การใช้กฎหมายอาญา

มาตรา ๒ บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง


มาตรา ๓ ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว แต่ในกรณีที่คดีถึงที่สุดแล้วดังต่อไปนี้ 


(๑) ถ้าผู้กระทำความผิดยังไม่ได้รับโทษ หรือกำลังรับโทษอยู่ และโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง เมื่อสำนวนความปรากฏแก่ศาลหรือเมื่อผู้กระทำความผิด ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้นั้น ผู้อนุบาลของผู้นั้นหรือพนักงานอัยการร้องขอ ให้ศาลกำหนดโทษเสียใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ในการที่ศาลจะกำหนดโทษใหม่นี้ ถ้าปรากฏว่า ผู้กระทำความผิดได้รับโทษมาบ้างแล้ว เมื่อได้คำนึงถึงโทษตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง หากเห็นเป็นการสมควร ศาลจะกำหนดโทษน้อยกว่าโทษขั้นต่ำที่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังกำหนดไว้ถ้าหากมีก็ได้ หรือถ้าเห็นว่าโทษที่ผู้กระทำความผิดได้รับมาแล้วเป็นการเพียงพอ ศาลจะปล่อยผู้กระทำความผิดไปก็ได้


(๒) ถ้าศาลพิพากษาให้ประหารชีวิตผู้กระทำความผิด และตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง โทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดไม่ถึงประหารชีวิต ให้งดการประหารชีวิตผู้กระทำความผิด และให้ถือว่าโทษประหารชีวิตตามคำพิพากษาได้เปลี่ยนเป็นโทษสูงสุดที่จะพึงลงได้ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1026/2564

แม้ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 5 มีอายุ 15 ปีเศษ ถือเป็นเยาวชนก็ตาม แต่ขณะกระทำความผิดและวันที่โจทก์ยื่นฟ้องในวันที่ 7 เมษายน 2547 ในท้องที่จังหวัดพิจิตรที่จำเลยที่ 5 มีถิ่นที่อยู่ปกติและท้องที่ที่กระทำความผิดยังไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลชั้นต้นคือศาลจังหวัดพิจิตรเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาตาม ป.วิ.อ. จึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 58 (3) แม้ต่อมาในระหว่างพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเปิดทำการแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลจังหวัดพิจิตรตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2549 ก็ตาม แต่การพิจารณาพิพากษาคดีในชั้นอุทธรณ์จนชั้นฎีกาต้องเป็นไปตาม ป.วิ.อ. ดังนั้นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 5 มีกำหนด 21 ปี 3 เดือน จึงเป็นคำพิพากษาของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาตาม ป.วิ.อ. มิใช่คำพิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวที่จะขอให้กำหนดโทษใหม่หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาเกี่ยวกับการลงโทษตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 99 ต่อมา พ.ร.บ.ดังกล่าวถูกยกเลิกไป โดย พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 3 แม้มาตรา 137 แห่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 บัญญัติว่า เมื่อได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ลงโทษหรือใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแล้วและต่อมาความปรากฏต่อศาลเอง หรือปรากฏจากรายงานของผู้อำนวยการสถานพินิจ หรือผู้ดูแลหรือผู้ปกครองสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมวด 4 หรือปรากฏจากคำร้องของบิดา มารดา ผู้ปกครองหรือบุคคลซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย หรือสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมวด 4 ว่าข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ตามมาตรา 115 หรือมาตรา 119 ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ให้ศาลมีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวกับการลงโทษหรือวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนได้ก็ตาม แต่คำพิพากษาหรือคำสั่งให้ลงโทษหรือใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนดังกล่าวต้องเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวตั้งแต่ต้น และศาลที่มีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวกับการลงโทษหรือวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน จะต้องเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวซึ่งพิพากษาหรือมีคำสั่งคดีนั้นเอง หรือศาลคดีเยาวชนและครอบครัวซึ่งมีเขตอำนาจในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนนั้นกำลังรับโทษหรือถูกควบคุมตัวอยู่ ด้วยเหตุนี้ ศาลจังหวัดพิจิตรซึ่งเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 6 และศาลฎีกาไม่ใช่ศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว จึงไม่ใช่ศาลที่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงโทษตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดแล้วของจำเลยที่ 5 ตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ และมิใช่กรณีกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดที่ศาลจะต้องกำหนดโทษเสียใหม่ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1018/2564

การที่จะนำบทบัญญัติของกฎหมายตาม ป.อ. มาตรา 3 มาใช้บังคับในฐานกฎหมายที่เป็นคุณได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่นำมาใช้บังคับแก่ความรับผิดทางอาญาของผู้กระทำความผิดเท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 947/2563

เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) มีการออกข้อบังคับการปฏิบัติหน้าที่ในคดีพิเศษระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องไว้ ทั้งไม่ปรากฏว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษและพนักงานสอบสวนในคดีนี้มีข้อตกลงกันไว้อย่างไรในการปฏิบัติหน้าที่สอบสวนคดีนี้ ฉะนั้น การที่พนักงานสอบสวนคดีนี้ส่งมอบการสอบสวนคดีนี้ให้แก่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษและไปให้ปากคำแก่พนักงานสอบสวนในการสอบสวนคดีนี้ การสอบสวนคดีนี้จึงเป็นการสอบสวนที่ชอบ พนักงานอัยการโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง จำเลยจึงฎีกาว่ามีการออกข้อบังคับดังกล่าวแล้ว เมื่อจำเลยมิได้ยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างในศาลชั้นต้น กรณีจึงไม่มีปัญหามาสู่การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่า คณะกรรมการคดีพิเศษได้ออกข้อบังคับการปฏิบัติหน้าที่ในคดีพิเศษระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 สำหรับคดีนี้แล้วหรือไม่ ดังนี้ แม้ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยก็ตาม แต่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบในศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยมิได้ยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นในศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงที่ว่าคณะกรรมการคดีพิเศษได้ออกข้อบังคับการปฏิบัติหน้าที่ในคดีพิเศษระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 แล้ว จึงไม่อาจนำมารับฟังได้ การที่จำเลยเพิ่งยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และ 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15


ในวันเกิดเหตุ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครและข้อกำหนดห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปภายในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวยังมีผลใช้บังคับอยู่ แม้เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งเป็นวันหลังจากวันที่จำเลยกระทำความผิดคดีนี้ ศาลแพ่งมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 544/2557 มีผลให้ข้อกำหนดและประกาศไม่อาจบังคับต่อจำเลยและประชาชนได้อีกต่อไป แต่คำพิพากษาศาลแพ่งไม่ได้มีผลเป็นการลบล้างว่าไม่มีการกระทำของจำเลยเกิดขึ้นในวันดังกล่าวที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามกฎหมายแต่อย่างใด กรณีไม่ต้องด้วย ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง


ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยที่ 5/2557 ว่า พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 เฉพาะในส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 มิได้จัดการให้มีการเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร เป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรคสองนั้น การดำเนินงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ได้มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ยังชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนี้ การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าและเลือกตั้งนอกเขตในวันที่ 26 มกราคม 2557 และการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 จึงเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย เมื่อจำเลยกระทำความผิดในวันที่ 26 มกราคม 2557 ซึ่งเป็นวันที่มีการเลือกตั้งล่วงหน้าก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยที่ 5/2557 แล้ว คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวจึงหามีผลต่อการกระทำความผิดของจำเลยในความผิดฐานร่วมกันกระทำการโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิได้หรือขัดขวางมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าไป ณ ที่ลงคะแนนเลือกตั้งแต่อย่างใดไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7491/2562

เหตุเกิดปี 2558 อันเป็นเวลาขณะที่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ใช้บังคับ ต่อมามีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2560 ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า "แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ" และคำว่า "บังคับใช้แรงงาน" และให้ยกเลิกความในมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 และให้ใช้ความตามมาตรา 6 ที่บัญญัติใหม่แทน ซึ่งการกระทำของจำเลยตามฟ้องยังเป็นความผิดอยู่ และกฎหมายใหม่แก้ไขบทกำหนดโทษตามมาตรา 52 ด้วย มีอัตราโทษสูงกว่า จึงเป็นกรณีที่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิด ซึ่งกฎหมายใหม่ไม่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ต้องบังคับตามกฎหมายเดิมที่ใช้ในขณะกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคแรก เช่นเดียวกับการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 6 โดย พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 พ.ศ.2562 และในส่วนที่พระราชกำหนดดังกล่าวบัญญัติเพิ่มความผิดฐานบังคับใช้แรงงานหรือบริการและบทกำหนดโทษตามมาตรา 6/1 และมาตรา 52/1 ขึ้นใหม่ เมื่อขณะกระทำความผิดไม่มีกฎหมายบัญญัติความผิดฐานดังกล่าวและกำหนดโทษไว้ จึงใช้บทมาตราดังกล่าวบังคับแก่จำเลยคดีนี้ไม่ได้ การกระทำของจำเลยทั้งหกตามฟ้องจึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 และมาตรา 52 (เดิม)


องค์ประกอบในการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ด้วยการบังคับใช้แรงงานตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ต้องมีการกระทำในลักษณะเป็นการข่มขืนใจให้ทำงานหรือให้บริการโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของบุคคลนั้นเอง หรือของบุคคลอื่น โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยทำให้บุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ล็อกกุญแจห้องพักกักขังผู้เสียหายที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 ถึงที่ 11 และที่ 13 ไว้ในช่วงเวลากลางคืนแต่ให้ออกมาทำงานในตอนเช้าโดยมีเจตนาเพื่อมิให้ผู้เสียหายดังกล่าวหลบหนีโดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานอื่นใดมาประกอบให้รับฟังได้แน่ชัดว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำการอื่นใดอันเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายดังกล่าวเพื่อให้ทำงาน การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อผู้เสียหายดังกล่าวจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานค้ามนุษย์ คงเป็นเพียงความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 310 อันเป็นความผิดที่รวมอยู่ในความผิดฐานค้ามนุษย์ตามฟ้องและมีโทษเบากว่า ศาลมีอำนาจลงโทษในความผิดที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย


สำหรับการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้เสียหายที่ 3 ที่ 6 ที่ 8 และที่ 12 ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้เสียหายดังกล่าวได้พยายามหลบหนีออกจากฟาร์มที่เกิดเหตุถึงสองครั้งแต่ไม่สามารถหนีไปได้โดยถูกพวกของจำเลยที่ 1 พากลับมาส่งที่ฟาร์ม จากนั้นผู้เสียหายได้ถูกจำเลยกับพวกทำร้ายร่างกาย พูดข่มขู่ไม่ให้หลบหนี และถูกกักขังบังคับให้ทำงานอยู่ในฟาร์ม พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าผู้เสียหายที่ 3 ที่ 6 ที่ 8 และที่ 12 ไม่ต้องการทำงานกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 อีกต่อไป การจับตัวผู้เสียหายดังกล่าวไว้เมื่อหลบหนีและเอาตัวกลับมาทำงานที่ฟาร์มย่อมบ่งชี้ให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยชัดแจ้งที่ต้องการบังคับใช้แรงงานของผู้เสียหายดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในส่วนนี้จึงเป็นไปเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เป็นความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (1) (เดิม) และฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นและให้ผู้อื่นนั้นกระทำการใดตาม ป.อ. มาตรา 310 ทวิ อันเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานร่วมกันค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นบทหนัก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7469/2562

ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 277 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความใหม่แทน และมาตรา 3 ให้เพิ่มความในมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา "(18) "กระทำชำเรา" หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น" กรณีเป็นเรื่องกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังกำหนดองค์ประกอบความผิดฐานกระทำชำเราว่า จะต้องเป็นการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้ถูกระทำ จึงจะเข้าเกณฑ์เป็นความผิด อันเป็นการปรับปรุงนิยามคำว่า "กระทำชำเรา" ให้ชัดเจนและสอดคล้องกับลักษณะการกระทำชำเราทางธรรมชาติ ดังนั้นเมื่อคดีได้ความว่า การกระทำของจำเลยที่ใช้มือจับอวัยวะเพศของผู้เสียหายรูดขึ้นลงแล้วใช้ปากของจำเลยดูดและอมอวัยวะเพศของผู้เสียหาย โดยไม่ได้ใช้อวัยวะเพศของจำเลยล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องทางปากของผู้เสียหาย จึงไม่เป็นการกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) อีกต่อไป ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคแรก (เดิม) หรือเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยการล่วงล้ำตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า แม้การกระทำของจำเลยดังกล่าวจะไม่ได้เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายก็ตาม แต่ก็เป็นการกระทำที่ไม่สมควรทางเพศอันเป็นการล่วงเกินผู้เสียหายแล้ว จึงเป็นการล่วงล้ำอวัยวะเพศของผู้เสียหาย เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) แต่ความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กยังไม่เกินสิบสามปีโดยการล่วงล้ำตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต เท่ากันกับความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบสามปีตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) ระวางโทษตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณ ศาลต้องพิจารณาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 23/2562)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7142/2562

ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารเป็นความผิดนับแต่จำเลยทั้งสองกับพวกเริ่มพรากผู้เสียหายที่ 1 ขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 อยู่นอกราชอาณาจักร และเป็นความผิดต่อเนื่องติดต่อกันตลอดมาในท้องที่ต่าง ๆ หลายท้องที่ตลอดเวลาที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันพาผู้เสียหายที่ 1 เข้ามาในราชอาณาจักรและหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 1 ไว้เพื่อการค้าประเวณีที่จังหวัดตราด ถือได้ว่าความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อเนื่องเกิดขึ้นหลายท้องที่ทั้งนอกราชอาณาจักรและในราชอาณาจักร โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตามมาตรา 5 แห่งประมวลกฎหมายอาญา


ความผิดฐานพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคแรก (เดิม) และฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจาร โดยใช้อุบายหลอกลวงขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด ตามมาตรา 284 วรรคแรก (เดิม) ต้องเป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของตนเองหรือผู้ร่วมกระทำความผิดกับตน เมื่อจำเลยทั้งสองร่วมกันเป็นธุระจัดหาและพาผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อให้กระทำการค้าประเวณี อันเป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น มิใช่เพื่อสนองความใคร่ของจำเลยทั้งสองกับพวก การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดสองฐานนี้


ความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าของกิจการการค้าประเวณี ผู้ดูแล หรือผู้จัดการกิจการการค้าประเวณีหรือสถานการค้าประเวณี กับความผิดฐานร่วมกันดำรงชีพอยู่แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของผู้ซึ่งค้าประเวณี เมื่อจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของ ผู้ดูแล หรือผู้จัดการสถานการค้าประเวณีและดำรงชีพอยู่แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของผู้ซึ่งค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณีของจำเลยทั้งสองนั้นเอง จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท


ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 แก้ไขอัตราโทษตาม ป.อ. มาตรา 286 วรรคแรก และมาตรา 318 วรรคสาม แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง จึงต้องใช้กฎหมายเดิมในขณะที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิด แต่ต่อมาในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ให้ยกเลิกความในมาตรา 286 ซึ่งกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำความผิดตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณเฉพาะในส่วนโทษจำคุก จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณไม่ว่าในทางใด ตาม ป.อ. มาตรา 3


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6551/2562

ที่โจทก์ขอให้บวกโทษจำคุก 15 วัน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 606/2560 ของศาลจังหวัดพระโขนง เข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้นั้น เห็นว่า ในคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (พืชกระท่อม) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 76 วรรคสอง ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว หลังจากนั้นระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาในคดีนี้ ได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 โดยมาตรา 17 ยกเลิกความในมาตรา 76 วรรคสอง และให้ใช้ข้อความใหม่แทนว่า "ถ้ายาเสพติดซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำตามวรรคหนึ่งนั้นเป็นพืชกระท่อม ผู้นั้นต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท" อันเป็นกรณีที่กฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำที่โจทก์ขอให้บวกโทษเป็นความผิดอยู่ แต่โทษตามกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดมีเพียงโทษปรับซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 มากกว่ากฎหมายเก่าที่มีโทษจำคุกด้วย กรณีจึงไม่อาจบวกโทษจำคุกแก่จำเลยที่ 2 ได้ ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) และ ป.วิ.อ. มาตรา 185 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดหยิบยกปัญหาข้อนี้ขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5485/2562

ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (18) ของมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา "(18) "กระทำชำเรา" หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น" มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 277 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและให้ใช้ความใหม่แทน แต่ความใหม่มิได้บัญญัติให้การใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่นเป็นความผิดฐานกระทำชำเรา ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่า จำเลยใช้ลิ้นเลียอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 อีกต่อไป แต่การที่จำเลยใช้ลิ้นเลียอวัยวะเพศเป็นการกระทำที่ไม่สมควรทางเพศแก่ผู้เสียหายที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยเด็กนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคสอง (เดิม)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5286/2562

ความผิดฐานรับคนต่างด้าวทำงานโดยที่คนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีบทกำหนดโทษในมาตรา 102 ต่อมามีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 33/2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ข้อ 1 ให้มาตรา 102 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.3 ว่า จำเลยกระทำความผิดระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2560 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันที่ 18 มกราคม 2561 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน และบรรยายฟ้องข้อ 1.5 ว่า จำเลยกระทำความผิดระหว่างวันที่ 13 มกราคม 2560 เวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันที่ 18 มกราคม 2561 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน กรณีต้องถือว่าการกระทำความผิดฐานดังกล่าวของจำเลยตามฟ้องในช่วงก่อนวันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นการกระทำที่ไม่มีโทษจึงไม่ต้องรับโทษในทางอาญา ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง ส่วนการกระทำความผิดตามฟ้องตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป เมื่อภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา มี พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 มาตรา 71 มิให้นำมาตรา 102 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้มาใช้บังคับจนกว่าจะถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2561 จึงถือว่าการกระทำความผิดฐานดังกล่าวของจำเลยตามฟ้องตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นการกระทำที่ไม่มีโทษ จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษในทางอาญา ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง เช่นกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4943/2562

กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดหรือกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 3 นั้น หมายถึงกฎหมายที่บัญญัติถึงการกระทำอันเป็นความผิด หรือบัญญัติถึงกำหนดโทษหรือโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ซึ่งคดีนี้ได้แก่บทบัญญัติความผิดฐานชิงทรัพย์และบทบัญญัติตาม ป.อ. มาตรา 92 โดยศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา 92 ซึ่งขณะจำเลยกระทำความผิดในคดีนี้ ป.อ. มาตรา 94 บัญญัติไม่ให้ถือว่าความผิดซึ่งผู้กระทำได้กระทำในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบเจ็ดปีเป็นความผิดเพื่อการเพิ่มโทษตามความในมาตรา 92 แต่ภายหลัง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2551 มาตรา 8 บัญญัติให้ยกเลิกความในมาตรา 94 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยในมาตรา 94 กฎหมายเดิมและกฎหมายใหม่คงใช้ข้อความทำนองเดียวกันต่างกันแต่เพียงเกณฑ์อายุของผู้กระทำความผิด ซึ่งกฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่ให้ถือว่าความผิดซึ่งผู้กระทำได้กระทำในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีเป็นความผิดเพื่อการเพิ่มโทษตามความในมาตรา 92 หากข้อเท็จจริงเป็นไปดังที่จำเลยอ้างว่าขณะจำเลยกระทำความผิดในคดีของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยมีอายุเพียง 17 ปีเศษ และขณะที่จำเลยกำลังรับโทษในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษคดีนี้ต่อนั้น มีการแก้ไข มาตรา 94 ซึ่งบทกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณกว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด เนื่องจากศาลไม่อาจเพิ่มโทษในคดีนี้ได้นั้น แม้คดีนี้จะถึงที่สุดแล้วก็ตาม แต่ ป.อ. มาตรา 3 (1) บัญญัติให้ศาลกำหนดโทษเสียใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ในกรณีที่จำเลยยังไม่ได้รับโทษหรือกำลังรับโทษในคดีหลังอยู่ถ้าสำนวนความปรากฏแก่ศาลหรือเมื่อผู้กระทำความผิดร้องขอ ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะไต่สวนคำร้องของจำเลยให้ได้ข้อเท็จจริงโดยชัดแจ้งว่าเป็นไปตามที่จำเลยกล่าวอ้างหรือไม่ แล้วมีคำสั่งใหม่ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4683/2562

แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (18) ของมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา "(18) "กระทำชำเรา" หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น" มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 276 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและให้ใช้ความใหม่แทน แต่ความใหม่มิได้บัญญัติให้การใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น เป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา และมาตรา 8 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ของมาตรา 278 แห่งประมวลกฎหมายอาญา โดยวรรคสองบัญญัติว่า "ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของบุคคลนั้น ผู้กระทำต้องระวางโทษ..." ดังนั้น จากบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ดังกล่าว ยังคงบัญญัติว่า การกระทำโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่นยังเป็นความผิดอยู่ มิได้เป็นเรื่องที่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังบัญญัติให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง เพียงแต่เปลี่ยนฐานความผิดจากข่มขืนกระทำชำเราเป็นความผิดฐานอนาจารโดยล่วงล้ำเท่านั้น ซึ่งตามสภาพทางธรรมชาติในการกระทำความผิดของจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 278 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคหนึ่ง (เดิม) การปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรา 278 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า แต่โทษตามมาตรา 276 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งใช้บังคับในขณะที่จำเลยกระทำความผิดมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 8,000 บาท ถึง 40,000 บาท ส่วนโทษตามมาตรา 278 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 80,000 บาท ถึง 400,000 บาท เห็นได้ว่ากฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน แต่โทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษปรับที่สูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยในส่วนนี้ จึงต้องลงโทษจำเลยตามกฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย อันเป็นการใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4514/2562

ความผิดฐานร่วมกันมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 มาตรา 8 ให้ยกเลิกมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 และมาตรา 9 ให้เพิ่มเติมมาตรา 26/3 ฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยข้อความตามกฎหมายเดิมและที่แก้ไขใหม่ยังเป็นทำนองเดียวกัน จึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับในส่วนบทความผิด แต่ในส่วนบทกำหนดโทษได้มีมาตรา 17 ยกเลิกมาตรา 76 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 โดยให้ใช้ข้อความใหม่แทน ซึ่งบทกำหนดโทษตามมาตรา 76 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ มีระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาทเพียงสถานเดียว ส่วนบทกำหนดโทษตามมาตรา 76 วรรคสอง ของกฎหมายเดิมมีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ากฎหมายเดิม ต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2982/2562

ผู้เสียหายที่ 2 วิ่งไปหาจำเลย จำเลยกอดผู้เสียหายที่ 2 แล้วจูบหน้าผาก จากนั้นถอดกางเกงผู้เสียหายที่ 2 ออกแล้วอุ้มผู้เสียหายที่ 2 ใช้นิ้วมือสอดเข้าไปในทวารหนักของผู้เสียหายที่ 2 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยอุ้มพาผู้เสียหายที่ 2 ไปที่อื่น จำเลยล่วงเกินทางเพศผู้เสียหายที่ 2 ตรงบริเวณที่พบผู้เสียหายที่ 2 นั้นเอง เท่ากับว่าผู้เสียหายที่ 2 มาหาจำเลยเองด้วยความเต็มใจ จำเลยมิได้พาผู้เสียหายที่ 2 มา อีกทั้งมิได้เหนี่ยวรั้งผู้เสียหายที่ 2 ไว้ เช่นนี้ ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยมีการกระทำประการใดอันเข้าลักษณะเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งจะกระทบกระเทือนต่ออำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม และย่อมไม่มีความผิดฐานพาผู้เสียหายที่ 2 เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารด้วย


ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อนี้เป็น (18) ของมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา "(18)" "กระทำชำเรา" หมายความว่า "การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น" มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 277 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและให้ใช้ความใหม่แทน แต่ความใหม่มิได้บัญญัติให้การใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น เป็นความผิดฐานกระทำชำเรา และมาตรา 9 ให้ยกเลิกความในมาตรา 279 แห่งประมวลกฎหมายอาญาให้ใช้ความใหม่แทน โดยมาตรา 279 วรรคสี่ บัญญัติว่า "ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสาม เป็นการกระทำโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่น ซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของเด็กนั้น ผู้กระทำต้องระวางโทษ..." และวรรคห้า บัญญัติว่า "ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคสี่เป็นการกระทำแก่เด็กอายุไม่เกินสิบสามปีต้องระวางโทษ..." ดังนั้นจากบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขดังกล่าว ยังคงบัญญัติว่าการกระทำโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่นยังเป็นความผิดอยู่ มิได้เป็นเรื่องที่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังบัญญัติให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไปตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง เพียงแต่เปลี่ยนฐานความผิดจากการกระทำชำเราเป็นความผิดฐานอนาจารโดยการล่วงล้ำเท่านั้น ซึ่งตามสภาพทางธรรมชาติในการกระทำความผิดของจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) การปรับบทความผิดของจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าตาม ป.อ. มาตรา 3 แต่ความผิดฐานกระทำอนาจารโดยการล่วงล้ำตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต ส่วนความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับหนึ่งหมื่นสี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต ระวางโทษตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลย ศาลต้องพิจารณาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและปรับบทลงโทษจำคุกให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2951/2562

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกันผลิตพืชกระท่อมและร่วมกันมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26, 75, 76 ต่อมาในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 มาตรา 8 และมาตรา 9 ให้ยกเลิกมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 และเพิ่มเติมมาตรา 26/2 ฐานผลิตพืชกระท่อม และมาตรา 26/3 ฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยข้อความตามกฎหมายเดิมและที่แก้ไขใหม่ยังเป็นทำนองเดียวกันจึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับในส่วนบทความผิด และมาตรา 17 ให้ยกเลิกมาตรา 75 และมาตรา 76 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 โดยให้ใช้ข้อความใหม่แทน ซึ่งบทกำหนดโทษฐานผลิตพืชกระท่อมในมาตรา 75 วรรคสอง ตามกฎหมายเดิม และมาตรา 75 วรรคสาม ที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษเท่ากัน ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย ส่วนความผิดฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 76 วรรคสอง ของกฎหมายเดิม มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่มาตรา 76 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ มีระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาทเพียงสถานเดียว กฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ากฎหมายเดิม ต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2440/2562

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงานและฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงานตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 27, 54 แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีการตราพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไปและตามมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิก พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 แต่กำหนดให้ความผิดฐานรับคนต่างด้าวเข้าทำงานที่กำหนดและฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงานยังคงเป็นความผิดอยู่ตามมาตรา 9, 72 และกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนไว้ในมาตรา 102 มาตรา 122 ภายหลังจากนั้นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีคำสั่งที่ 33/2560 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ข้อ 1 ในมาตรา 101 มาตรา 102 มาตรา 119 และมาตรา 122 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป อันมีผลให้ความผิดฐานรับคนต่างด้าวเข้าทำงานที่กำหนดและฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงานตามมาตรา 9, 72 ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวไม่มีบทกำหนดโทษตาม ป.อ. มาตรา 18 อันจะเป็นความผิดทางอาญา ดังนั้น คดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 27, 54 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้วโดยผลของ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มาตรา 3 มาปรับใช้แก่คดีนี้ได้ ทั้งไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มาตรา 102 และมาตรา 122 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้อีกเช่นกัน เพราะคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าว ข้อ 1 กำหนดให้มาตรา 102 และมาตรา 122 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป จึงมีผลให้การกระทำความผิดที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 เป็นกรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังบัญญัติให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดอีกต่อไปตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง มิใช่ไม่มีผลบังคับในระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ดังที่ฎีกาเท่านั้น เมื่อจำเลยกระทำความผิดในวันที่ 20 ธันวาคม 2559 อันเป็นการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 จึงเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติในภายหลังบัญญัติให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2108/2562

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 106 ทวิ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ออกใช้บังคับ และให้ยกเลิก พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 แต่ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 4, 16 วรรคหนึ่ง, 88 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดคงบัญญัติให้การกระทำความผิดตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ โดยมีกำหนดโทษตามมาตรา 118 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงสองล้านบาท โทษจำคุกตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดจึงเป็นคุณแก่จำเลยที่ 3 มากกว่า พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ว่าในทางใด ตาม ป.อ. มาตรา 3


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2062/2562

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานรับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน ตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 27, 54 รวมกับความผิดฐานอื่น ๆ แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 มี พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ประกาศใช้บังคับให้มีผลตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไป โดยมาตรา 3 กำหนดให้ยกเลิก พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 และตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 นำข้อหาความผิดเดิมตามมาตรา 27, 54 ฐานรับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานมาบัญญัติเป็นความผิดไว้ซึ่งตรงกับมาตรา 9, 102 ของพระราชกำหนดฉบับดังกล่าว แต่ต่อมามีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 33/2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ข้อ 1 ให้มาตรา 102 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป และข้อ 6 ให้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 ซึ่งตรงกับวันที่ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับ ความผิดฐานรับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เกิดขึ้นก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 จึงเป็นกรณีที่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังมิได้กำหนดให้การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดต่อไป จำเลยที่ 1 จึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนี้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8941/2561

เมื่อจำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวซึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมีจำนวนตั้งแต่สิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปไว้ในครอบครอง ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะกระทำความผิด ให้ถือว่าจำเลยทั้งสองมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในวรรคสามของมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามปริมาณ ดังต่อไปนี้ ให้สันนิษฐานว่าเป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ...


(2) แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีน มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปหรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป ...


และ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บทบัญญัติมาตรา 15 วรรคสาม มาตรา 17 วรรคสอง และมาตรา 26 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ไม่ให้ใช้บังคับแก่คดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้นำกฎหมายซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ บังคับแก่คดีดังกล่าวต่อไปจนกว่าคดีถึงที่สุด" ซึ่งหมายความว่ามิให้นำ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 อันเป็นกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดมาใช้บังคับแก่คดีนี้ เนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 ใช้บังคับ (ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2560 เป็นต้นไป) อย่างไรก็ตามเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 6 - 7/2561 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 ว่า พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ในส่วนที่ห้ามมิให้นำมาตรา 15 วรรคสาม มาตรา 17 วรรคสอง และมาตรา 26 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาใช้บังคับแก่คดีที่ยังไม่ถึงที่สุด เป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 29 วรรคสอง ตามประกาศสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง ผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งลงโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนที่ 104 ก ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2561 ดังนั้น เมื่อคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกาจึงมีอำนาจนำ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 3 อันเป็นกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดมาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้ตาม ป.อ. มาตรา 3 จึงสันนิษฐานว่าจำเลยทั้งสองมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันมิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6794/2561

ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยหมิ่นประมาทโจทก์อันเป็นการกระทำโดยการโฆษณา ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 จึงเป็นฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิด คำฟ้องของโจทก์ในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)


คดีอาญาเรื่องใดจะต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาอัตราโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับข้อหาแต่ละกระทงความผิดเป็นสำคัญ เมื่อความผิดในกระทงนั้นมีความผิดหลายบทรวมอยู่ด้วย ถ้าบทหนักไม่ต้องห้ามก็ถือว่าทุกบทไม่ต้องห้าม คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า และฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตาม ป.อ. มาตรา 326, 393 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) เห็นได้ว่าเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ดังนั้น แม้ความผิดฐานหมิ่นประมาทมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และฐานดูหมิ่นซึ่งหน้ามีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ก็ย่อมไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงด้วย


โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) เดิม แต่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งมาตรา 14 (1) ที่แก้ไขใหม่ใช้กับกรณีกระทำการโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทางอินเทอร์เน็ตหรือทางออนไลน์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมหรือเท็จ ที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนแต่ไม่ใช้กับกรณีนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อเป็นการใส่ความผู้อื่นโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งมีบทบัญญัติตาม ป.อ. ระบุไว้ว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทแล้ว การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่มีมูลเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ที่แก้ไขใหม่ อีกต่อไป ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6661/2561

ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามี พ.ร.ก.บริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มาตรา 3 (1) ให้ยกเลิก พ.ร.บ.การทำงานของต่างด้าว พ.ศ.2551 และให้ใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 แทน ซึ่งมาตรา 9 บัญญัติให้การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิด และมาตรา 102 กำหนดโทษสำหรับความผิดดังกล่าวไว้ ต่อมาเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 33/2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ข้อ 1 ให้มาตรา 102 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป ถือว่าการกระทำความผิดในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 เป็นการกระทำที่ไม่มีโทษ จึงไม่เป็นความผิดอาญา ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง ส่วนการกระทำความผิดที่เกิดก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าที่ถูกยกเลิกไปโดย พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มาตรา 3 แม้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 จะยังกำหนดให้เป็นความผิด แต่ไม่มีโทษ จึงต้องถือว่า พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังกำหนดให้การกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดอีกต่อไปตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสองดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงานโดยผิดกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จำเลยทั้งสองมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8346/2560

แม้ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นพี่ชาย บิดา และสามีของผู้คัดค้านที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 ก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้มีอำนาจฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แทนผู้คัดค้านที่ 7 ถึงที่ 9 ได้


เจ้าของที่แท้จริงในทรัพย์สินเท่านั้นที่มีอำนาจยื่นคำคัดค้านเพื่อขอคืนทรัพย์สิน ผู้ครอบครองทรัพย์สินแม้ต้องรับผิดชอบต่อเจ้าของทรัพย์สินก็ไม่อาจยื่นคำคัดค้านได้ เมื่อผู้คัดค้านที่ 5 เป็นเพียงผู้มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝาก ส่วนเงินในบัญชีเงินฝากเป็นของผู้คัดค้านที่ 6 ผู้คัดค้านที่ 5 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดี


พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ในส่วนมาตรการดำเนินคดีต่อทรัพย์สินที่ให้ยึดหรืออายัดและให้ตกเป็นของแผ่นดิน เป็นคนละส่วนกับการดำเนินคดีอาญาต่อบุคคล แต่เป็นมาตรการพิเศษที่มีลักษณะเฉพาะให้ดำเนินการทางแพ่งต่อทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด โดยมีเหตุผลมาจากหลักการคุ้มครองประโยชน์ของสังคมหรือประโยชน์สาธารณะ และหลักการติดตามและเรียกคืนทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดของรัฐ ทำให้สามารถดำเนินคดีทางแพ่งต่อทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดได้ โดยมิต้องคำนึงว่าทรัพย์สินนั้นผู้เป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินจะได้มาก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับหรือไม่ เพราะมาตรการดังกล่าวมิใช่โทษทางอาญาหรือเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จึงใช้บังคับย้อนหลังได้ตามนัยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 40 - 41/2546


ทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 3 ได้มาระหว่างกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ต้องบังคับตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคสอง ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ผู้คัดค้านที่ 3 จึงมีภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานนี้


ผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 6 ไม่เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐาน จึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง (2) ผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 6 ต้องแสดงให้เห็นว่าได้รับโอนเงินจากผู้คัดค้านที่ 3 โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10521/2559

แม้จำเลยจะไม่ได้หยิบยกคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 37/2557 เรื่อง ให้ผู้มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่สำหรับใช้เฉพาะแต่การสงครามนำส่งมอบ ซึ่งสั่ง ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2557 มาอ้างในระหว่างการพิจารณาคดีและคดีนี้ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วก็ตาม แต่จำเลยกำลังรับโทษตามคำพิพากษาดังกล่าวอยู่ หากปรากฏตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังว่าจำเลยไม่ต้องรับโทษในการกระทำของจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง แล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะร้องขอต่อศาลให้กำหนดโทษเสียใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังได้ เพราะเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง


จำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557 ภายหลังกระทำความผิดดังกล่าวระหว่างการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2557 ได้มีคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 37/2557 เรื่อง ให้ผู้มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่สำหรับใช้เฉพาะแต่การสงครามนำส่งมอบ กำหนดให้ผู้ที่มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดสำหรับใช้เฉพาะแต่การสงครามไว้ในครอบครองนำมามอบให้นายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ภายในวันที่ 10 มิถุนายน 2557 ไม่ต้องรับโทษ จึงต้องถือว่าในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวกฎหมายได้ยกเว้นโทษให้แก่ผู้มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนสำหรับใช้เฉพาะแต่การสงครามไว้ในความครอบครองแล้ว กรณีเป็นเรื่องที่มีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังบัญญัติให้การกระทำของจำเลยไม่ต้องรับโทษ จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15189/2558

พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 26 บัญญัติว่า "เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินใช้บังคับในท้องที่ใดแล้ว (4) ถ้าเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติส่วนใดแล้ว เมื่อ ส.ป.ก. จะนำที่ดินแปลงใดในส่วนนั้นไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินแปลงนั้น..." แม้ปรากฏว่ามี พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอบ้านแพง อำเภอท่าอุเทน และกิ่งอำเภอโพนสวรรค์ อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2534 ก็ตาม แต่ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินดังกล่าวเป็นเพียงการกำหนดขอบเขตของที่ดินที่จะทำการปฏิรูปที่ดินเท่านั้น ไม่ได้มีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในทันที พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติยังคงเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอยู่เช่นเดิม จนกว่าจะได้มีการส่งมอบพื้นที่ให้แก่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อดำเนินการจัดสรรที่ดินให้แก่ผู้ได้รับอนุญาตตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป หากจะถือว่าการประกาศ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินแปลงใด มีผลเป็นการเพิกถอนสภาพป่าสงวนแห่งชาติในทันที ก็จะเป็นการส่งเสริมให้บุคคลใด ๆ บุกรุกเข้ามาทำประโยชน์หรือเข้าครอบครองที่ป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 อันจะเป็นช่องว่างของกฎหมาย บทบัญญัตินี้จึงมุ่งหมายให้ ส.ป.ก. เข้าไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรกรรมในพื้นที่ป่านั้นและจัดสรรให้ผู้ได้รับอนุญาตก่อน จึงจะถือเป็นการเพิกถอนสภาพป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและที่ดินของรัฐ เมื่อคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครพนมได้ออกประกาศให้เกษตรกรยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเกิดเหตุหลังจากที่ผู้ร้องถูกดำเนินคดีนี้แล้ว ดังนั้น ในขณะที่ผู้ร้องกระทำความผิดคดีนี้ ผู้ร้องจึงยังไม่เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินเกิดเหตุ การจัดสรรที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินยังไม่เสร็จสิ้น ที่ดินเกิดเหตุจึงยังมีสภาพเป็นที่ป่าสงวนแห่งชาติอยู่ การกระทำของผู้ร้องจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง แม้ต่อมาผู้ร้องจะได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งรวมถึงที่ดินเกิดเหตุ ก็เป็นเพียงทำให้การครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของผู้ร้องนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตไม่เป็นความผิดต่อกฎหมาย แต่ไม่มีผลเป็นการลบล้างการกระทำความผิดก่อนหน้าที่ผู้ร้องจะได้รับอนุญาต กรณีหาใช่เป็นเรื่องมีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังทำให้การกระทำของผู้ร้องไม่เป็นความผิดต่อไปตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9955/2558

ขณะเกิดเหตุ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ที่ให้เพิ่มความตามมาตรา 98 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งให้นำมาตรา 74/1 มาใช้บังคับโดยอนุโลมยังไม่มีผลใช้บังคับ เมื่อมาตรา 98 ประกอบมาตรา 74/1 เป็นบทบัญญัติที่มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความด้วย ประกอบกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มิได้มีบทเฉพาะกาลให้นำมาตรา 98 ประกอบมาตรา 74/1 มาใช้บังคับแก่คดีที่เกิดขึ้นก่อน พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ การตีความกฎหมายจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด จะขยายความไปถึงคดีที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวใช้บังคับโดยที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดอันจะเป็นผลร้ายแก่จำเลยหาได้ไม่ เพราะจะขัดต่อความรับผิดของบุคคลในการรับโทษทางอาญา ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง กรณีจึงนำมาตรา 98 ประกอบมาตรา 74/1 มาใช้ย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่จำเลยมิได้ อายุความการฟ้องคดีอาญาแก่จำเลยที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไต่สวนแล้วมีมติแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลย จึงต้องพิจารณาตามความใน ป.อ. มาตรา 95 เมื่อความผิดตาม ป.อ. มาตรา 148 ประกอบมาตรา 83 และ 86 ที่โจทก์ฟ้องมีอายุความยี่สิบปีนับแต่วันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 95 (1) การที่โจทก์ฟ้องและได้ตัวจำเลยมาดำเนินคดีนี้เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 เกินกว่ายี่สิบปีนับแต่วันกระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17905/2557

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2539 ซึ่งขณะนั้น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ที่ให้เพิ่มความตามมาตรา 98 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งให้นำมาตรา 74/1 มาใช้บังคับโดยอนุโลมยังไม่มีผลใช้บังคับ เมื่อมาตรา 74/1 ประกอบมาตรา 98 เป็นบทบัญญัติที่มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความด้วย ประกอบกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มิได้มีบทเฉพาะกาลให้นำมาตรา 74/1 ประกอบมาตรา 98 มาใช้บังคับแก่คดีที่เกิดขึ้นก่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ดังนี้ การตีความกฎหมายจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด จะขยายความไปถึงคดีที่เกิดขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับโดยที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งอันจะเป็นผลร้ายแก่จำเลยหาได้ไม่ เพราะจะขัดต่อความรับผิดของบุคคลในการรับโทษทางอาญาตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง กรณีจึงนำมาตรา 74/1 ประกอบมาตรา 98 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาใช้ย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่จำเลยมิได้ อายุความการฟ้องคดีอาญาแก่จำเลยที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไต่สวนแล้วมีมติว่าจำเลยมีความผิดอาญา จึงต้องพิจารณาตามความใน ป.อ. มาตรา 95 เมื่อความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี จึงมีอายุความสิบห้าปีนับแต่วันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 95 (2) โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2554 เกินกว่าสิบห้าปีนับแต่วันกระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15241/2557

ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้มี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 3 ยกเลิก พ.ร.บ.มาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 แม้ความผิดฐานสมคบและรับ หน่วงเหนี่ยว หรือกักขัง ซึ่งเด็ก ที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษ ยังคงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 โดยให้ถือว่าเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ตามมาตรา 6 และมาตรา 9 ก็ตาม แต่องค์ประกอบความผิดตามกฎหมายใหม่ต้องเป็นการกระทำ "เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ" โดยมาตรา 4 นิยามคำว่า "แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ" หมายความว่า การแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี การผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น การเอาคนลงเป็นทาส การนำคนมาขอทาน การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ การบังคับตัดอวัยวะเพื่อการค้า หรือการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น ฟ้องโจทก์ต้องบรรยายฟ้องให้ครบองค์ประกอบความผิดดังกล่าวด้วย เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องโดยไม่ปรากฏว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นการกระทำ "เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ" ตามที่กฎหมายใหม่บัญญัติไว้ ฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิด ไม่อาจฟังลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามกฎหมายใหม่ได้ เป็นกรณีที่ตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังให้การกระทำตามฟ้องไม่เป็นความผิดต่อไป จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12557/2557

ความรับผิดในคดีนี้ซึ่งเป็นคดีแพ่งต้องอาศัยมูลมาจากการกระทำความผิดในทางอาญา คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยโดยรับฟังข้อเท็จจริงในส่วนการกระทำของจำเลยที่ 2 ไปตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดเชียงราย ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย และคดีในส่วนอาญาสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่สุด ดังที่ศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัย ดังนี้ ในการพิพากษาคดีนี้จำต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาในส่วนอาญาดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้มีส่วนร่วมในการหมิ่นประมาทโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้องโจทก์


ในระหว่างคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้มี พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2550 เป็นต้นไป บัญญัติในมาตรา 3 ว่าให้ยกเลิก พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 ย่อมมีผลให้ พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 ไม่อาจบังคับใช้ได้อีกต่อไป และไม่ปรากฏว่า พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 บัญญัติให้บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ต้องรับผิดเป็นตัวการในความผิดอันเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์อีก ฉะนั้นการกระทำของจำเลยที่ 2 ซึ่งเดิมเป็นความผิดเพราะมีฐานะเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์จึงเป็นกรณีที่กฎหมายซึ่งบัญญัติในภายหลังมิได้กำหนดให้การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดอีกต่อไป จำเลยที่ 2 พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2137/2557

ป.อ. มาตรา 332 (2) ให้อำนาจศาลสั่งให้โฆษณาคำพิพากษาเท่านั้น มิได้มีกฎหมายให้อำนาจศาลสั่งให้โฆษณาคำขออภัยด้วย การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 โฆษณาคำขออภัยโจทก์จึงเป็นการลงโทษจำเลยที่ 2 นอกเหนือจากโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ต้องห้ามตาม ป.อ มาตรา 2 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8229/2556

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการมีมติว่าผู้คัดค้านร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ และเสนอความเห็นไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งหรือดำเนินการให้มีการสั่งลงโทษไล่ออกจากการราชการ รวมทั้งแจ้งให้ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติหรือเพิ่มขึ้นผิดปกติตกเป็นของแผ่นดินก่อนผู้คัดค้านเกษียณอายุราชการ ผู้ร้องย่อมดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปได้เสมือนว่าผู้คัดค้านยังมิได้พ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา 21 จัตวา แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติชอบในวงการ พ.ศ.2518 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงการราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2530 ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้อง


พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2530 มาตรา 21 ตรี วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บรรดาทรัพย์สินที่คณะกรรมการมีมติว่าเป็นทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติหรือเพิ่มขึ้นผิดปกติตามมาตรา 21 ทวิ ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลโดยไม่ชักช้าเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน เว้นแต่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นจะสามารถนำพยานหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่า ทรัพย์สินดังกล่าวนั้นตนได้มาโดยชอบ ในกรณีนี้ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม" จากผลของบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว คำร้องของผู้ร้องจึงเป็นมาตรการในทางแพ่งเพื่อบังคับให้ทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านร่ำรวยผิดปกติหรือมีเพิ่มขึ้นผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน มิใช่เป็นการลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดทางอาญาอันจะสามารถบังคับได้ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติและกำหนดโทษไว้ตาม ป.อ มาตรา 2 แม้ในขณะยื่นคำร้องเพื่อดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวมีการยักย้ายทรัพย์สินไปก่อน และบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 มาตรา 21 ตรี วรรคหนึ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราบการทุจริต และประพฤติมิชอบในวงราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2530 มิได้กล่าวถึงวิธีการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินดังกล่าวนั้นตามที่ผู้คัดค้านฎีกา แต่เมื่อต่อมาได้มี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 83 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 บัญญัติวิธีการบังคับคดีในกรณีไม่สามารถบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่ต้องตกเป็นของแผ่นดิน โดยให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหาไม่เกินมูลค่าของทรัพย์สินที่ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน จึงชอบที่จะนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับให้มีผลย้อนหลังแก่ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ต้องตกเป็นของแผ่นดินนั้นได้ด้วย การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ผู้คัดค้านชดใช้เงิน 73,525,436.09 บาท จึงเป็นการกำหนดวิธีปฏิบัติตามคำพิพากษาในการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของผู้คัดค้านแทนทรัพย์สินที่ศาลมีคำพิพากษาให้ตกเป็นของแผ่นดิน หรือเพื่อให้มีการขอให้เพิกถอนการโอนหรือการกระทำใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ได้กระทำหลังจากผู้คัดค้านแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 82 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7707/2555

ป. ป่าไม้จังหวัดอุดรธานีซึ่งรับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เข้าร้องทุกข์ต่อพันตำรวจโท ส. พนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยกับพวกก่อนใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66 (เดิม), มาตรา 84 (เดิม) และมาตรา 89 (เดิม) โดยไม่มีมาตราใดของบทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้พนักงานสอบสวนซึ่งรับคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษไว้ก่อนดังกล่าวนั้นต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วย จึงต้องเป็นไปตามหลักทั่วไปว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง แม้ต่อมาจะมีการแก้ไข มาตรา 66 และมาตรา 84 โดยก็มิได้บัญญัติให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนสอบสวนกรณีของจำเลยไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการ ดังนั้น การสอบสวนของพนักงานสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย และการที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมิได้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงไม่มีผลทำให้การสอบสวนและการฟ้องคดีนี้ของโจทก์เป็นไปโดยไม่ชอบแต่อย่างใด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12000/2554

แม้ขณะเกิดเหตุมีกฎกระทรวง (พ.ศ.2515) ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 294 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2515 กำหนดว่า การประพฤติตนไม่สมควรแก่วัยคือ การประพฤติตนดังต่อไปนี้ (9) เที่ยวเตร่ในเวลากลางคืนระหว่างเวลา 22 นาฬิกา ถึงเวลา 04.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้นเว้นแต่ไปกับบิดามารดาหรือผู้ปกครอง ยังมีผลบังคับใช้จึงทำให้การเที่ยวเตร่ในเวลากลางคืนหลัง 22 นาฬิกาของ ท. ป. ธ. และ ส. เป็นการประพฤติตนไม่สมควร อันมีผลสืบเนื่องทำให้จำเลยซึ่งเป็นผู้เฝ้าร้านเกมในขณะเกิดเหตุเป็นผู้กระทำความผิดฐานชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 (3) มีผลใช้บังคับอยู่ก็ตาม แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มีการออกกฎกระทรวงกำหนดเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด พ.ศ.2549 โดยอาศัยอำนาจตาม มาตรา 4 และมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ใช้บังคับแทนแล้ว ซึ่งกฎกระทรวงดังกล่าวไม่ได้กำหนดว่า กรณีเด็กเที่ยวเตร่ในเวลากลางคืนระหว่างเวลา 22 นาฬิกา ถึงเวลา 04.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น เป็นการประพฤติตนไม่สมควร จึงเป็นกรณีที่กฎกระทรวงฉบับใหม่ยกเลิกกฎกระทรวงฉบับเดิมทั้งฉบับ ถือได้ว่าบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังการกระทำดังกล่าวนั้นไม่เป็นความผิดอีกต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11850/2554

พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 มาตรา 4 กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 เมษายน 2549 การที่จำเลยรับบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่ออย่างละ 1 ใบ จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง จากนั้นจำเลยชูบัตรเลือกตั้งสองใบ พร้อมกับพูดว่า "ผมขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 65" แล้วฉีกบัตรเลือกตั้งทั้งสองใบทันทีในวันดังกล่าว ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งทั่วไปตาม พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 โดยขณะนั้นการเลือกตั้งยังมีผลในทางปฏิบัติอยู่ เมื่อจำเลยจงใจฉีกบัตรเลือกตั้งอันเป็นการกระทำด้วยประการใดๆ ให้บัตรเลือกตั้งชำรุดหรือเสียหายหรือให้เป็นบัตรเสีย การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 108 ที่บังคับใช้อยู่ในขณะเกิดเหตุแล้ว แม้ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มีผลเป็นการเพิกถอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามประกาศผลการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าว ตามคำวินิจฉัยที่ 9/2549 ของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ขณะเกิดเหตุ ในวันเกิดเหตุเป็นวันเลือกตั้งตามกฎหมายและกระบวนการเลือกตั้งที่ดำเนินการให้มีการลงคะแนนโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งก็เป็นไปโดยอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเช่นเดียวกับการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของจำเลย คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหาได้มีผลเป็นการลบล้างว่าไม่มีการกระทำของจำเลยเกิดขึ้นในวันดังกล่าว หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามกฎหมายแต่ประการใดไม่ กรณีไม่ต้องด้วย ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง


แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย มาตรา 65 บัญญัติว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้" แต่บทบัญญัติมาตรา 28 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติในหมวดเดียวกันได้บัญญัติไว้ด้วยว่า "บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน" ดังนั้นการใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีดังกล่าวต้องเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9900/2554

ในขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้มี พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2545 เป็นต้นไป และเมื่อปี 2546 มีการออกพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวแก่การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นทุกประเภท ซึ่งตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ยกเลิก พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลทุกฉบับ และ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ไม่ได้บัญญัติถึงลักษณะความผิดฐานก่อให้เกิดการวุ่นวายในที่เลือกตั้งตามที่โจทก์ฟ้องไว้อีก จึงเป็นกรณีที่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังมิได้กำหนดให้การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดต่อไป จำเลยที่ 1 จึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดเช่นนี้ จึงเป็นเหตุยกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185


ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิด อันเป็นเหตุยกฟ้องหรือไม่นั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนี้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจหยิบยกปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยนี้ขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องโจทก์ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215, 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8222/2554

ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง บทบัญญัติดังกล่าวได้แยกผลของการกระทำความผิดและการบังคับโทษตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้วจากกันต่างหาก กล่าวคือ ในส่วนของการบังคับตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดนั้นหากมีส่วนใดที่ยังค้างอยู่ระหว่างการบังคับ ก็ให้การบังคับนั้นสิ้นสุดลง ไม่มีการบังคับในส่วนที่ค้างอยู่อีกต่อไปเท่านั้น หาได้มีผลให้รื้อฟื้นการบังคับโทษที่เสร็จสิ้นไปแล้วขึ้นมาพิจารณาใหม่อีกแต่อย่างใด โทษที่ได้รับมาแล้วต้องถือว่ายุติไปตามผลของคำพิพากษา ดังนั้นค่าปรับที่จำเลยชำระไปตามคำพิพากษาจนครบถ้วนแล้วจึงถือว่าการบังคับโทษปรับเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยจึงไม่อาจถอนคืนได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5592/2554

พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 33 บัญญัติว่า "คนต่างด้าวผู้ใดทำงานฝ่าฝืนพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" ส่วน พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2551 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "คนต่างด้าวผู้ใดทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" และมาตรา 57 บัญญัติว่า "ให้ออกกฎกระทรวงกำหนดงานที่คนต่างด้าวอาจทำได้ตามมาตรา 7 ให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎกระทรวงตามมาตรา 7 ให้นายทะเบียนอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานใดๆ ได้ เว้นแต่งานที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521" การกระทำของจำเลยตามฟ้องยังคงถือเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ทั้งกฎหมายทั้งสองฉบับมีระวางโทษเท่ากัน จึงต้องใช้กฎหมายในขณะที่จำเลยกระทำความผิด ดังนี้ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นคนต่างด้าวทำงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยเด็ดขาด เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2550 และมีคำขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 6, 33 โดยยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2551 ขณะที่ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มีผลใช้บังคับและศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด จึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2079/2554

แม้คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 3 ลงวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2548 ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 สิ้นสุดลง และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 เป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ พ.ร.บ.ดังกล่าวก็มีฐานะเป็น พ.ร.บ.ฉบับหนึ่งที่มีการประกาศใช้แยกมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 การที่มีประกาศคณะการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับดังกล่าว กำหนดให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 สิ้นสุดลง จึงหามีผลทำให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 สิ้นสุดลงตามไปด้วยไม่อีกทั้งประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ข้อ 4 ยังได้บัญญัติด้วยว่า "ศาลทั้งหลาย นอกจากศาลรัฐธรรมนูญ คงมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรคคดีตามบทกฎหมาย ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย" อันเป็นการรับรองให้กฎหมายทั้งปวงที่มีผลใช้บังคับอยู่ก่อนการปฏิรูปการปกครองยังคงมีผลใช้บังคับได้ต่อไปอีกด้วย ดังนั้น เมื่อไม่มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับใดออกมาบัญญัติให้ยกเลิก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้จึงยังผลใช้บังคับต่อไป สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงยังไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (5) และแม้ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นจะมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 ใช้บังคับโดยให้ยกเลิก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 ก็ตาม แต่ความผิดที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาพผู้แทนราษฎรโดยรู้อยู่แล้วว่าบุคคลนั้นไม่สิทธิสมัครรับเลือกตั้งซึ่งมาตรา 34 และมาตรา 139 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 อันเป็นกฎหมายที่ได้บัญญัติภายหลังยังคงบัญญัติให้การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดอยู่และมีระวางโทษเท่าเดิมซึ่งไม่มีส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยจึงไม่ทำให้จำเลยพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด ทั้งไม่เป็นกรณีต้องนำกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังมาปรับใช้แก่คดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง และมาตรา 3


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1341/2554

จำเลยทั้งสามร่วมกันเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการอนาจาร แม้กระทำต่อผู้เสียหายหลายคนในคราวเดียวกัน แต่ก็เป็นการกระทำต่อผู้เสียหายแต่ละคนโดยเฉพาะ จึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน


ภายหลังกระทำความผิด ได้มี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ให้ยกเลิก พ.ร.บ.มาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 โดยไม่ได้บัญญัติให้การกระทำความผิดฐานค้าหญิงโดยหญิงนั้นยินยอมตามที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามมาตรา 5, 7 วรรคหนึ่งและวรรคสองเป็นความผิดอีกต่อไป จำเลยที่ 1 จึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดฐานนี้ตาม ป.อ. มาตรา 2


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1224/2554

แม้ซองกระสุนปืนพกกึ่งอัตโนมัติของกลางเป็นซองกระสุนที่สามารถบรรจุกระสุนได้เกินกว่า 10 นัด อันเป็นซองกระสุนชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2491) ออกตามความใน พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ข้อ 2 (12) ซึ่งเป็นความผิดฐานมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 ตามฟ้องโจทก์ แต่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามีกฎกระทรวง ฉบับที่ 18 (พ.ศ.2552) ออกตามความใน พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 กำหนดให้ซองกระสุนที่สามารถบรรจุกระสุนได้เกินกว่า 20 นัด เป็นซองกระสุนชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ จึงถือได้ว่าบทบัญญัติของกฎกระทรวงดังกล่าวที่บัญญัติไว้ภายหลังการกระทำของจำเลยในความผิดฐานมีซองกระสุนปืนชนิดบรรจุกระสุนปืนได้ 15 นัด ไม่เป็นความผิดอีกต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15623/2553

จำเลยนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยสมัครเป็นสมาชิกของพรรคคนขอปลดหนี้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2548 และพรรคได้แจ้งจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในรอบปีปฏิทินที่ผ่านมาซึ่งมีจำเลยด้วยไปยังนายทะเบียนพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2549 โดยมีการตีตรารับเอกสารไว้ จำเลยจึงเป็นสมาชิกพรรคคนขอปลดหนี้นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน แม้ในชั้นอุทธรณ์จำเลยโต้เถียงว่าจำเลยไม่ทราบมาก่อนว่าพรรคคนขอปลดหนี้ไม่ได้แจ้งชื่อจำเลยเป็นสมาชิกพรรคต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองก็ตาม แต่ก็ยังคงเป็นการอุทธรณ์โต้เถียงในข้อที่ว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง เนื่องจากจำเลยได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคคนขอปลดหนี้โดยถูกต้องตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2548 หลังจากนั้นเป็นเรื่องของพรรคที่จะต้องส่งชื่อจำเลยไปยังนายทะเบียนพรรคการเมืองไม่เกี่ยวกับจำเลย และแม้จำเลยจะอ้างในอุทธรณ์อีกว่า จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยเป็นสมาชิกพรรคคนขอปลดหนี้ไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน ก็ยังคงเป็นการอุทธรณ์โต้เถียงในประเด็นที่ว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดโดยมีพยานหลักฐานตามที่จำเลยนำสืบ ซึ่งรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้อยู่นั่นเอง จึงหาใช่เป็นการอุทธรณ์นอกฟ้อง นอกประเด็น อันจะทำให้เป็นการอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น และเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ


แม้ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้มี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 บังคับใช้ โดยมาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 แล้วก็ตาม แต่ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 139 ยังคงบัญญัติให้การสมัครรับเลือกตั้งโดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกตั้ง เป็นความผิดและต้องรับโทษโดยระวางโทษเช่นเดียวกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 100 ดังนี้ จึงมิใช่เป็นกรณีบทบัญญัติในภายหลังบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป หรือเป็นคุณแก่จำเลยกว่าบทบัญญัติของกฎหมายเดิม จำเลยจึงไม่ได้รับประโยชน์จากการยกเลิก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 ดังกล่าว ทั้งนี้ ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง และมาตรา 3


ศาลล่างทั้งสองปรับบทความผิดของจำเลยตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 30 โดยที่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องด้วยว่าจำเลยสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคการเมืองมากกว่าหนึ่งพรรค อันจะเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 30 เป็นการไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้าง และแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13689/2553

เมื่ออาคารที่จำเลยครอบครองต่อจาก ส. ซึ่งถึงแก่ความตาย ปลูกสร้างห่างจากเขตที่ดินข้างเคียง 45 เซนติเมตร อันเป็นการฝ่าฝืนกฎกระทรวงและเทศบัญญัติของเทศบาลเมืองสวรรคโลก เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2500 และเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ จึงชอบที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารได้ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 42 แม้ก่อนโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้มีกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ.2543) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กำหนดข้อยกเว้นให้สามารถก่อสร้างผนังของอาคารห่างเขตที่ดินน้อยกว่า 50 เซนติเมตรได้ หากได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากเจ้าของที่ดินข้างเคียงในกรณีก่อสร้างชิดเขตที่ดิน และ ช. เจ้าของที่ดินข้างเคียงได้ทำหนังสือยินยอมเช่นว่าให้แก่ ส. ซึ่งเข้าข้อยกเว้นดังกล่าว อันแตกต่างไปจากกฎหมายเดิมที่ใช้ขณะจำเลยกระทำความผิดและเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าตาม ป.อ. มาตรา 3 วรรคแรก ก็ตาม แต่ก็มิใช่เป็นกฎหมายยกเว้นความผิดของจำเลยที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งเป็นความผิดสำเร็จไปแล้วกลับกลายเป็นไม่เป็นความผิด จำเลยจึงยังไม่พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 แต่เมื่อจำเลยไม่ต้องรื้อถอนอาคารพิพาทโดยผลของกฎหมายดังกล่าว ก็ไม่อาจลงโทษปรับจำเลยรายวันไปจนกว่าจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ คงลงโทษปรับจำเลยรายวันได้เพียงถึงวันก่อนวันที่กฎกระทรวงดังกล่าวมีผลบังคับใช้


ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษปรับรายวันนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป อันเป็นเวลาภายหลังจากที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ.2543) มีผลใช้บังคับแล้วนั้นแม้เป็นการไม่ถูกต้อง แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาในข้อดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขกำหนดโทษให้ถูกต้องได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8928/2553

แม้ซองกระสุนปืนของกลาง สามารถบรรจุกระสุนได้ 15 นัด ซึ่งเกินกว่า 10 นัด อันเป็นซองกระสุนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2491) ออกตามความใน พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ข้อ 12 (2) ซึ่งเป็นความผิดฐานมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 ก็ตาม แต่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มีกฎกระทรวง ฉบับที่ 18 (พ.ศ.2552) ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2552 ให้ยกเลิก กฎกระทรวงฉบับที่ 3 ข้อ 12 (2) โดยให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน "ซองกระสุนที่สามารถบรรจุกระสุนได้เกินยี่สิบนัดฯ" ดังนั้น ถือได้ว่าตามบทบัญญัติของกฎกระทรวงที่บัญญัติในภายหลังการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดอีกต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2910/2553

ซองกระสุนเป็นอาวุธปืนตามความหมายแห่ง พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4 (1) ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2491) ออกตามความใน พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ข้อ 1 (4) แม้ซองกระสุนชนิดบรรจุกระสุนได้ 15 นัด และ 30 นัด เป็นซองกระสุนที่สามารถบรรจุกระสุนได้เกินกว่า 10 นัด อันเป็นซองกระสุนชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2491) ข้อ 2 (12) ซึ่งเป็นความผิดฐานมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 ตามฟ้องโจทก์ แต่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามีกฎกระทรวง ฉบับที่ 18 (พ.ศ.2552) ออกตามความใน พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 กำหนดให้ซองกระสุนชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ต้องเป็นซองกระสุนที่สามารถบรรจุกระสุนได้เกิน 20 นัด จึงถือได้ว่าตามบทบัญญัติดังกล่าวที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำของจำเลยในความผิดฐานมีซองกระสุนชนิดบรรจุกระสุนได้ 15 นัด ไม่เป็นความผิดอีกต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง จำเลยคงมีความผิดฐานมีอาวุธปืน (ซองกระสุนชนิดบรรจุกระสุนได้ 30 นัด) ที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง สำหรับซองกระสุนชนิดบรรจุกระสุนได้ 30 นัด ของกลาง เป็นซองกระสุนชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ผู้ใดมีไว้ย่อมเป็นความผิด ซึ่งตาม ป.อ. มาตรา 32 บัญญัติให้ริบเสียทั้งสิ้น จึงต้องริบซองกระสุนชนิดบรรจุกระสุนได้ 30 นัด ของกลาง ตามบทบัญญัติดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2107/2553

ที่พิพาทที่จำเลยทำนาเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่สาธารณประโยชน์ อย่างไรก็ตามแม้ที่ดินพิพาทที่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองจะเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน โดยจำเลยมิได้มีสิทธิครอบครองและไม่ปรากฏว่า จำเลยได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่เมื่อจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2510 ถึง 15 กรกฎาคม 2545 จึงเป็นการเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทก่อนวันที่ 4 มีนาคม 2515 อันเป็นวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ป. ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ ใช้บังคับ ทั้งการครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2510 ตลอดมาก็เป็นการครอบครองสืบเนื่องมาจากการเข้ายึดถือครอบครองในครั้งแรก เมื่อมาตรา 108 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า นับตั้งแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 9 ต้องระวางโทษจำคุก ฯลฯ เช่นนี้การกระทำของจำเลยจึงไม่อาจมีความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินอันเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป. ที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5666/2552

ระหว่าง พิจารณาของศาลฎีกามี พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 มาตรา 3 บัญญัติว่า "ให้ยกเลิก (1) พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2535 (2) พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545" โดยยกเลิกบทบัญญัติตามมาตรา 26 วรรคสอง, 60 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่เป็นความผิดตามฟ้องที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ดังนั้น การฝ่าฝืนมาตรา 26 วรรคสอง, 60 แห่ง พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2535 จึงไม่ถือเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง ส่วนความผิดฐานร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2535 มาตรา 14, 59 นั้น พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 มาตรา 15, 80 ยังบัญญัติให้เป็นความผิดอยู่ แต่โทษปรับตามกฎหมายใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1792/2551

พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ออกมาใช้บังคับในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 และต่อมามีการออกพระราชกฤษฎีกาให้บทกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้แก่การเลือก ตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครสมุทรปราการเมื่อ พ.ศ.2547 และตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นฯ บัญญัติให้ยกเลิก พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ.2482 และตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นฯ เพียงแต่บัญญัติคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นเท่า นั้น บทกฎหมายดังกล่าวที่ใช้บังคับภายหลังการกระทำความผิดหาได้มีบทบัญญัติว่าการ กระทำของจำเลยเป็นความผิดต่อไป จึงถือว่าจำเลยพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10325/2550

เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน แต่ต่อมามีคำสั่งจังหวัดสุรินทร์ให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่ทางหลวงบาง ส่วนซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทย่อมไม่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันอีก ต่อไป นับแต่วันที่คำสั่งจังหวัดสุรินทร์มีผลใช้บังคับ แต่ที่ดินพิพาทยังคงมีสภาพเป็นที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินอยู่ต่อไป หาได้เปลี่ยนแปลงตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ และคำสั่งจังหวัดสุรินทร์ดังกล่าวมิใช่บทบัญญัติของกฎหมาย กรณีจึงหาใช่มีกฎหมายออกใช้ภายหลังยกเลิกความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4175/2550

ส. เป็นผู้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนอันเป็นความผิดมูลฐานมาตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปี 2544 ส่วนผู้คัดค้านที่ 1 เป็นภริยาผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุตรของ ส. จึงเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ ส.ผู้กระทำความผิดมูลฐาน กรณีต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 51 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยว กับการกระทำความผิด ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่ผู้คัดค้านทั้งสองที่จะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐาน ดังกล่าวว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงและทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่ เกี่ยวกับการกระทำความผิด พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน มีทั้งโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินโดยมิต้อง คำนึงว่าทรัพย์สินนั้นผู้เป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินจะได้มาก่อน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมีผลใช้บังคับหรือไม่ เพราะมาตรการดังกล่าวมิใช่โทษทางอาญาหรือเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดี อาญา จึงมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้ และไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4123/2550

ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 32 ข้อ 3 บัญญัติว่า บรรดาบทบัญญัติใดตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นฯ ที่ขัดหรือแย้งกับประกาศฉบับนี้ให้ใช้บทบัญญัติในประกาศฉบับนี้แทน ตามประกาศฉบับดังกล่าวให้คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องประกาศผลการเลือกตั้ง ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ได้รับการ เลือกตั้งภายหลังประกาศผลการเลือกตั้งแล้วได้ ดังนั้น บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นฯ ที่ขัดหรือแย้งกับเรื่องดังกล่าวเท่านั้นที่จะมีผลเป็นอันถูกยกเลิกไป ส่วนบทบัญญัติอื่นนอกจากนั้นยังมีผลใช้บังคับอยู่รวมทั้งบทบัญญัติที่ว่าการ กระทำของจำเลยตามฟ้องเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ จึงไม่ใช่กรณีที่มีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังว่าการกระทำของจำเลยตามฟ้องไม่ เป็นความผิดต่อไป หรือกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2719/2550

แม้ขณะเกิดเหตุการณ์ที่จำเลยตั้งสถานบริการประเภทสถานที่ที่มีสุรา น้ำชาและเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายและบริการโดยมีที่สำหรับพักผ่อนหลับนอน ให้แก่ลูกค้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.สถานบริการฯ มาตรา 26 วรรคหนึ่ง ฉบับเดิมก็ตาม แต่เนื่องจากในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ได้มี พ.ร.บ.สถานบริการ (ฉบับที่ 4)ฯ ออกมาใช้บังคับ ซึ่งตามพ.ร.บ.ฉบับหลังนี้ มาตรา 3 ได้บัญญัติให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า "สถานบริการ" ในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.สถานบริการฯ เดิม และได้บัญญัติข้อความใหม่ไว้ในมาตรา 3 ว่า "สถานบริการ" หมายความว่า สถานที่ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการโดยหวังประโยชน์ในทางการค้าดังต่อไปนี้ ...(2) สถานที่ที่มีอาหาร สุรา น้ำชา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายและบริการโดยมีผู้บำเรอสำหรับปรนนิบัติ ลูกค้า ดังนี้ เมื่อฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างเพียงว่า สถานที่ที่จำเลยตั้งขึ้นเพื่อให้บริการนั้น เป็นสถานที่ที่มีสุรา น้ำชาและเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายและบริการโดยมีที่สำหรับพักผ่อนหลับนอน ให้แก่ลูกค้าเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่ามีผู้บำเรอสำหรับปรนนิบัติลูกค้าด้วย กรณีจึงไม่เข้าบทนิยามคำว่า "สถานบริการ" ตาม พ.ร.บ.สถานบริการ (ฉบับที่ 4)ฯ ทั้งไม่มีบทบัญญัติใดตาม พ.ร.บ.สถานบริการดังกล่าว ระบุไว้ว่าการตั้งสถานที่เพื่อให้บริการตามฟ้องจะต้องได้รับใบอนุญาตจาก พนักงานเจ้าหน้าที่ และมีบทกำหนดโทษในกรณีที่มีผู้ฝ่าฝืนไว้เช่น พ.ร.บ.สถานบริการฉบับเดิม ถือได้ว่าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังการกระทำเช่นนั้นไม่เป็น ความผิดต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7768/2548

แม้ขณะเกิดเหตุ ว. จะเข้ามาดำรงตำแหน่งปลัดเมืองพัทยาโดยการว่าจ้างตามความในมาตรา 50 ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2521 แต่ปลัดเมืองพัทยาก็มีฐานะเป็นพนักงานเมืองพัทยาตามความในมาตรา 64 และพนักงานเมืองพัทยามีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. ตามความในมาตรา 66 ของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวที่ใช้บังคับในขณะกระทำความผิดคดีนี้ ดังนั้น หากขณะดำรงตำแหน่งปลัดเมืองพัทยา ว. ได้กระทำการใดผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และ ว. มิได้ถึงแก่ความตายเสียก่อน ว. ก็ต้องรับผิดในทางอาญาในฐานะเจ้าพนักงานตามที่ ป.อ. มาตรา 2 และมาตรา 147 ถึงมาตรา 166 บัญญัติไว้ แม้จะปรากฏว่าภายหลังกระทำความผิดได้มี พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2542 มาตรา 3 ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2521 และมีบทบัญญัติเกี่ยวกับที่มาของผู้ดำรงตำแหน่งปลัดเมืองพัทยาแตกต่างจาก กฎหมายเดิม แต่ความผิดที่ ว. ถูกกล่าวหาในคดีนี้มิได้มีการยกเลิกไปและก็มิได้เป็นเรื่องที่กฎหมายใหม่ บัญญัติว่าการกระทำใดไม่เป็นความผิดหรือกำหนดโทษเป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด จึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 จะอ้าง ป.อ. มาตรา 2 และมาตรา 3 มาเป็นประโยชน์แก่คดีของจำเลยที่ 1 ได้