ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

มาตรา ๑๔๗  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๔๘  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๔๙ ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๕๐ ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งโดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ซึ่งตนได้เรียก รับ หรือยอมจะรับไว้ก่อนที่ตนได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๕๑ ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๕๒ ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๕๓  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จ่ายทรัพย์ จ่ายทรัพย์นั้นเกินกว่าที่ควรจ่ายเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๕๔  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่หรือแสดงว่าตนมีหน้าที่เรียกเก็บหรือตรวจสอบภาษีอากร ค่าธรรมเนียม หรือเงินอื่นใด โดยทุจริตเรียกเก็บหรือละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีอากร ค่าธรรมเนียมหรือเงินนั้น หรือกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด เพื่อให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมนั้นมิต้องเสีย หรือเสียน้อยไปกว่าที่จะต้องเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๕๕ ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่กำหนดราคาทรัพย์สินหรือสินค้าใด ๆ เพื่อเรียกเก็บภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมตามกฎหมาย โดยทุจริตกำหนดราคาทรัพย์สินหรือสินค้านั้น เพื่อให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมนั้นมิต้องเสียหรือเสียน้อยไปกว่าที่จะต้องเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๕๖  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ตรวจสอบบัญชีตามกฎหมาย โดยทุจริต แนะนำ หรือกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด เพื่อให้มีการละเว้นการลงรายการในบัญชี ลงรายการเท็จในบัญชี แก้ไขบัญชี หรือซ่อนเร้น หรือทำหลักฐานในการลงบัญชีอันจะเป็นผลให้การเสียภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมนั้นมิต้องเสีย หรือเสียน้อยกว่าที่จะต้องเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๕๗  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๕๘  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์หรือเอกสารใดอันเป็นหน้าที่ของตนที่จะปกครองหรือรักษาไว้ หรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำเช่นนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๕๙  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ดูแล รักษาทรัพย์หรือเอกสารใด กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ โดยถอน ทำให้เสียหาย ทำลายหรือทำให้ไร้ประโยชน์ หรือโดยยินยอมให้ผู้อื่นกระทำเช่นนั้น ซึ่งตราหรือเครื่องหมายอันเจ้าพนักงานได้ประทับหรือหมายไว้ที่ทรัพย์หรือเอกสารนั้นในการปฏิบัติการตามหน้าที่ เพื่อเป็นหลักฐานในการยึดหรือรักษาสิ่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๖๐  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่รักษาหรือใช้ดวงตราหรือรอยตราของราชการหรือของผู้อื่น กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ โดยใช้ดวงตราหรือรอยตรานั้น หรือโดยยินยอมให้ผู้อื่นกระทำเช่นนั้น ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๖๑  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในเอกสารหรือดูแลรักษาเอกสาร กระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๖๒  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสาร กระทำการดังต่อไปนี้ในการปฏิบัติการตามหน้าที่
(๑) รับรองเป็นหลักฐานว่า ตนได้กระทำการอย่างใดขึ้น หรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ
(๒) รับรองเป็นหลักฐานว่า ได้มีการแจ้งซึ่งข้อความอันมิได้มีการแจ้ง
(๓) ละเว้นไม่จดข้อความซึ่งตนมีหน้าที่ต้องรับจด หรือจดเปลี่ยนแปลงข้อความเช่นว่านั้น หรือ
(๔) รับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้น มุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๖๓  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ในการไปรษณีย์ โทรเลขหรือโทรศัพท์ กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) เปิด หรือยอมให้ผู้อื่นเปิด จดหมายหรือสิ่งอื่นที่ส่งทางไปรษณีย์หรือโทรเลข
(๒) ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้สูญหาย หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้เสียหาย ทำลายหรือทำให้สูญหาย ซึ่งจดหมายหรือสิ่งอื่นที่ส่งทางไปรษณีย์หรือโทรเลข
(๓) กัก ส่งให้ผิดทาง หรือส่งให้แก่บุคคลซึ่งรู้ว่ามิใช่เป็นผู้ควรรับซึ่งจดหมาย หรือสิ่งอื่นที่ส่งทางไปรษณีย์หรือโทรเลข หรือ
(๔) เปิดเผยข้อความที่ส่งทางไปรษณีย์ ทางโทรเลขหรือทางโทรศัพท์
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๖๔  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน รู้หรืออาจรู้ความลับในราชการ กระทำโดยประการใด ๆ อันมิชอบด้วยหน้าที่ ให้ผู้อื่นล่วงรู้ความลับนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๖๕  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือคำสั่ง ซึ่งได้สั่งเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ป้องกันหรือขัดขวางมิให้การเป็นไปตามกฎหมายหรือคำสั่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๑๖๖  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ละทิ้งงานหรือกระทำการอย่างใด ๆ เพื่อให้งานหยุดชะงักหรือเสียหาย โดยร่วมกระทำการเช่นนั้นด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าความผิดนั้นได้กระทำลงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน เพื่อบังคับรัฐบาลหรือเพื่อข่มขู่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6653/2562
แม้จำเลยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการที่สังกัดในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่อำนาจหน้าที่ในการบรรจุแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการระดับ 8 ให้อธิบดีผู้บังคับบัญชาเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าวเมื่อได้รับความเห็นชอบจากปลัดกระทรวง ไม่ใช่เป็นอำนาจหน้าที่ของปลัดกระทรวงโดยตรง จำเลยในฐานะปลัดกระทรวง จึงไม่มีอำนาจสั่งย้ายโจทก์ไปดำรงตำแหน่งป่าไม้จังหวัดอำนาจเจริญด้วยตนเอง จึงขาดคุณสมบัติเฉพาะตัวตามที่กฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ ไม่อาจลงโทษจำเลยในฐานะเป็นตัวการเพราะใช้ให้กระทำความผิดได้ แต่การที่จำเลยให้ ด. ออกคำสั่งย้ายโจทก์ ถือได้ว่าเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ตาม ป.อ. มาตรา 86 ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดส่วนนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5799/2562
ขณะที่ บ. เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ส. และโรงพยาบาลส่งใบแสดงค่ารักษาพยาบาลไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลศาลเจ้าไก่ต่อนั้น บ. ยังไม่ได้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย และจำเลยไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องอุปการะเลี้ยงดู บ. ไม่ใช่บุคคลในครอบครัวตามนิยามที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของพนักงานส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2541 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ แม้ต่อมาจำเลยจดทะเบียนว่า บ. เป็นบุตร ก็มีผลให้ บ. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลยนับแต่วันที่จดทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1557 (เดิม) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ หาได้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ บ. เกิดแต่อย่างใดไม่ จำเลยและ บ. จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามระเบียบดังกล่าวสำหรับค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นก่อนวันที่จำเลยจดทะเบียนว่า บ. เป็นบุตร การที่จำเลยลงชื่อในฎีกาขอเบิกเงินและออกเช็คชำระเงินค่ารักษาพยาบาลของ บ. ให้แก่โรงพยาบาล ส. จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาและเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 157 (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5673/2562
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง เป็นเพียงบทบัญญัติที่เพิ่มช่องทางในการดำเนินคดีแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่โจทก์เป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ยังคงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 (2) โดยยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 7 ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง (1) ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ได้ และมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนของจำเลยที่ 8 และที่ 9 ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนได้ด้วยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 3 วรรคสอง (5)

โจทก์ถูกฟ้องเป็นจำเลย เรื่อง ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วินิจฉัยว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 157 และเป็นเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งในหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ย่อมมีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 โดยอ้างเหตุแห่งการกระทำความผิดที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำวินิจฉัยไว้แล้วว่ารับฟังไม่ได้ และไม่ปรากฏว่าคำพิพากษาดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรือยกเสีย ถ้าหากมีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 18 วรรคสอง เหตุแห่งการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์ในคดีนี้ย่อมเป็นอันรับฟังไม่ได้

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 13/2562)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4436/2562
จำเลยเป็นผู้บังคับบัญชามีอำนาจจะอนุญาตให้โจทก์ลาหรือไม่ก็ได้ แต่การใช้ดุลยพินิจต้องอยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผลที่วิญญูชนทั่วไปยอมรับได้ว่ามิใช่เป็นการใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจ เมื่อปรากฏว่าจำเลยเคยมีปัญหาไม่พอใจกับโจทก์มาก่อน และเมื่อโจทก์ยื่นใบลากิจล่วงหน้าตามระเบียบ และภายหลังโจทก์ก็ได้ยื่นใบลาป่วยแทนใบลากิจที่จำเลยมีคำสั่งไม่อนุญาตไปก่อนแล้ว จำเลยจึงเกษียณคำสั่งคาดโทษโจทก์ว่า เป็นการลาเท็จ เพื่อหาเหตุตั้งคณะกรรมการสอบสวนการลาของโจทก์อันเป็นการหาเหตุลงโทษทางวินัยโจทก์ แม้ภายหลัง อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา เขต 8 จะพิจารณายกเลิกคำสั่งดังกล่าว แต่โจทก์ก็ยังมิได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนปกติ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการก่อความเสียหายแก่โจทก์และเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล เป็นการใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจ ถือได้ว่าจำเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3079/2562
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 มีอายุความสิบห้าปี ความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และความผิดตาม ป.อ. มาตรา 177 วรรคแรก มีอายุความสิบปี โจทก์จึงต้องฟ้องและได้ตัวจำเลยผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดอายุความดังกล่าว นับตั้งแต่วันกระทำผิด มิฉะนั้นคดีโจทก์ย่อมขาดอายุความ

โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 จำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 กระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม 2541 ถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2541 โจทก์ต้องฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 มาศาลอย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 กับฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 มาศาลอย่างช้าภายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2551 ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 177 วรรคแรก โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 6 ที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 ว่ากระทำความผิดในวันที่ 21 มิถุนายน 2549 จำเลยที่ 7 และที่ 10 กระทำความผิดในวันที่ 22 มิถุนายน 2549 จำเลยที่ 1 กระทำความผิดในวันที่ 28 กรกฎาคม 2549 โจทก์ต้องฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 6 ที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 มาศาลภายในวันที่ 21 มิถุนายน 2559 ฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 7 และที่ 10 มาศาลภายในวันที่ 22 มิถุนายน 2559 กับฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 1 มาศาลภายในวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2550 ซึ่งแม้จะยังอยู่ภายในกำหนดอายุความสิบห้าปีและสิบปีก็ตาม แต่เมื่อคดีโจทก์ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนมูลฟ้อง กรณีจึงไม่อาจถือว่าได้ตัวจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 12 มาอยู่ในอำนาจของศาลแล้ว เนื่องจากตราบใดที่ศาลยังไม่ประทับฟ้อง ป.วิ.อ. มาตรา 165 วรรคสาม มิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น อันเป็นเหตุให้อายุความไม่หยุดนับ เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องคดีนี้เสร็จสิ้นในวันที่ 13 มีนาคม 2560 จึงเป็นระยะเวลาที่ล่วงเลยอายุความสิบห้าปีและสิบปีแล้ว คดีโจทก์สำหรับจำเลยแต่ละคนจึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2445/2562
การกระทำที่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 นอกจากเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่โดยตรงในการปฏิบัติหน้าที่นั้นแล้ว ต้องมีเจตนาในการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด พยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้แต่เพียงว่า จำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ผู้เป็นรองนายกเทศมนตรีเทศบาลจำเลยที่ 1 ร่วมกันอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงถนนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยไม่ได้ตรวจสอบ เพราะเชื่อคำรับรองของ ป. ผู้ใหญ่บ้านว่าถนนดังกล่าวเป็นทางสาธารณะแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 รู้อยู่แล้วว่าถนนที่จะก่อสร้างปรับปรุงนั้นรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบว่าแนวถนนที่จะก่อสร้างปรับปรุงรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ใดหรือไม่ อันเป็นการกระทำโดยมิชอบตามกฎหมาย เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิด ซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดต่อโจทก์ในทางแพ่งเท่านั้น ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 มีเจตนาพิเศษ ขาดองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ป.อ. มาตรา 157 เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 157 ดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 8 และที่ 9 ซึ่งมิใช่เจ้าพนักงานที่ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ย่อมไม่เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนผู้เป็นเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ป.อ. มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2330/2562
โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ว่า จำเลยทั้งสี่เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ ได้ร่วมกันจัดทำเอกสารและกรอกข้อความลงในเช็คสั่งจ่ายเงินให้แก่ ร. โดยไม่ได้ตั้งฎีกาเบิกเงินงบประมาณรายจ่าย ไม่ขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือและไม่ได้ขีดคร่อมเช็ค ทั้งไม่ส่งมอบเช็คแก่ ร. ผู้มีสิทธิรับเงินตามเช็ค อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แล้วร่วมกันนำเช็คไปเรียกเก็บเงินและเบียดบังเงินนั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริตอันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องระบุว่า จำเลยทั้งสี่กระทำไปโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิด มาตรา 157 การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2302/2562
โจทก์บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 151, 157, 83 ศาลชั้นต้นเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 ประกอบมาตรา 83 อันเป็นบทความผิดเฉพาะแล้วย่อมไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีกศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้ความผิดในส่วนของจำเลยที่ 2 เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 โดยศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและนำสืบว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำ จัดการ และรักษาทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 151 จำเลยที่ 2 คงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ดังนี้ เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 เพียงแต่ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 2 ให้ถูกต้องและลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี ซึ่งไม่เกินห้าปี จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 801/2562
ป.อ. มาตรา 147 เป็นบทบัญญัติที่ลงโทษแก่บุคคลที่กระทำความผิดที่เป็นเจ้าพนักงานและต้องมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นเจ้าพนักงานและเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 ตลอดจนร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการเบียดบังเงินยืมทดรองราชการเป็นของตนโดยทุจริต แต่จำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวที่เป็นผู้ขอเงินยืมทดรองราชการและได้รับอนุญาต จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้มีหน้าที่โดยตรงในการจัดการหรือรักษาเงินยืมทดรองราชการ แม้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดต่อบทบัญญัติดังกล่าวก็ลงโทษจำเลยที่ 2 อย่างเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ในการจัดการหรือรักษาทรัพย์แล้วเบียดบังทรัพย์เป็นของตนโดยทุจริตไม่ได้ คงลงโทษจำเลยที่ 2 ได้แต่เพียงในฐานะผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 86 เท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8088/2561
เงิน 10,000 บาท ที่จำเลยในฐานะประธานศูนย์กีฬาตำบลโนนเมืองรับไปจากศูนย์การกีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัดหนองบัวลำภู เป็นเงินที่ศูนย์การกีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการจัดสรรมาให้ศูนย์กีฬาตำบลโนนเมืองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมือง เงินดังกล่าวถือเป็นเงินของทางราชการที่ต้องนำส่งเป็นเงินรายได้ขององค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมืองทั้งสิ้น กรณีมิใช่เป็นเงินที่มีผู้อุทิศให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมืองเป็นการเฉพาะเจาะจงว่าให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังที่จำเลยฎีกา จำเลยในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมืองและในฐานะประธานศูนย์กีฬาตำบลโนนเมืองย่อมจะต้องทราบดีว่า จะต้องเก็บรักษาเงินดังกล่าวไว้อย่างไร การที่จำเลยอ้างว่า จำเลยมีความขัดแย้งกับ ส. ซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมืองจนไม่สามารถจัดการแข่งขันกีฬาได้ ก็มิได้เป็นเหตุให้จำเลยมีหน้าที่หรือจำต้องเก็บรักษาเงินไว้เอง การที่จำเลยเก็บรักษาเงินไว้เองโดยไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการและไม่เคยแจ้งให้คณะกรรมการศูนย์กีฬาตำบลโนนเมืองทราบ พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเจตนาเบียดบังเงินดังกล่าวเป็นของตนเองโดยทุจริต แม้ต่อมาจำเลยจะคืนเงินดังกล่าวให้แก่คณะกรรมการศูนย์กีฬาตำบลโนนเมือง แต่ก็เป็นเวลาภายหลังจากมีการร้องทุกข์แล้ว จึงหาเป็นเหตุให้รับฟังได้ว่าจำเลยมิได้มีเจตนาทุจริตเบียดบังเงินดังกล่าวไปเป็นของตนเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7504/2561
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 142 เป็นกรณีที่ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สิน หรือเอกสารใด ๆ อันเจ้าพนักงานได้ยึด รักษาไว้หรือสั่งให้ส่งเพื่อเป็นพยานหลักฐาน... ไม่ว่าเจ้าพนักงานจะรักษาทรัพย์หรือเอกสารนั้นไว้เอง... ต้องระวางโทษจำคุก... เป็นการกระทำความผิดต่อเจ้าพนักงานและรัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย กฎหมายมิได้บัญญัติถึงองค์ประกอบความผิดในส่วนที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นหรือประชาชนไว้ ดังนั้น บุคคลทั่วไปหรือประชาชนจึงไม่อาจเป็นผู้เสียหายในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 142 ได้

สำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 นั้น เมื่อการกระทำที่โจทก์กล่าวหาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 142, 151 และ 158 ไม่ได้เป็นการกระทำความผิดต่อโจทก์โดยตรง และโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจดำเนินคดีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ในความผิดตามมาตรา 142, 151 และ 158 แล้ว การที่จำเลยที่ 7 ถึงที่ 10 กระทำการเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 3 และที่ 4 แม้จะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม โจทก์ก็ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ 7 ถึงที่ 10 โดยตรง แม้โจทก์จะเคยร้องเรียนให้ดำเนินการสอบสวนลงโทษทางวินัยแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็ตาม การที่โจทก์เป็นผู้ร้องเรียนให้ลงโทษทางวินัยแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิที่โจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 แต่ก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษซึ่งจะทำให้โจทก์เป็นผู้เสียหายตามมาตรา 157

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6792/2561
การที่จะถือว่าเป็นสาธารณภัยต้องเป็นภัยที่เกิดแก่คนหมู่มากอันมีผลกระทบต่อสาธารณชน ได้ความว่าบ้านพักของจำเลยซึ่งตั้งอยู่ที่ซอยประชาชื่น 35 มีการยกระดับถนนประชาชื่นสูงกว่าถนนในซอย ทำให้ระดับบ้านของจำเลยมีน้ำท่วมขังในเวลาที่ฝนตกหนัก สาเหตุที่น้ำท่วมบ้านของจำเลยเกิดจากการระบายน้ำในท่อไม่ทัน แต่เมื่อฝนหยุดตก 5 ถึง 6 ชั่วโมง น้ำจึงระบายออกหมด การที่น้ำท่วมบ้านจำเลยดังกล่าวยังไม่ถือว่าเป็นสาธารณภัย จำเลยจึงไม่อาจอ้างเหตุสาธารณภัยเพื่อให้ตนเองพ้นผิดในการใช้รถยนต์เทศบาลเมืองคูคตขนทรายพิพาทไปใช้โดยขัดต่อระเบียบหาได้ไม่ ทั้งจำเลยนำทรายพิพาทไปคืนหลังเกิดเหตุแล้วถึง 5 เดือน ซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่ส่อเจตนาว่า จำเลยนำทรายพิพาทไปใช้เพื่อประโยชน์ของจำเลย ไม่ใช่เป็นการยืมทรายพิพาทแล้วนำมาใช้คืนตามที่กล่าวอ้าง การกระทำของจำเลยเป็นการอาศัยอำนาจในตำแหน่งนายกเทศมนตรีสั่งการให้ใช้รถยนต์ของเทศบาลเมืองคูคตขนย้ายทรายพิพาทไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่ถูกต้องตามระเบียบปฏิบัติ

สำหรับองค์ประกอบตามความผิด ป.อ. มาตรา 147 และ 151 ผู้กระทำความผิดต้องเป็นเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ได้เบียดบังทรัพย์ที่ตนมีหน้าที่ดังกล่าวเป็นของตนโดยทุจริตหรือใช้อำนาจในตำแหน่งดังกล่าวโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ พยานโจทก์ที่นำสืบมาไม่ได้เบิกความยืนยันว่า จำเลยมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด อย่างไร เพียงได้ความแต่ว่าจำเลยเป็นนายกเทศมนตรีเมืองคูคต มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย สั่งอนุญาตและอนุมัติเกี่ยวกับราชการของเทศบาลและมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ซื้อหรือจ้างทุกวิธีที่ใช้จ่ายจากเงินรายได้ไม่จำกัดวงเงินตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ส่วนการจัดซื้อทรายพิพาทได้ความว่าอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของฝ่ายโยธา ในขณะที่การจัดการดูแลรับผิดชอบรถยนต์ของเทศบาลเมืองคูคต เป็นหน้าที่ของงานป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อยของเทศบาลเมืองคูคต เห็นได้ว่า จำเลยมีส่วนเกี่ยวข้องเพียงเป็นผู้อนุมัติเกี่ยวกับงานราชการของเทศบาลเมืองคูคต ไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงในการซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 และ 151 แต่การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายอาศัยอำนาจในตำแหน่งนายกเทศมนตรีสั่งการให้ใช้รถยนต์ของเทศบาลเมืองคูคตขนทรายพิพาทไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่ถูกต้องตามระเบียบดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่เทศบาลเมืองคูคตจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2165/2561
กฎหมายวิธีสบัญญัติ เมื่อมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้วผูกพันใช้บังคับแก่คู่ความทันที ดังนั้น แม้ขณะเกิดเหตุ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่อาจทำการไต่สวน แต่ขณะที่ผู้เสียหายกล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ดำเนินการสอบสวนเอาผิดแก่จำเลย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ย่อมมีอำนาจไต่สวนตามมาตรา 19 (4) แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว

จำเลยเป็นเจ้าพนักงานรับเงิน 3,000,000 บาท จาก ป. ในตำแหน่งโดยมิชอบด้วยหน้าที่ เพื่อช่วยเหลือให้ ป. ไม่ต้องถูกย้ายออกจากจังหวัดขอนแก่น การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 แม้ภายหลังจำเลยจะไม่กระทำอย่างใดในตำแหน่งเพื่อช่วยเหลือ ป. หรือไม่ก็ตาม ก็ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่ขณะที่จำเลยรับเงินดังกล่าวแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6204/2560
เจ้าพนักงานผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 ต้องมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ และใช้อำนาจในตำแหน่งแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายจากตัวทรัพย์นั้น โดยไม่ได้เอาตัวทรัพย์ไป ไม่ใช่เพียงแต่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์นั้นเท่านั้น

ตามฟ้องไม่ได้บรรยายโดยชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์อันเป็นวัตถุมีรูปร่างอันใด ทั้งไม่ได้ระบุหรืออ้างถึงองค์ประกอบของความผิดตามมาตรานี้อีกข้อหนึ่งที่ระบุว่า ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ จึงถือว่าฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสาระสำคัญ และเป็นฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 151

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6114/2560
ศาลาทรงไทยกลางน้ำสร้างจากงบประมาณของเทศบาลตำบล ป. แม้ไม่มีเลขทะเบียนครุภัณฑ์หรือเป็นพัสดุที่ไม่มีทะเบียนคุม การดำเนินการใดๆ กับศาลาทรงไทยดังกล่าวต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 ที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะว่าเป็นอำนาจสั่งการของจำเลยที่ 1 ในฐานะนายกเทศมนตรีตำบล ป. ผู้เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น การตรวจสอบและจำหน่ายพัสดุของจำเลยที่ 1 ภายใต้ระเบียบกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติราชการในฐานะเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ตาม ป.อ. จำเลยที่ 1 จำหน่ายศาลาทรงไทยกลางน้ำของเทศบาลให้แก่เอกชนในลักษณะที่ฝ่าฝืนต่อระเบียบดังกล่าว อีกทั้งไม่นำเงินที่ขายได้ส่งเป็นรายได้เทศบาลในทันที จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่เทศบาลทักท้วง ทวงถาม และถูกตรวจสอบโดยกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัด จึงให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเลขานุการนำเงินมาคืนในภายหลัง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 และมาตรา 151 ซึ่งเป็นบทเฉพาะของบททั่วไปตามมาตรา 157 ย่อมไม่จำต้องปรับบทความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก

จำเลยที่ 2 เป็นเลขานุการนายกเทศมนตรีของจำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการติดต่อขายศาลาทรงไทยกลางน้ำของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 เข้าร่วมประชุมวาระอนุมัติรื้อถอนศาลาทรงไทยกลางน้ำ ก็เป็นเวลาในภายหลังจากจำเลยที่ 1 ติดต่อขายศาลาทรงไทยดังกล่าวไปแล้ว ทั้งการที่จำเลยที่ 2 รับฝากเงินค่าขายศาลาดังกล่าวไว้จากผู้ซื้อแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่อยู่ที่สำนักงาน เป็นการกระทำตามคำสั่งของ จำเลยที่ 1 ผู้บังคับบัญชา ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 และ 151 ก่อนหรือขณะกระทำความผิด จำเลยที่ 2 ย่อมมิใช่เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10742/2559
การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 45 วรรคท้าย แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2519 แต่งตั้งคณะเทศมนตรีนครอุดรธานีชั่วคราว มีจำเลยที่ 1 เป็นนายกเทศมนตรี กับพวกอีก 4 คน เป็นเทศมนตรี เท่าจำนวนของคณะเทศมนตรีที่ต้องออกจากตำแหน่งทั้งคณะตามคำวินิจฉัยของสภาเทศบาล ตามคำสั่งจังหวัดอุดรธานีที่ 557/2542 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2542 นั้น เป็นกรณีแต่งตั้งคณะเทศมนตรีชั่วคราวโดยชอบด้วยบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว และต่อมาวันที่ 8 มีนาคม 2542 ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีประกาศแต่งตั้งคณะเทศมนตรีนครอุดรธานีขึ้นใหม่ มีจำเลยที่ 1 เป็นนายกเทศมนตรี และเทศมนตรีชั่วคราวชุดเดิมเป็นเทศมนตรี ตามประกาศจังหวัดอุดรธานี ลงวันที่ 8 มีนาคม 2542 แต่เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2542 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1151/2542 ให้เพิกถอนประกาศแต่งตั้งคณะเทศมนตรีนครอุดรธานีดังกล่าว ซึ่งระหว่างนั้น พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2542 แล้ว โดยมีมาตรา 3 และมาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 (ฉบับเดิม) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2519 ที่กำหนดว่า ในกรณีที่คณะเทศมนตรีต้องออกจากตำแหน่งทั้งคณะ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งผู้ที่เห็นสมควรเท่าจำนวนของคณะเทศมนตรีที่ต้องออกจากตำแหน่งให้เป็นคณะเทศมนตรีชั่วคราวเพื่อดำเนินกิจการของเทศบาลไปจนกว่าจะได้แต่งตั้งคณะเทศมนตรีขึ้นใหม่ และแก้ไขใหม่ตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2542 ว่า "ในระหว่างที่ไม่มีคณะเทศมนตรี ให้ปลัดเทศบาลปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีเป็นการชั่วคราวเท่าที่จำเป็นได้จนกว่าคณะเทศมนตรีที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่" ก็ตาม แต่กฎหมายฉบับใหม่นี้มิได้กล่าวถึงสถานะของคณะเทศมนตรีชั่วคราวซึ่งแต่งตั้งขึ้นตามกฎหมายฉบับเดิมว่าจะให้ดำรงอยู่ในสถานะใด เช่นนี้ คณะเทศมนตรีนครอุดรธานีชั่วคราวซึ่งแต่งตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายฉบับเดิม จึงยังคงมีสถานะเป็นคณะเทศมนตรีชั่วคราว รวมทั้งมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินกิจการของเทศบาลนครอุดรธานีไปจนกว่าจะมีการส่งมอบงานในหน้าที่ให้แก่ปลัดเทศบาลนครอุดรธานีปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีนครอุดรธานีเป็นการชั่วคราวต่อไปจนกว่าคณะเทศมนตรีนครอุดรธานีที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ เมื่อขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ส่งมอบงานในหน้าที่ให้แก่ปลัดเทศบาลนครอุดรธานี และได้ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่นายกเทศมนตรีนครอุดรธานีในการบริหารงานของเทศบาลนครอุดรธานีต่อไป ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์อ้างในฟ้อง จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานตามกฎหมาย การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับเรื่องร้องเรียน แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ลงมติว่าจำเลยที่ 1 มีมูลความผิดอาญา กับส่งรายงานเอกสารและความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีนี้ เป็นการกระทำที่มีอำนาจกระทำได้ ถือว่ามีการสอบสวนแล้ว พนักงานอัยการย่อมอ้างรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าวเป็นสำนวนการสอบสวนเพื่อยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

แม้โจทก์นำ ช. เข้าเบิกความในชั้นพิจารณาโดยทำบันทึกคำเบิกความพยานแทนการซักถามพยานต่อหน้าศาล แต่ก็ไม่ปรากฏว่าฝ่ายจำเลยคัดค้าน ทั้งยังถามค้านพยานต่อมาอีกหลายนัดจนเสร็จการสืบพยานดังกล่าว ก็ไม่ปรากฏว่าฝ่ายจำเลยได้คัดค้านเช่นกัน ดังนี้ จำเลยที่ 5 จะยกขึ้นเถียงในชั้นฎีกาว่า การสืบพยานดังกล่าวขัดต่อวิธีพิจารณาความอาญาหาได้ไม่ และแม้คำเบิกความของ ช. ดังกล่าวจะเป็นพยานบอกเล่า แต่เมื่อคำนึงถึงตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้น น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ คำเบิกความของ ช. จึงรับฟังได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง (1)

เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เป็นกรรมการจัดซื้อที่ดินร่วมกันลงนามในรายงานการประชุมและบันทึกผลการจัดซื้อที่ดินว่ามีการประชุมและต่อรองราคาที่ดินซึ่งความจริงไม่ได้มีการประชุมและต่อรองราคาที่ดินแต่อย่างใด ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานในตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครอุดรธานี มีหน้าที่รับเอกสารลงนามรับรองรายงานการประชุมและบันทึกผลการจัดซื้อที่ดินที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เสนอให้พิจารณาอนุมัติจัดซื้อซึ่งตนมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการจัดทำเอกสารดังกล่าวด้วย การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ลงนามรับรองว่าได้กระทำการดังกล่าวเป็นการร่วมกันรับรองเอกสารเท็จและรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 83

จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่เป็นกรรมการจัดซื้อที่ดินให้แก่เทศบาลนครอุดรธานี ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานในฐานะนายกเทศมนตรีนครอุดรธานีและเป็นผู้แต่งตั้งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นคณะกรรมการจัดซื้อที่ดิน แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นกรรมการจัดซื้อที่ดิน แต่มีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ มิให้เป็นการเสียหายแก่รัฐและเทศบาลนครอุดรธานี การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ร่วมกันจัดซื้อที่ดินจาก ท. ในราคาไร่ละ 286,000 บาท ทั้ง ๆ ที่ที่ดินมีราคาเพียงไร่ละ 50,000 บาท เท่านั้น ทำให้เทศบาลนครอุดรธานีเสียหายต้องซื้อที่ดินในราคาสูงกว่าราคาที่แท้จริงมาก และจำเลยที่ 1 ไม่ตรวจสอบการจัดซื้อที่ดินให้ถูกต้องตามระเบียบ ทั้งยังออกเช็คสั่งจ่ายเงินผิดระเบียบเพราะไม่จ่ายให้แก่เจ้าหนี้หรือคู่สัญญาโดยตรงหรือในนามของผู้มอบฉันทะ แต่กลับไปจ่ายให้แก่จำเลยที่ 7 ผู้รับมอบอำนาจ ดังนี้ พฤติการณ์บ่งชี้ชัดแจ้งว่าเป็นการร่วมรู้เห็นกันมาแต่ต้นในการจัดซื้อที่ดิน เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐและเทศบาลนครอุดรธานีแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 ประกอบมาตรา 83

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8823/2559
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 152 ไม่มีองค์ประกอบของความผิดหรือมูลเหตุชักจูงใจว่า อันเป็นการเสียหายแก่รัฐหรือเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดทำโครงการส่งเสริมการปลูกส้มเขียวหวานปลอดโรค "การจัดทำแปลงสาธิตระบบการให้น้ำเหนือผิวดิน" โดยดำเนินการตามขั้นตอนของทางราชการตั้งแต่เริ่มจนแล้วเสร็จ ไม่ปรากฏว่ามีขั้นตอนใดที่กระทำโดยฝ่าฝืนระเบียบหรือมีระเบียบห้ามไว้ ในขั้นตอนของการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์และขั้นตอนการตรวจรับและการติดตั้งก็ไม่ปรากฏว่ามีการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกิดขึ้น แต่พื้นที่แปลงสาธิตเป็นของ ส. ภริยาของจำเลย แม้การจัดหาที่ดินแปลงสาธิตจะเป็นดังที่จำเลยอ้างว่าเกษตรอำเภอแม่วงก์เป็นผู้จัดหาที่ดินและเกษตรกรได้รับประโยชน์จากแปลงสาธิตก็ตาม จำเลยก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบของตนได้ เพราะเกิดมีความขัดแย้งกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวมขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมของผู้มีตำแหน่งหน้าที่และมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิด การนำที่ดินของ ส. มาดำเนินการโดยมีการนำวัสดุอุปกรณ์และกิ่งพันธุ์ส้มเขียวหวานปลอดโรคมาลงในที่ดิน ที่ดินของ ส. ย่อมได้รับประโยชน์อยู่ในตัวโดยปริยาย เมื่อจำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่กำกับดูแลกิจการโครงการดังกล่าว ถือว่าจำเลยเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับภริยาตนเนื่องด้วยกิจการนั้น จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 152

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9955/2558
ขณะเกิดเหตุ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ที่ให้เพิ่มความตามมาตรา 98 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งให้นำมาตรา 74/1 มาใช้บังคับโดยอนุโลมยังไม่มีผลใช้บังคับ เมื่อมาตรา 98 ประกอบมาตรา 74/1 เป็นบทบัญญัติที่มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความด้วย ประกอบกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มิได้มีบทเฉพาะกาลให้นำมาตรา 98 ประกอบมาตรา 74/1 มาใช้บังคับแก่คดีที่เกิดขึ้นก่อน พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ การตีความกฎหมายจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด จะขยายความไปถึงคดีที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวใช้บังคับโดยที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดอันจะเป็นผลร้ายแก่จำเลยหาได้ไม่ เพราะจะขัดต่อความรับผิดของบุคคลในการรับโทษทางอาญา ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง กรณีจึงนำมาตรา 98 ประกอบมาตรา 74/1 มาใช้ย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่จำเลยมิได้ อายุความการฟ้องคดีอาญาแก่จำเลยที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไต่สวนแล้วมีมติแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลย จึงต้องพิจารณาตามความใน ป.อ. มาตรา 95 เมื่อความผิดตาม ป.อ. มาตรา 148 ประกอบมาตรา 83 และ 86 ที่โจทก์ฟ้องมีอายุความยี่สิบปีนับแต่วันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 95 (1) การที่โจทก์ฟ้องและได้ตัวจำเลยมาดำเนินคดีนี้เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 เกินกว่ายี่สิบปีนับแต่วันกระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5182/2559
จำเลยที่ 1 ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2551 และต่อมาได้รับคำสั่งให้กลับเข้ารับราชการใหม่โดยจำเลยที่ 1 ไปรายงานตัวกลับเข้ารับราชการเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ดังนั้นระหว่างวันที่ 8 ธันวาคม 2551 ถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2553 จำเลยที่ 1 ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เจ้าพนักงานตำรวจ จึงไม่มีอำนาจทำการสืบสวนคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 17 รวมทั้งไม่มีหน้าที่จับกุม ป. กับพวก ซึ่งกระทำความผิดต่อ พ.ร.บ.การพนัน พุทธศักราช 2478 ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 95 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า "ในกรณีที่ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนได้รับคำสั่งให้กลับเข้ารับราชการหรือได้รับคำสั่งให้ออกจากราชการด้วยเหตุใด ๆ ที่มิใช่เป็นการลงโทษ ให้ผู้นั้นมีสถานภาพเป็นข้าราชการตำรวจตลอดระยะเวลาระหว่างที่ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน" นั้น เป็นบทบัญญัติให้ข้าราชการตำรวจผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนที่ได้รับคำสั่งให้กลับเข้ารับราชการใหม่มีสถานภาพเป็นข้าราชการตำรวจตลอดระยะเวลาระหว่างที่ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อสิทธิในการรับเงินเดือน และเงินอื่น ๆ ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 95 วรรคสี่ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่งให้กลับเข้ารับราชการใหม่ จึงไม่อาจถือว่าระหว่างเวลาที่ถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้น จำเลยที่ 1 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่เจ้าพนักงานตำรวจ การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่เรียกรับเงินจาก ป. กับพวก เมื่อเดือนมิถุนายน 2553 และวันที่ 8 กรกฎาคม 2553 จึงเป็นการกระทำในขณะจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่จับกุมผู้กระทำความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 17 ไม่ครบองค์ประกอบของความผิดซึ่งผู้กระทำความผิดต้องเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ ตาม ป.อ. มาตรา 149 จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดตามกฎหมายมาตราดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13646/2558
ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ใช้อำนาจในตำแหน่งกระทำการทุจริตเบียดบังเอาเงินงบประมาณไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 แม้โจทก์ระบุ ป.อ. มาตรา 151 ไว้ในคำขอท้ายฟ้อง โดยไม่ได้ระบุมาตรา 147 ก็ตาม แต่โจทก์บรรยายฟ้องแล้วว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการ จัดการและรักษางบประมาณต่าง ๆ ขององค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแก้ว ตามโครงการขุดลอกลำเหมืองหนองถุ หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 6 เป็นเงินงบประมาณจำนวน 116,000 บาท ได้ใช้จ่ายเงินงบประมาณตามโครงการดังกล่าวจำนวน 69,600 บาท ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 46,400 บาท ขาดหายไป โดยได้เบียดบังเอาเงินงบประมาณจำนวน 46,400 บาท ดังกล่าวรวมทั้งเงินงบประมาณตามโครงการอื่นดังที่บรรยายในคำฟ้องไปเป็นประโยชน์ส่วนตนหรือผู้อื่น อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแก้ว และประชาชนทั่วไป จึงเป็นการอ้างบทมาตราผิด ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขออันจะต้องห้ามตามมาตรา 192 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13650/2558
แม้ก่อนบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้าทำงานในเทศบาลตำบลหนองปล่อง จำเลยจะมิได้เกี่ยวข้องหรือมีอำนาจหน้าที่ในการสอบคัดเลือก ควบคุมการสอบ การตรวจข้อสอบ และการให้คะแนนก็ตาม แต่เมื่อจำเลยมีอำนาจออกคำสั่งเกี่ยวกับการบรรจุและแต่งตั้งพนักงานเทศบาลหรือการอื่นใดที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของเทศบาล ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 มาตรา 23 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 15 การดำเนินการดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นส่วนหนึ่งของการบรรจุและแต่งตั้งพนักงานเทศบาลซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลย เมื่อจำเลยเรียกเงินและรับเงินจำนวน 330,000 บาท จาก ป. เพื่อช่วยเหลือให้ น. บุตร ป. เข้าทำงานเป็นพนักงานเทศบาลตำบลหนองปล่อง จำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ออกคำสั่งเกี่ยวกับการบรรจุและแต่งตั้งพนักงานเทศบาลตำบลหนองปล่องเรียกและรับทรัพย์สินสำหรับตนเองโดยมิชอบแล้วกระทำการในตำแหน่งเพื่อช่วยเหลือ น. ให้เข้าทำงานเป็นพนักงานเทศบาลตำบลหนองปล่อง อันเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ครบองค์ประกอบของความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13274/2558
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสองคอน มีหน้าที่แจ้งให้ผู้สอบราคาได้มาทำสัญญากับองค์การบริหารส่วนตำบลสองคอน จำเลยได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยไม่แจ้งให้ผู้สอบราคาได้ไปทำสัญญาจ้าง แต่กลับสั่งยกเลิกประกาศสอบราคาโครงการเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2551 และไม่ทำเรื่องเบิกตัดปีเพื่อกันเงินไว้เพื่อจัดทำโครงการ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้สอบราคาได้ องค์การบริหารส่วนตำบลสองคอน และประชาชน คำฟ้องของโจทก์มุ่งหมายให้ลงโทษจำเลยฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ฉะนั้น ความสำคัญของความผิดย่อมอยู่ที่เจตนาในการกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด อันเป็นองค์ประกอบของความผิดประการหนึ่งด้วยตาม ป.อ. มาตรา 157 เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้นจำเลยกระทำด้วยเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใด คำฟ้องของโจทก์จึงขาดองค์ประกอบของความผิด ย่อมเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้อ่านคำฟ้องโดยตลอดแล้วทำให้เห็นเจตนาพิเศษหรือพอเข้าใจได้ว่าเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้สอบราคาได้ ก็ไม่ทำให้คำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12091/2558
ก่อนจับกุมโจทก์ทั้งสองได้มีการจับกุม ช. กับพวกในข้อหาลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ช. ให้การว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ใช้จ้างวาน จึงมีการสอบสวน ขยายผลและจับกุมโจทก์ทั้งสองมาลงบันทึกประจำวันไว้ และตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีระบุว่า พันตำรวจเอก ส. ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลพระโขนง สั่งให้จำเลยทั้งสิบสามซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนปราบปรามนำตัว ช. ไปสอบสวนขยายผล โดยนัดโจทก์ที่ 2 มารับรถยนต์ที่หน้าห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนหากต้องไปขอหมายจับจากศาลชั้นต้นแล้วผู้ร่วมกระทำความผิดอาจหลบหนีไปได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (3) ทั้งรถที่ถูกลักอยู่ที่บ้านของโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 2 เป็นผู้พาเจ้าพนักงานตำรวจไปทำการตรวจค้นเอง จึงไม่จำต้องขอหมายค้นจากศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92 (4) และมาตรา 94 การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งการโดยชอบ จึงไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 157

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9181/2558
ความผิดฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ด้วยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่ยังมิได้เสียค่าภาษี และยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง หรือเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ และความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต ตาม ป.อ. มาตรา 157 มีองค์ประกอบของความผิดและการกระทำที่มีเจตนาประสงค์ต่อผลแยกต่างหากจากกันได้ จึงเป็นความผิดหลายกรรม ตาม ป.อ. มาตรา 91 แม้ อ. ได้ทำความตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากร และยินยอมมอบรถยนต์ของกลางให้ตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งทางด่านศุลกากรแม่สอดได้อนุมัติให้ทำความตกลงระงับคดีแล้ว ก็เป็นการระงับเฉพาะในส่วนของ อ. ไม่ทำให้การกระทำความผิดของจำเลยระงับไปด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 565/2558
จำเลยทราบดีว่านาง ล. ตกลงขายที่ดินแก่นาย พ. บุตรเขยจำเลยในราคาเพียง 220,000 บาท แต่มีการปลอมแปลงลายมือชื่อนาง ล. ในใบเสนอราคาขายที่ดินดังกล่าวเป็นเงิน 594,800 บาท แล้วนำไปยื่นต่อองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ พร้อมกับใบเสนอราคาของเจ้าของที่ดินอีกสองแปลงซึ่งเสนอราคาสูงกว่า และเมื่อคณะกรรมการจัดซื้อเห็นสมควรซื้อที่ดินของนาง ล. ที่เสนอราคาต่ำสุด จำเลยในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ ก็ได้อนุมัติให้จัดซื้อที่ดินดังกล่าวในราคาภายหลังการต่อรองแล้ว 594,000 บาท สูงกว่าราคาที่นาง ล. ต้องการขาย 374,000 บาท และเมื่อหักเงินที่จำเลยต้องนำไปชำระเป็นค่าภาษี 5,940 บาท คงมีส่วนต่างที่เป็นประโยชน์แก่บุตรเขยของจำเลย 368,060 บาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บุตรเขยของจำเลย อันถือได้ว่าเป็นการแสวงประโยชน์โดยมิชอบ เป็นเหตุให้องค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ ได้รับความเสียหายต้องซื้อที่ดินในราคาสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น จำเลยจึงมีความผิดฐานเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทรัพย์ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4604/2558
ป.วิ.อ. มาตรา 43 ที่ให้พนักงานอัยการเรียกทรัพย์สินหรือราคาคืนในคดียักยอกทรัพย์นั้น หมายรวมทั้งคดีเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 147 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4347/2558
จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างประจำ ตำแหน่งนักการ เทศบาลตำบลจักราช มิใช่ข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งหรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ซึ่งมีกฎหมายระบุไว้โดยเฉพาะให้ถือเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมาย เนื่องจาก ป.อ. มาตรา 147, 151, 161 เป็นบทบัญญัติที่ลงโทษแก่บุคคลผู้กระทำความผิดที่เป็นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่เท่านั้น แม้จำเลยที่ 2 จะร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดต่อบทบัญญัติดังกล่าว ก็จะลงโทษจำเลยที่ 2 อย่างเจ้าพนักงานไม่ได้ คงลงโทษจำเลยที่ 2 ได้แต่เพียงในฐานะผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 86 เท่านั้น ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2488/2558
สำนักงานตำรวจแห่งชาติแต่งตั้งจำเลยให้เป็นหัวหน้าศูนย์ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิงในโครงการน้ำมันสีเขียว โดยจำเลยมีหน้าที่จัดเจ้าพนักงานตำรวจกองตำรวจน้ำไปตรวจสอบว่า เรือบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงได้เดินทางไปถึงน่านน้ำเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรด้วยความเรียบร้อย โดยมีน้ำมันเชื้อเพลิงครบตามจำนวนที่ได้รับมาจากคลังน้ำมันหรือไม่ เมื่อเห็นว่าเรียบร้อยดีแล้วก็จะลงลายมือชื่อในใบกำกับการขนส่งน้ำมันดีเซล หลังจากนั้นเรือดังกล่าวจึงสามารถถ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขนส่งได้ การตรวจสอบการขนส่งน้ำมันดีเซลในโครงการน้ำมันสีเขียวเพื่อป้องกันมิให้มีการลักลอบจำหน่ายในราชอาณาจักร หรือนำน้ำมันดังกล่าวกลับเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักร จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างหนึ่งในงานปราบปรามการกระทำความผิด ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานตำรวจน้ำเดินทางไปกับเรือบรรทุกน้ำมันไปจนถึงน่านน้ำเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรเพื่อปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ จำเลยย่อมไม่มีสิทธิรับเงินค่าใช้จ่ายใดๆ จากผู้ประกอบการจำหน่ายน้ำมันดีเซล การที่จำเลยรับเงินแล้วสั่งการให้เจ้าพนักงานตำรวจกองตำรวจน้ำเดินทางไปกับเรือบรรทุกน้ำมันเพื่อปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว แม้จะนำเงินมาจ่ายเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงพิเศษให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจกองตำรวจน้ำที่เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ในเรือบรรทุกน้ำมันก็ตาม ก็เป็นการรับทรัพย์สินเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 149 เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 149 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว กรณีไม่จำเป็นต้องปรับบทความผิดตามมาตรา 157 ที่เป็นบททั่วไปอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2185/2558
แม้ตามหนังสือที่ ศธ 0806/1917 มีใจความสำคัญว่า กรมสามัญศึกษาได้แจ้งการสนับสนุนให้โรงเรียนรับบริจาคเงินเพื่อการศึกษาไม่ว่าจะเป็นการบริจาคโดยมีวัตถุประสงค์หรือไม่มีวัตถุประสงค์ก็ตาม ทั้งนี้ การรับบริจาคนั้นต้องไม่มีเงื่อนไขในการรับนักเรียน และหนังสือที่ ศธ 0804/5175 กรมสามัญศึกษาซักซ้อมความเข้าใจเรื่องการรับบริจาคเงินและสิ่งของในช่วงระยะเวลาที่โรงเรียนรับสมัครนักเรียนเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 4 ระบุว่า การรับบริจาคเงินและสิ่งของควรดำเนินการโดยไม่นำมาเป็นเงื่อนไขหรือข้อต่อรองในการรับนักเรียนเข้าเรียน ไม่ว่าจะเป็นการรับนักเรียนกรณีพิเศษ หรือรับนักเรียนในพื้นที่บริการอันเห็นได้ว่าการรับบริจาคโดยมีเงื่อนไขในการรับนักเรียนเป็นสิ่งที่ไม่ควรดำเนินการ แต่ตามหนังสือที่ ศธ 0880/1523 ผู้อำนวยการสามัญศึกษาจังหวัดสุรินทร์มีหนังสือสั่งการไปยังโรงเรียนในสังกัดว่า ถ้าโรงเรียนได้รับเงินบริจาคโดยมีเงื่อนไขในการรับนักเรียนเข้าเรียนก็ขอให้โรงเรียนคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่ผู้ปกครองทั้งหมด เงินที่มีผู้บริจาคโดยมีเงื่อนไขฝ่าฝืนต่อหนังสือซักซ้อมความเข้าใจของกรมสามัญศึกษา จึงเป็นเงินของทางราชการเพราะเหตุว่ายังมีหน้าที่ต้องคืนให้แก่ผู้ปกครองซึ่งเป็นผู้บริจาค และแม้ทางปฏิบัติสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียน ส. เป็นผู้บริจาคเงินดังกล่าวโดยออกใบเสร็จรับเงินให้ในนามของตนเองแทนโรงเรียนก็ไม่ทำให้เงินดังกล่าวไม่เป็นเงินของทางราชการ ซึ่งอยู่ในหน้าที่จัดการหรือรักษาของจำเลยเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการและกรมสามัญศึกษา การที่จำเลยรับเงินไว้ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งมีหน้าที่บริหารงานและกิจการการศึกษาของโรงเรียนตลอดจนบริหารงานและควบคุมดูแลด้านการเงินทุกประเภทของโรงเรียนให้เป็นไปโดยเรียบร้อย การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในการรับและเก็บรักษาเงินบริจาคดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติราชการตามกฎหมาย การที่จำเลยมิได้นำเงินเก็บรักษาไว้ตามระเบียบจนกระทั่งมีการร้องเรียนและตรวจสอบพบการกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังเงินบริจาคของโรงเรียน ส. ที่อยู่ในหน้าที่จัดการหรือรักษาของจำเลย ไปโดยทุจริต อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18161/2557
การกระทำอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งหมายถึงผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐที่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐอื่นที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา หรือผู้ที่มีกฎหมายบัญญัติว่าหากได้รับแต่งตั้งจากผู้มีอำนาจหน้าที่ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่เมื่อพิจารณา พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 มาตรา 39 ที่ว่าด้วยส่วนราชการของกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ไม่ปรากฏว่าสถาบันแห่งนี้เป็นส่วนราชการในสังกัดของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย จำเลยจึงมิใช่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐที่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน และไม่ปรากฏว่ามีบทมาตราใดบัญญัติว่าการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสถาบันแห่งนี้เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญาด้วย การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในฐานะประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยในการพิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ตามฟ้องจึงไม่อาจเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17978/2557
ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุบัญญัติไว้ชัดเจนว่า ให้คณะกรรมการ กสช. ก็ดี คณะกรรมการ กทช. ก็ดี และพนักงานสำนักงานของคณะกรรมการดังกล่าว ก็ดี เป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. แต่ในกฎหมายฉบับเดียวกัน มาตรา 49 ว่าด้วยคณะกรรมการสรรหา ที่มา และบทบาทหน้าที่ ไม่ได้กำหนดว่าคณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการโทรคมนาคมเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. เช่นเดียวกันกับคณะกรรมการ กสช. หรือ กทช. หรือพนักงานดังกล่าว เช่นนี้ ย่อมเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวได้ชัดเจนว่า กฎหมายไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะให้คณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการโทรคมนาคมต้องมีอำนาจหน้าที่หรือมีความรับผิดในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. จำเลยเป็นเพียงคณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการโทรคมนาคม จึงไม่ใช่เจ้าพนักงานที่จะต้องรับผิดในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 157, 158, 161 และ 162

ตำแหน่งประธานวุฒิสภา เป็นตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ ไม่ใช่ตำแหน่งเจ้าพนักงานตามความหมายในลักษณะ 2 หมวด 1 แห่ง ป.อ. การยื่นรายงานเรื่องผลการพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็น กทช. จึงไม่อาจที่จะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15248 - 15249/2557
จำเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยของโจทก์ ซึ่งพนักงานมหาวิทยาลัยดังกล่าวคือ พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาตามความในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดคำนิยามของ "พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา" ว่า หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้ทำงานในสถาบันอุดมศึกษา โดยได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหรือเงินรายได้ของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งความหมายของ "พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา" ตามกฎหมายฉบับนี้แตกต่างจากความหมายของ "ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา" ตามกฎหมายฉบับเดียวกัน กล่าวคือ "ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา" หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับบรรจุและแต่งตั้งให้รับราชการตาม พ.ร.บ.นี้ โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา หากเปรียบเทียบข้อแตกต่างสำคัญแล้ว จะเห็นได้ชัดว่า "ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา" เป็นบุคคลที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการ โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา จึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ส่วน "พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา" เป็นบุคคลที่ได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้เป็นพนักงาน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นข้าราชการ อีกทั้งค่าจ้างหรือค่าตอบแทนพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาก็มิใช่เงินเดือนอันมีที่มาจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา แม้ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะระบุว่า พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาความหมายของพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุนตามข้อ 4 แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิแล้ว ล้วนได้ความตรงกันว่าพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสองประเภทได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปหรือเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย เมื่อจำเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งมิใช่ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและไม่ได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา ประกอบกับไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับใดกำหนดให้พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. และศาลไม่อาจลงโทษจำเลยในฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147, 157 และ 161 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13996/2557
เจ้าพนักงานซึ่งจะเป็นผู้กระทำความผิดตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการนั้น หมายถึงผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย โดยอาจระบุไว้เป็นการเฉพาะว่าให้ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน หรือระบุองค์การและให้ผู้ที่สังกัดอยู่เป็นเจ้าพนักงาน หรืออาจเป็นการแต่งตั้งโดยกฎหมายทั่วไปซึ่งระบุถึงวิธีการแต่งตั้งไว้ และได้มีการแต่งตั้งถูกต้องตามกฎหมายดังกล่าว สำหรับส่วนราชการ แม้จะมีฐานะเป็นนิติบุคคลมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด แต่ส่วนราชการเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน การแบ่งส่วนราชการหรือกฎหมายจัดตั้งส่วนราชการนั้น มิใช่ได้รับการแต่งตั้งโดยกฎหมาย จำเลยที่ 1 จึงหาใช่เจ้าพนักงานตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญาไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13312/2557
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจหน้าที่ในการจับกุมผู้กระทำความผิดและมีอำนาจสั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชานำตัวผู้ถูกจับกุมส่งต่อพนักงานสอบสวน หรือสั่งปล่อยตัวผู้ถูกจับหากเห็นว่าเป็นการจับผิดตัวหรือผู้ถูกจับกุมไม่ได้กระทำความผิดหรือการกระทำยังไม่เป็นความผิด จำเลยทราบดีว่าคนต่างด้าวที่ถูกจับกุมเป็นผู้กระทำความผิด จำเลยไม่มีอำนาจสั่งปล่อยได้ แต่กลับสั่งการในฐานะผู้บังคับบัญชาให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปล่อยตัวผู้กระทำความผิดและรถของกลางโดยไม่ชอบ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตาม ป.อ. มาตรา 157

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12909/2557
จำเลยเป็นเจ้าพนักงาน ได้ลงลายมือชื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ให้แก่ ด. ซึ่งเป็นการกระทำที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลย โดยไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้องว่า ด. ยื่นขอออก น.ส.3 ก ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริงหรือไม่ และทำให้ ด. ได้ไปซึ่ง น.ส.3 ก ดังกล่าวโดยไม่มีสิทธิได้รับ ถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับผู้อื่น จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 157

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11741/2557
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 153 เป็นความผิดสำเร็จเมื่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จ่ายทรัพย์ ได้จ่ายทรัพย์เกินกว่าที่ควรจ่ายเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่จำต้องคำนึงว่าการจ่ายทรัพย์นั้นต้องทำให้หนี้ระงับลงด้วย เพราะความผิดมาตรานี้ต้องการลงโทษเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จ่ายทรัพย์ได้จ่ายทรัพย์เกินกว่าที่ควรจ่ายเท่านั้น แม้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จ่ายทรัพย์จะชำระหนี้ด้วยเช็ค และ ก. ผู้ได้รับชำระหนี้ยังไม่ได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินเนื่องจากถูกเรียกทวงคืนก่อนอันทำให้หนี้นั้นยังไม่ระงับลงก็ตาม การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 153 แล้ว หาใช่เป็นเพียงความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จ่ายทรัพย์พยายามจ่ายทรัพย์เกินกว่าที่ควรจ่ายเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 153 ประกอบมาตรา 83 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 359/2557
จำเลยทั้งสองตรวจรับงานโครงการก่อสร้างฝายน้ำล้นคอนกรีตเสริมเหล็กบ้านหนองบัวเงิน และมีการวางฎีกาเบิกจ่ายเงินให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด น. แล้วก่อนที่จำเลยทั้งสองจะเรียกเงินจากผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงมิใช่เป็นการเรียกทรัพย์สินสำหรับตนเองเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 149 แต่การที่จำเลยทั้งสองตรวจรับงานโครงการก่อสร้างฝายน้ำล้นคอนกรีตเสริมเหล็กบ้านหนองบัวเงินเรียบร้อยแล้วกลับมาหลอกลวงผู้เสียหายว่ายังไม่ได้ตรวจรับงานดังกล่าวเพื่อเรียกเงินจากผู้เสียหาย ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157

ฟ้องโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 157 มาด้วย และศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 แต่ไม่ปรับบทมาตราดังกล่าวโดยเห็นว่าเมื่อเป็นความผิดซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้วก็ไม่เป็นความผิดบททั่วไปอีก เป็นการไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อศาลล่างทั้งสองฟังว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 อันเป็นบทเฉพาะแล้ว ที่ถูกต้องระบุว่าไม่จำต้องปรับบทตามมาตรา 157 อันเป็นบททั่วไปอีก ดังนั้น ในกรณีเช่นนี้ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจปรับบทให้ถูกต้องและลงโทษจำเลยทั้งสองตามมาตรา 157 ได้ แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกา เนื่องจากเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ทั้งมิใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสองโดยที่โจทก์มิได้ฎีกาในทำนองนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21355/2556
จำเลยซึ่งเป็นเลขานุการตำบล ล. และเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการและรักษาเงินงบประมาณค่าจ้างของสภาตำบล ล. ได้เบิกเงินงบประมาณค่าจ้างของสภาตำบล แล้วจ่ายเป็นค่าจ้างให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ค. ในขณะที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ค. ยังทำงานขุดลอกคลองไม่แล้วเสร็จตามสัญญา ทั้งๆ ที่องค์การบริหารส่วนตำบล ล. ยังไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ค. การกระทำของจำเลยดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการและรักษาเงินงบประมาณค่าจ้างนั้น ได้เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริตอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20586 - 20591/2556
แม้จำเลยจะเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต แต่จำเลยก็ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อีกทั้งคดีนี้เกิดก่อนที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ใช้บังคับ แม้พนักงานสอบสวนจะพบการกระทำความผิดและแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแก่จำเลย หลังจากที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ใช้บังคับแล้ว และพนักงานสอบสวนมิได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษก็ตาม ก็หาทำให้การสอบสวนของพนักงานสอบสวนซึ่งมีอำนาจหน้าที่สอบสวนโดยชอบในขณะที่ความผิดเกิดขึ้นต้องเสียไป และมีผลทำให้การสอบสวนดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19357/2556
แม้บ้านที่เกิดเหตุเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของโจทก์ แต่ก็ยังเป็นที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านที่เกิดเหตุด้วย พื้นที่ส่วนที่เป็นที่ทำการผู้ใหญ่บ้านในเวลาราชการจึงไม่ใช่ที่รโหฐาน แต่เป็นที่สาธารณสถาน เพราะประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ และหากมีเหตุอันควรสงสัยว่าโจทก์มีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิดต่อกฎหมายเลือกตั้ง จำเลยทั้งสี่ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดร้อยเอ็ด ให้เป็นเจ้าหน้าที่ป้องกันปราบปรามการทุจริตในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดร้อยเอ็ด ย่อมมีอำนาจเข้าค้น อีกทั้งจำเลยทั้งสี่เข้าไปค้นบ้านที่เกิดเหตุในเวลาประมาณ 11 นาฬิกา อันเป็นเวลาราชการ โดยไม่ปรากฏว่ามีการค้นเกินเลยจากพื้นที่ส่วนที่เป็นที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน เหตุที่จำเลยทั้งสี่เข้าไปค้นบ้านที่เกิดเหตุและค้นตัวโจทก์ก็เพราะมีเหตุอันควรสงสัยว่าโจทก์มีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิดต่อกฎหมายเลือกตั้ง จำเลยทั้งสี่จึงมีอำนาจกระทำเช่นว่านั้นได้ตาม ป.วิ.อ มาตรา 93

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19348/2556
จำเลยเป็นหัวหน้าโครงการอ่างเก็บน้ำดอกกรายโดยมีบ้านพักปลูกอยู่ในโครงการ ไม้ยูคาลิปตัสที่ตัดปลูกอยู่บริเวณรอบอ่างเก็บน้ำ แม้กรมป่าไม้จะเป็นผู้ปลูก โดยพฤตินัยจำเลยซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการอ่างเก็บน้ำก็ต้องมีหน้าที่ดูแลรักษาต้นยูคาลิปตัสดังกล่าว เพราะเป็นต้นไม้ของทางราชการ มิใช่วัชพืชหรือต้นไม้ไม่มีค่าที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ จำเลยจะอ้างว่ากรมป่าไม้ต้องมีหน้าที่ดูแลเพราะกรมป่าไม้เป็นผู้ปลูกไม่ได้ เพราะสถานที่ปลูกอยู่ในเขตโครงการอ่างเก็บน้ำที่จำเลยเป็นหัวหน้าและมีหน้าที่ควบคุมดูแลอยู่ หาใช่อยู่ในสถานที่ของกรมป่าไม้แต่อย่างใดไม่ และกรมป่าไม้ไม่ได้มีหน่วยงานดูแลอยู่ในที่เกิดเหตุ ดังนั้น เมื่อจำเลยจ้างหรือใช้ให้ บ. ไปตัดไม้ยูคาลิปตัสของกลาง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8413/2556
จำเลยมีตำแหน่งเป็นเสมียนตรามีหน้าที่รับเงินและออกใบเสร็จรับเงิน เมื่อใบเสร็จรับเงินที่จำเลยออกไปมีข้อความหรือจำนวนเงินผิดพลาด จำเลยย่อมมีอำนาจหน้าที่แก้ไขให้ถูกต้อง การแก้ไขดังกล่าวมิใช่การกระทำในขณะจำเลยหมดอำนาจที่จะแก้ไข จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานทำเอกสารอันเป็นเท็จแต่การทำเอกสารอันเป็นเท็จดังกล่าวเพื่อให้สมเหตุผลในการยักยอกทรัพย์ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวคือเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ จึงเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6641 - 6642/2556
โจทก์ที่ 1 มีวัตถุประสงค์รับเหมาก่อสร้างทุกชนิด ยื่นใบเสนอราคางานรับจ้างในราคาต่ำสุดทุกโครงการ แต่ไม่ได้รับการพิจารณาอนุมัติงานจ้าง โดยจำเลยในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารหน่วยงานผู้มีอำนาจอนุมัติกลับอนุมัติให้ร้าน ซ. และห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. ซึ่งเสนอราคาสูงกว่าโจทก์ที่ 1 เข้าเป็นคู่สัญญากับเทศบาลตำบลบึงโขงหลง หากได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ย่อมทำให้โจทก์ที่ 1 ซึ่งเสนอราคาตามเงื่อนไขของเทศบาลตำบลบึงโขงหลงได้รับความเสียหายไม่ได้รับงานจ้างซึ่งเป็นกิจการตามวัตถุประสงค์ ทั้งที่เป็นการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมตามเจตนารมณ์ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 ซึ่งนับเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นในเบื้องต้นแล้ว นอกจากนี้การเสนอราคาเพื่อเข้าเป็นคู่สัญญาในการรับจ้างเหมาทุกชนิด ตามวิสัยของวิญญูชนย่อมเห็นได้ชัดว่าหากงานจ้างเหมามีแต่การขาดทุน ย่อมไม่มีผู้ใดเสนอราคาเพื่อเข้าเป็นคู่สัญญาอย่างแน่นอน ดังนั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 เสียโอกาสไม่ได้เข้ารับเหมาทำงาน ย่อมทำให้โจทก์ที่ 1 สูญเสียรายได้จากงานจ้างซึ่งเป็นกิจการตามวัตถุประสงค์ โจทก์ที่ 1 ย่อมเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้องในส่วนที่มีการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ได้ แต่ไม่มีอำนาจฟ้องในส่วนที่มีการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4958/2556
อาคารที่พักสายตรวจตำบลดอนมนต์สร้างจากเงินบริจาคของประชาชนบนที่ดินขององค์การบริหารส่วนตำบลดอนมนต์ แม้โจทก์จะร่วมบริจาคเงินในการก่อสร้างด้วย แต่วัตถุประสงค์ที่ก่อสร้างก็เพื่อใช้เป็นที่พักของเจ้าพนักงานตำรวจที่เป็นสายตรวจและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มาแจ้งความร้องทุกข์ ย่อมแสดงว่าประชาชนประสงค์ให้ใช้เป็นสถานที่ราชการที่สามารถเข้ามาติดต่อกับเจ้าพนักงานตำรวจได้ ทั้งอาคารดังกล่าวได้ขอเลขที่บ้านโดยระบุว่าเป็นที่ทำการสถานีตำรวจชุมชน และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าจากหัวหน้าสถานีตำรวจชุมชนตำบลดอนมนต์ จึงบ่งชี้ว่าประชาชนที่ร่วมกันก่อสร้างได้มอบอาคารดังกล่าวให้เป็นสถานที่ราชการตำรวจโดยปริยายแล้ว อาคารดังกล่าวจึงไม่ใช่ที่รโหฐานอันเป็นที่ส่วนตัวของโจทก์ที่จะมีอำนาจจัดการหวงห้ามได้ สำหรับห้องพักที่เกิดเหตุที่โจทก์กั้นเป็นสัดส่วนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอาคารที่พักสายตรวจตำบลดอนมนต์ นอกจากโจทก์จะใช้เป็นที่พักอาศัยแล้วเจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจอื่นก็สามารถใช้ประโยชน์จากห้องดังกล่าวได้ แม้โจทก์จะเก็บสิ่งของส่วนตัวไว้และใส่กุญแจก็ไม่ใช่ห้องพักส่วนตัวที่โจทก์จะมีสิทธิหวงกันไว้ผู้เดียวได้ ห้องพักที่เกิดเหตุจึงไม่ใช่ที่รโหฐาน ประกอบกับจำเลยเข้าไปในห้องพักที่เกิดเหตุเพื่อค้นหาอาวุธปืนตามที่ผู้ใช้กระทำความผิดแจ้งว่านำมาไว้ในอาคารที่พักสายตรวจดอนมนต์ จึงมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่ามีสิ่งของที่ได้ใช้หรือมีไว้เป็นความผิดซ่อนไว้ในห้องพักที่เกิดเหตุ เช่นนี้ จำเลยย่อมมีอำนาจค้นห้องพักที่เกิดเหตุได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น หาใช่เป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3812 - 3814/2556
จำเลยเป็นเสมียนตราอำเภอโนนแดง มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินและบัญชีของอำเภอโนนแดง เงินค่าวัสดุก่อสร้างโครงการฝายประชาอาสาทั้งสี่โครงการรวม 1,308,104.40 บาท เป็นเงินที่ทางอำเภอโนนแดงต้องเบิกจากทางจังหวัดนครราชสีมาไปชำระให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด น. และห้างหุ้นส่วนจำกัด ต. แต่จำเลยไม่ได้เป็นกรรมการรับเงินที่จะมีอำนาจหน้าที่ไปเบิกและรับเงินค่าวัสดุก่อสร้างดังกล่าว การที่จำเลยใช้คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการรับเงินซึ่งไม่ใช่คำสั่งที่ผู้ลงชื่อประสงค์จะตั้งจำเลยไปดำเนินการดังกล่าว ทั้งบางคำสั่งก็ตั้งกรรมการไม่ครบตามกฎระเบียบไปแสดงต่อเสมียนตราจังหวัดเพื่อขอเบิกและรับเงินโครงการดังกล่าว เมื่อได้รับเช็คแล้วนำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคารเอาไปโดยทุจริต เป็นการกระทำในส่วนที่นอกอำนาจหน้าที่รับผิดชอบของตน ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำความผิดในฐานะเจ้าพนักงาน จึงไม่อาจลงโทษจำเลยฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 147 ตามฟ้องอันเป็นบทเฉพาะได้ แต่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกทรัพย์เงินดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3130/2556
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหาได้มีอำนาจที่จะตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม รายงานการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติก็มิได้ชี้มูลความผิดฐานนี้ การที่อนุกรรมการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการไต่สวนในความผิดฐานนี้มาด้วย จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ และแม้การสอบสวนของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงซึ่งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชรแต่งตั้งจะพบการกระทำความผิดฐานนี้ ก็มิใช่การสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อหานี้ให้จำเลยทราบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว

จำเลยเป็นพนักงานสอบสวนแก้ไขข้อความในสำนวนการสอบสวนจากเดิมที่มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาเป็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาหลังจากเสนอสำนวนการสอบสวนให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นลงชื่อแล้วเพื่อช่วยผู้ต้องหามิให้ต้องโทษ จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และ 200 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21858 - 21860/2555
การให้เงินแก่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อจูงใจให้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่จับกุมกรณีเมื่อมีผู้ใช้รถบรรทุกขนส่งสินค้ามีน้ำหนักเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด มีลักษณะเป็นการยุยงส่งเสริมก่อให้เจ้าพนักงานตำรวจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตอยู่ในตัวก็ตาม แต่การกระทำเช่นว่านั้นก็มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิดโดยเฉพาะอยู่แล้ว คือ ป.อ. มาตรา 144 อีกทั้งการที่เจ้าพนักงานตำรวจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามที่ถูกจูงใจก็มิได้สำเร็จลงด้วยการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกโดยการให้เงิน ดังนั้น ถึงหากแม้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จะให้เงินแก่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อจูงใจให้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่จับกุมกรณีเมื่อมีผู้ใช้รถบรรทุกติดสติกเกอร์ซึ่งผู้คัดค้านที่ 2 จัดทำขนส่งสินค้ามีน้ำหนักเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดจริงก็ตาม การกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ก็คงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 144 อันเป็นความผิดต่อเจ้าพนักงาน มิใช่ความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานตำรวจในการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149, 157 ประกอบมาตรา 86 จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กระทำเช่นนั้นจริงหรือไม่ ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มิใช่เป็นผู้กระทำความผิด หรือเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานตำรวจในการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17235/2555
ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 ให้ความหมายคำว่า "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" รวมถึงข้าราชการด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามที่โจทก์ฟ้องจะเป็นความผิดต้องด้วยบทเฉพาะตาม ป.อ. มาตรา 149 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย หรือเป็นความผิดต้องด้วยบทเฉพาะตาม ป.อ. มาตรา 148 ดังที่โจทก์ฎีกา แต่ก็ถือได้ว่าฟ้องโจทก์เป็นการกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไป และความผิดตามบทมาตราทั้งสามดังกล่าวบัญญัติไว้ในหมวด 2 ของ ป.อ. ว่าด้วยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับการกระทำของจำเลยทั้งสามในส่วนนี้จึงเป็นการกล่าวหาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้สนับสนุน ซึ่งมาตรา 19 (3) 43 (4) และมาตรา 88 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงเมื่อมีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ทั้งนี้ ตามมาตรา 4 ผู้ถูกกล่าวหายังหมายความรวมถึงตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนการกระทำดังกล่าวด้วย โดยกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่โดยเฉพาะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว แทนการให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ.อ. ดังเช่นคดีอาญาอื่นๆ การที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนในข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการจึงเป็นการสอบสวนโดยมิชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดตามข้อหาดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13624/2555
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ด้านการเงิน มีหน้าที่รับผิดชอบ ในการทำบัญชีการเงิน การรับเงิน จ่ายเงิน การเบิกถอนเงิน การเก็บรักษาเงินของสถานีอนามัยบ้านดอนนา ได้ครอบครองเงินจำนวน 433,420 บาท ของผู้เสียหาย และมีหน้าที่ดูแลรักษาเงินจำนวนดังกล่าวให้ครบถ้วน การเบิกจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวจะต้องมีหลักฐานหนังสืออนุมัติก่อหนี้ผูกพันและหนังสืออนุมัติให้จ่ายเงินจากผู้มีอำนาจ แต่จำเลยไม่มีหลักฐานหนังสืออนุมัติก่อหนี้และหนังสืออนุมัติให้จ่ายเงินจากผู้มีอำนาจที่ใช้ประกอบกับใบคำขอถอนเงินเพื่อเบิกเงิน แต่จำเลยกลับใช้ใบเบิกถอนเงินจำนวน 433,420 บาท จากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหาย แล้วเบียดบังเอาเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ของตนเองหรือของผู้อื่นโดยทุจริต เห็นได้ว่าโจทก์ได้กล่าวข้อเท็จจริงถึงองค์ประกอบความผิดที่จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำ จัดการหรือรักษาเงินของผู้เสียหาย แล้วเบียดบังเงินของผู้เสียหายไปโดยเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหาย พอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว จึงเป็นฟ้องที่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11554/2554
การที่ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ.2535 กำหนดให้จัดตั้งกองทุนขึ้นในกระทรวงการคลังจากเงินงบประมาณของแผ่นดิน โดยให้คณะกรรมการบริหารกองทุนซึ่งมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน จัดสรรเงินของกองทุนดังกล่าวให้แก่โรงเรียนประถมศึกษาในสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติทั่วประเทศเพื่อให้โรงเรียนประถมศึกษานำไปดำเนินการจัดอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือภาวะโภชนาการ และลดปัญหาภาวะทุพโภชนาการของเด็กนักเรียน แสดงเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าประสงค์ให้การจัดอาหารกลางวันแก่นักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา เป็นภาระหน้าที่หรืองานราชการส่วนหนึ่งของโรงเรียนประถมศึกษาด้วย ทั้งก่อนหน้านี้ยังมีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยโครงการอาหารกลางวันที่โรงเรียน พ.ศ.2509 ตลอดจนหนังสือของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติถึงผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดทุกจังหวัดแจ้งวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการรับจ่ายเงิน การลงบัญชี การรักษาเงินและการตรวจสอบเงินค่าอาหารกลางวันทั้งที่เป็นเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ (ส่วนที่เรียกเก็บจากผู้ปกครองหรือมีผู้บริจาค) ให้เป็นไปโดยถูกต้องตามระเบียบและคำแนะนำของกรมบัญชีกลาง สรุปได้ว่าให้หัวหน้าสถานศึกษาเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโครงการอาหารกลางวันของนักเรียนโดยให้มีอำนาจเรียกเก็บเงินค่าอาหารกลางวันจากนักเรียนได้ การรับเงินต้องออกใบเสร็จรับเงินของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ให้มีการลงบัญชี ผู้รับผิดชอบเก็บรักษาเงิน การนำเงินฝากเข้าบัญชีและเบิกจ่ายตามระเบียบที่ทางราชการกำหนดโดยให้ถือว่าเป็นเงินของทางราชการประเภทเงินนอกงบประมาณ แต่ไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน โดยให้หัวหน้าสถานศึกษาเป็นผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเพื่อการจัดอาหารกลางวันโดยเฉพาะ เห็นได้ว่าการจัดโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา ไม่ว่าใช้เงินงบประมาณหรือเงินนอกงบประมาณล้วนเป็นการปฏิบัติราชการของสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ และอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการโรงเรียน การที่ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลระยองมีคำสั่งให้จำเลยซึ่งเป็นครูของโรงเรียนทำหน้าที่รับจ่ายและเก็บรักษาเงินค่าอาหารกลางวันของนักเรียนเป็นการสั่งการหรือมอบหมายตามอำนาจของหัวหน้าสถานศึกษาให้จำเลยปฏิบัติหน้าที่ราชการของโรงเรียนโดยชอบ การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามกฎหมาย เมื่อจำเลยเบียดบังเอาเงินค่าอาหารกลางวันที่จำเลยมีหน้าที่จัดเก็บและรักษาไว้นั้นไปโดยทุจริต ย่อมเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7540/2554
แม้จำเลยเป็นเจ้าอาวาสของโจทก์ร่วมและได้รับเงินเดือนประจำที่เรียกว่านิตยภัตจากเงินงบประมาณของรัฐ แต่ผู้ที่ได้รับเงินเดือนประจำที่จะถือว่าเป็น "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งเจ้าอาวาสไม่อยู่ในความหมายดังกล่าว และในปัจจุบันวัดจัดตั้งขึ้นโดยวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ซึ่งกำหนดให้วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคลโดยมีเจ้าอาวาสเป็นผู้แทน แต่ก็มีอำนาจอย่างจำกัดตามมาตรา 37 เฉพาะในการบำรุงวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี ปกครองและสอดส่องให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีที่อยู่หรือพำนักอาศัยอยู่ในวัดนั้นปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม และอื่นๆ อันเป็นกิจการของสงฆ์โดยเฉพาะ ส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารราชการอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกรมการศาสนาและกระทรวงศึกษาธิการ วัดจึงหาใช่เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น พระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ไม่ว่าในตำแหน่งเจ้าอาวาสหรือในตำแหน่งอื่นใดก็ตาม จึงหาได้อยู่ในความหมายของคำจำกัดความว่า "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" ส่วน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 45 ซึ่งบัญญัติว่า "ให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกร เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา" ก็เป็นเรื่องเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้นำบทบัญญัติลักษณะความผิดเกี่ยวกับการปกครองตามประมวลกฎหมายที่ต้องการให้นำบทบัญญัติลักษณะความผิดเกี่ยวกับการปกครองตามประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับแก่พระภิกษุบางตำแหน่งเท่านั้น และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ก็เป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และฉบับปัจจุบันบัญญัติให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติขึ้น โดยบัญญัติถึงกระบวนการสอบสวนเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้เป็นกรณีพิเศษโดยใช้วิธีการไต่สวนเท่านั้น บุคคลอื่นๆ คงใช้กระบวนการสอบสวนตามปกติตาม ป.วิ.อ. ดังนั้น การที่พนักงานสอบสวนมิได้ส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจึงชอบแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15805/2553
จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยริมบาทวิถีถนนราชดำเนินกลางด้านทิศใต้ ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 เรียกรับเงินจากผู้เสียหายเพื่อให้ผู้เสียหายวางแผงขายสลากกินแบ่งรัฐบาลบนบาทวิถีโดยละเว้นไม่กระทำการในตำแหน่งหน้าที่ที่จะต้องแจ้งข้อหาแก่ผู้เสียหาย โดยมิชอบด้วยหน้าที่และโดยทุจริต การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างประจำซึ่งไม่ใช่ข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งหรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ที่กฎหมายระบุไว้โดยเฉพาะให้ถือเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมาย คงลงโทษจำเลยที่ 2 ได้แต่เพียงในฐานะผู้สนับสนุน ตาม ป.อ. มาตรา 86

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10171 - 10182/2553
นอกจากจำเลยมีหน้าที่รังวัดที่ดินแล้ว ผู้บังคับบัญชายังได้มอบหมายหน้าที่ให้จำเลยมีหน้าที่รับคำขอ ลงบัญชี รับทำการ เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียม และออกใบเสร็จรับเงินด้วย การที่จำเลยรับเงินค่าธรรมเนียมรังวัดที่ดินจากผู้เสียหายทั้งสิบสองแม้ศาลชั้นต้นจะฟังข้อเท็จจริงที่ได้ตามทางพิจารณาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่หรือแสดงตนว่ามีหน้าที่เรียกเก็บหรือตรวจสอบภาษีอากร ค่าธรรมเนียม หรือเงินนั้นโดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 154 แต่ก็ไม่สามารถลงโทษจำเลยได้ เนื่องจากโจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 154 อันเป็นบทเฉพาะมาด้วย นอกจากนี้ความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไป โจทก์ก็มิได้อ้างมาในฟ้องทั้งมิได้ยกขึ้นฎีกา จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8362/2553
จำเลยทั้งสองเป็นพนักงานองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ซึ่ง พ.ร.บ.องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2497 มาตรา 4 บัญญัติว่า "พนักงาน" หมายความว่า พนักงานขององค์การโทรศัพท์และมาตรา 17 บัญญัติว่า ให้ประธานกรรมการ กรรมการ ผู้อำนวยการ และพนักงานเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งกฎหมายลักษณะอาญา แสดงว่าจำเลยทั้งสองย่อมเป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้วตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองจึงไม่ใช่พนักงานตามความหมายที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 จึงไม่อาจนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาใช้บังคับลงโทษจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นพนักงานองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2573/2553
จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามขู่ให้โจทก์ร่วมนำเงินมามอบให้โดยอ้างว่าเพื่อลบชื่อโจทก์ร่วมออกจากบัญชีผู้ค้ายาเสพติดของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเพื่อที่จะไม่จับกุมโจทก์ร่วม จึงเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจและจูงใจเพื่อให้โจทก์ร่วมมอบให้ซึ่งทรัพย์สินแก่ตนเอง แต่การที่โจทก์ร่วมนำเงินไปมอบให้แก่จำเลยก็เพื่อที่จะให้เจ้าพนักงานจับกุม แสดงว่าโจทก์ร่วมไม่ได้กลัวคำขู่ของจำเลย ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยข่มขืนใจโจทก์ร่วมจนโจทก์ร่วมยอมเช่นว่านั้น การกระทำของจำเลยเป็นเพียงความผิดฐานพยายามกรรโชก แม้จำเลยจะไม่ได้ฎีกาในปัญหานี้ แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10165/2551
          จำเลย ที่ 1 ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้สืบสวนข้อเท็จจริงตามหนังสือร้องเรียนของ จำเลยที่ 2 ซึ่งร้องเรียนว่าโจทก์ร่วมร่วมกับพวกสร้างหลักฐานเท็จออกโฉนดที่ดินโดยไม่ ชอบ จำเลยที่ 1 จึงไปพบและสอบถาม ส. ภริยาของ ม. และ ค. เพื่อให้ ม. และ ค. ซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่มีการกล่าวหาว่ามีการกระทำผิดมาให้มีข้อเท็จ จริง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาพยานบุคคลมาให้การประกอบการดำเนินคดีแก่โจทก์ ร่วม แม้จำเลยที่ 1 จะพูดว่าหากไม่ได้ความร่วมมือเป็นพยานจะดำเนินคดีแก่ ม. และ ค. ก็ตาม ก็อยู่ในขบวนการสืบสวนหาข้อเท็จจริง ทั้งการไปเป็นพยานย่อมเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงยังไม่ถึงขั้นรับฟังได้ว่าเป็นการข่มขู่ที่จะทำให้เป็นความผิดฐานเป็น เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และจำเลยที่ 2 ไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7030/2551
พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 เป็นกฎหมายมุ่งคุ้มครองและควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม แม้ให้สิทธิโจทก์ทั้งสองเป็นผู้กล่าวหาผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าประพฤติ ผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมโดยนำเรื่องยื่นต่อจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 32 แต่ตามมาตรา 39 ก็ให้อำนาจคณะกรรมการจำเลยที่ 1 ที่จะวินิจฉัยชี้ขาดเพียงว่า ยกข้อกล่าวหา ว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกิน 2 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งเป็นการกระทำต่อผู้ถูกกล่าวหาที่ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเท่านั้น มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ ทั้งสองโดยตรงแต่ประการใด การที่จำเลยที่ 28 ถึงที่ 33 สรุปผลการแสวงหาข้อเท็จจริงว่า คดีไม่มีมูล และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 27 พิจารณารายงานและความเห็นดังกล่าวแล้วมีมติว่า คดีไม่มีมูลให้ยกข้อกล่าวหา จึงไม่เป็นการกระทำต่อโจทก์ทั้งสองโดยตรงและไม่ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความ เสียหายเป็นพิเศษเนื่องจากการกระทำความผิดตามฟ้อง โจทก์ทั้งสองไม่เป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2(4) และไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามสิบสามในข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1510/2551
จำเลยเป็นนายอำเภอสองพี่น้องมีหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ขององค์การ บริหารส่วนตำบลบางตาเถรให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของทางราชการ แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีที่มีคำสั่ง ให้ดำเนินการสอบสวนคุณสมบัติของ ก. ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลดังกล่าว และมิได้ดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งแก่ ก. ที่ได้ทำการแก้ไขและสอดแทรกโครงการในร่างข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2543 ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางตาเถรโดยไม่มีอำนาจเป็นการกระทำความผิดต่อ ตำแหน่งหน้าที่ราชการอันเป็นผลเสียหายแก่รัฐ มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ ซึ่งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบางตาเถรโดยตรง โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหาย

องค์การบริหารส่วนตำบลบางตาเถรเป็นผู้เสียหายโดยตรงและผู้ที่จะดำเนินคดี อาญาแทนองค์การบริหารส่วนตำบลบางตาเถรเพื่อเอาผิดแก่ ก. ก็คือ ก. แต่ ก. ไม่ยอมดำเนินคดีแก่ตนเอง แต่โจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบางตาเถรจะมีอำนาจฟ้อง ก. แทนองค์การบริหารส่วนตำบลบางตาเถรได้หรือไม่ เป็นคนละเรื่องกับการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลย จึงไม่ทำให้โจทก์กลายเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1524/2551
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดอาญา ได้พบเห็น ส. กับพวกเล่นการพนันชนไก่อันเป็นความผิดอาญา จำเลยมีหน้าที่ต้องทำการจับกุมผู้กระทำความผิด แต่กลับไม่ทำการจับกุมและเรียกรับเงินจำนวน 1,500 บาท จาก ส. เพื่อจะไม่จับกุมตามหน้าที่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3340/2550
การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทโดยนอกจากมีความผิดต่อตำแหน่ง หน้าที่ราชการตาม ป.อ. มาตรา 157 แล้วยังมีความผิดต่อ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล ฯ มาตรา 59 ซึ่งบัญญัติให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่ต่ำกว่าสี่ปีและ ไม่เกินแปดปีด้วย อันเป็นมาตรการที่มุ่งจะจำกัดสิทธิของเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งซึ่ง กระทำหน้าที่โดยทุจริตไม่ใช่โทษตามกฎหมาย ดังนั้น เมื่อศาลลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตาม ป.อ. มาตรา 157 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตาม ป.อ. มาตรา 90 ศาลก็ต้องสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ด้วย ตามที่กฎหมายบัญญัติบังคับไว้โดยไม่อาจใช้ดุลพินิจเป็นอย่างอื่นได้ มิฉะนั้นจะเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 845/2550
อายุความการฟ้องคดีอาญาแก่ผู้ถูกกล่าวหาที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการ ทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ไต่สวนแล้วมีมติว่า ผู้ถูกกล่าวหามีความผิดทางอาญา ต้องพิจารณาตามความใน ป.อ. มาตรา 95 กำหนดระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ตามความใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 84 เป็นเพียงกำหนดระยะเวลาที่กำหนดให้ผู้กล่าวหาต้องยื่นคำกล่าวหาเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อของตนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. นับถัดจากวันที่ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและมิใช่บุคคลตาม มาตรา 66 ได้พ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น หาใช่อายุความฟ้องร้องคดีอาญาไม่

เมื่อความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 147 มีอัตราโทษจำคุกขั้นสูงคือ จำคุกตลอดชีวิต และความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม ป.อ. มาตรา 157 มีอัตราโทษจำคุกขั้นสูงคือ 10 ปี อายุความการฟ้องคดีอาญาในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงเป็นไปตาม ป.อ. มาตรา 95 (1) และ (2) คือ 20 ปี และ 15 ปี ตามลำดับ จำเลยที่ 1 กระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวนี้เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2543 เวลากลางคืนหลังเที่ยง โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 วันที่ 20 พฤษภาคม 2546 เป็นเวลาห่างกันเพียง 3 ปีเศษ คดียังไม่ขาดอายุความ โจทก์มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7095/2549
ในการพิจารณากำหนดอายุความฟ้องผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 95 นั้นต้องถือเอาตามข้อหาหรือฐานความผิดที่ศาลพิจารณาได้ความ คดีนี้จำเลยถูกศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 147 ซึ่งมีอายุความฟ้องภายใน 20 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (1) คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

แม้การกระทำความผิดของจำเลยจะเป็นการกระทำด้วยเจตนาในการกระทำผิดอย่างเดียว กันคือเบียดบังเอาเงินซึ่งจำเลยมีหน้าที่จัดการหรือรักษาไว้ไปเป็นของจำเลย เองโดยทุจริต แต่จำเลยก็ได้รับเงินแล้วเบียดบังเอาเป็นของตนเองโดยทุจริตจากบุคคลต่างราย แต่ละรายเกิดขึ้นต่างวันเวลากัน อันเป็นการกระทำที่ต่างกรรมต่างวาระกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4532/2548
การที่จำเลยนำสมุดบันทึกการประชุมในวันที่ 15 และ 19 สิงหาคม 2538 ไปให้ จ. และ ส. ลงลายมือชื่อในบันทึกการประชุม ทั้งที่ไม่ได้มีการประชุม และบันทึกรายงานการประชุมดังกล่าวระบุว่า ร. เป็นผู้จดรายงานการประชุมการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ ร. ผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมแต่มีชื่อเข้าร่วมประชุมและประชาชนทั่วไปในตำบล ท่าเรือ ทั้งเอกสารที่ทำปลอมขึ้นนั้นเป็นบันทึกรายงานการประชุมของสมาชิกสภาองค์การ บริหารส่วนตำบลท่าเรือ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลในราชการส่วนท้อง ถิ่น จึงเป็นการปลอมเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 265 เมื่อจำเลยซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือมี หน้าที่ขออนุมัติข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2538 จากสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือเพื่อนำเสนอนายอำเภอเมืองนครศรี ธรรมราชอนุมัติ จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ดูแลรักษาเอกสาร กระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้นตาม ป.อ. มาตรา 161 และการที่จำเลยลงลายมือชื่อรับรองสำเนารายงานการประชุมทั้งสองครั้งดังกล่าว ในสำเนาข้อบังคับเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2538 ว่ามีการประชุมจริง จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับเอกสารรับรองเป็นหลักฐาน ว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และจำเลยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือ และประชาชนในตำบลท่าเรือ โดยการนำงบประมาณมาจัดประมูลให้ผู้รับเหมาทำงานตามที่ตนเองต้องการ อันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 157

จำเลยปลอมบันทึกการประชุม 2 ฉบับ อันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ เจ้าพนักงานปลอมเอกสาร ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก็ เพื่อให้นายอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชอนุมัติข้อบังคับเรื่องงบประมาณรายจ่าย ประจำปี พ.ศ.2538 ขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7768/2548
แม้ขณะเกิดเหตุ ว. จะเข้ามาดำรงตำแหน่งปลัดเมืองพัทยาโดยการว่าจ้างตามความในมาตรา 50 ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2521 แต่ปลัดเมืองพัทยาก็มีฐานะเป็นพนักงานเมืองพัทยาตามความในมาตรา 64 และพนักงานเมืองพัทยามีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. ตามความในมาตรา 66 ของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวที่ใช้บังคับในขณะกระทำความผิดคดีนี้ ดังนั้น หากขณะดำรงตำแหน่งปลัดเมืองพัทยา ว. ได้กระทำการใดผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และ ว. มิได้ถึงแก่ความตายเสียก่อน ว. ก็ต้องรับผิดในทางอาญาในฐานะเจ้าพนักงานตามที่ ป.อ. มาตรา 2 และมาตรา 147 ถึงมาตรา 166 บัญญัติไว้ แม้จะปรากฏว่าภายหลังกระทำความผิดได้มี พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2542 มาตรา 3 ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2521 และมีบทบัญญัติเกี่ยวกับที่มาของผู้ดำรงตำแหน่งปลัดเมืองพัทยาแตกต่างจาก กฎหมายเดิม แต่ความผิดที่ ว. ถูกกล่าวหาในคดีนี้มิได้มีการยกเลิกไปและก็มิได้เป็นเรื่องที่กฎหมายใหม่ บัญญัติว่าการกระทำใดไม่เป็นความผิดหรือกำหนดโทษเป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด จึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 จะอ้าง ป.อ. มาตรา 2 และมาตรา 3 มาเป็นประโยชน์แก่คดีของจำเลยที่ 1 ได้

จำเลยที่ 3 กับพวกได้ร่วมกันใช้หรือจ้างวานให้นาย อ. กับ ส. ไปแจ้งแก่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ให้จดทะเบียนทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 42827 ในราคา 1,200,000 บาท และจำเลยที่ 3 กับพวก ได้ร่วมกันใช้หรือจ้างวานให้ ย. กับ อ. ไปแจ้งแก่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ให้จดทะเบียนทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 42958 ในราคา 1,400,000 บาท อันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วบุคคลทั้งสี่ดังกล่าวมิได้มีเจตนาซื้อขายที่ดินกันจริง เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง หลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงดำเนินการจดทะเบียนทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินดังกล่าวในเอกสารสัญญาซื้อขาย ที่ดิน และบันทึกในสารบัญจดทะเบียนในโฉนดที่ดินดังกล่าวอันเป็นเอกสารมหาชนและ เอกสารราชการ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่เมืองพัทยา ผู้อื่นหรือประชาชน จำเลยที่ 3 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้ กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนและเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 267 ประกอบมาตรา 84

เมื่อ ว. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 และเมื่อการกระทำของ ว. เป็นความผิดตามมาตรา 151 อันเป็นบทเฉพาะแล้ว ก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ใช่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดซื้อที่ดินของเมืองพัทยาด้วย จึงขาดคุณสมบัติเฉพาะตัวอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 151 แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ก็เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระทำความผิดดังกล่าวของ ว. จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทรัพย์ใช้อำนาจใน ตำแหน่งโดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 151 ประกอบด้วยมาตรา 86 อันเป็นความผิดบทเฉพาะและไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157 ประกอบด้วยมาตรา 86 เป็นบททั่วไปเช่นเดียวกัน เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 จึงไม่มีประโยชน์ที่จะต้องยกข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 อ้างมาในฎีกาขึ้นวินิจฉัย

ความผิดฐานให้สินบนเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 นั้น มีลักษณะเป็นการยุยงส่งเสริมก่อให้ ว. ปลัดเมืองพัทยากระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทรัพย์ใช้อำนาจ ในตำแหน่งโดยทุจริตอยู่ในตัว แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามทางพิจารณาว่า ในช่วงวันเวลาที่โจทก์ฟ้อง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ให้สินบนหรือเป็นผู้ยุยงส่งเสริมให้ ว. ปลัดเมืองพัทยากระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทรัพย์ใช้อำนาจ ในตำแหน่งโดยทุจริต ได้เป็นตัวการร่วมกับ ว. กับพวกกระทำการทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อที่ดินสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะ เมืองพัทยาอย่างเป็นขบวนการโดยมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อันมีลักษณะเป็นการแบ่งหน้าที่กันกระทำมาแต่ต้นจนกระทั่งความผิดสำเร็จ เพียงแต่จำเลยที่ 1 ขาดคุณสมบัติการเป็นเจ้าพนักงาน จึงรับโทษแค่เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของ ว. กับพวกดังกล่าว ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยที่ 1 จะได้กระทำความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานหรือไม่ก็ตาม ความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ย่อมเกลื่อนกลืนเป็นการกระทำความผิดในกรรมเดียวกับความผิดฐานเป็นผู้สนับ สนุนเจ้าพนักงาน (มีหน้าที่ซื้อทรัพย์) ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตแล้ว ศาลฎีกาย่อมลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานะเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน (มีหน้าที่ซื้อทรัพย์) ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต ได้แต่เพียงบทเดียวเท่านั้น กรณีนี้ไม่ใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานอันเป็นบทเฉพาะเจาะจงแล้ว จึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน (มีหน้าที่ซื้อทรัพย์) ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอีก

การกระทำของจำเลยที่ 3 ตามคำฟ้องข้อ (ข) (ง) และข้อ (ฉ) เป็นการกระทำต่อผู้เสียหายต่างคนกันและเป็นเหตุการณ์คนละตอนกัน แม้จะอยู่ในแผนการทุจริตคอร์รัปชันเดียวกัน ก็มีการกระทำหลายอย่างและแต่ละอย่างเป็นความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติ การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบททั้งฐานใช้ให้ผู้อื่นแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อ ความอันเป็นเท็จ และฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทรัพย์ใช้อำนาจในตำแหน่งโดย ทุจริตตามคำฟ้องข้อ (ง) (ฉ) และ (ข)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4814/2545
การกระทำอันก่อให้เกิดหนี้ตามคำฟ้องเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ซึ่งมีอายุความ 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95(1) เมื่อการกระทำตามที่โจทก์ฟ้องไม่มีผู้ใดฟ้องทางอาญา สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่จะฟ้องทางแพ่งเนื่องจากความผิดนั้นย่อม ระงับไปตามกำหนดเวลาดังที่กฎหมายอาญาบัญญัติไว้ในเรื่องอายุความฟ้องคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคหนึ่ง หากข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดอาญา อายุความก็ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โดยศาลแรงงานกลางต้องฟัง ข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำผิดอาญาหรือไม่จากพยานหลักฐานของโจทก์จำเลย แต่คดีนี้ยังไม่มีการสืบพยานหลักฐานของคู่ความ การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยให้เหตุผลว่าคดีของโจทก์ขาดอายุ ความเพราะนำคดีมาฟ้องเมื่อเกิน 10 ปีแล้ว จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 153/2545
การทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีการตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเก็บเงินทุกคน โดยให้พนักงานเก็บเงินกดแป้นพิมพ์เครื่องคอมพิวเตอร์ตามประเภทของรถที่ผ่าน และประเภทของการจ่ายเงิน หากไม่กดจะไม่มีจำนวนเงินปรากฏในเครื่องคอมพิวเตอร์แต่เครื่องตรวจจับที่ พื้นถนนจะเป็นตัวฟ้องว่ามีรถผ่านโดยมีเสียงสัญญาณดังขึ้น และพนักงานควบคุมจะทราบเพราะเครื่องทำงานไม่ครบวงจร ดังนั้น การที่จำเลยรับเงินจากรถที่วิ่งผ่านทางด่วนแล้วไม่กดแป้นพิมพ์เครื่อง คอมพิวเตอร์ หรือกดแป้นพิมพ์แล้วเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่ทำงานตามที่จำเลยกล่าวอ้าง เครื่องตรวจจับที่พื้นถนนจะตรวจนับจำนวนรถที่วิ่งผ่านเอง แต่เมื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาเปรียบเทียบกันแล้วปรากฏว่าจำเลยส่งเงินขาดจำนวน 8 ครั้ง เป็นเงิน 153,700 บาท แม้ว่าจะไม่มีพยานบุคคลมายืนยันว่าจำเลยเบียดบังเงินค่าผ่านทาง แต่เมื่อจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รักษาเงินโดยชอบแม้จะเป็นระยะ เวลาอันสั้น รวมทั้งเป็นผู้รับเงินและรวบรวมนำส่งต่อไปอันถือว่าเป็นการจัดการทรัพย์ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ได้รับเงินค่าผ่านทางมาแล้วและไม่ส่งเงินให้ครบ จึงถือว่าเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนโดยทุจริตแล้ว ที่จำเลยอ้างว่าจำนวนเงินตามใบส่งตรงกับต้นขั้วใบเสร็จรับเงินอันเป็นสิ่ง แสดงว่าจำเลยมิได้ทุจริตนั้นก็เป็นเรื่องที่จำเลยได้รับใบเสร็จรับเงินมา เพื่อจ่ายให้แก่รถที่ใช้ทางด่วนทุกคัน หากผู้ใช้ทางด่วนไม่ต้องการใบเสร็จรับเงิน จำเลยต้องฉีกใบเสร็จรับเงินนั้นด้วย แต่ในกรณีของจำเลยปรากฏว่าจำนวนรถที่วิ่งผ่านมาปริมาณมากกว่าจำนวนใบเสร็จ รับเงินที่จำเลยฉีกแสดงว่าจำเลยรับเงินมามากกว่าจำนวนใบเสร็จรับเงินที่ จำเลยฉีกออกไป ฉะนั้น แม้จำนวนเงินที่จำเลยส่งจะตรงกับจำนวนใบเสร็จรับเงินก็มิได้เป็นการยืนยัน ว่าจำเลยไม่ได้ทุจริตแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1749/2545
พฤติการณ์ที่จำเลยจับกุมผู้เสียหายในข้อหาลักทรัพย์ของ ส. แล้วให้ผู้เสียหายลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม จากนั้นนำผู้เสียหายไปควบคุมไว้ที่สถานีตำรวจประมาณ30 นาที จึงเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายเพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวไม่ดำเนิน คดีโดยนำผู้เสียหายออกมาโทรศัพท์หา ก. ภริยาผู้เสียหาย ต่อมาเมื่อจำเลยได้รับเงิน3,000 บาท จากผู้เสียหายแล้ว จึงปล่อยผู้เสียหายไปนั้น เป็นกรณีไม่กระทำการในตำแหน่งโดยมิชอบด้วยหน้าที่ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149

เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว ย่อมไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก แม้ว่าการกระทำของจำเลยจะเข้าหลักเกณฑ์อันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 157 ด้วยก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3470/2543
จำเลยทั้งสามร่วมกันขู่เข็ญเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหาย เพื่อที่จะละเว้นไม่จับกุมผู้เสียหายไปดำเนินคดี จนผู้เสียหายกลัวว่าจะถูกจับกุมอันจะเป็นอันตรายต่อเสรีภาพของตน จึงยอมจะให้เงินแก่จำเลยทั้งสามนั้นเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปและฐานกรรโชกตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก ด้วย หาใช่เป็นเรื่องที่เมื่อเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 แล้วจะ ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 337 ด้วยไม่ เพียงแต่เมื่อเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้วก็ไม่จำต้องปรับบทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีกเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1532/2543
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับคำขอต่าง ๆ เกี่ยวกับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ดินทุกประเภท รวมทั้งงานในด้านเกี่ยวกับการเงินและบัญชี โดยมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องการกรอกข้อความในเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน แล้วนำเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ทั้งได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวมาก่อนเกิดเหตุนานประมาณ 7 ปี จำเลยย่อมทราบและคำนวณค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนที่ดินในพื้นที่ที่อยู่ใน ความรับผิดชอบเป็นอย่างดี การที่จำเลยเรียกหรือรับเงินจำนวน 7,800 บาท ไว้แล้วนิ่งเฉยเสีย แสดงโดยชัดแจ้งว่าจำเลยมีเจตนาเรียกหรือรับเอาเงินส่วนที่เกินไว้สำหรับตน เองโดยมิชอบเพื่อกระทำการในตำแหน่ง จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149

จำเลยพร้อมที่จะเสนอเรื่องราวขอจดทะเบียนขายที่ดินระหว่าง น. กับ ส. ต่อเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินเพื่อดำเนินการต่อไปตามอำนาจหน้าที่ แต่จำเลยกลับละเว้นไม่ดำเนินการนับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นมา ดังนั้น ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 จึงเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับหรือยอมจะรับ ทรัพย์สินสำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 เมื่อปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 อันเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อันเป็นบททั่วไปอีก

เมื่อจำเลยได้กรอกข้อความลงในใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) ตามความเป็นจริง ตรงตามเจตนาของผู้ซื้อผู้ขายที่ดินทุกประการ และตราประทับของกระทรวงมหาดไทยก็ถูกต้อง เพียงแต่ยังไม่มีลายมือชื่อ นายอำเภอและยังมิได้ลงวันที่และเดือนที่ออกใบแทนฯ เท่านั้น เอกสารดังกล่าว จึงมิใช่เอกสารที่จำเลยจัดทำขึ้นโดยมีเจตนาจะลอกเลียนแบบหรือปลอมเอกสาร ต้นฉบับ ๆ หนึ่งฉบับใด เป็นเพียงแต่เอกสารยังลงรายการไม่ครบถ้วนบริบูรณ์ ตามระเบียบของทางราชการเท่านั้น และการที่นายอำเภอในฐานะเป็น เจ้าพนักงานที่ดินยังมิได้ลงชื่อรับรองเอกสารกับการที่ยังมิได้ลงวันเดือนปี ที่ออกเอกสาร ก็ไม่มีเหตุที่จะทำให้ผู้พบเห็นเอกสารจะหลงเชื่อว่าเป็น เอกสารที่ถูกต้องแท้จริงที่ทางราชการออกให้ไปได้ การกระทำของจำเลย ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารจึงไม่เป็นความผิดฐาน ปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 ประกอบด้วยมาตรา 266(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3865/2542
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานป่าไม้ท้องที่เกิดเหตุโดยหน้าที่ราชการจะต้องมีความละเอียด รอบคอบในการพิจารณาคำขอและตรวจสอบที่ดินของผู้ยื่นคำขอเสียก่อน สภาพที่ดินเป็นทุ่งนาไม่มีต้นไม้ ส่วนตอไม้ที่พบนั้นอยู่ในที่ดินที่มีหลักฐานเป็นใบจอง เจ้าของที่ดินก็ไม่เคยยื่นคำขอนำไม้ ถ้าจำเลยตรวจสอบและเรียกเจ้าของที่ดินที่ถูกอ้างว่าเป็นผู้ยื่นคำขอนำไม้ มาสอบถามก็จะทราบความจริงว่าคำขอนั้นเป็นเท็จและจำเลยก็ไม่เคยสอบถามคณะ กรรมการการตรวจสอบไม้ว่า ผู้ยื่นคำขอมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยแท้จริงหรือไม่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ของเจ้าพนักงานป่าไม้

ทางราชการกรมป่าไม้ กรมที่ดิน และกระทรวงมหาดไทย ได้ตราระเบียบแบบแผนในการปฏิบัติราชการเพื่อป้องกันการลักลอบตัดไม้แล้วนำมา สวมรอยอ้างว่าเป็นไม้ที่เจ้าพนักงานได้ตรวจและอนุญาตให้ตัด การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานป่าไม้กระทำหรือยอมให้น้องชายจำเลยนำดวงตรา ประทับไม้ประจำตัวจำเลยไปกระทำการตีรอยตราดังกล่าว เป็นการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่จำเลยย่อมเล็งเห็นผลเสียหายของการกระทำนั้น ได้ และเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นแล้ว จำเลยจะอ้างว่ากระทำไปโดยสุจริตหรือกระทำไปโดยความสำคัญผิดหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5133/2541
ความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 161 เป็นความผิดคนละอย่างที่มีองค์ประกอบความผิด แตกต่างกัน ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จึงมิใช่เป็นความผิดตามบททั่วไปของบทเฉพาะตามมาตรา 161 จำเลยที่ 2 เป็นผู้มาติดต่อพาคนไปให้จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานทำบัตรประจำตัวประชาชนปลอม โดยให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงมี ความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการปลอมเอกสารราชการ และฐานสนับสนุนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบและโดยทุจริตตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,161,265ประกอบมาตรา 86

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2823/2541
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสารกรอกข้อความลงในเอกสาร ดูแลรักษาเอกสารเกี่ยวกับการเงินและบัญชี ควบคุมดูแลเงินและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเงินทุกประเภทของโรงเรียน พ.จำเลยได้กรอกข้อความและลงลายมือชื่อของข้าราชการหลายคนในสัญญารับรองการยืม เงินว่า บุคคลเหล่านั้นยืมเงินค่าวัสดุอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายในกิจการของโรงเรียนอัน เป็นความเท็จ และปลอมลายมือชื่อของผู้อำนวยการ โรงเรียนกับพวกเป็นผู้อนุมัติให้ยืมเงิน อีกทั้งปลอมสัญญารับรองการยืมเงินของบุคคลดังกล่าวโดยเพิ่มเติมข้อความหรือ แก้ไขตัวเลขให้สูงขึ้น แล้วเบียดบังเงินส่วนนั้นไปเป็นของตนโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 และ 147 แต่การที่จำเลยปลอมและใช้เอกสารปลอมก็โดยมีเจตนาที่จะใช้เป็นหลักฐานในการ เบียดบังเงินเป็นของตนการที่จำเลยเบียดบังเงินแต่ละครั้งจึงเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 147อันเป็นบทหนักที่สุดตามมาตรา 90 จำเลยกระทำความผิดรวม 36 กระทง เท่านั้นแต่การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำ ของจำเลยในความผิดตามมาตรา 147 และมาตรา 161 เป็นความผิดหลายกรรมและพิพากษาลงโทษจำเลย ตามมาตรา 147 รวม 36 กระทงกับมาตรา 161 รวม 36 กระทงนั้นไม่ถูกต้อง เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองและแก้ไข ให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6154/2540

ใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้านเป็นหลักฐานแห่งการระงับซึ่งสิทธิของผู้ให้เช่าจึงเป็นเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(9)

จำเลยนำใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้านที่จำเลยปลอมขึ้นและเป็นเอกสารเท็จยื่น ประกอบแบบใบขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านเพื่อเบิกเงินค่าเช่าบ้าน และจำเลยได้รับเงินค่าเช่าบ้านจากคลังจังหวัดชุมพรไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความ อันเป็นเท็จเพื่อให้เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเขตและเจ้าหน้าที่ สำนักงานคลังจังหวัดชุมพรหลงเชื่อว่าจำเลยได้เช่าบ้านตามใบเสร็จรับเงินดัง กล่าวจริง และโดยการหลอกลวงดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเขตและ เจ้าหน้าที่สำนักงานคลังจังหวัดชุมพรหลงเชื่อและทำให้จำเลยได้รับเงินค่า เช่าบ้านตามที่จำเลยขอเบิกจ่ายไปจากเจ้าหน้าที่สำนักงานคลังจังหวัดชุมพร อันน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เจ้าหน้าที่คลังจังหวัดชุมพร ก. และกรมส่งเสริมสหกรณ์ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตาม มาตรา 268

จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับเอกสารและกรอกข้อความลงใน เอกสารรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริง อันเป็นความเท็จ ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162(4)และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้หนึ่งผู้ใดและโดยทุจริตตามมาตรา 157 เมื่อเป็นความผิดตามมาตรา 162(4)ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้วจึงไม่ปรับบทลงโทษตามมาตรา 157 อีก

การที่จำเลยซึ่งดำรงตำแหน่งสหกรณ์จังหวัดชุมพรซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการของ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดชุมพร ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรให้ทำการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด ชุมพรในการอนุมัติให้เบิกจ่ายค่าเช่าบ้านของข้าราชการและลูกจ้างในสำนักงาน สหกรณ์จังหวัดชุมพร ได้ทำการอนุมัติให้เบิกจ่ายค่าเช่าบ้านตามใบเสร็จรับเงินในแบบใบขอเบิกเงิน ค่าเช่าบ้านโดยรู้อยู่แล้วว่าเอกสารใบขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านและใบเสร็จรับ เงินค่าเช่าบ้านเป็นเอกสารปลอม และมีข้อความเท็จโดยจำเลยได้ลงลายมือชื่ออนุมัติให้เบิกจ่ายค่าเช่าบ้านได้ จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความ เสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดและโดยทุจริตอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

ตามเอกสารพิพาทเป็นเอกสารของจำเลยที่จำเลยนำเงินส่วนที่เบิกเกินไปคืนแก่ทาง ราชการและตามใบเสร็จรับเงินของกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่ได้รับเงินจากจำเลยไม่ ปรากฏว่าได้มีการตกลงหรือประนีประนอมยอมความกันในความผิดฐานฉ้อโกงและลำพัง การที่จำเลยส่งเงินส่วนที่จำเลยเบิกเกินคืนกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมส่งเสริม สหกรณ์รับไว้ ก็เพียงแต่ทำให้จำเลยพ้นความรับผิดทางแพ่งเท่านั้นไม่ทำให้จำเลยพ้นความรับ ผิดทางอาญา และยังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกันอันจะทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะนำคดีอาญา มาฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงเป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกง และในความผิดฐานอื่น

การที่จำเลยปลอมใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้านอันเป็นเอกสารสิทธิซึ่งเป็นความ ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 นั้น จำเลยกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน และการที่จำเลยได้นำแบบคำขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านและใบเสร็จรับเงินค่าเช่า บ้านอันเป็นเอกสารสิทธิที่จำเลยทำปลอมขึ้นดังกล่าวซึ่งมีข้อความเท็จเสนอต่อ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เพื่อให้เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเขตและเจ้าหน้าที่สำนักงานคลัง จังหวัดชุมพรหลงเชื่อว่าจำเลยได้เช่าบ้านตามใบเสร็จรับเงินดังกล่าวจริงและ โดยการหลอกลวงทำให้เจ้าหน้าที่ตรวจเงินแผ่นดินเขตและเจ้าหน้าที่สำนักงาน คลังจังหวัดชุมพรหลงเชื่อและทำให้จำเลยได้รับเงินตามที่ขอเบิกจ่ายไปจากเจ้า หน้าที่สำนักงานคลังจังหวัดชุมพรอันเป็นความผิดตามมาตรา 341 และมาตรา 268 และการที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่กรอกข้อความรับรองคำขอเบิกเงิน ค่าเช่าบ้านได้รับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ ความจริงอันเป็นความเท็จ อันเป็นความผิดตามมาตรา 162(4) และการที่จำเลยในฐานะที่ดำรงตำแหน่งสหกรณ์จังหวัดชุมพรซึ่งเป็นหัวหน้าสำนัก งานสหกรณ์จังหวัดชุมพรได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรในการ อนุมัติการเบิกจ่ายเงินค่าเช่าบ้านแทนผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรได้ลงลายมือ ชื่ออนุมัติการเบิกจ่ายค่าเช่าบ้านของจำเลยในแบบคำขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านตาม ใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้านที่จำเลยปลอมขึ้นและมีข้อความอันเป็นเท็จ อันเป็นความผิดตามมาตรา 157 นั้นเป็นการกระทำคนละครั้งคนละคราวกัน แต่การที่จำเลยปลอมใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้าน นำใบเสร็จดังกล่าวไปใช้ประกอบการยื่นคำขอเบิกเงินค่าเช่าบ้าน ลงลายมือชื่อรับรองการเบิกเงินค่าเช่าบ้านรวมทั้งลงลายมือชื่ออนุมัติการ เบิกจ่ายเงินค่าเช่าบ้านในแต่ละเดือนดังกล่าวนั้น แม้จะเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน แต่ก็เป็นการกระทำโดยมีเจตนาและจุดประสงค์ในผลอันเดียวกัน คือมุ่งที่จะได้รับเงินค่าเช่าบ้าน การกระทำดังกล่าวตั้งแต่ปลอมใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้านจนถึงการอนุมัติให้ เบิกจ่ายค่าเช่าบ้านจึงเป็นกระบวนการเดียวกันเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าเช่าบ้าน ตามที่จำเลยประสงค์และเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกัน จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวกันในแต่ละเดือนแต่ละคำขอ ตามมาตรา 90เมื่อจำเลยกระทำการดังกล่าวรวม 12 เดือน เดือนละหนึ่งครั้งรวม 12 ครั้ง จึงถือได้ว่าจำเลยกระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมาย อาญามาตรา 91 และในแต่ละกรรมต้องลงโทษในบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดคือตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 157

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7776/2540
จำเลย ที่ 1 เป็นปลัดสุขาภิบาลได้รับคำสั่งแต่งตั้งจากสุขาภิบาลให้เป็นผู้ตรวจงานจ้างใน การจ้างเหมาขุดลอกและล้างทางระบายน้ำในเขตสุขาภิบาล จำเลยที่ 1 ได้เข้าดำเนินการขุดลอกและล้างทางระบายน้ำโดยใช้คนงานของสุขาภิบาลทำงานให้ จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีหน้าที่จัดการและดูแลกิจการของสุขาภิบาล เมื่อจำเลยที่ 1 เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองและผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการดัง กล่าวโดยจ่ายค่าจ้างคนงานเพียง 1,750 บาท แต่เบิกเงินค่าจ้างตามสัญญาไป 2,900 บาท เป็นเหตุให้สุขาภิบาลได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152,157อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 152 ซึ่งเป็นบทหนัก จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างทำหลักฐานใบตรวจรับงานจ้างเสนอ ประธานกรรมการสุขาภิบาลว่าผู้รับจ้างได้ก่อสร้างถนนลาดยางแบบ 2 ชั้น เสร็จเรียบร้อยและถูกต้องตามสัญญาแล้ว เห็นควรเบิกจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้าง ทั้ง ๆ ที่จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ตรวจสอบการทำงานของผู้รับจ้าง จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอันเป็นการผิดระเบียบ กระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2528แม้ว่าการตรวจการก่อสร้างถนนลาดยางจะต้องอาศัยผู้มีความรู้เป็นพิเศษ เนื่องจากมองดูด้วยตาจะไม่สามารถรู้ได้ว่ามีการลาดยาง 1 ชั้น หรือ 2 ชั้น แต่ถ้าจำเลยทั้งสี่ออกไปควบคุมดูแลและเอาใจใส่ในการตรวจสอบตามขั้นตอนก็ย่อม สามารถให้ผู้รับจ้างปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาและแบบแปลนได้ การที่ปล่อยให้ผู้รับจ้างก่อสร้างถนนโดยลาดยางเพียงชั้นเดียว เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเป็นเหตุให้สุขาภิบาลอนุมัติให้จ่าย ค่าจ้างแก่ผู้รับจ้างไปมากกว่าปริมาณของงาน ที่ได้รับ จำเลยทั้งสี่จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 929/2537
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 139 บัญญัติให้พนักงานสอบสวนบันทึกการสอบสวนตามหลักทั่วไปในประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความอาญาอันว่าด้วยการสอบสวนและให้เอาบันทึกเอกสารอื่นซึ่งได้มา อีกทั้งบันทึกและเอกสารทั้งหลายซึ่งเจ้าพนักงานอื่นผู้สอบสวนคดีเดียวกัน นั้นส่งมารวมเข้าสำนวนไว้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนจะอ้างว่าได้ทำบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาและผู้กล่าว หาใหม่แล้วของเดิมไม่สำคัญ หรือผู้ให้ถ้อยคำไม่ประสงค์จะใช้ของเดิมจึงไม่นำเข้ารวมสำนวนไว้หาได้ไม่ การที่จำเลยที่ 1 เอาไปเสียซึ่งคำให้การฉบับเดิมของผู้ต้องหาและผู้กล่าวหาซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ปกครองดูแลรักษาไว้ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 158 นั้น ก็โดยเจตนาเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหามิให้ต้องโทษ ซึ่งเป็นการกระทำการในตำแหน่งพนักงานสอบสวนโดยมิชอบอันเป็นความผิด ตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157,200 วรรคแรกด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดกรรมเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3194/2536
จำเลย ที่ 2 ที่ 3 เป็นข้าราชการครูได้รับแต่งตั้ง ให้เป็นกรรมการสอบสัมภาษณ์ในการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการครู ตามคำสั่งของสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติ ย่อมถือว่าเป็นเจ้าพนักในการสอบครั้งนี้แม้จะเป็นเพียงกรรมการสอบสัมภาษณ์ก็ ตาม หน้าที่ในการสอบย่อมคลุมถึงการสอบตั้งแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งจน ถึงการสอบเสร็จสิ้น หาใช่เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เฉพาะในช่วงการสอบสัมภาษณ์ เท่านั้นไม่ เมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3มีเจตนาทุจริตร่วมกันนำเข้าสอบซึ่งเป็นความลับของทางราชการไปเปิดเผยให้ บ. กับพวกรู้ก่อนเข้าสอบ จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและฐานเป็นเจ้า พนักงานกระทำโดยมิชอบด้วยหน้าที่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ความลับในราชการ และจำเลยที่ 4 ที่ 5 ซึ่งเป็นข้าราชการครูซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำผิดแต่มิได้เป็นกรรมการสอบมีความ ผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 2 ที่ 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2719 - 2720/2536
จำเลยเป็นพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายโดยเป็นเสมียน ตรวจปล่อยสินค้าประจำโรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นผู้ตรวจสอบ สินค้าในรถยนต์บรรทุกและเขียนใบกำกับสินค้าตามที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรสั่ง ปล่อย ย่อมเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จ่ายทรัพย์หรือสินค้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 153

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1706/2535
ผู้ที่จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 จะต้องเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้ามีส่วนได้ เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น เมื่อปรากฏว่าในการจัดซื้อดินถมพร้อมบดอัดแน่นจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. นั้น เทศบาลได้ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบของทางราชการและราคาที่ตกลงซื้อก็ต่ำ กว่าราคาที่เทศบาลตั้งงบประมาณไว้ แสดงว่าการจัดซื้อดินดังกล่าวจำเลยที่ 1 ในฐานะนายกเทศมนตรีได้กระทำไปตามอำนาจหน้าที่ของตนไม่ได้มุ่งหวังประโยชน์ ของเทศบาลเป็นสำคัญ แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ก็ตามกรณีก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยการทำสัญญา ซื้อขายดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 152 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิด จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ก็ไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6525/2534
โจทก์ กับ ป. มีข้อพิพาทเกี่ยวกับการเช่านาพิพาทของโจทก์คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อ เกษตรกรรมประจำจังหวัดได้พิจารณาและมีมติให้ ป. ทำนาของโจทก์ต่อไป โจทก์อุทธรณ์มติดังกล่าวโดยส่งอุทธรณ์ไปทางไปรษณีย์ตอบรับให้แก่จำเลยซึ่ง เป็นกำนันตำบลและประธานคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลผู้ มีหน้าที่รับอุทธรณ์ดังกล่าว ส. บุตรจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับอุทธรณ์ของโจทก์ จำเลยมิได้เป็นผู้รับไว้และไม่ได้อยู่บ้านไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำให้เสีย หาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสียหรือทำให้สูญหายหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งอุทธรณ์ของโจทก์หรือ ยินยอมให้ผู้อื่นกระทำเช่นนั้นแต่อย่างใดจะลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 158 ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 983/2508
การที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 291 ต้องเป็นการกระทำโดยประมาทและการกระทำโดยประมาทนั้นต้องเป็นผลโดยตรงให้เกิด ความตาย และการกระทำตามมาตรานี้ไม่รวมถึงการละเว้น เพราะกรณีใดกฎหมายต้องการลงโทษการละเว้น ก็ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ เช่นมาตรา 154,157,162

จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่แทนนายสถานี มีอำนาจใช้ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคนการสับเปลี่ยนหัวประแจ เมื่อใช้แล้วจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำอะไรเกี่ยวข้องกับหัวประแจนั้นเลย จำเลยที่ 2 เปลี่ยนแล้วไม่สับกลับคืนรางเดิมเป็นเหตุให้รถชนกันจนมีคนตาย เช่นนี้ การที่จำเลยที่1 ไม่ไปตรวจหัวประแจก่อนที่รถจะมาถึง ก็เป็นเพียงละเว้นไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ เป็นคนละเรื่องกับการกระทำโดยประมาท ผลโดยตรงที่ทำให้รถชนกัน อยู่ที่การเปลี่ยนหัวประแจแล้วไม่สับกลับ ซึ่งเป็นการกระทำของจำเลยที่ 2 ผู้เดียว จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดตามมาตรา 291