การกระทำความผิดอีก

มาตรา ๙๒  ผู้ใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก ถ้าและได้กระทำความผิดใด ๆ อีกในระหว่างที่ยังจะต้องรับโทษอยู่ก็ดี ภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษก็ดี หากศาลจะพิพากษาลงโทษครั้งหลังถึงจำคุก ก็ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้นั้นหนึ่งในสามของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลัง

มาตรา ๙๓  ผู้ใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก ถ้าและได้กระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดที่จำแนกไว้ในอนุมาตราต่อไปนี้ซ้ำในอนุมาตราเดียวกันอีกในระหว่างที่ยังจะต้องรับโทษอยู่ก็ดี ภายในเวลาสามปีนับแต่วันพ้นโทษก็ดี ถ้าความผิดครั้งแรกเป็นความผิดซึ่งศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่น้อยกว่าหกเดือน หากศาลจะพิพากษาลงโทษครั้งหลังถึงจำคุก ก็ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้นั้นกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลัง

(๑) ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๗ ถึงมาตรา ๑๓๕
(๒) ความผิดต่อเจ้าพนักงาน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๖ ถึงมาตรา ๑๔๖
(๓) ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๗ ถึงมาตรา ๑๖๖
(๔) ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖๗ ถึงมาตรา ๑๙๒ และมาตรา ๑๙๔
(๕) ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๐๐ ถึงมาตรา ๒๐๔
(๖) ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๐๙ ถึงมาตรา ๒๑๖
(๗) ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๑๗ ถึงมาตรา ๒๒๔ มาตรา ๒๒๖ ถึงมาตรา ๒๓๔ และมาตรา ๒๓๖ ถึงมาตรา ๒๓๘
(๘) ความผิดเกี่ยวกับเงินตรา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔๐ ถึงมาตรา ๒๔๙ ความผิดเกี่ยวกับดวงตราแสตมป์และตั๋ว ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๕๐ ถึงมาตรา ๒๖๑ และความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖๔ ถึงมาตรา ๒๖๙
(๙) ความผิดเกี่ยวกับการค้า ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗๐ ถึงมาตรา ๒๗๕
(๑๐) ความผิดเกี่ยวกับเพศ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗๖ ถึงมาตรา ๒๘๕
(๑๑) ความผิดต่อชีวิต ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๘ ถึงมาตรา ๒๙๐ และมาตรา ๒๙๔ ความผิดต่อร่างกาย ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๙๕ ถึงมาตรา ๒๙๙ ความผิดฐานทำให้แท้งลูก ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐๑ ถึงมาตรา ๓๐๓ และความผิดฐานทอดทิ้งเด็ก คนป่วย เจ็บหรือคนชรา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐๖ ถึงมาตรา ๓๐๘
(๑๒) ความผิดต่อเสรีภาพ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐๙ มาตรา ๓๑๐ และมาตรา ๓๑๒ ถึงมาตรา ๓๒๐
(๑๓) ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๓๔ ถึงมาตรา ๓๖๕

มาตรา ๙๔  ความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ และความผิดซึ่งผู้กระทำได้กระทำในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีนั้น ไม่ว่าจะได้กระทำในครั้งก่อนหรือครั้งหลัง ไม่ถือว่าเป็นความผิดเพื่อการเพิ่มโทษตามความในหมวดนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9087/2559
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ก่อนคดีนี้ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2549 จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี 15 เดือน ฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนโดยใช้กำลังประทุษร้าย และร่วมกันทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 158/2549 ของศาลชั้นต้น จำเลยกระทำความผิดในคดีก่อนในขณะที่มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปี และมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ทั้งศาลได้พิพากษาลงโทษจำคุกไม่น้อยกว่าหกเดือน และภายใน 3 ปี นับแต่วันพ้นโทษในคดีดังกล่าว (จำเลยพ้นโทษวันที่ 1 กันยายน 2552) จำเลยกลับมากระทำผิดในคดีนี้ ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายซ้ำในอนุมาตราเดียวกันอีก และมิใช่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ถือได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการเพิ่มโทษจำเลยมาแล้ว เมื่อความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นและเครื่องกระสุนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะเพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่ง ตาม ป.อ. มาตรา 93 ได้ ศาลก็มีอำนาจเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92 ซึ่งเป็นบทเบากว่าได้ แม้โจทก์จะขอเพิ่มโทษตาม ป.อ. มาตรา 93 โดยไม่ได้ขอตาม ป.อ. มาตรา 92 มาด้วย ก็ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6664/2559
พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 64 บัญญัติว่า "ผู้ใดขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" และ ป.อ. มาตรา 102 ที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยกระทำความผิดบัญญัติว่า "ความผิดลหุโทษ คือความผิดซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับเช่นว่ามานี้ด้วยกัน" ซึ่งแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดที่บัญญัติว่า "ความผิดลหุโทษ คือความผิดซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ทั้ง ป.อ. มาตรา 17 บัญญัติให้นำบทบัญญัติในภาค 1 อันรวมถึง มาตรา 102 ไปใช้ในกรณีแห่งความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย เว้นแต่กฎหมายนั้น ๆ จะได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ซึ่ง พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มิได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้เป็นอย่างอื่นจึงต้องนำ ป.อ. มาตรา 102 ที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดมาปรับแก่คดีนี้ด้วย ดังนี้ ความผิดฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถจึงเป็นความผิดลหุโทษ เมื่อ ป.อ. มาตรา 94 บัญญัติว่า "ความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ และความผิดซึ่งผู้กระทำได้กระทำในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีนั้น ไม่ว่าจะได้กระทำในครั้งก่อนหรือครั้งหลัง ไม่ถือว่าเป็นความผิดเพื่อการเพิ่มโทษตามความในหมวดนี้" ซึ่งหมายความว่า ความผิดลหุโทษไม่ถือว่าเป็นความผิดเพื่อการเพิ่มโทษในการกระทำความผิดอีกตาม ป.อ. มาตรา 92 เมื่อ พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มิได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องนำ ป.อ. มาตรา 94 มาปรับแก่คดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา 17 ด้วยเช่นกัน กรณีจึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยในความผิดฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถตาม ป.อ. มาตรา 92 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14505/2558
เมื่อโจทก์มีคำขอให้เพิ่มโทษในกรณีที่จำเลยได้กระทำความผิดคดีนี้ภายในเวลาห้าปี นับแต่วันพ้นโทษในคดีก่อน ข้อเท็จจริงจะต้องรับฟังได้ว่าจำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในคดีก่อนและได้พ้นโทษมาเมื่อวันใดด้วย เนื่องจากโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดคดีนี้เป็นระยะเวลาเกินกว่าห้าปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยต้องโทษจำคุกครบ 1 ปี 6 เดือน ในคดีก่อนหรือไม่ จึงยังไม่แน่ชัดว่าจำเลยกระทำความผิดในคดีนี้ภายในห้าปีนับแต่วันพ้นโทษคดีก่อนตามฟ้อง ทั้งในชั้นพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จำเลยให้การรับแค่ว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ โดยไม่ได้รับว่าภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษได้กลับมากระทำความผิดในคดีนี้อีก ซึ่งโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานในส่วนนี้ ข้อเท็จจริงจึงไม่พอให้รับฟังได้ว่ามีเหตุให้เพิ่มโทษจำเลยได้ตาม ป.อ. มาตรา 92

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15719/2557
ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 3 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 767/2548 ของศาลชั้นต้นที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษนั้น เป็นข้อเท็จจริงต่างหากจากข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิด และเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ปรากฏ คดีนี้จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ ซึ่งเป็นการรับสารภาพว่าจำเลยที่ 3 ได้กระทำความผิดตามฟ้องเท่านั้น มิได้ให้การรับด้วยว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 3 จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 รับในเรื่องการเพิ่มโทษและมิใช่ข้อเท็จจริงที่ศาลรู้เอง แม้โจทก์มีพนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความว่า พยานได้ส่งลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยที่ 3 ไปตรวจสอบประวัติ ผลการตรวจสอบระบุว่า จำเลยที่ 3 ถูกดำเนินคดีข้อหาปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธ โดยใช้ยานพาหนะเพื่อความสะดวกแก่การกระทำผิดหรือพาทรัพย์นั้นไป ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 767/2548 ศาลพิพากษาเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2548 ว่าจำเลยที่ 3 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 83, 340 วรรคสอง, 340 ตรี จำคุก 22 ปี 6 เดือน รับลดกึ่งหนึ่ง จำคุก 11 ปี 3 เดือน ก็ตาม แต่พยานปากดังกล่าวมิได้เบิกความว่า คดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดแล้วหรือไม่ เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจนว่าจำเลยที่ 3 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 767/2548 ของศาลชั้นต้น และคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 3 ได้กระทำผิดในคดีนี้ซ้ำในอนุมาตราเดียวกันอีกภายในเวลาสามปีนับแต่วันพ้นโทษ จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 3 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22241/2555
การที่จำเลยกระทำผิดอาญาคดีนี้ขึ้นอีกในระหว่างได้รับการพักการลงโทษเป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขแห่งการพักการลงโทษตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2478 มาตรา 43 กฎกระทรวงหมาดไทยออกตามความในมาตรา 58 แพ่ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 ข้อ 93 (1) และ 94 (ก) และจำเลยไม่ได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2550 มาตรา 5 จำเลยจึงมิใช่ผู้ซึ่งพ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 อันเป็นวันที่ พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับ จำเลยจึงไม่ได้รับการล้างมลทิน ตาม พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13642/2555
ขณะศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2550 นั้น พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับแล้ว จำเลยย่อมได้ประโยชน์จากมาตรา 4 แห่งระราชบัญญัติดังกล่าวที่บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีมีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่ระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ การที่ศาลชั้นต้นเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92 จึงเป็นการผิดหลงเล็กน้อย ศาลมีอำนาจแก้ไขได้ โดยไม่เป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาเดิม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10282/2555
คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 289 (4), 289 (4) ประกอบมาตรา 80, 371 พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 โดยให้เพิ่มโทษทุกฐานความผิดกระทงละหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92 แต่ข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนต้องระวางโทษประหารชีวิต ไม่อาจเพิ่มโทษได้ จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้ทุกฐานความผิดกระทงละกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 โดยฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนให้จำคุกตลอดชีวิตตาม ป.อ. 52 (2) เมื่อรวมโทษทุกฐานกระทงความผิดแล้ว คงลงโทษจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชัดแจ้งอยู่แล้วว่าให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ทุกฐานความผิด เพียงแต่ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนซึ่งต้องโทษประหารชีวิตนั้น ไม่อาจเพิ่มโทษได้เท่านั้น จึงไม่ต้องอธิบายคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2360/2555
การที่จำเลยยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยแก้ไขเปลี่ยนแปลงโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 โดยไม่เพิ่มโทษตาม ป.อ. มาตรา 92 เป็นกรณีที่พิจารณาเกี่ยวกับการบังคับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในคดีอาญา ดังนี้ การใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นจึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. ภาค 4 ลักษณะ 1 โดยมาตรา 193 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติเรื่องการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นโดยชัดแจ้งแล้วว่าให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ กรณีเช่นนี้จึงนำ ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลมไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องขออุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาของจำเลย และสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยแล้วส่งมายังศาลฎีกาจึงไม่ถูกต้องเพราะเป็นอุทธรณ์ข้ามลำดับของศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 57/2555
แม้ศาลชั้นต้นไม่ได้สอบจำเลยว่า เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษหรือไม่และโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบให้ปรากฏก็ตาม แต่จำเลยเบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่าเคยต้องโทษในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษจริง ถือว่าความปรากฏแก่ศาลแล้ว การที่ศาลชั้นต้นไม่วินิจฉัยปัญหาข้อนี้จึงไม่ชอบ แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 ที่บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ ดังนั้น เมื่อความผิดที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยพ้นโทษมาแล้วก่อนวันที่ พระราชบัญญัติใช้บังคับ จึงเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้ แม้จำเลยไม่ได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลมีอำนาจยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10415/2554
คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อหาซึ่งหมายถึงจำเลยรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดในข้อหาที่โจทก์ฟ้อง จึงไม่ได้หมายรวมไปถึงว่า จำเลยรับว่าต้องโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5115/2549 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ตามที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องด้วย ถือไม่ได้ว่าจำเลยรับในข้อเท็จจริงที่โจทก์อ้างมาในฟ้องขอให้เพิ่มโทษด้วย เมื่อโจทก์ไม่สืบพยาน ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ ที่ศาลอุทธรณ์เพิ่มโทษจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 627/2553
สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง และเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 93 คดีถึงที่สุด ต่อมามีการตรา พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับ จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า ได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติดังกล่าวขอให้ศาลชั้นต้นงดเพิ่มโทษ เมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 4 บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ เมื่อความผิดที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยที่ 1 ได้ต้องโทษและพ้นโทษไปแล้วก่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ และกฎหมายไม่มีข้อยกเว้นไว้ว่าหากคดีถึงที่สุดแล้วจะไม่ได้รับประโยชน์ จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 และในกรณีนี้เป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี เพื่อบังคับให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงไม่ถือเป็นการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7790/2552
พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีที่ความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ต้องโทษและพ้นโทษในคดีอาญาที่เป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นนำมาเป็นเหตุเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 มิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงมิอาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 93 (8) ได้ แม้คดีจะถึงที่สุดแล้วก็ตาม แต่การบังคับคดียังไม่เสร็จสิ้น เพื่อให้การบังคับคดีเป็นไปโดยถูกต้องตามพระราชบัญญัติดังกล่าว กรณีมีเหตุที่จะไม่เพิ่มโทษและกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7366/2552
ศาลชั้นต้นลงโทษและเพิ่มโทษจำเลย คดีถึงที่สุดแล้ว ภายหลังปรากฏว่ามี พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 ที่บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ ดังนั้น แม้คดีจะถึงที่สุดแล้ว จำเลยก็ยังได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติดังกล่าว ถือว่าจำเลยไม่เคยถูกลงโทษในคดีที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุเพิ่มโทษ จึงมิอาจเพิ่มโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 92 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5320/2550
ตามคำฟ้องของโจทก์มิได้ระบุอ้างมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 มาด้วย แต่ก็ได้บรรยายฟ้องไว้ว่า "ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก มีกำหนด 8 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามคดีหมายเลขแดงที่ 7607/2544 ของศาลชั้นต้น... เลยพ้นโทษในคดีดังกล่าวมาแล้วกลับมากระทำความผิดในคดีนี้ขึ้นอีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ ขอศาลได้เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมายด้วย" เช่นนี้ถือได้ว่าโจทก์มีความประสงค์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยฐานไม่เข็ดหลาบ และโจทก์ได้กล่าวมาในคำฟ้องเรื่องที่ขอให้เพิ่มโทษจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 159 วรรคหนึ่งแล้ว ทั้งจำเลยก็ได้ให้การยอมรับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษมาแล้วจริงตามฟ้อง เท่ากับจำเลยได้ยอมรับว่าเคยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาแล้ว และมากระทำความผิดคดีนี้อีก ซึ่งเป็นกรณีที่อาจเพิ่มโทษได้กึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 หรือเพิ่มโทษได้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92 ศาลจึงต้องเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย และหาใช่เป็นพิพากษาเกินคำขอดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ เพราะบทบัญญัติในเรื่องเพิ่มโทษผู้กระทำความผิดไม่ใช่เป็นมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำอย่างใดเป็นความผิดจึงไม่อยู่ในบังคับ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) แต่อย่างไรก็ดีตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์คงระบุเพียงว่าขอให้เพิ่มโทษตามกฎหมาย ไม่แน่ชัดว่าประสงค์ให้เพิ่มโทษตามบทกฎหมายใด จึงต้องตีความให้เป็นคุณแก่จำเลยว่าโจทก์ประสงค์ให้เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2820/2550
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 278 วรรคแรก, 310 วรรคแรก, 317 วรรคสาม ประกอบมาตรา 92 ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 1 ปี 4 เดือน ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร จำคุก 8 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 ปี 8 เดือน การที่ศาลชั้นต้นอ้างบทเพิ่มโทษตาม ป.อ. มาตรา 92 ในคำพิพากษาจึงเป็นกรณีศาลชั้นต้นได้เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามแล้ว เพียงแต่ศาลชั้นต้นไม่ได้ระบุข้อความว่าให้เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามซึ่งเป็น เพียงการไม่สมบูรณ์ชัดเจนเท่านั้น หาทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยเหตุที่ยังมิได้เพิ่มโทษจำเลยดังที่ โจทก์ขอมาแต่อย่างใดไม่ ที่ศาลอุทธรณ์เพิ่มโทษจำเลยอีกจึงเป็นการไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ดีที่ถูกศาลชั้นต้นต้องกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยในแต่ละฐานความ ผิดเสียก่อน แล้วจึงเพิ่มโทษจำเลยแต่ละฐานความผิดหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 54

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 770/2550
การเพิ่มโทษตาม ป.อ. มาตรา 92 เป็นการเพิ่มโทษหนึ่งในสามของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลังเมื่อ จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ จึงต้องระวางโทษตามมาตรา 335 วรรคสอง มาคำนวณประกอบกับระวางโทษตามมาตรา 336 ทวิ เพื่อกำหนดโทษสำหรับความผิดในคดีนี้ แล้วจึงเพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา 92
ความผิดที่จำเลยกระทำกฎหมายกำหนดให้ลงโทษทั้งจำคุกและปรับ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลงแต่โทษจำคุกเพียงสถานเดียวก็ได้แต่ลงโทษปรับเพียงสถาน เดียวไม่ได้ ตามป.อ. มาตรา 20

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5788/2549
ตาม ป.อ.มาตรา 92 ไม่ได้บัญญัติว่า ความผิดครั้งหลังจะต้องเป็นความผิดอย่างเดียวกันกับความผิดครั้งแรก เมื่อจำเลยกระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนและฐานพาอาวุธปืนเป็นคดีนี้ภายใน 5 ปีนับแต่วันพ้นโทษในคดีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อ กฎหมาย แม้ความผิดคดีนี้จะมิใช่ความผิดเดียวกันกับความผิดดังกล่าว ก็อยู่ในหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่ศาลจะเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามของโทษที่ศาล กำหนดสำหรับความผิดในคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4436/2549
ตาม ป.อ. มาตรา 92 นั้น ผู้ที่จะถูกเพิ่มโทษได้จะต้องเป็นผู้ที่ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำ คุกและได้กระทำความผิดขึ้นอีกภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษคำคุกในคดีก่อน ดังนั้น เมื่อปรากฏว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีก่อนโดยให้รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยไว้มี กำหนด 2 ปี กรณีเช่นนี้จึงไม่มีวันพ้นโทษที่จะถือเป็นเกณฑ์ในการเพิ่มโทษได้ แม้ว่าจำเลยจะมาทำความผิดคดีนี้ขึ้นอีกภายใน 5 ปี นับแต่วันครบกำหนดรอการลงโทษก็ตาม ก็เพิ่มโทษมิได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 413/2549
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุก 12 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยที่ 1 กลับมากระทำความผิดในคดีนี้อีกภายใน 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษ แต่ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์คงระบุเพียงว่าขอให้เพิ่มโทษตามกฎหมาย โดยมิได้ระบุให้ชัดว่าประสงค์ให้เพิ่มโทษตามกฎหมายใด จึงต้องตีความให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ว่าโจทก์ประสงค์ให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 92

โทษปรับเป็นโทษสถานหนึ่ง เมื่อศาลอุทธรณ์ได้ลงโทษจำคุกและลงโทษปรับจำเลยที่ 1 ในคดีหลังด้วย การเพิ่มโทษที่จะลงโทษแก่จำเลยที่ 1 จึงเพิ่มโทษปรับได้ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 575/2548
แม้คดีนี้จะรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานปล้น ทรัพย์ซ้ำกับความผิดฐานปล้นทรัพย์ในคดีก่อน ตาม ป.อ. มาตรา 93 (13) แต่ภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษในคดีก่อน จำเลยมากระทำความผิดคดีนี้ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับ อันตรายแก่กาย ซึ่งไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา 93 ตามที่โจทก์ฟ้องได้ และโจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้เพิ่มโทษตามมาตรา 92 มาด้วย ศาลฎีกาก็มีอำนาจเพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา 92 ซึ่งเป็นบทที่เบากว่าได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7451/2548
การเพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 จะเพิ่มโทษได้เฉพาะโทษจำคุกเท่านั้น เมื่อจำเลยกระทำความผิดและศาลเพียงแต่ลงโทษปรับ จึงเพิ่มโทษปรับไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 316/2545
ปัญหาว่าการเพิ่มโทษจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยและขอให้เพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 ชั้นพิจารณาศาลได้สอบถามเรื่องที่จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีก่อน หรือไม่แล้ว จำเลยให้การรับสารภาพและลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาโดยมิได้โต้แย้ง ทักท้วง ประกอบกับกองทะเบียนประวัติอาชญากรรมระบุว่า ลายนิ้วมือของจำเลยคดีนี้และคดีก่อนเป็นบุคคลเดียวกัน ดังนี้ศาลย่อมเพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 ได้