ความผิดในราชอาณาจักร

มาตรา ๔  ผู้ใดกระทำความผิดในราชอาณาจักร ต้องรับโทษตามกฎหมาย

การกระทำความผิดในเรือไทยหรืออากาศยานไทย ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด ให้ถือว่ากระทำความผิดในราชอาณาจักร

มาตรา ๕  ความผิดใดที่การกระทำแม้แต่ส่วนหนึ่งส่วนใดได้กระทำในราชอาณาจักรก็ดี ผลแห่งการกระทำเกิดในราชอาณาจักรโดยผู้กระทำประสงค์ให้ผลนั้นเกิดในราชอาณาจักร หรือโดยลักษณะแห่งการกระทำ ผลที่เกิดขึ้นนั้นควรเกิดในราชอาณาจักรหรือย่อมจะเล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดในราชอาณาจักรก็ดี ให้ถือว่าความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร

ในกรณีการตระเตรียมการ หรือพยายามกระทำการใดซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แม้การกระทำนั้นจะได้กระทำนอกราชอาณาจักร ถ้าหากการกระทำนั้นจะได้กระทำตลอดไปจนถึงขั้นความผิดสำเร็จ ผลจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่า การตระเตรียมการหรือพยายามกระทำความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร

มาตรา ๖  ความผิดใดที่ได้กระทำในราชอาณาจักรหรือที่ประมวลกฎหมายนี้ถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร แม้การกระทำของผู้เป็นตัวการด้วยกัน ของผู้สนับสนุน หรือของผู้ใช้ให้กระทำความผิดนั้นจะได้กระทำนอกราชอาณาจักร ก็ให้ถือว่าตัวการ ผู้สนับสนุน หรือผู้ใช้ให้กระทำได้กระทำในราชอาณาจักร

มาตรา ๗ ผู้ใดกระทำความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้นอกราชอาณาจักร จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร คือ

(๑) ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๗ ถึงมาตรา ๑๒๙

(๑/๑)๑๑ ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๕/๑ มาตรา ๑๓๕/๒ มาตรา ๑๓๕/๓ และมาตรา ๑๓๕/๔

(๒) ความผิดเกี่ยวกับการปลอมและการแปลง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔๐ ถึง มาตรา ๒๔๙ มาตรา ๒๕๔ มาตรา ๒๕๖ มาตรา ๒๕๗ และมาตรา ๒๖๖ (๓) และ (๔)

(๒ ทวิ)๑๒ ความผิดเกี่ยวกับเพศตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๒ และมาตรา ๒๘๓

(๓) ความผิดฐานชิงทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๓๙ และความผิดฐานปล้นทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๔๐ ซึ่งได้กระทำในทะเลหลวง

มาตรา ๘ ผู้ใดกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร และ

(ก) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้นหรือผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ หรือ

(ข) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนต่างด้าว และรัฐบาลไทยหรือคนไทยเป็นผู้เสียหายและผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ

ถ้าความผิดนั้นเป็นความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้ จะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร คือ

(๑) ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา๒๑๗ มาตรา ๒๑๘ มาตรา ๒๒๑ ถึงมาตรา ๒๒๓ ทั้งนี้ เว้นแต่กรณีเกี่ยวกับมาตรา ๒๒๐ วรรคแรก และมาตรา ๒๒๔ มาตรา ๒๒๖ มาตรา ๒๒๘ ถึงมาตรา ๒๓๒ มาตรา ๒๓๗ และมาตรา ๒๓๓ ถึง มาตรา ๒๓๖ ทั้งนี้ เฉพาะเมื่อเป็นกรณีต้องระวางโทษตามมาตรา ๒๓๘

(๒) ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖๔ มาตรา ๒๖๕ มาตรา ๒๖๖(๑) และ (๒) มาตรา ๒๖๘ ทั้งนี้ เว้นแต่กรณีเกี่ยวกับมาตรา ๒๖๗ และมาตรา ๒๖๙

(๒/๑)๑๓ ความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖๙/๑ ถึง มาตรา ๒๖๙/๗

(๒/๒)๑๔ ความผิดเกี่ยวกับหนังสือเดินทางตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖๙/๘ ถึง มาตรา ๒๖๙/๑๕

(๓) ความผิดเกี่ยวกับเพศ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗๖ มาตรา ๒๘๐ และมาตรา ๒๘๕ ทั้งนี้ เฉพาะที่เกี่ยวกับมาตรา ๒๗๖

(๔) ความผิดต่อชีวิต ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๘ ถึงมาตรา ๒๙๐

(๕) ความผิดต่อร่างกาย ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๙๕ ถึงมาตรา ๒๙๘

(๖) ความผิดฐานทอดทิ้งเด็ก คนป่วยเจ็บหรือคนชรา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐๖ ถึงมาตรา ๓๐๘

(๗) ความผิดต่อเสรีภาพ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐๙ มาตรา ๓๑๐ มาตรา ๓๑๒ ถึงมาตรา ๓๑๕ และมาตรา ๓๑๗ ถึงมาตรา ๓๒๐

(๘) ความผิดฐานลักทรัพย์และวิ่งราวทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๓๔ ถึง มาตรา ๓๓๖

(๙) ความผิดฐานกรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา ๓๓๗ ถึงมาตรา ๓๔๐

(๑๐) ความผิดฐานฉ้อโกง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๔๑ ถึงมาตรา ๓๔๔ มาตรา ๓๔๖ และมาตรา ๓๔๗

(๑๑) ความผิดฐานยักยอก ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๕๒ ถึงมาตรา ๓๕๔

(๑๒) ความผิดฐานรับของโจร ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๕๗

(๑๓) ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๕๘ ถึงมาตรา ๓๖๐

มาตรา ๙ เจ้าพนักงานของรัฐบาลไทยกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๗ ถึงมาตรา ๑๖๖ และมาตรา ๒๐๐ ถึงมาตรา ๒๐๕ นอกราชอาณาจักร จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร

มาตรา ๑๐ ผู้ใดกระทำการนอกราชอาณาจักรซึ่งเป็นความผิดตามมาตราต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา ๗ (๒) และ (๓) มาตรา ๘ และมาตรา ๙ ห้ามมิให้ลงโทษผู้นั้นในราชอาณาจักรเพราะการกระทำนั้นอีก ถ้า

(๑) ได้มีคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศอันถึงที่สุดให้ปล่อยตัวผู้นั้น หรือ

(๒) ศาลในต่างประเทศพิพากษาให้ลงโทษ และผู้นั้นได้พ้นโทษแล้ว

ถ้าผู้ต้องคำพิพากษาได้รับโทษสำหรับการกระทำนั้นตามคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศมาแล้ว แต่ยังไม่พ้นโทษ ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ หรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงโทษที่ผู้นั้นได้รับมาแล้ว

มาตรา ๑๑ ผู้ใดกระทำความผิดในราชอาณาจักร หรือกระทำความผิดที่ประมวลกฎหมายนี้ถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร ถ้าผู้นั้นได้รับโทษสำหรับการกระทำนั้นตามคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศมาแล้วทั้งหมด หรือแต่บางส่วน ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ หรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงโทษที่ผู้นั้นได้รับมาแล้ว

ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดในราชอาณาจักร หรือกระทำความผิดที่ประมวลกฎหมายนี้ถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร ได้ถูกฟ้องต่อศาลในต่างประเทศโดยรัฐบาลไทยร้องขอ ห้ามมิให้ลงโทษผู้นั้นในราชอาณาจักรเพราะการกระทำนั้นอีก ถ้า

(๑) ได้มีคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศอันถึงที่สุดให้ปล่อยตัวผู้นั้น หรือ

(๒) ศาลในต่างประเทศพิพากษาให้ลงโทษ และผู้นั้นได้พ้นโทษแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7142/2562
ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารเป็นความผิดนับแต่จำเลยทั้งสองกับพวกเริ่มพรากผู้เสียหายที่ 1 ขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 อยู่นอกราชอาณาจักร และเป็นความผิดต่อเนื่องติดต่อกันตลอดมาในท้องที่ต่าง ๆ หลายท้องที่ตลอดเวลาที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันพาผู้เสียหายที่ 1 เข้ามาในราชอาณาจักรและหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 1 ไว้เพื่อการค้าประเวณีที่จังหวัดตราด ถือได้ว่าความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อเนื่องเกิดขึ้นหลายท้องที่ทั้งนอกราชอาณาจักรและในราชอาณาจักร โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตามมาตรา 5 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

ความผิดฐานพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคแรก (เดิม) และฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจาร โดยใช้อุบายหลอกลวงขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด ตามมาตรา 284 วรรคแรก (เดิม) ต้องเป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของตนเองหรือผู้ร่วมกระทำความผิดกับตน เมื่อจำเลยทั้งสองร่วมกันเป็นธุระจัดหาและพาผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อให้กระทำการค้าประเวณี อันเป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น มิใช่เพื่อสนองความใคร่ของจำเลยทั้งสองกับพวก การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดสองฐานนี้

ความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าของกิจการการค้าประเวณี ผู้ดูแล หรือผู้จัดการกิจการการค้าประเวณีหรือสถานการค้าประเวณี กับความผิดฐานร่วมกันดำรงชีพอยู่แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของผู้ซึ่งค้าประเวณี เมื่อจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของ ผู้ดูแล หรือผู้จัดการสถานการค้าประเวณีและดำรงชีพอยู่แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของผู้ซึ่งค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณีของจำเลยทั้งสองนั้นเอง จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 แก้ไขอัตราโทษตาม ป.อ. มาตรา 286 วรรคแรก และมาตรา 318 วรรคสาม แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง จึงต้องใช้กฎหมายเดิมในขณะที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิด แต่ต่อมาในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ให้ยกเลิกความในมาตรา 286 ซึ่งกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำความผิดตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณเฉพาะในส่วนโทษจำคุก จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณไม่ว่าในทางใด ตาม ป.อ. มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6593/2559
ความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 ไม่ใช่ความผิดที่มีผลเกิดขึ้นต่างหากจากการกระทำ เมื่อจำเลยพูดให้สัมภาษณ์นักข่าว การกระทำของจำเลยที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นความผิดย่อมสำเร็จ เมื่อนักข่าวซึ่งเป็นบุคคลที่สามทราบข้อความแล้ว โดยคนที่ถูกหมิ่นประมาทไม่ต้องรู้ว่าตนเองถูกหมิ่นประมาท สำหรับข้อที่ว่าโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังนั้น เป็นพฤติการณ์ประกอบการกระทำ ไม่ใช่ผลของการกระทำ จึงไม่ต้องด้วย ป.อ. มาตรา 5 วรรคแรก เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทนอกราชอาณาจักรและไม่ใช่กรณีกระทำความผิดที่ประมวลกฎหมายอาญาถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร ผู้กระทำความผิดจึงไม่ต้องรับโทษในราชอาณาจักร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6593/2559
ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ไม่ใช่ความผิดที่มีผลเกิดขึ้นต่างหากจากการกระทำ เมื่อจำเลยพูดให้สัมภาษณ์นักข่าว การกระทำของจำเลยที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นความผิดย่อมสำเร็จ เมื่อนักข่าวซึ่งเป็นบุคคลที่สามทราบข้อความแล้ว โดยคนที่ถูกหมิ่นประมาทไม่ต้องรู้ว่าตนเองถูกหมิ่นประมาท สำหรับข้อที่ว่าโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังนั้น เป็นพฤติการณ์ประกอบการกระทำ ไม่ใช่ผลของการกระทำ จึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 5 วรรคแรก เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทนอกราชอาณาจักรและไม่ใช่กรณีกระทำความผิดที่ประมวลกฎหมายอาญาถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร ผู้กระทำความผิดจึงไม่ต้องรับโทษในราชอาณาจักร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 312/2558
ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขัง ทำให้ปราศจากเสรีภาพเพื่อให้ผู้อื่นทำการค้าประเวณีตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 12 เป็นความผิดอาญาแผ่นดินที่เกิดขึ้นในประเทศเดนมาร์กนอกราชอาณาจักร จำเลยที่ 3 ผู้กระทำผิดเป็นคนไทยและผู้เสียหายทั้งสองได้ร้องขอให้ลงโทษ จำเลยที่ 3 จะต้องรับโทษในราชอาณาจักรและศาลไทยจะลงโทษได้เฉพาะความผิดต่อเสรีภาพตามมาตรา 309 และมาตรา 310 ประกอบมาตรา 8 ตาม ป.อ. เท่านั้น ศาลฎีกาต้องตีความกฎหมายทางอาญา โดยเคร่งครัด จะขยายความมาตรา 8 ไปไกลว่า กฎหมายอาญามีเจตนารมณ์ให้ลงโทษผู้กระทำผิดตามกฎหมายพิเศษเฉพาะเรื่องอันมีโทษหนักขึ้นตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 12 หาได้ไม่ และมาตรา 12 นั้นเองไม่ได้บัญญัติว่า หากกระทำความผิดดังกล่าวไม่ว่าภายในหรือนอกราชอาณาจักรต้องรับโทษด้วย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4901/2555
ศาลในต่างประเทศพิพากษาให้ลงโทษจำเลยข้อหาค้าประเวณี แต่คดีนี้จำเลยกระทำความผิดข้อหาเป็นธุระจัดหาซึ่งบุคคลใดเพื่อการอนาจาร และเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณีเป็นคนละข้อหากันและการกระทำต่างกัน การห้ามมิให้ลงโทษจำเลยในราชอาณาจักรตาม ป.อ. มาตรา 10 ต้องเป็นการลงโทษเพราะการกระทำเดียวกัน คือ เมื่อลงโทษข้อหาใดในต่างประเทศแล้วจะลงโทษข้อหาเดียวกันซ้ำในราชอาณาจักรอีกไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5445/2552
แม้เหตุจะเกิดที่นอกราชอาณาจักรแต่เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมจะเล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร เพราะเรือที่รับช่วงน้ำมันจะต้องนำน้ำมันของกลางไปจำหน่ายให้แก่เรือที่ทำการประมงในทะเลอาณาเขตซึ่งอยู่ในเขตราชอาณาจักรไทย กรณีต้องด้วย ป.อ. มาตรา 5 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า การพยายามกระทำการใดซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แม้การกระทำนั้นจะได้กระทำนอกราชอาณาจักร ถ้าหากการกระทำนั้นจะได้กระทำตลอดไปจนถึงขั้นความผิดสำเร็จผลจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักรให้ถือว่าการพยายามกระทำความผิดได้กระทำในราชอาณาจักร และการพยายามกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดซึ่งถือเสมือนเป็นความผิดสำเร็จโดยมีโทษเช่นเดียวกับความผิดสำเร็จ จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5445/2552
บริเวณทะเลจุดที่เกิดเหตุอยู่ในเขตต่อเนื่องกับทะเลอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีอำนาจตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่จะป้องกันมิให้มีการละเมิดกฎหมายและระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการศุลกากรได้ ประเทศไทยได้ประกาศเขตอำนาจในเขตต่อเนื่องกับทะเลอาณาเขตตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2538 แล้ว ดังนั้น ในขณะเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจจึงมีอำนาจตรวจค้นเรือใดๆ ที่สงสัยว่าจะละเมิดกฎหมายและระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการศุลกากรและจับกุมผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิดต่อกฎหมายและระเบียบดังกล่าวในทะเลซึ่งเป็นเขตต่อเนื่องได้ การจับกุมจำเลยกับพวกจึงชอบด้วย ป.วิ.อ. ตลอดจนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2538 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุแล้ว

จำเลยลอยเรือเพื่อให้เรือลำอื่นที่ชักธงชาติไทยมารับช่วงน้ำมันไปจำหน่ายแก่เรือประมงอีกทอดหนึ่ง แม้เหตุจะเกิดที่นอกราชอาณาจักรแต่เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมจะเล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักรเพราะเรือที่รับช่วงน้ำมันจะต้องนำน้ำมันไปจำหน่ายให้แก่เรือประมงที่ทำการประมงในทะเลอาณาเขตซึ่งอยู่ในเขตราชอาณาจักรไทย การกระทำของจำเลยจึงอยู่ในขั้นพยายามต้องด้วย ป.อ. มาตรา 5 วรรคสอง จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 595/2551
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์ด้วยความประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บและไม่คำนึง ถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 160 และ ป.อ. มาตรา 390 เจ้าพนักงานยึดรถยนต์ซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดเป็นของกลาง โจทก์ได้อ้าง ป.อ. มาตรา 33 และขอให้ริบรถยนต์ของกลางด้วย เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ จึงฟังเป็นยุติว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด จำเลยจะฎีกาโต้แย้งว่ารถยนต์ของกลางมิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดอีก ไม่ได้ และแม้ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดที่ใช้ลงโทษแก่จำเลยจะไม่มีบทบัญญัติให้ ริบทรัพย์ดังกล่าว แต่จะถือว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วจึงไม่อาจนำหลัก ทั่วไปในประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับหาได้ไม่ เนื่องจาก ป.อ. มาตรา 33 กำหนดให้ศาลริบทรัพย์ได้นอกเหนือไปจากกรณีที่กฎหมายอื่นได้บัญญัติไว้ด้วย ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาริบรถยนต์ของกลางได้ตาม ป.อ. มาตรา 17, 33 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3044/2549
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อบรรทุกทรายซึ่งมีน้ำหนักยานพาหนะ รวมน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ทางหลวงฯ และขอให้ศาลสั่งริบรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลาง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องและคดีไม่จำต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพ จึงฟังได้ว่าจำเลยได้ใช้รถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางบรรทุกน้ำหนักเกินกว่า อัตราที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย รถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางจึงเป็นทรัพย์สินที่บุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) แม้ พ.ร.บ.ทางหลวงฯ มาตรา 61, 73 มิได้บัญญัติถึงการริบของกลางไว้ แต่ก็มิได้บัญญัติถึงเรื่องนี้ไว้เป็นอย่างอื่น จึงนำมาตรา 33 มาใช้บังคับได้ตามมาตรา 17 แห่ง ป.อ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4905/2548
การจะถือว่าความผิดใดได้กระทำในราชอาณาจักรตาม ป.อ. มาตรา 5 ต้องปรากฏว่าส่วนหนึ่งส่วนใดของความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักรหรือผลแห่ง การกระทำเกิดในราชอาณาจักร คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องระบุว่าเหตุทุกข้อหาเกิดในราชอาณาจักรที่บริเวณ ตำบลใดไม่ปรากฏชัด อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร แต่ตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่าเหตุเกิดในเขตต่อเนื่องของประเทศไทยไม่มี ส่วนหนึ่งส่วนใดของความผิดได้กระทำในราชอาณาจักรและผลแห่งการกระทำก็ไม่ได้ เกิดในราชอาณาจักรตาม ป.อ. มาตรา 5 แต่อย่างใด จะถือว่าจำเลยกระทำความผิดในราชอาณาจักรไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8335/2547
จำเลย มี 3,4 - เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยเมื่อจำเลยลงจากเครื่องบินของสายการบินที่จำเลย โดยสารมาจากเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อเปลี่ยนเครื่องบินไปยังเมืองไทเป ดินแดนไต้หวัน ขณะจำเลยเดินผ่านห้องผู้โดยสารขาออกของท่าอากาศยานกรุงเทพ จำเลยจึงเข้ามาในราชอาณาจักรไทยแล้ว เมื่อจำเลยมียาเสพติดให้โทษดังกล่าวไว้ครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งตามกฎหมายไทยบัญญัติว่าเป็นความผิด จำเลยจึงเป็นผู้กระทำความผิดในราชอาณาจักร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7665/2543
การตกแต่งภายในมิใช่งานเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงสร้างของอาคาร การก่อสร้างอาคารผิดแบบแปลนย่อมเป็นความผิดสำเร็จในวันที่ทำการก่อสร้างโครง สร้างและส่วนประกอบของโครงสร้างแล้วเสร็จ

จำเลยทั้งเจ็ดกระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ต้องระวางโทษตามมาตรา 65 ประกอบด้วยมาตรา 70 เป็นความผิดสำเร็จในวันที่การก่อสร้างโครงสร้างแล้วเสร็จ แต่โจทก์นำคดีอาญาฟ้องเกินกว่าห้าปี นับแต่วันดังกล่าว คดีโจทก์ขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1950/2542
แม้จำเลยที่ 3 มิได้อยู่ในฐานะเป็นตัวการในการปล้นเงินที่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาว เพราะขณะทำการปล้นจำเลยที่ 3 อยู่ที่ประเทศไทย แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 ที่ร่วมวางแผนปรึกษากับผู้ร่วมกระทำความผิดเพื่อจะไปปล้นเงินดังกล่าว และให้ความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์ที่ใช้ในการปล้นแก่ตัวการก่อนการกระทำความ ผิด ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้สนับสนุนในความผิดฐานปล้นทรัพย์

จำเลยที่ 6 ขับรถยนต์ไปส่งจำเลยที่ 1 กับพวกลงเรือข้ามฝั่งไปประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อไปปล้นเงินตามแผนการที่กำหนดไว้ ทั้งยังคอยอำนวยความสะดวกด้วยการไปรอรับโบกเสื้อคลุมให้สัญญาณภายหลังที่ จำเลยที่ 1 กับพวกกระทำการปล้นเงินแล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 6 ให้การช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์แก่จำเลยที่ 1 กับพวกทั้งก่อนและหลังกระทำความผิด จำเลยที่ 6 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดฐานปล้นทรัพย์

จำเลยที่ 1 กับพวกได้ร่วมกันปล้นธนาคารในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แล้วพาทรัพย์หนีเข้ามาในประเทศไทย คณะกรรมการปกครองกำแพงนครเวียงจันทน์ได้แต่งตั้งเจ้าพนักงานตำรวจมาสมทบกับ เจ้าพนักงานตำรวจของไทยเพื่อติดตามคนร้ายพร้อมของกลางมาลงโทษตามกฎหมาย เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้ได้รับการแต่งตั้งจากประเทศดังกล่าวได้ร้องทุกข์ ให้ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดที่เป็นคนไทยต่อพันตำรวจเอก ส. หัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัดหนองคายแล้ว ดังนั้นพนักงานสอบสวนที่ได้รับแต่งตั้งจากพันตำรวจเอก ส. ให้ทำการสอบสวนคดีนี้ จึงถือเป็นพนักงานสอบสวนซึ่งรัฐบาลประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้ ร้องฟ้องให้ทำโทษผู้ต้องหา มีอำนาจสอบสวนในระหว่างรอฟังคำสั่งจากอัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนโดย ต้องดำเนินการที่จำเป็นทุกอย่างเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหาย เมื่อต่อมาอัยการสูงสุดได้มอบหมายให้พลตำรวจตรี ห. เป็นพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบ การสอบสวนที่พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ย่อมถือว่าเป็นการสอบ สวนโดยชอบไม่ต้องคำนึงว่าพลตำรวจตรี ห. ได้ปฏิบัติเกี่ยวกับการสอบสวนมาแล้วหรือไม่เพียงใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6516/2537
ความผิดเกิดขึ้นในทะเลหลวง นอกราชอาณาจักรไทย ศาลไทยจะลงโทษผู้กระทำผิดที่เป็นคนไทยในข้อหาความผิดต่อชีวิตตามประมวล กฎหมายอาญามาตรา 8(4) ได้ต่อเมื่อผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 8(ก) แต่คดีนี้ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าผู้ตายซึ่งถือว่าเป็นผู้เสียหายเป็นใครบ้าง และไม่ปรากฏว่าจะมีผู้ใดซึ่งสามารถจัดการแทนผู้ตายได้ตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความอาญา มาตรา 5(2)ได้ ดำเนินการร้องขอให้ศาลไทยลงโทษ ที่ปรากฏว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ขอให้ลงโทษก็เฉพาะผู้เสียหายทั้งสี่ที่ ถูกปล้นทรัพย์และพยายามฆ่าเท่านั้น ฉะนั้น จึงลงโทษจำเลยฐานฆ่าผู้อื่นไม่ได้ คงลงโทษได้เฉพาะข้อหาปล้นทรัพย์และพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสี่ซึ่งผู้เสีย หายทั้งสี่ได้ร้องทุกข์ขอให้ลงโทษจำเลยแล้วเท่านั้น โจทก์บรรยายฟ้องข้อหาปล้นทรัพย์ไว้ในข้อ 1 ก. แยกต่างหากจากข้อหาฆ่าและพยายามฆ่าซึ่งอยู่ในข้อ 1 ข. เพียงว่า จำเลยกับพวกร่วมกันใช้มีดและขวานเป็นอาวุธในการปล้นทรัพย์โดยใช้เรือยนต์ ซึ่งใช้ในการประมงเป็นยานพาหนะเท่านั้น ไม่ได้บรรยายว่าในการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายด้วยถือว่า โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยดังกล่าว ศาลย่อมไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคท้าย ได้เพราะเป็นการเกินคำขอที่โจทก์กล่าวในฟ้องไม่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 คงลงโทษจำเลยได้เพียงฐานปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธและใช้ยานพาหนะเพื่อการทำผิด เท่านั้น หลังจากที่จำเลยกับพวกปล้นทรัพย์ได้แล้ว ได้ถอยเรือไปอยู่ห่างจากเรือของผู้เสียหายทั้งสี่กับพวกประมาณ 20 เมตร เพื่อรอดูเรือประมงลำที่ 3 และลำที่ 4 เข้ามาเทียบกับเรือผู้เสียหายทั้งสี่กับพวกแล้วลูกเรือประมงลำที่ 3 ขึ้นไปพาพวกของผู้เสียหายทั้งสี่ที่เป็นหญิง 6 คน ขึ้นไปบนเรือประมงลำที่ 3 เสร็จแล้วเรือประมงลำที่ 3และลำที่ 4 จึงแล่นออกไป หลังจากนั้นจำเลยกับพวกขับเรือประมงพุ่งเข้าชนเรือผู้เสียหายทั้งสี่กับพวก จนมีพวกของผู้เสียหายตกทะเลหายไปประมาณ 20 คน นั้น ยังอยู่ในช่วงแห่งการปล้นทรัพย์ เพราะเป็นเวลาใกล้ชิดต่อเนื่องจากการได้ทรัพย์และพาเอาทรัพย์ที่ปล้นได้ไป เจตนาที่จำเลยกับพวกต้องการให้ผู้เสียหายกับพวกถึงแก่ความตายก็เพื่อปกปิด การที่ตนกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์นั้นเอง การพยายามฆ่าผู้เสียหายจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกับการปล้นทรัพย์ซึ่งต้องลง โทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปัญหาข้อกฎหมายเหล่านี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195,225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2670/2535
เหตุเกิดขึ้นในเรือไทย เป็นการกระทำความผิดในราชอาณาจักรพนักงานสอบสวน กองปราบปราม กรมตำรวจ มีอำนาจสอบสวนคดีอาญาได้ทั่วราชอาณาจักร จึงมีอำนาจสอบสวน ส.เบิกความเป็นพยานจำเลย หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยานอันเป็นการฝ่าฝืน ป.วิ.อ. มาตรา 232 ไม่ คำเบิกความของส.นำมารับฟังเพื่อประกอบดุลพินิจในการวินิจฉัยคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1021/2518
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การปล้นได้กระทำไปโดยจำเลยที่ 1 กับพวกอีก 2 คน มีอาวุธปืนติดตัว จำเลยที่ 2 ผู้ร่วมกระทำการปล้นด้วยแม้จะไม่ปรากฏว่ามีอาวุธใดติดตัวไปก็ต้องมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง แต่เฉพาะจำเลยที่ 1 ผู้เดียวที่กระทำการปล้นโดยมีและใช้อาวุธปืนจี้เจ้าทรัพย์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงต้องด้วยมาตรา 340 ตรี ต้องระวางโทษหนักกว่าโทษตามมาตรา 340 วรรคสองอีกกึ่งหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 2 หาต้องระวางโทษตามนี้ด้วยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 422/2507
ก่อนใช้ประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย พ.ศ.2479 มาตรา 5 บัญญัติให้ถือกักกันเป็นโทษอาญาสถานหนึ่ง เมื่อใช้ประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 15 ให้เปลี่ยนโทษกักกันมาเป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัยโทษกักกันจึงไม่ใช่โทษ อาญาเสียแล้ว แต่บทบัญญัติมาตรา 15 นี้ย่อมไม่ย้อนหลังไปบังคับถึงโทษกักกันที่ได้เสร็จสิ้นพ้นโทษไปแล้ว

จำเลยเคยต้องคำพิพากษาให้กักกันมีกำหนด 3 ปี พ้นโทษไปเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2498 ก่อนใช้พระราชบัญญัติล้างมลทินฯ พ.ศ.2499 และก่อนใช้ประมวลกฎหมายอาญา ดังนี้ โทษกักกันที่จำเลยได้รับเสร็จสิ้นไปแล้วก่อนประมวลกฎหมายอาญาออกใช้ ก็คงถือเป็นโทษอยู่ ย่อมได้รับการล้างมลทินโดยพระราชบัญญัติล้างมลทินฯ พ.ศ.2499 มาตรา 3 จะกักกันจำเลยโดยอาศัยเหตุที่จำเลยเคยถูกกักกันมาแล้วตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 41 อีกหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 709/2503
จำเลย ต้องโทษฐานลักทรัพย์ ศาลจำคุก 6 เดือนต่อมาจำเลยต้องโทษฐานทำร้ายร่างกาย ต่อสู้เจ้าพนักงานและเมาสุราศาลรวมกะทงลงโทษจำคุก 1 ปีแต่ฐานทำร้ายร่างกายนั้นศาลวางโทษจำคุก 4 เดือนความผิดฐานทำร้ายร่างกายจึงนำมากักกันจำเลยไม่ได้คงเหลือโทษฐานลัก ทรัพย์ครั้งเดียวที่เป็นโทษฐานที่ระบุไว้ในมาตรา 41 ประมวลกฎหมายอาญาและมีกำหนดโทษจำคุกถึง 6 เดือนศาลจึงมีอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 14 ที่จะสั่งตามที่เห็นสมควรศาลจึงอาจสั่งให้ยกเลิกการกักกันให้จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 433/2502
ศาลพิพากษาจำคุกจำเลย 1 ปี และให้ส่งตัวไปกักกันอีก 3 ปีคดีถึงที่สุดก่อนใช้พระราชบัญญัติล้างมลทินและประมวลกฎหมายอาญาเมื่อจำเลย ถูกจำคุกครบ 1 ปี แล้วระหว่างที่จำเลยถูกกักกันอยู่ มีพระราชบัญญัติล้างมลทินฯและประมวลกฎหมายอาญา ประกาศใช้บังคับเมื่อความผิดของจำเลยที่ต้องคำพิพากษามาแล้วนั้น เข้าเกณฑ์ที่ศาลอาจพิพากษาให้กักกันได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา41โทษกักกันที่จำเลยได้รับอยู่จึงเปลี่ยนลักษณะมาเป็นวิธีการเพื่อความ ปลอดภัยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา15 วรรคแรกแม้ตามประมวลกฎหมายอาญาไม่ถือว่ากักกันเป็นโทษหากเป็นแต่เพียงวิธี การเพื่อความปลอดภัยที่จำเลยยังต้องรับต่อไปก็ตามก็ยังไม่ถือว่าจำเลยได้พ้น โทษกักกันนั้นไปแล้ว เพราะยังต้องถูกกักกันอยู่ โดยผลแห่งคำพิพากษาของศาลความผิดในกรณีนี้ของจำเลยจึงยังไม่ถูกลบล้างตาม มาตรา3 พระราชบัญญัติลบล้างมลทินฯ พ.ศ.2499 ศาลจะสั่งปล่อยจำเลยไปหาได้ไม่ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2502)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 54/2501
การที่จะรื้อฟื้นเอาคำพิพากษาในคดีอาญาถึงที่สุดแล้วมาเปลี่ยนแปลงได้ จะต้องอาศัยอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง และมาตรา 3

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 12 ถึง 16 ได้บัญญัติเรื่องวิธีการเพื่อความปลอดภัยไว้และได้มี มาตรา41 บัญญัติถึงเงื่อนไขในการที่จะกักกันไว้ด้วยซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงไปจากที่ บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติกักกันฯ พ.ศ.2479 มาตรา8,9. ต้องนำบทบัญญัติ มาตรา 41 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ที่บัญญัติภายหลังเป็นคุณแก่จำเลยมาใช้บังคับ