มาตรา ๙๐
เมื่อการกระทำใดอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด
มาตรา ๙๑
เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ
หรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดดังต่อไปนี้
(๑) สิบปี
สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี
(๒) ยี่สิบปี
สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี
(๓) ห้าสิบปี
สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป
เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
4291/2560
โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นขณะเกิดเหตุ
แต่โจทก์มีคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสามประกอบกับคำเบิกความของพนักงานสอบสวนแสดงรายละเอียดการกระทำความผิดตั้งแต่ตอนจำเลยที่
1 ทาบทามว่าจ้างจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ฆ่าผู้ตายซึ่งเป็นภรรยาจำเลยที่ 1
ประชุมวางแผน ลงมือฆ่า ปลดเอาสร้อยข้อมือของผู้ตายกับแสร้งเอาสร้อยคอของจำเลยที่ 1
ไปซ่อน แล้วจำเลยที่ 1 ใช้เศษไม้ขูดคอตนเองให้เป็นรอยเพื่อแสร้งทำว่าถูกคนร้ายตี
และจำเลยทั้งสามได้แสดงแผนประทุษกรรมประกอบคำรับสารภาพ ทั้งจำเลยที่ 1 ที่
2ได้ขอขมาศพผู้ตายกับบิดาผู้ตาย แสดงถึงความสำนึกผิด และจำเลยที่ 1
ได้พาพนักงานสอบสวนไปเอาสร้อยข้อมือผู้ตายกับสร้อยคอของตนตรงที่ซ่อนไว้
ส่วนจำเลยที่ 2
ได้พาพนักงานสอบสวนไปเอาเหล็กขูดชาพท์ซึ่งใช้แทงผู้ตายที่ทิ้งไว้ขณะวิ่งหนี
กับได้พบมีดปลายแหลมที่จำเลยที่ 3 ใช้แทงผู้ตายแล้วทิ้งไว้
ตรงตามสถานที่ที่ระบุไว้ในคำให้การ และจำเลยที่ 2 ได้พาพนักงานสอบสวนไปพบ
อ.ที่ต่างจังหวัดให้นำไปยึดเอาสร้อยคอที่ร้านขายทองคืนมาด้วย
นอกจากนี้โจทก์ยังมีคำให้การชั้นสอบสวนของ น. ร. กับ อ.ยืนยันว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3
เป็นผู้ขอให้ น.นำสร้อยคอของกลางไปขายตรงตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ที่ 3
พยานโจทก์จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1วานให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันพาอาวุธไปฆ่าผู้ตายและลักทรัพย์ตามฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2699/2560
ในวันเกิดเหตุ ธ. ว. และ
ส. อยู่ในห้องพักเกิดเหตุกับจำเลย จำเลยแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้เสพ
ตามบันทึกคำให้การของพยานในชั้นสอบสวนของบุคคลทั้งสามดังกล่าวและตามฟ้องโจทก์ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า
จำเลยแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้บุคคลทั้งสามต่างวาระกัน
แต่ฟังได้ว่าจำเลยแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้บุคคลทั้งสามเสพในคราวเดียวกัน
โดยมีเจตนาเดียว การกระทำในส่วนนี้ของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียว
ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าเป็นการกระทำหลายกรรมไม่ถูกต้อง
ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา
ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1340/2560
โจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดฐานให้ที่พักพิงแก่คนต่างด้าวตามฟ้องข้อ
1.4
และ 1.7 เป็นความผิดต่างกรรมกับกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ตามฟ้องข้อ
1.6 และ 1.9 และชั้นพิจารณาจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องข้อ
1.4 ส่วนข้อ 1.7 ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์
ประกอบกับการกระทำความผิดฐานให้ที่พักพิงแก่คนต่างด้าวย่อมเป็นความผิดสำเร็จนับตั้งแต่ผู้กระทำผิดให้ที่พักพิงแก่คนต่างด้าว
ซึ่งสามารถแยกเจตนาและการกระทำออกจากความผิดฐานค้ามนุษย์ได้
ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงมิใช่การกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
ศาลจึงชอบที่จะลงโทษในความผิดตามฟ้องข้อ 1.4 และ 1.7 เป็นคนละกรรมกับความผิดฐานค้ามนุษย์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9309/2559
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานจำเลยร่วมกันมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง
ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง
และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 38, 74 โดยมิได้ขอให้ลงโทษตาม มาตรา 78 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า
จำเลยโยนวัตถุระเบิดขึ้นไปบนรถโดยสารสาธารณะ การกระทำของจำเลยในความผิดฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่ประกอบขึ้นเองไว้ในครอบครองกับฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นและฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น
มีเจตนาในการกระทำผิดเป็นคนละอันแตกต่างกันและเป็นความผิดต่างฐานกัน
การกระทำของจำเลยทั้งสองก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน หาใช่กรรมเดียวกันไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
8346/2559
การที่จำเลยร่วมกับพวกรุมเตะผู้ตายเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำที่รวมอยู่ในความผิดฐานฆ่าผู้ตาย
จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้ตายอีกบทหนึ่ง
คงเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นเพียงบทเดียวเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
7965/2559
ยาเสพติดให้โทษของกลางที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและมีไว้ในครอบครองในขณะเกิดเหตุ
มีอยู่ 2 จำนวน จำนวนแรกเป็นเฮโรอีนจำนวน 82 แท่ง คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 18,721.813 กรัม และจำนวนที่ 2 เป็นเฮโรอีนผสมมอร์ฟีน จำนวน 1 แท่ง
คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ของมอร์ฟีนได้ 27.930 กรัม การที่ยาเสพติดให้โทษของกลางจำนวนที่
2 เป็นเฮโรอีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1
ผสมมอร์ฟีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2
และจำเลยทั้งสองร่วมกันครอบครองรวมกันไป
ย่อมไม่อาจแบ่งแยกเจตนาในการครอบครองต่างหากออกจากการที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท
1 จำนวนแรกไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
3637/2559
การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียหายที่
1 และนำไปใช้แสดงต่อ ภ. พนักงานธนาคารออมสิน ผู้เสียหายที่ 2 จากนั้นจำเลยทำเอกสารคำขอเปิดบัญชี
แบบคำขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์
แบบแสดงข้อมูลลูกค้าและเอกสารเงื่อนไขการใช้บริการบัญชีเงินฝากและบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้เสียหายที่
2 โดยกรอกข้อมูลในแบบคำขอเปิดบัญชี แบบคำขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์ว่า
จำเลยชื่อ ส. เป็นผู้ขอเปิดบัญชีและแสดงข้อมูลลูกค้าของผู้เสียหายที่
1กับปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 1
ในช่องลงชื่อผู้ขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์และในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
แล้วนำแบบคำขอเปิดบัญชี แบบคำขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์
แบบแสดงข้อมูลลูกค้าและเอกสารเงื่อนไขการใช้บริการบัญชีเงินฝากและบัตรอิเล็กทรอนิกส์
และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียหายที่ 1 ดังกล่าวไปยื่นแสดงต่อ ภ.
เพื่อขอเปิดบัญชีและใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์กับผู้เสียหายที่ 2 นั้น
เป็นการกระทำต่อเนื่องเชื่อมโยงกันโดยมีเจตนาเพื่อให้ผู้เสียหายที่ 2
เปิดบัญชีเงินฝากและทำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่จำเลยเป็นหลัก
แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องการกระทำความผิดของจำเลยแยกออกเป็นข้อ ๆ
และการกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ในแต่ละข้อเป็นความผิดสำเร็จในตัวก็ตาม
การกระทำของจำเลยก็เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 961/2559
แม้ข้อความที่จำเลยแจ้งจะเป็นความเท็จเพราะความจริงโฉนดที่ดินอยู่ที่
ภ.
และจำเลยนำรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานที่เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จไปใช้อ้างเพื่อขอให้ออกใบแทนโฉนดที่ดินก็ตาม
แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเลยกระทำต่อพันตำรวจโท บ.เจ้าพนักงาน ธ. และ พ.
เจ้าพนักงานที่ดิน มิได้กล่าวพาดพิงไปถึง ภ.
หรือนำรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานที่เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จไปใช้อ้างต่อ
ภ. อันจะถือว่า ภ. ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำของจำเลย
อีกทั้งจำเลยมอบให้มารดานำโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับไปเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินกับ
ภ. เท่านั้น ซึ่ง ภ. ไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอากับโฉนดที่ดินดังกล่าวได้ตามกฎหมาย
ภ.
จึงมิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ
และใช้หรืออ้างเอกสารราชการซึ่งแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าว
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) และไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตาม
ป.วิ.อ. มาตรา 30 การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ ภ.
เข้าร่วมเป็นโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ เมื่อ ภ.
มิใช่คู่ความในคดีจึงไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้
ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของ ภ.
จึงเป็นการไม่ชอบเช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
95/2559
แม้โจทก์บรรยายฟ้องและเบิกความแยกการกระทำผิดของจำเลยที่
1 ถึงที่ 3 มาเป็น 3 วัน แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องและเบิกความว่าจำเลยที่ 1
หลอกลวงโจทก์ขอให้ช่วยเหลือทางการเงินแก่จำเลยที่ 2 ในการนำเงินที่จำเลยที่ 2
ร่วมลงทุนค้าทองคำและอัญมณีกับสมาคมพ่อค้าจีนในสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามายังประเทศไทย
เนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่มีค่าดำเนินการ แล้วจำเลยที่ 2
จะจ่ายค่าตอบแทนแก่โจทก์เป็นจำนวนเงินที่สูงกว่า
โจทก์หลงเชื่อจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รับไปเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2555
วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 และวันที่ 27 มิถุนายน 2555 จำนวน 2,500,000 บาท 1,300,000 บาท และ 152,000 บาท ตามลำดับ
การที่โจทก์โอนเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3
ในแต่ละครั้งเป็นผลสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3
หลอกลวงให้โจทก์ช่วยเหลือทางการเงินแก่จำเลยที่ 2
อันเป็นการกระทำต่อเนื่องกันด้วยเจตนาอย่างเดียวเพื่อที่จะฉ้อโกงโจทก์
การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงเป็นความผิดกรรมเดียว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
15731/2558
ตาม พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ.2518
ผู้ฝ่าฝืนมาตรา 30 (1) (5) ถ้าเป็นปุ๋ยเคมีจะมีบทลงโทษตามมาตรา 63 และ 71
เป็นปุ๋ยอินทรีย์จะมีบทลงโทษตามมาตรา 72/4 ซึ่งมีโทษแตกต่างกัน บทบัญญัติดังกล่าวแยกการกระทำความผิดเกี่ยวกับปุ๋ยทั้งสองชนิดออกจากกัน
จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน แต่ปุ๋ยเคมีที่จำเลยผลิต
แม้จะเป็นคนละตรากันแต่จำเลยมีเจตนาเดียว
ทั้งจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบก็ไม่ได้ความชัดเจนว่า
จำเลยผลิตปุ๋ยดังกล่าวต่างวาระกันอย่างไร การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14617/2558
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยขาย
เสนอขาย สินค้าเครื่องสำอางชิเซโดจำนวน 2 กล่อง
เครื่องสำอางปัดคิ้วยี่ห้อแม็กจำนวน 1 กล่อง
อันเป็นสินค้าควบคุมฉลากตามกฏหมาย โดยเสนอขายต่อผู้มาติดต่อซื้อ
ซึ่งฉลากของสินค้าดังกล่าวไม่มีข้อความแสดงวิธีใช้และข้อแนะนำการใช้หรือข้อห้าม
ไม่ถูกต้องตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก จำเลยให้การรับสารภาพ
ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามคำฟ้องของโจทก์ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง
อันเป็นความผิดอีกกระทงหนึ่งต่างหากจากความผิดฐานเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายที่แท้จริงของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้ในราชอาณาจักรโดยชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12268/2558
ความผิดฐานร่วมกันผลิตปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการค้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาต
ฐานร่วมกันผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการค้าแต่ไม่นำมาขึ้นทะเบียน
ฐานร่วมกันขายปุ๋ยเคมีที่ผลิตขึ้นเพื่อการค้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาต
ฐานร่วมกันขายปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตขึ้นเพื่อการค้าแต่ไม่นำมาขึ้นทะเบียน กับฐานร่วมกันโฆษณาขายปุ๋ยเคมีที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นปุ๋ยที่ได้มาตรฐานเหล่านี้
ลักษณะของความผิดและการกระทำความผิดในแต่ละข้อหาที่โจทก์บรรยายฟ้องมาอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแตกต่างแยกจากกันได้
และบางข้อหาเป็นความผิดสำเร็จในตัวเอง และถึงแม้ปุ๋ยอินทรีย์ตามคำฟ้องข้อ 2 และ 3 บางส่วน จะเป็นปุ๋ยอินทรีย์จำนวนเดียวกัน
แต่คำฟ้องข้อ 3 โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องว่ามีปุ๋ยอินทรีย์จำนวนหนึ่งจำนวนเท่าใดไม่ปรากฏแน่ชัดซึ่งเป็นปุ๋ยคนละจำนวนกับคำฟ้องข้อ
2 ทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ให้การรับสารภาพ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2
จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
ต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 ส่วนเจตนาและความมุ่งหมายเดียวกันเพื่อนำออกจำหน่ายของจำเลยที่
1 และที่ 2 นั้น
เป็นเจตนาที่จะใช้ประโยชน์จากปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์ของกลางที่ได้มาจากการกระทำความผิด
มิใช่เจตนาในการกระทำความผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
12222/2558
จำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องโดยผู้เสียหายว่าจ้างให้จำเลยมาช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ให้แก่
ณ. แต่จำเลยทำผิดหน้าที่โดยฉกฉวยโอกาสนำสำเนาหมายจับปลอมมาใช้แสดงต่อ ณ.
ทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวว่า ณ.
จะถูกจับกุมดำเนินคดีตามสำเนาหมายจับปลอมดังกล่าว
และผู้เสียหายยอมให้ทรัพย์สินแก่จำเลยไป
แม้จำเลยจะไม่ได้แสดงการขู่เข็ญด้วยตัวของจำเลยเอง
แต่การกระทำของจำเลยที่นำสำเนาหมายจับปลอมมาใช้ประกอบการขู่เข็ญ
ทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวว่าจะเป็นอันตรายต่อเสรีภาพของ ณ.
บุตรสาวผู้เสียหายซึ่งเป็นบุคคลที่สาม การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดฐานกรรโชกแล้ว
และเป็นการกระทำกรรมเดียวกับความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12156/2558
เมื่อศาลฎีกาได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าศาลชั้นต้นนับโทษจำคุกคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาอีกคดีชอบหรือไม่
และถึงที่สุดแล้ว
จำเลยจะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้เพิกถอนการนับโทษต่อและออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้แก่จำเลยใหม่โดยอ้าง
ป.วิ.อ. มาตรา 160 และ ป.อ. มาตรา 91 อีกไม่ได้
เพราะหากศาลฎีกาฟังตามที่จำเลยอ้างแล้ววินิจฉัยให้เพิกถอนการนับโทษต่อและออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้แก่จำเลยใหม่
ย่อมมีผลเป็นการแก้ไขคำพิพากษาศาลฎีกา ขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 190
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
10319/2558
การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันนำยาฆ่าแมลงใส่ในผลมะละกอให้ช้างกิน
ช้างได้รับสารพิษทำให้ล้มลงกับพื้น
ขณะที่ยังไม่ถึงแก่ความตายจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เลื่อยเหล็กตัดงาช้าง
เป็นเหตุให้ช้างได้รับทุกขเวทนาอันไม่จำเป็นและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา
แล้วจำเลยทั้งสามร่วมกันลักงาช้างไปโดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด
การพาทรัพย์นั้นไปและเพื่อให้พ้นการจับกุม
จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์
ร่วมกันฆ่าสัตว์โดยให้ได้รับทุกขเวทนาอันไม่จำเป็น
และร่วมกันลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ
แต่การกระทำดังกล่าวมุ่งประสงค์เพื่อลักงาช้างเป็นสำคัญ
จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (7)
วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตาม ป.อ.
มาตรา 90
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
8422/2558
การที่จำเลยที่ 1
พูดจาให้ร้ายผู้เสียหายขณะปฏิบัติหน้าที่เข้าตรวจค้นร้านโดยใช้คำว่า "ปลัดส้นตีน"
ซึ่งเป็นคำดูหมิ่นเหยียดหยาม
เป็นการกระทำความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ตาม ป.อ. มาตรา
136 สำเร็จแล้วกระทงหนึ่ง ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2
ทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญขณะที่ผู้เสียหายเข้าตรวจภายในร้าน
โดยจำเลยที่ 1 พูดขึ้นว่า ไปเอาปืนมายิงให้ตาย อย่าให้ออกไปได้ แล้วจำเลยที่ 2
วิ่งไปหยิบไม้เบสบอลมาตีผู้เสียหาย 1 ที จำเลยที่ 1 เอาไม้กวาดไล่ตีผู้เสียหาย
เป็นการกระทำต่อเนื่องกันไป โดยมีเจตนาเดียวกันคือทำร้ายผู้เสียหาย
จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกับการร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
3422/2558
ความผิดฐานมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้
และความผิดฐานใช้วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้นั้น
กฎหมายบัญญัติบทความผิดและบทลงโทษไว้ในบทมาตราเดียวกันตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน
เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 78
วรรคหนึ่ง
ย่อมเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ว่ามีความประสงค์ให้ความผิดทั้งสองฐานนี้เป็นกรรมเดียวกัน
ดังนี้ ความผิดฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองและฐานร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิดเป็นเหตุให้บุคคลอื่นรับอันตรายสาหัสจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
16161 - 16162/2557
การที่ ท.
พนักงานขายของผู้เสียหายส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสามมิได้เกิดจากการที่จำเลยทั้งสามหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความ
และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้เสียหาย
แต่เกิดจากเชื่อว่าจำเลยทั้งสามสามารถชำระราคารถยนต์ได้
การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้สำเนาหนังสือ ส.ป.ก. 4 - 01 ข ปลอม
เพื่อให้พนักงานขายของผู้เสียหายตกลงขายรถยนต์ให้แก่จำเลยทั้งสาม
จึงเป็นเพียงวิธีการที่จะทำให้จำเลยทั้งสามเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปเท่านั้น
การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรณีมีเจตนาทุจริตที่จะเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปตั้งแต่ต้นแล้ว
จึงมิใช่เป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง แต่เป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปตาม
ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก
ซึ่งการที่จำเลยทั้งสามร่วมกันนำเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมไปแสดงต่อพนักงานขายของผู้เสียหาย
เพื่อให้พนักงานขายของผู้เสียหายขายรถยนต์ให้แก่จำเลยทั้งสามและจำเลยทั้งสามเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปนั้น
เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อให้ได้รถยนต์ของผู้เสียหายเท่านั้น
แม้การกระทำแต่ละอย่างจะเป็นความผิดก็เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
หาใช่เป็นความผิดหลายกรรม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
12756/2557
การที่จำเลยที่ 1 และที่
2
ร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าวว่าได้ทำโฉนดที่ดินซึ่ง
บ. และจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันสูญหาย
และแจ้งให้พนักงานสอบสวนจดข้อความอันเป็นเท็จลงในบันทึกรายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหายแล้วนำบันทึกรายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหายและหนังสือมอบอำนาจไปใช้และอ้างแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดิน
สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกะปิ
เพื่อขอรับใบแทนโฉนดที่ดินแล้วนำใบแทนโฉนดที่ดินและหนังสือมอบอำนาจปลอมไปใช้และอ้างแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร
สาขาบางกะปิ เพื่อให้มีรายการแก้ไขจดทะเบียนโฉนดที่ดินจากชื่อ บ.
มาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวจำเลยที่ 2 เป็นสามีของจำเลยที่ 1
มีส่วนได้เสียในที่ดินที่รับโอนทั้งลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจและติดต่อ
อ. ให้ประสานกับเจ้าพนักงานที่ดิน เช่นนี้ย่อมรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2
เป็นตัวการร่วมรู้เห็นเป็นใจกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดมาตั้งแต่แรก
และแม้การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามขั้นตอนต่าง ๆ ดังกล่าว
เป็นการกระทำคนละวันและต่อเจ้าพนักงานคนละหน่วยงานกัน
แต่เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน คือ เพื่อให้ที่ดินดังกล่าวตกมาเป็นของจำเลยที่
1 แต่เพียงผู้เดียว การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2
จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาปัญหาดังกล่าว
แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
12362/2557
การที่จำเลยเบิกความสองครั้งในคดีเดียวกัน
คือ ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องและชั้นพิจารณา แม้จะเป็นการเบิกความคนละคราว
แต่ก็เป็นการนำสาระสำคัญของข้อความในเรื่องเดียวกัน
มูลเหตุเดียวกันมากล่าวอีกครั้งโดยมีเจตนาให้โจทก์ต้องโทษในคดีเดียวกันเท่านั้น
จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว แต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
11994/2557
การที่จำเลยที่ 1 และที่
2 ร่วมกันปลอมสัญญากู้และสัญญาซื้อขาย แล้วจำเลยที่ 1
นำเอกสารดังกล่าวไปเป็นหลักฐานฟ้องโจทก์ก็ด้วยเจตนาที่จะบังคับให้โจทก์ส่งมอบการครอบครองที่ดินให้แก่จำเลยที่
1 เมื่อโจทก์ไม่มีหลักฐานแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงเชื่อได้ว่าการกรอกข้อความในเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวทำในคราวเดียวกัน
แม้จะเขียนวันที่คนละวันก็ตาม ส่วนการใช้เอกสารทั้งสองฉบับของจำเลยที่ 1
ก็ใช้ในคราวเดียวกัน
และการปลอมเอกสารสิทธิทั้งสองฉบับดังกล่าวก็เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบกันด้วยเจตนาเดียวคือบังคับตามสัญญาซื้อขาย
การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดกรรมเดียว
การที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม 2 ฉบับ เป็นความผิด 2
กระทง และลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานปลอมเอกสารสิทธิ 2 กระทง จึงไม่ถูกต้อง
ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ฝ่ายจำเลยที่ 1 และที่ 2
มิได้ยกขึ้นกล่าวอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม
ป.วิ.อ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 195 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
8163/2557
จำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านที่เกิดเหตุและกระทำอนาจารผู้เสียหายแล้วออกจากบ้านไป
ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้ว จากนั้นจำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านที่เกิดเหตุโดยมีวัตถุของแข็งอีกครั้งเพื่อประทุษร้ายร่างกายผู้เสียหาย
ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาบุกรุกเข้าไปเพื่อที่จะทำร้ายผู้เสียหาย
อันเป็นเจตนาที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่แยกต่างหากจากเจตนาบุกรุกบ้านที่เกิดเหตุและกระทำอนาจารผู้เสียหายในตอนแรกซึ่งสำเร็จไปแล้ว
แม้การกระทำของจำเลยจะต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน แต่ก็เป็นการกระทำต่างเวลากัน
การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดสองกรรมต่างกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
5620/2552
บิดา
มารดาของเด็กทั้งสามมีฐานะยากจนต้องออกทำงานหาเลี้ยงชีพในแต่ละวัน
จึงต้องปล่อยให้เด็กทั้งสามเที่ยวเล่นอยู่ตามลำพังตามประสาเด็กเท่านั้น
แต่เมื่อเด็กทั้งสามไม่กลับบ้านตามปกติ
บิดามารดาของเด็กทั้งสามก็ตามหาและแจ้งแก่เจ้าพนักงานตำรวจ
ยังใช้อำนาจปกครองเด็กทั้งสามอยู่
การที่จำเลยทั้งสองชักชวนเด็กทั้งสามคนไปทำงานบ้านอยู่กับจำเลยทั้งสองที่
จังหวัดสุพรรณบุรี แต่กลับพาไปบวชเป็นสามเณรแล้วพาออกแจกซองผ้าป่าตามจังหวัดต่าง ๆ
เรี่ยไรเงินจากชาวบ้านแล้วแบ่งผลประโยชน์กันโดยไม่ได้รับความยินยอมจากบิดา
มารดาของเด็กทั้งสามคน
จึงเป็นการพรากเด็กทั้งสามคนไปจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองดูแลโดยปราศจากเหตุ
อันสมควร พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานพรากเด็กชายทั้งสามซึ่งอายุไม่
เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองดูแล
โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อหากำไรตาม ป.อ.มาตรา 317 วรรคสาม
ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตาม
ป.อ. มาตรา 317 มีความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองอำนาจการปกครองของบิดามารดาหรือผู้ปกครองดูแล
ของผู้เยาว์ ไม่ให้ถูกผู้ใดพาไปหรือแยกออกจากความปกครองดูแล
แม้จำเลยทั้งสองจะพูดชักชวนและพาเด็กทั้งสามไปในครั้งเดียวคราวเดียวกันก็ ตาม
แต่ก็เป็นการกระทำที่มีเจตนากระทำต่อผู้เสียหายและบิดามารดา
ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลของผู้เสียหายแต่ละคนโดยเฉพาะ
การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ตาม ป.อ.มาตรา 91
หาใช่เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
4549/2552
คดีนี้คู่ความต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม
ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐาน
ในสำนวน ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ชวนผู้เสียหายไปที่ห้องพักของจำเลย
แล้วกระทำชำเราผู้เสียหายรวม 6 ครั้ง
ซึ่งหลังจากกระทำชำเราผู้เสียหายในแต่ละกรรมดังกล่าวข้างต้นแล้วข้อเท็จจริง ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ควบคุมหรือหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายไว้ในสถานที่
เกิดเหตุเพื่อกระทำชำเราผู้เสียหายในครั้งต่อไปแต่อย่างใด
โดยผู้เสียหายได้กลับไปที่บ้าน
ผู้เสียหายย่อมพ้นจากภยันตรายอันเกิดจากการกระทำความผิดของจำเลยในแต่ละกรรม แล้ว
แม้จำเลยจะกระทำชำเราผู้เสียหายตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม 2548 เดือนละ 2
ครั้ง และในแต่ละครั้งจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาเดียวกันคือกระทำชำเราก็ตาม
แต่การกระทำของจำเลยในแต่ละครั้งเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายคนละวันต่างวาระ กัน
และมิได้กระทำต่อเนื่องกันโดยหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้เสียหายไว้จนผู้เสีย
หายไม่สามารถไปไหนได้ ประกอบกับโจทก์บรรยายฟ้องข้อ ข. ว่า
เมื่อระหว่างกลางเดือนตุลาคม 2548 ถึงปลายเดือนธันวาคม 2548 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด
จำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายรวม 6 ครั้ง และมีคำขอท้ายฟ้องโดยอ้าง ป.อ. มาตรา 91
มาด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นต่างกรรมต่างวาระกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
4142/2552
การที่จำเลยไม่ต้องรับโทษถ้าศาลอนุญาตให้ชายและเด็กหญิงสมรสกันมีเพียงการกระทำ
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 เท่านั้น แม้จะมี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา
(ฉบับที่ 19) พ.ศ.2550 มาตรา 3 ยกเลิกความในมาตรา 277 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน
แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย
จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยกระทำความผิดบังคับ ซึ่งมาตรา 277 วรรคห้า (เดิม)
ที่ใช้บังคับแก่คดีนี้บัญญัติให้การกระทำที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดไม่ต้อง
รับโทษนั้น จะต้องเป็นการกระทำที่ชายกระทำกับเด็กหญิงอายุกว่าสิบสามปีแต่ยังไม่เกินสิบ
ห้าปี โดยเด็กหญิงนั้นยินยอมและภายหลังศาลอนุญาตให้ชายและเด็กหญิงนั้นสมรสกัน
แต่ในคดีนี้จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 โดยผู้เสียหายที่ 2
ยินยอมในขณะที่ผู้เสียหายที่ 2 อายุยังไม่เกินสิบสามปีกระทงหนึ่ง และอายุกว่าสิบสามปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปีกระทงหนึ่ง
เมื่อศาลได้อนุญาตให้จำเลยและผู้เสียหายที่ 2 สมรสกัน
การกระทำของจำเลยเฉพาะความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ในขณะที่ผู้เสียหายที่
2 อายุกว่าสิบสามปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี จึงไม่ต้องรับโทษ ส่วนความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่
2 ขณะที่ผู้เสียหายที่ 2 อายุยังไม่เกินสิบสามปี ไม่เข้าเหตุที่จะไม่ต้องรับโทษ
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อการกระทำความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2
ในขณะที่ผู้เสียหายที่ 2 อายุกว่าสิบสามปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี
เป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร
แม้ผู้นั้นจะยินยอม จำเลยจึงต้องรับโทษในความผิดฐานดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
3063/2552
ในคดีความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมและความผิดเกี่ยวกับเอกสาร
ซึ่งผู้เสียหายถึงแก่ความตายด้วยโรคประจำตัว ผู้บุพการีไม่มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องหรือเข้าร่วมกับพนักงานอัยการเป็นโจทก์
ฟ้องแทนผู้เสียหาย เพราะไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของ ป.วิ.อ. มาตรา 3 (2) ประกอบมาตรา
5 (2) ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
จำเลยกับพวกร่วมกันนำเอาโฉนดที่ดินของผู้เสียหายและแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจ
ที่มีเพียงลายมือชื่อของผู้เสียหายลงไว้ในช่องผู้มอบอำนาจไปโดยไม่ได้รับ อนุญาต
แล้วนำไปกรอกข้อความว่าผู้เสียหายมอบอำนาจให้จำเลยยื่นขอจดทะเบียนโอนที่ดิน
ของผู้เสียหายให้แก่จำเลยโดยเสน่หา เป็นการกระทำความผิดฐานทำให้เสียหาย ทำลาย
ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารของผู้อื่น ตาม ป.อ.
มาตรา 188 และเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ตาม ป.อ. มาตรา 264
วรรคสอง และมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 83
แต่การกระทำความผิดดังกล่าวก็เพื่อโอนที่ดินเป็นของจำเลยซึ่งเป็นเจตนาเดียว
การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม
ป.อ. มาตรา 188 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
8844/2551
การที่จำเลยพาอาวุธปืนของกลางไปในเมือง
หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาต
กับการที่จำเลยนำอาวุธปืนเข้าไปในสถานบริการ
เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกันโดยจำเลยมีเจตนาเดียวคือ พาอาวุธปืนไปในเมือง
หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ
การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้ความผิดดังกล่าวจะมีองค์ประกอบความผิดต่างกัน
ทั้งโจทก์บรรยายฟ้องต่างกรรมกันและจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง
และความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ
โดยไม่ได้รับใบอนุญาตเกิดขึ้นเป็นความผิดทันทีก็ตาม
ก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันดังที่โจทก์ฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
7051/2551
อาวุธปืนที่จำเลยทำกับอาวุธปืนและวัตถุต่างๆ
ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองมีสภาพและลักษณะของการกระทำโดยอาศัยเจตนาที่แตกต่าง กัน
ซึ่งสามารถแยกเป็นคนละส่วนต่างหากจากกันได้ ดังนี้
แม้จำเลยจะกระทำผิดทั้งสองฐานในเวลาเดียวกัน
การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดสองกรรมต่างกัน มิใช่กรรมเดียว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
4323/2551
การที่จำเลยที่ 1
กระชากสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองของโจทก์ร่วมไปในขณะที่จำเลยที่ 1
กำลังทำร้ายโจทก์ร่วม แล้วจำเลยที่ 1
วิ่งอ้อมไปทางด้านหลังและขว้างสร้อยคอและพระดังกล่าวทิ้งที่พงหญ้ามีน้ำขัง
ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 20 เมตร ลักษณะการกระทำของจำเลยที่ 1 เช่นนี้
เป็นการแย่งการครอบครองทรัพย์ไปจากโจทก์ร่วมแล้ว
และมีลักษณะเป็นการฉกฉวยซึ่งหน้าโดยทุจริต ซึ่งเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์
การที่จำเลยที่ 1 ขว้างทรัพย์ทิ้งหลังจากวิ่งไปแล้ว 20 เมตร
เป็นเจตนาที่เกิดขึ้นภายหลัง ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1
เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ไปได้
ป.อ.มาตรา 91
ไม่ใช่มาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดและ ป.วิ.อ. มาตรา
158 ก็มิได้ระบุให้โจทก์ต้องอ้างด้วย
ประกอบกับคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายการกระทำของจำเลยที่ 1 ต่างเวลากัน
แสดงว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนากระทำความผิดแต่ละส่วนแยกจากกัน การกระทำของจำเลยที่ 1
จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ดังนั้น แม้โจทก์จะไม่ได้ระบุ ป.อ. มาตรา 91
มาในคำขอท้ายฟ้อง ศาลก็ลงโทษจำเลยที่ 1 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดได้
ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
1675/2551
การลงโทษจำเลยที่กระทำความผิดหลายกรรมต่างกันและให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความ
ผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 นั้น
มิได้มีกฎหมายบัญญัติให้แยกลดโทษแต่ละกระทงก่อนแล้วจึงรวมโทษภายหลัง
การที่ศาลรวมโทษที่วางแต่ละกระทงแล้วจึงลดโทษให้จำคุกจำเลยเป็นรายปีจึงชอบ
ด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
1089/2551
การประกอบกิจการรับซื้อขาย
แลกเปลี่ยน สะสมวัตถุสิ่งของที่ชำรุด ใช้แล้ว เหลือใช้ จำพวกกระดาษ เหล็ก พลาสติก
ขวดหรือสิ่งของเก่าอื่น ๆ
อันเป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็น ความผิดตาม
พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 มาตรา 33 วรรคหนึ่ง
ส่วนการฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่มีคำสั่งให้เคลื่อนย้ายกองวัสดุ
สิ่งของเก่า
หรือให้ต่อใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพดังกล่าวเป็นความผิด ตาม
พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง
แสดงว่าเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการแยกเป็นคนละกระทงความผิดกัน
จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ตาม ป.อ. มาตรา 91
พ.ร.บ.การสาธารณสุข
พ.ศ.2535 มาตรา 80 บัญญัติว่า
ผู้ดำเนินกิจการผู้ใดดำเนินกิจการในระหว่างที่มีคำสั่งของเจ้าพนักงานท้อง
ถิ่นให้หยุดดำเนินการหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม มาตรา 45
มาตรา 52 หรือมาตรา 65 วรรคสอง โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
หรือทั้งจำทั้งปรับและปรับอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทตลอดเวลาที่ยังไม่ ปฏิบัติตามคำสั่ง
ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8
พิพากษาลงโทษปรับจำเลยเป็นรายวันตลอดเวลาที่จำเลยยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง
เจ้าพนักงานท้องถิ่นตามฟ้องซึ่งมีกฎหมายบัญญัติให้ทำได้จึงไม่เป็นการลงโทษ
ปรับจำเลยซ้ำซ้อน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
464/2551
จำเลยลักบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไปจากผู้เสียหายแล้วนำไปลักเงินของผู้เสียหายโดยผ่าน
เครื่องฝาก-ถอนเงินอัตโนมัติ
ทรัพย์ที่จำเลยลักเป็นทรัพย์คนละประเภทและเป็นความผิดสำเร็จในตัวต่างกรรม ต่างวาระ
และอาศัยเจตนาแตกต่างแยกจากกันได้ ดังนั้น
การลักบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไปจากผู้เสียหายกับลักเงินของผู้เสียหายโดยใช้บัตร
อิเล็กทรอนิกส์เบิกถอนเงินผ่านเครื่องฝาก-ถอนเงินอัตโนมัติในแต่ละครั้งจึง
เป็นความผิดสองกรรมต่างกัน
แต่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าการกระทำแต่ละครั้งดังกล่าวเป็นกรรมเดียวเป็น
ความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นตาม ป.วิ.อ.
มาตรา 269/5 ประกอบมาตรา 269/7 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด
และโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้เพิ่มโทษ ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษจำเลยรวม 14 กระทง
ได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212
ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
6901/2551
การที่จำเลยปลอมใบนำฝากเงินและใบเสร็จรับเงินของธนาคาร
ก็โดยเจตนาเพื่อใช้เป็นหลักฐานแสดงว่าจำเลยนำเงินและเช็คที่ได้รับมอบจาก
โจทก์ร่วมไปเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของโจทก์ร่วม เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้เพื่อปกปิดการกระทำของจำเลยที่ได้ยักยอกเงินที่ได้รับมอบจากโจทก์ ร่วมและที่จำเลยเบิกตามเช็คของโจทก์ร่วมไปบางส่วนหรือทั้งหมด
แม้การปลอมเอกสารดังกล่าวจะกระทำภายหลังที่จำเลยยักยอกเงินไปแล้วก็ตาม
แต่ก็เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับที่จำเลยยักยอกเงินของโจทก์ร่วมไป
โดยจำเลยมีเจตนาที่จะใช้เอกสารที่ทำขึ้นเป็นหลักฐานเพื่อยักยอกเงินของโจทก์
ร่วมนั้นเอง ความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมกับความผิดฐานยักยอก
จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
3903/2551
จำเลยเอาไปเสียซึ่งเช็คของผู้เสียหายแล้วปลอมเช็คดังกล่าวโดยกรอกข้อความและจำนวน
เงินในเช็คกับปลอมลายมือชื่อของผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็ค
แล้วนำเช็คดังกล่าวไปเบิกเงินจากธนาคารตามเช็ค ได้รับเงินจำนวน 850,000 บาท ไป
เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อจะได้เงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน
ของผู้เสียหายเป็นหลัก การกระทำต่าง ๆ เป็นเพียงวิธีการเพื่อจะให้ได้เงินไปเท่านั้น
แม้การกระทำแต่ละอย่างจะเป็นความผิดแยกต่างหากจากกัน
การกระทำของจำเลยก็เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
9024/2550
การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า
จำเลยใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายบริเวณอกด้านซ้ายโดยมีเจตนาฆ่าและไตร่ตรองไว้ก่อน
แล้วจำเลยใช้มีดแทงผู้ตายซ้ำอีก
แต่ผู้เสียหายเข้ากันไว้เป็นเหตุให้มีดพลาดไปถูกผู้เสียหายที่ต้นแขนซ้ายได้
รับบาดเจ็บ ส่วนผู้ตายถึงแก่ความตาย
แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยเพียงกรรมเดียวในความผิดฐานฆ่าผู้ตายและ
พลาดไปถูกผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บ อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
ซึ่งต้องลงโทษจำเลยตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ดังนั้น
แม้ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาจะได้ความว่า
นอกจากจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายแล้วจำเลยยังทำร้ายผู้เสียหายอันเป็นความผิดอีก
กรรมหนึ่งแยกต่างหากจากกันก็ตาม
ก็เป็นเรื่องข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องและตามที่ปรากฏในทางพิจารณาไม่ใช่
เรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่
จึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานทำร้ายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตราย
แก่กายอีกกระทงหนึ่งได้ เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องต้องห้ามตามมาตรา
192 วรรคหนึ่ง คงลงโทษจำเลยได้เฉพาะในความผิดฐานฆ่าผู้ตายเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
6651/2550
การที่จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครอง
แผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติ และทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เป็นการกระทำความผิดในคราวเดียวกัน จึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษตามกฎหมายที่มีโทษหนัก
ที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90
แต่ความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามยังมิได้แปรรูปไว้โดยไม้ดัง
กล่าวไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขาย
และจำเลยพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นไม้ที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายนั้นเป็นการกระทำ
ต่างวาระกันกับการกระทำความผิดสองฐานดังกล่าว
จึงเป็นความผิดต่างกรรมกันกับความผิดสองฐานดังกล่าวต้องลงโทษต้องลงโทษจำเลย
อีกกระทงความผิดหนึ่งรวมแล้วลงโทษจำเลยเป็น 2 กระทงความผิด หาใช่ลงโทษจำเลยเป็น 3
กระทงความผิดดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
4722/2550
โจทก์ได้บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำให้ผู้อื่นเกิดความตกใจกลัวโดยการ
ขู่เข็ญตาม ป.อ. มาตรา 392 ด้วย เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง
ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานดังกล่าวตามฟ้อง
แต่ศาลชั้นต้นมิได้ปรับบทกฎหมายลงโทษจำเลยในความผิดตามมาตรานี้แต่กลับกำหนด
โทษจำเลยในความผิดดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ และศาลอุทธรณ์ภาค 6
ก็มิได้แก้ไขให้ถูกต้อง เพียงแต่วงเล็บข้อความไว้ในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6
ในส่วนที่กล่าวถึงคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ที่ถูกมาตรา 392 ด้วย ซึ่งไม่ถูกต้อง
ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องเป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 392
อีกบทหนึ่ง อันเป็นกรรมเดียวกับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 376
ให้ลงโทษฐานกระทำให้ผู้อื่นเกิดความตกใจกลับโดยการขู่เข็ญ
อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
4166/2550
การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิง
ส. กระสุนปืนถูก ส. และยังพลาดไปถูก อ. ด้วยนั้น
การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่า ส. และฐานพยายามฆ่า อ. โดยพลาด
แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำโดยพลาด มาด้วย
ก็ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าว ในฟ้อง
อันจะเป็นเหตุให้ศาลต้องพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192
และการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลาย บท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
4067/2550
การที่จำเลยขับรถในขณะเมาสุรา
อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 (2), 160
วรรคสาม กับการที่จำเลยขับรถโดยประมาทแซงรถที่อยู่ข้างหน้าไปในหน้าไปในช่องเดินรถ
ขวามือในขณะที่ผู้ตายขับสวนมา
เป็นเหตุให้ชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายเสียหายและทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย
อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 และ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 (4), 157 นั้น
เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องและเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย
จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว ต้องลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 291
ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด