คำจำกัดความ

มาตรา ๑ ในประมวลกฎหมายนี้ 
(๑) “โดยทุจริต” หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น
(๒) “ทางสาธารณ” หมายความว่า ทางบกหรือทางน้ำสำหรับประชาชนใช้ในการจราจร และให้หมายความรวมถึงทางรถไฟและทางรถรางที่มีรถเดิน สำหรับประชาชนโดยสารด้วย
(๓) “สาธารณสถาน” หมายความว่า สถานที่ใดๆ ซึ่งประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้
(๔) “เคหสถาน” หมายความว่า ที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัย เช่น เรือน โรง เรือ หรือแพ ซึ่งคนอยู่อาศัย และให้หมายความรวมถึงบริเวณของที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยนั้นด้วย จะมีรั้วล้อมหรือไม่ก็ตาม
(๕) “อาวุธ” หมายความรวมถึงสิ่งซึ่งไม่เป็นอาวุธโดยสภาพ แต่ซึ่งได้ใช้หรือเจตนาจะใช้ประทุษร้ายร่างกายถึงอันตรายสาหัสอย่างอาวุธ
(๖) “ใช้กำลังประทุษร้าย” หมายความว่า ทำการประทุษร้ายแก่กายหรือจิตใจของบุคคล ไม่ว่าจะทำด้วยใช้แรงกายภาพหรือด้วยวิธีอื่นใด และให้หมายความรวมถึงการกระทำใดๆ ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ไม่ว่าจะโดยใช้ยาทำให้มึนเมา สะกดจิต หรือใช้วิธีอื่นใดอันคล้ายคลึงกัน
(๗) “เอกสาร” หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใดซึ่งได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพ หรือวิธีอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น
(๘) “เอกสารราชการ” หมายความว่า เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ และให้หมายความรวมถึงสำเนาเอกสารนั้นๆ ที่เจ้าพนักงานได้รับรองในหน้าที่ด้วย
(๙) “เอกสารสิทธิ” หมายความว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ
(๑๐) “ลายมือชื่อ” หมายความรวมถึงลายพิมพ์นิ้วมือและเครื่องหมายซึ่งบุคคลลงไว้แทนลายมือชื่อของตน
(๑๑) “กลางคืน” หมายความว่า เวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกและพระอาทิตย์ขึ้น (๑๒) “คุมขัง” หมายความว่า คุมตัว ควบคุม ขัง กักขังหรือจำคุก
(๑๓) “ค่าไถ่” หมายความว่า ทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่เรียกเอา หรือให้เพื่อแลกเปลี่ยนเสรีภาพของผู้ถูกเอาตัวไป ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือผู้ถูกกักขัง 
(๑๔) “บัตรอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า 
(ก) เอกสารหรือวัตถุอื่นใดไม่ว่าจะมีรูปลักษณะใดที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ ซึ่งจะระบุชื่อหรือไม่ก็ตาม โดยบันทึกข้อมูลหรือรหัสไว้ด้วยการประยุกต์ใช้วิธีการทางอิเล็กตรอน ไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือวิธีอื่นใดในลักษณะคล้ายกัน ซึ่งรวมถึงการประยุกต์ใช้วิธีการทางแสงหรือวิธีการทางแม่เหล็กให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข รหัส หมายเลขบัตร หรือสัญลักษณ์อื่นใดทั้งที่สามารถมองเห็นและมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
(ข) ข้อมูล รหัส หมายเลขบัญชี หมายเลขชุดทางอิเล็กทรอนิกส์หรือเครื่องมือทางตัวเลขใดๆ ที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ โดยมิได้มีการออกเอกสารหรือวัตถุอื่นใดให้ แต่มีวิธีการใช้ในทำนองเดียวกับ (ก) 
หรือ
(ค) สิ่งอื่นใดที่ใช้ประกอบกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของ (๑๕) “หนังสือเดินทาง” หมายความว่า เอกสารสำคัญประจำตัวไม่ว่าจะมีรูปลักษณะใดที่รัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศออกให้แก่บุคคลใด เพื่อใช้แสดงตนในการเดินทางระหว่างประเทศ และให้หมายความรวมถึงเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางและแบบหนังสือเดินทางที่ยังไม่ได้กรอกข้อความเกี่ยวกับผู้ถือหนังสือเดินทางด้วย
(๑๖) “เจ้าพนักงาน” หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงาน หรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะ ได้รับค่าตอบแทนหรือไม่
(๑๗) “สื่อลามกอนาจารเด็ก” หมายความว่า วัตถุหรือสิ่งที่แสดงให้รู้หรือเห็นถึง การกระทำทางเพศของเด็กหรือกับเด็กซึ่งมีอายุไม่เกินสิบแปดปี โดยรูป เรื่อง หรือลักษณะสามารถสื่อ ไปในทางลามกอนาจาร ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของเอกสาร ภาพเขียน ภาพพิมพ์ ภาพระบายสี สิ่งพิมพ์ รูปภาพ ภาพโฆษณา เครื่องหมาย รูปถ่าย ภาพยนตร์ แถบบันทึกเสียง แถบบันทึกภาพ หรือรูปแบบ อื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกัน และให้หมายความรวมถึงวัตถุหรือสิ่งต่าง ๆ ข้างต้นที่จัดเก็บในระบบ คอมพิวเตอร์หรือในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นที่สามารถแสดงผลให้เข้าใจความหมายได

(๑๘) “กระทำชำเรา” หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7469/2562
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 277 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความใหม่แทน และมาตรา 3 ให้เพิ่มความในมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา "(18) "กระทำชำเรา" หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น" กรณีเป็นเรื่องกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังกำหนดองค์ประกอบความผิดฐานกระทำชำเราว่า จะต้องเป็นการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้ถูกระทำ จึงจะเข้าเกณฑ์เป็นความผิด อันเป็นการปรับปรุงนิยามคำว่า "กระทำชำเรา" ให้ชัดเจนและสอดคล้องกับลักษณะการกระทำชำเราทางธรรมชาติ ดังนั้นเมื่อคดีได้ความว่า การกระทำของจำเลยที่ใช้มือจับอวัยวะเพศของผู้เสียหายรูดขึ้นลงแล้วใช้ปากของจำเลยดูดและอมอวัยวะเพศของผู้เสียหาย โดยไม่ได้ใช้อวัยวะเพศของจำเลยล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องทางปากของผู้เสียหาย จึงไม่เป็นการกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) อีกต่อไป ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคแรก (เดิม) หรือเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยการล่วงล้ำตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า แม้การกระทำของจำเลยดังกล่าวจะไม่ได้เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายก็ตาม แต่ก็เป็นการกระทำที่ไม่สมควรทางเพศอันเป็นการล่วงเกินผู้เสียหายแล้ว จึงเป็นการล่วงล้ำอวัยวะเพศของผู้เสียหาย เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) แต่ความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กยังไม่เกินสิบสามปีโดยการล่วงล้ำตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต เท่ากันกับความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบสามปีตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) ระวางโทษตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณ ศาลต้องพิจารณาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 23/2562)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5485/2562
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (18) ของมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา "(18) "กระทำชำเรา" หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น" มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 277 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและให้ใช้ความใหม่แทน แต่ความใหม่มิได้บัญญัติให้การใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่นเป็นความผิดฐานกระทำชำเรา ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่า จำเลยใช้ลิ้นเลียอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 อีกต่อไป แต่การที่จำเลยใช้ลิ้นเลียอวัยวะเพศเป็นการกระทำที่ไม่สมควรทางเพศแก่ผู้เสียหายที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยเด็กนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคสอง (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4683/2562
แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (18) ของมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา "(18) "กระทำชำเรา" หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น" มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 276 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและให้ใช้ความใหม่แทน แต่ความใหม่มิได้บัญญัติให้การใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น เป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา และมาตรา 8 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ของมาตรา 278 แห่งประมวลกฎหมายอาญา โดยวรรคสองบัญญัติว่า "ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของบุคคลนั้น ผู้กระทำต้องระวางโทษ..." ดังนั้น จากบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ดังกล่าว ยังคงบัญญัติว่า การกระทำโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่นยังเป็นความผิดอยู่ มิได้เป็นเรื่องที่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังบัญญัติให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง เพียงแต่เปลี่ยนฐานความผิดจากข่มขืนกระทำชำเราเป็นความผิดฐานอนาจารโดยล่วงล้ำเท่านั้น ซึ่งตามสภาพทางธรรมชาติในการกระทำความผิดของจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 278 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคหนึ่ง (เดิม) การปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรา 278 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า แต่โทษตามมาตรา 276 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งใช้บังคับในขณะที่จำเลยกระทำความผิดมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 8,000 บาท ถึง 40,000 บาท ส่วนโทษตามมาตรา 278 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 80,000 บาท ถึง 400,000 บาท เห็นได้ว่ากฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน แต่โทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษปรับที่สูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยในส่วนนี้ จึงต้องลงโทษจำเลยตามกฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย อันเป็นการใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2982/2562
ผู้เสียหายที่ 2 วิ่งไปหาจำเลย จำเลยกอดผู้เสียหายที่ 2 แล้วจูบหน้าผาก จากนั้นถอดกางเกงผู้เสียหายที่ 2 ออกแล้วอุ้มผู้เสียหายที่ 2 ใช้นิ้วมือสอดเข้าไปในทวารหนักของผู้เสียหายที่ 2 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยอุ้มพาผู้เสียหายที่ 2 ไปที่อื่น จำเลยล่วงเกินทางเพศผู้เสียหายที่ 2 ตรงบริเวณที่พบผู้เสียหายที่ 2 นั้นเอง เท่ากับว่าผู้เสียหายที่ 2 มาหาจำเลยเองด้วยความเต็มใจ จำเลยมิได้พาผู้เสียหายที่ 2 มา อีกทั้งมิได้เหนี่ยวรั้งผู้เสียหายที่ 2 ไว้ เช่นนี้ ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยมีการกระทำประการใดอันเข้าลักษณะเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งจะกระทบกระเทือนต่ออำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม และย่อมไม่มีความผิดฐานพาผู้เสียหายที่ 2 เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารด้วย

ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อนี้เป็น (18) ของมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา "(18)" "กระทำชำเรา" หมายความว่า "การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น" มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 277 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและให้ใช้ความใหม่แทน แต่ความใหม่มิได้บัญญัติให้การใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น เป็นความผิดฐานกระทำชำเรา และมาตรา 9 ให้ยกเลิกความในมาตรา 279 แห่งประมวลกฎหมายอาญาให้ใช้ความใหม่แทน โดยมาตรา 279 วรรคสี่ บัญญัติว่า "ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสาม เป็นการกระทำโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่น ซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของเด็กนั้น ผู้กระทำต้องระวางโทษ..." และวรรคห้า บัญญัติว่า "ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคสี่เป็นการกระทำแก่เด็กอายุไม่เกินสิบสามปีต้องระวางโทษ..." ดังนั้นจากบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขดังกล่าว ยังคงบัญญัติว่าการกระทำโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่นยังเป็นความผิดอยู่ มิได้เป็นเรื่องที่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังบัญญัติให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไปตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง เพียงแต่เปลี่ยนฐานความผิดจากการกระทำชำเราเป็นความผิดฐานอนาจารโดยการล่วงล้ำเท่านั้น ซึ่งตามสภาพทางธรรมชาติในการกระทำความผิดของจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) การปรับบทความผิดของจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าตาม ป.อ. มาตรา 3 แต่ความผิดฐานกระทำอนาจารโดยการล่วงล้ำตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต ส่วนความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับหนึ่งหมื่นสี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต ระวางโทษตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลย ศาลต้องพิจารณาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและปรับบทลงโทษจำคุกให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14267/2558
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดลักทรัพย์อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง ขอให้จำเลยที่ 1 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบแก่โจทก์ เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานและกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นสิทธิในทางแพ่งโดยเฉพาะ ไม่ได้อาศัยมูลความผิดในทางอาญา แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะให้การต่อสู้คดีว่าไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้องเนื่องจากโจทก์ประพฤติผิดอย่างร้ายแรงด้วยการกระทำความผิดอาญาฐานลักทรัพย์นายจ้าง และแม้ศาลอาญากรุงเทพใต้จะมีคำพิพากษาแล้วว่าโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและยกฟ้องในส่วนของโจทก์แล้วก็ตาม ก็ไม่ทำให้คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่ศาลแรงงานกลางจะต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอาญากรุงเทพใต้รับฟังและวินิจฉัยมา ที่ศาลแรงงานกลางให้คู่ความนำพยานเข้าสืบถึงพฤติการณ์ต่าง ๆ แล้วนำมาวินิจฉัยถึงการกระทำความผิดของโจทก์ในคดีนี้จึงสามารถกระทำได้

โจทก์มีหน้าที่ต้องทำงานประจำในห้องการเงิน แต่เมื่อ ว. มาซื้อสินค้าของจำเลยที่ 1 และนำสินค้าไปยังเครื่องคิดเงิน โจทก์ได้ไปทำหน้าที่คิดเงินให้แก่ ว. ซึ่งปรากฏรายการสินค้าที่ ว. ได้รับไปโดยโจทก์ไม่ได้คิดเงินจำนวน 7 รายการ คิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,931 บาท โจทก์ทำงานให้แก่จำเลยที่ 1 ในหน้าที่คิดราคาค่าสินค้าและเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าเพื่อนำส่งให้แก่จำเลยที่ 1 มาเป็นเวลานาน ย่อมมีความชำนาญในการทำงานในหน้าที่ของตนเป็นอย่างดี แม้โจทก์จะกล่าวอ้างว่าเหตุที่ไม่คิดเงินจากสินค้าจำนวน 7 รายการ จาก ว. เนื่องจากหลงลืมและเกิดจากความผิดพลาดในการทำงาน แต่สินค้าจำนวน 7 รายการ ดังกล่าวเป็นสินค้าที่มีลักษณะชิ้นใหญ่สามารถมองเห็นและตรวจสอบได้ง่าย การที่โจทก์ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการคิดเงินค่าสินค้าแต่กลับไม่คิดเงินค่าสินค้าจำนวน 7 รายการ จาก ว. ทำให้จำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างเสียหายไม่ได้รับชำระค่าสินค้าดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่โจทก์อาศัยโอกาสในการปฏิบัติงานในหน้าที่ของตนเป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับผู้อื่น ถือได้ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่แล้ว

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12983/2558
การที่จำเลยแอบติดตั้งกล้องบันทึกภาพไว้ที่ใต้โต๊ะทำงานของโจทก์ร่วม และบันทึกภาพสรีระร่างกายของโจทก์ร่วมตั้งแต่ช่วงลิ้นปี่จนถึงอวัยวะช่วงขามองเห็นกระโปรงที่โจทก์ร่วมสวมใส่ ขาท่อนล่างและขาท่อนบนของโจทก์ร่วม โดยที่กล้องบันทึกภาพมีแสงไฟสำหรับเพิ่มความสว่างเพื่อให้มองเห็นภาพบริเวณใต้กระโปรงของโจทก์ร่วมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น การกระทำของจำเลยส่อแสดงให้เห็นถึงความใคร่และกามารมณ์ โดยที่โจทก์ร่วมมิได้รู้เห็นหรือยินยอม อันเป็นการกระทำที่ไม่สมควรในทางเพศต่อโจทก์ร่วม โดยโจทก์ร่วมตกอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แม้จำเลยจะมิได้สัมผัสต่อเนื้อตัวร่างกายของโจทก์ร่วมโดยตรง แต่การที่จำเลยใช้กล้องบันทึกภาพใต้กระโปรงโจทก์ร่วมในระยะใกล้ชิด โดยโจทก์ร่วมไม่รู้ตัวย่อมรับฟังได้ว่า จำเลยได้กระทำโดยประสงค์ต่อผลอันไม่สมควรในทางเพศต่อโจทก์ร่วม โดยใช้กำลังประทุษร้ายตามมาตรา 1 (6) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งการใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 278 นอกจากหมายความว่า ทำการประทุษร้ายแก่กายแล้ว ยังหมายความว่าทำการประทุษร้ายแก่จิตใจด้วย ไม่ว่าจะทำด้วยใช้แรงกายภาพหรือด้วยวิธีอื่นใด และให้หมายความรวมถึงการกระทำใด ๆ ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ การกระทำของจำเลยดังกล่าว ทำให้โจทก์ร่วมต้องรู้สึกสะเทือนใจอับอายขายหน้า จึงถือว่าเป็นการประทุษร้ายแก่จิตใจของโจทก์ร่วมแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำอนาจารโจทก์ร่วม ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 278

ห้องตรวจคนไข้ที่เกิดเหตุ เป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลเนินสง่า อันเป็นสถานที่ราชการซึ่งเป็นสาธารณสถาน แม้ประชาชนที่ไปใช้บริการในห้องตรวจคนไข้ที่เกิดเหตุจะต้องได้รับอนุญาต และผ่านการคัดกรองจากพยาบาลหน้าห้องตรวจก่อน แต่ก็เป็นเพียงระเบียบขั้นตอนและวิธีปฏิบัติในการใช้บริการของโรงพยาบาลเท่านั้น หาทำให้ห้องตรวจคนไข้ดังกล่าวซึ่งเป็นสาธารณสถานที่ประชาชนมีความชอบธรรมจะเข้าไปได้ ต้องกลับกลายเป็นที่รโหฐานแต่อย่างใดไม่ ห้องตรวจคนไข้ที่เกิดเหตุจึงยังคงเป็นสาธารณสถาน ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการรังแก หรือข่มเหงผู้อื่น หรือกระทำให้ผู้อื่นได้รับความอับอาย หรือเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณสถานตาม ป.อ. มาตรา 397

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12650 - 12651/2558
ตาม ป.อ. มาตรา 1 (7) "เอกสาร" หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใดซึ่งได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพ หรือวิธีอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น ส่วน "สำเนา" ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 หมายถึง ข้อความหรือภาพที่ผลิตซ้ำจากต้นแบบหรือต้นฉบับ ดังนั้นตามคำจำกัดความของคำว่า "เอกสาร"ภาพถ่ายกระดาษก็อาจเป็นต้นฉบับเอกสารได้ถ้าผู้กระทำได้กระทำเพื่อให้ปรากฏความหมายไม่ว่าจะเป็นด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างใด ๆ ก็ตาม จากลักษณะเอกสารหมาย จ.1 นอกจากจะมีส่วนที่พิมพ์เป็นตัวหนังสือและตัวเลขด้วยเครื่องพิมพ์ดีดแล้ว ยังมีข้อความเขียนกำกับแสดงความหมายเป็นตัวเลขและตัวหนังสือทั้งด้านหน้าและด้านหลังด้วย เอกสารหมาย จ.6 แผ่นแรกก็เขียนเป็นตัวหนังสือกับตัวเลขด้วยปากกา และอีกสี่แผ่นแนบท้ายก็เป็นแบบแปลนการก่อสร้างที่มีทั้งตัวเลขและตัวหนังสือกำกับซึ่งแบบแปลนดังกล่าวแม้จะดูว่าถ่ายมาจากแบบแปลนอีกฉบับหนึ่งก็ตาม แต่ตัวเลขและตัวหนังสือที่กำกับก็แสดงโดยชัดแจ้งว่าผู้กระทำประสงค์จะกระทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผังหรือแผนแบบอย่างอื่น ตามความหมายของคำว่า "เอกสาร" ดังนั้นเอกสารหมาย จ.1 และ จ.6 จึงเป็นต้นฉบับเอกสาร มิใช่สำเนาซึ่งชอบที่ศาลจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

การขอเลื่อนคดีนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 40 วรรคหนึ่ง วางหลักเกณฑ์ไว้ว่า "...ห้ามมิให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามขอ เว้นแต่การขอเลื่อนการนั่งพิจารณานั้นมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ และหากศาลไม่อนุญาตจะทำให้เสียความยุติธรรม" แต่จากรายงานกระบวนพิจารณาซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานจำเลยทั้งสอง และทนายจำเลยทั้งสองขอเลื่อนคดีอันเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นงดสืบพยานจำเลยทั้งสองได้ความว่า ก่อนหน้านั้น ในช่วงนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยทั้งสองขอเลื่อนคดีด้วยเหตุผลต่าง ๆ มาแล้ว 2 ครั้ง ครั้นนัดสืบพยานจำเลย จำเลยทั้งสองก็ขอเลื่อนคดีติดต่อกันอีกถึง 3 ครั้ง ซึ่งก่อนวันนัดดังกล่าว ศาลได้กำชับให้จำเลยทั้งสองเตรียมพยานมาให้พร้อม หากขอเลื่อนคดีอีกจะพิจารณาสั่งโดยเคร่งครัดแล้ว แต่พอถึงวันนัดจำเลยทั้งสองก็ยังขอเลื่อนคดีเพราะเหตุเพิ่งตั้งทนายความเข้ามาใหม่อีก พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองย่อมฟังได้ว่าเป็นการประวิงคดีให้ชักช้า ซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคสอง ที่จะงดสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองเลื่อนคดีและให้งดสืบพยานจำเลยทั้งสองจึงชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้ว

เหตุผลที่จำเลยทั้งสองยกขึ้นอ้างเพื่อให้ศาลฎีกากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นั้น จำเลยทั้งสองลอกมาจากคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองแทบทั้งสิ้น โดยไม่มีข้อความตอนใดเลยที่โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบอย่างไร ดังนั้น ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงเป็นฎีกาที่ไม่มีข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12909/2557
จำเลยเป็นเจ้าพนักงาน ได้ลงลายมือชื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ให้แก่ ด. ซึ่งเป็นการกระทำที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลย โดยไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้องว่า ด. ยื่นขอออก น.ส.3 ก ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริงหรือไม่ และทำให้ ด. ได้ไปซึ่ง น.ส.3 ก ดังกล่าวโดยไม่มีสิทธิได้รับ ถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับผู้อื่น จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 157

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10577/2557
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันนำโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินมาหลอกลวงโจทก์ในระหว่างการพิจารณาคดีอาญาทั้งสองและคดีแพ่ง โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงว่าขอนำที่ดินโฉนดเลขที่ 67633 และ 70225 ตีใช้หนี้โจทก์ โจทก์หลงเชื่อหนังสือรับรองราคาประเมินว่าที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 70225 มีราคาประเมิน 1,302,000 บาท จึงรับโอนที่ดินและถอนคำร้องทุกข์และถอนฟ้องทั้งสามคดี ความจริงที่ดินดังกล่าวมีราคาประเมินเพียง 117,180 บาท ไม่ได้มีราคาประเมินตามหนังสือรับรองดังกล่าว

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับประโยชน์เพียงไม่ถูกดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งเท่านั้น ไม่ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากโจทก์ด้วยการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ต้องชำระหนี้แก่โจทก์ การถอนฟ้องคดีแพ่งนั้นโจทก์สามารถฟ้องใหม่ได้ภายในอายุความ การที่โจทก์ถอนคำร้องทุกข์คดีอาญาทั้งสองคดีและถอนฟ้องคดีแพ่งก็ไม่ใช่การถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ เพราะคำฟ้องคดีแพ่งและคำร้องทุกข์ไม่ใช่เอกสารสิทธิ จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10139/2557
จำเลยทั้งสี่เอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยมีเจตนาเพื่อจะตรวจดูว่าทรัพย์ที่เอาไปนั้นเป็นของจำเลยทั้งสี่ที่ถูกคนร้ายลักไปหรือไม่เท่านั้น มิใช่เป็นการเอาไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น จึงไม่เป็นการกระทำ "โดยทุจริต" ตามบทนิยามความหมายของคำว่า "โดยทุจริต" ใน ป.อ. มาตรา 1 (1) การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์เพราะขาดเจตนาพิเศษเรื่องการกระทำโดยทุจริตดังกล่าว ซึ่งย่อมส่งผลทำให้การกระทำของจำเลยทั้งสี่ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้องไปด้วย และการกระทำของจำเลยทั้งสี่เช่นนี้หาใช่ว่าจำเลยทั้งสี่กระทำโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด ซึ่งถือว่าจำเลยทั้งสี่ไม่มีเจตนากระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสอง ประกอบวรรคสาม ดังคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7194 - 7195/2557
การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ร่วมกันพาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่ห้องพักเกิดเหตุก็เพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 ชำระหนี้ที่กู้ยืมไปจากกลุ่มของจำเลยทั้งหกให้แก่จำเลยที่ 1 ประโยชน์ที่จำเลยที่ 1 เรียกร้องให้ผู้เสียหายที่ 1 ชำระหนี้ดังกล่าวจึงไม่ใช่ค่าไถ่ตามความหมายในบทนิยามคำว่า "ค่าไถ่" ตาม ป.อ. มาตรา 1 (13) การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 จึงไม่เป็นความผิดฐานเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ โดยการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังบุคคลใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6864/2557
เมื่ออาวุธปืนของกลางเป็นสิ่งเทียมอาวุธปืนตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4 (5) ที่ทำเลียนแบบปืนพกออโตเมติกจึงถือไม่ได้ว่าสิ่งเทียมอาวุธปืนเป็นอาวุธโดยสภาพตามความหมายของบทนิยามในมาตรา 1 (5) แห่ง ป.อ. การพาสิ่งเทียมอาวุธปืนไปในเมืองหรือทางสาธารณะจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 ทั้งไม่ถือว่าการปล้นทรัพย์รายนี้ผู้กระทำแม้แต่คนหนึ่งคนใดมีอาวุธติดตัวไปด้วยตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคสอง คงเป็นความผิดตามมาตรา 340 วรรคแรก เท่านั้น แม้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 ไม่ได้ฎีกาในประเด็นนี้ก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และมีอำนาจวินิจฉัยไปถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ได้ฎีกาขึ้นมาด้วย เนื่องจากเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3880/2557
ป.อ. มาตรา 1 (11) คำว่า "กลางคืน" หมายความว่า เวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกและพระอาทิตย์ขึ้น โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายเมื่อระหว่างวันที่ 20 สิงหาคม 2555 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2555 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ดังนั้น เวลาเกิดเหตุตามฟ้องของโจทก์คือ ตั้งแต่เวลาพระอาทิตย์ตกของวันที่ 20 สิงหาคม 2555 ถึงเวลา 24 นาฬิกา ของวันเดียวกัน และเวลา 0.01 นาฬิกา ของวันที่ 21 สิงหาคม 2555 ไปแล้ว จนถึงเวลาพระอาทิตย์ขึ้นของวันเดียวกัน จึงเป็นเวลากลางคืนของวันที่ 20 และ 21 สิงหาคม 2555 ติดต่อกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1564/2557
แม้โดยสภาพของการสั่งจองพระเครื่อง ต้องมีการกรอกข้อความเกี่ยวกับชื่อและที่อยู่ของผู้สั่งจอง จำนวนพระเครื่องและจำนวนเงินที่สั่งจอง มอบต้นฉบับให้ผู้สั่งจองและเก็บคู่ฉบับเพื่อส่งมอบแก่ผู้จัดสร้างดังที่โจทก์ฎีกา แต่เมื่อใบสั่งจองดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดสิทธิหรือหน้าที่ประการใดแก่โจทก์ร่วม แม้จำเลยไม่คืนต้นฉบับและคู่ฉบับใบสั่งจองดังกล่าวให้โจทก์ร่วม จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานเอาไปเสีย ซ่อนเร้น ทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารของผู้อื่น โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ตามป.อ. มาตรา 188

ใบสั่งจองที่ยังไม่ได้มีการกรอกข้อความใด ๆ เพื่อให้เป็นหลักฐานในการสั่งจองพระเครื่องที่โจทก์ร่วมเป็นผู้จัดสร้าง มิใช่เอกสารตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 1 (7) แม้จำเลยไม่คืนให้โจทก์ร่วม จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานเอาไปเสีย ซ่อนเร้น ทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารของผู้อื่น โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21841/2556
คำรับรองการชี้แนวเขตที่ดินเป็นแบบพิมพ์ของทางราชการ มีไว้สำหรับให้ผู้ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินนำไปกรอกข้อความและลงลายมือชื่อแสดงว่าตนครอบครองที่ดินมีอาณาเขตเท่าใด และนำไปประกอบเอกสารอื่นเพื่อให้เจ้าพนักงานกรมส่งเสริมสหกรณ์จัดรูปที่ดินและทำระวางแผนที่ เอกสารดังกล่าวจึงมิใช่เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) ไม่เป็นเอกสารสิทธิ และเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่จำเลยทำขึ้นเพื่อเสนอต่อเจ้าพนักงาน มิใช่เอกสารที่เจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ จึงมิใช่เอกสารราชการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19357/2556
แม้บ้านที่เกิดเหตุเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของโจทก์ แต่ก็ยังเป็นที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านที่เกิดเหตุด้วย พื้นที่ส่วนที่เป็นที่ทำการผู้ใหญ่บ้านในเวลาราชการจึงไม่ใช่ที่รโหฐาน แต่เป็นที่สาธารณสถาน เพราะประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ และหากมีเหตุอันควรสงสัยว่าโจทก์มีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิดต่อกฎหมายเลือกตั้ง จำเลยทั้งสี่ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดร้อยเอ็ด ให้เป็นเจ้าหน้าที่ป้องกันปราบปรามการทุจริตในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดร้อยเอ็ด ย่อมมีอำนาจเข้าค้น อีกทั้งจำเลยทั้งสี่เข้าไปค้นบ้านที่เกิดเหตุในเวลาประมาณ 11 นาฬิกา อันเป็นเวลาราชการ โดยไม่ปรากฏว่ามีการค้นเกินเลยจากพื้นที่ส่วนที่เป็นที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน เหตุที่จำเลยทั้งสี่เข้าไปค้นบ้านที่เกิดเหตุและค้นตัวโจทก์ก็เพราะมีเหตุอันควรสงสัยว่าโจทก์มีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิดต่อกฎหมายเลือกตั้ง จำเลยทั้งสี่จึงมีอำนาจกระทำเช่นว่านั้นได้ตาม ป.วิ.อ มาตรา 93

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4977/2556
การที่จำเลยจับนมผู้เสียหายโดยไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายได้อนุญาตยินยอมนั้น เป็นการใช้กำลังประทุษร้าย เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคสองแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาว่าการจับนมเป็นเพียงวิธีการทำอนาจารผู้เสียหายเท่านั้น ไม่เป็นการกระทำอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้าย จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้โดยไม่เพิ่มเติมโทษจำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22267/2555
กฎหมายมิได้กำหนดรูปแบบของการร้องทุกข์ว่าต้องดำเนินการอย่างไร การที่โจทก์ร่วมแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า ประสงค์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย และพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำโจทก์ร่วมไว้ จึงถือว่าเป็นการร้องทุกข์แล้ว แม้พนักงานสอบสวนไม่ได้บันทึกการมอบคดีความผิดอันยอมความไว้ก็ตาม พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้อง

โจทก์ร่วมมอบเงินให้จำเลยไว้ใช้จ่ายร่วมกันในครอบครัว การที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ร่วมเป็นชาวต่างชาติไม่สามารถเปิดบัญชีได้ จำเลยจึงเปิดบัญชีและฝากเงินในชื่อของจำเลยเพียงคนเดียว ถือได้ว่าจำเลยครอบครองเงินที่โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เมื่อโจทก์ร่วมบอกให้จำเลยคืนเงินแต่จำเลยไม่ยอมคืนให้แก่โจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังยักยอกเอาเงินซึ่งโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปเป็นของตนโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอก หาใช่เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นไม่ แต่เมื่อโจทก์ร่วมและจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกันในเงินดังกล่าว โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเพียงกึ่งหนึ่งในเงินจำนวนดังกล่าวเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19715/2555
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายกระทำอนาจารโจทก์ร่วมใช้มือดึงเสื้อและเสื้อชั้นในของโจทก์ร่วมขึ้นแล้วจับหน้าอกของโจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมดึงเสื้อดังกล่าวลงมา จำเลยยังเอามือสอดเข้าไปใต้เสื้อของโจทก์ร่วม แล้วใช้มือกดที่หน้าอกของโจทก์ร่วมหลายครั้งและจำเลยเอามือสอดเข้าไปใต้กางเกงของโจทก์ร่วมและกดตรงหัวเหน่าของโจทก์ร่วมในขณะที่จำเลยตรวจรักษาโรคให้โจทก์ร่วม ซึ่งโจทก์ร่วมอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ เช่นนี้ ถือว่า การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายในฟ้องเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตาม ป.อ. มาตรา 1 (6) และโจทก์ร่วมอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ฟ้องของโจทก์จึงบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18654/2555
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายหน้าดินจากจำเลยที่ 2 โดยมิได้ระแวงว่าหน้าดินที่จำเลยที่ 2 เสนอขายจะเป็นที่ดินของผู้ใด หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ให้ ว. กับพวก ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เข้าไปขุดดินในที่ดินของโจทก์ร่วมตามสัญญาซื้อขายดังกล่าว อันเป็นการกระทำโดยสุจริต จึงขาดเจตนารบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์และลักทรัพย์ของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดฐานบุกรุกและลักทรัพย์ ส่วนจำเลยที่ 2 นำหน้าดินของโจทก์ร่วมมาขายให้แก่จำเลยที่ 1 จนลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เข้ามาขุดเอาหน้าดินของโจทก์ร่วมไปโดยใช้ยานพาหนะนั้น นับว่าเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองแล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนารบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข เข้าไปในที่ดินของโจทก์ร่วมและเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต โดยกระทำผ่านจำเลยที่ 1 กับพวก แต่เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิด จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย คงฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานบุกรุกและลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13417/2555
ผู้เสียหายและจำเลยรู้จักกันก่อนเกิดเหตุ 2 เดือน และเคยทำงานด้วยกัน โดยจำเลยเป็นผู้ว่าจ้างให้ผู้เสียหายนำต้นกล้ายางไปส่งมอบให้เกษตรกร วันเกิดเหตุผู้เสียหายเป็นฝ่ายเชื้อเชิญให้จำเลยเข้าไปในบ้านและไปนั่งพูดคุยกันที่โต๊ะอาหาร บ่งชี้ว่าผู้เสียหายและจำเลยรู้จักและมีความคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ขณะที่จำเลยเอาอาวุธปืนของผู้เสียหายไป แม้เป็นเรื่องที่กระทำไปโดยพลการแต่ก็มี ถ. น้องเขยของผู้เสียหายรู้เห็น จึงเป็นการเอาไปอย่างเปิดเผย ถ. ยังให้การในชั้นสอบสวนว่า เห็นจำเลยหยิบอาวุธปืนของผู้เสียหายไปโดยเข้าใจว่าผู้เสียหายอนุญาตจึงไม่ได้ทักท้วง อันแสดงว่า ถ. ก็เห็นว่าผู้เสียหายกับจำเลยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและจำเลยมิได้กระทำการอย่างใดที่มีพิรุธอันแสดงให้เห็นว่า ต้องการลักอาวุธปืนของผู้เสียหาย ครั้นผู้เสียหายทราบจาก ถ. ว่าจำเลยเอาอาวุธปืนไปและติดต่อสอบถามจำเลยทางโทรศัพท์ จำเลยก็รับว่าเอาอาวุธปืนไปจริงและยังบอกว่าจะนำไปคืนให้ ซึ่งผิดวิสัยของผู้ที่ต้องการลักทรัพย์ของผู้อื่นที่ย่อมปฏิเสธการกระทำของตน แม้จำเลยจะนำอาวุธปืนไปคืนล่าช้าจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายต้องเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน แต่จำเลยมิได้นำอาวุธปืนไปแสวงหาประโยชน์ด้วยการนำไปจำหน่ายหรือก่อหนี้ผูกพันอื่นใด และนำไปคืนผู้เสียหายพร้อมกระสุนปืนครบถ้วน พฤติการณ์น่าเชื่อว่าจำเลยเอาอาวุธปืนของผู้เสียหายไปโดยถือวิสาสะ มิได้มีเจตนาเอาไปโดยทุจริต จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9805/2554
การกระทำโดยเล็งเห็นผลนั้นหมายความว่า ผลนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนเท่าที่บุคคลในภาวะเช่นนั้นจะเล็งเห็นได้ มิใช่เพียงเล็งเห็นว่าผลนั้นอาจเกิดขึ้นได้ ได้ความว่าจำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์โดยมีจำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้าย ขณะที่รถจักรยานยนต์ของจำเลยทั้งสองประกบรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 กระชากกระเป๋าสะพายของผู้เสียหายที่แขวนอยู่ที่กระจกรถจักรยานยนต์อย่างแรง ทำให้รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายล้มลงและผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยทั้งสองไม่อาจเล็งเห็นผลได้แน่นอนว่าการกระชากกระเป๋าสะพายของจำเลยที่ 1 จะทำให้รถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายขับล้มลงเพราะรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายอาจจะล้มหรือไม่ล้มก็ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเพียงวิธีการเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปเท่านั้น แม้รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายจะล้มลงเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายอันเป็นผลมาจากแรงกระชากกระเป๋าสะพายของจำเลยที่ 1 ก็หาใช่จำเลยทั้งสองกระทำโดยมีเจตนาเล็งเห็นผลอันถือเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตามความหมายของกฎหมายแต่ประการใดไม่ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตามฟ้อง คงมีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9046/2554
การที่จำเลยพาเด็กหญิง ฟ. ไปจากผู้เสียหาย จำเลยมิได้มีเจตนาที่จะเรียกร้องเอาทรัพย์สินจากผู้เสียหายและ อ. เพื่อเป็นค่าไถ่มาตั้งแต่แรก จำเลยเรียกร้องเอาทองคำเท่ากับที่มอบให้ผู้เสียหายไปจำนำ ส่วนเงินที่เรียกร้องเอาจาก อ. ได้ความว่าเป็นค่าที่ดินที่ อ. จะต้องคืนให้จำเลย ทั้งไม่ได้ความว่า อ. เป็นญาติหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้เสียหายหรือเด็กหญิง ฟ. ที่จำเลยจะใช้เป็นเงื่อนไขในการเรียกร้องเงินจาก อ. จำเลยมีเจตนาที่จะเรียกร้องเอาทองคำและเงินที่จำเลยเชื่อว่าจำเลยควรจะได้ ดังนั้น ทองคำและเงินที่จำเลยเรียกร้องจากผู้เสียหายและ อ. จึงมิใช่ค่าไถ่ตาม ป.อ. มาตรา 1 (13) การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 313 (1) (3) วรรคแรก

การที่จำเลยพาเด็กหญิง ฟ. ไป และไม่ยอมคืนให้แก่ผู้เสียหาย เป็นการหน่วงเหนี่ยวเด็กหญิง ฟ. เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานเรียกค่าไถ่ตาม ป.อ. มาตรา 313 (3) วรรคแรก ที่โจทก์ฟ้อง ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2137/2554
ผู้เสียหายใช้บ้านพักอาศัยส่วนหนึ่งเปิดเป็นร้านซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ในเวลาที่ผู้เสียหายเปิดบริการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ บริเวณดังกล่าวย่อมเป็นสาธารณสถาน ซึ่งประชาชนทั่วไปรวมทั้งจำเลยที่ 1 มีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ แต่เมื่อผู้เสียหายปิดร้านหรือหมดเวลาให้บริการในแต่ละวันแล้ว บริเวณดังกล่าวจึงจะเป็นเคหสถานที่ใช้อยู่อาศัย ดังนั้น เมื่อขณะเกิดเหตุผู้เสียหายยังเปิดให้บริการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ การที่จำเลยที่ 1 เข้าไปในร้านดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกเคหสถาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2031/2554
สเปรย์พริกไทย ผลิตขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้ฉีดพ่นเพื่อยับยั้งบุคคลหรือสัตว์ร้ายมิให้เข้าใกล้หรือทำอันตรายผู้อื่น ผู้ที่ถูกฉีดพ่นสารในกระป๋องสเปรย์ใส่จะมีอาการสำลัก จาม ระคายเคืองหรือแสบตา หลังจากนั้นไม่นานก็สามารถหายเป็นปกติได้ เห็นได้ว่า การผลิตสเปรย์พริกไทยดังกล่าว มิได้ผลิตขึ้นเพื่อทำร้ายผู้ใด จึงไม่เป็นอาวุธโดยสภาพ ทั้งไม่อาจใช้ประทุษร้ายร่างกายถึงอันตรายสาหัสอย่างอาวุธ สเปรย์พริกไทยจึงไม่เป็นอาวุธตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 1 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2030/2554
ตาม ป.อ. มาตรา 1 (5) อาวุธ หมายความรวมถึงสิ่งซึ่งไม่เป็นอาวุธโดยสภาพแต่ซึ่งได้ใช้หรือเจตนาจะใช้ประทุษร้ายร่างกายถึงอันตรายสาหัสอย่างอาวุธ ผู้ถูกกล่าวหานำกระป๋องสเปรย์พริกไทยเข้าไปในบริเวณศาลชั้นต้น สำหรับสเปรย์พริกไทยได้ความว่า ผลิตขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้ฉีดพ่นเพื่อยับยั้งบุคคลหรือสัตว์ร้ายมิให้เข้าใกล้หรือทำอันตรายผู้อื่น ผู้ที่ถูกฉีดพ่นสารในกระป๋องสเปรย์ใส่จะมีอาการสำลักจาม ระคายเคืองหรือแสบตา หลังจากนั้นไม่นานก็สามารถหายเป็นปกติได้ เห็นได้ว่าการผลิตสเปรย์พริกไทยดังกล่าว มิได้ผลิตขึ้นเพื่อทำร้ายผู้ใด จึงไม่เป็นอาวุธโดยสภาพทั้งไม่อาจใช้ประทุษร้ายร่างกายถึงอันตรายสาหัสอย่างอาวุธ สเปรย์พริกไทยจึงไม่เป็นอาวุธตามความหมายของบทกฎหมายข้างต้นด้วยเช่นกัน การที่ผู้ถูกกล่าวหาเข้าไปในบริเวณศาลชั้นต้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้อำนวยการสำนักงานประจำศาลชั้นต้นขอความร่วมมือไปยังผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองกาญจนบุรี การที่ผู้ถูกกล่าวหานำกระป๋องสเปรย์พริกไทยเข้าไปในบริเวณศาลชั้นต้น จึงไม่เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1563/2554
ต้นขั้วใบเสร็จรับเงินค่าน้ำประปาเป็นเอกสารที่จำเลยทำขึ้นเพื่อแสดงตัวเลขปริมาตรน้ำประปาที่ใช้และจำนวนเงินค่าน้ำประปาที่ผู้ใช้น้ำประปาจะต้องชำระเพื่อใช้อ้างแสดงประกอบการนำส่งค่าน้ำประปาให้แก่สมุห์บัญชีของผู้เสียหายเท่านั้น ต้นขั้วใบเสร็จรับเงินค่าน้ำประปาดังกล่าวจึงมิใช่เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ มิใช่เอกสารสิทธิตามความใน ป.อ. มาตรา 1 (9) เมื่อจำเลยปลอมต้นขั้วใบเสร็จรับเงินค่าน้ำประปาของผู้เสียหายซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหน่วยงานราชการ การกระทำของจำเลยจึงเป็นเพียงปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม ไม่ใช่เป็นการปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการและใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม

จำเลยปลอมต้นขั้วใบเสร็จรับเงินค่าน้ำประปาซึ่งจำเลยใช้เรียกเก็บเงินค่าน้ำประปาจากผู้ใช้น้ำประปาแต่ละรอบเดือนจำนวนหลายฉบับ รวม 28 ครั้ง และนำเอกสารราชการปลอมไปใช้อ้างแสดงประกอบการนำส่งค่าน้ำประปาให้แก่เจ้าหน้าที่สมุห์บัญชีของผู้เสียหายเพื่อนำส่งเงินที่มีจำนวนน้อยกว่าจำนวนเงินที่จำเลยเรียกเก็บจากผู้ใช้น้ำประปาแต่ละราย แล้วเบียดบังเอาเงินของผู้เสียหายไปรวม 28 ครั้ง ต่างวันเวลากัน การปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอมกับยักยอกในแต่ละครั้งย่อมเป็นความผิดสำเร็จอยู่ในตัวและมีเจตนาก่อให้เกิดผลต่างกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15544/2553
ใบรับเงินค่านำหมายที่จำเลยปลอมขึ้นและนำไปใช้ขอรับเงินค่านำหมายจากผู้เสียหาย เป็นหลักฐานที่ใช้แสดงว่าจำเลยได้ชำระค่าป่วยการและค่าพาหนะให้แก่เจ้าพนักงานในการนำส่งหมายเรียกพยานโจทก์และหมายเรียกจำเลยที่ 1 ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2502) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พุทธศักราช 2477 ข้อ 5 ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น จึงเป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานระงับซึ่งสิทธิที่ศาลชั้นต้นจะเรียกเงินค่านำหมายจากผู้เสียหาย จึงเป็นเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) เมื่อเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารของศาลชั้นต้นโดยเจ้าพนักงานศาลเป็นผู้จัดทำขึ้น จึงเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13740/2553
เอกสารที่จำเลยที่ 2 ทำปลอมขึ้นและนำไปใช้เป็นหนังสือรับรองผลงานขององค์การบริหารส่วนตำบล ห. ซึ่งตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 60 วรรคหนึ่ง กำหนดให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลควมคุมและรับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลตามกฎหมาย ดังนี้ ผู้ที่จะลงลายมือชื่อรับรองผลงานตามหนังสือดังกล่าวจึงเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ห. และมาตรา 65 วรรคหนึ่ง ของพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดว่าในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา หนังสือรับรองผลงานจึงเป็นเอกสารที่ออกโดยเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ จึงเป็นเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 1 (8) แม้ผู้ที่ลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองผลงานดังกล่าวมิใช่นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ห. ก็ไม่ทำให้เป็นเพียงเอกสารดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานปลอมหนังสือรับรองผลงานอันเป็นเอกสารราชการและใช้หนังสือรับรองผลงานอันเป็นเอกสารราชการปลอมตาม ป.อ. มาตรา 265, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10959/2553
ผู้เสียหายว่าจ้างจำเลยให้ซ่อมและเปลี่ยนเครื่องยนต์รถยนต์รวมทั้งให้ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนหมายเลขเครื่องยนต์ จำเลยซื้อเครื่องยนต์จากบริษัท จ. โดยบริษัท จ. ออกเอกสารใบส่งของ/บิลเงินสด ใบกำกับภาษี กับหนังสือแจ้งจำหน่ายและการรับรองหลักฐานการส่งบัญชีรับและจำหน่ายเครื่องยนต์ ระบุชื่อผู้เสียหายเป็นผู้ซื้อ จำเลยนำเอกสารดังกล่าวไปให้บริษัท จ. แก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ซื้อเป็น ส. โดยผู้เสียหายไม่ยินยอมทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหายแม้ พ. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท จ. และเป็นผู้ทำเอกสารจะเป็นผู้แก้ไข แต่เมื่อการแก้ไขเกิดจากการแจ้งของจำเลยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เสียหาย ย่อมไม่มีอำนาจ เป็นการปลอมเอกสารโดยถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนี้ด้วยการใช้ พ. เป็นเครื่องมือ

ใบกำกับภาษีเป็นหลักฐานแสดงว่าผู้ขายได้เรียกเก็บภาษีจากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ซื้อเครื่องยนต์แล้ว บริษัท พ. ไม่มีสิทธิเรียกเก็บภาษีจากผู้เสียหายอีกจึงเป็นหลักฐานแห่งการระงับไปซึ่งสิทธิ เป็นเอกสารสิทธิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10015/2553
การที่จำเลยที่ 1 กับพวกและผู้เสียหายนั่งดื่มเบียร์อยู่ด้วยกัน แล้วจำเลยที่ 1 ล้วงกระเป๋ากางเกงของผู้เสียหายหยิบกระเป๋าเงินออกมา เมื่อเห็นว่าไม่มีเงินในกระเป๋าจึงล้วงหยิบเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายออกมาโดยจำเลยที่ 1 บอกว่าถ้าไม่ให้โทรศัพท์จะทำร้าย หลังเกิดเหตุผู้เสียหายกลับไปบ้านพัก สักครู่หนึ่งจำเลยที่ 1 ก็นำโทรศัพท์เคลื่อนที่มาคืนให้ผู้เสียหายแม้จะคืนโดยโยนลงพื้นเอาเท้าเหยียบแล้วบอกให้ผู้เสียหายคลานมาเอา จากพฤติการณ์ดังกล่าวเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการทำไปด้วยความคึกคะนองมิได้ประสงค์ต่อทรัพย์โดยมีเจตนาทุจริตเพื่อเอาทรัพย์ไปเป็นของตนเอง อันเป็นการขาดองค์ประกอบของความผิดฐานลักทรัพย์ จึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามฟ้อง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเพียงความผิดต่อเสรีภาพตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9026/2553
โจทก์เป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของ จ. ตามคำสั่งศาล เมื่อ จ. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ การที่จำเลยนำหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินซึ่งเป็นเอกสารสิทธิปลอมไปยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์และยื่นคำฟ้องบังคับห้ามมิให้โจทก์เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทและให้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อของจำเลย โจทก์ย่อมเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยแล้ว เพราะอาจต้องเสียที่ดินพิพาทไปจากการกระทำดังกล่าว โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4)

เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินเป็นเอกสารสิทธิปลอมภาพถ่ายหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวที่จำเลยถ่ายสำเนามา จึงเป็นเอกสารสิทธิปลอมด้วย เมื่อจำเลยนำภาพถ่ายหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินไปใช้อ้างเป็นเอกสารแนบท้ายคำร้องและคำฟ้องโดยรู้อยู่แล้วว่าหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินเป็นเอกสารปลอมการกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้เอกสารสิทธิปลอมแล้ว

จำเลยนำภาพถ่ายหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินซึ่งเป็นเอกสารสิทธิปลอมไปยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ และนำภาพถ่ายหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวไปยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้นเพื่อบังคับห้ามมิให้โจทก์เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทและให้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อของจำเลยต่างวันเวลากัน การกระทำของจำเลยในความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5456/2553
จำเลยลักเหรียญกษาปณ์ของวัดผู้เสียหาย โดยเหรียญกษาปณ์ดังกล่าวอยู่ในพานและบาตรวางอยู่บนชั้นสามของอาคารเจษฎาบดินทร์ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเพื่อให้ประชาชนมากราบไหว้สักการบูชาภายในวัดผู้เสียหาย สถานที่เกิดเหตุลักทรัพย์จึงเป็นสถานที่ซึ่งประชาชนทั่วไปมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ ตรงกับนิยามคำว่า "สาธารณสถาน" ตาม ป.อ. มาตรา 1 (3) ทั้งนี้ เพื่อการสักการบูชาพระพุทธรูปซึ่งประดิษฐานไว้ให้ประชาชนกราบไหว้สักการะบูชา จึงเป็นการลักทรัพย์ในสถานที่บูชาสาธารณะตาม ป.อ. มาตรา 335 (9) วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9795/2552
ป.อ. มาตรา 1 (4) "เคหสถาน" หมายความว่า ที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัย เช่น เรือน โรง เรือ หรือแพ ซึ่งคนอยู่อาศัยและให้หมายรวมถึงบริเวณของที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัย จะมีรั้วล้อมหรือไม่ก็ตาม บ้านของผู้เสียหายไม่มีรั้วล้อม กับบริเวณหลังบ้านผู้เสียหายอยู่ติดกับถนนส่วนบุคคล กรณีจะถือเอาเพียงฝาผนังและประตูเหล็กด้านหลังเป็นแนวของเคหสถานย่อมจะไม่ได้ เพราะเคหสถานตามกฎหมายให้หมายความรวมถึง บริเวณของที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยนั้นด้วย ผู้เสียหายใช้ประโยชน์บริเวณรอบบ้านเป็นที่วางสิ่งของกับมีหลังคาบ้านยื่นออกมาคลุม การที่จำเลยทั้งสองไปอยู่บริเวณประตูหลังบ้านผู้เสียหาย ย่อมถือว่าเป็นการเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายแล้ว จำเลยทั้งสองเข้าไปในขณะที่ผู้เสียหายไม่อยู่บ้าน ทั้งผู้เสียหายกับจำเลยทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน จึงยิ่งไม่มีเหตุสมควรที่จะเข้าไปอยู่บริเวณประตูหลังบ้านผู้เสียหาย พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานบุกรุกเข้าไปในเคหสถานของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8566/2552
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 และมาตรา 16 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะกระทำความผิด ต่อมาระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และ 66 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยที่ 2 กระทำความผิด แต่เมื่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ที่แก้ไขใหม่ บัญญัติว่า แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ 375 มิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่ในจำนวน 15 หน่วยการใช้ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักตั้งแต่ 1.5 กรัมขึ้นไป ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งแตกต่างจากมาตรา 15 วรรคสอง (เดิม) ที่กำหนดเฉพาะปริมาณที่คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ 20 กรัมขึ้นไปเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยไม่คำนึงว่าจะมีจำนวนหน่วยการใช้หรือน้ำหนักสุทธิมากน้อยเพียงใดเงื่อนไขที่เป็นองค์ประกอบความผิดดังกล่าวตามกฎหมายเดิมซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยกว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงต้องใช้กฎหมายเดิม ส่วนที่เป็นบทความผิดบังคับแก่จำเลย เมื่อจำเลยที่ 2 ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 5,290 เม็ด น้ำหนักสุทธิ 459.520 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 66.355 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจึงคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เกินกว่า 20 กรัม ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามมาตรา 15 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งต้องกำหนดโทษตามมาตรา 66 วรรคสามที่แก้ไขใหม่ ซึ่งบัญญัติว่า ถ้ายาเสพติดให้โทษตามวรรคหนึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ยี่สิบกรัมขึ้นไปต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาทหรือประหารชีวิต มิใช่มาตรา 66 วรรคหนึ่งที่แก้ไขใหม่เมื่อมาตรา 66 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยกระทำความผิดเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าโทษตามมาตรา 66 วรรคสามที่แก้ไขใหม่ จึงต้องใช้กฎหมายในขณะที่จำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 1 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6820/2552
การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งเอกสารบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัท บ. อันเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ และเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 1 (7) ซึ่งออกให้แก่ น. ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ น. และบริษัท บ. แล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามบทบัญญัติมาตรา 188

การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัท บ. ซึ่งออกให้แก่ น. แล้วใช้บัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวชำระค่าสินค้าแทนการชำระด้วยเงินสดอันเป็นความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสดโดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 269/5 และ มาตรา 269/7 รวม 3 ครั้ง เมื่อปรากฏว่าโจทก์ฟ้องจำเลยแยกออกเป็นข้อๆ และการกระทำตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาในแต่ละข้อต่างเป็นความผิดสำเร็จในตัวเองต่างกรรมต่างวาระ ทั้งทรัพย์ที่จำเลยได้จากการกระทำผิดก็เป็นทรัพย์คนละประเภทแตกต่างกัน เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาต่างกัน การกระทำของจำเลยฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารบัตรเครดิตกับฐานใช้บัตรเครดิตจึงเป็นความผิดหลายกรรมตาม ป.อ. มาตรา 91 และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องและคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่าจำเลยนำบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวไปใช้ชำระค่าสินค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ กล้องวีดีโอและกล้องถ่ายรูปดิจิทัลแทนการชำระด้วยเงินสดจำนวน 3 คราว การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นความผิด 3 กรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5176/2552
ตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏข้อความว่า บิลเงินสดที่จำเลยปลอมเป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ อันเป็นนิยามของคำว่า เอกสารสิทธิ ตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 265 ด้วยก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าบิลเงินสดเป็นเอกสารสิทธิถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้อง จึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอมตาม ป.อ. มาตรา 265 และมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5168/2552
แม้คำฟ้องของโจทก์พอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีว่าวันเวลาที่จำเลยกระทำความผิดเป็นช่วงวันเวลาใด และจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องก็ตามแต่โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยลักโฉนดที่ดินของผู้เสียหายไปในวันใดแน่ จึงต้องฟังเป็นคุณว่าจำเลยลักโฉนดที่ดินของผู้เสียหายในในวันที่ 22 กรกฎาคม 2545 แล้วปลอมหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยขายที่ดินดังกล่าว ต่อมาวันที่ 23 กรกฎาคม 2545 จำเลยนำหนังสือมอบอำนาจปลอมที่ทำขึ้นไปใช้ในการทำสัญญาขายที่ดินดังกล่าวให้แก่ตนเอง การกระทำของจำเลยแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาเพื่อต้องการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้เสียหายเป็นสำคัญ จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท หาใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันไม่ ส่วนหนังสือมอบอำนาจเป็นเอกสารธรรมดาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้มอบอำนาจมอบให้บุคคลอีกคนหนึ่งมีอำนาจจัดการทำนิติกรรมแทนผู้มอบอำนาจเท่านั้น ไม่เป็นเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิแต่อย่างใด จึงไม่ใช่เอกสารสิทธิ การที่จำเลยปลอมหนังสือมอบอำนาจและใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก และมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก เท่านั้น

เมื่อกรณีเป็นการลักทรัพย์โฉนดที่ดินของผู้เสียหายทรัพย์ที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเป็นเอกสารคืนโฉนดที่ดิน พนักงานอัยการคงมีสิทธิเรียกคืนได้แต่โฉนดที่ดินเท่านั้น จะขอให้จำเลยใช้เงิน 1,000,000 บาท เท่ากับราคาที่ดินตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 หาได้ไม่ เพราะไม่อาจกล่าวได้ว่าผู้เสียหายได้สูญเสียทรัพย์สินที่มีราคาเท่ากับมูลค่าของที่ดินแม้โฉนดที่ดินสูญหายไปก็ยังฟ้องเรียกร้องที่ดินกันได้ มิใช่ว่าที่ดินจะสูญไปด้วย ที่ดินยังคงอยู่ผู้เสียหายชอบที่จะไปฟ้องเป็นคดีแพ่งเรียกทรัพย์คืนได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3298/2552
หนังสือบริคณห์สนธิเป็นเพียงหนังสือที่จำเลยจัดทำขึ้น เพื่อจะนำไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ยังไม่มีเจ้าพนักงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ใช่เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ และไม่ใช่สำเนาเอกสารที่เจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ จึงไม่เป็นเอกสารราชการตามความใน ป.อ. มาตรา 1 (8)

จำเลยรู้อยู่แล้วว่าลายมือชื่อของโจทก์ร่วมในหนังสือบริคณห์สนธิเป็นลายมือชื่อปลอม แต่จำเลยก็ยังส่งมอบหนังสือดังกล่าวให้แก่ จ. เพื่อนำไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียน การกระทำของจำเลยจึงน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม จ. นายทะเบียน ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเอกสารดังกล่าว การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2267/2552
แบบคำขอโอนและรับโอนทะเบียนรถยนต์ แม้จะเป็นแบบพิมพ์ของกรมการขนส่งทางบก แต่ก็เป็นแบบพิมพ์สำหรับผู้ที่ประสงค์จะจดทะเบียนโอนและรับโอนรถยนต์นำไปกรอกข้อความลงไปได้เอง แล้วนำไปยื่นต่อนายทะเบียนเพื่อดำเนินการแก้ไขรายการจดทะเบียนในใบคู่มือจดทะเบียนเท่านั้น มิได้เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) การที่จำเลยที่ 1 ทำคำขอโอนทะเบียนรถยนต์ปลอมขึ้นทั้งฉบับนั้น จึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 265 และใช้เอกสารสิทธิปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 จำเลยที่ 1 คงมีความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 มิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1762/2552
ใบสั่งซื้อสินค้าเป็นเพียงคำเสนอที่จะซื้อสินค้าของโจทก์เท่านั้น ใบสั่งซื้อสินค้าจึงมิใช่เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ มิใช่เอกสารสิทธิตามความใน ป.อ. มาตรา 1 (9)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6945/2550
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในกรณีลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่ โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้ให้ความหมายคำว่า "ทุจริต" ไว้ และมิได้ใช้คำว่า "โดยทุจริต" ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 1 (1) จึงต้องใช้ความหมายคำว่า "ทุจริต" ตามพจนานุกรม คือ ความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4495/2548
คำว่า "เอกสาร" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(7) หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใดซึ่งทำให้ปรากฏความหมายด้วยอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพ หรือวิธีอื่นใดอันเป็นหลักฐานความหมายนั้น ดังนั้น เอกสารจะมีขึ้นในรูปใด ๆ ก็ได้ การปลอมเอกสารจึงมีต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อน จำเลยปลอมหนังสือลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและคำรับรองความเห็นชอบ ของกำนันโดยลงลายมือชื่อปลอมบุคคลทั้งสองในหนังสือลาออก กับปลอมหนังสือขอแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านโดยจำเลยลงลายมือชื่อปลอมของ กำนันลงในเอกสารเพื่อแสดงว่าจำเลยได้ร่วมกับกำนันพิจารณาคัดเลือกและจัดทำ หนังสือขอแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเสนอต่อนายอำเภอตามระเบียบ เป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ จึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9042 - 9043/2547
เช็คเป็นเอกสารอันก่อให้เกิดสิทธิในการรับเงินจากธนาคาร จึงเป็นเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (9)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8701/2547
หลังจากจำเลยทั้งสองรุมทำร้ายจนโจทก์ร่วมสลบแล้ว จำเลยที่ 2 จึงกระชากสร้อยคอของโจทก์ร่วมส่งให้จำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นว่าเมื่อแรกวางแผนลวงโจทก์ร่วมมายังที่เกิดเหตุจนกระทั่งรุมทำ ร้ายโจทก์ร่วมสลบนั้น จำเลยทั้งสองยังไม่มีเจตนาจะเอาทรัยพ์ของโจทก์ร่วม แต่หลังจากหยุดทำร้ายโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยที่ 2 จึงเกิดเจตนาโลภปลดทรัพย์ของโจทก์ร่วมส่งให้จำเลยที่ 1 แล้วพากันหลบหนี เจตนาต่อทรัพย์ดังกล่าวจึงเป็นคนละตอนคนละเจตนากับการลวงโจทก์ร่วมมาทำร้าย จนได้รับอันตรายสาหัส บาดแผลของโจทก์ร่วมจึงมิได้เกิดจากการมีเจตนาต่อทรัพย์ของโจทก์ร่วม แม้ภายหลังจำเลยที่ 2 จะใช้แรงกายภาพกระชากสร้อยไปจากคอโจทก์ร่วม แต่สร้อยคอและสร้อยข้อมือของโจทก์ร่วมเป็นสร้อยเส้นเล็กจึงค่อนข้างขาดง่าย สภาพบาดแผลที่คอโจทก์ร่วมไม่มีร่องรอยบาดแผลจากการถูกสร้อยบาดตามแรงกระชาก ที่จำเลยที่ 2 กระทำต่อทรัพย์ปรากฏให้เห็น แสดงว่าแรงกายภาพที่จำเลยที่ 2 กระทำนั้นไม่ถึงกับอันตรายแก่กายของโจทก์ร่วม สภาพเช่นนี้ไม่พอให้ถือว่าเป็นการประทุษร้ายแก่กายของโจทก์ร่วมตาม ป.อ. มาตรา 1 (6) การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นเพียงความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2954/2547
ตาม ป.อ. มาตรา 265 บัญญัติว่า "ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ..." อันถือว่าเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานนี้ เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏข้อความว่า สัญญากู้เงินที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ปลอมและใช้เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน และระงับซึ่งสิทธิระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 อย่างไรบ้าง อันเป็นนิยามของคำว่าเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) ถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้ กระทำผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 265 คงมีความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 268 วรรคแรก เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2227/2547
"เอกสารสิทธิ" ตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) หมายความว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ แต่แบบคำขอใช้บริการบัวหลวง เอ.ที.เอ็ม ที่จำเลยปลอมขึ้นนั้นเป็นเอกสารที่จำเลยใช้ยื่นต่อธนาคารผู้เสียหายเพื่อขอ ให้ ส. ซึ่งเป็นลูกค้าเงินฝากประเภทสะสมทรัพย์ของธนาคารผู้เสียหายได้ใช้บัตรฝากถอน เงินอัตโนมัติ แต่ยังไม่แน่ว่าธนาคารผู้เสียหายจะอนุมัติตามแบบคำขอใช้บริการดังกล่าวหรือ ไม่ แบบคำขอใช้บริการดังกล่าวมิใช่เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อสิทธิในการฝาก - ถอนเงินกับธนาคารผู้เสียหายโดยตรง จึงมิใช่เอกสารสิทธิตามความใน ป.อ. มาตรา 1 (9) การกระทำของจำเลยซึ่งปลอมแบบคำขอใช้บริการดังกล่าวและใช้เอกสารดังกล่าว จึงไม่เป็นการปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม คงเป็นความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก เท่านั้น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10617/2546
จำเลย ทำสำเนาหนังสือมอบอำนาจและสำเนาแบบคำขอโอนและรับโอนทะเบียนรถยนต์ซึ่งเป็น เอกสารปลอมและฉ้อโกงผู้เสียหาย แต่หนังสือมอบอำนาจเป็นเพียงเอกสารซึ่งผู้มอบอำนาจมอบหมายให้ผู้รับมอบอำนาจ มีอำนาจจัดการทำนิติกรรมแทน มิได้เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ จึงไม่เป็นเอกสารสิทธิ ทั้งมิใช่เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ จึงไม่เป็นเอกสารราชการ ส่วนสำเนาแบบคำขอโอนและรับโอนทะเบียนรถยนต์แม้จะเป็นแบบพิมพ์ของกรมการขนส่ง ทางบก แต่ก็เป็นแบบพิมพ์สำหรับผู้ที่ประสงค์จะจดทะเบียนโอนและรับโอนรถยนต์นำไป กรอกข้อความลงไปได้เอง แล้วนำไปยื่นต่อนายทะเบียนเพื่อจดทะเบียนเท่านั้น มิใช่เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ จึงไม่เป็นเอกสารราชการ อีกทั้งมิได้เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ จึงไม่เป็นเอกสารสิทธิ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ ปลอม ตาม ป.อ. มาตรา 266 (1) และใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม ตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (1) จำเลยคงมีความผิดฐานปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอม และฉ้อโกง ตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก กระทงหนึ่ง , มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก และ 341 ที่ศาลชั้นต้นปรับบทกฎหมายไม่ถูกต้อง และศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนโดยมิได้แก้ไข จึงเป็นการไม่ชอบ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10385/2546
ใบถอนเงินที่จำเลยทำปลอมขึ้นและนำไปใช้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหาย เป็นหลักฐานที่ใช้แสดงว่าผู้เสียหายได้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคารไปแล้ว เป็นเอกสารอันก่อให้เกิดสิทธิในการรับเงินจากธนาคาร จึงเป็นเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(9) การที่จำเลยนำแบบพิมพ์ใบถอนเงินของธนาคารมาเขียนชื่อ ศ. ในช่องชื่อบัญชี เขียนเลขที่บัญชี จำนวนเงิน และลงลายมือชื่อปลอมของ ศ. ในช่องผู้รับเงินและในช่องผู้ถอนเงิน แล้วนำไปยื่นต่อพนักงานของธนาคารซึ่งหลงเชื่อว่าเป็นใบถอนเงินที่แท้จริงจึง จ่ายเงินให้จำเลยไป เป็นการทำเอกสารสิทธิปลอมขึ้นทั้งฉบับ จึงเป็นการปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมทั้งสองฉบับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1904/2546
จำเลย ที่ 1 นำบันไดวางริมหน้าต่างชั้นบนบ้านผู้เสียหายและปีนไปเรียกผู้เสียหายเมื่อผู้ เสียหายเปิดประตูออกมา จำเลยที่ 1 กอดอุ้มผู้เสียหายและกระทำอนาจารปลุกปล้ำผู้เสียหายที่บริเวณสนามหญ้าข้าง หน้าบ้านพักผู้เสียหาย แม้สนามหญ้ากับบ้านพักไม่มีรั้วล้อมรอบ และไม่มีเครื่องหมายแสดงว่าเป็นแนวเขตของบ้านพักแต่ก็อยู่ข้างหน้าบ้านพัก ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของผู้เสียหาย ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายในเวลากลางคืนอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขและกระทำอนาจารโดยใช้กำลัง ประทุษร้ายอันเป็นการกระทำต่อเนื่องไม่ขาดตอนกัน จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1705/2546
การที่จำเลยนำแบบพิมพ์ใบคำขอถอนเงินของธนาคารมากรอกข้อความพร้อมกับลงลายมือ ชื่อปลอมของ ก. ในช่องผู้ขอถอนเงินและช่องผู้รับเงิน แล้วนำไปยื่นต่อพนักงานของธนาคารดังกล่าว ซึ่งหลงเชื่อว่าเป็นใบคำขอถอนเงินที่แท้จริงจึงจ่ายเงินให้จำเลยไปนั้น ใบคำขอถอนเงินจึงเป็นหลักฐานแสดงว่า ก. ได้ขอถอนเงินจากบัญชีออมทรัพย์ของตน ย่อมเป็นเอกสารอันก่อให้เกิดสิทธิในการรับเงินจากธนาคาร เอกสารดังกล่าวจึงเป็นเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(9) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265และฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรกประกอบมาตรา 265 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 286/2546
แม้จำเลยจะมิได้พูดจาข่มขู่หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายแต่ พฤติการณ์ของจำเลยที่เดินเข้าหาผู้เสียหายจนทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวจน ต้องดึงสร้อยคอทองคำโยนทิ้ง บ่งบอกให้เห็นว่าจำเลยแสดงอาการขู่เข็ญผู้เสียหายแล้วโดยไม่จำต้องพิจารณา ว่าจำเลยจะได้พูดจาขู่เข็ญผู้เสียหายหรือไม่ และเมื่อผู้เสียหายโยนสร้อยคอทองคำทิ้งเพื่อมิให้จำเลยแย่งเอาไปได้ จำเลยยังใช้มีดปลายแหลมจ่อที่หน้าอกผู้เสียหายอีก กรณีถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายมิให้ขัดขืนต่อการที่จำเลยจะลักเอา สร้อยคำทองคำและเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสีย หายแล้วการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม