ความผิดฐานรับของโจร

มาตรา ๓๕๗  ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น ได้กระทำเพื่อค้ากำไรหรือได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการลักทรัพย์ตามมาตรา ๓๓๕ (๑๐) ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

ถ้าการกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น ได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการลักทรัพย์ตามมาตรา ๓๓๕ ทวิ การชิงทรัพย์ตามมาตรา ๓๓๙ ทวิ หรือการปล้นทรัพย์ตามมาตรา ๓๔๐ ทวิ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท[๑๓๕]
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 698/2563

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรและบรรยายฟ้องด้วยว่าจำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่าหกเดือนในความผิดฐานลักทรัพย์มาแล้ว 6 คดี หลังจากพ้นโทษทั้งหกคดีแล้ว จำเลยกลับมากระทำความผิดคดีนี้อีกภายในเวลาสิบปีนับแต่จำเลยพ้นโทษ ซึ่งเป็นความผิดที่ระบุไว้ ตาม ป.. มาตรา 41 (8) เมื่อความผิดที่โจทก์ฟ้องมิใช่ข้อหาในความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น จึงไม่อยู่ในบังคับที่ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริง ตาม ป.วิ.. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานลักทรัพย์และรับว่าเคยต้องโทษจำคุกและพ้นโทษตามฟ้องจริง โจทก์จึงไม่ต้องนำพยานเข้าสืบ และศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามคำรับสารภาพดังกล่าวได้ ทั้งเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำให้การของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดคดีนี้ กับเคยต้องโทษจำคุกและพ้นโทษในคดีอื่นๆ อีก 6 คดี ซึ่งศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่าหกเดือนในความผิดฐานลักทรัพย์และจำเลยกระทำผิดในขณะที่มีอายุเกินกว่าสิบแปดปี จำเลยพ้นโทษในคดีดังกล่าวแล้ว ภายในเวลาสิบปีจำเลยมากระทำผิดคดีนี้ฐานลักทรัพย์ ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกเกินกว่าหกเดือนอีก จึงเข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลชั้นต้นจะนำมาพิจารณากักกันจำเลย ตาม ป.. มาตรา 41 (8) ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 132/2563

แม้คดีนี้จะเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งตาม ป.วิ.. มาตรา 46 จะบัญญัติว่า การพิจารณาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา แต่คดีนี้ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าจำเลยซื้อนกกรงหัวจุกพร้อมกรงนกจาก น. โดยจำเลยไม่รู้ว่านกนั้นเป็นของโจทก์ร่วม พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบยังฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานรับของโจร มิได้วินิจฉัยว่านกกรงหัวจุกพร้อมกรงนกไม่ใช่ของโจทก์ร่วม เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่านกกรงหัวจุกพร้อมกรงนกเป็นของโจทก์ร่วม ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง ตาม ป.วิ.. มาตรา 47 วรรคแรก บัญญัติว่า คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ และวรรคสอง บัญญัติว่า ราคาทรัพย์สินที่สั่งให้จำเลยใช้แก่ผู้เสียหาย ให้ศาลกำหนดตามราคาที่แท้จริง ส่วนจำนวนค่าสินไหมทดแทนอย่างอื่นที่ผู้เสียหายจะได้รับนั้น ให้ศาลกำหนดให้ตามความเสียหายแต่ต้องไม่เกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7348/2562

ความผิดฐานรับของโจรตาม ป.. มาตรา 357 บัญญัติว่า ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์...ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร ดังนั้น การกระทำความผิดฐานรับของโจรจะเกิดขึ้นได้ต้องมีการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์เกิดขึ้นแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าคดีซึ่งพนักงานอัยการโจทก์ฟ้อง ท. เป็นจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ ว. ผู้เสียหาย ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.10119/2560 แล้ว ดังนั้น ของกลางที่จำเลยทั้งสองได้มาจึงไม่ใช่ทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8491/2561

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจร เป็นการฟ้องให้ศาลเลือกลงโทษจำเลยในข้อหาใดข้อหาหนึ่งตามที่พิจารณาได้ความ ศาลไม่อาจลงโทษจำเลยพร้อมกันทั้งสองข้อหาได้ เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาได้ความว่า จำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจร จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว เพียงแต่ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ส่วนศาลอุทธรณ์ เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ดังนั้น แม้โจทก์จะไม่ได้ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานรับของโจร ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานรับของโจรได้ตามที่โจทก์บรรยายข้อเท็จจริงดังกล่าวมาในฟ้องแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4526/2559
โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าองค์เทพเจ้ากิมอ้วงเอี๊ยะ องค์เทพเจ้าเตียงง่วยส่วย องค์เทพซำไซส่วยพร้อมอุปกรณ์เป็นวัตถุในทางศาสนาพุทธหรือศาสนาใด เพราะเหตุใด และมีความเกี่ยวข้องกับทางศาสนาพุทธหรือศาสนาใด เพราะเหตุใด อย่างไร จึงรับฟังไม่ได้ว่าองค์เทพเจ้าทั้งสามองค์พร้อมอุปกรณ์เป็นวัตถุในทางศาสนา แม้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในความผิดฐานรับของโจรตามฟ้อง แต่ความผิดฐานรับของโจรโดยมีเหตุฉกรรจ์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสาม กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป ศาลต้องฟังพยานหลักฐานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำผิดจริงจึงจะลงโทษได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า องค์เทพเจ้าทั้งสามพร้อมอุปกรณ์เป็นวัตถุในทางศาสนาแล้ว ย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานรับของโจรโดยมีเหตุฉกรรจ์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสาม ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14334/2558
          ทรัพย์สินในความผิดฐานรับของโจรคดีนี้มิใช่ทรัพย์สินในความผิดฐานรับของโจรในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๔๗๑ - ๔๗๒/๒๕๕๗ และ ๒๓๑๐/๒๕๕๗ ของศาลชั้นต้นซึ่งจำเลยที่ ๒ ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 1 ในทั้งสามคดีดังกล่าว และช่วงเวลากระทำความผิดที่โจทก์ฟ้องคดีนี้กับคดีทั้งสามก็เป็นคนละช่วงเวลากัน กรณีไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ ๒ รับของโจรคดีนี้ในคราวเดียวกับการรับของโจรในคดีทั้งสาม ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีทั้งสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6966 - 6967/2558
          จำเลยทั้งสองนำใบถอนเงินซึ่งประทับตราสำคัญของโจทก์ร่วมที่เป็นตราประทับปลอมไปหลอกลวงจนกระทั่งเจ้าหน้าที่ธนาคารหลงเชื่อ เงินที่จำเลยทั้งสองกับพวกได้รับไปจึงเป็นเงินของธนาคาร มิใช่เงินของโจทก์ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกงกับฐานรับของโจร เมื่อไม่ปรากฏว่าธนาคารซึ่งเป็นเจ้าของเงินได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองกับพวก พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงกับฐานรับของโจร แม้ความผิดฐานรับของโจรเป็นความผิดต่อแผ่นดินซึ่งพนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนโดยไม่มีการร้องทุกข์ก็ตาม แต่โจทก์ร่วมไม่ใช่เจ้าของเงินและไม่ใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่าความผิดฐานฉ้อโกงกับฐานรับของโจรเป็นฟ้องที่ขัดกัน เป็นฟ้องเคลือบคลุมและจำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานร่วมกันยักยอก ดังนั้นเท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานฉ้อโกงกับฐานรับของโจรและฐานยักยอก เมื่อพนักงานอัยการโจทก์ไม่ฎีกา โจทก์ร่วมซึ่งมิใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจยื่นฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานดังกล่าวตามฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสองมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16202/2557
           จำเลยที่ 3 มิได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบในฐานะเป็นผู้ประกอบอาชีพรับซื้อของเก่าจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ เสมือนไม่ใส่ใจหรือไม่รับรู้ว่าจะเป็นทรัพย์สินที่ผู้นำมาขายได้มาโดยผิดกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นการรับซื้อทรัพย์สินไว้โดยประมาท มีผลทำให้บริษัท ส. เจ้าของทรัพย์สินได้รับความเสียหาย แม้ในคดีอาญาที่จำเลยที่ 3 ถูกฟ้องข้อหารับของโจรจะวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์ในคดีอาญายังไม่พอรับฟังว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานรับของโจร แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงในประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 3 มิได้กระทำโดยเจตนาเท่านั้น ยังไม่มีการวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 3 กระทำโดยประมาทหรือไม่ ศาลย่อมวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบกันมาในสำนวนคดีนี้ได้ว่า จำเลยที่ 3 รับซื้อทรัพย์สินไว้โดยประมาทเลินเล่อ อันเป็นการกระทำละเมิดต่อบริษัท ส. โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับขนส่งยอมรับผิดชำระค่าเสียหายแก่บริษัท ส. ในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนให้ขนส่งนั้นสูญหายไป ย่อมรับช่วงสิทธิจากบริษัทดังกล่าวเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 226, 227 และ 616

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6792/2557
            คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุเดียวกัน จำเลยเป็นทั้งคนร้ายที่เป็นตัวการร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ ใช้เอกสารสิทธิปลอมและฉ้อโกงเอาเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วม แล้วจำเลยยังกระทำความผิดฐานรับของโจรในวันเวลาเดียวกัน โดยจำเลยรับของโจรเงินที่จำเลยร่วมกันฉ้อโกงมาได้ ซึ่งองค์ประกอบความผิดฐานรับของโจรเป็นความผิดอันเกิดจากการช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งทรัพย์อันได้มาจากการที่ผู้อื่นกระทำความผิดอันเกี่ยวกับทรัพย์ หาได้เป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงของจำเลยเอง ฟ้องของโจทก์ในความผิดสองฐานดังกล่าวจึงเป็นฟ้องที่ขัดแย้งกันเอง อันเป็นฟ้องเคลือบคลุม ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1851/2557
            วันเกิดเหตุ เวลากลางคืน รถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายที่ 1 จอดไว้ในห้องทำงาน สถานีบริการน้ำมันของผู้เสียหายที่ 2 และน้ำมันเครื่องรถจักรยานยนต์ เครื่องคิดเลข วิทยุ กับกล้องวงจรปิดของผู้เสียหายที่ 2 ถูกคนร้ายลักไป ต่อมาเวลาประมาณ 6 นาฬิกา มีผู้พบเห็นรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวจอดอยู่ที่หน้ามัสยิดของหมู่บ้านโดยมีเสื้อคลุม น้ำมันเครื่องรถจักรยานยนต์ เครื่องคิดเลข และวิทยุที่วางไว้ในตะกร้าหน้ารถจึงแจ้งให้ ม. ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านทราบ ม. ไปดูรถจักรยานยนต์คันดังกล่าว สักครู่หนึ่งจำเลยจะมาเอารถจักรยานยนต์ไป ม. ขอดูบัตรประจำตัวประชาชนและกุญแจรถ จำเลยไม่มี ม. บอกให้จำเลยไปเอากุญแจรถมาก่อน จำเลยจึงกลับไป พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยต้องรู้ดีว่ารถจักรยานยนต์และทรัพย์ที่ตะกร้าหน้ารถที่จำเลยจะไปเอานั้นเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำความผิดเข้าลักษณะลักทรัพย์ เมื่อจำเลยจะไปเอาทรัพย์ดังกล่าวอันเป็นการช่วยพาเอาไปเสียตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคแรก แต่ไม่สามารถเอาไปได้เพราะ ม. เข้าขัดขวางโดยให้จำเลยไปเอากุญแจรถมาก่อน การกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นการลงมือกระทำความผิดฐานรับของโจร แต่กระทำไปไม่ตลอด จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามรับของโจร แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษข้อหารับของโจร แต่เมื่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณารับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานพยายามรับของโจร ศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยได้ จำเลยกระทำผิดฐานพยายามรับของโจรรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กยน ปัตตานี 484 ของผู้เสียหายที่ 1 ฉะนั้น น้ำมันเครื่องรถจักรยานยนต์ เครื่องคิดเลข และวิทยุของผู้เสียหายที่ 2 ที่ถูกคนร้ายลักไปกับกล้องวงจรปิดย่อมไม่ใช่ทรัพย์ที่ผู้เสียหายที่ 2 สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดของจำเลยที่โจทก์จะมีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 936/2556
            การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานรับของโจรตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคแรกนั้น ต้องได้ความว่าผู้กระทำได้รับซื้อทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดลักษณะหนึ่งในแปดลักษณะ ซึ่งมีความผิดฐานฉ้อโกงรวมอยู่ด้วย ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานรับของโจรหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับว่าโจทก์นำสืบให้เห็นว่าซิมการ์ดของกลางที่จำเลยที่ 1 ซื้อมานั้น เป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำผิดฐานฉ้อโกง ส่วนผู้ใดจะเป็นผู้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงนั้นเป็นเพียงรายละเอียดมิใช่องค์ประกอบความผิดของความผิดฐานรับของโจร แม้โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นรายละเอียดดังกล่าว แต่โจทก์ได้นำสืบส่วนที่เป็นองค์ประกอบความผิดครบถ้วนศาลก็ย่อมลงโทษจำเลยที่ 1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21908/2555
             การที่จำเลยไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ในความผิดฐานรับของโจร เป็นการกระทำเพื่อรักษาสิทธิและชื่อเสียงในทางการค้าของตนโดยสุจริตมิได้มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ ส่วนขั้นตอนหลังจากจำเลยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้วนั้น ตามกฎหมายก็เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนผู้รับการร้องทุกข์ที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาพยานหลักฐานจากการสอบสวนและสรุปสำนวนเสนอความเห็นต่อพนักงานอัยการ และพนักงานอัยการได้ตรวจสำนวนดังกล่าวเห็นว่า มีหลักฐานเพียงพอที่จะฟ้องได้ จึงฟ้องโจทก์ต่อศาล ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยในฐานะผู้เสียหายคดีอาญาได้อาศัยกระบวนการดังกล่าวจงใจกลั่นแกล้งโจทก์หรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อ การที่จำเลยใช้สิทธิของตนในฐานะผู้เสียหายร้องทุกข์กล่าวหาโจทก์ในฐานะผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดตามที่ได้รับแจ้งจากพยานบุคคลที่อ้างว่าเห็นการกระทำของโจทก์ดังกล่าว เป็นการใช้สิทธิแห่งตนโดยสุจริตไม่เป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18641/2555
           ความผิดฐานรับของโจรตาม ป.อ. มาตรา 357 นั้น กฎหมายมิได้บัญญัติว่าความผิดฐานลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชกทรัพย์ รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์จะต้องเป็นความผิดที่ปรากฏตัวผู้กระทำความผิดและศาลพิพากษาลงโทษเป็นความผิดแล้ว ผู้ที่ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด จึงจะมีความผิดฐานรับของโจร ดังนั้น แม้ความผิดที่บัญญัติไว้ในมาตรา 357 จะไม่ปรากฏตัวผู้กระทำความผิดเลยก็ตาม ผู้ที่ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ โดยประการใด ก็ย่อมมีความผิดฐานรับของโจรได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5228/2554
               การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต มิใช่ได้ทรัพย์เพราะผู้อื่นยินยอมมอบให้ การที่ผู้เสียหายยินยอมส่งมอบรถจักรยานยนต์ของกลางให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เนื่องจากถูกจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงให้ทำสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีเจตนาที่จะผูกพันตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน เพียงแต่อาศัยสัญญาดังกล่าว เพื่อเป็นช่องทางให้ได้รถจักรยานยนต์ของกลางก็ตาม ก็ถือเป็นส่งมอบการครอบครองโดยสมัครใจ จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง มิใช่ลักทรัพย์ จำเลยที่ 4 รับซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากทางพิจารณา แม้จะแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่ได้กล่าวในฟ้องที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทำผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ และจำเลยที่ 4 รับซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ก็มิใช่ข้อสาระสำคัญ ทั้งจำเลยทั้งสี่มิได้หลงข้อต่อสู้ และไม่ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ การกระทำของจำเลยที่ 4 ถือว่าครบองค์ประกอบความผิดฐานรับของโจร จำเลยที่ 4 จ่ายเงินค่าซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางให้แก่จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 มอบกุญแจรถของกลางให้แก่จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4 ขึ้นนั่งคร่อมรถจะขับออกไป แต่ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเสียก่อน ถือได้ว่าจำเลยที่ 4 ได้รับทรัพย์ที่ซื้อจากจำเลยที่ 3 ไว้แล้ว เป็นความผิดฐานรับของโจรสำเร็จแล้ว หาใช่เป็นเพียงพยายามรับของโจร การปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ และศาลลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฐานร่วมกันฉ้อโกงและลงโทษจำเลยที่ 4 ในความผิดฐานรับของโจร ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการพิจารณาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1785/2554
             ความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 และ 335 นั้น เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา กล่าวคือ เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในทางอาญา และเป็นละเมิดในทางแพ่ง ผู้ที่ลักทรัพย์ไปต้องคืนหรือต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน คือราคาทรัพย์สินและค่าเสียหาย ผู้ที่ลักทรัพย์ไปจึงมีสิทธิครอบครองดูแลทรัพย์สินที่ลักไปไว้เพื่อคืนแก่ผู้เสียหาย การที่จำเลยเอารถจักรยานยนต์ไปจาก ส. โดยทุจริต แม้ ส. จะเป็นผู้ที่ลักทรัพย์มาจากผู้เสียหายอีกต่อหนึ่ง ก็ถือว่าจำเลยเป็นผู้แย่งการครอบครองไปจาก ส. การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ หาใช่เป็นความผิดฐานรับของโจรไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9992/2553
             ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ส. นำน้ำมันดีเซลที่ลักไปขายให้แก่จำเลยรวม 5 ครั้ง แม้จะเป็นการรับซื้อทรัพย์อย่างเดียวกันของผู้เสียหายคนเดียวกัน แต่ก็เป็นการรับซื้อคนละวันเวลาต่างวาระกัน แสดงว่าจำเลยมีเจตนาแยกการกระทำผิดแต่ละคราวออกจากกัน แล้วแต่ ส. จะนำน้ำมันดีเซลไปขายเมื่อใดก็จะรับซื้อไว้ จึงเป็นการกระทำผิดฐานรับของโจรหลายกรรมต่างกันรวม 5 กระทง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8396/2552
          การกระทำความผิดฐานรับของโจร ผู้กระทำไม่จำต้องรับทรัพย์ของกลางไว้ในความครอบครองของตนเอง เพียงแต่ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ด้วยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดการที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์ให้ อ. นั่งซ้อนท้าย บรรทุกโทรทัศน์ของกลางจะไปที่อำเภอดอนสัก โดยรู้อยู่ว่าเป็นโทรทัศน์ที่ อ. ลักมา ก็เป็นการช่วยพาเอาไปเสียอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานรับของโจรแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4040/2552
            โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยบังอาจประกอบอาชีพค้าของเก่า โดยการรับซื้อและขายของเก่าจำพวกเศษเหล็ก อันเป็นของเก่าตามกฎหมายโดยไม่มีใบอนุญาตอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายตามมาตรา 4 (2) แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ.2474 แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2481 ที่ได้ระบุประเภทหรือชนิดของเก่าซึ่งรัฐมนตรีมิได้ประกาศยกเว้นในราชกิจจา นุเบกษาให้เป็นของเก่าที่ห้ามบุคคลประกอบอาชีพโดยมิได้รับอนุญาตไว้ เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นได้ว่าของเก่าจำพวกเศษเหล็กเป็นของเก่า ซึ่งรัฐมนตรีมิได้ประกาศยกเว้นหรืออ้างถึงประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาดไทย ที่ประกาศกำหนดประเภทหรือชนิดของเก่าตามบทบัญญัติดังกล่าวไว้ในฟ้อง จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่สามารถลงโทษจำเลยในข้อหาดังกล่าวได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6009/2551
            โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยช่วยซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับไว้โดยประการใดๆ ซึ่งวิทยุเทปติดรถยนต์จำนวน 1 เครื่อง ที่ติดตั้งอยู่ในรถยนต์กระบะของบริษัท ส. ซึ่งถูก จ. กับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ไป โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการปล้นทรัพย์ ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสาม ดังนี้ คำบรรยายฟ้องดังกล่าวทำให้จำเลยสามารถเข้าใจข้อหาได้โดยถูกต้องแล้วว่าโจทก์ กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดอย่างไร แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสาม โดยมิได้ระบุขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสอง ให้สอดคล้องกับคำบรรยายฟ้องก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างวรรคผิดเท่านั้น มิใช่เรื่องคำฟ้องโจทก์ข้อแย้งกันแต่อย่างใด คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว

ทางพิจารณาโจทก์นำสืบได้ว่า จำเลยซื้อวิทยุเทปติดรถยนต์กระบะที่ถูก จ. กับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ไปโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการ ปล้นทรัพย์ ถือว่าข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์สืบสมแล้ว เมื่อกรณีเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างวรรคผิด ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า

ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยซื้อวิทยุเทปดังกล่าวไว้โดยรู้อยู่แล้วว่า เป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ จำเลยมิได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ข้อเท็จจริงจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น การกระทำของจำเลยดังกล่าวย่อมเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคแรก จึงเป็นการไม่ถูกต้อง แต่มิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ และมิใช่เรื่องข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าว ในฟ้องแต่อย่างใด ปัญหาที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 อ้างวรรคผิดเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1638/2551
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นคนร้ายร่วมกับพวกลักทรัพย์นายจ้าง หรือร่วมกันรับของโจรและพาอาวุธมีดไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร การที่ศาลชั้นต้นบันทึกคำให้การของจำเลยโดยใช้แบบพิมพ์ของศาล ซึ่งมีข้อความเป็นตัวพิมพ์ว่าข้าพเจ้าขอให้การรับสารภาพตามฟ้อง และมีถ้อยคำที่เขียนด้วยปากกาตกเติมต่อจากข้อความดังกล่าวว่าในข้อหาลัก ทรัพย์นายจ้าง ดังนี้ พอแปลความหมายของคำรับสารภาพของจำเลยได้ว่า จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง แต่เนื่องจากคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ร่วมกับพวกลักทรัพย์ นายจ้างหรือร่วมกันรับของโจร ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นเขียนถ้อยคำเพิ่มเติมต่อท้ายว่า ในข้อหาลักทรัพย์นายจ้าง ก็เพื่อเป็นการระบุให้แน่ชัดว่าจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาใดระหว่างความ ผิดในสองข้อหาดังกล่าว กรณีจึงพอถือได้ว่าจำเลยให้การรับสารภาพข้อหาร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างและพาอาวุธมีดไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามฟ้องแล้ว ซึ่งการแปลความหมายเช่นนี้ย่อมเป็นการตีความให้ตรงตามเจตนาที่แท้จริงของ จำเลยและเป็นธรรมแก่คู่ความทุกฝ่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8753/2550
ในคดีรับของโจรนั้น โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 รับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไว้โดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาจากการ กระทำความผิดเข้าลักษณะลักทรัพย์ ไม่ใช่ว่าเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายแล้วจำเลยที่ 1 จะต้องนำสืบแก้ตัวว่าตนไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 2 ลักมา เมื่อโจทก์คงมีเพียงร้อยตำรวจเอก ว. มาเบิกความเพียงว่า ตรวจค้นรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย และรถจักรยานยนต์อีก 2 คันอยู่ภายในโรงรถที่บ้านจำเลยที่ 1 ซึ่งน่าเชื่อว่ามิใช่เพราะทราบเบาะแสของรถจักรยานยนต์เพราะยังพบเมทแอมเฟตา มีน 40 เม็ด และไม้กระยาเลยไว้ในครอบครองเกินปริมาตรโดยไม่รับอนุญาตด้วย นอกจากนี้หมายค้นที่ออกให้ค้นบ้านจำเลยที่ 1 ระบุเพื่อพบสิ่งผิดกฎหมายหรือยึดสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิดตามกฎหมาย หรือได้มาหรือได้ใช้ในการกระทำผิดซุกซ่อนเท่านั้น มิได้ระบุชัดเจนว่า เพราะสืบทราบว่าจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซึ่งทรัพย์ของกลางโดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานลัก ทรัพย์ ทั้งเมื่อถูกจับกุมจำเลยที่ 1 ก็ให้การปฏิเสธทันทีว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 2 ฝากไว้ โดยไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2 ลักทรัพย์ของกลางมาส่วนข้อหาอื่นจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ การนำสืบของโจทก์ยังไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานรับของใจร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8444/2550
ร้อยตำรวจเอก ป. เป็นพนักงานสอบสวนในคดีแรกซึ่งเป็นการสอบสวน ท. กับพวกรวม 5 คน และจำเลยเฉพาะในความผิดที่เกิดเหตุเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2534 เวลากลางคืน และทรัพย์ที่ถูกประทุษร้าย 3 รายการเท่านั้น ส่วนความผิดที่ ท. กับพวกให้การรับสารภาพว่าก่อนเกิดเหตุในคดีดังกล่าว ท. กับพวกเคยลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมมาแล้วหลายครั้งและได้นำไปขายที่ร้านของ จำเลยนั้น ร้อยตำรวจเอก ป. ยังมิได้ทำการสอบสวน ฉะนั้น แม้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในบันทึกการจับกุม ท. กับพวก กับบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนในสำนวนการสอบสวนคดีแรกจะมีรายละเอียดพาดพิง ถึงการลักทรัพย์ 17 ครั้ง ในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม 2534 ถึงวันที่ 24 กันยายน 2534 อยู่ด้วยดังที่จำเลยอ้างก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นที่ได้จากการสอบสวนเมื่อ พนักงานสอบสวนยังมิได้ตั้งข้อหาและทำการสอบสวนในรายละเอียดดังกล่าว จึงยังถือไม่ได้ว่ามีการสอบสวนในเรื่องดังกล่าวแล้ว อีกทั้งการลักทรัพย์ในแต่ละครั้งและการนำไปจำหน่ายให้แก่ผู้รับซื้อของโจรใน แต่ละครั้งนั้นก็เป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน การที่พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนในความผิดเฉพาะกรรมใดวาระใดจะถือว่าได้ สอบสวนในความผิดในกรรมอื่นและวาระอื่นด้วยหาได้ไม่ เมื่อคดีที่ร้อยตำรวจเอก ป. สอบสวนจำเลยในความผิดฐานรับของโจรเพื่อค้ากำไรและต่อมาพนักงานอัยการมีคำ สั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยนั้นเป็นการสอบสวนเฉพาะความผิดที่เหตุเกิดในวันที่ 24 กันยายน 2534 และทรัพย์ที่ถูกประทุษร้ายในคดีดังกล่าวก็มีเพียงทรัพย์ถูกประทุษร้าย 3 รายการเท่านั้น ส่วนความผิดคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2534 ถึงวันที่ 23 กันยายน 2534 และทรัพย์ที่ถูกประทุษร้ายเป็นทรัพย์ต่างรายกัน การสอบสวนในคดีนี้จึงเป็นการสอบสวนโดยชอบ พนักงานอัยการโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1953/2550
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในข้อหาใดข้อหาหนึ่งเพียงข้อหาเดียว เพราะความผิดฐานลักทรัพย์กับความผิดฐานรับของโจรเป็นความผิดคนละฐานกันจะลง โทษจำเลยที่ 1 ทั้งสองฐานความผิดดังกล่าวย่อมไม่ได้ คำให้การของจำเลยที่ 1 ที่รับสารภาพตามฟ้องโจทก์นั้น ไม่ชัดเจนพอที่จะชี้ขาดว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดฐานใด จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องสืบพยานให้ได้ความถึงการกระทำความผิดฐานใด ฐานหนึ่งของจำเลยที่ 1 แม้ในวันเดียวกับที่ฟ้องคดีนี้ โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานเดียวกันอีก 2 ฐาน ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 847/2545 และ 848/2545 ของศาลชั้นต้น และขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษในทั้งสองคดีดังกล่าว ซึ่งผู้พิพากษาศาลชั้นต้นได้สอบคำให้การจำเลยที่ 1 พร้อมกันทั้งสามคดี และจำเลยที่ 1 ได้ให้การรับสารภาพฐานรับของโจรทั้งสามคดี ศาลชั้นต้นจึงบันทึกไว้เป็นหลักฐานในคำฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ 848/2545 และพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดดังกล่าว โดยนับโทษจำเลยที่ 1 ติดต่อกันทั้งสามคดีก็ตาม แต่ตามบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ไม่ได้ระบุว่าจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพฐานรับของโจร ทั้งกรณีตามข้อที่อ้างของโจทก์ดังกล่าวไม่อาจนำมารับฟังเป็นหลักฐานว่าจำเลย ที่ 1 ได้ให้การรับสารภาพฐานรับของโจรในคดีนี้ เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานให้ได้ความถึงการกระทำความผิดฐานรับของโจรของจำเลยที่ 1 จึงลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานรับของโจรไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 859/2550
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ว่าขอให้การรับสารภาพตามฟ้อง ย่อมไม่ชัดเจนพอที่จะชี้ขาดว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานใดจึงเป็นหน้าที่ของ โจทก์ที่จะต้องสืบพยานให้ได้ความถึงการกระทำความผิดของจำเลย เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานจึงลงโทษจำเลยไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 528/2550
จำเลยรับซื้อทรัพย์ของกลางโดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐาน ลักทรัพย์ การที่จำเลยนำทรัพย์ดังกล่าวไปขายต่อ แม้จะเป็นการกระทำความผิดฐานรับของโจรเพื่อค้ากำไรก็ตาม แต่เมื่อคำบรรยายฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่า จำเลยรับของโจรเพื่อค้ากำไร จึงมิอาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสองได้ เพราะโจทก์ไม่ได้ประสงค์จะให้ลงโทษตามบทดังกล่าว คงลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคหนึ่ง เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5869/2549
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจทก์ ย่อมแสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ศาลลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดใดข้อหาหนึ่งเพียง ข้อหาเดียวเท่านั้น การที่จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องจึงเป็นคำรับสารภาพที่ไม่สามารถรับฟังได้ ว่าจำเลยกระทำความผิดในข้อหาใด เมื่อเป็นเช่นนี้โจทก์ต้องนำพยานเข้าสืบเพื่อให้ได้ความว่า จำเลยกระทำความผิดในข้อหาใดข้อหาหนึ่ง เมื่อโจทก์มิได้นำสืบ คดีจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดในข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจร ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 593/2549
สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่โจทก์ส่งไว้ต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรุงเทพมหานครเป็นเอกสารราชการ และนาง ส. กรรมการบริษัทโจทก์ได้ลงชื่อรับรองว่าเป็นรายการที่ถูกต้องตรงกับสมุด ทะเบียนผู้ถือหุ้น ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1141 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้อง เอกสารดังกล่าวระบุว่าจำเลยที่ 1 ถือหุ้นอยู่ในบริษัทโจทก์จำนวน 5,000 หุ้น เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ถือหุ้นแทนบุตรสาวของนาง ส. โดยโจทก์มีเพียงนาง ส. เท่านั้นมานำสืบ จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้

จำเลยที่ 1 ถือหุ้นจำนวน 5,000 หุ้น รองจากนาง ส. ย่อมมีสิทธิได้รับการแบ่งผลกำไรจากการทำธุรกิจร่วมกับโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 กับโจทก์มีปัญหาเรื่องผลประโยชน์กัน โดยจำเลยที่ 1 เห็นว่าโจทก์ไม่แบ่งผลประโยชน์ให้ จึงถอดเครื่องอุปกรณ์ของเครื่องจักรในโรงงานและเอาสีต่าง ๆ ไปเก็บไว้เพื่อต่อรองให้โจทก์จ่ายผลประโยชน์ในส่วนที่ตนพึงจะได้รับ เครื่องอุปกรณ์ชิ้นส่วนดังกล่าวเมื่อนำมาติดตั้งใหม่ก็สามารถติดตั้งและใช้ งานได้ดีตามปกติ การกระทำเช่นนี้ของจำเลยที่ 1 เห็นได้ว่ามิได้ประสงค์ต่อผลที่จะเอาทรัพย์ของโจทก์ไปเป็นของตนหรือของผู้ อื่น แสดงว่าจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาทุจริตแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์นำสิ่งของดังกล่าวไปฝากที่บ้านของจำเลยที่ 3 ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ และจำเลยที่ 3 ผู้รับฝากทรัพย์ข้างต้นย่อมไม่มีความผิดฐานรับของโจร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 330/2549
ความผิดฐานรับของโจทก์เป็นความผิดที่เกิดจากการกระทำอันเป็นการอุปการะความผิด ฐานลักทรัพย์หรือความผิดอื่นดังที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 357 เช่น ช่วย ซื้อ จำหน่าย หรือรับไว้โดยประการอื่นใด ความผิดฐานรับของโจรจึงต้องเกิดหลังจากมีการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า การกระทำความผิดฐานรับของโจรเกิดขึ้นก่อนย่อมเป็นคำฟ้องที่ขัดต่อสภาพและ ลักษณะของการกระทำความผิดอย่างชัดเจน จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6864/2548
จำเลย ที่ 2 ใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์กับใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ปลอมเป็นเอกสารประกอบใน การขายรถยนต์ของกลางให้แก่จำเลยที่ 1 โดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานรับของโจร และการที่จำเลยที่ 2 ใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์กับใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ปลอมก็โดยมีวัตถุ ประสงค์เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบในการขายรถยนต์ของกลางให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วยเจตนาอันเดียวกัน เพื่อให้การกระทำความผิดฐานรับของโจรสำเร็จผลตามความมุ่งหมายเท่านั้น ดังนั้น การใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ และใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์อันเป็นเอกสารราชการปลอมของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกับความผิดฐานรับของโจร ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5838/2548
รถยนต์ที่ผู้เสียหายมอบให้จำเลยซ่อมได้อยู่กับจำเลยนานถึง 1 ปีเศษ ถือได้ว่าผู้เสียหายมอบหมายให้จำเลยครอบครองทรัพย์นั้นไว้ จำเลยถอดอะไหล่และเครื่องเสียงในรถยนต์ให้บุคคลอื่นหรือนำไปขาย จึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนและบุคคลที่สามโดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 334, 357 เมื่อศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกตามมาตรา 352 วรรคแรก แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากที่กล่าวในฟ้องก็ไม่ใช่ข้อแตก ต่างในข้อสาระสำคัญ และจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอก ตามที่พิจารณาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5264/2548
แม้ในทางพิจารณาจะได้ความว่า การกระทำความผิดฐานรับของโจรของจำเลยได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการปล้น ทรัพย์ ซึ่งต้องด้วยลักษณะฉกรรจ์ในความผิดฐานรับของโจรตามมาตรา 357 วรรคสอง ก็ตาม แต่จะลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นตามลักษณะฉกรรจ์ดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อได้ความว่า ในขณะกระทำความผิดจำเลย ได้รู้อยู่แล้วว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐาน ปล้นทรัพย์ ทั้งนี้ ตามมาตรา 62 วรรคท้าย เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยได้รู้อยู่แล้วว่าทรัพย์ของกลางเป็นทรัพย์อันได้มาโดย การกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ คดีจึงลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจร อันต้องด้วยลักษณะฉกรรจ์ตามมาตรา 357 วรรคสอง ไม่ได้ การกระทำของจำเลยคงเป็นความผิดฐานรับของโจรตาม มาตรา 357 วรรคแรก เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2608/2548
แม้ขณะที่ ก. กับ จ. เอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปจะไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์เนื่องจากได้ รับความยินยอมจากผู้เสียหาย แต่ ก. กับ จ. มีหน้าที่ต้องนำรถจักรยานยนต์มาคืนผู้เสียหาย การที่ ก. กับ จ. ไม่นำมาคืน ผู้เสียหาย กลับนำไปขายให้แก่จำเลยทั้งที่ไม่ใช่ของตน ถือได้ว่า ก. กับ จ. มีเจตนาเบียดบังเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐาน ยักยอก เมื่อจำเลยรับซื้อไว้ในราคาเพียง 800 บาท ต่ำกว่าราคาแท้จริง 7,000 บาท มาก โดยไม่ประสงค์ตรวจสอบเสียก่อนว่าคู่มือจดทะเบียนรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวมี ชื่อ ก. กับ จ. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือไม่ ย่อมเป็นการผิดวิสัยของบุคคลโดยทั่วไป เชื่อว่าจำเลยรับซื้อไว้โดยรู้อยู่แล้วว่ารถจักรยานยนต์ที่ ก. กับ จ. นำมาขายได้มาจากการกระทำความผิดอาญาฐานยักยอก ดังนั้น ไม่ว่าการที่ ก. กับ จ. ได้รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมาจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือยักยอก การกระทำของจำเลยถือว่าครบองค์ประกอบความผิดฐานรับของโจร ตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคแรก แล้ว

แม้ฟ้องโจทก์จะบรรยายเพียงว่า จำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ โดยมิได้บรรยายถึงความผิดฐานยักยอกด้วย แต่ข้อเท็จจริงได้ความจากทางพิจารณาว่าจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้ มาจากการกระทำความผิดฐานยักยอกแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวในฟ้อง ก็มิใช่ข้อสาระสำคัญ ทั้งจำเลยมิได้หลงข้อต่อสู้ และไม่ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเรื่องที่โจทก์ ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ศาลจึงลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจรตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการ พิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง และวรรคสามได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7993/2547
บ้านของจำเลยไม่ได้มีสภาพเป็นอู่ซ่อมรถจักรยานยนต์ แต่ขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นบ้านจำเลยกลับพบรถจักรยานยนต์ถึง 3 คัน แต่ละคันมีลักษณะถูกถอดชิ้นส่วนออกจนไม่สามารถขับได้ ทำให้เห็นได้ว่ากรณีไม่น่าจะเป็นเพียงจำเลยซ่อมรถจักรยานยนต์ให้เพื่อนตาม ที่จำเลยกล่าวอ้าง การที่จำเลยรับรถจักรยานยนต์ของกลางไว้แล้วถอดรื้อชิ้นส่วนของรถจักรยานยนต์ ของกลางออกจนรถไม่สามารถใช้ขับขี่ได้ พฤติการณ์น่าเชื่อว่าจำเลยกระทำการดังกล่าวโดยรู้ว่ารถจักรยานยนต์ของกลาง เป็นทรัพย์ที่ถูกลักมา การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานรับของโจร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7035/2547
คดีเดิมโจทก์บรรยายฟ้องว่า เหตุลักทรัพย์เกิดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2544 เวลากลางวัน จำเลยถูกจับวันที่ 19 พฤษภาคม 2544 และเหตุรับของโจรเกิดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2544 เวลากลางวันถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2544 ส่วนคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า เหตุลักทรัพย์เกิดเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2544 จำเลยถูกจับวันที่ 19 พฤษภาคม 2544 เวลากลางวัน และเหตุรับของโจร เกิดเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2544 ถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 2544 วันเวลากระทำความผิดในคดีก่อนและคดีนี้ทั้งในความผิดฐานลักทรัพย์และรับของ โจรต่างกัน โจทก์จะฟ้องรวมกันมาเป็นคดีเดียวกันหรือจะแยกฟ้องเป็นคนละคดีก็ได้ เมื่อโจทก์แยกฟ้องจำเลยในคดีก่อนและคดีนี้คนละคดีเป็นรายกระทงความผิด และจำเลยให้การรับสารภาพฐานรับของโจรในชั้นพิจารณาของแต่ละคดี จึงเป็นการรับสารภาพว่ากระทำความผิดฐานรับของโจรในแต่ละคดี ซึ่งเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระคนละกระทงความผิดกัน แม้ว่าจำเลยจะถูกจับในวันที่ 19 พฤษภาคม 2544 วันเดียวกัน และเจ้าพนักงานตรวจยึดทรัพย์ของผู้เสียหายได้จากจำเลยในคราวเดียวกัน แต่วันดังกล่าวเป็นวันที่จำเลยถูกจับมิใช่วันกระทำความผิด และทรัพย์ที่ยึดได้ก็เป็นทรัพย์ของผู้เสียหายคนละคนต่างรายกัน ถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดวันเดียวกัน แม้คดีก่อนศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว เมื่อการกระทำความผิดต่างกรรมกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้ย่อมไม่เป็นฟ้องซ้ำ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6557/2547
จำเลยเห็นเหตุการณ์ที่คนร้ายผู้ลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายนำรถจักรยานยนต์ของ ผู้เสียหายเข้ามาในบ้านของจำเลยและถอดชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายใน ยามวิกาล ซึ่งเป็นเรื่องที่คนร้ายเคยกระทำมาแล้วและจำเลยก็รับรู้โดยถือเป็นเรื่อง ปกติ ทั้งที่ความจริงการซ่อมรถ การถอดชิ้นส่วนรถควรจะกระทำในเวลากลางวันอันเป็นเวลาทำการงานของคนทั่วไป การดำเนินการถอดชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ในเวลากลางคืนย่อมส่อแสดงถึงความผิดปกติ เมื่อถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม จำเลยก็นำเจ้าพนักงานตำรวจไปชี้จุดที่นำชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ไปทิ้งได้ถูกต้อง แสดงว่าจำเลยน่าจะมีส่วนร่วมหรือรู้เห็นในการนำชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปทิ้ง สำหรับชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้จากบ้าน ของจำเลยวางอยู่ด้านหน้าของบ้านลักษณะเป็นห้องรับแขก บางส่วนอยู่ในกล่องไม่มีอะไรปิดบัง แม้จะเป็นการวางไว้อย่างเปิดเผยและบ้านของจำเลยยังไม่มีประตูรั้วกับประตู บ้านทั้งยังสร้างไม่เสร็จ แต่โดยสภาพของบ้านที่พักอาศัยย่อมถือเป็นที่รโหฐาน บุคคลภายนอกไม่มีสิทธิเข้าไปโดยมิได้รับอนุญาต การเก็บชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ไว้ในบ้านของจำเลยในลักษณะดังกล่าว ไม่พอให้รับฟังได้ว่าเป็นการกระทำโดยเปิดเผยและโดยสุจริตของจำเลยซึ่งเป็น ผู้ครอบครองบ้าน น่าเชื่อว่าจำเลยรู้ว่ารถจักรยานยนต์ที่นำไปถอดชิ้นส่วนที่บ้านของจำเลยเป็น รถจักรยานยนต์ที่คนร้ายได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ การกระทำของจำเลยเป็นการช่วยซ่อนเร้น หรือรับไว้ด้วยประการใด ๆ ซึ่งชิ้นส่วนของรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักมา โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยย่อมมีความผิดฐานรับของโจร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2766/2546
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองแยกเป็น 3 ข้อ คือ ก,ขและค การกระทำตามที่บรรยายฟ้องมาแต่ละข้อเป็นความผิดสำเร็จในตัวเอง สำหรับความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรตามฟ้องข้อ กและข นั้น จำเลยทั้งสองรับสารภาพฐานรับของโจรความผิดฐานรับของโจรสำเร็จเมื่อจำเลยทั้ง สองรับเอาบัตรเครดิตของธนาคาร ย. ซึ่งออกให้แก่ ด. ไว้ โดยจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าบัตรเครดิตดังกล่าวได้มาจากการลักทรัพย์ โจทก์ฟ้องในข้อ ค.ว่าหลังจากกระทำความผิดตามฟ้องข้อกและขแล้วจำเลยทั้งสองได้นำบัตรเครดิต ของธนาคาร ย. ซึ่งออกให้แก่ ด. ไปซื้อสินค้าที่ร้าน ซ. โดยร่วมกันหลอกลวงพนักงานขายว่าจำเลยที่ 1 ชื่อ ด. จำเลยทั้งสองได้ชำระราคาสินค้าด้วยบัตรเครดิตดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 ปลอมลายมือชื่อของ ด. ลงในเอกสารสิทธิบันทึกการขายในช่องลายมือชื่อผู้ถือบัตรแล้วจำเลยทั้งสอง ร่วมกันส่งมอบบันทึกการขายดังกล่าวแก่พนักงานขายของร้าน ซ. การกระทำของจำเลยทั้งสองตามฟ้องข้อ ค. เป็นคนละวาระกันกับการกระทำความผิดฐานรับของโจรทั้งทรัพย์ที่ได้จากการกระทำ ความผิดก็แตกต่างกัน กล่าวคือทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดฐานรับของโจรเป็นบัตรเครดิต ส่วนทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดในฟ้องข้อ ค เป็นสินค้าที่จำเลยทั้งสองซื้อจากร้าน ซ. คือ โทรทัศน์สีและเครื่องเล่นวีดีโอเทปฉะนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดหลายกรรม หาใช่กรรมเดียวไม่