ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน

มาตรา ๒๐๙  ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท


ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า ผู้จัดการหรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในคณะบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]


มาตรา ๒๑๐  ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค ๒ นี้ และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ถ้าเป็นการสมคบเพื่อกระทำความผิด ที่มีระวางโทษถึงประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท

[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]


มาตรา ๒๑๑  ผู้ใดประชุมในที่ประชุมอั้งยี่หรือซ่องโจร ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่หรือซ่องโจร เว้นแต่ผู้นั้นจะแสดงได้ว่า ได้ประชุมโดยไม่รู้ว่าเป็นการประชุมของอั้งยี่หรือซ่องโจร


มาตรา ๒๑๒  ผู้ใด

(๑) จัดหาที่ประชุมหรือที่พำนักให้แก่อั้งยี่หรือซ่องโจร

(๒) ชักชวนบุคคลให้เข้าเป็นสมาชิกอั้งยี่หรือพรรคพวกซ่องโจร

(๓) อุปการะอั้งยี่หรือซ่องโจรโดยให้ทรัพย์หรือโดยประการอื่น หรือ

(๔) ช่วยจำหน่ายทรัพย์ที่อั้งยี่หรือซ่องโจรได้มาโดยการกระทำความผิด

ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่หรือซ่องโจรแล้วแต่กรณี


มาตรา ๒๑๓  ถ้าสมาชิกอั้งยี่หรือพรรคพวกซ่องโจรคนหนึ่งคนใดได้กระทำความผิดตามความมุ่งหมายของอั้งยี่หรือซ่องโจรนั้น สมาชิกอั้งยี่หรือพรรคพวกซ่องโจรที่อยู่ด้วยในขณะกระทำความผิด หรืออยู่ด้วยในที่ประชุมแต่ไม่ได้คัดค้านในการตกลงให้กระทำความผิดนั้น และบรรดาหัวหน้า ผู้จัดการ หรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในอั้งยี่หรือซ่องโจรนั้น ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นทุกคน


มาตรา ๒๑๔  ผู้ใดประพฤติตนเป็นปกติธุระเป็นผู้จัดหาที่พำนัก ที่ซ่อนเร้นหรือที่ประชุมให้บุคคลซึ่งตนรู้ว่าเป็นผู้กระทำความผิดที่บัญญัติไว้ในภาค ๒ นี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ถ้าการกระทำความผิดนั้น เป็นการกระทำเพื่อช่วยบิดา มารดา บุตร สามีหรือภริยาของผู้กระทำ ศาลจะไม่ลงโทษก็ได้

[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]


มาตรา ๒๑๕  ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ถ้าผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ บรรดาผู้ที่กระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า หรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]


มาตรา ๒๑๖  เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา ๒๑๕ ให้เลิกไป ผู้ใดไม่เลิก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4033/2562

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป กระทำความผิดฐานก่อการร้ายโดยใช้กำลังประทุษร้าย พยายามฆ่าเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งกระทำการตามหน้าที่ สะสมกำลังพลหรืออาวุธเพื่อก่อการร้าย กระทำการอื่นใดเพื่อก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต หรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคลอื่น ก่อให้เกิดหรือน่าจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ อันเป็นการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและความผิดที่จำเลยกับพวกสมคบกันเพื่อกระทำมีกำหนดโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป และจำเลยกับพวกร่วมกันสะสมกำลังพล อาวุธและทรัพย์สินเพื่อก่อการร้าย อันเป็นการบรรยายฟ้องให้ลงโทษจำเลยกับพวกฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร และฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธหรือสมคบกันเพื่อก่อการร้ายในการกระทำคราวเดียวกัน จึงเป็นการกระทำความผิดโดยมีเจตนาเดียวกัน อันถือเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธหรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ. มาตรา 90 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2452 - 2453/2562

ความผิดฐานเป็นซ่องโจรเป็นความผิดสำเร็จเมื่อมีการสมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญา และเมื่อผู้กระทำความผิดได้สะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย หรือกระทำการอื่นใดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 135/2 (2) จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย เมื่อจำเลยกับพวกมีเจตนาเดียวในการกระทำความผิดทั้งสองฐานนี้ จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งต้องลงโทษบทหนักฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย ตาม ป.อ. มาตรา 90 แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาในปัญหานี้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


ความผิดฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย และฐานร่วมกันมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย เป็นความผิดและระวางโทษตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 78 ประกอบมาตรา 55 อันเป็นบทมาตราเดียวกัน และมาตรา 4 (2) ให้คำนิยามของคำว่า เครื่องกระสุนปืน หมายความรวมตลอดถึงลูกระเบิด กฎหมายถือว่าวัตถุต้องห้ามทั้งสองชนิดเป็นวัตถุประเภทเดียวกัน ส่วนความผิดฐานร่วมกันมียุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งแม้เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง มาตรา 42 อันเป็นกฎหมายคนละฉบับกัน แต่สารเคมีชนิด PENTAERYTHRITOL TETRANITRATE (PETN) ที่สามารถใช้เป็นวัตถุระเบิด และสารเคมีชนิด AMMONIUM NITRATE ที่ใช้เป็นส่วนผสมของวัตถุระเบิด นอกจากเป็นยุทธภัณฑ์ตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 มาตรา 4 ประกอบประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่อง กำหนดยุทธภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2550 ข้อ 2 แล้ว ยังเป็นวัตถุระเบิดซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ออกตามความใน พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2522 ด้วย ดังนั้น วัตถุระเบิดและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ และสารเคมีดังกล่าวจึงเป็นวัตถุต้องห้ามประเภทเดียวกัน เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุทั้งสามชนิดในขณะเดียวกัน การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งต้องลงโทษบทหนักฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7997/2561

ความผิดฐานเป็นอั้งยี่เป็นความผิดสำเร็จเมื่อได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นความผิดกรรมหนึ่ง ส่วนความผิดฐานเป็นซ่องโจร เป็นความผิดสำเร็จเมื่อมีการสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญา และเมื่อผู้กระทำความผิดได้สะสมกำลังพล หรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย หรือการกระทำอื่นใดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 135/2 (2) จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ ตระเตรียมการหรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกมีเจตนาเดียวกันในการกระทำความผิดทั้งสองฐานนี้ เพื่อก่อการร้าย จึงเป็นความผิดกรรมเดียวตาม ป.อ. มาตรา 90 ซึ่งต้องลงโทษบทหนักฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ ตระเตรียมการหรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย ซึ่งเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์หรือฎีกาขอให้ลงโทษให้ถูกต้อง จึงไม่อาจแก้ไขเรียงกระทงลงโทษในส่วนนี้ได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 คงปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้เท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2691 - 2692/2560

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดสิบห้าฐานร่วมกันทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นและฐานร่วมกันบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 215, 309, 364 และ 365 และขอให้เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษเฉพาะความผิดฐานร่วมกันบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364 และ 83 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 29 ที่ 31 ถึงที่ 41 ที่ 43 ถึงที่ 46 ที่ 48 ถึงที่ 80 และที่ 82 คนละ 6 เดือน ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 215 และ 309 แม้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยดังกล่าวมีความผิดฐานร่วมกันทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นอันเป็นการแก้ไขมากก็ตาม แต่ศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำคุกเพียง 6 เดือน ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น กรณีมิใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5682/2559

การกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ตาม ป.อ. มาตรา 209 เป็นความผิดสำเร็จทันทีเมื่อผู้นั้นได้เข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบ ทั้งยังเป็นความผิดต่อเนื่องติดต่อกันตลอดมา ตราบใดที่ผู้กระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ยังคงเป็นสมาชิกของคณะบุคคลดังกล่าว เมื่อคณะบุคคลที่จำเลยทั้งเจ็ดเข้าร่วมเป็นสมาชิกตามที่โจทก์บรรยายฟ้องในคดีนี้ กับคณะบุคคลที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 เข้าร่วมเป็นสมาชิกตามที่โจทก์บรรยายฟ้องในคดีก่อนเป็นคณะบุคคลเดียวกัน และช่วงระยะเวลาที่จำเลยทั้งเจ็ดสมัครเป็นสมาชิกของคณะบุคคลดังกล่าวอยู่ในช่วงระยะเวลาเดียวกันกับระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 สมัครเป็นสมาชิกของคณะบุคคลในคดีดังกล่าว ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำหรือเป็นฟ้องซ้อนกับคดีดังกล่าว หากคดีดังกล่าวถึงที่สุด สิทธินำคดีอาญาในความผิดฐานเป็นอั้งยี่มาฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 เป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) หรือหากคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 หรือศาลฎีกา ห้ามมิให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ในความผิดเป็นอั้งยี่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15


ความผิดฐานเป็นซ่องโจรตาม ป.อ. มาตรา 210 เป็นความผิดสำเร็จเมื่อมีการสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บทบัญญัติไว้ในภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญา ความผิดฐานเป็นซ่องโจรจึงเป็นขั้นตอนการกระทำความผิดที่ยกระดับจากความผิดฐานเป็นอั้งยี่ โดยมีการกระทำถึงขั้นคบคิดหรือตกลงกันหรือประชุมหรือตกลงกันเพื่อกระทำความผิด ส่วนความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายตาม ป.อ. มาตรา 135/2 (2) จะเป็นความผิดต่อเมื่อผู้กระทำได้สะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย หรือการกระทำอื่นใดตามที่บทบัญญัติไว้ในมาตรา 135/2 (2) อันเป็นการยกระดับจากความผิดฐานเป็นอั้งยี่เช่นกัน แม้ความผิดฐานเป็นซ่องโจรและความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายอาจเป็นความผิดกรรมเดียวกันได้หากเป็นการสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อก่อการร้ายซึ่งเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญา แต่วันเวลาและสถานที่เกิดเหตุซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจรและฐานร่วมกันก่อการร้ายในคดีนี้ต่างจากวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุที่โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจรและฐานร่วมกันก่อการร้ายในคดีก่อน และเจตนาในการกระทำความผิดคดีนี้ต่างกับเจตนาในการกระทำความผิดที่โจทก์ฟ้องในคดีก่อน ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานเป็นซ่องโจรและฐานร่วมกันก่อการร้ายคดีนี้เป็นการกระทำความผิดต่างกรรมกันกับความผิดฐานเป็นซ่องโจรและฐานร่วมกันก่อการร้ายในคดีก่อน จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ำกับฟ้องในความผิดฐานเป็นซ่องโจรและฐานร่วมกันก่อการร้ายในคดีดังกล่าว


เมื่อการกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจรในคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 สมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อกระทำการก่อการร้าย และลงมือกระทำความผิดฐานก่อการร้ายโดยร่วมกันมีวัตถุระเบิด ดังนี้ การกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจรและความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายในคดีนี้จึงเป็นกระทำความผิดโดยมีเจตนาเดียวกันในการกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวอันถือเป็นความผิดกรรมเดียวตาม ป.อ. มาตรา 90 ส่วนการกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ และฐานเป็นซ่องโจรเป็นการกระทำความผิดที่ยกระดับถึงขั้นมีการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดไม่ว่าโดยร่วมกันคบคิดหรือวางแผนเพื่อกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้น การกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ และฐานเป็นซ่องโจรจึงเป็นการกระทำความผิดที่ผู้กระทำความผิดมีเจตนาต่างกัน อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1622/2558

ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ จำเลยกระทำความผิดโดยเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการ และมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ส่วนความผิดฐานก่อการร้ายนั้น จำเลยร่วมกระทำความผิดด้วยการสะสมกำลังพลและอาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย ตระเตรียมการอื่นใดหรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย การกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว แม้จำเลยจะได้กระทำในช่วงเวลาเดียวกัน แต่การกระทำความผิดนั้นเป็นการกระทำคนละอย่างแตกต่างกันและต่างกรรมต่างวาระกัน ทั้งเจตนาและความมุ่งหมายในการเป็นอั้งยี่และการก่อการร้ายก็เป็นคนละอย่างต่างกัน การกระทำความผิดของจำเลยในความผิดฐานเป็นอั้งยี่และก่อการร้ายจึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน มิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14715/2557

การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันตัดผลปาล์มของผู้เสียหายจนหล่นลงมากองอยู่บนพื้นเป็นการแยกหรือเคลื่อนที่ผลปาล์มออกจากต้น แต่ยังไม่ทันรวบรวมผลปาล์ม ผู้เสียหายก็มาพบเสียก่อน ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้ายึดถือเอาผลปาล์มจำนวนนั้นไว้แล้วอันเป็นการเอาไปซึ่งทรัพย์ของผู้เสียหาย กรณีจึงเป็นความผิดฐานพยายามร่วมกันลักทรัพย์เท่านั้น และถือเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วยได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12613/2557

การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวก แอบดักซุ่มทำร้ายผู้ตายกับพวก หลังจากมีเหตุวิวาทชกต่อยกันแล้ว โดยได้ความจากคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กับพวกบางคนมีมีดเป็นอาวุธ ส่วนคนร้ายที่ไม่มีมีด ก็ตัดต้นไม้ยูคาลิปตัสข้างทางเป็นท่อน ๆ ใช้เป็นอาวุธ เมื่อผู้ตายกับพวกขับรถจักรยานยนต์ผ่านมา จำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกก็วิ่งกรูกันออกมาทำร้าย โดยมิได้เลือกว่าจะทำร้ายบุคคลใดเป็นเฉพาะเจาะจง ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกคิดใคร่ครวญวางแผนตกลงที่จะทำร้ายผู้ตายกับพวก โดยประสงค์ถือเอาการกระทำของแต่ละคนเป็นการกระทำของตน ถือได้ว่าเป็นการร่วมกระทำความผิดด้วยกันนับเป็นตัวการ ดังนี้ แม้ไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นผู้ฟันทำร้ายผู้ตาย แต่เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นตัวการแล้ว นอกจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 จะมีความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร และมีความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยังมีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่ความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรกับความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเกี่ยวเนื่องกัน เพราะที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรเพื่อที่จะไปทำร้ายผู้ตายกับพวก จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท


เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยกคำขอส่วนแพ่งที่ขอให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วม แม้โจทก์จะฎีกาในคดีส่วนอาญา แต่โจทก์ร่วมมิได้ฎีกาในคดีส่วนแพ่ง เท่ากับโจทก์ร่วมพอใจในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 คดีส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมจึงเป็นอันยุติไป ศาลฎีกาไม่อาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 784/2557

ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ตาม ป.อ. มาตรา 209 เป็นความผิดทันทีเมื่อผู้นั้นได้เข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ความผิดฐานเป็นซ่องโจรตาม ป.อ. มาตรา 210 เป็นขั้นตอนการกระทำความผิดที่ยกระดับถึงขั้นคบคิดกันหรือตกลงกันหรือประชุมหารือกันเพื่อจะกระทำความผิด สภาพความผิดฐานเป็นอั้งยี่และฐานเป็นซ่องโจรจึงสามารถแยกการกระทำแต่ละความผิดได้ จึงเป็นความผิดหลายกรรม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7562/2556

จำเลยทั้งสองกับพวก 5 คน ร่วมกันปรึกษาวางแผนลักทรัพย์ของชาวต่างชาติบนรถโดยสารสองแถว โดยขึ้นรถโดยสารสองแถวมาพร้อมกันซึ่งจะทำให้มีผู้โดยสารมากพอที่จะทำให้พวกของจำเลยที่ 1 สามารถเข้าไปนั่งชิดกับผู้เสียหายทางด้านขวาที่มีกระเป๋าสตางค์อยู่ในประเป๋ากางเกง พวกของจำเลยทั้งสองจึงมีโอกาสล้วงกระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหาย และมีการแบ่งหน้าที่กันทำตามที่จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 5 คน สมคบกัน จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานร่วมกับพวกลักทรัพย์ในยวดยานสาธารณะและเป็นซ่องโจร ซึ่งความผิดฐานเป็นซ่องโจรกับฐานร่วมกันลักทรัพย์ในยวดยานสาธารณะเกี่ยวเนื่องกันจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5553 - 5554/2556

จำเลยที่ 2 กับพวกได้รวมกลุ่มคัดค้านด้วยความสงบโดยปราศจากอาวุธและมิได้ใช้กำลังประทุศร้ายใด ๆ ได้พยายามที่จะขจัดความเดือนร้อนด้วยการยื่นข้อเรียกร้องในทางรัฐบาลและผู้เสียหายลงไปแก้ปัญหาแล้ว โดยข้อเรียกร้องดังกล่าวก็สมเหตุสมผลและเป็นที่ประจักษ์ชัดว่ามีอยู่จริง แต่ไม่เป็นผลและไม่เคยได้รับคำตอบจากรัฐบาลจำเลยและผู้เสียหาย ทั้งตามพฤติการณ์ในขณะนั้นก็ไม่มีวิธีการอื่นใดเลยที่จำเลยทั้งสองกับพวกจะพึงกระทำได้โดยชอบเพราะการสร้างเขื่อนขวางกั้นแม่น้ำและระเบิดหินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน อันเป็นการทำลายระบบนิเวศน์ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่โดยตรงกำลังดำเนินอยู่อย่างชัดแจ้ง หากกระทำไปแล้วย่อมยากแก่การแก้ไขให้กลับสู่สภาพเดิมได้ จึงถือเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง การกระทำของจำเลยที่ 2 และพวกแม้เป็นการมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เมื่อเจ้าพนักงานบอกให้เลิกไม่ยอมเลิกตาม ป.อ. มาตรา 215, 216 และร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืนตาม ป.อ. มาตรา 362, 365 ก็เป็นการกระทำด้วยความจำเป็นที่ต้องรวมกลุ่มกันและเข้ายึดพื้นที่ที่มีการสร้างเขื่อน จึงจะสามารถระงับยับยั้งภยันตรายดังกล่าวได้ และการกระทำของจำเลยที่ 2 กับพวกปราศจากอาวุธและมิได้ใช้ความรุนแรงใด ๆ ก็เป็นการพอสมควรแก่เหตุ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา 67


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2273/2556

ผู้เสียหายที่ 2 ที่ถูกหน่วงเหนี่ยว ขวางทาง ฉุดรั้งและข่มขืนใจโดยถูกประทุษร้ายเพื่อให้ยอมไม่เข้าร่วมเสนอราคาไม่ได้ยอมตามที่ถูกกระทำดังกล่าว กลับได้เข้าไปยื่นซองเสนอราคาและร้องเรียนต่อเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้อง จนการจัดประกวดราคาในวันดังกล่าวถูกยกเลิก การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกจึงเป็นเพียงการพยายามกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 6 และ ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก


เจตนาในการตั้งกลุ่มกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ซ่องโจรของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3ก็เพื่อกระทำความผิดฐานต่าง ๆ ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐฯ จึงเป็นเจตนาเดียวกัน เป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงต้องลงโทษในความผิดฐานเป็นอั้งยี่ตาม ป.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 209 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 222/2556

ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ จำเลยกระทำความผิดโดยเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ส่วนความผิดฐานสนับสนุนการก่อการร้ายจำเลยกระทำความผิดด้วยการให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดฐานก่อการร้ายก่อนหรือขณะกระทำความผิด การกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว แม้จำเลยจะได้กระทำในช่วงเดียวกัน แต่การกระทำความผิดนั้นเป็นการกระทำคนละอย่างแตกต่างกันและต่างกรรมต่างวาระ ทั้งเจตนาและความมุ่งหมายในการเป็นอั้งยี่ และสนับสนุนการก่อการร้ายก็เป็นคนละอย่างต่างกัน การกระทำความผิดของจำเลยในความผิดฐานเป็นอั้งยี่และฐานสนับสนุนการก่อการร้ายจึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกันมิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17705/2555

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ร่วมกับจำเลยที่ 2 และพวกอีกหลายคนที่ยังหลบหนีแบ่งหน้าที่กันทำโดยให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ท. หลอกลวงสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า เป็นผู้มีชื่อตามหางบัตรที่ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการร่วมออกรางวัล ซึ่งจะตักตลับลูกบอลในภาชนะที่ตนอยู่ประจำหลักด้วยวิธีเสี่ยงทาย ความจริงแล้วจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ท. มิได้เป็นผู้มีชื่อตามหางบัตรที่แท้จริง และจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ท. ได้ทำเครื่องหมายที่ตลับลูกบอลด้วยสารเคมีตามวิธีการที่วางแผนซักซ้อมกันมา แล้วจะเลือกตักเอาลูกบอลที่มีเครื่องหมายดังกล่าวซึ่งเป็นลูกบอลหมายเลข 1 โดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากบุคคลที่สาม จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตามฟ้อง นอกจากนั้นการที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมประชุมวางแผนแบ่งหน้าที่กันกับจำเลยที่ 2 และพวกอีกหลายคนที่ยังหลบหนีเพื่อจะกระทำความผิดดังกล่าว ย่อมเป็นการสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อตระเตรียมกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จึงเป็นความผิดฐานซ่องโจรด้วย


ความผิดฐานซ่องโจรกฎหมายเอาโทษไว้ก็เพราะการที่บุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพียงที่ตกลงกันจะกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาภาค 2 ซึ่งแม้ยังไม่ทันได้กระทำความผิด ก็เป็นอันตรายแก่สังคมแล้ว กรณีนี้กรรมในเรื่องการสมคบกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกงอันเป็นความผิดฐานซ่องโจรได้กระทำสำเร็จไปแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ได้กระทำกรรมใหม่ขึ้นอีก ด้วยการร่วมกับจำเลยอื่นที่เหลือหลอกลวงสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ เป็นเหตุให้ได้รับทรัพย์สินจากบุคคลที่สาม การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 กับพวกดังกล่าวจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16640/2555

ความผิดฐานซ่องโจรเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 5 ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ซึ่งบัญญัติไว้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม ความสงบสุข และความปลอดภัยของประชาชนโดยส่วนรวม มิใช่บัญญัติไว้เพื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจงเป็นส่วนตัว ดังนั้น ความผิดฐานซ่องโจรถือว่าเป็นการกระทำต่อรัฐโดยตรง รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ซึ่งเป็นราษฎรจึงไม่ใช่บุคคลผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดโดยตรง มิใช่ผู้เสียหายนิตินัย ไม่มีอำนาจฟ้องคดีได้เอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11107 - 11108/2554

จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 กับพวกร่วมกันวางแผนไปปล้นทรัพย์ของผู้เสียหาย ซึ่งเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จึงมีความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 6 ไปชิงทรัพย์ของผู้เสียหายตามแผนที่ร่วมกันวางไว้ ย่อมเป็นความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจโดยใช้ยานพาหนะ แต่ความผิดฐานเป็นซ่องโจรกับความผิดฐานชิงทรัพย์เกี่ยวเนื่องกัน กล่าวคือ พวกจำเลยที่ 1 และที่ 6 กระทำความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรเพื่อจะไปปล้นทรัพย์ของผู้เสียหาย จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานร่วมกันชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจโดยใช้ยานพาหนะ อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 6 ฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรด้วย จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 และที่ 6 ไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5889/2554

จำเลยที่ 1 ร่วมอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงตั้งแต่สิบคนขึ้นไปและเป็นผู้จุดไฟเผาทรัพย์สินของผู้อื่นอันเป็นการเข้าร่วมมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปและกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 215 วรรคสอง 217 และ 358 ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจได้ประกาศผ่านเครื่องกระจายเสียงว่าไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงกระทำผิดกฎหมายซึ่งเป็นการสั่งให้เลิกมั่วสุมในการก่อเหตุวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 ได้มั่วสุมและกระทำการก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 216 ที่มุ่งประสงค์ลงโทษผู้ที่ขัดขืนคำสั่งของเจ้าพนักงานอันเป็นการกระทำที่ยังไม่ถึงขั้นความผิดสำเร็จตามมาตรา 215


การวางเพลิงเผาทรัพย์และทำให้เสียทรัพย์ เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5573/2554

การที่ชาวบ้านร่วมชุมนุมและเดินขบวนกันเพราะไม่พอใจที่ทางราชการมีมติให้จัดตั้งกิ่งอำเภอนาทมในที่อื่น ที่ไม่ใช่ตำบลนาทมโดยมีชาวบ้านร่วมกันกว่า 200 คน ไม่ปรากฏว่ามีการร่วมกันวางแผนหรือคบคิดกระทำการในสิ่งผิดกฎหมาย ไม่มีผู้ใดมีอาวุธ จึงต้องถือว่าเป็นการชุมนุมที่เริ่มต้นด้วยความสงบปราศจากอาวุธ อันเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนโดยชอบที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับให้การรับรองตลอดมา การกระทำความผิดมาเกิดขึ้นในภายหลัง ต้องถือว่าเป็นเจตนาของผู้กระทำความผิดของแต่ละคนแต่ละกลุ่มจะถือเอาเป็นเจตนาร่วมของผู้เข้าชุมนุมทุกคนไม่ได้ ลำพังแต่จำเลยเป็นผู้ร่วมอยู่ในกลุ่มชาวบ้าน 2 กลุ่ม ที่มีคนร้ายบางคนกระทำความผิดก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง หรือพฤติการณ์อันใดที่แสดงการขัดขวางมิให้ ศ. กับพวกนำรถดับเพลิงเข้าไปในบริเวณที่เกิดเหตุเผาสะพาน ยังไม่อาจถือได้ว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับคนร้าย ตาม ป.อ. มาตรา 83 กรณีต้องถือว่าจำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 มีเสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าวตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 305/2547

องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 ผู้มั่วสุมต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 โดยการมั่วสุมยังไม่ถึงขั้นลงมือกระทำการอันเป็นความผิดตามมาตรา 215 แต่หากต่อมาผู้นั้นกระทำการดังที่มาตรา 215บัญญัติไว้ต่อไป ก็จะมีความผิดทั้งตามมาตรา 215 และมาตรา 216 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 กับพวกรวมกัน 10 คน ชุมนุมปราศรัยด้วยความสงบ ไม่มีพฤติการณ์ว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการ วุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองแสดงว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3และที่ 4 กับพวกมิได้มั่วสุมโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 215 แม้เจ้าพนักงานสั่งให้เลิกการมั่วสุมแล้วไม่เลิก จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ก็ไม่มีความผิดตามมาตรา 216


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1913/2546

ความผิดฐานซ่องโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 นั้น ผู้กระทำต้องสมคบกันเพื่อกระทำความผิด โดยร่วมคบคิดกันหรือแสดงออกซึ่งความตกลงจะทำความผิดร่วมกัน เช่น ประชุมหรือหารือวางแผนที่จะกระทำความผิด และตามมาตรา 212บัญญัติให้เอาความผิดแก่ผู้จัดหาที่ประชุมหรือที่พำนักให้แก่ซ่องโจร ซึ่งเป็นข้อสนับสนุนให้เห็นถึงองค์ประกอบของความผิดฐานเป็นซ่องโจรให้เห็น เด่นชัดว่าจะต้องมีการคบคิดประชุมปรึกษาหารือกันเพื่อกระทำความผิด ซึ่งมีสภาพเป็นการกระทำระหว่างผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เห็นว่า มีการคบคิดกันจะกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ข้อเท็จจริงจึงไม่พอฟังว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานฉ้อโกง


ผู้เสียหายสมัครใจที่นำเงินมาเพื่อร่วมกับจำเลยทั้งสองและ ว. เล่นการพนันกำถั่วเพื่อโกง ท. ตามที่บุคคลทั้งสามชักชวนผู้เสียหาย เพราะ ว. ได้แสดงการโกงพนันกำถั่วให้ผู้เสียหายดู ตลอดจนจำเลยที่ 2 ก็สอนวิธีการโกงพนันกำถั่วให้ผู้เสียหายดูจนผู้เสียหายแน่ใจว่าสามารถเล่น พนันกำถั่วโกง ท. ได้ ทั้งผู้เสียหายก็อยู่ในห้องเกิดเหตุตลอดเวลาที่เล่นการพนันกัน การที่ผู้เสียหายนำเงินมามอบให้จำเลยทั้งสองกับพวกเล่นการพนันกำถั่วเพื่อ โกง ท. จึงเชื่อได้ว่าผู้เสียหายสมัครใจเข้าร่วมเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย เป็นการร่วมกับจำเลยทั้งสองกระทำความผิด ผู้เสียหายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมีสิทธิร้องทุกข์ขอให้เจ้า พนักงานนำคดีขึ้นว่ากล่าวในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2905/2543

พฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมปรึกษาหารือกันมาก่อนเป็นลำดับโดยให้จำเลยทั้ง สองทำทีเป็นเข้าไปขอเช่าที่ดินจากผู้เสียหายทั้งสอง เพื่อสร้างความสนิทสนมไว้เบื้องต้นก่อน ซึ่งจะเป็นช่องทางที่จะชักนำผู้เสียหายทั้งสองเดินไปสู่หลุมพรางอันจำเลย ทั้งสองกับพวกรวม5 คน ได้ทำกับดักเอาไว้ หลังจากนั้นจึงได้ชักนำผู้เสียหายทั้งสองไปที่บ้านหลังหนึ่งและให้ดื่มน้ำ ซึ่งผสมสารมึนเมา แล้วนำพาผู้เสียหายทั้งสองไปถอนเงินที่ธนาคาร และขอยืมเงินไปเล่นการพนันกำถั่วจนกระทั่งแพ้การพนันหมดเงินจำนวนดังกล่าว โดยจำเลยทั้งสองกับพวกไม่เคยปริปากพูดถึงเรื่องการเช่าที่ดินดังกล่าวในตอน แรกอีกเลย ซึ่งวิธีการเช่นนี้หากไม่มีการนัดแนะและร่วมกันวางแผนหาหนทางกันมาก่อนผลก็ ย่อมจะเกิดขึ้นเป็นลำดับสอดคล้องเช่นนั้นไม่ได้ กรรมจึงเป็นเครื่องชี้เจตนาอันถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้สมคบกับพวกตั้งแต่ ห้าคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ซึ่งมีกำหนดโทษจำคุกไม่เกินสามปี จึงถือว่าจำเลยทั้งสองสมคบกับพวกตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อกระทำผิดอย่างหนึ่ง อย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาภาค 2 จำเลยทั้งสองจึงต้องมีความผิดฐานเป็นซ่องโจร


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1176/2543

จำเลยเข้าเป็นสมาชิกกองกำลังติดอาวุธโจรก่อการร้ายขบวนการ บีอาร์เอ็นกลุ่มนาย อ. มีพฤติการณ์กระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาค ใต้ โดยเรียกค่าคุ้มครอง ซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเป็นคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีการดำเนินการและมี ความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมายจึงมีความผิดฐานอั้งยี่ตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 209 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2657/2542

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่กับ ช. ร่วมกันเป็นซ่องโจรโดยสมคบคิดกันตั้งแต่ 5 คน เพื่อกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์และชิงทรัพย์ผู้อื่น แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าในคืนเกิดเหตุ ช. อยู่ร่วมกับจำเลยทั้งสี่ ดังนั้น พฤติการณ์ตามที่โจทก์กล่าวหาจำเลยทั้งสี่จึงไม่เป็นความผิดฐานซ่องโจร


ขณะจำเลยที่ 1 ขึ้นไปโดยสารรถของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 ได้นำอาวุธปืนซึ่งเป็นของตนเก็บไว้ในช่องที่เก็บของหน้ารถแล้วจำเลยที่ 1 นั่งโดยสารไปด้วย ถือว่าความครอบครองอาวุธปืนยังอยู่ที่จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ลงจากรถลืมเอาอาวุธปืนลงมา และต่อมาในเวลาใกล้ชิดกัน เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสี่ได้ ก็ยังถือว่าอาวุธปืนดังกล่าวยังอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 จึงไม่มีความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองและพาอาวุธปืนโดยไม่รับอนุญาต


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4548/2540

จำเลย ที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกรวม 6 คน ร่วมกันวางแผนไปกระทำการปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 2 อันเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2แห่ง ป.อ.จึงมีความผิดฐานเป็นซ่องโจร และเมื่อจำเลยที่ 4 กับพวกไปปล้นร้านทองของผู้เสียหายที่ 2 ตามแผนที่ร่วมกันวางไว้ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ผู้ร่วมวางแผนย่อมมีความผิดฐานเป็นตัวการปล้นร้านทองร่วมกับจำเลยที่ 4 กับพวกด้วย ตาม ป.อ.มาตรา 213 และความผิดฐานเป็นซ่องโจรกับความผิดฐานปล้นทรัพย์เกี่ยวเนื่องกันเพราะพวก จำเลยกระทำผิดฐานเป็นซ่องโจรเพื่อจะไปปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสองจึง เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานปล้นทรัพย์อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสี่ฐานเป็นซ่องโจรด้วย จึงไม่ถูกต้องศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสามจะไม่ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้และเป็นเหตุในลักษณะคดี จึงต้องวินิจฉัยให้มีผลถึงจำเลยที่ 4 ด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 521/2539

จำเลย ที่ 12 ให้เงินจำเลยที่ 11 เพื่อให้นำไปให้จำเลยที่ 7 และที่ 8 เช่าสถานที่และซื้อ ไม้มาสร้างโรงรถเพื่อถอดแยกชิ้นส่วนรถยนต์โดยไม่ได้ สมคบกันเพื่อลักทรัพย์หรือรับของโจรและเมื่อนับรวมกันแล้วก็มีเพียง 4 คนเท่า นั้นส่วนคนร้ายที่ทำการถอดแยกชิ้นส่วนรถยนต์ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 12 ได้ร่วม สมคบในการลักทรัพย์ด้วยข้อเท็จจริงจึงไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 12 สมคบกับคนอื่น ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐาน ลักทรัพย์หรือ รับของโจรอันจะเป็นความผิดฐานเป็น ซ่องโจร


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 346/2535

การมั่วสุมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 ผู้มั่วสุมไม่จำต้องมีเจตนากระทำผิดในรายละเอียดอย่างเดียวกัน เพียงแต่เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดการ วุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองก็เป็นความผิดแล้ว และผู้ที่มามั่วสุมก็ไม่จำต้องรู้จักหรือมีการนัดหมายวางแผนกันมาก่อน ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 มุ่งประสงค์ลงโทษผู้ที่ขัดขืนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ไม่ยอมเลิกการมั่วสุม กันเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 อันเป็นการกระทำที่ยังไม่ถึงขั้นที่ผู้กระทำได้ลงมือใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญ หรือทำให้เกิดการวุ่นวายอันเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 215 เมื่อเจ้าพนักงานได้สั่งให้จำเลยกับพวกเลิกการมั่วสุมภายหลังที่มีการกระทำ ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 แล้ว แม้จำเลยทุกคนไม่เลิกการกระทำของจำเลยทุกคนก็คงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญามาตรา 215 เท่านั้นไม่เป็นความผิดตามมาตรา 216 ด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4986/2533

ความผิดฐานเป็นซ่องโจรนั้น ผู้กระทำจะต้องสมคบกันเพื่อกระทำความผิด คือร่วมคบคิดกัน ประชุมปรึกษาหารือกัน หรือการแสดงออกซึ่งความตกลงจะกระทำผิดร่วมกัน อันมีสภาพเป็นการกระทำระหว่างผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกัน การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5ร่วมกันเจรจากับเจ้าพนักงานตำรวจที่ไปล่อซื้อเสนอขายรถจักรยานยนต์ที่ ถูกลักมาให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจ มีลักษณะที่เป็นการกระทำต่อบุคคลภายนอก การกระทำของจำเลยยังไม่เป็นความผิดฐานซ่องโจร


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1974/2532

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 มุ่งประสงค์ลงโทษผู้ที่ขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ไม่ยอมเลิกการมั่วสุม เพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ซึ่งเป็นการกระทำที่ยังไม่ถึงขั้นลงมือใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญ หรือทำให้เกิดความวุ่นวายอันเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 215หากเจ้าพนักงานมีคำสั่งให้เลิกแล้วผู้กระทำไม่ยอมเลิกและได้กระทำการต่อ ไปจนเป็นความสำเร็จตามมาตรา 215 ผู้กระทำย่อมมีความผิดทั้งมาตรา 215 และ 216 อันเป็นการกระทำผิดกรรมเดียวเพราะเป็นเจตนาเดียวกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1903/2532

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 มุ่งประสงค์ลงโทษผู้ที่ขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ไม่ยอมเลิกการมั่วสุมกัน เพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ซึ่งเป็นการกระทำที่ยังไม่ถึงขั้นที่ผู้กระทำได้ลงมือใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญ หรือทำให้เกิดความวุ่นวายอันเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 215 ดังนั้น มาตรา 216 จึงเป็นความผิดต่างหากอีกบทหนึ่งหากเจ้าพนักงานได้มีคำสั่งให้เลิกแล้ว แต่ผู้กระทำไม่เลิกตามคำสั่งของเจ้าพนักงานและได้กระทำการต่อไปเป็นความผิด สำเร็จตามมาตรา 215 ผู้กระทำก็ย่อมมีความผิดทั้งตามมาตรา 215 และมาตรา 216 อันเป็นกรรมเดียวกัน ฟ้องโจทก์บรรยายว่า ข้อ (1) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2529เวลากลางวัน จำเลยทั้งสี่กับพวกร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อให้เกิดความวุ่นวาย ในบ้านเมืองและร่วมกันใช้ก้อนอิฐ ก้อนหินและวัตถุของแข็งเป็นอาวุธขว้างปาประทุษร้ายเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้า พนักงานฝ่ายปกครองจังหวัดภูเก็ต ในขณะที่ทำการห้ามปรามมิให้มีการขว้างปาทำลายศาลาประชาคมกับขว้างปาเผาทำลาย โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลินและโรงงานไทยแลนด์แทนทาลั่มอินดัสตรี จำกัดข้อ (2) เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองจังหวัดภูเก็ตสั่งให้จำเลย ทั้งสี่กับพวกที่มั่วสุมเพื่อกระทำผิดตามฟ้องข้อ (1) ให้เลิกไป แต่จำเลยกับพวกดังกล่าวไม่ยอมเลิก ดังนี้ ตามคำฟ้องข้อ (1) เป็นการบรรยายฟ้องในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 ส่วนฟ้องข้อ (2) เป็นการบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 ซึ่งตามฟ้อง (2)นี้มีความหมายเพียงว่า เจ้าพนักงานได้มีคำสั่งให้เลิกในขณะที่จำเลยกับพวกกำลังมั่วสุมกันเพื่อ กระทำความผิดตามมาตรา 215 เท่านั้นข้อความตามฟ้องข้อ (2) มิได้มีความหมายว่าในขณะที่เจ้าพนักงานได้มีคำสั่งให้เลิกนั้น จำเลยกับพวกได้ลงมือกระทำการครบถ้วนตามฟ้องข้อ (1) อันเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 215 แล้ว ดังนั้น การที่จำเลยได้กระทำการต่อไปตามฟ้องข้อ (1) โดยไม่เลิกตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน จำเลยย่อมมีความผิดตามมาตรา 215 อีกบทหนึ่งอันเป็นกรรมเดียวกับความผิดตามมาตรา 216 ตามฟ้องข้อ (2) และต้องลงโทษตามมาตรา 216 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3447/2530

ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน มิใช่กระทำโดยเฉพาะเจาะจงแก่บุคคลใดเป็นส่วนตัว รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายโดยตรง


พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เป็นบทบัญญัติที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญาดังจะเห็นได้ว่าบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของพระราชกำหนดนี้ ตาม มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 7 และมาตรา 8 บัญญัติถึงวิธีการและลักษณะของการกู้ยืมในกรณีเช่นนี้ไว้ และบัญญัติถึงการที่จะปราบปรามการกระทำที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนกับวาง มาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการถูกหลอก ลวง และรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้กำหนดมาตรการต่าง ๆ ไว้ เพื่อคุ้มครองประชาชนเป็นส่วนรวม และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้นมีอำนาจใช้มาตรการดังกล่าวนั้นได้ ทั้งนี้เพื่อให้กรณีเสร็จเด็ดขาดไปทันทีดังนั้น ความผิดตามพระราชกำหนดนี้ รัฐเท่านั้นเป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีได้.

(วรรคสองวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 5/2530)