ความผิดฐานหมิ่นประมาท

มาตรา ๓๒๖  ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๓๒๗  ผู้ใดใส่ความผู้ตายต่อบุคคลที่สาม และการใส่ความนั้นน่าจะเป็นเหตุให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๓๒๖ นั้น

มาตรา ๓๒๘  ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

มาตรา ๓๒๙  ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
(๑) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(๒) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(๓) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
(๔) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

มาตรา ๓๓๐  ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

มาตรา ๓๓๑  คู่ความ หรือทนายความของคู่ความ ซึ่งแสดงความคิดเห็น หรือข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาล เพื่อประโยชน์แก่คดีของตน ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

มาตรา ๓๓๒  ในคดีหมิ่นประมาทซึ่งมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ศาลอาจสั่ง
(๑) ให้ยึด และทำลายวัตถุหรือส่วนของวัตถุที่มีข้อความหมิ่นประมาท
(๒) ให้โฆษณาคำพิพากษาทั้งหมด หรือแต่บางส่วนในหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับหรือหลายฉบับ ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา

มาตรา ๓๓๓  ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้

ถ้าผู้เสียหายในความผิดฐานหมิ่นประมาทตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3920/2562
ข้อความที่จำเลยกล่าวจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงความรู้สึกของวิญญูชนทั่วๆไป เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าข้อความที่กล่าวถึงนั้นถึงขั้นที่ทำให้ผู้ถูกหมิ่นประมาทซึ่งเป็นทนายความน่าจะเสียชื่อเสียง บุคคลอื่นดูหมิ่น เกลียดชังหรือไม่ มิใช่พิจารณาตามความรู้สึกของผู้ถูกหมิ่นประมาทแต่ฝ่ายเดียว ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวว่า "เอาทนายเฮงซวยที่ไหนมา สถุล" นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายของคำว่า "เฮงซวย" ว่า เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ คุณภาพต่ำ ไม่ดี เช่น คนเฮงซวย ของเฮงซวย เรื่องเฮงซวย ส่วนคำว่า "สถุล" ให้ความหมายว่า หยาบ ต่ำช้า เลวทราม (ใช้เป็นคำด่า) เช่น เลวสถุล เช่นนี้ แม้ถ้อยคำที่จำเลยด่าโดยการกล่าวว่าทนายเฮงซวย เป็นเพียงการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทโจทก์ อันเป็นการพูดดูหมิ่นเหยียดหยามให้อับอายเจ็บใจ แต่ยังไม่เป็นการใส่ความให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังก็ตาม แต่เมื่อฟังประกอบกับถ้อยคำตอนท้ายว่า "สถุล" แล้ว วิญญูชนทั่วไปจึงอาจเข้าใจว่า โจทก์ซึ่งเป็นทนายความเอาแน่นอนอะไรไม่ได้ คุณภาพต่ำ ไม่ดีและเป็นไปในทางหยาบ ต่ำช้า เลวทราม ถ้อยคำดังกล่าวจึงอาจทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง อันอาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3493/2562
พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มาตรา 4 บัญญัติว่า ในพระราชบัญญัตินี้ "ผู้พิมพ์" หมายความว่า บุคคลซึ่งจัดการและรับผิดชอบในการพิมพ์ "ผู้โฆษณา" หมายความว่า บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการจัดให้สิ่งพิมพ์แพร่หลายด้วยประการใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขายหรือให้เปล่า "บรรณาธิการ" หมายความว่า บุคคลผู้รับผิดชอบในการจัดทำ และควบคุมเนื้อหาข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ รวมทั้งวัสดุหรือเอกสารที่แทรกในหนังสือพิมพ์โดยความเห็นชอบของบรรณาธิการด้วย จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นการกำหนดความรับผิดของบุคคลผู้เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ต้องรับผิดชอบในการจัดทำและควบคุมเนื้อหาข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ รับผิดชอบในการพิมพ์ และรับผิดชอบในการจัดให้สิ่งพิมพ์แพร่หลายด้วยประการใด ๆ จำเลยที่ 2 ในฐานะบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ ท. จึงต้องรับผิดชอบในการจัดทำและควบคุมเนื้อหาข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ท. มิให้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เมื่อกฎหมายกำหนดให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณามีหน้าที่กระทำการดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยที่ 2 กลับไม่ได้ใส่ใจตรวจสอบ คัดเลือก หรือควบคุมข่าวที่ลงพิมพ์ โดยปล่อยให้มีการตีพิมพ์ข้อความในหนังสือพิมพ์ ท. ที่ไม่เป็นความจริง กระทบสิทธิและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เป็นการไม่รักษาจริยธรรมของสื่อมวลชน อันเป็นการกระทำการโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคท้าย ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดและต้องรับผิดในข้อความที่ลงพิมพ์ หากข้อความนั้นเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ตาม ป.อ. มาตรา 83

ในคดีหมิ่นประมาทซึ่งศาลมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ป.อ. มาตรา 332 (2) ให้อำนาจศาลสั่งให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมด หรือแต่บางส่วนในหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับหรือหลายฉบับ ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา ดังนั้น แม้โจทก์จะมีคำขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันโฆษณาขอโทษโจทก์ในหนังสือพิมพ์ โดยมิได้มีคำขอให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ แต่เมื่อเป็นอำนาจของศาล การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ ท. 3 ครั้ง ภายใน 1 เดือน โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขออันต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 9/2562)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3131/2562
เมื่อพิจารณาสาระสำคัญแห่งคำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบสี่กับพวกอีก 2 คน ในคดีก่อนเปรียบเทียบกับคำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบสี่ในคดีนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องกล่าวหาจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ กระทำความผิดทั้งสองคดีในช่วงวันเวลาเดียวกัน อีกทั้งมูลเหตุแห่งการกระทำความผิดทั้งสองคดีก็เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสิบสี่กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ นำเอาข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูลอันเป็นความลับที่ปรากฏในรายงานการตรวจสอบสืบสวนเรื่องการทุจริตในมหาวิทยาลัย ว. ที่จำเลยจัดทำขึ้นไปเปิดเผยหรือแจ้งข่าวแก่สื่อมวลชนโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสิบสี่ แม้คดีก่อน โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะบุคคลธรรมดาในฐานความผิดที่ยอมความได้ และคดีนี้โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องบังคับให้จำเลยรับผิด ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานในความผิดที่ยอมความไม่ได้ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีนี้และการกระทำความผิดที่มีการฟ้องร้องทั้งสองคดีเกิดขึ้นจากมูลเหตุเรื่องเดียวกันในช่วงวันเวลาเดียวกัน การวินิจฉัยความผิดทั้งสองคดีจึงต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นไปพร้อมกันในคราวเดียวกัน ดังนี้ การที่โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนที่ศาลอาญาและหลังจากนั้นได้ฟ้องจำเลยในคดีนี้ที่ศาลชั้นต้น โดยคดีก่อนยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอาญา จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสิบสี่นำคำฟ้องเรื่องเดียวกันมายื่นฟ้องจำเลยคนเดียวกันเป็นสองคดีซ้อนกัน ซึ่งเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1975/2562
กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2) เป็นการเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณด้วยการหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรงนั้น มีความจำเป็นที่โจทก์จะต้องระบุมาในคำฟ้องให้ชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 ผู้รับกล่าวถ้อยคำอย่างไร เมื่อใด ต่อใคร เพื่อเป็นข้อที่จะให้ศาลพิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขที่จะเรียกถอนคืนการให้ได้หรือไม่ ลำพังแต่การบรรยายว่าจำเลยที่ 1 ด่าว่าโจทก์ด้วยถ้อยคำหยาบคายอีกหลายครั้ง โดยไม่มีรายละเอียดว่า ด่าว่าอย่างไร เหตุเกิดเมื่อใด ซึ่งจำเลยทั้งสามก็ให้การต่อสู้ว่า ฟ้องในส่วนนี้เคลือบคลุม แม้โจทก์จะนำสืบในชั้นพิจารณาว่า จำเลยที่ 1 ด่าโจทก์ว่า "อีเหี้ย" และกล่าวว่า "มึงเอาน้ำกูไปใช้กี่ครั้งแล้ว" แต่ตามคำเบิกความของโจทก์ก็ปรากฏว่า โจทก์จำวันเวลาเกิดเหตุไม่ได้ ดังนี้ คำฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่แจ้งชัด และไม่ใช่เรื่องที่โจทก์จะไปนำสืบในรายละเอียดได้ ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงเคลือบคลุม และเมื่อฟ้องโจทก์มิได้ระบุว่า จำเลยที่ 1 ด่าว่าโจทก์ว่า "อีเหี้ย" คำนี้จึงไม่เป็นประเด็นพิพาทที่โจทก์จะนำสืบได้ จึงเป็นการนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็น ต้องห้ามมิให้รับฟัง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 375/2562
ในคดีหมิ่นประมาท ถ้อยคำพูด หรือสิ่งอื่นอันเกี่ยวกับข้อหมิ่นประมาท ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 วรรคสอง โจทก์ต้องบรรยายไว้ในคำฟ้อง เมื่อโจทก์ที่ 1 มิได้บรรยายฟ้องไว้ ถือว่าไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 1 ประสงค์ให้ลงโทษ แม้จะฟังได้ว่าจำเลยพูดและติดภาพถ่ายโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวจริง ก็ไม่อาจนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาพิจารณาลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6794/2561
ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยหมิ่นประมาทโจทก์อันเป็นการกระทำโดยการโฆษณา ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 จึงเป็นฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิด คำฟ้องของโจทก์ในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คดีอาญาเรื่องใดจะต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาอัตราโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับข้อหาแต่ละกระทงความผิดเป็นสำคัญ เมื่อความผิดในกระทงนั้นมีความผิดหลายบทรวมอยู่ด้วย ถ้าบทหนักไม่ต้องห้ามก็ถือว่าทุกบทไม่ต้องห้าม คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า และฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตาม ป.อ. มาตรา 326, 393 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) เห็นได้ว่าเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ดังนั้น แม้ความผิดฐานหมิ่นประมาทมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และฐานดูหมิ่นซึ่งหน้ามีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ก็ย่อมไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงด้วย

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) เดิม แต่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งมาตรา 14 (1) ที่แก้ไขใหม่ใช้กับกรณีกระทำการโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทางอินเทอร์เน็ตหรือทางออนไลน์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมหรือเท็จ ที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนแต่ไม่ใช้กับกรณีนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อเป็นการใส่ความผู้อื่นโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งมีบทบัญญัติตาม ป.อ. ระบุไว้ว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทแล้ว การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่มีมูลเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ที่แก้ไขใหม่ อีกต่อไป ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2778/2561
พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับนับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2560 อันเป็นเวลาระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โดยความในมาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และให้ใช้ความที่บัญญัติใหม่แทน โดยมาตรา 14 ที่บัญญัติใหม่ได้ยกเลิกความในมาตรา 14 (1) จากเดิมที่บัญญัติว่า " (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน " โดยบัญญัติความใน (1) ใหม่เป็นว่า " (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา " กรณีเป็นเรื่องกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังกำหนดองค์ประกอบความผิดฐานนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จว่าต้องไม่เป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาด้วยจึงจะเข้าเกณฑ์เป็นความผิด เมื่อคดีได้ความว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 328 การกระทำของจำเลยที่ 2 ย่อมไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ที่บัญญัติในภายหลัง ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง และจำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 14 (5) ซึ่งเป็นบทความผิดฐานเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 14 (1) ด้วย กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนี้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6747/2560
ขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 เป็นรองหัวหน้าพรรค ป. และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีโจทก์ที่ 2 เป็นภริยา ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรค พ. ซึ่งเป็นฝ่ายค้านในขณะนั้น จำเลยที่ 3 และที่ 4 ตรวจสอบพบว่า บริษัท ก. มีหลักเกณฑ์การปรับระดับชั้นที่นั่งโดยสารอยู่ 2 หลักเกณฑ์ คือ กรณีที่หนึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทฯ กำหนดไว้ และอีกกรณีหนึ่งเป็นกรณีนอกหลักเกณฑ์ที่บริษัทฯ กำหนดไว้เป็นกรณีพิเศษว่าพนักงานระดับใดมีอำนาจอนุมัติและจะอนุมัติได้ในกรณีใดบ้าง จำเลยที่ 3 และที่ 4 ตรวจสอบหลักฐานการเดินทางของโจทก์ทั้งสองและครอบครัวรวม 14 เที่ยวบิน มีการปรับระดับชั้นที่นั่งบัตรโดยสารของโจทก์ที่ 2 โดยใช้สิทธิบัตรทองอาร์โอพีคลับโกลด์ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในกรณีที่หนึ่งเพียงรายการเดียว รายการอื่นๆ นอกนั้นล้วนเป็นการปรับชั้นที่นั่งให้สูงขึ้นแบบนอกหลักเกณฑ์ โดยบางรายการมีการระบุผู้อนุมัติพร้อมเหตุผล แต่อีกหลายรายการระบุเพียงตัวผู้อนุมัติเท่านั้น แต่มิได้ระบุเหตุผล บางรายการอนุมัติด้วยวาจา บางรายการมิได้ระบุว่าอนุมัติด้วยวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษร พฤติการณ์แห่งคดีจึงมีข้อเคลือบแคลงสงสัยว่า การอนุมัติปรับชั้นที่นั่งให้สูงขึ้นแก่โจทก์ทั้งสองและครอบครัวดำเนินการโดยถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของบริษัทฯ หรือไม่ บริษัท ก. มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ การเลือกกรรมการบริษัทฯ กระทำโดยที่ประชุมผู้ถือหุ้นเป็นผู้ลงคะแนนเลือก โดยก่อนที่จะนำรายชื่อของคณะกรรมการให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงคะแนนนั้น จะต้องมีการเสนอรายชื่อดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการคลังพิจารณาก่อน โดยสถานะและตำแหน่งกับอำนาจหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังดังกล่าว เมื่อพิจารณาประกอบอัตราค่าโดยสารในแต่ละชั้นที่นั่ง เช่น สำหรับการเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ บัตรโดยสารชั้นประหยัดราคา 34,745 บาท ชั้นธุรกิจ ราคา 150,765 บาท และชั้นหนึ่ง ราคา 228,200 บาท ประโยชน์ที่โจทก์ทั้งสองกับครอบครัวได้รับจากการปรับระดับชั้นที่นั่งโดยสารให้สูงขึ้นรวม 14 เที่ยวบิน จึงอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้มิใช่จำนวนเล็กน้อย แม้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าโจทก์ที่ 1 ใช้อภิสิทธิ์ใดๆ ในการเลื่อนชั้นบัตรที่นั่งโดยสารก็ตาม แต่โจทก์ที่ 1 ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีหน้าที่ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมที่จะต้องดูแลผลประโยชน์ของแผ่นดิน แม้พนักงานผู้มีอำนาจของบริษัทฯ จะพิจารณาอนุมัติเองโดยโจทก์ที่ 1 มิได้ร้องขอ โจทก์ที่ 1 เองก็ควรจะตระหนักรู้และอาจใช้วิจารณญาณได้ว่าสมควรที่โจทก์ที่ 1 จะรับหรือปฏิเสธประโยชน์ที่จะได้รับจากการอนุมัติปรับเลื่อนชั้นที่นั่งโดยสารรวม 14 เที่ยวบิน ซึ่งอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้มิใช่น้อยเช่นนั้น ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนใส่ความโจทก์ทั้งสองว่า ในการเลื่อนชั้นที่นั่งโดยสารของโจทก์ทั้งสองและครอบครัวอาจทำได้ในสองลักษณะ คือ 1 โจทก์ที่ 1 อาจใช้อำนาจและอภิสิทธิ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสั่งให้พนักงานที่มีอำนาจดำเนินการอนุมัติให้เลื่อนชั้นบัตรโดยสารเป็นชั้นหนึ่งโดยไม่มีการจ่ายค่าโดยสารเพิ่มทั้งอาจมีการสั่งให้เลื่อนชั้นการเดินทางของบุตรจากชั้นประหยัดเป็นชั้นธุรกิจด้วย และ 2 ผู้มีอำนาจในการอนุมัติทำการเลื่อนชั้นบัตรโดยสารให้โจทก์ที่ 1 กับครอบครัวเพื่อแลกผลประโยชน์หรือความก้าวหน้าของตน หรืออาจมีผู้มีอำนาจเหนือกว่าเป็นผู้สั่งการ จึงเป็นการตั้งข้อสังเกตที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทน พรรค พ. ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านอยู่ในขณะนั้น เมื่อตรวจสอบพบหลักฐานความไม่ชอบมาพากลของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ย่อมชอบที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะแสดงความคิดเห็นเพื่อติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ การกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 329 (3)

หลักการสำคัญของการดำเนินคดีอาญาว่า แม้เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติยกเว้นความผิดให้แก่จำเลยก็ตาม โจทก์ก็ยังคงมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เข้าข้อยกเว้นความผิดเช่นนั้น หาใช่ว่าในกรณีที่จำเลยได้รับยกเว้นความผิดเช่นนั้นแล้วหน้าที่นำสืบจะตกอยู่แก่จำเลยไม่

สาระสำคัญของบทยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (3) นั้น อยู่ที่ว่า เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ดังนั้น หากความเห็นหรือข้อความที่แสดงเพื่อใส่ความผู้อื่นนั้น ต้องด้วยสาระสำคัญของข้อยกเว้นความผิดดังกล่าวและไม่ว่าผู้ใส่ความจะแสดงความคิดเห็นหรือข้อความด้วยวิธีการอย่างไร ก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่จะกระทำได้ แม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีอำนาจหน้าที่และมีสิทธิที่จะใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดสิทธิการตรวจสอบเอาไว้คือ การยื่นกระทู้ถาม กระทู้สด เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือยื่นถอดถอนรัฐมนตรีได้ แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กลับใช้สิทธิการตั้งโต๊ะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่กระทำได้ตามมาตรา 329 (3) ดังกล่าวข้างต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 319/2560
จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ตามบทนิยามของ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มาตรา 4 มิได้มีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องรับผิดชอบในการผลิตข่าวแต่อย่างใด เมื่อโจทก์มิได้นำสืบพยานให้ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เกี่ยวข้องกับข่าวตามที่โจทก์นำมาฟ้องอย่างไร จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทได้

จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของสื่ออิเล็กทรอนิกส์เว็บไซต์มติชนออนไลน์ เป็นผู้นำเสนอข่าวสารทางระบบคอมพิวเตอร์ในนามของตนเอง คือเว็บไซต์มติชนออนไลน์ จำเลยที่ 1 ย่อมเป็นผู้ให้บริการตามบทนิยามของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3 และการที่เว็บไซต์มติชนออนไลน์เสนอข่าวใด ๆ ย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของและเป็นผู้ให้บริการ ยินยอมให้มีการนำเสนอข่าวดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าได้มอบให้บุคคลอื่นควบคุมดูแลบริหารจัดการเว็บไซต์โดยจำเลยที่ 1 มิได้เกี่ยวข้องกับข่าวดังกล่าวเลยหาได้ไม่ เพราะบทกฎหมายข้างต้นมีเจตนารมณ์มุ่งประสงค์จะควบคุมการทำหน้าที่ของผู้ให้บริการโดยเฉพาะ

โจทก์มิได้เป็นแกนนำหรือเข้าร่วมการชุมนุมตามข่าวที่ปรากฏ ถือได้ว่าข่าวหรือข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวโจทก์เป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ เมื่อข่าวดังกล่าวระบุว่าการชุมนุมมีการนำรถบรรทุกสิบล้อมาปิดถนน อันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เป็นเหตุให้รถทุกประเภทไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน ย่อมทำให้โจทก์ซึ่งตามข่าวระบุว่าเป็นแกนนำการชุมนุมได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียงได้ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ให้บริการยินยอมให้มีการนำข้อมูลอันเป็นเท็จดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าเกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือประชาชน จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 15 ประกอบมาตรา 14 (1)

หนังสือพิมพ์รายวันมติชนของจำเลยที่ 1 เผยแพร่และวางจำหน่ายทั่วราชอาณาจักร ส่วนเว็บไซต์มติชนออนไลน์ก็เผยแพร่โดยระบบสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวได้ทั่วราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน ถือได้ว่าการกระทำตามฟ้องเกิดขึ้นทั่วราชอาณาจักร โจทก์จึงใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นได้ไม่ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7301/2559
จำเลยด่าโจทก์ว่า เป็นคนจัญไร ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายไว้ว่า "เลวทราม เป็นเสนียด ไม่เป็นมงคล" อันเป็นถ้อยคำรุนแรงไร้ความเคารพนับถือเป็นการลบหลู่เหยียดหยาม อกตัญญูต่อบิดาผู้มีพระคุณ ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ซึ่งเป็นบิดาและเป็นผู้ให้อย่างร้ายแรง จึงเป็นเหตุให้โจทก์เรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6593/2559
ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ไม่ใช่ความผิดที่มีผลเกิดขึ้นต่างหากจากการกระทำ เมื่อจำเลยพูดให้สัมภาษณ์นักข่าว การกระทำของจำเลยที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นความผิดย่อมสำเร็จ เมื่อนักข่าวซึ่งเป็นบุคคลที่สามทราบข้อความแล้ว โดยคนที่ถูกหมิ่นประมาทไม่ต้องรู้ว่าตนเองถูกหมิ่นประมาท สำหรับข้อที่ว่าโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังนั้น เป็นพฤติการณ์ประกอบการกระทำ ไม่ใช่ผลของการกระทำ จึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 5 วรรคแรก เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทนอกราชอาณาจักรและไม่ใช่กรณีกระทำความผิดที่ประมวลกฎหมายอาญาถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร ผู้กระทำความผิดจึงไม่ต้องรับโทษในราชอาณาจักร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2813/2559
การเปิดบ่อนที่มีเจ้าพนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย มิใช่เป็นเพียงข้อเท็จจริงที่ประชาชนโดยทั่วไปประสงค์จะทราบเท่านั้น เพราะเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่า การพนันเป็นการมอมเมาประชาชนให้หลงในอบายมุข ก่อให้เกิดการกระทำความผิดอื่นตามมาเป็นลูกโซ่ มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หากนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลปราบปรามอาชญากรรมกลับมากระทำความผิดเสียเอง นอกจากจะนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธาต่อวงการราชการตำรวจแล้ว ยังมีผลกระทบต่อการปราบปรามอาชญากรรมอีกด้วย ที่จำเลยทั้งสองสัมภาษณ์ พล.ต.อ. ส. ประธานสอบข้อเท็จจริงกรณีบ่อนรัชดาซึ่งมีหน้าที่โดยตรง ก็เพื่อทำให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องปรากฏ ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์มาก่อน เชื่อว่าจำเลยทั้งสองกระทำไปโดยสุจริต เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ แม้จะมีข้อความหมิ่นประมาท การกระทำนั้นย่อมไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 329 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4998/2558
การนำหนังสือพิมพ์ไปแจกโดยทราบว่ามีเนื้อหาข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ถือได้ว่าเป็นการกระจายข่าวไปสู่สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไปแล้ว จึงเป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3546/2558
ข่าวเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและมีการออกโฉนดที่ดินทับซ้อนพื้นที่สวนป่าเป็นข่าวที่สังคมให้ความสนใจเพราะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของทุกคนในสังคม และข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ 1 นำมาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของตนเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการสืบสวนและสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมถึงเจ้าพนักงานตำรวจ เมื่อจำเลยทั้งสองในฐานะสื่อมวลชนมีหน้าที่เสนอข่าวสารที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองให้ประชาชนทราบโดยเสนอข้อมูลไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องสืบสวนและสอบสวนได้ความ หาใช่เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองสร้างขึ้นมาเองไม่ แม้ข้อความบางส่วนอาจทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจว่าโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดด้วยอันเป็นการใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย โดยที่โจทก์ยังมิได้ถูกเรียกไปแจ้งข้อกล่าวหาหรือดำเนินคดี แต่การดำเนินคดีก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานผู้เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการได้ภายในกำหนดอายุความ ทั้งการนำเสนอข่าวสารเชิงวิเคราะห์ของจำเลยทั้งสอง ก็เป็นการติชมวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความคิดเห็นไปตามข้อเท็จจริงที่ได้ความมาจากการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องโดยสุจริตและติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19384/2557
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านพักทหารกองบิน 2 เลขที่ 302/773 หมู่ที่ 7 ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี อันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของผู้เสียหาย แล้วพูดใส่ความผู้เสียหายว่า "อีกะหรี่ อีหน้าหี อีหน้าหัวควย อีดอกทอง อีสัตว์" ต่อหน้าผู้เสียหายและ ฤ. อันเป็นการดูถูกเหยียดหยาม ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าผู้เสียหายเป็นคนไม่ดีประพฤติชั่ว โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกผู้อื่นดูหมิ่น เกลียดชัง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362, 364 และ 393 ยกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14169/2557
ความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการใช้ข้อความ ต้องพิจารณาข้อความว่า เมื่อวิญญูชนโดยทั่วไปได้พบเห็นและอ่านข้อความแล้ว จะส่งผลให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังหรือไม่ เมื่อพิจารณาข้อความที่ จ. เขียนเห็นได้ว่า ความหมายของข้อความเป็นการแสดงว่าผู้เขียนยืนยันข้อเท็จจริงและเชื่อตามหนังสือร้องเรียนที่ จ. อ้างว่าได้รับจากชาวบ้านว่า โจทก์เป็นคนนำเมทแอมเฟตามีนมาส่งแก่ผู้จำหน่าย โดยผู้เขียนและจำเลยที่ 3 ไม่ได้ใส่ใจตรวจสอบว่า เป็นความจริงและจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือไม่เพียงใด ทั้งต่อมาโดยผลของการตีพิมพ์ข้อความยังเป็นเหตุให้โจทก์ถูกผู้บังคับบัญชาไม่ไว้วางใจและตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบอาชีพรับราชการไม่พึงปรารถนา แม้ผลการสอบสวนจะไม่มีความผิดแต่ก็จะมีมลทินมัวหมอง และอาจะมีผลต่อความก้าวหน้าในชีวิตราชการอีกด้วย ข้อความดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จำเลยที่ 3 ในฐานะเป็นบรรณาธิการมีหน้าที่ตรวจ จัดทำ และควบคุมข่าวและข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ต้องถือเป็นตัวการร่วมรับผิดในข้อความที่ลงพิมพ์และหมิ่นประมาทโจทก์

จ. ผู้เขียนข่าวไม่รู้จักโจทก์ ไม่รู้ว่าดาบ ก. มีตัวตนหรือไม่ ไม่ได้ตรวจสอบว่าหนังสือร้องเรียนเป็นความจริงหรือไม่ และไม่ได้เก็บหนังสือร้องเรียนไว้ แสดงว่า ผู้เขียนไม่ได้มีข้อมูลหรือพฤติการณ์ใด ๆ ที่จะส่อแสดงว่า ที่อำเภอปะคำมีตำรวจชื่อดาบ ก. นำเมทแอมเฟตามีนมาส่งให้ชาวบ้านจำหน่าย ในฐานะเป็นสื่อมวลชน เมื่อมีหนังสือร้องเรียนซึ่งไม่ได้ลงชื่อผู้ร้องเรียนเพียงฉบับเดียวเท่านั้น ข้อมูลในการกล่าวหาโจทก์ที่ได้มาเพียงเท่านี้ วิญญูชนย่อมทราบได้ว่าอาจมีการกลั่นแกล้งกัน จำเลยที่ 3 ต้องใช้ความระมัดระวังในการเสนอข่าวมากเป็นพิเศษ จะถือว่าเป็นสื่อมวลชนแล้วจะเสนอข่าวอย่างใดก็ได้นั้นมิได้ มิฉะนั้นอาจจะเป็นช่องทางให้บุคคลบางคนบางกลุ่มใช้สื่อในการทำลายชื่อเสียงกันและย่อมถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยมิชอบด้วย การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงไม่ถือว่าเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตหรือเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชน การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10840/2557
การพิจารณาว่าผู้กล่าวใส่ความมุ่งหมายให้คำกล่าวใส่ความสร้างความเสียหายแก่ชื่อเสียงของผู้ถูกใส่ความคนใด นั้น จะพิจารณาแต่เพียงถ้อยคำพูดเฉพาะส่วนใด แยกเป็นส่วนๆ ไม่ได้ หากแต่ต้องพิจารณาภาพรวมที่ผู้ใส่ความกล่าวถึงทั้งหมดรวมกัน อีกทั้งยังอาจต้องพิจารณาถึงสถานที่และเวลาโอกาสรวมทั้งประเด็นปัญหาและเป้าหมายที่ผู้กล่าวใส่ความต้องการสื่อถึงผู้รับฟังคำพูดนั้นประกอบกันด้วย ซึ่งเมื่อนำข้อพิจารณาเช่นว่านี้มาวินิจฉัยประกอบคำพูดอภิปรายของจำเลยในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดแล้วมีข้อความโดยรวมบ่งชี้ชัดแจ้งว่าจำเลยมุ่งหมายใส่ความพาดพิงถึงบริษัทโจทก์ซึ่ง ณ. ภริยาของ ส. ผู้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทด้วยผู้หนึ่ง และบริษัทโจทก์ได้รับประโยชน์จากการยกเว้นภาษีสรรพสามิต เพราะ ส. ผลักดันให้มีการออกประกาศกรมสรรพสามิตเพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทโจทก์นั่นเอง คำกล่าวอภิปรายของจำเลยเช่นนี้ได้ความชัดเจนเพียงพอที่ทำให้ผู้ฟังคำอภิปรายเข้าใจได้ว่าบริษัทที่จำเลยยกตัวอย่างว่าได้รับประโยชน์จากการที่ ส. ผลักดันให้มีการออกประกาศกรมสรรพสามิตยกเว้นภาษีสรรพสามิต คือ บริษัทโจทก์นั่นเอง หาอาจเข้าใจว่าเป็นบริษัทอื่นนอกจากบริษัทโจทก์ไม่โจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10839/2557
การที่จำเลยไปให้ข่าวและหนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวแพร่หลายทั่วจังหวัดลำปางว่า จำเลยซื้อสลากเลขท้าย 3 ตัวตรงหมายเลข 966 ประจำงวดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 แล้วถูกรางวัล โจทก์ร่วมไม่ยอมจ่ายเงินรางวัลให้แก่จำเลย ซึ่งไม่เป็นความจริง ถือเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมโดยมุ่งประสงค์ให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง และการที่จำเลยให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ จำเลยย่อมทราบดีว่าผู้รับข้อความคือผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน อาจนำเสนอข่าวสารที่ได้รับมาเผยแพร่ต่อบุคคลทั่วไป ทั้งข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการถูกเงินรางวัลแต่ไม่ได้รับเงินรางวัลอันเป็นความหวังของบุคคลทั่วไปที่ซื้อสลาก ซึ่งมีลักษณะเป็นเรื่องที่สนใจของประชาชน ถือว่าจำเลยมีเจตนาเล็งเห็นผลได้ว่าผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ต้องนำข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ตามที่จำเลยให้สัมภาษณ์ เมื่อหนังสือพิมพ์นำข้อความที่ให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพ์โฆษณาสมตามเจตนาของจำเลยแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตาม ป.อ. มาตรา 328

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7134/2557
จำเลยฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายและเสรีภาพ ดังนี้ การบรรยายฟ้องว่า โจทก์พูดจาข่มขู่จำเลยอันมิใช่เป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยมอันเนื่องมาจากการที่จำเลยใช้สิทธิในการเข้าตรวจสอบที่ดินและอาคารตามฟ้องซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย โดยโจทก์ได้พูดจาข่มขู่ต่อจำเลยว่า ใครเข้าไปเดี๋ยวจะเอาเข้าคุกให้หมดเลยทั้งคนเข้าไป จะเป็นทนายหรือตำรวจ เดี๋ยวจะเอาเข้าคุกให้หมด ทั้งที่จำเลยได้ซื้อที่ดินและอาคารมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล โจทก์เป็นทนายความมีความรู้ทางกฎหมายมากกว่าคนทั่วไปกลับกล่าวคำข่มขู่ดังกล่าวด้วยน้ำเสียงที่ก้าวร้าว รุนแรง และมิใช่เป็นการข่มขู่ที่จะใช้สิทธิตามปกตินิยม ทำให้จำเลยกลัวและไม่สามารถตรวจสอบที่ดินและอาคารอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยได้อย่างสมัครใจเนื่องจากกลัวว่าโจทก์สามารถทำให้จำเลยเข้าคุกได้เพราะแม้แต่เจ้าพนักงานตำรวจโจทก์ยังกล้าพูดข่มขู่ จึงเป็นการใช้สิทธิทางศาล ซึ่งจำเลยจำเป็นต้องกล่าวมาในฟ้องเพื่อให้เห็นว่าการกระทำของโจทก์เป็นความผิดฐานร่วมกันข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายและเสรีภาพ ถือได้ว่าเป็นข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลของคู่ความเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5917/2557
ตามทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองได้ความเพียงว่ามีการลงข้อความในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ตามฟ้องเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของและเป็นนิติบุคคลรู้เห็นหรือร่วมดำเนินการในการลงพิมพ์ข้อความดังกล่าว ทั้งกิจการหนังสือพิมพ์ของจำเลยที่ 2 แบ่งโครงสร้างด้านฝ่ายข่าวและด้านบริหารแยกต่างหากจากกัน โดยบรรณาธิการจะเป็นผู้รับผิดชอบด้านฝ่ายข่าว ส่วนฝ่ายบริหารจะดูแลทางด้านธุรกิจและการตลาด ไม่แทรกแซงก้าวก่ายซึ่งกันและกัน จำเลยที่ 2 ไม่รู้เห็นเกี่ยวข้องกับการลงพิมพ์ตามฟ้อง ดังนี้ การที่จะให้จำเลยที่ 2 รับผิดในทางอาญาจะต้องได้ความว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำการอันใดอันหนึ่งซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใส่ความหรือมีส่วนร่วมในการใส่ความโจทก์ร่วมทั้งสอง การที่จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ จะให้ถือว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดด้วยหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20106/2556
จำเลยเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด โจทก์เคยเป็นประธานทอดกฐิน โจทก์ จำเลย บุคคลที่เกี่ยวข้องกับวัดและกรรมการของวัดขัดแย้งกันเกี่ยวกับเรื่องการเงินของวัดแยกออกเป็นหลายฝ่าย และกล่าวหาอีกฝ่ายยักยอกเงินของวัดจนมีการฟ้องคดีต่อศาล โจทก์เขียนข้อความกล่าวหาจำเลยว่าเคยบวชพระและมีประวัติเป็นอลัชชียักยอกเงินของวัด ไม่มีความละอายต่อบาป และเขียนป้ายประกาศติดไว้ที่หน้าวัดห้ามจำเลยเข้าบริเวณวัดและจำเลยยักยอกเงินของวัด ซึ่งเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยเป็นคนโกง เป็นคนไม่ดี การที่จำเลยเขียนหนังสือ และแจกจ่ายหนังสือถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวัดเป็นทำนองตอบโต้โจทก์ เนื่องจากจำเลยเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด และได้รับผลกระทบทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง การแสดงข้อความของจำเลยเป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมที่จะป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13622/2555
จำเลยแจกจ่ายแผ่นปลิวโฆษณามีข้อความว่า "เรียน ฯพณฯ รัฐมนตรี ผู้สื่อข่าว และท่านที่ใจเป็นธรรมทุกท่านทราบ เนื่องจาก อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม มีพื้นที่ต่ำบางส่วนเป็นทางรองรับน้ำ... ระบายออกทางแม่น้ำมูล... ต่อมาความเจริญเริ่มเข้ามา ที่ดินเริ่มมีราคาแพง ทำให้ผู้ที่มีที่ดินติดกับทางระบายน้ำโบราณบุกรุกโดยถมดินและก่อสร้าง... เป็นสาเหตุทำให้น้ำระบายได้ช้า เกิดน้ำท่วม... เรื่องนี้ทางราชการทราบดีแต่ไม่กล้าแก้ไข คงกลัวอิทธิพล... ส่วนอีกราย เป็น ส.ส. เจ้าของโรงสีใหญ่ อยากได้ที่ดินมาก ล้อมรั้วคอนกรีตฮุบหนองน้ำสาธารณะผนวกเข้ากับที่ตัวเองอย่างหน้าด้านที่สุด แปลกจริงหนอเศรษฐีอยากได้ที่ดินใช้วิธีที่น่าละอายที่สุด เข้าข่ายผู้มีอิทธิพลทางด้านใช้อำนาจบุกรุกที่สาธารณะ..." ให้แก่ผู้ที่อยู่ในงาน เป็นการใส่ความว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม ใช้อิทธิพลฮุบเอาสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปเป็นของตนโดยมิชอบอย่างไม่มีความละอายแก่ใจ ที่วิญญูชนอ่านแล้วย่อมรู้สึกดูหมิ่นและเกลียดชังผู้เสียหายได้ในทันที อันเป็นการหมิ่นประมาทผู้เสียหายอย่างชัดเจน แม้หากจำเลยไปพบเห็นข้อความในแผ่นปลิวโฆษณา ไม่ว่าข้อความดังกล่าวจะเป็นความจริงดังจำเลยอ้างหรือไม่ แต่ก็มีวิธีการที่จำเลยจะดำเนินการหรือร้องเรียนต่อหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบได้อีกหลากหลายวิธีโดยไม่มีเหตุที่ต้องไปละเมิดต่อสิทธิของบุคคลใด จึงไม่มีความจำเป็นใดเลยที่จำเลยจะต้องแจกจ่ายเผยแพร่แผ่นปลิวโฆษณาข้อความหมิ่นประมาทผู้เสียหายในสภาพการซึ่งผู้เสียหายนั่งอยู่ในงานที่มีทั้งนักการเมืองระดับสูงและข้าราชการผู้ใหญ่และประชาชนจำนวนมาก การกระทำของจำเลยดังกล่าวเห็นได้ชัดว่ามีการเตรียมการไว้ล่วงหน้าโดยมีเจตนาที่ต้องการประจานผู้เสียหายให้ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างมาก ทั้งต่อ ส., ช. ข้าราชการผู้ใหญ่ และประชาชนในพื้นที่ซึ่งไปร่วมงานจำนวนมากนั่นเอง จึงเป็นการใส่ความผู้เสียหายในประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังแล้ว หาใช่มีเจตนาเพียงต้องการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม หรือเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ อันจะทำให้จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) (3) ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6378/2555
จำเลยเคยเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนที่เกิดเหตุแต่เกษียณอายุไปแล้วได้ทำหนังสือต่อว่าโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการขณะเกิดเหตุเกี่ยวกับเรื่องการประเมิน ส. ครูในโรงเรียนว่า "ลองเอาแบบประเมินครูมาประเมินโจทก์ร่วม ให้คะแนนอย่างยุติธรรมดูซิว่าครูกับตัวโจทก์ร่วมมีความแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด โจทก์ร่วมทราบไหมว่าบางข้อเขาไม่มีหน้าที่ต้องทำและไม่ได้รับมอบหมายให้คะแนนศูนย์ มันยุติธรรมหรือไม่..." ข้อความดังกล่าวเป็นการกล่าวถึงโจทก์ร่วมว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประเมินผลการปฏิบัติงานของครูว่า ประเมินอย่างไม่ยุติธรรม ซ้ำเติมไม่มีเมตตาธรรมต่อครู ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าโจทก์ร่วมมีพฤติกรรมในทางไม่ดี น่าระอาไม่เหมาะที่จะเป็นครูผู้บริหารของโรงเรียน การประเมินดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับจำเลย และแม้จำเลยจะเคยเป็นครูผู้บริหารโรงเรียนดังกล่าวมาก่อนก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏว่าขณะเกิดเหตุจำเลยเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการของโรงเรียนแต่อย่างใด กรณีจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 509 - 510/2553
ขณะเกิดเหตุ ต. ผู้เสียหายดำรงตำแหน่งเป็นนายอำเภอเมืองนครสวรรค์ มีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลในเขตท้องที่จังหวัดนครสวรรค์ จำเลยที่ 1 เป็นราษฎร จำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการเจ้าของและผู้พิมพ์โฆษณาหนังสือพิมพ์ซึ่งออกจำหน่ายแก่ประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ จำเลยทั้งสองร่วมกันเขียนข้อความลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ฉบับลงวันที่ 1 สิงหาคม 2542 ในหนังสือพิมพ์ว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นนายอำเภอไม่ดำเนินการให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีเรื่องที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษ ส. ซึ่งสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบางม่วงว่า ส. ไม่ได้อยู่ในภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ประจำในหมู่ที่ 2 ตำบลบางม่วงไม่น้อยกว่า 15 ปี และนำสำเนาทะเบียนบ้านปลอมเป็นเอกสารในการยื่นสมัครอันเป็นการแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน ปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม การที่ผู้เสียหายไม่ดำเนินคดีเรื่องที่จำเลยที่ 1 ร้องทุกข์กล่าวโทษมีลักษณะหน่วงเหนี่ยวส่อไปในทางที่จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและเป็นการที่ผู้เสียหายละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันเขียนข้อความลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์โดยจำเลยที่ 1 ได้ติดตามเรื่องราวขอทราบผลการร้องทุกข์กล่าวโทษจากผู้เสียหายก่อนแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่ตอบ จำเลยที่ 1 เป็นประชาชนในตำบลบางม่วง ย่อมมีส่วนได้เสียในการดำเนินการขององค์การบริหารส่วนตำบลบางม่วง และการเป็นสมาชิกภาพของสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล มีอำนาจในการบริหาร จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม และเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7788/2552
จำเลยจัดสรรที่ดินริมทะเลขาย โจทก์เป็นผู้ซื้อรายหนึ่ง จำเลยฟ้องโจทก์เป็นคดีแพ่งกล่าวหาว่า โจทก์รุกล้ำชายหาด และแจ้งเรื่องเป็นหนังสือทางไปรษณีย์ถึงผู้ซื้อที่ดินรายอื่นอีกหลายรายในโครงการจัดสรร การส่งหนังสือของจำเลยดังกล่าวมีลักษณะเป็นเพียงการแจ้งหรือไขข่าวไปยังเฉพาะกลุ่มบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในโครงการเช่นเดียวกับโจทก์ ยังไม่ถึงกับเป็นการกระจายข่าวไปสู่สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป ไม่เป็นหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7651/2552
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 326, 328 ซึ่งตามมาตรา 328 การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนจึงเป็น องค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 326 ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) มาด้วย แต่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดเพียงกรรมเดียวต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลจังหวัด ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยผู้พิพากษาคนเดียวเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดี จึงเป็นการไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) และมาตรา 26

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 387/2552
คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าจำเลยแถลงข่าวเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินอยู่ในทำนองคลองธรรมและ เป็นไปในทางสุจริต มีความชอบธรรมที่จะเปิดเผยให้ประชาชนทราบถึงข้อเท็จจริงเพื่อป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตลอดจนแสดงความคิดเห็นติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่มีอคติใด ๆ กับโจทก์ จึงมิใช่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ตาม ป.อ. มาตรา 329 นั้น ฎีกาของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการประสงค์ให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงใหม่ เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ ซึ่งเท่ากับเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ที่ฟังว่าการแถลงข่าวของจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์ได้รับผลประโยชน์จำนวนมากจากโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซี.ดี.เอ็ม.เอ ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 1 ทราบดีว่าการแถลงข่าวเช่นนั้นเป็นเรื่องไม่จริง โจทก์จะได้รับความเสียหายถือว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงมิใช่ปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7028/2551
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 326 และมาตรา 328 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 35 และทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดดังกล่าวเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ที่ศาลอุทธรณ์มิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ ในส่วนนี้จึงไม่ชอบ

ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มาตรา 3 ยกเลิก พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2550 เป็นต้นไป และไม่ปรากฏว่า พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 บัญญัติให้บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ต้องรับผิดเป็นตัวการในความผิดอันเกี่ยว ด้วยหนังสือพิมพ์อีก ฉะนั้น การกระทำของจำเลยที่ 2 ซึ่งเดิมเป็นความผิดเพราะมีฐานะเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์จึงไม่เป็นความ ผิดอีกต่อไป จำเลยที่ 2 พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยังมีความผิดฐานนี้เป็นความผิดต่อแผ่นดิน โจทก์ไม่อาจขอถอนฟ้องหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาได้ จึงต้องกำหนดโทษเสียใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4459/2551
เอกสารซึ่งแนบมากับสำเนาหนังสือของโจทก์ที่ส่งให้จำเลยที่ 1 ซึ่งขอให้ระงับการก่อสร้างหลังคาคลุมถนนกันแดดมีข้อความว่า "พวกเราชาวแม่ค้าทั้งหลายต้องช่วยกันต่อต้านคนรวยทั้งหลายที่ชอบรับแก (ที่ถูกรังแก) คนจนอย่างพวกเราแม่ค้าทั้งหลาย ตอนนี้สมาชิกสภาเทศบาลบางคนที่เป็นคนรวย ทำเรื่องระงับการก่อสร้างหลังคาคลุมแดด (ที่ถูกหลังคาคลุมถนนกันแดด) ที่ทางเทศบาลทำให้กับพวกเราแต่มีสมาชิกเทศบาลซึ่งพวกเราได้อุตส่าห์เสียเวลา หยุดขายของไปเลือกมันมาเป็นผู้แทนของเรา พอเวลามันได้เป็นแล้วมันกับ (ที่ถูก กลับ) มาต่อต้านพวกเรา ซึ่งเป็นแม่ค้าขายของจน ๆ อย่างพวกเรา มันทำเรื่องร้องเรียนไปทางเทศบาลพวกเรารอง (ที่ถูกลอง) อ่านดูว่ามันทำถูกหรือทำผิด" นั้น มีความหมายว่า โจทก์ซึ่งได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลตำบล ภ. แล้วเพราะพ่อค้าแม่ค้าในตลาด 13 เมตร หยุดขายของไปเลือกตั้งมาไม่รู้จักบุญคุณ มีหนังสือให้ระงับการก่อสร้างหลังคากันแดดที่เทศบาลตำบล ภ. ชุดเดิมก่อสร้างค้างไว้ ย่อมทำให้พ่อค้าแม่ค้าที่ขายในตลาดดังกล่าวซึ่งรวมทั้งจำเลยที่ 3 ด้วย เดือดร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาฝนตกไม่อาจใช้ร่มใหญ่กันน้ำฝนได้ ทำให้การค้าขายของจำเลยที่ 3 กับพวกไม่สะดวก เป็นการรังแกคนจนแทนที่จะช่วยดูแล ทำให้โจทก์ในฐานะสมาชิกสภาเทศบาลต้องเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชัง อาจทำให้โจทก์ไม่ได้รับเลือกตั้งในวาระต่อไปได้ แม้ว่าในข้อความดังกล่าวไม่ได้ระบุว่า โจทก์กระทำการดังกล่าวเพราะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนก็ตาม การที่จำเลยที่ 3 แจกหนังสือดังกล่าวนั้นจึงมิใช่เพราะถูกกดดันอย่างมาก จนมีความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจต้องระบายความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจนี้ให้พ่อค้าแม่ค้าฟัง เพราะการที่ไม่มีหลังคากันแดด จำเลยที่ 3 กับพ่อค้าแม่ค้าในตลาดก็ยังขายสินค้าได้ โดยใช้ร่มบังแสงอาทิตย์แทน จำเลยที่ 3 กับพวกพ่อค้าแม่ค้าอาจต้องงดขายสินค้าบ้าง ถ้าฝนตกหนัก แต่ในสถานการณ์เช่นนั้น โอกาสที่ลูกค้าจะมาสซื้อสินค้าก็อาจไม่มีหรือมีน้อยและการที่จำเลยที่ 3 งดขายของไปเลือกโจทก์เป็นสมาชิกสภาเทศบาลนั้นก็เป็นหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อ รับใช้สังคม ไม่อาจคาดหวังว่าถ้าเลือกโจทก์มาแล้ว โจทก์ต้องทำการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 3 และพวกพ่อค้าแม่ค้าเพียงประการเดียว โดยไม่คำนึงถึงความสงบสุขในสังคม กรณีฟังได้ว่าเอกสารที่จำเลยที่ 3 แจกจ่ายดังกล่าวมีข้อความหมิ่นประมาทตามฟ้อง อย่างไรก็ตามการที่จำเลยที่ 3 แจกจ่ายเอกสารดังกล่าวก็เนื่องมาจากจำเลยที่ 3 เป็นพ่อค้าคนหนึ่งที่ค้าขายในตลาด 13 เมตร ซึ่งได้รับผลกระทบและมีส่วนได้เสียในการก่อสร้างหรือระงับการก่อสร้างหลังคา คลุมถนนการกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรมของจำเลยที่ 3 ที่จะป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) จำเลยที่ 3 ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2466/2551
ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตาม ป.อ. มาตรา 328 นั้น จะต้องเป็นการใส่ความบุคคลอื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่น นั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 326 แห่ง ป.อ. ด้วย แต่ข่าวในหนังสือพิมพ์ระบุชื่อบุคคลที่ถูกใส่ความว่า ม. และโจทก์มีผู้เสียหายเพียงปากเดียวมาเบิกความว่าเป็นนามปากกาของผู้เสียหาย โดยโจทก์ไม่ได้นำบุคคลที่สามมาเป็นพยานยืนยันได้ว่าขณะผู้เสียหายทำงานเป็น นักข่าวอยู่ที่หนังสือพิมพ์ ร. มีนามปากกาว่า ม. ส่วนคำให้การในชั้นสอบสวนของ พ. และ อ. ก็เป็นเพียงพยานบอกเล่าที่จำเลยไม่มีโอกาสซักค้าน จึงฟังไม่ได้ว่ามีบุคคลอื่นทราบว่าผู้เสียหายมีนามปากกาว่า ม. แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความตามที่ผู้เสียหายเบิกความว่า ผู้เสียหายกับจำเลยเคยทำงานอยู่ที่หนังสือพิมพ์ ร. อันเป็นการยืนยันว่าจำเลยทราบดีว่าผู้เสียหายมีนามปากกาว่า ม. แต่เมื่อโจทก์ไม่มีพยานอื่นมาเบิกความยืนยันได้ว่ามีบุคคลที่สามทราบว่านามปากกา ม. ตามข้อความในหนังสือพิมพ์ ร. หมายถึงผู้เสียหาย ดังนั้น แม้จะฟังว่าจำเลยเป็นคนเขียนข้อความดังกล่าว การกระทำของจำเลยก็ยังไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทเนื่องจากไม่มีบุคคลที่สามทราบว่า ม. เป็นผู้ใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1623/2551
การดูหมิ่นผู้อื่นอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 393 หมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไรเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่จึงต้อง พิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยามสบประมาทผู้ที่ถูกล่าวถึง หรือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวถึงอับอายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว ไม่ต้องถึงกับเป็นการใส่ความให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326

ตามพจนานุกรมให้หมายความคำว่า "เฮงซวย" ว่า เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ คุณภาพต่ำ ไม่ดี ซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสีย การที่จำเลยพูดใส่ผู้เสียหายด้วยความไม่พอใจว่า "ไอ้ทนายเฮงซวย" จึงเป็นถ้อยคำที่จำเลยด่าผู้เสียหายเป็นการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทผู้ เสียหายว่าเป็นทนายความเฮงซวย เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 393

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1513/2551
การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 และมาตรา 328 นั้น จะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ และความผิดฐานหมิ่นประมาทที่ได้กระทำโดยการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์นั้นต้อง พิเคราะห์จากข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ตามคำฟ้องเท่านั้นว่า ผู้อ่านสามารถทราบได้หรือไม่ว่าบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างตามที่ลงพิมพ์นั้นเป็นผู้ใด

ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ไม่มีข้อความในที่ใดที่ระบุชื่อและนามสกุลของโจทก์หรือพอจะให้ทราบได้ว่า เป็นโจทก์ผู้บังคับการ พ. กองบังคับการหมายเลข 5 ที่กำลังจะเกษียณในปี 2546 ได้ไป 3 ล้านบาท ทำทุนหลังเกษียณนั้น ก็ไม่ได้ระบุชื่อโดยชัดแจ้งว่าเป็นผู้ใด ชื่อที่ระบุเป็นเพียงอักษรย่อเท่านั้น และมิได้ระบุนามสกุล ทั้งสถานที่ทำงานกองบังคับการหมายเลข 5 ก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นที่ใดบุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความย่อมไม่อาจทราบหรือเข้าใจ ได้ว่าอักษรย่อ พ. หมายความถึงผู้ใดและเป็นเรื่องจริงตามที่ลงพิมพ์หรือไม่ หากต้องการรู้ความหมายว่าเป็นผู้ใดก็ต้องไปสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมทั้งไม่แน่ ว่าหลังจากสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมแล้วจะเป็นตัวโจทก์จริงหรือไม่และหากหลัง จากสืบเสาะค้นหาแล้วจึงทราบว่าหมายความถึงโจทก์ก็มิใช่ทราบจากข้อความที่ลงพิมพ์ แต่ทราบจากการที่บุคคลผู้นั้นได้สืบเสาะค้นหาข้อเท็จจริงมาเองในภายหลัง มิได้ทราบว่าหมายความถึงโจทก์โดยอาศัยข้อความจากหนังสือพิมพ์ ลำพังเพียงข้อความตามที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์จึงยังไม่เป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1513/2551
การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 และมาตรา 328 นั้น จะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการ ยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะและความผิด ฐานหมิ่นประมาทที่ได้กระทำโดยการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์นั้นต้องพิเคราะห์จาก ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ตามคำฟ้องเท่านั้นว่า ผู้อ่านสามารถทราบได้หรือไม่ว่าบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างตามที่ลงพิมพ์นั้นเป็น ผู้ใด ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ตามที่โจทก์อ้างมานั้น ไม่มีข้อความในที่ใดที่ระบุชื่อและนามสกุลของโจทก์หรือพอจะให้ทราบได้ว่า เป็นโจทก์ และข้อความว่า "ผู้บังคับการ พ. กองบังคับการหมายเลข 5 ที่กำลังจะเกษียณในปี 2546 ได้ไป 3 ล้านบาท ทำทุนหลังเกษียณ" นั้นก็ไม่ได้ระบุชื่อโดยชัดแจ้งว่าเป็นผู้ใด ชื่อที่ระบุก็เป็นเพียงอักษรย่อเท่านั้น และมิได้ระบุนามสกุล ทั้งสถานที่ทำงานก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นที่ใด บุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความย่อมไม่อาจทราบหรือเข้าใจได้ว่าอักษรย่อ พ. หมายความถึงผู้ใดและเป็นเรื่องจริงตามที่ลงพิมพ์หรือไม่ หากต้องการรู้ความหมายว่าเป็นผู้ใดก็ต้องไปสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมทั้งไม่แน่ ว่าหลังจากการสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมแล้วจะเป็นตัวโจทก์จริงหรือไม่ และหากหลังจากสืบเสาะค้นหาแล้วจึงทราบว่าหมายความถึงโจทก์ก็มิใช่ทราบจากข้อ ความที่ลงพิมพ์ แต่ทราบความหมายจากการที่บุคคลผู้นั้นได้สืบเสาะค้นหาข้อเท็จจริงมาเองในภาย หลัง หาได้ทราบว่าหมายความถึงโจทก์โดยอาศัยข้อความจากหนังสือพิมพ์ท้ายฟ้องไม่ ลำพังเพียงข้อความตามที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องดังกล่าว ยังไม่เป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6268/2550
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในฐานะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ซึ่งลงข้อความหมิ่นประมาท โจทก์ด้วยการโฆษณาตาม ป.อ. มาตรา 326, 328 พ.ร.บ.การพิมพ์ฯ มาตรา 48 แต่ในขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯ มาตรา 3 ให้ยกเลิก พ.ร.บ.การพิมพ์ฯ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2550 เป็นต้นไป และ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯ ไม่ได้บัญญัติให้บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เป็นผู้รับผิดชอบในข้อความที่ลง พิมพ์ในหนังสือพิมพ์ที่ตนเป็นบรรณาธิการ ฉะนั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดอีกต่อไป จำเลยย่อมพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3553/2550
ขณะเกิดเหตุโจทก์ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากฎหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งมีพลตรี ส. ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและเป็นผู้ บังคับบัญชาของโจทก์ ทั้งพลตรี ส. และโจทก์เป็นผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นกระทรวงที่มีหน้าที่ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง โจทก์จึงเป็นบุคคลที่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจติดตามพฤติกรรมและย่อม วิพากษ์วิจารณ์ได้ เหตุคดีนี้เกิดจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจพลตรี ส. โดยร้อยตำรวจเอก ฉ. เป็นผู้อภิปรายเสนอข้อมูลต่าง ๆ ว่ามีการวิ่งเต้นช่วยเหลือ อ. ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองในฐานะสื่อมวลชนมีหน้าที่เสนอข่าวสารที่เกิดขึ้นในบ้าน เมืองให้ประชาชนทราบโดยเสนอข้อมูลในการอภิปรายดังกล่าวและเสนอข่าวสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีนี้ เป็นการตั้งข้อสงสัยพฤติกรรมของโจทก์ว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการวิ่งเต้น ช่วยเหลือ อ. หรือไม่เท่านั้น กรณีหาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองสร้างขึ้นมาเองไม่ แม้ข้อความบางส่วนเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น ติชมและวิพากษ์วิจารณ์มิได้เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าโจทก์รับสินบนแต่อย่างใด ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยทั้งสองจึงได้รับยกเว้นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 329 (3) นั้นชอบแล้ว

แม้ในคดีที่ ว. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดสงขลา ต่อมา ว. กับจำเลยตกลงกันได้และ ว. ขอถอนฟ้องแล้วก็ตามก็เป็นเรื่องระหว่าง ว. กับจำเลยในคดีอาญาอื่น หาได้มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้ศาลที่พิจารณาคดีจำต้องถือข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ในคำพิพากษาคดีอาญาอื่น แม้คดีทั้งสองนั้นจะมีมูลกรณีเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกัน ดังนั้น คดีนี้จึงไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงในคดีที่ ว. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกในข้อหาความผิดฐานหมิ่นประมาทดังที่โจทก์ เข้าใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6644/2549
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 326 และมาตรา 328 เป็นความผิดอันยอมความได้ ตาม ป.อ. มาตรา 333 พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนได้ต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง แต่ปรากฏจากสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานในหน้าแรกว่า ผู้เสียหายทั้งสามรวมทั้งบุคคลอื่นอีก 7 คน ไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งไว้เป็นหลักฐานว่าในวันเกิดเหตุจำเลยไปหา ส. และขอร้องให้ ส. ไปขอล่าลายมือชื่อชาวบ้านให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นหลักฐานร่วมกันขับไล่ผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะครู ซึ่งมีผู้เสียหายทั้งสามรวมอยู่ด้วยให้ย้ายไปที่อื่นโดยบอกว่ามีพฤติกรรมไม่ เหมาะสม และผู้เสียหายทั้งสามได้นำเอกสารเป็นบันทึกข้อความเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวมา มอบให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบ และในหน้าที่สองระบุว่าจึงมาแจ้งไว้เป็นหลักฐานเพื่อจะได้นำเสนอผู้บังคับ บัญชาระดับสูงพิจารณาต่อไป ซึ่งกรณีเชื่อได้ว่าผู้เสียหายทั้งสามไปแจ้งความเพียงครั้งเดียวตามสำเนา รายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานฉบับดังกล่าวเท่านั้น เมื่อข้อความในสำเนารายงานประจำวันดังกล่าวระบุแต่เพียงว่าผู้เสียหายทั้ง สามมาแจ้งไว้เป็นหลักฐานเพื่อจะได้นำเสนอผู้บังคับบัญชาระดับสูงพิจารณาต่อ ไป จึงมิใช่เป็นการมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมาย ไม่เป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) เพราะขณะแจ้งยังมิได้มีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ การสอบสวนความผิดฐานนี้ต่อมาภายหลังจึงเป็นการไม่ชอบ พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานความผิดดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์และฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3717/2547
ข้อความที่จำเลยทั้งหกลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน ในคอลัมน์ยุทธจักรแปดแฉก ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์นั้น เป็นข้อความทั่ว ๆ ไปที่วิจารณ์การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการคัดเลือกตัวบุคคล ที่จะเข้ารับตำแหน่งสำคัญในสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า ควรเป็นบุคคลที่อุทิศตนเพื่อทางราชการ โดยไม่มีข้อความใดที่ทำให้ผู้อ่านหนังสือพิมพ์เข้าใจว่า เจ้าพนักงานตำรวจที่ใช้เวลาราชการไปสะสางเรื่องส่วนตัวตั้งแต่เช้าจรดเย็น เป็นตัวโจทก์ การที่โจทก์นำบทความที่จำเลยที่ 6 เขียนไว้ในคอลัมน์อื่นก่อนหน้านี้มารวมเข้ากับข้อความในคอลัมน์ดังกล่าวว่า เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ ก็เป็นเพียงความเข้าใจของโจทก์เองเท่านั้นหาใช่เป็นความเข้าใจของบุคคลทั่ว ไปไม่ เมื่อโจทก์ยึดถือความรู้สึกนึกคิดของตนเองเป็นสำคัญทั้งๆ ที่บุคคลทั่วไปมิได้มีการรับรู้หรือเข้าใจในถ้อยคำหรือข้อความดังกล่าวว่าเป็นตัวโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งหกจึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12460/2547
เวลาเช้าตรู่ของวันเกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจท้องที่หลายคนแต่งกายนอกเครื่องแบบไปขอค้นบ้านจำเลยเพื่อพบ และจับน้องชายของจำเลยในคดีเช็ค ส่วนโจทก์ไม่ใช่เจ้าพนักงานตำรวจท้องที่ แต่ได้แต่งเครื่องแบบเจ้าพนักงานตำรวจไปที่บ้านของจำเลยด้วยในฐานะที่เป็น บิดาของผู้เสียหายในคดีเช็คที่น้องชายของจำเลยสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ค่าสินค้าให้ แล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค เมื่อคำนึงถึงเหตุการณ์และพฤติการณ์เกี่ยวกับการทวงหนี้ของโจทก์ที่แต่ง เครื่องแบบไปขอค้นบ้านของจำเลยซึ่งเป็นผู้หญิงและมีบุตรผู้เยาว์ 2 คน จนจำเลยเกิดความเกรงกลัวต่อโจทก์จนต้องยอมใช้หนี้แทนน้องชายให้แก่โจทก์ จำเลยมีสิทธิที่จะเข้าใจได้โดยสุจริตว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการประพฤติ ตนของโจทก์และมีสิทธิที่จะร้องเรียนโดยสุจริตได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประพฤติตนไม่เหมาะสม ดังนั้น การที่จำเลยส่งโทรสารไปลงหนังสือพิมพ์โดยมีใจความเป็นการแสดงความเสียใจ น้อยใจของจำเลยและเกรงกลัวจากการกระทำของโจทก์จนต้องชำระหนี้แทนน้องชายให้แก่โจทก์ไป เป็นทำนองขอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสอดส่องตักเตือนเจ้าพนักงานตำรวจให้เป็นมิตรกับประชาชน จึงเป็นการติชมโจทก์ด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนเยี่ยงจำเลยที่ ต้องประสบเหตุการณ์เช่นนั้นพึงกระทำได้ และการที่จำเลยระบุชื่อนามสกุลจริงของโจทก์และจำเลย ตลอดจนที่อยู่ของจำเลยไว้แจ้งชัดในโทรสารด้วยย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยเขียนข้อความในโทรสารนั้นด้วยเจตนาสุจริตตามเรื่องที่เกิดขึ้นแก่จำเลย กรณีต้องด้วย ป.อ. มาตรา 329 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 785/2545
ในทางพิจารณาของโจทก์และจำเลยไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยถูกจับกุมสอบสวนหรือดำเนินคดี ฉะนั้น การพาดหัวข่าวทางหนังสือพิมพ์ ด. รายสัปดาห์ ในหน้าแรกพร้อมภาพใบหน้าของโจทก์มีข้อความว่า "ลับ ชี้สำนวนความผิดจับ "ธ"(ซึ่งหมายถึงโจทก์)" ย่อมทำให้ผู้อ่านโดยทั่วไปเข้าใจว่าโจทก์ถูกจับกุมสอบสวนดำเนินคดีซึ่งมิใช่ข้อความจริง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชังได้

โจทก์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและเป็นประธานคณะกรรมการกำกับ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเวลาที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์มีมติให้กล่าวโทษดำเนินคดีแก่ ส. กับพวก ซึ่งในวันที่มีมติโจทก์ก็เข้าร่วมประชุมในฐานะประธานด้วย ดังนั้น โจทก์ย่อมไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบว่ามติดังกล่าวเป็นเรื่องของคณะกรรมการ ไม่เกี่ยวกับโจทก์ได้ แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์กับ ส. ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกัน และฝ่ายตรวจสอบของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้ติดตามตรวจ สอบการปั่นหุ้นของกลุ่มอื่น ๆ นอกเหนือจากกลุ่มของ ส.ด้วยไม่ใช่เลือกปฏิบัติเฉพาะกลุ่มของ ส. เพียงกลุ่มเดียวแสดงว่าการกล่าวโทษร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ ส. มิใช่การกระทำที่ลำเอียงหรือเลือกปฏิบัติ ฉะนั้น การที่จำเลยเสนอข่าวว่าโจทก์ให้ดำเนินคดีจับ ส.พร้อมยัดข้อหาเป็นการใช้อำนาจทำเพื่อเพื่อน ซึ่งเป็นการปฏิบัติโดยลำเอียง ย่อมทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าโจทก์มิได้ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตและไม่มี คุณธรรมเลือกปฏิบัติมุ่งช่วยเหลือพวกพ้อง ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง การกระทำของจำเลยมิใช่การติชมด้วยความเป็นธรรมหรือเป็นการแสดงข้อความโดยสุจริต

จำเลยต้องรับผิดในฐานะบรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณาหนังสือพิมพ์ ด. รายสัปดาห์ โดยที่จำเลยมิได้เป็นผู้ประพันธ์ข้อความ หนังสือพิมพ์ดังกล่าวมักเสนอข่าวใหญ่เกี่ยวกับธุรกิจและออกเป็นรายสัปดาห์ ซึ่งมีผู้อ่านเฉพาะกลุ่ม การให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาทั้งในหนังสือพิมพ์ประเภททั่วไปและธุรกิจ ทั้งรายวันและรายสัปดาห์ย่อมไม่เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งการกระทำผิดของจำเลย สมควรให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ ด.รายสัปดาห์และหนังสือพิมพ์ ผ. รายสัปดาห์ เพียง 2 ฉบับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3654/2543
การที่จำเลยที่ 2 นำข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลซึ่งเป็นข้อความในคำฟ้องที่จำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ และข้อความดังกล่าวล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับข้อหาความผิดที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ทั้งสิ้น การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์แก่คดีของตนที่ฟ้องโจทก์ เท่านั้น จึงไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 136 ส่วนการกระทำของจำเลยที่ 2 ก็เป็นการเผยแพร่คำฟ้อง ไม่มีข้อความอื่นนอกเหนืออันจะส่อแสดงให้เห็นเจตนาไม่สุจริตของจำเลยที่ 2 จึงเป็นเพียงการรายงานข่าวเรื่องที่โจทก์ถูกจำเลยที่ 1 ฟ้องคดีอาญาต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้แจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลโดยสุจริต จำเลยที่ 2 จึงได้รับความคุ้มครองตาม ป.อ. มาตรา 329 (4) ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามที่โจทก์ฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1312/2542
ความผิดฐานหมิ่นประมาทที่กระทำโดยการโฆษณาทาง หนังสือพิมพ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ย่อมเป็น ความผิดสำเร็จเมื่อมีการวางจำหน่ายหนังสือพิมพ์ และท้องที่ ที่ความผิดเกิดขึ้นย่อมได้แก่ท้องที่ทุกท้องที่ที่วางจำหน่ายหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น หาใช่จำกัดเฉพาะท้องที่ที่โจทก์ ได้อ่านหนังสือพิมพ์และทราบการกระทำความผิดไม่ คดีทั้งสามสำนวนนี้ คู่ความทั้งหมดเป็นคู่ความรายเดียวกัน ทั้งการพิจารณาคดีเหล่านั้นถ้าได้รวมกันแล้วจะเป็นการสะดวก เมื่อโจทก์มีคำขอให้พิจารณาคดีรวมกันศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีเหล่านั้นเกี่ยวเนื่องกันและมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษาคดีเหล่านั้นรวมกันแล้ว ข้อเท็จจริงใดที่ได้จากการพิจารณา จึงเป็นข้อเท็จจริงในสำนวนทั้งสามสำนวนการฟังพยานหลักฐาน ก็ต้องฟังรวมกันไปทั้งสามสำนวนประดุจเป็นคดีเดียวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 28 วรรคแรกประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 หาใช่แยกฟังเป็นรายสำนวนไม่ จำเลยลงพิมพ์โฆษณาใส่ความโจทก์ในหนังสือพิมพ์ ด.ฉบับที่ 153,154 และ 156 โดยมิได้คำนึงถึงความเสียหายของผู้ที่ตกเป็นข่าว หลังจากที่โจทก์ทราบข่าวที่จำเลยเสนอในฉบับที่ 153 แล้ว ธนาคาร ก. ได้ออกแถลงการณ์2 ฉบับ ยืนยันว่าไม่ได้ไล่โจทก์ออกและโจทก์ไม่มีพฤติการณ์เสื่อมเสียในการทำงาน แต่ได้ปฏิบัติงานด้วยความวิริยะอุตสาหะตลอดมา แต่จำเลยก็ยังลงข่าวในฉบับที่ 154 ว่า แถลงการณ์ดังกล่าวเป็นแถลงการณ์ปลอม และยังคงยืนยันใส่ความโจทก์เพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้ จำเลยไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่นอนก่อนที่จะพิมพ์โฆษณาข้อมูลที่ได้ มาจากแหล่งข่าวเสียก่อน โดยมุ่งแต่จะจำหน่ายหนังสือพิมพ์ให้ได้จำนวนมากเป็นสำคัญ ข้อความที่จำเลยลงพิมพ์โฆษณาตามฟ้อง จึงเป็นข้อความที่จำเลยมิได้แสดงโดยสุจริต การกระทำของจำเลย จึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 ที่จะไม่มีความผิด และไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330 วรรคแรก ที่จะไม่ต้องรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3/2542
จำเลย ที่ 1 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา หนังสือพิมพ์รายวัน ข. จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคล ประเภทบริษัทจำกัด เป็นเจ้าของและผู้จำหน่าย หนังสือพิมพ์รายวัน ข. แก่ประชาชนทั่วไป จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันพิมพ์และโฆษณาข้อความลงในหนังสือพิมพ์ ข. ในคอลัมน์ บันเทิงว่า "จิกจักรวาล!หึ่งปุ๋ยโอเค.นู้ด! 5 ล้าน.!" มีใจความในเนื้อข่าวว่า "กระแสคลั่งนู้ดโหมหนักไม่เว้นกระทั่งนางงามจักรวาล"ปุ๋ย" ภ.ปุ๋ยยกตำแหน่งหรูการันตีขูดค่าแก้ผ้า 5 ล้านทางนิตยสาร "มิส"นู้ดอัลบัมได้ส่งตัวแทนไปทาบทาม "ปุ๋ย" ภ.นางสาวไทยและนางงามจักรวาล ปี 2531เพื่อมาถ่ายอัลบัม ด้วย แต่ปรากฏว่าทางปุ๋ย เรียกค่าตัวเพื่อการนี้สูงถึง 5,000,000 บาท จึงจะยอมถ่ายอย่างตอนนี้มิสไปติดต่อปุ๋ยใช่ไหมปุ๋ยโอเค. แต่เงินไม่ถึงก็คอยดูต่อไปแล้วกัน เดี๋ยว เล่มอื่นก็เอาไปถ่ายจนได้เงินแค่ 5,000,000 บาท ถ้าจะทำกันจริง ๆ ต้องมีคนกล้าเสี่ยงแน่นอน" โดยข้อความที่จำเลยที่ 1 ลงพิมพ์โฆษณา จำเลยที่ 1 มิได้อ้างถึงข้อความจริงอันใด เลยในการแสดงความคิดเห็นเช่นนั้น ทั้งไม่ได้มีข้อความที่แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 1 ที่จะปกป้องโจทก์แต่กลับเป็นการแสดงเจตนาชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 มุ่งประสงค์ใส่ความเพื่อทำลายชื่อเสียงของโจทก์ทำให้ผู้ที่ไม่ทราบความจริงเกิดเข้าใจผิด ดูหมิ่นเกลียดชัง โจทก์อันส่งผลกระทบต่อเกียรติ และสถานะในทางสังคมของโจทก์หาใช่เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมอัน เป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำไม่จึงเป็นการใส่ความ หมิ่นประมาทโจทก์ จำเลยที่ 1 ย่อมไม่ได้รับการยกเว้น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 332(2) บัญญัติว่าในคดีหมิ่นประมาทซึ่งมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดศาลอาจสั่งให้ โฆษณาคำพิพากษาทั้งหมด หรือแต่ บางส่วนในหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับหรือหลายฉบับ ครั้งเดียว หรือหลายครั้งโดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา เห็นได้ว่าให้อำนาจศาลสั่งให้โฆษณาคำพิพากษาเท่านั้น มิได้มีกฎหมายให้อำนาจศาลสั่งให้โฆษณาคำขออภัยด้วย การที่ศาลล่างทั้งสองสั่งให้จำเลยที่ 1 โฆษณาคำขออภัย ต่อโจทก์ด้วย จึงเป็นการลงโทษจำเลยที่ 1 นอกเหนือ จากโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง จึงไม่ชอบ เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้จำหน่ายหนังสือพิมพ์รายวัน ข. ที่จำเลยที่เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์โฆษณา เป็นผู้ใส่ความ โจทก์หรือมีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิด หรือรู้ว่าข้อความที่ตีพิมพ์เป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ ลำพังแต่เพียงได้ความว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของ และผู้จำหน่ายหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวให้แก่ประชาชนทั่วไป ไม่เพียงพอรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 3 เดือนและปรับ 50,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ ไว้มีกำหนด 2 ปี เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในส่วนนี้ จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ขอให้ลงโทษสถานเบาเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์อันเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7435/2541
การที่จำเลยตีพิมพ์การกระทำหรือพฤติกรรมของโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดตามคำ สั่งกรมตำรวจนั้น แม้เป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ก็ตาม แต่ก็มิใช่เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว เพราะเป็นเรื่องตีแผ่สิ่งประพฤติชั่วร้ายและกระทำหน้าที่มิชอบของโจทก์ขณะ เป็นข้าราชการตำรวจเพื่อให้ประชาชนรับทราบและให้ผู้ประพฤติชอบพึงสังวรณ์ไว้ ย่อมเป็นข้อความที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งจำเลยมีสิทธิพิสูจน์ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330 วรรคท้าย ดังนั้นเมื่อจำเลยได้ตีพิมพ์ข่าวในหนังสือฉบับพิพาทเกี่ยวกับการกระทำของโจทก์ตามความเป็นจริง จำเลยย่อมไม่ต้องรับโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5782/2540
คำฟ้องโจทก์บรรยายว่า ข้อความที่จำเลยอภิปรายพาดพิงถึงโจทก์นั้นเป็นข้อความที่ฝ่าฝืนความจริงอัน มีความหมายอยู่ในตัวว่าข้อความที่จำเลยอภิปรายนั้นไม่ตรงต่อความจริงซึ่ง เป็นความเท็จนั่นเอง ส่วนที่ว่าความจริงเป็นอย่างไรนั้น คำฟ้องโจทก์ก็ได้บรรยายไว้แล้วว่า ความจริงในการไปทอดกฐินครั้งนั้นไม่มีการลักลอบขนยาเสพติดให้โทษเฮโรอีนร่วม ไปกับคณะทอดกฐินดังที่จำเลยอภิปรายแต่ประการใด ดังนี้ หากจำเลยมั่นใจว่าข้อความที่จำเลยอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นความจริง กล่าวคือ โจทก์เคยไปทอดกฐิน ที่ต่างประเทศและมีการลักลอบซุกซ่อนเฮโรอีนไว้ที่ใต้ฐานพระประธานไปด้วยจน เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ต่างประเทศทำการตรวจค้นบุคคลในคณะด้วยวิธีเปลื้องผ้า ทำให้บุคคลในคณะซึ่งเป็นหญิงได้รับความอับอายทั่วหน้าแล้ว จำเลยย่อมให้การต่อสู้คดีโดยยืนยันตามข้อความอภิปรายและนำสืบพิสูจน์ได้ คำบรรยายฟ้องโจทก์ดังกล่าวไม่ทำให้จำเลยไม่เข้าใจฟ้องจนไม่สามารถให้การ ต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้อง ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ไม่เป็นคำฟ้องเคลือบคลุม ขณะอภิปรายนั้นจำเลยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคการเมืองฝ่ายค้าน จำเลยต้องการอภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกช. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นโดยได้รับมอบหมายจากพรรคให้อภิปราย การบริหารงานของคนบางคน ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อันเป็นข้อหนึ่งที่จำเลยต้องอภิปรายในครั้งนั้น โจทก์ชื่อพลตรีศรชัย เป็นนายทหารรับราชการประจำสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม มาช่วยราชการที่สำนักงาน เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ตามคำขอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และโจทก์เป็นคนสนิทหรือคนใกล้ชิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากเคยรับราชการร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2524 ซึ่งขณะนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก โจทก์เป็นฝ่ายเสนาธิการประจำตัวผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ทั้งในสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย มีโจทก์คนเดียวที่ชื่อศรชัยและทำหน้าที่เป็นเลขานุการส่วนตัวของรัฐมนตรีว่า การกระทรวงมหาดไทยการที่จำเลยอภิปรายได้ความว่า คุณศรชัยคนสนิทของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีตเคยไปทอดกฐินต่างประเทศและมียาเสพติดให้โทษเฮโรอีนอยู่ที่ใต้ฐานะพระ ประธาน จนคณะทั้งหมดถูกตรวจสอบทั้งภายนอกภายในเป็นเรื่องอับอายของบรรดาภรรยาข้า ราชการทั้งหมด ฝรั่งเขาตรวจไม่ให้เกียรติโดยบรรดาคุณหญิงคุณนายถูกตรวจภายในเปลือยกายล่อนจ้อนน่าอายจริง ๆ ข้อความดังกล่าวจำเลยประสงค์จะอภิปรายถึงความประพฤติของคนใกล้ชิดของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยว่าเคยมีพฤติการณ์น่ารังเกียจกระทำผิดกฎหมาย ทำให้คณะที่ไปทอดกฐินด้วยเสียหายได้รับความอับอายขายหน้าในต่างประเทศแต่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังนำมาทำงานราชการในกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีเช่นว่านี้ไม่น่าไว้วางใจตามความต้องการของจำเลยที่อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนั้น และเพื่อให้ผู้ฟังทราบว่าเป็นใครจึงระบุชื่อคุณศรชัยเช่นนี้ แม้จะไม่ระบุยศตำแหน่งและนามสกุลของโจทก์ก็พอให้ผู้ฟังเข้าใจได้ว่าหมายถึงโจทก์ เพราะโจทก์ชื่อพลตรีศรชัยเป็นคนสนิทของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้นำคณะทอดกฐินไปทอดที่วัดไทยในนครลอสแองเจลิสจาก พลเอก ช. ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขณะถูกอภิปราย แต่การไม่ทอดกฐินครั้งนั้นเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดสหรัฐอเมริกาได้จับกุม ช. ผู้ร่วมเที่ยวบินไปกับคณะทอดกฐิน กล่าวหาว่ามีส่วนร่วมกับพวกลักลอบขนยาเสพติดให้โทษเฮโรอีนเข้าประเทศสหรัฐ อเมริกาซึ่งพวกของช.ถูกจับไว้ก่อนที่คณะทอดกฐินจะเดินทางไปถึงทั้งโจทก์นำ คณะทอดกฐินไปทอดที่วัดไทยในนครลอสแองเจลิสครั้งนั้นไม่ได้นำพระประธานไปด้วย และไม่ได้ถูกสงสัยว่ามีการลักลอบนำเฮโรอีนมากับคณะทอดกฐิน คงผ่านการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่สหรัฐอเมริกาตามปกติธรรมดา ไม่มีการตรวจค้นโดยให้เปลือยกายล่อนจ้อนดังที่จำเลยอภิปรายดังนั้นคำอภิปราย ของจำเลยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นการกล่าวข้อความฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์เป็นการละเมิดต่อโจทก์จำต้อง ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์การที่จำเลยได้ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ที่ลงพิมพ์ ไว้ตั้งแต่ปี 2529หรือ 2530 นับถึงวันอภิปรายนานกว่า 5 ปี จำเลยย่อมมีเวลาตรวจสอบข้อมูลที่ได้มาว่าถูกต้องตรงกับความจริงหรือไม่ จำเลยกลับนำข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงมาอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่ เสียหายแก่โจทก์ แม้จำเลยจะอภิปรายในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อไม่เป็นความจริงย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ก็ไม่อาจพ้นความรับผิดต่อโจทก์ได้ โจทก์เป็นนายทหารยศพลตรี มาช่วยราชการทำหน้าที่เลขานุการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นตำแหน่งหน้าที่อันมีเกียรติและเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่องานบริหาร ราชการแผ่นดินของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนอกจากจะเสียหายแก่โจทก์แล้ว ยังมีผลกระทบกระเทือนแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไปในทางเสื่อมเสียด้วย จำเลยเป็นผู้แทนของปวงชนอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรอันทรงเกียรติ และเป็นการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองระดับชาติ ข้อความที่อภิปรายปกติต้องตรงกับความจริงและเชื่อถือได้ เมื่อปรากฏเป็นความเท็จทั้งได้มีการถ่ายทอดคำอภิปรายของจำเลยทางวิทยุกระจาย เสียแห่งประเทศไทยและแพร่ภาพทางโทรทัศน์สีช่อง 9 และช่อง 11 ไปทั่วประเทศ ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์มากกว่าปกติเป็นทวีคูณ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหาย แก่โจทก์ 500,000 บาท นั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2212/2536
จำเลยบรรยายฟ้องในคดีที่จำเลยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยขอให้เพิกถอนโจทก์จากการเป็นผู้อนุบาลของ จ. และตั้งจำเลยเป็นผู้อนุบาลแทนว่าโจทก์เล่นการพนัน ไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้อนุบาล จ. แม้ในคดีดังกล่าวศาลจะมิได้ตั้งประเด็นเรื่องคุณสมบัติของโจทก์ไว้โดยตรง แต่ก็มีข้อที่จะต้องพิจารณาว่าโจทก์หรือจำเลยควรจะเป็นผู้อนุบาลของ จ. การที่จำเลยเบิกความว่า บ้านของโจทก์ตั้งเป็นบ่อนการพนันก็เพื่อสนับสนุนคดีของจำเลยในข้อที่ว่า จำเลยเป็นผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นผู้อนุบาลของ จ. ส่วนโจทก์ไม่เหมาะสม ถือได้ว่าข้อความดังกล่าวเป็นข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 331

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6031/2531
จำเลย ที่ 1 เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์มีข้อความว่า" พรรคไหนเอ่ยที่คนในพรรคพัวพันกับ การค้าเฮโรอีนระหว่างประเทศจนต้องแก้ปัญหาด้วยการปลิดชีพตัวเองลาโลก" ข้อความดังกล่าวทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่าหมายถึงพรรค ป. และ ด. สามีโจทก์ ดังนี้จำเลยที่ 1 มีเจตนาใส่ความผู้ตายโดยการโฆษณาด้วยเอกสารอันน่าจะเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่ง เป็นภรรยาของผู้ตายและบุตรเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังจากผู้อื่นได้ มิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาท จำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์และผู้โฆษณาย่อมต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเคยเป็นรัฐมนตรีมาก่อน ถ้าจะรอการลงโทษไว้ย่อมจะเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งให้จำเลยที่ 1 ต้องระมัดระวังความประพฤติของตน ซึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่สังคมมากกว่าที่จะลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 มิใช่ผู้เขียนแต่รับผิดในฐานะบรรณาธิการ ผู้พิมพ์และผู้โฆษณาจำเลยทั้งสองไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน พฤติการณ์และเหตุผลแห่งรูปคดีมีเหตุสมควรรอการลงโทษเพื่อให้โอกาสจำเลยทั้ง สองกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไป