ความผิดฐานยักยอก

มาตรา ๓๕๒  ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๓๕๓  ผู้ใดได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น หรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใด ๆ โดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๓๕๔  ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๓๕๒ หรือมาตรา ๓๕๓ ได้กระทำในฐานที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งของศาล หรือตามพินัยกรรม หรือในฐานเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจ อันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๓๕๕  ผู้ใดเก็บได้ซึ่งสังหาริมทรัพย์อันมีค่า อันซ่อนหรือฝังไว้โดยพฤติการณ์ซึ่งไม่มีผู้ใดอ้างว่าเป็นเจ้าของได้ แล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๓๕๖  ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6532/2562
ความผิดฐานยักยอกเป็นความผิดอันยอมความได้ กรณีจะขาดอายุความได้หากผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 96 ถึงแม้ว่าโจทก์ทั้งห้าจะทราบเรื่องเวนคืนของที่ดินแปลงอื่นในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1379/2553 และจากคำให้การที่จำเลยให้การต่อสู้คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 201/2551 ว่าที่ดินพิพาท ค่าเวนคืนและค่าเช่าของจำเลยตามที่จำเลยฎีกาอันจะส่อว่ารู้ตัวผู้กระทำความผิดก็ตาม แต่โจทก์ทั้งห้ายังไม่รู้เรื่องความผิด จนกระทั่งได้รับหนังสือตอบปฏิเสธจากจำเลยเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560 ว่าจำเลยไม่ส่งมอบเงินคืนให้กองมรดก การที่โจทก์ทั้งห้าไปร้องทุกข์ในวันที่ 20 เมษายน 2560 ว่าจำเลยไม่ส่งมอบเงินคืนให้กองมรดก และนำคดีมาฟ้องหลังจากวันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีของโจทก์ทั้งห้าจึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6331/2562
โจทก์ร่วมมอบทับทิมให้จำเลยไปขายโดยกำหนดราคาขั้นต่ำไว้ จำเลยจะขายในราคาที่สูงกว่าก็ได้ จำเลยเพียงแต่มีหน้าที่นำเงินตามราคาที่โจทก์ร่วมกำหนดไว้มาชำระคืนให้แก่โจทก์ร่วมเท่านั้น ลักษณะเช่นนี้จำเลยย่อมมีสิทธิขายทับทิมอย่างเป็นของของตนเอง หาใช่เป็นตัวแทนไปขายในนามของโจทก์ร่วมไม่ แม้จะมีข้อตกลงให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยในอัตราร้อยละ 3 ของเงินที่ขายทับทิมได้ ก็ไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยเปลี่ยนแปลงไป เมื่อจำเลยขายทับทิมได้แล้วไม่ส่งเงินให้แก่โจทก์ร่วมจนครบถ้วน ถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาทางแพ่งต่อโจทก์ร่วมเท่านั้น การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์

เมื่อพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานยักยอกเงิน 500,000 บาท ของโจทก์ร่วม และขอให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ร่วมด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ดังนี้ แม้จำเลยไม่ได้กระทำความผิดฐานยักยอก แต่จำเลยรับว่าต้องคืนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วม ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วมตามที่พนักงานอัยการโจทก์ขอได้ หาจำต้องให้โจทก์ร่วมไปฟ้องเรียกเงินดังกล่าวจากจำเลยเป็นคดีแพ่งอีกไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5593/2562
การโอนเงินผ่านทางธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีธนาคารเป็นตัวกลางในการส่งมอบเงินผ่านขั้นตอนของธนาคารที่ส่งถ่ายข้อมูลด้วยความเร็วแสงโดยใช้ตัวเลขเงินในบัญชีเป็นหลักฐานยืนยันในการรับโอนเงิน ทำให้ผู้รับโอนสามารถรับเงินได้แม้อยู่ในระยะไกล ซึ่งการโอนจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์เมื่อผู้รับโอนได้รับเครดิตยอดเงินทางบัญชีครบถ้วนแล้ว

ป. โอนเงินให้จำเลยโดยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และตู้เบิกถอนเงินสดอัตโนมัติ ขณะอยู่ที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี และปรากฏมีเครดิตยอดเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่กรุงเทพมหานคร การป้อนคำสั่งให้โอนเงินเกิดขึ้นที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เงินอันเป็นต้นเหตุของการกระทำความผิดฐานยักยอกจึงหลุดพ้นจากความครอบครองของ ป. และเข้าไปอยู่ในความครอบครองของจำเลยตั้งแต่ขณะ ป. สั่งโอนเงิน จำเลยสามารถถอนเงินจากสถานที่ใดเวลาใดนับจากที่ได้รับโอนเงินทันที ดังนั้น อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดฐานยักยอก พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจท่าม่วงจึงมีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคสอง (ข)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5239/2562
สัญญาประกันวินาศภัยเป็นสัญญาที่ผู้รับประกันภัยตกลงใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังที่ระบุในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่าเบี้ยประกันภัย ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 869 ได้ให้นิยามคำว่า "วินาศภัย" ว่า ให้หมายรวมเอาความเสียหายอย่างใดๆ บรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้ ดังนั้นการที่โจทก์ผู้เอาประกันภัยชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่จำเลยตามสัญญา จำเลยตกลงรับชำระเบี้ยประกันภัย จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยย่อมเป็นอันสัญญาว่าตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งกรณีวินาศภัยหากเกิดขึ้นแก่รถยนต์ที่จำเลยเอาประกันภัย เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งในกรณีรถยนต์ที่เอาประกันภัยสูญหาย ได้ระบุข้อยกเว้นความรับผิดไว้สองประการ กล่าวคือ ประการแรกความเสียหายหรือสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์หรือยักยอกโดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนอง หรือโดยบุคคลที่จะกระทำสัญญาดังกล่าวข้างต้น ประการที่สอง การใช้รถยนต์นอกอาณาเขตที่คุ้มครอง จึงเห็นได้ว่าในข้อยกเว้นความรับผิดไม่ได้ระบุเรื่องการใช้รถยนต์ผิดเงื่อนไขตามที่ระบุไว้ตามกรมธรรม์ เป็นบทยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยไว้ไม่ ทั้งเมื่อพิจารณากรมธรรม์ประกันภัยรวมตลอดถึงเงื่อนไขและการคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภทต่าง ๆ ก็ไม่มีเงื่อนไขข้อใดที่ระบุไว้ว่าหากผู้เอาประกันภัยนำรถไปใช้ผิดเงื่อนไขจะทำให้ผู้รับประกันภัยหลุดพ้นความรับผิด เมื่อไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดและเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้นแล้ว การที่โจทก์นำรถยนต์ที่เอาประกันภัยไปใช้ผิดเงื่อนไขโดยออกให้บุคคลภายนอกเช่าจึงไม่เป็นการกระทำเข้าข้อยกเว้นความรับผิดของจำเลยตามกรมธรรม์ประกันภัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยมาจึงไม่ชอบและไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา โจทก์ฎีกาในปัญหานี้อีกว่า การที่โจทก์นำรถยนต์ออกให้เช่าในกรณีนี้ จำเลยต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยต่อโจทก์หรือไม่ ซึ่งโจทก์อุทธรณ์ในปัญหานี้ไว้ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยังมิได้วินิจฉัยจึงเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ย้อนสำนวน โดยโจทก์ฎีกาว่า ธ. ไม่มีเจตนาเช่ารถยนต์ไปจากโจทก์มาตั้งแต่ต้น เหตุที่ทำสัญญาเช่าก็เพื่อเป็นกลอุบายเพื่อจะลักรถยนต์ดังกล่าวไป จึงถือว่าไม่มีการเช่ารถยนต์คันดังกล่าว การที่ ธ. รับมอบหรือครอบครองรถยนต์จึงไม่ใช่การรับมอบหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามเงื่อนไขและความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ข้อ 5.1 ในข้อนี้โจทก์มี ธ. ตัวโจทก์เบิกความเป็นพยานว่า ธ. ได้ใช้กลอุบายหลอกทำสัญญาเช่ารถยนต์ของโจทก์เพื่อจะลักรถยนต์ดังกล่าวไป โดยไม่มีเจตนาเช่าจริง และ ธ. ได้ร่วมกับพวกใช้วิธีการเดียวกันนี้ในการลักรถยนต์รายอื่นในจังหวัดต่าง ๆ อีกหลายครั้งตามหมายจับ ธ. ของศาลแขวงเชียงใหม่ ข้อหากระทำความผิดฐานลักทรัพย์และหมายจับของศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ให้จับตัวพวกของ ธ. รวม 2 คน ข้อหากระทำผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยใช้กลอุบายและมี น. เบิกความสนับสนุนว่า พยานเคยถูก ธ. ขอทำสัญญาเช่ารถยนต์ของพยานโดยไม่มีเจตนาจะเช่ารถยนต์จริงเช่นกัน โดยในคืนเดียวกับวันทำสัญญาเช่า ธ. ได้ตัดสัญญาณติดตามรถยนต์ของพยานออกเพื่อไม่ให้สามารถติดตามรถยนต์ได้ เมื่อ ธ. ถูกจับกุมก็ยอมรับกับพยานว่าไม่มีเจตนาจะเช่ารถยนต์แต่ต้องการจะนำรถไปขายต่อ เห็นว่า พฤติการณ์ของ ธ. ที่ขอเช่ารถยนต์จากบุคคลหลายคนซึ่งได้ความจากคำเบิกความของ น. และคำให้การชั้นสอบสวนของโจทก์ว่า เมื่อได้ครอบครองรถยนต์แล้ว ธ. ลักรถยนต์ไปขายต่อ สอดคล้องกับคำเบิกความของ ธ. เองที่เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า พยานทำทีเป็นเช่ารถยนต์จากฝ่ายโจทก์โดยมีเจตนาแต่ต้นที่จะลักรถยนต์ แสดงให้เห็นว่า ธ. มิได้มีเจตนาเช่ารถยนต์พิพาทไปจากโจทก์เพื่อใช้สอย หากแต่มีเจตนามาแต่ต้นที่จะลักรถยนต์ไปจากโจทก์ การติดต่อขอเช่ารถยนต์เป็นเพียงวิธีการหรือกลอุบายเพื่อให้ได้ทรัพย์นั้นไปโดยทุจริต ที่จำเลยให้การและนำสืบหักล้างว่าโจทก์เคยไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่า ธ. กระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์ กรณีจึงไม่ใช่ ธ. กระทำความผิดฐานลักทรัพย์โดยใช้กลอุบายนั้น เห็นว่า การแจ้งความเป็นเพียงการร้องทุกข์กล่าวหาในเบื้องต้น ส่วนการกระทำของ ธ. จะเป็นการกระทำความผิดฐานใดต้องดูจากข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบสวนและคำพิพากษาของศาลซึ่งจะมีต่อไป ทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่าแม้โจทก์ได้แจ้งความในเบื้องต้นให้ดำเนินคดีแก่ ธ. ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ แต่ต่อมาได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าพฤติการณ์ของ ธ. เป็นลักษณะลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย ข้อนำสืบของจำเลยในส่วนนี้ไม่อาจหักล้างพยานโจทก์ได้ พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวมาจึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ธ. ไม่มีเจตนาเช่ารถยนต์พิพาทจากโจทก์ แต่มีเจตนาลักเอารถยนต์นั้นมาแต่ต้น การที่ ธ. ได้รถยนต์ไปอยู่ในความครอบครองจึงมิใช่การครอบครองตามสัญญาเช่า ดังนั้นที่ ธ. นำรถยนต์ดังกล่าวหลบหนีไปจึงไม่เป็นกรณีรถยนต์สูญหายอันเกิดขึ้นโดยบุคคลซึ่งครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามข้อ 5.1 ดังกล่าวข้างต้น จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนทุนประกันภัยที่ระบุไว้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3759/2562
พฤติการณ์ในการดำเนินการเพื่อให้ได้รับเงินกู้จากกองทุนของผู้ร้องคัดค้านที่ดำเนินการในนามบริษัท บ. ซึ่งมี ส. เป็นผู้มีอำนาจจัดการที่แท้จริง และเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากเงินที่กู้ยืมมาจากกองทุนทั้งสามครั้ง รวม 3,000,000,000 บาท เชื่อได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีการกำหนดขั้นตอนไว้เพียงเพื่อให้ได้เงินมาจากกองทุนในเวลาอันรวดเร็ว และการยกเลิกอาวัลที่ทำให้หลักประกันของกองทุนหมดสิ้นไปถือได้ว่าเป็นการไม่สุจริต พฤติการณ์เป็นการหลอกลวงเพื่อให้ได้เงินจากกองทุนในการกู้ยืม จากนั้นก็ถอนหรือโอนเงินไปเพื่อการต่าง ๆ ของกลุ่มบริษัทในเครือของตนเองและพวกพ้อง โดยไม่ได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่เสนอโครงการกับกองทุน ทั้งการที่กู้เงินจากกองทุนโดยยอมเสียดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี เพื่อนำไปให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 4.5 ต่อปี และปล่อยกู้เพียง 72,000,000 บาท คิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 4 ต่อปี ย่อมเห็นได้ว่าเป็นการประกอบธุรกิจที่ไม่น่าจะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าพอที่จะใช้เงินคืนได้ นอกจากนั้นการที่อ้างว่าปล่อยเงินกู้ให้แก่คณะกรรมการกองทุนโดยไม่ได้ทำสัญญากู้ ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่น่าเชื่อว่าเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ทั้งการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ก้อนแรกก็เป็นการนำเงินที่กู้มานั้นจ่ายเป็นดอกเบี้ย พฤติการณ์น่าเชื่อว่าการกู้เงินจากกองทุนทั้งสามครั้งมีเจตนาไม่สุจริตแต่แรกต่อเนื่องกัน อันเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น และความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงหรือยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (5) และ (18) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542

ส. รับโอนเงินกู้ยืมที่ได้รับมาเข้าบัญชีตนเองกว่า 100,000,000 บาท จากนั้นไม่กี่วันก็ซื้อที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องร้องขอให้ยึดในคดีนี้ในช่วงเวลาที่มีการกระทำความผิดมูลฐาน โดย ส. หรือผู้อื่นไม่ยื่นคำคัดค้าน จึงเชื่อได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน ซึ่งเมื่อผู้ร้องคัดค้านหน่วยงานต้นสังกัดของกองทุนเป็นผู้เสียหายร้องขอให้คืนทรัพย์สินหรือชดใช้คืน ประกอบกับผู้ร้องไม่คัดค้านและได้แก้ไขคำร้องตามที่ผู้ร้องคัดค้านยื่นคำร้องเข้ามา จึงสมควรให้คืนหรือนำทรัพย์สินไปชดใช้คืนแก่ผู้ร้องคัดค้านตามมาตรา 49 วรรคหก แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2744/2562
ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 86 บัญญัติว่า "คนต่างด้าวจะได้มาซึ่งที่ดินก็โดยอาศัยบทสนธิสัญญาซึ่งบัญญัติให้มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ได้ และอยู่ในบังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ด้วย ภายใต้บังคับมาตรา 84 คนต่างด้าวดังกล่าวจะได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย... ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการซึ่งกำหนดโดยกฎกระทรวง และต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี" และมาตรา 94 บัญญัติว่า "บรรดาที่ดินที่คนต่างด้าวได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ได้รับอนุญาต ให้คนต่างด้าวนั้นจัดจำหน่ายภายในเวลาที่อธิบดีกำหนดให้ ซึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน แต่ไม่เกินหนึ่งปี ถ้าไม่จำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่กำหนด ให้อธิบดีมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้น และให้นำบทบัญญัติเรื่องการบังคับจำหน่ายที่ดินตามความในหมวด 3 มาใช้บังคับโดยอนุโลม" แม้โจทก์ร่วมเป็นคนต่างด้าว แต่บทบัญญัติมาตรา 86 แห่ง ป.ที่ดินมิได้ห้ามเด็ดขาดกรณีคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยคนต่างด้าวอาจขออนุญาตต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ และแม้จะไม่ได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน คนต่างด้าวก็ยังมีสิทธิที่จะจำหน่ายที่ดินต่อไปภายในระยะเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนดตามมาตรา 94 คนต่างด้าวจึงมีความสามารถในการทำสัญญาเพื่อซื้อที่ดินได้ ดังนี้ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่โจทก์ร่วมซึ่งเป็นคนต่างด้าวทำกับ ก. เพื่อซื้อที่ดินจึงไม่ใช่นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย โจทก์ร่วมทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับ ก. ในราคา 9,000,000 บาท ชำระเงินมัดจำ 1,000,000 บาท โจทก์ร่วมในฐานะผู้ซื้อจึงมีหน้าที่ต้องชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่ ก. การที่โจทก์ร่วมโอนเงิน 8,000,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย ก็มีวัตถุประสงค์ให้จำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์ร่วมนำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลืออยู่แก่ ก. จำเลยได้รับมอบเงินของโจทก์ร่วมไว้ในครอบครองของจำเลยแล้ว จำเลยไม่นำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระให้แก่ผู้ขาย แต่จำเลยเบียดบังเอาเงินนั้นไว้เป็นของตนเองโดยทุจริต โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง อันถือได้ว่าเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมจึงมีอำนาจร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวน และโจทก์มีอำนาจฟ้อง

โจทก์ร่วมโอนเงิน 8,000,000 บาท ไปยังบัญชีเงินฝากของจำเลย เพื่อให้จำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือแก่ ก. แต่จำเลยไม่นำเงินไปชำระ และไม่คืนเงินให้แก่โจทก์ร่วม จำเลยครอบครองเงินของโจทก์ร่วมแล้วเบียดบังเอาเงินนั้นเป็นของตนเองโดยทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานยักยอกและต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ร่วม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8188/2561
จำเลยยื่นฎีกาและมีเอกสารแนบท้ายฎีกาเป็นสำเนาบันทึกการเจรจาตกลงกันระหว่าง บ. บุตรของจำเลยกับผู้เสียหาย และสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน มีข้อความทำนองเดียวกันระบุว่า บ. นำค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด 40,000 บาท ชำระให้แก่ผู้เสียหาย ผู้เสียหายยอมรับเงินจำนวนดังกล่าวจาก บ. แล้วและไม่เรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยอีกต่อไปทั้งในทางแพ่งและทางอาญา ซึ่งมีความหมายว่าไม่ติดใจเอาความแก่จำเลย ท้ายข้อความดังกล่าวมีผู้เสียหายลงลายมือชื่อไว้ ซึ่งโจทก์ได้รับสำเนาฎีกาแล้วมิได้แก้ฎีกาหรือแถลงคัดค้านว่าเอกสารดังกล่าวมิใช่เอกสารที่ผู้เสียหายทำมอบให้แก่ฝ่ายจำเลยแต่อย่างใด กรณีจึงต้องฟังว่าเป็นเอกสารที่ผู้เสียหายทำขึ้นจริงตามที่จำเลยกล่าวอ้างและข้อความในเอกสารดังกล่าวก็ถือได้ว่าผู้เสียหายและจำเลยได้ตกลงยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เมื่อความผิดฐานฉ้อโกงและยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 341 และ 352 วรรคแรก เป็นความผิดอันยอมความกันได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8192/2560
แม้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4) วรรคหนึ่ง กำหนดว่า ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาทก็ตาม แต่ ป.วิ.อ. มาตรา 40 บัญญัติว่า "การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจะฟ้องต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญาหรือต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่งก็ได้ การพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง" การที่บทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาโดยกำหนดให้รัฐ (พนักงานอัยการ) และผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีส่วนแพ่งรวมไปกับคดีอาญาและให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญาพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งไปในคราวเดียวกัน โดยไม่ต้องไปฟ้องร้องกันใหม่ ก็เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมให้ได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยสะดวกและรวดเร็ว ดังนั้น ถึงแม้ว่าในบางกรณีเขตอำนาจปกติของศาลที่พิจารณาคดีอาญาไม่อาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้นได้ก็ตาม ต้องถือว่าเป็นกรณีที่กฎหมายประสงค์จะยกเว้นให้ทำได้ ดังเช่นพนักงานอัยการร้องขอให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 หรือผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 กรณีจึงไม่จำต้องคำนึงว่าศาลที่พิจารณาคดีอาญาจะเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีแพ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 2 (1) และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) วรรคหนึ่งหรือไม่ และผู้เสียหายที่ยื่นฟ้องจะขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงินมากน้อยเพียงใด ดังนี้ แม้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งจำนวนเงินที่ขอเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนแพ่งได้

จำเลยยักยอกทรัพย์ของโจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นละเมิดต่อโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 206 ถือว่าจำเลยผิดนัดนับแต่เวลาที่ทำละเมิด โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยชำระต้นเงินโดยไม่ให้ดอกเบี้ยก่อนฟ้องจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6505/2560
ใบเสร็จรับเงินของโจทก์ร่วมพิมพ์เป็นเล่มมีขนาดประมาณครึ่งหนึ่งของกระดาษขนาด เอ 4 แต่บางกว่า บนหัวกระดาษมีรูปเต่าพร้อมชื่อที่อยู่ของบริษัทพิมพ์ด้วยหมึกสีน้ำเงินเข้ม มุมขวาบนระบุเลขที่ของใบเสร็จรับเงิน ซึ่ง 1 ฉบับมี 1 เลขที่ใบเสร็จ ประกอบด้วยกระดาษ 4 แผ่น ใบแรกเป็นสีขาว มีคำที่มุมขวาบนว่า ต้นฉบับ ซึ่งส่งมอบให้ลูกค้าที่ชำระเงิน ใบที่ 2 เป็นสีฟ้า มีคำที่มุมขวาบนว่า สำเนาส่วนนี้ส่งให้สำนักงานบัญชีตอนปลายเดือนเพื่อนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ใบที่ 3 เป็นสีเหลืองที่มุมขวาบนมีคำว่า สำเนา ส่วนนี้เก็บไว้ในแฟ้มของลูกค้าแต่ละราย ใบสุดท้ายเป็นสีชมพูมีคำที่มุมขวาบนว่า สำเนา ส่วนนี้ติดเล่มใบเสร็จรับเงินไว้กับต้นขั้ว เมื่อใช้ใบเสร็จรับเงินหมดทั้งเล่มแล้วฝ่ายบัญชีจะคืนเล่มใบเสร็จรับเงินให้จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 นำไปคืนกรรมการบริษัทโจทก์ร่วม ใบเสร็จรับเงินที่ยังใช้ไม่หมดเล่มจะอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ 2 ในการนำเอกสารไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถให้ผู้เช่าซื้อที่สำนักงานขนส่งจะใช้ใบเสร็จรับเงินสีขาวเป็นต้นฉบับที่กรอกข้อความครบถ้วนแล้ว โดยนำไปถ่ายเอกสารมาให้กรรมการลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องพร้อมประทับตราสำคัญของบริษัทนำไปประกอบเอกสารชุดโอน แต่ปรากฏว่าใบเสร็จรับเงินที่ออกให้แก่ผู้เช่าซื้อราย ร. พ. จ. ส. ส. ก. ส. ม. ส. และ อ. ตามลำดับ รวม 10 รายนี้ โจทก์ร่วมได้ออกให้แก่ ศ. ส. ธ. พ. ส. และ อ. ไปแล้วตามใบเสร็จรับเงินสีชมพูซึ่งติดต้นขั้วในเล่มใบเสร็จรับเงินที่ ก. กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมเก็บไว้ และตามสำเนาใบเสร็จรับเงินสีฟ้าที่ส่งให้สำนักงานบัญชีซึ่งเป็นใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงของโจทก์ร่วม โดยใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงฉบับที่ออกให้ ส. เลขที่ 4351 ถูกนำไปใช้ออกใบเสร็จรับเงินแก่ พ. ส. และ ส. ฉบับที่ออกให้ ธ. เลขที่ 4451 ถูกนำไปใช้ออกใบเสร็จรับเงินแก่ จ. และ ม. กับฉบับที่ออกให้ พ. เลขที่ 4501 ถูกนำไปใช้ออกใบเสร็จรับเงินแก่ ก. และ ส. จึงเชื่อว่าใบเสร็จรับเงินที่ออกผู้เช่าซื้อทั้ง 10 ราย ซึ่งพบและถ่ายสำเนามาจากเอกสารชุดโอนรถที่คัดสำเนามาจากสำนักงานขนส่งเป็นเอกสารปลอมมาจากใบเสร็จรับเงินฉบับที่แท้จริงสีชมพูที่ติดอยู่ต้นขั้วในเล่มที่กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมเก็บไว้โดยวิธีการถ่ายสำเนามาจากต้นฉบับใบเสร็จรับเงินสีขาวที่แท้จริงขณะยังไม่กรอกข้อความแล้วนำมากรอกข้อความแสดงการรับเงินจากลูกค้า โดยฉบับที่ออกให้ จ. ส. และ ก. ระบุจำนวนเงินน้อยกว่าที่คนเหล่านี้จ่ายให้ จากนั้นนำไปถ่ายสำเนาอีกครั้งเพื่อนำไปใช้ประกอบเอกสารชุดโอนรถที่สำนักงานขนส่ง เมื่อพิจารณาจากหน้าที่ความรับผิดชอบของพนักงานของโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการทั่วไปของบริษัทมีหน้าที่เร่งรัดติดตามหนี้เงินค่าเช่าซื้อ จัดทำเอกสารชุดโอนปิดบัญชี และนำเอกสารชุดโอนปิดบัญชีไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถให้แก่ผู้เช่าซื้อที่สำนักงานขนส่ง และตามคำเบิกความของผู้เช่าซื้อในจำนวน 10 รายนั้น บางคนไปที่บริษัทโจทก์ร่วม ที่เต็นท์ขายรถ ที่ศาลแขวงชลบุรี ที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ฉะเชิงเทรา พบจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเช่าซื้อเพื่อปิดบัญชีแก่จำเลยที่ 1 หรือพบจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 บอกให้ชำระเงินแก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 บอกว่าจะโอนกรรมสิทธิ์รถให้หรือจะได้รับสมุดคู่มือจดทะเบียนภายในกำหนดระยะเวลาที่แจ้ง จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการปลอมใบเสร็จรับเงินและใช้ใบเสร็จรับเงินปลอมเหล่านี้ประกอบเอกสารชุดโอนรถ อันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม จึงต้องลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้ใช้เอกสารปลอมแต่กระทงเดียว ตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคสอง ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นพนักงานฝ่ายบัญชีของโจทก์ร่วม มีหน้าที่รับเงินจากลูกค้าผู้เช่าซื้อออกใบเสร็จรับเงินรวมทั้งดูแลเล่มใบเสร็จรับเงินของโจทก์ร่วม ในใบเสร็จรับเงินเอกสารปลอมเหล่านี้ล้วนมีลายมือชื่อจำเลยที่ 2 ในช่องเจ้าหน้าที่ผู้รับมอบอำนาจและช่องฝ่ายบัญชี ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็เบิกความยอมรับว่าลายมือชื่อดังกล่าวเป็นลายมือชื่อของตนจริง โดยจำเลยที่ 1 เป็นคนส่งใบเสร็จรับเงินเหล่านี้มาให้ตนเขียนกรอกข้อความบอกว่าจะเอาไปแนบประกอบเอกสารชุดโอนปิดบัญชีเพื่อดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถให้ลูกค้า จำเลยที่ 2 รู้ว่าใบเสร็จรับเงินในเล่มที่ตนเก็บรักษาดูแลไว้เป็นของที่แท้จริงของโจทก์ร่วมมีเลขที่ใบเสร็จรับเงินในแต่ละเลขที่ 1 เลขที่ซึ่งมีจำนวน 4 แผ่น แผ่นแรกเป็นต้นฉบับอีก 3 แผ่นเป็นสำเนา การออกใบเสร็จรับเงินต้องออกเรียงตามลำดับเลขที่พร้อมใบเสร็จรับเงิน การที่จำเลยที่ 2 ยอมกรอกข้อความลงในแบบใบเสร็จรับเงินที่ถ่ายสำเนามาทั้งที่รู้อยู่ว่าใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงของโจทก์ร่วมเป็นอย่างไร ใบเสร็จรับเงินที่ตนจะออกต้องเป็นใบเสร็จรับเงินที่ตนดูแลเก็บรักษาและใช้งานอยู่เท่านั้น ไม่ใช่ออกใบเสร็จรับเงินเหล่านั้นซึ่งเป็นเอกสารถ่ายสำเนาไม่ใช่ของบริษัททั้งที่จำเลยที่ 2 ก็รู้อยู่ว่าใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงเลขที่เดียวกันนั้นตนได้ออกให้ลูกค้าคนอื่นไปแล้วจำเลยที่ 2 จึงมีเจตนาร่วมปลอมใบเสร็จรับเงินเหล่านั้นด้วย อันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร แต่จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการนำเอกสารชุดโอนไปจดทะเบียนแม้จะยอมรับว่าจำเลยที่ 1 บอกว่าจะใช้ในการโอนรถ แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดจากการนำสืบพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมว่าจำเลยที่ 2 มีการกระทำอื่นใดนอกเหนือจากนั้นในการใช้ใบเสร็จรับเงินปลอม จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมใช้เอกสารปลอมด้วย

แม้จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานฝ่ายบัญชี มีหน้าที่รับเงินค่าเช่าซื้อจากลูกค้าผู้เช่าซื้อรถของโจทก์ร่วม และลงลายมือชื่อรับเงินในช่องฝ่ายบัญชีของใบเสร็จรับเงินซึ่งเป็นเอกสารปลอมในการปิดบัญชีเพื่อใช้ประกอบเอกสารชุดโอนรถที่จำเลยที่ 1 ใช้ทั้ง 10 รายดังกล่าว และแม้โจทก์และโจทก์ร่วมมี ส. จ. ส. ส. และ อ. เบิกความว่า นำเงินค่าเช่าซื้อไปชำระเพื่อปิดบัญชีที่บริษัทโจทก์ร่วมพบพนักงานหญิงคนหนึ่งของบริษัทซึ่งเป็นฝ่ายบัญชีหรือเจ้าหน้าที่การเงินจึงส่งมอบเงินนั้นให้ไปแล้วพนักงานหญิงนั้นออกใบเสร็จรับเงินให้พยาน แต่ในทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วม ข้อเท็จจริงได้ความจากกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 2 ต้องนำเงินนั้นมาส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ในตอนเย็นทุกวันเพื่อให้จำเลยที่ 1 นำไปส่งให้กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมทุกวัน ซึ่งทางปฏิบัติการทำงานเป็นเช่นนี้โจทก์และโจทก์ร่วมจะต้องนำสืบพยานหลักฐานให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่กระทำการตามหน้าที่ดังกล่าวโดยมิได้ส่งมอบเงินแก่จำเลยที่ 1 หรือส่งมอบเงินให้จำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1 เบียดบังเอาเป็นของตนโดยมิได้นำส่งกรรมการตามหน้าที่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้เพียงตามที่วินิจฉัยแล้วว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ปลอมใบเสร็จรับเงินค่าเช่าซื้อที่ลูกค้าทั้ง 10 ราย นำมาปิดบัญชี แต่จะรับฟังโดยสันนิษฐานข้อเท็จจริงให้เป็นโทษแก่จำเลยที่ 2 ถึงขนาดว่าเป็นการแบ่งงานกันทำกับจำเลยที่ 1 หาได้ไม่ และไม่เป็นพยานแวดล้อมกรณีอย่างหนึ่งที่จะนำมารับฟังประกอบกันเพื่อลงโทษจำเลยที่ 2 เพราะการรับเงินจากลูกค้าผู้เช่าซื้อเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6430/2560
การที่จำเลยกับ อ. เข้าไปเก็บผลผลิตปาล์มน้ำมันไปขายได้เงิน 713,733 บาท จริง ซึ่งรายได้ดังกล่าวเป็นดอกผลของทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ต้องแบ่งแก่ทายาททุกคนเท่าๆกัน แต่จำเลยกลับแบ่งให้โจทก์และ จ. ไม่เท่ากัน ส่วนที่เหลือจำเลยกับ อ. ได้ไปเกินกว่าส่วนแบ่งที่ตนควรจะได้รับ เมื่อฝ่ายโจทก์ทวงถาม ฝ่ายจำเลยกลับท้าให้โจทก์ฟ้อง พฤติการณ์ของจำเลยกับพวกย่อมทำให้โจทก์เข้าใจได้ว่าจำเลยกับพวกร่วมกันเบียดบังเอาเงินผลผลิตปาล์มน้ำมันไปเป็นของตนโดยทุจริต ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมกันยักยอกเงินผลผลิตปาล์มน้ำมันตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3573/2555 ของศาลชั้นต้น จึงเป็นการใช้สิทธิทางศาลกล่าวหาจำเลยไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น หาใช่โจทก์เอาความอันเป็นเท็จฟ้องจำเลยการที่จำเลยมาฟ้องโจทก์หาว่าโจทก์เอาความอันเป็นเท็จฟ้องจำเลย ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3893/2555 ของศาลชั้นต้น ทั้งที่รู้แล้วว่าเรื่องที่จำเลยนำมาฟ้องโจทก์เป็นความเท็จ จึงเป็นฟ้องเท็จตาม ป.อ. มาตรา 175 เมื่อจำเลยฟ้องเท็จแล้ว แม้ศาลจะยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4399/2560
แม้โจทก์ไม่บรรยายฟ้องว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายในอายุความ แต่เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพมิได้ต่อสู้คดี จึงต้องถือว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์โดยชอบแล้ว

ผู้เสียหายว่าจ้างจำเลยให้ว่าความ เงินค่าว่าความจึงเป็นสินจ้างตอบแทนแก่จำเลยที่ตกลงรับจะว่าความให้ การที่จำเลยไม่ยื่นฟ้องคดีให้ผู้เสียหายเป็นกรณีที่จำเลยผิดสัญญาจ้างว่าความซึ่งเป็นเรื่องทางแพ่ง จึงไม่เป็นความผิดทางอาญาฐานยักยอกตามฟ้อง

จำเลยได้รับเงินค่าว่าความจากผู้เสียหายแล้วไม่ฟ้องคดีให้แก่ผู้เสียหาย จำเลยจึงต้องคืนเงินแก่ผู้เสียหาย ซึ่งการพิพากษาคดีส่วนแพ่งนี้ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งโดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 แม้โจทก์มิได้ฎีกาในประเด็นดังกล่าว แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3324/2560
ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ไม่ใช่ความผิดเฉพาะตัวของผู้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียวเท่านั้น ผู้อื่นก็อาจร่วมกระทำความผิดกับผู้ครอบครองทรัพย์ได้ หากได้ร่วมมือร่วมใจกันกระทำการยักยอกกับผู้ได้รับมอบหมายให้ครอบครองทรัพย์ แม้จำเลยที่ 4 เป็นบุคคลภายนอกมิใช่พนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ร่วมก็ตาม แต่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ร่วมโดยยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำเช็คไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 4 เมื่อธนาคารเรียกเก็บเงินตามเช็คนั้น เงินตามเช็คของโจทก์ร่วมจึงเข้าไปอยู่ในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 4 ซึ่งถือได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ครอบครองเงินตามเช็คของโจทก์ร่วมแล้ว และเมื่อจำเลยที่ 4 ไปถอนเงินตามเช็คจากบัญชีของตน จำเลยที่ 4 จึงมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วม กับจำเลยที่ 1 ฐานยักยอกทรัพย์ได้ ตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4603/2560
แม้ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติขององค์การคลังสินค้าผู้เสียหายจะกำหนดให้มีผู้ประสานงานในจังหวัดเป็นผู้แทนของผู้เสียหายในจังหวัดพื้นที่รับผิดชอบ และรายงานการตรวจสอบข้าวที่หน่วยรับฝากไว้แก่ผู้เสียหายอย่างช้าไม่เกิน 10 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น แต่ผู้เสียหายเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.จัดตั้งองค์กรของรัฐบาล พ.ศ.2496 มาตรา 4 และ พ.ร.ก.จัดตั้งคลังสินค้า พ.ศ.2498 ซึ่งมาตรา 26 บัญญัติว่าในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้อำนวยการเป็นตัวแทนองค์การ และเพื่อการนี้ผู้อำนวยการอาจมอบให้บุคคลใด ๆ ปฏิบัติกิจการบางอย่างแทนในเมื่อคณะกรรมการกำหนด และตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง บัญญัติว่า ความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล ดังนั้นการแสดงออกของผู้เสียหายย่อมต้องแสดงออกโดยผู้อำนวยการ แม้ข้อเท็จจริงจะฟังว่า พ. ทราบเหตุที่ข้าวสารในหน่วยที่รับฝากไว้สูญหายไปตามฟ้องก่อนแล้ว แต่ พ. เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานของผู้เสียหายซึ่งมีหน้าที่ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชารับทราบตามลำดับชั้นเท่านั้น ไม่มีอำนาจที่จะร้องทุกข์หรือดำเนินคดี จึงถือไม่ได้ว่า พ. เป็นผู้แทนของผู้เสียหายในการรับรู้เรื่องอายุความ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงมีหนังสือแจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่าไม่มีข้าวสารในโรงสีของจำเลยที่ 1 ให้ตรวจรับ ตามหนังสือลงวันที่ 15 สิงหาคม 2557 จึงต้องถือว่าผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดเมื่อได้รับแจ้งจากผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2557 จึงเป็นการร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิด คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2437/2560
โจทก์ร่วมมีมติให้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานยักยอกเงิน 3,686,160 บาท ของโจทก์ร่วม เป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ร่วมโดยชัดแจ้งว่าโจทก์ร่วมได้กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนโดยมีเจตนาให้จำเลยทั้งสองได้รับโทษในความผิดฐานยักยอกเงิน 3,686,160 บาท ซึ่งรวมเงิน 502,190 บาท ที่เป็นเงินของเดือนมกราคม 2556 ด้วย จึงเป็นคำร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) ส่วนการที่ประธานโจทก์ร่วมแจ้งต่อที่ประชุมว่าตรวจสอบพบจำเลยทั้งสองทุจริตยักยอกเงินนับจากเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2556 เป็นเงิน 3,686,160 บาท เป็นเพียงข้อมูลเกี่ยวกับเวลาเกิดเหตุที่ประธานแจ้งที่ประชุมไม่ครบถ้วนเท่านั้น เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน แม้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดเป็นเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2556 โดยไม่ได้แจ้งถึงเดือนมกราคม 2556 ด้วยก็เป็นความคลาดเคลื่อนของพนักงานสอบสวนในการตรวจสอบและแจ้งข้อเท็จจริงแก่ผู้ต้องหา แต่หาได้มีผลเปลี่ยนแปลงเจตนาของโจทก์ร่วมที่ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองได้รับโทษในความผิดฐานยักยอกไม่ การดำเนินการของโจทก์ร่วมเป็นการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีจำเลยทั้งสองในข้อหายักยอกเงิน 502,190 บาท ประจำเดือนมกราคม 2556 โดยชอบแล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้องข้อหายักยอกเงิน 502,190 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2252/2560
โจทก์เป็นนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย จึงเป็นคนต่างด้าวตามความหมายใน พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มาตรา 4 แม้โจทก์ถือหุ้นไม่ถึงกึ่งหนึ่งตามบัญชีผู้ถือหุ้นของบริษัท พ. แต่เงินทุนในบริษัท พ. ที่แท้จริงเป็นของโจทก์เกินกึ่งหนึ่งของเงินลงทุน ซึ่งไม่เป็นไปตามทุนที่จดทะเบียน ถือว่าบริษัท พ. และโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจการค้าที่ดิน ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบกิจการด้วยเหตุผลพิเศษตามบัญชีหนึ่งท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดต่อ พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 และความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353 เพราะข้อหาความผิดดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากการประกอบธุรกิจที่ต้องห้ามของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10099/2559
จำเลยทั้งสองให้การว่ามีกลุ่มบุคคลใช้กลอุบายกับจำเลยที่ 1 ขอเช่ารถยนต์คันพิพาทแล้วไม่ส่งมอบรถคืน จึงแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ อ. กับพวก ในข้อหาร่วมกันยักยอก พนักงานอัยการมีความเห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดีเป็นการร่วมกันใช้กลอุบายในการที่จะร่วมกันลักเอารถยนต์ของผู้เสียหายไป โดยแนบสัญญาเช่ารถยนต์และสำเนาหนังสือสำนักงานอัยการมาท้ายคำให้การ แต่จำเลยทั้งสองไม่สืบพยานให้เห็นว่า อ. กับพวก มีพฤติการณ์ใช้กลอุบายในการร่วมกันลักเอารถยนต์ไปอย่างไร ทั้ง ๆ ที่การนำรถยนต์ออกให้เช่าเป็นเรื่องที่อยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 1 หากแต่เพียงอ้างส่งสำเนาคำพิพากษาคดีอาญาและสำเนาคู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยประกอบคำแถลงต่อศาลชั้นต้นว่ามีผู้มาขอเช่าแล้วไม่นำรถยนต์มาคืน มีการดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวจนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าบุคคลดังกล่าวกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ซึ่งสำเนาคำพิพากษา ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า อ. กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า อ. กับพวก ร่วมกันลักรถยนต์ทั้งสามคันดังกล่าวไปอย่างไร คดีอาญาเรื่องอื่นที่มีคำขอให้นับโทษจำคุกต่อเป็นความผิดฐานใด ส่วนจำเลยร่วมมี น. เบิกความว่าพยานสอบปากคำจำเลยที่ 1 ไว้ ตามบันทึกถ้อยคำผู้เกี่ยวข้อง เมื่อพิจารณาประกอบสำเนาสัญญาเช่ารถยนต์เอกสารท้ายคำให้การแสดงให้เห็นว่า อ. ที่มาทำสัญญาเช่ากับจำเลยที่ 1 มีตัวตนจริงไม่ได้มีการแอบอ้างหรือมีบุคคลอื่นแสดงตนเป็น อ. มาติดต่อขอเช่ารถยนต์ ข้อเท็จจริงคงฟังได้เพียงว่า อ. เช่ารถยนต์ไปจากจำเลยที่ 1 ตามสำเนาสัญญาเช่าแล้วร่วมกับพวกลักเอารถยนต์ไปจึงเป็นกรณีที่กรมธรรม์ประกันภัยไม่คุ้มครองเพราะเหตุความเสียหายหรือสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า ตามกรมธรรม์ประกันภัย หมวดการคุ้มครองรถยนต์สูญหาย ไฟไหม้ ข้อ 5.1 จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดในความสูญหายของรถยนต์ดังกล่าวต่อจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยและต่อโจทก์ผู้รับประโยชน์ ส่วนที่จำเลยร่วมฎีกาขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์นั้น คดีนี้แม้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในตอนแรกว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ แต่ตอนหลังกลับวินิจฉัยว่าจำเลยร่วมต้องรับผิดแทนจำเลยทั้งสอง เมื่อจำเลยร่วมต้องรับผิดแทนจำเลยทั้งสองเต็มจำนวนแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อีกต่อไป พิพากษาให้จำเลยร่วมรับผิด ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสอง หากโจทก์ยังต้องการให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามฟ้อง โจทก์ต้องอุทธรณ์ ไม่ใช่เรื่องของจำเลยร่วมที่จะต้องอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์ คดีโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสองย่อมยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่อาจพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6811/2559
ตามสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์ยังไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เพียงแต่โจทก์อยู่ในฐานะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อนผู้อื่นเท่านั้น ความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 จะต้องได้ความในเบื้องต้นเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ เมื่อที่ดินพิพาทยังเป็นของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อยู่ โจทก์ไม่อาจอ้างได้ว่าโจทก์ถูกผู้อื่นยักยอกทรัพย์ได้และสิทธิดังกล่าวที่โจทก์มีอยู่ ไม่ใช่ทรัพย์ตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 352 ซึ่งหมายถึงทรัพย์ที่มีรูปร่าง จึงไม่อาจถูกยักยอกได้ เมื่อทางนำสืบของโจทก์เองโจทก์มิเคยได้มอบหมายให้จำเลยที่ 5 นำสิทธิเรียกร้องของโจทก์ไปดำเนินการใดๆ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 5 ไปดำเนินการโดยพลการ เงินที่ได้มาจึงมิใช่เงินที่จำเลยที่ 5 จะต้องส่งมอบให้แก่โจทก์ โจทก์มีแต่สิทธิที่จะบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14802/2558
      โจทก์อุทธรณ์ว่า เมื่อโจทก์ได้ให้เช่าซื้อทองรูปพรรณแก่จำเลยแล้ว กรรมสิทธิ์ในทองรูปพรรณดังกล่าวยังคงเป็นของโจทก์ ส่วนจำเลยคงมีสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์เท่านั้น การที่จำเลยนำทองรูปพรรณไปขายให้แก่บุคคลภายนอกโดยโจทก์ไม่ได้อนุญาต ถือได้ว่าจำเลยเบียดบังทองรูปพรรณของโจทก์ไปเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริตแล้ว แม้ จ. เบิกความว่า จำเลยตกลงจะเอาทองรูปพรรณของโจทก์มาคืนหรือจะนำเงินมาชดใช้ค่าเสียหายก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องการกระทำที่เกิดขึ้นหลังจากความผิดยักยอกได้เกิดขึ้นสำเร็จแล้ว การกระทำของจำเลยเป็นเพียงการบรรเทาผลร้ายให้ได้รับการลงโทษทางอาญาน้อยลงเท่านั้น หาใช่เป็นการตกลงจะชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งแล้วผิดสัญญากันไม่ ดังนี้ อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวไม่ได้โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมา แต่โต้เถียงว่าการที่จำเลยนำทองรูปพรรณที่เช่าซื้อจากโจทก์ไปขายให้แก่บุคคลภายนอกโดยโจทก์ไม่ได้อนุญาต เป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของโจทก์ไปเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต อันเป็นความผิดฐานยักยอกแล้ว มิใช่เป็นการผิดสัญญาทางแพ่ง จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12675/2558
            ความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 เป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ร่วมต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้น คดีเป็นอันขาดอายุความ ตาม ป.อ. มาตรา 96 คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำเบิกความของโจทก์ร่วมเองว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 จำเลยยอมรับกับโจทก์ร่วมว่าได้ยักยอกเงินค่าจำหน่ายสินค้าของโจทก์ร่วมไปจริง ดังนี้ จึงเท่ากับโจทก์ร่วมได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันดังกล่าวแล้ว การที่โจทก์ร่วมให้จำเลยนำเงินมาชดใช้คืนและจะตรวจสอบบัญชีเพื่อทราบยอดเงินที่สูญหายไปให้ชัดแจ้งอีกครั้งดังที่อ้าง เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมยอมผ่อนผันหรือให้โอกาสแก่จำเลยในฐานะที่เคยเป็นลูกจ้างของตนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิในการร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมขยายออกไป ดังนั้นเมื่อโจทก์ร่วมเพิ่งไปร้องทุกข์เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555 จึงพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว คดีของโจทก์และโจทก์ร่วมในความผิดฐานยักยอกจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13089 - 13090/2558
           ความผิดฐานยักยอก ตาม ป.อ. มาตรา 352 นั้น ทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งการกระทำที่ผู้กระทำความผิดครอบครองอยู่จะต้องเป็นวัตถุที่มีรูปร่างหรือจับต้องสัมผัสได้ แต่หุ้นตามฟ้องเป็นเพียงสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงสิทธิและหน้าที่หรือส่วนได้เสียของโจทก์ร่วมทั้งสองที่มีอยู่ในบริษัทจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ทรัพย์ที่จะเบียดบังยักยอกได้ ทั้งปรากฏว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นเพียงการยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนเท่านั้น ยังหามีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในหุ้นของโจทก์ร่วมทั้งสองไม่ การกระทำของจำเลยทั้งสามตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอก ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12811/2558
           กรณีจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ผู้กระทำความผิดต้องมีเจตนาแย่งการครอบครองทรัพย์นั้นโดยทุจริตตั้งแต่ที่เข้าแย่งการครอบครอง แต่ขณะที่จำเลยยืมคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กจากผู้เสียหาย ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเจตนาจะเอาไปในลักษณะที่เป็นการตัดกรรมสิทธิ์ตั้งแต่แรก จำเลยยังคงพักอยู่ที่โรงแรมตรงข้ามอู่ซ่อมรถของผู้เสียหาย เหตุที่จำเลยหลบหนีออกจากโรงแรมโดยนำคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กไปด้วย เพราะไม่ต้องการชำระค่าซ่อมรถที่จำเลยค้างชำระผู้เสียหาย จึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ที่อยู่ในความครอบครองเป็นของจำเลยโดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1578/2558
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 บัญญัติว่า "ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้" เช่นนี้ แม้โจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของจ่าสิบเอก ม. ผู้ตายแทนที่ร้อยตำรวจตรี ม. บิดาของโจทก์ซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนผู้ตาย และมีสิทธิเรียกร้องในอันที่จะขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นย่าของโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจัดการแบ่งมรดกให้แก่โจทก์ตามสิทธิในทางแพ่งได้ก็ตาม แต่ที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 352, 353, 354 เพื่อที่จะให้จำเลยที่ 1 ได้รับโทษในทางอาญานั้น ย่อมเท่ากับเป็นการขอให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในทางอาญาเป็นส่วนตัว เพราะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลที่ได้กระทำผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวและต้องรับโทษในทางอาญาย่อมต้องรับโทษเป็นส่วนตัว เนื่องจากสภาพบังคับในทางอาญาสำหรับความผิดตามฟ้องไม่มีการรับโทษในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดกเหมือนเช่นความรับผิดในฐานะผู้จัดการมรดกในทางแพ่ง คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นอุทลุม ซึ่งต้องห้ามมิให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้เป็นบุพการีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ปัญหาอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 820/2558
               ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 352 และความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 188 นั้น แตกต่างกัน การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดฐานใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของแต่ละความผิดนั้น คดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองเช็คพิพาทโดยโจทก์เป็นผู้มอบการครอบครองให้แก่จำเลย การที่จำเลยเอาเช็คพิพาทของโจทก์ไปเรียกเก็บเงิน นอกจากเป็นความผิดฐานยักยอกแล้ว ย่อมเป็นการกระทำให้เช็คพิพาทนั้นไร้ประโยชน์ที่จะใช้ได้อีก การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 188 อีกบทหนึ่งด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15733/2557
          โจทก์ร่วมประกอบกิจการค้าวัสดุก่อสร้าง มี ส. และ ณ. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานบัญชีมีหน้าที่ตั้งเรื่องเบิกจ่ายเสนอให้ ณ. พิจารณาอนุมัติและสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานขาย มีหน้าที่นำเช็คที่ ณ. สั่งจ่ายไปถอนเงินและโอนเงินชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์ร่วม การที่จำเลยที่ 1 เสนอเรื่องให้ ณ. อนุมัติและลงชื่อสั่งจ่ายเช็คตามฟ้อง ทั้งที่ไม่มีหนี้ต้องชำระ หรือมีหนี้แต่ให้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินมีจำนวนสูงกว่ายอดหนี้ที่แท้จริง เป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาทุจริตแต่แรก โดยทำใบสำคัญจ่ายฉบับใหม่อำพรางให้เข้าใจว่ามีการโอนเงินที่ ณ. อนุมัติเบิกจ่ายทั้งหมดให้แก่เจ้าหนี้ถูกต้องครบถ้วน เพื่อยักยอกเงินตามเช็คหรือเงินส่วนต่างที่เหลือจากการโอนชำระหนี้เป็นของตนกับพวก จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานยักยอก แม้จำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำใบสำคัญจ่าย แต่ต้องเสนอให้ ณ. พิจารณาอนุมัติก่อนจึงจะมีการจ่ายเงินชำระหนี้ได้ ดังนั้นใบสำคัญจ่ายที่ ณ. ลงชื่ออนุมัติย่อมเป็นหลักฐานการเบิกจ่ายเงินที่เสร็จสมบูรณ์ จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจแก้ไขโดยพลการ การที่จำเลยที่ 1 ทำใบสำคัญจ่ายฉบับใหม่แทนฉบับเดิม โดยมีจำนวนเงินที่อนุมัติสั่งจ่ายลดลงจากเดิมเพื่อยักยอกเงินส่วนต่างของโจทก์ร่วม เป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง และทำให้โจทก์ร่วมเสียหาย มิใช่การกระทำตามอำนาจหน้าที่ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานปลอมเอกสาร จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินตามฟ้อง 674,903 บาท โดยจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ยักยอกเป็นเงิน 600,366 บาท แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินแก่โจทก์ร่วม 674,954 บาท และให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินดังกล่าวแก่โจทก์ร่วม 600,417 บาท เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15248 - 15249/2557
            จำเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยของโจทก์ ซึ่งพนักงานมหาวิทยาลัยดังกล่าวคือ พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาตามความในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดคำนิยามของ "พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา" ว่า หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้ทำงานในสถาบันอุดมศึกษา โดยได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหรือเงินรายได้ของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งความหมายของ "พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา" ตามกฎหมายฉบับนี้แตกต่างจากความหมายของ "ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา" ตามกฎหมายฉบับเดียวกัน กล่าวคือ "ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา" หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับบรรจุและแต่งตั้งให้รับราชการตาม พ.ร.บ.นี้ โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา หากเปรียบเทียบข้อแตกต่างสำคัญแล้ว จะเห็นได้ชัดว่า "ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา" เป็นบุคคลที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการ โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา จึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ส่วน "พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา" เป็นบุคคลที่ได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้เป็นพนักงาน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นข้าราชการ อีกทั้งค่าจ้างหรือค่าตอบแทนพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาก็มิใช่เงินเดือนอันมีที่มาจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา แม้ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะระบุว่า พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาความหมายของพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุนตามข้อ 4 แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิแล้ว ล้วนได้ความตรงกันว่าพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสองประเภทได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปหรือเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย เมื่อจำเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งมิใช่ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและไม่ได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา ประกอบกับไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับใดกำหนดให้พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. และศาลไม่อาจลงโทษจำเลยในฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147, 157 และ 161 ได้ จำเลยมีหน้าที่รับผิดชอบในงานเบิก - จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ตรวจสอบเอกสารเงินยืม ติดตามเงินยืมและตัดยอดเงินยืม ดังนั้น แม้จำเลยจะจัดทำเอกสารเกี่ยวกับงานการเงินในหน้าที่รับผิดชอบของจำเลยไม่ตรงกับความเป็นจริงและใช้หรืออ้างเอกสารดังกล่าวเสนอต่อผู้บังคับบัญชา ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264 ฐานปลอมเอกสาร มาตรา 268 ฐานใช้เอกสารปลอม และมาตรา 137 ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน เพราะจำเลยเป็นผู้บันทึกข้อความลงในเอกสารต่าง ๆ ด้วยตนเอง โดยจำเลยมิได้เป็นผู้แจ้งข้อความดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานอื่นแต่อย่างใด เงินตามเช็คเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินของโจทก์ที่ ธ. ในฐานะเลขานุการโครงการต้นกล้าอาชีพทำหนังสือขอให้โจทก์อนุมัติเพื่อนำไปชำระเงินยืมที่โครงการยืมเงินกลางของโจทก์มาใช้จ่าย เงินจำนวนนี้จึงมิใช่เงินส่วนตัวของ ธ. ทั้ง ธ. ก็ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ของโจทก์ซึ่งโจทก์จะต้องชำระหนี้ให้แก่ ธ. การที่ ธ. มีชื่อเป็นผู้รับเงินตามเช็ค จึงเป็นกรณีที่ ธ. ได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้มีหน้าที่รับเงินตามเช็คแล้วนำไปชำระเงินยืมให้แก่โจทก์ เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินของโจทก์ที่ถูกจำเลยเบียดบังไป โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ แม้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์ของโจทก์ตาม ป.อ. มาตรา 147 แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยเบียดบังทรัพย์ของโจทก์ไปในฐานะบุคคลธรรมดาซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องกล่าวถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 ไว้แล้ว ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13398/2557
            โจทก์ร่วมและจำเลยมีข้อตกลงกันว่า หากลูกค้าต่อรองราคาต่างหูเพชรพิพาทจำเลยจะต้องโทรศัพท์สอบถามโจทก์ร่วมก่อนว่าสามารถขายในราคาดังกล่าวได้หรือไม่ ข้อตกลงนี้มีผลทำให้จำเลยไม่มีอิสระในการกำหนดราคาขายได้จริง นิติกรรมระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยจึงมิใช่เป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด แต่เป็นการที่โจทก์ร่วมมอบต่างหูเพชรของกลางแก่จำเลยให้ไปขายแทนโจทก์ร่วม ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยเป็นเรื่องตัวแทน โดยจำเลยเป็นตัวแทนขายต่างหูเพชรของกลางให้แก่ลูกค้าแทนโจทก์ร่วมผู้เป็นตัวการ เมื่อจำเลยครอบครองต่างหูเพชรของกลางของโจทก์ร่วมแล้วนำไปจำนำไว้แก่บุคคลอื่น จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบ การกระทำของจำเลยเป็นการเบียดบังต่างหูเพชรของกลางของโจทก์ร่วมโดยเจตนาทุจริตเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๕๒ วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12250/2557
            โจทก์ร่วมกับจำเลยจดทะเบียนสมรสที่ประเทศออสเตรเลีย และลงทุนทำไร่องุ่น ต่อมาจำเลยย้ายกลับมาอยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้หย่าขาดกับโจทก์ร่วม เงินค่าชดเชยที่รัฐบาลออสเตรเลียจ่ายให้แก่โจทก์ร่วมและจำเลยกรณีเลิกทำไร่องุ่น เป็นเงินที่ได้มาในระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส การที่โจทก์ร่วมส่งเงินชดเชยมาให้แก่จำเลย แล้วจำเลยนำเงินดังกล่าวไปซื้อทรัพย์พิพาท แม้มีการจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว ทรัพย์พิพาทยังคงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย ต่อมาโจทก์ฟ้องหย่าจำเลยขอแบ่งสินสมรสและขอใช้อำนาจปกครองบุตรที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น ขณะคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น จำเลยจดทะเบียนขายฝากทรัพย์พิพาทไว้แก่พันตำรวจเอก ม. จึงมิใช่การทำสัญญาในลักษณะปกติ แม้คดียังมีข้อโต้เถียงกรรมสิทธิ์และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่นก็ตาม ถือว่าโจทก์ (โจทก์ร่วมในคดีนี้) อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจจะฟ้องจำเลยแล้ว จึงเข้าองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย โจทก์ร่วมกับจำเลยจึงเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์พิพาท การที่จำเลยนำทรัพย์พิพาทไปจดทะเบียนขายฝากไว้แก่พันตำรวจเอก ม. โดยโจทก์ร่วมไม่ทราบและไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมก่อน และไม่ไถ่ถอนคืนภายในกำหนดเช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์พิพาทไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก อีกบทหนึ่งด้วย การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าว เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8430 - 8432/2557
           สัญญาการเลี้ยงไก่มีสาระสำคัญว่าจำเลยที่ 3 ต้องวางเงินประกันไว้ก่อนจำนวนหนึ่งเพื่อรับลูกไก่จากโจทก์ร่วมมาเลี้ยง และเมื่อส่งไก่ใหญ่ให้แก่โจทก์ร่วมจึงจะคิดราคาไก่ที่ส่งกับต้นทุนทุกอย่างที่รับไปจากโจทก์ร่วม เช่น ลูกไก่ อาหารไก่ วัคซีน และการขนส่ง ถ้าคิดราคาไก่ที่ส่งได้เงินสูงกว่าราคาต้นทุน จำเลยที่ 3 ก็ได้กำไร แต่หากคิดราคาไก่ได้น้อยก็ขาดทุนซึ่งโจทก์ร่วมจะหักเงินประกันชำระต้นทุนส่วนที่ขาด หลังจากโจทก์ร่วมส่งลูกไก่ให้แก่จำเลยที่ 3 แล้ว ความรับผิดชอบในตัวไก่ทั้งหมดตกไปอยู่แก่จำเลยที่ 3 ผู้เลี้ยงโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยง การดูแลรักษา หรือการป้องกันภัยต่าง ๆ ซึ่งจะเกิดแก่ตัวไก่หากเกิดความเสียหายอย่างใด ๆ ขึ้นไม่ว่าจะเป็นไก่ตาย ไก่เป็นโรค หรือไก่พิการจำเลยที่ 3 ก็ต้องรับไปซึ่งความเสียหายนั้นเพียงผู้เดียว กล่าวคือ จำเลยที่ 3 ก็จะไม่มีไก่ไปส่งหรือไก่ที่ส่งไม่ได้น้ำหนักและราคา อันจะทำให้จำเลยที่ 3 ขาดทุนเมื่อคิดหักกับต้นทุน เช่น ค่าลูกไก่ ค่าอาหารหรือค่าวัคซีนที่รับไปจากโจทก์ร่วม ซึ่งกรณีขาดทุนโจทก์ร่วมก็จะหักเอาจากเงินประกัน แสดงว่า ในส่วนของโจทก์ร่วมลูกไก่ที่มอบให้จำเลยที่ 3 ไปเลี้ยงจะได้คืนหรือไม่ไม่ใช่สาระสำคัญเพราะแม้ไม่ได้คืนหรือได้คืนในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ โจทก์ร่วมก็สามารถหักเอาเงินประกันได้ ดังนั้น โจทก์ร่วมจึงไม่อาจอ้างความเป็นเจ้าของลูกไก่หลังจากส่งมอบให้จำเลยที่ 3 ไปแล้วได้แม้ในสัญญาการเลี้ยงไก่จะเขียนให้โจทก์ร่วมยังมีกรรมสิทธิ์อยู่ก็ตาม นอกจากนั้น พิเคราะห์จากคำเบิกความของ ว. กรรมการผู้จัดการโจทก์ร่วมที่ตอบทนายจำเลยที่ 3 ถามค้านว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่สามารถชำระค่าไก่ตั้งแต่ตอนรับลูกไก่ได้โดยไม่จำต้องรอให้ไก่ใหญ่ก่อน ก็เห็นได้ชัดว่า โจทก์ร่วมมอบลูกไก่ให้จำเลยที่ 3 ไปเลี้ยงในลักษณะซื้อขาย ไม่ได้ฝากทรัพย์หรือจ้างเลี้ยงแต่อย่างใด เพียงแต่มีข้อตกลงพิเศษว่า เมื่อเลี้ยงเป็นไก่ใหญ่แล้ว จำเลยที่ 3 ต้องนำมาขายให้แก่โจทก์ร่วมเพื่อชำแหละขายเป็นไก่เนื้อเท่านั้น ฉะนั้นการนำไก่ไปขายของจำเลยที่ 3 จึงไม่มีมูลความผิดฐานยักยอก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3859/2557
            จำเลยที่ 1 มีหน้าที่นำน้ำมันของโจทก์ร่วมไปขายและรับเงินค่าขายน้ำมันจากลูกค้า ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบเงินดังกล่าวไว้ในครอบครองในฐานะตัวแทนโจทก์ร่วมและมีหน้าที่ส่งมอบเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วม เมื่อจำเลยที่ 1 เบียดบังเอาไปบางส่วน จึงเป็นการยักยอกเงินค่าขายน้ำมันของโจทก์ร่วม เป็นความผิดฐานยักยอก แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง ก็ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในสาระสำคัญและจำเลยที่ 1 ไม่ได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบมาตรา 215, 225 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7836/2556
           จำเลยรับเครื่องประดับจากโจทก์ไปจำหน่าย โดยจำเลยสั่งจ่ายเช็คระบุจำนวนเงินตามมูลค่าเครื่องประดับนั้น ๆ ให้โจทก์ยึดถือไว้ เมื่อจำเลยนำเงินค่าเครื่องประดับมาชำระ โจทก์จะคืนเช็คให้จำเลย พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุให้เชื่อได้ว่า ราคาที่โจทก์กำหนดตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องนั้น แท้จริงแล้วคือราคาที่จำเลยจะต้องออกเช็คให้โจทก์ยึดถือไว้ ดังนั้น ผลประโยชน์ตอบแทนที่จำเลยจะได้รับจากการทำธุรกิจเช่นนี้กับโจทก์ก็คือ ส่วนต่างของราคาเครื่องประดับที่จำเลยขายให้แก่ลูกค้ากับราคาที่โจทก์กำหนดโดยจำเลยต้องออกเช็คให้โจทก์ยึดถือไว้นั่นเอง กรณีจึงมิใช่จำเลยได้รับมอบหมายให้รับเครื่องประดับไว้ในฐานะตัวแทนโจทก์ หากแต่จำเลยครอบครองโดยอาศัยอำนาจแห่งสัญญาที่โจทก์กับจำเลยมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน เมื่อจำเลยไม่ส่งเงินที่ขายได้หรือไม่ส่งคืนเครื่องประดับที่ยังขายไม่ได้ให้โจทก์ ก็เป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่ง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอก แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ลงโทษไม่ได้ ปัญหาว่าจำเลยกระทำผิดหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาสามารถหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7832/2556
             จำเลยกับพวกร่วมกันยักยอกรถยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อ ขณะอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อ เมื่อในขณะกระทำความผิดผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์ที่เช่าซื้อดังกล่าว การกระทำของจำเลยกับพวกย่อมทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับความเสียหายโดยตรง แม้ผู้เสียหายที่ 2 จะไปแจ้งความร้องทุกข์ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายที่ 1 แต่ก็ถือว่าได้ร้องทุกข์ในฐานะที่ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้เสียหายด้วยเช่นกัน ผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ และย่อมมีอำนาจในการถอนคำร้องทุกข์ เมื่อความผิดฐานยักยอกทรัพย์เป็นความผิดต่อส่วนตัวและคดียังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ เมื่อปรากฏว่าก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกา ผู้เสียหายที่ 2 ถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4169/2556
         จำเลยเป็นลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในสำนักงานของโจทก์ร่วม การควบคุม ดูแล เก็บรักษาสินค้า เบิกจ่ายสินค้าและทำบัญชีเบิกจ่ายสินค้าในสต็อกจึงเป็นเพียงการทำงานในหน้าที่และดูแลสินค้าชั่วคราวในเวลาที่จำเลยทำงานเท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมได้มอบการครอบครองสินค้าให้แก่จำเลยไปดูแลจัดการโดยเด็ดขาดไม่ ดังนี้ แม้หากมีสินค้าของโจทก์ร่วมขาดหายไปจากสต็อกซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยก็ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22267/2555
            กฎหมายมิได้กำหนดรูปแบบของการร้องทุกข์ว่าต้องดำเนินการอย่างไร การที่โจทก์ร่วมแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า ประสงค์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย และพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำโจทก์ร่วมไว้ จึงถือว่าเป็นการร้องทุกข์แล้ว แม้พนักงานสอบสวนไม่ได้บันทึกการมอบคดีความผิดอันยอมความไว้ก็ตาม พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้อง โจทก์ร่วมมอบเงินให้จำเลยไว้ใช้จ่ายร่วมกันในครอบครัว การที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ร่วมเป็นชาวต่างชาติไม่สามารถเปิดบัญชีได้ จำเลยจึงเปิดบัญชีและฝากเงินในชื่อของจำเลยเพียงคนเดียว ถือได้ว่าจำเลยครอบครองเงินที่โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เมื่อโจทก์ร่วมบอกให้จำเลยคืนเงินแต่จำเลยไม่ยอมคืนให้แก่โจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังยักยอกเอาเงินซึ่งโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปเป็นของตนโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอก หาใช่เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นไม่ แต่เมื่อโจทก์ร่วมและจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกันในเงินดังกล่าว โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเพียงกึ่งหนึ่งในเงินจำนวนดังกล่าวเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16081 - 16083/2555
โจทก์พักอาศัยอยู่ต่างประเทศ ประสงค์จะปลูกต้นสนไว้เพื่อขายจึงมอบหมายให้จำเลยเป็นผู้จัดการหาต้นสนมาปลูกและดูแลต้นสน ต้นสนของโจทก์ทั้งสามอยู่ในความครอบครองของจำเลย การที่จำเลยตัดต้นสนโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทั้งสามทราบ หรือได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสาม และจำเลยรับเงินค่าต้นสนทั้งหมดไปเป็นประโยชน์ของตนเองไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ต้นสน แต่เป็นความผิดฐานยักยอก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15558/2555
             จำเลยเป็นลูกจ้างประจำของเทศบาลนครหาดใหญ่ มีหน้าที่เก็บเงินค่าธรรมเนียมตั้งแผงลอยขายอาหาร ทำสัญญาเช่าโต๊ะวางขายของและเก็บเงินค่าเช่าโต๊ะประจำเดือน ทั้งจัดทำใบนำส่งเงินให้เจ้าหน้าที่รับเงินเป็นประจำทุกวัน การที่จำเลยเรียกเก็บเงินค่าวางแผงขายของจากพ่อค้าแม่ค้าผู้เช่าแผงขายสินค้าจากเทศบาลนครหาดใหญ่เกินกว่าจำนวนแผงขายสินค้าในพื้นที่ของเทศบาลนครบาลหาดใหญ่ทั้งที่เช่าจากเทศบาลนครนครหาดใหญ่และไม่ได้เช่าจากเทศบาลนครหาดใหญ่ตามความเป็นจริงแล้ว จำเลยนำส่งเงินให้แก่เทศบาลนครหาดใหญ่เป็นจำนวนตามแผงที่พ่อค้าแม่ค้าเช่าจากเทศบาลนครหาดใหญ่ แต่ไม่นำส่งเงินที่เรียกเก็บเกินจากพ่อค้าแม่ค้าให้แก่เทศบาลนครหาดใหญ่ โดยจำเลยระบุจำนวนเงินลงในต้นฉบับใบเสร็จรับเงินตามจำนวนแผงวางขายสินค้าที่พ่อค้าแม่ค้าวางแผงขายสินค้า แต่ระบุจำนวนเงินลงในสำเนาใบเสร็จรับเงินตามจำนวนแผงที่พ่อค้าแม่ค้าเช่าจากเทศบาลนครหาดใหญ่ ถือว่าพ่อค้าแม่ค้าที่วางแผงเกิน ประสงค์จะจ่ายเงินตามจำนวนเงินที่วางแผงเกินให้แก่เทศบาลนครหาดใหญ่แล้ว เมื่อจำเลยรับเงินไว้ต้องถือว่ารับแทนเทศบาลนครหาดใหญ่ การที่จำเลยเบียดบังเงินดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยไม่นำเงินส่งแก่เทศบาลนครหาดใหญ่ ย่อมเป็นการยักยอกเงินของเทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลนครหาดใหญ่จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานยักยอกได้ โจทก์มีอำนาจฟ้อง ผู้เสียหายมีนายกเทศมนตรีเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย การที่ ส. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานจัดเก็บรายได้อันเป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่างของผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดจะถือว่าผู้เสียหายรู้ด้วยหาได้ไม่ เมื่อนายกเทศบาลนครหาดใหญ่มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2542 และคณะกรรมการสอบสวนได้ทำการตรวจสอบและทำบันทึกสรุปข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2542 และผู้เสียหายร้องทุกข์เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2542 ยังไม่เกิน 3 เดือน คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15447/2555
ป.พ.พ. บัญญัติเกี่ยวกับวิธีเฉพาะการฝากเงินไว้ตามมาตรา 672 ว่า ผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกันกับที่ฝาก แต่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวน และผู้รับฝากจะเอาเงินซึ่งฝากนั้นออกใช้ก็ได้ แต่หากจำต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น แม้ว่าเงินซึ่งฝากนั้นจะได้สูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตาม ผู้รับฝากก็จำต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าว เงินฝากของโจทก์ร่วมที่ฝากไว้กับธนาคาร ย. สาขาแจ้งวัฒนะ ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคารนับแต่วันที่มีการฝากเงิน โจทก์ร่วมมีสิทธิที่จะเบิกถอนเงินได้ ธนาคารเพียงแต่มีหน้าที่คืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น และในกรณีที่จำเลยปลอมลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายเช็ค เงินที่ธนาคารจ่ายไปตามเช็คย่อมเป็นเงินของธนาคารและธนาคารไม่มีสิทธิหักจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วม ดังนี้ เงินที่จำเลยลักไปจึงมิใช่กรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานลักทรัพย์ โจทก์ไม่มีอำนาจขอให้จำเลยคืนเงิน 2,100,000 บาท แก่โจทก์ร่วม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12342/2555
           ตามรายการรับมอบเพชรมีการระบุราคาของเพชรแต่ละรายการไว้ และมีข้อความกำหนดเงื่อนไขว่า จำเลยจะต้องรับผิดชอบในความสูญหายและเสียหายของเพชรกับมีหน้าที่ต้องส่งมอบเพชรคืนเมื่อทวงถาม โดยไม่ปรากฏข้อตกลงในส่วนของค่าตอบแทนการขายที่จำเลยจะได้รับ ทั้งจำเลยก็ไม่ได้เป็นลูกจ้างของผู้เสียหาย ย่อมแสดงว่าจำเลยอาจนำเพชรไปเสนอขายในราคาที่สูงหรือต่ำกว่าที่กำหนดไว้ก็ได้ เพียงแต่ว่าเมื่อขายได้แล้วต้องส่งเงินแก่ผู้เสียหายตามราคาที่กำหนดกันไว้เท่านั้น การครอบครองทรัพย์ของจำเลยในลักษณะเช่นนี้จึงหาใช่เป็นการที่จำเลยได้รับมอบหมายให้ครอบครองเพชรดังกล่าวไว้ในฐานะตัวแทนผู้เสียหาย หากแต่เป็นกรณีครอบครองโดยอาศัยอำนาจแห่งสัญญาที่ผู้เสียหายกับจำเลยมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน โดยผู้เสียหายให้จำเลยนำไปขาย เมื่อจำเลยไม่ส่งเงินที่ขายก็เป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่งเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 352

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11224/2555
          การที่สลากกินแบ่งรัฐบาลถูกรางวัลที่หนึ่งและจำเลยทั้งสองร่วมกันไปรับเงินรางวัลมาแล้ว ย่อมทำให้โจทก์ร่วมหมดโอกาสที่จะได้รับเงินรางวัล เท่ากับว่าโจทก์ร่วมต้องสูญเสียเงินจำนวนนั้นไปเนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองโดยตรง โจทก์จึงมีสิทธิขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินหรือใช้เงินเท่ากับจำนวนเงินรางวัลที่หนึ่งให้แก่โจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แต่ได้ความว่าในการขอรับเงินรางวัล จำเลยทั้งสองได้รับเงินมาเพียง 3,980,000 บาท เพราะต้องเสียอากรแสตมป์ 20,000 บาท จำเลยทั้งสองต้องคืนหรือใช้เงินจำนวนเท่าที่ได้รับมาเท่านั้น และโจทก์ร่วมซึ่งได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองย่อมมีสิทธิที่จะขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม โดยเรียกดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ต้องใช้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 440 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9948/2555
           โจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 2 เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนกับบริษัท อ. เพื่อดำเนินกิจการของโรงเรียน อันมีโจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 2 เป็นหุ้นส่วน เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้เป็นหุ้นส่วนตกลงกันไว้ในกระบวนการห้างหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วนย่อมจัดการห้างหุ้นส่วนนั้นได้ทุกคนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1033 วรรคหนึ่ง โจทก์ร่วมในฐานะหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนสามัญยังมิได้จดทะเบียน ย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา หรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ (วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่)

        ขณะเกิดเหตุแม้จำเลยไม่ได้ทำหน้าที่ฝ่ายการเงินของโรงเรียนและไม่มีหน้าที่รับเงินจากนักเรียนโดยตรงก็ตาม แต่จำเลยเป็นอาจารย์ฝ่ายทะเบียนและฝ่ายผู้สอน นักเรียนสามารถฝากเงินแก่จำเลยให้นำไปชำระแก่โรงเรียนได้โดยถือเสมือนหนึ่งว่านักเรียนชำระเงินให้แก่โรงเรียนแล้ว และจำเลยมีหน้าที่นำเงินดังกล่าวไปมอบให้ฝ่ายการเงิน ถือได้ว่าจำเลยได้รับมอบหมายโดยปริยายจากโรงเรียนให้มีหน้าที่รับเงินจากนักเรียนแทนโรงเรียนได้ ซึ่งเมื่อจำเลยได้รับเงินดังกล่าวจากนักเรียนแล้ว เงินดังกล่าวย่อมตกเป็นของโรงเรียน ซึ่งเป็นกิจการของห้างหุ้นส่วนสามัญยังมิได้จดทะเบียน ไม่ได้เป็นของนักเรียนอีกต่อไป นักเรียนผู้ชำระเงินผ่านจำเลย จึงมิใช่ผู้เสียหายผู้มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย ดังนั้นแม้ก่อนโจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในคดีนี้ นักเรียนผู้ชำระเงินผ่านจำเลยไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในข้อหาฉ้อโกง และถอนคำร้องทุกข์เนื่องจากโรงเรียนออกใบรับรองผลการเรียนให้ไปแล้วก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่านักเรียนดังกล่าวเป็นผู้เสียหายที่จะมีอำนาจถอนคำร้องทุกข์ในความผิดข้อหายักยอกตามฟ้องนี้ได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ ในส่วนนี้จึงยังไม่ระงับไป เพราะมิใช่เป็นการเปลี่ยนตัวผู้เสียหายและเปลี่ยนข้อหาเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8634/2555
        ก. ตรวจค้นพบลูกกุญแจของกลางที่ตัวจำเลย เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 หลังจากวันที่จำเลยอ้างว่าเก็บลูกกุญแจของกลางได้สองวัน ทั้งที่จำเลยทราบดีว่ามีการพยายามติดตามหาเนื่องจากเป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับการรักษาความปลอดภัยในโรงแรม จึงฟังได้ว่าจำเลยเบียดบังลูกกุญแจของกลางซึ่งเป็นทรัพย์สินหายดังกล่าวไว้โดยทุจริต แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร แต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์สินหาย ตามป.อ. มาตรา 352 วรรคสอง จึงเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียดมิใช่ต่างกันในข้อสาระสำคัญ และไม่ถือว่าเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เมื่อจำเลยมิได้หลงต่อสู้เนื่องจากนำสืบรับข้อเท็จจริงในส่วนนี้ ศาลฎีกาจึงลงโทษจำเลยฐานยักยอกได้ ตามป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11465/2554
            จำเลยเป็นคนนำรถเกรดถนนของ ส. ที่ฝากไว้แก่ผู้เสียหายไปจากความครอบครองของผู้เสียหาย ตามที่ผู้เสียหายแจ้งให้จำเลยเคลื่อนย้ายไปจากปั้มแก๊สของผู้เสียหาย เป็นกรณีที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้มีสิทธิครอบครองทรัพย์ส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลยด้วยความสมัครใจ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ แม้จำเลยรับรถเกรดถนนไปเพราะได้รับความยินยอมจากผู้เสียหาย ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องนำรถเกรดถนนไปคืนแก่ทายาทของ ส. การที่จำเลยไม่นำไปคืน แต่กลับนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตนด้วยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งๆ ที่ไม่ใช่รถเกรดถนนของตน ถือได้ว่าเมื่อจำเลยรับรถเกรดถนนไว้ในครอบครองแล้ว จำเลยมีเจตนาทุจริตเบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 แต่เป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9663/2554
            ผู้เสียหายไม่ได้มอบหมายให้จำเลยเบิกเงิน 490,000 บาท จากบัญชีของผู้เสียหายที่เปิดไว้ที่ธนาคาร แต่เป็นเจตนาของจำเลยที่ต้องการได้เงินโดยมิชอบและหาวิธีการโดยการปลอมใบถอนเงินนำไปหลอกลวงเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินจำนวนดังกล่าว ดังนั้น เงินที่จำเลยได้มาตามฟ้อง แม้จะเป็นเงินที่เจ้าหน้าที่ธนาคารทำพิธีการทางบัญชีของธนาคารหักจากบัญชีของผู้เสียหายก็ตาม แต่เป็นเพราะจำเลยนำเอกสารปลอมไปหลอกลวงจนกระทั่งเจ้าหน้าที่ของธนาคารหลงเชื่อ เงินที่จำเลยได้ไปจึงเป็นเงินของธนาคาร มิใช่เงินของผู้เสียหาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอกเงินผู้เสียหาย แต่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงธนาคาร โจทก์ฟ้องว่าจำเลยยักยอกเงินของผู้เสียหาย เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาฟังไม่ได้ว่าจำเลยยักยอกเงินผู้เสียหาย แต่ฟังได้ว่าจำเลยฉ้อโกงธนาคารจึงเป็นความผิดต่อผู้เสียหายต่างคนจากที่โจทก์บรรยายในฟ้อง ถือเป็นข้อเท็จจริงแตกต่างจากที่กล่าวในฟ้องในข้อที่เป็นสาระสำคัญ ไม่อาจลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง และไม่อาจสั่งให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายได้เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2716/2554
           การที่ อ. ผู้เสียหายตกลงให้จำเลยเอารถกระบะที่ผู้เสียหายทำสัญญาเช่าซื้อมาไปใช้โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหาย ถือได้ว่าเป็นการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ โดยมีข้อตกลงกันระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยว่า จำเลยจะเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหาย หลังจากจำเลยได้รับมอบการครอบครองรถกระบะจากผู้เสียหายแล้ว ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยพารถกระบะหลบหนีไปขายแก่บุคคลภายนอก หรือแอบอ้างว่าเป็นรถกระบะของตนเอง ด้วยการปฏิเสธว่าไม่ได้รับมอบรถกระบะจากผู้เสียหายแต่อย่างใด แต่จำเลยครอบครองใช้รถกระบะนั้นโดยเปิดเผยและได้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหายเรื่อยมาจำนวนถึง 5 งวดติดต่อกันต่อมาจำเลยค้างส่งค่างวดจึงได้มอบรถกระบะให้ ช. โดยทำความตกลงกับ ช. ให้ ช. เป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อที่เหลือต่อไป พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยรวมทั้งที่จำเลยรับเงินมัดจำจาก ช. ในวันทำสัญญาเป็นเงิน 5,000 บาท และในสัญญาระบุว่าจำเลยและ ช. ซื้อขายรถยนต์ (รถกระบะ) นั้น ยังมิใช่การเอารถกระบะทรัพย์สินของผู้ให้เช่าซื้อไปขายแต่เป็นเพียงการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่ ช. โดยมีข้อตกลงให้ ช. มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อต่อไป เพราะจำเลยประสงค์จะหาบุคคลอื่นมาช่วยรับภาระในการผ่อนค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหาย จำเลยจึงมิได้เบียดบังเอารถกระบะดังกล่าวเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต ไม่เป็นเหตุทำให้การกระทำของจำเลยที่ไม่เป็นความผิดกลับกลายเป็นความผิดไปแต่อย่างใด การที่จำเลยโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่ ช. แม้จะมิได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าซื้อก็มีผลในทางแพ่งเพียงว่า ผู้ให้เช่าซื้อยังคงมีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างจากผู้เสียหายผู้เช่าซื้อเดิมได้ต่อไป รวมทั้งเรียกค่าเสียหายในการที่ผู้ให้เช่าซื้อไม่อาจติดตามยึดรถกระบะคืนจากจำเลยได้ จำเลยย่อมไม่มีความผิดฐานยักยอก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1563/2554
       ต้นขั้วใบเสร็จรับเงินค่าน้ำประปาเป็นเอกสารที่จำเลยทำขึ้นเพื่อแสดงตัวเลขปริมาตรน้ำประปาที่ใช้และจำนวนเงินค่าน้ำประปาที่ผู้ใช้น้ำประปาจะต้องชำระเพื่อใช้อ้างแสดงประกอบการนำส่งค่าน้ำประปาให้แก่สมุห์บัญชีของผู้เสียหายเท่านั้น ต้นขั้วใบเสร็จรับเงินค่าน้ำประปาดังกล่าวจึงมิใช่เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ มิใช่เอกสารสิทธิตามความใน ป.อ. มาตรา 1 (9) เมื่อจำเลยปลอมต้นขั้วใบเสร็จรับเงินค่าน้ำประปาของผู้เสียหายซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหน่วยงานราชการ การกระทำของจำเลยจึงเป็นเพียงปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม ไม่ใช่เป็นการปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการและใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม จำเลยปลอมต้นขั้วใบเสร็จรับเงินค่าน้ำประปาซึ่งจำเลยใช้เรียกเก็บเงินค่าน้ำประปาจากผู้ใช้น้ำประปาแต่ละรอบเดือนจำนวนหลายฉบับ รวม 28 ครั้ง และนำเอกสารราชการปลอมไปใช้อ้างแสดงประกอบการนำส่งค่าน้ำประปาให้แก่เจ้าหน้าที่สมุห์บัญชีของผู้เสียหายเพื่อนำส่งเงินที่มีจำนวนน้อยกว่าจำนวนเงินที่จำเลยเรียกเก็บจากผู้ใช้น้ำประปาแต่ละราย แล้วเบียดบังเอาเงินของผู้เสียหายไปรวม 28 ครั้ง ต่างวันเวลากัน การปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอมกับยักยอกในแต่ละครั้งย่อมเป็นความผิดสำเร็จอยู่ในตัวและมีเจตนาก่อให้เกิดผลต่างกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5883/2552
      ส. ซึ่งเป็นลูกวงแชร์ประมูลแชร์ได้ จำเลยซึ่งเป็นนายวงแชร์ได้รับเช็คตามฟ้องจากลูกวงแชร์ที่ยังประมูลไม่ได้ เพื่อนำไปมอบให้แก่ ส. แต่จำเลยมิได้นำไปมอบให้ ส. กลับนำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินในบัญชีของตนเองและถอนเงินไป ดังนี้ จำเลยในฐานะนายวงแชร์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงการเล่นแชร์ว่า เมื่อจำเลยได้เช็คจากลูกวงแชร์แล้วจะต้องนำเช็คไปมอบให้ ส. ซึ่งประมูลแชร์ได้ การที่จำเลยรับเช็คตามฟ้องจึงเป็นการรับไว้แทน ส. เมื่อจำเลยนำเช็คไปเรียกเก็บเงินและถอนเงินออกจากบัญชี จึงเป็นการครอบครองเงินของ ส.แล้วเบียดบังเอาเงินนั้นไป ส. จึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานยักยอกเงินตามเช็ค

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4823/2552
โจทก์ ประกอบกิจการให้เช่าซื้อรถแท็กซี่ มีเจ้าของรถแท็กซี่นำรถมาร่วมกิจการกับโจทก์โดยใช้ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของ กรรมสิทธิ์รถและมอบให้โจทก์นำรถแท็กซี่ออกให้เช่าซื้อ แต่สัญญาเช่าซื้อทำกันระหว่างเจ้าของรถแท็กซี่กับผู้เช่าซื้อ กำหนดชำระค่าเช่าซื้อเป็นรายวัน ในการนี้ โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 เป็นผู้เก็บค่าเช่าซื้อแทน จำเลยที่ 1 เก็บค่าเช่าซื้อไว้แล้วไม่ส่งให้โจทก์ เบียดบังเอาเงินค่าเช่าซื้อที่รับไว้แทนโจทก์ไปโดยทุจริต จึงมีความผิดฐานยักยอก และแม้เงินดังกล่าวจะมิใช่ของโจทก์ แต่โจทก์ต้องส่งเงินดังกล่าวให้แก่เจ้าของรถหลังจากหักค่าใช้จ่ายของโจทก์ แล้ว โจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6901/2551
การที่จำเลยปลอมใบนำฝากเงินและใบเสร็จรับเงินของธนาคาร ก็โดยเจตนาเพื่อใช้เป็นหลักฐานแสดงว่าจำเลยนำเงินและเช็คที่ได้รับมอบจาก โจทก์ร่วมไปเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของโจทก์ร่วม เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้เพื่อปกปิดการกระทำของจำเลยที่ได้ยักยอกเงินที่ได้รับมอบจากโจทก์ ร่วมและที่จำเลยเบิกตามเช็คของโจทก์ร่วมไปบางส่วนหรือทั้งหมด แม้การปลอมเอกสารดังกล่าวจะกระทำภายหลังที่จำเลยยักยอกเงินไปแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับที่จำเลยยักยอกเงินของโจทก์ร่วมไป โดยจำเลยมีเจตนาที่จะใช้เอกสารที่ทำขึ้นเป็นหลักฐานเพื่อยักยอกเงินของโจทก์ ร่วมนั้นเอง ความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมกับความผิดฐานยักยอก จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6671/2551
เมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย ทายาทของ ส. ตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินของ ส. ว่า บุคคลใดได้รับยกให้ที่ดินแปลงใดก่อน ส. ถึงแก่ความตาย และทำประโยชน์ในที่ดินแปลงนั้นก็ให้ตกเป็นของบุคคลนั้น จำเลยได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ ส. ถึงแก่ความตายแต่ผู้เดียว กรณีจึงต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสามจะเรียกร้องเอาส่วนแบ่งให้ผิดไปจากที่ได้แบ่งปันกันไปแล้วอีก ไม่ได้ แม้ภายหลังจำเลยไปยื่นขอจัดการมรดกก็ไม่ทำให้ที่ดินพิพาทกลับกลายเป็นทรัพย์ มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปันกันระหว่างทายาท เพราะจำเลยประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนให้ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ ในที่ดินพิพาทเท่านั้น มิใช่เพื่อประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งสิ้นสิทธิในที่ดินพิพาทแล้ว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3879/2551
เงินที่จำเลยรับมาในฐานะเป็นผู้บริหารกิจการประกอบกิจการโรงงาน ทั้งจำเลยเป็นหุ้นส่วนกับโจทก์ร่วมประกอบกิจการนั้น โจทก์ร่วมจะมีสิทธิได้เงินดังกล่าวหรือไม่ เพียงใด ก็ต้องอาศัยสัญญาหุ้นส่วนที่มีต่อกันเท่านั้น การที่จำเลยไม่ส่งเงินดังกล่าวให้โจทก์ร่วมก็เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมจะเรียก ร้องเอาแก่จำเลยในทางแพ่ง จึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ.มาตรา 352 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2884/2551
โจทก์ร่วมมอบฉันทะให้จำเลยไปถอนเงินของโจทก์ร่วมจำนวน 2,000,000 บาท จากธนาคารเพื่อนำมาประกันตัวโจทก์ร่วม กับพวก เนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่อนุญาตให้โจทก์ร่วมออกไปถอนเงินด้วยตนเอง จำเลยถอนเงินแล้วนำฝากเข้าบัญชีเงินฝากประจำของจำเลย แล้วนำสมุดเงินฝากไปประกันตัวโจทก์ร่วมกับพวก เมื่อเสร็จสิ้นการประกันตัวแล้ว ไม่ยอมคืนเงินให้โจทก์ร่วม โดยอ้างว่าเป็นของจำเลยที่โจทก์ร่วมชำระหนี้ให้จำเลย จึงเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7671/2550
จำเลยเป็นผู้จัดการสาขาของโจทก์ร่วม เมื่อจำเลยรับเงินจาก บ. ผู้ค้ำประกันการทำงานของ น. พนักงานโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยได้ทำสัญญาในฐานะผู้จัดการของโจทก์ร่วม มีสาระสำคัญว่า บ. ได้ชำระเงินให้โจทก์ร่วมแล้วและโจทก์ร่วมถือว่า บ. ได้ปฏิบัติตามสัญญาค้ำประกันครบถ้วนแล้ว ไม่ติดใจดำเนินคดีแพ่งหรือคดีอาญากับ บ. อีกต่อไป ดังนี้ เงินที่จำเลยรับไว้จาก บ. จึงเป็นของโจทก์ร่วมแล้ว เพราะโจทก์ร่วมต้องรับผลในการกระทำของจำเลยในอันที่จะไปเรียก บ. ชำระเงินอีกไม่ได้เนื่องจาก บ. อาจนำสัญญาดังกล่าวมาแสดงว่าได้ชำระหนี้ให้โจทก์ร่วมแล้ว การที่จำเลยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ร่วมทราบหรือไม่ได้รับอนุมัติจากผู้จัดการเขต ของโจทก์ร่วมตามระเบียบที่โจทก์ร่วมวางไว้ก็เป็นเพียงระเบียบภายในที่จำเลย ต้องปฏิบัติจะนำมาอ้างว่ามิใช่ตัวแทนของโจทก์ร่วมหาได้ไม่ หากเป็นการผิดระเบียบก็เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมต้องว่ากล่าวกับจำเลยและไม่ ผูกพัน บ. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต ดังนั้น จึงถือได้ว่าจำเลยรับเงินแทนโจทก์ร่วมแล้ว เมื่อจำเลยเบียดบังเอาเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นของจำเลยโดยทุจริต โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 416/2550
จำเลย ที่ 1 ครอบครองเครื่องจักรยกของหนักบนอาคารสูงหรือปั้นจั่นหอสูงอันเป็นทรัพย์ พิพาทโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่า เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าและโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่าแล้ว จำเลยที่ 1 มีหน้าที่จะต้องส่งคืนทรัพย์พิพาทแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ในสัญญาเช่า จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตลอดเวลาที่ครอบครองทรัพย์พิพาทตามข้อตกลง ในสัญญา แม้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบคืนทรัพย์พิพาทให้แก่โจทก์ตามข้อตกลงก็ตาม พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ก็ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการเบียดบังที่จะเอาทรัพย์เป็นของตนโดยทุจริต กรณีเป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่งไม่มีมูลความผิดอาญาฐานยักยอกทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6540/2548
จำเลยเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมไป แม้จำเลยจะมีสิทธิใช้สอยและครอบครองรถจักรยานยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อ แต่รถจักรยานยนต์ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมประสงค์จะตรวจดู จำเลยจำต้องยอมให้ผู้เช่าซื้อตรวจดูทรัพย์สินที่เช่าซื้อได้เป็นครั้งคราวใน เวลาและระยะอันสมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 555 การที่จำเลยไม่สามารถนำรถจักรยานยนต์มาให้โจทก์ร่วมตรวจดูได้ แม้จำเลยได้แสดงเจตนาที่จะชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ร่วม แต่จำเลยกับพวกนำรถไปขายที่ต่างประเทศแล้ว ถือได้ว่าจำเลยเบียดบังเอารถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมไปเป็นของตนเองหรือ บุคคลอื่นโดยสุจริต เป็นความผิดฐานยักยอก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5838/2548
รถยนต์ที่ผู้เสียหายมอบให้จำเลยซ่อมได้อยู่กับจำเลยนานถึง 1 ปีเศษ ถือได้ว่าผู้เสียหายมอบหมายให้จำเลยครอบครองทรัพย์นั้นไว้ จำเลยถอดอะไหล่และเครื่องเสียงในรถยนต์ให้บุคคลอื่นหรือนำไปขาย จึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนและบุคคลที่สามโดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 334, 357 เมื่อศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกตามมาตรา 352 วรรคแรก แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากที่กล่าวในฟ้องก็ไม่ใช่ข้อแตก ต่างในข้อสาระสำคัญ และจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอก ตามที่พิจารณาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6870/2541
ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 ผู้กระทำผิดต้องเป็นผู้ครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย และได้เบียดบัง เอาทรัพย์เป็นของตนเองหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ส่วนความผิดตามมาตรา 353 ผู้กระทำความผิดต้องเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์ของผู้อื่นหรือ ทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริตจนทำให้เกิดความเสียหาย สำหรับความผิดตามมาตรา 354 ต้องเป็นกรณี ที่ผู้กระทำความผิดมาตรา 352 หรือ 353 ได้กระทำในฐานะ ที่เป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาลหรือ ตามพินัยกรรม เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยหรือ ว.เป็นผู้ครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น และจำเลยไม่ได้เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์ของผู้อื่น และไม่ได้ มีฐานะเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาลหรือตามพินัยกรรม จำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้กระทำความผิด ตามมาตรา 352 มาตรา 353 และมาตรา 354 ได้ เมื่อจำเลย ไม่สามารถกระทำผิดตามมาตราดังกล่าวได้ จำเลยจึงเป็นตัวการ ร่วมกับ ว. ในการกระทำความผิดตามมาตรา 83 ไม่ได้ การจดทะเบียนโอนมรดกให้แก่ผู้จัดการมรดกในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกนั้น สามารถทำได้โดยไม่ต้องสอบถามทายาทอื่น แตกต่างกับการจดทะเบียนโอนมรดกให้แก่ผู้จัดการมรดก ในฐานะเป็นผู้รับมรดกเอง ซึ่งจะต้องมีการบันทึกการยินยอม ของทายาทเจ้ามรดกไว้ด้วย และเป็นการจดทะเบียนที่ดิน ประเภทมีทุนทรัพย์ เมื่อปรากฏว่า ว.ได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า เหตุที่ไม่ได้โอนมรดกรายนี้ให้ทายาทอื่นด้วยนั้น เนื่องจาก ว. ได้แบ่งมรดกส่วนอื่นให้ไปแล้ว และจำเลยในฐานะทายาทได้ทำบันทึกให้ความยินยอม โดยที่ผู้จัดการมรดกยังไม่ได้แบ่งมรดกรายอื่นให้แก่โจทก์ ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทอื่นเลย จึงเป็นการที่จำเลยช่วงเหลือ ให้ ว. ผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลได้จดทะเบียนโอนมรดกเป็นของ ว. ในฐานะผู้รับมรดกเองอันเป็นการกระทำที่มีมูลความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353,354 ประกอบ 86 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5831/2541
เดิมจำเลยที่ 2 เป็นคู่สัญญากับจังหวัดเพื่อขุดลอกหนองน้ำตามสัญญาจ้าง ต่อมาจำเลยที่ 2 ว่าจ้างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้รับช่วงงานขุดลอกหนองน้ำดังกล่าว โจทก์กับ จำเลยที่ 1 จึงตกลงเข้าเป็นหุ้นส่วนกันรับงานนั้นเพื่อ ประสงค์จะแบ่งกำไรกัน โดยโจทก์ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการ ดำเนินงาน งานที่รับช่วงมีมูลค่าประมาณ 3,100,000 บาท แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 โอนงานงวดสุดท้ายประมาณ 1,300,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 4 รับทำแทน และโจทก์ยังไม่ได้รับส่วนแบ่งจากการเป็นหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่มูลเหตุเป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเข้าหุ้นกันรับ ช่วงงานขุดลอกหนองน้ำต่อจากจำเลยที่ 2 โดยโจทก์มอบให้ จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการดำเนินการขุดลอกหนองน้ำ จำเลยที่ 1 ทำงานแล้วไม่ยอมแบ่งเงินให้แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งจากการเป็นหุ้นส่วนอยู่ครึ่งหนึ่ง กรณีระหว่างโจทก์ กับจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เรื่องที่จำเลยที่ 1 ทำผิดหน้าที่ ในการจัดการทรัพย์สินของโจทก์โดยทุจริต แต่เป็นเรื่อง ผิดสัญญาทางแพ่งเรื่องหุ้นส่วนเท่านั้น คดีของโจทก์ย่อม ไม่มีมูลเป็นความผิดอาญาฐานยักยอกตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิด จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่อาจเป็นตัวการ ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ดังกล่าวได้