ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม


มาตรา ๑๖๗  ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด แก่เจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดีหรือพนักงานสอบสวน เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการหรือประวิงการกระทำใดอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๖๘  ผู้ใดขัดขืนคำบังคับตามกฎหมายของพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดีหรือพนักงานสอบสวน ซึ่งให้มาเพื่อให้ถ้อยคำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๖๙  ผู้ใดขัดขืนคำบังคับตามกฎหมายของพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดีหรือพนักงานสอบสวน ซึ่งให้ส่งหรือจัดการส่งทรัพย์หรือเอกสารใด ให้สาบาน ให้ปฏิญาณ หรือให้ถ้อยคำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๗๐  ผู้ใดขัดขืนหมายหรือคำสั่งของศาลให้มาให้ถ้อยคำ ให้มาเบิกความหรือให้ส่งทรัพย์หรือเอกสารใดในการพิจารณาคดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๗๑  ผู้ใดขัดขืนคำสั่งของศาลให้สาบาน ปฏิญาณ ให้ถ้อยคำหรือเบิกความ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๗๒  ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๗๓  ผู้ใดรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่า ได้มีการกระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๗๔  ถ้าการแจ้งข้อความตามมาตรา ๑๗๒ หรือมาตรา ๑๗๓ เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท

ถ้าการแจ้งตามความในวรรคแรก เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๗๕  ผู้ใดเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญา หรือว่ากระทำความผิดอาญาแรงกว่าที่เป็นความจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๗๖  ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา ๑๗๕ แล้วลุแก่โทษต่อศาล และขอถอนฟ้องหรือแก้ฟ้องก่อนมีคำพิพากษา ให้ศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้หรือศาลจะไม่ลงโทษเลยก็ได้

มาตรา ๑๗๗  ผู้ใดเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ได้กระทำในการพิจารณาคดีอาญา ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๗๘  ผู้ใดซึ่งเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน ให้แปลข้อความหรือความหมายใด แปลข้อความหรือความหมายนั้นให้ผิดไปในข้อสำคัญ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๗๙  ผู้ใดทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ เพื่อให้พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาเชื่อว่าได้มีความผิดอาญาอย่างใดเกิดขึ้น หรือเชื่อว่าความผิดอาญาที่เกิดขึ้นร้ายแรงกว่าที่เป็นความจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๘๐  ผู้ใดนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี ถ้าเป็นพยานหลักฐานในข้อสำคัญในคดีนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ได้กระทำในการพิจารณาคดีอาญา ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๘๑  ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๗๔ มาตรา ๑๗๕ มาตรา ๑๗๗ มาตรา ๑๗๘ หรือมาตรา ๑๘๐
(๑) เป็นการกระทำในกรณีแห่งข้อหาว่า ผู้ใดกระทำความผิดที่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
(๒) เป็นการกระทำในกรณีแห่งข้อหาว่า ผู้ใดกระทำความผิดที่มีระวางโทษถึงประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสามแสนบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๘๒  ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา ๑๗๗ หรือมาตรา ๑๗๘ แล้วลุแก่โทษ และกลับแจ้งความจริงต่อศาลหรือเจ้าพนักงานก่อนจบคำเบิกความหรือการแปล ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

มาตรา ๑๘๓  ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา ๑๗๗ มาตรา ๑๗๘ หรือมาตรา ๑๘๐ แล้วลุแก่โทษ และกลับแจ้งความจริงต่อศาลหรือเจ้าพนักงานก่อนมีคำพิพากษา และก่อนตนถูกฟ้องในความผิดที่ได้กระทำ ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

มาตรา ๑๘๔  ผู้ใดเพื่อจะช่วยผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษ หรือให้รับโทษน้อยลง ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ ซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๘๕  ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์หรือเอกสารใดที่ได้ส่งไว้ต่อศาล หรือที่ศาลให้รักษาไว้ในการพิจารณาคดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๘๖  ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์สินที่ได้มีคำพิพากษาให้ริบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๘๗  ผู้ใดเพื่อจะมิให้การเป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ถูกยึดหรืออายัด หรือที่ตนรู้ว่าน่าจะถูกยึดหรืออายัด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๘๘  ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ ซึ่งพินัยกรรมหรือเอกสารใดของผู้อื่น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๘๙  ผู้ใดช่วยผู้อื่นซึ่งเป็นผู้กระทำความผิด หรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิด อันมิใช่ความผิดลหุโทษ เพื่อไม่ให้ต้องโทษ โดยให้พำนักแก่ผู้นั้น โดยซ่อนเร้นหรือโดยช่วยผู้นั้นด้วยประการใดเพื่อไม่ให้ถูกจับกุม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๙๐  ผู้ใดหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังตามอำนาจของศาล ของพนักงานอัยการ ของพนักงานสอบสวน หรือของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าความผิดดังกล่าวมาในวรรคแรกได้กระทำโดยแหกที่คุมขัง โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือโดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืน หรือวัตถุระเบิด ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้ในสองวรรคก่อนกึ่งหนึ่ง
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๙๑  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดให้ผู้ที่ถูกคุมขังตามอำนาจของศาล ของพนักงานอัยการ ของพนักงานสอบสวน หรือของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา หลุดพ้นจากการคุมขังไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าผู้ที่หลุดพ้นจากการคุมขังไปนั้นเป็นบุคคลที่ต้องคำพิพากษาจากศาลหนึ่งศาลใดให้ลงโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป หรือมีจำนวนตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท

ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้ในสองวรรคก่อนกึ่งหนึ่ง
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๙๒  ผู้ใดให้พำนัก ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ให้ผู้ที่หลบหนีจากการคุมขังตามอำนาจของศาล ของพนักงานสอบสวน หรือของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๙๓  ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวมาในมาตรา ๑๘๔ มาตรา ๑๘๙ หรือมาตรา ๑๙๒ เป็นการกระทำเพื่อช่วยบิดา มารดา บุตร สามีหรือภริยาของผู้กระทำ ศาลจะไม่ลงโทษก็ได้

มาตรา ๑๙๔  ผู้ใดต้องคำพิพากษาห้ามเข้าเขตกำหนดตามมาตรา ๔๕ เข้าไปในเขตกำหนดนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๙๕  ผู้ใดหลบหนีจากสถานพยาบาลซึ่งศาลสั่งให้คุมตัวไว้ ตามความในมาตรา ๔๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๙๖  ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งห้ามของศาลซึ่งได้สั่งไว้ในคำพิพากษา ตามมาตรา ๕๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๙๗  ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ให้ประโยชน์ หรือรับว่าจะให้ประโยชน์ เพื่อกีดกันหรือขัดขวางการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานเนื่องจากคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๙๘  ผู้ใดดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี หรือกระทำการขัดขวางการพิจารณาหรือพิพากษาของศาล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๙๙  ผู้ใดลอบฝัง ซ่อนเร้น ย้ายหรือทำลายศพหรือส่วนของศพเพื่อปิดบังการเกิด การตายหรือเหตุแห่งการตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3637/2559
การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียหายที่ 1 และนำไปใช้แสดงต่อ ภ. พนักงานธนาคารออมสิน ผู้เสียหายที่ 2 จากนั้นจำเลยทำเอกสารคำขอเปิดบัญชี แบบคำขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์ แบบแสดงข้อมูลลูกค้าและเอกสารเงื่อนไขการใช้บริการบัญชีเงินฝากและบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้เสียหายที่ 2 โดยกรอกข้อมูลในแบบคำขอเปิดบัญชี แบบคำขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์ว่า จำเลยชื่อ ส. เป็นผู้ขอเปิดบัญชีและแสดงข้อมูลลูกค้าของผู้เสียหายที่ 1กับปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 1 ในช่องลงชื่อผู้ขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์และในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน แล้วนำแบบคำขอเปิดบัญชี แบบคำขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์ แบบแสดงข้อมูลลูกค้าและเอกสารเงื่อนไขการใช้บริการบัญชีเงินฝากและบัตรอิเล็กทรอนิกส์ และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียหายที่ 1 ดังกล่าวไปยื่นแสดงต่อ ภ. เพื่อขอเปิดบัญชีและใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์กับผู้เสียหายที่ 2 นั้น เป็นการกระทำต่อเนื่องเชื่อมโยงกันโดยมีเจตนาเพื่อให้ผู้เสียหายที่ 2 เปิดบัญชีเงินฝากและทำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่จำเลยเป็นหลัก แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องการกระทำความผิดของจำเลยแยกออกเป็นข้อ ๆ และการกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ในแต่ละข้อเป็นความผิดสำเร็จในตัวก็ตาม การกระทำของจำเลยก็เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2665/2559
การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 เป็นมาตรการของรัฐที่ต้องการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือไม่ก็ตามเมื่อคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีคำวินิจฉัย ให้จำเลยเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบควบคุมตัวไม่เข้มงวด เป็นเวลา 120 วัน หลังจากนั้นให้เข้ารับการฟื้นฟูในโปรแกรมเป็นเวลา 2 เดือน รายงานตัวเดือนละ 2 ครั้ง ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดทุกชนิดและยินยอมให้มีการตรวจปัสสาวะหาสารเสพติดทุกครั้งที่มารายงานตัว หลังจากจำเลยผ่านการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด จากสถานที่ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแล้วจำเลยไม่มารายงานตัว เจ้าหน้าที่มีหนังสือเตือนแล้วจำเลยไม่มารายงานตัวโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง จึงเป็นกรณีที่จำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่คณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกำหนดไว้จนครบหกเดือน นับแต่วันถูกส่งตัวเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เมื่อมาตรา 33 บัญญัติให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ เพื่อประกอบการดำเนินคดีผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเมื่อผู้นั้นเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดครบถ้วนตามกำหนดเวลาแล้ว แต่ผลการฟื้นฟูยังไม่เป็นที่พอใจ การที่ได้ตัวจำเลยมาหลังจากที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามแผนการฟื้นฟูดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีหน้าที่นำตัวจำเลยกลับไปบำบัดแก้ไขตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดซึ่งมิใช่เพียงรายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น แต่ยังมีกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบว่าจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิดหรือไม่ และตรวจปัสสาวะของจำเลยเพื่อหาสารเสพติด อันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ครบถ้วนตามมาตรา 25 เพื่อที่คณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจะได้เป็นข้อมูลในการพิจารณาว่าผลของการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของจำเลยเป็นที่พอใจหรือไม่ เมื่อคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอน ที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวข้างต้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14837/2558
คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีคำวินิจฉัยให้ส่งตัวจำเลยเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด แบบไม่ควบคุมตัว ณ โปรแกรมของสำนักงานคุมประพฤติ เป็นเวลา 6 เดือน (180 วัน) ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิดและยินยอมให้พนักงานเจ้าหน้าที่เก็บปัสสาวะเพื่อตรวจหาสารเสพติด แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตาม พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ส่งหนังสือเตือน แต่จำเลยยังคงเพิกเฉยไม่พบพนักงานเจ้าหน้าที่ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเห็นว่า ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ดังนี้ เหตุที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีคำสั่งให้แจ้งพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายแก่จำเลย เนื่องจากจำเลยไม่ปฏิบัติตามแผนการฟื้นฟู มิใช่เพราะจำเลยไม่เป็นบุคคลที่เข้าหลักเกณฑ์หรือสามารถเข้ารับการฟื้นฟูได้ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 เป็นมาตรการของรัฐที่ต้องการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือไม่ก็ตาม โดยศาลจะมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้ติดยาเสพติดไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดก่อนและคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีอำนาจวินิจฉัยว่า ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ผู้ใดเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด ต้องจัดให้มีแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 22 โดยคำนึงถึงความหนักเบาของการเสพหรือติดยาเสพติดของผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 23 ซึ่งผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดต้องถูกบังคับให้อยู่รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเป็นเวลาไม่เกินหกเดือน ซึ่งอาจขยายหรือลดระยะเวลาการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามความเหมาะสมตามมาตรา 25 หากผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนระเบียบ เงื่อนไขหรือข้อบังคับที่กำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จับตัวผู้นั้นกลับเข้าไว้ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด สถานที่เพื่อการตรวจพิสูจน์ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือควบคุมตัวได้ โดยให้ถือว่าผู้นั้นหนีการคุมขังตามมาตรา 190 แห่ง ป.อ. พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจติดตามจับกุมผู้นั้นได้ด้วยตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง และมีอำนาจลงโทษตามมาตรา 32 ได้ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มีวัตถุประสงค์แก้ไขฟื้นฟูผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติดทุกคนเพื่อประโยชน์ของสังคมเป็นส่วนรวม ดังนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวจึงต้องดำเนินการตามมาตราดังกล่าวก่อน แล้วคณะอนุกรรมการการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจึงจะมีสิทธิพิจารณาผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ และมาตรา 33 บัญญัติให้ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินคดีผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เมื่อผู้นั้นเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดครบถ้วนตามกำหนดเวลาแล้ว แต่ผลการฟื้นฟูยังไม่เป็นที่พอใจ การที่ได้ตัวจำเลยมาหลังที่จำเลยไม่ปฏิบัติตาม พนักงานเจ้าหน้าที่มีหน้าที่นำตัวจำเลยกลับไปบำบัดแก้ไขตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด อันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ครบถ้วนตามมาตรา 25 ก่อน คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12091/2558
ก่อนจับกุมโจทก์ทั้งสองได้มีการจับกุม ช. กับพวกในข้อหาลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ช. ให้การว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ใช้จ้างวาน จึงมีการสอบสวน ขยายผลและจับกุมโจทก์ทั้งสองมาลงบันทึกประจำวันไว้ และตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีระบุว่า พันตำรวจเอก ส. ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลพระโขนง สั่งให้จำเลยทั้งสิบสามซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนปราบปรามนำตัว ช. ไปสอบสวนขยายผล โดยนัดโจทก์ที่ 2 มารับรถยนต์ที่หน้าห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนหากต้องไปขอหมายจับจากศาลชั้นต้นแล้วผู้ร่วมกระทำความผิดอาจหลบหนีไปได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (3) ทั้งรถที่ถูกลักอยู่ที่บ้านของโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 2 เป็นผู้พาเจ้าพนักงานตำรวจไปทำการตรวจค้นเอง จึงไม่จำต้องขอหมายค้นจากศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92 (4) และมาตรา 94 การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งการโดยชอบ จึงไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 157

ฟ้องของโจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยทั้งสิบสามร่วมกันทำร้ายร่างกายโจทก์ทั้งสองขณะโจทก์ทั้งสองถูกควบคุมตัว ฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงมิได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยทั้งสิบสามกระทำความผิด เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

การที่จำเลยทั้งสิบสามจับกุมโจทก์ทั้งสองสืบเนื่องจากคำซัดทอดของ ช. กับพวก ต่อมามีการแจ้งข้อหาและทำหลักฐานการจับกุม การระบุวันที่จับกุมและบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนคลาดเคลื่อนไปบ้างเป็นเพียงรายละเอียด แต่สาระสำคัญมีความถูกต้องตามพฤติการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และมีการนำสืบพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาไปตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งจำเลยทั้งสิบสามอาจเชื่อว่าโจทก์ทั้งสองมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จึงมิใช่เป็นพยานหลักฐานเท็จ การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ หรือนำสืบพยานหลักฐานอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 162, 172, 173, 174, 179 และ 180

โจทก์ที่ 2 พาเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นที่บ้านของโจทก์ที่ 2 โดยความยินยอมของโจทก์ที่ 2 เอง การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลเป็นความผิดฐานบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนตาม ป.อ. มาตรา 365 (3) ประกอบมาตรา 362

ของกลางทั้งหมดเจ้าพนักงานตำรวจนำไปเป็นของกลางคดีอาญา ทั้งโจทก์ทั้งสองได้อ่านข้อความในบันทึกการจับกุมที่ระบุว่ามีการยึดเงินสด ธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท 20 ฉบับ รวมเป็นเงิน 20,000 บาท แล้วมิได้โต้แย้งว่าจำนวนเงินดังกล่าวไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงแต่อย่างใด เชื่อว่าเจ้าพนักงานตำรวจบันทึกข้อความในบันทึกการจับกุมโดยถูกต้องแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 340

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10547/2558
ข้อหาร่วมกันซ่อนเร้นศพตาม ป.อ. มาตรา 199 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงเป็นคดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกไม่เกินห้าปี ถ้าจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง แต่ก็มีอำนาจที่จะฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดจริงได้ หาจำต้องรับฟังเป็นเด็ดขาดตามคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ไม่ เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าคนร้ายร่วมกันปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วเอาศพไปซ่อนไว้เป็นการกระทำต่อเนื่องกัน แต่พยานหลักฐานของโจทก์ไม่พอให้รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมในการปล้นทรัพย์ผู้ตายและซ่อนเร้นศพผู้ตายอย่างไร พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังไม่เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9696/2558
การกระทำอันจะเป็นความผิดฐานฟ้องเท็จตาม ป.อ. มาตรา 175 ต้องเป็นการนำความเท็จในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญาไปแกล้งฟ้องผู้อื่นให้รับโทษ ทั้งที่ไม่เป็นความจริง ส่วนเรื่องอายุความนั้น ป.อ. มาตรา 95 และมาตรา 96 ได้บัญญัติไว้ต่างหากเพื่อเป็นหลักเกณฑ์ในการฟ้องคดี ซึ่งเป็นเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญาโดยตรง ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างในฟ้องคดีก่อนว่าคดีของจำเลยที่ 1 ยังไม่ขาดอายุความนั้นแม้จะไม่เป็นความจริง จำเลยทั้งหกก็หามีความผิดฐานฟ้องเท็จไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4196/2558
ทรัพย์ที่ลูกหนี้โอนไปให้ผู้อื่น อันจะเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 นั้น หมายถึงทรัพย์ใด ๆ ของลูกหนี้ที่มีอยู่ได้มีการโอนไป ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากับองค์การคลังสินค้า 2 ฉบับ ฉบับแรกว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 แปรสภาพหัวมันสำปะหลังสดจากเกษตรกรที่นำมาจำนำแก่องค์การคลังสินค้าเป็นแป้งมันสำปะหลัง ฉบับที่สองเป็นสัญญาเก็บแป้งมันสำปะหลังที่คลังสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยองค์การคลังสินค้าเป็นผู้ส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 อันเป็นสัญญาฝากทรัพย์ ดังนั้นแป้งมันสำปะหลังที่จำเลยที่ 1 แปรสภาพแล้วเก็บไว้ในคลังสินค้าของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกรรมสิทธิ์ขององค์การคลังสินค้า หาใช่เป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ของโจทก์ไม่ ทั้งองค์การคลังสินค้าได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อหายักยอก แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะร่วมกันนำเอาแป้งมันสำปะหลังที่เก็บไว้ที่คลังสินค้าของจำเลยที่ 1 ไปขาย ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของตนได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ทั้งแป้งมันสำปะหลังที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันนำไปขายก็มิใช่ทรัพย์ที่ถูกยึดหรืออายัด การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่ใช่การทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสียหรือสูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ถูกยึดหรืออายัด เพื่อจะมิให้การเป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 187

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 820/2558
ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 352 และความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 188 นั้น แตกต่างกัน การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดฐานใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของแต่ละความผิดนั้น คดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองเช็คพิพาทโดยโจทก์เป็นผู้มอบการครอบครองให้แก่จำเลย การที่จำเลยเอาเช็คพิพาทของโจทก์ไปเรียกเก็บเงิน นอกจากเป็นความผิดฐานยักยอกแล้ว ย่อมเป็นการกระทำให้เช็คพิพาทนั้นไร้ประโยชน์ที่จะใช้ได้อีก การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 188 อีกบทหนึ่งด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15243/2557
ความผิดฐานฟ้องเท็จเกิดขึ้นเมื่อมีการยื่นฟ้องคดีต่อศาล การถอนฟ้องในระหว่างชั้นไต่สวนมูลฟ้องคงเป็นเหตุให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้หรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้ตาม ป.อ. มาตรา 176

คำฟ้องไม่มีลายมือชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เมื่อมีการยื่นคำร้องขอแก้ไขฟ้องโดยลงลายมือชื่อโจทก์ทั้งสองมาในส่วนของคำขอท้ายฟ้องก่อนวันนัดไต่สวนมูลฟ้องและศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ดังนี้ กรณีถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้สั่งโจทก์ให้แก้ฟ้องให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง จนเห็นได้ว่าเป็นฟ้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14508/2557
การที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 5 นำเช็คพิพาทฟ้องโจทก์ในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ไม่เป็นการเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญา ไม่มีมูลเป็นความผิดฐานฟ้องเท็จตาม ป.อ. มาตรา 175 และเมื่อเหตุดังกล่าวเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดีและเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 5 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่ามีมูลได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12362/2557
การที่จำเลยเบิกความสองครั้งในคดีเดียวกัน คือ ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องและชั้นพิจารณา แม้จะเป็นการเบิกความคนละคราว แต่ก็เป็นการนำสาระสำคัญของข้อความในเรื่องเดียวกัน มูลเหตุเดียวกันมากล่าวอีกครั้งโดยมีเจตนาให้โจทก์ต้องโทษในคดีเดียวกันเท่านั้น จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว แต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11108/2557
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดโดยแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับคดีอาญาแก่พนักงานสอบสวนว่า โจทก์กับพวกร่วมกันปลอมเอกสารราชการหนังสือรับรองการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บ. และใช้เอกสารราชการปลอม อันเป็นความผิดและมีโทษตาม ป.อ. มาตรา 172 173 174 วรรคสอง และ 181 (1) ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาซึ่งมีกำหนดอายุความทางอาญา 10 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งภายในกำหนด 10 ปี ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้ถอนคำร้องทุกข์คดีอาญา ถือว่าความผิดทางอาญาฐานแจ้งความเท็จยังไม่เกิดขึ้น จึงต้องใช้อายุความละเมิดทั่วไปในทางแพ่ง 1 ปี โจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่วันที่รู้เหตุแห่งการทำละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิด ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความนั้น ฟังไม่ขึ้น

เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น นำข้อความอันเป็นเท็จแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าได้มีการกระทำความผิดให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ในข้อหาปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม และจำเลยได้กล่าวหาต่อผู้บังคับบัญชาว่าโจทก์กระทำผิดวินัย โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติคุณ มีผลกระทบถึงความเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน โจทก์ได้รับความเสียหายแล้ว แม้จำเลยจะถอนคำร้องทุกข์ และพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องโจทก์ ก็ไม่มีผลให้ความเสียหายของโจทก์ที่มีอยู่แล้วหมดสิ้นไปแต่อย่างใด จำเลยจึงคงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11560/2557
การยื่นเอกสารเท็จในชั้นยื่นคำร้องต่อศาลว่าจำเลยในคดีดังกล่าวถึงแก่ความตาย ยังไม่ถึงชั้นพิจารณาพยานหลักฐานว่าจำเลยในคดีดังกล่าวถึงแก่ความตายไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10452/2557
การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ลงลายมือชื่อร่วมกันในช่องผู้มอบอำนาจโดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามที่มีการจดทะเบียนต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับเรื่องจำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งลงลายมือชื่อผูกพันบริษัทเป็นเพียงการไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองดังกล่าวเท่านั้น และจะมีผลต่อรูปคดีหรือไม่เพียงใดเป็นเรื่องที่ศาลในคดีดังกล่าวจะพิจารณาวินิจฉัย หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงไม่ใช่พยานหลักฐานอันเป็นเท็จเพราะเหตุจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อโดยไม่มีอำนาจและไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 การส่งหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานต่อศาลจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10338/2557
ในคดีอาญาเดิม พนักงานอัยการโจทก์ไม่สามารถติดตามตัว จ. ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นประจักษ์พยานมาเบิกความเป็นพยานต่อศาลได้ จึงจำเป็นต้องส่งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของ จ. บันทึกการชี้ตัวผู้ต้องหาทั้งสองและบันทึกการชี้ภาพถ่ายผู้ต้องหาทั้งสองซึ่งจำเลยทำหน้าที่เป็นล่ามแปลภาษาให้ จ. และพิมพ์ลายนิ้วมือในคำแปลไว้ กับจำเป็นต้องส่งบันทึกการสอบปากคำจำเลยในฐานะผู้ทำหน้าที่ล่ามแปลภาษาให้ จ. ฟัง เป็นพยานหลักฐานต่อศาล และเพื่อให้พยานดังกล่าวมีคุณค่าในการรับฟังจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำตัวจำเลยมาเบิกความยืนยัน การที่จำเลยเบิกความอันเป็นเท็จโดยเบิกความกลับคำให้การในชั้นสอบสวนเป็นว่า จำเลยพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือลงในเอกสารทุกฉบับโดยที่จำเลยมิได้ทำหน้าที่เป็นล่ามแปลและมิได้สาบานตัวว่าจะทำหน้าที่เป็นล่ามแปลต่อพนักงานสอบสวน ทั้งเบิกความด้วยว่าจำเลยมิได้ทำหน้าที่เป็นล่ามในการชี้ตัวและชี้ภาพถ่ายผู้ต้องหาทั้งสองเลย ความเท็จที่จำเลยเบิกความจึงเป็นข้อสำคัญในคดี เพราะหากศาลเชื่อตามคำเบิกความของจำเลย พยานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ล่ามแปลของจำเลยดังกล่าว ย่อมเป็นพยานหลักฐานชนิดที่เกิดขึ้นโดยมิชอบที่ศาลจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้เลย เพราะต้องห้ามมิให้โจทก์อ้างเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226

องค์ประกอบความผิดฐานเบิกความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 177 วรรคแรก บัญญัติแต่เพียงว่า "ผู้ใดเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี..." เท่านั้น แสดงว่าเพียงความเท็จที่ผู้กระทำผิดเบิกความเป็นข้อสำคัญในคดีที่จะพิสูจน์ความจริงได้ก็ครบองค์ประกอบความผิดแล้ว ตามองค์ประกอบความผิดดังกล่าวหาได้ระบุว่าต้องเป็นข้อสำคัญในคดีถึงขนาดที่ศาลจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ได้แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9637/2557
ความผิดตามมาตรา 172 และมาตรา 174 วรรคสอง โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อร้อยตำรวจโท ฉ. พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองนนทบุรี กล่าวหาว่าโจทก์กับพวกร่วมกันลักทรัพย์ผู้อื่นและร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ทำให้ร้อยตำรวจโท ฉ. ออกหมายเรียกโจทก์เป็นผู้ต้องหาและรับคำร้องทุกข์ไว้ ความจริงแล้วโจทก์มิได้กระทำความผิดตามที่จำเลยแจ้งความกล่าวหาและให้ถ้อยคำ แต่จำเลยมีเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการหาหลักทรัพย์มาประกันตัวและเสื่อมเสียชื่อเสียง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย นั้น เป็นการบรรยายฟ้องว่า มีการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาเกิดขึ้น โดยหยิบยกเอาถ้อยคำของกฎหมายมาบรรยายเพื่อให้ครบองค์ประกอบของความผิดเท่านั้น มิได้บรรยายกล่าวถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับความเท็จที่จำเลยแจ้งความกล่าวหาโจทก์และให้ถ้อยคำต่อร้อยตำรวจโท ฉ. นั้นเป็นความผิดในทางอาญาหรือไม่ อย่างไร ส่วนสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารท้ายฟ้อง มีสาระเพียงว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2553 ร้อยตำรวจโท ฉ. รับคำร้องทุกข์ของจำเลยตามที่กล่าวหาโจทก์กับพวกร่วมกันลักทรัพย์และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ไว้ ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ข้อ 18 เวลา 16.15 นาฬิกา ของวันที่ 19 กรกฎาคม 2553 มิได้มีรายละเอียดเกี่ยวกับการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยว่าเป็นอย่างใด ทั้งโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเพื่อจะแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 174 วรรคสองอีกด้วย ฟ้องของโจทก์จึงมิได้กล่าวถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดรวมทั้งบุคคลและสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9330/2557
คดีก่อน บริษัท ย. ยื่นฟ้องโจทก์คดีนี้ว่า ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าที่ดินงวดเดือนกรกฎาคม 2551 ส่วนโจทก์ให้การต่อสู้ว่า ในทางปฏิบัติ บริษัท ย. จะต้องส่งใบแจ้งหนี้ก่อนแล้วโจทก์จึงจะชำระค่าเช่า แต่ในงวดดังกล่าวบริษัท ย. ไม่ได้ส่งใบแจ้งหนี้ ต่อมาโจทก์ตรวจสอบพบว่ายังค้างชำระค่าเช่าอยู่ จึงนำเงินไปชำระค่าเช่าในภายหลัง คำให้การของโจทก์ในคดีก่อนเท่ากับรับว่าตนชำระค่าเช่างวดเดือนกรกฎาคม 2551 หลังจากครบกำหนดชำระไปแล้ว แต่มีข้อเถียงโดยยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ว่า แม้โจทก์จะชำระล่าช้าแต่ก็มิได้ผิดนัดเพราะบริษัท ย. ยังไม่ได้ส่งใบแจ้งหนี้ให้แก่ตนตามที่เคยปฏิบัติ ฉะนั้นประเด็นแห่งคดีในคดีก่อนจึงมีว่า บริษัท ย. จะต้องออกใบแจ้งหนี้ค่าเช่างวดดังกล่าวให้แก่โจทก์เสียก่อนแล้วโจทก์จึงจะต้องชำระค่าเช่า หรือไม่ ดังนั้น คำเบิกความของจำเลยในคดีก่อนที่ว่า โจทก์ชำระค่าเช่างวดเดือนกรกฎาคม 2551 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2551 อันเป็นการผิดนัดชำระค่าเช่า ทำให้สัญญาเช่าสิ้นสุดลง จึงไม่ใช่ข้อสำคัญในคดี การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7322/2557
ขณะเกิดเหตุดาบตำรวจ บ. และดาบตำรวจ ส. แต่งกายในเครื่องแบบเจ้าพนักงานตำรวจ พกพาอาวุธปืนสั้นแบบเปิดเผย กำลังมอบหมายให้ อ. ซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานดำเนินการจับกุม ส. โดยทำการใส่กุญแจมือ ส. ได้เพียงข้างเดียว แล้ว ส. ดิ้นรนขัดขืน พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นใครเห็นก็ต้องทราบดีว่า ส. กำลังถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมอยู่ ไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องทราบว่า ส. ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในข้อหาอะไร เชื่อว่าจำเลยทราบดีว่าเจ้าพนักงานตำรวจและ อ. กำลังเข้าจับกุม ส. อยู่ จำเลยเข้ามาช่วย ส. โดยช่วยดึงแขนดาบตำรวจ บ. และดาบตำรวจ ส. จนเป็นเหตุให้ดาบตำรวจ บ. หกล้ม อาวุธปืนสั้นหล่นลงที่พื้น การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่และเป็นการกระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายตาม ป.อ. มาตรา 138 วรรคสองแล้ว แต่เจ้าพนักงานตำรวจและ อ. ยังไม่สามารถจับกุม ส. ได้ จึงฟังไม่ได้ว่า ส. ถูกคุมขังอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 191

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5568/2557
ประเด็นข้อพิพาทในคดีก่อนมีว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือเป็นของจำเลยที่ให้โจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทน การที่จำเลยเบิกความเกี่ยวกับโจทก์เพียงว่าจำเลยรู้จักกับโจทก์เมื่อปี 2524 และเห็นว่าโจทก์เป็นคนดีน่าเชื่อถือ กับได้รับคำแนะนำจากนายจ้างของโจทก์ว่าโจทก์เป็นผู้ที่ไว้วางใจได้น่าเชื่อถือ อันแสดงว่าจำเลยได้พิจารณาเพียงคุณสมบัติของตัวโจทก์ดังกล่าวก่อนที่จะให้โจทก์เป็นผู้ซื้อและถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแทนจำเลย โดยไม่เบิกความถึงความสัมพันธ์ที่จำเลยอยู่กินกับโจทก์เป็นภริยาของจำเลยอีกคนหนึ่งด้วย ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโจทก์อันเป็นกรณีพิเศษไปจากบุคคลอื่นๆ และย่อมเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่ศาลในคดีก่อนจะได้นำไปพิจารณาประกอบกับพยานหลักฐานอื่น ๆ เพื่อวินิจฉัยให้มีผลคดีที่ถูกต้องและเป็นธรรม จึงเป็นการเบิกความโดยปิดบังข้อสำคัญแห่งคดี เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 177 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21196/2556
คดีก่อนที่จำเลยทั้งสองฟ้องขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินของเจ้ามรดก มีประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิอยู่ในที่ดินของจำเลยทั้งสองหรือไม่ การที่โจทก์อยู่ในที่ดินโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาจะซื้อขายที่ทำไว้กับเจ้ามรดกเป็นการอยู่โดยอาศัยสิทธิของเจ้ามรดก เมื่อจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทผู้รับโอนมรดกต่อมาไม่ประสงค์ให้โจทก์อยู่ต่อไป โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินอีก สัญญาจะซื้อขายที่ดินนั้นจึงไม่ใช่ข้อสำคัญอันจะมีผลให้แพ้ชนะในคดี การที่จำเลยที่ 2 ไม่เบิกความถึงสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ

ในคดีฟ้องขับไล่ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องบอกกล่าวก่อนฟ้อง การบอกกล่าวจึงไม่ใช่ข้อสำคัญในคดี การที่จำเลยที่ 2 เบิกความแตกต่างจากที่พนักงานสอบสวนบันทึกไว้ จึงไม่เป็นความผิดฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1564/2557
แม้โดยสภาพของการสั่งจองพระเครื่อง ต้องมีการกรอกข้อความเกี่ยวกับชื่อและที่อยู่ของผู้สั่งจอง จำนวนพระเครื่องและจำนวนเงินที่สั่งจอง มอบต้นฉบับให้ผู้สั่งจองและเก็บคู่ฉบับเพื่อส่งมอบแก่ผู้จัดสร้างดังที่โจทก์ฎีกา แต่เมื่อใบสั่งจองดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดสิทธิหรือหน้าที่ประการใดแก่โจทก์ร่วม แม้จำเลยไม่คืนต้นฉบับและคู่ฉบับใบสั่งจองดังกล่าวให้โจทก์ร่วม จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานเอาไปเสีย ซ่อนเร้น ทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารของผู้อื่น โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ตามป.อ. มาตรา 188

ใบสั่งจองที่ยังไม่ได้มีการกรอกข้อความใด ๆ เพื่อให้เป็นหลักฐานในการสั่งจองพระเครื่องที่โจทก์ร่วมเป็นผู้จัดสร้าง มิใช่เอกสารตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 1 (7) แม้จำเลยไม่คืนให้โจทก์ร่วม จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานเอาไปเสีย ซ่อนเร้น ทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารของผู้อื่น โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21183/2556
การที่จำเลยแอบอ้างขอสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจากผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 15 โดยอ้างว่าจะนำไปเข้าร่วมโครงการต่อต้านยาเสพติดให้โทษ แต่กลับนำไปใช้เป็นเอกสารยื่นคำขอและทำสัญญาเช่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับผู้เสียหายที่ 16 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 188 และ 341

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11337/2556
การที่จำเลยเบิกความเท็จสองครั้งในคดีเดียวกันคือชั้นไต่สวนมูลฟ้องครั้งหนึ่งกับชั้นพิจารณาอีกครั้งหนึ่งเป็นเพียงการนำสาระสำคัญของข้อความในเรื่องเดียวกันมูลเหตุเดียวกันมากล่าวซ้ำตามครรลองของเรื่องโดยมีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวคือให้โจทก์ต้องรับโทษทางอาญาในคดีนั้นเท่านั้น แม้จะเป็นการเบิกความคนละคราวคนละวาระกัน การกระทำของจำเลยก็เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8928/2556
ในคดีที่บริษัท อ. ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานหมิ่นประมาท บริษัท อ. บรรยายฟ้องว่า โจทก์กล่าวหา บริษัท อ. ยื่นเอกสารอันเป็นเท็จเพื่อให้คณะกรรมการฯ เข้าใจเบื้องต้นว่าผลิตภัณฑ์ที่เสนอมีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศ ทั้งที่ขาดคุณสมบัติและไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดหาครุภัณฑ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 จนเป็นเหตุให้คณะกรรมการฯ ตัดสินว่า ครุภัณฑ์ที่นำเสนอมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามที่สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนด ซึ่งรายละเอียดดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่ประการใด คณะกรรมการฯ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไม่ได้สั่งการเช่นนั้น และไม่เคยมีคณะกรรมการทั้งของเขตการศึกษาและผู้อำนวยการโรงเรียน ศ. เรียกโจทก์หรือตัวแทนโจทก์เข้าไปชี้แจงรายละเอียดแต่ประการใด การกระทำดังกล่าวของโจทก์เป็นการเต้าข่าวเป็นเท็จประสงค์ต่อผลทำให้บริษัท อ. ได้รับความเสียหายโดยตรง เป็นการใส่ร้ายใส่ความบริษัท อ. ต่อบุคคลที่ 3 อันมีเจตนาทุจริตจงใจทำให้บุคคลภายนอกเห็นว่า ผลิตภัณฑ์ของบริษัท อ. ไม่มีคุณภาพ ซึ่งไม่เป็นความจริง ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ดังนั้น ข้อสำคัญในคดีจึงมีว่า คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือคณะกรรมการสอบราคาของโรงเรียนบางเขตพื้นที่การศึกษาได้ตรวจสอบรายละเอียดของเอกสารและผลิตภัณฑ์ที่บริษัท อ. เสนอ และได้มีการเชิญตัวแทนของบริษัทดังกล่าวมาชี้แจงให้ถ้อยคำจนเป็นที่ประจักษ์ว่าบริษัท อ. ยื่นเอกสารอันเป็นเท็จเพื่อให้คณะกรรมการฯ เข้าใจเป็นเบื้องต้นว่าผลิตภัณฑ์ที่เสนอมีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศ ทั้งที่ขาดคุณสมบัติอันเป็นเหตุให้บริษัท อ. เสื่อมเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือไม่ การที่จำเลยในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท อ. และในฐานะทนายความโจทก์ เบิกความแต่เพียงว่า บริษัท อ. มีคุณลักษณะครบถ้วนตามที่คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด จึงได้ซื้อซองประกวดราคา จึงเป็นการเบิกความในภาพรวม ๆ มิได้ระบุเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับซอพต์แวร์หรือผลิตภัณฑ์ตามที่ระบุในเกณฑ์คุณลักษณะซอพต์แวร์สื่อการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ข้อที่ 9 และข้อที่ 10 แต่ประการใด ทั้งยังเป็นการเบิกความถึงขั้นตอนของการซื้อซองประกวดราคาเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งเป็นมูลแห่งคดีและแตกต่างจากผลคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเท่านั้น คำเบิกความของจำเลยจึงไม่ใช่ข้อสำคัญในคดี แม้คำเบิกความของจำเลยจะเป็นเท็จก็ไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จในคดีอาญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3628/2556
เมื่อจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอมแล้ว จำเลยก็ต้องปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม จะอ้างเหตุดังที่จำเลยนำสืบมาบ่ายเบี่ยงหรือหน่วงเหนี่ยวมิให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามยอมโดยที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งที่ทำยอมมิได้ตกลงด้วยหาได้ไม่ การที่จำเลยกระทำการเกี่ยวกับทรัพย์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ทำให้ยุ่งยากแก่การบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามยอม จึงเป็นการเพื่อจะมิให้การเป็นไปตามคำพิพากษาตามยอมของศาลทำให้เสียหายซึ่งทรัพย์ที่จำเลยรู้ว่าน่าจะถูกยึดหรืออายัด อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 187

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2909/2556
ความผิดฐานฟ้องเท็จ ฟ้องโจทก์บรรยายว่าเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2557 เวลากลางวันจำเลยเอาความเท็จฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาต่อศาลแขวงอุบลราชธานี โดยจำเลยบรรยายฟ้องว่าเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2543 โจทก์ปลอมสัญญากู้เงินของ ส. และ อ. ที่ทำสัญญากู้เงินไว้กับกลุ่มออมทรัพย์บ้านหนองบัวแดง และเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2543 ปลอมเอกสารดังกล่าวจากเดือนมีนาคมเป็นเดือนเมษายนทั้งสองฉบับ ด้วยเจตนาทุจริตเบียดบังเอาเงินของกลุ่มออมทรัพย์บ้านหนองบัวแดงไปเป็นประโยชน์ของตน จำเลยทราบข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดหรือปลอมเอกสารดังกล่าวตามที่จำเลยฟ้อง แต่ยังกลั่นแกล้งนำความเท็จมาฟ้องต่อศาลเพื่อต้องการให้โจทก์ได้รับโทษโดยโจทก์แนบสำเนาคำฟ้องคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์กับสำเนาบันทึกการสอบสวนข้อเท็จจริงที่แสดงว่าโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดมาท้ายคำฟ้องด้วย ถือได้ว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าคำฟ้องของจำเลยเป็นเท็จและความจริงโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร ส่วนความผิดฐานเบิกความเท็จ ฟ้องโจทก์บรรยายถึงคำเบิกความของจำเลยที่เป็นเท็จและบรรยายว่าความเท็จดังกล่าวเป็นข้อสำคัญในการพิจารณาคดีอาญา ซึ่งความจริงโจทก์ไม่ได้ปลอมเอกสารตามที่จำเลยเบิกความ หากศาลเชื่อว่าโจทก์กระทำความผิดจริงก็จะทำให้โจทก์ถูกพิพากษาลงโทษโดยโจทก์แนบคำเบิกความของจำเลยตามสำเนาคำให้การและสำเนาคำพิพากษาคดีก่อนมาท้ายคำฟ้อง ถือว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องเป็นการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์ทั้งสองข้อหาชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20377/2555
การที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันเก็บกวาดเศษกระจก และเศษชิ้นส่วนของรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ตายขับเฉี่ยวชนกับรถไถนาที่จำเลยที่ 1 ขับ ซึ่งตกอยู่ในที่เกิดเหตุ และจำเลยที่ 2 นำรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ตายขับซึ่งล้มอยู่ในที่เกิดเหตุไปทิ้งลงในคลองชลประทาน เป็นการกระทำด้วยเจตนาอันเดียวกัน คือ เพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 มิให้ต้องรับโทษ และเป็นการกระทำในคราวเดียวกัน ต่อเนื่องกัน การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันเพื่อจะช่วยเหลือผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษ ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 184 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเรื่องดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 4 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19980/2555
ความผิดฐานฟ้องเท็จและเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญา โจทก์ต้องบรรยายฟ้องถึงข้อความที่อ้างว่าเป็นเท็จ โดยมีความจริงว่าอย่างไรและผู้กระทำทราบว่าความที่นำไปฟ้องและเบิกความเป็นเท็จด้วย ที่โจทก์กล่าวบรรยายฟ้องว่า การที่ ว. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 250/2548 ของศาลชั้นต้น โจทก์เพียงบรรยายและเรียงคำฟ้องในฐานะทนายความที่รับคำบอกเล่ามาจาก ว. ซึ่งเป็นลูกความ ข้อความที่ปรากฏในคำฟ้องจะเป็นความเท็จหรือความจริงโจทก์ย่อมไม่มีโอกาสทราบได้ หากในเวลาภายหน้าความปรากฏว่า คำฟ้องเป็นความเท็จผู้ที่จะต้องรับผิดชอบคือ ว. ไม่ใช่โจทก์นั้น เป็นเพียงการอ้างผลของคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 310/2548 หมายเลขแดงที่ 895/2549 ของศาลชั้นต้น ว่าศาลในคดีดังกล่าววินิจฉัยชี้ขาดคดีว่าอย่างไรเท่านั้น มิใช่เป็นการกล่าวยืนยันข้อความใดที่อ้างว่าเป็นความเท็จ โดยความจริงมีว่าอย่างไรแต่อย่างใด

ส่วนที่โจทก์กล่าวว่า โจทก์ทำหน้าที่เพียงเป็นทนายความที่รับคำบอกเล่ามาจาก ว. ตัวความซึ่งจำเลยทั้งสองทราบดี แต่การเป็นทนายความผู้เรียงคำฟ้องก็อาจเป็นตัวการร่วมกับตัวความกระทำความผิดฐานฟ้องเท็จได้ หากทนายความกระทำไปโดยรู้เห็นหรือร่วมกับตัวความวางแผนเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นมาตั้งแต่ต้น โจทก์จึงต้องบรรยายฟ้องยืนยันข้อเท็จจริงที่เป็นความจริงด้วยว่า ความจริงจำเลยทั้งสองทราบเป็นอย่างดีว่า โจทก์มิได้รู้เห็นหรือทราบมาก่อนว่าเรื่องราวตามที่โจทก์บรรยายและเรียงคำฟ้องในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 250/2548 ของศาลชั้นต้น เป็นความเท็จ ลำพังการอ้างว่า โจทก์บรรยายและเรียงคำฟ้องในฐานะทนายความ จึงมิใช่เป็นการกล่าวถึงข้อความที่อ้างว่าเป็นเท็จนั้นเช่นไร โดยมีความจริงเป็นอย่างไรและจำเลยทั้งสองทราบดีเช่นเดียวกัน ถือว่าฟ้องโจทก์มิได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายของจำเลยทั้งสองที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 ฟ้องเท็จและจำเลยทั้งสองเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) คดีไม่มีมูลความผิดตาม ป.อ. มาตรา 175 และ 177 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19706/2555
จำเลยไม่ได้ยืนยันว่าโจทก์ร่วมทุจริต เพียงแต่สงสัยในพฤติการณ์ของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้พิพากษาในคดีที่จำเลยถูกผู้อื่นฟ้องที่มีคำสั่งให้งดชี้สองสถานกับงดสืบพยานในคดีนั้น แม้ว่าเป็นอำนาจและดุลพินิจของโจทก์ร่วม แต่ก็เป็นการใช้ดุลพินิจและอำนาจที่คลาดเคลื่อน เพราะหลังจากนั้นศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งโจทก์ร่วมเป็นองค์คณะ และย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นทำการสืบพยานโจทก์และจำเลย และที่โจทก์ร่วมสั่งไม่รับอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ก็มีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงไว้แล้ว นอกจากนี้จำเลยยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2554 เวลา 10.50 นาฬิกา แต่โจทก์ร่วมไม่ได้สั่งอุทธรณ์ในวันดังกล่าว ต่อมาโจทก์ร่วมสั่งรับอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยประทับตรายางวันเดือนปี คือ เมษายน 2554 แต่มีการลบวันที่ซึ่งน่าจะเป็นวันที่ 27 และเขียนด้วยลายมือโจทก์ร่วมเป็นวันที่ 30 การที่จำเลยไปพบ ส. ซึ่งรับราชการในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 ที่โจทก์ร่วมรับราชการอยู่ในเขตอำนาจเพียงประสงค์จะให้ ส. ดูแลผู้พิพากษาในภาคให้มากกว่านี้ ไม่ได้ไปพบในลักษณะที่ว่าจะให้ตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์ร่วม แม้ตามบันทึกเรื่องราวที่จำเลยมอบให้ ส. จะมีข้อความเกินเลยไปบ้าง แต่ก็มีลักษณะเป็นการปรับทุกข์และระบายความทุกข์กับ ส. ที่ดูแลผู้พิพากษาภายในภาค 7 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ และดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดีตาม ป.อ. มาตรา 136 และ 198

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18211/2555
ความผิดฐานเบิกความเท็จและนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 177 และมาตรา 180 นั้น มีองค์ประกอบความผิดสำคัญประการหนึ่งว่า คำเบิกความและพยานหลักฐานอันเป็นเท็จจะต้องเป็นข้อสำคัญในคดีที่เบิกความหรือนำสืบด้วย ดังนั้นประเด็นสำคัญในคดีมีว่าอย่างไร คำเบิกความและพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสามเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร จึงเป็นสาระสำคัญอันเป็นองค์ประกอบของความผิดที่โจทก์จะต้องบรรยายไว้ให้ชัดแจ้งในฟ้อง แต่คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันเบิกความเท็จต่อศาลและนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ร.57/2547 ของศาลชั้นต้น เรื่องร้องขัดทรัพย์ และบรรยายรายละเอียดที่จำเลยทั้งสามเบิกความอันเป็นเท็จและนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ พร้อมกับความเป็นจริงว่าอย่างไร ทั้งคำเบิกความและการนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า ในคดีดังกล่าวประเด็นและข้อความที่เป็นเท็จและการนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จเป็นข้อสำคัญในคดีนั้นอย่างไร จึงเป็นฟ้องที่ไม่ได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งสามเข้าใจข้อหาได้ดี แม้โจทก์แนบเอกสารท้ายฟ้อง สำเนาภาพถ่ายคำเบิกความของจำเลยทั้งสาม สำเนาภาพถ่ายบัญชีทรัพย์ สำเนาภาพถ่ายสัญญาซื้อขาย สำเนาภาพถ่ายบัญชียึดทรัพย์ สำเนาภาพถ่ายคำร้องขัดทรัพย์ และสำเนาภาพถ่ายคำพิพากษาในคดีดังกล่าวมาท้ายฟ้องซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาเอกสารเหล่านั้นประกอบแล้วก็มิได้แสดงให้เห็นข้อสำคัญในคดีก่อนแต่ประการใด ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18652 - 18653/2555
จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วม ทำใบส่งชุบนอต สกรู และแหวนอีแปะต่าง ๆ ของโจทก์ร่วมไปยังโรงชุบ ฮ. ของ ณ. และจากนั้นแจ้งข้อความอันเป็นเท็จว่า สินค้าบางส่วนจำเลยที่ 1 ซื้อจากโจทก์ร่วมแล้ว เป็นเหตุให้ ณ. หลงเชื่อนำสินค้าบางส่วนดังกล่าวไปส่งมอบให้แก่จำเลยทั้งสี่หรือยอมให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มารับสินค้าบางส่วนของโจทก์ร่วมไปจาก ณ. การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง

เอกสารที่จำเลยที่ 1 ลักไปจากโจทก์ร่วมเป็นแบบฟอร์มใบกำกับภาษี/ใบส่งสินค้าที่ยังไม่มีข้อความ ไม่เป็นเอกสาร คงเป็นแบบพิมพ์ที่ยังไม่กรอกข้อความ จึงมีสภาพเป็นทรัพย์ธรรมดา ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188

การปลอมใบกำกับภาษี/ใบส่งสินค้าแต่ละฉบับระบุวันเดือนปี และสินค้าแตกต่างจากกันเป็นการกระทำให้เห็นถึงการแยกเจตนาของจำเลยที่ 1 ที่จะให้เกิดผลแตกต่างกัน แม้บางฉบับจะระบุทำในวันเดียวกันก็หาทำให้เป็นกรรมเดียวกันแต่อย่างใดไม่ ถ้าจำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะทำผิดเพียงกรรมเดียวก็สามารถทำเพียงฉบับเดียวได้ จึงเป็นข้อสนับสนุนให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ 1 ที่จะแยกการกระทำต่างหากจากกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13657/2555
ตามคำบรรยายฟ้องโจทก์เพียงแต่กล่าวว่าจำเลยเบิกความในคดีอาญาหมายเลขใด ระหว่างผู้ใดโจทก์ ผู้ใดจำเลย และข้อความที่จำเลยเบิกความกับว่าความจริงเป็นอย่างไร ซึ่งแม้จะเข้าใจได้ว่าคดีที่จำเลยเบิกความได้กระทำในการพิจารณาคดีอาญาและโจทก์ได้กล่าวมาในฟ้องว่า ข้อความที่จำเลยเบิกความเป็นข้อสำคัญในคดีก็ตาม แต่เมื่อโจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้องว่า คำเบิกความของจำเลยเป็นข้อสำคัญในคดีอาญาอย่างไร แม้โจทก์ทั้งสองแนบสำเนาคำฟ้องคดีอาญาดังกล่าวมาท้ายฟ้อง แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดที่ปรากฏในสำเนาคำฟ้องดังกล่าว ซึ่งได้ความว่าเป็นคดีที่มีการกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสามในคดีดังกล่าวแจ้งความเท็จต่อพนักงานสอบสวนว่า รายงานการประชุมของบริษัท พ. เป็นเอกสารที่แท้จริง ซึ่งความจริงเป็นเอกสารปลอม และกล่าวหาว่าโจทก์ในคดีดังกล่าวร่วมกับพวกลักทรัพย์หรือรับของโจรแล้ว ก็ยังไม่ได้ความว่า คำเบิกความของจำเลยตามที่โจทก์กล่าวในฟ้องเป็นข้อสำคัญในคดีดังกล่าวแต่อย่างใด ถือว่าฟ้องโจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิดมาโดยครบถ้วนไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) และยังเป็นฟ้องที่บรรยายไม่ครบองค์ประกอบของความผิดตามบทมาตราในกฎหมายที่ขอให้ลงโทษจำเลยด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11986/2555
ความผิดฐานฟ้องเท็จ กฎหมายมิเพียงแต่จะคุ้มครองสิทธิของคู่ความในคดี แต่ยังมุ่งคุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดีของศาลอีกด้วย เพื่อให้ศาลสามารถวินิจฉัยคดีได้อย่างถูกต้องเที่ยงธรรม อันเป็นความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ซึ่งเป็นความผิดต่อรัฐ และอาจทำให้โจทก์ได้รับความเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงและเสรีภาพ พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10942/2555
พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้งควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม การกระทำใดที่เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จึงมีผลกระทบโดยตรงต่อการเลือกตั้งและผู้สมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น มิได้มีผลต่อบุคคลภายนอก ประกอบกับมาตรา 135 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว ยังบัญญัติว่า "ในกรณีที่ปรากฏว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เกิดขึ้นในเขตเลือกตั้งใด ให้ถือว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือผู้สมัครในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา" เมื่อโจทก์มิใช่คณะกรรมการการเลือกตั้งและมิใช่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง โจทก์จึงไม่เป็นผู้เสียหายตามที่กฎหมายบัญญัติรับรองไว้อีกด้วย ส่วนที่การกระทำของจำเลยอาจทำให้โจทก์ต้องรับโทษทางอาญาและถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โจทก์ก็เป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 137, 174 ได้อยู่แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10611/2555
แม้การที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งกำหนดมาตรการและวิธีการคุ้มครองบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 66 ประกอบระเบียบของที่ประชุมใหญ่ในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ข้อ 77 ที่กำหนดให้นำความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งลักษณะ 1 ของภาค 4 วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้ เป็นการกระทำตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งอันเกี่ยวด้วยคดีซึ่งศาลได้กระทำต่อคู่ความฝ่ายหนึ่งและเป็นกระบวนพิจารณาก่อนที่ศาลชี้ขาดตัดสินคดี อันเป็นการพิจารณาคดีของศาลตามความหมายของคำว่า กระบวนพิจารณา และการพิจารณา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (7) และ (8) ก็ตาม แต่ก็แยกพิจารณาได้เป็นอีกส่วนหนึ่งจากการพิจารณาพิพากษาในเนื้อหาแห่งคดีที่ฟ้องร้องกัน ทั้งกระบวนพิจารณาของศาลปกครองกลางในการออกคำสั่งดังกล่าวก็ได้เสร็จสิ้นไปแล้ว คงเหลือแต่ผลบังคับถึงจำเลยที่ 2 ให้ต้องปฏิบัติตามเป็นการชั่วคราวก่อนที่คดีที่ฟ้องร้องกันนั้นจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด หากจำเลยที่ 2 ซึ่งทราบคำสั่งแล้วไม่ปฏิบัติตาม กระบวนพิจารณาที่เสร็จสิ้นไปแล้วก็ไม่อาจถูกขัดขวางทำให้ไม่สะดวกหรือต้องติดขัดจากการกระทำดังกล่าวไปได้ ทั้งการพิจารณาพิพากษาในเนื้อหาแห่งคดีที่ฟ้องร้องกันก็ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้เป็นอีกส่วนหนึ่ง การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวจึงไม่เป็นการขัดขวางการพิจารณาหรือพิพากษาของศาลอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 198

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10278/2555
จำเลยลากศพผู้ตายไปไว้ที่ถนนสาธารณะหน้าบ้านห่างออกไปประมาณ 30 เมตร แม้บริเวณนั้นไม่อาจปิดบังการตายได้ ก็เป็นการกระทำเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตายและเพื่ออำพรางการกระทำความผิดของตนด้วย ประกอบกับจำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานนี้มาตั้งแต่ต้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเคลื่อนย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย และเพื่ออำพรางคดีตาม ป.อ. มาตรา 199

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9127/2554
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเบิกความเท็จและแสดงพยานหลักฐานเท็จในคดีก่อนที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยกับพวก เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีก่อนโดยโจทก์ฟ้องจำเลยกับพวกในฐานะผู้รับมอบอำนาจจาก ช. ให้ดำเนินคดีแทน และคำฟ้องคดีนี้มิได้กล่าวว่าโจทก์มีส่วนได้เสียหรือมีสิทธิในบ้านพิพาทอย่างไร แม้สำเนาคำฟ้องคดีก่อนระบุว่าโจทก์ทำสัญญาซื้อบ้านพิพาทจาก ช. แต่ก็ปรากฏตามคำฟ้องดังกล่าวว่า โจทก์ยังมิได้จดทะเบียนตามกฎหมาย ทั้งโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าขณะฟ้องคดีนี้โจทก์ได้จดทะเบียนการซื้อขายบ้านพิพาทต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว และโจทก์ยังเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยถามค้านว่า บ้านพิพาทยังคงเป็นของ ช. จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทแล้ว ดังนี้ โจทก์จึงไม่ได้รับผลกระทบกระเทือนเสื่อมเสียกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาท จึงมิใช่ผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดของจำเลยโดยตรงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) อันจะมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7295/2554
จำเลยปลอมใบถอนเงินของธนาคารโจทก์ร่วมโดยเขียนข้อความและลงลายมือชื่อปลอมของผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อเบิกถอนเงินมอบฉันทะให้จำเลยเป็นผู้เบิกถอนเงิน รับเงิน และรับสมุดบัญชีเงินฝาก แล้วจำเลยใช้และอ้างใบถอนเงินปลอมแก่พนักงานโจทก์ร่วม จนพนักงานโจทก์ร่วมหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารสิทธิที่แท้จริง เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมต้องจ่ายเงินตามใบถอนเงินปลอมให้แก่จำเลย โจทก์ร่วมจึงเป็นบุคคลที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) และมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 และย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง

พฤติการณ์ของจำเลยที่ลักและเอาไปเสียซึ่งสมุดบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายแล้วปลอมใบถอนเงินของธนาคารโจทก์ร่วมเอาไปแสดงต่อพนักงานของโจทก์ร่วมเพื่อขอเบิกถอนเงิน เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อให้ได้เงินจากธนาคารโจทก์ร่วมเป็นหลัก จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7250/2554
โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยที่ 1 เบิกความว่าอย่างไรและความจริงเป็นอย่างไร แล้วบรรยายฟ้องต่อไปถึงการกระทำต่างๆ ของจำเลยแล้วสรุปว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการเบิกความโดยรู้อยู่ว่าเป็นเท็จและเป็นข้อสาระสำคัญในการพิจารณาคดีอาญาของศาลชั้นต้น การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเพื่อให้ศาลเชื่อตามคำเบิกความของจำเลยที่ 2 อันเป็นข้อสาระสำคัญของคดี โดยโจทก์ไม่บรรยายให้เห็นว่า ในคดีอาญาดังกล่าว ประเด็นและข้อความที่เป็นเท็จเป็นข้อสำคัญในคดีนั้นอย่างไร เช่นนี้ ศาลย่อมไม่อาจพิเคราะห์ได้ว่าคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ตามฟ้องโจทก์เป็นข้อสำคัญในการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาหรือไม่ จึงเป็นฟ้องที่ไม่ได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำผิดฐานร่วมกันเบิกความเท็จและนำสืบอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาล พอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4946/2554
แม้จำเลยบรรยายฟ้องว่าโจทก์ทั้งสิบสองร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลว่า เอาความอันเป็นเท็จฟ้องจำเลยต่อศาล แต่ความจริงเป็นกรณีที่สมาคม ย. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าโจทก์ทั้งสิบสองกระทำการในฐานะกรรมการอำนวยการซึ่งเป็นผู้แทนของสมาคมที่เป็นนิติบุคคลและเป็นผู้มีอำนาจดำเนินกิจการของสมาคม ย. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 และ 86 ประกอบกับธรรมนูญและข้อบังคับของสมาคมกำหนดให้คณะกรรมการอำนวยการของสมาคม ทำหน้าที่บริหารงานของสมาคม ทั้งในขณะที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 11 ทำหนังสือมอบให้โจทก์ที่ 12 ฟ้องจำเลยดังกล่าว โจทก์ที่ 1 เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งนายกสมาคม ย. โดยคณะกรรมการอำนวยการมีมติให้โจทก์ที่ 1 มีอำนาจในการสั่งการและลงนามในเอกสารใดๆ เสมือนเป็นนายกสมาคมทุกประการ ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสิบสองเป็นตัวการร่วมกับสมาคม ย. ฟ้องจำเลยด้วย จำเลยจึงมีอำนาจฟ้องโจทก์ทั้งสิบสองเป็นคดีอาญาดังกล่าวได้ ที่จำเลยฟ้องโจทก์ทั้งสิบสองเป็นคดีดังกล่าวจึงไม่เป็นฟ้องเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1424/2554
จำเลยทราบว่าลายมือชื่อที่จำเลยอ้างว่าปลอม ความจริงเป็นลายมือชื่อของจำเลยซึ่งลงชื่อไว้ มิใช่ลายมือชื่อปลอม การที่จำเลยแจ้งว่ามีการปลอมลายมือชื่อจึงเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดทางอาญาแก่พนักงานสอบสวนโดยรู้อยู่แล้วว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 173 และเมื่อจำเลยเอาความเป็นเท็จฟ้องโจทก์ต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญา การกระทำของจำเลยจึงเป็นการฟ้องเท็จอันเป็นความผิดตามมาตรา 175 อีกกระทงหนึ่ง ส่วนความผิดตามมาตรา 174 วรรคสอง ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยแจ้งความเท็จเพื่อจะแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษ จำเลยมิได้ยืนยันว่าผู้ที่ปลอมเอกสารคือโจทก์ โดยจำเลยแจ้งความเพียงว่าจำเลยสงสัยโจทก์ ยังไม่พอฟังว่าจำเลยมีเจตนาแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษ ไม่อาจเป็นความผิดตามมาตรานี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15232/2553
จำเลยเอาความอันเป็นเท็จมาฟ้องโจทก์เป็นจำเลยที่ 1 และนาง ป. เป็นจำเลยที่ 2 แต่ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำเลยยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นอนุญาต ดังนั้น เมื่อจำเลยเอาความเท็จมาฟ้องคดีโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายและความผิดของจำเลยย่อมเกิดขึ้นทันทีที่จำเลยฟ้องคดี แม้จำเลยที่ 2 ในคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์จะให้การรับสารภาพก็หาใช่ว่าโจทก์มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 อันมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยดังข้อฎีกาของจำเลยไม่

บทบัญญัติตาม ป.อ. มาตรา 176 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการบรรเทาโทษให้แก่ผู้กระทำความผิด ดังนั้น เมื่อจำเลยถอนฟ้องในคดีอาญาที่เอาความอันเป็นเท็จฟ้องโจทก์ก่อนมีคำพิพากษาย่อมถือได้ว่าจำเลยได้ลุแก่โทษต่อศาลแล้ว ควรได้รับการบรรเทาโทษตามบทบัญญัตินั้น ทั้งกฎหมายหาได้บัญญัติว่าจำเลยต้องให้การรับสารภาพจึงจะได้รับการบรรเทาโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13537/2553
จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจหน้าที่ทำการสืบสวนคดีอาญา เมื่อสืบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานจนทราบรายละเอียดแห่งความผิดแล้วว่าโจทก์อยู่ในฐานะผู้ต้องสงสัยหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าน้ำมันเถื่อน จำเลยที่ 3 ย่อมมีอำนาจกล่าวโทษได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (8) 17, 18, 125 และ 127 และเมื่อจำเลยที่ 3 ได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานสืบสวนสอบสวนของคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนผู้รับผิดชอบ จำเลยที่ 3 ย่อมมีอำนาจสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหาและเพื่อพิสูจน์ให้เห็นความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121,130 และ 131 ซึ่งลักษณะความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรและฐานฟอกเงินที่กล่าวหา บัญชีเงินฝากของโจทก์ย่อมเป็นหลักฐานอันเกี่ยวกับการกระทำความผิดอย่างหนึ่งที่อาจพิสูจน์ให้เห็นความผิดตามที่กล่าวหาได้ จำเลยที่ 3 จึงมีอำนาจยึดหรืออายัดเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ไว้ตรวจสอบเพื่อประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 85 วรรคสาม และ 132 อันเป็นการดำเนินการทางอาญาในความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรและฐานฟอกเงินตามอำนาจหน้าที่ของคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนผู้รับผิดชอบ

การดำเนินคดีส่วนแพ่งตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่แก่คณะกรรมการธุรกรรม โดยจำเลยที่ 1 ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและเป็นประธานกรรมการธุรกรรมตามกฎหมายในขณะนั้นไว้เป็นขั้นตอนตั้งแต่มาตรการยับยั้งการทำธุรกรรมทางการเงินไปจนถึงการให้อำนาจตรวจสอบ สืบสวนสอบสวนและส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดินได้ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากร โดยค้าน้ำมันเถื่อนตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (7) อันเป็นความผิดฐานฟอกเงิน จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้บังคับการ กองตำรวจน้ำมีหน้าที่โดยตรงในการตรวจจับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบค้าน้ำมันเถื่อนย่อมมีอำนาจสืบสวนและรายงานข้อมูลของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบค้าน้ำมันเถื่อนไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินซึ่งมีจำเลยที่ 1 เป็นเลขาธิการและเป็นประธานกรรมการธุรกรรมมีอำนาจหน้าที่โดยตรง เมื่อคณะกรรมการธุรกรรมเห็นว่ามีพยานหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าธุรกรรมใดของโจทก์เกี่ยวข้องหรืออาจเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน จำเลยที่ 1 โดยมติที่ประชุมของคณะกรรมการธุรกรรมย่อมมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือยับยั้งการทำธุรกรรมทางการเงินของโจทก์ไว้เป็นการชั่วคราวได้ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 36

เมื่อจำเลยที่ 3 ได้ทำการสืบสวน กล่าวโทษและรายงานข้อมูลการทำธุรกรรมของโจทก์มีพยานหลักฐานอ้างจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแสดงลำดับการดำเนินการมาสนับสนุนได้ชัดเจนถึงเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นจริงและโจทก์มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ทั้งทางไต่สวนของโจทก์ไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่อาจชี้ได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 รู้หรือควรรู้ว่าข้อมูลที่ได้รับมานั้นเป็นความเท็จหรือโจทก์มิได้กระทำความผิดหรือเป็นการแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้นหรือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือโดยทุจริตดังที่โจทก์กล่าวอ้าง การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงไม่มีมูลความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137, 157, 172, 173 และ 174

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12795/2553
แม้ในฟ้องข้อ (ก) โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันเบียดบังเอาเงินของผู้เสียหายไป ต่างวันต่างเวลากัน รวม 262 ครั้ง และฟ้องข้อ (ข) โจทก์บรรยายรวมกันมาว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน และบรรยายฟ้องต่อไปว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสียหรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารบันทึกการขายสินค้าประจำวัน (กระดาษเจอร์นอล) ของผู้เสียหาย จำนวน 262 แผ่น ต่างวันต่างเวลากัน จำนวน 262 ครั้ง ก็ตาม แต่โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับวันเวลากระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่ในข้อ (ก) และข้อ (ข) ว่า เมื่อระหว่างวันที่ 13 สิงหาคม 2547 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2548 เวลากลางคืนหลังเที่ยง โดยมิได้ระบุว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันยักยอกและเอาไปเสียซึ่งเอกสารในแต่ละครั้ง วันเวลาใดให้ชัดแจ้ง ส่วนวันเวลาที่โจทก์อ้างตามเอกสารท้ายฟ้องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องนั้น เป็นเพียงวันเวลาที่แสดงว่าโจทก์ร่วมตรวจพบการทุจริตของพนักงานเก็บเงินในบริษัทโจทก์ร่วมเมื่อใด จะถือเอาวันเวลาตามเอกสารดังกล่าวมาประกอบกันเพื่อให้เข้าใจเอาเองว่ามีการกระทำผิดข้อหาร่วมกันยักยอกในแต่ละครั้งเกิดขึ้นตามวันเวลาดังกล่าวหาได้ไม่ จึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10959/2553
ผู้เสียหายว่าจ้างจำเลยให้ซ่อมและเปลี่ยนเครื่องยนต์รถยนต์รวมทั้งให้ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนหมายเลขเครื่องยนต์ จำเลยซื้อเครื่องยนต์จากบริษัท จ. โดยบริษัท จ. ออกเอกสารใบส่งของ/บิลเงินสด ใบกำกับภาษี กับหนังสือแจ้งจำหน่ายและการรับรองหลักฐานการส่งบัญชีรับและจำหน่ายเครื่องยนต์ ระบุชื่อผู้เสียหายเป็นผู้ซื้อ จำเลยนำเอกสารดังกล่าวไปให้บริษัท จ. แก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ซื้อเป็น ส. โดยผู้เสียหายไม่ยินยอมทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหายแม้ พ. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท จ. และเป็นผู้ทำเอกสารจะเป็นผู้แก้ไข แต่เมื่อการแก้ไขเกิดจากการแจ้งของจำเลยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เสียหาย ย่อมไม่มีอำนาจ เป็นการปลอมเอกสารโดยถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนี้ด้วยการใช้ พ. เป็นเครื่องมือ

ใบกำกับภาษีเป็นหลักฐานแสดงว่าผู้ขายได้เรียกเก็บภาษีจากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ซื้อเครื่องยนต์แล้ว บริษัท พ. ไม่มีสิทธิเรียกเก็บภาษีจากผู้เสียหายอีกจึงเป็นหลักฐานแห่งการระงับไปซึ่งสิทธิ เป็นเอกสารสิทธิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9941/2553
ตามพฤติการณ์ทั้งโจทก์ ศ. และ น. ต่างมีความประสงค์ที่จะหาเงินเพื่อมาลงทุนค้าขาย เมื่อโจทก์รับว่าจำเลยเป็นผู้ให้กู้ยืมเงิน การที่มีการผิดนัดชำระหนี้ในเวลาต่อมาไม่ว่าด้วยประการใดๆ ย่อมทำให้จำเลยในฐานะผู้ให้กู้ยืมเงินย่อมต้องเข้าใจว่าการที่ ศ. สั่งจ่ายเช็คซึ่งบัญชีปิดแล้วและลายมือชื่อไม่ตรงตามตัวอย่างที่ให้ไว้กับธนาคารเป็นผลทำให้โจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บเงินตามเช็คได้ ซึ่งเท่ากับมีผลทำให้จำเลยไม่ได้รับชำระหนี้เงินกู้ยืมจากโจทก์นั่นเอง บุคคลในสถานะเช่นจำเลยย่อมต้องเข้าใจโดยสุจริตว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ลงลายมือชื่อกู้ยืมเงินต้องมีส่วนรู้เห็นกับ ศ. ออกเช็คชำระหนี้ให้แก่จำเลย โดยมิพักต้องคำนึงว่าตัวโจทก์จะอยู่รู้เห็นในขณะที่ ศ. ออกเช็คนั้นหรือไม่ก็ตาม เมื่อ ศ. เป็นผู้ที่ติดต่อให้โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยเพื่อประโยชน์ของ น. บุตรโจทก์ที่จะหาเงินร่วมลงทุนค้าขายกับ ศ. และเช็คนั้นก็เป็นเช็คที่สั่งจ่ายตามจำนวนเท่ากับที่โจทก์กู้ยืม และลงวันที่เดียวกับวันครบกำหนดที่โจทก์ต้องชำระหนี้เงินกู้ยืมคืนให้แก่จำเลยเช่นนี้ เช็คฉบับดังกล่าวจึงเป็นเช็คที่ ศ. ได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายให้แก่จำเลยเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินของโจทก์ในอันที่จะได้เงินจากจำเลยไปมอบให้แก่ น. เพื่อร่วมลงทุนค้าขายกับ ศ. เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทำให้จำเลยไม่ได้รับเงินที่ให้กู้ยืมคืน การที่จำเลยเข้าใจว่าโจทก์รู้เห็นกับ ศ. ในการสั่งจ่ายเช็คดังกล่าวจึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ต้องเข้าใจเช่นนั้น ฉะนั้น การที่จำเลยฟ้องคดีอาญาต่อโจทก์และ ศ. กล่าวหาโจทก์และ ศ. ร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ จึงเป็นการฟ้องเพราะเข้าใจโดยสุจริตว่าโจทก์และ ศ. ร่วมกันหลอกลวงเอาเงิน 1,100,000 บาท ไปจากจำเลยแล้วไม่คืนให้ตามที่ตกลงกันโดยจำเลยเชื่อว่าตนมีสิทธิตามกฎหมายที่จะฟ้องคดีอาญาได้ การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนาที่จะทำให้เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จ เมื่อจำเลยไม่มีความผิดฐานฟ้องเท็จแล้ว การที่จำเลยเบิกความไปตามที่ฟ้องนั้นจึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9141/2553
ผู้เสียหายมอบอำนาจให้ ป. ไปดำเนินการออกโฉนดที่ดินแทนผู้เสียหายการที่จำเลยยึดหน่วงโฉนดที่ดินของผู้เสียหายไว้ สืบเนื่องมาจาก ป. กู้ยืมเงินจากจำเลยเพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการออกโฉนดให้แก่ผู้เสียหาย โดย ป. จะได้รับค่าจ้างเป็นการตอบแทนหลังจากได้รับโฉนดที่ดินแล้ว และ ป. นำโฉนดที่ดินให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกัน อีกทั้ง ป. มิได้เป็นญาติหรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องอันใดกับผู้เสียหายในการที่จะดำเนินการรังวัดออกโฉนดให้ผู้เสียหายโดยไม่คิดค่าตอบแทน และผู้เสียหายก็ยอมรับว่า ป. แจ้งว่านำโฉนดที่ดินไปให้ไว้กับจำเลย หากผู้เสียหายชำระเงินจำนวน 700,000 บาท จะนำโฉนดที่ดินมาคืนให้ และจำเลยยังได้โทรศัพท์มาหาผู้เสียหายให้ผู้เสียหายชำระเงินคืนให้ พฤติการณ์มีเหตุอันสมควรทำให้จำเลยเข้าใจว่า ป. มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายจากผู้เสียหาย เมื่อ ป. ตกลงให้จำเลยรับเงินจากผู้เสียหายแทนโดยมอบโฉนดที่ดินแก่ผู้เสียหายจนกว่าผู้เสียหายจะชำระค่าใช้จ่ายในการออกโฉนดที่ดินให้ก่อนนั้น จำเลยจึงขาดเจตนากระทำความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 188

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8611/2553
จำเลยรู้ว่ามิได้มีการกระทำผิดในข้อหาลักทรัพย์เกิดขึ้นแต่กลับไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนว่าได้มีการกระทำผิดในข้อหาลักทรัพย์อันเป็นเท็จเพื่อให้พนักงานสอบสวนเชื่อว่าได้มีความผิดข้อหาลักทรัพย์เกิดขึ้นเพื่อให้โจทก์ร่วมได้รับโทษ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137 มาตรา 174 วรรคสอง ประกอบมาตรา 173 จำเลยยังมีเจตนาแจ้งความเพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่โจทก์ร่วมอันเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมต่อบุคคลที่สามเพื่อให้โจทก์ร่วมถูกดูหมิ่น เกลียดชังและเสียชื่อเสียง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมอีกด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8902/2552
เมื่อโจทก์ร่วมมิได้ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินกับ บ. แต่จำเลยจัดให้ บ. และ ฝ. ลงชื่อในสัญญากู้ยืมเงินโดยปลอมลายมือชื่อโจทก์ร่วม จึงเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้ปลอมสัญญากู้ยืมเงิน การที่จำเลยยื่นฟ้องโจทก์ร่วมโดยระบุว่าโจทก์ร่วมออกเช็คชำระหนี้เงินกู้ยืมถึงกำหนดชำระและบังคับได้ตามกฎหมายจึงเป็นฟ้องเท็จ เพราะการกู้ยืมเงินไม่ได้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์ร่วม จึงไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ เมื่อจำเลยเบิกความยืนยันและอ้างส่งหนังสือสัญญากู้ยืมเงินปลอมเป็นพยานต่อศาล จึงเป็นความผิดฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8490/2552
การที่จำเลยกับพวกร่วมกันวางแผนโดยใช้โฉนดที่ดินพิพาทปลอมที่มีรอยตราปลอมประทับอยู่ ไปแลกเอาโฉนดที่ดินพิพาทฉบับจริงของผู้เสียหายมาอันเป็นการเอาไปเสียซึ่งเอกสารและลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย แล้วนำโฉนดที่ดินพิพาทฉบับจริงพร้อมหนังสือมอบอำนาจปลอมของผู้เสียหายไปใช้แสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดิน การกระทำทั้งหมดล้วนมีจุดประสงค์เพียงอย่างเดียว คือ การทำให้สามารถขายหรือขายฝากที่ดินพร้อมอาคารของผู้เสียหายเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6820/2552
การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งเอกสารบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัท บ. อันเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ และเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 1 (7) ซึ่งออกให้แก่ น. ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ น. และบริษัท บ. แล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามบทบัญญัติมาตรา 188

การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัท บ. ซึ่งออกให้แก่ น. แล้วใช้บัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวชำระค่าสินค้าแทนการชำระด้วยเงินสดอันเป็นความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสดโดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 269/5 และ มาตรา 269/7 รวม 3 ครั้ง เมื่อปรากฏว่าโจทก์ฟ้องจำเลยแยกออกเป็นข้อๆ และการกระทำตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาในแต่ละข้อต่างเป็นความผิดสำเร็จในตัวเองต่างกรรมต่างวาระ ทั้งทรัพย์ที่จำเลยได้จากการกระทำผิดก็เป็นทรัพย์คนละประเภทแตกต่างกัน เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาต่างกัน การกระทำของจำเลยฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารบัตรเครดิตกับฐานใช้บัตรเครดิตจึงเป็นความผิดหลายกรรมตาม ป.อ. มาตรา 91 และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องและคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่าจำเลยนำบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวไปใช้ชำระค่าสินค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ กล้องวีดีโอและกล้องถ่ายรูปดิจิทัลแทนการชำระด้วยเงินสดจำนวน 3 คราว การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นความผิด 3 กรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3063/2552
ในคดีความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมและความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ซึ่งผู้เสียหายถึงแก่ความตายด้วยโรคประจำตัว ผู้บุพการีไม่มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องหรือเข้าร่วมกับพนักงานอัยการเป็นโจทก์ ฟ้องแทนผู้เสียหาย เพราะไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของ ป.วิ.อ. มาตรา 3 (2) ประกอบมาตรา 5 (2) ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

จำเลยกับพวกร่วมกันนำเอาโฉนดที่ดินของผู้เสียหายและแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจ ที่มีเพียงลายมือชื่อของผู้เสียหายลงไว้ในช่องผู้มอบอำนาจไปโดยไม่ได้รับ อนุญาต แล้วนำไปกรอกข้อความว่าผู้เสียหายมอบอำนาจให้จำเลยยื่นขอจดทะเบียนโอนที่ดิน ของผู้เสียหายให้แก่จำเลยโดยเสน่หา เป็นการกระทำความผิดฐานทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารของผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 188 และเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 83 แต่การกระทำความผิดดังกล่าวก็เพื่อโอนที่ดินเป็นของจำเลยซึ่งเป็นเจตนาเดียว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 188 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3903/2551
จำเลยเอาไปเสียซึ่งเช็คของผู้เสียหายแล้วปลอมเช็คดังกล่าวโดยกรอกข้อความและจำนวน เงินในเช็คกับปลอมลายมือชื่อของผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็ค แล้วนำเช็คดังกล่าวไปเบิกเงินจากธนาคารตามเช็ค ได้รับเงินจำนวน 850,000 บาท ไป เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อจะได้เงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ของผู้เสียหายเป็นหลัก การกระทำต่าง ๆ เป็นเพียงวิธีการเพื่อจะให้ได้เงินไปเท่านั้น แม้การกระทำแต่ละอย่างจะเป็นความผิดแยกต่างหากจากกัน การกระทำของจำเลยก็เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8660/2551
องค์ประกอบความผิดฐานเบิกความเท็จ ต้องเป็นการเบิกความเท็จในกระบวนพิจารณาที่กระทำโดยศาลในคดีที่ต้องฟังคำ พยานเพื่อวินิจฉัยประเด็นตามอำนาจหน้าที่ และการเบิกความหมายความถึงการกระทำของพยานบุคคล มิได้หมายความถึงคำแถลงหรือคำให้การในฐานะคู่ความหรือของผู้อื่น ที่ไม่ได้กระทำในฐานะพยาน ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 59 การนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเพื่อให้คู่กรณีตรวจ สอบความถูกต้องของข้อเท็จจริงที่ตุลาการเจ้าของสำนวนได้สรุปและส่งสรุปข้อ เท็จจริงนั้นให้คู่กรณีทราบล่วงหน้าก่อนการนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก การกระทำของจำเลยที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้เบิกความแถลงในวันนั่ง พิจารณาคดีครั้งแรก ก็เป็นการยืนยันหรือหักล้างเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อเท็จจริงที่ ตุลาการเจ้าของสำนวนได้สรุปและส่งให้คู่กรณีทราบล่วงหน้า เป็นการกระทำในฐานะที่เป็นโจทก์ซึ่งเป็นคู่กรณีฝ่ายหนึ่ง มิได้กระทำในฐานะพยานบุคคล การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1076/2551
การกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 172 และมาตรา 174 วรรคสอง เป็นความผิดสำเร็จเมื่อพนักงานสอบสวนได้ทราบข้อความที่จำเลยแจ้ง พนักงานสอบสวนจะทราบว่าข้อความที่จำเลยแจ้งเป็นความเท็จหรือไม่ คดีที่ผู้ต้องหาถูกฟ้องว่ากระทำความผิดเนื่องจากการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ของจำเลยนั้นศาลจะมีคำพิพากษาอย่างไร และถึงที่สุดแล้วหรือไม่ มิใช่ข้อสำคัญที่จะฟังว่าจำเลยกระทำความผิหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5811/2550
การ ที่ ช. ขับรถจักรยานยนต์ไปและใช้อาวุธปืนยิง ส. ถึงแก่ความตายแล้วขับรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวหลบหนีไปนั้น นอกจากอาวุธปืนซึ่งเป็นทรัพย์ที่ ช. ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรงและถือเป็นพยานหลักฐานสำคัญในคดีแล้วรถ จักรยานยนต์ของกลางที่ ช. ใช้เป็นยานพาหนะขับไปยิง ส. และหลบหนีก็เป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรงเช่นกัน และเป็นพยานหลักฐานสำคัญอีกส่วนหนึ่งซึ่งสามารถใช้พิสูจน์การกระทำความผิด ของ ช. ได้หากมีพยานบุคคลมาพบเห็นการกระทำความผิดดังกล่าว และจดจำลักษณะของรถจักรยานยนต์ของกลางที่ ช. ขับได้ ซึ่งต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจก็ได้ใช้เป็นพยานหลักฐานในการสืบสวนสอบสวนนำไปสู่ การติดตามจับกุมตัว ช. มาลงโทษได้ ดังนั้น การที่จำเลยช่วยซ่อนเร้นรถจักรยานยนต์ของกลางไว้จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 184

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3870/2550
การที่จำเลยใช้หรืออ้างสัญญาเงินกู้ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิปลอมก็เพื่อนำคดีไปฟ้อง ศาล ต่อมาที่จำเลยเข้าเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีอาญาว่าโจทก์สั่งจ่ายเช็ค จำนวน 3 ฉบับ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ แม้จะเป็นความเท็จแต่จำเลยกระทำโดยมีเจตนาที่จะให้ศาลพิพากษาลงโทษโจทก์ตาม ฟ้องเป็นสำคัญ การกระทำของจำเลยในความผิดฐานใช้หรืออ้างเอกสารสิทธิปลอมกับความผิดฐานเบิก ความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5236/2549
ข้อความที่จำเลยแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตรงตามสภาพเหตุการณ์ที่เกิด ขึ้น กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยแจ้งความตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ส่วนการกระทำของโจทก์ทั้งสองจะเป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่จำเลยแจ้งหรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะการแจ้งข้อความย่อมหมายถึงแจ้งเฉพาะข้อเท็จจริงไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย แม้ต่อมาพนักงานสอบสวนจะได้ดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสองตามที่จำเลยแจ้งและ พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีโจทก์ทั้งสองก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าข้อความที่จำเลยแจ้งนั้นเป็นความเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4162/2548
จำเลยทั้งสองเคยให้การและเบิกความว่าโจทก์ทั้งสองกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์ แต่ศาลพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องว่าจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา และเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญา แต่ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบไม่มีเหตุผลที่จะชี้ให้เห็นเจตนาอันไม่สุจริต ของจำเลยทั้งสองว่านำเอาความเท็จซึ่งควรรู้อยู่แล้วมาแกล้งกล่าวหาโจทก์ทั้ง สอง ข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองเห็นว่าโจทก์เป็นคนร้ายหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงที่ยุติระหว่างคู่ความในคดีปล้นทรัพย์เท่านั้น จะนำมาฟังในคดีนี้ว่าการให้การชั้นสอบสวนและเบิกความในชั้นศาลเป็นการแจ้ง ความเท็จและเบิกความเท็จ โดยโจทก์ไม่มีพยานมาสืบว่าความจริงเป็นดังฟ้องอย่างใดหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4162/2548
จำเลยทั้งสองเคยให้การและเบิกความว่าโจทก์ทั้งสองกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์ แต่ศาลพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องว่าจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา และเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญา แต่ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบไม่มีเหตุผลที่จะชี้ให้เห็นเจตนาอันไม่สุจริต ของจำเลยทั้งสองว่านำเอาความเท็จซึ่งควรรู้อยู่แล้วมาแกล้งกล่าวหาโจทก์ทั้ง สอง ข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองเห็นว่าโจทก์เป็นคนร้ายหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงที่ยุติระหว่างคู่ความในคดีปล้นทรัพย์เท่านั้น จะนำมาฟังในคดีนี้ว่าการให้การชั้นสอบสวนและเบิกความในชั้นศาลเป็นการแจ้ง ความเท็จและเบิกความเท็จ โดยโจทก์ไม่มีพยานมาสืบว่าความจริงเป็นดังฟ้องอย่างใดหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 133/2548
แม้พลตำรวจโท ป. และพลตำรวจโท ว. เป็นเจ้าพนักงานตำรวจผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 17 แต่ตามหนังสือที่จำเลยที่ 1 ร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อพลตำรวจโท ป. และพลตำรวจโท ว. ซึ่งบุคคลทั้งสองต่างเป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์ ทั้งนี้เพื่อประสงค์ให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนและลงโทษทางวินัยแก่โจทก์ และย้ายโจทก์ออกจากพื้นที่รับผิดชอบทางราชการ จึงเป็นการที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงพลตำรวจโท ป. และพลตำรวจโท ว. ขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับความประพฤติโจทก์ต่อบุคคลทั้งสองในฐานะผู้บังคับ บัญชาโจทก์ มิใช่ในฐานะที่เป็นพนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาแต่ อย่างใด และพลตำรวจโท ป. มิได้มีคำสั่งให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนความผิดในทางอาญาแก่โจทก์ คงมีคำสั่งให้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชุมพรตรวจสอบข้อเท็จจริงและ พิจารณาให้ความคุ้มครองจำเลยที่ 1 แล้วรายงานให้พลตำรวจโท ป. ทราบด้วยเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 172

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7008/2548
การที่เจ้าพนักงานตำรวจ 191 มีหน้าที่รับโทรศัพท์เป็นหน้าที่เฉพาะตามที่ทางราชการแต่งตั้งให้ปฏิบัติ แต่โดยทั่วไปแล้วเจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจทำการสืบสวนคดีอาญาได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 17 การที่จำเลยโทรศัพท์แจ้งเจ้าพนักงานตำรวจ 191 ว่ามีการวางระเบิดที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขาสุขสวัสดิ์ และสถานที่อื่นอีกหลายแห่ง โดยรู้อยู่ว่ามิได้มีการกระทำความผิดอาญา จึงเป็นการแจ้งความแก่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญามีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8181/2547
คำว่า "พนักงานสอบสวน" ตาม ป.อ. มาตรา 167 มีความหมายว่า ต้องเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีนั้นเท่านั้น ดังนั้น การให้เงินแก่เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งไม่ได้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบใน คดีนั้นเพื่อให้ช่วยเหลือไม่ดำเนินคดี จึงมิใช่เป็นการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่พนักงานสอบสวนตามความหมาย ของบทบัญญัติดังกล่าว จึงไม่มีความผิดตามมาตรานี้ คงมีความผิดตามมาตรา 144 เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8520/2544
ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะฟ้องโจทก์เป็นความผิดอาญาในข้อหาบุกรุกที่ดิน ทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์นั้น โจทก์และจำเลยที่ 1โต้แย้งกันในที่ดินพิพาทโดยต่างอ้างว่าตนเป็นฝ่ายครอบครองที่ดินพิพาท และโจทก์ได้ว่าจ้างรถแบกโฮเข้าไปขุดที่ดินพิพาทดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องโจทก์จึงสืบเนื่องมาจากที่จำเลยที่ 1เข้าใจโดยสุจริตในขณะนั้นว่าตนเองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท และการที่โจทก์จ้างรถแบกโฮเข้าไปขุดดินในที่ดินพิพาทดังกล่าวย่อมเป็นการ รบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 และก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 1 อีกด้วย การฟ้องคดีของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการฟ้องโดยสุจริตตามที่จำเลยที่ 1 เชื่อว่าตนเองมีสิทธิตามกฎหมาย มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิในการครอบครองที่ดินพิพาทแล้วนำข้อความซึ่งรู้อยู่แล้วว่าเป็น เท็จไปฟ้องโจทก์แต่อย่างใด ส่วนข้อหาลักทรัพย์เสาปูนซิเมนต์จำนวน18 ต้นนั้น แม้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นอ้างแต่ว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 เป็นพิรุธชวนให้สงสัยจึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่โจทก์กับพวก โดยศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยว่าคำฟ้องของจำเลยที่ 1 ในข้อหาลักทรัพย์เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ปั้นแต่งเรื่องขึ้นเพื่อกลั่นแกล้งกล่าวหาโจทก์และคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด คดีสำหรับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จึงไม่มีมูล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4683/2541
จำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามฟ้องโจทก์แต่ความผิดตามพระราชบัญญัติ อาวุธปืน โจทก์นำสืบแต่เพียงว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน จำเลยให้การรับสารภาพ โดยโจทก์ไม่ได้นำสืบว่าจำเลย เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนหรือไม่ และอาวุธปืนดังกล่าวมีเครื่องหมายของเจ้าพนักงาน ประทับหรือไม่ เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธในชั้นพิจารณาพยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักพอลง โทษจำเลยในฐานะนี้ สำหรับความผิดฐานย้ายศพเพื่อปิดบังการตายหรือเหตุแห่งการตายข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏจากการนำสืบของโจทก์ว่า ศพของผู้ตายถูกเคลื่อนย้ายไปเพียง 20 เมตรและย้ายไปอยู่ในที่เปิดเผยสามารถถูกพบได้โดยง่ายจึงไม่มีลักษณะเป็นการ ย้ายเพื่อปิดบังการตายหรือเหตุแห่งการตายอันจะเป็นความผิดในฐานนี้จำเลยจึง ไม่มีความผิดในฐานนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3608/2540
คดีแพ่งที่จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1713 และ 1718 มีประเด็นข้อสำคัญในคดีว่า ผู้ร้องคือจำเลยในคดีนี้เป็นทายาทหรือมีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิยื่นคำร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ มีเหตุจะแต่งตั้งผู้จัดการมรดกหรือไม่ และผู้ร้องเป็นบุคคลต้องห้ามที่จะเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ เมื่อปรากฏว่าจำเลยเป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายดังนั้น การที่จำเลยเบิกความในคดีแพ่งที่จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกเกี่ยวกับ จำนวนทายาท การให้ความยินยอมของทายาทและแสดงพยานหลักฐานบัญชีเครือญาติไม่ตรงต่อความ จริง แม้จะเป็นความเท็จก็มิใช่เป็นข้อสำคัญในคดีอันอาจทำให้ผลของคดีร้องขอจัดการ มรดกเปลี่ยนแปลงไป การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบของความผิดดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5449/2540
จำเลยเป็นพนักงานเก็บเงินของบริษัทผู้เสียหายเก็บเงินจากลูกค้าแล้วยักยอกไปโดย จำเลยได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่ามีคนร้ายใช้อาวุธปืนและมีดจี้บังคับ ปล้นเอาเงินจำนวน 74,320 บาท ซึ่งเป็นของผู้เสียหายและบางส่วนเป็นของจำเลยไป โดยไม่มีการปล้นทรัพย์เกิดขึ้น แต่จำเลยทำพยานหลักฐานเท็จด้วยการใช้ท่อนไม้ทุบรถจักรยานยนต์ของจำเลยและ แจ้งข้อความเท็จแก่พนักงานสอบสวนว่าได้มีการปล้นทรัพย์ จำเลยจึงมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา แจ้งความเท็จว่าได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นและทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4922/2539
จำเลย ที่1ขับรถยนต์บรรทุกไม้แปรรูปแล้วถูกนายดาบตำรวจก. กับพวกยึดรถยนต์บรรทุกไม้แปรรูปไม่ยอมให้ขับออกไปจำเลยที่2ได้มาพูดกับนาย ดาบตำรวจก. กับพวกเป็นทำนองให้ปล่อยรถยนต์บรรทุกไม้แปรรูปและจำเลยที่1เมื่อนายดาบตำรวจ ก.กับพวกไม่ยอมต่อมาจำเลยที่2ก็พาจำเลยที่1ขึ้นรถยนต์ขับหนีไปแสดงว่าจำเลย ที่2รู้แล้วว่าได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นและมีจำเลยที่1เป็นผู้ต้องหาว่า กระทำความผิดอันมิใช่ความผิดลหุโทษจำเลยที่2จึงต้องมีความผิดฐานช่วยผู้อื่น ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดหรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดอันมิใช่ความผิด ลหุโทษเพื่อไม่ให้ต้องโทษหรือไม่ให้ถูกจับกุมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา189

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4915/2537
จำเลยถูกคุมขังระหว่างสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาฐานชิงทรัพย์ขณะเจ้าพนักงาน ตำรวจนำจำเลยออกจากห้องขัง จำเลยวิ่งหลบหนีออกมาไม่ว่าเจ้าพนักงานตำรวจจะติดตามจับกุมจำเลยได้หรือไม่ ก็ตามการกระทำของจำเลยย่อมเป็นการหลบหนีไปในระหว่างที่ถูกคุมขังของเจ้า พนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาเป็นความผิดสำเร็จแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3042/2537
จำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นกำนันควบคุมตัว ด. กับ ม.และโจทก์ไว้ดำเนินคดีข้อหาลักทรัพย์แล้วได้ปล่อย ด. และ ม.ไป คงมอบตัวโจทก์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีเพียงคนเดียวจะถือว่าโจทก์ถูกดำเนิน คดีเพราะการที่จำเลยที่ 1 ปล่อยตัว ด. และ ม.ไปไม่ได้ การที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการจะดำเนินคดีแก่โจทก์หรือไม่เป็นเรื่อง ของข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเกี่ยวกับกระทำความผิดของโจทก์เองไม่เกี่ยวกับ การปล่อยตัวบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด หากการปล่อยตัว ด. และ ม.ของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการผู้ที่ได้รับความเสียหายก็คือ รัฐมิใช่โจทก์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3700/2529
ข้อความในจดหมายที่จำเลยเขียนถึง บ.พนักงานสอบสวนมีลักษณะขอร้องให้ บ.ช่วยเปรียบเทียบปรับผู้ต้องหาให้คดีเสร็จเด็ดขาดไปในชั้นสถานีตำรวจโดยไม่ ต้องให้คดีถึงศาลเท่านั้นเพื่อทั้งฝ่ายผู้ต้องหาและฝ่ายเจ้าพนักงานตำรวจจะ ได้ไม่เสียเวลาและเป็นการประหยัดเพราะจำเลยมีความเห็นว่าไม่ว่าจะชั้นศาล หรือชั้นสถานีตำรวจก็ถูกลงโทษปรับเหมือนกัน จึงไม่พอแปลความหมายได้ว่าจำเลยขอให้หรือรับว่าจะให้เงินทรัพย์สินหรือ ประโยชน์อื่นใดแก่บ.เพื่อจูงใจไม่ให้ดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหาดังกล่าว อันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 144,167

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2414/2521
คดีก่อนศาลพิพากษาลงโทษจำเลยฐานตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานโดยไม่รับ อนุญาตซึ่งความผิดในคดีดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะจำเลยมิได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานและ ประกอบกิจการ ไม่เกี่ยวกับอาชีพหรือวิชาชีพที่จำเลยประกอบอยู่ คำสั่งศาลในคดีก่อนที่สั่งให้จำเลยหยุดประกอบกิจการโรงงานจนกว่าจะได้รับ อนุญาตนั้น หาใช่คำสั่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 50 ไม่ เมื่อปรากฏต่อมาว่าจำเลยได้ประกอบกิจการโรงงานของจำเลยอีก ดังนี้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งห้ามของศาลตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 196

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1954/2515
พนักงานสอบสวนเชิญจำเลยไปให้ถ้อยคำในฐานะพยานที่สถานีตำรวจโดยไม่ได้ออกหมายเรียก จำเลยยอมมาโดยดีและพนักงานสอบสวนบอกจำเลยว่าจะสอบสวนเป็นพยานย่อมหมายความ ว่าสั่งให้จำเลยให้ถ้อยคำ คำสั่งของพนักงานสอบสวนเช่นนี้จึงเป็นคำบังคับตามกฎหมายให้จำเลยให้ถ้อยคำ เมื่อจำเลยขัดขืนคำบังคับดังกล่าว ย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 169 (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 21/2515)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1650/2514
จำเลยถูกฟ้องคดีอาญาเรื่องหนึ่ง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลย ขณะคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาจำเลยได้ประพันธ์ พิมพ์ และนำออกโฆษณา ทำให้แพร่หลายไปถึงประชาชนซึ่งเอกสารสิ่งพิมพ์ กล่าวถึงการกระทำของผู้ทำการแทนในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าเป็น ผู้จัดให้ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีและตัวผู้ทำการแทนฯ เองก็มีพฤติการณ์ให้การพิพากษาคดีดังกล่าวเป็นไปโดยรวบรัดไม่ชอบด้วยหลัก ยุติธรรมและกล่าวถึงการกระทำของศาลอาญาศาลอุทธรณ์ และผู้พิพากษาที่พิจารณาพิพากษาคดีนั้นว่า "พิพากษาลงโทษจำเลย โดยไม่คำนึงถึงหลักกฎหมาย หลักความยุติธรรม ประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจะวิ่งไปขอความยุติธรรมต่อศาลให้สิ้นเปลือง เงินทองเพื่อประโยชน์อันใด..." ดังนี้ เป็นข้อความที่เรียกได้ว่าจำเลยกล่าวในทำนองตำหนิศาลอาญา ศาลอุทธรณ์ และผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะที่ทำการพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ไม่เป็นที่พึ่งของประชาชน นับว่าเป็นการกระทำที่แสดงต่อศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาคดีจึงเป็นถ้อย คำดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198

เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 แล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 136 อีก 
(อ้างฎีกาที่ 1456/2506)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 249/2510
คดีก่อน จำเลยถูกอ้างและหมายเรียกมาเป็นพยาน จำเลยถูกคู่ความคดีนั้นถามว่าพยานได้ปลุกปล้ำโจทก์ในคดีนี้หรือไม่จำเลยไม่ เต็มใจตอบเกรงจะถูกฟ้องคดีอาญาแต่ศาลสั่งให้ตอบจึงตอบว่า ได้เสียกัน เป็นการตอบตามประเด็นที่คู่ความซักถาม ตอบไปตามหน้าที่ของพยาน มิใช่นอกเหนือหน้าที่ ทั้งไม่มีเจตนาตอบไปเพื่อหมิ่นประมาทโจทก์จึงไม่มีความผิด 
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2510)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1341/2509
เมื่อมีผู้ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าจำเลยบุกรุกที่ดิน จำเลยย่อมตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(2) แล้ว ซึ่งในชั้นสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 พนักงานสอบสวนจะบังคับให้ผู้ต้องหาให้ถ้อยคำใดๆไม่ได้และมาตรา 135 ก็บัญญัติห้ามมิให้พนักงานสอบสวนล่อลวงหรือขู่เข็ญผู้ต้องหาให้ให้การอีก ด้วย จึงเห็นได้ว่าหมายเรียกของพนักงานสอบสวนที่ให้ผู้ต้องหามาเพื่อให้การ ไม่เข้าลักษณะเป็นคำบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 168

กรณี ผู้ต้องหาขัดขืนไม่มาให้การตามหมายเรียกโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควรนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66(3) บัญญัติทางแก้ไว้ ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจออกหมายจับตัวมาได้ เป็นการลงโทษอยู่แล้ว จึงเห็นได้ว่าเจตนารมย์ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 168 หาได้มุ่งหมายจะใช้บังคับกับผู้ต้องหาที่ขัดขืนไม่มาให้การต่อพนักงานสอบสวน ตามหมายเรียกด้วยไม่(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17/2509)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5/2508
จำเลยฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาหาว่าโจทก์ปลอมและใช้เอกสารสัญญากู้ขอให้ลงโทษนั้นแม้ จำเลยจะถอนฟ้องคดีอาญาเสียระหว่างไต่สวนมูลฟ้องก่อนศาลสั่งประทับฟ้องก็ดี หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าฟ้องที่จำเลยกล่าวหาโจทก์เป็นฟ้องเท็จแล้วจำเลยก็ ย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 175,176