ความผิดฐานลักทรัพย์และวิ่งราวทรัพย์

มาตรา ๓๓๔  ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๓๓๕  ผู้ใดลักทรัพย์
(๑) ในเวลากลางคืน
(๒) ในที่หรือบริเวณที่มีเหตุเพลิงไหม้ การระเบิด อุทกภัย หรือในที่หรือบริเวณที่มีอุบัติเหตุ เหตุทุกขภัยแก่รถไฟ หรือยานพาหนะอื่นที่ประชาชนโดยสาร หรือภัยพิบัติอื่นทำนองเดียวกันหรืออาศัยโอกาสที่มีเหตุเช่นว่านั้น หรืออาศัยโอกาสที่ประชาชนกำลังตื่นกลัวภยันตรายใด ๆ
(๓) โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ หรือโดยผ่านสิ่งเช่นว่านั้นเข้าไปด้วยประการใด ๆ
(๔) โดยเข้าทางช่องทางซึ่งได้ทำขึ้นโดยไม่ได้จำนงให้เป็นทางคนเข้า หรือเข้าทางช่องทางซึ่งผู้เป็นใจเปิดไว้ให้
(๕) โดยแปลงตัวหรือปลอมตัวเป็นผู้อื่น มอมหน้าหรือทำด้วยประการอื่นเพื่อไม่ให้เห็นหรือจำหน้าได้
(๖) โดยลวงว่าเป็นเจ้าพนักงาน
(๗) โดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป
(๘) ในเคหสถาน สถานที่ราชการหรือสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณะที่ตนได้เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือซ่อนตัวอยู่ในสถานที่นั้น ๆ
(๙) ในสถานที่บูชาสาธารณะ สถานีรถไฟ ท่าอากาศยาน ที่จอดรถหรือเรือสาธารณะ สาธารณสถานสำหรับขนถ่ายสินค้า หรือในยวดยานสาธารณะ
(๑๐) ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์
(๑๑) ที่เป็นของนายจ้างหรือที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง
(๑๒) ที่เป็นของผู้มีอาชีพกสิกรรม บรรดาที่เป็นผลิตภัณฑ์ พืชพันธุ์ สัตว์หรือเครื่องมืออันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมหรือได้มาจากการกสิกรรมนั้น
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราดังกล่าวแล้วตั้งแต่สองอนุมาตราขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท

ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกลหรือเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาท[๑๒๕]

ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรานี้ เป็นการกระทำโดยความจำใจหรือความยากจนเหลือทนทาน และทรัพย์นั้นมีราคาเล็กน้อย ศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๓๔ ก็ได้
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๓๓๕ ทวิ  ผู้ใดลักทรัพย์ที่เป็นพระพุทธรูปหรือวัตถุในทางศาสนา ถ้าทรัพย์นั้นเป็นที่สักการะบูชาของประชาชน หรือเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพระพุทธรูป หรือวัตถุดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก ได้กระทำในวัด สำนักสงฆ์ สถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนา โบราณสถานอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน สถานที่ราชการหรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๓๓๖  ผู้ใดลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า ผู้นั้นกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

ถ้าการวิ่งราวทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท

ถ้าการวิ่งราวทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

ถ้าการวิ่งราวทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๓๓๖ ทวิ  ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา ๓๓๔ มาตรา ๓๓๕ มาตรา ๓๓๕ ทวิ หรือมาตรา ๓๓๖ โดยแต่งเครื่องแบบทหารหรือตำรวจหรือแต่งกายให้เข้าใจว่าเป็นทหารหรือตำรวจ หรือโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ กึ่งหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6117/2562
สิทธิที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามสัญญาเช่าซื้อไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัว การที่ผู้เสียหายที่ 2 ขอให้จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถกระบะจากผู้เสียหายที่ 1 แทนผู้เสียหายที่ 2 ถือได้ว่า ผู้เสียหายที่ 2 มอบหมายหรือเชิดจำเลยเป็นตัวแทนในการทำสัญญาเช่าซื้อรถกระบะจากผู้เสียหายที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 แม้จำเลยมีชื่อเป็นผู้เช่าซื้อ แต่จำเลยเป็นเพียงตัวแทนของผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองรถที่เช่าซื้อ การที่จำเลยเอารถที่เช่าซื้อไปจากผู้เสียหายที่ 2 เป็นการแย่งการครอบครองและเป็นการบังคับสิทธิทางแพ่งของตนโดยพลการ จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้ว แต่พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องไม่ร้ายแรง หลังเกิดเหตุจำเลยส่งมอบรถคันเกิดเหตุคืนให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี โดยรอการกำหนดโทษไว้ ซึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคม แม้จำเลยไม่ได้กล่าวอ้างปัญหาข้อนี้ในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4146/2562
จำเลยเข้าไปที่ร้านโดนัทที่เกิดเหตุแล้วบอก ส. พนักงานขายว่า "โดนัทที่เหลืออยู่ขอเหมาหมด" เมื่อ ส. นำโดนัทบรรจุใส่กล่องและนำกล่องใส่ถุงพลาสติก และคิดเงินว่าจำนวน 1,440 บาท จำเลยพูดว่า "ทำไมต้องจ่าย เพราะเป็นหุ้นส่วนบริษัท หนูรู้มั้ยว่าพี่เป็นใคร ถ้าไม่รู้ให้โทรไปถาม อ. บอกเค้าว่า น้องชายเค้าที่เป็นเจ้าของตัวจริงจะเอาไปทานบ้าง อีกไม่กี่วันร้านก็ปิดไม่ใช่เหรอ" และหยิบเอาขนมโดนัทเดินออกจากร้านที่เกิดเหตุ เมื่อจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่า ธุรกิจโดนัทที่ร้านเกิดเหตุเป็นธุรกิจในรูปหุ้นส่วน อ. เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งที่ย่อมรับผิดชอบในผลกำไรขาดทุน และทราบว่า อ. เป็นผู้บริหารธุรกิจขายโดนัทจนห้ามมิให้ ท. ที่เป็นน้องชายของจำเลยมายุ่งได้ เงินลงทุนของครอบครัวจำเลยที่ร้านเกิดเหตุหมดไปแล้ว และเป็นภาระหนี้สินที่ ส. และ ล. บิดามารดาจำเลยต้องไปดำเนินการเอากับ อ. ต่างหาก ดังนั้น พฤติการณ์ของจำเลยลักษณะหลอกว่าจะเหมาขนมโดนัททั้งหมดและเอาขนมโดนัทไปโดยจงใจไม่จ่ายเงินย่อมทำให้ ส. พนักงานขาย ต้องรับผิดในราคาขนมโดนัทดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์แล้ว ส่วนการที่จำเลยยังถือถุงขนมโดนัทอยู่ภายในศูนย์การค้าด้วยท่าทางการเดินเป็นปกติ ไม่มีลักษณะท่าทางกำลังวิ่งหลบหนี ทั้ง ส. ไม่ได้เรียกพนักงานรักษาความปลอดภัยให้ตามจำเลยมาจ่ายเงิน หาทำให้ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ที่สำเร็จแล้วไม่เป็นความผิดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1513/2562
จำเลยขับรถจักรยานยนต์ติดตามผู้เสียหายมาถึงที่เกิดเหตุ ผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ไปจอดที่ลานจอดรถในมหาวิทยาลัย น. ผู้เสียหายยังไม่ได้ลงจากรถ จำเลยเดินมาจากด้านหลังของผู้เสียหายแล้วถามผู้เสียหายว่ามีเงินเท่าใด จากนั้นเข้าประชิดตัวผู้เสียหายพร้อมกับทำท่าจะล้วงอาวุธจากขอบกางเกงข้างหลัง ลักษณะการกระทำของจำเลยดังกล่าวเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นการข่มขู่คุกคามผู้เสียหาย โดยเฉพาะจำเลยเป็นชายอยู่ในวัยฉกรรจ์ ร่างกายล่ำกำยำ สูงกว่าผู้เสียหายมาก ส่วนผู้เสียหายเป็นหญิง กำลังศึกษา ย่อมเกิดความเกรงกลัวจำเลย พฤติการณ์ของจำเลยถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายว่า ในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย การที่จำเลยกระทำและพูดกับผู้เสียหายเช่นนั้น เพื่อให้ผู้เสียหายส่งเงินให้แก่จำเลย เมื่อผู้เสียหายส่งเงินให้ 240 บาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ตาม ป.อ. มาตรา 339 (2) วรรคสาม ประกอบมาตรา 340 ตรี โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยเป็นผู้หยิบเอาทรัพย์นั้นเอง หรือผู้เสียหายเป็นผู้หยิบส่งให้ไป

การที่ผู้เสียหายเบิกความว่า หลังจากส่งเงินให้จำเลยแล้ว จำเลยกอดปล้ำพยายามดึงกางเกง ผู้เสียหาย ผู้เสียหายกลัวจำเลยจะข่มขืนกระทำชำเรา จึงถอดสร้อยคอทองคำที่สวมให้จำเลยไปเอง โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยขู่เข็ญหรือใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อมุ่งประสงค์ต่อสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายแต่อย่างใด หากแต่ผู้เสียหายคิดว่า เมื่อจำเลยได้สร้อยคอทองคำแล้ว จะปล่อยตัวผู้เสียหายไป การที่จำเลยรับสร้อยคอทองคำไป จึงเป็นเจตนาทุจริตที่เกิดขึ้นภายหลัง การกระทำของจำเลยในส่วนนี้ไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 334 อีกกระทงหนึ่งแยกต่างหากจากฐานชิงทรัพย์เงิน 240 บาท เมื่อความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นความผิดที่รวมการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์อยู่ด้วย แม้โจทก์ฟ้องให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์เงินสดและสร้อยคอทองคำ แต่เมื่อพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์สร้อยคอทองคำ ศาลย่อมมีอำนาจปรับบทความผิดและบทลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา192 วรรคท้าย, 195 วรรคสอง, 225 แต่เนื่องจากโจทก์มิได้อุทธรณ์หรือฎีกา ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์อีกกระทงได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มโทษ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8192/2561
แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกวางแผนที่จะเข้าไปลักทรัพย์ภายในโรงงานของผู้เสียหายที่ 1 แต่ไม่ปรากฏว่ามีการวางแผนแบ่งหน้าที่รับมากระทำเป็นส่วน ๆ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อสะดวกแก่การลักทรัพย์ พาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์ ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือให้พ้นจากการจับกุมอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์ รวมไปถึงการทำร้ายร่างกายและปล้นเงินของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยในโรงงานของผู้เสียหายที่ 1 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้เพียงว่า พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่เพียงขับรถยนต์ไปส่งจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกที่โรงงานของผู้เสียหายที่ 1 แล้วขับรถไปรอที่ปั๊มน้ำมัน เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกลักทรัพย์ได้แล้ว พวกของจำเลยที่ 1 และที่ 3 โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ไปรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกพร้อมทรัพย์ที่ลักมา ซึ่งเป็นการเข้ามาร่วมกระทำผิดด้วยเมื่อมีการตัดสายไฟแล้วขนย้ายเคลื่อนที่อันเป็นการลักทรัพย์สำเร็จเท่านั้น ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ที่อื่นห่างไกลจากสถานที่เกิดเหตุจึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 โดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม และหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นตามฟ้อง แต่มีความผิดเพียงฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ผู้เสียหายที่ 1 ในเวลากลางคืนโดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป โดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ และมาตรา 86 อันเป็นการกระทำซึ่งเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเองและรวมอยู่ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย และจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 คืนเงิน 3,900 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 แต่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 คืนเงิน 280,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6152/2561
แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องว่า น. เห็นจำเลยและรับเงินจากจำเลยในการส่งข้าวสาร วันที่ 12 สิงหาคม 2558 แต่ศาลฎีกาสามารถรับฟังข้อเท็จจริงของการกระทำผิดในวันดังกล่าวประกอบกับข้อเท็จจริงในการกระทำความผิดของวันที่ 11 กรกฎาคม 2558 ตามฟ้องคดีนี้ได้ เพราะโจทก์ได้นำสืบไว้ในคดีนี้แล้ว ซึ่งสามารถเห็นได้ถึงแผนประทุษกรรมของคนร้าย คือ วิธีการและขั้นตอนในการกระทำความผิดซึ่งซ้ำๆ กัน อันเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจวางแผนจับกุมคนร้ายพวกของจำเลยได้ ทั้งข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้เป็นเพียงผู้รับจ้างขนถ่ายข้าวสาร แต่เป็นพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการกระทำความผิดโดยร่วมกับ ช. และพวกคนร้าย แบ่งหน้าที่กันทำโดยจำเลยทำหน้าที่ช่วยขนย้ายถ่ายเทข้าวสารที่พวกจำเลยใช้กลอุบายลักมาเพื่อให้พ้นการติดตามจับกุมของผู้เสียหายเพื่อเอาไว้ซึ่งข้าวสารนั้น อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนประทุษกรรมนั่นเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7868/2560
การที่จำเลยซึ่งเป็นมารดาของ ช. เจ้าบ่าว หยิบสร้อยคอทองคำและสร้อยข้อมือทองคำทรัพย์ตามฟ้องที่วางอยู่บนโต๊ะของร้านทองไป ไม่ว่าทรัพย์ตามฟ้องจะถือเป็นสินสอดหรือของหมั้นหรือไม่ก็ตาม แต่ฝ่ายจำเลยก็ส่งมอบทรัพย์ดังกล่าวให้แก่ฝ่ายโจทก์ร่วมซึ่งเป็นมารดาของ น. เจ้าสาว ยึดถือครอบครองอันเป็นการยกให้ในวันพิธีมงคลสมรสแล้ว จำเลยจึงไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์ดังกล่าว หากจำเลยเห็นว่าฝ่ายโจทก์ร่วมไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างไร จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องคดีทางแพ่งเพื่อเรียกทรัพย์คืน หามีสิทธิฉกฉวยเอาทรัพย์มาโดยพลการไม่ การกระทำของจำเลยเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้าอันเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3918/2560
พฤติการณ์ของจำเลยที่ลักสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ก. สาขาพระราม 3 ของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งมีชื่อผู้เสียหายที่ 1 เป็นเจ้าของบัญชี ไปกรอกข้อความและปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 1 ในใบคำขอถอนเงินของผู้เสียหายที่ 2 แล้วนำสมุดบัญชีเงินฝากดังกล่าวไปแสดงต่อพนักงานของผู้เสียหายที่ 2 และได้รับเงินไปจำนวน 59,000 บาท เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อจะให้ได้เงินจากผู้เสียหายที่ 2 เป็นหลักจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำฟ้องของโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 342 โดยไม่ได้อ้างมาตรา 341 มาด้วย แต่ความผิดฐานดังกล่าวเป็นการกระทำที่เป็นองค์ประกอบมาจากความผิดฐานฉ้อโกง ตาม ป.อ. มาตรา 341 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 342 (1) ได้ กรณีไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7086/2559
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ของบริษัท ก. ผู้เสียหายขณะอยู่ในความครอบครองของ ร. แต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาได้ความว่า เจ้าพนักงานตำรวจยืมรถตามฟ้องจากผู้อื่นแล้วให้ ร. นำไปส่งมอบแก่พวกจำเลยแลกกับค่าตอบแทนเป็นเงิน 10,000 บาท หาใช่เป็นการลักรถจักรยานยนต์ตามฟ้องไปจาก ร. ไม่ จึงเป็นกรณีข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลยกฟ้อง จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ และลงโทษฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงไม่ได้เช่นกัน ถือว่าเกินคำขอหรือมิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง และการที่จำเลยทั้งสามชี้ช่องแนะนำให้ ร. ไปทำสัญญาเช่าซื้อและเสนอเงินค่าตอบแทนในการนำรถจักรยานยนต์มาส่งมอบจำนวน 10,000 บาท ดังกล่าว อาจถือว่าเป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ ร. ก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ ต้องเป็นไปตาม ป.อ. มาตรา 86 ที่บัญญัติว่าเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด หมายถึงต้องมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นด้วย จึงจะพิจารณาได้ว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำก่อนหรือขณะกระทำความผิดได้ แตกต่างกับบทบัญญัติแห่งมาตรา 84 วรรคสองตอนท้าย ที่อาจมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ได้แม้ว่าความผิดมิได้กระทำลงก็ตาม เมื่อคดีนี้เกิดจากการวางแผนของเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ก่อน และเป็นการขอยืมรถจักรยานยนต์จากผู้อื่นเพื่อให้ ร. ขับไปทำทีส่งมอบแก่พวกจำเลย หาได้เกิดจาก ร. หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง อันจะถือเป็นการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 เมื่อความผิดตามมาตรา 341 ไม่มีเสียแล้ว ความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดที่ต้องนำความผิดตามมาตรา 341 มาประกอบกับมาตรา 86 ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เช่นกัน จึงไม่อาจพิพากษาลงโทษตามมาตรา 341 ประกอบมาตรา 86 ได้อีกด้วย และกรณีดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีที่ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาให้มิต้องถูกรับโทษดุจจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8209/2559
พฤติการณ์ของจำเลยที่เพียงแต่แสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและสอบถามว่า เสพยาเสพติดหรือไม่แล้วขอตรวจค้นตัวผู้เสียหายทั้งสองก่อนที่จะล้วงเอากระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหายที่ 1 เอาบุหรี่ของผู้เสียหายที่ 2 ไปและบอกว่าจะพาไปตรวจปัสสาวะ หากไม่พบสารเสพติดก็จะปล่อยตัวไปนั้น ไม่ปรากฏว่ามีการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายแต่อย่างใด จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 คดีคงฟังได้เพียงว่า จำเลยร่วมกับพวกที่ยังหลบหนีกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (6) (7) วรรคสอง ซึ่งความผิดฐานนี้เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของความผิดฐานชิงทรัพย์ที่ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษให้ถูกต้องได้เพราะความผิดฐานนี้มีโทษเบากว่าความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย และมาตรา 215 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14822/2558
ความผิดฐานร่วมกันบุกรุกนั้น แม้จะฟังได้ว่าจำเลยเป็นบุตรของ ญ. ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท แต่โจทก์เป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตและได้รับความยินยอมจาก พ. ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทอีกคนหนึ่ง และเป็นหนึ่งในคณะบุคคลผู้ให้เช่าที่อนุญาตให้โจทก์เข้าใช้สอยทำประโยชน์จากที่ดินพิพาทได้ ย่อมถือว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทและมีอำนาจที่จะป้องกันหรือขัดขวางผู้เข้ารบกวนการครอบครองของโจทก์ได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทราบว่าโจทก์เข้าใช้สอยที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2553 แต่จำเลยไม่ดำเนินการทางกฎหมายแก่โจทก์ในประการใด ต่อมาปี 2555 จำเลยนำเสาเหล็กไปปิดกั้นที่ดินพิพาทและเอาโซ่เหล็กไปคล้องเพื่อปิดกั้นทางเข้าออก จึงเป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่า จำเลยมีเจตนาที่จะรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย การที่จำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362, 83

สำหรับความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์นั้น แม้ขณะเกิดเหตุจะฟังได้ว่า พวกของจำเลยเป็นผู้ยกเอาเก้าอี้ของโจทก์ไปโดยความรู้เห็นของจำเลยก็ตาม แต่พวกของจำเลยนำเก้าอี้ไปตั้งวางไว้ที่บริเวณหลังร้านของโจทก์ในระยะห่างจากจุดเดิมเพียงไม่กี่เมตร โดยจำเลยต่อสู้ว่านำเก้าอี้ไปใช้นั่งพูดคุยกันซึ่งก็มีเหตุผลควรแก่การรับฟัง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยสั่งการให้ขนเคลื่อนย้ายเก้าอี้ไปไว้ในบ้านจำเลยหรือนำเก้าอี้ไปทำประโยชน์อื่นใด ดังนั้นการที่จำเลยไม่ยอมคืนเก้าอี้ให้แก่โจทก์ในตอนแรกจึงเป็นเพียงพฤติการณ์ที่เกะกะระรานสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่โจทก์มากกว่าจะเป็นการเอาเก้าอี้ไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับจำเลยหรือพวกของจำเลย คดียังมีเหตุอันควรสงสัยรับฟังไม่ได้แน่ชัดว่า จำเลยกับพวกเอาเก้าอี้ของโจทก์ไปโดยทุจริตหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง จึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14689/2558
        จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชี มีหน้าที่จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับเงินเดือนของพนักงาน ได้ดำเนินการให้โจทก์ร่วมโอนเงินเดือนเข้าบัญชีเงินฝากของตนเองและ ส. เกินกว่าเงินเดือนที่มีสิทธิได้รับจริง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ใช้โอกาสที่ตนเองเป็นผู้จัดทำบัญชีเงินเดือนของพนักงานทำการแสวงหาประโยชน์ด้วยการปรับแต่งบัญชีเงินเดือนของพนักงาน เพิ่มเงินเดือนให้แก่ตนเองให้มีอัตราสูงกว่าความเป็นจริง ทำให้จำเลยได้รับเงินจากโจทก์ร่วมไปเป็นเงินทั้งสิ้น 466,500 บาท และจำเลยยังได้ปรับแต่งข้อมูลอัตราเงินเดือนของ ส. ให้สูงขึ้น เป็นเหตุให้ ส. ได้รับเงินเกินไปกว่าเงินเดือนที่แท้จริงจำนวน 96,000 บาท แต่เมื่อ ส. นำเงินส่วนที่ได้รับเกินมาดังกล่าวไปคืนให้แก่จำเลย จำเลยก็นำไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยไม่คืนเงินให้แก่โจทก์ร่วม กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยลักเงินของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้างโดยใช้กลอุบายปรับแต่งบัญชีเงินเดือนให้โจทก์ร่วมนำเงินฝากเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยและ ส. เกินกว่าเงินเดือนที่มีสิทธิได้รับ แล้วจำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตน จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ของนายจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12811/2558
         กรณีจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ผู้กระทำความผิดต้องมีเจตนาแย่งการครอบครองทรัพย์นั้นโดยทุจริตตั้งแต่ที่เข้าแย่งการครอบครอง แต่ขณะที่จำเลยยืมคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กจากผู้เสียหาย ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเจตนาจะเอาไปในลักษณะที่เป็นการตัดกรรมสิทธิ์ตั้งแต่แรก จำเลยยังคงพักอยู่ที่โรงแรมตรงข้ามอู่ซ่อมรถของผู้เสียหาย เหตุที่จำเลยหลบหนีออกจากโรงแรมโดยนำคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กไปด้วย เพราะไม่ต้องการชำระค่าซ่อมรถที่จำเลยค้างชำระผู้เสียหาย จึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ที่อยู่ในความครอบครองเป็นของจำเลยโดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12563/2558
         การที่จำเลยกับพวกคบคิดกันลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายซึ่งจอดไว้ในโกดัง แล้วจำเลยกับพวกช่วยกันยกรถจักรยานยนต์ขึ้นท้ายกระบะเพื่อให้ ส. บรรทุกออกไป ย่อมเล็งเห็นเจตนาได้ว่า จำเลยกับพวกประสงค์จะใช้รถกระบะเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป ส่วนรถกระบะซึ่งเป็นยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิดจะเป็นของผู้ใดหาใช่ข้อสำคัญไม่ การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างโดยใช้ยานพาหนะซึ่งต้องรับโทษหนักขึ้นตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5740/2558
          แม้ในคดีแพ่งที่ผู้เสียหายฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของผู้เสียหายโดยให้เหตุผลว่าผู้เสียหายยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาหลังจากที่จำเลยที่ 1 เข้าไปปลูกข้าวในที่นาพิพาทเป็นเวลาหลายเดือนจนข้าวจะเก็บเกี่ยวได้แล้ว การยื่นคำร้องขอของผู้เสียหายจึงล่วงเลยเวลาอันสมควร ทั้งหากจะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้ ก็ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 1 จึงยังไม่สมควรจะนำวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254 (2) มาใช้แก่จำเลยที่ 1 อันอาจเป็นเหตุทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิเข้าไปเก็บเกี่ยวข้าวในที่นาพิพาท เพราะเชื่อว่าเป็นต้นข้าวที่จำเลยที่ 1 ปลูกไว้ก็ตาม แต่ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยที่ 1 กับพวกว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานบุกรุกที่นาพิพาทของผู้เสียหาย อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าที่นาพิพาทเป็นของผู้เสียหาย และผลของคำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวย่อมทำให้จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเข้าไปกระทำการใด ๆ ในที่นาพิพาท เนื่องจากคำพิพากษาศาลชั้นต้นย่อมมีผลผูกพันคู่ความจนกว่าคำพิพากษานั้นถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสีย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แต่ในวันเกิดเหตุหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีอาญาดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กลับเข้าไปเกี่ยวข้าวซึ่งปลูกอยู่ในที่นาพิพาทเนื้อที่ประมาณ 1 งาน ได้ข้าวจำนวน 50 มัด นำไปวางไว้บนคันนาอีก เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามพยานหลักฐานของโจทก์ว่า ข้าวในที่นาพิพาทเป็นของผู้เสียหาย การที่จำเลยที่ 4 เข้าไปเกี่ยวข้าวในที่นาพิพาทร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จึงถือว่าจำเลยที่ 4 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันลักข้าวเปลือกที่เป็นของผู้มีอาชีพกสิกรรม แต่ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าทรัพย์ที่ถูกลักไปนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ พืชพันธุ์ หรือได้มาจากการกสิกรรมนั้น ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 335 (12) เพราะลำพังการลักทรัพย์อื่นของผู้มีอาชีพกสิกรรมย่อมไม่เป็นความผิดตามอนุมาตรานี้ ดังนั้น จำเลยทั้งสี่จึงมีความผิดตามมาตรา 335 (7) เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16502/2557
          จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ร่วมกู้ยืมเงินเพื่อนำไปใช้จ่ายในการเล่นการพนันโดยยึดถือรถกระบะที่โจทก์ร่วมเช่าซื้อมาจากผู้ให้เช่าซื้อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ร่วมนำรถกระบะกลับไปใช้ และโจทก์ร่วมไม่นำรถกระบะกลับมาคืนภายในเวลาที่ตกลงกันไว้ จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีอำนาจนำรถกระบะกลับมายึดถือครอบครองโดยโจทก์ร่วมไม่ยินยอม การที่จำเลยที่ 1 เอารถกระบะไปจากโจทก์ร่วม แม้น่าเชื่อว่าหากโจทก์ร่วมชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วน จำเลยที่ 1 คงจะคืนรถกระบะให้ แต่ก็เห็นได้ว่าถ้าโจทก์ร่วมไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 1 คงไม่คืนรถกระบะให้ การที่จำเลยที่ 1 เอารถกระบะไปดังกล่าวจึงเป็นการตัดกรรมสิทธิ์ในรถกระบะของผู้ให้เช่าซื้อขณะอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วมตลอดไปแล้ว และเมื่อเป็นการใช้อำนาจบังคับเพื่อให้ตนได้รับชำระหนี้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมต้องถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง ดังนี้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต อันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ และไม่ว่าโจทก์ร่วมจะผิดสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ก็ตาม เมื่อโจทก์ร่วมเป็นผู้ครอบครองรถกระบะคันดังกล่าวในขณะที่กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันเอารถกระบะของผู้ให้เช่าซื้อไปโดยทุจริต โจทก์ร่วมย่อมเป็นผู้เสียหายและเข้าร่วมเป็นโจทก์ร่วมคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14715/2557
            การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันตัดผลปาล์มของผู้เสียหายจนหล่นลงมากองอยู่บนพื้นเป็นการแยกหรือเคลื่อนที่ผลปาล์มออกจากต้น แต่ยังไม่ทันรวบรวมผลปาล์ม ผู้เสียหายก็มาพบเสียก่อน ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้ายึดถือเอาผลปาล์มจำนวนนั้นไว้แล้วอันเป็นการเอาไปซึ่งทรัพย์ของผู้เสียหาย กรณีจึงเป็นความผิดฐานพยายามร่วมกันลักทรัพย์เท่านั้น และถือเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12387/2557
             แม้จำเลยที่ 1 สั่งให้รื้อถอนบ้านของโจทก์ร่วมด้วยความระมัดระวัง ไม่เป็นเหตุให้วัสดุที่รื้อถอนเสียหาย ทั้งนำไปเก็บรักษาไว้อย่างดีเพื่อให้โจทก์ร่วมนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้บ้านของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์สิ้นสภาพไม่เป็นที่อยู่อาศัยอีกต่อไป อันเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่น การที่อำเภอบุณฑริกแต่งตั้งจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกำนันตำบลคอแลนเป็นประธานกรรมการกลางและประธานกรรมการปกครองเพื่อประกวดหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเองนั้นไม่เป็นการเปิดโอกาสให้จำเลยที่ 1 รื้อบ้านของโจทก์ร่วมโดยพลการได้ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์วัสดุที่รื้อถอนจากบ้านของโจทก์ร่วม โดยไม่ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ด้วยเป็นเรื่องข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ถือว่าเป็นข้อแตกต่างกันในรายละเอียด มิใช่ข้อสาระสำคัญตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความได้ ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เป็นความผิดอันยอมความได้ การที่โจทก์ร่วมทำหนังสือร้องทุกข์มีใจความสำคัญว่า โจทก์ร่วมขอร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 กับพวกที่ร่วมกันรื้อถอน ทำลายบ้านเรือน ทรัพย์สินและลักเอาทรัพย์สินของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต แม้ไม่มีข้อความระบุให้ชัดเจนว่าประสงค์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานใด ก็แปลเจตนาของโจทก์ร่วมได้ว่าประสงค์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์ พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 และ 121 วรรคสอง ไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ร่วมไม่ได้ร้องทุกข์ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ จำเลยที่ 1 รื้อบ้านของโจทก์ร่วมซึ่งมีสภาพชำรุดทรุดโทรมและไม่ได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยนานนับสิบปี แล้วสร้างศาลาที่พักสาธารณประโยชน์ขึ้นแทน เพื่อให้ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกันตามโครงการพัฒนาหมู่บ้าน แม้เป็นความผิดต่อกฎหมายที่ไม่ได้ขออนุญาตโจทก์ร่วมก่อน แต่พฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรงนัก จึงให้รอการกำหนดโทษตาม ป.อ. มาตรา 56

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10139/2557
        จำเลยทั้งสี่เอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยมีเจตนาเพื่อจะตรวจดูว่าทรัพย์ที่เอาไปนั้นเป็นของจำเลยทั้งสี่ที่ถูกคนร้ายลักไปหรือไม่เท่านั้น มิใช่เป็นการเอาไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น จึงไม่เป็นการกระทำ "โดยทุจริต" ตามบทนิยามความหมายของคำว่า "โดยทุจริต" ใน ป.อ. มาตรา 1 (1) การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์เพราะขาดเจตนาพิเศษเรื่องการกระทำโดยทุจริตดังกล่าว ซึ่งย่อมส่งผลทำให้การกระทำของจำเลยทั้งสี่ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้องไปด้วย และการกระทำของจำเลยทั้งสี่เช่นนี้หาใช่ว่าจำเลยทั้งสี่กระทำโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด ซึ่งถือว่าจำเลยทั้งสี่ไม่มีเจตนากระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสอง ประกอบวรรคสาม ดังคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10129/2557
         ที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งไม่อาจโอนให้แก่กันได้โดยชอบด้วยกฎหมาย การที่ ช. ปลูกต้นยางพาราในที่ดินดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้นยางพาราดังกล่าวจึงเป็นไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ไม่ใช่ทรัพย์ของ ช. แม้ผู้เสียหายซื้อต้นยางพาราจาก ก. บุตรเขยของ ช. ต้นยางพาราดังกล่าวก็ไม่ใช่ทรัพย์ของผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายยังไม่ได้เข้าไปกรีดเอาน้ำยางซึ่งเป็นของป่าจากต้นยางพาราดังกล่าว จึงยังไม่มีการยึดถือเอาน้ำยางเป็นของตน การที่จำเลยเข้าไปเอาน้ำยางจากต้นยางพาราดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ของผู้มีอาชีพกสิกรรมโดยผู้เสียหายตาม ป.อ. มาตรา 335 (12) วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7088/2557
          จำเลยไม่ได้มีเจตนาที่จะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายแต่แรก การที่ผู้เสียหายส่งมอบโทรศัพท์เคลื่อนที่กับเงิน 700 บาท แก่จำเลยกับพวกโดยเจตนาเพื่อไม่ให้ถูกจำเลยกับพวกทำร้ายและข่มขืนกระทำชำเรา เมื่อจำเลยกับพวกรับทรัพย์ดังกล่าวไว้ แต่ยังคงทำร้ายร่างกายผู้เสียหายอยู่เพื่อข่มขืนกระทำชำเรา เมื่อผู้เสียหายขอคืน จำเลยกับพวกยังยึดเงิน 200 บาทไว้ ไม่คืนให้ผู้เสียหาย เป็นการเอาทรัพย์ดังกล่าวของผู้เสียหายไปอันเป็นผลพลอยได้จากการที่ผู้เสียหายส่งมอบเงินให้ก่อนหน้านี้เพื่อไม่ให้ถูกข่มขืนกระทำชำเรา ดังนั้น การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นเพียงความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน โดยร่วมกระทำผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยในการกระทำที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าขณะกระทำความผิดจำเลยกับพวกไม่ได้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำความผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5215/2557
           จำเลยมิได้เป็นลูกจ้างของผู้เสียหาย แม้จำเลยร่วมกับ น. ซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายลักทรัพย์ของผู้เสียหายก็ตาม จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างตาม ป.อ. มาตรา 335 (11) ทั้งนี้เพราะความเป็นลูกจ้างเป็นเหตุเฉพาะตัวของ น. จึงไม่มีผลไปถึงจำเลยด้วย ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4096/2557
         ฮ.เป็นบุคคลสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ฮ. และโจทก์ร่วมเป็นสามีภริยาตามกฎหมายของราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ฮ. ซื้อห้องชุด แต่ให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์แทน โดยจำเลยเป็นผู้ถือกุญแจและชำระค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า อันเป็นการกระทำแทน ฮ. ชั่วครั้งชั่วคราวตามที่ได้รับมอบหมาย กรรมสิทธิ์ที่แท้จริงยังอยู่ที่ ฮ. และโจทก์ร่วม การที่จำเลยแจ้งเท็จว่าหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุดฉบับเดิมสูญหายเพื่อขอออกหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุดใหม่ เปลี่ยนกุญแจและเข้าครอบครองห้องชุดและทรัพย์ต่าง ๆ ในห้องชุดแล้วนำไปขายแก่บุคคลอื่นโดย ฮ. และโจทก์ร่วมไม่รู้เห็นยินยอม เป็นการแย่งกรรมสิทธิ์ห้องชุดของ ฮ. และโจทก์ร่วมโดยใช้อุบายแย่งการครอบครอง ต่อมาเมื่อจำเลยนำห้องชุดของโจทก์ร่วมไปขาย เงินที่ได้จากการขายห้องชุดเป็นผลสืบเนื่องจากการแย่งกรรมสิทธิ์และการครอบครองของจำเลย เพราะ ฮ. หรือโจทก์ร่วมไม่ได้ส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3581/2557
         หนังสือสัญญาเช่าตึกแถว ระบุว่าผู้เช่าจะไม่นำตึกแถวออกให้ผู้อื่นเช่าช่วงเว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ให้เช่า การนำตึกแถวดังกล่าวออกให้เช่าช่วงจึงต้องได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ให้เช่าเสียก่อน สัญญาเช่าช่วงระหว่าง ฉ. ผู้เช่ากับจำเลยและ ก. ไม่มีผลผูกพันผู้เสียหาย จำเลยและ ก. จึงอยู่ในตึกแถวดังกล่าวในฐานะเป็นบริวารของ ฉ. เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าเช่าแก่ผู้เสียหายตามที่ตกลงไว้กับ ฉ. จำเลยตกเป็นฝ่ายผิดนัด ผู้ให้เช่ามีสิทธิยึดถือครอบครองตึกแถวและทรัพย์ในตึกแถวดังกล่าวได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิเข้าไปในตึกแถวที่เกิดเหตุได้อีก บันทึกข้อตกลงประกอบการเช่า ข้อ 2. ระบุว่า "ทรัพย์สินใด ๆ ที่ผู้เช่าได้ก่อสร้างต่อเติมและตกแต่งตัวอาคารโดยเป็นค่าใช้จ่ายของผู้เช่าทั้งหมดนั้น ผู้เช่าตกลงยินยอมให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของอาคารสถานที่ที่ให้เช่านั้นทันที รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์และสิ่งของต่าง ๆ ที่ผู้เช่าต้องนำเข้าไว้ใช้ในกิจการร้านอาหารของผู้เช่าทั้งสิ้นนับแต่วันที่ได้นำเข้ามาในบ้านเช่า ยกเว้นตู้โค้กและแผงไฟชื่อป้ายหน้าร้านนอกตัวอาคาร" ซึ่ง ฉ. ย่อมต้องผูกพันตามข้อสัญญาดังกล่าว และถือได้ว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่ ฉ. ในฐานะผู้เช่าต้องนำเข้าไว้ใช้ในกิจการร้านอาหารของ ฉ. ทั้งสิ้น ทรัพย์ดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เสียหายทันทีนับแต่วันที่นำเข้าไว้ในตึกแถว ฉ. จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ดังกล่าวอีกต่อไป และไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ดังกล่าวให้แก่จำเลยและ ก. ได้ ตาม ป.อ. มาตรา 1 (4) บัญญัติว่า "เคหสถาน หมายความว่า ที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัย เช่น เรือน โรง เรือ หรือแพ ซึ่งคนอยู่อาศัย และให้หมายความรวมถึงบริเวณของที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยนั้นด้วย จะมีรั้วล้อมหรือไม่ก็ตาม" ดังนั้น แม้ขณะเกิดเหตุตึกแถวดังกล่าวไม่มีคนอยู่อาศัย แต่โดยสภาพแล้วตึกแถวดังกล่าวเป็นที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัย จึงเป็นเคหสถาน การที่จำเลยกับพวกเข้าไปในตึกแถวโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วเอาทรัพย์ซึ่งตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เสียหายตามบันทึกข้อตกลงออกไปจากตึกแถวดังกล่าวโดยเจตนาทุจริต จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3153/2557
          โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้เสียหาย แล้วลักเงิน 20,000 บาท ซึ่งอยู่ในกระเป๋าสะพายของผู้เสียหายไป ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วรื้อค้นลิ้นชักพลาสติกที่เชิงบันได โดยเมื่อค้นในลิ้นชักอันบนสุดพบกระเป๋าสะพายและกระเป๋าสตางค์ใบเล็ก จำเลยก็ดึงออกมาจากลิ้นชักแล้วค้นหาสิ่งของในกระเป๋าสะพายและกระเป๋าสตางค์ดังกล่าว จากนั้นจำเลยเดินขึ้นบันไดไปบนระเบียงชั้นบนของบ้านและค้นหาสิ่งของที่กองเครื่องมือของใช้ที่วางอยู่บนระเบียงเป็นเวลานาน แล้วกลับลงไปรื้อค้นหาสิ่งของที่ลิ้นชักพลาสติกชั้นอื่นทุกลิ้นชัก เห็นได้ว่า จำเลยมีเจตนาค้นหาเงินและของมีค่าอื่นในจุดที่จำเลยคาดว่าผู้เสียหายหรือบุคคลในครอบครัวผู้เสียหายน่าจะเก็บหรือซุกซ่อนไว้ ฟังได้ว่ามีเจตนาค้นหาและประสงค์จะลักเงินของผู้เสียหายไปนั่นเอง ถือว่าจำเลยได้ลงมือกระทำความผิดและกระทำไปตลอดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผลเพราะไม่มีเงินที่จะลักอยู่ในกระเป๋าสะพายและจุดรื้อค้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพยายามลักเงินของผู้เสียหาย แต่การกระทำไม่อาจบรรลุผลได้อย่างแน่แท้เพราะเหตุวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อ เป็นการพยายามกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถานตาม ป.อ. มาตรา 335 (8) วรรคแรก ประกอบมาตรา 81

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3142/2557
            แม้จำเลยและผู้เสียหายเป็นเจ้าของรวมในสวนยางพาราที่เกิดเหตุ แต่ก่อนเกิดเหตุจำเลยยอมให้ผู้เสียหายครอบครองและได้ประโยชน์เพียงผู้เดียว การที่จำเลยจ้าง ส. เข้าไปกรีดยางพาราจะเอาน้ำยางพาราไปเพียงผู้เดียว จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง ย่อมเป็นการทุจริตแล้ว เมื่อน้ำยางพาราที่กรีดยังอยู่ในถ้วยรองน้ำยางยังไม่ได้ถูกนำไป เป็นเพียงพยายามกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำการลักทรัพย์เอง แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้จ้างวานใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด ซึ่งเป็นการแตกต่างในข้อสาระสำคัญ ศาลไม่อาจลงโทษฐานผู้ใช้ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง คงลงโทษได้ในฐานผู้สนับสนุน การที่จำเลยเข้าใจว่ามีอำนาจทำได้โดยสุจริตและ ส. ก็กระทำโดยเปิดเผย เป็นการอ้างความไม่รู้ข้อกฎหมายของจำเลยในเรื่องนี้ ซึ่งใช้แก้ตัวให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาไม่ได้ตาม ป.อ. มาตรา 64

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 483/2557
          จำเลยเป็นพนักงานช่วยงานพยาบาลซึ่งทำงานในโรงพยาบาลที่เกิดเหตุ ห้องน้ำที่เกิดเหตุเป็นสถานที่ที่จำเลยต้องเข้าไปทำงานตามหน้าที่ และเหตุคดีนี้เกิดในช่วงเวลาที่จำเลยทำงาน กรณีจึงมิใช่เรื่องที่จำเลยเข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วลักทรัพย์ในสถานที่ดังกล่าว การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 มิใช่ลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21502/2556
            ความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือราคาที่จำเลยลักไปแทนโจทก์ร่วมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แล้ว โจทก์ร่วมจึงไม่อาจใช้สิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับทรัพย์ที่จำเลยลักไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ได้อีก จำเลยกับพวกร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วม ความเสียหายที่โจทก์ร่วมได้รับจึงต้องเป็นความเสียหายอันเกิดจากตัวทรัพย์ที่จำเลยกับพวกร่วมกันบุกรุก เช่น ที่ดินพิพาทได้รับความเสียหาย หรือความเสียหายจากการไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทนั้น ค่าเสียสุขภาพจิตอันเนื่องมาจากโจทก์ร่วมต้องทำรั้วกำแพงใหม่ ต้องเฝ้าระวังไม่ให้ผู้อื่นเข้ามาในที่ดินเพื่อก่อเหตุอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของโจทก์ร่วมกับครอบครัว และค่าเสื่อมเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จึงมิใช่ความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานร่วมกันบุกรุกของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8520/2556
          ขณะที่จำเลยทั้งสองร่วมกันลักท่อนเหล็กวางเครื่องจักรของผู้เสียหายไปนั้น โรงงานของผู้เสียหายยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ซึ่ง ว. พนักงานของผู้เสียหายพยานโจทก์เบิกความว่า ท่อนเหล็กมีราคาท่อนละ 8,000 บาท รวม 2 ท่อน เป็นเงิน 16,000 บาท และเบิกความตอบโจทก์ถามติงว่า ท่อนเหล็กยังสามารถนำมาใช้งานต่อได้ ไม่ใช่วัสดุเหลือใช้จึงเห็นได้ว่าท่อนเหล็กยังมีประโยชน์ในการใช้สอยและมีมูลค่า เมื่อจำเลยทั้งสองร่วมกันลักไปย่อมทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ราคาตามมูลค่าของท่อนเหล็กที่ผู้เสียหายได้รับความเสียหายตามความเป็นจริงในขณะเกิดเหตุ หาใช่รับผิดตามราคาที่จำเลยทั้งสองนำไปขายไม่ เพราะขณะที่จำเลยทั้งสองขายนั้นเป็นการขายอย่างเศษวัสดุสิ่งของเหลือใช้ที่ไม่มีมูลค่าตามความเป็นจริง ทั้งเป็นการขายในขณะที่จำเลยทั้งสองไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่พึงใช้ความระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของตนเฉกเช่นวิญญูชนทั่วไปพึงกระทำ และเมื่อพิจารณาท่อนเหล็กวางเครื่องจักรซึ่งมีรูปร่างลักษณะเหมือนที่ปรากฏในภาพถ่ายประกอบราคาที่ ว. พยานโจทก์เบิกความแล้ว เห็นว่า เป็นราคาที่มีมูลค่าเหมาะสมตามสภาพและประโยชน์ใช้สอยในขณะเกิดเหตุแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 16,000 บาท จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4937 - 4938/2556
          จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างผู้เสียหายทำงานในตำแหน่งพนักงานอาวุโส ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ประจำลานจอดเครื่องบินและปล่อยเครื่องบิน ไม่มีหน้าที่ขายบัตรโดยสารเครื่องบิน ผู้เสียหายมิได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2 มีหน้าที่รับและครอบครองเงินค่าโดยสารเครื่องบินที่ได้จากลูกค้าแทนผู้เสียหาย เช่นเดียวกับพนักงานขายบัตรโดยสารเครื่องบินที่ผู้เสียหายมอบหมายหน้าที่ให้รับและครอบครองเงินค่าโดยสารเครื่องบินแทนลูกค้าด้วย ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 รับเงินค่าโดยสารเครื่องบินที่ลูกค้าซื้อการให้บริการหรือชำระค่ารับจ้างในกิจการของผู้เสียหาย เงินค่าโดยสารเครื่องบินนั้น จึงเป็นของผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 ต้องนำไปส่งมอบหรือชำระตามวิธีการให้ผู้เสียหาย การที่จำเลยที่ 2 เอาเงินค่าโดยสารเครื่องบินดังกล่าวไว้เป็นของจำเลยที่ 2 เสียเอง จึงเป็นการแย่งกรรมสิทธิ์ไปจากผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 2 ในฐานะลูกจ้างของผู้เสียหาย จึงเป็นการกระทำฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง มิใช่ความผิดฐานยักยอก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16081 - 16083/2555
       โจทก์พักอาศัยอยู่ต่างประเทศ ประสงค์จะปลูกต้นสนไว้เพื่อขายจึงมอบหมายให้จำเลยเป็นผู้จัดการหาต้นสนมาปลูกและดูแลต้นสน ต้นสนของโจทก์ทั้งสามอยู่ในความครอบครองของจำเลย การที่จำเลยตัดต้นสนโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทั้งสามทราบ หรือได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสาม และจำเลยรับเงินค่าต้นสนทั้งหมดไปเป็นประโยชน์ของตนเองไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ต้นสน แต่เป็นความผิดฐานยักยอก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18654/2555
          จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายหน้าดินจากจำเลยที่ 2 โดยมิได้ระแวงว่าหน้าดินที่จำเลยที่ 2 เสนอขายจะเป็นที่ดินของผู้ใด หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ให้ ว. กับพวก ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เข้าไปขุดดินในที่ดินของโจทก์ร่วมตามสัญญาซื้อขายดังกล่าว อันเป็นการกระทำโดยสุจริต จึงขาดเจตนารบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์และลักทรัพย์ของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดฐานบุกรุกและลักทรัพย์ ส่วนจำเลยที่ 2 นำหน้าดินของโจทก์ร่วมมาขายให้แก่จำเลยที่ 1 จนลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เข้ามาขุดเอาหน้าดินของโจทก์ร่วมไปโดยใช้ยานพาหนะนั้น นับว่าเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองแล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนารบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข เข้าไปในที่ดินของโจทก์ร่วมและเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต โดยกระทำผ่านจำเลยที่ 1 กับพวก แต่เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิด จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย คงฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานบุกรุกและลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14258/2555
            คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเข้าไปในบริเวณศาลาการเปรียญวัดหนองบัวอันเป็นสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วลักประตูเหล็กพับยืด 4 บาน ราคา 20,000 บาท ของวัดหนองบัว ซึ่งอยู่ในความดูแลของผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดหนองบัวผู้เสียหาย และเก็บรักษาไว้ในสถานที่ดังกล่าวไป โดยใช้รถจักรยานยนต์พ่วงข้างเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด หรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ซึ่งความผิดฐานลักทรัพย์ในสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณะตาม ป.อ. มาตรา 335 (8) นอกจากองค์ประกอบความผิดที่ว่าสถานที่ที่ลักทรัพย์ต้องเป็นสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณะแล้ว ผู้ที่เข้าไปลักทรัพย์ต้องเข้าในสถานที่ดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากการนำสืบของโจทก์ว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุลักทรัพย์วัดหนองบัวได้หวงห้ามหรือปิดกั้นมิให้ประชาชนซึ่งเข้าไปในวัดหนองบัวเข้าไปในบริเวณที่เกิดเหตุ การที่จำเลยเข้าไปลักประตูเหล็กพับยืดในบริเวณที่เกิดเหตุจึงมิใช่เป็นการเข้าไปลักทรัพย์ในสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณะที่ตนได้เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (8) คงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 334

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13417/2555
           ผู้เสียหายและจำเลยรู้จักกันก่อนเกิดเหตุ 2 เดือน และเคยทำงานด้วยกัน โดยจำเลยเป็นผู้ว่าจ้างให้ผู้เสียหายนำต้นกล้ายางไปส่งมอบให้เกษตรกร วันเกิดเหตุผู้เสียหายเป็นฝ่ายเชื้อเชิญให้จำเลยเข้าไปในบ้านและไปนั่งพูดคุยกันที่โต๊ะอาหาร บ่งชี้ว่าผู้เสียหายและจำเลยรู้จักและมีความคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ขณะที่จำเลยเอาอาวุธปืนของผู้เสียหายไป แม้เป็นเรื่องที่กระทำไปโดยพลการแต่ก็มี ถ. น้องเขยของผู้เสียหายรู้เห็น จึงเป็นการเอาไปอย่างเปิดเผย ถ. ยังให้การในชั้นสอบสวนว่า เห็นจำเลยหยิบอาวุธปืนของผู้เสียหายไปโดยเข้าใจว่าผู้เสียหายอนุญาตจึงไม่ได้ทักท้วง อันแสดงว่า ถ. ก็เห็นว่าผู้เสียหายกับจำเลยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและจำเลยมิได้กระทำการอย่างใดที่มีพิรุธอันแสดงให้เห็นว่า ต้องการลักอาวุธปืนของผู้เสียหาย ครั้นผู้เสียหายทราบจาก ถ. ว่าจำเลยเอาอาวุธปืนไปและติดต่อสอบถามจำเลยทางโทรศัพท์ จำเลยก็รับว่าเอาอาวุธปืนไปจริงและยังบอกว่าจะนำไปคืนให้ ซึ่งผิดวิสัยของผู้ที่ต้องการลักทรัพย์ของผู้อื่นที่ย่อมปฏิเสธการกระทำของตน แม้จำเลยจะนำอาวุธปืนไปคืนล่าช้าจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายต้องเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน แต่จำเลยมิได้นำอาวุธปืนไปแสวงหาประโยชน์ด้วยการนำไปจำหน่ายหรือก่อหนี้ผูกพันอื่นใด และนำไปคืนผู้เสียหายพร้อมกระสุนปืนครบถ้วน พฤติการณ์น่าเชื่อว่าจำเลยเอาอาวุธปืนของผู้เสียหายไปโดยถือวิสาสะ มิได้มีเจตนาเอาไปโดยทุจริต จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11654/2555
         แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร เนื่องจากหลังเกิดเหตุลักทรัพย์แล้ว เจ้าพนักงานตำรวจตรวจยึดได้เฉพาะฉนวนไฟฟ้า (เปลือกสายไฟฟ้า) จากจำเลยมิได้ยึดทรัพย์ของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไปทั้งหมดจากจำเลยก็ตาม แต่โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนความผิดฐานรับของโจรว่าจำเลยรับไว้ซึ่งทรัพย์ของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไปตามฟ้องไว้จากคนร้าย ต้องถือว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยรับของโจรสายไฟฟ้าของผู้เสียหายตามที่คนร้ายลักไปทั้งหมดด้วย เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพข้อหารับของโจร จึงรับฟังได้ตามฟ้องว่าจำเลยรับของโจรสายไฟฟ้าดังกล่าว เมื่อความรับผิดทางแพ่งของจำเลยเกี่ยวเนื่องกับความผิดทางอาญาฐานรับของโจร จำเลยจึงต้องคืนสายไฟฟ้าหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนตามคำขอของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7295/2554
          จำเลยปลอมใบถอนเงินของธนาคารโจทก์ร่วมโดยเขียนข้อความและลงลายมือชื่อปลอมของผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อเบิกถอนเงินมอบฉันทะให้จำเลยเป็นผู้เบิกถอนเงิน รับเงิน และรับสมุดบัญชีเงินฝาก แล้วจำเลยใช้และอ้างใบถอนเงินปลอมแก่พนักงานโจทก์ร่วม จนพนักงานโจทก์ร่วมหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารสิทธิที่แท้จริง เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมต้องจ่ายเงินตามใบถอนเงินปลอมให้แก่จำเลย โจทก์ร่วมจึงเป็นบุคคลที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) และมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 และย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง พฤติการณ์ของจำเลยที่ลักและเอาไปเสียซึ่งสมุดบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายแล้วปลอมใบถอนเงินของธนาคารโจทก์ร่วมเอาไปแสดงต่อพนักงานของโจทก์ร่วมเพื่อขอเบิกถอนเงิน เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อให้ได้เงินจากธนาคารโจทก์ร่วมเป็นหลัก จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10976/2554
       ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์เป็นการลักทรัพย์โดยการฉกฉวยเอาซึ่งหน้า หมายถึง กิริยาที่หยิบหรือจับเอาทรัพย์ไปโดยเร็วรวมเป็นการกระทำอันเดียวกับการเอาไป และขณะที่ถูกเอาทรัพย์ไปผู้นั้นรู้สึกตัวหรือเห็นการฉกฉวยเอาทรัพย์นั้นไปด้วย การที่จำเลยดึงเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่จากกระเป๋ากางเกงของเด็กหญิง บ. แล้วเด็กหญิง บ. รู้สึกถึงการถูกดึงจึงใช้มือจับจนถูกมือของจำเลย จึงอยู่ในความหมายของการลักทรัพย์โดยการฉกฉวยเอาซึ่งหน้าอันเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามฟ้องแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7650/2554
         ผู้เสียหายซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ถูกกระชากกระเป๋าจนสายสะพายหลุดจากไหล่ผู้เสียหาย เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ล้มและศีรษะผู้เสียหายกระแทกพื้นถนนสลบไป ส่วนกระเป๋าหลุดติดมือ ว. ไปหล่นบนถนนห่างจากจุดเดิมประมาณ 5 เมตร แสดงว่า ว. กระชากกระเป๋าสะพายของผู้เสียหายหลุดจากตัวผู้เสียหายมาอยู่ในความครอบครองของ ว. แล้ว แต่เนื่องจากรถจักรยานยนต์ของจำเลยซึ่ง ว. นั่งซ้อนท้ายมาเสียหลักล้มลงด้วยจนกระเป๋าของผู้เสียหายหล่นลงไปที่พื้นถนนห่างจากจุดเดิมถึง 5 เมตร จึงต้องถือว่าการวิ่งราวทรัพย์เอากระเป๋าสะพายของผู้เสียหายไปจากความครอบครองของผู้เสียหายเป็นความผิดสำเร็จแล้ว หาใช่เป็นเพียงขั้นพยายามวิ่งราวทรัพย์ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15630/2553
          จำเลยมิได้ร่วมกับคนร้ายในการลักบัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหาย การใช้บัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายทำรายการเพื่อโอนเงินคงเป็นเรื่องของคนร้ายซึ่งทราบรหัสบัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายมิใช่จำเลยเป็นผู้กระทำ ไม่พอฟังว่าเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ แต่การที่จำเลยยอมให้คนร้ายโอนเงินจากบัญชีผู้เสียหายเข้าบัญชีของจำเลยและยอมให้คนร้ายใช้บัตรเอทีเอ็มของจำเลยเพื่อให้การลักทรัพย์เป็นผลสำเร็จดังกล่าว ถือเป็นเพียงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิด จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86 การลักเงินของผู้เสียหายโดยใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เบิกถอนเงินผ่านเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติในแต่ละครั้ง ก็เป็นความผิดสำเร็จในตัวต่างกรรมต่างวาระกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11810/2553
          จำเลยที่ 1 กับพวกเข้าไปในบริเวณโรงงานซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายแล้วทุบอิฐบล็อกและคอนกรีตที่ก่อสร้าง กับรื้อเหล็กโครงสร้างของอาคารห้องพักคนงานของผู้เสียหายจนไม่สามารถใช้งานได้ แล้วเอาเหล็กโครงสร้างอาคารดังกล่าวไปอันเป็นความผิดฐานบุกรุก ทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์ แต่เป็นการกระทำต่อเนื่องกันโดยจำเลยมีเจตนาเดียวคือเพื่อเอาเหล็กโครงสร้างอาคารไปโดยทุจริตเท่านั้น จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตาม ป.อ. มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9603/2553
         โจทก์ร่วมซื้อรถยนต์ตู้จากจำเลยในราคา 310,000 บาท จำเลยรับชำระราคาแล้ว 200,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระให้ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2540 สัญญาซื้อขายดังกล่าวไม่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้ จึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้ย่อมโอนให้แก่โจทก์ร่วมตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 453 และ 458 แม้จะได้ความว่าโจทก์ร่วมยังค้างชำระค่ารถยนต์ตู้อยู่ก็ตาม หากโจทก์ร่วมเพิกเฉยไม่ยอมชำระหนี้ดังกล่าว ถือว่าโจทก์ร่วมผิดสัญญา จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องคดีทางแพ่งเพื่อขอให้โจทก์ร่วมชำระหนี้ให้ครบถ้วน จำเลยหามีสิทธิที่จะติดตามเอารถยนต์ตู้คันที่ขายไปนั้นคืนมาโดยพลการได้ไม่ การที่จำเลยบอกกับ ท. ซึ่งเป็นเพียงคนขับรถยนต์ตู้ซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์ร่วมว่าจะมาเอารถยนต์ตู้ไป ท. มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้และมิใช่ผู้ที่มีอำนาจให้ความยินยอมให้จำเลยกระทำการเช่นนั้น จึงเป็นการบอกกล่าวให้รับทราบเท่านั้น และ ท. มิได้มอบกุญแจรถยนต์ตู้เพื่อให้จำเลยนำรถยนต์ตู้ไปจากที่จอดรถแต่ประการใด ดังนั้น การที่จำเลยขับรถยนต์ตู้ไปจากที่จอดรถ จึงเป็นการเอารถยนต์ตู้ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมไปโดยไม่มีอำนาจ แม้จำเลยจะอ้างว่าสืบเนื่องมาจากโจทก์ร่วมไม่ยอมชำระหนี้ที่ค้างก็ตาม แต่ก็เป็นการใช้อำนาจบังคับชำระหนี้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และโจทก์ร่วมค้างชำระราคารถยนต์เพียงประมาณ 20,000 บาท แต่จำเลยจะให้โจทก์ร่วมชำระเงินแก่จำเลยถึง 100,000 บาท ดังนั้น การที่จำเลยเอารถยนต์ตู้ไปจากโจทก์ร่วมเพื่อเรียกร้องให้โจทก์ร่วมชำระหนี้นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 9/2553)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 653/2553
        ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 336 จะต้องเป็นการลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า ผ. ทำทีเป็นพูดโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเอาโทรศัพท์ไปในขณะที่ผู้เสียหายให้บริการลูกค้าคนอื่นอยู่ เป็นการเอาไปในขณะเผลอ มิใช่เป็นการฉกฉวยทรัพย์ไปโดยซึ่งหน้าแต่ประการใด การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เมื่อเหตุเกิดในเวลากลางคืนและร่วมกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) และ 335 (7) ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา 335 วรรคสอง ซึ่งมีโทษหนักกว่าความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามมาตรา 336 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 แต่จะพิพากษาลงโทษจำเลยหนักขึ้นไม่ได้ เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 อนึ่ง ทรัพย์ที่ศาลจะสั่งริบตาม ป.อ. มาตรา 33 ได้ ต้องปรากฏว่าเป็นทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความแต่เพียงว่าจำเลยใช้รถจักรยานยนต์เพื่อความสะดวกในการพาทรัพย์หลบหนี มิได้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นเครื่องมือหรือเป็นส่วนหนึ่งในการลักทรัพย์ จึงเป็นทรัพย์ที่ไม่อาจริบได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 ประกอบมาตรา 225 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9559/2552
          การที่จำเลยเอายาและเครื่องเวชภัณฑ์ใส่ไว้ในถุงพลาสติก ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการไปเอาจากห้องคลังยาโดยตรงหรือในช่วงที่จำเลยเอาไปวางบนชั้นด้านหลังเคาน์เตอร์เภสัชกร ย่อมถือได้ว่าจำเลยเคลื่อนย้ายทรัพย์จากที่ตั้งตามปกติและเข้าถือเอาทรัพย์นั้นแล้ว ทั้งจำเลยยังถือถุงพลาสติกออกไปแม้จะยังไม่พ้นจากห้องจ่ายยาเพราะมีผู้พบ เห็นเสียก่อนทำให้จำเลยเอาทรัพย์ไปไม่ได้ ก็ถือว่าความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้วหาใช่เป็นเพียงพยายามลักทรัพย์ไม่ การปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้และไม่ถือเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย นอกจากนี้จำเลยเป็นลูกจ้างประจำและทำงานอยู่ในโรงพยาบาลที่เกิดเหตุ ห้องจ่ายยาผู้ป่วยในเป็นสถานที่ทำงานของจำเลยและเหตุเกิดในช่วงเวลาที่จำเลยทำงาน จึงมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยเข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วจึงลักทรัพย์ในสถานที่ดังกล่าว การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ธรรมดามิใช่ลักทรัพย์ในสถานที่ ราชการ และศาลมีอำนาจที่จะลงโทษจำเลยตามที่พิจารณาได้ความซึ่งเป็นบทที่เบากว่าได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9193/2552
แม้ทรัพย์ที่จำเลยกับพวกร่วมกันลักเป็นพระพุทธรูปและอยู่ในวัดผู้เสียหาย แต่พระพุทธรูปดังกล่าวเก็บไว้ในศาลาบำเพ็ญกุศลหลังเก่าอยู่ในสภาพถูกปล่อย ทิ้งร้างและรกรุงรัง มิได้จัดวางไว้ในที่เหมาะสมเพื่อให้ประชาชนสักการะบูชา รวมทั้งไม่มีเครื่องบูชา จึงยังถือไม่ได้ว่าพระพุทธรูปดังกล่าวเป็นที่สักการะบูชาของประชาชน ตาม ป.อ. มาตรา 335 ทวิ วรรคแรก แม้จำเลยกับพวกร่วมกันลักพระพุทธรูปดังกล่าวภายในวัดผู้เสียหายก็ไม่เป็น ความผิดตาม มาตรา 335 ทวิ วรรคสอง ทั้งศาลาบำเพ็ญกุศลมีไว้เพื่อใช้จัดงานพิธีศพ จึงมิใช่เป็นสถานที่บูชาสาธารณะ ตาม ป.อ. มาตรา 335 (9) การกระทำของจำเลยคงเป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วย กันตั้งแต่สองคนขึ้นไปและโดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิด การพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 เท่านั้น ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215, 225.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7815/2552
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลักท่อพีอี (ท่อส่งน้ำ) ที่เป็นของผู้มีอาชีพกสิกรรม แต่ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าทรัพย์ที่ถูกลักไปนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ พืชพันธ์ สัตว์ หรือเครื่องมืออันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมหรือได้มาจากการกสิกรรมตามที่ บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 335 (12) เพราะลำพังการลักทรัพย์อื่นของผู้มีอาชีพกสิกรรมย่อมไม่เป็นความผิด ตามอนุมาตรานี้ ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรา 335 (12) จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2620/2552
การที่ ฉ. และ จ. ผู้เสียหายมอบกุญแจบ้านและกุญแจห้องนอนให้จำเลยช่วยดูแลบ้านระหว่างที่ผู้เสียหายไม่อยู่ เท่ากับอนุญาตให้จำเลยเข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถานแล้ว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถานตาม ป.อ. มาตรา 335 (8) ซึ่งต้องเป็นการเข้าไปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองเคหสถานนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 413/2552
จำเลยยังมิได้พาเตาอบไฟฟ้าของผู้เสียหายออกไปพ้นนอกห้างสรรพสินค้าของผู้เสียหาย แต่ก็ได้เคลื่อนย้ายเตาอบไฟฟ้าออกจากจุดที่ผู้เสียหายเก็บหรือวางทรัพย์นั้นไว้ ทั้งยังผ่านจุดที่ลูกค้าจะต้องชำระค่าสินค้าแก่พนักงานเก็บเงินไปแล้ว จึงถือได้ว่าจำเลยพาทรัพย์ของผู้เสียหายเคลื่อนที่ไปแล้วโดยมีเจตนาทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดสำเร็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9871/2551
จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วม ตำแหน่งหัวหน้าแผนกจัดเก็บเงินและวางบิล มีหน้าที่นำส่งใบแจ้งหนี้แก่ลูกค้า รับเงินหรือเช็คที่ลูกค้าสั่งจ่ายชำระค่าสินค้า เมื่อจำเลยรับเช็คจากลูกค้าแล้วจะต้องถ่ายสำเนาเช็คดังกล่าวส่งให้แผนกรับเช็คเพื่อบันทึกรายการและตัดยอดบัญชีลูกค้าแล้วมอบเช็คแก่แผนกบัญชีของโจทก์ร่วมเพื่อเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีโจทก์ร่วม แต่ปรากฏว่าเมื่อจำเลยรับเช็คจำนวน 10 ฉบับ ซึ่งลูกค้าสั่งจ่ายชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ร่วม จำเลยได้ถ่ายสำเนาเช็คดังกล่าวส่งให้แผนกรับเช็คเพื่อบันทึกรายการและตัดยอดบัญชีลูกค้าแล้วแต่ไม่ได้นำเช็คจำนวน 10 ฉบับ นั้น ไปส่งแผนกบัญชีของโจทก์ร่วม กลับนำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินตามเช็คโดยเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย ดังนี้ เห็นว่า การที่จำเลยรับเช็คของลูกค้าของโจทก์ร่วมที่ชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ร่วมนั้น เป็นการรับในฐานะที่จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วม ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องนำเช็คดังกล่าวไปให้แผนกบัญชีของโจทก์ร่วมเพื่อเรียก เก็บเงินตามเช็คนั้น การที่เช็คจำนวน 10 ฉบับ มาอยู่ที่จำเลยจึงเป็นเรื่องที่จำเลยยึดถือเช็คดังกล่าวเพื่อโจทก์ร่วมเท่า นั้นเพราะสิทธิครอบครองในเช็คดังกล่าวอยู่ที่โจทก์ร่วมแล้ว เมื่อจำเลยนำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยจึงเป็นการเอาไปเสีย ซึ่งเช็คของโจทก์ร่วมโดยเจตนาทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7942/2551
จำเลยกับพวกร่วมกันลักทรัพย์เครื่องยนต์ซึ่งติดตั้งอยู่บนรถไถนาอันเป็นเครื่องกล ของผู้เสียหายที่มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมทำนาในเคหสถานใน เวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะ เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (7) (8) (12) วรรคสาม ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (8) (10) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ จึงเป็นการปรับบทกฎหมายไม่ถูกต้อง ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์ไม่ฎีกาศาลฎีกามีอำนาจปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้โดยไม่เพิ่มเติมโทษ จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3841/2551
เงินที่จำเลยทั้งสองพยายามลักจากตู้โทรศัพท์สาธารณะ ไม่ใช่ทรัพยที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ตาม ป.อ. มาตรา 335 (10) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ปรับบทลงโทษตามมาตรา 335 (10) จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1638/2551
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นคนร้ายร่วมกับพวกลักทรัพย์นายจ้าง หรือร่วมกันรับของโจรและพาอาวุธมีดไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร การที่ศาลชั้นต้นบันทึกคำให้การของจำเลยโดยใช้แบบพิมพ์ของศาล ซึ่งมีข้อความเป็นตัวพิมพ์ว่าข้าพเจ้าขอให้การรับสารภาพตามฟ้อง และมีถ้อยคำที่เขียนด้วยปากกาตกเติมต่อจากข้อความดังกล่าวว่าในข้อหาลัก ทรัพย์นายจ้าง ดังนี้ พอแปลความหมายของคำรับสารภาพของจำเลยได้ว่า จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง แต่เนื่องจากคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ร่วมกับพวกลักทรัพย์ นายจ้างหรือร่วมกันรับของโจร ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นเขียนถ้อยคำเพิ่มเติมต่อท้ายว่า ในข้อหาลักทรัพย์นายจ้าง ก็เพื่อเป็นการระบุให้แน่ชัดว่าจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาใดระหว่างความ ผิดในสองข้อหาดังกล่าว กรณีจึงพอถือได้ว่าจำเลยให้การรับสารภาพข้อหาร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างและพาอาวุธมีดไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามฟ้องแล้ว ซึ่งการแปลความหมายเช่นนี้ย่อมเป็นการตีความให้ตรงตามเจตนาที่แท้จริงของจำเลยและเป็นธรรมแก่คู่ความทุกฝ่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4456/2551
ใบสั่งจ่ายสินค้าที่โจทก์ร่วมมอบให้แก่ ส. ผู้รับจ้างขนส่งปุ๋ยเป็นเพียงหลักฐานเพื่อนำไปเบิกปุ๋ยจากคลังเก็บสินค้าของ โจทก์ร่วม การที่จำเลยที่ 1 รับซื้อใบสั่งจ่ายสินค้าจาก ท. ซึ่งเป็นผู้รับจ้างขนส่งช่วงจาก ส. โดยคิดตามมูลค่าปุ๋ยที่ระบุในใบสั่งจ่ายสินค้าโดยต้องการนำใบสั่งจ่ายสินค้า ไปรับปุ๋ยจากคลังเก็บสินค้าของโจทก์ร่วม มิใช่เป็นการรับซื้อเฉพาะใบสั่งจ่ายสินค้า ทั้ง ท. รู้ว่าจำเลยที่ 1 จะนำใบสั่งจ่ายสินค้าไปรับปุ๋ยจากคลังเก็บสินค้าของโจทก์ร่วมไปเป็นประโยชน์ ของตน ท. และจำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวการร่วมกันลักปุ๋ยของโจทก์ร่วมไปโดยใช้ใบสั่งจ่ายสินค้าเป็นหลักฐานในการเบิกจ่ายสินค้า การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานลักปุ๋ยของโจทก์ร่วมมิใช่เป็นเพียงรับของโจรใบสั่งจ่าย สินค้า

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร และจำเลยที่ 1 ไม่ได้หลงข้อต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4099/2551
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยใช้รถยนต์บรรทุกเป็นพาหนะเพื่อความสะดวกในการลักทรัพย์หรือพาทรัพย์นั้นไปตาม ป.อ. มาตรา 335 (7), 336 ทวิ, 83 ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดเพียงผู้เดียวโดยจำเลยที่ 2 มิได้ร่วมกระทำความผิดด้วย จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดเพียงฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 ประกอบมาตรา 336 ทวิ เท่านั้น ศาลลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานดังกล่าวตามที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3903/2551
จำเลยเอาไปเสียซึ่งเช็คของผู้เสียหายแล้วปลอมเช็คดังกล่าวโดยกรอกข้อความและจำนวน เงินในเช็คกับปลอมลายมือชื่อของผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็ค แล้วนำเช็คดังกล่าวไปเบิกเงินจากธนาคารตามเช็ค ได้รับเงินจำนวน 850,000 บาท ไป เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อจะได้เงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของผู้เสียหายเป็นหลัก การกระทำต่าง ๆ เป็นเพียงวิธีการเพื่อจะให้ได้เงินไปเท่านั้น แม้การกระทำแต่ละอย่างจะเป็นความผิดแยกต่างหากจากกัน การกระทำของจำเลยก็เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3011/2551
จำเลยขึ้นนั่งคร่อมและเข็นรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมาจากจุดที่จอดเดิมประมาณ 1 เมตร แต่จำเลยยังไม่ทันติดเครื่องรถขับเอาไปเพราะผู้เสียหายมาพบเห็นเสียก่อน จำเลยจึงทิ้งรถวิ่งหนีไปถือได้ว่าจำเลยเข้ายึดถือครอบครองและเอาทรัพย์ เคลื่อนไปในลักษณะที่พาเอาไปได้เป็นการลักทรัพย์สำเร็จแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2279/2551
การที่จำเลยเอาเครื่องรับโทรทัศน์สี 1 เครื่อง เครื่องเสียงสเตอริโอ 1 เครื่องของกลางของผู้เสียหายไปจากบ้านของผู้เสียหายเพราะ ส. ซึ่งเป็นสามีของผู้เสียหายเป็นหนี้จำเลย โดยจำเลยไม่ได้ทำให้ทรัพย์สินอย่างอื่นเสียหาย คงยกเอาทรัพย์ของกลางไปเท่านั้นโดยจำเลยบอกว่าถ้าอยากได้คืนให้ ส. เอาเงินไปไถ่ ซึ่งวันรุ่งขึ้นเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจไปที่บ้านของจำเลย ก็พบจำเลยและทรัพย์ของกลางดังกล่าว เชื่อว่าจำเลยเอาทรัพย์ของกลางไปเพื่อให้ ส. หรือผู้เสียหายไปติดต่อชำระหนี้ที่ค้างชำระต่อกันการกระทำของจำเลยจึงมิได้ เป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริตหรือเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4323/2551
การที่จำเลยที่ 1 กระชากสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองของโจทก์ร่วมไปในขณะที่จำเลยที่ 1 กำลังทำร้ายโจทก์ร่วม แล้วจำเลยที่ 1 วิ่งอ้อมไปทางด้านหลังและขว้างสร้อยคอและพระดังกล่าวทิ้งที่พงหญ้ามีน้ำขัง ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 20 เมตร ลักษณะการกระทำของจำเลยที่ 1 เช่นนี้ เป็นการแย่งการครอบครองทรัพย์ไปจากโจทก์ร่วมแล้ว และมีลักษณะเป็นการฉกฉวยซึ่งหน้าโดยทุจริต ซึ่งเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ การที่จำเลยที่ 1 ขว้างทรัพย์ทิ้งหลังจากวิ่งไปแล้ว 20 เมตร เป็นเจตนาที่เกิดขึ้นภายหลัง ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ไปได้

ป.อ. มาตรา 91 ไม่ใช่มาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดและ ป.วิ.อ. มาตรา 158 ก็มิได้ระบุให้โจทก์ต้องอ้างด้วย ประกอบกับคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายการกระทำของจำเลยที่ 1 ต่างเวลากัน แสดงว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนากระทำความผิดแต่ละส่วนแยกจากกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ดังนั้น แม้โจทก์จะไม่ได้ระบุ ป.อ. มาตรา 91 มาในคำขอท้ายฟ้อง ศาลก็ลงโทษจำเลยที่ 1 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8993/2550
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายคำว่า "กีดกั้น" ว่า ขัดขวางไว้ การที่ผู้เสียหายใช้โซ่คล้องยึดกล้องวิดีโอของกลางกับตู้โชว์ จึงเป็นการขัดขวางไม่ให้มีการนำกล้องวิดีโอของกลางไปอันมีลักษณะเป็นสิ่งกีด กั้นสำหรับคุ้มครองกล้องวิดีโอของกลางเหมือนเช่นรั้ว หรือลูกกรงหน้าต่าง ประตูบ้าน การที่จำเลยตัดโซ่คล้องที่ยึดกล้องวิดีโอของกลางกับตู้โชว์จนขาดออกแล้วลัก กล้องวิดีโอของกลางไปจึงเป็นการลักทรัพย์โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองทรัพย์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5855/2550
คำว่า "ผู้เสียหาย" ในความผิดฐานลักทรัพย์ไม่จำต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ถูกลักไป บุคคลที่เป็นผู้ครอบครองทรัพย์ที่ถูกลักไปก็เป็นผู้เสียหายได้ คดีนี้ได้ความว่าจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วมได้ร่วมกันลัก อาหารสัตว์ส่วนหนึ่งในระหว่างทางที่โจทก์ร่วมขนส่งเพื่อส่งมอบให้แก่บริษัท ซ. ผู้ซื้อ ระหว่างการขนส่งอาหารสัตว์ที่บรรทุกในรถยนต์คันเกิดเหตุ อาหารสัตว์เหล่านั้นจึงยังคงอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมย่อมได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสองเนื่องจากโจทก์ ร่วมมีหน้าที่จำต้องส่งมอบอาหารสัตว์ให้ครบจำนวนแก่บริษัท ซ. ผู้ซื้อ โจทก์ร่วมจึงมีฐานะเป็นผู้เสียหายในเหตุคดีนี้อยู่ด้วย ไม่ว่ากรรมสิทธิ์ในอาหารสัตว์ที่โจทก์ร่วมตกลงขายได้โอนไปยังบริษัท ซ. เพราะมีการชั่งน้ำหนักอันเป็นการบ่งตัวทรัพย์สินนั้นออกเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่ง ตั้งแต่ต้นทางการขนส่งโดยผลของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 460 วรรคแรก แล้วหรือไม่ก็ตาม โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเข้าดำเนินคดีเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้โดยชอบ แม้ขณะเกิดเหตุหากกรรมสิทธิ์ในอาหารสัตว์ดังกล่าวได้โอนไปยังบริษัท ซ. เสียก่อนแล้วโดยผลของกฎหมายอันเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาว่าจำเลย ทั้งสองลักทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ซ. ขณะอยู่ในความครอบครองโจทก์ร่วมผู้เป็นนายจ้างของจำเลยทั้งสองซึ่งแตกต่าง กับข้อเท็จจริงดั่งที่กล่าวในฟ้องซึ่งบรรยายว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์ของโจทก์ร่วม กรณีก็เป็นข้อแตกต่างที่มิใช่ข้อสาระสำคัญและจำเลยทั้งสองมิได้หลงข้อต่อสู้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) (11) วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 83 ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10344/2550
จำเลยใช้อุบายเข้าไปขอซื้อสินค้า เมื่อ น. ไปหยิบสินค้าและเผลอ พวกของจำเลยลงจากรถลักบุหรี่ไปจากร้านค้าของผู้เสียหาย ผู้เสียหายอยู่อีกฟากถนนและเห็นเหตุการณ์ในระยะห่าง 20 เมตร ลักษณะการกระทำดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าพวกของจำเลยเอาบุหรี่ของผู้เสียหายไป ต่อหน้าผู้เสียหาย การกระทำของพวกของจำเลยไม่เป็นการฉกฉวยเอาซึ่งหน้า ไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันวิ่งราวทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6104/2550
โจทก์บรรยายฟ้องว่าในการวิ่งราวทรัพย์ จำเลยกับพวกร่วมกันใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การ กระทำความผิดและพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นการจับกุม อันเป็นการบรรยายฟ้องให้ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ แต่บทบัญญัติดังกล่าวหาได้ให้ถือว่ายานพาหนะนั้นเป็นทรัพย์ที่ได้ใช้ในการ กระทำความผิดด้วยไม่ การที่จำเลยกับพวกใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความ ผิดและพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นการจับกุม ก็มิได้หมายความว่าจำเลยกับพวกได้ใช้รถจักรยานยนต์ดังกล่าวเป็นเครื่องมือ หรือส่วนหนึ่งในการวิ่งราวทรัพย์ รถจักรยานยนต์ของกลางจึงมิใช่ทรัพย์สินที่จำเลยกับพวกได้ใช้ในการกระทำความ ผิดฐานวิ่งราวทรัพย์โดยตรง และไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลมีอำนาจสั่งริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4882/2550
จำเลยไปหาผู้เสียหายโดยมีเจตนาเพื่อทวงหนี้ที่ผู้เสียหายค้างชำระ โดยก่อนเกิดเหตุจำเลยพยายามยกถังแก๊สที่ผู้เสียหายใช้หุงต้มในการขายก๋วยเตี๋ยวไปเพื่อการชำระหนี้ แต่จำเลยเอาไปไม่ได้เพราะสามีผู้เสียหายไม่ยอมให้เอาไป ต่อมาจำเลยกับผู้เสียหายก็โต้เถียงกันอีกเรื่องที่ผู้เสียหายไม่ชำระหนี้ให้จำเลย ทำให้จำเลยโกรธแค้นจึงเข้ากระชากสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายและเอาสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายไปครึ่งเส้น แม้เพื่อชดเชยที่ผู้เสียหายไม่ยอมชำระหนี้ แต่การบังคับชำระหนี้ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย มิใช่กระชากสร้อยคอทองคำครึ่งเส้นของผู้เสียหายไปโดยพลการ ทั้งมูลหนี้ที่จำเลยมาทวงผู้เสียหายนั้น ผู้เสียหายเบิกความว่าเกิดจากหนี้การพนันหวยใต้ดิน ซึ่งจำเลยก็มิได้โต้แย้ง จึงเป็นมูลหนี้ที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมไม่ก่อให้เกิดหนี้ที่ผู้เสียหายพึงชำระและแม้จำเลยเบิกความว่าเป็นหนี้ เงินยืม จำเลยก็รับว่าที่ผู้เสียหายไม่ยอมชำระหนี้ดังกล่าว ก็เพราะไม่มีลายมือชื่อของผู้เสียหาย หนี้กู้ยืมเงิน 2,000 บาท ของผู้เสียหายจึงไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ยืม จำเลยย่อมฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ กรณีจึงไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยจะฟ้องร้องบังคับคดีต่อผู้เสียหายได้ด้วย ดังนั้น การกระชากสร้อยคอครึ่งเส้นของจำเลยดังกล่าว จึงเป็นการเอาไปโดยทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยย่อมมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 336

ตามพฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยขับรถยนต์ไปพบผู้เสียหายเพื่อทวงหนี้ แต่ผู้เสียหายไม่ยอมชำระหนี้ได้เกิดโต้เถียงกัน จำเลยจึงกระชากสร้อยคอของผู้เสียหายไปได้ครึ่งเส้น เพื่อบังคับชำระหนี้แล้วขับรถยนต์ออกไปจากบริเวณที่เกิดเหตุนั้นยังฟังไม่ ได้ว่าจำเลยมีเจตนาใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้น ไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 336 ทวิ

การกระทำความผิดของจำเลยเป็นการกระทำที่อุกอาจไม่เคารพต่อกฎหมายของบ้าน เมืองส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลซึ่ง อยู่ร่วมกันในสังคม พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง กรณีจึงไม่ควรรอการลงโทษให้จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2884/2550
จำเลยไม่ได้มีเจตนาที่จะชิงทรัพย์ของผู้เสียหายมาแต่แรก แต่สาเหตุเนื่องจากผู้เสียหายกับจำเลยมีเรื่องวิวาทกันก่อน จำเลยสู้ไม่ได้จึงพาพรรคพวกคือ ส. และ ท. มารุมทำร้ายผู้เสียหายในภายหลัง ที่จำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปน่าจะเป็นผลพลอยได้จากการที่ผู้เสียหายถูก ทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บแล้วมากกว่า มิฉะนั้นจำเลยคงไม่พูดประโยคว่า "มึงทำกูเจ็บ ก็ต้องเอาของมึง" ซึ่งมีลักษณะเป็นการแก้แค้นจากการถูกผู้เสียหายทำร้ายมาก่อน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายและลักทรัพย์ของผู้เสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5616/2550
องค์ประกอบเบื้องต้นในความผิดฐานลักทรัพย์ต้องได้ความว่า จำเลยเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบแต่เพียงว่า จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วม นำบัตรโทรศัพท์ของโจทก์ร่วมไปให้ ร. นำไปจำหน่ายตั้งแต่เดือนมกราคม 2542 ถึงมีนาคม 2543 เป็นเงิน 1,240,000 บาท แล้วไม่นำเงินส่งคืนให้แก่โจทก์ร่วม โดยไม่ปรากฏว่าขณะที่จำเลยนำบัตรโทรศัพท์ของโจทก์ร่วมไปให้ ร. จำหน่ายนั้นจำเลยมีเจตนาทุจริตหรือสมคบกับ ร. กระทำการโดยทุจริตอย่างใด ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับผลประโยชน์อื่นใดจากการกระทำดังกล่าว จำเลยนำบัตรโทรศัพท์ของโจทก์ร่วมไปให้ใครจำหน่ายก็ได้โดยไม่จำต้องขออนุญาตโจทก์ร่วมก่อน เว้นแต่บัตรโทรศัพท์ที่นำไปจำหน่ายมีจำนวนมาก แต่ก็ไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าจำนวนเท่าใดจึงต้องขออนุญาตโจทก์ร่วมก่อน อย่างไรก็ดีแม้จะฟังว่าการที่จำเลยนำบัตรโทรศัพท์ไปให้ ร. จำหน่ายโดยไม่ได้ขออนุญาตโจทก์ร่วม จำเลยก็เพียงแต่ปฏิบัติหน้าที่ผิดระเบียบที่โจทก์ร่วมวางไว้เท่านั้น ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาทุจริต หากโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายเพราะเหตุที่จำเลยปฏิบัติงานไม่ถูกต้องหรือ ร. นำบัตรโทรศัพท์ไปจำหน่ายแล้วไม่ส่งเงินคืนโจทก์ร่วมก็เป็นเรื่องที่โจทก์ ร่วมจะต้องว่ากล่าวในทางอื่นกับบุคคลทั้งสองต่อไป ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4790/2550
ตามคำฟ้องโจทก์ที่บรรยายเกี่ยวกับความผิดฐานลักทรัพย์นั้นมีความหมายว่าเหตุลัก ทรัพย์เกิดระหว่างเวลากลางคืนก่อนเที่ยงของวันที่ 22 มกราคม 2545 ถึงเวลากลางวันของวันเดียวกัน โดยมีคำขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 334 และมาตรา 335 มาด้วย ตามคำฟ้องโจทก์เวลาเกิดเหตุลักทรัพย์นั้นจึงอาจเป็นเวลากลางคืนก่อนเที่ยง หรือเวลากลางวันก็ได้ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้องโดยมิได้ระบุว่าลักทรัพย์ในเวลากลางวันหรือในเวลากลางคืนจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์ในเวลาใดแน่ โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบให้เห็นได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5889/2550
ผู้เสียหายเป็นหนี้มารดาของจำเลย และผิดนัดไม่ชำระหนี้อันเป็นกรณีที่มารดาของจำเลยถูกโต้แย้งสิทธิและต้องใช้ สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้ผู้เสียหายให้ชำระหนี้ตามที่บัญญัติในมาตรา 55 และบทบัญญัติทั้งปวงแห่ง ป.วิ.พ.ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยในการข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมหรือจะยอมชำระหนี้นั้นให้มารดาจำเลย และไม่ทำให้การกระทำของจำเลยที่เป็นความผิดฐานกรรโชกตาม ป.อ. มาตรา 337 กลายเป็นการกระทำที่ไม่เป็นความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3412/2550
กระบือเป็นของโจทก์ร่วม แต่ขณะเกิดเหตุ น. ทำให้จำเลยเชื่อว่ากระบือเป็นของ น. มีสิทธิยกให้จำเลยเป็นการชดใช้ค่าเสียหาย การที่จำเลยนำซากกระบือไปชำแหละขายจึงกระทำไปโดยเข้าใจว่ามีสิทธิกระทำได้ จำเลยไม่มีเจตนาทุจริต การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์

โจทก์ร่วมกับจำเลยได้ตกลงเกี่ยวกับค่าเสียหายที่กระบือของโจทก์ร่วมทำให้สวน แตงโมของจำเลยเสียหายและค่าเสียหายราคากระบือที่จำเลยยิงตายโดยทำบันทึกไว้ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2544 คู่กรณีตกลงกันแล้วต่างฝ่ายต่างไม่ติดใจเรียกร้องฟ้องกันทั้งทางแพ่งและอาญา โดยจำเลยได้ช่วยเหลือค่าเสียหายของกระบือที่ถูกยิงตายให้โจทก์ร่วมเป็นเงิน 7,000 บาท จะนำเงินมาจ่ายให้หมดในวันที่ 1 ตุลาคม 2545 แล้วลงชื่อโจทก์ร่วมและจำเลย เป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยชอบด้วยกฎหมายมีผลให้สิทธินำคดีอาญา มาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) แม้ต่อมาจำเลยจะไม่ชำระค่าเสียหายตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ร่วมก็ไม่มีสิทธิร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาทำให้เสียทรัพย์หลังจากมีการยอมความกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2550
โจทก์ฟ้องจำเลยแยกเป็น 2 ข้อ คือ ข้อ 1.1 และข้อ 1.2 การกระทำตามที่บรรยายฟ้องมาแต่ละข้อเป็นความผิดสำเร็จในตัวเอง โดยโจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.1 ว่า จำเลยได้ลักทรัพย์และเอาไปเสียซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร ก. ที่ออกให้แก่ผู้เสียหายไปโดยทุจริต ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ธนาคาร ก. ผู้อื่นและประชาชน ความผิดดังกล่าวย่อมสำเร็จเมื่อจำเลยลักเอาบัตรดังกล่าวไป และโจทก์ได้บรรยายฟ้องข้อ 1.2 ว่าภายหลังการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 แล้ว จำเลยได้นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวไปใช้ลักทรัพย์เบิกถอนโอนเงินออกจาก บัญชีเงินฝากของผู้เสียหายโดยทุจริต ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ธนาคาร ก. ผู้อื่นและประชาชน ดังนี้ การกระทำของจำเลยในข้อ 1.2 จึงเป็นคนละวาระกันกับการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 ทั้งทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดก็แตกต่างกัน กล่าวคือ ทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.2 คือเงินจำนวน 92,640 บาท เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง จึงถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาต่างกัน การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดหลายกรรม หาใช่กรรมเดียวดังที่จำเลยฎีกาไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3150/2549
จำเลย ที่ 1 ทวงเงินจาก อ. ไม่ได้ จึงพาพวกไปทวงเงินจาก อ. ในเวลาที่ต่อเนื่องกัน เมื่อ อ. ไม่ยอมคืนเงินและไม่ยอมออกมาพบจึงใช้อำนาจบังคับโดยพลการเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปขณะนั้น แม้ข้อเท็จจริงปราฏว่าจำเลยที่ 1 กับพวกใช้กุญแจที่ไม่ใช้กุญแจรถจักรยานยนต์ของกลางติดเครื่องยนต์นำรถจักรยานยนต์ของกลางออกไป อีกทั้งรถจักรยานยนต์ของกลางมีราคา 26,000 บาท สูงกว่าจำนวนหนี้ 300 บาท อยู่มากก็ตาม จำเลยที่ 1 กับพวกคงไม่ได้คิดว่ารถจักรยานยนต์ของกลางมีราคาสูงเท่าใด หากแต่ต้องการเพียงให้ อ. ที่จำเลยที่ 1 เข้าใจว่าเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์นำเงินมาชำระหนี้ตนเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกจึงมิได้มีเจตนาเอารถจักรยานยนต์ของกลางไปโดยทุจริต ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้อง และเหตุดังกล่าวเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่มิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1484/2549
จำเลยขู่เข็ญให้ผู้เสียหายที่ 1 นำเงินจำนวน 5,500 บาท มามอบให้เป็นค่าไถ่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายที่ 1 และหากไม่นำมาให้จะไม่ได้รับโทรศัพท์คืน จำเลยจะนำไปขายให้แก่บุคคลอื่น เข้าลักษณะเป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายที่ 1 โดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญคือขายโทรศัพท์ เคลื่อนที่ของผู้เสียหายที่ 1 ไป ซึ่งทำให้ผู้เสียหายที่ 1 เกิดความกลัวและยินยอมจะนำเงินจำนวน 5,500 บาท ไปให้จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเข้าลักษณะความผิดฐานกรรโชก ตาม ป.อ. มาตรา 337

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1865/2549
จำเลยกับ ส. เป็นเพื่อนสนิทกัน ก่อนเกิดเหตุ ส. เคยบอกจำเลยว่า ส. ไม่มีรถใช้ อยากได้รถจักรยานยนต์ไว้ใช้สักคัน ซึ่งแสดงว่าจำเลยทราบว่า ส. ประสงค์จะลักรถจักรยานยนต์มาใช้ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุแล้ว ขณะที่จำเลยกับ ส. พากันกลับไปที่ด้านหน้าบริษัท ย. ที่จำเลยจอดรถจักรยานยนต์ของตนไว้ ส. เห็นมีรถจักรยานยนต์หลายคันจอดอยู่ในบริเวณดังกล่าว ส. ได้บอกจำเลยว่าอยากได้รถจักรยานยนต์ไปใช้สักคัน ดังนั้น การที่จำเลยส่งกุญแจรถจักรยานยนต์ให้แก่ ส. ไปทดลองไขดูและยังยืนอยู่ในที่เกิดเหตุพร้อมที่จะช่วยเหลือ ส. ได้ทันที ทั้งเมื่อ ส. ใช้กุญแจไขและติดเครื่องรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายได้แล้ว จำเลยกับ ส. ก็ขับรถจักรยานยนต์หลบหนีออกไปจากที่เกิดเหตุพร้อมกัน นอกจากนี้เมื่อพากันกลับไปถึงที่ทำงานของ ส. แล้ว ส. ยังได้พูดขอจำเลยเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไว้ใช้เอง ตามพฤติการณ์จึงถือได้ว่า จำเลยเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานลักทรัพย์กับ ส. ด้วย มิใช่เป็นผู้ใช้หรือเป็นเพียงผู้สนับสนุน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1082/2549
จำเลย ที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันของผู้เสียหายเข้ามาจอดที่บริเวณบ้านของจำเลยที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขายน้ำมันที่จำเลยที่ 1 จะดูดออกจากถังน้ำมันของรถยนต์บรรทุกให้แก่จำเลยที่ 2 ขณะที่จำเลยที่ 1 ใช้คีมตัดลวดและซีลซึ่งใช้ปิดฝาถังน้ำมันเพื่อเปิดฝาถังน้ำมันออก โดยจำเลยที่ 2 ถือถังน้ำมันเตรียมไว้รองรับน้ำมันที่จำเลยที่ 1 จะลักมาขายให้ก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุม การที่จำเลยที่ 2 เตรียมถังน้ำมันไว้รองรับน้ำมันที่จำเลยที่ 1 จะลักจากรถยนต์บรรทุกน้ำมัน จำเลยที่ 2 ได้กระทำไปโดยมีเจตนาจะรับซื้อน้ำมันจากจำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่อาจถือได้ว่าการที่จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 นำรถยนต์บรรทุกน้ำมันเข้ามาจอดในบริเวณบ้านของตนเป็นการกระทำโดยเจตนาช่วย เหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ในการลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 593/2549
ตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ซึ่งโจทก์ส่งไว้ต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ก. เป็นเอกสารราชการ นอกจากนี้ ส. กรรมการโจทก์ได้ลงชื่อรับรองว่าเป็นรายการที่ถูกต้องตรงกับสมุดทะเบียนผู้ ถือหุ้น ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1141 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้อง เอกสารดังกล่าวระบุว่าจำเลยที่ 1 ถือหุ้นอยู่ในบริษัทโจทก์จำนวน 5,000 หุ้น เมื่อโจทก์ไม่สามารถหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้ ดังนั้น จำเลยที่ 1 ซึ่งถือหุ้นจำนวน 5,000 หุ้น รองจาก ส. กรรมการโจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับการแบ่งผลกำไรจากการทำธุรกิจร่วมกันกับโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 กับโจทก์มีปัญหาเรื่องผลประโยชน์กันโดยจำเลยที่ 1 เห็นว่า โจทก์ไม่แบ่งผลประโยชน์ให้ จึงถอดเครื่องอุปกรณ์ของเครื่องจักรในโรงงานและเอาสีต่าง ๆ ไปเก็บไว้เพื่อต่อรองให้โจทก์จ่ายผลประโยชน์ในส่วนที่ตนพึงจะได้รับเครื่อง อุปกรณ์ชิ้นส่วนดังกล่าวเมื่อนำมาติดตั้งใหม่ก็สามารถติดตั้งและใช้งานได้ดีตามปกติ การกระทำของจำเลยที่ 1 เห็นได้ว่ามิได้ประสงค์ต่อผลที่จะเอาทรัพย์ของโจทก์ไปเป็นของตนหรือของผู้อื่น แสดงว่าจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาทุจริตแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์นำสิ่งของดังกล่าวไปฝากไว้ที่บ้านของจำเลยที่ 3 จึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ ส่วนจำเลยที่ 3 ก็ไม่มีความผิดฐานรับของโจร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4165/2549
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลักบัตรถอนเงินสดของผู้เสียหายในเคหสถาน อันเป็นการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (8) วรรคแรก และจำเลยใช้บัตรดังกล่าวเบิกถอนเงินสดผ่านเครื่องฝาก - ถอนเงินอัตโนมัติ อันเป็นการลักทรัพย์ของผู้เสียหายอีกจำนวน 5 ครั้ง ซึ่งเป็นการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 334 และจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตามคำฟ้องว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลัก ทรัพย์ในเคหสถานตาม ป.อ. มาตรา 335 และลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 แม้ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์จะขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 335 เพียงมาตราเดียว แต่ความผิดข้อหาลักทรัพย์ในเคหสถานตามที่โจทก์ฟ้องนั้นรวมการกระทำความผิดข้อหาลักทรัพย์ ซึ่งเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง การที่ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 ด้วยจึงเป็นการลงโทษจำเลยในการกระทำผิดตามที่พิจารณาได้ความ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย มิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

จำเลยลักบัตรถอนเงินสดไปจากผู้เสียหาย แล้วนำไปลักเงินของผู้เสียหายโดยผ่านเครื่องฝาก - ถอนเงินอัตโนมัติรวมจำนวน 5 ครั้ง ทรัพย์ที่จำเลยลักเป็นคนละประเภทและเป็นความผิดสำเร็จในตัวต่างกรรมต่างวาระ และอาศัยเจตนาแตกต่างแยกจากกันได้จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3150/2549
จำเลย ที่ 1 ทวงเงินจาก อ. ไม่ได้ จึงพาพวกไปทวงเงินจาก อ. ในเวลาที่ต่อเนื่องกัน เมื่อ อ. ไม่ยอมคืนเงินและไม่ยอมออกมาพบจึงใช้อำนาจบังคับโดยพลการเอารถจักรยานยนต์ ของผู้เสียหายไปขณะนั้น แม้ข้อเท็จจริงปราฏว่าจำเลยที่ 1 กับพวกใช้กุญแจที่ไม่ใช้กุญแจรถจักรยานยนต์ของกลางติดเครื่องยนต์นำรถ จักรยานยนต์ของกลางออกไป อีกทั้งรถจักรยานยนต์ของกลางมีราคา 26,000 บาท สูงกว่าจำนวนหนี้ 300 บาท อยู่มากก็ตาม จำเลยที่ 1 กับพวกคงไม่ได้คิดว่ารถจักรยานยนต์ของกลางมีราคาสูงเท่าใด หากแต่ต้องการเพียงให้ อ. ที่จำเลยที่ 1 เข้าใจว่าเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์นำเงินมาชำระหนี้ตนเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกจึงมิได้มีเจตนาเอารถจักรยานยนต์ของกลางไปโดยทุจริต ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้อง และเหตุดังกล่าวเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่มิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 131/2546
วันเกิดเหตุขณะผู้เสียหายกำลังจัดของอยู่กลางร้าน จำเลยทั้งสี่เข้ามาในร้านผู้เสียหายถามว่ามาซื้ออะไร จำเลยที่ 1 บอกว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมาดูแลความเรียบร้อยในร้าน ต้องการเงิน 5,000 บาท เป็นค่าดูแล ผู้เสียหายรู้สึกไม่ปลอดภัยจึงเดินไปหลังร้านโทรศัพท์ไปที่สถานีตำรวจแต่ไม่ ติด เมื่อเดินออกมาหน้าร้านก็เห็นจำเลยทั้งสี่เดินขึ้นรถยนต์กระบะไป จะเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 เพียงแต่อ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและพูดขอเงินเป็นค่าดูแลร้านเท่านั้น ซึ่งผู้เสียหายจะให้หรือไม่ก็ได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะทำอันตราย ต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้เสียหายหรือบุคคลที่สามแต่อย่างใด และจำเลยทั้งสี่ไม่ได้รอเอาเงินจากผู้เสียหายตามที่พูด คำพูดของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพและทรัพย์สินของ ผู้เสียหาย ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6624/2545
แม้ขณะจำเลยที่ 1 กระชากสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองคำของผู้เสียหายสร้อยคอพร้อมพระดังกล่าวจะอยู่ที่มือจำเลยที่ 1 แต่ก็เป็นเพียงการกระทำที่มุ่งหมายจะให้สร้อยคอพร้อมพระขาดหลุดจากคอผู้เสียหาย เมื่อปรากฏว่าสร้อยคอทองคำดังกล่าวตกอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ ส่วนพระเลี่ยมทองคำนั้นหาไม่พบ ทั้งขณะเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นตัวจำเลยก็ไม่พบพระเลี่ยมทองคำดังกล่าวแสดงว่าหลังจากกระชากแล้วสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองคำหลุดจากมือจำเลยที่ 1 ตกลงพื้น จำเลยที่ 1 ยังไม่ทันเข้ายึดถือครอบครองสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองคำดังกล่าว เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1ได้ลงมือกระทำความผิดแล้วแต่ยังไม่อาจยึดถือครอบครองสร้อยคอทองคำพร้อมพระ เลี่ยมทองคำนั้นได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นเพียงความผิดฐานพยายามวิ่งราวทรัพย์ แม้จำเลยที่ 1 จะไม่สามารถเอาพระเลี่ยมทองคำของผู้เสียหายไปได้แต่ผลจากการกระทำความผิดของ จำเลยที่ 1 ทำให้ผู้เสียหายสูญเสียพระเลี่ยมทองคำไป จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดคืนหรือใช้ราคาพระเลี่ยมทองคำแก่ผู้เสียหาย สำหรับรถจักรยานยนต์ของกลาง เมื่อปรากฏว่าขณะเกิดเหตุผู้เสียหายขับรถยนต์อยู่ จำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์ของกลางเข้าประกอบแล้วจำเลยที่ 1 ซึ่งนั่งซ้อนท้ายกระชากสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองคำของผู้เสียหาย พฤติการณ์เห็นได้ว่าเป็นการใช้รถจักรยานยนต์ของกลางในการกระทำความผิดโดยตรง จึงต้องริบรถจักรยานยนต์ของกลาง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7126/2542
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ เป็นบทบัญญัติ ถึงเหตุที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335,335 ทวิ หรือมาตรา 336 ต้องระวางโทษ หนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ กึ่งหนึ่งเท่านั้น หาใช่เป็นบทบัญญัติเรื่องของการเพิ่มโทษเหมือนเช่นที่ บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 และมาตรา 93 ไม่ การที่ศาลพิพากษากำหนดโทษจำคุกจำเลยและเพิ่มโทษกึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 336 ทวิ นั้น จึงไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5014/2542
การที่ศาลจะมีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการ กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) นั้น มุ่งหมายถึงให้ริบตัวทรัพย์สินที่ผู้กระทำความผิดได้ใช้ในการกระทำความผิดนั้น ๆ โดยตรงคือทรัพย์สินนั้นจะต้องเกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดด้วยการที่จำเลยใช้รถยนต์กระบะของกลางเป็นยานพาหนะเพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์ การพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นการจับกุม แต่ก็มิได้ความว่าจำเลยได้ใช้รถยนต์กระบะดังกล่าวเป็นเครื่องมือหรือเป็นส่วนหนึ่งในการลักทรัพย์ อันจะให้ถือได้ว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้กระทำความผิด แม้การกระทำของจำเลยตามฟ้องจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1) วรรคแรก,336 ทวิ ก็ตาม แต่ตามมาตรา 336 ทวิ ก็เป็นเพียงบทบัญญัติให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 335(1) วรรคสอง หนักขึ้นเพราะเหตุที่จำเลยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อความสะดวกแก่การลัก ทรัพย์ หรือพาเอาทรัพย์หรือเพื่อให้จำเลยพ้นจากการจับกุมเท่านั้น รถยนต์กระบะของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานลัก ทรัพย์โดยตรง ศาลริบไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5457/2541
ฉ. ได้ขับรถบรรทุกลากจูงรถพ่วงบรรทุกม้วนกระดาษดราฟท์ เพื่อไปส่งให้แก่ผู้เสียหาย แต่เมื่อไปถึงสถานที่จะขนถ่าย ม้วนกระดาษดราฟท์ ที่บรรทุกมาทั้งหมดลง จำเลยและ ฉ. กลับร่วมกันนำม้วนกระดาษดราฟท์ ที่บรรทุกอยู่ในรถพ่วงไปขายให้ผู้อื่น เมื่อกระดาษดราฟท์ ที่จำเลยกับพวกลักทรัพย์นั้นได้บรรทุกอยู่บนรถพ่วงซึ่งถูกลากจูงโดยรถบรรทุกเพื่อขนส่ง ไปยังสถานที่ขนถ่ายอยู่ก่อนแล้ว การที่จำเลยกับ ฉ.ร่วมกันลักกระดาษดราฟท์ โดยใช้รถข้างต้นซึ่งบรรทุก กระดาษดราฟท์มาแต่แรกและฉ.เป็นลูกจ้างผู้มีหน้าที่ขับรถคันดังกล่าวแล้ว ดังนี้ การกระทำของจำเลยกับ ฉ. จึงมิใช่เป็นการลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่ การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป กรณีไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ แม้จำเลยกับ ฉ. เคยถูกฟ้องเป็นคดีเดียวกัน แต่ ฉ.ให้การรับสารภาพศาลชั้นต้นพิพากษาว่าฉ.กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 วรรคสาม,336 ทวิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 435/2536
จำเลยมีหน้าที่ขับรถยนต์บรรทุกขนส่ง และลักเอาโทรทัศน์สีที่บรรทุกอยู่บนรถนั้นเอง แม้จะได้ความว่า จำเลยขับรถคันเกิดเหตุออกนอกเส้นทางหลบไปที่อื่น เพื่อประสงค์จะลักโทรทัศน์สีของผู้เสียหายก็ตาม การกระทำของจำเลยก็มิใช่เป็นการลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไปไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 254/2536
ขณะที่จำเลยเข้าทำการวิ่งราวทรัพย์ผู้เสียหาย เพื่อนของจำเลยติดเครื่องรถจักรยานยนต์รออยู่ไม่ไกล แล้วจำเลยวิ่งหนีขึ้นรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวหลบหนีไป ถือว่าจำเลยกระทำการวิ่งราวทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกในการกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือให้พ้นจากการจับกุม อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 336 วรรคแรก,83 ประกอบมาตรา 336 ทวิ แล้ว หาจำเป็นที่จำเลยจะต้องนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์เข้าทำการวิ่งราวทรัพย์เสมอไปไม่