ความผิดเกี่ยวกับดวงตรา แสตมป์และตั๋ว

มาตรา ๒๕๐ ผู้ใดทำปลอมขึ้นซึ่งดวงตราแผ่นดิน รอยตราแผ่นดิน หรือพระปรมาภิไธย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท

มาตรา ๒๕๑ ผู้ใดทำปลอมขึ้นซึ่งดวงตราหรือรอยตราของทบวงการเมือง ขององค์การสาธารณ หรือของเจ้าพนักงาน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

มาตรา ๒๕๒ ผู้ใดใช้ดวงตรา รอยตราหรือพระปรมาภิไธยดังกล่าวมาในมาตรา ๒๕๐ หรือมาตรา ๒๕๑ อันเป็นดวงตรา รอยตราหรือพระปรมาภิไธยที่ทำปลอมขึ้น ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ

มาตรา ๒๕๓ ผู้ใดได้มาซึ่งดวงตราหรือรอยตราดังกล่าวในมาตรา ๒๕๐ หรือมาตรา ๒๕๑ ซึ่งเป็นดวงตราหรือรอยตราอันแท้จริง และใช้ดวงตราหรือรอยตรานั้นโดยมิชอบในประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๕๐ หรือมาตรา ๒๕๑ นั้น

มาตรา ๒๕๔ ผู้ใดทำปลอมขึ้นซึ่งแสตมป์รัฐบาล ซึ่งใช้สำหรับการไปรษณีย์ การภาษีอากรหรือการเก็บค่าธรรมเนียม หรือแปลงแสตมป์รัฐบาลซึ่งใช้ในการเช่นว่านั้นให้ผิดไปจากเดิม เพื่อให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีมูลค่าสูงกว่าจริง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

มาตรา ๒๕๕ ผู้ใดนำเข้าในราชอาณาจักรซึ่งดวงตราแผ่นดิน รอยตราแผ่นดิน พระปรมาภิไธย ดวงตราหรือรอยตราของทบวงการเมือง ขององค์การสาธารณ หรือของเจ้าพนักงาน หรือแสตมป์ซึ่งระบุไว้ในมาตรา ๒๕๐ มาตรา ๒๕๑ หรือมาตรา ๒๕๔ อันเป็นของปลอม หรือของแปลง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท

มาตรา ๒๕๖ ผู้ใดลบ ถอนหรือกระทำด้วยประการใดๆ แก่แสตมป์รัฐบาลซึ่งระบุไว้ในมาตรา ๒๕๔ และมีเครื่องหมายหรือการกระทำอย่างใดแสดงว่าใช้ไม่ได้แล้ว เพื่อให้ใช้ได้อีก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๒๕๗ ผู้ใดใช้ ขาย เสนอขาย แลกเปลี่ยน หรือเสนอแลกเปลี่ยนซึ่งแสตมป์อันเกิดจากการกระทำดังกล่าวในมาตรา ๒๕๔ หรือมาตรา ๒๕๖ ไม่ว่าการกระทำตามมาตรานั้นๆ จะได้กระทำภายในหรือนอกราชอาณาจักร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๒๕๘ ผู้ใดทำปลอมขึ้นซึ่งตั๋วโดยสารซึ่งใช้ในการขนส่งสาธารณ หรือแปลงตั๋วโดยสารซึ่งใช้ในการขนส่งสาธารณให้ผิดไปจากเดิม เพื่อให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีมูลค่าสูงกว่าจริง หรือลบ ถอน หรือกระทำด้วยประการใดๆ แก่ตั๋วเช่นว่านั้น ซึ่งมีเครื่องหมายหรือการกระทำอย่างใด แสดงว่าใช้ไม่ได้แล้วเพื่อให้ใช้ได้อีก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๒๕๙ ถ้าการกระทำตามมาตรา ๒๕๘ เป็นการกระทำเกี่ยวกับตั๋วที่จำหน่ายแก่ประชาชนเพื่อผ่านเข้าสถานที่ใดๆ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๒๖๐ ผู้ใดใช้ ขาย เสนอขาย แลกเปลี่ยนหรือเสนอแลกเปลี่ยนซึ่งตั๋วอันเกิดจากการกระทำดังกล่าวในมาตรา ๒๕๘ หรือมาตรา ๒๕๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


มาตรา ๒๖๑ ผู้ใดทำเครื่องมือหรือวัตถุสำหรับปลอมหรือแปลงสิ่งใดๆ ซึ่งระบุไว้ในมาตรา ๒๕๔ มาตรา ๒๕๘ หรือมาตรา ๒๕๙ หรือมีเครื่องมือหรือวัตถุเช่นว่านั้นเพื่อใช้ในการปลอมหรือแปลง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๒๖๒ ถ้าการกระทำดังกล่าวในมาตรา ๒๕๔ มาตรา ๒๕๖ มาตรา ๒๕๗ หรือมาตรา ๒๖๑ เป็นการกระทำเกี่ยวกับแสตมป์รัฐบาลต่างประเทศ ผู้กระทำต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ

มาตรา ๒๖๓ ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๒๕๐ มาตรา ๒๕๑ มาตรา ๒๕๔ มาตรา ๒๕๖ มาตรา ๒๕๘ มาตรา ๒๕๙ หรือมาตรา ๒๖๒ ได้กระทำความผิดตามมาตราอื่นที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ อันเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดจากการกระทำความผิดนั้นด้วย ให้ลงโทษผู้นั้นตามมาตรา ๒๕๐ มาตรา ๒๕๑ มาตรา ๒๕๔ มาตรา ๒๕๖ มาตรา ๒๕๘ มาตรา ๒๕๙ หรือมาตรา ๒๖๒ แต่กระทงเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5843/2552
มูลคดีที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 3 กับพวกร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 ถึง ข้อ 1.4 โดยร่วมกันปลอมและประทับดวงตราปลอม และลงลายมือชื่อปลอมบัตรประจำตัวบุคคลพื้นที่สูงอันเป็นเอกสารราชการ ปลอมหนังสืออนุญาตให้บุคคลพื้นที่สูงออกนอกเขตที่พักอาศัยหรือพื้นที่ออก บัตรเป็นการชั่วคราวอันเป็นเอกสารราชการและประทับดวงตราปลอมและลงลายมือชื่อปลอม ปลอมแบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงอันเป็นเอกสารราชการ และปลอมทะเบียนบ้านของบุคคลที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรให้แก่บุคคล 1 คน โดยบรรยายฟ้องว่าเป็นการกระทำความผิดในวันที่ 23 พฤษภาคม 2547 เวลากลางวัน พฤติการณ์แห่งคดีเห็นได้ว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดดังกล่าวในคราวเดียวกัน ด้วยมีเจตนาที่จะปลอมเอกสารดังกล่าวต่อเนื่องกันเพื่อให้เอกสารบริบูรณ์เท่านั้น หาได้มีเจตนาหลายเจตนาที่จะให้เกิดผลต่างกรรมกันแต่อย่างใดไม่ แม้จะมีการใช้ดวงตราปลอมในเอกสาร 2 ฉบับ ก็ตาม ก็ไม่เป็นความผิดฐานใช้ดวงตราปลอม 2 กรรมการกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นความผิดกรรมเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 657/2541
โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องว่า จำเลยปลอมหนังสือรับรองที่ อนุญาตทำงานเฉพาะบุคคลอยู่พื้นที่สูงใช้ในกรณีไปทำงาน นอกพื้นที่ควบคุมซึ่งเป็นเอกสารราชการและยังได้ปลอมดวงตรา ของเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองอำเภอส. แล้วประทับดวงตราปลอมดังกล่าวลงในหนังสือรับรองที่อนุญาตทำงานเฉพาะบุคคล อยู่พื้นที่สูงใช้ในกรณีไปทำงานนอกพื้นที่ควบคุมที่ปลอมขึ้น เช่นกันดังกล่าวนั้น พฤติการณ์แห่งคดีเห็นได้ว่าจำเลย กระทำการดังกล่าวก็ด้วยมีเจตนาที่จะปลอมหนังสือรับรองที่อนุญาตทำงานเฉพาะบุคคลอยู่พื้นที่สูงใช้ในกรณีไปทำงานนอกพื้นที่ควบคุม ทั้งฉบับให้สำเร็จบริบูรณ์เท่านั้น กรณีหาได้มีการกระทำอื่นใดอีกไม่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการและทำดวงตราปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265,251 อันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1293/2537
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษาคดีเจ็ดสำนวนรวมกันเพราะเป็นคดีเกี่ยวพันกัน จึงลงโทษจำเลยได้ไม่เกินกำหนดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 ซึ่งมีโทษจำคุกอย่างสูงห้าปีทั้งเจ็ดสำนวน และศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษฐานปลอมรอยตราตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 251 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดมีโทษจำคุกอย่างสูงถึงเจ็ดปี โดยศาลอุทธรณ์กับศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำคุกจำเลยไว้สำนวนละ 1 ปี 4 เดือน เมื่อรวมโทษที่โจทก์ฟ้องเจ็ดสำนวน เป็นจำคุกทั้งหมด 9 ปี 4 เดือนไม่เกินยี่สิบปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2) จึงนับโทษจำคุกจำเลยต่อกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4772/2536
เมื่อจำเลยเป็นคนนำใบอนุญาตขับรถยนต์ปลอมไปมอบให้ ช.โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นเอกสารปลอม และใบอนุญาตขับรถยนต์ดังกล่าวได้มีรอยตราประทับของกรมการขนส่งทางบกซึ่งมิ ใช่รอยตราประทับที่แท้จริง จำเลยจึงมีความผิดฐานใช้รอยตราปลอมและการที่จำเลยรับจะเป็นคนติดต่อทำใบอนุญาตขับรถยนต์ให้แก่ผู้ประสงค์จะมีใบอนุญาตดังกล่าวโดยไม่ต้องผ่านการสอบ ของกรมการขนส่งทางบกย่อมหมายความว่าจำเลยสามารถจะนำใบอนุญาตที่แท้จริงมาให้ แก่บุคคลดังกล่าวได้เมื่อจำเลยนำใบอนุญาตปลอมมาให้จึงเท่ากับเป็นการอ้างแก่ บุคคลเหล่านั้นว่าเป็นเอกสารราชการที่แท้จริง จำเลยจึงมีความผิดฐานอ้างเอกสารราชการปลอม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2667/2536
แบบใบอนุญาตขับรถเป็นเอกสารราชการซึ่งเจ้าพนักงานได้จัดทำขึ้นตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(8) ผู้ใดจะทำขึ้นเองไม่ได้การที่จำเลยพิมพ์แบบใบอนุญาตขับรถขึ้นเอง โดยปรากฏข้อความบางส่วนให้เห็นเป็นประจักษ์ว่าเป็นแบบใบอนุญาตของทางราชการ ที่แท้จริง แม้ยังไม่กรอกข้อความอื่นลงไปก็เป็นการปลอมข้อความบางส่วนลงไปแล้วจึงเป็น การปลอมเอกสารราชการ จำเลยปลอมแสตมป์ที่ใช้สำหรับการภาษีอากรอันเป็นความผิดตามมาตรา 254 และจำเลยมีเครื่องมือหรือวัตถุเพื่อใช้ในการปลอมอันเป็นความผิดตามมาตรา 261 ด้วย จึงลงโทษจำเลยตามมาตรา 254 ได้เพียงกระทงเดียวตามมาตรา 263 แม้คู่ความจะมิได้ฎีกาในปัญหานี้แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับ ความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง,225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4632/2533
จำเลยปลอมสำเนาทะเบียนคนเกิด ท.ร.22 และบัตรประจำตัวประชาชนเป็นการปลอมเอกสารคนละประเภทแตกต่างกันมีผลเป็นความ ผิดในตัวเองแยกจากกันได้ เป็นความผิดสองกรรมแต่การที่จำเลยที่ 1 ปลอมดวงตราและรอยตราประทับลงบนเอกสารสองฉบับดังกล่าว เป็นเพียงการร่วมประกอบให้สำเนาทะเบียนคนเกิดท.ร.22 และบัตรประจำตัวประชาชนที่จำเลยที่ 1 ทำขึ้นมีลักษณะข้อความและรอยตราประทับเหมือนเอกสารแท้จริงเพื่อผู้ที่พบเห็น จะได้หลงเชื่อตามเจตนาของจำเลยที่ 1 เท่านั้นจึงเป็นการกระทำผิดกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท คือการปลอมสำเนาทะเบียนคนเกิด ท.ร.22 เป็นความผิดตามมาตรา 365กับมาตรา 251 กระทงหนึ่ง และการปลอมบัตรประจำตัวประชาชนเป็นความผิดตามมาตรา 265 กับมาตรา 251 อีกกระทงหนึ่งเมื่อจำเลยที่ 3 นำเอกสารปลอมทั้ง 2 ฉบับ ดังกล่าว ไปใช้แสดงต่อเจ้าพนักงานตำรวจกองตรวจคนเข้าเมือง แม้กระทำในคราวเดียวกันก็ต้องมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้แต่ละกระทง และเมื่อจำเลยที่ 1ปลอมรอยตราและประทับรอยตราปลอมบนเอกสาร 2 ฉบับดังกล่าวและนำเอกสารดังกล่าวไปใช้ ย่อมเป็นความผิดฐานใช้รอยตราปลอมตามมาตรา 252 ด้วย ซึ่งจะต้องลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานปลอมรอยตราตามมาตรา 251 เพียงกระทงเดียวตามมาตรา 263 และความผิดฐานใช้รอยตราปลอมนี้เป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานใช้เอกสาร ปลอม จึงต้องลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 251 ประกอบมาตรา 263 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักกว่าโทษตามมาตรา 268ตามมาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4609/2533
แม้ว่าเอกสารต่าง ๆ ที่จำเลยทำปลอมขึ้นและประทับตราปลอมคือหนังสือรับรองว่าได้รับอนุญาตเป็นผู้ขับรถจำนวน3 ฉบับ จะเป็นเอกสารต่างชนิดกับหนังสือรับรองใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถเป็นภาษาอังกฤษ รวม 3 ฉบับ ซึ่งเป็นการปลอมหนังสือรับรองใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถของบุคคลต่างคนกันก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยและยึดเอกสารต่าง ๆ ดังกล่าวในคราวเดียวกันโดยโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า จำเลยได้กระทำการปลอมและประทับตราปลอมเอกสารเหล่านั้นโดยมีเจตนาหลายเจตนาที่จะให้เกิดผลต่างกรรมกันจึงลงโทษจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1001/2533
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า การที่จำเลยปลอมขึ้นซึ่ง ดวงตราของ กระทรวงการต่างประเทศ แล้วนำไปประทับในหนังสือเดินทางให้เกิดรอยตราที่ประทับเหมือนของจริง จึงเป็นการปลอมหนังสือเดินทางสำเร็จบริบูรณ์สมเจตนาของจำเลยแล้ว การกระทำของจำเลยส่วนนี้จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อ กฎหมายหลายบท ตาม ป.อ. มาตรา 265 กับมาตรา 251 ซึ่ง เป็นบทหนักกระทงหนึ่ง ส่วนการที่จำเลยนำหนังสือเดินทางปลอมซึ่งมีรอยตราปลอมประทับดังกล่าวไปใช้ แสดงต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเพื่อตรวจประทับตราเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรนั้น การกระทำของจำเลยส่วนหลังนี้จึงเป็นการใช้เอกสารปลอมและรอยตรา ปลอมในขณะเดียวกัน เป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 265 และมาตรา 252 ประกอบด้วย มาตรา 251 ต้องลงโทษตาม มาตรา 252 ซึ่ง เป็นบทหนัก แต่ ตาม มาตรา 263 กำหนดว่าผู้กระทำผิดตาม มาตรา 251 หากกระทำผิดตาม มาตราอื่นในหมวดนี้อันเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดจากการกระทำความผิดนั้นด้วย ให้ลงโทษตาม มาตรา251 เพียงกระทงเดียว ดังนี้ จึงต้องลงโทษจำเลยตาม มาตรา 251 ประกอบด้วย มาตรา 263 เพียงกระทงเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2266 - 2278/2519
ใบเสร็จรับเงินซึ่งทางราชการออกให้แก่ผู้มีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีรถยนต์ เป็นหลักฐานแสดงว่าทางราชการได้รับชำระค่าภาษีรถยนต์ไว้แล้วและมีผลทำให้การ เก็บภาษีรถยนต์ของรัฐเอ็นอันเสร็จสิ้นไป จึงเป็นเอกสารสิทธิ์อันเป็นเอกสารราชการ

การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจแผนก ทะเบียนยานพาหนะปลอมใบเสร็จรับเงินแล้วใช้ดวงตราของเจ้าพนักงานประทับลงในใบ เสร็จรับเงินนั้น ก็โดยเจตนาทำใบเสร็จรับเงินปลอมทั้งฉบับเพื่อให้เห็นว่าเป็นใบเสร็จรับเงินที่แท้จริง การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทตามมาตรา 266 และ 253

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2067/2515
ผู้ใช้ ขาย เสนอขาย แลกเปลี่ยนหรือเสนอแลกเปลี่ยนซึ่งแสตมป์ ซึ่งรู้ว่าปลอมแม้จะมิได้ทำปลอมขึ้นเองก็มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 257