มาตรา ๓๐๙ ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด
ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย
เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น
หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้น
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าความผิดตามวรรคแรกได้กระทำโดยมีอาวุธ
หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป
หรือได้กระทำเพื่อให้ผู้ถูกข่มขืนใจทำ ถอน ทำให้เสียหาย หรือทำลายเอกสารสิทธิอย่างใด
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้ากระทำโดยอ้างอำนาจอั้งยี่หรือซ่องโจร
ไม่ว่าอั้งยี่หรือซ่องโจรนั้นจะมีอยู่หรือไม่
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี
และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
[อัตราโทษ
แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา
(ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]
มาตรา ๓๑๐ ผู้ใดหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น
หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก
เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวถูกกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตาย
หรือรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๙๐ มาตรา ๒๙๗
หรือมาตรา ๒๙๘ นั้น
[อัตราโทษ
แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา
(ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]
มาตรา ๓๑๐ ทวิ ผู้ใดหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น
หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย
และให้ผู้อื่นนั้นกระทำการใดให้แก่ผู้กระทำหรือบุคคลอื่น
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
[อัตราโทษ
แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา
(ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]
มาตรา ๓๑๑ ผู้ใดกระทำโดยประมาท
และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถูกหน่วงเหนี่ยว ถูกกักขัง
หรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี
หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก
เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวถูกกักขัง
หรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตายหรือรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา
๒๙๑ หรือมาตรา ๓๐๐
[อัตราโทษ
แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา
(ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]
มาตรา ๓๑๒ ผู้ใดเพื่อจะเอาคนลงเป็นทาส
หรือให้มีฐานะคล้ายทาส นำเข้าในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พามาจากที่ใด ซื้อ ขาย
จำหน่าย รับหรือหน่วงเหนี่ยวซึ่งบุคคลหนึ่งบุคคลใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี
และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
[อัตราโทษ
แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา
(ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]
มาตรา ๓๑๒ ทวิ ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๓๑๐ ทวิ หรือมาตรา
๓๑๒ เป็นการกระทำต่อเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก
หรือมาตรา ๓๑๐ ทวิ หรือมาตรา ๓๑๒ เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำ
(๑)
รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี
และปรับไม่เกินสามแสนบาท
(๒) รับอันตรายสาหัส
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี
(๓) ถึงแก่ความตาย
ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
[อัตราโทษ
แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา
(ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]
มาตรา ๓๑๒ ตรี ผู้ใดโดยทุจริตรับไว้ จำหน่าย เป็นธุระจัดหา
ล่อไป หรือพาไปซึ่งบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี
แม้ผู้นั้นจะยินยอมก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี
หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ
แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา
(ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]
มาตรา ๓๑๓ ผู้ใดเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่
(๑)
เอาตัวเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไป
(๒)
เอาตัวบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีไป โดยใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย
ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด หรือ
(๓)
หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังบุคคลใด
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
และปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นเหตุให้ผู้ถูกเอาตัวไป
ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยว หรือผู้ถูกกักขังนั้นรับอันตรายสาหัส หรือเป็นการกระทำโดยทรมาน
หรือโดยทารุณโหดร้าย จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำนั้นรับอันตรายแก่กาย หรือจิตใจ
ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
ถ้าการกระทำความผิดนั้นเป็นเหตุให้ผู้ถูกเอาตัวไป
ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยว หรือผู้ถูกกักขังนั้นถึงแก่ความตาย
ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต
[อัตราโทษ
แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา
(ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]
มาตรา ๓๑๔ ผู้ใดเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดตามมาตรา
๓๑๓ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น
มาตรา ๓๑๕ ผู้ใดกระทำการเป็นคนกลาง โดยเรียก
รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างใดที่มิควรได้จากผู้กระทำความผิดตามมาตรา
๓๑๓ หรือจากผู้ที่จะให้ค่าไถ่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
และปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต
[อัตราโทษ
แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา
(ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]
มาตรา ๓๑๖ ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๓๑๓ มาตรา ๓๑๔
หรือมาตรา ๓๑๕ จัดให้ผู้ถูกเอาตัวไป
ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือผู้ถูกกักขังได้รับเสรีภาพก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา
โดยผู้นั้นมิได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต
ให้ลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
มาตรา ๓๑๗ ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร
พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง
หรือผู้ดูแล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท
ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ
จำหน่าย หรือรับตัวเด็กซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น
ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำเพื่อหากำไร
หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี
และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
[อัตราโทษ
แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา
(ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]
มาตรา ๓๑๘ ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี
แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสีย จากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล
โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี
และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท
ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ
จำหน่าย หรือรับตัวผู้เยาว์ซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก
ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น
ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำเพื่อหากำไร
หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท
[อัตราโทษ
แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา
(ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]
มาตรา ๓๑๙ ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี
แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อหากำไร
หรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี
และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท
ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ
จำหน่าย หรือรับตัวผู้เยาว์ซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก
ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น
[อัตราโทษ
แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา
(ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]
มาตรา ๓๒๐ ผู้ใดใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ
ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม
หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด พาหรือส่งคนออกไปนอกราชอาณาจักร
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรกได้กระทำเพื่อให้ผู้ถูกพาหรือส่งไปนั้นตกอยู่ในอำนาจของผู้อื่นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
หรือเพื่อละทิ้งให้เป็นคนอนาถา ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา
๑๐ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]
มาตรา ๓๒๑ ความผิดตามมาตรา ๓๐๙ วรรคแรก มาตรา ๓๑๐ วรรคแรก
และมาตรา ๓๑๑ วรรคแรก เป็นความผิดอันยอมความได้
มาตรา ๓๒๑/๑ การกระทำความผิดตามมาตรา ๓๑๒ ตรี วรรคสอง และมาตรา
๓๑๗ หากเป็นการกระทำต่อเด็กอายุไม่เกินสิบสามปี
ห้ามอ้างความไม่รู้อายุของเด็กเพื่อให้พ้นจากความผิดนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2580/2563
คำว่า "ซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน" ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก หมายถึงการเป็นภริยาหรือสามีกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1457 ที่บัญญัติว่า "การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น" เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยจึงยังมิใช่ภริยาหรือสามีกัน
จำเลยฎีกาว่า เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ยินยอมไปกับจำเลย จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร ตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม นั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง และไม่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยที่จะยกขึ้นได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 225 ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า แม้จำเลยให้การรับสารภาพ แต่โจทก์มิได้นำพยานหลักฐานมาสืบประกอบให้ได้ความชัดว่า จำเลยสอดใส่อวัยวะเพศของจำเลยเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 หรือผู้เสียหายที่ 1 เป็นผู้ใช้อวัยวะเพศของจำเลยสอดใส่กระทำกับอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 เอง นั้น จำเลยมิได้นำสืบต่อสู้ในศาลชั้นต้น ทั้งมิได้อุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าว จำเลยเพิ่งยกข้อเท็จจริงนี้ขึ้นต่อสู้ในชั้นฎีกา จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ทั้งยังไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และ 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 741/2563
การกระทำที่ถือว่าเป็นความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังนั้นเป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ โดยไม่จำกัดวิธีการ เพียงแต่ให้สำเร็จผลเป็นการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังหรือให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ขณะผู้เสียหายอยู่กับจำเลยในบ้าน จำเลยพูดข่มขู่ว่าจะฆ่าผู้เสียหายหากผู้เสียหายออกไปจากบ้านเกิดเหตุ ผู้เสียหายรู้สึกกลัว จึงไม่ได้ออกไปไหน การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 532/2563
จำเลยเรียกผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุ 14 ปีเศษ ให้เข้าไปเอาขนมในบ้าน จึงเป็นการกระทำโดยใช้ขนมมาล่อผู้เสียหายให้เข้าไปในบ้าน ถือเป็นกลอุบายส่วนหนึ่งเพื่อให้ได้ตัวผู้เสียหายมากระทำชำเรา และเมื่อผู้เสียหายเข้าไปแล้วจำเลยก็ได้ปิดประตู จึงนับได้ว่าเป็นการพาไปโดยแยกอำนาจปกครองจากบิดามารดา และการที่จำเลยพาผู้เสียหายไปกระทำชำเราที่ป่าละเมาะข้างทุ่งนา และพาผู้เสียหายจากบริเวณแท็งก์น้ำเข้าไปกระทำอนาจารในซอกแท็งก์น้ำ ล้วนเป็นการพาผู้เสียหายจากที่เปิดเผยเข้าไปในจุดลับตาผู้คน จึงเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดาทั้งสิ้น เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7142/2562
ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารเป็นความผิดนับแต่จำเลยทั้งสองกับพวกเริ่มพรากผู้เสียหายที่ 1 ขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 อยู่นอกราชอาณาจักร และเป็นความผิดต่อเนื่องติดต่อกันตลอดมาในท้องที่ต่าง ๆ หลายท้องที่ตลอดเวลาที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันพาผู้เสียหายที่ 1 เข้ามาในราชอาณาจักรและหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 1 ไว้เพื่อการค้าประเวณีที่จังหวัดตราด ถือได้ว่าความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อเนื่องเกิดขึ้นหลายท้องที่ทั้งนอกราชอาณาจักรและในราชอาณาจักร โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตามมาตรา 5 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
ความผิดฐานพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคแรก (เดิม) และฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจาร โดยใช้อุบายหลอกลวงขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด ตามมาตรา 284 วรรคแรก (เดิม) ต้องเป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของตนเองหรือผู้ร่วมกระทำความผิดกับตน เมื่อจำเลยทั้งสองร่วมกันเป็นธุระจัดหาและพาผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อให้กระทำการค้าประเวณี อันเป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น มิใช่เพื่อสนองความใคร่ของจำเลยทั้งสองกับพวก การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดสองฐานนี้
ความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าของกิจการการค้าประเวณี ผู้ดูแล หรือผู้จัดการกิจการการค้าประเวณีหรือสถานการค้าประเวณี กับความผิดฐานร่วมกันดำรงชีพอยู่แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของผู้ซึ่งค้าประเวณี เมื่อจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของ ผู้ดูแล หรือผู้จัดการสถานการค้าประเวณีและดำรงชีพอยู่แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของผู้ซึ่งค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณีของจำเลยทั้งสองนั้นเอง จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 แก้ไขอัตราโทษตาม ป.อ. มาตรา 286 วรรคแรก และมาตรา 318 วรรคสาม แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง จึงต้องใช้กฎหมายเดิมในขณะที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิด แต่ต่อมาในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ให้ยกเลิกความในมาตรา 286 ซึ่งกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำความผิดตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณเฉพาะในส่วนโทษจำคุก จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณไม่ว่าในทางใด ตาม ป.อ. มาตรา 3
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7041/2562
แม้บ้านที่ผู้เสียหายที่ 1 พักอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 กับบ้านจำเลยอยู่ใกล้กันเพียงมีถนนคั่น และผู้เสียหายที่ 1 ไปหาน้องต่างบิดาที่บ้านจำเลยชั่วครั้งชั่วคราวเพื่อวิ่งเล่นแล้วกลับมาที่บ้าน ระหว่างนี้ถือว่าผู้เสียหายที่ 1 ยังอยู่ในความปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 โดยไม่คำนึงว่าบ้านอยู่ห่างกันหรืออยู่ใกล้ไกลเพียงใด และจำเลยทราบดีว่าผู้เสียหายที่ 2 ห้ามและไม่ยินดีให้ผู้เสียหายที่ 1 มาที่บ้านจำเลย การที่จำเลยเรียกผู้เสียหายที่ 1 ไปจากบริเวณที่ผู้เสียหายที่ 1 อยู่กับน้องให้เข้าไปหาในห้องนอนแล้วกระทำชำเรา กับเรียกผู้เสียหายที่ 1 ให้เข้าไปในห้องน้ำและกระทำชำเรา แม้ห้องนอนหรือห้องน้ำกับบริเวณที่ผู้เสียหายที่ 1 อยู่กับน้องจะเป็นบริเวณบ้านเดียวกัน แต่การกระทำของจำเลยแสดงว่ามีเจตนาพาผู้เสียหายที่ 1 จากบริเวณหนึ่งไปอีกบริเวณหนึ่งแล้ว ทั้งเมื่อจำเลยขี่จักรยานพาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่คลองท้ายหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านจำเลย 200 ถึง 300 เมตร เพื่อกระทำชำเรา ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยแต่ละครั้ง เป็นการพาไปหรือแยกผู้เสียหายที่ 1 ออกไปจากความปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 ทำให้การปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 ถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม เป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 และเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ปกครองดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7008/2562
ตามพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดตกลงยินยอมเปลี่ยนลักษณะงานจากการทำงานคัดแยกปลาและตัดหัวปลาในแพปลามาเป็นการทำงานเป็นลูกเรือบนเรือประมง แม้ถูกไต้ก๋งเรือบางคนบังคับขู่เข็ญให้ทำงานก็เป็นลักษณะนิสัยใจคอของไต้ก๋งเรือแต่ละคน ยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดถูกบังคับขู่เข็ญให้ทำงาน และเป็นเรื่องปกติที่เรือประมงซึ่งไปหาปลานอกน่านน้ำไทยต้องล่องทะเลหาปลาเป็นเวลานานจึงจะกลับเข้าฝั่ง และการที่ไต้ก๋งเรือเก็บหนังสือเดินทางของโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดไว้เพื่อความสะดวกในการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบระหว่างเดินทางก็เป็นวิธีปฏิบัติที่เรือประมงโดยทั่วไปกระทำกัน มิใช่เพื่อป้องกันมิให้โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดหลบหนี ส่วนค่าจ้างโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดตกลงให้ น. และ ก. รับเงินค่าจ้างแทนเพื่อนำไปส่งให้แก่ครอบครัวของแต่ละคนที่ประเทศกัมพูชาแล้วถ่ายรูปส่งให้โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดดูระหว่างที่ทำงานอยู่บนเรือประมง โดยมีการนำเงินค่าจ้างส่งให้จริง และหลังเกิดเหตุตัวแทนของ ค. เจ้าของเรือประมงได้จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดแล้ว เพียงแต่โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดยังโต้แย้งว่ามีค่าแรงในการทำงานวันหยุดและค่าแรงการทำงานล่วงเวลาต้องจ่ายเพิ่มอีก จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 กับพวกหลอกลวงโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดและเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยการบังคับใช้แรงงานโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6910/2562
จำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปกระทำชำเราเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 บิดาและ ศ. มารดาในฐานะผู้ดูแลและผู้มีอำนาจปกครอง จึงเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์มีอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 ผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปกระทำชำเรา 5 ครั้ง ต่างวันต่างเวลากัน แม้จำเลยกระทำต่อผู้เสียหายที่ 1 รายเดียวกัน ลักษณะการกระทำความผิดอย่างเดียวกัน สถานที่เกิดเหตุเดียวกัน และมีเจตนาประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกัน แต่จำเลยกระทำความผิดแต่ละครั้งต่างวันต่างเวลามิได้กระทำต่อเนื่องกัน การกระทำของจำเลยแต่ละครั้งจึงแยกต่างหากจากกันเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน ตาม ป.อ. มาตรา 91
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6306/2562
จำเลยนัดผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เยาว์อยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 ไปมีความสัมพันธ์ทางเพศกันในรถยนต์ของจำเลยระหว่างทางที่ผู้เสียหายที่ 2 นั่งไปและกลับจากโรงเรียน เป็นเหตุอันไม่สมควรอย่างยิ่ง แม้จำเลยไม่ได้ขับรถพาผู้เสียหายที่ 2 ออกไปนอกเส้นทางที่ต้องกลับบ้านและพาผู้เสียหายที่ 2 มาส่งที่บ้านตามปกติ ก็ยังเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคแรก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5117/2562
แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้มีการกระทำอันเป็นการพาโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากบ้านของโจทก์ร่วมที่ 2 โดยตรงก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ข่มขู่โจทก์ร่วมที่ 1 ให้ยอมมาหาที่บ้านแล้วกระทำการอันไม่สมควรทางเพศต่อเนื้อตัวร่างกายโจทก์ร่วมที่ 1 ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ยังอยู่ในความดูแลของโจทก์ร่วมที่ 2 ผู้เป็นมารดา ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะแยกโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากอำนาจปกครองของโจทก์ร่วมที่ 2 ผู้เป็นมารดา โดยให้โจทก์ร่วมที่ 1 ตกอยู่ในอำนาจควบคุมของจำเลยที่ 1 และจำยอมให้จำเลยที่ 1 กระทำอนาจารต่อโจทก์ร่วมที่ 1 อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของโจทก์ร่วมที่ 2 ผู้เป็นมารดาแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำอันเป็นการพรากโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 318 วรรคแรก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5073/2562
คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน รวม 2 กระทง กระทงละ 3 ปี 6 เดือน และฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร รวม 2 กระทง กระทงละ 2 ปี 6 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยตามระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด เพียงแต่พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในเรื่องการรวมโทษจำคุกทุกกระทงเท่านั้น อันเป็นการแก้ไขเล็กน้อย จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า ขณะจำเลยกระทำความผิด จำเลยเป็นคนมีจิตบกพร่องไม่สมประกอบ โดยพิการทางจิตใจ หรือพฤติกรรมประเภท 4 แต่ยังสามารถรู้สึกผิดชอบได้บ้างหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง อันพึงลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่กระทำลงตาม ป.อ. มาตรา 65 วรรคสอง หรือลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยนั้น ก็ปรากฏว่าในชั้นพิจารณาจำเลยให้การรับสารภาพ อีกทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยให้เหตุผลไว้โดยละเอียดแล้วว่าไม่ปรากฏชัดว่าการกระทำความผิดของจำเลยเกิดจากอาการทางจิตของจำเลยกำเริบขึ้น ทำให้จำเลยหย่อนความสามารถรู้สึกผิดชอบหรือหย่อนความสามารถบังคับตนเอง กรณีไม่มีเหตุให้ศาลลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่กระทำลงตาม ป.อ. มาตรา 65 วรรคสอง ฎีกาของจำเลยเท่ากับเป็นการขอให้ศาลฎีกาใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานแตกต่างไปจากศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4388/2562
ความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี และฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ไม่ว่าเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็เป็นความผิด แสดงให้เห็นว่ากฎหมายมุ่งประสงค์จะคุ้มครองเด็กโดยไม่ให้ความสำคัญแก่ความยินยอมของเด็ก ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เด็กถูกล่อลวงไปเพื่อกระทำอนาจารหรือเพื่อกระทำชำเรา
ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเด็กอยู่ในความปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 จำเลยที่ 1 ชักชวนล่อลวงผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อการอนาจาร แม้ผู้เสียหายที่ 1 ไปหาจำเลยที่ 1 แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ว่าเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 โทรศัพท์เรียกให้ไปหาที่วัด แล้วแยกกันเดินผ่านกุฏิเจ้าอาวาสไปทางซ้ายและขวาไปที่กุฏิจำเลยที่ 2 แล้วถูกจำเลยทั้งสองกระทำชำเราที่กุฏิจำเลยที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 โดยปราศจากเหตุอันสมควร การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4385/2562
ภายหลังจากจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 โจทก์ยังฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก จากกรณีที่จำเลยจับผู้เสียหายที่ 1 มัดไว้กับเก้าอี้เป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง และฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต จนผู้ถูกข่มขืนใจกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้น ตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคแรก จากกรณีที่จำเลยข่มขู่ผู้เสียหายที่ 1 มิให้นำเรื่องที่เกิดขึ้นไปบอกผู้ใด มิฉะนั้นจะใช้มีดฟันให้ตาย เป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งด้วย ซึ่งลักษณะความผิดในแต่ละข้อหาดังกล่าวแม้จะเป็นการกระทำต่อเนื่องเชื่อมโยงอยู่ในวาระเดียวกันโดยมุ่งหมายมิให้ผู้เสียหายที่ 1 บอกเรื่องที่จำเลยกระทำต่อบุคคลอื่น แต่ความผิดทั้งสองข้อหาดังกล่าวอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแตกต่างแยกจากความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ได้ จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์มิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยครบทุกกรรมได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4087/2562
โจทก์ร่วมที่ 1 ไปที่กระท่อมของจำเลย จำเลยข่มขู่โจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ให้ออกจากกระท่อม เพื่อต้องการกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 โดยโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ปกครองไม่ทราบเรื่องและไม่ยินยอมให้โจทก์ร่วมที่ 1 อยู่ภายในกระท่อมกับจำเลย ทั้งนี้ ไม่ว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งยังเป็นเด็กอยู่ที่ใด หากบิดา มารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลยังเอาใจใส่เด็กย่อมอยู่ในอำนาจปกครองของบิดา มารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลตลอดเวลา การที่จำเลยไม่ยอมให้โจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากกระท่อมของจำเลย เป็นการแยกอำนาจปกครองโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากโจทก์ร่วมที่ 2 แม้เพียงชั่วคราวก็เป็นการพรากผู้เยาว์ เมื่อจำเลยพรากโจทก์ร่วมที่ 1 ไปจากโจทก์ร่วมที่ 2 แล้วกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร
โจทก์ร่วมที่ 1 เดินทางมาที่กระท่อมจำเลยพร้อมเด็กชาย ศ. ทั้งสองครั้ง จำเลยมิได้พาโจทก์ร่วมที่ 1 มาที่กระท่อมที่เกิดเหตุและมิได้พาโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากกระท่อมไปที่ใด จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4057/2562
ความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม นี้ กฎหมายบัญญัติโดยมีความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองอำนาจของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลผู้เยาว์ อันไม่ใช่ตัวผู้เยาว์ที่ถูกพราก และปกป้องมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวนหรือกระทำการอันใด ๆ อันเป็นการกระทบกระทั่งต่ออำนาจปกครอง ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยปริยาย ผู้เยาว์แม้จะไปอยู่ที่แห่งใดหากบิดามารดา ผู้ดูแล หรือผู้ปกครองยังดูแลเอาใจใส่อยู่ ผู้เยาว์ย่อมอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ดูแล หรือผู้ปกครองตลอดเวลาโดยไม่ขาดตอน ทั้งเป็นการลงโทษผู้ที่ละเมิดต่ออำนาจปกครองของผู้ดูแลผู้เยาว์ของบิดามารดา ผู้ดูแล หรือผู้ปกครอง นอกจากนี้กฎหมายมิได้จำกัดคำว่า "พราก" โดยวิธีการอย่างใดและไม่ว่าผู้เยาว์จะเป็นฝ่ายออกจากบ้านเองหรือโดยมีผู้ชักนำหรือไม่มีผู้ชักนำ หากมีผู้กระทำต่อผู้เยาว์ในทางเสื่อมเสียและเสียหายย่อมถือได้ว่าเป็นความผิด การที่ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาออกจากบ้านไปเล่นกับเพื่อนในที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้าน ไม่ว่าจะขออนุญาตผู้เสียหายที่ 2 หรือไม่ก็ตาม เมื่อถูกจำเลยพาไปกระทำชำเรา การกระทำของจำเลยดังกล่าวทำให้อำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาย่อมถูกตัดขาดพรากไปแล้วโดยปริยาย หาใช่ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามมาตรานี้จะต้องถึงขนาดเป็นการกระทำที่ต้องพาไปหรือแยกผู้เยาว์ออกไปจากความปกครองตั้งแต่ออกจากบ้าน ถึงจะทำให้ความปกครองถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนแล้วจึงเป็นความผิด ดังนั้น เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ออกจากบ้านแล้วถูกจำเลยกระทำลักษณะเสื่อมเสียเยี่ยงนี้ ถือได้ว่าเป็นการพาและแยกผู้เยาว์ไปจากความปกครองดูแล และล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นบิดา อันเป็นความหมายของคำว่าพรากแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2982/2562
ผู้เสียหายที่ 2 วิ่งไปหาจำเลย จำเลยกอดผู้เสียหายที่ 2 แล้วจูบหน้าผาก จากนั้นถอดกางเกงผู้เสียหายที่ 2 ออกแล้วอุ้มผู้เสียหายที่ 2 ใช้นิ้วมือสอดเข้าไปในทวารหนักของผู้เสียหายที่ 2 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยอุ้มพาผู้เสียหายที่ 2 ไปที่อื่น จำเลยล่วงเกินทางเพศผู้เสียหายที่ 2 ตรงบริเวณที่พบผู้เสียหายที่ 2 นั้นเอง เท่ากับว่าผู้เสียหายที่ 2 มาหาจำเลยเองด้วยความเต็มใจ จำเลยมิได้พาผู้เสียหายที่ 2 มา อีกทั้งมิได้เหนี่ยวรั้งผู้เสียหายที่ 2 ไว้ เช่นนี้ ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยมีการกระทำประการใดอันเข้าลักษณะเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งจะกระทบกระเทือนต่ออำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม และย่อมไม่มีความผิดฐานพาผู้เสียหายที่ 2 เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารด้วย
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อนี้เป็น (18) ของมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา "(18)" "กระทำชำเรา" หมายความว่า "การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น" มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 277 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและให้ใช้ความใหม่แทน แต่ความใหม่มิได้บัญญัติให้การใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น เป็นความผิดฐานกระทำชำเรา และมาตรา 9 ให้ยกเลิกความในมาตรา 279 แห่งประมวลกฎหมายอาญาให้ใช้ความใหม่แทน โดยมาตรา 279 วรรคสี่ บัญญัติว่า "ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสาม เป็นการกระทำโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่น ซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของเด็กนั้น ผู้กระทำต้องระวางโทษ..." และวรรคห้า บัญญัติว่า "ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคสี่เป็นการกระทำแก่เด็กอายุไม่เกินสิบสามปีต้องระวางโทษ..." ดังนั้นจากบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขดังกล่าว ยังคงบัญญัติว่าการกระทำโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่นยังเป็นความผิดอยู่ มิได้เป็นเรื่องที่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังบัญญัติให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไปตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง เพียงแต่เปลี่ยนฐานความผิดจากการกระทำชำเราเป็นความผิดฐานอนาจารโดยการล่วงล้ำเท่านั้น ซึ่งตามสภาพทางธรรมชาติในการกระทำความผิดของจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) การปรับบทความผิดของจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าตาม ป.อ. มาตรา 3 แต่ความผิดฐานกระทำอนาจารโดยการล่วงล้ำตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต ส่วนความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับหนึ่งหมื่นสี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต ระวางโทษตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลย ศาลต้องพิจารณาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและปรับบทลงโทษจำคุกให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2269/2562
ผู้เสียหายที่ 1 อายุ 7 ปีเศษ เป็นบุตรผู้เสียหายที่ 2 พักอาศัยอยู่กับ บ. ซึ่งเป็นย่า วันเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 ออกจากบ้านไปเล่นกับเด็กหญิง ส. ที่บ้านเกิดเหตุ และขณะที่เด็กหญิง ส. ไปขี่รถจักรยานเล่นข้างนอก ปล่อยให้ผู้เสียหายที่ 1 นั่งดูโทรทัศน์อยู่ในบ้านเกิดเหตุเพียงคนเดียว จำเลยเข้ามาในบ้านเกิดเหตุปิดประตูใส่กลอนไม่ให้ผู้เสียหายที่ 1 ออกจากบ้าน แล้วกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยได้รบกวนสิทธิหรือแยกผู้เสียหายที่ 1 ออกไปจากอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 และทำให้อำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 ไปเสียจากอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ผู้เป็นมารดา จำเลยจึงมีความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร และฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี โดยเด็กนั้นไม่ยินยอม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1586/2562
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเด็กหญิง ยินยอมให้จำเลยพยายามกระทำชำเราและกระทำอนาจาร การกระทำของจำเลยก็ยังเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เสียหายที่ 2 แม้จะมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้แล้ว และยังคงมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยแทนผู้เสียหายที่ 2 ได้อีก
การที่ผู้เสียหายที่ 2 ไปที่ร้านของจำเลยเอง แล้วจำเลยล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เสียหายที่ 2 ที่ร้านโดยจำเลยมิได้พาผู้เสียหายที่ 2 ไปแต่อย่างใด จำเลยย่อมไม่มีความผิดฐานพาผู้เสียหายที่ 2 ไปเพื่อการอนาจาร แต่การที่จำเลยพยายามกระทำชำเรา และกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 ย่อมเป็นการกระทบต่ออำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 ที่มีต่อผู้เสียหายที่ 2 มิให้ผู้ใดพรากไปเสียจากความปกครอง แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้เสียหายที่ 2 ยินยอมก็ตาม แต่ผู้เสียหายที่ 2 ยังไม่พ้นจากความปกครองของผู้เสียหายที่ 1 ผู้เป็นมารดา ถือว่าเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจาร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1439/2562
ก่อนเกิดเหตุจำเลยกับพวกอยู่กับผู้เสียหายที่ 1 ในลักษณะนั่งล้อมเป็นวงกลมและร่วมดื่มเบียร์อยู่ท้ายรถกระบะด้วยกัน เวลาประมาณ 4 นาฬิกา ผู้เสียหายที่ 1 ถูกพวกจำเลย 2 คน กระทำชำเราจนสำเร็จความใคร่คนละ 1 ครั้ง แล้วถูกขังไว้ในห้องที่เกิดเหตุ ต่อมาเวลาประมาณ 10 นาฬิกา จำเลยไขกุญแจห้องแล้วมากระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 จนสำเร็จความใคร่ การที่ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งยังเป็นเด็กถูกพรากจากบิดามารดาแล้วถูกกระทำชำเราในลักษณะโทรมเด็กหญิงและถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังไว้ในห้องที่เกิดเหตุ จำเลยซึ่งอยู่ด้วยกันก่อนเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุโทรมหญิง โดยจำเลยมีกุญแจไขประตูห้องเข้ามากระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ได้ แสดงว่าจำเลยร่วมรู้เห็นเป็นใจและเป็นตัวการร่วมกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงกับพวกมาตั้งแต่ต้น และขณะจำเลยเข้ามาในห้องที่เกิดเหตุแล้วกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 นั้น ผู้เสียหายที่ 1 ยังไม่พ้นภยันตรายจากการถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังของจำเลยกับพวก การกระทำของจำเลยกับพวกยังไม่ขาดตอน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 759/2562
ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคแรก (เดิม) กฎหมายมุ่งประสงค์ที่จะลงโทษผู้ที่ละเมิดอำนาจปกครองดูแลเด็กของบุคคลดังกล่าว อันเป็นการคุ้มครองเด็กมิให้ถูกล่อลวงไปในทางเสียหาย ดังนั้น การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล จึงไม่ต้องถึงขนาดเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้เด็กปราศจากอิสระในการเคลื่อนไหวหรือควบคุมเด็กไว้ เพราะการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดต่อเสรีภาพอีกต่างหาก การจะเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคแรก (เดิม) สาระสำคัญจึงอยู่ที่ว่า การพาไปหรือแยกเด็กไปนั้นได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวให้ไปกับบุคคลที่พาไปหรือไม่ หรือมิฉะนั้นบุคคลที่พาเด็กนั้นไปจะต้องมีเหตุอันสมควร หากการพาหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยบิดามารดาเด็กไม่รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดาเด็ก การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล
สำหรับการกระทำอนาจาร หมายถึง การกระทำที่ไม่สมควรทางเพศ เช่น กอดจูบ ลูบคลำ แตะต้องเนื้อตัวร่างกายในทางไม่สมควร
ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นเด็กอายุ 10 ปีเศษ ยังอยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบิดามารดา การที่จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายถีบรถจักรยานยนต์คันที่ผู้เสียหายที่ 3 ขับมาจนทำให้ผู้เสียหายที่ 3 จำต้องหยุดรถ แล้วจำเลยจับแขนดึงผู้เสียหายที่ 3 เข้ามากอด หอมที่ซอกคอ จับนมของผู้เสียหายที่ 3 แล้วล็อกคอของผู้เสียหายที่ 3 ลากเข้าไปในป่ามันสำปะหลังข้างทาง เป็นเหตุให้ขาของผู้เสียหายที่ 3 เกี่ยวกับลวดหนามได้รับบาดเจ็บ โดยผู้เสียหายที่ 3 อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ และโดยผู้เสียหายที่ 3 ไม่ยินยอม การกระทำดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการพาไปหรือแยกผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นเด็กไปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบิดามารดา เพื่อกระทำการที่ไม่สมควรทางเพศ จำเลยจึงมีความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร
เมื่อปรากฏหลักฐานตามเอกสารแนบท้ายคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยซึ่งโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านว่า ภายหลังจากที่จำเลยกระทำความผิด จำเลยกราบขอขมาผู้เสียหายทั้งสามต่อหน้าผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและปลัดหมู่บ้าน โดยผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ให้อภัยจำเลยและไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลย ถือเป็นกรณีที่ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบิดามารดาของผู้เสียหายที่ 3 ได้ยินยอมแทนผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เยาว์แล้ว อันเป็นการยอมความกันตามกฎหมาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 (5) และมาตรา 5 (1) เมื่อความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้ายตาม ป.อ. มาตรา 284 วรรคแรก (เดิม) เป็นความผิดอันยอมความได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวจึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8827/2561
แม้ที่ผู้เสียหายที่ 2 อ้างว่า ที่ไปที่ห้องพักของจำเลยเป็นเพราะจำเลยติดต่อผ่านเฟซบุ๊กข่มขู่ให้ผู้เสียหายที่ 2 ไปหา จะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม การตัดสินใจจะไปหรือไม่ก็เป็นของผู้เสียหายที่ 2 เอง จำเลยไม่ได้กระทำการอันใดอันเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากการดูแลของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นบิดา จำเลยจึงไม่ได้กระทำความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาเพื่อการอนาจาร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8767/2561
คำว่า "พา" หมายความว่า นำไปหรือพาไป ส่วนคำว่า "พราก" หมายความว่า การพาไปหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแล ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยบิดามารดาเด็กไม่รู้เห็นยินยอม อันเป็นการมุ่งหมายเพื่อคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลที่มีต่อเด็ก มิให้ผู้ใดล่วงละเมิดด้วยการพาไปหรือแยกเด็กออกจากความปกครองดูแล โดยไม่จำกัดว่าจะกระทำด้วยวิธีการใด และไม่คำนึงระยะทางใกล้ไกล ดังนั้น การที่จำเลยใช้กลวิธีด้วยการตะโกนเรียกผู้เสียหายที่ 2 ขณะนั่งเล่นกับเพื่อนให้เข้าไปหาจำเลย แม้ที่เกิดเหตุอยู่ห่างจากบริเวณที่ผู้เสียหายที่ 2 เล่นอยู่กับเพื่อนเพียง 7 เมตร และอยู่ในบริเวณอู่ซ่อมรถด้วยกัน แล้วจำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปและพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพาเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารและฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8422/2561
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ร้องที่ 1 อยู่ในอำนาจปกครองดูแลของผู้ร้องที่ 2 ซึ่งเป็นมารดา แม้ผู้ร้องที่ 2 บอกให้ผู้ร้องที่ 1 เดินทางกลับบ้านพักด้วยตนเองตามลำพัง ผู้ร้องที่ 1 ก็ยังอยู่ในความปกครองของผู้ร้องที่ 2 ตลอดเวลา การที่จำเลยดึงแขนผู้ร้องที่ 1 แล้วพาเข้าไปป่าละเมาะเพื่อล่วงเกินทางเพศผู้ร้องที่ 1 ผู้ร้องที่ 2 ไม่ได้รู้เห็นเป็นใจหรือยินยอมให้จำเลยพาผู้ร้องที่ 1 เข้าไปที่ป่าละเมาะแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพาผู้ร้องที่ 1 ออกไปหรือแยกไปจากผู้ปกครองดูแลของผู้ร้องที่ 1 โดยปราศจากเหตุอันสมควร อันทำให้อำนาจปกครองดูแลของผู้ร้องที่ 2 ที่มีต่อผู้ร้องที่ 1 ถูกรบกวนหรือกระทบกระเทือน ผู้ร้องที่ 2 ย่อมได้รับความเสียหาย จำเลยจึงมีความผิดพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจาก บิดา มารดา ผู้ปกครอง ผู้ดูแล โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร ผู้ร้องที่ 2 จึงมีสิทธิขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำร้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8192/2561
แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกวางแผนที่จะเข้าไปลักทรัพย์ภายในโรงงานของผู้เสียหายที่ 1 แต่ไม่ปรากฏว่ามีการวางแผนแบ่งหน้าที่รับมากระทำเป็นส่วน ๆ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อสะดวกแก่การลักทรัพย์ พาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์ ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือให้พ้นจากการจับกุมอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์ รวมไปถึงการทำร้ายร่างกายและปล้นเงินของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยในโรงงานของผู้เสียหายที่ 1 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้เพียงว่า พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่เพียงขับรถยนต์ไปส่งจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกที่โรงงานของผู้เสียหายที่ 1 แล้วขับรถไปรอที่ปั๊มน้ำมัน เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกลักทรัพย์ได้แล้ว พวกของจำเลยที่ 1 และที่ 3 โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ไปรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกพร้อมทรัพย์ที่ลักมา ซึ่งเป็นการเข้ามาร่วมกระทำผิดด้วยเมื่อมีการตัดสายไฟแล้วขนย้ายเคลื่อนที่อันเป็นการลักทรัพย์สำเร็จเท่านั้น ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ที่อื่นห่างไกลจากสถานที่เกิดเหตุจึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 โดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม และหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นตามฟ้อง แต่มีความผิดเพียงฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ผู้เสียหายที่ 1 ในเวลากลางคืนโดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป โดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ และมาตรา 86 อันเป็นการกระทำซึ่งเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเองและรวมอยู่ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย และจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 คืนเงิน 3,900 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 แต่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 คืนเงิน 280,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5765/2561
ตาม ป.อ. อาญา มาตรา 309 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น ..." ดังนี้ การที่ผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้นตามที่ถูกข่มขืนใจจึงเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานนี้ด้วย ซึ่งโจทก์ต้องบรรยายให้ปรากฏในคำฟ้อง เมื่อฟ้องโจทก์บรรยายเพียงว่า จำเลยบังอาจถืออาวุธปืนพร้อมกับชี้นิ้วและพูดจาข่มขู่เพื่อมิให้ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 กระทำการก่อสร้างที่พักคนงาน อันเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 ให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 เกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกาย โดยโจทก์มิได้บรรยายว่า ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 ผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้นหรือไม่ จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบของความผิดตามกฎหมายดังกล่าวที่โจทก์ขอให้ลงโทษ คำฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานนี้จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4532/2561
การที่จำเลยทั้งสามกับพวกนำผู้ตายไปกักขังเพื่อเรียกค่าไถ่แล้วพวกของจำเลยได้ฆ่าผู้ตายนั้น ถือได้ว่าการตายของผู้ตายเป็นผลมาจากการที่จำเลยทั้งสามกับพวกนำผู้ตายไปเพื่อเรียกค่าไถ่ การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 313 วรรคท้าย
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 9/2561)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1188/2561
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยนำภาพและวิดีโอลามกส่งเข้าระบบคอมพิวเตอร์ ส่งให้บุตรสาวโจทก์ดูเพื่อประจานโจทก์ ซึ่งมีเพียงจำเลยและบุตรสาวโจทก์เท่านั้นที่มีรหัสในการเข้าดูประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าดูได้หากไม่ทราบรหัส จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (4)
จำเลยส่งข้อความทางผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตถึงโจทก์หลายครั้ง ขู่เข็ญโจทก์ให้จ่ายเงินจำเลย มิเช่นนั้นจะเปิดเผยความลับรูปภาพและวิดีโอที่โจทก์ไปมีความสัมพันธ์ทางเพศกับชายอื่น ในขณะที่ยังไม่ได้หย่าขาดจากจำเลย การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการข่มขืนใจผู้อื่น ให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยขู่เข็ญจะเปิดเผยความลับ ซึ่งการเปิดเผยนั้นจะทำให้ผู้ถูกขู่เข็ญหรือบุคคลที่สามเสียหายครบองค์ประกอบความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ เมื่อโจทก์ไม่ยินยอมมอบเงินให้ตามที่จำเลยขู่เข็ญ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามรีดเอาทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 489/2561
การกระทำโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม ไม่ต้องถึงขนาดเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้เด็กปราศจากอิสระในการเคลื่อนไหว เพราะการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดต่อเสรีภาพอีกต่างหาก "พราก" ตามพจนานุกรมมีความหมายว่า จากไป หรือแยกออกจากกัน ดังนั้น สาระสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเด็กยังอยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 การที่จำเลยนัดแนะ หรือแยกผู้เสียหายที่ 2 ไปยังที่ต่างๆในโรงเรียน จำเลยได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายที่ 1 หรือไม่ และมีเหตุผลอันสมควรหรือไม่ โดยบทกฎหมายดังกล่าวประสงค์ที่จะลงโทษผู้ที่ละเมิดอำนาจปกครองดูแลเด็กของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล อันเป็นการคุ้มครองเด็กมิให้ถูกล่อลวงไปในทางเสียหาย ดังนั้น แม้หลังถูกกระทำชำเรา ผู้เสียหายที่ 2 มิได้ถูกจำเลยหน่วงเหนี่ยวหรือกักขัง มีอิสระในการเคลื่อนไหว และสามารถกลับไปเรียนตามปกติได้ ก็เป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 โดยปราศจากเหตุอันสมควร เพื่อการอนาจารแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 478/2559
จำเลยที่ 1 ข่มขู่บังคับให้โจทก์ร่วมไปโอนขายสิทธิการเช่าที่ราชพัสดุซึ่งมีชื่อของ ส. บุตรโจทก์ร่วมถือสิทธิ และโจทก์ร่วมยอมไปขอร้อง ส. ให้โอนขายสิทธิการเช่าดังกล่าวโดยอ้างว่าโจทก์ร่วมกำลังเดือดร้อน ส. ยอมโอนขายสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุให้ผู้อื่น เงินที่ขายได้เข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วม จะเห็นได้ว่าการกระทำตามคำขู่บังคับของจำเลยที่ 1 ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 ได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยตรงย่อมไม่เป็นความผิดฐานกรรโชก แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการข่มขืนใจโจทก์ร่วมให้ไปขอร้อง ส. ให้โอนขายสิทธิการเช่าที่ราชพัสดุ โดยทำให้โจทก์ร่วมกลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่โจทก์ร่วมและคนในครอบครัว โจทก์ร่วมเกิดความกลัวยอมกระทำการตามที่จำเลยที่ 1 ข่มขู่บังคับ จึงเป็นความผิดต่อเสรีภาพตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคแรก ซึ่งเป็นความผิดที่รวมอยู่ในความผิดฐานกรรโชกตามที่โจทก์ฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7290/2558
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยโดยปราศจากเหตุอันสมควรพราก น. ผู้เสียหายที่ 2 อายุ 17 ปีเศษ ซึ่งเป็นผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจาก ว. ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วย กับจำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปเพื่อการอนาจารโดยพูดข่มขู่ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งขณะนั้นผู้เสียหายที่ 2 สวมใส่ชุดนักเรียนแต่หนีเรียนไม่เข้าโรงเรียนตามปกติ ว่าหากผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยอมไปกับจำเลย จำเลยจะนำเรื่องที่ผู้เสียหายที่ 2 หนีเรียนไม่เข้าโรงเรียนตามปกติดังกล่าวไปแจ้งให้ทางโรงเรียนที่ผู้เสียหายที่ 2 ศึกษาอยู่และผู้ปกครองผู้เสียหายที่ 2 ทราบ เพื่อให้ผู้เสียหายที่ 2 ถูกลงโทษหรือว่ากล่าว เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 เกิดความกลัวตามคำข่มขู่ของจำเลยดังกล่าว และยอมไปกับจำเลย อันเป็นการขู่เข็ญหรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด โดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม และจำเลยได้กระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 โดยใช้กำลังประทุษร้ายด้วยการจับแขนและดึงตัวผู้เสียหายที่ 2 เข้าไปสวมกอดเพื่อมิให้ผู้เสียหายที่ 2 ขัดขืน แล้วจำเลยได้หอมที่บริเวณหน้าผากของผู้เสียหายที่ 2 โดยจำเลยมีเจตนาล่วงเกินทางเพศต่อผู้เสียหายที่ 2 โดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยพรากผู้เสียหายที่ 2 หรือพาผู้เสียหายที่ 2 ไปเพื่อการอนาจารอย่างไร และไม่ได้บรรยายถ้อยคำตาม ป.อ. มาตรา 284 ว่า จำเลยใช้อุบายหลอกลวงขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้ายใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมหรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด ก็ตาม แต่คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวก็พอเข้าใจได้แล้วว่า จำเลยพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่เต็มใจไปด้วย พาผู้เสียหายที่ 2 ไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอมและพาผู้เสียหายที่ 2 ไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวงขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมหรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใดแล้ว ทั้งการบรรยายฟ้องก็หาจำต้องเคร่งครัดถึงกับต้องใช้ถ้อยคำในกฎหมายเสมอไปไม่ ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ, 284, 318 แล้ว นอกจากนี้โจทก์บรรยายฟ้องในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ และมาตรา 284 ในข้อเดียวกัน แสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวเพียงกรรมเดียว โจทก์จึงไม่ต้องบรรยายฟ้องเกี่ยวกับความผิดนั้นว่าเป็นหลายกรรมต่างกัน ทั้ง ป.อ. มาตรา 90 มิใช่กฎหมายซึ่งอ้างว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิด โจทก์จึงไม่จำต้องอ้างบทบัญญัติดังกล่าวในคำขอท้ายฟ้อง ฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 94/2560
การกระทำที่เป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา
ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลนั้นต้องมีลักษณะเป็นการพาไปเสียจากบิดามารดา
ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลที่มีผลกระทบกระเทือนหรือรบกวนต่ออำนาจปกครองหรือสิทธิในลักษณะเดียวกับสิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครองตาม
ป.พ.พ. มาตรา 1567 ได้แก่ กำหนดที่อยู่ของเด็ก
ทำโทษเด็กตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน ให้เด็กทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถ
เรียกเด็กคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักเด็กไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
หรือกระทบกระเทือนหรือรบกวนต่อหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่เด็กตามมาตรา
1567 เป็นต้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้เสียหายที่ 1
ไปที่บ้านของจำเลย เป็นเพราะ ม. ชักชวนไป
โดยจำเลยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แม้เหตุคดีนี้จะเกิดขึ้นภายในบ้านของจำเลย
ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำการอันเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้เสียหายที่
2 หรือมีการกระทำอันเป็นการกระทบกระเทือนหรือรบกวนต่ออำนาจปกครองหรือสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายของผู้เสียหายที่
2 ดังกล่าว ที่โจทก์อ้างว่า
จำเลยกระทำความผิดก็ด้วยเรื่องที่ชวนผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปในห้องนอนของตนเพื่อการอนาจารนั้น
ก็ต้องแยกเจตนาและการกระทำออกเป็นสองส่วน ได้แก่ จำเลยชวนผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปในห้องนอนส่วนหนึ่ง และจำเลยกระทำไปเพื่อการอนาจารอีกส่วนหนึ่ง
โดยต้องพิจารณาเสียก่อนว่าจะชวนเข้าไปในห้องนอนดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 317
วรรคแรกหรือไม่
แล้วจึงจะพิจารณาต่อไปได้ว่าจำเลยกระทำไปเพื่อการอนาจารที่มีผลให้ต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรา
317 วรรคสามหรือไม่ ความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรกเพียงเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปโดยปราศจากเหตุอันสมควรหรือความยินยอมของบิดามารดา
ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ย่อมเป็นความผิดสำเร็จได้ในตัวเอง
หาจำต้องเป็นการกระทำเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจารอันเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งของความผิดตามมาตรา
317 วรรคสามประกอบด้วยไม่ กล่าวคือ แม้ไม่มีการกระทำอันเป็นความผิดตามมาตรา
317 วรรคสาม ก็มีความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรกได้โดยสมบูรณ์
จึงจะนำเรื่องเป็นการกระทำเพื่อการอนาจารตามมาตรา 317 วรรคสาม
ย้อนกลับมาถือเป็นเหตุให้การกระทำนั้นปราศจากเหตุอันสมควรหรือต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา
ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตามมาตรา 317 วรรคแรกหาได้ไม่
กรณีเห็นได้ชัดแจ้งอยู่แล้วว่าเพียงการชวนให้บุคคลใดเข้าไปในห้องนอนของตนเท่านั้น
เมื่อไม่เอาองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 317 วรรคสาม
ที่ว่าเป็นไปเพื่อการอนาจารมาพิจารณาประกอบด้วย
ก็ย่อมถือไม่ได้อยู่เองว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นไปโดยปราศจากเหตุอันสมควร
กลับกันเป็นว่าผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปโดยไม่ถือว่าปราศจากเหตุอันสมควรอีกต่างหาก
ในกรณีผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งมีอายุ 14 ปีแล้วจะเข้าไปหรือไม่
ย่อมมีอิสระตัดสินใจได้เองตามสมควร
มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าไม่ว่าผู้ใดชวนผู้เสียหายที่ 1 ไปที่ใดหรือเข้าไปภายในหรือบริเวณใดของบ้านหรือสถานที่ธรรมดาทั่วไป
ก็ต้องขอหรือกลับไปขอความยินยอมจากผู้เสียหายที่ 2 ทุกครั้งไป
ซึ่งขัดต่อสภาพความเป็นจริงอย่างเห็นได้ชัด
ข้อเท็จจริงข้างต้นจึงรับฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 317
วรรคแรก เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรกเสียแล้ว
ย่อมไม่ต้องพิจารณาว่าเป็นการกระทำเพื่อการอนาจารอันจะเป็นความผิดตามมาตรา 317
วรรคสามหรือไม่อีกต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 693/2559
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1
ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดด้วยการโฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กลุ่มคนชมรม ค.
กระทำความผิดในคดีนี้ โดยบรรยายครบองค์ประกอบความผิดในแต่ละข้อหา
จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว
โดยหาจำต้องระบุตัวบุคคลผู้ถูกใช้หรือลงมือกระทำความผิดไม่
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 309 ที่ได้กระทำโดยมีอาวุธและโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปตามวรรคสอง
ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความได้ตาม ป.อ. มาตรา 321 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ส่วนความผิดตาม ป.อ. มาตรา 358 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้นั้น
แม้จะได้ความว่าฝ่ายโจทก์ตกลงยอมความกับจำเลยที่ 2 แต่ไม่ปรากฏว่าฝ่ายโจทก์ได้ตกลงให้ความผิดของจำเลยที่
1 ระงับไปด้วย ความผิดของจำเลยที่ 1 จึงหาระงับไปไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 478/2559
จำเลยที่ 1 ข่มขู่บังคับให้โจทก์ร่วมไปโอนขายสิทธิการเช่าที่ราชพัสดุซึ่งมีชื่อของ ส.
บุตรโจทก์ร่วมถือสิทธิ และโจทก์ร่วมยอมไปขอร้อง ส.
ให้โอนขายสิทธิการเช่าดังกล่าวโดยอ้างว่าโจทก์ร่วมกำลังเดือดร้อน ส.
ยอมโอนขายสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุให้ผู้อื่น
เงินที่ขายได้เข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วม
จะเห็นได้ว่าการกระทำตามคำขู่บังคับของจำเลยที่ 1 ไม่ทำให้จำเลยที่
1 ได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยตรงย่อมไม่เป็นความผิดฐานกรรโชก
แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการข่มขืนใจโจทก์ร่วมให้ไปขอร้อง
ส. ให้โอนขายสิทธิการเช่าที่ราชพัสดุ
โดยทำให้โจทก์ร่วมกลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่โจทก์ร่วมและคนในครอบครัว
โจทก์ร่วมเกิดความกลัวยอมกระทำการตามที่จำเลยที่ 1 ข่มขู่บังคับ
จึงเป็นความผิดต่อเสรีภาพตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคแรก
ซึ่งเป็นความผิดที่รวมอยู่ในความผิดฐานกรรโชกตามที่โจทก์ฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8420 -
8421/2558
แม้ผู้ร้องที่ 2 มิได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องที่ 1 กรณีผู้ร้องที่
2 จึงมิใช่ผู้ใช้อำนาจปกครองของผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ เหมือนผู้ร้องที่ 3 ที่เป็นมารดาชอบด้วยกฎหมายอันเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองตามกฎหมายก็ตาม
แต่เมื่อผู้ร้องที่ 2 เป็นบิดาที่แท้จริงของผู้ร้องที่ 1
ต้องถือว่าผู้ร้องที่ 2 อยู่ในฐานะผู้ดูแลผู้ร้องที่
1 และเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี
แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดาซึ่งเป็นผู้ดูแลตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคแรกด้วย ผู้ร้องที่ 2 ย่อมมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนตาม
ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4902/2558
โจทก์บรรยายฟ้องว่า
จำเลยพรากเด็กชาย ม.
ซึ่งมีอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากโจทก์ซึ่งเป็นบิดาผู้ใช้อำนาจปกครองและหน่วงเหนี่ยวกักขังเด็กชาย
ม. ให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย
ซึ่งโจทก์เป็นผู้เสียหายในความผิดที่จำเลยพรากเด็กชาย ม. ซึ่งมีอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปจากโจทก์
โจทก์จึงฟ้องจำเลยให้รับผิดในทางแพ่งฐานละเมิดโดยอาศัยมูลคดีอาญาความผิดดังกล่าว
อันเป็นการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
แม้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญาจำเลยเฉพาะความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย
ไม่ได้ฟ้องจำเลยในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา
ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล
และคดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดโดยข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังก็ตาม
แต่การกระทำของจำเลยที่หน่วงเหนี่ยวกักขังเด็กชาย ม.
ให้ปราศจากเสรีภาพโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้ใช้อำนาจปกครองย่อมเป็นการพาและแยกเด็กชาย
ม. ไปจากความปกครองดูแลของโจทก์ทำให้ความปกครองดูแลของโจทก์ที่มีต่อเด็กชาย ม.
ถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน
การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา
ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลด้วย เมื่อมูลคดีนี้ไม่มีผู้ใดฟ้องจำเลยทางอาญา
สิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยทางแพ่งเนื่องจากความผิดนั้นต้องนำ ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง
มาใช้บังคับ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคแรก
มีอายุความทางอาญา 15 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (2) ซึ่งเป็นกำหนดอายุความที่ยาวกว่าอายุความทางแพ่งในมูลละเมิด
จึงต้องเอาอายุความ 15 ปี มาใช้บังคับ
จำเลยกระทำละเมิดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2550 และโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2554
ยังไม่พ้นกำหนด 15 ปี
ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 312/2558
ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขัง
ทำให้ปราศจากเสรีภาพเพื่อให้ผู้อื่นทำการค้าประเวณีตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี
พ.ศ.2539
มาตรา 12 เป็นความผิดอาญาแผ่นดินที่เกิดขึ้นในประเทศเดนมาร์กนอกราชอาณาจักร
จำเลยที่ 3 ผู้กระทำผิดเป็นคนไทยและผู้เสียหายทั้งสองได้ร้องขอให้ลงโทษ
จำเลยที่ 3 จะต้องรับโทษในราชอาณาจักรและศาลไทยจะลงโทษได้เฉพาะความผิดต่อเสรีภาพตามมาตรา
309 และมาตรา 310 ประกอบมาตรา 8
ตาม ป.อ. เท่านั้น ศาลฎีกาต้องตีความกฎหมายทางอาญา โดยเคร่งครัด
จะขยายความมาตรา 8 ไปไกลว่า
กฎหมายอาญามีเจตนารมณ์ให้ลงโทษผู้กระทำผิดตามกฎหมายพิเศษเฉพาะเรื่องอันมีโทษหนักขึ้นตาม
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 12
หาได้ไม่ และมาตรา 12 นั้นเองไม่ได้บัญญัติว่า
หากกระทำความผิดดังกล่าวไม่ว่าภายในหรือนอกราชอาณาจักรต้องรับโทษด้วย
ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา
ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15518/2557
จำเลยกับพวกร่วมกันกระชากตัวโจทก์ร่วมลงจากรถแท็กซี่และรุมทำร้ายโจทก์ร่วม
แล้วนำตัวโจทก์ร่วมขึ้นรถกระบะแล่นออกไปยังบ่อปลาแห่งหนึ่งโดยระหว่างที่อยู่ในรถกระบะจำเลยกับพวกทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมตลอดทางโดยใช้ขวดเบียร์และท่อนเหล็กเป็นอาวุธ
และจำเลยได้ล้วงเงิน 10,000 บาท ของโจทก์ร่วมไป
เมื่อจำเลยกระทำความผิดโดยมีอาวุธในเวลากลางคืนและใช้ยานพาหนะ
การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 335 (1) (7), 340 ตรี
การที่จำเลยและ น.
เรียกร้องเงินจำนวน 23,000 บาท
เพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวโจทก์ร่วม โดยจำเลยเชื่อว่าโจทก์ร่วมโกงเงิน น.
ย่อมเป็นเพียงความเชื่อของจำเลย หาเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมเป็นหนี้ น. ไม่ ดังนั้น
เงินจำนวน 23,000 บาท
ที่จำเลยเรียกร้องเพื่อแลกกับการปล่อยตัวโจทก์ร่วมจึงเป็นค่าไถ่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดต่อเสรีภาพตามมาตรา
313 วรรคแรก
อนึ่ง
เนื่องจากจำเลยจัดให้โจทก์ร่วมได้รับเสรีภาพก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาโดยโจทก์ร่วมมิได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต
จึงลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 316
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11520
- 11521/2557
ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร
การที่จะพิจารณาว่าผู้เยาว์เต็มใจหรือไม่เต็มใจนั้น
ต้องพิจารณาเจตนาภายในใจของผู้เยาว์ คดีนี้ผู้เสียหายที่ 1 มีเจตนาไปเที่ยวที่ประเทศมาเลเซียตามคำชักชวนของจำเลยที่ 1 โดยผู้เสียหายที่ 1 เดินทางไปเองตามลำพัง จำเลยที่ 1
มิได้บังคับผู้เสียหายที่ 1 ดังนี้จะถือว่าผู้เสียหายที่
1 ไม่เต็มใจไปหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10864/2557
แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า
จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 โดยใช้นิ้วมือแหย่เข้าไปบริเวณรูทวารหนักและใช้อวัยวะเพศของจำเลยถูไถบริเวณอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่
1 เพื่อสนองความใคร่ แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยใช้นิ้วแหย่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่
1 ก็ตาม แต่การกระทำชำเราตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง
บัญญัติให้หมายความถึงการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ
ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น
ฉะนั้นการกระทำของจำเลยไม่ว่าจะกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้เสียหายที่ 1
ก็ตาม ก็เป็นการกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว
อีกทั้งจำเลยก็มิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกาจึงลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192
วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 แต่สำหรับความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารนั้น
จำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ออกจากบ้านบอลที่เล่นอยู่ไปที่บริเวณลูกกรงเหล็กที่กั้นสำหรับกันคนตก
แล้วจึงใช้นิ้วแหย่อวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 จำเลยเพียงเพื่อหาสถานที่ปลอดคนที่จะล่วงละเมิดทางเพศผู้เสียหายที่
1 ได้โดยสะดวกและไม่มีใครรู้เห็นมากกว่าที่จะมีเจตนาพรากผู้เสียหายที่
1 ไปจากผู้ปกครอง
และการกระทำของจำเลยก็ยังอยู่ในบริเวณสวนสนุกนั้นเอง ทั้งใช้เวลาไม่นาน
การกระทำของจำเลยยังไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8076/2557
การที่จำเลยที่ 2 ขึ้นไปบนรถโดยสารประจำทางคันเกิดเหตุโดยพาอาวุธมีดติดตัวไป
แม้จะไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2
เป็นผู้ใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายด้วย
และเป็นผู้ที่พูดข่มขืนใจให้ผู้เสียหายส่งมอบเสื้อชุดฝึกปฏิบัติงานโรงงานให้ก็ตาม
แต่จำเลยที่ 2 ก็อยู่ร่วมกับจำเลยที่ 1
กับพวกโดยตลอดในลักษณะที่พร้อมจะช่วยเหลือกันทันท่วงทีหากมีเหตุให้ต้องช่วยเหลือ
ประกอบกับหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2
ก็หลบหนีไปพร้อมกันกับจำเลยที่ 1 และพวก
พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่
1 และพวกกระทำความผิด
ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณารับฟังได้ว่า
หลังจากจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันชกต่อยและใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายแล้ว
จำเลยทั้งสองกับพวกจึงร่วมกันพูดข่มขืนใจให้ผู้เสียหายส่งมอบเสื้อชุดฝึกปฏิบัติงานโรงงานออกให้
มิฉะนั้นจะฟันผู้เสียหายอีก แสดงให้เห็นว่าในตอนแรกที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันทำร้ายผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองกับพวกยังไม่มีเจตนาที่จะข่มขืนใจผู้เสียหายให้ส่งมอบเสื้อดังกล่าวให้
แต่หลังจากหยุดทำร้ายผู้เสียหายแล้ว
จำเลยทั้งสองกับพวกจึงเกิดเจตนาข่มขืนใจผู้เสียหาย เจตนาข่มขืนใจดังกล่าวจึงเป็นคนละตอนคนละเจตนากับการทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส
การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7532/2557
โจทก์บรรยายฟ้องว่า
จำเลยกับ ป. ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายโดยใช้มีดปอกผลไม้ปลายแหลม 1 เล่ม ฟันข้อมือขวาของผู้เสียหาย 1 ครั้ง
มิได้บรรยายว่า
จำเลยกับพวกร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายโดยใช้สายไฟของเครื่องเป่าผมผูกมัดประตูห้องน้ำไว้กับประตูระเบียงห้องจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายไม่สามารถออกจากห้องน้ำได้
ซึ่งการกระทำดังกล่าวจำเลยและ ป. มิได้ใช้แรงกายภาพกระทำต่อผู้เสียหาย
ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์
คงเป็นการกระทำที่เป็นการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น
หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 310
ซึ่งมิใช่เป็นการกระทำที่โจทก์บรรยายฟ้องและประสงค์จะให้ลงโทษจำเลย
ส่วนการที่ผู้เสียหายใช้มือข้างขวาเปิดบานเกล็ด ป.
ใช้มีดปอกผลไม้ปลายแหลมฟันข้อมือผู้เสียหาย 1 ครั้ง
เป็นเหตุให้มีบาดแผลยาว 1 ซ.ม.
เมื่อผู้เสียหายร้องขอให้จำเลยเอายามาให้ ป. เอายามาให้ผู้เสียหาย
นับว่าผิดวิสัยของคนร้ายที่ประสงค์ทำร้ายร่างกายเจ้าของทรัพย์เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์
การกระทำของ ป.
จึงเป็นการกระทำที่มิได้เกี่ยวเนื่องกับการลักทรัพย์และเป็นเรื่องเฉพาะตัวของ ป.
เอง เพราะจากคำเบิกความของผู้เสียหายไม่ปรากฏว่าจำเลยรู้เห็นด้วยในลักษณะอย่างใด
จำเลยคงมีความผิดฐานลักทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปตาม ป.อ.
มาตรา 335 (7) วรรคแรก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7346/2557
การที่ ต.
กระชากมือดึงผู้เสียหายเข้าไปในห้องทำการข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย เมื่อ ต.
ออกจากห้อง จำเลยก็เข้าไปในห้องทำการข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายต่อ
และเมื่อจำเลยออกจากห้อง ต. กับ ป.
พวกของจำเลยก็พากันเข้าไปในห้องร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอีก
พฤติการณ์การข่มขืนกระทำชำเราเช่นนี้
แม้ว่าผู้กระทำมิได้อยู่ในห้องในขณะที่คนหนึ่งข่มขืนกระทำชำเราอยู่
แต่จำเลยกับพวกได้กระทำในลักษณะติดต่อกัน จึงเป็นการสมคบกันกระทำความผิด
อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7194 -
7195/2557
การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ร่วมกันพาผู้เสียหายที่
1 ไปที่ห้องพักเกิดเหตุก็เพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 ชำระหนี้ที่กู้ยืมไปจากกลุ่มของจำเลยทั้งหกให้แก่จำเลยที่ 1 ประโยชน์ที่จำเลยที่ 1 เรียกร้องให้ผู้เสียหายที่ 1
ชำระหนี้ดังกล่าวจึงไม่ใช่ค่าไถ่ตามความหมายในบทนิยามคำว่า
"ค่าไถ่" ตาม ป.อ. มาตรา 1 (13) การกระทำของจำเลยที่
1 ถึงที่ 4 และที่ 6 จึงไม่เป็นความผิดฐานเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่
โดยการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังบุคคลใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4936/2557
ขณะผู้เสียหายทั้งสองขับรถยนต์ซูบารุรับจ้างตามกันมาในซอยลาดพร้าว
127
เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุ
จำเลยกับพวกออกมายืนขวางหน้ารถยนต์ผู้เสียหายที่ 1 พูดจาข่มขู่ผู้เสียหายที่
1 ให้ลงจากรถยนต์พร้อมใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้า จากนั้นจำเลยกับพวกไปที่หน้ารถยนต์ผู้เสียหายที่
2 พูดข่มขู่และกระชากผู้เสียหายที่ 2 ให้ลงจากรถยนต์
ใช้อาวุธปืนจ่อที่เอวผู้เสียหายที่ 2 เช่นนี้
เป็นการกระทำคนละคราว และมีเจตนาแยกจากกันได้ แม้จะเป็นเวลาต่อเนื่องกัน
ก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4192/2557
ความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารนั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า
จำเลยใช้อาวุธปืนจี้บังคับให้ผู้เสียหายขึ้นนั่งรถยนต์แล้วให้ผู้เสียหายขับไป
อันเป็นการพาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจารโดยการขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย
และใช้อำนาจผิดคลองธรรม โดยโจทก์มิได้กล่าวในฟ้องว่าจำเลยใช้อุบายหลอกลวงผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจาร
ถึงแม้ว่าความผิดฐานใช้อุบายหลอกลวงไปเพื่อการอนาจารกับความผิดฐานขู่เข็ญและใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อการอนาจารจะเป็นความผิดในมาตราเดียวกัน
แต่ลักษณะของการกระทำต่างกัน องค์ประกอบในการกระทำความผิดจึงต่างกัน แม้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า
จำเลยพาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวง
ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคแรก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12665/2556
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ.2542 คำว่า "พราก" หมายความว่าจากไป พาเอาไปเสีย แยกออกจากกัน
เอาออกจากกัน ดังนั้น ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา
ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317
วรรคสาม จึงหมายถึง การพาหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา
ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยบิดามารดาเด็กไม่รู้เห็นยินยอมด้วย
อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดาเด็ก แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า
ผู้ร้องอนุญาตให้ผู้เสียหายที่ 2
ทำงานเป็นพนักงานเก็บเงินค่าโดยสารให้จำเลย
หากรถยนต์โดยสารของจำเลยถึงจังหวัดตรังเวลาค่ำ จำเลยและผู้เสียหายที่ 2 จะนอนค้างคืนที่ห้องเช่า อีกทั้งผู้ร้องเคยไปพักกับผู้เสียหายที่ 2 ที่ห้องเช่าดังกล่าวด้วย แสดงว่าผู้ร้องรู้เห็นยินยอมให้ผู้เสียหายที่ 2 พักอยู่ห้องเช่าจังหวัดตรังกับจำเลย จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม
การกระทำอนาจาร หมายถึง
การกระทำที่ไม่สมควรทางเพศ เช่น กอดจูบ ลูบคลำ
แตะต้องเนื้อตัวร่างกายในทางไม่สมควร การกระทำชำเราจึงรวมถึงการกระทำอนาจารอยู่ในตัว
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยปลุกปล้ำ กอดจูบ ถอดเสื้อผ้า
และกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2
การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายตาม
ป.อ. มาตรา 279 วรรคสอง และฐานข่มขืนกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม
ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง
เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 1 ก ข้อ 2 ก ข้อ 3 ก และข้อ 4
ก ว่า จำเลย...ได้บังอาจพราก...ผู้เสียหายที่ 2...ด้วยการพาตัวผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากความปกครองดูแลของ...ผู้เสียหายที่
1 เพื่อการอนาจาร
ทั้งโจทก์ได้อ้างฐานความผิดไว้ในตอนต้นว่าพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร
และคำขอท้ายฟ้องอ้าง ป.อ. มาตรา 283 ทวิ ไว้ด้วย
ฟ้องของโจทก์จึงบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ฐานความผิด
และอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ชอบด้วย ป.วิ.อ.
มาตรา 158 (2) (5) และ (6) แล้ว
ถือได้ว่าฟ้องของโจทก์ได้บรรยายครบองค์ประกอบความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารตาม
ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคสอง แล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9829/2556
การกระทำที่เป็นการพรากเด็กไปเสียจากบิดามารดา
ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล ตาม ป.อ. มาตรา 317 นั้น
ไม่ถึงขนาดต้องควบคุมตัวเด็กนั้นไว้
เพระการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดต่อเสรีภาพอีกต่างหาก คำว่า "พราก"
มีความหมายว่า จากไปหรือแยกออกจากกัน
สาระสำคัญจึงอยู่ที่การพาไปหรือการแยกเด็กไปนั้น
ได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวให้ไปกับบุคคลที่พาไปหรือไม่
หรือมิฉะนั้นบุคคลที่พาเด็กนั้นไปจะต้องมีเหตุอันสมควร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9285/2556
เมื่อจำเลยสำคัญผิดว่าผู้เสียหายพ้นวัยผู้เยาว์
โดยเข้าใจว่าผู้เสียหายมีอายุเกินกว่า 18 ปี แล้ว
จึงเป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเรื่องอายุอันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา
318 วรรคแรก การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนากระทำความผิดฐานดังกล่าวตาม
ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6215/2556
จำเลยที่ 1 บอกผู้เสียหายที่ 1 ว่าจะขับรถจักรยานยนต์พาไปส่ง
แล้วกลับให้ผู้เสียหายที่ 1 ไปนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของ
จ. พวกของจำเลยที่ 1 พาไปพักที่โรงแรม เมื่อผู้เสียหายที่ 1 เดินออกจากโรงแรม จำเลยที่ 1 พาผู้เสียหายที่ 1 กลับเข้าไปในห้องพักภายในโรงแรมโดยมี จ. ซึ่งไปด้วยรออยู่แล้ว
แสดงว่าจำเลยที่ 1 รู้เห็นเป็นใจกับพวกที่ไปด้วยกัน
เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ถูกพวกของจำเลยที่ 1 ที่ไปด้วยกันกระทำชำเรา การกระทำของจำเลยที่ 1
จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร
ร่วมกันพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร
และสนับสนุนผู้อื่นในการกระทำความผิดฐานกระทำอนาจารและกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี
แต่ความผิดฐานร่วมกันพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารนั้น จำเลยที่ 1 กับพวกมีเจตนาเดียวคือพาผู้เสียหายที่ 1
ไปให้พวกของตนกระทำชำเรา
จึงเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานสนับสนุนผู้อื่นในการกระทำความผิดฐานกระทำอนาจารและกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี
หาใช่ความผิดหลายกรรมต่างกันตามที่โจทก์ฟ้องไม่
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 283 ต้องเป็นกรณีที่เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น
ถ้าเป็นกรณีที่กระทำไปเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำนั้นเอง
หรือร่วมกันกระทำเพื่อผู้ใดในบรรดาผู้ร่วมกระทำด้วยกันแล้ว
ก็หาเป็นความผิดตามมาตรานี้ไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 และ จ.
กับพวกร่วมกันพาผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อสนองความใคร่ของ จ.
ซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา
283
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19958/2555
ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี
ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตาม ป.อ. มาตรา 317 แม้จะมุ่งคุ้มครองมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวน หรือกระทำการใด ๆ
อันจะกระทบต่ออำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็ก
แต่กรณีจะเป็นความผิดดังกล่าวได้จะต้องมีการกระทำที่เป็นการพราก
ซึ่งหมายถึงการพาไปเสียประกอบด้วย
การที่เด็กทั้งห้ามาที่ห้องพักของจำเลยด้วยความสมัครใจ จำเลยไม่เคยเป็นผู้พามา และเด็กทั้งห้าสามารถกลับบ้านของตนเองได้เสมอหากต้องการเช่นนั้น
เช่นนี้จำเลยจึงมิได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการพรากเด็กทั้งห้าไปเสียจากบิดามารดา
ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล จำเลยย่อมไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14795/2555
ผู้เสียหายที่ 2 พักอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 1 ผู้เป็นป้า
ตั้งแต่ผู้เสียหายที่ 2 อายุ 3 ปีเศษ
เนื่องจากบิดามารดาของผู้เสียหายที่ 2 หย่าร้างกัน
ถือว่าผู้เสียหายที่ 1 อยู่ในฐานะผู้ดูแลผู้เสียหายที่ 2
การที่จำเลยโทรศัพท์ชวนผู้เสียหายที่ 2 ไปพบแล้วพาขึ้นบ้านไปที่ระเบียง
แล้วดึงแขนผู้เสียหายที่ 2 จากระเบียงพาเข้าห้องไปกระทำชำเรา
เป็นการรบกวนล่วงอำนาจผู้ดูแลของผู้เสียหายที่ 1 ที่มีต่อผู้เสียหายที่
2 โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร
ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็รับฟังข้อเท็จจริงมาดังกล่าว
แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะใช้ถ้อยคำว่าผู้เสียหายที่ 1 เป็นผู้ปกครองคลาดเคลื่อนไป
ศาลฎีกาก็ปรับบทให้ถูกต้องได้ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความและตามฟ้องโจทก์
จำเลยจึงมีความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11196/2555
การพรากเป็นคนละอย่างกับการพูดชักชวนและการพรากมีความหมายคนละอย่างกับการพูดและไม่ใช่การพูด
หากจำเลยพูดแต่ไม่ได้พรากหรือพาผู้เสียหายไปจำเลยย่อมไม่ผิดฐานพรากผู้เยาว์
เพราะการพรากผู้เยาว์จะต้องมีการกระทำที่ยิ่งกว่าการพูดชักชวน
เนื่องจากการพูดชักชวน เด็กหรือผู้เยาว์ตัดสินใจไม่ไปตามที่พูดชักชวนได้
จนกว่าจะมีการพาเด็กหรือผู้เยาว์ไปตามทิศทางที่พูดชักชวนไว้
จึงจะมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ได้
สอดคล้องกับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานที่ให้คำนิยามคำว่า พราก
หมายถึงต้องมีการกระทำที่พาไป ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยพูดชักชวนผู้เสียหายที่ 1 จนผู้เสียหายที่ 1 ยอมออกจากบ้านมาหาจำเลย
การกระทำของจำเลยเป็นการพรากผู้เยาว์แล้ว
ข้อเท็จจริงได้ความเพียงจำเลยพูดชักชวนผู้เสียหายที่ 1 จนผู้เสียหายที่
1 ใจอ่อนยอมมาหาจำเลยเองโดยจำเลยไม่ได้ไปรับหรือพาผู้เสียหายที่
1 ออกมาจากบ้าน
การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10284/2555
คำว่า "พราก"
ในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา
ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรตาม ป.อ. มาตรา 317 หมายความว่า พาไปหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแล
โดยไม่จำกัดว่าจะกระทำด้วยวิธีใด ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา
ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน
โดยบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กไม่รู้เห็นยินยอมด้วย
อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแล
ทั้งนี้ไม่ว่าเด็กจะไปอยู่ที่ใด หากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลยังเอาใจใส่
เด็กย่อมอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลตลอดเวลา ดังนี้
การพรากเด็กไม่ว่าผู้พรากเด็กจะเป็นฝ่ายชักชวนโดยมีเจตนามุ่งหมายที่จะกระทำชำเราเด็กเพียงอย่างเดียวก็ย่อมเป็นความผิดทั้งสิ้น
คดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 อยู่บ้าน จำเลยโทรศัพท์ชักชวนผู้เสียหายที่ 1 ให้ไปหาที่บ้านจำเลย
แล้วจำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปที่ห้องนอนของจำเลย
และกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ดังนี้
อำนาจปกครองผู้เสียหายที่ 1 จึงยังคงอยู่ที่ผู้เสียหายที่ 2
การที่จำเลยชักชวนผู้เสียหายที่ 1 ไปที่บ้านของจำเลยแล้วกระทำชำเราผู้เสียหายที่
1 โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือยินยอมจากผู้เสียหายที่ 2 ย่อมทำให้อำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ที่มีต่อผู้เสียหายที่
1 ถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่รู้เห็นยินยอมด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารตาม
ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6797/2555
หลังจากวันเกิดเหตุที่เด็กหญิง
ว. โจทก์ร่วมเบิกความอ้างว่าถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเรา
โจทก์ร่วมมิได้แจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยแต่ประการใด ตรงกันข้าม ส.
ภริยาจำเลยกลับแจ้งความต่อผู้ใหญ่บ้านต้องการให้ปรับไหมโจทก์ร่วมและมารดา
อ้างว่าโจทก์ร่วมไปจับอวัยวะเพศจำเลย
โจทก์ร่วมและมารดาจึงแจ้งความกลับหาว่าจำเลยข่มขืนกระทำชำเรา คำเบิกความและคำให้การชั้นสอบสวนของโจทก์ร่วมจึงเป็นคำเบิกความและคำให้การที่เกิดจากเงื่อนไขว่าหากภริยาจำเลยไม่เอาเรื่องโจทก์ร่วมกับมารดา
โจทก์ร่วมกับมารดาก็จะไม่เอาเรื่องจำเลย
และเพราะเหตุภริยาจำเลยกล่าวหาโจทก์ร่วมกับมารดา
โจทก์ร่วมกับมารดาจึงจำเป็นต้องใช้คดีนี้เป็นการแก้เกี้ยว
คำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ใช้เพื่อต่อรองมิให้ตนกับมารดาถูกดำเนินคดีดังกล่าว
จึงเป็นคำเบิกความที่ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบริสุทธิ์
และมีมูลเหตุจูงใจเพื่อให้ตนเองกับมารดาพ้นผิด
คำเบิกความของโจทก์ร่วมจึงเป็นพยานชนิดที่เกิดขึ้นจากการจูงใจเป็นการมิชอบ
ย่อมรับฟังไม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6370/2555
การกระทำที่จำเลยกับพวกใช้ให้
ภ. ขับรถจักรยานยนต์ไปรับผู้เสียหายที่ 1 มาที่วัดสะแก
พาไปที่บ้านเกิดเหตุ แล้วจำเลยกับพวกร่วมประเวณีกับผู้เสียหายที่ 1 นั้น เมื่อตามทางนำสืบโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ภ.
สมรู้ร่วมคิดกับจำเลยและพวกหรือรู้มาก่อนว่าจำเลยกับพวกใช้ให้พาผู้เสียหายที่ 1
มาเพื่อการอนาจาร พฤติการณ์แห่งคดีฟังไม่ได้ว่า ภ.
มีเจตนาพรากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร
หรือมีเจตนาร่วมกับจำเลยและพวกกระทำความผิดดังกล่าว การที่จำเลยกับพวกใช้ให้ ภ.
ขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายที่ 1 มาที่บ้านเกิดเหตุเพื่อการอนาจารจึงไม่ใช่เป็นการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด
เพราะ ภ. ซึ่งเป็นผู้ถูกใช้ไม่รู้ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด
แต่เป็นการที่จำเลยกับพวกใช้ ภ. เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด
ถือได้ว่าจำเลยกับพวกเป็นผู้กระทำความผิดเองโดยอ้อม จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ.
มาตรา 319 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5053/2555
จำเลยที่ 1 มาขอไม่ให้ผู้เสียหายยื่นซองสอบราคาโดยจำเลยที่ 2 ก็อยู่ในบริเวณนั้น
แต่ผู้เสียหายคงยืนยันจะยื่นซองสอบราคา จากนั้นจำเลยที่ 1 เดินมาพูดกับผู้เสียหายว่า
"ไอ้น้อยมึงแน่หรือ" และตบหน้าผู้เสียหายที่บริเวณเบ้าตาขวาเป็นเหตุให้ผู้เสียหายตกจากเก้าอี้ล้มลงที่พื้น
แล้วจำเลยที่ 2 กับพวกเข้าสมทบกับจำเลยที่ 1 รุมทำร้ายผู้เสียหาย โดยระหว่างนั้นจำเลยที่ 1 พูดในเชิงข่มขู่ผู้เสียหายว่า
"ไอ้น้อยมึงเก่งจริงมึงยื่นเลย"
พฤติการณ์แห่งคดีบ่งชี้โดยแจ้งชัดว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกรุมทำร้ายผู้เสียหายเพื่อเป็นการข่มขู่มิให้ผู้เสียหายยื่นซองสอบราคาจ้างเหมางานที่จำเลยที่
1 ซึ่งเป็นพี่ชายต่างบิดาของจำเลยที่ 2 ขอไม่ให้ผู้เสียหายยื่นในวันเกิดเหตุ ดังนี้ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295, 309 วรรคแรก
ประกอบมาตรา 83 แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยื่นซองสอบราคาในวันเกิดเหตุตามที่จำเลยที่
2 อ้างก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 2 ร่วมใช้กำลังประทุษร้ายต่อผู้เสียหายเพื่อให้จำยอมไม่เข้าร่วมในการเสนอราคาตามประกาศสอบราคาจ้างเหมาในเหตุคดีนี้จนผู้เสียหายต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลจากแพทย์ที่โรงพยาบาลและไม่กล้ายื่นซองสอบราคาภายในกำหนด
ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นความผิดตาม
พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 6 อีกฐานหนึ่งด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4948/2555
จำเลยเพียงแต่พาผู้เสียหายที่
1
ไปที่โรงครัวและห้องน้ำภายในวัดศรีบุญเรืองที่ผู้เสียหายที่ 1
เล่นชิงช้าอยู่เพื่อกระทำอนาจาร เมื่อจำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายที่
1 แล้ว ส. มาเรียก จำเลยก็ปล่อยผู้เสียหายที่ 1 กลับไปโดยดี โดยมิได้มีการหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 1 แต่อย่างใด
การที่จะเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร
จะต้องเป็นการพาไปหรือแยกเด็กออกไปจากความปกครองดูแล
ทำให้ความปกครองดูแลของบิดามารดาหรือผู้ปกครองเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน
ซึ่งคำว่า "พราก" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หมายความว่า จากไป พา เอาไปจาก แยกออกจากกัน หรือเอาออกจากกัน ดังนั้น
การกระทำของจำเลยดังกล่าวยังไม่เข้าลักษณะพาหรือแยกเด็กไปจากความปกครองดูแลของผู้ปกครองเด็กอันทำให้ความปกครองดูแลของผู้ปกครองเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนสิทธิ
จึงไม่เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา
หรือผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9046/2554
การที่จำเลยพาเด็กหญิง
ฟ. ไปจากผู้เสียหาย จำเลยมิได้มีเจตนาที่จะเรียกร้องเอาทรัพย์สินจากผู้เสียหายและ
อ. เพื่อเป็นค่าไถ่มาตั้งแต่แรก
จำเลยเรียกร้องเอาทองคำเท่ากับที่มอบให้ผู้เสียหายไปจำนำ
ส่วนเงินที่เรียกร้องเอาจาก อ. ได้ความว่าเป็นค่าที่ดินที่ อ. จะต้องคืนให้จำเลย
ทั้งไม่ได้ความว่า อ. เป็นญาติหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้เสียหายหรือเด็กหญิง ฟ.
ที่จำเลยจะใช้เป็นเงื่อนไขในการเรียกร้องเงินจาก อ.
จำเลยมีเจตนาที่จะเรียกร้องเอาทองคำและเงินที่จำเลยเชื่อว่าจำเลยควรจะได้ ดังนั้น
ทองคำและเงินที่จำเลยเรียกร้องจากผู้เสียหายและ อ. จึงมิใช่ค่าไถ่ตาม ป.อ. มาตรา 1 (13)
การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 313 (1)
(3) วรรคแรก
การที่จำเลยพาเด็กหญิง
ฟ. ไป และไม่ยอมคืนให้แก่ผู้เสียหาย เป็นการหน่วงเหนี่ยวเด็กหญิง ฟ.
เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานเรียกค่าไถ่ตาม ป.อ. มาตรา 313 (3) วรรคแรก ที่โจทก์ฟ้อง ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2708/2554
จำเลยทั้งสามมิได้มีเจตนาทุจริตที่จะร่วมกันลักเงินของผู้เสียหาย
เนื่องจากสนิทสนมกันเป็นญาติและเป็นเพื่อนกัน ทั้งเกิดความคึกคะนองตามประสาของวัยรุ่นและขณะนั้นก็นั่งดื่มสุราอยู่ด้วยกันจนหมด
จึงน่าจะช่วยกันออกเงินค่าสุราบ้างเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 พูดขอเงินหลายครั้งแล้ว แต่ผู้เสียหายไม่ให้
จึงได้ถือวิสาสะเข้าค้นตัวผู้เสียหายเพื่อค้นเอาเงิน จำเลยที่ 2 และที่ 3 เพียงแต่จับแขนขาของผู้เสียหายไว้แน่นเท่านั้น
ไม่ได้ทำร้าย ดังนี้ การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่เข้ายึดแขนขาของผู้เสียหายเป็นเพียงการยึดตัวผู้เสียหายให้อยู่นิ่งเพื่อให้จำเลยที่
1 ค้นตัวได้สะดวกเท่านั้นการกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันข่มขืนใจโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้เสียหายต้องจำยอมให้จำเลยทั้งสามค้นตัวและเอาเงินไป
มิใช่ความผิดฐานปล้นทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
9725/2552
เมื่อผู้เสียหายที่ 1
เป็นผู้เยาว์ยังไม่บรรลุนิติภาวะและพักอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นมารดา
ผู้เสียหายที่ 1 ย่อมอยู่ใต้อำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2
การที่จำเลยดึงผู้เสียหายที่ 1
เข้าไปในห้องพักของจำเลยแล้วข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 รวม 2 ครั้ง
เป็นการกระทำอันมีเจตนาล่วงล้ำอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 แล้ว
เพราะจำเลยนำสืบรับว่ามีบุตรและภริยาอยู่แล้ว
ย่อมไม่อยู่ในสถานะที่จะเลี้ยงดูผู้เสียหายที่ 1 ฉันสามีภริยาได้
การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 1
ซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี
ไปเสียจากมารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร รวม 2 กระทง
ส่วนการที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1
ในห้องน้ำของโรงเรียนที่เกิดเหตุระหว่างที่ผู้เสียหายที่ 2
มีกิจธุระจึงให้ผู้เสียหายที่ 1 ไปอยู่กับจำเลยนั้น
จำเลยไม่ได้กระทำการใดอันจะเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 1
ไปจากอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 คงมีเจตนาที่จะกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1
เพียงอย่างเดียว การกระทำของจำเลยในครั้งนี้จึงไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เสียหายที่
1 ไปเพื่อการอนาจาร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
7841/2552
ป.พ.พ. มาตรา 16
บัญญัติว่า การนับอายุของบุคคลให้เริ่มนับแต่วันเกิด ผู้เสียหายที่ 1
เกิดเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2532 จึงต้องนับอายุแต่วันเกิดคือนับแต่วันที่ 5 มีนาคม
2532 เป็นหนึ่งวันเต็ม ผู้เสียหายที่ 1 จึงมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 4
มีนาคม 2547 ตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 193/5 คดีได้ความว่า เหตุเกิดวันที่ 5 มีนาคม
2547 เวลาประมาณ 2 นาฬิกา ดังนั้นขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 จึงมีอายุเกินกว่า 15
ปีบริบูรณ์แล้ว กรณีจึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 และ 317
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
6318/2552
จำเลยกระทำความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี
ฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร
และฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวง
ทั้งสามฐานความผิดเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
ต้องลงโทษฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวง
อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด
ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้คู่ความจะมิได้
ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ.
มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้เสียหายทั้งสองไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป
ทั้งทางแพ่งและทางอาญา ถือเป็นการยอมความกันตามกฎหมาย
เมื่อความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวงเป็นความผิดอัน
ยอมความได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในฐานดังกล่าวจึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
5620/2552
บิดามารดาของเด็กทั้งสามมีฐานะยากจนต้องออกทำงานหาเลี้ยงชีพในแต่ละวัน
จึงต้องปล่อยให้เด็กทั้งสามเที่ยวเล่นอยู่ตามลำพังตามประสาเด็กเท่านั้น
แต่เมื่อเด็กทั้งสามไม่กลับบ้านตามปกติ
บิดามารดาของเด็กทั้งสามก็ตามหาและแจ้งแก่เจ้าพนักงานตำรวจ
ยังใช้อำนาจปกครองเด็กทั้งสามอยู่
การที่จำเลยทั้งสองชักชวนเด็กทั้งสามคนไปทำงานบ้านอยู่กับจำเลยทั้งสองที่
จังหวัดสุพรรณบุรี แต่กลับพาไปบวชเป็นสามเณรแล้วพาออกแจกซองผ้าป่าตามจังหวัดต่าง ๆ
เรี่ยไรเงินจากชาวบ้านแล้วแบ่งผลประโยชน์กันโดยไม่ได้รับความยินยอมจากบิดา
มารดาของเด็กทั้งสามคน
จึงเป็นการพรากเด็กทั้งสามคนไปจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองดูแลโดยปราศจากเหตุ
อันสมควร พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานพรากเด็กชายทั้งสามซึ่งอายุไม่
เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองดูแล
โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อหากำไรตาม ป.อ.มาตรา 317 วรรคสาม
ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตาม
ป.อ. มาตรา 317
มีความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองอำนาจการปกครองของบิดามารดาหรือผู้ปกครองดูแลของผู้เยาว์
ไม่ให้ถูกผู้ใดพาไปหรือแยกออกจากความปกครองดูแล
แม้จำเลยทั้งสองจะพูดชักชวนและพาเด็กทั้งสามไปในครั้งเดียวคราวเดียวกันก็ตาม
แต่ก็เป็นการกระทำที่มีเจตนากระทำต่อผู้เสียหายและบิดามารดา
ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลของผู้เสียหายแต่ละคนโดยเฉพาะ
การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ตาม ป.อ.มาตรา 91
หาใช่เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
5619/2552
คดีนี้คนร้าย 4 คน
ได้พาผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปข่มขืนกระทำชำเรา
หลังจากนั้นคนร้าย 2 คน ได้พาผู้เสียหายนั่งรถจักรยานยนต์ไปที่บ้านหลังหนึ่ง
ซึ่งเป็นห้องพักของจำเลย แล้วคนร้าย 2 คนนั้นได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอีกรอบ
จากนั้นจึงให้จำเลยมาข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย
การกระทำของจำเลยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีส่วนร่วมหรือรู้เห็นในการที่คนร้าย 4 คน
ได้พรากผู้เสียหายไปจากบิดามารดาเพื่อการอนาจารตั้งแต่แรกแต่ประการใด
จำเลยเป็นเพียงเจ้าของห้องพักที่เกิดเหตุซึ่งยินยอมให้พวกนำผู้เสียหายมาใช้
ห้องพักเป็นสถานที่หลับนอนและข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย
โดยมิได้มีการพรากผู้เสียหายไปยังที่อื่นๆ อีก
จำเลยจึงมิใช่ตัวการร่วมหรือผู้สนับสนุนในความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุไม่
เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร ตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
4142/2552
การที่จำเลยไม่ต้องรับโทษถ้าศาลอนุญาตให้ชายและเด็กหญิงสมรสกันมีเพียงการกระทำ
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 เท่านั้น แม้จะมี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา
(ฉบับที่ 19) พ.ศ.2550 มาตรา 3 ยกเลิกความในมาตรา 277 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน
แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย
จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยกระทำความผิดบังคับ ซึ่งมาตรา 277 วรรคห้า (เดิม)
ที่ใช้บังคับแก่คดีนี้บัญญัติให้การกระทำที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดไม่ต้อง
รับโทษนั้น จะต้องเป็นการกระทำที่ชายกระทำกับเด็กหญิงอายุกว่าสิบสามปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี
โดยเด็กหญิงนั้นยินยอมและภายหลังศาลอนุญาตให้ชายและเด็กหญิงนั้นสมรสกัน
แต่ในคดีนี้จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 โดยผู้เสียหายที่ 2
ยินยอมในขณะที่ผู้เสียหายที่ 2 อายุยังไม่เกินสิบสามปีกระทงหนึ่ง
และอายุกว่าสิบสามปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปีกระทงหนึ่ง
เมื่อศาลได้อนุญาตให้จำเลยและผู้เสียหายที่ 2 สมรสกัน
การกระทำของจำเลยเฉพาะความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ในขณะที่ผู้เสียหายที่
2 อายุกว่าสิบสามปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี จึงไม่ต้องรับโทษ ส่วนความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่
2 ขณะที่ผู้เสียหายที่ 2 อายุยังไม่เกินสิบสามปี ไม่เข้าเหตุที่จะไม่ต้องรับโทษ
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อการกระทำความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2
ในขณะที่ผู้เสียหายที่ 2 อายุกว่าสิบสามปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี
เป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร
แม้ผู้นั้นจะยินยอม จำเลยจึงต้องรับโทษในความผิดฐานดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
2492/2552
ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตาม
ป.อ. มาตรา 317 ถึงมาตรา 319 กฎหมายมุ่งคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดา
ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล มิใช่ตัวผู้เยาว์ผู้ถูกพราก
ทั้งนี้เพื่อมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวนหรือกระทำการใดๆ
อันเป็นการกระทบกระทั่งต่ออำนาจปกครองไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยปริยาย
ไม่ว่าผู้เยาว์จะไปอยู่ที่แห่งใด หากบิดามารดา ผู้ปกครอง
หรือผู้ดูแลยังเอาใจใส่อยู่ ผู้เยาว์ย่อมอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา
ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตลอดเวลา
นอกจากนี้กฎหมายมิได้จำกัดว่าพรากโดยวิธีการอย่างใดและไม่ว่าผู้เยาว์จะเป็น
ฝ่ายออกจากบ้านไปเองโดยมีผู้ชักนำ หรือไม่มีผู้ชักนำก็ตาม
ก็ย่อมเป็นความผิดทั้งสิ้น การที่ผู้เยาว์ไปหาจำเลยที่บ้าน
ไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายนัดหมายชักชวนกันก่อนแล้วจำเลยร่วมประเวณีกับผู้เยาว์
โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือความยินยอมจากบิดามารดาของผู้เยาว์ย่อมทำให้อำนาจ
ปกครองดูแลบุตรผู้เยาว์ถูกพรากจากไปโดยปริยาย
และการที่ผู้เยาว์โทรศัพท์หาจำเลยว่าจะหนีออกจากบ้านไปพัทยาและนัดพบจำเลย
เมื่อพบกันจำเลยไม่ยอมให้ผู้เยาว์ไปตามลำพัง แต่จำเลยขอไปด้วย
โดยเปิดห้องพักอยู่ด้วยกัน 2 คืน ผู้เยาว์เป็นคนชำระค่าห้องพักและค่าใช้จ่าย
ทั้งผู้เยาว์ยังให้เงินจำเลยเป็นค่าใช้จ่ายในการหลบหนีด้วยก็ตาม
แต่จำเลยได้ร่วมประเวณีกับผู้เสียหายทุกคืน
พฤติการณ์จำเลยมิใช่การไปเป็นเพื่อนแต่เป็นการพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร
ทั้งสองกรณี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
1817/2552
พวกของจำเลยที่ 3
ฉุดดึงผู้เสียหายทั้งสองขึ้นไปบนกระบะด้านท้ายของรถยนต์ จำเลยที่ 3
นั่งอยู่ในรถด้านหน้าแถวเดียวกับคนขับ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3
มีส่วนร่วมในการฉุดดึงผู้เสียหายทั้งสองขึ้นรถแต่อย่างใด
เมื่อรถมาจอดบริเวณที่เกิดเหตุมีจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก
พาผู้เสียหายทั้งสองลงจากรถและข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายทั้งสอง จำเลยที่ 3
ไม่ได้ลงจากรถเข้าไปมีส่วนร่วมในการพาผู้เสียหายลงจากรถหรือมีส่วนร่วมในขณะ
ที่ผู้เสียหายทั้งสองถูกข่มขืนกระทำชำเราแต่อย่างใด จนกระทั่งผู้เสียหายที่ 2
ร้องขอความช่วยเหลือขณะถูก พ. ข่มขืนกระทำชำเรา จำเลยที่ 3 จึงลงจากรถไปขอร้อง พ.
ให้หยุดกระทำและนำตัวผู้เสียหายที่ 2 ไปนั่งรอในรถด้านหน้ากับจำเลยที่ 3
จากนั้นจำเลยที่ 3 ได้ขอให้ ภ. ขับรถพาผู้เสียหายที่ 2 ไปส่งที่บ้านเพื่อนของจำเลยที่
3 และให้นอนค้างที่นั้น โดยจำเลยที่ 3
ไม่ได้กระทำลวนลามหรือกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 แม้ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 3
ได้ยิน พ. พูดคุยกับจำเลยที่ 4 ว่าจะพาผู้หญิงชื่อ บ. ไปกระทำชำเรานั้น
การที่ผู้ใดรับรู้ว่าผู้อื่นจะกระทำความผิดหรือกระทำความผิดแล้ว จะถือว่าผู้นั้นมีส่วนร่วมกระทำความผิดหรือสนับสนุนผู้อื่นกระทำความผิดด้วย
ไม่ได้ ลำพังข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 3
นั่งรถไปกับพวกที่กระทำความผิดนั้นไม่เพียงพอให้รับฟังลงโทษจำเลยที่ 3 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
14683/2551
จำเลย ที่ 2
พาผู้เสียหายที่ 2 ไปขนำที่เกิดเหตุโดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่เต็มใจไปด้วย
และผู้เสียหายที่ 2 ถูกจำเลยที่ 1 กระทำชำเรา เมื่อปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 2
เป็นบุตรผู้เยาว์อยู่ในความปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 2
จึงเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้เสียหายที่
1 มารดาผู้ปกครองดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรและผู้เสียหายที่ 2
ไม่เต็มใจไปด้วยเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม
การที่จำเลยที่ 2
พาผู้เสียหายที่ 2 ไปพบจำเลยที่ 1 ที่ขนำที่เกิดเหตุในยามวิกาล
ซุบซิบปรึกษากับจำเลยที่ 1 แล้วออกอุบายหลอกลวงเพื่อปลีกตัวหนีออกมาโดยปล่อยทิ้งผู้เสียหายที่
2 อยู่กับจำเลยที่ 1 ตามลำพังจนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2
ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1
ในการกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานสนับสนุนจำเลยที่ 1
ในความผิดฐานกระทำชำเราอีกกรรมหนึ่งหาใช่กรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
7673/2551
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 195 วรรคสอง ให้อำนาจศาลอุทธรณ์ภาค 5
ยกปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยขึ้นวินิจฉัยเองได้ การวินิจฉัยว่าการกระทำใดเป็นความผิดฐานใดหรือไม่
เป็นการปรับข้อเท็จจริงเข้าสู่กฎหมาย
เป็นปัญหาข้อกฎหมายและเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 5
จึงมีอำนาจวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังมา
ไม่เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง
หรือผู้ดูแล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 ได้
ผู้เสียหายที่ 1 อายุ 12
ปีเศษ ยังไม่บรรลุนิติภาวะ บิดามารดาเลิกร้างกัน พักอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 2
ซึ่งเป็นมารดาผู้เสียหายที่ 1 จึงอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 จำเลยเคยแอบปีนหน้าต่างห้องนอนเข้าไปกระทำอนาจารและกระทำชำเราผู้เสียหายที่
1 ในบ้านของผู้เสียหายที่ 2 ในเวลาวิกาลมาแล้วหลายครั้งได้นัดให้ผู้เสียหายที่ 1
ซึ่งพบกันขณะผู้เสียหายที่ 1
ไปส่งเพื่อให้ไปพบจำเลยที่โรงเรียนแล้วพาผู้เสียหายที่ 1 ไปกระทำชำเราที่ข้างอาคารเรียน
แม้ผู้เสียหายที่ 1
จะสมัครใจไปกับจำเลยก็เป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2
และเป็นการกระทำโดยปราศจากเหตุอันสมควร เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15
ปี ไปเสียจากบิดามารดาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม
จำเลยนั่งดื่มสุรากับเพื่อนอยู่ที่บ้าน
ว. อยู่ก่อน ผู้เสียหายที่ 1 ไปที่บ้าน ว. และไปเข้าห้องน้ำหลังบ้าน ว. เอง
โดยจำเลยไม่ได้นัดแนะหรือบอกให้ผู้เสียหายที่ 1 ทำเช่นนั้น
จำเลยเพียงแต่ฉวยโอกาสลุกจากวงสุราตามเข้าไปขอกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1
ในห้องน้ำดังกล่าวโดยผู้เสียหายที่ 1 ยินยอม
เสร็จแล้วจำเลยก็ออกจากห้องน้ำกลับไปนั่งดื่มสุราต่อ
โดยไม่ได้กระทำการอื่นใดแก่ผู้เสียหายที่ 1 อีก
จำเลยมุ่งที่จะกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 เพียงอย่างเดียว
มิได้มีเจตนาที่จะล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2
การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงไม่เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี
ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา
317 วรรคสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
4147/2550
ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก
บัญญัติให้ผู้กระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี
ซึ่งมิใช่ภริยาของตนมีความผิดโดยไม่คำนึงถึงว่าเด็กหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่
แต่หากเด็กหญิงนั้นยินยอมก็มิได้หมายความว่า
เด็กหญิงนั้นมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย เมื่อเด็กหญิงถูกกระทำชำเรา
แม้เด็กหญิงจะยินยอมก็เป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความ ผิดตาม
ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมย่อมมีอำนาจจัดการแทนเด็กหญิง
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (1) และมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ตาม ป.วิ.อ.
มาตรา 3 (2)
จำเลยโทรศัพท์นัดหมายให้
ส. พาเพื่อนไปขายบริการทางเพศแก่จำเลย ส. จึงชักชวนเด็กหญิงทั้งสามอายุยังไม่เกิน
15 ปี ไปกระทำการดังกล่าวแล้วจำเลยรับตัวเด็กหญิงทั้งสามไว้กระทำชำเราโดยเด็กหญิง
ทั้งสามยินยอมเป็นการล่วงอำนาจปกครองของโจทก์ร่วมที่ 2 ที่ 5 และที่ 3
โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร
แต่การกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการรับไว้หรือล่อไปซึ่งเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี โดยทุจริต
เพราะจำเลยมิได้รับเด็กหญิงทั้งสามไว้เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบ
ด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น
เนื่องจากจำเลยมีเจตนาประสงค์จะกระทำชำเราเด็กหญิงทั้งสามเท่านั้น
ไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 312 ตรี วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
2236 - 2237/2550
ความผิดฐานปลอมเอกสารและฐานใช้เอกสารปลอม
เป็นความผิดต่อผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ปลอมและ
ใช้เอกสารปลอมตามฟ้อง
แม้จำเลยจะปลอมหนังสือของผู้ตายส่งไปถึงนายแพทย์อำนวยการโรงพยาบาล บ. ว่า
ผู้ตายขอลาการปฏิบัติงานแล้วลงชื่อปลอมของผู้ตายในหนังสือดังกล่าว
และจำเลยได้ปลอมจดหมายของผู้ตายส่งไปถึงนาย ช. กับนางสาว ก.
บุตรชายและบุตรสาวของผู้ตายว่า ผู้ตายต้องไปฝึกสมาธิ
เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเอกสารปลอมนั้นผู้ตายได้ทำขึ้นจริง
ทั้งนี้โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นก็ตาม ในกรณีนี้โจทก์ที่ 1
ซึ่งเป็นบิดาผู้ตายก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหาย
เนื่องจากการกระทำดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4)
ทั้งความผิดดังกล่าวได้เกิดขึ้นภายหลังจากผู้ตายได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว
ผู้ตายไม่อาจเป็นผู้เสียหายในความผิดดังกล่าวได้ จึงไม่ใช่กรณีที่โจทก์ที่ 1
ซึ่งเป็นบุพการีของผู้ตายจะจัดการแทนผู้ตายได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2)
การเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้หรือไม่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
กับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและยกคำร้องดังกล่าวของโทก์ที่ 1
ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225
ความผิดฐานซ่อนเร้น
ทำลายศพผู้ตาย
เพื่อปิดบังการตายและความผิดฐานปลอมเอกสารกับฐานใช้เอกสารปลอมซึ่งต้องลงโทษ
จำเลยฐานใช้เอกสารปลอมแต่กระทงเดียว
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำเลยจำคุกกระทงละ 1 ปี ดังนั้น
ความผิดทั้งสองกระทงดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม
ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานที่โจทก์ที่ 2
นำสืบยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดทั้งสองกระทงดังกล่าว
เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา
จำเลยนัดหมายให้ผู้ตายไปพบและรับประทานอาหารร่วมกันที่ร้านอาหารโดยจำเลยแอบ
อ้างหลอกลวงผู้ตายเรื่องนัดพบช่างที่จะไปซ่อมแซมบ้านพักผู้ตายระหว่างการรับ
ประทานอาหารร่วมกัน
จำเลยลอบนำยานอนหลับที่สั่งซื้อไว้ก่อนหน้านี้ใส่ลงในอาหารหรือเครื่องดื่ม
ให้ผู้ตายรับประทานหรือดื่มจนผู้ตายมีอาการสะลึมสะลือครองสติไม่ได้
หลังจากนั้นจำเลยได้พาผู้ตายไปยังอาคารที่จำเลยจัดเตรียมเปิดห้องพักรอไว้
เพื่อทำการหน่วงเหนี่ยวให้ผู้ตายปราศจากเสรีภาพในร่างกาย
แล้วจำเลยลงมือฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนด้วยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดตาม
ที่จำเลยวางแผนไว้ จากนั้นจำเลยได้ชำแหละแยกศพผู้ตายออกเป็นชิ้นเล็กๆ
บางส่วนทิ้งลงในชักโครกของห้องพักในอาคาร
บางส่วนนำไปทิ้งในโถชักโครกของโรงแรมในวันรุ่งขึ้น เพื่อปิดบังการตายของผู้ตาย
การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้ผู้ตาย
ปราศจากเสรีภาพในร่างกายและฐานฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
3891/2548
จำเลยทั้งสองเข้าไปในที่พักของโจทก์ร่วม
แล้วใช้อาวุธปืนขู่บังคับนำตัวโจทก์ร่วมไปกักขังไว้ที่ตึกแถวที่จำเลยที่ 1
เช่าจากผู้อื่น
จากนั้นส่งจดหมายเรียกค่าไถ่ไปยังภริยาและบุตรของโจทก์ร่วมซึ่งอยู่ที่ ประเทศไต้หวัน
ระหว่างโจทก์ร่วมถูกกักขัง
จำเลยทั้งสองมัดโจทก์ร่วมด้วยโซ่ที่มือและเท้าทั้งสองข้างและใส่กุญแจ
โดยควบคุมตัวโจทก์ร่วมตลอดเวลา
เมื่อโจทก์ร่วมจะถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะจำเลยทั้งสองจะช่วยถอดกางเกงให้
โจทก์ร่วมถูกกักขังอยู่เป็นเวลา 133 วัน จึงหลบหนีออกไปได้
การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเห็นได้ว่าโจทก์ร่วมย่อมหมดอิสระในการเคลื่อนไหวร่างกายไปที่อื่น
และไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันด้วยตนเองได้ตลอดเวลาที่ถูกควบคุม
เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมไม่ได้รับประทานยาแก้โรคเบาหวาน ทำให้อาการกำเริบ
มีเลือดปนออกมากับอุจจาระและปัสสาวะ
จึงเป็นการกระทำโดยทรมานจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ
เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 313 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
775/2548
ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดาโดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วยเพื่อการ
อนาจารตาม ป.อ. มาตรา 318 วรรคสาม นั้น เมื่อจำเลยมีเจตนาและได้พรากผู้เสียหายที่
2 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ไปโดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วยเพื่อการอนาจาร
ถือได้ว่าความผิดสำเร็จนับแต่จำเลยเริ่มพรากผู้เสียหายที่ 2
ไปโดยมีเจตนาดังกล่าวแล้ว
การกระทำของจำเลยจึงมิใช่เป็นกรรมเดียวกันกับความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง
ส่วนความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง
กับความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด
โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายของผู้ถูกข่มขืนใจหรือโดย
ใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งนั้น
และข่มขืนกระทำชำเรานั้น
จำเลยกระทำต่อเนื่องเชื่อมโยงอยู่ในวาระเดียวกันโดยมุ่งหมายที่จะข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่
2 การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท นอกจากนี้
ศาลล่างทั้งสองมิได้อ้างบทกฎหมายที่เป็นบทลงโทษจำเลยในความผิดฐานข่มขืน
กระทำชำเราและปรับบทลงโทษจำเลยโดยไม่ระบุเป็นความผิดตามวรรคใดในมาตราที่ลงโทษ
ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา
195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
415/2550
การกระทำที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงในวาระเดียวกันแม้จะมีเจตนาอย่างเดียวกันแต่หาก
ประสงค์ให้เกิดผลเป็นความผิดหลายฐานย่อมเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจารและหน่วงเหนี่ยวกักขังไว้ก่อนข่มขืนกระทำชำเรา
เป็นการแสดงเจตนาส่วนหนึ่งของจำเลยโดยมีเหตุจูงใจที่จะนำตัวผู้เสียหายไปกักขังไว้เพื่อข่มขืนกระทำชำเรา
เป็นการกระทำส่วนหนึ่งที่สำเร็จไปแล้วต่างหากจากการที่จำเลยข่มขืนกระทำชำเรา
จึงเป็นการกระทำความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารและหน่วงเหนี่ยวกักขังตาม ป.อ.
มาตรา 284 วรรคแรก และมาตรา 310 วรรคแรก กระทงหนึ่ง
เมื่อจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย จึงเป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตาม ป.อ.
มาตรา 276 วรรคแรก อีกกระทงหนึ่งเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
ต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
6450/2548
ผู้เสียหายทั้ง 27 คน
ต่างประสงค์จะมาทำงานเป็นลูกเรือประมงตั้งแต่พบคนชักชวนแล้ว
จึงมาพบจำเลยทั้งห้ากับพวก และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอีกเลยว่าผู้เสียหายทั้ง 27 คน
เปลี่ยนใจไม่ประสงค์จะทำงานเป็นลูกเรือประมง
จึงถูกจำเลยทั้งห้ากับพวกข่มขืนใจให้ต้องจำยอมดังที่โจทก์กล่าวในฟ้อง
ข้อเท็จจริงกลับฟังได้ว่าผู้เสียหายทั้ง 27 คน
มีความประสงค์จะได้งานทำเป็นลูกเรือประมงจึงสมัครใจมาอยู่กับจำเลย
ห้องแถวที่เกิดเหตุลักษณะเป็นที่อยู่อาศัย มิใช่ที่จองจำหรือกักขังคนแต่อย่างใด
การที่จำเลยพาผู้เสียหายมาให้อยู่รวมกันโดยจัดหาอาหารให้รับประทาน
แม้การออกไปภายนอกจะต้องอนุญาตก่อนก็ตาม
แต่ก็ไม่ปรากฏว่าเป็นการห้ามเด็ดขาดแต่อย่างใด
พฤติการณ์น่าจะเป็นเรื่องที่ต้องการให้อยู่พร้อมกันเพื่อที่จะลงเรือประมง
ตามที่ตกลงกันไว้ จึงยังฟังไม่ได้ว่ากระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 309
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
4904/2548
ผู้ตายและผู้เสียหายทั้งสามถูกกักขังและถูกทำร้ายร่างกายในลักษณะการทรมานอยู่
ในห้องพักที่เกิดเหตุเป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน
โดยไม่มีหนทางหลบเลี่ยงให้พ้นจากการถูกทรมานหรือขอความช่วยเหลือจากผู้ใดได้
เห็นได้ว่าผู้เสียหายทั้งสามและผู้ตายต้องตกอยู่ในสภาพถูกบีบคั้นทารุณทั้ง
ทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรงติดต่อกันเป็นเวลานาน
การที่ผู้ตายตัดสินใจกระโดดจากห้องพักเพื่อฆ่าตัวตายนั้นอาจเป็นเพราะผู้ตาย
มีสภาพจิตใจที่เปราะบางกว่าผู้เสียหายอื่น
และไม่อาจทนทุกข์ทรมานได้เท่ากับผู้เสียหายอื่นจึงได้ตัดสินใจกระทำเช่นนั้น
เพื่อให้พ้นจากการต้องทนทุกข์ทรมาน พฤติการณ์ฟังได้ว่าการตายของผู้ตายมีสาเหตุโดยตรงมาจากการถูกทรมานโดยทารุณ
โหดร้าย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
3856/2546
จำเลยเป็นเพียงผู้ขับรถจักรยานยนต์ที่
บ. นั่งซ้อนท้ายตามรถจักรยานยนต์ที่พ. ขับ และผู้เสียหายทั้งสองนั่งซ้อนท้ายไป
เมื่อ พ. หยุดรถ บ. เป็นผู้เข้าไปข่มขู่ผู้เสียหายทั้งสองกับ พ.
แต่จำเลยไม่ได้ร่วมข่มขู่บังคับผู้เสียหายทั้งสองแต่ประการใดผู้เสียหายทั้ง
สองสมัครใจยินยอมให้ พ. ขับรถจักรยานยนต์ไปส่งที่บ้านขณะที่จำเลยขับรถตามไปทัน
ผู้เสียหายที่ 1 บอก พ. ไม่ต้องหยุดรถ พ. ก็ไม่หยุด บ. บอกให้ พ. ขับรถจักรยานยนต์เลี้ยวขวา
พ. ไม่ยอมทำตามจน บ. ต้องใช้อาวุธปืนขู่แม้ บ. กับ พ. ร่วมมือกัน
แต่ไม่ปรากฏว่ามีการกระทำอนาจารหรือลวนลามทางเพศต่อผู้เสียหายทั้งสอง
จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานร่วมกันพาผู้เสียหายทั้งสองไปเพื่อการ
อนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก และฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดาหรือผู้
ดูแลโดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 318 วรรคสาม
แต่การที่จำเลยเป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์ให้ บ. นั่งซ้อนท้ายไปด้วยกัน
และจำเลยจอดรถจักรยานยนต์ให้ บ. ลงจากรถไปและใช้อาวุธปืนขู่บังคับผู้เสียหายทั้งสองให้ลงจากรถจักรยานยนต์
โดยจำเลยมิได้ห้ามปราม
จึงถือได้ว่าจำเลยร่วมกระทำการข่มขืนใจผู้เสียหายทั้งสองให้กระทำการใดไม่กระทำการใด
หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายเสรีภาพ
ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้เสียหายอันเป็นความผิดต่อเสรีภาพโดยมีอาวุธตาม
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง
แต่เมื่อผู้เสียหายทั้งสองไม่ยอมลงจากรถจักรยานยนต์ตามที่ บ. ข่มขืนใจ
จำเลยจึงมีความผิดเพียงขั้นพยายาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
5554/2545
การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันพรากผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุเพียง
6 ปีเศษไปจากบิดามารดา ผู้ปกครอง
และหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายไว้เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่
โดยจำเลยทั้งสองมุ่งประสงค์เรียกค่าไถ่เป็นสำคัญ การกระทำของจำเลยทั้งสอง
จึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313
วรรคแรก ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
หาใช่ความผิดหลายกรรมไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
2470/2543
พฤติการณ์ที่จำเลยกับพวกกระทำต่อผู้เสียหายตั้งแต่เมื่อพบผู้เสียหายบนรถยนต์โดยสารจน
กระทั่งมีคนมาช่วยเหลือผู้เสียหาย เป็นลักษณะของการกระทำที่ต้องการโอ้อวดบารมีแสดงอำนาจบาตรใหญ่เพื่อข่มเหง
รังแกผู้เสียหายให้ผู้เสียหายเกรงกลัวโดยความคึกคะนองตามวิสัยของบุคคลที่
ยังเยาว์วัย ด้วยความคิดอ่านและคิดว่าสิ่งที่กระทำไปนั้นคือสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น
น่าจะไม่มีเจตนาที่จะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต ประกอบกับคำเบิกความของผู้เสียหายและ
ฉ. พยานโจทก์ก็ยังมีข้อน่าสงสัยว่า
จำเลยกระชากสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองคำขาดโดยเจตนาที่จะเอาไปโดยสุจริต
หรือว่าสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายขาดเพราะจำเลยจับคอเสื้อผู้เสียหายกระชาก
เป็นเหตุให้สร้อยคอทองคำและพระเลี่ยมทองคำตกหล่นหายไป แม้โจทก์จะมีคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยระบุว่าจำเลยให้การรับสารภาพในข้อ
หาปล้นทรัพย์ แต่จำเลยก็ยังโต้เถียงว่าจำเลยไม่ได้ให้การรับสารภาพ
ตามพฤติการณ์แห่งคดียังเป็นที่น่าสงสัยอยู่ว่าจำเลยมีเจตนาเอาสร้อยคอทองคำ
พร้อมพระเลี่ยมทองคำของผู้เสียหายไปโดยทุจริตหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 227 วรรคสอง แต่การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309
วรรคแรก ซึ่งเป็นการกระทำที่รวมอยู่ในความผิดฐานชิงทรัพย์
ศาลลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
5255/2534
จำเลยจับโจทก์ร่วมไปหน่วงเหนี่ยวกักขังแล้วบังคับให้เขียนจดหมายถึง
พ. มารดาของโจทก์ร่วมให้โอนที่ดินที่จำนองเพื่อชำระหนี้แก่ ข.
แม่ยายของจำเลยหรือจำเลยนั้น จำเลยมีเจตนาเพียงเพื่อบังคับให้มารดาโจทก์ร่วมชำระหนี้แก่แม่ยายจำเลยหรือ
จำเลยโดยจำเลยซึ่งเป็นบุตรเขยเชื่อว่ากระทำได้ ดังนั้น
ประโยชน์ที่จำเลยเรียกร้องจึงไม่ใช่ค่าไถ่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(13)
การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามมาตรา 313
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
7742/2542
การที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังตัวผู้เสียหาย
ก็เพื่อให้ผู้เสียหายชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1
โดยจำเลยทั้งสองเชื่อว่าสามารถกระทำได้ดังนั้นประโยชน์ที่จำเลยที่ 1
เรียกร้องให้ผู้เสียหายชำระหนี้จึงไม่ใช่ค่าไถ่ตามความหมายในบทนิยามคำว่า
"ค่าไถ่" ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1(13) การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 313 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
6320/2533
จำเลยทั้งสองได้สมคบวางแผนกับ
ส. จะจับผู้เสียหายเพื่อบังคับให้ลงชื่อสั่งจ่ายเช็คเงินสดให้จำเลยทั้งสอง
แล้วจะฆ่าผู้เสียหายเสีย ส. ไม่ตกลงจึงแจ้งให้ผู้เสียหายทราบ
ผู้เสียหายไปแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจแล้ววางแผนจับกุมจำเลยทั้งสอง
ในวันเกิดเหตุขณะที่ผู้เสียหายขับรถออกไปยังไม่พ้นประตูบ้าน จำเลยที่ 1
เดินเข้าไปที่ประตูรถด้านคนขับ รถหยุด จำเลยที่ 1
พูดกับผู้เสียหายซึ่งเป็นคนขับรถดังกล่าวแล้วจำเลยที่ 2 ก็เข้ามาใช้อาวุธปืนจี้ผู้เสียหาย
เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งแอบซุ่มอยู่ได้เข้าทำการจับกุม
จำเลยทั้งสองได้ตรงบริเวณประตูหน้าบ้าน ยึดได้อาวุธปืน 1 กระบอก กระสุนปืน 5 นัด
กุญแจมือ 1 คู่ แผนที่บ้านผู้เสียหายซึ่งมีลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ปรากฏอยู่
กระดาษตัวอย่างลายเซ็นชื่อของผู้เสียหาย ดังนี้
การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการลงมือกระทำความผิดแล้ว
จึงมีความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์และฐานพยายามเรียกค่าไถ่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
2306 - 2307/2531
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่
1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 6ได้รับเงินค่าไถ่จากพวกของผู้เสียหายแล้ว ได้จัดให้ผู้เสียหายผู้ถูกเอาตัวไปได้รับเสรีภาพก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา
โดยผู้เสียหายไม่ได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตราย ต่อชีวิต
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 316บัญญัติให้ศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้
แต่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยวที่1 ที่ 2 ที่ 4
และที่ 6 ตามกำหนดโทษที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 313 วรรคแรกนั้น
จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว แม้จำเลยที่ 2
ไม่ได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและพิพากษาตลอดไปถึง จำเลยที่
1 ที่ 4 และที่ 6 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย เพราะเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
332/2531
จำเลยรับจ้างผู้เสียหายทำงานบ้านและเลี้ยงดูเด็กหญิง
ส. อายุ 9 เดือนบุตรของผู้เสียหาย ต่อมาจำเลยได้เอาตัวเด็กหญิง
ส.ไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ ผู้เสียหายทราบเรื่องจึงพาเจ้าพนักงานตำรวจตามไป
พบเด็กหญิง ส. นอนอยู่ในเปลที่ใต้ถุนบ้านหลังหนึ่ง
ขณะนั้นจำเลยยืนบังเสาอยู่และได้เดินออกมาผู้เสียหายอุ้มเด็กหญิง ส. ขึ้นจากเปล
พาบุตรสาวพร้อมทั้งจำเลยกลับบ้านดังนี้ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้จัดให้ผู้ถูกเอา
ตัวไปได้รับเสรีภาพก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาอันจะได้รับประโยชน์ตามประมวล กฎหมายอาญา
มาตรา 316 เพราะการจัดให้ผู้ถูกเอาตัวไปให้ได้รับเสรีภาพตามมาตรา 316 นั้น
จะต้องเป็นการกระทำของผู้กระทำผิดคือจำเลย หรือผู้ที่ร่วมกระทำผิดกับจำเลย แต่กรณีนี้เป็นเรื่องผู้เสียหายตามไปพบและอุ้มเอาบุตรสาวมาเอง
จำเลยมิได้กระทำการใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
677/2529
จำเลย ที่ 1
กับจำเลยคนอื่นร่วมกันจับตัวผู้เสียหายไปเพื่อเรียกค่าไถ่ขณะที่บุตรชาย
ของผู้เสียหายนำเงินค่าไถ่ไปให้จำเลยที่1มีจำเลยที่2และจำเลยที่4ซึ่งเป็น
ภรรยาของจำเลยที่1กับพวกอีก3คนอยู่ในที่นั้นด้วยจำเลยที่4พูดกับบุตรชายของ
ผู้เสียหายว่า'เขาเอาเท่าไหร่ก็ให้เขาไปเสียจะได้หมดเวรหมดกรรมกัน
'พฤติการณ์ของจำเลยที่4เป็นการช่วยพูดให้บุตรชายผู้เสียหายหาเงินค่าไถ่มา
ให้ตามที่พวกจำเลยเรียกร้องเข้าลักษณะความผิดฐานกระทำการเป็นคนกลางเรียก
ทรัพย์สินจากผู้ที่จะให้ค่าไถ่มิใช่เป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดัง
กล่าวเท่านั้น.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
3075/2527
ช. ถูกจำเลยที่ 2
กับพวกจับตัวไปเรียกค่าไถ่ เมื่อ ส. นำเงินค่าไถ่ไปมอบให้จำเลยที่ 2
และพวกนั้นจำเลยที่ 1 ซึ่งมีอาวุธปืนได้อยู่ด้วยโดยได้ช่วยรับและนับเงินค่าไถ่
หลังจากนั้นจึงได้จัดการปล่อยตัว ช.ให้เป็นอิสระ
พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 2
และพวกในการกระทำความผิดด้วย
ศาลชั้นต้นวางโทษ
จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313 ประกอบด้วยมาตรา 316, 53 โดยให้จำคุก 20 ปีแสดงว่าใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นเกณฑ์ในการคำนวณโทษ
แต่ตามมาตรา 316 จะลงโทษน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของโทษดังกล่าวหาได้ไม่ โทษจำคุก 20
ปีที่ศาลชั้นต้นกำหนดมาจึงน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของโทษจำคุกตลอดชีวิตซึ่งไม่ถูก
ต้องแต่โจทก์มิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลฎีกาจึงไม่อาจกำหนดโทษจำเลยที่ 1
ให้สูงขึ้นอีกได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
1220/2527
จำเลย ที่ 2
ติดต่อคนร้ายเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายซึ่งถูกจับไปเรียกค่าไถ่โดยสุจริต
ไม่มีพฤติการณ์ใดส่อไปในทำนองว่ามีส่วนได้เสียหรือ ร่วมรู้เห็นเป็นใจกับคนร้าย
ผู้เสียหายกับจำเลยอยู่คนละจังหวัด การเดินทางไปติดต่อคนร้ายก็ดี
ติดต่อผู้เสียหายก็ดีย่อมต้องเสียค่าใช้จ่าย
การที่ผู้เสียหายมอบเงินจำนวนหนึ่งให้จำเลยเป็นค่าใช้จ่ายเงินดังกล่าว
จึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่มิควรได้ตามความหมายของมาตรา 315 แห่ง ประมวลกฎหมายอาญา
การกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
465/2527
คนร้ายจับผู้เสียหายไปเรียกค่าไถ่
พี่ผู้เสียหายออกตามพบจำเลยซึ่งเรียกให้รถหยุดแล้วจำเลยเป็นผู้ต่อรองค่าไถ่ด้วยตนเอง
ลดจำนวนค่าไถ่ลง เมื่อได้ค่าไถ่แล้วจำเลยก็สามารถจัดการให้คนร้ายปล่อยผู้เสียหาย
แสดงว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับคนร้ายเป็นอย่างดี
เข้าลักษณะกระทำการเป็นคนกลางเรียกทรัพย์สินมิควรได้จากผู้ที่จะให้ค่าไถ่
อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 315
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313,314 แต่การเรียกค่าไถ่เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำที่โจทก์กล่าวหาจำเลยมาในฟ้อง
ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามมาตรา 315
ตามที่พิจารณาได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192
จำเลยจัดให้ผู้เสียหายได้รับเสรีภาพกลับคืนมาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาโดยผู้
เสียหายมิได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต
ชอบที่จะลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดกึ่งหนึ่งตาม มาตรา 316
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
1508/2521
ฮ. บ.
ถูกจับตัวไปและคนร้ายเรียกค่าไถ่จาก บ. จำเลยรับตัว ฮ.ขังไว้
แม้จะไม่ได้เรียกค่าไถ่จาก ฮ. ก็เป็นการสนับสนุนให้ บ. จัดหาค่าไถ่เร็วขึ้น
จำเลยมีความผิดฐานสนับสนุนการเรียกค่าไถ่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
893/2515
โจทก์บรรยายฟ้องว่า
จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2
ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพระราชวังกล่าวหาว่าโจทก์
กระทำผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค แล้วจำเลยที่ 2
ได้แจ้งพร้อมแสดงหมายจับให้โจทก์ดู โจทก์จึงชำระเงินตามเช็คให้โดยจำเลยที่ 2
ตกลงว่าจะไปถอนคำร้องทุกข์ แต่จำเลยไม่ถอนคำร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงาน
เป็นเหตุให้โจทก์ถูกเจ้าพนักงานจับกุมและควบคุมกักขัง ปราศจากเสรีภาพไม่ต่ำกว่า 5
ชั่วโมง อันเป็นการทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
ถูกกักขังและปราศจากเสรีภาพในร่างกายโดยมิชอบ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 310, 311, 83 ดังนี้
การฟ้องขอให้ลงโทษฐานความผิดต่อเสรีภาพตามมาตรา 310
ต้องปรากฏว่าจำเลยมีเจตนาหน่วงเหนี่ยวกักขังหรือทำให้ปราศจากเสรีภาพต่อร่างกาย
และการขอให้ลงโทษฐานประมาทตามมาตรา 311
โจทก์ก็ไม่ได้บรรยายชัดว่าจำเลยได้กระทำโดยประมาทอย่างไร
ซึ่งจะพอทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี
ฟ้องโจทก์ยังไม่แสดงพอถึงการกระทำของจำเลยอันจะรับพิจารณาเอาเป็นความผิดแก่จำเลยตามที่ขอ
ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม (เทียบฎีกาที่ 105/2503)