ความผิดต่อเจ้าพนักงาน

มาตรา ๑๓๖  ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๓๗  ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๓๘  ผู้ใดต่อสู้ หรือขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการต่อสู้หรือขัดขวางนั้น ได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๓๙  ผู้ใดข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่ หรือให้ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินแปดหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๔๐  ถ้าความผิดตามมาตรา ๑๓๘ วรรคสอง หรือมาตรา ๑๓๙ ได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้ากระทำโดยอ้างอำนาจอั้งยี่หรือซ่องโจร ไม่ว่าอั้งยี่หรือซ่องโจรนั้นจะมีอยู่หรือไม่ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท

ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้ในสองวรรคก่อนกึ่งหนึ่ง
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๔๑  ผู้ใดถอน ทำให้เสียหาย ทำลายหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งตราหรือเครื่องหมายอันเจ้าพนักงานได้ประทับหรือหมายไว้ที่สิ่งใด ๆ ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ เพื่อเป็นหลักฐานในการยึด อายัดหรือรักษาสิ่งนั้น ๆ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๔๒  ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สิน หรือเอกสารใด ๆ อันเจ้าพนักงานได้ยึด รักษาไว้ หรือสั่งให้ส่งเพื่อเป็นพยานหลักฐาน หรือเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ว่าเจ้าพนักงานจะรักษาทรัพย์หรือเอกสารนั้นไว้เอง หรือสั่งให้ผู้นั้นหรือผู้อื่น ส่งหรือรักษาไว้ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๔๓  ผู้ใดเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาลโดยวิธีอันทุจริตหรือผิดกฎหมายหรือโดยอิทธิพลของตนให้กระทำการ หรือไม่กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๔๔  ผู้ใดให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๔๕  ผู้ใดแสดงตนเป็นเจ้าพนักงาน และกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน โดยตนเองมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เจ้าพนักงานผู้ใดได้รับคำสั่งมิให้ปฏิบัติการตามตำแหน่งหน้าที่ต่อไปแล้ว ยังฝ่าฝืนกระทำการใด ๆ ในตำแหน่งหน้าที่นั้น ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้ในวรรคแรกดุจกัน
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๔๖  ผู้ใดไม่มีสิทธิที่จะสวมเครื่องแบบหรือประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล หรือไม่มีสิทธิใช้ยศ ตำแหน่ง เครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือสิ่งที่หมายถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ กระทำการเช่นนั้นเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3900/2562
เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ว. ถูกผู้เสียหายกับพวกจับกุมในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย ว. เสนอให้สินบนแก่ผู้เสียหายเป็นเงิน 500,000 บาท แต่เงินของ ว. อยู่ที่บ้าน ว. ขอโทรศัพท์บอกให้จำเลยนำเงินมาให้ ผู้เสียหายจึงคืนโทรศัพท์ของ ว. แก่ ว. จากนั้น ว. โทรศัพท์ติดต่อไปยังจำเลยให้จำเลยนำเงินของ ว. มาให้ เมื่อจำเลยเดินทางมาถึงสถานีตำรวจและพบ ว. แล้ว ว. กับจำเลยช่วยกันนับเงินครบ 500,000 บาท และส่งมอบเงินให้แก่ผู้เสียหาย ผู้เสียหายจึงจับกุมและแจ้งข้อหาแก่จำเลย และ ว. ว่าร่วมกันทำให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นกรณีที่ ว. เป็นผู้เสนอให้สินบนแก่ผู้เสียหายเอง มิใช่ผู้เสียหายเป็นผู้เรียกร้อง ว. จึงมีเจตนาที่จะกระทำผิดอยู่แล้ว โดยผู้เสียหายไม่มีส่วนก่อให้ ว. กระทำความผิด การที่ผู้เสียหายยินยอมให้โทรศัพท์ถูกยึดไปแล้วคืนแก่ ว. เพื่อให้ ว. โทรศัพท์ติดต่อไปยังจำเลยก็เป็นเพียงขั้นตอนในการรวบรวมพยานหลักฐานในการดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ถือเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ ส่วนการที่ผู้เสียหายไม่ห้าม ว. มิให้กระทำความผิดจึงไม่มีผลทำให้การกระทำของ ว. กับจำเลยไม่เป็นความผิดไปได้ แต่เมื่อจำเลยไม่มีเจตนาจะมีส่วนร่วมกระทำความผิดกับ ว. มาตั้งแต่ต้น คงนำเงินมาให้ตามที่ ว. โทรศัพท์ไปเท่านั้น เมื่อนำเงินมาถึงก็ส่งมอบเงินแก่ ว. มิได้ส่งมอบแก่ผู้เสียหายโดยตรง การกระทำของจำเลยจึงไม่ใช่ตัวการ แต่เป็นเพียงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 86 ปัญหาข้อนี้แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกาและข้อแตกต่างที่พิจารณาได้มิใช่สาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องและเป็นคุณแก่จำเลยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185, 192 วรรคสอง, 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2411/2562
ความผิดฐานเรียก รับหรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจเจ้าพนักงานโดยวิธีอันทุจริตหรือผิดกฎหมายตาม ป.อ. มาตรา 143 เป็นความผิดต่อแผ่นดิน พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนในความผิดดังกล่าวได้เอง โดยไม่จำต้องอาศัยคำร้องทุกข์หรือการมอบคดีจากผู้เสียหาย แม้ผู้เสียหายจะไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยก็ไม่มีอำนาจร้องทุกข์ในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวเท่านั้น หามีผลกระทบต่ออำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวน ซึ่งสามารถดำเนินการสอบสวนความผิดตามมาตรา 143 ได้โดยชอบไม่ เมื่อพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนแล้ว ต่อมาพนักงานอัยการเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดฐานร่วมกันเรียก รับเงิน และมีคำสั่งให้แจ้งข้อหาเพิ่มเติม เมื่อได้มีการแจ้งข้อหาดังกล่าวแก่จำเลยทั้งสามเพิ่มเติม ถือได้ว่าคดีในความผิดตามมาตรา 143 ได้มีการสอบสวนโดยชอบแล้ว พนักงานอัยการโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันเรียกและรับเงิน 9,000,000 บาท ไปจากผู้เสียหายเป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งอดีตประธานศาลฎีกาและประธานศาลฎีกาโดยวิธีอันทุจริต ให้กระทำการตามหน้าที่โดยยกเลิกคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ตัดสินให้ จ. เป็นฝ่ายแพ้คดี และมีคำสั่งใหม่ให้ จ. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ เป็นการบรรยายฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 143 แล้ว ส่วนจำเลยทั้งสามจะได้ไปจูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งอดีตประธานศาลฎีกาและประธานศาลฎีกาให้กระทำการในหน้าที่ให้เป็นคุณแก่ จ. หรือไม่ หาใช่องค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 143 ไม่ แม้คดีดังกล่าวถึงที่สุดไปก่อนที่จำเลยทั้งสามจะร่วมกันเรียกและรับเงินจากผู้เสียหาย ซึ่งจำเลยทั้งสามไม่สามารถจูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งอดีตประธานศาลฎีกาและประธานศาลฎีกาให้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นคุณแก่ จ. ได้ก็ตาม ก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นความผิดเพราะขาดองค์ประกอบความผิดไปแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1666/2562
พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยเป็นฝ่ายไปเรียกเงินจากโจทก์เพื่อเป็นการตอบแทนในการไปวิ่งเต้นให้สามีโจทก์ได้รับพระราชทานอภัยโทษ หลังจากมอบเงินให้จำเลย จำเลยไม่สามารถดำเนินการให้สามีโจทก์ได้รับพระราชทานอภัยโทษได้ เมื่อโจทก์ทวงถามจำเลยก็บ่ายเบี่ยงและไม่ยอมคืนเงินให้ แสดงว่าจำเลยไม่มีเจตนาที่จะวิ่งเต้นให้สามีโจทก์ได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือรู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถวิ่งเต้นกรณีดังกล่าวได้ อันเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือหลองลวงโจทก์ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีในข้อหานี้ได้ และกรณีฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีเจตนาตั้งแต่แรกจะวิ่งเต้นให้สามีโจทก์ได้รับพระราชทานอภัยโทษ แต่โจทก์กระทำไปเพราะถูกจำเลยหลอกลวง ถือไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมีสิทธินำคดีมาฟ้องได้

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2562)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8623/2561
การร่วมกระทำความผิดในลักษณะตัวการตาม ป.อ. มาตรา 83 จะต้องเป็นการร่วมกระทำความผิดด้วยกันซึ่งต้องพิจารณาทั้งในส่วนการกระทำและเจตนาของผู้ที่ร่วมกระทำ หมายถึงต้องร่วมกระทำผิดด้วยกันและกระทำโดยเจตนาร่วมกัน ทั้งทุกคนที่กระทำจะต้องรู้ถึงการกระทำของกันและกันและต่างประสงค์ถือเอาการกระทำของแต่ละคนเป็นการกระทำของตนด้วย ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 และที่ 3 เท่านั้นที่เป็นผู้เสนอเงินสินบนให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อให้ปล่อยตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวก โดยจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ร่วมเสนอเงินสินบนให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยที่ 1 เพิ่งจะเข้ามาเกี่ยวข้องโดยเป็นผู้นำเงินสินบนมามอบให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในลักษณะของตัวการ และความผิดตาม ป.อ. มาตรา 144 นั้นเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้หรือขอให้เงินสินบนแก่เจ้าพนักงานตำรวจแล้ว การที่จำเลยที่ 1 นำเงินสินบนมามอบให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจในภายหลังจึงไม่เป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพราะการเป็นผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 86 จะต้องเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิดเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามจำเลยที่ 1 เป็นผู้นำเงินสินบนมามอบให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อจูงใจให้เจ้าพนักงานตำรวจกระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ด้วยการปล่อยตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้พ้นจากการจับกุม เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดแยกได้ต่างหากจากการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ต่างไปจากคำฟ้องที่ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันให้สินบนแก่เจ้าพนักงานก็ตาม แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานแล้ว เพราะในการกระทำนั้นไม่ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะร่วมกันกระทำหรือต่างกระทำความผิดเพียงลำพัง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แต่ละคนก็ย่อมถูกลงโทษ เป็นแต่จะลงโทษได้เต็มคำขอของโจทก์หรือไม่เท่านั้น ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องที่แตกต่างจากข้อเท็จจริงในทางพิจารณาดังกล่าวมิใช่ข้อสาระสำคัญ และจำเลยที่ 1 มิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมรับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความในทางพิจารณานั้น ตามนัยแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง

พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ว่า "ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้ใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น... (3) จัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ที่ประชุม ที่พำนัก หรือที่ซ่อนเร้นเพื่อช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้กระทำความผิด หรือเพื่อช่วยให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากการถูกจับกุม" และมาตรา 6 วรรคสอง บัญญัติต่อไปว่า "ผู้ใดจัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ที่พำนักหรือที่ซ่อนเร้นเพื่อช่วยบิดา มารดา บุตร สามี หรือภริยาของตนให้พ้นจากการถูกจับกุม ศาลจะไม่ลงโทษผู้นั้นหรือลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้" แสดงให้เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ต้องการลงโทษผู้ที่จัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สินหรือที่ประชุมหรือที่พำนักหรือที่ซ่อนเร้นแก่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดโดยตรง โดยผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้ต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อช่วยเหลือหรือให้ความสะดวก หรือเพื่อช่วยให้ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ้นจากการถูกจับกุม การจัดหาหรือให้เงินตามมาตรา 6 วรรคหนึ่ง (3) นี้จะต้องเป็นการจัดหาหรือให้เงินแก่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเท่านั้น และหากเป็นการจัดหาหรือให้เงินแก่ผู้กระทำความผิดซึ่งเป็นบิดา มารดา บุตร สามี หรือภริยาของตนเพื่อช่วยให้พ้นจากการถูกจับกุม ศาลก็มีอำนาจที่จะไม่ลงโทษผู้นั้นหรือจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดเพียงใดก็ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดหาหรือให้เงินสินบนแก่เจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อให้ปล่อยตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกจากการถูกจับกุม มิใช่เป็นการจัดหาหรือให้เงินแก่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6025/2561
แม้ผู้คัดค้านไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการก็ตาม แต่ผู้คัดค้านได้ยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลมีคำพิพากษายกคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการของผู้ร้องและมีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการมาในคำคัดค้านโดยชำระค่าขึ้นศาลจำนวน 50,000 บาท ต่อศาลชั้นต้นในวันที่ผู้คัดค้านยื่นคำค้านมา ชอบด้วยตาราง 1 ค่าธรรมเนียมศาล (ค่าขึ้นศาล) ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ (1) (ข) ถือได้ว่าผู้คัดค้านซึ่งเป็นคู่พิพาทที่ประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดนั้นชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 แล้ว ศาลชั้นต้นมีอำนาจพิพากษาให้บังคับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้

เงินค่าเคลียร์แรงงานต่างด้าวที่ผู้คัดค้านจ่ายให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อมิให้ดำเนินคดีอาญาแก่แรงงานต่างด้าวในข้อหาทำงานในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายมีลักษณะเป็นเงินสินบนที่ให้แก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้ไม่กระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ซึ่งเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 144 แม้จะรับฟังข้อเท็จจริงตามที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า ผู้ร้องตกลงให้ผู้คัดค้านหักเงินค่าเคลียร์แรงงานต่างด้าวออกจากเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารที่ผู้คัดค้านว่าจ้างผู้ร้องให้ทำการก่อสร้างอาคารในคดีนี้ได้ ข้อตกลงที่ให้หักเงินค่าเคลียร์แรงงานต่างด้าวออกจากเงินค่าจ้างดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ข้อตกลงนั้นจึงตกเป็นโมฆะไม่อาจบังคับกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านมีสิทธินำเงินค่าเคลียร์แรงงานต่างด้าวที่ผู้คัดค้านจ่ายให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจมาหักจากเงินค่าจ้างที่จะต้องจ่ายเป็นค่าจ้างแก่ผู้ร้องนั้น เป็นข้อวินิจฉัยที่ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 150 แห่ง ป.พ.พ. การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนนี้ย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ชอบที่ศาลจะพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนดังกล่าวได้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1940/2561
ความผิดตามฟ้องโจทก์ คือ ป.อ. มาตรา 139 ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่ หรือให้ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย..." ซึ่งเป็นที่เห็นได้อย่างแน่ชัดว่า ผู้ที่จะกระทำความผิดตามมาตรา 139 ดังกล่าว จะต้องกระทำการต่อเจ้าพนักงาน คือข่มขืนใจต่อเจ้าพนักงาน แต่ตามคำบรรยายในฟ้องโจทก์เองและตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น กลับฟังได้แน่ชัดว่า จำเลยเพียงขึ้นพูดปราศรัยบนเวทีซึ่งเป็นการพูดต่อผู้ชุมนุมในกลุ่ม นปช. ด้วยกัน จำเลยไม่ได้พูดหรือกระทำการใดต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานแต่อย่างใด แม้จะฟังว่าการพูดปราศรัยดังกล่าวมีการทำข่าวทางสถานีโทรทัศน์หรือสื่อมวลชนสาธารณะอื่นด้วยก็ตาม ก็ไม่ปรากฏว่าเป็นเรื่องที่จำเลยเป็นผู้จัดให้มีการทำข่าว แต่ข้อเท็จจริงเป็นเรื่องของนักข่าวสื่อมวลชนมาทำข่าวกันเองเท่านั้น ขณะเกิดเหตุที่จำเลยพูดปราศรัยเป็นวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2557 แต่หลังจากนั้นอีก 3 วัน จึงมีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เพื่อปิดล้อมสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งขณะนั้นไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้เข้าร่วมในการเข้าปิดล้อมสำนักงาน ป.ป.ช. ดังกล่าวด้วย การชุมนุมเพื่อปิดกั้นดังกล่าวเพื่อไม่ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่เข้าทำงานในสำนักงานอาจเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 139 ได้ เพราะเป็นการกระทำเพื่อไม่ให้เจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ แต่การพูดของจำเลยต่อผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. ไม่ได้กระทำต่อเจ้าพนักงาน แต่เป็นการกระทำต่อผู้ชุมนุม เป็นการพูดชักชวนปลุกเร้าผู้ชุมนุมให้ไปร่วมกันปิดล้อมสำนักงาน ป.ป.ช. เท่านั้น ที่สำคัญในคำพูดปราศรัยของจำเลยไม่มีข้อความตอนใดที่จำเลยข่มขืนใจเพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. กระทำการอันใดที่จำเลยต้องการเลย ไม่ว่าจะเป็นการอันมิชอบด้วยหน้าที่ หรือการละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ จึงไม่ถือว่าเป็นความผิดตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1087/2561
การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ เข้าตรวจค้นห้องพักของผู้เสียหายทั้งสี่และรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 เมื่อพบเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จึงทำบันทึกการจับกุม แล้วจำเลยทั้งสามร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายทั้งสี่ไว้ภายในห้องพัก และขู่เข็ญให้แจ้งญาตินำเงินไปมอบให้จำเลยทั้งสามมิฉะนั้นจะส่งตัวไปดำเนินคดี เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกันเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินจากผู้เสียหายทั้งสี่ และเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 981/2561
การที่จำเลยรู้ว่ามิได้เกิดเหตุลักทรัพย์รถกระบะ แต่กลับแจ้งแก่พนักงานสอบสวนว่ามีคนร้ายลักทรัพย์รถกระบะที่จำเลยเช่าซื้อไป เพื่อจะนำเงินที่ได้รับจากบริษัทผู้รับประกันภัยไปชำระค่างวดแก่ธนาคาร ก. ผู้ให้เช่าซื้อ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 173 อันเป็นบทบัญญัติเฉพาะแล้ว ไม่จำต้องปรับบทตามมาตรา 137 อันเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานทั่ว ๆ ไปอีก และเมื่อไม่เกิดมีความผิดอาญาฐานลักทรัพย์เกิดขึ้นในคดีนี้ จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 172

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7504/2561
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 142 เป็นกรณีที่ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สิน หรือเอกสารใด ๆ อันเจ้าพนักงานได้ยึด รักษาไว้หรือสั่งให้ส่งเพื่อเป็นพยานหลักฐาน... ไม่ว่าเจ้าพนักงานจะรักษาทรัพย์หรือเอกสารนั้นไว้เอง... ต้องระวางโทษจำคุก... เป็นการกระทำความผิดต่อเจ้าพนักงานและรัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย กฎหมายมิได้บัญญัติถึงองค์ประกอบความผิดในส่วนที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นหรือประชาชนไว้ ดังนั้น บุคคลทั่วไปหรือประชาชนจึงไม่อาจเป็นผู้เสียหายในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 142 ได้

สำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 นั้น เมื่อการกระทำที่โจทก์กล่าวหาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 142, 151 และ 158 ไม่ได้เป็นการกระทำความผิดต่อโจทก์โดยตรง และโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจดำเนินคดีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ในความผิดตามมาตรา 142, 151 และ 158 แล้ว การที่จำเลยที่ 7 ถึงที่ 10 กระทำการเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 3 และที่ 4 แม้จะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม โจทก์ก็ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ 7 ถึงที่ 10 โดยตรง แม้โจทก์จะเคยร้องเรียนให้ดำเนินการสอบสวนลงโทษทางวินัยแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็ตาม การที่โจทก์เป็นผู้ร้องเรียนให้ลงโทษทางวินัยแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิที่โจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 แต่ก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษซึ่งจะทำให้โจทก์เป็นผู้เสียหายตามมาตรา 157

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 692/2561
ป.อ. มาตรา 140 วรรคสาม บัญญัติให้ผู้กระทำความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธปืนต้องได้รับโทษหนักกว่าโทษตามที่กฎหมายบัญญัติในสองวรรคก่อนกึ่งหนึ่ง ก็เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่ แม้อาวุธปืนที่ยึดได้จากรถคันเกิดเหตุจะถูกซุกซ่อนอยู่ใต้ที่นั่งด้านหน้าข้างคนขับ จำเลยที่ 1 ไม่ได้พกติดตัวหรือวางในลักษณะพร้อมหยิบฉวยได้ทันทีก็ตาม แต่อาวุธปืนมีกระสุนปืนบรรจุอยู่ในรังเพลิงพร้อมใช้งานได้ทันที นับเป็นอันตรายต่อเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติตามหน้าที่ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 138 วรรคสอง ประกอบมาตรา 140 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4017/2560
ขณะที่จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเพื่อประกันหนี้เงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2556 คดีที่โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้อง ล. กับจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินทั้งสองแปลงอยู่ในระหว่างฎีกายังไม่ถึงที่สุด ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 แจ้งข้อความตามที่ปรากฏในโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงต่อเจ้าพนักงานที่ดินผู้จดทะเบียนจำนองในขณะนั้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินทั้งสองแปลง ซึ่งก็ตรงตามเอกสารที่แท้จริง จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 แจ้งข้อความตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ทั้งเจ้าพนักงานที่ดินผู้จดทะเบียนจำนองไม่ได้สอบถามจำเลยที่ 1 ว่ามีคดีพิพาทเกี่ยวกับที่ดินหรือไม่ และจำเลยที่ 1 มิได้หลอกลวงให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาททั้งสองแปลง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 และ 267

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2077/2560
โจทก์มอบเงิน 300,000 บาท ให้แก่จำเลย เพราะจำเลยอ้างว่าจะนำไปให้เจ้าพนักงานตำรวจยศระดับพลตำรวจตรี 2 คน เพื่อช่วยเหลือให้บุตรสาวโจทก์สามารถสอบเข้ารับราชการตำรวจได้ ซึ่งโจทก์ย่อมจะต้องทราบดีว่าบุตรสาวโจทก์จะเข้ารับราชการตำรวจได้ต้องผ่านการสอบคัดเลือก โดยการสอบคัดเลือกเป็นระเบียบแบบแผนของทางราชการ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีคุณสมบัติสามารถสมัครสอบได้โดยเสรีและที่สำคัญการจัดการสอบจะต้องยุติธรรมเพื่อที่ทางราชการจะได้คนมีความสามารถ อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน หากมีการช่วยเหลือบุคคลใดบุคคลหนึ่งให้สามารถสอบผ่านแสดงว่ามีการกระทำอันเป็นการทุจริต เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำความผิด โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 961/2559
แม้ข้อความที่จำเลยแจ้งจะเป็นความเท็จเพราะความจริงโฉนดที่ดินอยู่ที่ ภ. และจำเลยนำรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานที่เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จไปใช้อ้างเพื่อขอให้ออกใบแทนโฉนดที่ดินก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเลยกระทำต่อพันตำรวจโท บ.เจ้าพนักงาน ธ. และ พ. เจ้าพนักงานที่ดิน มิได้กล่าวพาดพิงไปถึง ภ. หรือนำรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานที่เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จไปใช้อ้างต่อ ภ. อันจะถือว่า ภ. ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำของจำเลย อีกทั้งจำเลยมอบให้มารดานำโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับไปเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินกับ ภ. เท่านั้น ซึ่ง ภ. ไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอากับโฉนดที่ดินดังกล่าวได้ตามกฎหมาย ภ. จึงมิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ และใช้หรืออ้างเอกสารราชการซึ่งแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) และไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ ภ. เข้าร่วมเป็นโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ เมื่อ ภ. มิใช่คู่ความในคดีจึงไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของ ภ. จึงเป็นการไม่ชอบเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 278 - 284/2559
ป.อ. ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุมิได้บัญญัติบทนิยามของ "เจ้าพนักงาน" ไว้ เมื่อพิจารณาจากสภาพการณ์ปัจจุบัน หน่วยงานของรัฐมิได้มีแต่ส่วนราชการ แต่ประกอบไปด้วย รัฐวิสาหกิจ องค์การของรัฐ รวมทั้งองค์กรอิสระ สำหรับองค์การคลังสินค้าผู้เสียหายเป็นองค์การของรัฐบาลที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ.2496 และโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวได้มีการจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ.2498 ซึ่งทั้ง พ.ร.บ. และ พ.ร.ฎ. ล้วนระบุว่าการจัดตั้งใช้เงินทุนจากงบประมาณแผ่นดินและทุนประเดิมจากรัฐบาล เมื่อรัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีมีมติให้นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติจัดให้มีโครงการรับจำนำข้าวเปลือก และมอบหมายให้ผู้เสียหายเป็นผู้รับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่ตามโครงการดังกล่าว ดังนั้น ว. หัวหน้าหน่วยรับจำนำข้าวเปลือกนอกจากจะมีฐานะเป็นพนักงานองค์การคลังสินค้าผู้เสียหายแล้ว ยังต้องปฏิบัติหน้าที่ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลตามที่ผู้เสียหายได้รับมอบหมายจากรัฐบาลโดยมีหน้าที่ออกใบรับของคลังสินค้าและใบประทวนสินค้าให้เกษตรกรเพื่อนำไปทำสัญญาจำนำและรับเงินจากธนาคาร พ. เมื่อธนาคารดังกล่าวจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรแล้วก็จะนำเอกสารที่เกษตรกรมอบให้ไปเบิกเงินจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลซึ่งบางส่วนเป็นเงินงบประมาณแผ่นดิน การกระทำของ ว. จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของรัฐในโครงการดังกล่าว แม้ ว. ไม่ใช่เป็นข้าราชการที่รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดิน แต่เป็นพนักงานที่รับเงินเดือนหรือค่าจ้างจากผู้เสียหายที่เป็นองค์การของรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นโดยใช้เงินทุนจากงบประมาณแผ่นดิน อีกทั้งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในกิจการงานของรัฐบาลโดยแท้ อันมีลักษณะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ย่อมถือได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของ ว. ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล เป็นการกระทำในฐานะเจ้าพนักงาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15055/2558
ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า มีการจับกุม ป. โดยการล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนเมื่อเวลา 18.25 นาฬิกา หลังจากนั้นพันตำรวจตรี ธ. ขอให้ศาลออกหมายค้นร้านเสริมสวยพูนศิริบิวตี้และไปตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนพร้อมกับอาวุธปืนและกระสุนปืนแล้วจึงนำตัว ป. มาที่กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งย่อมจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการตามที่กล่าวพอสมควร ในเวลาประมาณ 20 นาฬิกา พันตำรวจตรี ธ. ได้ควบคุม ป. มายังห้องสืบสวนกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ เหตุที่ยังไม่ได้นำตัว ป. ไปยังสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองศรีสะเกษเนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการสืบสวนขยายผล สอดคล้องกับบันทึกการจับกุม ป. ที่ระบุว่า ทำขึ้นเมื่อเวลา 20.30 นาฬิกา ของวันที่ 25 เมษายน 2549 เชื่อว่าในขณะนั้นพันตำรวจตรี ธ. ยังไม่ได้นำตัว ป. ส่งพนักงานสอบสวน ป. จึงยังอยู่ในการควบคุมของพันตำรวจตรี ธ.

ต่อมาเวลาประมาณ 21 นาฬิกา จำเลยมาพบพันตำรวจตรี ธ. แจ้งว่าเป็นน้องชาย ป. และเสนอจะให้เงิน 400,000 บาท ถ้าปล่อยตัว ป. พันตำรวจตรี ธ. รับปากจะช่วยเหลือ จำเลยนัดจะนำเงินมาให้ในวันรุ่งขึ้นเวลา 9 นาฬิกา หลังจากนั้นพันตำรวจตรี ธ. ได้รายงานผู้บังคับบัญชาและไปขอลงรายงานประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองศรีสะเกษเพื่อวางแผนจับกุมตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ซึ่งร้อยตำรวจตรี ม. เป็นผู้บันทึก ต่อมาวันรุ่งขึ้นเวลาประมาณ 10 นาฬิกา จำเลยถือถุงกระดาษสีน้ำตาลมาหาพันตำรวจตรี ธ. ที่ห้องสืบสวนกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ จำเลยแจ้งว่าเงินครบ แล้วล้วงเอาธนบัตรจำนวน 400,000 บาท ออกมาจากถุง พันตำรวจตรี ธ. จึงจับกุมจำเลยพร้อมยึดธนบัตรจำนวนดังกล่าวเป็นของกลาง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานให้และขอให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงาน เพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 144 และเงินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิด จึงต้องริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10570/2558
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันแจ้งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจดข้อความอันเป็นเท็จโดยยื่นแบบนำส่งงบการเงินรอบปีบัญชีสิ้นสุดจำนวน 1 ฉบับ และสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นฉบับใหม่จำนวน 1 ฉบับ โดยมีข้อความระบุไว้ว่าหุ้นที่ได้จดทะเบียนไว้ของจำเลยที่ 1 จำนวน 100,000,000 บาท จำเลยทั้งสองได้เรียกชำระเงินไปจากผู้ถือหุ้นทั้งเจ็ดคนครบถ้วนเต็มจำนวน ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยทั้งสองยังมิได้เรียกชำระเงินค่าหุ้นที่ผู้ถือหุ้นทั้งเจ็ดคนค้างชำระอยู่อีก 49,500,000 บาท อาจทำให้โจทก์หรือประชาชนได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องพบอุปสรรคในการที่จะใช้สิทธิบังคับชำระหนี้หรือบังคับคดีเอาแก่สิทธิเรียกร้องในเงินค่าหุ้นค้างชำระของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1096 โจทก์จึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายโดยตรง ย่อมเป็นผู้เสียหายในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 และมาตรา 267

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9556/2558
การเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงข้อบังคับหรือข้อความในหนังสือบริคณห์สนธิ ป.พ.พ. มาตรา 1145 และมาตรา 1146 กำหนดว่าจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการลงมติพิเศษ ซึ่งจะต้องมีการประชุมใหญ่โดยมีคำบอกกล่าวเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติพิเศษ และกำหนดให้เป็นหน้าที่ของบริษัทจะต้องจัดให้ไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้มีการลงมติพิเศษ และเหตุที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของบริษัทจะต้องนำเรื่องไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญเพราะมีผลกระทบต่อบุคคลภายนอก กรณีที่จำต้องใช้เอกสารยืนยันภูมิลำเนาคือ สำนักงานแห่งใหญ่ของนิติบุคคลเป็นพยานหลักฐานที่มีการรับรองโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งกิจการของบริษัท บ. ก็มิได้เป็นเพียงนิติบุคคลที่จดทะเบียนเพื่อดำเนินกิจการเกี่ยวข้องแต่เฉพาะบุคคลในเครือญาติของจำเลย หากแต่ต้องติดต่อกับนิติบุคคลหรือบุคคลอื่นด้วย จำเลยจะอ้างความเคยชิน และความไว้วางใจระหว่างเครือญาติของจำเลยมาเป็นข้อยกเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมายไม่ได้

การที่จำเลยมอบอำนาจให้ทนายความไปยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ และแจ้งย้ายที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัท บ. ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทโดยอ้างว่าจำเลยได้บอกกล่าวนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ ๒/๒๕๕๒ โดยลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์และส่งมอบให้ผู้ถือหุ้น และที่ประชุมวิสามัญมีมติพิเศษให้แก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ และย้ายที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัทจากเดิมที่ตั้งอยู่กรุงเทพมหานครไปที่จังหวัดราชบุรีโดยไม่เป็นความจริง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137 และมาตรา 267

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8422/2558
การที่จำเลยที่ 1 พูดจาให้ร้ายผู้เสียหายขณะปฏิบัติหน้าที่เข้าตรวจค้นร้านโดยใช้คำว่า "ปลัดส้นตีน" ซึ่งเป็นคำดูหมิ่นเหยียดหยาม เป็นการกระทำความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ตาม ป.อ. มาตรา 136 สำเร็จแล้วกระทงหนึ่ง ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญขณะที่ผู้เสียหายเข้าตรวจภายในร้าน โดยจำเลยที่ 1 พูดขึ้นว่า ไปเอาปืนมายิงให้ตาย อย่าให้ออกไปได้ แล้วจำเลยที่ 2 วิ่งไปหยิบไม้เบสบอลมาตีผู้เสียหาย 1 ที จำเลยที่ 1 เอาไม้กวาดไล่ตีผู้เสียหาย เป็นการกระทำต่อเนื่องกันไป โดยมีเจตนาเดียวกันคือทำร้ายผู้เสียหาย จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกับการร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6551/2558
ผู้เสียหายกับจำเลยรู้จักกันมาก่อนและผู้เสียหายรู้ว่าจำเลยมิได้เป็นเจ้าพนักงาน วันเกิดเหตุจำเลยมิได้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานเพียงแต่อ้างว่าพวกของจำเลยเป็นเจ้าพนักงาน การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 145 วรรคแรก แต่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน ซึ่งศาลลงโทษจำเลยได้เพราะมิได้เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17978/2557
ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุบัญญัติไว้ชัดเจนว่า ให้คณะกรรมการ กสช. ก็ดี คณะกรรมการ กทช. ก็ดี และพนักงานสำนักงานของคณะกรรมการดังกล่าว ก็ดี เป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. แต่ในกฎหมายฉบับเดียวกัน มาตรา 49 ว่าด้วยคณะกรรมการสรรหา ที่มา และบทบาทหน้าที่ ไม่ได้กำหนดว่าคณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการโทรคมนาคมเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. เช่นเดียวกันกับคณะกรรมการ กสช. หรือ กทช. หรือพนักงานดังกล่าว เช่นนี้ ย่อมเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวได้ชัดเจนว่า กฎหมายไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะให้คณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการโทรคมนาคมต้องมีอำนาจหน้าที่หรือมีความรับผิดในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. จำเลยเป็นเพียงคณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการโทรคมนาคม จึงไม่ใช่เจ้าพนักงานที่จะต้องรับผิดในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 157, 158, 161 และ 162

ตำแหน่งประธานวุฒิสภา เป็นตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ ไม่ใช่ตำแหน่งเจ้าพนักงานตามความหมายในลักษณะ 2 หมวด 1 แห่ง ป.อ. การยื่นรายงานเรื่องผลการพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็น กทช. จึงไม่อาจที่จะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15248 - 15249/2557
จำเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยของโจทก์ ซึ่งพนักงานมหาวิทยาลัยดังกล่าวคือ พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาตามความในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดคำนิยามของ "พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา" ว่า หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้ทำงานในสถาบันอุดมศึกษา โดยได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหรือเงินรายได้ของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งความหมายของ "พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา" ตามกฎหมายฉบับนี้แตกต่างจากความหมายของ "ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา" ตามกฎหมายฉบับเดียวกัน กล่าวคือ "ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา" หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับบรรจุและแต่งตั้งให้รับราชการตาม พ.ร.บ.นี้ โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา หากเปรียบเทียบข้อแตกต่างสำคัญแล้ว จะเห็นได้ชัดว่า "ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา" เป็นบุคคลที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการ โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา จึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ส่วน "พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา" เป็นบุคคลที่ได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้เป็นพนักงาน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นข้าราชการ อีกทั้งค่าจ้างหรือค่าตอบแทนพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาก็มิใช่เงินเดือนอันมีที่มาจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา แม้ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะระบุว่า พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาความหมายของพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุนตามข้อ 4 แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิแล้ว ล้วนได้ความตรงกันว่าพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสองประเภทได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปหรือเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย เมื่อจำเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งมิใช่ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและไม่ได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา ประกอบกับไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับใดกำหนดให้พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. และศาลไม่อาจลงโทษจำเลยในฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147, 157 และ 161 ได้

จำเลยมีหน้าที่รับผิดชอบในงานเบิก - จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ตรวจสอบเอกสารเงินยืม ติดตามเงินยืมและตัดยอดเงินยืม ดังนั้น แม้จำเลยจะจัดทำเอกสารเกี่ยวกับงานการเงินในหน้าที่รับผิดชอบของจำเลยไม่ตรงกับความเป็นจริงและใช้หรืออ้างเอกสารดังกล่าวเสนอต่อผู้บังคับบัญชา ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264 ฐานปลอมเอกสาร มาตรา 268 ฐานใช้เอกสารปลอม และมาตรา 137 ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน เพราะจำเลยเป็นผู้บันทึกข้อความลงในเอกสารต่าง ๆ ด้วยตนเอง โดยจำเลยมิได้เป็นผู้แจ้งข้อความดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานอื่นแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12756/2557
การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าวว่าได้ทำโฉนดที่ดินซึ่ง บ. และจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันสูญหาย และแจ้งให้พนักงานสอบสวนจดข้อความอันเป็นเท็จลงในบันทึกรายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหายแล้วนำบันทึกรายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหายและหนังสือมอบอำนาจไปใช้และอ้างแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดิน สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกะปิ เพื่อขอรับใบแทนโฉนดที่ดินแล้วนำใบแทนโฉนดที่ดินและหนังสือมอบอำนาจปลอมไปใช้และอ้างแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกะปิ เพื่อให้มีรายการแก้ไขจดทะเบียนโฉนดที่ดินจากชื่อ บ. มาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวจำเลยที่ 2 เป็นสามีของจำเลยที่ 1 มีส่วนได้เสียในที่ดินที่รับโอนทั้งลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจและติดต่อ อ. ให้ประสานกับเจ้าพนักงานที่ดิน เช่นนี้ย่อมรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมรู้เห็นเป็นใจกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดมาตั้งแต่แรก และแม้การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามขั้นตอนต่าง ๆ ดังกล่าว เป็นการกระทำคนละวันและต่อเจ้าพนักงานคนละหน่วยงานกัน แต่เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน คือ เพื่อให้ที่ดินดังกล่าวตกมาเป็นของจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาปัญหาดังกล่าว แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7123/2557
ป.วิ.อ. ได้บัญญัติถึงอำนาจและหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในชั้นแจ้งข้อหาตามมาตรา 134 ซึ่งความในวรรคหนึ่งกำหนดให้พนักงานสอบสวนต้องถามชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อสกุล สัญชาติ บิดามารดา อายุ อาชีพ ที่อยู่ที่เกิดของผู้ต้องหาเป็นประการแรก ต่อจากนั้นจึงแจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหา แล้วจึงแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบ รวมทั้งให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อหาและแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตน ดังนั้น เมื่อเริ่มทำการสอบสวนพนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบถามข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับตัวผู้ต้องหา ผู้ต้องหามีหน้าที่ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตนเองตามบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมีสภาพบังคับทางอาญาดังที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 367 ภายใต้หลักเกณฑ์ที่พนักงานสอบสวนต้องให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อกล่าวหาและแสดงข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์แก่ตนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 วรรคสี่เพื่อให้การสอบสวนดำเนินต่อไปได้ถูกต้องและชอบธรรม ส่วนการถามคำให้การผู้ต้องหาอันเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง ซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 134/4 บัญญัติให้เป็นหน้าที่พนักงานสอบสวนต้องแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบถึงสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ รวมทั้งสิทธิในการให้ทนายความและบุคคลที่ผู้ต้องหาไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำ ซึ่งเป็นขั้นตอนเมื่อผ่านการแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาแล้ว ไม่อาจแปลความไปถึงขนาดให้สิทธิผู้ต้องหาที่จะปฏิเสธอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนเมื่อเริ่มทำการสอบสวนดังกล่าวข้างต้น จำเลยแจ้งความเท็จและแจ้งให้ร้อยตำรวจโท ด. เจ้าพนักงานสอบสวนจดข้อความอันเป็นเท็จลงในบันทึกคำให้การของจำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นว่าจำเลยเป็น ธ. ซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว หลังจากนั้นเมื่อพนักงานสอบสวนเรียกตัวจำเลยไปสอบถามเนื่องจากจำเลยผิดเงื่อนไขการคุมความประพฤติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยแจ้งความเท็จและแสดงบัตรประจำตัวประชาชนของ ธ. เพื่อให้ร้อยตำรวจโท ด. หลงเชื่อว่าจำเลยเป็น ธ. จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการให้การและใช้สิทธิในขั้นตอนการทำคำให้การที่จำเลยเป็นผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134/4 (1) การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137, 267, 367

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7322/2557
ขณะเกิดเหตุดาบตำรวจ บ. และดาบตำรวจ ส. แต่งกายในเครื่องแบบเจ้าพนักงานตำรวจ พกพาอาวุธปืนสั้นแบบเปิดเผย กำลังมอบหมายให้ อ. ซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานดำเนินการจับกุม ส. โดยทำการใส่กุญแจมือ ส. ได้เพียงข้างเดียว แล้ว ส. ดิ้นรนขัดขืน พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นใครเห็นก็ต้องทราบดีว่า ส. กำลังถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมอยู่ ไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องทราบว่า ส. ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในข้อหาอะไร เชื่อว่าจำเลยทราบดีว่าเจ้าพนักงานตำรวจและ อ. กำลังเข้าจับกุม ส. อยู่ จำเลยเข้ามาช่วย ส. โดยช่วยดึงแขนดาบตำรวจ บ. และดาบตำรวจ ส. จนเป็นเหตุให้ดาบตำรวจ บ. หกล้ม อาวุธปืนสั้นหล่นลงที่พื้น การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่และเป็นการกระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายตาม ป.อ. มาตรา 138 วรรคสองแล้ว แต่เจ้าพนักงานตำรวจและ อ. ยังไม่สามารถจับกุม ส. ได้ จึงฟังไม่ได้ว่า ส. ถูกคุมขังอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 191

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6875/2557
พ.ร.บ.การขุดดินและถมดิน พ.ศ.2543 มาตรา 30 เป็นบทบัญญัติให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเข้าไปในสถานที่ที่มีการขุดดินหรือถมดินเพียงเพื่อตรวจสอบว่ามีการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้หรือกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นหรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่เท่านั้น กรณีหาจำต้องมีหมายค้นของศาลไม่ เมื่อผู้เสียหายแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.การขุดดินและถมดิน พ.ศ.2543 และแจ้งว่ามีความประสงค์จะตรวจสอบที่ดินตามที่มีการแจ้งว่ามีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การขุดดินและถมดิน พ.ศ.2543 แต่จำเลยไม่ยอมให้เข้าไปในที่ดินเพื่อตรวจสอบ การกระทำของจำเลยจึงมีเจตนาขัดขวางผู้เสียหายอันเป็นความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 138 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1572/2557
การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ ล. ไม่มีกฎหมายให้อำนาจลงลายมือชื่อแทนกันได้ แม้ ล.จะอนุญาตหรือให้ความยินยอม และเจ้าหน้าที่ผู้จัดทำบันทึกแนะนำให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ ล. ก็ลงลายมือชื่อแทนกันไม่ได้ การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ ล. ในเอกสารหมาย จ. 2 ถึง จ. 4 จึงเป็นการลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร แต่ในความผิดฐานแจ้งความเท็จและความผิดฐานปลอมเอกสารนี้จะต้องได้ความด้วยว่าอยู่ในลักษณะที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนหรือไม่ เมื่อได้ความจากโจทก์ร่วมว่าโจทก์ร่วมลงลายมือชื่อโอนลอยในคำร้องโอนสิทธิการเช่าสัญญาเช่าอาคารดังกล่าวโดยไม่ได้สนใจว่าใครจะนำเอกสารดังกล่าวไปกรอกข้อความอย่างไร แสดงให้เห็นว่า โจทก์ร่วมพอใจในราคาค่าตอบแทนการโอนสิทธิการเช่าเสียมากกว่า หาใช่มีข้อตกลงโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเจาะจงแต่อย่างใดไม่ สอดคล้องกับที่ ส. เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลสตึก พยานโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้จัดทำเอกสารเกี่ยวกับคำร้องโอนสิทธิการเช่าเบิกความว่า โจทก์ร่วมประสงค์จะโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทให้แก่ ล. ทั้งใบเสร็จรับเงินค่าคำร้องโอนสิทธิการเช่าอาคารตามเอกสารหมาย จ. 5 ก็ระบุว่าได้รับเงินจาก ล. จากพฤติการณ์ดังกล่าวโจทก์ร่วมและเทศบาลตำบลสตึกไม่อยู่ในฐานะที่จะอ้างว่าได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จและฐานปลอมเอกสารตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8016/2556
จำเลยกล่าวถ้อยคำว่า "ตำรวจแม่ง...ใช้ไม่ได้" เพราะรู้สึกว่าเจ้าพนักงานตำรวจไม่ให้ความสำคัญต่อคำชี้แจงของตน ทำให้จำเลยรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงกล่าวตำหนิการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ อันเป็นเพียงคำกล่าวที่ไม่สุภาพและไม่สมควรเท่านั้น แต่ไม่ถึงขั้นมุ่งหมายที่จะด่า ดูถูกเหยียบหยามหรือสบประมาทเจ้าพนักงานตำรวจแต่อย่างใด จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 136

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1153/2556
พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 มาตรา 27 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2551 มาตรา 7 มิได้กำหนดให้ผู้ใหญ่บ้านมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการใช้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือการดำเนินการใดๆ โดยการใช้เงินที่ได้รับการอุดหนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การที่ผู้เสียหายจัดให้มีการประชุมราษฎรและคณะกรรมการหมู่บ้านและตรวจสอบกรณีสภาองค์การบริหารส่วนตำบลดอนเจดีย์มีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติให้จ่ายขาดเงินสะสมอุดหนุนกิจการเกษตรให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ หมู่ที่ 3 ตำบลดอนเจดีย์ โดยไม่ปรากฏว่ามีผู้ร้องเรียนต่อผู้เสียหายหรือมีราษฎรในหมู่บ้านของผู้เสียหายได้รับความเดือนร้อนจากมติของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลดอนเจดีย์ดังกล่าว มิใช่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านในการดูแลทุกข์สุขของราษฎรในหมู่บ้านซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21858 - 21860/2555
การให้เงินแก่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อจูงใจให้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่จับกุมกรณีเมื่อมีผู้ใช้รถบรรทุกขนส่งสินค้ามีน้ำหนักเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด มีลักษณะเป็นการยุยงส่งเสริมก่อให้เจ้าพนักงานตำรวจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตอยู่ในตัวก็ตาม แต่การกระทำเช่นว่านั้นก็มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิดโดยเฉพาะอยู่แล้ว คือ ป.อ. มาตรา 144 อีกทั้งการที่เจ้าพนักงานตำรวจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามที่ถูกจูงใจก็มิได้สำเร็จลงด้วยการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกโดยการให้เงิน ดังนั้น ถึงหากแม้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จะให้เงินแก่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อจูงใจให้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่จับกุมกรณีเมื่อมีผู้ใช้รถบรรทุกติดสติกเกอร์ซึ่งผู้คัดค้านที่ 2 จัดทำขนส่งสินค้ามีน้ำหนักเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดจริงก็ตาม การกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ก็คงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 144 อันเป็นความผิดต่อเจ้าพนักงาน มิใช่ความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานตำรวจในการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149, 157 ประกอบมาตรา 86 จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กระทำเช่นนั้นจริงหรือไม่ ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มิใช่เป็นผู้กระทำความผิด หรือเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานตำรวจในการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19706/2555
จำเลยไม่ได้ยืนยันว่าโจทก์ร่วมทุจริต เพียงแต่สงสัยในพฤติการณ์ของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้พิพากษาในคดีที่จำเลยถูกผู้อื่นฟ้องที่มีคำสั่งให้งดชี้สองสถานกับงดสืบพยานในคดีนั้น แม้ว่าเป็นอำนาจและดุลพินิจของโจทก์ร่วม แต่ก็เป็นการใช้ดุลพินิจและอำนาจที่คลาดเคลื่อน เพราะหลังจากนั้นศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งโจทก์ร่วมเป็นองค์คณะ และย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นทำการสืบพยานโจทก์และจำเลย และที่โจทก์ร่วมสั่งไม่รับอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ก็มีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงไว้แล้ว นอกจากนี้จำเลยยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2554 เวลา 10.50 นาฬิกา แต่โจทก์ร่วมไม่ได้สั่งอุทธรณ์ในวันดังกล่าว ต่อมาโจทก์ร่วมสั่งรับอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยประทับตรายางวันเดือนปี คือ เมษายน 2554 แต่มีการลบวันที่ซึ่งน่าจะเป็นวันที่ 27 และเขียนด้วยลายมือโจทก์ร่วมเป็นวันที่ 30 การที่จำเลยไปพบ ส. ซึ่งรับราชการในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 ที่โจทก์ร่วมรับราชการอยู่ในเขตอำนาจเพียงประสงค์จะให้ ส. ดูแลผู้พิพากษาในภาคให้มากกว่านี้ ไม่ได้ไปพบในลักษณะที่ว่าจะให้ตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์ร่วม แม้ตามบันทึกเรื่องราวที่จำเลยมอบให้ ส. จะมีข้อความเกินเลยไปบ้าง แต่ก็มีลักษณะเป็นการปรับทุกข์และระบายความทุกข์กับ ส. ที่ดูแลผู้พิพากษาภายในภาค 7 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ และดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดีตาม ป.อ. มาตรา 136 และ 198

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8722/2555
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าบริเวณที่เกิดเหตุอยู่บนถนนสุทธาวาสไม่ใช่หลังซอยโรงถ่านตามที่สิบตำรวจโท ก. และสิบตำรวจตรี พ. อ้างว่ามีอาชญากรรมเกิดขึ้นประจำแต่อย่างใด และจำเลยไม่มีท่าทางเป็นพิรุธคงเพียงแต่นั่งโทรศัพท์อยู่เท่านั้น การที่สิบตำรวจโท ก. และสิบตำรวจตรี พ. อ้างว่าเกิดความสงสัยในตัวจำเลยจึงขอตรวจค้น โดยไม่มีเหตุผลสนับสนุนว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดความสงสัยในตัวจำเลย จึงเป็นข้อสงสัยที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้สึกเพียงอย่างเดียว ถือไม่ได้ว่ามีเหตุอันควรสงสัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 93 ที่จะทำการตรวจค้นได้ การตรวจค้นตัวจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยซึ่งถูกกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงมีสิทธิโต้แย้งและตอบโต้เพื่อป้องกันสิทธิของตน ตลอดจนเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งใด ๆ อันสืบเนื่องจากการปฏิบัติที่ไม่ชอบดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8688/2555
เจ้าพนักงานตำรวจยึดประกาศนียบัตรลักษณะเดียวกันหลายฉบับ รูปถ่ายจำเลยซึ่งอุปโลกน์ตนเองเป็นครูบาขาวเจ้าศรีสุธรรม รูปถ่ายสมาชิกแต่งเครื่องแบบทหารและไม่ได้แต่งเครื่องแบบ อาร์มหน่วยปฏิบัติการพิเศษทับทิมดำหน่วยเหนือ ทภ.3 แบบพิมพ์ใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองพันอาสาสมัครป้องกันชาติปฏิบัติการพิเศษทับทิมดำ ภาพสัญลักษณ์หัวเสือคาบดาบหน่วยจู่โจมล่าสังหารเฉพาะกิจลับพิเศษ จทฐ. พล. ร.10 ป.พัน ทับทิมดำ ปฏิบัติการพิเศษ บัตรประจำตัวไทยอาสาป้องกันชาติออกให้โดยอำเภอจุน จังหวัดพะเยา มีรอยแกะรูปถ่ายออก มีรอยลบชื่อและพิมพ์ชื่อของจำเลยแทน ตามบัญชีของกลางคดีอาญา ทั้งในประกาศนียบัตรยังมีตราครุฑ ข้อความว่า ก.ห.0043 ซึ่งตัวย่อ ก.ห. น่าจะหมายถึงกระทรวงกลาโหม มีระบุยศพันโทนำหน้าชื่อของจำเลย หลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่จะยกตนเองขึ้นเป็นใหญ่ เริ่มต้นจากการเป็นครูบาเจ้าสำนัก แล้วซ่องสุมสมาชิกเพื่อสร้างเสริมบารมีให้กับตน โดยแอบอ้างหน่วยงานทางทหารหรือกองทัพบก แม้หน่วยงานที่อ้างจะไม่มีอยู่จริงก็ตาม พฤติกรรมของจำเลยเห็นได้ชัดว่ารู้เห็นเป็นใจในการปลอมประกาศนียบัตรเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการโฆษณาชวนเชื่อจูงใจคนสมัครเป็นสมาชิก และเพื่อให้แนบเนียนสมจริงจึงอุปโลกน์ยศทหารของตนไว้ด้วย ดังเช่นการอุปโลกน์ตนเป็นครูบาขาวเจ้าศรีสุธรรมดังกล่าวข้างต้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ และใช้ยศโดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6597/2555
คดีนี้ในความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ปอ. มาตรา 138 วรรคสอง 140 วรรคแรก และวรรคสาม ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ปอ. มาตรา 138 วรรคสอง โดยไม่ได้ปรับบทลงโทษตามมาตรา 140 วรรคแรก และวรรคสามด้วย แต่ลักษณะความผิดตาม ปอ. มาตรา 138 วรรคสอง และมาตรา 140 วรรคแรก ไม่แตกต่างกันและไม่มีระวางโทษจำคุกขั้นต่ำเหมือนกัน ต่างกันเฉพาะระวางโทษขั้นสูงซึ่งมาตรา 138 วรรคสอง ระวางโทษขั้นสูงจำคุกไม่เกินสองปี ส่วนมาตรา 140 วรรคแรก ระวางโทษขั้นสูงจำคุกไม่เกินห้าปีและตาม ปอ. มาตรา 140 วรรคสาม เป็นบทบัญญัติถึงเหตุที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดมาตรา 140 วรรคแรก ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้กึ่งหนึ่ง หาใช่เป็นความผิดอีกบทหนึ่งต่างหากไม่ ไม่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แก้บทลงโทษ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพียงแต่แก้จำนวนโทษมิได้แก้บทลงโทษ เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9243/2554
ขณะเกิดเหตุเวลาประมาณ 20 นาฬิกา สิบตำรวจเอก ว. กับพวกมิได้แต่งเครื่องแบบเจ้าพนักงานตำรวจ เข้าทำการตรวจค้นจับกุม ส. เป็นการตรวจค้นจับกุมในยามค่ำคืน บุคคลทั่วไปย่อมเกรงว่าผู้ที่เข้าตรวจค้นจับกุมเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจริงหรือไม่ ทั้งข้อหาที่ ส. กระทำความผิดก็เพียงมีเมทแอมเฟตามีน 1 เม็ด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นความผิดไม่ร้ายแรงนัก สิบตำรวจเอก ว. กับพวกมิได้แสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจโดยแสดงบัตรประจำตัวให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ดู การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพียงแต่ร่วมกันใช้กำลังผลักดันและกระชากแขนเจ้าพนักงานตำรวจเพียงเพื่อต้องการปกป้อง ส. ซึ่งเป็นน้องชายจำเลยที่ 1 ตามสมควร ไม่มีเจตนาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ จึงไม่ได้กระทำความผิด

เมื่อคดีฟังว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้กระทำความผิด การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงไม่อาจเป็นการร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา 140 วรรคแรก คงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 138 วรรคสอง เท่านั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสองประกอบ มาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5573/2554
การที่ชาวบ้านร่วมชุมนุมและเดินขบวนกันเพราะไม่พอใจที่ทางราชการมีมติให้จัดตั้งกิ่งอำเภอนาทมในที่อื่น ที่ไม่ใช่ตำบลนาทมโดยมีชาวบ้านร่วมกันกว่า 200 คน ไม่ปรากฏว่ามีการร่วมกันวางแผนหรือคบคิดกระทำการในสิ่งผิดกฎหมาย ไม่มีผู้ใดมีอาวุธ จึงต้องถือว่าเป็นการชุมนุมที่เริ่มต้นด้วยความสงบปราศจากอาวุธ อันเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนโดยชอบที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับให้การรับรองตลอดมา การกระทำความผิดมาเกิดขึ้นในภายหลัง ต้องถือว่าเป็นเจตนาของผู้กระทำความผิดของแต่ละคนแต่ละกลุ่มจะถือเอาเป็นเจตนาร่วมของผู้เข้าชุมนุมทุกคนไม่ได้ ลำพังแต่จำเลยเป็นผู้ร่วมอยู่ในกลุ่มชาวบ้าน 2 กลุ่ม ที่มีคนร้ายบางคนกระทำความผิดก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง หรือพฤติการณ์อันใดที่แสดงการขัดขวางมิให้ ศ. กับพวกนำรถดับเพลิงเข้าไปในบริเวณที่เกิดเหตุเผาสะพาน ยังไม่อาจถือได้ว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับคนร้าย ตาม ป.อ. มาตรา 83 กรณีต้องถือว่าจำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 มีเสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าวตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4685/2554
โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยกับพวกได้ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน โดยจำเลยกับพวกมีมีดยาวประมาณ 1 ฟุตเศษ ใบมีดกว้างประมาณ 2 นิ้ว เป็นอาวุธและตะโกนห้ามไม่ให้ผู้เสียหายทั้งสองเข้ามาใกล้ ไม่เช่นนั้นจะทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้บรรยายการกระทำของจำเลยที่โจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษว่าจำเลยกับพวกต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานโดยขับรถพุ่งเข้าใส่ผู้เสียหายทั้งสอง อันจะเป็นการต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานแต่อย่างใด ดังนั้น แม้จะได้ความตามทางพิจารณาว่าจำเลยกับพวกมีพฤติการณ์ในการหลบหนีโดยขับรถยนต์กระบะพุ่งเข้าใส่ผู้เสียหายทั้งสองก็ตาม ศาลก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความดังกล่าวนั้นได้ เพราะเป็นเรื่องข้อเท็จจริงนอกฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง กรณีหาใช่เป็นข้อแตกต่างที่มิใช่สาระสำคัญไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2385 - 2387/2554
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ร่วมกันขับรถยนต์ปาดหน้ารถยนต์โจทก์ร่วม แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจแล้วคุมตัวโจทก์ร่วมไปเจรจาหนี้สินกันโดยบังคับโจทก์ร่วมให้ใช้หนี้แก่จำเลยที่ 7 แทนจำเลยที่ 3 พฤติการณ์เป็นการร่วมกันวางแผนโดยแบ่งหน้าที่กันทำอันเป็นการกระทำความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้จำยอมต่อจำเลยทั้งเจ็ดกับพวก โดยกระทำให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพของผู้อื่น อันเป็นการกระทำผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคสอง และหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก

การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ยืนล้อมคุมเชิงโต๊ะเจรจาระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 4 และที่ 7 ไว้ เป็นพฤติการณ์ในเชิงข่มขู่โจทก์ร่วมอยู่ในตัว เพราะก่อนมีการเจรจา โจทก์ร่วมถูกบังคับใส่กุญแจมือมาพบจำเลยที่ 4 และที่ 7 ทั้งจำเลยที่ 4 ยังได้เตรียมแบบพิมพ์สัญญายืมและสัญญาค้ำประกันที่มีการกรอกข้อความว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้ยืมสิ่งของจากจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน โจทก์ร่วมซึ่งตกอยู่ในภาวะดังกล่าวจำยอมต้องลงชื่อในสัญญาดังกล่าว ดังนี้ แม้โจทก์ร่วมจะเป็นหนี้จำเลยที่ 3 อยู่ก็ตาม แต่จำเลยทั้งเจ็ดก็ไม่มีสิทธิใช้วิธีการที่ผิดกฎหมายในการบังคับให้โจทก์ร่วมจำยอมต้องชำระหนี้แทนจำเลยที่ 3 จึงเป็นการร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้ตนเองได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน ทำสัญญายืมสร้อยคอทองคำ ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิจากจำเลยทั้งเจ็ด อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก อีกฐานหนึ่งด้วย แต่การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นการกระทำผิดต่อเนื่องและมีเจตนาเดียวกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

หลังจากจำเลยที่ 1 ขับรถปาดหน้ารถยนต์ของโจทก์ร่วมให้หยุดรถ จำเลยที่ 6 ซึ่งไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานตำรวจได้เดินมาที่รถโจทก์ร่วมและบอกโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ว่า เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ แล้วจับโจทก์ร่วมใส่กุญแจมือควบคุมตัวไปพบจำเลยที่ 4 และที่ 7 ถือได้ว่าจำเลยที่ 6 แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ การกระทำของจำเลยที่ 6 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 145 วรรคแรกด้วย แต่เป็นการกระทำต่อเนื่องกันไปโดยมีเจตนาเดียวเพื่อบังคับให้โจทก์ร่วมชำระหนี้ให้จำเลยที่ 7 แทนจำเลยที่ 3 จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษจำเลยที่ 6 ตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียว ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1240/2554
สิบตำรวจเอก ป. แจ้งข้อหาจำเลยว่า เล่นการพนันจับยี่กีโดยเป็นคนเดินโพยฝ่ายเจ้ามือ จำเลยปฏิเสธ สิบตำรวจเอก ป. กับพวกรวม 5 คน จะเข้าจับกุม จำเลยไม่ยินยอมโดยสิบตำรวจเอก ป. มีรูปร่างใหญ่กว่าจำเลยมาก การที่จำเลยเดินหนีออกนอกร้านก๋วยเตี๋ยวจนสิบตำรวจเอก ป. กับพวกต้องใช้กำลังล็อกแขน กดหน้าจำเลยกับพื้นระเบียงเพื่อใส่กุญแจมือจำเลยในลักษณะไขว้หลัง ขณะจำเลยดิ้นรนขัดขืนเพื่อให้พ้นจากการถูกควบคุมตัวเพราะเห็นว่าตัวเองไม่ได้กระทำผิด ซึ่งแม้ในการดิ้นรนของจำเลยจะเป็นเหตุให้มือของจำเลยไปโดนหน้าอกของสิบตำรวจ ป. เกิดเป็นรอยถลอกขนาดเล็กก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าว ก็ยังไม่ถึงขั้นที่จะเป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 138

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 661/2554
การที่จำเลยเรียกและรับเงินไปจากผู้เสียหายเพื่อเป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการโดยวิธีอันทุจริตผิดกฎหมายเพื่อให้กระทำการในหน้าที่โดยการช่วยเหลือในทางคดีให้สั่งไม่ฟ้องในคดีที่ ร. ถูกดำเนินคดีอาญาแม้อัยการ ธ. จะมิได้เป็นเจ้าของสำนวนในคดีนั้นและจำเลยยังมิได้ให้เงินกันก็ตามก็ถือว่า ธ. เป็นเจ้าพนักงานที่จำเลยจะจูงใจให้กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณแก่ ร. แล้ว การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบแห่งความผิดตาม ป.อ. มาตรา 143 แล้ว

ความผิดฐานเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินเพื่อให้เจ้าพนักงานกระทำการตาม ป.อ. มาตรา 143 ไม่ใช่ความผิดต่อสาธารณชน แต่เป็นความผิดเกี่ยวกับรัฐโดยตรง โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย จึงไม่อาจเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10674/2553
จำเลยที่ 1 พูดต่อผู้เสียหายที่ 2 กับพวกซึ่งเป็นเจ้าพนักงานสรรพสามิตผู้มีอำนาจหน้าที่จับกุมผู้กระทำความผิดต่อกฎหมายเกี่ยวกับสรรพสามิตว่า "พวกมึงเป็นข้าราชการรังแกประชาชน แกล้งจับกู" ถ้อยคำดังกล่าวมิใช่เป็นเพียงคำกล่าวที่ไม่สุภาพและไม่สมควร แต่เป็นถ้อยคำดูถูก สบประมาทผู้เสียหายที่ 2 กับพวก จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 136

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9157/2553
เจ้าพนักงานตำรวจตั้งจุดตรวจและเรียกจำเลยที่ขับรถเพื่อจะผ่านจุดตรวจให้หยุดรถเพื่อตรวจการที่จำเลยไม่ยอมหยุดรถและขับผ่านจุดตรวจสกัดหลบหนีไป เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการหลบหนี เมื่อข้อเท็จจริงตามฟ้องไม่ได้ความว่าจำเลยกระทำอื่นใดนอกเหนือไปจากนี้ การกระทำของจำเลยจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8621/2553
โจทก์บรรยายฟ้องว่า "...จำเลย...ไม่มีสิทธิใช้คำนำหน้านามของตนเองว่าคุณหญิง ได้บังอาจแสดงตัวอวดอ้าง... ว่าตนเองเป็นคุณหญิงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทั้งนี้เพื่อให้บุคคลอื่นหลงเชื่อ..." เป็นการบรรยายให้เห็นว่าจำเลยไม่มีสิทธิใช้คำนำหน้าชื่อตนเองว่าคุณหญิงซึ่งเป็นสิ่งที่หมายถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และกระทำการเช่นนั้นเพื่อให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่าตนมีสิทธิ ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 146 แล้ว จำเลยแต่งกายประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งตนไม่มีสิทธิแล้วถ่ายรูปไว้ถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ไม่มีสิทธิใช้เครื่องราชอิสริยาภรณ์กระทำเช่นนั้นแล้ว ส่วนเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิหรือไม่เป็นเจตนาภายในจิตใจของจำเลย การที่จำเลยถ่ายรูปขนาด 20 นิ้ว คูณ 24 นิ้ว ติดไว้ในห้องรับแขกซึ่งไม่ใช่ที่ลับ แสดงว่าประสงค์ให้ผู้อื่นมาเห็นและต้องการให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีสิทธิใช้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามรูปถ่ายดังกล่าวจึงเป็นความผิดตามมาตรา 146

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8198/2550
การที่สิบตำรวจตรี ส. เบิกความว่า เมื่อวิ่งไล่ตามจำเลยจนทันแล้วจำเลยหันกลับมาใช้มือปัดป้องไม่ยอมให้พยาน เข้ามาใกล้ตัว เมื่อพยานเข้าไปกอดและพยานให้จำเลยคว่ำหน้าลง จำเลยล้มลงพร้อมกับพยาน จากนั้นพยานสั่งให้จำเลยนอนอยู่เฉยๆ แล้วพยานใส่กุญแจข้อมือและให้จำเลยลุกขึ้น โดยไม่ปรากฏว่าพยานเบิกความว่าจำเลยใช้เท้าถีบหรือใช้มือผลักอก อันเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายแต่อย่างใดการที่จำเลยปัดป้องไม่ยอมให้สิบ ตำรวจตรี ส. เข้าใกล้ตัว การกระทำของจำเลยยังถือไม่ได้ว่าเป็นการต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการ ปฏิบัติการตามหน้าที่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2535/2550
บ.พบกองไม้กระยาเลย อันเป็นไม้ผิดกฎหมายวางกองอยู่ข้างบ้าน ว. และ ว. รับว่ามีไม้หวงห้ามยังไม่ได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจริง การกระทำของ ว. ไม่ใช่ความซึ่งหน้าไม่เข้าข้อยกเว้นความผิดที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือเข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ อาญา มาตรา 80 วรรคสอง (1) (2) บ. จึงไม่มีอำนาจที่จะจับ ว. โดยไม่มีหมายจับ การที่ ว. ตาม บ. มาที่หน่วยคุ้มครองป่าจึงไม่ใช่เป็นการถูกจับตัวมา แม้ต่อมาจำเลยจะขับรถยนต์มาที่หน่วยคุ้มครองป่าและรับ ว. ขึ้นรถยนต์ของจำเลยขับออกไป บ. ติดตามจำเลยไปจนทันและเกิดเหตุกระทบกระทั่งกันขึ้นระหว่างจำเลยและ บ. ก็ยังไม่เป็นการต่อสู้หรือขัดขวาง บ. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1646/2550
การที่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพันตำรวจตรี ม. ในฐานะพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2543 และแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อร้อยตำรวจเอก ส. ในฐานะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 24ตุลาคม 2543 กรณี จ. ร้องขอความเป็นธรรมต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่า จ. เป็นผู้ขับรถบรรทุกสิบล้อเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ เป็นเหตุให้ผู้ขับรถจักรยานยนต์ถึงแก่ความตายนั้น เป็นการกระทำต่อเนื่องกัน แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นการกระทำคนละวันและต่อเจ้าพนักงานตำรวจคนละคนกัน ก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยมีเจตนาเดียวกันคือเจตนาเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงตามที่ เคยแจ้งข้อความไว้ต่อพนักงานสอบสวน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5236/2549
ข้อความที่จำเลยแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตรงตามสภาพเหตุการณ์ที่เกิด ขึ้น เป็นเรื่องที่จำเลยแจ้งความตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ส่วนการกระทำของโจทก์ทั้งสองจะเป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่จำเลยแจ้งหรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะการแจ้งความย่อมหมายถึงเฉพาะข้อเท็จจริงไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย แม้ต่อมาพนักงานสอบสวนจะได้ดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสองตามที่จำเลยแจ้ง และพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีโจทก์ทั้งสองก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าข้อความที่จำเลยแจ้งนั้นเป็นความเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 774/2548
จำเลย รู้ว่ากำลังถูกผู้เสียหายที่ 2 กับพวกซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจติดตามจับกุม การที่จำเลยกอดปล้ำต่อสู้และใช้มีดฟันแทงผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 138, 140 และเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานตามหน้าที่ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7793/2547
การที่จำเลยต่อสู้ขัดขืนการจับกุมและใช้กรรไกรแทงทำร้ายจ่าสิบตำรวจ ร. หลายครั้ง แต่ปรากฏว่าการแทงครั้งแรกถูกจ่าสิบตำรวจ ร. ที่ท้องแต่ไม่เข้า เมื่อกอดปล้ำกันจำเลยได้แทงที่ไหล่ขวาจนเสื้อขาดและไม่เข้าอีกเช่นกัน แสดงว่ามิใช่เป็นการแทงโดยแรง หลังจากนั้นจำเลยได้ใช้กรรไกรแทงที่กระเดือกและคอจ่าสินตำรวจ ร. มีเลือดไหลที่บริเวณกระเดือกเห็นได้ว่าขณะจำเลยใช้กรรไกรแทงจ่าสิบตำรวจ ร. นั้นเป็นการแทงขณะจำเลยและจ่าสิบตำรวจ ร. ต่อสู้กอดรัดกัน และเป็นการแทงเพื่อที่จำเลยจะหลบหนี จำเลยจึงอยู่ในภาวะที่ไม่มีโอกาสเลือกแทงอวัยวะส่วนใดของจ่าสิบตำรวจ ร. ได้ อาวุธที่จำเลยใช้แทงจ่าสิบตำรวจ ร. เป็นกรรไกรขนาดไม่ใหญ่ ไม่ใช่อาวุธโดยสภาพ แม้จำเลยจะใช้กรรไกรแทงจ่าสิบตำรวจ ร. หลายครั้ง แต่จ่าสิบตำรวจ ร. มีบาดแผลที่คอซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญเพียงแห่งเดียว บาดแผลดังกล่าวเป็นเพียงรอยถลอกยาว 0.5 เซนติเมตร แพทย์ลงความเห็นว่ารักษาประมาณ 7 วันหาย พฤติการณ์ดังกล่าวยังไม่พอฟังว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าจ่าสิบตำรวจ ร. จำเลยคงมีเจตนาทำร้ายจ่าสิบตำรวจ ร. เพื่อให้พ้นจากการจับกุมเท่านั้น คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตาม หน้าที่ เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาทำร้ายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตาม หน้าที่ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย และจำเลยยังมีความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตาม หน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายอีกด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9179/2547
จำเลย ที่ 3 แจ้งความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยที่ 3 ได้ขับรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนจำเลยที่ 4 ได้รับบาดเจ็บ เพื่อประสงค์ให้พนักงานสอบสวนจดข้อความอันเป็นเท็จลงในรายงานประจำวันเกี่ยว กับคดี ซึ่งเป็นเอกสารราชการเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานเท่านั้น อันเป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงานโดยตรง โดยจำเลยที่ 3 ไม่ได้เจาะจงว่ากล่าวถึงโจทก์เลย โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายโดยตรง แม้ข้อความเท็จนั้นจะครบองค์ประกอบเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 และมาตรา 267 แต่ข้อความเท็จที่จำเลยแจ้งมิได้มีการกล่าวอ้างถึงการกระทำอย่างหนึ่งอย่าง ใดที่กระทบกระเทือนถึงโจทก์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย

การที่จำเลยที่ 3 นำหนักฐานการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจไปเป็นหลักฐานยื่นคำร้องขอรับ ค่าเสียหายจากโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 3 อันเป็นการกระทำที่จะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ แต่โจทก์ยังไม่ได้จ่ายค่าเสียหายให้จำเลยที่ 3 เพราะโจทก์ทราบมาก่อนฟ้องแล้วว่าจำเลยที่ 3 แจ้งความเท็จ ทั้งการกระทำของจำเลยที่ 3 ในส่วนหลังเกิดขึ้นหลังจากการกระทำผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจ และเจ้าพนักงานตำรวจได้จดข้อความเท็จลงในเอกสารราชการสำเร็จแล้ว เป็นการกระทำอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากการกระทำที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ ดังนั้น จะนำเอาการกระทำผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 และมาตรา 267 มาเป็นข้อพิจารณาว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายส่วนนี้ไม่ได้ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายสำหรับความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้า พนักงานตาม ป.อ. มาตรา 137 และฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงใน เอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นพยานหลักฐานตาม ป.อ. มาตรา 267 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8832/2547
ความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 136 เป็นความผิดที่ไม่อาจยอมความกันได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 35 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องว่า โจทก์ บริษัท ม. และบริษัท ข. ตกลงกันได้เรียบร้อยแล้ว โจทก์จึงไม่ประสงค์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสาม โจทก์ บริษัท ม. บริษัท ข. และจำเลยที่โจทก์ถอนฟ้องไม่ประสงค์จะดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งต่อกันอีก ย่อมถือได้ว่าโจทก์มีเจตนาถอนฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ด้วย จึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฎีกาในความผิดฐานดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคำพิพากษา และความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสารเป็นความผิดต่อส่วนตัว โจทก์จะถอนฟ้องในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสารกับถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ได้ และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9567/2544
เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุม ป. สั่งให้ ป. ส่งเมทแอมเฟตามีนที่ ป. ถืออยู่เพื่อเป็นพยานหลักฐาน การที่จำเลย นำถุงบรรจุเมทแอมเฟตามีนจากมือของ ป. หลบหนีไป เป็นการเอาไปเสียซึ่งเมทแอมเฟตามีนที่เจ้าพนักงานสั่งให้ ส่งเพื่อเป็นพยานหลักฐาน มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 142

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8308/2544
จำเลย ที่ 1 และที่ 3 ดิ้นรนขัดขืนไม่ยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมโดยดีจำเลยที่ 2 ไม่ได้ต่อสู้ขัดขวางการจับกุม ฮ. แต่เพียงผู้เดียวทำร้ายสิบตำรวจเอก อ. ตามพฤติการณ์เป็นการตัดสินใจกระทำไปตามลำพังของจำเลยแต่ละคนโดยมิได้คบคิด กัน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิด จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ดังนั้น จึงปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 วรรคสองเท่านั้น จะปรับบทตามมาตรา 140 วรรคหนึ่งซึ่งเป็นบทลงโทษผู้กระทำความผิดโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ สามคนขึ้นไปตามที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3654/2543
การที่จำเลยที่ 2 นำข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลซึ่งเป็นข้อความในคำฟ้องที่จำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ และข้อความดังกล่าวล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับข้อหาความผิดที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ทั้งสิ้น การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์แก่คดีของตนที่ฟ้องโจทก์ เท่านั้น จึงไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 136 ส่วนการกระทำของจำเลยที่ 2 ก็เป็นการเผยแพร่คำฟ้อง ไม่มีข้อความอื่นนอกเหนืออันจะส่อแสดงให้เห็นเจตนาไม่สุจริตของจำเลยที่ 2 จึงเป็นเพียงการรายงานข่าวเรื่องที่โจทก์ถูกจำเลยที่ 1 ฟ้องคดีอาญาต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้แจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลโดยสุจริต จำเลยที่ 2 จึงได้รับความคุ้มครองตาม ป.อ. มาตรา 329 (4) ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามที่โจทก์ฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2989/2537
การที่จำเลยพูดขู่เข็ญจะฆ่าผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานป่าไม้หากไม่ปล่อย ไม้ที่ยึด เป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วย หน้าที่หรือให้ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ เป็นการลงมือกระทำความผิดครบองค์ประกอบความผิดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุ ผล เพราะผู้เสียหายไม่เกรงกลัวไม่ยินยอมปล่อยไม้ที่ยึด ผู้เสียหายจึงไม่ได้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยกฎหมายหรือละเว้นการปฏิบัติการ ตามหน้าที่ที่จำเลยข่มขืนใจ จำเลยจึง มีความผิดขั้นพยายามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 139ประกอบมาตรา 80

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 228/2534
จำเลย ที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่สายตรวจเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจยึดเลื่อยยนต์ เป็นของกลางและมอบให้นายดาบตำรวจ ส. เป็นผู้เก็บรักษาไว้แล้ว จำเลยที่ 1 หาได้มีหน้าที่จัดการหรือรักษาเลื่อยยนต์ ของกลางโดยตรงไม่ แม้จำเลยที่ 1จะเป็นผู้นำเลื่อยยนต์ ดังกล่าวไปขาย ก็ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 จำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่เวรยามและสายตรวจซึ่งมี หน้าที่ดูแลรักษาสิ่งของต่าง ๆ ในบริเวณสถานีตำรวจ ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่งโดยชอบให้ดูแลรักษาทรัพย์ของกลางที่สถานีตำรวจด้วย การที่จำเลยที่ 1 อาศัยโอกาสดังกล่าวลักเลื่อยยนต์ ของกลางซึ่งอยู่ในความดูแลตามหน้าที่ไปขายเพื่อประโยชน์ส่วนตัว จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1266/2530
ตำรวจจะเข้าจับกุมเจ้าของรถเข็นในข้อหานำรถที่ไม่ได้เสียภาษีมาใช้ในทางและกีด ขวางทางจราจร จำเลยพูดว่า 'ถ้าจับมีเรื่องแน่' พร้อมกับชี้มือในลักษณะของการข่มขู่ และพวกจำเลยประมาณ 30-40 คนได้เดินเข้าไปหาตำรวจ ทำให้ตำรวจกลัวว่าจำเลยและพวกจะทำร้ายจึงพากันถอยออกไป การกระทำของจำเลยกับพวกดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามีเจตนาที่จะข่มขืนใจไม่ให้ เจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ จำเลยจึงมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 139 และเมื่อการกระทำต้องด้วยมาตรา 140 ก็ไม่ต้องปรับบทด้วยมาตรา 139 อีก