ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย อันตรายสาหัส เข้าชุลมุนในการต่อสู้

มาตรา ๒๙๕  ผู้ใดทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]


มาตรา ๒๙๖  ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ถ้าความผิดนั้น มีลักษณะประการหนึ่งประการใดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]


มาตรา ๒๙๗  ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

อันตรายสาหัสนั้น คือ


(๑) ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท

(๒) เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์

(๓) เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้วหรืออวัยวะอื่นใด

(๔) หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว

(๕) แท้งลูก

(๖) จิตพิการอย่างติดตัว

(๗) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต

(๘) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน

[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]


มาตรา ๒๙๘  ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา ๒๙๗ ถ้าความผิดนั้นมีลักษณะประการหนึ่งประการใดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๙ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท

[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]


มาตรา ๒๙๙  ผู้ใดเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลแต่สามคนขึ้นไป และบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เข้าร่วมในการนั้นหรือไม่รับอันตรายสาหัส โดยการกระทำในการชุลมุนต่อสู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ถ้าผู้ที่เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้นั้นแสดงได้ว่า ได้กระทำไปเพื่อห้ามการชุลมุนต่อสู้นั้น หรือเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]


มาตรา ๓๐๐  ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 188/2563

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 300 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ต้องห้ามโจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 เว้นแต่โจทก์ต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นพิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ทวิ และ ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคท้าย ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4


โจทก์มิได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์มาพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ ดังนี้ การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ว่า "รับอุทธรณ์ของโจทก์ สำเนาให้จำเลยทราบ การส่งไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด" เพียงเท่านี้ โดยไม่มีข้อความอื่นใดที่พอจะให้เข้าใจว่าเป็นการอนุญาตให้อุทธรณ์ตามมาตรา 22 ทวิ จึงฟังไม่ได้ว่าผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง อุทธรณ์ของโจทก์ซึ่งเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงไม่เป็นอุทธรณ์ที่จะรับไว้พิจารณาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7491/2562

เหตุเกิดปี 2558 อันเป็นเวลาขณะที่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ใช้บังคับ ต่อมามีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2560 ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า "แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ" และคำว่า "บังคับใช้แรงงาน" และให้ยกเลิกความในมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 และให้ใช้ความตามมาตรา 6 ที่บัญญัติใหม่แทน ซึ่งการกระทำของจำเลยตามฟ้องยังเป็นความผิดอยู่ และกฎหมายใหม่แก้ไขบทกำหนดโทษตามมาตรา 52 ด้วย มีอัตราโทษสูงกว่า จึงเป็นกรณีที่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิด ซึ่งกฎหมายใหม่ไม่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ต้องบังคับตามกฎหมายเดิมที่ใช้ในขณะกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคแรก เช่นเดียวกับการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 6 โดย พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 พ.ศ.2562 และในส่วนที่พระราชกำหนดดังกล่าวบัญญัติเพิ่มความผิดฐานบังคับใช้แรงงานหรือบริการและบทกำหนดโทษตามมาตรา 6/1 และมาตรา 52/1 ขึ้นใหม่ เมื่อขณะกระทำความผิดไม่มีกฎหมายบัญญัติความผิดฐานดังกล่าวและกำหนดโทษไว้ จึงใช้บทมาตราดังกล่าวบังคับแก่จำเลยคดีนี้ไม่ได้ การกระทำของจำเลยทั้งหกตามฟ้องจึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 และมาตรา 52 (เดิม)


องค์ประกอบในการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ด้วยการบังคับใช้แรงงานตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ต้องมีการกระทำในลักษณะเป็นการข่มขืนใจให้ทำงานหรือให้บริการโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของบุคคลนั้นเอง หรือของบุคคลอื่น โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยทำให้บุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ล็อกกุญแจห้องพักกักขังผู้เสียหายที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 ถึงที่ 11 และที่ 13 ไว้ในช่วงเวลากลางคืนแต่ให้ออกมาทำงานในตอนเช้าโดยมีเจตนาเพื่อมิให้ผู้เสียหายดังกล่าวหลบหนีโดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานอื่นใดมาประกอบให้รับฟังได้แน่ชัดว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำการอื่นใดอันเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายดังกล่าวเพื่อให้ทำงาน การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อผู้เสียหายดังกล่าวจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานค้ามนุษย์ คงเป็นเพียงความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 310 อันเป็นความผิดที่รวมอยู่ในความผิดฐานค้ามนุษย์ตามฟ้องและมีโทษเบากว่า ศาลมีอำนาจลงโทษในความผิดที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย


สำหรับการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้เสียหายที่ 3 ที่ 6 ที่ 8 และที่ 12 ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้เสียหายดังกล่าวได้พยายามหลบหนีออกจากฟาร์มที่เกิดเหตุถึงสองครั้งแต่ไม่สามารถหนีไปได้โดยถูกพวกของจำเลยที่ 1 พากลับมาส่งที่ฟาร์ม จากนั้นผู้เสียหายได้ถูกจำเลยกับพวกทำร้ายร่างกาย พูดข่มขู่ไม่ให้หลบหนี และถูกกักขังบังคับให้ทำงานอยู่ในฟาร์ม พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าผู้เสียหายที่ 3 ที่ 6 ที่ 8 และที่ 12 ไม่ต้องการทำงานกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 อีกต่อไป การจับตัวผู้เสียหายดังกล่าวไว้เมื่อหลบหนีและเอาตัวกลับมาทำงานที่ฟาร์มย่อมบ่งชี้ให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยชัดแจ้งที่ต้องการบังคับใช้แรงงานของผู้เสียหายดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในส่วนนี้จึงเป็นไปเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เป็นความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (1) (เดิม) และฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นและให้ผู้อื่นนั้นกระทำการใดตาม ป.อ. มาตรา 310 ทวิ อันเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานร่วมกันค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นบทหนัก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7147/2562

แม้โจทก์จะยื่นฟ้องจำเลยเฉพาะความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 291 แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องว่า การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้ร้องได้รับอันตรายสาหัส ผู้ร้องจึงเป็นผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องทางแพ่งฐานมูลละเมิดเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ร่างกายโดยอาศัยมูลคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 และแม้คดีส่วนแพ่งของผู้ร้องจะขาดอายุความเนื่องจากไม่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในข้อหาประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 300 ภายในอายุความสิบปีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง ตามที่จำเลยฎีกาก็ตาม แต่ ป.วิ.อ. มาตรา 40 ก็บัญญัติว่า คำพิพากษาส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่ได้ยกปัญหาเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้ในคำให้การ คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ การที่ศาลชั้นต้นหยิบยกเอาอายุความมาเป็นเหตุยกคำร้องของผู้ร้องจึงไม่ชอบ ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยที่จำเลยสามารถหยิบยกขึ้นในชั้นฎีกาได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4275/2562

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายที่ 1 เพื่อร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งยังไม่ถือว่าเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 ตามฟ้อง แต่การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถานของผู้เสียหายที่ 1 เพื่อทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 เป็นการเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายที่ 1 โดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 364 แม้โจทก์ไม่ได้อ้างบทมาตรา 364 แต่ได้ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามบทฉกรรจ์มาตรา 365 และได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีข้อความอันเป็นความผิดตามมาตรา 364 เช่นนี้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามมาตรา 364 และบทฉกรรจ์ตามมาตรา 365 (1) (2) ได้ ทั้งมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง หรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่ นอกจากนี้ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายที่ 1 เพื่อร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้เสียหายที่ 1 ในคราวเดียวและเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายที่ 1 ต่อเนื่องกันไปไม่ขาดตอน การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นและฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้โจทก์บรรยายฟ้องแต่ละข้อหาต่างกรรมกันมา ก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3610/2562

ความผิดฐานเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปและบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เข้าร่วมในการนั้นหรือไม่รับอันตรายสาหัส เป็นกรณีที่กฎหมายมุ่งประสงค์จะลงโทษผู้ที่เข้าร่วมในการต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป ท่ามกลางความชุลมุนหรือสับสนวุ่นวายโดยไม่ทราบว่าผู้ใดหรือฝ่ายใดเป็นผู้ทำร้าย การที่จำเลยที่ 1 กับพวกฝ่ายหนึ่ง กับจำเลยที่ 2 กับพวกอีกฝ่ายหนึ่ง สมัครใจวิวาทต่อสู้กัน ไม่ว่าจะเกิดการชุลมุนหรือไม่ การกระทำของจำเลยที่ 2 ย่อมไม่เป็นความผิดฐานดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2494 - 2495/2562

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ได้เข้าไปร่วมทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมตามที่วางแผนกันไว้ โดยอยู่ที่รถจักรยานยนต์ซึ่งจอดอยู่ด้านหลังรถยนต์ของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นระยะที่ใกล้ชิดกับสถานที่เกิดเหตุ อยู่ในลักษณะที่อาจเข้าไปช่วยเหลือให้การกระทำความผิดสำเร็จ มีลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ แต่การที่พวกของจำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วม เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าอย่างกะทันหันโดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้คบคิดนัดหมายมาก่อน จึงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าโจทก์ร่วมโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ต้องรับผลแห่งการกระทำของพวกด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงเป็นตัวการกระทำความผิดฐานทำร้ายจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมรับอันตรายสาหัสโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ป.อ. มาตรา 298 อันเป็นความผิดหลายอย่างซึ่งรวมอยู่ในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลฎีกาลงโทษในความผิดดังกล่าวตามที่พิจารณาได้ความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 แม้โจทก์ไม่ได้ฎีกาขอให้ลงโทษก็ตาม เพราะการปรับบทลงโทษเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่เมื่อโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฐานร่วมกันทำร้ายจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมรับอันตรายสาหัสตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเท่านั้น จึงไม่อาจกำหนดโทษให้สูงขึ้นในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมรับอันตรายสาหัสโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ป.อ. มาตรา 298 เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2459 - 2460/2562

การที่จำเลยทั้งสี่กับพวกขับรถจักรยานยนต์ติดตามผู้เสียหายมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 2 และ น. มีมีดติดตัวไปด้วย แม้มีดที่ น. พาติดตัวไปจะมีขนาดใหญ่เป็นที่สังเกตเห็นได้โดยง่ายแก่บุคคลทั่วไปรวมทั้งจำเลยทั้งสี่ด้วยก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่มีพฤติการณ์สมคบกันที่จะใช้มีดนั้นฟันทำร้ายผู้เสียหาย ทั้งเหตุที่จำเลยทั้งสี่ทำร้ายผู้เสียหายก็เป็นสาเหตุเพียงเล็กน้อยไม่น่าจะถึงกับเอาชีวิตกัน และเมื่อ น. ใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายแล้ว จำเลยที่ 4 ได้ผลัก น. ออกไปเพื่อหยุดยั้งไม่ให้ น. ใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายอีก ส่วนจำเลยที่ 2 ก็มิได้ใช้มีดที่พามาฟันทำร้ายผู้เสียหาย คงมีเพียง น. ผู้เดียวที่ใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหาย ทั้งเป็นการฟันทำร้ายหลังจากที่จำเลยทั้งสี่รุมเตะต่อยและใช้ไม้ตีทำร้ายผู้เสียหายเสร็จแล้ว การที่จำเลยทั้งสี่มิได้ห้ามปราม น. ไม่ให้พามีดดังกล่าวติดตัวไป ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาร่วมกับ น. ที่จะใช้มีดนี้ก่อเหตุ ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ดึงกุญแจรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายออกจากรถแล้วขว้างทิ้งหรือการที่จำเลยที่ 2 ดึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ออกจากมือของผู้เสียหาย น่าจะเป็นการกระทำเพื่อไม่ให้ผู้เสียหายหลบหนีและติดต่อขอความช่วยเหลือเพื่อความสะดวกในการที่กลุ่มของจำเลยทั้งสี่จะรุมทำร้ายผู้เสียหายมากกว่าจะฟังว่าเป็นการสมคบกันมาใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่า พฤติการณ์ที่ น. ใช้มีดขนาดใหญ่ฟันผู้เสียหายที่บริเวณศีรษะและใบหน้าหลายครั้งหลังจากจำเลยทั้งสี่ไม่ได้รุมทำร้ายผู้เสียหายแล้ว เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันอันเกิดจากการตัดสินตามลำพังของ น. เอง นอกเหนือขอบเขตแห่งเจตนาของจำเลยทั้งสี่ ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่ประสงค์จะถือเอาการกระทำของ น. เป็นการกระทำของจำเลยทั้งสี่ด้วย จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาร่วมกับ น. พยายามฆ่าผู้เสียหาย แต่เมื่อผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสอันเนื่องมาจาก น. ใช้มีดฟันทำร้าย เกิดขึ้นจากการที่จำเลยทั้งสี่และ น. คบคิดกันมาทำร้ายผู้เสียหาย จำเลยทั้งสี่จึงต้องร่วมกันรับผิดในผลที่เกิดจากการกระทำของ น. ดังกล่าวด้วย จำเลยทั้งสี่มีความผิดเพียงฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสเท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8318/2560

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดตาม ป.อ. มาตรา 295 ซึ่งระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่กระทำต่อผู้เสียหายที่ 4 และยกฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ที่กระทำต่อผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ความผิดฐานนี้มีอัตราโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ตามฟ้อง เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ในฐานนี้ และศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์โดยพิพากษาแก้เป็นลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 4 ลงโทษจำเลยที่ 2, ที่ 3, ที่ 5, ที่ 6 และที่ 8 ว่ากระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 นั้นเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในส่วนนี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6


ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 อ. ก. ว. เป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า เห็นจำเลยคนนั้น คนนี้ โดยบรรยายการกระทำของจำเลยแต่ละคน ซึ่งเหตุการณ์กลุ่มนักเรียนวิ่งไล่รุมทำร้ายกันย่อมมีคนร้ายจำนวนมาก วิ่งไล่กันไปมา ประจักษ์พยานแต่ละคนอาจเห็นเหตุการณ์โดยเบิกความเท่าที่ตนเห็นไม่มีพิรุธหรือน่าสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งจำเลย และผู้เสียหายที่ 2 ยืนยันว่า จำเลยที่ 1 และที่ 5 อยู่ในกลุ่มคนร้าย ผู้เสียหายที่ 3 เห็นจำเลยที่ 5 ถืออาวุธมีดวิ่งมาพร้อมจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยบางคนแทงผู้ตายและผู้เสียหาย หากจำเลยที่ 5 ไม่มีเจตนาร่วมกับจำเลยอื่น ก็ไม่น่าจะวิ่งตามไป แม้จะมิได้ใช้อาวุธมีดฟันทำร้ายผู้ใดก็ตาม แต่ย่อมเล็งเห็นได้ว่า พวกอาจทำร้ายผู้อื่นได้ และหลบหนีไปด้วยกัน จำเลยที่ 5 จึงเป็นตัวการร่วมกับพวกในการฆ่าผู้ตายและพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1


เมื่อจำเลยที่ 1, ที่ 2, ที่ 3, ที่ 6 ถอนฎีกา จึงต้องฟังว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 ร่วมกันกระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายและพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1


ในส่วนของค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 3 และผู้ร้องที่ 1 จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 แม้ผู้ร้องที่ 3 และผู้ร้องที่ 1 มิได้อุทธรณ์ฎีกาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 รับผิดในส่วนแพ่ง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นไปตามผลแห่งคดีอาญาได้ เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่วินิจฉัยให้ร่วมรับผิดนั้นไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7758 - 7759/2560

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 มีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 75 จำคุก 16 ปี 8 เดือน และลดโทษให้จำเลยที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ตามมาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 คนละ 11 ปี 1 เดือน 10 วัน เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 ไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมมีกำหนดขั้นต่ำ 3 ปี 6 เดือน ขั้นสูง 5 ปี หากอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ยังฝึกอบรมไม่ครบตามกำหนดเวลาให้ส่งไปจำคุกในเรือนจำมีกำหนดตามระยะเวลาขั้นต่ำที่เหลืออยู่ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นอันตรายสาหัสและมีผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย ตาม ป.อ. มาตรา 295, 297 (8) ประกอบมาตรา 83 ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่งตามมาตรา 75 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับอันตรายสาหัสซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 คงจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน ลดโทษให้จำเลยที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 คนละหนึ่งในสามตามมาตรา 78 คงจำคุกคนละ 12 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี คุมความประพฤติตลอดเวลาดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 ไม่เกินสองปีและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังคงลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 ไม่เกินกำหนดที่ว่า ต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 219 ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 มีเจตนาร่วมกันพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ในปัญหานี้มาโดยไม่มีความเห็นแย้งของผู้พิพากษาที่พิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาทำความเห็นแย้งหรือรับรองให้ฎีกาหรืออัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา ย่อมเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5400/2560

ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 บัญญัติว่า "ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุที่ได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจหรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้" เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์จะช่วยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายในทางแพ่งได้รับความสะดวกรวดเร็วในการได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่งเป็นอีกคดีหนึ่ง ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาจะได้เสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน โดยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาทุกประเภทที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ต่อเนื่องไปได้เพื่อให้การพิจารณาคดีส่วนแพ่งเป็นไปโดยรวดเร็วดังที่ปรากฏในหมายเหตุท้าย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2548 นั้น แม้ตาม ป.วิ.อ. ได้มีคำอธิบายคำว่าผู้เสียหายไว้ในมาตรา 2 (4) ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้เสียหาย หมายถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6" แต่ข้อความตามมาตรา 44/1 ที่บัญญัติให้ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้นั้น ย่อมมีความหมายในตัวว่า หมายถึง ผู้ที่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน จึงมีความหมายที่แตกต่างขัดกับความหมายของผู้เสียหาย ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 2 (4) การตีความคำว่าผู้เสียหายตามมาตรา 44/1 จึงไม่ต้องถือตามความหมายเช่นเดียวกับมาตรา 2 (4) ทั้งนี้เป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 1 ที่บัญญัติว่า "ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าคำใดมีคำอธิบายไว้แล้วให้ถือตามความหมายดังได้อธิบายไว้ เว้นแต่ข้อความในตัวบทจะขัดกับคำอธิบายนั้น" ดังนั้น การพิจารณาว่าผู้ใดจะมีสิทธิยื่นคำร้องต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง ไม่ใช่กรณีที่จะนำความหมายของคำว่า ผู้เสียหายในทางอาญา เช่น เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) มาบังคับใช้ สำหรับคดีนี้ผู้ร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนมา 2 ส่วน คือ ค่าเสียหายของรถยนต์ของ ผ. และค่าขาดไร้อุปการะ สำหรับค่าเสียหายของรถยนต์ ผ. เป็นผู้เสียหายในฐานะเจ้าของรถ เมื่อ ผ. ถึงแก่ความตายไปแล้ว สิทธิในการเรียกค่าเสียหายเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ผ. จึงใช้สิทธิในฐานะทายาทเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ได้ และค่าขาดไร้อุปการะนั้น ผู้ร้องในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ผ. เป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตัวของผู้ร้องเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม และมาตรา 1461 วรรคสอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ได้เช่นกัน ส่วนความประมาทของ ผ. นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่จะนำมาใช้ประกอบดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิของผู้ร้องที่จะขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหมดไป

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2560)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9648/2559

พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180 บัญญัติว่า คดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งแล้ว ให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดา เว้นแต่ในกรณีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างหนึ่งอย่างใด... คดีนี้ จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะเนื้อหาแห่งคดีในปัญหาข้อเท็จจริงว่า จำเลยมิได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด โดยมิได้อุทธรณ์เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนมาด้วย ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอย่างคดีธรรมดาเท่านั้น ซึ่งเมื่อนำ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 มาประกอบแล้ว ก็คือ บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ซึ่งห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อคดีโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 295 ซึ่งระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295, 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนให้ตาม ป.อ. มาตรา 75 กึ่งหนึ่ง จำคุก 2 ปี อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนจังหวัดนครสวรรค์ มีกำหนด 2 ปี แต่ไม่เกินไปกว่าที่จำเลยมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลย ไม่เป็นการลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 18 อันจะเข้ากรณียกเว้นที่จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า พยานโจทก์ให้การในชั้นสอบสวนและเบิกความต่อศาลขัดแย้งในข้อหาสาระสำคัญทำให้ไม่น่าเชื่อถือ อันเป็นอุทธรณ์โต้แย้งในเนื้อหาแห่งคดีเกี่ยวกับการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น มิใช่อุทธรณ์เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง อันต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น แม้จำเลยจะยื่นอุทธรณ์โดยมีผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ก็ตาม แต่การอนุญาตให้อุทธรณ์ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 181 ซึ่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจะอนุญาตให้อุทธรณ์ได้เฉพาะในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180 เท่านั้น มิได้ให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ในกรณีดังกล่าวได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวเป็นผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นในอันที่จะอนุญาตให้อุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยและศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับวินิจฉัยอุทธรณ์มานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 225 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6258/2559

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสและได้รับอันตรายแก่กาย คำร้องขอของโจทก์ร่วมทั้งสองที่ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีสินค้าบนรถยนต์ได้รับความเสียหาย ค่าเสียหายของรถยนต์ ค่าลากรถยนต์และค่าเช่ารถคันอื่นมาใช้ทดแทน เป็นค่าสินไหมทดแทนนอกเหนือจากที่สามารถเรียกได้ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกาย จึงไม่ใช่คำขอบังคับให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสาม ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้


โจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงเป็นกรณีที่โจทก์ร่วมทั้งสองต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิด การพิจารณาสิทธิในการฎีกาต้องถือทุนทรัพย์ในหนี้ค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ร่วมแต่ละคนแยกกัน ส่วนค่าขาดประโยชน์และค่าเสียหายในทางทรัพย์สินอันเกิดจากการประกอบกิจการร่วมกัน ต้องแยกเป็นจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ตกได้แก่โจทก์ร่วมทั้งสองคนละกึ่งหนึ่ง ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาจึงมีจำนวนไม่เกินสองแสนบาท ฎีกาของจำเลยที่โต้แย้งว่าค่าสินไหมทดแทนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดให้จำเลยรับผิดยังสูงเกินไป เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามกฎหมาย


จำเลยให้การว่า โจทก์ร่วมทั้งสองมีสิทธิได้รับชดใช้ค่ารักษาพยาบาลจากบริษัท ก. ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเท่านั้น มิได้หยิบยกเรื่องสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจากบริษัท ท. กับมิได้โต้แย้งเรื่องความเป็นเจ้าของรถยนต์ขึ้นต่อสู้เพื่อปฏิเสธความรับผิด อุทธรณ์ทั้งสองประเด็นจึงอยู่นอกประเด็นตามคำให้การ เป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวชอบแล้ว


ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการที่โจทก์ทั้งสองต้องสูญเสียรายได้จากกิจการที่ทำอยู่ก่อนเกิดเหตุให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสอง การที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ได้ขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ จึงเป็นการโต้แย้งค่าเสียหายส่วนที่ศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้จำเลยต้องรับผิด อุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชัดแจ้ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6020/2559

พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ร่วมเดินทางไปกับพวกไปที่เกิดเหตุโดยทราบมาก่อนแล้วว่าพวกของจำเลยที่ 1 จะไปทำร้ายผู้เสียหาย และหลังเกิดเหตุก็หลบหนีไปด้วยกัน ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะร่วมทำร้ายผู้เสียหายกับพวกซึ่งมีการคิดไตร่ตรองไว้ก่อนแล้ว จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาเพียงต้องการทำร้ายผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเท่านั้น แต่เมื่อผลการกระทำของพวกจำเลยที่ 1 ไม่ทำให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บ แต่พลาดไปถูกผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผลแห่งการกระทำนั้น จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ป.อ. มาตรา 296 ประกอบมาตรา 80 และฐานทำร้ายผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและไม่มีเจตนาฆ่า แต่เป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายโดยพลาด ตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคสอง ประกอบมาตรา 60 อันเป็นความผิดหลายอย่างซึ่งรวมอยู่ในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนโดยพลาดตามที่โจทก์ฟ้อง และเป็นความผิดได้ในตัว ศาลฎีกาสามารถลงโทษในความผิดดังกล่าวตามที่ได้ความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15667/2558

แม้รายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารท้ายฟ้องระบุว่า การบาดเจ็บของผู้เสียหายใช้เวลารักษา 2 สัปดาห์ หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงความเห็นของแพทย์ที่ทำไว้ขณะตรวจรักษาบาดแผลของผู้เสียหายเท่านั้น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส ต้องทุพพลภาพป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน ซึ่งเข้าองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) แล้ว ดังนี้ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพและความผิดดังกล่าวมิใช่เป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ซึ่งศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องโดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังตามฟ้องว่า การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสและลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) ได้ เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว จึงไม่เป็นความผิดอันยอมความได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาตรา 4 วรรคสอง ตอนท้าย แต่อย่างไรก็ตาม ความผิดฐานกระทำการอันเป็นความรุนแรงในครอบครัวตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวมาตรา 4 วรรคหนึ่ง เป็นความผิดอันยอมความได้ตามมาตรา 4 วรรคสอง ตอนต้น เมื่อผู้เสียหายยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 เอกสารท้ายอุทธรณ์หมายเลข 2 ว่า ไม่ประสงค์หรือติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป พอแปลความได้ว่าเป็นการยอมความโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าว ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14232/2558

กรณีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 294 และ 299 นั้น ต้องเป็นการชุลมุนต่อสู้กันระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และมีบุคคลถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัสโดยไม่ทราบว่าผู้ใดหรือผู้ใดร่วมกับใครกระทำจนถึงแก่ความตายหรือจนได้รับอันตรายสาหัส แต่หากสามารถรู้และแบ่งฝ่ายแบ่งพวกกันได้ ทั้งรู้ว่าผู้ใดหรือฝ่ายใดเป็นผู้ลงมือทำร้ายย่อมลงโทษผู้นั้นกับพวกได้ตามเจตนาและผลของการกระทำ จำเลยกับพวกฝ่ายหนึ่งและผู้ตายกับผู้เสียหายฝ่ายหนึ่งวิวาทต่อสู้กัน แม้พยานโจทก์ที่อยู่ในเหตุการณ์จะไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่าคนใดในกลุ่มของจำเลยเข้าไปใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายและฟันผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสก็ตาม ย่อมมิใช่กรณีตาม ป.อ. มาตรา 294 และ 299 พวกของจำเลยที่เข้าร่วมในการทะเลาะวิวาทกับผู้ตายและผู้เสียหายได้ใช้มีดแทงผู้ตายและฟันผู้เสียหาย จำเลยซึ่งมีเจตนาร่วมกับพวกกระทำต่อผู้ตายและผู้เสียหายย่อมต้องรับผลอันเป็นธรรมดาย่อมเกิดขึ้นจากการนั้นในฐานะเป็นตัวการ แม้มิได้เป็นผู้ลงมือแทงผู้ตายและฟันผู้เสียหายด้วยตนเองก็ตาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13648/2558

แม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยจัดให้ผู้เสียหายอยู่อาศัยและไม่ให้ผู้เสียหายออกจากบ้านจำเลยก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า นับแต่วันแรกที่ผู้เสียหายทำงานกับจำเลยจนถึงวันที่ผู้เสียหายทำงานกับจำเลยครบ 7 เดือน จำเลยได้กระทำการใดอันเป็นการข่มขืนใจให้ผู้เสียหายทำงานโดยทำให้ผู้เสียหายกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้เสียหาย โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยทำให้ผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้แต่อย่างใด คงได้ความแต่เพียงว่า จำเลยให้ผู้เสียหายทำงานตั้งแต่เวลา 4 นาฬิกา จนถึง 24 นาฬิกา ให้รับประทานอาหาร 2 มื้อ และไม่จ่ายเงินเดือนให้ผู้เสียหายเท่านั้น ส่วนการทำงานเดือนที่ 8 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เหตุที่จำเลยทำร้ายผู้เสียหายมาจากผู้เสียหายทำงานไม่เรียบร้อยและพูดขอเงินค่าจ้างจากจำเลย อันเป็นการลงโทษผู้เสียหายเท่านั้น จึงมิใช่เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายเพื่อให้ผู้เสียหายทำงานให้จำเลย การกระทำของจำเลยจึงยังไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานค้ามนุษย์ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3486/2558

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 295 ประกอบมาตรา 80 และ 83 โดยโจทก์บรรยายฟ้องข้อ (ค) ว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายโดยใช้ท่อนไม้และขวดขว้างใส่ผู้เสียหายทั้งสองโดยมีเจตนาทำร้าย จำเลยทั้งสองกับพวกลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลเนื่องจากผู้เสียหายทั้งสองวิ่งหลบหนีได้ทัน ทำให้ท่อนไม้และขวดไม่ถูกร่างกายของผู้เสียหายทั้งสอง โจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นข้อเท็จจริงว่าหากจำเลยทั้งสองขว้างปาท่อนไม้และขวดถูกผู้เสียหายทั้งสอง ย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้เสียหายทั้งสองได้อย่างแน่นอน อันเป็นองค์ประกอบความผิดของบทมาตราดังกล่าวมาด้วย ทั้งโจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นขนาดของขวดและไม้มาพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดี ซึ่งหากขวดหรือท่อนไม้ขนาดไม่ใหญ่มากนักขว้างถูกผู้เสียหายทั้งสอง ไม่แน่นอนว่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจได้หรือไม่ ฟ้องโจทก์ข้อ (ค) ดังกล่าวนี้ จึงต้องแปลว่าเป็นการบรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองอาจไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้เสียหายทั้งสอง ตาม ป.อ. มาตรา 391 ประกอบมาตรา 80 และ 83 เท่านั้น เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสองในข้อนี้เป็นการพยายามกระทำความผิด จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา 105


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17391/2557

การที่จำเลยไปหยิบอาวุธปืนจากรถยนต์มาเพื่อป้องกันบุตรของตน และเหตุที่กระสุนปืนลั่นเกิดจากการแย่งอาวุธปืนระหว่างจำเลยกับโจทก์ร่วม อันสืบเนื่องมาจากจำเลยใช้อาวุธปืนเพื่อป้องกันบุตรของตนดังกล่าว มิได้เกิดจากความประมาทของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันตนพอสมควรแก่เหตุ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16136/2557

จากพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ที่พบเห็นผู้เสียหายที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์พาเด็กหญิง ม. ซึ่งเคยเป็นคนรักของจำเลยที่ 2 มาซื้อของ จำเลยที่ 2 จึงขับรถจักรยานยนต์ติดตามไปปาดหน้ารถของผู้เสียหายที่ 1 และใช้อาวุธมีดชี้หน้าบังคับให้หยุดรถ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ติดตามมาโดยมีคนร้ายนั่งซ้อนท้ายมาจอดในบริเวณที่เกิดเหตุ แล้วคนร้ายใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายที่ 1 ทันที และหลบหนี้ไปด้วยกันย่อมบ่งชี้ชัดว่า จำเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมสมคบกับพวกมาทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมกับพวกในการใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายที่ 1 จริง แต่การที่พวกของจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายที่ 1 ที่ศีรษะซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ แต่ก็ฟันเพียงครั้งเดียว ในขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 ไม่ทันระวังตัว ไม่ได้ต่อสู้หรือมีผู้ใดขัดขวาง หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏว่าพวกจำเลยที่ 2 ฟันผู้เสียหายที่ 1 ซ้ำอีก ทั้งบาดแผลที่ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับ มีความยาว 5 เซนติเมตร ไม่ลึกถึงกะโหลกศีรษะ สามารถรักษาได้ภายใน 7 ถึง 14 วัน แสดงว่าไม่ได้ฟันโดยแรง ทั้ง ๆ ที่เป็นอาวุธมีดขนาดใหญ่ที่สามารถใช้ฟัน อันตรายต่อชีวิตได้โดยฟันครั้งเดียว พฤติการณ์แห่งคดีคงฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 2 กับพวกมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 เท่านั้น ไม่มีเจตนาฆ่า ผู้เสียหายที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ผิดฐานพยายามฆ่า และเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี จำเลยที่ 1 ซึ่งถูกฟ้องกล่าวหาว่าร่วมกระทำความผิดย่อมได้รับประโยชน์ด้วย แม้คดีส่วนของจำเลยที่ 1 จะยุติแล้ว ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8076/2557

การที่จำเลยที่ 2 ขึ้นไปบนรถโดยสารประจำทางคันเกิดเหตุโดยพาอาวุธมีดติดตัวไป แม้จะไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายด้วย และเป็นผู้ที่พูดข่มขืนใจให้ผู้เสียหายส่งมอบเสื้อชุดฝึกปฏิบัติงานโรงงานให้ก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 ก็อยู่ร่วมกับจำเลยที่ 1 กับพวกโดยตลอดในลักษณะที่พร้อมจะช่วยเหลือกันทันท่วงทีหากมีเหตุให้ต้องช่วยเหลือ ประกอบกับหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ก็หลบหนีไปพร้อมกันกับจำเลยที่ 1 และพวก พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 และพวกกระทำความผิด ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณารับฟังได้ว่า หลังจากจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันชกต่อยและใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายแล้ว จำเลยทั้งสองกับพวกจึงร่วมกันพูดข่มขืนใจให้ผู้เสียหายส่งมอบเสื้อชุดฝึกปฏิบัติงานโรงงานออกให้ มิฉะนั้นจะฟันผู้เสียหายอีก แสดงให้เห็นว่าในตอนแรกที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันทำร้ายผู้เสียหาย จำเลยทั้งสองกับพวกยังไม่มีเจตนาที่จะข่มขืนใจผู้เสียหายให้ส่งมอบเสื้อดังกล่าวให้ แต่หลังจากหยุดทำร้ายผู้เสียหายแล้ว จำเลยทั้งสองกับพวกจึงเกิดเจตนาข่มขืนใจผู้เสียหาย เจตนาข่มขืนใจดังกล่าวจึงเป็นคนละตอนคนละเจตนากับการทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10879/2556

แม้ผู้เสียหายเข้าไปภายในบริเวณบ้านจำเลย และ ส. เพื่อปรับความเข้าใจเรื่องที่ผู้เสียหายมีปากเสียงกับจำเลย แต่เมื่อ ส. ไล่ให้ผู้เสียหายกลับไป และจำเลยปิดประตูบ้าน จึงเป็นการใช้สิทธิอันชอบธรรมของจำเลย และ ส. ในฐานะเจ้าของบ้านที่จะไล่ให้ผู้เสียหายออกไปจากบริเวณบ้านของตนได้ เมื่อผู้เสียหายไม่ยอมออกไปจากบริเวณบ้าน ถือเป็นการบุกรุกบ้านของจำเลย การที่จำเลยใช้อาวุธมีดโต้ฟันผู้เสียหายจึงเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นจากภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย แต่ผู้เสียหายไม่ได้ใช้อาวุธใดจะทำร้ายจำเลย การที่จำเลยใช้มีดโต้ฟันผู้เสียหายหลายครั้ง จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัส จึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุตาม ป.อ. มาตรา 69 แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288 แต่ความผิดดังกล่าวรวมการกระทำโดยเจตนาทำร้ายด้วยซึ่งเป็นความผิดอยู่ในตัว เมื่อทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายรับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215, 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2033/2556

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์กระบะมาถึงสี่แยกหนองขาหยั่งขณะนั้นสัญญาณจราจรไฟซึ่งติดตั้งไว้บนทางที่จำเลยที่ 2 ขับมาขึ้นเป็นไฟสีแดงซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องชะลอความเร็วของรถลงและหยุดรอจนกว่าสัญญาณจราจรไฟจะเปลี่ยนเป็นไฟสีเขียวจึงจะขับรถแล่นเข้าบริเวณสี่แยกนั้นได้ จำเลยที่ 2 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่ จำเลยที่ 2 กลับขับรถแล่นตรงเข้าสี่แยกดังกล่าวทันที เป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยที่ 2 ขับเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 แม้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีแดง แต่ข้อแตกต่างดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียด ทั้งการที่จำเลยที่ 2 ขับรถแล่นเข้าไปในสี่แยกที่เกิดเหตุด้วยความเร็วโดยมิได้ลดความเร็วลงและให้รถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับซึ่งแล่นมาทางด้านขวาผ่านไปก่อน เป็นการขาดความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์อันเป็นการกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้เกิดเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำโดยประมาทตามที่กล่าวไว้ในฟ้องแล้ว ศาลชั้นต้นจึงลงโทษจำเลยที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 300 ได้


จำเลยที่ 2 ไม่ชะลอรถก่อนเข้าทางร่วมแยกและให้รถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 แล่นผ่านไปก่อนโดยประมาททำให้รถยนต์กระบะของจำเลยที่ 2 ชนเข้ากับรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส แม้เหตุที่จำเลยที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัสเกิดจากมีพลเมืองดีขึ้นไปสตาร์ตรถทำให้น้ำในหม้อน้ำรถยนต์กระบะแตกลวกตัวจำเลยที่ 1 ซึ่งนอนอยู่ใต้รถ แต่การที่จำเลยที่ 1 ถูกน้ำร้อนลวกบริเวณหน้าอกและหน้าท้องเป็นผลโดยตรงจากความประมาทของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16572/2555

ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์แล่นสวนทางกับรถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 2 ขับ เมื่อถึงบริเวณสี่แยกจำเลยที่ 1 ขับรถความเร็วสูงโดยประมาทไม่ดูให้ดีว่าในขณะนั้นมีรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 2 แล่นสวนทางมาในช่องฝั่งตรงกันข้าม และขณะนั้นจำเลยที่ 1 จะขับรถเลี้ยวไปทางขวามือเพื่อผ่านสี่แยกดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 2 ก็ขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูงโดยประมาทเช่นเดียวกันไม่ดูให้ดีว่าขณะนั้นมีรถของจำเลยที่ 1 กำลังเลี้ยวผ่านหน้าไป ทำให้จำเลยทั้งสองไม่สามารถหยุดรถหรือชะลอความเร็วของรถให้ช้าลงพอที่จะขับหลบหลีกไม่เฉี่ยวชนกันได้ รถของจำเลยที่ 1 และรถของจำเลยที่ 2 จึงพุ่งเข้าเฉี่ยวชนกันอย่างแรง ทำให้รถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย และเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ตกจากรถได้รับอันตรายสาหัส ฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 กระทำโดยประมาท และผลของการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 2 แล้ว แม้จะบรรยายต่อไปว่าจำเลยที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัส แต่ก็เป็นผลมาจากการกระทำของจำเลยที่ 2 เองด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ แสดงว่าจำเลยที่ 2 เข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แต่เมื่อการที่จำเลยที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัสเป็นผลมาจากการกระทำของจำเลยที่ 2 เอง จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 300 ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานดังกล่าวด้วยนั้น เป็นการลงโทษในการกระทำความผิดที่ไม่ได้กล่าวในฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11982/2555

การที่แพทย์ลงความเห็นตามผลการชันสูตรบาดแผลเอกสารท้ายฟ้องว่า ผู้เสียหายรักษาตัวในโรงพยาบาลระหว่างวันที่ 3 เมษายน ถึงวันที่ 12 เมษายน 2554 และเห็นควรได้รับการรักษาประมาณสองสัปดาห์ทุเลา แสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายต้องป่วยเจ็บเป็นเวลาเกินกว่า 20 วัน ซึ่งรวมถึงอาจป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้ด้วย ดังนั้น การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินยี่สิบวันและจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันนั้น จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ประกอบพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 แล้ว ทั้งผู้เสียหายจะป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงซึ่งเป็นรายละเอียดที่โจทก์จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17866/2555

การที่จำเลยสั่งให้ ส. กับพวกทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ด้วยคำพูดของจำเลยที่ว่า "กูจะฆ่ามึง พวกมึงไปจัดการมันเลย" นั้น แม้ตามพฤติการณ์แห่งคดีจะเป็นการพูดด้วยอารมณ์โกรธ และเพียงแต่มีเจตนาใช้ให้ทำร้ายร่างกายเพื่อสั่งสอนเท่านั้น แต่เมื่อการทำร้ายร่างกายผู้เสียหายตามที่จำเลยใช้ให้กระทำความผิดเกิดผลให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสซึ่งผู้ถูกใช้จะต้องรับผิดทางอาญามีกำหนดโทษสูงขึ้น จำเลยเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดย่อมต้องรับผิดทางอาญาตามความผิดที่มีกำหนดโทษสูงขึ้นนั้นด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 297 (8), 84 ประกอบมาตรา 87 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7958/2555

จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกบุกรุกเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธ ถือได้ว่าเป็นความผิดสำเร็จไปแล้วกระทงหนึ่ง การที่จำเลยที่ 1 เห็นผู้เสียหายตบหน้าจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 จึงใช้โซ่ที่ถือมาตีศีรษะผู้เสียหายไป 1 ครั้ง ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายซึ่งเป็นเจตนาที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ แยกต่างหากจากเจตนาบุกรุกในตอนแรกได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดสองกรรมต่างกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6505/2555

โจทก์บรรยายฟ้องในข้อสาระสำคัญของการกระทำความผิดว่าจำเลยกระทำโดยประมาทด้วยการขับรถด้วยความเร็วสูงเกินสมควรและไม่ชะลอความเร็วเมื่อถึงสี่แยก แต่ทางพิจารณากลับได้ความว่าจำเลยจอดรถอยู่ที่สี่แยกและเพิ่งขับรถเคลื่อนที่เมื่อได้รับสัญญาณจราจรไฟสีเขียวแล้วชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมที่ 1 เพราะมองไม่เห็นมิใช่เพราะการขับรถเร็วหรือไม่ชะลอความเร็วตามฟ้อง ดังนี้ ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงในฟ้อง ทั้งเป็นข้อสาระสำคัญ ศาลต้องยกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5744/2555

จำเลยกับพวกแทงผู้ตายและโจทก์ร่วมที่ 2 อย่างแรงที่อวัยวะสำคัญของร่างกายที่สามารถทำให้ถึงแก่ความตายได้ เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายและโจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัส แพทย์ผู้ตรวจชันสูตรบาดแผลเบิกความว่า หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีโจทก์ร่วมที่ 2 อาจถึงแก่ความตายได้ จึงฟังได้ว่า จำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายและพยายามฆ่าโจทก์ร่วมที่ 2 ส่วนโจทก์ร่วมที่ 3 จำเลยใช้มีดแทงและฟันโจทก์ร่วมที่ 3 ตามโอกาสอำนวยไม่ได้เลือกแทงอวัยวะส่วนที่สำคัญของร่างกายทั้งมีดที่ใช้แทงและฟันไม่ใช่มีดขนาดใหญ่ แม้บาดแผลที่โจทก์ร่วมที่ 3 ถูกฟันด้านหลังยาวจากสะบัดขวาถึงเอวด้านซ้ายยาว 50 เซนติเมตร แต่ลึกเพียง 0.4 เซนติเมตร แสดงว่าไม่ใช่บาดแผลร้ายแรงที่จะทำให้โจทก์ร่วมที่ 3 ถึงแก่ความตายได้ จำเลยกับพวกมีเพียงเจตนาทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมที่ 3 เท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5053/2555

จำเลยที่ 1 มาขอไม่ให้ผู้เสียหายยื่นซองสอบราคาโดยจำเลยที่ 2 ก็อยู่ในบริเวณนั้น แต่ผู้เสียหายคงยืนยันจะยื่นซองสอบราคา จากนั้นจำเลยที่ 1 เดินมาพูดกับผู้เสียหายว่า "ไอ้น้อยมึงแน่หรือ" และตบหน้าผู้เสียหายที่บริเวณเบ้าตาขวาเป็นเหตุให้ผู้เสียหายตกจากเก้าอี้ล้มลงที่พื้น แล้วจำเลยที่ 2 กับพวกเข้าสมทบกับจำเลยที่ 1 รุมทำร้ายผู้เสียหาย โดยระหว่างนั้นจำเลยที่ 1 พูดในเชิงข่มขู่ผู้เสียหายว่า "ไอ้น้อยมึงเก่งจริงมึงยื่นเลย" พฤติการณ์แห่งคดีบ่งชี้โดยแจ้งชัดว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกรุมทำร้ายผู้เสียหายเพื่อเป็นการข่มขู่มิให้ผู้เสียหายยื่นซองสอบราคาจ้างเหมางานที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพี่ชายต่างบิดาของจำเลยที่ 2 ขอไม่ให้ผู้เสียหายยื่นในวันเกิดเหตุ ดังนี้ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295, 309 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยื่นซองสอบราคาในวันเกิดเหตุตามที่จำเลยที่ 2 อ้างก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 2 ร่วมใช้กำลังประทุษร้ายต่อผู้เสียหายเพื่อให้จำยอมไม่เข้าร่วมในการเสนอราคาตามประกาศสอบราคาจ้างเหมาในเหตุคดีนี้จนผู้เสียหายต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลจากแพทย์ที่โรงพยาบาลและไม่กล้ายื่นซองสอบราคาภายในกำหนด ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 6 อีกฐานหนึ่งด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11466/2554

จำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งหกและขู่ผู้เสียหายทั้งหกจนผู้เสียหายทั้งหกหาเงินมาให้จำเลยคนละ 1,000 บาท แม้จำเลยจะปักใจเชื่อโดยสุจริตว่า ผู้เสียหายทั้งหกลักเงินจำเลยไป จำเลยก็ชอบที่จะใช้สิทธิตามกฎหมายโดยไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ผู้เสียหายทั้งหกได้ในทันที จำเลยหามีสิทธิตามกฎหมายที่จะดำเนินการได้ด้วยตนเองไม่ ทั้งวิธีการที่จำเลยทำเป็นสิ่งที่ผิดต่อกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายและกรรโชกอันเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2277/2554

จำเลยทั้งสองเข้าไปในบริเวณบ้านผู้เสียหายทั้งสองและใช้ก้อนหินขว้างผู้เสียหายทั้งสอง ก้อนหิน ไม่ถูกผู้เสียหายทั้งสองแต่เป็นเหตุให้กระเบื้องหลังคาแตก 2 แผ่น ซึ่งเป็นความผิดฐานพยายามทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งสองและฐานบุกรุกเคหสถานตั้งแต่สองคนขึ้นไปในเวลากลางคืน อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่สำหรับความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายว่า เพียงก้อนหินที่ขว้างไปถูกกระเบื้องหลังคา แสดงว่าเป็นเพราะพลาดไปถูกหลังคา มิได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาทำให้เสียทรัพย์ด้วย จะถือเอาเจตนาที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองเป็นเจตนาทำให้เสียทรัพย์โดยพลาดตาม ป.อ. มาตรา 60 ด้วยไม่ได้เพราะเจตนาทำร้ายผู้อื่นเป็นเจตนาคนละประเภทกับเจตนาทำให้เสียทรัพย์อีกทั้งกรรมของการกระทำก็ต่างกัน จึงถือว่าเป็นการกระทำโดยพลาดมิได้ แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 อาจจะกระทำโดยประมาท แต่การทำให้เสียทรัพย์โดยประมาทไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดอาญา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8356/2554

จำเลยที่ 1 บอกจำเลยที่ 3 ว่าจะไปทำร้ายผู้เสียหาย จำเลยที่ 3 จึงพูดว่า เอามันให้หนักไปเลย และขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 เข้าพูดจายั่วยุผู้เสียหาย เพื่อเปิดทางให้จำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้เสียหาย แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 3 เพียงว่าจะให้จำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้เสียหายเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไปหยิบไม้ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ให้เปลี่ยนเป็นท่อนเหล็กแทน จึงเป็นการเปลี่ยนเจตนาและวิธีการทำร้ายของจำเลยที่ 1 ที่เกินขอบเขตเจตนาของจำเลยที่ 3 ผู้สนับสนุน จำเลยที่ 3 จึงมีความผิดเพียงเป็นผู้สนับสนุนให้จำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้เสียหายเท่านั้น และเมื่อผลของการทำร้ายทำให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส จำเลยที่ 3 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนให้จำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสเท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1438/2554

แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์กระบะไปตามถนนสายเอเซีย 41 เมื่อถึงที่เกิดเหตุมีการปิดช่องเดินรถเพื่อซ่อมถนน คงเปิดให้รถแล่นสวนทางขึ้นล่องกันได้ด้านละ 1 ช่องทางในทางเดินรถของจำเลยด้านเดียว จำเลยขับรถโดยประมาทด้วยความเร็วสูงเกินสมควรไม่ชะลอความเร็วรถให้ช้าลงล้ำเข้าไปในช่องเดินรถที่แล่นสวนทางมา เป็นเหตุให้ชนกับรถจักรยานยนต์และเลยไปชนรถยนต์ตู้ที่ขับสวนทางมา แต่ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยขับรถโดยประมาทชนกับรถจักรยานยนต์ที่สวนทางมาบนไหล่ทาง แม้ไม่มีการชนในช่องเดินรถสวน ก็ถือได้ว่าตรงกับความประสงค์ให้ลงโทษจำเลยแล้ว กรณีไม่ถือว่าโจทก์สืบไม่สมฟ้อง ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 และ ป.อ. มาตรา 300,390 ตามฟ้องโจทก์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 290/2554

ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ไม่ได้ระบุขนาดของบาดแผลเพียงแต่ระบุว่า บาดแผลไม่ผ่านเข้าปอด แสดงว่า บาดแผลไม่ได้มีความลึกถึงปอดอันเป็นอวัยวะภายในที่สำคัญอันจะทำให้ถึงแก่ความตายได้ ทั้งบาดแผลดังกล่าวสามารถรักษาหายภายใน 7 วัน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่า หลังจากถูกแทงแล้วผู้เสียหายยังสามารถวิ่งไล่จำเลยที่ 1 ไปได้ประมาณ 300 เมตร ซึ่งสนับสนุนให้เห็นว่าบาดแผลของผู้เสียหายไม่ร้ายแรงนักทั้งก่อนเกิดเหตุไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้เสียหายมาก่อนเหตุที่เกิดขึ้นก็เป็นเพราะผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วจึงมีการด่าทอและท้าทายกัน ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงถึงขนาดจะมีมูลเหตุจูงใจให้จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดของกลางแทงผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่า ทั้งผู้เสียหายยังเบิกความว่า จำเลยที่ 1 กับพวกวิ่งหลบหนีไปก่อนที่พวกของผู้เสียหายจะออกมาช่วย แสดงว่า หลังจากจำเลยที่ 1 แทงผู้เสียหายไปเพียง 1 ครั้ง จำเลยที่ 1 ก็วิ่งหนีไปโดยมิได้แทงซ้ำอีกทั้งที่มีโอกาสจะกระทำได้ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย แต่รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8737/2553

ความผิดฐานเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เข้าร่วมในการนั้นหรือไม่รับอันตรายสาหัส โดยการกระทำในการชุลมุนต่อสู้นั้น เป็นกรณีที่กฎหมายมุ่งประสงค์จะลงโทษผู้ที่เข้าร่วมในการต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป ท่ามกลางความชุลมุนหรือสับสนวุ่นวาย โดยไม่ทราบว่าผู้ใดหรือฝ่ายใดเป็นผู้ทำร้าย คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ฝ่ายหนึ่ง กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อีกฝ่ายหนึ่งสมัครใจวิวาทต่อสู้กัน ไม่ว่าจะเกิดการชุลมุนหรือไม่ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ย่อมมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย ส่วนจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 2 เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าจำเลยทั้งห้ามีความผิดฐานเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7235/2553

กรณีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 299 นั้น ต้องเป็นการชุลมุนต่อสู้กันระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และมีบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และมีบุคคลได้รับอันตรายสาหัสโดยไม่ทราบว่าผู้ใดหรือผู้ใดร่วมกับใครทำร้ายจนได้รับอันตรายสาหัส แต่หากสามารถรู้และแบ่งฝ่ายแบ่งพวกกันได้ ทั้งรู้ว่าผู้ใดหรือฝ่ายใดเป็นผู้ลงมือทำร้ายย่อมลงโทษผู้นั้นกับพวกได้ตามเจตนาและผลของการกระทำ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่าจำเลยกับพวกฝ่ายหนึ่งและผู้เสียหายกับพวกฝ่ายหนึ่งวิวาทต่อสู้กัน แล้วพวกของจำเลยเป็นผู้ใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ย่อมมิใช่กรณีตาม ป.อ. มาตรา 299 และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ที่ใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหาย คือ น. ซึ่งเป็นพวกของจำเลยที่เข้าร่วมในการทะเลาะวิวาทกับผู้เสียหายด้วย จำเลยซึ่งมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายย่อมต้องรับผลอันเป็นธรรมดา ย่อมเกิดขึ้นจากการนั้นในฐานเป็นตัวการแม้มิได้เป็นผู้ลงมือใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายด้วยตนเองก็ตาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3012/2553

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยขับรถโดยสารประจำทางมาถึงบริเวณสี่แยกถนนมิตรภาพตัดกับถนนแจ้งสนิท จำเลยควรใช้ความระมัดระวังโดยลดความเร็วของรถลงเพื่อความปลอดภัยและหยุดรถเพื่อให้รถในช่องทางที่ได้รับสัญญาณจราจรไฟสีเขียวแล่นผ่านไป แต่จำเลยไม่ใช้ความระมัดระวังขับรถผ่านสี่แยกด้วยความเร็วสูงและฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีแดง เป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยขับเฉี่ยวชนกับรถยนต์ที่ ถ. ขับผ่านสี่แยกดังกล่าวขณะได้รับสัญญาณจราจรไฟสีเขียว แม้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีแดง แต่จำเลยขับรถโดยสารแล่นเข้าไปในสี่แยกที่เกิดเหตุด้วยความเร็วโดยมิได้ลดความเร็วลง เป็นการขาดความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์อันเป็นการกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้เกิดเฉี่ยวชนกับรถยนต์ของโจทก์ร่วม จึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยกระทำโดยประมาทตามที่กล่าวไว้ในคำฟ้องแล้ว ศาลชั้นต้นจึงลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 และ ป.อ. มาตรา 300 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9264/2551

ผู้เสียหายทั้งสองเป็นมารดาและตาซึ่งเป็นบุพการีของจำเลย จำเลยใช้ค้อนที่ถืออยู่ในมือขณะตอกตะปูฝาบ้านตีผู้เสียหายที่ 1 แทบจะในทันทีที่ผู้เสียหายที่ 1 พูดห้ามให้หยุดตอกตะปู และใช้ค้อนดังกล่าวตีผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งอยู่คนละบ้านในเวลาต่อเนื่องกัน เมื่อพิจารณาความเกี่ยวพันระหว่างจำเลยและผู้เสียหายทั้งสองแล้ว เหตุที่ผู้เสียหายที่ 1 พูดห้ามปรามจำเลย และผู้เสียหายที่ 2 ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยในขณะนั้น ประกอบกับจำเลยเจ็บป่วยทางจิตประสาทมานานหลายปีแล้ว ฟังได้ว่าจำเลยมิได้มีเจตนาจะฆ่าผู้เสียหายทั้งสองคงมีเพียงเจตนาจะทำร้าย ร่างกายเท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5087/2551

จำเลย ที่ 1 และที่ 2 ใช้มีดปลายแหลมแทงและฟันผู้เสียหายที่ 1 มีบาดแผลฉีกขาดที่แขนขวาท่อนล่างยาว 5 เซนติเมตร เอ็นฉีกขาดและเส้นประสาทขาด บาดแผลถูกแทงบริเวณหน้าอกด้านซ้ายกว้าง 1.5 เซนติเมตร ลึก 2 เซนติเมตร นิ้วก้อยซ้ายและนิ้วนางซ้ายขยับไม่ได้ ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ แสดงให้เห็นว่า ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับบาดเจ็บมากจนนิ้วก้อยซ้ายและนิ้วนางซ้ายขยับไม่ได้ ผู้เสียหายที่ 1 รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 5 วัน และรักษาตัวที่บ้านประมาณ 2 เดือน แผลจึงหายเป็นปกติ ระหว่างที่รักษาตัวไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ จึงรับฟังได้ว่าผู้เสียหายที่ 1 ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบ วัน อันเป็นอันตรายสาหัส


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2741/2550

การที่จำเลยใช้ไม้ตีแล้วกอดปล้ำผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและแต่ง เครื่องแบบตำรวจออกตรวจท้องที่ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยภายในงานวัด ไม่ว่าการทำร้ายร่างกายดังกล่าวจะมีมูลเหตุมาโดยประการใด ก็เป็นกรณีที่ถือได้ว่าจำเลยได้ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานตำรวจผู้กระทำการ ตามหน้าที่ เพราะการที่ผู้เสียหายกำลังปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยภายในงานวัด เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการ ตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 296


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3630/2550

เหตุที่จำเลยทำร้ายทุบบริเวณท้ายทอยและหลังของผู้เสียหายที่ 2 ในตอนแรก มีสาเหตุจากการที่ผู้เสียหายที่ 2 เข้าไปปลุกจำเลยขณะหลับอยู่บนรถโดยสารมินิบัสของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งขณะนั้นจำเลยมีการเมาสุรา เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ถามจำเลยว่าจะลงจากรถหรือไม่ จำเลยตอบว่าลง และเดินไปที่ประตูด้านหลังของรถยนต์มินิบัสแต่กลับย้อนมาทำร้ายผู้เสียหาย ที่ 2 อีก ผู้เสียหายที่ 2 พยายามใช้กระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารต่อสู้กับจำเลย ดังนั้น การที่จำเลยแย่งเอากระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารแล้วลงจากรถวิ่งหนีไปเป็น เพราะจำเลยเมาสุราและไม่ประสงค์จะต่อสู้กับผู้เสียหายที่ 2 ประกอบกับผู้เสียหายที่ 2 ใช้กระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารทำร้ายจำเลยด้วย การที่จำเลยแย่งเอากระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารจากผู้เสียหายที่ 2 ไป ก็เพราะไม่ประสงค์ให้ผู้เสียหายที่ 2 ใช้กระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารติดตามมาทำร้ายจำเลยอีก หากจำเลยประสงค์จะชิงทรัพย์จำเลยอาจหยิบเอาเฉพาะเงินจากกระบอกตั๋วเก็บเงิน ค่าโดยสาร ทิ้งกระบอกตั๋วไว้แล้วหลบหนีไปก็อาจกระทำได้ การที่จำเลยยังคงมีกระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารติดตัวอยู่ ทำให้เห็นว่าจำเลยไม่ประสงค์ให้ผู้ใดนำกระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารมาทำร้าย จำเลยอีก การกระทำของจำเลยแม้จะเป็นการพาเอาทรัพย์ไปจากผู้เสียหายที่ 2 แต่ไม่ได้เกิดโดยเจตนาทุจริต จึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2884/2550

จำเลยไม่ได้มีเจตนาที่จะชิงทรัพย์ของผู้เสียหายมาแต่แรก แต่สาเหตุเนื่องจากผู้เสียหายกับจำเลยมีเรื่องวิวาทกันก่อน จำเลยสู้ไม่ได้จึงพาพรรคพวกคือ ส. และ ท. มารุมทำร้ายผู้เสียหายในภายหลัง ที่จำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปน่าจะเป็นผลพลอยได้จากการที่ผู้เสียหายถูก ทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บแล้วมากกว่า มิฉะนั้นจำเลยคงไม่พูดประโยคว่า "มึงทำกูเจ็บ ก็ต้องเอาของมึง" ซึ่งมีลักษณะเป็นการแก้แค้นจากการถูกผู้เสียหายทำร้ายมาก่อน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายและลักทรัพย์ของผู้เสียหาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3611/2550

ผู้เสียหายและ ว. ไปเที่ยวงานวัด แต่การจราจรติดขัด ว. จอดรถจักรยานยนต์รออยู่บนถนน ขณะเดียวกัน ณ. วิ่งมาต่อยหน้าผู้เสียหาย 1 ครั้ง ผู้เสียหายวิ่งหนีจำเลย น. และ ย. วิ่งไล่ตาม ณ. ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย 1 นัด ผู้เสียหายวิ่งไปได้ 30 เมตรก็หมดแรงล้มลง จำเลย ณ. น. และ ย. เข้าไปรุมทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย โดยจำเลยใช้อาวุธมีดดาบฟันผู้เสียหาย ผู้เสียหายยกมือทั้งสองข้างกันไว้ จึงถูกคมมีด พวกจำเลยรุมเตะผู้เสียหาย แต่มีคนช่วยผู้เสียหายหลบหนีไปได้ ดังนั้น การที่ผู้เสียหายไปเที่ยวงานวัดแล้วพบ ณ. กับจำเลยและพวกนั้นน่าจะเป็นเหตุบังเอิญ และที่ ณ. เข้าไปชกทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทันทีและต่อมาก็ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย นั้นเป็นการกระทำและตัดสินใจของ ณ. โดยลำพัง ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้สมคบกระทำการดังกล่าวกับ ณ. จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในผลการกระทำดังกล่าวร่วมกับ ณ. แต่จำเลยต้องรับผิดเฉพาะผลการกระทำของตน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 920/2549

ก่อนเกิดเหตุ เวลาประมาณ 22 นาฬิกา จำเลยทั้งสามนั่งดื่มสุราอยู่ในร้านคาราโอเกะห่างจากโต๊ะผู้เสียหายที่นั่ง ดื่มสุราเช่นกันเพียงประมาณ 1 เมตร ระหว่างที่นั่งอยู่ในร้านคาราโอเกะจำเลยทั้งสามและผู้เสียหายต่างก็ร้องเพลง คาราโอเกะ ต่อมาเวลาประมาณ 1 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น ผู้เสียหายกลับบ้านก่อนจำเลยทั้งสามประมาณ 5 นาที จากนั้นจำเลยทั้งสามได้ไปหาผู้เสียหายที่บ้านและขอร้องให้ผู้เสียหายขับรถ จักรยานยนต์ไปส่งอย่างเปิดเผย ไม่ได้ปิดบังหรืออำพรางตัว ผู้เสียหายตกลงโดยให้จำเลยทั้งสามนั่งรถจักรยานยนต์ไปด้วย เมื่อรถวิ่งไปได้ประมาณ 100 เมตร จำเลยทั้งสามจึงทำร้ายผู้เสียหายโดยการเตะและกระทืบ ก่อนที่จะทำร้ายผู้เสียหาย จำเลยทั้งสามไม่ได้เรียกร้องเอารถจักรยานยนต์หรือทรัพย์สินอื่นของผู้เสีย หายก่อน หลังจากจำเลยทั้งสามทำร้ายผู้เสียหายแล้ว ได้ขับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายออกไปจากที่เกิดเหตุเพียง 100 เมตร ก็จอดรถทิ้งไว้โดยจอดไว้ริมถนนข้างบ้าน ว. ผู้ใหญ่บ้านท้องที่ที่เกิดเหตุโดยเปิดเผยและเสียบกุญแจรถคาไว้ทั้งที่จำเลย ทั้งสามสามารถนำรถจักรยานยนต์ไปได้โดยสะดวก เพราะไม่มีผู้ใดติดตามและเป็นยามวิกาล จากนั้นจำเลยทั้งสามพากันไปนอนที่บ้านของจำเลยที่ 1 มิได้หลบหนีและเมื่อทราบว่าเจ้าพนักงานตำรวจติดตามหาตัวจำเลยทั้งสาม จำเลยทั้งสามก็ยินยอมให้ ว. พาไปมอบตัวต่อพนักงานสอบสวนโดยดี และให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า มีเจตนาเพียงทำร้ายผู้เสียหายเท่านั้น ไม่ประสงค์จะเอาทรัพย์สินของผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยทั้งสามมิได้มุ่งประสงค์ต่อผลในการจะแสวงหาประโยชน์จาก ทรัพย์สินโดยแท้จริง การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงขาดเจตนาทุจริตในการลักทรัพย์ ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดฐานลักทรัพย์ของผู้เสียหาย การที่จำเลยทั้งสามกระทำการดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ จำเลยทั้งสามคงมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้เกิด อันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้เสียหายเท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8092/2548

จำเลยกับพวกร่วมกันทำร้ายผู้เสียหาย โดยใช้ของแข็งกระแทกตัวผู้เสียหาย และเตะผู้เสียหายจนผู้เสียหายสลบไปประมาณ 5 นาที แม้ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย แต่การที่ผู้เสียหายถูกทำร้ายจนสลบไปประมาณ 5 นาที ถือว่าเป็นอันตรายแก่จิตใจแล้ว จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 774/2548

จำเลยรู้ว่ากำลังถูกผู้เสียหายที่ 2 กับพวกซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจติดตามจับกุม การที่จำเลยกอดปล้ำต่อสู้และใช้มีดฟันแทงผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 138, 140 และเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานตามหน้าที่ด้วย


การเป็นอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) นั้น ต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือจนประกอบกรณียกิจตาม ปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน แต่ผู้เสียหายที่ 2 มีบาดแผลที่ต้นขาซ้ายด้านหลังต้องรักษาที่โรงพยาบาล 11 วัน หลังจากนั้นให้กลับไปรักษาตัวที่บ้านและต้องไปทำแผลทุกวัน ในระหว่างรักษาบาดแผลผู้เสียหายที่ 2 ยังสามารถทำงานได้ตามปกติและต้องไปล้างแผลทุกวัน แสดงว่าผู้เสียหายที่ 2 มิได้ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาหรือประกอบกรณียกิจไม่ได้ จึงไม่เข้าลักษณะอันตรายสาหัสตาม ป.อ. 297 (8) เพียงแต่เป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา295 เท่านั้น การที่จำเลยทำร้ายร่ายกายผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 296


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6480/2548

ก่อนเกิดเหตุโจทก์ร่วมเห็น อ. นั่งดื่มสุราอยู่ที่หน้าร้านของจำเลย ต่อมาจำเลยเข้ามาทวงหนี้จากโจทก์ร่วมโดยจำเลยกับ อ. พากันเข้ามาในร้านเกมของโจทก์ร่วมพร้อมกัน แล้วจำเลยชี้ตัวโจทก์ร่วมให้ อ. ดูพร้อมกับพูดว่า คนนี้แหละชื่อยันต์ หลังจากนั้น อ. พูดว่า มึงพากูออกไปตามหาพ่อมึง ติดหนี้แล้วต้องใช้หนี้ เมื่อโจทก์ร่วมบอกว่าไม่ทราบว่าพ่ออยู่ที่ไหนและไม่ยอมไป อ. ก็เดินเข้ามาเตะโจทก์ร่วม พฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยดังกล่าวเช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยสมคบร่วมกันกับ อ. มาเตะทำร้ายโจทก์ร่วมแล้ว แม้ขณะที่ อ. เข้ามาเตะทำร้ายโจทก์ร่วม จำเลยจะเพียงแต่ยืนอยู่เฉย ๆ ไม่ได้พูดอะไรก็ตาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3654/2548

จำเลยมิได้ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 ทันทีที่บุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายที่ 1 แต่จำเลยทำร้ายร่างกาย ผู้เสียหายที่ 2 หลังจากที่จำเลยถามหาผู้เสียหายที่ 1 แล้วผู้เสียหายที่ 2 ตอบว่าผู้เสียหายที่ 1 ไปธุระนอกบ้าน แสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้มีเจตนาแต่แรกที่จะเข้าทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 เจตนาที่จะบุกรุกบ้านของผู้เสียหายที่ 1 กับเจตนาที่จะทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 จึงแยกจากกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดสองกรรมต่างกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8701/2547

จำเลยทั้งสองวางแผนลวงโจทก์ร่วมไปในที่เกิดเหตุ แล้วจำเลยที่ 1 กระชากคอเสื้อโจทก์ร่วมลงมาจากรถและร้องบอกจำเลยที่ 2 ว่ามาแล้ว จำเลยที่ 2 จึงเดินออกมาจากข้างทาง เมื่อโจทก์ร่วมปฏิเสธไม่ยอมถอดเสื้อผ้าตามคำสั่ง จึงถูกจำเลยที่ 1 ต่อยท้องและใบหน้าหลายครั้งจนล้มคว่ำ จำเลยที่ 2 ร้องบอกว่า "เอามันให้สลบก่อน" จากนั้นจำเลยทั้งสองจึงรุมเตะทำร้ายโจทก์ร่วมจนกระทั่งสิ้นสติไป จำเลยทั้งสองเพียงแต่ใช้หมัดและเท้าทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วม ไม่ปรากฏว่ามีการใช้อาวุธหรือเลือกทำร้ายโจทก์ร่วมตรงบริเวณที่เป็นอวัยวะ สำคัญอันอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ ทั้งที่มีกำลังคนและแรงกายภาพเหนือกว่าอยู่ในทำเลปลอดคน กับมีเวลาและโอกาสที่จะเลือกกระทำแก่โจทก์ร่วมได้ตามอำเภอใจ บาดแผลที่โจทก์ร่วมถูกทำร้ายไม่ร้ายแรงจนทำให้ถึงแก่ความตายได้ แสดงว่าจำเลยทั้งสองมีเพียงเจตนาทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมเท่านั้น จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจนได้ รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 298


หลังจากจำเลยทั้งสองรุมทำร้ายจนโจทก์ร่วมสลบแล้ว จำเลยที่ 2 จึงกระชากสร้อยคอของโจทก์ร่วมส่งให้จำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นว่าเมื่อแรกวางแผนลวงโจทก์ร่วมมายังที่เกิดเหตุจนกระทั่งรุมทำ ร้ายโจทก์ร่วมสลบนั้น จำเลยทั้งสองยังไม่มีเจตนาจะเอาทรัยพ์ของโจทก์ร่วม แต่หลังจากหยุดทำร้ายโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยที่ 2 จึงเกิดเจตนาโลภปลดทรัพย์ของโจทก์ร่วมส่งให้จำเลยที่ 1 แล้วพากันหลบหนี เจตนาต่อทรัพย์ดังกล่าวจึงเป็นคนละตอนคนละเจตนากับการลวงโจทก์ร่วมมาทำร้าย จนได้รับอันตรายสาหัส บาดแผลของโจทก์ร่วมจึงมิได้เกิดจากการมีเจตนาต่อทรัพย์ของโจทก์ร่วม แม้ภายหลังจำเลยที่ 2 จะใช้แรงกายภาพกระชากสร้อยไปจากคอโจทก์ร่วม แต่สร้อยคอและสร้อยข้อมือของโจทก์ร่วมเป็นสร้อยเส้นเล็กจึงค่อนข้างขาดง่าย สภาพบาดแผลที่คอโจทก์ร่วมไม่มีร่องรอยบาดแผลจากการถูกสร้อยบาดตามแรงกระชาก ที่จำเลยที่ 2 กระทำต่อทรัพย์ปรากฏให้เห็น แสดงว่าแรงกายภาพที่จำเลยที่ 2 กระทำนั้นไม่ถึงกับอันตรายแก่กายของโจทก์ร่วม สภาพเช่นนี้ไม่พอให้ถือว่าเป็นการประทุษร้ายแก่กายของโจทก์ร่วมตาม ป.อ. มาตรา 1 (6) การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นเพียงความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน


จำเลยที่ 1 ใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะไปลวงโจทก์ร่วมมาทำร้ายในที่เกิดเหตุ แม้โจทก์ร่วมจะหลงกลจนถูกทำร้ายและลักทรัพย์ โดยจำเลยทั้งสองพาทรัพย์ขึ้นรถจักรยานยนต์หลบหนีไป รถจักรยานยนต์ก็เป็นเพียงยานพาหนะที่จำเลยทั้งสองตั้งใจใช้เพื่อการลวงทำ ร้ายโจทก์ร่วมโดยเฉพาะเท่านั้น มิใช่เพื่อการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ที่เกิดในภายหลังด้วย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการร่วมกันชิงทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ ยานพาหนะเพื่อกระทำผิดอันเป็นเหตุฉกรรจ์ตาม ป.อ. มาตรา 340 ตรี


ความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมรับอันตรายสาหัสกับความผิด ฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนดังกล่าวล้วนแต่เป็นการกระทำที่เกิดต่อเนื่อง และต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำหลายอย่างซึ่งรวมอยู่ในความผิดฐานชิง ทรัพย์ตามฟ้องโดยแต่ละอย่างเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ในการกระทำตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย และแม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ยื่นฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไว้ด้วย แต่ปัญหาทุกข้อดังกล่าวเป็นเหตุในลักษณะคดีตาม ป.อ. มาตรา 89 ซึ่งกำหนดให้ใช้แก่ผู้กระทำความผิดในการกระทำความผิดนั้นด้วยกันทุกคน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7793/2547

การที่จำเลยต่อสู้ขัดขืนการจับกุมและใช้กรรไกรแทงทำร้ายจ่าสิบตำรวจ ร. หลายครั้ง แต่ปรากฏว่าการแทงครั้งแรกถูกจ่าสิบตำรวจ ร. ที่ท้องแต่ไม่เข้า เมื่อกอดปล้ำกันจำเลยได้แทงที่ไหล่ขวาจนเสื้อขาดและไม่เข้าอีกเช่นกัน แสดงว่ามิใช่เป็นการแทงโดยแรง หลังจากนั้นจำเลยได้ใช้กรรไกรแทงที่กระเดือกและคอจ่าสินตำรวจ ร. มีเลือดไหลที่บริเวณกระเดือกเห็นได้ว่าขณะจำเลยใช้กรรไกรแทงจ่าสิบตำรวจ ร. นั้นเป็นการแทงขณะจำเลยและจ่าสิบตำรวจ ร. ต่อสู้กอดรัดกัน และเป็นการแทงเพื่อที่จำเลยจะหลบหนี จำเลยจึงอยู่ในภาวะที่ไม่มีโอกาสเลือกแทงอวัยวะส่วนใดของจ่าสิบตำรวจ ร. ได้ อาวุธที่จำเลยใช้แทงจ่าสิบตำรวจ ร. เป็นกรรไกรขนาดไม่ใหญ่ ไม่ใช่อาวุธโดยสภาพ แม้จำเลยจะใช้กรรไกรแทงจ่าสิบตำรวจ ร. หลายครั้ง แต่จ่าสิบตำรวจ ร. มีบาดแผลที่คอซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญเพียงแห่งเดียว บาดแผลดังกล่าวเป็นเพียงรอยถลอกยาว 0.5 เซนติเมตร แพทย์ลงความเห็นว่ารักษาประมาณ 7 วันหาย พฤติการณ์ดังกล่าวยังไม่พอฟังว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าจ่าสิบตำรวจ ร. จำเลยคงมีเจตนาทำร้ายจ่าสิบตำรวจ ร. เพื่อให้พ้นจากการจับกุมเท่านั้น คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตาม หน้าที่ เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาทำร้ายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตาม หน้าที่ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย และจำเลยยังมีความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตาม หน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายอีกด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 108/2546

จำเลยได้รับแจ้งจาก ห. ว่าผู้เสียหายล่อลวง ห. ไปที่บังกะโลเพื่อล่วงเกินทางเพศ จำเลยโกรธแค้นจึงวางแผนให้ ห. โทรศัพท์ไปหลอกผู้เสียหายให้ออกจากบ้านไปหา ห.ที่จุดเกิดเหตุเพื่อทำร้ายสั่งสอนเป็นการแก้แค้นแทน ห. เมื่อผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ไปถึงที่เกิดเหตุจำเลยกับพวกที่รออยู่วิ่ง เข้าไปทำร้ายผู้เสียหายทันทีผู้เสียหายหลบหนีจำเลยกับพวกไล่ตามและจำเลยใช้ มีดขู่เข็ญพาตัวผู้เสียหายไปแล้วพวกของจำเลยใช้ของแข็งตีศรีษะผู้เสียหายจนผู้เสียหายแกล้งทำเป็นหมดสติจากนั้นจำเลยกับพวกหนีไปโดยถือโอกาสเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปด้วยซึ่งการใช้มีดขู่เข็ญผู้เสียหายและการทำร้าย ผู้เสียหายในตอนหลังเป็นเรื่องต่อเนื่องมาจากสาเหตุเดิมที่จำเลยโกรธแค้นผู้ เสียหายหาใช่ว่าจะมีเจตนาเอาทรัพย์ของผู้เสียหายมาแต่แรกไม่การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ ก่อนแต่เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจึงลงโทษ จำเลยให้หนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา296ไม่ได้คงลงโทษได้ตามมาตรา 295เท่านั้นและจำเลยยังมีความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนตามมาตรา335(1) วรรคแรกด้วยแม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธตามมาตรา 340 วรรคสอง เพียงกระทงเดียวศาลฎีกาย่อมลงโทษจำเลยฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นตาม มาตรา295ประกอบด้วยมาตรา83กระทงหนึ่งและฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนตามมาตรา 335(1)วรรคแรกอีกกระทงหนึ่งซึ่งมีโทษเบากว่าข้อหาฐานปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธ ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 190/2541

จำเลยเจตนายิงผู้เสียหายที่ 1 เนื่องจาก จำเลยถูกผู้เสียหายที่ 1 กับพวก เข้ามา กลุ้ม รุม ทำร้าย จำเลยก่อน จำเลยย่อมมีสิทธิป้องกันตัวเองเพื่อ มิให้ถูกทำร้ายแต่การที่จำเลยใช้ปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรง ยิงผู้เสียหายที่ 1 หลายนัด โดยผู้เสียหายที่ 1 มีเพียงก้อนหินและไม่ปรากฏว่าพวกผู้เสียหายที่ 1 มีอาวุธ กระสุนปืนที่จำเลยยิงถูกผู้เสียหายที่ 1 ที่บั้นเอวด้านซ้าย สะโพกด้าน ซ้ายและด้านขวา จนผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัสถ้าผู้เสียหายที่ 1 ไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจถึงแก่ความตายได้ นอกจากนี้กระสุนปืนยังพลาดไปถูกผู้เสียหายที่ 2และที่ 3 จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายของผู้เสียหาย ที่ 2 และที่ 3 ดังนี้ นับว่าเป็นการกระทำเกินกว่า กรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นโดยป้องกันตัวเกินสมควรแก่เหตุ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 299 ต้องเป็นกรณีชุลมุนต่อสู้กันระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปและมีบุคคลได้ รับอันตรายสาหัส ซึ่งหมายถึงกรณีที่ไม่ทราบว่าผู้ใดหรือผู้ใดร่วมกับใครทำร้ายจนได้รับ อันตรายสาหัส