ความผิดเกี่ยวกับเงินตรา

มาตรา ๒๔๐  ผู้ใดทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตรา ไม่ว่าจะปลอมขึ้นเพื่อให้เป็นเหรียญกระษาปณ์ ธนบัตรหรือสิ่งอื่นใด ซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หรือทำปลอมขึ้นซึ่งพันธบัตรรัฐบาลหรือใบสำคัญสำหรับรับดอกเบี้ยพันธบัตรนั้น ๆ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเงินตรา ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๒๔๑  ผู้ใดแปลงเงินตรา ไม่ว่าจะเป็นเหรียญกระษาปณ์ ธนบัตรหรือสิ่งอื่นใด ซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หรือแปลงพันธบัตรรัฐบาล หรือใบสำคัญสำหรับรับดอกเบี้ยพันธบัตรนั้น ๆ ให้ผิดไปจากเดิม เพื่อให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีมูลค่าสูงกว่าจริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานแปลงเงินตรา ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๒๔๒  ผู้ใดกระทำโดยทุจริตให้เหรียญกระษาปณ์ซึ่งรัฐบาลออกใช้มีน้ำหนักลดลง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท

ผู้ใดนำเข้าในราชอาณาจักร นำออกใช้หรือมีไว้เพื่อนำออกใช้ ซึ่งเหรียญกระษาปณ์ที่มีผู้กระทำโดยทุจริตให้น้ำหนักลดลงตามความในวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๒๔๓  ผู้ใดนำเข้าในราชอาณาจักรซึ่งสิ่งใด ๆ อันเป็นของปลอมตามมาตรา ๒๔๐ หรือของแปลงตามมาตรา ๒๔๑ ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ

มาตรา ๒๔๔  ผู้ใดมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งสิ่งใด ๆ อันตนได้มาโดยรู้ว่าเป็นของปลอมตามมาตรา ๒๔๐ หรือของแปลงตามมาตรา ๒๔๑ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสามแสนบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๒๔๕  ผู้ใดได้มาซึ่งสิ่งใด ๆ โดยไม่รู้ว่าเป็นของปลอมตามมาตรา ๒๔๐ หรือของแปลงตามมาตรา ๒๔๑ ถ้าต่อมารู้ว่าเป็นของปลอมหรือของแปลงเช่นว่านั้น ยังขืนนำออกใช้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๒๔๖  ผู้ใดทำเครื่องมือหรือวัตถุสำหรับปลอมหรือแปลงเงินตราไม่ว่าจะเป็นเหรียญกระษาปณ์ ธนบัตร หรือสิ่งใด ๆ ซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หรือสำหรับปลอมหรือแปลงพันธบัตรรัฐบาลหรือใบสำคัญสำหรับรับดอกเบี้ยพันธบัตรนั้น ๆ หรือมีเครื่องมือหรือวัตถุเช่นว่านั้น เพื่อใช้ในการปลอมหรือแปลง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๒๔๗  ถ้าการกระทำดังกล่าวในหมวดนี้เป็นการกระทำเกี่ยวกับเงินตรา ไม่ว่าจะเป็นเหรียญกระษาปณ์ ธนบัตรหรือสิ่งอื่นใด ซึ่งรัฐบาลต่างประเทศออกใช้ หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หรือเกี่ยวกับพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศ หรือใบสำคัญสำหรับรับดอกเบี้ยพันธบัตรนั้น ผู้กระทำต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ

มาตรา ๒๔๘  ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๒๔๐ มาตรา ๒๔๑ หรือมาตรา ๒๔๗ ได้กระทำความผิดตามมาตราอื่นที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้อันเกี่ยวกับสิ่งที่ตนปลอมหรือแปลงนั้นด้วย ให้ลงโทษผู้นั้นตามมาตรา ๒๔๐ มาตรา ๒๔๑ หรือมาตรา ๒๔๗ แต่กระทงเดียว

มาตรา ๒๔๙  ผู้ใดทำบัตรหรือโลหะธาตุอย่างใด ๆ ให้มีลักษณะและขนาดคล้ายคลึงกับเงินตรา ไม่ว่าจะเป็นเหรียญกระษาปณ์ ธนบัตรหรือสิ่งใด ๆ ซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หรือพันธบัตรรัฐบาล หรือใบสำคัญสำหรับรับดอกเบี้ยพันธบัตรนั้น ๆ หรือจำหน่ายบัตรหรือโลหะธาตุเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการจำหน่ายบัตรหรือโลหะธาตุดังกล่าวในวรรคแรก เป็นการจำหน่ายโดยการนำออกใช้ดังเช่นสิ่งใด ๆ ที่กล่าวในวรรคแรก ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11898/2557
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางติดต่อกับสายลับ จำเลยที่ 2 และติดต่อซึ่งกันและกัน เพื่อซื้อขายและจัดหาธนบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาปลอม โทรศัพท์เคลื่อนที่ 7 เครื่อง ของกลาง จึงเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ใช้ในการกระทำความผิดฐานร่วมกันมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งธนบัตรรัฐบาลต่างประเทศปลอม อันพึงต้องริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4930/2557
ป.อ. มาตรา 240 บัญญัติว่า "ผู้ใดทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตรา ไม่ว่าจะปลอมขึ้นเพื่อให้เป็นเหรียญกระษาปณ์ ธนบัตร หรือสิ่งอื่นใดซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเงินตรา" คำว่า "ทำปลอมขึ้น" หมายความถึงทำโดยตั้งใจให้เหมือนของจริง จึงต้องทำในประการที่จะให้มีลักษณะอย่างเดียวกับเงินตราที่รัฐบาลกำหนด เช่น มีลวดลาย สี ขนาด ลักษณะของกระดาษอย่างเดียวกัน ซึ่งจะต้องพอที่จะลวงตาให้เห็นว่าเป็นเงินตรา แต่ไม่จำต้องถึงกับต้องพิจารณาจึงจะรู้ว่าปลอม เพียงแต่ลวงตาซึ่งถ้าไม่พิจารณาให้ดีอาจหลงเข้าใจว่าเป็นเงินตราได้ ก็ถือว่าเป็นการทำปลอมขึ้นแล้ว และการทำปลอมย่อมจะเหมือนของจริงไปทุกอย่างไม่มีผิดกันเลยไม่ได้ ย่อมต้องมีบางสิ่งบางอย่างผิดจากของจริงบ้างไม่มากก็น้อย ฉะนั้น การปลอมจะผิดจากของจริงที่ตั้งใจทำให้เหมือนมากน้อยเพียงใดจึงไม่สำคัญ

การที่จำเลยนำธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท ซึ่งเป็นเงินตราที่รัฐบาลไทยออกใช้จำนวน 46 ฉบับ มาตัดออกเป็น 2 ท่อนทุกฉบับ ท่อนหนึ่งยาวเกินครึ่งฉบับ อีกท่อนหนึ่งยาวไม่ถึงครึ่งฉบับ แล้วนำท่อนซ้ายที่สั้นมาต่อสลับท่อนเข้ากับท่อนขวาที่สั้นของอีกฉบับหนึ่งด้วยเทปใส ย่อมเป็นการทำธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท ขึ้นใหม่อีก 23 ฉบับ โดยตั้งใจให้เหมือนของจริง จึงเป็นการทำปลอมขึ้นซึ่งธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท ที่รัฐบาลออกไว้ การที่ธนบัตรของกลางเป็นธนบัตรชำรุดตาม พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2501 มาตรา 18 ประเภทต่อท่อนผิด ทำให้ไม่เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานปลอมเงินตรา เพราะหากธนบัตรดังกล่าวเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ธนบัตรดังกล่าวย่อมไม่เป็นของปลอม การที่ใช้ชำระหนี้ไม่ได้ตามกฎหมายแสดงว่าเป็นของปลอม จำเลยจึงมีความผิดฐานปลอมเงินตราและมีเงินตราปลอมเพื่อนำออกใช้โดยรู้ว่าเป็นเงินตราปลอมตาม ป.อ. มาตรา 240 และ 244

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20005 - 20007/2556
องค์ประกอบสำคัญของความผิดฐานมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งธนบัตรของรัฐบาลต่างประเทศปลอมตาม ป.อ. มาตรา 244 ประกอบมาตรา 247 อันเป็นความผิดตามฟ้องคือ ผู้ซึ่งมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งธนบัตรของรัฐบาลต่างประเทศนั้นต้องได้ธนบัตรนั้นมาโดยรู้ว่าเป็นธนบัตรปลอม ซึ่งการรู้หรือไม่รู้ว่าเป็นธนบัตรปลอมดังกล่าวเป็นเรื่องของเจตนาซึ่งอยู่ภายใน การพิจารณาว่าจำเลยกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่จึงจำต้องอาศัยพฤติการณ์ของจำเลยและพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นเครื่องบ่งชี้ การที่จำเลยนำธนบัตรปลอมไปทยอยแลกหลายครั้ง ครั้งละไม่กี่ฉบับ และแลกกับธนาคารหลายแห่งซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน เป็นพฤติการณ์ที่ผิดปกติวิสัยไปจากที่สุจริตชนพึงกระทำ แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ประสงค์ให้การแลกธนบัตรของจำเลยเป็นที่สังเกตอันจะทำให้มีการตรวจสอบธนบัตรของกลางอย่างละเอียดว่าเป็นธนบัตรปลอมหรือไม่ บ่งชี้ว่าจำเลยรู้อยู่แล้วว่าธนบัตรที่จำเลยนำไปแลกนั้นเป็นธนบัตรปลอม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง

ความผิดฐานมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งธนบัตรของรัฐบาลต่างประเทศอันตนได้มาโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นธนบัตรปลอมตาม ป.อ. มาตรา 244 ประกอบมาตรา 247 เป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่มีการรับธนบัตรนั้นไว้เพื่อนำออกใช้โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นธนบัตรปลอม ไม่ใช่เมื่อมีการนำออกใช้ แม้จะนำออกใช้หลายคราวจำเลยก็มีความผิดเพียงกรรมเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10941/2555
การทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตรา ไม่ว่าจะเป็นการปลอมขึ้นเพื่อให้เป็นเหรียญกระษาปณ์หรือธนบัตรหรือสิ่งอื่นใดซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หากสิ่งที่ทำขึ้นมีลักษณะอย่างเดียวกับเงินตราที่รัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้พอที่จะลวงตาให้เห็นว่าเป็นเงินตรา ก็ถือได้ว่าเป็นการทำปลอมขึ้น โดยไม่จำต้องถึงกับต้องพิจารณาดูหรือจับต้องเสียก่อนจึงจะรู้ว่าเป็นของปลอม สำหรับธนบัตรปลอมของกลางเห็นได้ชัดว่าทำขึ้น โดยมีรูปร่างลักษณะ ขนาด สีสัน ลวดลายและตัวอักษรบนธนบัตรเหมือนกับธนบัตรฉบับละ 1000 บาท ที่แท้จริงทุกประการ แม้สีสัน ความคมชัดและกระดาษแตกต่างจากของจริงไปบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะในการทำปลอมตามปกติย่อมต้องมีความแตกต่างจากของจริงไม่มากก็น้อย จะให้เหมือนของจริงไปเสียทุกอย่างย่อมไม่ได้และวัสดุที่ใช้ย่อมต้องด้อยคุณภาพกว่าของจริง หากแต่รูปลักษณะภายนอกก็เพียงพอต่อการลวงตาให้เห็นว่าเป็นเงินตราแล้ว จึงเป็นการทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตราเพื่อให้เป็นธนบัตรซึ่งรัฐบาลไทยออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หาใช่มีเจตนาเพียงทำบัตรให้มีลักษณะและขนาดคล้ายคลึงกับเงินตรา อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 249 วรรคแรก เท่านั้นไม่ จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 240

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9047/2551
การที่จำเลยที่ 3 ยอมให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกพักที่บ้านของจำเลยที่ 3 เพื่อใช้เป็นสถานที่ปรึกษาหารือกันในการนำธนบัตรปลอมของกลางไปใช้นั้น ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในการนำธนบัตรปลอมของกลางไปใช้ จำเลยที่ 3 จึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2

แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ในฐานเป็นตัวการ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดในฐานเป็นผู้สนับสนุน ศาลฎีกาก็ลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2828/2551
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 249 มิได้บัญญัติไว้ด้วยว่าการทำบัตรให้มีลักษณะและขนาดคล้ายคลึงกับเงินตรา ต้องกระทำเพื่อให้ผู้อื่นเชื่อว่าเป็นธนบัตรที่แท้จริง แต่คำว่าคล้ายคลึง แสดงว่าเกือบเหมือนหรือไม่ต้องเหมือนทีเดียว เพียงแต่มีลักษณะสีสันรูปร่างและขนาดคล้ายเงินตราที่แท้จริงก็เป็นความผิดตามมาตรานี้ แต่สำเนาธนบัตรที่จำเลยทำขึ้นว่าเกิดจากการถ่ายสำเนาธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท ของจริงลงในกระดาษธรรมดา สีสันในส่วนสำเนาธนบัตรเป็นสีขาว มิได้มีสีสันเหมือนธนบัตรฉบับจริง แม้ว่าขนาดของกระดาษจะเท่าของจริง เมื่อวิญญูชนทั่วไปดูแล้วย่อมทราบได้ทันทีว่าไม่ใช่ธนบัตรที่แท้จริง ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยทำบัตรให้มีลักษณะและขนาดคล้ายคลึงกับเงินตรา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1106/2547
จำเลย ที่ 1 ทำปลอมขึ้นซึ่งธนบัตรซึ่งรัฐบาลไทยออกใช้กับธนบัตรซึ่งรัฐบาลสหรัฐอเมริการอ อกใช้ เป็นการกระทำที่มีเจตนาให้เกิดผลแตกต่างกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 476/2542
หากจำเลยรู้ว่าธนบัตรที่นำมาแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทย เป็นธนบัตรปลอมแล้วจำเลยน่าจะนำไปแลกที่ร้านค้า หรือสถานที่รับแลกเปลี่ยนเงินแห่งอื่นและแลกเปลี่ยนครั้งเดียว เพื่อที่ผู้รับแลกเปลี่ยนเงินจากจำเลยจะได้จำจำเลยไม่ได้ และจำเลยจะได้หลบหนีไปให้ไกลจากสถานที่ดังกล่าวไม่น่า จะนำมาแลกที่สถานที่ที่ตนเคยมารับประทานอาหารและเดินเล่น กับทำการแลกถึง 3 ครั้ง ภายในระยะเวลาประมาณ 13 ชั่วโมงทั้งเมื่อแลกได้แล้วก็มิได้หลบหนีไปไหน ซึ่งผิดวิสัยของผู้ที่ กระทำผิดทั่วไปที่จะไม่กระทำผิดในสถานที่ที่ตนเคยไป และเมื่อกระทำผิดมาแล้วก็จะรีบหลบหนีไปให้ไกลจากสถานที่นั้น ๆ ทั้งส.และธ. ซึ่งมีหน้าที่รับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศต่างรับว่าธนบัตรที่จำเลยนำมา แลกดูไม่ออกว่าเป็นธนบัตรปลอมและตอนที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปจับจำเลยนั้น ไม่ปรากฏว่า จำเลยมีอาการผิดปกติแต่อย่างใด ตามพฤติการณ์น่าเชื่อว่า จำเลยไม่รู้ว่าธนบัตรที่นำมาแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทยเป็น ธนบัตรปลอม พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมารับฟังลงโทษจำเลยในข้อหามีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่ง เงินตราของ รัฐบาลต่างประเทศอันตนได้มาโดยรู้ว่าเป็นของปลอมไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2177/2542
เมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ฉะนั้น ปัญหาข้อเท็จจริงตามที่จำเลยฎีกาซึ่งยุติไปตาม คำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว ศาลฎีกาจึงไม่ยกขึ้นวินิจฉัยอีก จำเลยมีธนบัตรรัฐบาลไทยปลอมไว้เพื่อนำออกใช้ และจำเลยได้ นำธนบัตรดังกล่าวไปใช้ซื้อผลไม้จากผู้เสียหาย ถือได้ว่า เป็นความผิดสำเร็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 244 แล้ว แม้ว่าผู้เสียหายจะยังไม่ทันรับไว้สมบูรณ์ด้วยการทอนเงินที่เหลือจากค่าซื้อผลไม้แก่จำเลยก็ตาม ปัญหาว่า ศาลอุทธรณ์วางโทษจำคุกแก่จำเลยหนักเกินไปหรือไม่แม้เป็นปัญหาข้อเท็จจริงอันต้องห้ามฎีกาก็ตาม แต่เมื่อฎีกาของจำเลยได้ขึ้นสู่ศาลฎีกาโดยปัญหาข้อกฎหมาย หากศาลฎีกาเห็นว่าโทษที่จำเลยจะพึงได้รับตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์รุนแรงเกินไป ศาลฎีกาก็ชอบที่จะยกขึ้นพิจารณาได้เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ความยุติธรรม และพิพากษาวางโทษจำคุกแก่จำเลยในสถานเบากว่านั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4103/2541
การที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งธนบัตรรัฐบาลไทยและรัฐบาลสหรัฐอเมริกาโดยรู้ว่าเป็นธนบัตรปลอมนั้น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 244 บทหนึ่ง และมาตรา 247ประกอบด้วยมาตรา 244 อีกบทหนึ่ง อันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 244ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6126/2540
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 248 ให้ลงโทษผู้กระทำความผิดฐานปลอมเงินตราตามมาตรา 240 หรือผู้กระทำความผิดฐานแปลงเงินตราตามมาตรา 241 หรือผู้กระทำความผิดฐานปลอมหรือแปลงเงินตราต่างประเทศตามมาตรา 247 ซึ่งได้กระทำความผิดตามมาตราอื่นที่บัญญัติไว้ในหมวด 1 ลักษณะ 7 อันเกี่ยวกับสิ่งที่ตนปลอมหรือแปลงนั้นตามมาตรา 240 มาตรา 241 หรือมาตรา 247 แต่กระทงเดียว ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 244,246 และมาตรา 247 นั้น เป็นการพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งธนบัตรปลอมของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งตน ได้มาโดยรู้ว่าเป็นของปลอมกระทงหนึ่ง และฐานมีเครื่องมือหรือวัตถุสำหรับปลอมเงินตราของประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อ ใช้ในการปลอมเงินตราดังกล่าวอีกกระทงหนึ่ง โดยศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดฐานปลอมหรือแปลงเงินตราต่างประเทศตามมาตรา 247 กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 248 ที่จะต้องลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 247 แต่กระทงเดียว การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ 1 จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 553/2536
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 248 บัญญัติว่า "ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา 240 มาตรา 241 หรือมาตรา 247 ได้กระทำความผิดตามมาตราอื่นที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้อันเกี่ยวกับสิ่งที่ตน ปลอมหรือแปลงนั้นด้วย ให้ลงโทษผู้นั้นตามมาตรา 240 มาตรา 241 หรือมาตรา 247แต่กระทงเดียว" ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามมาตรา 240,244 และ 246 แล้วเรียงกระทงลงโทษจำเลยทั้งสองเป็น 3 กระทง จึงขัดต่อบทกฎหมายดังกล่าว กรณีนี้ต้องถือว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองตามมาตรา 240เพียงกระทงเดียว มีกำหนด 14 ปี คดีสำหรับจำเลยที่ 1 แม้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ความผิดตามมาตรา 244 ซึ่งลงโทษจำคุกไว้ 4 ปีก็ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และคดีสำหรับจำเลยที่ 2สมควรคำนวณลดโทษเสียใหม่ให้ถูกต้อง ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ ทั้งเป็นเหตุลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3145/2527
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2525 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ดังนั้น ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(11) เวลาเกิดเหตุตามฟ้องของโจทก์ ก็คือตั้งแต่เวลาพระอาทิตย์ตกของวันที่ 9 มิถุนายน 2525 ถึงเวลา 24.00 นาฬิกา ของวันเดียวกัน เป็นระยะเวลานาน 6 ชั่วโมง เข้าใจได้ว่าจำเลยได้รู้อยู่ว่าธนบัตรดังกล่าวเป็นเงินตราซึ่งมีผู้ทำปลอม ขึ้นไม่สามารถใช้ได้ตามกฎหมาย แต่จำเลยได้ขืนนำออกใช้เมื่อเวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกของวันที่ 9 มิถุนายน 2525 จนถึงเวลา24.00 นาฬิกาของวันเดียวกัน อันเป็นระยะเวลาหลังจากจำเลยได้มาซึ่งเงินตราที่มีผู้ทำปลอมขึ้น ฟ้องโจทก์จึงมีรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาซึ่งเกิดการกระทำผิดตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 757/2527
จำเลยมีธนบัตรของกลางเพียงฉบับเดียวนำไปชำระค่าร่วมประเวณีแก่หญิงเป็นธนบัตรที่ มีลักษณะคล้ายคลึงกับธนบัตรฉบับละ500 บาทที่แท้จริง จำเลยมีอาชีพค้าขายปลีกเนื้อสัตว์ในต่างจังหวัด อาจได้รับธนบัตรของกลางมาจากลูกค้าซื้อเนื้อสัตว์ โดยจำเลยไม่รู้ว่าเป็นธนบัตรปลอม ดังนี้ จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 245

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 332/2503
กรณีตาม มาตรา 249 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เป็นเรื่องที่กระทำบัตรหรือโลหะธาตุอย่างใดให้มีลักษณะและขนาดคล้ายคลึงกับ เงินตราขึ้นเท่านั้น โดยผู้กระทำไม่เจตนาทำปลอมให้เป็นเงินตราเพื่อนำออกลวงใช้เป็นเงินตราที่แท้จริง

ฉะนั้น เมื่อจำเลยเจตนาทำปลอมให้เป็นเงินตราเพื่อนำออกลวงใช้เป็นเงินตราที่แท้จริง กรณีจึงปรับด้วย มาตรา249 ไม่ได้ต้องปรับด้วย มาตรา 240

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1116/2501
การมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งธนบัตรปลอมของรัฐบาลต่างประเทศนั้น แม้ภายหลังการกระทำผิด รัฐบาลเจ้าของธนบัตรจะได้ประกาศเลิกใช้ธนบัตรนั้นก็ตาม ถ้าไม่ใช่เป็นการยกเลิกบทกฎหมายที่บัญญัติถึงความผิดแล้ว ผู้กระทำผิดก็ยังคงต้องรับโทษอยู่