ความผิดต่อชีวิต

มาตรา ๒๘๘  ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี


มาตรา ๒๘๙  ผู้ใด

(๑) ฆ่าบุพการี

(๒) ฆ่าเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่จะกระทำ หรือได้กระทำการตามหน้าที่

(๓) ฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่บุคคลนั้นจะช่วยหรือได้ช่วยเจ้าพนักงานดังกล่าวแล้ว

(๔) ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

(๕) ฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย

(๖) ฆ่าผู้อื่นเพื่อตระเตรียมการ หรือเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น หรือ

(๗) ฆ่าผู้อื่นเพื่อจะเอา หรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่น เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้

ต้องระวางโทษประหารชีวิต


มาตรา ๒๙๐  ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี


ถ้าความผิดนั้นมีลักษณะประการหนึ่งประการใด ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๙ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปี


มาตรา ๒๙๑  ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]


มาตรา ๒๙๒  ผู้ใดกระทำด้วยการปฏิบัติอันทารุณ หรือด้วยปัจจัยคล้ายคลึงกันแก่บุคคลซึ่งต้องพึ่งตน ในการดำรงชีพหรือในการอื่นใด เพื่อให้บุคคลนั้นฆ่าตนเอง ถ้าการฆ่าตนเองนั้นได้เกิดขึ้นหรือได้มีการพยายามฆ่าตนเอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท

[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]


มาตรา ๒๙๓  ผู้ใดช่วยหรือยุยงเด็กอายุยังไม่เกินสิบหกปี หรือผู้ซึ่งไม่สามารถเข้าใจว่าการกระทำของตนมีสภาพหรือสาระสำคัญอย่างไร หรือไม่สามารถบังคับการกระทำของตนได้ ให้ฆ่าตนเอง ถ้าการฆ่าตนเองนั้นได้เกิดขึ้นหรือได้มีการพยายามฆ่าตนเอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]


มาตรา ๒๙๔  ผู้ใดเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เข้าร่วมในการนั้นหรือไม่ ถึงแก่ความตายโดยการกระทำในการชุลมุนต่อสู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ถ้าผู้ที่เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้นั้นแสดงได้ว่า ได้กระทำไปเพื่อห้ามการชุลมุนต่อสู้นั้น หรือเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3429/2563

ผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดจะมีความผิดและถูกลงโทษฐานใช้ให้กระทำความผิดแม้ความผิดนั้นยังมิได้กระทำลงตาม ป.อ. มาตรา 84 วรรคสอง นั้น ข้อเท็จจริงต้องฟังได้ว่าผู้นั้นได้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดข้อหาใด ต่อบุคคลใดอย่างชัดเจน ผู้ถูกใช้จึงจะสามารถลงมือกระทำความผิดนั้นได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 3 บอกจำเลยที่ 2 ให้หาคนมายิงผู้เสียหายทั้งห้า คงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 2 ชักชวนให้จำเลยที่ 1 รับงานยิงคนที่ทะเลน้อย โดยไม่ปรากฏว่ายิงผู้ใด จำเลยที่ 1 ไม่อาจจะไปใช้อาวุธปืนยิงผู้ใดได้ ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงมือก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดฐานใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3322/2563

แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานยืนยันการกระทำความผิดของจำเลย แต่ ป. และ ฮ. ผู้ร่วมขบวนการ ได้ให้การจากการซักถามของเจ้าพนักงานว่า จำเลยเป็นผู้ร่วมขบวนการด้วย โดย ป. ยังให้ถ้อยคำถึงรายละเอียดในการกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้ และในครั้งอื่น ๆ ที่จำเลยมีส่วนร่วมก่อการด้วย โดยมีรายละเอียดของขั้นตอนในการกระทำความผิดอย่างครบถ้วน ส่วน ฮ. ก็ให้ถ้อยคำในรายละเอียดของการกระทำความผิดในคดีนี้ การให้ถ้อยคำของ ป. และ ฮ. มิใช่เป็นการซัดทอดจำเลยเพื่อให้ตนเองพ้นผิด แต่เป็นการให้ถ้อยคำเกี่ยวกับข้อมูลของผู้ร่วมขบวนการด้วยกันว่ามีบุคคลใดบ้าง ตลอดจนรายละเอียดของการกระทำความผิดในแต่ละครั้ง ซึ่งรวมถึงคดีนี้ว่ามีขั้นตอนอย่างไร และมีบุคคลใดบ้างที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องต้องกัน จึงมีเหตุผลให้รับฟัง ส่วนจำเลยให้การในชั้นสอบสวนด้วยความสมัครใจมีรายละเอียดตั้งแต่แรกว่าได้เข้าร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนเมื่อใด โดยคดีนี้มี ป. เป็นผู้สั่งการและได้มอบหมายให้จำเลยมีหน้าที่กดรีโมทคอนโทรลจุดชนวนระเบิด บันทึกคำให้การของผู้ต้องหาและบันทึกผลการซักถามเบื้องต้นดังกล่าว แม้เป็นพยานบอกเล่า แต่น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ ศาลย่อมสามารถรับฟังพยานบอกเล่านั้น ประกอบพยานหลักฐานอื่นเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรเป็นความผิดสำเร็จเมื่อมีการสมคบกัน ต่อมาการที่ผู้กระทำความผิดได้ร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกัน เพื่อก่อการร้าย หรือกระทำการอื่นใดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 135/2 (2) จำเลยกับพวกมีเจตนาเดียวในการกระทำความผิดทั้งสองฐานนี้ จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ปัญหาว่าความผิดตามฟ้องทั้งหมดของโจทก์เป็นกรรมเดียวกันหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ โดยมิได้เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1350/2563

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 288, 371, 376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบของกลางจำเลยให้การปฏิเสธแต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพในข้อหามีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ส่วนข้อหาฆ่าผู้อื่นให้การว่ากระทำความผิดโดยบันดาลโทสะระหว่างพิจารณา นางไพ ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายรณ ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาฆ่าผู้อื่นโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 5,640,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยกระทำความผิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จจำเลยไม่ให้การในคดีส่วนแพ่งศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 72, 376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะและฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 14 ปี ฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย และเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ จำคุก 7 ปี ฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 3 เดือน เมื่อรวมทุกกระทงแล้วคงจำคุก 7 ปี 9 เดือน ริบของกลาง ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของโจทก์ร่วม กับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม 340,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันละเมิด (วันที่ 23 พฤษภาคม 2560) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับโจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 228 (ที่ถูก มาตรา 288) เป็นการกระทำกรรมเดียวกับความผิดฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินปืนโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน ให้ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 18 ปี คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 12 ปี เมื่อรวมกับความผิดฐานอื่นตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว รวมเป็นจำคุก 12 ปี 9 เดือน ให้เพิกถอนคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของนางไพ ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยให้นำเงินที่จำเลยชำระเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2561 จำนวน 200,000 บาท และเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2561 จำนวน 175,699.86 บาท หักชำระเป็นค่าดอกเบี้ยที่ค้างชำระก่อน หากมีเงินเหลือให้หักชำระต้นเงิน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับจำเลยฎีกาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังยุติว่า เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 เวลากลางวัน จำเลยขับรถยนต์ไปรับนายวุฒิ และเด็กชาย ณ. บุตรนอกสมรสของจำเลยกับนางสาวจิรา กลับจากโรงเรียน ขณะที่จำเลยขับรถยนต์มาถึงบริเวณวงเวียนทางเข้าตำบลบางแขม เห็นรถยนต์ของนายรณ ผู้ตายขับสวนมา จำเลยจึงขับรถตามรถของผู้ตายเพื่อดูว่านางสาวจิรา นั่งมาในรถกับผู้ตายหรือไม่ ต่อมาระหว่างทางจำเลยพบรถของผู้ตาย จึงขับรถไปรออยู่ที่บริเวณใกล้สะพานหนองดินแดง จังหวัดนครปฐม ที่เกิดเหตุ ผู้ตายขับรถเข้ามาเทียบด้านข้างและเปิดกระจกตะโกนถามจำเลยว่า ไอ้แก่นมึงตามกูมาทำไม จำเลยตะโกนตอบไปว่า มึงยังไม่เลิกยุ่งกับเมียกูอีกหรือ ลูกโตกันหมดแล้ว ผู้ตายตะโกนตอบว่า จะเลิกยุ่งทำไม เมียมึงเย็ดมันดี จำเลยจึงด่าผู้ตายว่า ไอ้สัตว์ แล้วใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายหลายนัด จนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ชั้นสอบสวนพันตำรวจโทปิยะ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองนครปฐมสอบคำให้การนางไพเราะ โจทก์ร่วมภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย นายวุฒิ เด็กชาย ณ. นางสาวจิรา และจำเลยไว้ สำหรับความผิดฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะหรือไม่ เห็นว่า ตามคำเบิกความของโจทก์ร่วมและคำให้การของนางสาวจิรา รับฟังได้ว่าขณะนางสาวจิรา อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย นางสาวจิรา คบหาฉันชู้สาวกับผู้ตายจนเป็นสาเหตุให้จำเลยหึงหวงและทะเลาะกัน แล้วแยกกันอยู่กับนางสาวจิรา ไม่ได้อยู่กินฉันสามีภริยากันอีก แต่ได้ความจากนายวุฒิ พยานโจทก์และโจทก์ร่วมว่า นางสาวจิรา ยังมาหาเด็กชาย ณ. บุตรชายที่พักอาศัยอยู่กับจำเลยเป็นประจำ วันเกิดเหตุจำเลยเห็นรถผู้ตายโดยบังเอิญจึงขับรถตามรถผู้ตายไป ก็เพื่อต้องการจะพาบุตรชายไปดูว่านางสาวจิรา นั่งอยู่ในรถผู้ตายหรือไม่ ไม่ใช่จำเลยตามไปหาเรื่องหรือจะไปทำร้ายผู้ตาย เมื่อผู้ตายเห็นรถจำเลยจอดอยู่ จึงขับรถมาจอดเทียบข้างรถจำเลย แล้วจำเลยพูดกับผู้ตายว่า มึงยังไม่เลิกยุ่งกับเมียกูอีกหรือ ลูกโตกันหมดแล้ว ก็เป็นการพูดในทำนองขอร้องให้ผู้ตายเลิกคบหากับนางสาวจิรา และให้เห็นแก่บุตรของจำเลยกับนางสาวจิรา ซึ่งโตแล้ว แต่ผู้ตายกลับพูดด้วยถ้อยคำหยาบคายว่า จะเลิกยุ่งทำไม เมียมึงเย็ดมันดี ซึ่งเป็นการพูดต่อหน้าบุตรชายของจำเลยที่เกิดกับนางสาวจิรา ด้วย คำพูดของผู้ตายเช่นนั้นเป็นการเย้ยหยันและดูหมิ่นเหยียดหยามศักดิ์ศรีของจำเลยอย่างรุนแรง จึงเป็นการข่มเหงจิตใจจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม และการที่ผู้ตายคบหากับนางสาวจิรา มาตั้งแต่ขณะนางสาวจิรา อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย ถือว่าจำเลยถูกกดขี่ข่มเหงต่อเนื่องมาโดยตลอด เมื่อจำเลยได้ยินคำพูดของผู้ตายดังกล่าวทำให้ไม่อาจอดกลั้นโทสะไว้ได้จึงใช้ปืนยิงผู้ตายไปในทันทีทันใด กรณีย่อมเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 72 ซึ่งศาลจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดเพียงใดก็ได้ แต่ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำคุกจำเลย 14 ปีนั้น หนักเกินไป เห็นสมควรกำหนดโทษฐานนี้เสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นการฆ่าผู้ตายบันดาลโทสะนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าผู้ตายมีส่วนก่อให้จำเลยกระทำความผิด ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยสำหรับความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามฟ้อง โจทก์ร่วมซึ่งเป็นภริยาของผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) และไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 30 ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางไพ ภริยาของผู้ตายหรือไม่ เห็นว่า แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ตายมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายโดยมีส่วนก่อให้จำเลยกระทำความผิด ก็เป็นข้อเท็จจริงที่จะนำมาใช้ประกอบดุลยพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิของผู้เสียหายที่จะขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหมดไป ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นางไพ เป็นเงิน 340,000 บาท นั้น เป็นการเหมาะสมแล้ว แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่านางไพ ได้รับชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยแล้วตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 ตามคำแถลงขอรับเงินลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 และหลักฐานการจ่ายเงินเข้าบัญชีของนางไพเราะลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 ในสำนวน จึงไม่มีค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยจะต้องชำระอีกมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายหลายนัดจนผู้ตายถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุ แม้จะเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ แต่ถือว่าเป็นการกระทำที่ร้ายแรง และก่อเหตุบริเวณถนนสาธารณะซึ่งมีผู้คนสัญจรผ่านไปมา กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 72 ลงโทษจำคุก 6 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี เมื่อรวมกับความผิดฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว รวมเป็นจำคุก 3 ปี 9 เดือน ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของโจทก์ร่วมและยกคำร้องให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 724/2563

จำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยให้แก่ราษฎรในหมู่บ้าน นอกจากอาวุธปืนยาวลูกซองเดี่ยวขนาด 12 ที่ใช้ยิงผู้ตาย ซึ่งเป็นอาวุธปืนที่ทางราชการมอบให้ไว้ใช้ตรวจรักษาความปลอดภัยในหมู่บ้านแล้ว จำเลยยังมีอาวุธปืนยาวลูกซองเดี่ยว (NTS) แบบสไลด์ แอ็คชั่น (SLIDE ACTION) บรรจุ 4 นัด ขนาด 12 ที่ใช้ยิงขึ้นฟ้าในวันเกิดเหตุอีก 1 กระบอก จำเลยย่อมมีความชำนาญในการใช้อาวุธปืนและทราบดีอยู่แล้วว่าอาวุธปืนเป็นอาวุธที่ร้ายแรงสามารถทำอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ง่าย แต่จำเลยยังใช้อาวุธปืนยาวลูกซองเดี่ยวขนาด 12 ของกลางที่มีกระสุนบรรจุอยู่ในการข่มขู่ผู้ตาย ในขณะผู้ตายนั่งอยู่บนแคร่ จำเลยเดินถืออาวุธปืนเข้าไปหาผู้ตายเพื่อข่มขู่ โดยปากกระบอกปืนชี้ไปหาผู้ตายในระยะใกล้จนผู้ตายสามารถจับปากกระบอกปืนได้ จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่าอาวุธปืนของกลางอาจลั่นถูกผู้ตายถึงแก่ชีวิตได้ แต่จำเลยยังคงกระทำการดังกล่าว เมื่อเกิดการดึงปืนกันจนปืนลั่นถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาฆ่าผู้ตาย หาใช่เป็นการกระทำโดยประมาทไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 643/2563

จำเลยกับผู้เสียหายที่ 2 อยู่กินฉันสามีภริยาและมีบุตรด้วยกัน เพิ่งเลิกคบหากันก่อนเกิดเหตุเพียงหนึ่งเดือน ความสัมพันธ์ยังคงมีอยู่ไม่ถึงกับตัดขาดทีเดียว การที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์ตามหาผู้เสียหายที่ 2 ในขณะที่เพิ่งมีปากเสียงกัน จำเลยจึงอยู่ในสภาวะอารมณ์ขุ่นเคืองและโกรธ มากกว่าที่จะวางแผนหรือใคร่ครวญตรึกตรองหาวิธีทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 เมื่อจำเลยเห็นผู้เสียหายที่ 2 บริเวณบ้านที่เกิดเหตุโดยบังเอิญ จำเลยเลี้ยวรถกลับไปจอดหน้าบ้านที่เกิดเหตุแล้วเดินเข้าไปหา ผู้เสียหายที่ 2 เห็นจำเลยก็วิ่งหนี จำเลยวิ่งตามไปใช้อาวุธมีดที่พกติดตัวมาแทงทำร้าย เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกัน ได้รับอันตรายสาหัส เป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า จำเลยกระทำไปโดยขาดความยับยั้งชั่งใจและขาดสติด้วยคิดว่าผู้เสียหายที่ 2 ตีจากและหันไปคบกับผู้เสียหายที่ 3 พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7147/2562

แม้โจทก์จะยื่นฟ้องจำเลยเฉพาะความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 291 แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องว่า การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้ร้องได้รับอันตรายสาหัส ผู้ร้องจึงเป็นผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องทางแพ่งฐานมูลละเมิดเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ร่างกายโดยอาศัยมูลคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 และแม้คดีส่วนแพ่งของผู้ร้องจะขาดอายุความเนื่องจากไม่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในข้อหาประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 300 ภายในอายุความสิบปีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง ตามที่จำเลยฎีกาก็ตาม แต่ ป.วิ.อ. มาตรา 40 ก็บัญญัติว่า คำพิพากษาส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่ได้ยกปัญหาเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้ในคำให้การ คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ การที่ศาลชั้นต้นหยิบยกเอาอายุความมาเป็นเหตุยกคำร้องของผู้ร้องจึงไม่ชอบ ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยที่จำเลยสามารถหยิบยกขึ้นในชั้นฎีกาได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6663/2562

การที่จำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 ชกต่อยและแยกย้ายจากกันแล้ว จำเลยบอกผู้เสียหายที่ 1 ให้รออยู่ก่อน จำเลยจะกลับไปเอาอาวุธปืน แล้วจำเลยขับรถจักรยานยนต์ไปเอาอาวุธปืนของกลางกลับมายังที่เกิดเหตุโดยใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง นับเป็นเวลาเพียงพอที่จำเลยสามารถระงับสติอารมณ์ทำให้โทสะหมดสิ้นไปและกลับมามีสติสัมปชัญญะได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยเดินทางกลับมายังที่เกิดเหตุแล้วใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 1 จึงเป็นเหตุการณ์ที่ขาดตอนกันไปแล้ว จำเลยจะอ้างว่าเป็นการตัดสินใจเฉพาะหน้าและไม่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อนหาได้ไม่ พฤติการณ์ของจำเลยบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยตระเตรียมการพร้อมที่จะกลับไปฆ่าผู้เสียหายที่ 1 จำเลยจึงมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายที่ 1 โดยไตร่ตรองไว้ก่อน เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 โดยไตร่ตรองไว้ก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5299/2562

การที่ผู้เสียหายกับพวกขว้างปาขวดสุราและไม้เข้าไปยังบริเวณที่จำเลยและ ว. หลบซ่อนอยู่โดยจำเลยและ ว. มิได้ก่อเหตุขึ้นก่อน ย่อมเป็นเหตุทำให้จำเลยสำคัญผิดว่าผู้เสียหายกับพวกซึ่งมีจำนวนมากกว่ามีเจตนาประทุษร้ายจำเลยและ ว. อันเป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง จำเลยจึงมีสิทธิกระทำการป้องกันเพื่อให้พ้นจากภยันตรายดังกล่าว แต่ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายกับพวกมีอาวุธร้ายแรงอื่นใดอีก การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายกับพวกย่อมไม่ได้สัดส่วนกับการป้องกันตัวของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุโดยสำคัญผิด เมื่อกระสุนปืนที่จำเลยยิงถูกผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายสาหัส จำเลยมีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นอันเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุโดยสำคัญผิด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4978/2562

แม้จำเลยที่ 3 ร่วมกันวางแผนกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกเพื่อกระทำความผิด โดยจำเลยที่ 3 มีส่วนรู้เห็นมาตั้งแต่ต้น แต่ขณะที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำเลยที่ 3 จอดรถรอที่ซุ้มประตูบ้านโคกตาลเพื่อคอยดูเส้นทางให้จำเลยที่ 4 กับพวกเท่านั้น มิได้ร่วมขับรถจักรยานยนต์ไล่ติดตามรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับ บริเวณที่จำเลยที่ 3 จอดรถคอยดูเส้นทางให้ มิได้อยู่ใกล้กับที่เกิดเหตุในลักษณะที่จำเลยที่ 3 พร้อมที่จะเข้าช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกในขณะกระทำความผิดได้ในทันที จึงไม่ใช่เป็นการแบ่งหน้าที่กันทำอันจะเป็นตัวการในการกระทำความผิดได้ การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นเพียงการช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกกระทำความผิด จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเท่านั้น และแม้จำเลยที่ 3 มิได้ฎีกาเรื่องค่าสินไหมทดแทน ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยอื่นเพื่อชดใช้แก่ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 แต่ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเป็นค่าสินไหมทดแทนที่ศาลต้องกำหนดให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด จำเลยที่ 3 จึงควรต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 ตามสัดส่วนของการกระทำความผิด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3328/2562

คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) (6) (7) 339 วรรคท้าย เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) (6) (7) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ริบของกลาง โจทก์และจำเลยต่างไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นด้วยเฉพาะความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289 (6) (7) 339 วรรคท้าย และโทษที่ลงแก่จำเลย แต่ไม่เห็นพ้องด้วยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในข้อหาตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งมีผลเท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนทุกฐานความผิด คดีเป็นอันถึงที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสองแล้ว จำเลยย่อมฎีกาไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2893/2562

การที่จำเลยที่ 1 ยิงปืนเพื่อข่มขู่ผู้เสียหายเป็นการยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน อันเป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานใช้อาวุธปืนยิงพยายามฆ่าผู้เสียหายอยู่ในตัว จึงเป็นการกระทำความผิดที่รวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ซึ่งศาลจะลงโทษอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย จึงให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน อีกสถานหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2494 - 2495/2562

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ได้เข้าไปร่วมทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมตามที่วางแผนกันไว้ โดยอยู่ที่รถจักรยานยนต์ซึ่งจอดอยู่ด้านหลังรถยนต์ของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นระยะที่ใกล้ชิดกับสถานที่เกิดเหตุ อยู่ในลักษณะที่อาจเข้าไปช่วยเหลือให้การกระทำความผิดสำเร็จ มีลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ แต่การที่พวกของจำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วม เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าอย่างกะทันหันโดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้คบคิดนัดหมายมาก่อน จึงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าโจทก์ร่วมโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ต้องรับผลแห่งการกระทำของพวกด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงเป็นตัวการกระทำความผิดฐานทำร้ายจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมรับอันตรายสาหัสโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ป.อ. มาตรา 298 อันเป็นความผิดหลายอย่างซึ่งรวมอยู่ในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลฎีกาลงโทษในความผิดดังกล่าวตามที่พิจารณาได้ความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 แม้โจทก์ไม่ได้ฎีกาขอให้ลงโทษก็ตาม เพราะการปรับบทลงโทษเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่เมื่อโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฐานร่วมกันทำร้ายจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมรับอันตรายสาหัสตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเท่านั้น จึงไม่อาจกำหนดโทษให้สูงขึ้นในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมรับอันตรายสาหัสโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ป.อ. มาตรา 298 เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2459 - 2460/2562

การที่จำเลยทั้งสี่กับพวกขับรถจักรยานยนต์ติดตามผู้เสียหายมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 2 และ น. มีมีดติดตัวไปด้วย แม้มีดที่ น. พาติดตัวไปจะมีขนาดใหญ่เป็นที่สังเกตเห็นได้โดยง่ายแก่บุคคลทั่วไปรวมทั้งจำเลยทั้งสี่ด้วยก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่มีพฤติการณ์สมคบกันที่จะใช้มีดนั้นฟันทำร้ายผู้เสียหาย ทั้งเหตุที่จำเลยทั้งสี่ทำร้ายผู้เสียหายก็เป็นสาเหตุเพียงเล็กน้อยไม่น่าจะถึงกับเอาชีวิตกัน และเมื่อ น. ใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายแล้ว จำเลยที่ 4 ได้ผลัก น. ออกไปเพื่อหยุดยั้งไม่ให้ น. ใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายอีก ส่วนจำเลยที่ 2 ก็มิได้ใช้มีดที่พามาฟันทำร้ายผู้เสียหาย คงมีเพียง น. ผู้เดียวที่ใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหาย ทั้งเป็นการฟันทำร้ายหลังจากที่จำเลยทั้งสี่รุมเตะต่อยและใช้ไม้ตีทำร้ายผู้เสียหายเสร็จแล้ว การที่จำเลยทั้งสี่มิได้ห้ามปราม น. ไม่ให้พามีดดังกล่าวติดตัวไป ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาร่วมกับ น. ที่จะใช้มีดนี้ก่อเหตุ ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ดึงกุญแจรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายออกจากรถแล้วขว้างทิ้งหรือการที่จำเลยที่ 2 ดึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ออกจากมือของผู้เสียหาย น่าจะเป็นการกระทำเพื่อไม่ให้ผู้เสียหายหลบหนีและติดต่อขอความช่วยเหลือเพื่อความสะดวกในการที่กลุ่มของจำเลยทั้งสี่จะรุมทำร้ายผู้เสียหายมากกว่าจะฟังว่าเป็นการสมคบกันมาใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่า พฤติการณ์ที่ น. ใช้มีดขนาดใหญ่ฟันผู้เสียหายที่บริเวณศีรษะและใบหน้าหลายครั้งหลังจากจำเลยทั้งสี่ไม่ได้รุมทำร้ายผู้เสียหายแล้ว เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันอันเกิดจากการตัดสินตามลำพังของ น. เอง นอกเหนือขอบเขตแห่งเจตนาของจำเลยทั้งสี่ ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่ประสงค์จะถือเอาการกระทำของ น. เป็นการกระทำของจำเลยทั้งสี่ด้วย จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาร่วมกับ น. พยายามฆ่าผู้เสียหาย แต่เมื่อผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสอันเนื่องมาจาก น. ใช้มีดฟันทำร้าย เกิดขึ้นจากการที่จำเลยทั้งสี่และ น. คบคิดกันมาทำร้ายผู้เสียหาย จำเลยทั้งสี่จึงต้องร่วมกันรับผิดในผลที่เกิดจากการกระทำของ น. ดังกล่าวด้วย จำเลยทั้งสี่มีความผิดเพียงฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสเท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1597/2562

การกระทำซึ่งจะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.อ. มาตรา 68 ต้องเป็นการกระทำโดยเจตนา จำเลยเอาอาวุธปืนออกมาขู่ผู้ตายและทำปืนลั่นโดยประมาทถูกผู้ตายถึงแก่ความตายไม่ใช่การกระทำโดยเจตนา การกระทำของจำเลยจึงไม่ใช่การป้องกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8882/2561

ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกขับรถจักรยานยนต์เที่ยวเล่นตั้งแต่เวลาประมาณ 21 นาฬิกา โดย พ. นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายที่ 1 ส่วน ข. นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ท. และตามทางนำสืบของโจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลย ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พ. และ ข. ผู้ตายทั้งสองได้ร่วมทำร้ายหรือมีพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่า มีเจตนาที่ร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกทำร้ายจำเลย แม้ผู้ตายทั้งสองจะอยู่ในที่เกิดเหตุแต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการยุยงส่งเสริมสนับสนุนหรือให้กำลังใจเพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเกิดความฮึกเหิมรุมทำร้ายจำเลยกับพวก หลังเกิดเหตุผู้ตายทั้งสองไปกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกก็คงเป็นเพราะนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มาด้วยกัน พฤติการณ์ของผู้ตายทั้งสองฟังไม่ได้ว่า ผู้ตายทั้งสองข่มเหงหรือร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยขับรถกระบะซึ่งมีขนาดใหญ่และมีแรงประทะมากกว่ารถจักรยานยนต์หลายเท่าฝ่าเข้าไปหรือพุ่งชนกลุ่มรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 กับพวกโดยแรง แม้กระทำเพียงครั้งเดียวก็เห็นได้ว่า จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่า ทั้งคนขับและคนนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ถูกชนจะถึงแก่ความตายได้ จึงถือว่าจำเลยมีเจตนากระทำต่อผู้ตายทั้งสองโดยตรง ไม่ใช่กรณีที่จำเลยเจตนาที่จะกระทำต่อกลุ่มคนที่รุมทำร้ายจำเลย แต่ผลของการกระทำเกิดแก่ผู้ตายทั้งสองโดยพลาดไป เมื่อผู้ตายทั้งสองมิได้ข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงไม่อาจอ้างเหตุบันดาลโทสะได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่ใช่การกระทำด้วยเหตุบันดาลโทสะโดยพลาด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8731/2561

คืนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ไปยังที่เกิดเหตุพร้อมกับอาวุธปืน เมื่อจำเลยที่ 2 เห็นผู้เสียหายที่บริเวณหน้าบ้านที่เกิดเหตุเข้าใจว่าเป็นพวกของ บ. จำเลยที่ 2 จึงใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นที่พกติดตัวมายิงไปที่ผู้เสียหายนั่งอยู่เพราะสำคัญผิดคิดว่าผู้เสียหายเป็นพวกของ บ. แต่จำเลยที่ 2 ก็จะยกเอาความสำคัญผิดขึ้นมาเป็นข้อแก้ตัวหาได้ไม่ ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาที่จะกระทำต่อพวกของ บ. เช่นใด ก็ต้องรับผิดในผลของการกระทำที่เกิดขึ้นแก่ผู้เสียหายเช่นนั้นตาม ป.อ. มาตรา 61 การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายโดยสำคัญผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8403/2561

การที่จำเลยที่ 1 ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินราดใส่ผู้ตายแล้วจุดไฟเผาผู้ตายเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าอย่างกะทันหันโดยจำเลยที่ 2 มิได้คบคิดนัดหมายกับจำเลยที่ 1 มาก่อน จึงไม่ใช่เรื่องการแบ่งหน้าที่กันทำ จึงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่พฤติการณ์ที่ผู้ตายโทรศัพท์ติดต่อกับจำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 บอกจำเลยที่ 1 ว่า ผู้ตายให้จำเลยที่ 2 ไปพบผู้ตายที่บ้าน จำเลยที่ 1 บอกให้จำเลยที่ 2 แจ้งให้ผู้ตายไปพบยังสถานที่เกิดเหตุโดยไม่ต้องบอกว่า จำเลยที่ 1 จะเดินทางไปด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 ทราบมาก่อนว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาจะทำร้ายผู้ตายซึ่งมีการคิดไตร่ตรองไว้ก่อนแล้ว และจำเลยที่ 2 เพียงแต่มีเจตนาที่จะร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเพื่อจะทำให้ผู้ตายได้รับอันตรายแก่กายหรืออันตรายสาหัสเท่านั้น แม้จำเลยที่ 1 เลือกที่จะทำร้ายผู้ตายโดยการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินราดใส่ผู้ตายและจุดไฟเผาผู้ตายซึ่งเป็นการกระทำนอกเหนือเจตนาของจำเลยที่ 2 ทำให้จำเลยที่ 2 ไม่เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่เมื่อจำเลยที่ 2 มีเจตนาที่จะร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผลแห่งการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายนั้นด้วย การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่เป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคสอง ประกอบมาตรา 289 (4) อันเป็นความผิดหลายอย่างซึ่งรวมอยู่ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามที่โจทก์ฟ้องและเป็นความผิดได้ในตัว ศาลฎีกาสามารถลงโทษในความผิดดังกล่าวตามที่ได้ความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8261/2561

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288, 80, 83 กับร่วมกันมีอาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาด โดยไม่มีหมายเลขทะเบียนและมีกระสุนปืนไม่ทราบชนิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 86 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 86 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 288, 80, 83 และข้อหาร่วมกันมีอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนและมีกระสุนปืนไม่ทราบชนิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7581/2561

การที่จำเลยที่ 3 มีหน้าที่โดยตรงในการควบคุมและดูแลความปลอดภัยของผู้ต้องหาแต่ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากเหตุอันสมควร จึงเป็นการกระทำโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลคือ อันตรายที่อาจเกิดขึ้นแก่ชีวิตของผู้ตาย เมื่อจำเลยที่ 3 กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามภาวะวิสัยและพฤติการณ์และจำเลยที่ 3 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการกระทำโดยประมาท แม้มีเหตุเพลิงไหม้ทำให้เกิดผลคือความตายของผู้ตายด้วย ก็ไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 3 และผลคือความตายของผู้ตายขาดตอนลง เพราะถ้าจำเลยที่ 3 อยู่ปฏิบัติหน้าที่ย่อมช่วยเหลือผู้ตายได้ทันเนื่องจากห้องทำงานของจำเลยที่ 3 อยู่หน้าห้องขังเยาวชนและติดกับห้องขังหญิง ความตายของผู้ตายจึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 3


การที่จำเลยที่ 3 นำสืบต่อสู้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและพยายามช่วยเหลือผู้ต้องหาทั้งสี่อย่างเต็มที่แล้วแต่ไม่สามารถช่วยได้ แสดงให้เห็นว่านอกจากจำเลยที่ 3 จะต่อสู้ว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องแล้วยังนำสืบต่อสู้ด้วยว่าไม่ได้กระทำโดยประมาท ข้อที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าหลงต่อสู้ ทำให้ไม่มีโอกาสนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้กระทำโดยประมาท จึงฟังไม่ขึ้น แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 3 ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องว่า จำเลยที่ 3 เจตนาฆ่าผู้อื่น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ลงโทษตามข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางพิจารณาได้เพราะการกระทำโดยเจตนาและการกระทำโดยประมาทมิใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญและไม่ถือเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7159/2561

การกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนผู้กระทำความผิดต้องได้มีเวลาคิดไตร่ตรองและทบทวนแล้วจึงตกลงใจที่จะฆ่าผู้อื่น หาใช่กรณีที่เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วนไม่ และการจะเป็นตัวการร่วมฐานความผิดดังกล่าวจะต้องมีลักษณะมีการวางแผนและคบคิดมาแต่ต้น โดยคิดไตร่ตรองทบทวนแล้วจึงตกลงใจกระทำความผิด แม้การท้าทายถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์คิดไตร่ตรองจะฆ่าโจทก์ร่วมที่ 2 แต่เมื่อโจทก์ร่วมที่ 2 ปฏิเสธคำท้าทายของจำเลยที่ 3 ทางโทรศัพท์แล้ว จำเลยทั้งสามย่อมไม่สามารถเริ่มลงมือกระทำแก่โจทก์ร่วมที่ 2 ตามคำท้าทายได้ ประกอบกับไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสามรู้ว่าหลังจากวางสายโทรศัพท์แล้วโจทก์ร่วมที่ 2 ไปไหนหรืออยู่ที่ใด และจำเลยทั้งสามออกตามหาโจทก์ร่วมที่ 2 ต่อไปหรือไม่ กรณีจึงต้องฟังว่าจำเลยทั้งสามมาพบโจทก์ร่วมที่ 2 ในที่เกิดเหตุโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน การที่จำเลยที่ 1 ชักอาวุธปืนออกมายิงโจทก์ร่วมที่ 2 ทันที ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากการวางแผนจัดเตรียมของจำเลยทั้งสาม แต่เป็นการตัดสินใจเฉพาะหน้าของจำเลยที่ 1 ในทันทีที่ขับรถมาพบโจทก์ร่วมที่ 2 โดยบังเอิญ ส่วนการตามไล่ยิงไปอย่างกระชั้นชิดจนถึงบ้านโจทก์ร่วมที่ 3 ก็ยังได้ยิงเข้าไปในบ้านอีก 1 นัด เป็นเพียงการกระทำต่อเนื่องหลังจากประสบโอกาสที่จะยิงโจทก์ร่วมที่ 2 อย่างทันทีทันใดเท่านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นการไตร่ตรองไว้ก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2107/2561

ป.วิ.อ. มาตรา 134/1 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหาต้องการทนายความ ให้รัฐจัดหาทนายความให้" ปรากฏตามบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้ต้องหาว่า พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาและแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาให้จำเลยทราบ และสอบถามเรื่องทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้ารับฟังการสอบสวนแล้ว จำเลยให้การว่าไม่มีและไม่ต้องการทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้ารับฟังการสอบสวน การที่พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนจำเลยโดยไม่ได้จัดหาทนายความให้ตามคำให้การดังกล่าว จึงเป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนมาตรา 134/4 วรรคท้าย บัญญัติไว้เพียงว่า ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรา 134/1 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้ ฉะนั้น แม้พนักงานสอบสวนจะจัดหาหรือไม่จัดหาทนายความให้จำเลยก็ไม่ทำให้การสอบสวนไม่ชอบ เมื่อมีการสอบสวนแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1939/2561

คดีส่วนอาญาศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมจึงกระทำความผิดต่อผู้ตาย อันเป็นการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 72 ผู้ตายไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) จึงยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของโจทก์ร่วมทั้งสอง ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 72 ซึ่งเท่ากับว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288 ดังนั้น ที่โจทก์ร่วมทั้งสองฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288 ตามฟ้อง โดยกล่าวอ้างว่าการกระทำของจำเลยมิใช่การกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ จึงเป็นการฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้อง ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งสองมาจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 753/2561

ผู้ตายมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดอยู่ด้วย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมซึ่งเป็นมารดาของผู้ตาย ไม่มีอำนาจเข้ามาจัดการแทนผู้ตาย และไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์เดิม ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมโดยวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายกระทำความผิดเพียงฝ่ายเดียว จึงไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ดี บ. มารดาของผู้ตายยังคงมีสิทธิเรียกร้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ตายเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ บ. ซึ่งเป็นผู้เสียหายในทางแพ่งชอบที่เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ แต่จำเลยทั้งสองจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมากน้อยเพียงใด ย่อมต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 ที่ให้พิจารณาว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร เมื่อผู้ตายกับจำเลยทั้งสองมีเรื่องบาดหมางกันมาก่อนอันสืบเนื่องมาจากการทำงาน วันเกิดเหตุผู้ตายกวักมือมายังจำเลยทั้งสอง แล้วจำเลยทั้งสองกับผู้ตายชกต่อยกันจนจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ บ. สองในสามส่วน ของค่าสินไหมทดแทนที่ บ. จะได้รับ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


โจทก์บรรยายฟ้องระบุการกระทำของจำเลยทั้งสองว่า ร่วมกันพาอาวุธมีดติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร แล้วร่วมกันใช้อาวุธมีดดังกล่าวแทงผู้ตายถึงแก่ความตาย ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า หลังเกิดเหตุจำเลยทั้งสองวิ่งหลบหนีไปทางบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงาน จำเลยที่ 1 ได้ส่งอาวุธมีดที่ใช้ก่อเหตุให้จำเลยที่ 2 จากนั้นจำเลยที่ 2 โยนอาวุธมีดทิ้งลงไปในบ่อบำบัดน้ำเสียห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 50 เมตร ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันพาอาวุธมีดของกลางไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามฟ้องนั้น ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นนำมารับฟังลงโทษจำเลยทั้งสองดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นเหตุการณ์คนละตอนกับความผิดตามฟ้องโจทก์ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้อง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นนำข้อเท็จจริงนั้นมาวินิจฉัยและพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรนั้น ย่อมเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง อันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 620/2561

คดีนี้แม้จะไม่มีประจักษ์พยานขณะจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายก็ตาม แต่พยานหลักฐานของโจทก์ซึ่งประกอบด้วยบันทึกคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ในชั้นสอบสอนพยานบุคคลแวดล้อมกรณี วัตถุพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่สอดคล้องเชื่อมโยงเป็นลำดับ ทั้งมีรายละเอียดเอกสารจากหน่วยงานต่าง ๆ ลำดับเหตุการณ์ไว้ทุกขั้นตอนยากที่จะปรุงแต่งขึ้นได้ พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ที่อ้างว่าขณะเกิดเหตุอยู่ที่อื่นไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุก็ดี ถูกทำร้ายจนต้องรับสารภาพก็ดี ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8710/2560

จำเลยเพียงเข้าไปชกต่อยและถีบผู้เสียหาย พฤติการณ์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกับพวกใช้มีดแทงผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยรู้ว่า อ. พาอาวุธมีดมา จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธมีดไปในทางสาธารณะดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดเพียงฐานร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตาม ป.อ. มาตรา 391 (เดิม) เท่านั้น แม้จำเลยมิได้ฎีกาในข้อนี้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คดีส่วนแพ่ง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้เสียหาย และต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเฉพาะในผลอันเกิดจากการที่ได้ใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เท่านั้น หาจำต้องรับผิดในผลที่ผู้เสียหายถูกแทงจนได้รับอันตรายแก่กายอันเกิดจากการกระทำของบุคคลอื่นไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8318/2560

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดตาม ป.อ. มาตรา 295 ซึ่งระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่กระทำต่อผู้เสียหายที่ 4 และยกฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ที่กระทำต่อผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ความผิดฐานนี้มีอัตราโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ตามฟ้อง เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ในฐานนี้ และศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์โดยพิพากษาแก้เป็นลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 4 ลงโทษจำเลยที่ 2, ที่ 3, ที่ 5, ที่ 6 และที่ 8 ว่ากระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 นั้นเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในส่วนนี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6


ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 อ. ก. ว. เป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า เห็นจำเลยคนนั้น คนนี้ โดยบรรยายการกระทำของจำเลยแต่ละคน ซึ่งเหตุการณ์กลุ่มนักเรียนวิ่งไล่รุมทำร้ายกันย่อมมีคนร้ายจำนวนมาก วิ่งไล่กันไปมา ประจักษ์พยานแต่ละคนอาจเห็นเหตุการณ์โดยเบิกความเท่าที่ตนเห็นไม่มีพิรุธหรือน่าสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งจำเลย และผู้เสียหายที่ 2 ยืนยันว่า จำเลยที่ 1 และที่ 5 อยู่ในกลุ่มคนร้าย ผู้เสียหายที่ 3 เห็นจำเลยที่ 5 ถืออาวุธมีดวิ่งมาพร้อมจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยบางคนแทงผู้ตายและผู้เสียหาย หากจำเลยที่ 5 ไม่มีเจตนาร่วมกับจำเลยอื่น ก็ไม่น่าจะวิ่งตามไป แม้จะมิได้ใช้อาวุธมีดฟันทำร้ายผู้ใดก็ตาม แต่ย่อมเล็งเห็นได้ว่า พวกอาจทำร้ายผู้อื่นได้ และหลบหนีไปด้วยกัน จำเลยที่ 5 จึงเป็นตัวการร่วมกับพวกในการฆ่าผู้ตายและพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1


เมื่อจำเลยที่ 1, ที่ 2, ที่ 3, ที่ 6 ถอนฎีกา จึงต้องฟังว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 ร่วมกันกระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายและพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1


ในส่วนของค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 3 และผู้ร้องที่ 1 จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 แม้ผู้ร้องที่ 3 และผู้ร้องที่ 1 มิได้อุทธรณ์ฎีกาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 รับผิดในส่วนแพ่ง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นไปตามผลแห่งคดีอาญาได้ เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่วินิจฉัยให้ร่วมรับผิดนั้นไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8063/2560

การที่จำเลยมาหาผู้ตายที่บ้าน พ. เชื่อว่าเพื่อมาพูดคุยเรื่องที่ผู้ตายโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กตำหนิจำเลย มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยอ้างว่า เหตุที่มาหาผู้ตายที่บ้าน พ. เพราะถูกผู้ตายถีบรถจักรยานยนต์ของจำเลย เพราะเมื่อจำเลยมาถึงบ้าน พ. พ. ได้ยินจำเลยกับผู้ตายโต้เถียงกันเกี่ยวกับการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กที่ผู้ตายด่าทอจำเลย ไม่ใช่โต้เถียงเรื่องที่ผู้ตายถีบรถจักรยานยนต์ของจำเลยแต่อย่างใด กรณีจึงมิใช่ผู้ตายเป็นฝ่ายเริ่มต้นก่อเหตุวิวาททำร้ายจำเลยก่อน แต่พฤติการณ์ที่ผู้ตายบอกจำเลยให้นำกระเป๋าสะพายไปเก็บที่รถจักรยานยนต์ เมื่อจำเลยหันหลังกลับมาผู้ตายหยิบท่อพลาสติกพีวีซีขนาดยาว 3.50 เมตร ด้วยมือทั้งสองข้างตีที่แขนซ้ายและลำคอของจำเลยจนปรากฏรอยเขียวช้ำ แสดงว่าผู้ตายใช้ท่อพลาสติกพีวีซีตีจำเลยโดยแรงและเป็นฝ่ายเริ่มทำร้ายจำเลยก่อน แต่เมื่อพิจารณาอาวุธที่ผู้ตายใช้เป็นท่อพลาสติกกลวง น้ำหนักไม่มาก ไม่สามารถใช้ทำอันตรายแก่ชีวิตได้ในทันทีทันใด และตีเพียง 1 ครั้ง แม้จำเลยจะมีสิทธิป้องกันตนให้พ้นจากภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายของผู้ตายและเป็นภัยที่ถึงตัวแล้ว แต่จำเลยก็สามารถหาวิธีป้องกันภยันตรายให้เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดี การที่จำเลยใช้ปืนพกจ้องเล็งไปที่ลำตัวในระดับหน้าอกของผู้ตายซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญแล้วยิงไป 1 นัด กระสุนปืนถูกผู้ตายบริเวณราวนมด้านซ้าย หัวกระสุนปืนทะลุเข้าหัวใจ ทะลุออกบริเวณใต้ชายโครงด้านซ้ายจึงเป็นกรณีที่จำเลยป้องกันตนเองเกินกว่ากรณีจำเป็นต้องป้องกัน และไม่ใช่เป็นเรื่องที่กระทำไปด้วยความตื่นเต้นตกใจกลัว ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตาย แต่เป็นการกระทำอันเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7758 - 7759/2560

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 มีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 75 จำคุก 16 ปี 8 เดือน และลดโทษให้จำเลยที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ตามมาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 คนละ 11 ปี 1 เดือน 10 วัน เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 ไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมมีกำหนดขั้นต่ำ 3 ปี 6 เดือน ขั้นสูง 5 ปี หากอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ยังฝึกอบรมไม่ครบตามกำหนดเวลาให้ส่งไปจำคุกในเรือนจำมีกำหนดตามระยะเวลาขั้นต่ำที่เหลืออยู่ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นอันตรายสาหัสและมีผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย ตาม ป.อ. มาตรา 295, 297 (8) ประกอบมาตรา 83 ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่งตามมาตรา 75 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับอันตรายสาหัสซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 คงจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน ลดโทษให้จำเลยที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 คนละหนึ่งในสามตามมาตรา 78 คงจำคุกคนละ 12 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี คุมความประพฤติตลอดเวลาดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 ไม่เกินสองปีและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังคงลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 ไม่เกินกำหนดที่ว่า ต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 219 ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 มีเจตนาร่วมกันพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ในปัญหานี้มาโดยไม่มีความเห็นแย้งของผู้พิพากษาที่พิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาทำความเห็นแย้งหรือรับรองให้ฎีกาหรืออัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา ย่อมเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4291/2560

โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นขณะเกิดเหตุ แต่โจทก์มีคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสามประกอบกับคำเบิกความของพนักงานสอบสวนแสดงรายละเอียดการกระทำความผิดตั้งแต่ตอนจำเลยที่ 1 ทาบทามว่าจ้างจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ฆ่าผู้ตายซึ่งเป็นภรรยาจำเลยที่ 1 ประชุมวางแผน ลงมือฆ่า ปลดเอาสร้อยข้อมือของผู้ตายกับแสร้งเอาสร้อยคอของจำเลยที่ 1 ไปซ่อน แล้วจำเลยที่ 1 ใช้เศษไม้ขูดคอตนเองให้เป็นรอยเพื่อแสร้งทำว่าถูกคนร้ายตี และจำเลยทั้งสามได้แสดงแผนประทุษกรรมประกอบคำรับสารภาพ ทั้งจำเลยที่ 1 ที่ 2ได้ขอขมาศพผู้ตายกับบิดาผู้ตาย แสดงถึงความสำนึกผิด และจำเลยที่ 1 ได้พาพนักงานสอบสวนไปเอาสร้อยข้อมือผู้ตายกับสร้อยคอของตนตรงที่ซ่อนไว้ ส่วนจำเลยที่ 2 ได้พาพนักงานสอบสวนไปเอาเหล็กขูดชาพท์ซึ่งใช้แทงผู้ตายที่ทิ้งไว้ขณะวิ่งหนี กับได้พบมีดปลายแหลมที่จำเลยที่ 3 ใช้แทงผู้ตายแล้วทิ้งไว้ ตรงตามสถานที่ที่ระบุไว้ในคำให้การ และจำเลยที่ 2 ได้พาพนักงานสอบสวนไปพบ อ.ที่ต่างจังหวัดให้นำไปยึดเอาสร้อยคอที่ร้านขายทองคืนมาด้วย นอกจากนี้โจทก์ยังมีคำให้การชั้นสอบสวนของ น. ร. กับ อ.ยืนยันว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้ขอให้ น.นำสร้อยคอของกลางไปขายตรงตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ที่ 3 พยานโจทก์จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1วานให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันพาอาวุธไปฆ่าผู้ตายและลักทรัพย์ตามฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9087/2559

โจทก์บรรยายฟ้องว่า ก่อนคดีนี้ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2549 จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี 15 เดือน ฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนโดยใช้กำลังประทุษร้าย และร่วมกันทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 158/2549 ของศาลชั้นต้น จำเลยกระทำความผิดในคดีก่อนในขณะที่มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปี และมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ทั้งศาลได้พิพากษาลงโทษจำคุกไม่น้อยกว่าหกเดือน และภายใน 3 ปี นับแต่วันพ้นโทษในคดีดังกล่าว (จำเลยพ้นโทษวันที่ 1 กันยายน 2552) จำเลยกลับมากระทำผิดในคดีนี้ ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายซ้ำในอนุมาตราเดียวกันอีก และมิใช่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ถือได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการเพิ่มโทษจำเลยมาแล้ว เมื่อความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นและเครื่องกระสุนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะเพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่ง ตาม ป.อ. มาตรา 93 ได้ ศาลก็มีอำนาจเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92 ซึ่งเป็นบทเบากว่าได้ แม้โจทก์จะขอเพิ่มโทษตาม ป.อ. มาตรา 93 โดยไม่ได้ขอตาม ป.อ. มาตรา 92 มาด้วย ก็ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6020/2559

พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ร่วมเดินทางไปกับพวกไปที่เกิดเหตุโดยทราบมาก่อนแล้วว่าพวกของจำเลยที่ 1 จะไปทำร้ายผู้เสียหาย และหลังเกิดเหตุก็หลบหนีไปด้วยกัน ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะร่วมทำร้ายผู้เสียหายกับพวกซึ่งมีการคิดไตร่ตรองไว้ก่อนแล้ว จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาเพียงต้องการทำร้ายผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเท่านั้น แต่เมื่อผลการกระทำของพวกจำเลยที่ 1 ไม่ทำให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บ แต่พลาดไปถูกผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผลแห่งการกระทำนั้น จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ป.อ. มาตรา 296 ประกอบมาตรา 80 และฐานทำร้ายผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและไม่มีเจตนาฆ่า แต่เป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายโดยพลาด ตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคสอง ประกอบมาตรา 60 อันเป็นความผิดหลายอย่างซึ่งรวมอยู่ในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนโดยพลาดตามที่โจทก์ฟ้อง และเป็นความผิดได้ในตัว ศาลฎีกาสามารถลงโทษในความผิดดังกล่าวตามที่ได้ความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5505/2559

การที่จำเลยใช้อาวุธปืนซึ่งมีสภาพร้ายแรงยิงเข้าไปที่ขอบหน้าต่างด้านบนของห้องของบ้านเกิดเหตุ โดยที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าเมื่อกระสุนปืนกระทบขอบหน้าต่างแล้วจะหักเหไปในทิศทางใด จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่ากระสุนปืนอาจแฉลบไปถูกผู้ที่อยู่ภายในห้องถึงแก่ชีวิตได้ จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5211/2559

การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สี่ร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท ส่วนความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และมาตรา 390 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 90 พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจเปรียบเทียบปรับจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษเบากว่าความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายตาม ป.อ. มาตรา 390 เพื่อให้ความผิดทั้งหมดรวมทั้งความผิดที่มีโทษหนักกว่าเลิกกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 37 ได้ แม้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับจำเลยไปแล้วก็ตาม การเปรียบเทียบปรับย่อมไม่ชอบ คดีอาญาไม่เลิกกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 37 ศาลล่างทั้งสองจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายตาม ป.อ. มาตรา 390 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5055/2559

เหตุคดีนี้เกิดจากการที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์แล่นแซงรถกระบะที่อยู่ด้านหน้าล้ำเข้าไปเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายที่แล่นสวนทางมาในช่องเดินรถของผู้ตาย ซึ่งหากจำเลยไม่ขับรถจักรยานยนต์แล่นล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของผู้ตายเหตุครั้งนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ผู้ตายขับรถโดยไม่ชิดขอบทางด้านซ้ายและขับรถมาด้วยความเร็ว ก็อาจเป็นเพียงการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 เท่านั้น ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการกระทำความผิดของจำเลย ประการสำคัญขณะเกิดเหตุผู้ตายขับรถจักรยานยนต์แล่นอยู่ในช่องเดินรถของตน การที่ผู้ตายขับรถโดยไม่ชิดขอบทางด้านซ้ายและขับรถมาด้วยความเร็วดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นเหตุโดยตรงที่ทำให้รถจักรยานยนต์ของผู้ตายถูกรถจักรยานยนต์ของจำเลยเฉี่ยวชน แต่การที่รถจักรยานยนต์ของผู้ตายถูกรถจักรยานยนต์ของจำเลยเฉี่ยวชน และผู้ตายถึงแก่ความตายเป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทของจำเลย ผู้ตายหามีส่วนประมาทด้วยไม่ ผู้ตายจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดาของผู้ตายย่อมมีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4200/2559

ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสองประกอบ มาตรา 216 วรรคหนึ่งและมาตรา 225 วางหลักว่า ฎีกาทุกฉบับต้องมีข้อคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ระบุข้อเท็จจริงโดยย่อหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงเป็นลำดับ คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น โจทก์ร่วมที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ร่วมที่ 2 ฎีกาโดยคัดลอกข้อความที่อุทธรณ์มาเป็นฎีกาทั้งสิ้นและศาลอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยในปัญหาเดียวกันไว้แล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมที่ 2 มิได้ยกเหตุผลคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้อง หรือคลาดเคลื่อนอย่างไร ที่ถูกแล้วศาลอุทธรณ์ควรวินิจฉัยอย่างไรและด้วยเหตุผลใด ไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว จึงไม่อาจใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ได้ แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาและศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ร่วมที่ 2 มาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


โจทก์ฎีกาว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันผ่าตัดเอาไตทั้ง 2 ข้าง และตับออกจากร่างกายของ ล. และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันผ่าตัดเอาไตทั้ง 2 ข้าง ออกจากร่างกายของ น. เพื่อนำเอาอวัยวะนั้นไปทำการปลูกถ่ายอวัยวะให้แก่บุคคลอื่น ล. และ น.ยังไม่อยู่ในสภาวะสมองตาย คือ การที่แกนสมองถูกทำลายจนสิ้นสุดการทำงานโดยสิ้นเชิงนั้น เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า ผู้ป่วยราย ล. และ น. ประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะฐานกะโหลกแตกและสมองถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ทำให้สมองบวมกดแกนสมองเคลื่อนไป แพทย์ตรวจพบว่า ผู้ป่วยทั้งสองราย ไม่รู้สึกตัวและอยู่ในเครื่องช่วยหายใจ เนื่องจากไม่หายใจ เกณฑ์การตรวจและวินิจฉัยสมองตายกระทำโดยการตรวจและทดสอบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศของแพทยสภา เรื่อง เกณฑ์การวินิจฉัยสมองตายและตามหลักวิชาทางการแพทย์ ปรากฏว่าผู้ป่วยทั้งสองรายนี้ไม่รู้สึกตัว ไม่ตอบสนองต่อความเจ็บปวด และเมื่อถอดเครื่องช่วยหายใจออกก็ไม่หายใจ แสดงให้เห็นได้ว่าแกนสมองของผู้ป่วยทั้งสองรายนี้ถูกทำลายจนสิ้นสุดการทำงานโดยสิ้นเชิงตลอดไปแล้ว ทำให้ไม่สามารถหายใจได้อย่างแน่นอน ก่อนทำการผ่าตัดวิสัญญีแพทย์ตรวจพบว่า ผู้ป่วยทั้งสองรายไม่ตอบสนองต่อความเจ็บปวด แกนสมองตายแล้วและไม่หายใจเช่นเดียวกัน จึงน่าเชื่อว่าก่อนทำการผ่าตัดนำอวัยวะออกไปนั้น ผู้ป่วยทั้งสองรายแกนสมองตาย มีผลทำให้หัวใจขาดออกซิเจน กล้ามเนื้อหัวใจจะหยุดทำงานและหัวใจจะหยุดเต้นในเวลาต่อมา โจทก์อุทธรณ์โดยมิได้โต้แย้งคำวินิจฉัยในส่วนดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ล. และ น. อยู่ในสภาวะสมองตายก่อนที่จะมีการผ่าตัดเอาอวัยวะออกจากร่างกายไปทำการปลูกถ่ายอวัยวะให้แก่บุคคลอื่น ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงเป็นการหยิบยกข้อเท็จจริงซึ่งยุติไปแล้วมาโต้เถียงใหม่ในชั้นฎีกา จึงเป็นฎีกาที่มิได้ยกว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และเป็นกรณีไม่อาจอนุญาตหรือรับรองให้ฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะอ้างว่ามีการวินิจฉัยสมองตายตามหลักเกณฑ์การวินิจฉัยสมองตายตามประกาศแพทยสภาไม่ได้ เนื่องจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา เช่น ไม่ได้กระทำโดยองค์คณะแพทย์ไม่น้อยกว่า 3 คน ไม่ได้บันทึกว่าแกนสมองตายนั้น เห็นว่า ข้อความในฎีกาโจทก์เป็นทำนองเดียวกับที่โจทก์กล่าวในอุทธรณ์อันเป็นการโต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าแกนสมองของ ล. และ น. ถูกทำลายจนสิ้นสุดการทำงานโดยสิ้นเชิงตลอดไป บุคคลทั้งสองจึงอยู่ในสภาวะสมองตายตามประกาศแพทยสภา เรื่อง เกณฑ์การวินิจฉัยสมองตายฉบับแรกและฉบับที่ 2 ก่อนทำการผ่าตัดนำอวัยวะของ ล. และ น. ออกไป วิสัญญีแพทย์ ตรวจผู้ป่วยทั้งสองแล้ว ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ไม่ตอบสนองต่อความเจ็บปวด และเมื่อปลดเครื่องช่วยหายใจออกจากท่อแล้วผู้ป่วยไม่หายใจเอง ข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แกนสมองของผู้ป่วยทั้งสองคนถูกทำลายจนไม่สามารถทำงานต่อไปได้แล้ว ทำให้ไม่สามารถหายใจได้เองโดยปราศจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์การวินิจฉัยสมองตายตามประกาศแพทยสภา แม้การวินิจฉัยเรื่องแกนสมองตาย จะขาดตกบกพร่องไปบ้าง เช่น ไม่ได้ใช้แบบพิมพ์ของแพทยสภา หรือการวินิจฉัยสมองตายกระทำโดยแพทย์ไม่ครบ 3 คน ก็เป็นความบกพร่องในด้านการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่แพทยสภากำหนดไว้ ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ถูกลงโทษโดยแพทยสภาไปแล้ว โดยโจทก์มิได้โต้แย้งว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรและด้วยเหตุผลใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบมาตรา 216 วรรคหนึ่ง และมาตรา 225 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การตายของ ล. และ น. จะนำหลักเกณฑ์ตามประกาศแพทยสภา เรื่อง เกณฑ์การวินิจฉัยสมองตายซึ่งออกในปี 2532 และตามประกาศแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 ปี 2539 มาใช้ไม่ได้ เนื่องจากเป็นการวินิจฉัยการตายในทางการแพทย์ที่จะใช้ในการเปลี่ยนปลูกถ่ายอวัยวะ แต่คดีนี้จะต้องวินิจฉัยการตายตามความหมายในทางกฎหมาย คือ การไม่หายใจและหัวใจหยุดทำงาน นั้น เห็นว่า ป.อ. มาตรา 288 ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นมีองค์ประกอบความผิดประการหนึ่ง คือ ฆ่า คำว่า "ฆ่า" เป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่า หมายถึงการกระทำด้วยประการใดๆ ให้คนตาย แต่ตาม ป.อ. มิได้กำหนดบทนิยามคำว่า "ตาย" ว่ามีความหมายอย่างไร และไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดนิยามความตายให้ชัดแจ้ง เมื่อตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 กำหนดให้แพทย์เป็นผู้ออกหนังสือรับรองการตาย ดังนั้น การวินิจฉัยการตายจึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ต้องให้แพทย์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้วินิจฉัย โดยที่งานของแพทย์มีลักษณะเป็นวิชาชีพ จึงเป็นงานที่ต้องมีกรอบขนบธรรมเนียมและจรรยาบรรณของหมู่คณะโดยเฉพาะ และเป็นการใช้ความรู้ในวิทยาการเฉพาะด้านที่ผู้อื่นไม่อาจรู้ได้ทั้งหมด อีกทั้งมีวิวัฒนาการด้านการรักษาและวิทยาการเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์ที่เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว การประกอบวิชาชีพเวชกรรมจึงมีกฎหมายควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพนี้เป็นพิเศษและมีการสอดส่องดูแลโดยบุคคลในวิชาชีพเดียวกันเพื่อให้การประกอบวิชาชีพเป็นไปโดยถูกต้องตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ขณะเกิดเหตุ วิทยาศาสตร์การแพทย์ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะในผู้ป่วยที่มีปัญหาการสูญเสียหน้าที่การทำงานของอวัยวะหรือมีความล้มเหลวของอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ ตับ ไต เป็นต้น มีความก้าวหน้าจนสามารถเอาอวัยวะจากผู้ที่ตายแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่นำไปปลูกถ่ายอวัยวะให้แก่ผู้ป่วยได้ ในการนี้ได้มีประกาศแพทยสภา เรื่อง เกณฑ์การวินิจฉัยสมองตาย พ.ศ.2532 และประกาศแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2539 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการวินิจฉัยสมองตายมีสาระสำคัญว่า การวินิจฉัยคนตายโดยอาศัยเกณฑ์สมองตายนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องนำไปใช้โดยเฉพาะกับการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะสำคัญของมนุษย์ และอาจนำไปใช้ในกรณีอื่นๆ ในอนาคตเพื่อความเจริญก้าวหน้าทางวิชาชีพและเพื่อประโยชน์ของประชาชน บุคคลซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าสมองตาย ถือว่า บุคคลนั้นถึงแก่ความตาย สมองตายหมายถึง การที่แกนสมองถูกทำลายจนสิ้นสุดการทำงานโดยสิ้นเชิงตลอดไป แพทย์เป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยและตัดสินการตายของสมองตามเกณฑ์ของวิชาชีพ ดังนั้น เมื่อแพทย์ใช้วิธีการที่ได้รับการยอมรับในการสรุปว่าคนไข้นั้นถึงแก่ความตายแล้ว บุคคลผู้อยู่ในสภาวะสมองตาย คือ การที่แกนสมองถูกทำลายจนสิ้นสุดการทำงานโดยสิ้นเชิงตลอดไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการวินิจฉัยสมองตายที่คณะกรรมการแพทยสภากำหนดและออกเป็นประกาศแพทยสภาตามประกาศแพทยสภาดังกล่าว ย่อมถือได้ว่า เป็นการตายของบุคคล การที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 แพทย์ผู้ร่วมผ่าตัดเอาไต ทั้ง 2 ข้างและตับออกจากร่างกายของ ล. และจำเลยที่ 1 และที่ 2 แพทย์ผู้ร่วมผ่าตัดเอาไต ทั้ง 2 ข้าง ออกจากร่างกายของ น. ซึ่งอยู่ในสภาวะสมองตายตามประกาศแพทยสภา เรื่อง เกณฑ์การวินิจฉัยสมองตาย เพื่อนำเอาอวัยวะนั้นไปทำการปลูกถ่ายอวัยวะให้แก่บุคคลอื่น จึงเป็นการกระทำต่อบุคคลที่ตายแล้วไม่มีสภาพเป็นบุคคลที่จะถูกฆ่าได้อีก ไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1646/2559

ก่อนเกิดเหตุผู้ตายกับจำเลยต่างเมาสุราโต้เถียงทะเลาะกัน จำเลยกลับบ้านเอามีดดาบของกลางมาขู่ผู้ตาย ผู้ตายกับจำเลยโต้เถียงกันอีก แล้วจำเลยถือมีดดาบวิ่งไล่ผู้ตายไปจนถึงบริเวณที่ผู้ตายกับพวกนั่งดื่มสุรากัน อ.เข้าไปห้ามจำเลย จำเลยจึงกลับบ้านโดยไม่ได้ฟันผู้ตาย ผู้ตายกลับมานั่งดื่มสุรากับพวกต่อ สักครู่หนึ่งผู้ตายเดินออกไปทางท้ายซอยห่างจากวงสุราประมาณ 10 เมตร และยืนชี้มาทางบ้านจำเลยลักษณะท้าทาย จำเลยโมโหจึงได้ขับรถจักรยานยนต์เข้าไปหาผู้ตายแล้วใช้มีดดาบฟันผู้ตาย ดังนี้ พฤติการณ์ของจำเลยหลังจากที่จำเลยใช้มีดดาบของกลางวิ่งไล่ผู้ตายไปจนถึงที่เกิดเหตุและใช้มีดดาบของกลางเล่มเดิมฟันผู้ตาย เป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกันไม่ขาดตอน ถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำการโดยไตร่ตรองไว้ก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14232/2558

กรณีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 294 และ 299 นั้น ต้องเป็นการชุลมุนต่อสู้กันระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และมีบุคคลถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัสโดยไม่ทราบว่าผู้ใดหรือผู้ใดร่วมกับใครกระทำจนถึงแก่ความตายหรือจนได้รับอันตรายสาหัส แต่หากสามารถรู้และแบ่งฝ่ายแบ่งพวกกันได้ ทั้งรู้ว่าผู้ใดหรือฝ่ายใดเป็นผู้ลงมือทำร้ายย่อมลงโทษผู้นั้นกับพวกได้ตามเจตนาและผลของการกระทำ จำเลยกับพวกฝ่ายหนึ่งและผู้ตายกับผู้เสียหายฝ่ายหนึ่งวิวาทต่อสู้กัน แม้พยานโจทก์ที่อยู่ในเหตุการณ์จะไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่าคนใดในกลุ่มของจำเลยเข้าไปใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายและฟันผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสก็ตาม ย่อมมิใช่กรณีตาม ป.อ. มาตรา 294 และ 299 พวกของจำเลยที่เข้าร่วมในการทะเลาะวิวาทกับผู้ตายและผู้เสียหายได้ใช้มีดแทงผู้ตายและฟันผู้เสียหาย จำเลยซึ่งมีเจตนาร่วมกับพวกกระทำต่อผู้ตายและผู้เสียหายย่อมต้องรับผลอันเป็นธรรมดาย่อมเกิดขึ้นจากการนั้นในฐานะเป็นตัวการ แม้มิได้เป็นผู้ลงมือแทงผู้ตายและฟันผู้เสียหายด้วยตนเองก็ตาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13908/2558

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ก่อให้จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันฆ่า ส. ผู้เสียหายและ อ. ผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ต่อมา จำเลยที่ 1 กับพวกใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายและผู้ตายหลายนัดโดยเจตนาฆ่าและโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเนื่องจากถูกใช้ จ้าง วาน ยุยงส่งเสริมจากจำเลยที่ 2 เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายและผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 2 ขัดแย้งกับผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 มอบอาวุธปืนและบอกให้จำเลยที่ 1 สั่งสอนผู้เสียหาย การมอบอาวุธปืนมีกระสุนปืนหลายนัดให้จำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 2 ว่าให้จำเลยที่ 1 สั่งสอนผู้เสียหายโดยใช้ปืนยิงและย่อมเล็งเห็นได้ว่าหากผู้เสียหายไม่ตายก็ย่อมได้รับบาดเจ็บจากบาดแผลกระสุนปืน จึงเป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำผิดโดยเจตนาตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสอง เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายจึงเป็นการกระทำตามที่จำเลยที่ 2 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ฆ่าผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนแล้ว เมื่อผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้และรับโทษเสมือนตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 289 (4), 80 ประกอบมาตรา 84 วรรคสอง และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยรู้จัก ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ตาย ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 บอกให้จำเลยที่ 1 ไปสั่งสอนผู้เสียหายให้เข็ดหลาบ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ทราบเหตุการณ์ที่ผู้เสียหายนัดหมายผู้ตายมารับเพื่อเดินทางกลับบ้าน ทั้งจำเลยที่ 2 ไม่ได้ติดตามผู้เสียหายและผู้ตายไป ตามพฤติการณ์จำเลยที่ 2 ไม่อาจคาดหมายว่าจำเลยที่ 1 จะใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายด้วย การที่จำเลยที่ 1 ยิงผู้ตายถึงแก่ความตายเป็นการกระทำเกินขอบเขตที่ใช้ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาก่อให้จำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตาย เมื่อตามฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่ทางพิจารณาโจทก์สืบไม่สมฟ้องในความผิดฐานดังกล่าว จึงต้องยกฟ้องในข้อหานี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8572/2558

แม้ขณะเกิดเหตุดาบตำรวจ ช. จะคอยอยู่ที่ตู้ยามพิชัยรักษ์ แต่ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหัวหน้าเขตงานตู้ยามพิชัยรักษ์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเพียงคนเดียวที่จะต้องควบคุมการทำหน้าที่ของผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานหลายคน ทั้งดาบตำรวจ ช. ยังเตรียมพร้อมที่จะออกไปสนับสนุนการทำหน้าที่ของผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ย่อมถือได้ว่าเป็นเจ้าพนักงานที่กำลังกระทำการตามหน้าที่ ส่วนผู้ตายและผู้เสียหายนอกจากจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ตามคำสั่งสถานีตำรวจภูธรเมืองอุดรธานีแล้ว ในวันเกิดเหตุผู้ตายและผู้เสียหายได้แต่งกายในชุดผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานซึ่งบุคคลที่พบเห็นย่อมทราบว่าเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน และยังได้รับมอบหมายจากดาบตำรวจ ช. ให้ออกตรวจท้องที่และกวาดล้างกลุ่มวัยรุ่นที่กระทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงฟังได้ว่าผู้ตายและผู้เสียหายเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำการตามหน้าที่ การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและผู้เสียหาย 1 นัด จากนั้นจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้อาวุธมีดดาบฟันผู้ตายและผู้เสียหายหลายครั้ง เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายและผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฆ่าและร่วมกันพยายามฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำการตามหน้าที่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6450/2558

ตามฟ้องที่จำเลยให้การรับสารภาพฟังได้ว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยขับรถยนต์บรรทุกพ่วงในทางเดินรถของจำเลย จำเลยไม่ได้ขับล้ำเข้าไปในทางเดินรถสวน ส่วน ร. ขับรถจักรยานยนต์สวนทางมาโดยขับตามหลังรถอีแต๋นที่ บ. เป็นผู้ขับ แต่ ร. ขับแซงขึ้นหน้ารถอีแต๋นล้ำเข้าไปในทางเดินรถของจำเลย เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ที่ ร. ขับชนกับรถจำเลย หาก ร. ไม่ขับรถล้ำเข้าไปในทางเดินรถของจำเลย เหตุรถทั้งสองคันชนกันก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ แม้จะฟังว่าจำเลยมิได้ขับรถชิดขอบทางด้านซ้าย แต่ก็ยังขับอยู่ในทางเดินรถของจำเลย และตามรายงานชันสูตรพลิกศพเอกสารท้ายฟ้องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องระบุว่า ร. ขับรถตัดหน้ารถจำเลยเป็นเหตุให้ชนกัน แล้วรถจำเลยเสียหลักไปชนรถอีแต๋น แสดงว่า ร. ขับแซงขึ้นหน้ารถอีแต๋นในระยะกระชั้นชิดขณะที่รถจำเลยใกล้จะสวนทางกับรถอีแต๋น การที่รถจำเลยเสียหลักพุ่งชนรถอีแต๋น จึงเป็นผลโดยตรงจาก ร. ขับแซงขึ้นหน้าในระยะกระชั้นชิดเข้าไปในทางเดินรถของจำเลย มิใช่ผลโดยตรงที่จำเลยมิได้ขับรถชิดขอบทางด้านซ้ายหรือไม่ชะลอความเร็ว จะถือว่าจำเลยมีส่วนประมาทด้วยหาได้ไม่ เพราะการที่รถจำเลยเสียการควบคุมไปชนรถอีแต๋นเป็นผลจากความประมาทอย่างร้ายแรงของ ร. ที่ขับแซงขึ้นหน้าในระยะกระชั้นชิด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและรับอันตรายแก่กาย ศาลฎีกามีอำนาจยกฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225 แต่การที่จำเลยขับรถยนต์บรรทุกพ่วงซึ่งเป็นรถขนาดใหญ่บรรทุกหินเต็มคันรถด้วยความเร็วสูงในทางแคบ ถือได้ว่าเป็นการขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4577/2558

จำเลยที่ 1 เดินออกจากร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุกลับถึงห้องพัก ซึ่งอยู่ห่างประมาณ 2 ถึง 3 กิโลเมตร แล้วจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้พูดเกลี้ยกล่อมจำเลยที่ 1 ไม่ให้กลับไปอีก ทั้งได้ความว่าจำเลยทั้งสี่ออกไปจากร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุได้ประมาณ 30 นาที ก็กลับมาอีก เมื่อหักเวลาเดินทางไปและกลับระหว่างร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุกับห้องพักของจำเลยทั้งสี่เชื่อว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ใช้เวลาพูดเกลี้ยกล่อมไม่ให้จำเลยที่ 1 กลับไปที่ร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุนานประมาณ 20 นาที ซึ่งจำเลยที่ 1 น่าจะสามารถระงับสติอารมณ์ทำให้โทสะหมดสิ้นไปแล้วและกลับมามีสติสัมปชัญญะดีเหมือนเดิม การที่จำเลยที่ 1 กลับไปที่ร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุแล้วทำร้ายผู้ตายจึงหาใช่เป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกระชั้นชิดกับที่จำเลยที่ 1 ยังมีโทสะอยู่ แต่เป็นเหตุการณ์ที่ขาดตอนไปแล้ว จำเลยที่ 1 จะอ้างว่ากระทำโดยบันดาลโทสะไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ตระเตรียมอาวุธมีดของกลางกลับไปที่ร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุ ไล่ตามผู้ตายที่วิ่งหนีไปเป็นระยะทางถึง 50 เมตร และใช้อาวุธมีดของกลางที่เตรียมมาฟันแทงผู้ตายอย่างแรงหลายครั้งจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 608/2558

แม้จำเลยจะมิใช่ผู้ลงมือยิงผู้ตายและผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วก่อนที่จำเลยจะลงมือใช้ดาบฟัน แต่ตามพฤติการณ์บ่งชี้เจตนาว่า จำเลยก็มีความประสงค์ต่อความตายของผู้ตายเช่นกัน จำเลยเองก็อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุขณะ ว. ใช้ปืนยิง ซึ่งจำเลยสามารถช่วยเหลือได้ทันที เมื่อจำเลยมีบทบาทสำคัญเป็นผู้ชักนำในการก่อเหตุ จึงเข้าลักษณะเป็นตัวการด้วยกันกับ ว. จำเลยจึงต้องรับเอาผลที่ ว. ยิงผู้ตายเสมือนหนึ่งเป็นการกระทำของจำเลยด้วย จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18279/2557

ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมกับ ย. วางแผนฆ่าผู้ตายและไม่รู้มาก่อนว่า ย. มีและพาอาวุธปืนติดตัวมาด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามฟ้องและโจทก์มิได้อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้เป็นยุติว่า ขณะที่ ย. ยิงผู้ตายนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วย จำเลยที่ 1 จะมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนให้ ย. ฆ่าผู้ตายนั้น ข้อเท็จจริงต้องฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 รู้มาก่อนแล้วว่า ย. ให้จำเลยที่ 1 ขับรถพาไปหาผู้ตายเพื่อฆ่าผู้ตาย เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวมาก่อน การที่ ย. ยิงผู้ตายนัดแรกขณะที่นั่งซ้อนท้ายรถที่จำเลยที่ 1 ขับมาแล้วลงจากรถตรงไปยิงผู้ตายซ้ำ อันเป็นการกระทำต่อเนื่องกัน แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ขับรถหลบหนีไปจากที่เกิดเหตุ แต่ขับรถวกกลับมารับ ย. ตามเสียงตะโกนเรียกของ ย. และพาหลบหนีไป ก็มิใช่เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ ย. ฆ่าผู้ตาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16867/2557

ก่อนเกิดเหตุผู้ตายทั้งสอง และผู้เสียหายทั้งสี่ข้ามเรือโดยสารจากคลองสานไปท่าเรือสี่พระยา ขณะเรือเทียบท่าเรือสี่พระยา กลุ่มวัยรุ่นประมาณ 10 คน มีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 รวมอยู่ด้วยลงมาที่เรือ มีผู้ชกต่อยเตะถีบโดยมีคนพูดว่าวันนี้เปิดเทอมวันแรก กลุ่มผู้เสียหายข้ามฝั่งมาทำไม ให้ว่ายน้ำกลับไป มีลักษณะข่มขู่ให้โดดลงแม่น้ำ เป็นเหตุให้ผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ตกลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้ตายทั้งสองจมน้ำหายไป ผู้เสียหายทั้งสี่มีผู้ช่วยขึ้นจากน้ำได้ แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกับพวกทำร้ายผู้เสียหายทั้งสี่และผู้ตายทั้งสองจนตกลงไปหรือยอมกระโดดลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยาก็ตาม แต่หากไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วย น่าจะต้องห้ามปรามพวกของตนไม่ให้กระทำเช่นนั้น หรือหากห้ามปรามแล้วไม่ฟัง ก็น่าจะต้องรีบปลีกตัวออกมาทันที อีกทั้งเมื่อผู้เสียหายทั้งสี่และผู้ตายทั้งสองลงไปอยู่ในแม่น้ำแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ออกไปจากที่เกิดเหตุพร้อมกับพวกคนอื่น แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจกับพวกในการกระทำดังกล่าวด้วย แต่ก่อนเกิดเหตุไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 กับผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่มีสาเหตุโกรธเคืองกันรุนแรงถึงขนาดจะต้องฆ่ากันให้ตายและเมื่อผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ลงไปอยู่ในแม่น้ำแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 กับพวก ก็พากันออกมากจากเรือข้ามฟากที่เกิดเหตุ โดยไม่ได้ขัดขวางหรือห้ามไม่ให้ใครเข้าไปช่วยเหลือผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ กรณีมีเหตุให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เพียงแต่มีเจตนาทำร้ายผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ด้วยความคึกคะนองเพื่อให้เกิดความอับอาย โดยมิได้ประสงค์ให้ผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ถึงแก่ความตาย ก่อนที่จะมีคนช่วยเหลือขึ้นมาจากแม่น้ำ ผู้เสียหายทั้งสี่ยังสามารถพยุงตัวลอยอยู่ในน้ำได้ แสดงว่าขณะนั้นแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้ไหลเชี่ยวมากนัก ขณะที่กระทำการดังกล่าวจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ไม่น่าจะเล็งเห็นอยู่แล้วว่าอาจทำให้ผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ถึงแก่ความตายได้ แต่เมื่อการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดผลเกินเจตนา กล่าวคือเป็นเหตุให้ผู้ตายทั้งสองถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ย่อมต้องมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้ตายทั้งสองเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย และฐานร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายทั้งสี่ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16136/2557

จากพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ที่พบเห็นผู้เสียหายที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์พาเด็กหญิง ม. ซึ่งเคยเป็นคนรักของจำเลยที่ 2 มาซื้อของ จำเลยที่ 2 จึงขับรถจักรยานยนต์ติดตามไปปาดหน้ารถของผู้เสียหายที่ 1 และใช้อาวุธมีดชี้หน้าบังคับให้หยุดรถ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ติดตามมาโดยมีคนร้ายนั่งซ้อนท้ายมาจอดในบริเวณที่เกิดเหตุ แล้วคนร้ายใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายที่ 1 ทันที และหลบหนี้ไปด้วยกันย่อมบ่งชี้ชัดว่า จำเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมสมคบกับพวกมาทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมกับพวกในการใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายที่ 1 จริง แต่การที่พวกของจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายที่ 1 ที่ศีรษะซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ แต่ก็ฟันเพียงครั้งเดียว ในขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 ไม่ทันระวังตัว ไม่ได้ต่อสู้หรือมีผู้ใดขัดขวาง หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏว่าพวกจำเลยที่ 2 ฟันผู้เสียหายที่ 1 ซ้ำอีก ทั้งบาดแผลที่ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับ มีความยาว 5 เซนติเมตร ไม่ลึกถึงกะโหลกศีรษะ สามารถรักษาได้ภายใน 7 ถึง 14 วัน แสดงว่าไม่ได้ฟันโดยแรง ทั้ง ๆ ที่เป็นอาวุธมีดขนาดใหญ่ที่สามารถใช้ฟัน อันตรายต่อชีวิตได้โดยฟันครั้งเดียว พฤติการณ์แห่งคดีคงฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 2 กับพวกมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 เท่านั้น ไม่มีเจตนาฆ่า ผู้เสียหายที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ผิดฐานพยายามฆ่า และเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี จำเลยที่ 1 ซึ่งถูกฟ้องกล่าวหาว่าร่วมกระทำความผิดย่อมได้รับประโยชน์ด้วย แม้คดีส่วนของจำเลยที่ 1 จะยุติแล้ว ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13923/2557

การที่จำเลยที่ 1 ร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง แล้วใช้วัตถุระเบิดดังกล่าวปาใส่บุคคลที่นั่งชมการแสดงหมอลำจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ได้รับอันตรายสาหัส และผู้เสียหายที่ 4 ถึงที่ 8 ได้รับอันตรายแก่กาย เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกันโดยจำเลยที่ 1 มีเจตนาเดียวคือกระทำให้เกิดระเบิดเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย กับผู้เสียหายที่ 2 ถึงที่ 8 ได้รับอันตรายสาหัสและอันตรายแก่กาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้และฐานใช้วัตถุระเบิดดังกล่าวในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ฐานกระทำให้เกิดระเบิดเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตายและรับอันตรายสาหัส ฐานฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12613/2557

การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวก แอบดักซุ่มทำร้ายผู้ตายกับพวก หลังจากมีเหตุวิวาทชกต่อยกันแล้ว โดยได้ความจากคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กับพวกบางคนมีมีดเป็นอาวุธ ส่วนคนร้ายที่ไม่มีมีด ก็ตัดต้นไม้ยูคาลิปตัสข้างทางเป็นท่อน ๆ ใช้เป็นอาวุธ เมื่อผู้ตายกับพวกขับรถจักรยานยนต์ผ่านมา จำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกก็วิ่งกรูกันออกมาทำร้าย โดยมิได้เลือกว่าจะทำร้ายบุคคลใดเป็นเฉพาะเจาะจง ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกคิดใคร่ครวญวางแผนตกลงที่จะทำร้ายผู้ตายกับพวก โดยประสงค์ถือเอาการกระทำของแต่ละคนเป็นการกระทำของตน ถือได้ว่าเป็นการร่วมกระทำความผิดด้วยกันนับเป็นตัวการ ดังนี้ แม้ไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นผู้ฟันทำร้ายผู้ตาย แต่เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นตัวการแล้ว นอกจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 จะมีความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร และมีความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยังมีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่ความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรกับความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเกี่ยวเนื่องกัน เพราะที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรเพื่อที่จะไปทำร้ายผู้ตายกับพวก จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11666/2557

จำเลยกับพวกร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบ้านพักอาศัยของผู้เสียหายที่ 1 แล้วชกต่อยผู้เสียหายที่ 2 แสดงว่าจำเลยกับพวกมีเจตนาแต่แรกเพียงที่จะทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 เท่านั้น แต่ภายหลังจำเลยชกต่อยกับผู้เสียหายที่ 2 แล้ว จำเลยเรียก ว. เข้ามายิงผู้เสียหายที่ 2 ในขณะผู้เสียหายที่ 2 ล้มนอนบนพื้น การที่ ว. ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นเจตนาที่เกิดขึ้นภายหลัง การกระทำของจำเลยกับพวกในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นและร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยพลาด กับความผิดฐานร่วมกันบุกรุก จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7564/2557

การที่จำเลยต่อว่าผู้ตายเรื่องที่ผู้ตายมีหญิงอื่นและเกิดการโต้เถียงกัน จำเลยจึงเข้าไปทุบตัวผู้ตาย ผู้ตายพูดว่า กูไม่อยู่กับมึง กูทนไม่ไหวแล้ว กูจะหย่ากับมึงอีแก่ เมื่อจำเลยได้ยินคำพูดเช่นนั้น จำเลยเกิดความโมโหมาก จึงไปเอาอาวุธปืนที่จำเลยซ่อนไว้ในลิ้นชักโต๊ะคอมพิวเตอร์ออกมายิงผู้ตาย 4 นัด จนผู้ตายถึงแก่ความตาย ข้อเท็จจริงดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่า จำเลยถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การกระทำของจำเลยยังมิใช่การกระทำโดยบันดาลโทสะตามกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5582/2557

เมื่อกลุ่มของ ด. กลับมาที่ร้านได้เดินในลักษณะตามหาผู้เสียหายที่ 2 และเรียกถามหาคนที่ใช้มือปัดอาวุธปืน พฤติการณ์ของจำเลยกับพวกที่ถามหาผู้เสียหายที่ 2 และเมื่อพบผู้เสียหายที่ 2 มีการบอกให้เข้าไปหาผู้เสียหายที่ 2 แล้วจำเลยกับพวกก็เข้าไปใช้อาวุธมีดรุมฟันผู้เสียหายที่ 2 ทันที แสดงว่าจำเลยกับพวกเจตนากลับมาทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 เนื่องจากจำเลยโกรธผู้เสียหายที่ 2 ที่เข้าห้ามมิให้จำเลยกับ ค. วิวาทกันและผู้เสียหายที่ 2 ใช้มือตบอาวุธปืนที่จำเลยชักออกมา การที่จำเลยกับพวกกลับออกไปแล้วกลับมาที่ร้านที่เกิดเหตุอีกครั้งโดยจำเลยกับพวกบางคนนำอาวุธมีดมาด้วย จำเลยกับพวกย่อมต้องได้คิดไตร่ตรองเพื่อทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 แล้ว การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3284/2557

แม้ ก. ส. และร้อยตำรวจเอก ว. พยานโจทก์ทั้งสามเป็นพยานบอกเล่า และผู้ตายผู้บอกเล่าไม่ได้ มาเบิกความต่อศาลเพราะถูกยิงถึงแก่ความตายก็ตาม แต่การที่ผู้ตายบอกแก่พยานโจทก์ทั้งสามทันทีที่พยานโจทก์ทั้งสามพบผู้ตายที่โรงพยาบาลพัทลุงภายหลังเกิดเหตุประมาณ 3 ชั่วโมง ว่าคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งนารี และเมื่อร้อยตำรวจเอก ว. ให้ผู้ตายดูภาพถ่ายผู้ต้องสงสัยจากแฟ้มอาชญากรรมรวมทั้งภาพถ่ายจำเลย ผู้ตายก็ชี้ภาพถ่ายจำเลยว่าเป็นคนร้ายทันที แสดงว่าผู้ตายยังมีสติสัมปชัญญะดีและจำคนร้ายได้แน่นอนว่าเป็นจำเลยจริง และคำบอกเล่าของผู้ตายเช่นนี้รับฟังได้ในฐานะที่เป็นคำระบุบอกกล่าวในเวลาใกล้ชิดกับเหตุอย่างมาก อันไม่มีโอกาสที่ผู้ตายจะคิดใส่ความหรือปรักปรำจำเลยได้ทัน จึงรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นได้ เมื่อพิจารณาประกอบบาดแผลของผู้ตายที่มีรอยครูดถลอกที่บริเวณข้อศอกขวาและเข่าขวากับกองเลือดของผู้ตาย รองเท้าแตะ อาวุธมีดที่อยู่ในที่เกิดเหตุ และสำเนาใบสำคัญการสมรสของผู้ตายที่ยังมีคราบเลือดติดอยู่ซึ่งร้อยตำรวจโท ส. ตรวจยึดไว้จากที่เกิดเหตุ ทำให้น่าเชื่อตามคำเบิกความของ ส. และร้อยตำรวจเอก ว. พยานโจทก์ที่ว่าวันเกิดเหตุผู้ตายไปพบนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งนารี โดยนำสำเนาทะเบียนสมรสดังกล่าวไปเป็นหลักฐาน หลังจากนั้นผู้ตายออกมารอรถโดยสารประจำทางที่ศาลาที่เกิดเหตุและมีคนร้ายลงจากรถยนต์มายิงผู้ตายในระยะใกล้แล้วเกิดการต่อสู้กันด้วย ดังนี้ พยานหลักฐานโจทก์ประกอบกันจึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจริง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21379/2556

แม้ข้อเท็จจริงที่ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคนร้ายที่ขับรถยนต์และใช้ไม้ถูพื้นไล่ตามทำร้ายผู้ตายกับพวก จะแตกต่างจากที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันขับรถยนต์ไล่ชนทำร้ายผู้ตาย แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็เป็นเพียงข้อแตกต่างเกี่ยวกับวิธีการประทุษร้าย อันมิใช่สาระสำคัญแห่งคดี เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความดังกล่าวได้


การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ไล่ทำร้ายผู้ตายกับพวกในระยะกระชั้นชิดโดยถือไม้ถูพื้นชูออกนอกรถยนต์เพื่อข่มขู่ผู้ตายกับพวกไปตลอดทาง โดยมีเจตนาจะทำร้ายผู้ตายกับพวก และผลจากการกระทำดังกล่าวทำให้ผู้ตายต้องขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูงเพื่อหลบหนีการถูกไล่ทำร้ายจนเกิดเหตุชนกับรถยนต์กระบะที่จอดอยู่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้ตายได้รับอันตรายสาหัสและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 290


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15497/2556

ขณะเกิดเหตุผู้ตายยืนอยู่ใกล้กับผู้เสียหายห่างกันไม่เกิน 50 เมตร และผู้เสียหายเบิกความตอบทนายโจทก์ร่วมว่า ในครั้งแรกจำเลยยิงอาวุธปืนติดต่อกัน 2 นัด ผู้เสียหายถูกยิงนัดที่ 2 หลังจากนั้นผู้ตายจึงถูกยิง การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและผู้เสียหายจึงเป็นการยิงคนละครั้ง แม้จะเป็นเวลาต่อเนื่องกันไป แต่ก็แยกเจตนาในการกระทำความผิดออกจากกันได้ การยิงผู้เสียหายย่อมเป็นความผิดสำเร็จในตัวเอง และการยิงผู้ตายก็เป็นความผิดสำเร็จในตัวเองต่างหากอีกกรรมหนึ่ง ดังนั้น การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายและยิงผู้ตายจึงเป็นความผิดสองกรรม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13360/2556

การที่จำเลยกับพวกมีการวางแผนและตระเตรียมอาวุธไปพร้อมตีทำร้ายผู้ตายหลายครั้งทั้งที่ผู้ตายเป็นคนพิการไม่มีทางต่อสู้ได้ จนได้รับบาดแผลและถึงแก่ความตาย ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยกับพวกเป็นการร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผล และเป็นการไตร่ตรองไว้ก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13113/2556

จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์โดยมีจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายไปยังบ้านที่เกิดเหตุพร้อมกับ ว. แล้ว จำเลยที่ 2 เรียกชื่อเล่นของ น. ว่า ปู เมื่อผู้ตายตะโกนว่าปูไม่อยู่ ว. ใช้อาวุธปืนยิงไปที่ประตูบ้านถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย จากนั้นจำเลยทั้งสองและ ว. พากันหลบหนีไป ว. ไปถอดหมวกนิรภัยและเสื้อที่สวมใส่ในขณะก่อเหตุที่บ้านของจำเลยทั้งสองก่อนจะหลบหนีไป การกระทำของจำเลยทั้งสองบ่งชี้ว่ามีเจตนาร่วมกระทำความผิดกับ ว. จึงเป็นตัวการร่วมกัน แต่การที่ ว. ใช้อาวุธปืนยิงไปที่ประตูบ้าน 2 นัด หลังจากผู้ตายตะโกนบอกว่าปูไม่อยู่ กระสุนปืนถูกผู้ตายถึงแก่ความตายนั้นเป็นการกระทำที่เล็งเห็นผลได้ว่ากระสุนปืนอาจถูกคนในบ้านถึงแก่ความตายเท่านั้น มิได้ประสงค์ต่อผลโดยตรงที่จะยิงให้ถูก น. เนื่องจากมองไม่เห็นว่า น. อยู่ที่ใด จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองในฐานเป็นตัวการร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน คงลงโทษได้ในฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น โดยบุคคลจะต้องรับโทษหนักขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงใด บุคคลนั้นจะต้องได้รู้ข้อเท็จจริงนั้นตาม ป.อ. มาตรา 62 วรรคท้าย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12114/2556

การที่จำเลยนำรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปซ่อมรอยรั่วซึมของถังน้ำมัน โดยจำเลยไม่ได้แจ้งให้นายจ้างทราบก่อน กลับแจ้งผู้ตายโดยตรงให้ซ่อมถังน้ำมันของรถยนต์บรรทุกน้ำมัน อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในการทำงานที่มีขึ้นเพื่อความปลอดภัย และจำเลยไม่ได้บอกผู้ตายว่ารถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุบรรทุกน้ำมันเบนซินมาด้วย ทำให้ผู้ตายไม่ทราบข้อเท็จจริงจึงไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนในการทำงาน เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกน้ำมันเกิดระเบิดขึ้นและผู้ตายถึงแก่ความตาย นับเป็นผลโดยตรงจากความประมาทของจำเลยฝ่ายเดียวที่งดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้น หาได้เกิดจากความประมาทของผู้ตายด้วยไม่ จำเลยจึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12110/2556

ทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความว่า จำเลยที่ 3 กับพวกร่วมกันวางแผนจะฆ่าผู้ตายมาก่อน อีกทั้งขณะที่จำเลยที่ 3 กับพวกวิ่งไล่ผู้ตายไปนั้น ก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดถืออาวุธ การที่จำเลยที่ 3 กับพวกฆ่าผู้ตายจนถึงแก่ความตายจึงเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นทันทีทันใดในช่วงเวลานั้น ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 กับพวกฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7350/2556

ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 มีเหตุบาดหมางกับจำเลยเกี่ยวกับแย่งผู้หญิงและเคยมีการเจรจาตกลงกัน ในวันเกิดเหตุจำเลยกับพวกมีอาวุธปืนและมีดตามผู้เสียหายที่ 2 เข้าไปในบ้านเกิดเหตุ เมื่อพบก็เข้าทำร้ายทันที แสดงว่าจำเลยยังขุ่นเคืองผู้เสียหายที่ 2 เกี่ยวกับผู้หญิงและตั้งใจตามหาผู้เสียหายที่ 2 เพื่อทำร้าย มิใช่ว่าพบโดยบังเอิญแล้วเกิดทะเลาะวิวาทและทำร้ายทันทีในขณะนั้น จำเลยจึงมีโอกาสคิดทบทวนล่วงหน้าก่อนจะกระทำความผิด แล้วจำเลยกับพวกบุกรุกเข้าไปในบ้านใช้มีดและปืนเป็นอาวุธฟันและยิงผู้เสียหายที่ 2 บ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยได้วางแผนและตระเตรียมการที่จะฆ่าผู้เสียหายที่ 2 มาก่อนแล้ว จำเลยจึงมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายที่ 2 โดยไตร่ตรองไว้ก่อน เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 2 โดยไตร่ตรองไว้ก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6151/2556

จำเลยที่ 3 เพียงแต่ใช้ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ส. จับตัวผู้ตายมาเพื่อค้นหาความจริงเกี่ยวกับรถของจำเลยที่ 3 ที่หายไปเท่านั้น การที่ ส. ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจนผู้ตายถึงแก่ความตายเนื่องจากผู้ตายต่อสู้ไม่ยอมให้จับตัวนั้น เป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า ที่เกิดขึ้นทันทีทันใด โดยจำเลยที่ 3 ไม่อาจคาดหมายได้ว่า ส. จะกระทำเช่นนั้น เป็นการกระทำเกินขอบเขตที่ใช้ พฤติการณ์แห่งคดียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ส. ฆ่าผู้ตาย แต่การที่จำเลยที่ 3 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ส. ไปจับตัวผู้ตายมารีดเค้นหาความจริงดังกล่าว จำเลยที่ 3 ย่อมคาดหมายได้ว่าผู้ตายอาจขัดขืนและในการรีดเค้นความจริงจากผู้ตาย อาจมีการต่อสู้ทำร้ายร่างกายเกิดขึ้น ถือว่าจำเลยที่ 3 ใช้ให้กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ส. ทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 3 แล้วผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ใช้ให้กระทำความผิดจึงต้องรับผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2217/2556

จำเลยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ตายและโจทก์ร่วมมาก่อนเกิดเหตุ เนื่องจากพวกของจำเลยตบหน้าผู้ตาย เมื่อจำเลยขับรถจักรยานยนต์กลับบ้าน ผู้ตายและโจทก์ร่วมขับรถจักรยานยนต์วนไปมาโดยถือเหล็กแป๊บมาด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมทำให้จำเลยเชื่อว่าผู้ตายและโจทก์ร่วมจะตามมาเอาเรื่องจำเลย เมื่อจำเลยกลับถึงบ้านจึงบอกบิดาจำเลยแล้วนำอาวุธปืนออกมา การกระทำดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยและบิดาจำเลยเกิดความโกรธที่ผู้ตายและโจทก์ร่วมตามมาเอาเรื่องจำเลยโดยมีอาวุธมาเพื่อใช้ทำร้ายจำเลย จำเลยและบิดาจำเลยจึงได้ตอบโต้โดยตระเตรียมอาวุธปืนเพื่อมายิงต่อสู้กับผู้ตายและโจทกร่วม และเมื่อผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ผ่านมา จำเลยและบิดาจำเลยได้ขับรถจักรยานยนต์ตามไปประมาณ 200 เมตร จึงใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและโจทก์ร่วมที่ด้านหลัง โดยที่ผู้ตายและโจทก์ร่วมมิได้ต่อสู้ด้วย กรณีที่เกิดขึ้นจำเลยและบิดาจำเลยมีโอกาสคิดไตร่ตรองทบทวนแล้วจึงตกลงใจกระทำความผิด หาใช่เป็นการกระทำในลักษณะปัจจุบันทันด่วนไม่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19513 - 19514/2555

พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 กับพวกตระเตรียมอาวุธปืนมาแก้แค้นทำร้าย บ. พวกของโจทก์ร่วม แต่เมื่อไม่พบ บ. ก็ไปสอบถามและนำโจทก์ร่วมนั่งรถกระบะให้พาไปตามหา บ. โดยขับรถจากเขตเทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานีไปถึงอำเภอเคียนซา แล้วย้อนกลับมาตามถนนสายกระบี่ - ขนอม เป็นเวลาหลายชั่วโมง ครั้นไม่พบ บ. จึงขับไปหยุดรถบนสะพานข้ามแม่น้ำตาปี หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองกับพวกทั้งหมดก็ลงจากรถและพาโจทก์ร่วมไปยังท้ายรถให้จำเลยที่ 2 กับพวกอีก 2 คน ใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมคนละนัดติดต่อกันรวม 3 นัด แล้วร่วมกันจับโจทก์ร่วมโยนทิ้งลงในแม่น้ำตาปีเช่นนี้ แม้ทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมจะไม่ได้ความว่ามีการตกลงสมคบกันวางแผนล่วงหน้าที่จะฆ่าโจทก์ร่วมมาก่อน แต่การทำร้ายโจทก์ร่วมก็เห็นได้ว่ามิได้เกิดขึ้นจากโทสะที่พลุ่งขึ้นเฉพาะหน้าแล้วทำร้ายในทันทีทันใด แต่น่าจะเป็นการเกิดโทสะขึ้นก่อนจากการที่โจทก์ร่วมไม่บอกที่อยู่และไม่สามารถพาไปตามหา บ. ได้ จึงเกิดความคิดร่วมกันที่จะทำร้ายและฆ่าโจทก์ร่วมขึ้นในภายหลัง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่จำเลยทั้งสองกับพวกจะต้องใช้เวลาไตร่ตรองและตัดสินใจอยู่เป็นเวลานานในการตกลงใจกระทำผิดในครั้งนี้ จึงเป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ. มาตรา 289 (4)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16527/2555

การที่จำเลยขับรถยนต์กระบะชนรถจักรยานยนต์สายตรวจที่จอดขวางอยู่ก็เพื่อต้องการเปิดทางหลบหนีการจับกุม ซึ่งจำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าอาจทำให้ผู้เสียหายที่ 3 ที่ยืนอยู่บริเวณที่รถจักรยานยนต์ดังกล่าวจอดได้รับบาดเจ็บได้ จึงมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายที่ 3 เมื่อผลการตรวจร่างกายผู้เสียหายที่ 3 คงมีอาการปวดแก้มก้น 2 ข้าง และปวดขาข้างขวาถึงเท้า รักษาให้หายภายใน 7 วัน หากไม่มีโรคแทรกซ้อนตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ ซึ่งอาการดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายที่ 3 ได้รับอันตรายแก่กาย การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายตาม ป.อ. มาตรา 391 และความผิดดังกล่าวก็เป็นความผิดอย่างหนึ่งที่รวมอยู่ในความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตามฟ้องซึ่งมีโทษเบากว่า ศาลย่อมลงโทษความผิดฐานนี้ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14450/2555

การฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนนั้น ผู้กระทำความผิดต้องได้มีเวลาคิดไตร่ตรองและทบทวนแล้วจึงตกลงใจที่จะฆ่าผู้อื่น หาใช่กรณีที่เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วนไม่ การที่ข้อเท็จจริงได้ความว่ามีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน ไม่ใช่เหตุผลที่บ่งชี้แน่นอนว่ามีเจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเสมอไป ต้องขึ้นอยู่กับพฤติการณ์แห่งคดี คดีนี้ได้ความว่าจำเลยกับผู้ตายมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนแต่ก็เป็นสาเหตุตั้งแต่เมื่อประมาณ 1 ปี มาแล้ว แม้ปรากฏว่ายังคงโกรธเคืองกันตลอดมาก็ไม่อาจแปลความไปถึงขนาดว่าจำเลยมีความคิดจะฆ่าผู้ตายมาตลอดได้ เพราะหากเป็นเช่นนั้นจำเลยก็สามารถจะทำได้ง่ายและคงไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านพ้นไปนานเป็นปีจึงเพิ่งมาก่อเหตุคดีนี้ การที่จำเลยมาพบเห็นผู้ตายนั่งดื่มสุราที่บ้านของ ส. ในคืนวันเกิดเหตุนั้นจึงเป็นเพียงเหตุบังเอิญ ซึ่งหากพบแล้วจำเลยเกิดความต้องการที่จะแก้แค้นผู้ตายโดยจำเลยมีอาวุธปืนติดตัวมาด้วยและใช้อาวุธปืนนั้นยิงผู้ตายในขณะนั้นย่อมไม่อาจถือได้ว่าจำเลยฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในเวลาปัจจุบันทันด่วนโดยจำเลยไม่มีเวลาคิดไตร่ตรองทบทวนก่อนเลย ดังนั้น ที่จำเลยกลับไปบ้านซึ่งอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 1 กิโลเมตร เพื่อเอาอาวุธปืนมายิงผู้ตายก็ไม่แตกต่างกับที่จำเลยยิงผู้ตายในทันทีที่พบเห็นแต่อย่างใด ถือไม่ได้ว่าจำเลยฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8155/2555

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและทรัพย์สินเสียหายตาม ป.อ. มาตรา 291 และ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157 โดยบรรยายถึงการกระทำโดยประมาทของจำเลยว่า ก่อนจำเลยขับรถเข้าทางร่วมทางแยกที่เกิดเหตุ สัญญาณจราจรในทางเดินรถของจำเลยเป็นสัญญาณจราจรไฟสีแดง จำเลยต้องหยุดรถเพื่อให้รถอื่นที่ได้รับสัญญาณจราจรไฟสีเขียวขับผ่านทางร่วมแยกไปก่อน และเมื่อทางเดินรถของจำเลยได้รับสัญญาณจราจรไฟสีเขียวแล้ว จึงค่อยขับรถเข้าทางร่วมทางแยก แต่จำเลยขาดความระมัดระวังขับเลี้ยวขวาโดยฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีแดง เฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับมาในทางร่วมทางแยกซึ่งผู้ตายได้รับสัญญาณจราจรไฟสีเขียว เป็นการบรรยายฟ้องโดยอ้างเหตุประมาทว่า จำเลยขับรถเข้าทางร่วมทางแยกโดยฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีแดงเท่านั้น แต่ทางพิจารณาได้ความว่า รถคันที่จำเลยขับเป็นรถพยาบาลของทางราชการซึ่งจำเลยได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ขับรถนำผู้ป่วยไปส่งยังโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่ง โดยขณะเกิดเหตุจำเลยเปิดไฟหน้ารถและเปิดสัญญาณไฟขอทางบนหลังคารถอันเป็นรถฉุกเฉินตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 4 (19) ซึ่งจำเลยผู้ขับย่อมมีสิทธิขับรถผ่านสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรใดๆ ที่ให้รถหยุดได้ เพียงแต่ต้องลดความเร็วของรถให้ช้าลงตามสมควรแก่กรณีตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 75 (4) วรรคหนึ่งและวรรคสอง จำเลยซึ่งขับรถฉุกเฉินจึงมีสิทธิขับรถผ่านสัญญาณจราจรไฟสีแดงได้ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าจำเลยขับรถโดยประมาทฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีแดงเท่านั้น ไม่ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าวให้เป็นพฤติการณ์ที่แสดงถึงการขับรถโดยประมาทของจำเลยไว้ด้วย แม้จะฟ้งว่าจำเลยขับรถผ่านสัญญาณจราจรไฟสีแดงโดยมิได้ลดความเร็วให้ช้าลงและมิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร ศาลก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้เพราะไม่ใช่การกระทำโดยประมาทตามที่โจทก์ฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7253/2555

ตั้งแต่ออกจากรีสอร์ทจนมาถึงที่เกิดเหตุที่พี่ชาย น. ยิงผู้เสียหาย ไม่ปรากฏว่าจำเลยและพี่ชาย น. ได้พูดกันแต่อย่างใด แต่เมื่อจำเลยจอดรถพี่ชาย น. ก็กระโดดลงจากรถและชักอาวุธปืนออกมายิงผู้เสียหาย แสดงว่าจำเลยและพี่ชาย น. ได้ตกลงกันไว้ก่อนแล้วให้จำเลยเป็นคนพาผู้เสียหายมา ส่วนพี่ชาย น. จะเป็นคนยิง อันเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ จำเลยจึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับพี่ชาย น. ด้วย การที่คนร้ายใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงยิงผู้เสียหาย 5 นัด ถูกที่ไหล่ซ้าย 1 นัด จนทะลุแสดงว่าคนร้ายมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย แต่เนื่องจากกระสุนปืนไม่ถูกอวัยวะสำคัญผู้เสียหายจึงไม่ถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นและเป็นการกระทำความผิดโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพราะได้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะนำตัวผู้เสียหายมายิงในที่เกิดเหตุ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 671/2555

วันเกิดเหตุพวกของจำเลยทั้งสองมีเหตุทะเลาะวิวาทกับกลุ่มคนที่เล่นสาดน้ำสงกรานต์ที่ปากซอยที่เกิดเหตุ ต่อมาจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์พาจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายไปที่เกิดเหตุพร้อมกับพวกที่มีเหตุทะเลาะวิวาทดังกล่าวโดยจำเลยที่ 1 ทราบดีว่าที่จำเลยที่ 2 พกอาวุธปืนไปด้วย เมื่อถึงที่เกิดเหตุจำเลยที่ 2 กับพวกอีกคนหนึ่งจึงใช้อาวุธปืนยิงไปยังกลุ่มคนที่กำลังเล่นสาดน้ำสงกรานต์หลายนัดเป็นเหตุให้ผู้ตายทั้งสองถึงแก่ความตายและผู้เสียหายทั้งสามได้รับอันตรายสาหัสและอันตรายแก่กายแล้วพากันหลบหนีไป ตามพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 1 กับพวกมีเจตนาใช้อาวุธปืนในการวิวาท จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการในการใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายกับพวก อย่างไรก็ตามแม้การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่การจะเป็นตัวการร่วมฐานความผิดดังกล่าวจะต้องมีลักษณะมีการวางแผนและคบคิดมาแต่ต้นที่จะไปฆ่าผู้อื่น โดยคิดไตร่ตรองทบทวนแล้วจึงตกลงใจกระทำความผิด อันเป็นเจตนาส่วนตัวของผู้กระทำตามแต่ละคนและไม่ใช่กระทำไปโดยปัจจุบันทันด่วน แต่สำหรับคดีนี้จำเลยที่ 1 ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ตายและผู้เสียหายมาก่อน โดยได้ความจากคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ว่า ฉ. มีสาเหตุทะเลาะวิวาทกับผู้ตายและได้แจ้งเหตุทางโทรศัพท์ให้จำเลยที่ 2 ทราบเพื่อให้ช่วยเหลือโดยไม่ปรากฏว่าได้ร่วมวางแผนกับจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ มีจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายและพบ ฉ. จำเลยที่ 1 ก็ถามว่าจะไปไหนกัน ฉ. ตอบว่า "ไปเลียบคลอง" อันแสดงว่าในตอนแรกขณะที่จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์นั้นจำเลยที่ 1 ยังไม่ทราบว่าจะขับรถจักรยานยนต์ไปที่ใด ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์พาจำเลยที่ 2 ไปใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายกับพวกในที่เกิดเหตุจึงมีลักษณะเป็นการตัดสินใจในทันทีทันใด จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นเท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11840/2554

ว. เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย อยู่กินด้วยกันที่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพรต่อมาเลิกกันโดยมิได้จดทะเบียนหย่า ว. ย้ายไปอยู่จังหวัดภูเก็ต ได้รู้จักกับผู้เสียหายและได้อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้เสียหาย จำเลยตามไปจังหวัดภูเก็ตและขู่ว่าหากแต่งงานใหม่จะฆ่า ว. กับผู้เสียหาย ต่อมาปี 2547 ว. กับผู้เสียหายได้มางานศพบิดา ว. ที่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร จำเลยขู่จะฆ่า ว. และผู้เสียหายอีก จน ว. ได้แจ้งความไว้กับเจ้าพนักงานตำรวจ แสดงว่าจำเลยมีความโกรธแค้น ว. และผู้เสียหายและก็คงหาโอกาสที่จะฆ่าบุคคลทั้งสองมาตลอด จนวันเกิดเหตุเมื่อจำเลยทราบว่า ว. และผู้เสียหายมาที่อำเภอหลังสวน จำเลยก็ได้เดินทางจากบ้านจำเลยไปที่บ้านพักของ ว. และผู้เสียหาย เมื่อไปถึงจำเลยก็ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายแล้วหลบหนีไป การที่จำเลยนำอาวุธติดตัวไปด้วยแสดงว่าจำเลยเตรียมอาวุธปืนเพื่อที่จะฆ่าผู้เสียหายไว้แล้ว ทั้งบ้านจำเลยและบ้านที่เกิดเหตุซึ่งอยู่คนละหมู่บ้านกันย่อมมีระยะทางห่างกันพอสมควร ระหว่างที่จำเลยเดินทางไปจำเลยย่อมคิดทบทวนหลายครั้งแล้วว่าจะฆ่าผู้เสียหาย เมื่อไปถึงจำเลยก็ได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายไปเลยโดยไม่ได้พูดคุยอะไรกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพยายามฆ่าผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11794/2554

แม้จำเลยจะโกรธผู้ตายที่ไล่จำเลยออกจากบ้าน แต่จำเลยออกไปจากบ้านประมาณ 2 ถึง 3 วัน จำเลยจะกลับมาอยู่กับผู้ตายทุกครั้ง ก่อนเกิดเหตุผู้ตายไล่จำเลยออกจากบ้านและจำเลยกลับมาหาผู้ตาย เชื่อว่าเรื่องที่จำเลยถูกผู้ตายไล่ออกจากบ้านไม่ใช่สาเหตุสำคัญที่จำเลยอาฆาตแค้นผู้ตายถึงขั้นตระเตรียมอาวุธไปฆ่าผู้ตาย ทั้งมีดของกลางเป็นเพียงเครื่องใช้ทางการเกษตรที่จำเลยมีไว้ใช้ในการถางหญ้าและตัดอ้อย การที่จำเลยนำมีดของกลางติดตัวมาด้วยจึงไม่อาจฟังว่าตระเตรียมมาเป็นอาวุธฆ่าผู้ตาย ส่วนที่จำเลยรอจังหวะให้ไฟฟ้าในบ้านปิดแล้วมุดลอดสังกะสีบ้านเข้าไปหาผู้ตาย ก็อาจเป็นเพราะบุตรผู้ตายใช้กุญแจคล้องประตูด้านในไว้ ทำให้จำเลยเข้าบ้านไม่ได้ประกอบกับจำเลยอาจไม่ต้องการให้คนในบ้านซึ่งนอนหลับอยู่ทราบว่าจำเลยแอบกลับมาหาผู้ตาย ผู้ตายจึงให้จำเลยลอดเข้าไปหาดังที่จำเลยแก้ฎีกาก็เป็นได้ นอกจากนี้ได้ความว่าจำเลยคุยกับผู้ตายระยะหนึ่ง เมื่อบุตรของผู้ตายตื่นขึ้นมาเปิดไฟฟ้าแล้วเห็นจำเลยอยู่กับผู้ตาย ก็มีเสียงผู้ตายร้องห้ามบุตรของผู้ตายและผู้ตายกอดด้านหน้าจำเลยไว้ เมื่อผู้ตายปล่อยมือ จำเลยและบุตรของผู้ตายจ้องหน้ากัน หลังจากนั้นบุตรของผู้ตายวิ่งออกจากบ้าน จำเลยจึงใช้มีดฟันผู้ตายแล้ววิ่งหนีไป แสดงว่าก่อนที่บุตรผู้ตายจะวิ่งออกไปตามญาติมาไล่จำเลย จำเลยยังไม่มีความคิดที่จะฆ่าผู้ตายดังที่เคยพูดอาฆาตไว้ เชื่อว่าเหตุที่บุตรของผู้ตายวิ่งออกไปตามญาติเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้จำเลยลงมือฆ่าผู้ตายโดยใช้มีดของกลางฟันผู้ตายทันทีหลายครั้งด้วยอารมณ์โกรธเพียงชั่ววูบ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการไตร่ตรองไว้ก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10113/2554

จำเลยป่วยมีภาวะทางจิตบกพร่องด้วยโรคซึมเศร้าอย่างรุนแรงและมีอาการกำเริบเนื่องจากทะเลาะมีปากเสียงกับผู้ตายจึงเกิดโทสะใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายซ้ำหลายครั้งอันมีลักษณะลงมือแทงผู้ตายเพื่อให้ถึงแก่ความตายเท่านั้น โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาให้ผู้ตายได้รับความทุกข์ทรมานก่อนถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้ายตาม ป.อ. มาตรา 289 (5)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9693/2554

เมื่อสายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนได้แล้ว ผู้เสียหายกับพวกเข้าไปจับกุมจำเลยทั้งสาม โดยใช้รถยนต์ 2 คัน คันหนึ่งขับไปขวางหน้ารถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เป็นคนขับ และรถยนต์อีกคันหนึ่งที่มีผู้เสียหายนั่งมาด้วยขับไปขวางทางด้านหลัง ผู้เสียหายลงจากรถยนต์มายืนด้านหลังรถยนต์ของจำเลยที่ 1 พร้อมพูดแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อจับกุมด้วยเสียงดัง จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ถอยหลังพุ่งตรงไปทางผู้เสียหาย ผู้เสียหายกระโดดหลบ รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับชนทางด้านหน้าของรถยนต์ พันตำรวจโท ฉ. ที่ขวางอยู่ด้านหลังได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ถอยหลังดังกล่าวย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าหากผู้เสียหายไม่กระโดดหลบรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับอาจชนผู้เสียหายซึ่งยืนอยู่ทางด้านหลังในระยะห่างเพียง 5 เมตร ถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานกระทำตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 289 (2)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3925/2554

การที่ ส. พูดว่าจะเอาอาวุธปืนมายิงจำเลยแล้วจำเลยพูดกับ ส. ว่า พูดไม่เข้าหู แล้ว ส., ม. และ น. ออกจากบ้านจำเลยไป เหตุโกรธเคืองยุติและขาดตอนไปแล้ว ระหว่างนั้นจำเลยย่อมมีโอกาสคิดไตร่ตรองไว้ก่อนแต่พฤติการณ์ที่จำเลยนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ ต. ขับติดตาม ส., ม. และ น. ไปโดยจำเลยเตรียมนำอาวุธปืนไปด้วยแสดงว่า จำเลยคิดไตร่ตรองแล้วว่าจะใช้อาวุธปืนที่เตรียมไปยิงผู้เสียหายที่ 1 เพื่อแก้แค้นทั้ง ต. ยังขับรถแซงรถของ ส. ไปดักรอ ส., ม. และ น. อยู่ข้างหน้า เมื่อรถของ ส. มาถึง จำเลยใช้อาวุธปืนยิง ส. การกระทำของจำเลยต่อ ส. จึงเป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ. มาตรา 289 (4), 80 รวม 1 กระทง แต่ไม่ปรากฎว่าจำเลยกับ ม. และ น. มีเหตุโกรธเคืองกันจนจำเลยต้องคิดฆ่าบุคคลทั้งสอง การที่จำเลยยิง ม. และ น. ก็เพราะบุคคลทั้งสองนั่งรถจักรยานยนต์มากับ ส. จึงเป็นการคิดฆ่าอีกกระทงหนึ่งในทันที มิได้ไตร่ตรองไว้ก่อนจำเลยจึงมีความผิดเพียงฐานร่วมกันพยายามฆ่าตาม ป.อ. มาตรา 288, 80


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1443/2554

จำเลยใช้อาวุธปืนแก๊ปยิงผู้เสียหายขณะขับรถจักรยานยนต์เลี้ยวเข้าปากซอยทางเข้าบ้านในระยะห่างไม่เกิน 5 เมตร กระสุนปืนถูกผู้เสียหายเป็นแผลทะลุบริเวณต้นขาขวา บาดแผลผู้เสียหายมีเลือดออกเป็นจำนวนมากย่อมแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของอาวุธปืนและความรุนแรงของกระสุนปืน หากกระสุนปืนที่จำเลยยิงถูกอวัยวะสำคัญของร่างกาย ก็อาจทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ แต่เนื่องจากจำเลยยิงขณะผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์เลี้ยวปากซอยทางเข้าบ้าน ทำให้ยิงไม่แม่นยำกระสุนปืนจึงไม่ถูกอวัยวะสำคัญของร่างกาย ดังนี้ กรณีหาใช่การกระทำของจำเลยไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ เพราะเหตุอาวุธปืนที่เป็นปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตา 81 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 81/2554

หลังจากผู้ตายใช้ขวดสุราตีศีรษะจำเลย ผู้ตายกับจำเลยยังได้รับประทานอาหารด้วยกัน และจำเลยกลับไปบ้านแล้ว ต่อมานานถึง 2 ชั่วโมงเศษ จำเลยจึงมาที่บ้านเกิดเหตุและใช้มีดโต้ฟันผู้ตายขณะที่ผู้ตายกับ ข. นอนหลับกันแล้ว เหตุการณ์ที่ผู้ตายใช้ขวดสุราตีศีรษะจำเลยได้ขาดตอนตั้งแต่นั่งรับประทานอาหารด้วยกัน จำเลยจึงมิได้กระทำความผิดในขณะที่บันดาลโทสะอยู่ แต่กระทำความผิดในภายหลังเป็นเวลานานถือได้ว่าเหตุบันดาลโทสะขาดตอนแล้ว และการที่จำเลยกลับบ้านนั่งคิดแค้นอยู่ที่บ้านตั้ง 2 ชั่วโมง จึงไปทำร้ายตายในขณะกำลังนอนหลับในยามวิกาลและเวลาดึกสงัดโดยใช้มีดโต้ขนาดใหญ่เลือกฟันผู้ตายที่ศีรษะ ใบหน้าและลำคอหลายครั้ง ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ หากถูกฟันอย่างแรงเพียงครั้งเดียวก็ถึงแก่ความตายแล้ว แม้จำเลยมิได้เตรียมมีดมา แต่จำเลยก็เตรียมไฟฉายมาค้นหาอาวุธ ซึ่งจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าที่บ้านเกิดเหตุมีมีดโต้ใช้เป็นอาวุธทำร้ายผู้ตายได้และใช้ไฟฉายส่องหาทำร้ายผู้ตายได้ไม่ผิดตัวพฤติการณ์ชี้ชัดว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2746/2553

เหล็กแหลมที่จำเลยใช้แทงผู้เสียหายนั้นเป็นเครื่องมือใช้ในการเจาะปล่อยลมยาง แม้จะไม่มีคมแต่ก็มีลักษณะแหลมยาวถึง 12 เซนติเมตร ดังนั้น การที่จำเลยใช้กำลังจ้วงแทงไปที่บริเวณช่องท้องของผู้เสียหายซึ่งเป็นจุดอ่อนของร่างกาย แม้จ้วงแทงไปเพียงครั้งเดียว หากขณะเกิดเหตุผู้เสียหายไม่ได้ถือแฟ้มเอกสารอยู่ที่มือหรือยกแขนขึ้นปิดกั้นได้ทันแล้วเชื่อว่าเหล็กแหลมนั้นจะแทงทะลุเข้าช่องท้องของผู้เสียหาย ทำอันตรายต่อวัยวะสำคัญต่างๆ ภายในช่องท้องของผู้เสียหายได้ ประกอบกับบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับถึงขนาดกระดูกแขนขวาหักย่อมแสดงว่าจำเลยแทงผู้เสียหายโดยแรงที่ช่องท้อง ดังนั้น จำเลยย่อมเล็งเห็นผลในการกระทำของจำเลยได้ว่าเหล็กแหลมที่จำเลยแทงไปนั้นอาจทะลุเข้าช่องท้องไปถูกอวัยวะต่างๆ ภายในช่องท้องที่เป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายได้รับบาดเจ็บและผู้เสียหายอาจถึงแก่ความตายได้ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายหาใช่มีเพียงเจตนาทำร้ายผู้เสียหายไม่ อีกทั้งพฤติการณ์ที่จำเลยตระเตรียมเหล็กแหลมของกลางไว้เพื่อหาโอกาสแทงผู้เสียหายด้วยสาเหตุโกรธเคืองที่ผู้เสียหายเป็นตัวแทนฝ่ายนายจ้างไม่เจรจาช่วยเหลือฝ่ายจำเลยให้ได้รับเงินโบนัสพิเศษเพิ่มเติมนั้น เมื่อสบโอกาสจำเลยจึงใช้เหล็กแหลมที่ตระเตรียมไว้จ้วงแทงผู้เสียหาย ย่อมแสดงว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 513/2553

การที่จำเลยล้วงอาวุธปืนในกระเป๋ากางเกงออกมาจะยิงลำคอของสิบตำรวจโท น. ที่เข้ามาล็อกคอจำเลยทางด้านหลับเพื่อจับกุม แต่ถูกสิบตำรวจโท น. ใช้มือดันปากกระบอกปืนไปทางอื่น และมีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด แล้วจำเลยยังดึงอาวุธปืนมาที่ลำตัวและยิงปืนอีก 1 นัด แม้กระสุนปืนที่จำเลยยิงจะไม่ถูกสิบตำรวจโท น. เพราะสิบตำรวจโท น. ดันข้อมือจำเลยไปก่อน ดังนี้ จำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นได้ว่าอาจเป็นเหตุให้สิบตำรวจโท น. ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 92/2553

การที่จำเลยทั้งสองขับรถจักรยานยนต์หนีโดยมีรถยนต์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจไล่ตามมาติด ๆ เป็นระยะทางหลายกิโลเมตร และจำเลยที่ 2 ขว้างลูกระเบิดไปข้างหลังโดยเล็งเห็นว่าลูกระเบิดที่ขว้างไปดังกล่าวสามารถทำให้ผู้เสียหายและพวกซึ่งอยู่ในรถยนต์ที่ไล่ตามมาอาจถึงแก่ความตายได้หากลูกระเบิดเกิดระเบิดขึ้น จึงเป็นการขว้างโดยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายกับพวก แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่บรรลุผล เพราะลูกระเบิดที่ขว้างไม่เกิดระเบิดเนื่องจากยังไม่ได้ถอดสลักนิรภัยซึ่งอาจเป็นเพราะจำเลยที่ 2 รีบร้อนเกินไป เมื่อปรากฏผลการตรวจพิสูจน์ลูกระเบิดว่าอยู่ในสภาพใช้การได้ หากเกิดระเบิดขึ้นมีอำนาจทำลายสังหารชีวิตมนุษย์ สัตว์ และทรัพย์สินให้เสียหายได้ในรัศมีฉกรรจ์ 10 เมตร จากจุดระเบิดการกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายตาม ป.อ. มาตรา 289 (2) ประกอบด้วยมาตรา 80


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3284/2552

จำเลยจอดรถยนต์บรรทุกพ่วงล้ำเข้าไปในช่องเดินรถช่องซ้ายโดยไม่เปิดไฟหรือใช้แสง สว่างของรถหรือให้สัญญาณใดๆ ในขณะที่ที่เกิดเหตุมืด เป็นเหตุให้ ค. ซึ่งขับรถยนต์บรรทุกหกล้อมาทางด้านหลังไม่สามารถมองเห็นรถยนต์บรรทุกพ่วงที่ จำเลยจอดไว้ในระยะห่างเพียงพอที่ ค. จะหยุดรถหรือหลบหลีกไปได้ ค. จึงขับรถยนต์บรรทุกหกล้อชนท้ายรถยนต์บรรทุกพ่วงดังกล่าวมีผู้อื่นถึงแก่ความ ตาย ได้รับอันตรายสาหัสและได้รับอันตรายแก่กาย การที่ ค. ขับรถยนต์บรรทุกหกล้อชนท้ายรถยนต์บรรทุกพ่วงดังกล่าว จึงเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากความประมาทของจำเลยที่งดเว้นการที่จักต้องกระทำ เพื่อป้องกันผลนั้น จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291, 300, 390 แต่มิใช่ผลที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการขับรถโดยประมาทของจำเลย จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7552/2551

จำเลยเป็นบิดาของผู้เสียหาย คืนเกิดเหตุผู้เสียหายดื่มสุราจนเมา จำเลยได้ไล่ให้ผู้เสียหายไปนอนที่บ้าน ไม่ให้นอนที่กระท่อมของจำเลย ผู้เสียหายไม่ยอมไปได้ด่าจำเลยเสียๆ หายๆ ด่าว่า พ่อหัวควย พ่อเหี้ย พ่อสัตว์ ไม่รักลูก แล้วผู้เสียหายกลับออกไป 2 ถึง 3 นาทีได้กลับมาใหม่เพื่อมาเอาห่อยาเส้น จำเลยไล่ผู้เสียหายกลับไปนอนที่บ้านอีกครั้ง แต่ผู้เสียหายไม่ยอมไป กลับด่าจำเลยเช่นเดียวกับครั้งแรกและด่าให้อวัยวะเพศชายอีก ทั้งผู้เสียหายมีมีดยาว 1 ศอกอยู่ในย่ามและท้าจำเลยให้ออกมาฟันกัน ประกอบกับโจทก์ฎีการับว่า จำเลยโกรธแค้นที่ผู้เสียหายไม่เคารพยำเกรงและด่าจำเลยด้วยถ้อยคำหยาบคาย ดังนั้นการที่จำเลยซึ่งเป็นบิดาใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย กรณีจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7640/2550

แม้บริเวณที่เกิดเหตุมีสะพานลอยทางข้าม และผู้ตายข้ามถนนในช่องเดินรถอันเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 104 ที่บัญญัติว่า "ภายในระยะไม่เกินหนึ่งร้อยเมตรนับจากทางข้าม ห้ามมิให้คนเดินเท้าข้ามทางนอกทางข้าม" การกระทำของผู้ตายดังกล่าวเป็นเพียงความผิดตามมาตรา 104 ประกอบมาตรา 147 มิใช่หมายความว่าถ้าผู้ตายฝ่าฝืนไม่ข้ามถนนตรงทางข้ามตามมาตรา 104 แล้วจะถือเป็นการกระทำโดยประมาทเสมอไป การพิจารณาว่าผู้ตายมีส่วนประมาทหรือไม่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่นประกอบ ด้วย


ขณะเกิดเหตุเวลา 5.30 นาฬิกา ท้องฟ้งยังมืด บริเวณที่เกิดเหตุมีแสงไฟจากหลอดไฟฟ้าข้างฟุตบาทและที่ก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำ เสียซึ่งอยู่กึ่งกลางถนน ผู้ขับรถผ่านบริเวณนั้นยังต้องเปิดไฟหน้ารถซึ่งโดยสภาพไม่น่าจะมองเห็น เหตุการณ์ข้างหน้าได้ไกลเท่ากับเวลากลางวัน สภาพของถนนที่มีทางเดินรถฝั่งละ 3 ช่องเดินรถในเวลาเกิดเหตุเป็นตอนเช้ามืดของวันเสาร์อันเป็นวันหยุดราชการ รถที่แล่นบนถนนน่าจะน้อยกว่าวันปกติซึ่งทำให้ผู้ขับรถสามารถขับรถได้เร็ว ขึ้นกว่าวันปกติ ถนนบริเวณเกิดเหตุเป็นทางตรง การข้ามถนนไปยังอีกฝั่งหนึ่งต้องข้ามถนนถึง 6 ช่องเดินรถซึ่งรถที่แล่นไปมาในขณะนั้นน่าจะใช้ความเร็วสูงในสภาพเช่นนั้น ดังนั้น ผู้ตายควรใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในการข้ามถนนเนื่องจากเป็นถนนใหญ่ มีรถแล่นด้วยความเร็วสูงและเป็นเวลากลางคืนซึ่งผู้ขับรถอาจไม่เห็นคนข้ามถนน ในระยะไกลที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยได้ ตรงจุดที่ผู้ตายข้ามถนนมีรถยนต์โดยสารขนาดใหญ่ของสามีผู้ตายบังอยู่อันอาจทำ ให้จำเลยไม่สามารถเห็นผู้ตายได้ในระยะไกล แต่เห็นในระยะกระชั้นชิดจึงไม่สามารถหักรถหลบหรือหยุดรถได้ทันเป็นเหตุให้ชน ผู้ตาย ดังนั้น การที่ผู้ตายข้ามถนนใต้สะพานลอยคนข้ามจึงเป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัด ระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ จึงนับว่าผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย ผู้ตายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายและไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับ พนักงานอัยการได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4), 5 (2) และ 3 (2)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4067/2550

การที่จำเลยขับรถในขณะเมาสุรา อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 (2), 160 วรรคสาม กับการที่จำเลยขับรถโดยประมาทแซงรถที่อยู่ข้างหน้าไปในหน้าไปในช่องเดินรถ ขวามือในขณะที่ผู้ตายขับสวนมา เป็นเหตุให้ชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายเสียหายและทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 และ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 (4), 157 นั้น เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องและเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว ต้องลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10450/2550

พนักงานสอบสวนได้สอบคำให้การพยานหลายปากและรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับความผิด แล้วกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับ อันตรายสาหัส แต่พนักงานอัยการเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นและ มีคำสั่งให้แจ้งข้อหาเพิ่มเติม เมื่อแจ้งข้อหาแก่จำเลยเพิ่มเติมว่าพยายามฆ่าผู้อื่น จำเลยให้การปฏิเสธ ดังนี้ ถือว่าคดีนี้ได้มีการสอบสวนในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นแล้ว พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้อง


จำเลยใช้อาวุธมีดสปาต้าปลายแหลมยาวประมาณ 1 ศอก ฟันทำร้ายผู้เสียหายหลายครั้งถูกที่ร่างกาย ใบหน้า และท้ายทอยซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ เมื่อพิจารณาถึงบาดแผลลึกเห็นกระดูกและกระดูกแก้มแตกหักและลึกถึงกะโหลก ศีรษะซึ่งแพทย์เห็นว่าเป็นการถูกฟันโดยแรง ต้องใช้เวลารักษาอย่างน้อย 45 วัน ดังนี้ แสดงว่าจำเลยกระทำโดยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่า


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9020/2550

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยใช้อาวุธมีดปลายแหลมแทง ร. ถึงแก่ความตาย และ ช. ผู้เสียหายจนได้รับอันตรายแก่กาย ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกับพวกฝ่ายหนึ่ง ผู้ตายและผู้เสียหายกับพวกอีกฝ่ายหนึ่ง ได้ชุลมุนต่อสู้ทำร้ายกัน ผู้ตายและผู้เสียหายถูกแทงโดยฟังไม่ได้ว่าจำเลยหรือผู้ใดเป็นคนแทงในการชุลมุนต่อสู้ สาระสำคัญในการกระทำความผิดตามที่พิจารณาได้ความคือ มีการชุลมุนต่อสู้กันระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป แต่ตามฟ้องไม่มีข้อความตอนใดบรรยายถึงข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญของความผิดฐานเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้เป็นเหตุให้บุคคลถึงแก่ความตาย ซึ่งจะมีผลให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 294 ได้ด้วย ต้องถือว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ จึงลงโทษจำเลยตามทางพิจารณาที่ได้ความไม่ได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4166/2550

การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิง ส. กระสุนปืนถูก ส. และยังพลาดไปถูก อ. ด้วยนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่า ส. และฐานพยายามฆ่า อ. โดยพลาด แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำโดยพลาด มาด้วย ก็ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าว ในฟ้อง อันจะเป็นเหตุให้ศาลต้องพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 และการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3759/2550

การที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาให้จำเลยทราบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะที่จำเลยกระทำความผิด เพื่อให้ผู้ต้องหาทราบว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดและเพื่อให้ผู้ ต้องหาเข้าใจถึงการกระทำของผู้ต้องหาซึ่งเป็นความผิดนั้น โดยไม่ต้องแจ้งข้อหาทุกกระทงความผิด เมื่อแจ้งข้อหาอันเป็นหลักแห่งความผิดแล้วก็ไม่จำต้องแจ้งข้อหาความผิดอัน เกี่ยวพันกันด้วยอีกพนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนความผิดทุกข้อหาได้ กรณีของจำเลยเมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาว่าจำเลยทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็น เหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสแล้ว แม้ไม่แจ้งข้อหาว่าพยายามฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นความผิดที่เกี่ยวพันกัน พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ถือได้ว่ามีการสอบสวนความผิดฐานดังกล่าวแล้ว พนักงานอัยการโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120


จำเลยใช้อาวุธสปาต้ายาวประมาณ 1 ฟุตครึ่ง ซึ่งเป็นมีดขนาดใหญ่ที่อาจใช้เป็นอาวุธฟันทำอันตรายบุคคลอื่นถึงแก่ความตาย ได้ ฟันบริเวณศีรษะของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญจนกะโหลกศีรษะแตกยุบและสมอง ฉีกขาด แสดงให้เห็นว่าโจทก์ร่วมถูกจำเลยใช้อาวุธสปาต้าฟันอย่างแรง และเป็นการเลือกฟันที่ส่วนสำคัญของร่างกาย ประกอบกับแพทย์ผู้ตรวจร่างกายโจทก์ร่วมให้การว่า บาดแผลของโจทก์ร่วมต้องรีบรักษา หากล่าช้าอาจถึงแก่ความตายได้เนื่องจากเลือดออกมาก บาดแผลติดเชื้อเข้าไปในสมองและมีเลือดคั่งในสมองมาก แม้จำเลยจะฟันโจทก์ร่วมเพียงครั้งเดียว จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าโจทก์ร่วมอาจถึงแก่ความตายได้ ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาพยาบาลจากแพทย์ทันท่วงที การกระทำของจำเลยจึงฟังได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนาฆ่าโจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าโจทก์ร่วม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3611/2550

ผู้เสียหายและ ว. ไปเที่ยวงานวัด แต่การจราจรติดขัด ว. จอดรถจักรยานยนต์รออยู่บนถนน ขณะเดียวกัน ณ. วิ่งมาต่อยหน้าผู้เสียหาย 1 ครั้ง ผู้เสียหายวิ่งหนีจำเลย น. และ ย. วิ่งไล่ตาม ณ. ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย 1 นัด ผู้เสียหายวิ่งไปได้ 30 เมตรก็หมดแรงล้มลง จำเลย ณ. น. และ ย. เข้าไปรุมทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย โดยจำเลยใช้อาวุธมีดดาบฟันผู้เสียหาย ผู้เสียหายยกมือทั้งสองข้างกันไว้ จึงถูกคมมีด พวกจำเลยรุมเตะผู้เสียหาย แต่มีคนช่วยผู้เสียหายหลบหนีไปได้ ดังนั้น การที่ผู้เสียหายไปเที่ยวงานวัดแล้วพบ ณ. กับจำเลยและพวกนั้นน่าจะเป็นเหตุบังเอิญ และที่ ณ. เข้าไปชกทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทันทีและต่อมาก็ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย นั้นเป็นการกระทำและตัดสินใจของ ณ. โดยลำพัง ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้สมคบกระทำการดังกล่าวกับ ณ. จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในผลการกระทำดังกล่าวร่วมกับ ณ. แต่จำเลยต้องรับผิดเฉพาะผลการกระทำของตน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2527/2550

หลังจากจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายแล้ว จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 1 ขณะผู้เสียหายที่ 1 วิ่งตามรถจักรยานยนต์และร้องเรียกให้คนช่วยจนผู้เสียหายที่ 1 ล้มลง จากนั้นจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 อันเป็นการพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสามเพื่อปกปิดความผิดอื่นของจำเลยที่ 1 แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องบรรยายจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสามเพื่อปกปิดการกระทำความผิด อื่นมาด้วย จึงลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้ไม่ได้ เนื่องจากเป็นการเกินไปจากที่โจทก์กล่าวในฟ้องและไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ ประสงค์ให้ลงโทษตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ คงลงโทษจำเลยที่ 1 ได้เพียงฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสามตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83


โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกันพาอาวุธปืนไปโดยเปิดเผยตามมาตรา 8 ทวิ วรรคสอง การที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 8 ทวิ วรรคสอง จึงไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1367/2550

นับแต่เวลาที่จำเลยที่ 5 เข้าแย่งมีดจากผู้ตาย จนกระทั่งผู้ตายถูกจำเลยที่ 6 ใช้อาวุธปืนยิงถึงแก่ความตายไม่ปรากฏว่ามีผู้อื่นเข้าทำร้ายผู้ตายอีก บาดแผลของผู้ตายที่เกิดจากการถูกแทงด้วยของมีคมจึงต้องเกิดจากการกระทำของ จำเลยที่ 5 ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 5 และที่ 6 ที่ระบุว่าจำเลยที่ 5 เป็นคนใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายก่อนที่จำเลยที่ 6 จะใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจนถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นจำเลยที่ 5 และที่ 6 จึงได้รีบพากันหลบหนีไปด้วยกันโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ ทำให้เชื่อได้ว่าเหตุการณ์เป็นไปตามคำให้การของจำเลยที่ 5 และที่ 6 ในชั้นสอบสวน ซึ่งให้การหลังเกิดเหตุเพียง 2 วัน ยิ่งกว่าจะเป็นไปตามคำเบิกความหลังเกิดเหตุนานถึง 3 ปี การที่จำเลยที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายและใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจนถึงแก่ความตายแล้วรีบ พากันหลบหนีไปด้วยกัน แสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 5 และที่ 6 มีเจตนาร่วมกันฆ่าผู้ตาย จำเลยที่ 5 จึงเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 6 กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น


โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ว่า ร่วมกันว่าจ้างจำเลยที่ 5 และที่ 6 ให้ฆ่าผู้ตาย ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 โจทก์มิได้อุทธรณ์ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ถึงที่สุดแล้ว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ว่าจ้างให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 ไปฆ่าผู้ตาย โจทก์คงมีเพียงบันทึกคำให้การในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 5 และที่ 6 ที่ให้การรับสารภาพว่า จำเลยที่ 5 และที่ 6 รับจ้างจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้ไปฆ่าผู้ตาย ซึ่งเป็นพยานบอกเล่ามีน้ำหนักรับฟังน้อย และโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นรับฟังประกอบบันทึกคำให้การดังกล่าวกรณีจึงไม่ อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 5 และที่ 6 ได้รับจ้างจากผู้อื่นให้ไปฆ่าผู้ตายและพยานหลักฐานโจทก์เท่าที่นำสืบมาไม่มี น้ำหนักมั่นคงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 5 และที่ 6 เตรียมวางแผนฆ่าผู้ตายไว้ล่วงหน้าอันจะเป็นการกระทำความผิดโดยไตร่ตรองไว้ ก่อน การกระทำของจำเลยที่ 5 และที่ 6 จึงเป็นเพียงความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 เท่านั้น


ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 5 รู้มาก่อนว่าจำเลยที่ 6 พาอาวุธปืนติดตัวมาด้วยและจะใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย จำเลยที่ 6 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า จำเลยที่ 5 เพียงแต่ร่วมฆ่าผู้ตายโดยใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายอันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในฉับพฉันนั้นเอง ส่วนการที่จำเลยที่ 5 และที่ 6 หลบหนีไปด้วยกัน ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 5 มีส่วนร่วมกับการมีและพาอาวุธปืนของจำเลยที่ 6 ด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 483 - 484/2550

ก่อนเกิดเหตุจำเลยนั่งอยู่คนละโต๊ะกับผู้ตาย จำเลยเป็นฝ่ายเดินมาหาผู้ตายและถามผู้ตายถึงสาเหตุที่ห้ามจำเลยเข้าไปในร้าน อาหารแห่งหนึ่ง จากนั้นจำเลยกับผู้ตายก็โต้เถียงกัน จนจ่าสิบตำรวจ ส. ต้องลุกขึ้นมานั่งร่วมโต๊ะกับผู้ตายและห้ามปรามไม่ให้จำเลยกับผู้ตายโต้ เถียงกัน จำเลยจึงออกจากร้านเนื่องจากจ่าสิบตำรวจ ส. ร้องขอ หลังจากนั้นประมาณ 5 นาที จำเลยกลับมาใหม่และใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย และเล็งอาวุธปืนมายังสิบตำรวจเอก ย. จนจ่าสิบตำรวจ ส. ต้องเข้าไปแย่งอาวุธปืนจากจำเลย พฤติการณ์ของจำเลยแสดงว่าจำเลยยิงผู้ตายเนื่องจากจำเลยกับผู้ตายโต้เถียงกัน อย่างรุนแรงและจำเลยยังโกรธแค้นอยู่ แม้จะได้ความว่าเมื่อจำเลยเดินออกจากร้านไปจ่าสิบตำรวจ ส. จะต่อว่าผู้ตายว่าเป็นผู้ใหญ่ไม่น่าใช้คำหยาบ และผู้ตายพูดว่า "พี่ผิดไปแล้ว" ก็ตาม คำหยาบดังกล่าวก็เป็นเพียงคำพูดที่ไม่สมควรอาจยั่วยุให้จำเลยรู้สึกเจ็บแค้น และโมโหเท่านั้น หาได้เป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็น ภยันตรายที่ใกล้จะถึง อันจะเป็นเหตุให้จำเลยจำต้องกระทำเพื่อป้องกันตัวไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 353 - 354/2550

จำเลย ที่ 1 และที่ 3 ร่วมเดินทางไปกับจำเลยที่ 2 เพื่อไปยิงแก้แค้น ช. ซึ่งเคยยิงจำเลยที่ 2 มาก่อน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 ทราบดีว่าจำเลยที่ 2 นำอาวุธปืนติดตัวไปด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 2 ฆ่า ช. และเมื่อพบผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 ยิงผู้เสียหายโดยเข้าใจว่าเป็น ช. ย่อมเป็นการกระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิดตาม ป.อ. มาตรา 61 จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 ไม่อาจยกเอาความสำคัญผิดดังกล่าวมาเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้มีเจตนาร่วมฆ่าผู้ เสียหายได้ ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 2 ฆ่าผู้เสียหายด้วย ฉะนั้น เมื่อผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาฆ่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงมีความผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 2 พยายามฆ่าผู้เสียหาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 322/2550

จำเลย ที่ 1 กับที่ 2 พร้อมพวกไปเที่ยวงานวัด มีชายคนหนึ่งขับรถจักรยานยนต์มาชนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงชกต่อยกับชายดังกล่าว จำเลยที่ 2 กับพวกเข้าห้ามหลังจากนั้นจำเลยทั้งสองกับพวกไปรับประทานอาหารที่บ้านจำเลย ที่ 1 มีคนใช้ขวดสุราขว้างปามาที่บ้านจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 โมโหมาก จึงหยิบอาวุธปืนแก๊ปยาวที่อยู่ในบ้านออกมาหน้าบ้านโดยจำเลยที่ 2 เดินตามมาด้วย จำเลยที่ 1 ยิงปืนไปยังกลุ่มวัยรุ่นโดยจำเลยที่ 2 ยืนอยู่ใกล้ ๆ กระสุนปืนถูกโจทก์ร่วมที่ศีรษะได้รับบาดเจ็บไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีสาเหตุโกรธเคืองกับกลุ่มวัยรุ่นที่ขว้างปาบ้านของจำเลยที่ 1 และขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ก็มิได้แสดงอาการอย่างใดอันจะชี้ให้เห็นว่ามีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 ยิงกลุ่มวัยรุ่นดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธยิงไปยังกลุ่มวัยรุ่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทันทีทันใด แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ห้ามปรามจำเลยที่ 1 ก็อาจเป็นไปได้ว่าจำเลยที่ 2 มิได้คาดคิดว่าจำเลยที่ 1 จะกระทำเช่นนั้น พฤติการณ์แห่งคดียังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานพยายามฆ่าตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8310/2549

จำเลยใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นยิงสวนมาทาง ส. กับพวก แต่กระสุนปืนพลาดไปถูกนักศึกษาหญิงหลายคนได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288, 80, 60 อันเป็นความผิดต่อผลของการกระทำโดยพลาดที่เกิดแก่นักศึกษาหญิงผู้เสียหายทุก คนและมีความผิดตามมาตรา 288, 80 อันเป็นผลของการกระทำที่จำเลยใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นยิง ส. กับพวกด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8743/2550

จำเลยกับ จ. ได้ร่วมกันใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นยิงมาที่บ้านผู้เสียหายทั้งสองในระยะห่าง 14 เมตร โดยเล็งปากกระบอกปืนไปที่ตัวบ้าน มิได้เล็งปากกระบอกปืนไปที่ผู้เสียหายทั้งสองหรือบุคคลใดซึ่งอยู่ในบ้าน พฤติการณ์ดังกล่าวเชื่อว่าจำเลยกับ จ. มิได้มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายทั้งสองหรือบุคคลใด อีกทั้งจำเลยให้ปากคำว่ายิงปืนเข้าไปในบ้านผู้เสียหายที่ 2 เพียงแค่ข่มขู่และแก้แค้นผู้เสียหายที่ 1 กับพวกที่ใช้ไม้ตีทำร้ายจำเลยกับ จ. เท่านั้น ไม่มีเจตนาฆ่าใคร พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่มั่นคงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยได้ร่วมกับพวก พยายามฆ่าผู้เสียหาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6/2550

หากจำเลยเกิดอารมณ์ชั่ววูบที่ จ. ภริยาของจำเลยหนีออกจากบ้านจึงเตรียมน้ำอัดลมผสมสารกำจัดแมลงแลนเนท แอล ไว้เพื่อจะฆ่าตัวตาย แต่ผู้ตายและ อ. มาพบน้ำอัดลมผสมสารกำจัดแมลงนั้นและดื่มไปเองเสียก่อน จำเลยจึงไม่มีเจตนาฆ่าผู้ตายและ อ. ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย จำเลยก็น่าจะใส่สารกำจัดแมลงแลนเนท แอล ลงในเบียร์ที่จำเลยกำลังดื่มอยู่ในขณะนั้น และดื่มฆ่าตัวตายไปในทันที หรือเตรียมน้ำอัดลมผสมสารกำจัดแมลงไว้เพียงที่เดียวมากกว่าการที่จำเลยใส่ สารกำจัดแมลงลงในน้ำอัดลม ซึ่งตามคำให้การชั้นสอบของจำเลยก็ได้ความว่าจำเลยให้ผู้ตาย อ. ว. กับเพื่อนๆ ของเด็กทั้งสามที่มาเล่นวีดีโอเกมส์อยู่ด้วยกันนำเงินไปซื้อน้ำอัดลมมา 4 กระป๋อง แล้วจำเลยบอกให้นำน้ำอัดลมไปแช่ไว้ในตู้เย็นก่อน เมื่อแช่น้ำอัดลมไว้ในตู้เย็นแล้ว พวกเด็กๆ พากันไปเล่นวีดีโอเกมส์ต่อ ต่อมาจำเลยจึงให้ อ. ไปซื้อสารกำจัดแมลงมา 1 ขวด แล้วจำเลยแอบเอาน้ำอัดลมที่แช่ไว้ดังกล่าวมารินใส่แก้ว 3 ใบ แล้วเทสารกำจัดแมลงที่ อ. ไปซื้อมาใส่ลงในแก้วน้ำอัดลมเหล่านั้น จากนั้นจำเลยเรียกผู้ตาย อ. และ ว. ให้ลงจากบนบ้านมาดื่มน้ำอัดลม ส่วนเพื่อนๆ ของเด็กทั้งสามจำเลยให้กลับบ้านไป จำเลยได้ยื่นแก้วน้ำอัดลมผสมสารกำจัดแมลงให้ผู้ตาย อ. และ ว. ดื่มคนละแก้ว ผู้ตายดื่มจนหมดแก้ว อ. ดื่มไปครึ่งแก้ว ส่วน ว. ดื่มไปเพียงเล็กน้อย จำเลยให้การดังกล่าวต่อพนักงานสอบสวนทันทีที่ถูกจับกุมในวันเกิดเหตุยังไม่ ทันได้คิดเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริง ย่อมมีน้ำหนักรับฟังได้ ดังนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาฆ่า แต่เนื่องจากจำเลยมีอาชีพเกษตรกรรมและเคยให้ อ. ไปซื้อสารกำจัดแมลงมาเพื่อใช้ในการเกษตรกรรมของจำเลยตามปกติโดยยังมิได้มี เจตนาฆ่าผู้ตายและ อ. รวมทั้งฆ่าตัวตายในขณะนั้น แต่เนื่องจากจำเลยและ ท. ได้ร่วมกันดื่มเบียร์หมดไปหลายขวดอาจเกิดการมึนเมา รวมทั้งเกิดความกลัดกลุ้มและเสียใจประกอบกับความเครียดที่ จ. ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยทิ้งจำเลยและบุตรไปทำงานที่กรุงเทพมหานครโดยไม่ บอกกล่าวให้จำเลยทราบก่อน จำเลยจึงคิดฆ่าตัวตายพร้อมๆ กับผู้ตายและ อ. เพื่อเป็นการประชด จ. จึงได้นำสารกำจัดแมลงใส่ในน้ำอัดลมให้ผู้ตายและ อ. ดื่มอันเป็นอารมณ์ชั่ววูบซึ่งเกิดขึ้นทันทีทันใดในขณะนั้นก็อาจเป็นได้ จึงยังไม่พอให้ฟังว่าจำเลยเจตนาฆ่าผู้ตายและ อ. โดยไตร่ตรองไว้ก่อน และเนื่องจากจำเลยมีเจตนาเดียวคือต้องการให้ผู้ตาย อ. และจำเลยถึงแก่ความตายพร้อมกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7705/2549

พ. ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 11 และมาตรา 78 วรรคหนึ่ง ประสงค์ที่จะลงโทษผู้ขับรถในทางในเวลาที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอที่จะมองเห็น โดยไม่เปิดโคมไฟให้แสงสว่าง และลงโทษผู้ขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของ ผู้อื่นแล้วไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควร และพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที หาใช่กรณีประสงค์จะลงโทษผู้ขับรถที่จอดรถอยู่ไม่


จำเลยกระทำโดยประมาทจอดรถยนต์บนถนนกีดขวางทาง จราจร ทั้งไม่ได้เปิดโคมไฟให้แสงสว่าง เพื่อแสดงว่ามีรถยนต์จอดอยู่ เป็นเหตุให้ผู้ตายและผู้เสียหายซึ่งขับรถจักรยานยนต์และซ้อนท้ายกันมาชนท้าย รถยนต์ของจำเลย แล้วจำเลยหลบหนีไป การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 11, 148 และมาตรา 78, 160 ตามที่โจทก์ฟ้อง ทั้งโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยขับรถโดยมีเครื่องอุปกรณ์ไม่ครบถ้วน ที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 6 วรรคสอง ตามที่โจทก์ขอมาท้ายฟ้องด้วยจึงไม่ถูกต้อง แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลก็ไม่อาจลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย และแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง, 215 และ 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5207/2549

จำเลยขับรถด้วยความเร็วสูงและไม่ได้ชะลอความเร็วเมื่อมาถึงทางร่วมทางแยก แม้จะได้ความว่าทางเดินรถของฝ่ายแท็กซี่เป็นทางโทมีป้ายหยุดปักอยู่ตรงปากทางและผู้ขับรถแท็กซี่ไม่ได้หยุดรถของตนอันเป็นการกระทำโดยประมาทด้วยก็ตาม แต่การขับรถผ่านทางร่วมทางแยกนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ขับขี่รถทุกเส้นทางที่มา บรรจบทางร่วมทางแยกจะต้องลดความเร็วลงให้อยู่ในระดับความเร็วที่ต่ำหรือหยุดรถเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายอันเกิดจากการชนระหว่างรถที่กำลังแล่นผ่าน หาใช่ว่าผู้ที่ขับรถมาในทางเอกจะใช้ความเร็วในอัตราที่สูงโดยขับผ่านทางร่วม ทางแยกไปโดยปราศจากความระมัดระวัง เมื่อจำเลยขับรถแล่นเข้าไปในทางร่วมทางแยกด้วยความเร็วสูงทำให้ชนกับรถยนต์ คันที่ผู้ตายขับมาเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ย่อมถือได้ว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากความประมาทของจำเลยด้วย


พฤติการณ์ความประมาทของจำเลยค่อนข้างร้ายแรง และเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 3 คน แม้จำเลยจะวางเงินให้แก่ทายาทของผู้ตายทั้งสามคนก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ก็มิใช่การวางเงินโดยยอมรับผิดในการกระทำของตน ทั้งเงินดังกล่าวก็เป็นค่าเสียหายส่วนแพ่งที่จำเลยอาจต้องรับผิดต่อทายาทของ ผู้ตายกรณียังไม่สมควร รอการลงโทษให้แก่จำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8079/2549

จำเลยและผู้เสียหายมีสาเหตุขุ่นข้องหมองใจกันจนต่างฝ่ายต่างหวาดระแวงว่าอีกฝ่าย จะมาทำร้ายตนตามพฤติการณ์แห่งคดีที่ผู้เสียหายเรียกชื่อจำเลยและชักอาวุธปืนออกมาจากเอว วิญญูชนเช่นจำเลยย่อมเข้าใจได้ว่าผู้เสียหายจะใช้อาวุธปืนนั้นยิงจำเลย ถือได้ว่าเป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายละเมิดต่อกฎหมายและเป็น ภยันตรายที่ใกล้จะถึงตาม ป.อ. มาตรา 68 แล้ว การที่จำเลยหยิบอาวุธมีดพร้าที่วางอยู่พื้นถนนซึ่งเป็นของบุคคลอื่นฟันทำ ร้ายผู้เสียหายไปเพียงครั้งเดียวแล้ววิ่งหลบหนีไป จึงเป็นการกระทำเพื่อป้องกันพอสมควรแก่เหตุ เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงไม่มีความผิด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4009 - 4010/2549

ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ชักชวนผู้เสียหายนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ไปรับประทานข้าวต้มด้วยกัน ระหว่างทางจำเลยที่ 3 จอดรถและรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั่งรถไปด้วยโดยเปลี่ยนให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์มาจอดในที่เกิดเหตุ และจำเลยที่ 3 วิ่งหนีออกไป จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันรุมชกต่อยผู้เสียหายจนล้มลง ผู้เสียหายแกล้งทำเป็นสลบ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันปลดเอาทรัพย์สินของผู้เสียหายไปได้แล้วจึงช่วยกันจับผู้เสียหาย โยนลงไปในคลองโดยเจตนาฆ่าผู้เสียหายเพื่อปกปิดความผิดฐานปล้นทรัพย์ซึ่ง สำเร็จเสร็จสิ้นไปก่อนแล้ว มิได้มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายมาแต่แรก การพยายามฆ่าผู้เสียหายเพิ่งเกิดขึ้นภายหลัง จึงเป็นการกระทำอีกกรรมหนึ่งต่างหาก การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1161/2549

จำเลยใช้จอบยาวประมาณ 1 เมตรเศษ เป็นจอบขนาดใหญ่ตีทำร้ายผู้ตายที่บริเวณศีรษะถึง 2 ถึง 3 ครั้งในขณะที่ผู้ตายนอนนิ่งอยู่ ซึ่งจำเลยมีโอกาสที่จะเลือกตีผู้ตายที่ใดก็ได้แต่จำเลยกลับเลือกตีทำร้ายผู้ ตายที่บริเวณศีรษะอันเป็นอวัยวะสำคัญถึงขนาดกะโหลกศีรษะผู้ตายแตกและบางส่วน หลุดหายไป ทั้งบาดแผลลึกถึงสมองเนื้อสมองหายไปอันแสดงว่าจำเลยตีทำร้ายอย่างรุนแรง จำเลยย่อมเล็งเห็นผลในการกระทำของจำเลยได้ว่าอาจทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ได้ แม้มูลเหตุที่จำเลยไม่พอใจผู้ตายจะไม่ใช่สาเหตุร้ายแรงถึงขนาดที่จำเลยจะ ต้องฆ่าผู้ตายก็ตาม ก็ต้องถือว่าจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาฆ่าผู้ตายแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10/2549

กรณีที่จะเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72 นั้น ต้องเป็นเรื่องที่ผู้กระทำความผิดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็น ธรรมและเหตุอันไม่เป็นธรรมนั้นต้องเป็นเรื่องร้ายแรง โดยต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับความรู้สึกของคนธรรมดาหรือวิญญูชนทั่วไปที่ อยู่ในภาวะวิสัยและพฤติการณ์อย่างเดียวกับผู้กระทำความผิด จะถือเอาความรู้สึกนึกคิดของตัวผู้กระทำความผิดเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าผู้ กระทำความผิดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมหรือไม่ไม่ได้ แม้จำเลยจะเป็นญาติผู้ใหญ่ของผู้ตาย และพูดตักเตือนผู้ตายเรื่องการขับรถจักรยานยนต์ในหมู่บ้านว่าไม่ให้ขับเร็ว เพราะเกรงว่าจะชนเด็ก แล้วผู้ตายตอบว่าเป็นรถของผู้ตายเองจะยังคงขับเร็ว และพูดท้าทายจำเลยว่า มึงแก่แล้วอย่ามายุ่งกับกูหากแน่จริงให้ลุกขึ้นมา ซึ่งเป็นการแสดงกิริยายโสโอหัง ไม่สมควรที่จะกระทำต่อจำเลยซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ก็ตาม แต่ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การกระทำของจำเลย จึงมิใช่เป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7/2549

จำเลยใช้ไม้สนซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็ง มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 70 เซนติเมตร ซึ่งมีขนาดโตพอควร ตีศีรษะผู้เสียหาย 1 ครั้ง โดยเลือกตีที่ศีรษะอันเป็นอวัยวะสำคัญ การที่กะโหลกศีรษะแตก มีเลือดคั่งในสมองจากการถูกตี แสดงว่าจำเลยตีอย่างแรง จำเลยย่อมเล็งเห็นผลแห่งการกระทำของตนว่าอาจเป็นเหตุให้ผู้เสียหายถึงแก่ ความตายได้ ทั้งตามความเห็นของแพทย์ผู้รักษาหากแพทย์ไม่ผ่าตัดสมองรักษาให้ทันท่วงที ผู้เสียหายอาจถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่า


จำเลยกับผู้เสียหายรับจ้างทำงานก่อสร้างสะพาน ด้วยกัน ก่อนเกิดเหตุจำเลยเร่งให้เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งและผู้เสียหายทำงาน แล้วโต้เถียงกับผู้เสียหาย จำเลยท้าทายผู้เสียหายให้ขึ้นมาชกกันบนคันคลอง แต่ผู้เสียหายยังคงนั่งก้มหน้าทำงานและพูดว่า จะลุ้นกับรุ่นพ่อ ซึ่งหมายความว่าอยากจะชกต่อยกับจำเลยที่มีอายุรุ่นเดียวกับพ่อของผู้เสียหาย แม้คำพูดเช่นนี้ของผู้เสียหายจะไม่เหมาะสมบ้าง แต่ก็เป็นเพียงการยั่วโทสะจำเลยเท่านั้น การที่จำเลยหยิบไม้เดินลงไปตีศีรษะผู้เสียหายในขณะนั้นจึงไม่ใช่การกระทำ ความผิดโดยบันดาลโทสะ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 191/2549

โจทก์บรรยายฟ้องไว้โดยชัดแจ้งว่าเด็กชาย ค. เข้าไปลักแตงโมในไร่ของจำเลย และจำเลยได้ต่อและปล่อยกระแสไฟฟ้าจากบ้านพักผ่านรั้วลวดหนาม เป็นเหตุให้เด็กชาย ค. ซึ่งสัมผัสรั้วลวดหนามถูกกระแสไฟฟ้าดูดจนถึงแก่ความตาย และจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติได้ตามคำฟ้องของโจทก์ ดังนี้ การที่ผู้ตายเข้าไปลักแตงโมในไร่ของจำเลยดังกล่าว ถือได้ว่าผู้ตายได้กระทำการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายต่อทรัพย์ของจำเลย จำเลยจึงมีสิทธิที่จะป้องกันทรัพย์สินของตนเองได้ แต่การที่จำเลยต่อและปล่อยกระแสไฟฟ้าซึ่งมีแรงเคลื่อนสูงถึง 220 โวลท์ ที่สามารถทำให้ดูดคนให้ถึงแก่ความตายได้ ทั้งที่ทรัพย์ที่จำเลยมีสิทธิกระทำการป้องกันคือแตงโมมีราคาไม่สูงมากนัก ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำ ต้องกระทำตาม ป.อ. มาตรา 69 ซึ่งศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ และมิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ฎีกา แต่ศาลฎีกายกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยเองได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7676/2549

แม้โจทก์จะมีผู้เสียหายทั้งสองและจ่าสิบตำรวจ ส. เบิกความยืนยันว่า เมื่อผู้เสียหายที่ 2 เปิดสัญญากระบองไฟส่งสัญญาณให้จำเลยหยุดรถแต่จำเลยซึ่งชะลอความเร็วรถลงกลับ เร่งความเร็วพุ่งเข้าชนผู้เสียหายทั้งสองก็ตาม แต่ขณะที่จำเลยเร่งความเร็วรถพุ่งเข้าชนผู้เสียหายทั้งสองนั้น รถจำเลยอยู่ห่างผู้เสียหายทั้งสองประมาณ 5 เมตร ซึ่งในระยะดังกล่าวถือได้ว่าเป็นระยะกระชั้นชิดและการเร่งความเร็วรถเพื่อ พุ่งเข้าชนก็เป็นไปโดยกะทันหัน จึงไม่เชื่อว่าผู้เสียหายทั้งสองจะทันระมัดระวังและกระโดดหลบได้ทัน โดยเฉพาะผู้เสียหายที่ 1 ยิ่งไม่น่าจะกระโดดหลบหนีได้เลย เพราะขณะนั้นผู้เสียหายที่ 1 ยืนอยู่ติดกับรถยนต์กระบะที่เจ้าพนักงานตำรวจจอดอยู่ ไม่มีพื้นที่เหลือพอที่จะกระโดดหลบหนีไปได้และรถยนต์ของจำเลยย่อมจะพุ่งเข้า ชนหรือเฉี่ยวชนรถยนต์กระบะด้วย ไม่น่าจะหักหลบรถยนต์กระบะไปได้ทั้งขณะเกิดเหตุจำเลยมีสิ่งของผิดกฎหมายซุกซ่อนอยู่ในรถ ตามพฤติการณ์และการกระทำดังกล่าวเชื่อว่าจำเลยเพียงแต่มีเจตนาที่จะหลบหนีให้พ้นการตรวจค้นและจับกุมของผู้เสียหายทั้งสองกับพวกเท่านั้นหาได้มีเจตนาฆ่าไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3502/2548

จำเลยโกรธผู้เสียหายเนื่องจากถูกทวงเงินค่าน้ำมันแล้วขับขี่รถจักรยานยนต์เสียง ดังใส่หน้าผู้เสียหาย ต่อมาประมาณ 30 นาที จึงกลับมาใช้อาวุธปืนแก๊ปยิงผู้เสียหาย กรณีไม่ใช่เกิดโทสะแล้วยิงผู้เสียหายทันที หากแต่เกิดโทสะและออกจากที่เกิดเหตุแล้วประมาณ 30 นาที ซึ่งมีเวลาที่จะคิดไตร่ตรอง ถือว่ามีเจตนาผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่เมื่อจำเลยยิงผู้เสียหายในระยะห่าง 20 เมตร กระสุนปืนถูกบริเวณคอด้านหน้าขวาและบริเวณชายโครงขวาด้านหน้าทั้งสองแห่งมี บาดแผลขนาด 0.5 เซนติเมตร ไม่มีความลึก รักษาหายภายใน 7 วัน แสดงว่ากระสุนปืนไม่มีความรุนแรงพอที่จะทำให้ถึงแก่ความตายได้อย่างแน่แท้ เพราะเหตุอาวุธปืนซึ่งเป็นปัจจัยที่ใช้ในการกระทำความผิด จึงเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 81 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1533/2548

การฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนนั้น ผู้กระทำความผิดได้คิดไตร่ตรองทบทวนแล้วจึงตกลงใจกระทำความผิด หาใช่เป็นการกระทำในลักษณะปัจจุบันด่วนไม่ พฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองตะโกนให้ของลับแล้วเดินออกจาก ร้านอาหารไปโดยไม่ปรากฏว่ามีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้เสียหายมาก่อน และไม่ปรากฏว่าหลังจากที่จำเลยทั้งสองออกจากร้านอาหารไปแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ตระเตรียมการเพื่อฆ่าผู้เสียหายมาก่อน การที่จำเลยที่ 1 กลับมาที่ร้านอาหารแล้วใช้อาวุธปืนยิงไปที่ผู้เสียหายในเวลาต่อเนื่องกันดัง กล่าว จึงไม่พอที่จะรับฟังว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย โดยไตร่ตรองไว้ก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6490/2548

แม้ขณะเกิดเหตุผู้ตายจะเข้าไปในบริเวณบ่อปลากัดของจำเลยเพื่อลักปลากัด ซึ่งถ้าจำเลยพบเห็นจำเลยย่อมมีสิทธิทำร้ายผู้ตายพอสมควรแก่เหตุเพื่อป้องกัน ทรัพย์สินของตนได้ แต่กระแสไฟฟ้าที่จำเลยปล่อยผ่านเส้นลวดที่ล้อมรอบบ่อปลากัดย่อมเป็นอันตราย ร้ายแรงโดยสภาพซึ่งสามารถทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้ ส่วนทรัพย์สินของจำเลยเป็นเพียงปลากัดมีมูลค่าไม่มากนัก การปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าเส้นลวดกับการป้องกันทรัพย์สินของจำเลยย่อมไม่เป็น สัดส่วนกัน เมื่อผู้ตายถูกกระแสไฟฟ้าที่จำเลยปล่อยผ่านเส้นลวดดังกล่าวดูดถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันสิทธิของตนเกินสมควรกว่าเหตุตาม ป.อ. มาตรา 69


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4140/2548

จำเลยเป็นพี่ชายของผู้ตาย ถูกผู้ตายซึ่งมึนเมาสุรามาหาเรื่องและทำร้ายชกต่อยจำเลย แม้จำเลยหนีลงจากบ้านไปแล้ว ผู้ตายยังติดตามจำเลยลงไปอย่างกระชั้นชิดและทำร้ายจำเลยอีก เป็นเหตุให้จำเลยเกิดบันดาลโทสะจึงได้หยิบฉวยไม้ด้ามเสียมซึ่งวางอยู่ที่ พื้นดิน บริเวณหน้าบ้านนางโปยใกล้ที่เกิดเหตุตีไปที่ผู้ตาย 2 ถึง 3 ครั้ง การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำอย่างกระทันหันฉุกละหุก โดยจำเลยไม่มีโอกาสเลือกอาวุธ ทั้งไม่ได้เลือกตีบริเวณส่วนใดของ ร่างกายผู้ตาย เป็นการตีโดยไม่อาจทราบว่าจะถูกอวัยวะส่วนใดของผู้ตาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการทำร้ายผู้ตายจนถึงแก่ความตายโดยไม่มีเจตนาฆ่าและ เป็นการกระทำโดยเหตุบันดาลโทสะเพราะถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงเหตุอันไม่ เป็นธรรม


โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 288 เมื่อทางพิจารณารับฟังได้ว่า จำเลยกระทำผิดฐาน ทำร้ายร่างกายผู้ตายจนถึงแก่ความตายตามมาตรา 290 วรรคแรก ประกอบมาตรา 72 ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7981/2548

จำเลยขับรถไฟมาไม่เร็ว เสียงเงียบและไม่ได้เปิดหวีดรถไฟ บริเวณที่เกิดเหตุเป็นชุมนุมชน มีบ้านเรือนอยู่สองข้างทางรถไฟเป็นจำนวนมาก มีร่องรอยเป็นทางเดินชัดเจน จำเลยควรเปิดหวีดรถไฟเพื่อให้คนที่สัญจรไปมาทราบเป็นระยะๆ การที่จำเลยไม่เปิดหวีดรถไฟเป็นสัญญาณเพื่อเตือนคนที่สัญจรไปมาให้ทราบว่ามี ขบวนรถไฟขับผ่านมาทำให้รถไฟที่จำเลยขับชนและทับเด็กหญิง ส. ผู้ตาย และเด็กหญิง ว. ผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย และผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส จึงเป็นการกระทำโดยประมาท จำเลยมีความผิดฐานกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัส ส่วนผู้ตายและผู้เสียหายแม้จะมีส่วนประมาทด้วยหรือไม่ ก็ไม่ใช่เหตุที่จำเลยจะยกขึ้นอ้างเพื่อปัดความรับผิดได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 817/2548

จำเลยกับพวกร่วมกันใช้อาวุธปืนขู่บังคับให้ผู้ตายขึ้นรถยนต์กระบะไปกับจำเลยกับ พวก อันเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เมื่อถึงที่เปลี่ยวจำเลยกับพวกร่วมกันชิงทรัพย์ผู้ตายโดยใช้อาวุธปืนยิงผู้ ตายถึงแก่ความตาย แสดงว่าจำเลยกับพวกร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้ตายเพื่อความสะดวกแก่การชิง ทรัพย์และฆ่าผู้ตายในขณะที่การชิงทรัพย์และฆ่าผู้ตายยังไม่ขาดตอนจากกัน อันเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ ความตายโดยใช้อาวุธปืน และฐานฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการกระทำความผิด เพื่อจะเอาและเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่จำเลยกับพวกได้กระทำความผิด เพื่อปกปิดความผิดและเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดที่ได้กระทำนั้นเอง จึงมิใช่เป็นความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้ตายอีกกรรมหนึ่งต่างหาก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1522/2547

ผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะบาดแผลถูกแทงระหว่างต่อสู้กับจำเลยและ ศ. ในซอยเกิดเหตุ โดย ศ. เพียงคนเดียวมีอาวุธมีด จึงเชื่อว่า ศ. เป็นคนแทงผู้ตาย ส่วนจำเลยซึ่งเข้าช่วย ศ. ร่วมชกต่อยผู้ตายและวิ่งไล่ตามผู้ตายไปกับ ศ. โดยไม่ได้ร่วมทำร้ายผู้ตายอย่างใดอีก ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยมีอาวุธหรือมีสาเหตุโกรธเคืองร้ายแรงประการใดกับผู้ตาย มาก่อนจนถึงกับจะต้องร่วมกับ ศ. ฆ่าผู้ตาย การที่ ศ. ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายโดยเจตนาฆ่าจึงเป็นการกระทำของ ศ. แต่โดยลำพัง จำเลยคงเป็นเพียงแต่ร่วมกับ ศ. ทำร้ายผู้ตายเท่านั้น แต่การร่วมกันทำร้ายมีผลให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษจำเลยฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตาม ป.อ. มาตรา 288 แต่ความผิดดังกล่าวย่อมรวมความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความ ตายตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก อยู่ด้วย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 223/2546

ก่อนเกิดเหตุจำเลยกับผู้ตายพักอาศัยอยู่ร่วมกันและไม่มีเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน จึงไม่มีเหตุผลที่จำเลยจะต้องฆ่าผู้ตายทั้งขณะเกิดเหตุเป็นช่วงชุลมุน จำเลยคว้ามีดทำครัวซึ่งอยู่ใกล้มือแทงไปทันทีเพียงครั้งเดียวโดยไม่มีโอกาส จะเลือกแทงว่าเป็นส่วนไหนของร่างกาย บังเอิญไปถูกอวัยวะสำคัญของร่างกายจึงทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย และจำเลยก็มิได้แทงผู้ตายซ้ำอีก ทั้งที่มีโอกาสจะทำได้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่าผู้ตายเพียงแต่มีเจตนาทำร้ายเท่านั้น เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายจำเลยจึงต้องมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก


โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 290 เมื่อข้อเท็จจริงพิจารณาได้ความว่าจำเลยทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ตาย ถึงแก่ความตายโดยไม่มีเจตนาฆ่า ศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาได้ตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความอาญา มาตรา 192วรรคสุดท้าย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2642/2542

จำเลย ที่ 2 ที่ 5 และที่ 8 มีเจตนาร่วมวิวาททำร้ายผู้ตาย กับพวกมาแต่แรกอีกทั้งได้ลงมือทำร้ายผู้ตายกับพวกโดยร่วมกัน ชกต่อยและใช้ไม้ตี ถึงแม้ผู้ตายจะถึงแก่ความตายเพราะถูกแทง โดยไม่รู้ว่าจำเลยคนไหนเป็นคนแทง จำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 8 ก็มีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันทำร้ายจนเป็นเหตุ ให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การที่จำเลยกับพวกฝ่ายหนึ่งและผู้ตาย กับพวกอีกฝ่ายหนึ่งสมัครใจวิวาทต่อสู้ทำร้ายกัน แม้แต่ละฝ่ายมีหลายคนแต่เมื่อสามารถรู้และแบ่งฝ่ายแบ่งพวกกันได้ หาใช่เป็นความผิดฐานเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้กัน เป็นเหตุให้มีบุคคลถึงแก่ความตายไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6476/2541

จำเลย ที่ 1 กับพวกเพียง 5 คน นั่งมาด้วยกันบนรถโดยสารประจำทาง ส่วนผู้ตายกับพวกมีจำนวนประมาณ 30 คนที่ยืนคอยรถโดยสารประจำทางอยู่การที่ฝ่ายผู้ตายกับพวกอาศัยพวกมาก ขึ้นไปทำร้ายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จึงเป็นการ ประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จึงจำเป็นต้องป้องกันสิทธิของตนเอง หาใช่เป็นการสมัครใจเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้ไม่ การที่ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ถอดเข็มขัดและใช้หัวเข็มขัดป้องกันขัดขวาง มิให้ฝ่ายผู้ตายขึ้นมาบนรถทางประตูหน้าและประตูหลัง แสดงว่า ฝ่ายจำเลยที่ 1 กับพวกได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ และไม่ได้ความว่าการที่ผู้ตายถึงแก่ความตายนั้นเกิดจาก การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5จึงไม่ต้องรับโทษฐานชุลมุนต่อสู้เป็นเหตุให้คนตาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1189/2537

แม้จำเลยจะมีพวกน้อยกว่า แต่จำเลยกับพวกมีทั้งอาวุธปืนและอาวุธมีด น่าจะเป็นเหตุให้จำเลยกับพวกไม่ได้เกรงกลัวโจทก์ร่วมกับผู้เสียหาย การทะเลาะวิวาทระหว่างทั้งสองฝ่ายจึงเป็นการสมัครใจวิวาททำร้ายร่างกายซึ่ง กันและกัน อันเป็นเหตุให้จำเลยไม่อาจอ้างเรื่องป้องกันตัวมาเป็นข้อต่อสู้ได้ แม้ว่าในระหว่างการวิวาทกันนั้นจำเลยอาจเพลี่ยงพล้ำไปบ้างก็ตาม และกรณีที่โจทก์ร่วมกับผู้เสียหายฝ่ายหนึ่ง และจำเลยกับพวกอีกฝ่ายหนึ่งได้เกิดวิวาททำร้ายกัน และจำเลยใช้อาวุธปืนพกที่ติดตัวไปยิงโจทก์ร่วมกับพวกและใช้อาวุธมีดปลายแหลม แทงโจทก์ร่วมและผู้เสียหายเช่นนี้เป็นคนละกรณีกับเรื่องชุลมุนต่อสู้ระหว่าง บุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปเพราะกรณีดังกล่าวจะต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจทราบได้ ว่าผู้ใดร่วมกับใครทำร้ายโจทก์ร่วมและการที่จำเลยใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธ ร้ายแรงยิงโจทก์ร่วมกับพวก กระสุนปืนถูกโจทก์ร่วมและพลาดไปถูกผู้อื่นถือว่าจำเลยมีเจตนาฆ่า