ ศาลชั้นต้นมีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสี่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16352/2557 
ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ดังนี้ศาลล่างทั้งสองจึงลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง เมื่อโจทก์มีคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 7,655,000 บาท แก่โจทก์ร่วม การที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 7,655,000 บาท แก่โจทก์ร่วมจึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 43 แล้ว ความผิดฐานร่วมกันปลอมขึ้นซึ่งรอยตราของทบวงการเมืองหรือเจ้าพนักงานและฐานร่วมกันใช้รอยตราที่ทำปลอมขึ้น อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 251 และ 252 เมื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดฐานร่วมกันปลอมขึ้นซึ่งรอยตราของทบวงการเมืองหรือเจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 251 ได้กระทำความผิดฐานร่วมกันใช้รอยตราที่ทำปลอมขึ้นตาม ป.อ. มาตรา 252 จึงต้องลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 251 แต่กระทงเดียวตาม ป.อ. มาตรา 263 

การที่จำเลยกับพวกร่วมกันปลอมเอกสารสัญญาที่จะออกหนังสืออนุญาตการทำงานสำหรับชาวต่างชาติ ปลอมเอกสารการอนุญาตให้คนหางานเดินทางเข้าไปในสาธารณรัฐโปแลนด์ (วีซ่า) ของสถานเอกอัครราชทูตแห่งสาธารณรัฐโปแลนด์ ปลอมหนังสือของกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล ถึง กรมการจัดหางาน ปลอมรอยตราประทับของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอร์ซอ ขึ้น แล้วนำรอยตราปลอมที่ทำขึ้นดังกล่าวไปใช้ประทับลงในเอกสารหนังสือความต้องการลูกจ้าง หนังสือมอบอำนาจ และหนังสือสัญญาจ้างแรงงานของบริษัท ซ. จากนั้นนำเอกสารปลอม เอกสารราชการปลอม และเอกสารที่มีรอยตราปลอมดังกล่าวไปแสดงแก่โจทก์ร่วม เป็นการกระทำที่ล้วนมีจุดประสงค์เพียงอย่างเดียวคือหลอกลวงโจทก์ร่วมให้หลงเชื่อแล้วจ่ายเงินเป็นค่าดำเนินการเพื่อจัดส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 251 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 

ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 ประกอบมาตรา 225 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15733/2557 
โจทก์ร่วมประกอบกิจการค้าวัสดุก่อสร้าง มี ส. และ ณ. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานบัญชีมีหน้าที่ตั้งเรื่องเบิกจ่ายเสนอให้ ณ. พิจารณาอนุมัติและสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานขาย มีหน้าที่นำเช็คที่ ณ. สั่งจ่ายไปถอนเงินและโอนเงินชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์ร่วม การที่จำเลยที่ 1 เสนอเรื่องให้ ณ. อนุมัติและลงชื่อสั่งจ่ายเช็คตามฟ้อง ทั้งที่ไม่มีหนี้ต้องชำระ หรือมีหนี้แต่ให้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินมีจำนวนสูงกว่ายอดหนี้ที่แท้จริง เป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาทุจริตแต่แรก โดยทำใบสำคัญจ่ายฉบับใหม่อำพรางให้เข้าใจว่ามีการโอนเงินที่ ณ. อนุมัติเบิกจ่ายทั้งหมดให้แก่เจ้าหนี้ถูกต้องครบถ้วน เพื่อยักยอกเงินตามเช็คหรือเงินส่วนต่างที่เหลือจากการโอนชำระหนี้เป็นของตนกับพวก จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานยักยอก แม้จำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำใบสำคัญจ่าย แต่ต้องเสนอให้ ณ. พิจารณาอนุมัติก่อนจึงจะมีการจ่ายเงินชำระหนี้ได้ ดังนั้นใบสำคัญจ่ายที่ ณ. ลงชื่ออนุมัติย่อมเป็นหลักฐานการเบิกจ่ายเงินที่เสร็จสมบูรณ์ จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจแก้ไขโดยพลการ การที่จำเลยที่ 1 ทำใบสำคัญจ่ายฉบับใหม่แทนฉบับเดิม โดยมีจำนวนเงินที่อนุมัติสั่งจ่ายลดลงจากเดิมเพื่อยักยอกเงินส่วนต่างของโจทก์ร่วม เป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง และทำให้โจทก์ร่วมเสียหาย มิใช่การกระทำตามอำนาจหน้าที่ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานปลอมเอกสาร 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15248 - 15249/2557 
จำเลยมีหน้าที่รับผิดชอบในงานเบิก - จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ตรวจสอบเอกสารเงินยืม ติดตามเงินยืมและตัดยอดเงินยืม ดังนั้น แม้จำเลยจะจัดทำเอกสารเกี่ยวกับงานการเงินในหน้าที่รับผิดชอบของจำเลยไม่ตรงกับความเป็นจริงและใช้หรืออ้างเอกสารดังกล่าวเสนอต่อผู้บังคับบัญชา ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264 ฐานปลอมเอกสาร มาตรา 268 ฐานใช้เอกสารปลอม และมาตรา 137 ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน เพราะจำเลยเป็นผู้บันทึกข้อความลงในเอกสารต่าง ๆ ด้วยตนเอง โดยจำเลยมิได้เป็นผู้แจ้งข้อความดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานอื่นแต่อย่างใด เงินตามเช็คเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินของโจทก์ที่ ธ. ในฐานะเลขานุการโครงการต้นกล้าอาชีพทำหนังสือขอให้โจทก์อนุมัติเพื่อนำไปชำระเงินยืมที่โครงการยืมเงินกลางของโจทก์มาใช้จ่าย เงินจำนวนนี้จึงมิใช่เงินส่วนตัวของ ธ. ทั้ง ธ. ก็ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ของโจทก์ซึ่งโจทก์จะต้องชำระหนี้ให้แก่ ธ. การที่ ธ. มีชื่อเป็นผู้รับเงินตามเช็ค จึงเป็นกรณีที่ ธ. ได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้มีหน้าที่รับเงินตามเช็คแล้วนำไปชำระเงินยืมให้แก่โจทก์ เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินของโจทก์ที่ถูกจำเลยเบียดบังไป โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15315/2557 
มีผู้ปลอมสัญญาจะซื้อจะขายโดยมีการปลอมลายมือชื่อของโจทก์ร่วมในฐานะผู้จะขายแล้วนำเอกสารปลอมดังกล่าวไปใช้ติดต่อขอกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ย่อมทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม โจทก์ร่วมย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10974/2557 
ฟ้องโจทก์ทั้งสองบรรยายโดยชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกันปลอมหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่มีการกรอกข้อความขึ้นทั้งฉบับ โดย ท. ไม่ได้ยินยอมด้วย ส่วนจำเลยที่ 1 จะปลอมหนังสือมอบอำนาจขึ้นทั้งฉบับด้วยวิธีการใดหรือปลอมหนังสือมอบอำนาจโดยหลอกลวงให้ ท. ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์ทั้งสองสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ทั้งเมื่ออ่านฟ้องโจทก์ทั้งสองดังกล่าวแล้วจำเลยที่ 1 ย่อมเข้าใจได้ว่า จำเลยที่ 1 ปลอมหนังสือมอบอำนาจของ ท. ขึ้นทั้งฉบับ ไม่มีทางที่จำเลยที่ 1 จะเข้าใจฟ้องเป็นสองนัยอันจะพึงเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 หลงข้อต่อสู้แต่ประการใด ฟ้องโจทก์ทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันปลอมหนังสือมอบอำนาจจึงไม่ขัดแย้งกันในข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญในการกระทำความผิด จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8159/2557 
การใช้เอกสารปลอมเป็นการกระทำอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ฐานหนึ่ง แม้มาตรา 268 วรรคแรก บัญญัติว่า ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 ... ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ ก็ตาม แต่มิใช่จะถือว่าเป็นความผิดฐานเดียวกันกับความผิดนั้น ๆ เมื่อโจทก์บรรยายการกระทำความผิดในฐานนี้มาในคำฟ้อง แต่คำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. เฉพาะมาตรา 264 มิได้ระบุมาตรา 268 ด้วย จะถือว่าความผิดตามฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างเป็นความผิดอยู่ในตัวเอง อันจะทำให้ศาลลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมตามที่พิจารณาได้ความหาได้ไม่ คำฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) แม้ บ. เคยทำบันทึกข้อตกลงให้ที่ดินของตนตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หลังจากที่พี่สาวของโจทก์ปลดจำนองแล้ว แต่เมื่อขณะเกิดเหตุกรรมสิทธิ์ในที่ดินยังเป็นของ บ. ความเสียหายเกิดจากการร่วมกันปลอมหนังสือมอบอำนาจ จึงเกิดขึ้นแก่ บ. เท่านั้น โจทก์จึงไม่เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสาร 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1572/2557 
การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ ล. ไม่มีกฎหมายให้อำนาจลงลายมือชื่อแทนกันได้ แม้ ล.จะอนุญาตหรือให้ความยินยอม และเจ้าหน้าที่ผู้จัดทำบันทึกแนะนำให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ ล. ก็ลงลายมือชื่อแทนกันไม่ได้ การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ ล. ในเอกสารหมาย จ. 2 ถึง จ. 4 จึงเป็นการลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร แต่ในความผิดฐานแจ้งความเท็จและความผิดฐานปลอมเอกสารนี้จะต้องได้ความด้วยว่าอยู่ในลักษณะที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนหรือไม่ เมื่อได้ความจากโจทก์ร่วมว่าโจทก์ร่วมลงลายมือชื่อโอนลอยในคำร้องโอนสิทธิการเช่าสัญญาเช่าอาคารดังกล่าวโดยไม่ได้สนใจว่าใครจะนำเอกสารดังกล่าวไปกรอกข้อความอย่างไร แสดงให้เห็นว่า โจทก์ร่วมพอใจในราคาค่าตอบแทนการโอนสิทธิการเช่าเสียมากกว่า หาใช่มีข้อตกลงโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเจาะจงแต่อย่างใดไม่ สอดคล้องกับที่ ส. เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลสตึก พยานโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้จัดทำเอกสารเกี่ยวกับคำร้องโอนสิทธิการเช่าเบิกความว่า โจทก์ร่วมประสงค์จะโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทให้แก่ ล. ทั้งใบเสร็จรับเงินค่าคำร้องโอนสิทธิการเช่าอาคารตามเอกสารหมาย จ. 5 ก็ระบุว่าได้รับเงินจาก ล. จากพฤติการณ์ดังกล่าวโจทก์ร่วมและเทศบาลตำบลสตึกไม่อยู่ในฐานะที่จะอ้างว่าได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จและฐานปลอมเอกสารตามฟ้อง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 864/2557 
โจทก์รู้อยู่แล้วในขณะกู้ยืมเงินหรืออย่างช้าในขณะที่จำเลยที่ 1 ทวงถามให้โจทก์ชำระเงินตามเช็คว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเงินส่วนหนึ่งที่ร่วมกับจำเลยที่ 2 ให้โจทก์กู้ยืมไปตามหนังสือสัญญากู้ ทั้งในการฟ้องคดีจำเลยที่ 1 ก็ตรงไปตรงมาโดยฟ้องเอาผิดโจทก์เฉพาะเช็คตามจำนวนเงินที่โจทก์ยังค้างชำระหนี้เงินกู้อยู่เท่านั้น ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับว่ายังไม่ได้ชำระเงินตามเช็ค การที่จำเลยที่ 1 กรอกข้อความว่าตนเองเป็นผู้ให้กู้ในหนังสือสัญญากู้จึงเป็นการกรอกข้อความไปตามความจริงและโดยสุจริตว่าตนเองมีสิทธิกรอกข้อความในฐานะเป็นผู้ออกเงินส่วนหนึ่งให้โจทก์กู้ด้วย และกระทำไปเพียงเพื่อใช้เป็นหลักฐานรองรับหนี้เงินตามเช็คให้เห็นว่าเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการปลอมเอกสาร และเมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ จำเลยที่ 2 ก็ไม่อาจมีความผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 1 ปลอมเอกสารสิทธิ และการกระทำของจำเลยที่ 1 ก็ไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12037/2556 
แม้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ แผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ประจำปี แผ่นป้ายแสดงการประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์และสมุดใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ปลอมของกลางจะเป็นเอกสารและเอกสารราชการต่างประเภทกันแยกออกจากกันเป็นคนละฉบับ แต่การติดแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ แผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ประจำปีและแผ่นป้ายแสดงการประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์ปลอมของกลางไว้ที่รถยนต์ของกลางคันเดียว พร้อมกับนำสมุดใบคู่มือจดทะเบียนรถปลอมของกลางไปใช้แสดงต่อผู้เสียหายในคราวเดียวกันโดยเห็นได้อย่างชัดเจนว่าจำเลยมีเจตนาอย่างเดียวกันเพื่อประกอบข้อความอันเป็นเท็จในการฉ้อโกงโดยมุ่งหมายให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่ารถยนต์ของกลางเป็นของจำเลยที่ได้จดทะเบียนและเสียภาษีถูกต้องตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11320/2556 
การที่โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกันโดยทั้งสองฝ่ายต่างรู้อยู่แล้วว่าที่ดินแปลงดังกล่าวมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี แม้สัญญาซื้อขายที่ดินจะกำหนดไปจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองกันในวันพ้นระยะเวลาห้ามโอนก็ตาม ก็เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะ การยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 จึงถือว่าเป็นการครอบครองไว้แทนโจทก์ที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 กรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้ไว้ขณะที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ และจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อปลอมชื่อโจทก์ทั้งสองในการรับรองสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาบัตรข้าราชการของโจทก์ทั้งสองแล้วนำเอกสารดังกล่าวพร้อมกับหนังสือให้ความยินยอมของโจทก์ที่ 2 ในการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาซื้อขายจากชื่อของโจทก์ที่ 1 มาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 นั้นก็เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ที่ตกลงกันในสัญญาซื้อขายไว้แต่เดิม เป็นกระทำภายในขอบอำนาจที่โจทก์ที่ 1 มอบให้ไว้แต่เดิม และเอกสารที่รับรองก็เป็นเอกสารที่แท้จริง การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็หาทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายแต่อย่างใดไม่ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19144/2555 
การที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อขายและขายเครื่องปรับอากาศของกลาง 250 เครื่อง ที่ยังมิได้เสียภาษีสรรพสามิต และจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันปลอมเครื่องหมาย (สติกเกอร์) แสดงการเสียภาษีสรรพสามิตสำหรับเครื่องปรับอากาศอันเป็นเอกสารราชการและนำเอกสารราชการปลอมดังกล่าวไปใช้ติดกับเครื่องปรับอากาศของกลางเป็นความผิดต่อกฎหมายคนละฉบับ ซึ่งมีองค์ประกอบความผิดที่แตกต่างกัน และเป็นความผิดสำเร็จอยู่ในตัว ทั้งเจตนาในการกระทำความผิดสองฐานก่อให้เกิดผลที่ต่างกัน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดสองกรรมต่างกัน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17579/2555 
โจทก์บรรยายฟ้องข้อเท็จจริงที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิว่าจำเลยที่ 1 และ/หรือจำเลยที่ 2 รู้เห็นเป็นใจและร่วมกันเติมหรือกรอกข้อความลงในสัญญากู้ซึ่งเป็นเอกสารที่แท้จริงและมีลายมือชื่อของโจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์ว่าเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2543 โจทก์กู้ยืมและรับเงินจากจำเลยที่ 1 ไปครบถ้วนในวันทำสัญญาจำนวน 300,000 บาท และจะชำระคืนภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2543 ซึ่งไม่เป็นความจริงโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ ผู้อื่นหรือประชาชน อันเป็นการบรรยายฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคสอง ซึ่งโจทก์อยู่ในบังคับต้องบรรยายฟ้องระบุองค์ประกอบภายในส่วนของเจตนาพิเศษด้วยว่าจำเลยทั้งสองกระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชนด้วย แต่ฟ้องโจทก์หาได้บรรยายระบุองค์ประกอบภายใน ในส่วนของมูลเหตุจูงใจเช่นว่านี้ไว้ด้วยแต่อย่างใด ฟ้องโจทก์จึงบรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคสอง อันเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10276/2555 
การที่จำเลยนำเอกสารใบลาออกของโจทก์ปลอมไปใช้แจ้งให้ อ. รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารใบอนุญาตต่าง ๆ (ร.12) เป็นหลักฐานว่า อนุญาตให้โจทก์ลาออกจากตำแหน่งครูโรงเรียนนั้น จำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาเดียวคือเพื่อให้เจ้าพนักงานผู้กระทำตามหน้าที่หลงเชื่อข้อความในเอกสารที่จำเลยทำปลอมขึ้นว่าถูกต้องแท้จริงนั่นเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8035/2555 
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยลงลายมือชื่อของจำเลยเองในช่องผู้ถือบัตรในใบบันทึกรายการขาย เพื่อให้ ท. กับพวกและผู้อื่นหลงเชื่อว่าใบบันทึกการขายเป็นเอกสารสิทธิที่ถูกต้องแท้จริง โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น จำเลยให้การรับสารภาพ โจทก์ไม่สืบพยานจึงต้องฟังตามฟ้อง เห็นว่า แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยลงลายมือชื่อของจำเลยเอง มิได้ลงลายมือชื่อของเจ้าของบัตรเครดิตก็ตาม แต่การลงลายมือชื่อของจำเลยดังกล่าวเท่ากับยืนยันว่าบันทึกการขายนั้น ทำโดยเจ้าของบัตรเครดิต ถือว่าจำเลยลงลายมือชื่อจำเลยโดยมีเจตนาเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเอกสารนั้นเจ้าของบัตรเครดิตเป็นผู้ลงลายมือชื่อที่แท้จริง การกระทำดังกล่าวจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิใบบันทึกการขายแล้ว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8870/2554 
จำเลยปลอมลายมือชื่อของโจทก์ร่วมในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ร่วมเพื่อขอให้เปิดบัญชีออมทรัพย์กับธนาคารโดยใช้ชื่อโจทก์ร่วมในคำขอเปิดบัญชีและปลอมตัวอย่างลายมือชื่อของโจทก์ร่วมในคำขอเปิดบัญชีตามเอกสารหมาย จ.1 แล้วนำไปยื่นต่อพนักงานธนาคาร ทำให้ธนาคารหลงเชื่อว่าเป็นคำขอเปิดบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วม จึงออกสมุดเงินฝากในนามของโจทก์ร่วมให้ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการปลอมและใช้เอกสารปลอม ส่วนการที่จำเลยนำแบบพิมพ์ใบถอนเงินของธนาคารรวม 15 ฉบับ มากรอกข้อความโดยเขียนชื่อโจทก์ร่วมในช่องชื่อบัญชี เขียนเลขที่บัญชี จำนวนเงิน และลงลายมือชื่อปลอมของโจทก์ร่วมในช่องเจ้าของบัญชีและช่องผู้รับเงิน แล้วนำใบถอนเงินดังกล่าวไปยื่นต่อพนักงานของธนาคาร ทำให้พนักงานของธนาคารหลงเชื่อว่าเป็นใบถอนเงินที่แท้จริงจึงจ่ายเงินให้จำเลยไป แม้ว่าโจทก์ร่วมจะมิได้เปิดบัญชีตามเอกสารหมาย จ.1 และเงินในบัญชีดังกล่าวมิใช่เงินของโจทก์ร่วม ซึ่งโจทก์ร่วมอาจจะไม่ได้รับความเสียหายต่อทรัพย์สินโดยตรงก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับหลักฐานทางการเงินในนามของโจทก์ร่วมในระบบบัญชีธนาคารดังกล่าวให้แตกต่างไปจากความเป็นจริง อันจะเป็นผลให้โจทก์ร่วมและธนาคารดังกล่าวเสียชื่อเสียงไม่ได้รับความเชื่อมั่นไว้วางใจในสังคมและในการประกอบธุรกิจ อันเป็นประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมและธนาคารแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอมรวม 15 กระทง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2602/2554 
การที่จำเลยลงลายมือชื่อรับรองคนต่างด้าว 7 คน แม้จะเป็นการรับรองในวันเดียวกัน พร้อมๆ กัน และมีเจตนาที่จะให้ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่คนต่างด้าว 7 คน ในเวลาเดียวกัน แต่จำเลยได้กระทำให้แก่คนต่างด้าวแต่ละคน ย่อมเป็นความผิดสำเร็จในตัวของแต่ละคนและอาศัยเจตนาแตกต่างแยกจากกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ตาม ป.อ. มาตรา 91 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3063/2552
ในคดีความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมและความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ซึ่งผู้เสียหายถึงแก่ความตายด้วยโรคประจำตัว ผู้บุพการีไม่มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องหรือเข้าร่วมกับพนักงานอัยการเป็นโจทก์ ฟ้องแทนผู้เสียหาย เพราะไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของ ป.วิ.อ. มาตรา 3 (2) ประกอบมาตรา 5 (2) ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

จำเลยกับพวกร่วมกันนำเอาโฉนดที่ดินของผู้เสียหายและแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจ ที่มีเพียงลายมือชื่อของผู้เสียหายลงไว้ในช่องผู้มอบอำนาจไปโดยไม่ได้รับ อนุญาต แล้วนำไปกรอกข้อความว่าผู้เสียหายมอบอำนาจให้จำเลยยื่นขอจดทะเบียนโอนที่ดิน ของผู้เสียหายให้แก่จำเลยโดยเสน่หา เป็นการกระทำความผิดฐานทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารของผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 188 และเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 83 แต่การกระทำความผิดดังกล่าวก็เพื่อโอนที่ดินเป็นของจำเลยซึ่งเป็นเจตนาเดียว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 188 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1762/2552
ใบสั่งซื้อสินค้าเป็นเพียงคำเสนอที่จะซื้อสินค้าของโจทก์เท่านั้น ใบสั่งซื้อสินค้าจึงมิใช่เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ มิใช่เอกสารสิทธิตามความใน ป.อ. มาตรา 1 (9)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1761/2552
ฎีกาของโจทก์มิได้มีข้อความตอนใดโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่วินิจฉัยว่าพยานโจทก์และโจทก์ร่วมยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยร่วมกระทำความผิดฐานปลอมตั๋วเงิน เพราะข้อความในฎีกาของโจทก์ล้วนแต่ยกเหตุผลโต้แย้งว่าจำเลยร่วมกระทำผิดฐาน ใช้ตั๋วเงินปลอม แต่มีข้อความตอนท้ายฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกับพวกปลอมตั๋วเงิน ฎีกาของโจทก์ในข้อหาความผิดฐานร่วมกันปลอมตั๋วเงินเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง

จำเลยนำเช็คซึ่งเป็นตั๋วเงินปลอมเข้าบัญชีจำเลยเพื่อเรียกเก็บเงินแทนนาง ยุพาโดยไม่ทราบว่าเป็นตั๋วเงินปลอม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความ ผิด เป็นการขาดเจตนากระทำความผิดฐานใช้ตั๋วเงินปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (4) และมาตรา 59 วรรคสาม วรรคสอง และวรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานร่วมกับพวกใช้ตั๋วเงินปลอม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6901/2551
การที่จำเลยปลอมใบนำฝากเงินและใบเสร็จรับเงินของธนาคาร ก็โดยเจตนาเพื่อใช้เป็นหลักฐานแสดงว่าจำเลยนำเงินและเช็คที่ได้รับมอบจาก โจทก์ร่วมไปเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของโจทก์ร่วม เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้เพื่อปกปิดการกระทำของจำเลยที่ได้ยักยอกเงินที่ได้รับมอบจากโจทก์ ร่วมและที่จำเลยเบิกตามเช็คของโจทก์ร่วมไปบางส่วนหรือทั้งหมด แม้การปลอมเอกสารดังกล่าวจะกระทำภายหลังที่จำเลยยักยอกเงินไปแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับที่จำเลยยักยอกเงินของโจทก์ร่วมไป โดยจำเลยมีเจตนาที่จะใช้เอกสารที่ทำขึ้นเป็นหลักฐานเพื่อยักยอกเงินของโจทก์ ร่วมนั้นเอง ความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมกับความผิดฐานยักยอก จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3903/2551
จำเลยเอาไปเสียซึ่งเช็คของผู้เสียหายแล้วปลอมเช็คดังกล่าวโดยกรอกข้อความและจำนวนเงินในเช็คกับปลอมลายมือชื่อของผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็ค แล้วนำเช็คดังกล่าวไปเบิกเงินจากธนาคารตามเช็ค ได้รับเงินจำนวน 850,000 บาท ไป เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อจะได้เงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ของผู้เสียหายเป็นหลัก การกระทำต่าง ๆ เป็นเพียงวิธีการเพื่อจะให้ได้เงินไปเท่านั้น แม้การกระทำแต่ละอย่างจะเป็นความผิดแยกต่างหากจากกัน การกระทำของจำเลยก็เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3636/2550
การกระทำความผิดของจำเลยฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมและฉ้อโกง นั้น เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก, 341 การกระทำความผิดของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษ ตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 แม้โจทก์จะไม่ได้ระบุ ป.อ. มาตรา 266 ไว้ในคำขอท้ายฟ้อง แต่โจทก์บรรยายฟ้องแล้วว่าจำเลยปลอมหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งเป็น เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ และข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์สืบสม จึงเป็นการอ้างบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์จะมิได้ฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาชอบที่แก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3935/2550
การที่จำเลยร่วมกันปลอมเอกสารหนังสือคำเสนอขอเช่าซื้อรถยนต์และแบบสัญญาค้ำ ประกัน หลังจากที่จำเลยร่วมกันปลอมเอกสารราชการใบรับคำขอมีบัตรมีบัตรใหม่ หรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชน และร่วมกันปลอมเอกสารสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนกับสำเนาแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร์ แล้วร่วมกันใช้เอกสารราชการและเอกสารปลอมดังกล่าวเพื่อเป็นหลักฐานประกอบใน การทำคำเสนอขอเช่าซื้อรถยนต์โดยเจตนาให้พนักงานของบริษัท ส. หลงเชื่อในความถูกต้องแท้จริงของเอกสารดังกล่าว เป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระแยกต่างหากจากกันได้อันเป็นความผิดสำเร็จอยู่ ในตัวและมีเจตนาก่อให้เกิดผลต่างกัน จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันปลอมหนังสือคำเสนอขอเช่าซื้อรถยนต์และแบบสัญญา ค้ำประกันอันเป็นเอกสารอีกกรรมหนึ่งที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทนั้นไม่ชอบ เมื่อโจทก์ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรปรับบทลงโทษเสียใหม่ให้ถูกต้องโดยไม่เพิ่มเติมโทษจำเลย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2502/2550
จำเลยเพียงแต่ลงชื่อรับรองตัวบุคคลโดยที่มิได้ร่วมกับพวกแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อ ความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิด เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2426/2550
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำหนังสือมอบอำนาจ ซึ่งยังไม่ได้กรอกข้อความใด ๆ และไม่มีบุคคลใดลงลายมือชื่อเป็นพยาน ให้โจทก์ลงลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจ แล้วจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ปลอมหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 กรอกข้อความอันเป็นเท็จว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจจำนองที่ดินตลอดจนให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยมีจำเลยที่ 3 และที่ 4 ลงลายมือชื่อเป็นพยานและรับรองว่าโจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจดัง กล่าว ต่อมาจำเลยทั้งหกร่วมกันใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไปแสดงต่อเจ้าพนักงาน ที่ดินว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินแทน เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อ จึงจดข้อความอันเป็นเท็จตามคำบอกกล่าวของจำเลยทั้งหกลงในสัญญาจำนองอันเป็น เอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้ระบุชัดแล้วว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยอื่นปลอมหนังสือมอบอำนาจและใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมดังกล่าว กับแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสาร มหาชนหรือเอกสารราชการแล้ว จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายฟ้องให้ละเอียดว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนรู้เห็นและหรือกระทำการใด ๆ ร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วยวิธีใด อย่างใด ก็เป็นเพียงรายละเอียดที่จะนำสืบในชั้นพิจารณาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2236 - 2237/2550
ความผิดฐานปลอมเอกสารและฐานใช้เอกสารปลอม เป็นความผิดต่อผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ปลอมและ ใช้เอกสารปลอมตามฟ้อง แม้จำเลยจะปลอมหนังสือของผู้ตายส่งไปถึงนายแพทย์อำนวยการโรงพยาบาล บ. ว่า ผู้ตายขอลาการปฏิบัติงานแล้วลงชื่อปลอมของผู้ตายในหนังสือดังกล่าว และจำเลยได้ปลอมจดหมายของผู้ตายส่งไปถึงนาย ช. กับนางสาว ก. บุตรชายและบุตรสาวของผู้ตายว่า ผู้ตายต้องไปฝึกสมาธิ เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเอกสารปลอมนั้นผู้ตายได้ทำขึ้นจริง ทั้งนี้โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นก็ตาม ในกรณีนี้โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาผู้ตายก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากการกระทำดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ทั้งความผิดดังกล่าวได้เกิดขึ้นภายหลังจากผู้ตายได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว ผู้ตายไม่อาจเป็นผู้เสียหายในความผิดดังกล่าวได้ จึงไม่ใช่กรณีที่โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบุพการีของผู้ตายจะจัดการแทนผู้ตายได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2017/2550
ใบรับรองการตรวจสภาพรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์เป็นเอกสารที่กรมการขนส่งทางบก มอบให้บริษัทซึ่งได้รับอนุญาตให้จัดตั้งสถานตรวจสภาพรถเพื่อตรวจสภาพรถยนต์ และออกใบรับรองเพื่อเป็นหลักฐานว่ารถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ได้ผ่านการตรวจ สภาพแล้ว พนักงานของบริษัทซึ่งมีหน้าที่ออกใบรับรองมิใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมาย ใบรับรองที่ออกโดยพนักงานของบริษัทจึงถือไม่ได้ว่าเป็นเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 1 (8) การที่จำเลยทำใบรับรองการตรวจสภาพรถยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ปลอมไปแสดง ต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานขนส่งเพื่อใช้ประกอบการเสียภาษีประจำปี จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 มิใช่มาตรา 265 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6509/2549
จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้จัดการและผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นประธานที่ประชุมผู้ถือหุ้นเป็นผู้มีหน้าที่ต้องจัดให้มีการทำรายงาน การประชุมของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 ได้จัดให้มีการทำบันทึกรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นขึ้นตามหน้าที่ของตนและลง ลายมือชื่อตนเองเป็นประธานที่ประชุม มิได้ทำในนามของบุคคลอื่น จึงเป็นเอกสารที่แท้จริงของจำเลยที่ 2 แม้ข้อความในเอกสารจะไม่เป็นความจริง เพราะไม่มีการประชุมดังกล่าว ก็เป็นการทำเอกสารอันเป็นความเท็จเท่านั้น ไม่ทำให้เป็นเอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 264 เมื่อการกระทำดังกล่าวไม่เป็นการปลอมเอกสาร การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอกสาร ปลอมตามมาตรา 264, 368

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6353/2549
เลขหมายประจำปืนไม่ใช่ทะเบียนอาวุธปืนซึ่งเป็นเอกสารที่เจ้าพนักงานจัดทำและมิ ได้เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ จึงไม่ใช่เอกสารราชการและเอกสารสิทธิ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิหรือเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 265 จำเลยที่ 1 คงมีความผิดฐานปลอมเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก และใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3991/2549
ความเสียหายที่เกิดขึ้นสำหรับความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิจะต้องเป็นความเสียหาย ที่เกิดขึ้นเพราะข้อความแห่งเอกสารสิทธินั้น แต่ข้อความในเอกสารสิทธิที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกปลอมไม่มีข้อความเกี่ยว ถึงตัวผู้ร้องเลยทั้งการที่จำเลยกับพวกนำหนังสือมอบอำนาจซึ่งเป็นเอกสาร สิทธิปลอมไปยื่นต่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รับคำขอจดทะเบียนเกี่ยวกับที่ดิน เพื่อแสดงว่า ฉ. ได้มอบอำนาจให้ พ. ซื้อและขายที่ดิน ก็ไม่เกิดผลกระทบโดยตรงต่อทรัพย์สินของผู้ร้อง เนื่องจากหนังสือมอบอำนาจเป็นเอกสารสิทธิปลอมจึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิภาระซื้อ และขายที่ดินระหว่าง ฉ. กับผู้ขายหรือผู้ซื้อ ที่ดินจึงมิใช่สินสมรสระหว่างผู้ร้องกับ ฉ. ผู้ร้องจึงไม่เป็นบุคคลที่ได้รับความเสียหายเพราะการกระทำของจำเลยกับพวกตามที่โจทก์ฟ้อง หากผู้ร้องได้รับความเสียหายเพราะการกระทำของจำเลยกับพวกก็ชอบที่จะไปดำเนินคดีในทางแพ่งได้ ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามความหมายของ ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1572/2549
จำเลยถ่ายสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจากฉบับที่แท้จริงซึ่งเป็นเอกสารราชการแล้ว แก้ไขในช่องชื่อ ชื่อสกุล วันออกบัตร วันหมดอายุ และนำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าวไปถ่ายสำเนาเอกสารอีก เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าสำเนาเอกสารดังกล่าวมีข้อความตรงกับต้น ฉบับและน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน เป็นการทำปลอมเอกสารขึ้นทั้งฉบับ แม้จำเลยจะมิได้แก้ไขในเอกสารที่แท้จริง การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดฐานปลอมบัตรประจำตัวประชาชนอันเป็นเอกสาร ราชการและฐานใช้บัตรประจำตัวประชาชนอันเป็นเอกสารราชการปลอมตาม ป.อ. มาตรา 265, 268 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 265 พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชนฯ มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (2) (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4495/2548
คำว่า "เอกสาร" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(7) หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใดซึ่งทำให้ปรากฏความหมายด้วยอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพ หรือวิธีอื่นใดอันเป็นหลักฐานความหมายนั้น ดังนั้น เอกสารจะมีขึ้นในรูปใด ๆ ก็ได้ การปลอมเอกสารจึงมีต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อน

จำเลยปลอมหนังสือลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและคำรับรองความเห็นชอบ ของกำนันโดยลงลายมือชื่อปลอมบุคคลทั้งสองในหนังสือลาออก กับปลอมหนังสือขอแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านโดยจำเลยลงลายมือชื่อปลอมของ กำนันลงในเอกสารเพื่อแสดงว่าจำเลยได้ร่วมกับกำนันพิจารณาคัดเลือกและจัดทำ หนังสือขอแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเสนอต่อนายอำเภอตามระเบียบ เป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ จึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3997/2548
การที่จำเลยที่ 1 ตัดโครงคัสซีของรถยนต์ของกลางบริเวณตัวอักษรตัวเลขออกแล้วนำชิ้นส่วนของโครงคัสซีที่ระบุตัวอักษรตัวเลขอื่นมาเชื่อมติดใหม่ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ขูดลบแก้ไข เปลี่ยนแปลงตัวอักษรตัวเลขคัสซีแต่อย่างใดการกระทำของจำเลขที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่อาจเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารตัวอักษรตัวเลขคัสซี

การที่จำเลยที่ 1 ใช้ให้ผู้อื่นทำลายตัวอักษรตัวเลขที่ปรากฏอยู่บนเครื่องยนต์ของรถยนต์ของ กลางแล้วตอกตัวอักษรตัวเลขให้ตรงกับตัวอักษรตัวเลขของเครื่องยนต์ที่จำเลข ที่ 1 ซื้อจากบุคคลอื่น แต่เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการปลอมแปลงเอกสารดังกล่าวโดยไม่ได้บรรยายว่าโจทก์เป็นผู้ใช้ ศาลจึงลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารดังกล่าวไม่ได้ จำเลยที่ 1 คงมีความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารตัวอักษรตัวเลขของเครื่องรถยนต์ของกลาง ตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก ประกอบมาตรา 86 เท่านั้น

การที่จำเลขที่ 1 นำรถยนต์ของกลางซึ่งมีการปลอมตัวอักษรเลขเครื่องยนต์ไปแจ้งข้อความอันเป็น เท็จจริงต่อเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกฯ ก็เพื่อประโยชน์ของจำเลขที่ 1 ในการใช้หลักฐานปลอมดังกล่าวโดยมุ่งประสงค์ให้เจ้าหน้าที่เหล่านั้นหลงเชื่อ ว่ารถยนต์ของกลางประกอบขึ้นจากโครงคัสซีเครื่องยนต์ อุปกรณ์ส่วนต่าง ๆ จากชิ้นส่วนรถยนต์เก่าจนเจ้าหน้าที่เหล่านั้นหลงเชื่อรับจดทะเบียนรถยนต์ของ กลางสมดังเจตนาของจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท หาใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7768/2548
แม้ขณะเกิดเหตุ ว. จะเข้ามาดำรงตำแหน่งปลัดเมืองพัทยาโดยการว่าจ้างตามความในมาตรา 50 ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2521 แต่ปลัดเมืองพัทยาก็มีฐานะเป็นพนักงานเมืองพัทยาตามความในมาตรา 64 และพนักงานเมืองพัทยามีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. ตามความในมาตรา 66 ของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวที่ใช้บังคับในขณะกระทำความผิดคดีนี้ ดังนั้น หากขณะดำรงตำแหน่งปลัดเมืองพัทยา ว. ได้กระทำการใดผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และ ว. มิได้ถึงแก่ความตายเสียก่อน ว. ก็ต้องรับผิดในทางอาญาในฐานะเจ้าพนักงานตามที่ ป.อ. มาตรา 2 และมาตรา 147 ถึงมาตรา 166 บัญญัติไว้ แม้จะปรากฏว่าภายหลังกระทำความผิดได้มี พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2542 มาตรา 3 ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2521 และมีบทบัญญัติเกี่ยวกับที่มาของผู้ดำรงตำแหน่งปลัดเมืองพัทยาแตกต่างจาก กฎหมายเดิม แต่ความผิดที่ ว. ถูกกล่าวหาในคดีนี้มิได้มีการยกเลิกไปและก็มิได้เป็นเรื่องที่กฎหมายใหม่ บัญญัติว่าการกระทำใดไม่เป็นความผิดหรือกำหนดโทษเป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด จึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 จะอ้าง ป.อ. มาตรา 2 และมาตรา 3 มาเป็นประโยชน์แก่คดีของจำเลยที่ 1 ได้

จำเลยที่ 3 กับพวกได้ร่วมกันใช้หรือจ้างวานให้นาย อ. กับ ส. ไปแจ้งแก่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ให้จดทะเบียนทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 42827 ในราคา 1,200,000 บาท และจำเลยที่ 3 กับพวก ได้ร่วมกันใช้หรือจ้างวานให้ ย. กับ อ. ไปแจ้งแก่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ให้จดทะเบียนทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 42958 ในราคา 1,400,000 บาท อันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วบุคคลทั้งสี่ดังกล่าวมิได้มีเจตนาซื้อขายที่ดินกันจริง เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง หลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงดำเนินการจดทะเบียนทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินดังกล่าวในเอกสารสัญญาซื้อขาย ที่ดิน และบันทึกในสารบัญจดทะเบียนในโฉนดที่ดินดังกล่าวอันเป็นเอกสารมหาชนและ เอกสารราชการ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่เมืองพัทยา ผู้อื่นหรือประชาชน จำเลยที่ 3 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้ กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนและเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 267 ประกอบมาตรา 84

เมื่อ ว. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 และเมื่อการกระทำของ ว. เป็นความผิดตามมาตรา 151 อันเป็นบทเฉพาะแล้ว ก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ใช่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดซื้อที่ดินของเมืองพัทยาด้วย จึงขาดคุณสมบัติเฉพาะตัวอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 151 แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ก็เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระทำความผิดดังกล่าวของ ว. จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทรัพย์ใช้อำนาจใน ตำแหน่งโดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 151 ประกอบด้วยมาตรา 86 อันเป็นความผิดบทเฉพาะและไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157 ประกอบด้วยมาตรา 86 เป็นบททั่วไปเช่นเดียวกัน เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 จึงไม่มีประโยชน์ที่จะต้องยกข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 อ้างมาในฎีกาขึ้นวินิจฉัย

ความผิดฐานให้สินบนเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 นั้น มีลักษณะเป็นการยุยงส่งเสริมก่อให้ ว. ปลัดเมืองพัทยากระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทรัพย์ใช้อำนาจ ในตำแหน่งโดยทุจริตอยู่ในตัว แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามทางพิจารณาว่า ในช่วงวันเวลาที่โจทก์ฟ้อง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ให้สินบนหรือเป็นผู้ยุยงส่งเสริมให้ ว. ปลัดเมืองพัทยากระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทรัพย์ใช้อำนาจ ในตำแหน่งโดยทุจริต ได้เป็นตัวการร่วมกับ ว. กับพวกกระทำการทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อที่ดินสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะ เมืองพัทยาอย่างเป็นขบวนการโดยมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อันมีลักษณะเป็นการแบ่งหน้าที่กันกระทำมาแต่ต้นจนกระทั่งความผิดสำเร็จ เพียงแต่จำเลยที่ 1 ขาดคุณสมบัติการเป็นเจ้าพนักงาน จึงรับโทษแค่เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของ ว. กับพวกดังกล่าว ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยที่ 1 จะได้กระทำความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานหรือไม่ก็ตาม ความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ย่อมเกลื่อนกลืนเป็นการกระทำความผิดในกรรมเดียวกับความผิดฐานเป็นผู้สนับ สนุนเจ้าพนักงาน (มีหน้าที่ซื้อทรัพย์) ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตแล้ว ศาลฎีกาย่อมลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานะเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน (มีหน้าที่ซื้อทรัพย์) ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต ได้แต่เพียงบทเดียวเท่านั้น กรณีนี้ไม่ใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานอันเป็นบทเฉพาะเจาะจงแล้ว จึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน (มีหน้าที่ซื้อทรัพย์) ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอีก

การกระทำของจำเลยที่ 3 ตามคำฟ้องข้อ (ข) (ง) และข้อ (ฉ) เป็นการกระทำต่อผู้เสียหายต่างคนกันและเป็นเหตุการณ์คนละตอนกัน แม้จะอยู่ในแผนการทุจริตคอร์รัปชันเดียวกัน ก็มีการกระทำหลายอย่างและแต่ละอย่างเป็นความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติ การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบททั้งฐานใช้ให้ผู้อื่นแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อ ความอันเป็นเท็จ และฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทรัพย์ใช้อำนาจในตำแหน่งโดย ทุจริตตามคำฟ้องข้อ (ง) (ฉ) และ (ข)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2503/2548
จำเลยเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายได้ยักยอกเงินที่ลูกค้านำมาชำระให้ผู้เสียหายแล้ว จำเลยใช้เอกสารสำเนาใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงินที่จำเลยปลอมขึ้นไปอ้างแสดง ต่อผู้เสียหาย ก็เพื่อให้ผู้เสียหายเข้าใจว่าจำเลยนำเงินที่ลูกค้าชำระให้ผู้เสียหายส่งมอบ ให้แผนกการเงินของผู้เสียหายแล้ว แม้การใช้เอกสารสำเนาใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงินปลอมจะต่างวาระกับความผิด ฐานยักยอก แต่ก็เป็นเจตนาของจำเลยที่จะใช้เอกสารสำเนาใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงินปลอม เป็นหลักฐานเพื่อยักยอกเงินของผู้เสียหายนั่นเอง ความผิดฐานใช้เอกสารปลอมและความผิดฐานยักยอกจึงเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงเป็นกรรมเดียว การกระทำของจำเลยในความผิดฐานใช้เอกสารปลอมและฐานยักยอก จึงเป็นกรรมเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2463/2548
จำเลยถ่ายสำเนาเอกสารแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ประจำปีและแผ่นป้ายประกันภัย คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเป็นภาพสีให้ปรากฏข้อความที่มีสี ตัวอักษรและขนาดเหมือนฉบับที่แท้จริงแล้วนำไปติดที่รถยนต์บรรทุกและรถพ่วง มีลักษณะที่ทำให้หลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นายทะเบียนยานพาหนะจังหวัดนนทบุรี นายทะเบียนยานพาหนะจังหวัดพะเยา นายทะเบียนยานพาหนะกรุงเทพมหานคร นายทะเบียนกรมการประกันภัย หรือผู้อื่นได้ จึงเป็นการปลอมแปลงเอกสารขึ้นทั้งฉบับ หาใช่ว่าจำเลยจะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความให้ผิดแผกแตกต่างไปจากต้นฉบับ เอกสารที่แท้จริงไม่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคหนึ่ง

รถพ่วงของรถอยู่ในความหมายของคำว่า รถ ตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 4 (9) และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 4 ซึ่งเจ้าของรถต้องเสียภาษีรถยนต์ประจำปีและติดเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี ที่นายทะเบียนออกให้ไว้กับตัวรถ ตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 85 วรรคหนึ่ง, 90 กับต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยและติดเครื่องหมายไว้ ที่รถ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง, 12 วรรคสอง รถพ่วงของรถจึงเป็นรถที่ต้องเสียภาษีรถยนต์ประจำปีและจัดให้มีการประกันภัย ความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยแยกต่างหากจากรถลากจูงการที่จำเลยถ่ายสำเนา เอกสารแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ประจำปีและแผ่นป้ายประกันภัยคุ้มครอง ผู้ประสบภัยจากรถไปติดที่รถยนต์บรรทุก 2 คัน และรถพ่วง 2 คัน โดยมีเจตนาก่อให้เกิดผลต่างกันเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่า ได้เสียภาษีรถยนต์และทำประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถแล้ว จึงเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระแยกกันต่างหากจำนวน 4 กระทง ตาม ป.อ. มาตรา 91

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9051/2547
จำเลยปลอมเช็คของโจทก์ร่วมแล้วนำเช็คไปเบิกเงินและยักยอกเงินตามเช็คไป โจทก์ร่วมไปแจ้งความร้องทุกข์ ต่อมาจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วม โจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมใน ความผิดฐานยักยอกทรัพย์อันเป็นความผิดต่อส่วนตัวระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ส่วนการที่โจทก์ร่วมนำมูลหนี้ตามเช็คไปฟ้องคดีแพ่งในมูลละเมิด ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วม คดีถึงที่สุด ก็มีผลเพียงห้ามคู่ความเดียวกันมารื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้ วินิจฉัยโดยอาศัยมูลเหตุอย่างเดียวกันเฉพาะมูลคดีแพ่ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 เท่านั้น เมื่อศาลชั้นต้นยังไม่เคยมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในคดีอาญาสำหรับความผิดฐาน ปลอมเอกสารตั๋วเงินและใช้เอกสารตั๋วเงินปลอมอันเป็นมูลคดีนี้ ซึ่งมิใช่ความผิดอันยอมความได้ โจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีสิทธิฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเป็นคดีนี้ได้ไม่เป็นฟ้อง ซ้ำตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องคดีนี้ของโจทก์และโจทก์ร่วมยังไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยปลอมเช็คอันเป็นเอกสารสิทธิ ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 265 แม้ไม่ได้บรรยายว่าปลอมตั๋วเงินตาม ป.อ. มาตรา 266 (4) แต่เช็คก็เป็นตั๋วเงินชนิดหนึ่ง คำบรรยายฟ้องเช่นนี้ทำให้จำเลยสามารถเข้าใจข้อหาได้โดยถูกต้องแล้วว่า โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดอย่างไร แม้โจทก์มิได้ระบุ ป.อ. มาตรา 266 (4) ไว้ในคำขอท้ายฟ้อง คำฟ้องของโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว ดังนั้น เมื่อทางพิจารณาโจทก์และโจทก์ร่วมสืบสมว่า จำเลยปลอมเช็คและใช้หรืออ้างเอกสารเช็คปลอม จึงเป็นการอ้างบทมาตราผิดศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9042 - 9043/2547
แม้เช็คเป็นเอกสารอันก่อให้เกิดสิทธิในการรับเงินจากธนาคารจึงเป็นเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) และโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 265 ด้วย แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยปลอมเอกสารสิทธิ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 265 ได้ เช็คถือเป็นตั๋วเงินประเภทหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 898 การที่จำเลยนำเช็คธนาคาร ก. ของโจทก์ร่วมมาแก้ไขและเติมข้อความในช่องสั่งจ่ายบ้าง ช่องจำนวนเงินบ้างหรือปลอมลายมือชื่อโจทก์ร่วมในช่องสั่งจ่าย แล้วนำเช็คไปขอเบิกเงินจากธนาคาร ก. ซึ่งหลงเชื่อว่าเป็นเช็คที่แท้จริงของโจทก์ร่วม จึงจ่ายเงินให้จำเลยไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นบางส่วนโดยการแก้ไขเติมข้อความ และลงลายมือชื่อปลอมในตั๋วเงินที่แท้จริง เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงที่โจทก์ร่วมทำขึ้น และก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมและธนาคาร ก. การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานปลอมตั๋วเงิน จำเลยหาจำต้องปลอมเช็คขึ้นทั้งฉบับ จึงจะเป็นความผิดฐานปลอมตั๋วเงินตาม ป.อ. มาตรา 266 (4) เมื่อจำเลยเป็นผู้ปลอมตั๋วเงินและนำไปใช้เอง จึงต้องลงโทษจำเลยฐานใช้ตั๋วเงินปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 266 (4) ตามมาตรา 268 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 แต่จะพิพากษาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 265 ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลย คือลงโทษในบทมาตราที่เบากว่า ไม่ว่าทางใดทางหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 3 วรรคแรก ไม่ได้ เพราะไม่ใช่เป็นกรณีที่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด แตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9179/2547
จำเลย ที่ 3 แจ้งความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยที่ 3 ได้ขับรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนจำเลยที่ 4 ได้รับบาดเจ็บ เพื่อประสงค์ให้พนักงานสอบสวนจดข้อความอันเป็นเท็จลงในรายงานประจำวันเกี่ยว กับคดี ซึ่งเป็นเอกสารราชการเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานเท่านั้น อันเป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงานโดยตรง โดยจำเลยที่ 3 ไม่ได้เจาะจงว่ากล่าวถึงโจทก์เลย โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายโดยตรง แม้ข้อความเท็จนั้นจะครบองค์ประกอบเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 และมาตรา 267 แต่ข้อความเท็จที่จำเลยแจ้งมิได้มีการกล่าวอ้างถึงการกระทำอย่างหนึ่งอย่าง ใดที่กระทบกระเทือนถึงโจทก์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย

การที่จำเลยที่ 3 นำหนักฐานการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจไปเป็นหลักฐานยื่นคำร้องขอรับ ค่าเสียหายจากโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 3 อันเป็นการกระทำที่จะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ แต่โจทก์ยังไม่ได้จ่ายค่าเสียหายให้จำเลยที่ 3 เพราะโจทก์ทราบมาก่อนฟ้องแล้วว่าจำเลยที่ 3 แจ้งความเท็จ ทั้งการกระทำของจำเลยที่ 3 ในส่วนหลังเกิดขึ้นหลังจากการกระทำผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจ และเจ้าพนักงานตำรวจได้จดข้อความเท็จลงในเอกสารราชการสำเร็จแล้ว เป็นการกระทำอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากการกระทำที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ ดังนั้น จะนำเอาการกระทำผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 และมาตรา 267 มาเป็นข้อพิจารณาว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายส่วนนี้ไม่ได้ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายสำหรับความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้า พนักงานตาม ป.อ. มาตรา 137 และฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงใน เอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นพยานหลักฐานตาม ป.อ. มาตรา 267 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2261/2547
โจทก์ร่วมตกลงจะให้จำเลยกู้เงินตามที่ ภ. แนะนำมา แต่จำเลยไม่มีชื่อในโฉนดที่ดิน โจทก์ร่วมจึงให้ชายที่อ้างเป็น ถ. ทำสัญญากู้เงินแทนและยึดโฉนดที่ดินของ ถ. ไว้เป็นประกัน หากจำเลยไม่มีหลักทรัพย์มาวางเป็นประกันการชำระหนี้แล้วโจทก์ร่วมคงจะไม่ให้ จำเลยกู้เงินแน่ การที่จำเลยร่วมกับชายที่อ้างเป็น ถ. นำโฉนดที่ดินของปลอมมาหลอกลวงโจทก์ร่วม ทำให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อจ่ายเงินให้แก่จำเลยและชายคนดังกล่าวไป หลังจากนั้นโจทก์ร่วมติดต่อให้จำเลยชำระดอกเบี้ยและโจทก์ร่วมให้จำเลยไปพบ ที่ทำงานกับแจ้งให้ทราบว่า ถ. นำโฉนดที่ดินปลอมมาวางเป็นหลักประกัน ประมาณต้นเดือนเมษายน 2540 จำเลยทำสัญญากู้เงินจำนวน 500,000 บาท ไว้ให้แก่โจทก์ร่วม ตามสัญญากู้เงินกับสั่งจ่ายเช็คธนาคาร ส. จำกัด (มหาชน) จำนวน 500,000 บาท ประมาณปลายเดือนเมษายน 2540 จำเลยนำเช็คธนาคาร ก. จำกัด (มหาชน) สาขาสีลม จำนวนเงิน 50,000 บาท มาชำระค่าดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมนำไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คและใบคืนเช็ค แม้โจทก์ร่วมจะเบิกความตอบทนายจำเลยขออนุญาตศาลถามว่า โจทก์ร่วมมอบเงินให้แก่ชายที่อ้างเป็น ถ. ไปแต่จำเลยเป็นผู้นับเงินซึ่งเจือสมกับที่จำเลยนำสืบว่าที่อ้างเป็น ถ. เป็นผู้ตรวจนับเงิน จำเลยตรวจนับ 1 ปึก จำนวน 100,000 บาท จึงมิได้เป็นพิรุธว่าพยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความไม่อยู่แก่ร่องแก่รอยแต่ อย่างใด การที่จำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกู้เงินและเข้าร่วมลงลายมือชื่อเป็นพยาน ในสัญญากู้เงินเป็นการผิดวิสัยของการเป็นนายหน้าหาเงินกู้ นอกจากนี้จำเลยยังทำสัญญากู้เงินและสั่งจ่ายเช็คตามจำนวนกู้เงินไปให้แก่ โจทก์ร่วมรวมทั้งจ่ายเช็คชำระหนี้ค่าดอกเบี้ยไว้อีก แสดงให้เห็นว่าจำเลยร่วมกับพวกแบ่งหน้าที่กันทำโดยนำโฉนดที่ดินปลอมไปวาง เป็นหลักประกันเงินกู้ อันเป็นการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงอันควร บอกให้แจ้ง ทำให้จำเลยกับพวกได้เงินไปจากโจทก์ร่วม พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมฟังได้ว่า จำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมและ ฉ้อโกง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2227/2547
"เอกสารสิทธิ" ตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) หมายความว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ แต่แบบคำขอใช้บริการบัวหลวง เอ.ที.เอ็ม ที่จำเลยปลอมขึ้นนั้นเป็นเอกสารที่จำเลยใช้ยื่นต่อธนาคารผู้เสียหายเพื่อขอ ให้ ส. ซึ่งเป็นลูกค้าเงินฝากประเภทสะสมทรัพย์ของธนาคารผู้เสียหายได้ใช้บัตรฝากถอน เงินอัตโนมัติ แต่ยังไม่แน่ว่าธนาคารผู้เสียหายจะอนุมัติตามแบบคำขอใช้บริการดังกล่าวหรือ ไม่ แบบคำขอใช้บริการดังกล่าวมิใช่เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อสิทธิในการฝาก - ถอนเงินกับธนาคารผู้เสียหายโดยตรง จึงมิใช่เอกสารสิทธิตามความใน ป.อ. มาตรา 1 (9) การกระทำของจำเลยซึ่งปลอมแบบคำขอใช้บริการดังกล่าวและใช้เอกสารดังกล่าว จึงไม่เป็นการปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม คงเป็นความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2048/2547
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน ทำให้เจ้าพนักงานหลงเชื่อจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ อันมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานโดยประการที่น่าจะเกิดความเสีย หายแก่เจ้าพนักงานดังกล่าว กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยและประชาชน อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 267 แต่คำขอท้ายฟ้องกลับขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 269 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเรื่องผู้ประกอบวิชาชีพทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จ เห็นได้ว่าโจทก์อ้างบทมาตราผิด เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้อง กรณีเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสองตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 782/2547
เมื่อระหว่างวันที่ 22 กันยายน 2535 ถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2538 จำเลยปลอมใบถอนเงินและใช้ใบถอนเงินดังกล่าวถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากลูกค้า ของธนาคารผู้เสียหาย รวม 20 ครั้ง อันเป็นความผิดสำเร็จไปแล้ว ต่อมาระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน 2537 ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2539 จำเลยได้ปลอมโดยพิมพ์ข้อความในสมุดคู่ฝากที่ธนาคารออกให้แก่นาง บ. และนาย ส. เพื่อให้บุคคลทั้งสองหลงเชื่อว่าเป็นสมุดบัญชีเงินฝากที่แท้จริง และบุคคลทั้งสองมีเงินฝากอยู่ในบัญชีตรงตามจำนวนที่จำเลยทำขึ้น อันเป็นการกระทำเพื่อปกปิดความผิดฐานปลอมและใช้ใบถอนเงินปลอม จึงเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายคนละคนกัน เป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10617/2546
จำเลยทำสำเนาหนังสือมอบอำนาจและสำเนาแบบคำขอโอนและรับโอนทะเบียนรถยนต์ซึ่งเป็น เอกสารปลอมและฉ้อโกงผู้เสียหาย แต่หนังสือมอบอำนาจเป็นเพียงเอกสารซึ่งผู้มอบอำนาจมอบหมายให้ผู้รับมอบอำนาจ มีอำนาจจัดการทำนิติกรรมแทน มิได้เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ จึงไม่เป็นเอกสารสิทธิ ทั้งมิใช่เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ จึงไม่เป็นเอกสารราชการ ส่วนสำเนาแบบคำขอโอนและรับโอนทะเบียนรถยนต์แม้จะเป็นแบบพิมพ์ของกรมการขนส่ง ทางบก แต่ก็เป็นแบบพิมพ์สำหรับผู้ที่ประสงค์จะจดทะเบียนโอนและรับโอนรถยนต์นำไป กรอกข้อความลงไปได้เอง แล้วนำไปยื่นต่อนายทะเบียนเพื่อจดทะเบียนเท่านั้น มิใช่เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ จึงไม่เป็นเอกสารราชการ อีกทั้งมิได้เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ จึงไม่เป็นเอกสารสิทธิ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ ปลอม ตาม ป.อ. มาตรา 266 (1) และใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม ตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (1) จำเลยคงมีความผิดฐานปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอม และฉ้อโกง ตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก กระทงหนึ่ง , มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก และ 341 ที่ศาลชั้นต้นปรับบทกฎหมายไม่ถูกต้อง และศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนโดยมิได้แก้ไข จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3635/2546
ผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269 จะต้องเป็นผู้ประกอบการงานวิชาชีพดังที่ระบุไว้เท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินและเป็นผู้กู้เงินจากธนาคาร ไม่ได้ประกอบวิชาชีพการประเมินราคาทรัพย์ ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นเพียงผู้ทำรายงานการตรวจสอบที่ดินเสนอต่อ ผ. โดย ผ. เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับรองในฐานะผู้ประเมิน จำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นผู้ทำคำรับรองในเอกสารดังกล่าวอันเป็นเท็จ จำเลยที่ 1และที่ 3 จึงไม่มีความผิดตามมาตรา 269

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5548/2545
ธนาคารอาคารสงเคราะห์จ้างโจทก์สำรวจและประเมินราคาทรัพย์สินของผู้กู้ยืมเงิน ซึ่งกำหนดให้โจทก์ต้องควบคุมดูแลลูกจ้างหรือพนักงานหรือตัวแทนของโจทก์ให้ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และต้องส่งผลการสำรวจและประเมินราคาแก่ธนาคารภายในระยะเวลาที่กำหนด การที่จำเลยที่ 3 กรอกข้อความในแบบสรุปผลการประเมินราคา และการที่จำเลยที่ 2 ลงชื่อในฐานะผู้ประเมินราคาและฐานะผู้จัดการสาขาเพื่อจัดส่งให้แก่ธนาคาร อาคารสงเคราะห์ในนามของโจทก์ล้วนแต่เป็นขั้นตอนในการปฏิบัติงานของพนักงาน โจทก์ ผู้ที่ประเมินราคาหรือทำคำรับรองเอกสารตามสัญญาจ้างก็คือโจทก์ จำเลยที่ 3 มิได้ลงชื่อเป็นผู้ประเมินราคาในเอกสารดังกล่าว จำเลยที่ 3 จึงมิใช่ผู้ทำคำรับรองเอกสารอันเป็นเท็จแต่อย่างใด