ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

มาตรา ๓๔๙  ผู้ใดเอาไปเสีย ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์อันตนจำนำไว้แก่ผู้อื่น ถ้าได้กระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้รับจำนำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๓๕๐  ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๓๕๑  ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 73/2563
เดิมโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม จำเลยขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง กับห้องชุดในอาคารชุดให้ ศ. เพื่อมิให้โจทก์บังคับชำระหนี้เอาทรัพย์สินดังกล่าว โจทก์จึงฟ้องจำเลยกับ ศ. เป็นคดีอาญาในข้อหาโกงเจ้าหนี้ กับฟ้องคดีแพ่งขอเพิกถอนการฉ้อฉล คดีทั้งสองเรื่องถึงที่สุดแล้ว โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินข้างต้นขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมครบถ้วนแล้ว

โจทก์ฟ้องจำเลยให้ชดใช้ค่าเสียหายในมูลหนี้ละเมิดอันเกิดจากการที่จำเลยทำนิติกรรมโอนทรัพย์สินให้แก่ ศ. ค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิเรียกจากจำเลยผู้ทำละเมิดได้ตามกฎหมายเป็นความเสียหาย ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 420 เท่านั้น โดยเฉพาะความเสียหายต่อสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง หมายถึง สิทธิที่กฎหมายรับรองคุ้มครองให้ผู้ถูกทำให้เกิดเสียหายและจำเลยจะต้องทำให้สิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดที่โจทก์มีอยู่เสียหายไป การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ แสดงว่าโจทก์มีความประสงค์ต้องการให้จำเลยได้รับโทษทางอาญา ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีอาญาและค่าจ้างว่าความของทนายความที่โจทก์จ่ายไป เกิดจากการใช้สิทธิของโจทก์ตามกฎหมาย จึงเป็นความเสียหายจากการใช้สิทธิ ไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดให้โจทก์เสียสิทธิหรือทำให้สิทธิของโจทก์ที่กฎหมายรับรองว่ามีอยู่เสียหายไป ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนในเหตุละเมิดตามกฎหมายได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากการทำละเมิดโดยตรง

ส่วนการที่โจทก์จำต้องฟ้องคดีแพ่งเนื่องจากการกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่อสู้คดีปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของตนจากการกระทำอันไม่สุจริตของจำเลย จึงเป็นความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงจากการทำละเมิดของจำเลย จำเลยจึงต้องใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายและค่าทนายความในการดำเนินคดีแพ่งแก่โจทก์ ตามตาราง 6 และตาราง 7 ท้าย ป.วิ.พ.

ส่วนการขอออกใบแทนโฉนดที่ดินและจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการโอนทรัพย์สินระหว่างจำเลยกับ ศ. นั้น การที่โจทก์ต้องทำเช่นนั้นจึงเป็นความเสียหายที่เป็นผลต่อเนื่องโดยตรงจากการทำละเมิดของจำเลย จำเลยจึงต้องใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายในการขอออกใบแทนโฉนดที่ดินและจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการโอนทรัพย์สินแก่โจทก์เช่นกัน

ส่วนค่าเสียหายเป็นกำไรที่โจทก์ควรจะได้จากการนำเงินที่ได้จากการบังคับชำระหนี้ไปลงทุนนั้น เป็นค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาอยู่นอกเหนือเจตนาของจำเลย ถือว่าเป็นค่าเสียหายที่ไกลเกินกว่าเหตุ จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4864/2562
แม้พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่โอนขายห้องชุดของตนก่อนวันที่ศาลจังหวัดพัทยาพิพากษาคดีแพ่งเพียง 1 วัน แล้วยักย้ายถ่ายเทหรือย้ายไปเสียซึ่งเงินที่ได้จากการขายห้องชุดดังกล่าว เป็นการส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 อาจมีเจตนาพิเศษเพื่อว่าเมื่อโจทก์ชนะคดีแพ่งแล้ว โจทก์จะไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ตาม แต่เมื่อคดีแพ่งที่โจทก์อ้างเป็นมูลเหตุฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาเรื่องนี้ถึงที่สุดแล้วโดยศาลฎีกาได้พิพากษาว่าจำเลยมิได้ผิดสัญญาซื้อขายหุ้นกับโจทก์จึงไม่ต้องคืนเงินค่าหุ้นพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ และพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ มีผลให้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่มีมูลหนี้ต่อกัน เท่ากับโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้กัน ดังนี้ ก็ไม่อาจมีการกระทำความผิดตามมาตรา 350 แห่งประมวลกฎหมายอาญาดังที่โจทก์อ้างมาได้
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 11/2562)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3038/2562
โจทก์ฟ้อง พ. จำเลย และ ล. เป็นคดีหมายเลขดำที่ 657/2556 ของศาลแพ่งธนบุรีให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนอง จำเลยให้การต่อสู้ว่า พ. ขอให้ ล. นำเงินไปไถ่ถอนจำนองบ้านและที่ดินจากธนาคาร แล้ว พ. กับจำเลยจะเปลี่ยนมาจดทะเบียนจำนองกับ ล. แทน ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในคดีดังกล่าวคือการจดทะเบียนจำนองระหว่าง พ. และจำเลยกับ ล. เป็นการประกันหนี้ที่มีอยู่จริงหรือไม่ หรือเป็นการแสดงเจตนาลวงฉ้อฉลโจทก์ ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ต้องพิจารณาคือเงินที่ไถ่ถอนจำนองจากธนาคารเป็นเงินของ พ. หรือ ล. คำเบิกความของจำเลยที่ว่าเงินไถ่ถอนจำนองเป็นของ ล. จึงเป็นข้อสำคัญในคดี เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเงินที่ไถ่ถอนจำนองจากธนาคารเป็นเงินของ พ. มิใช่ของ ล. ตามที่จำเลยยืนยัน คำเบิกความของจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 657/2556 ของศาลแพ่งธนบุรีฟังได้ว่าเป็นเท็จและเป็นข้อสำคัญในคดี จำเลยจึงมีความผิดฐานเบิกความเท็จ

ส่วนความผิดฐานฟ้องเท็จในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 4218/2557 ของศาลชั้นต้นเมื่อจำเลยทราบอยู่ก่อนแล้วว่าเงินที่นำไปไถ่ถอนจำนองจากธนาคารเป็นเงินของ พ. ไม่ใช่ของ ล. การกล่าวอ้างในคำฟ้องว่าโจทก์ฟ้องเท็จและเบิกความเท็จว่า เงินที่ไถ่ถอนจำนองเป็นของ พ. จึงเป็นการเอาความอันเป็นเท็จมาฟ้องโจทก์ต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญา เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2510/2562
โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยสิทธิการเป็นเจ้าหนี้ของ ส. ตามสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย สิทธิหน้าที่และความรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาททุกคนของ ส. โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ยืมเงินบังคับเอาแก่ทรัพย์มรดกของ ส. ที่ตกทอดแก่ทายาท แต่คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ม. ที่ศาลจังหวัดชลบุรี เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นผู้รับมรดกที่ดินตามพินัยกรรมซึ่ง ส. ทำไว้ก่อนตาย จึงฟ้องติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์ที่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของตนจากทายาทของ ส. ซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ หาใช่คดีที่โจทก์ฟ้องทายาทของ ส. ให้รับผิดชำระเงินตามสัญญากู้ยืมเงินที่ ส. ทำไว้ต่อโจทก์ไม่ การฟ้องคดีของโจทก์ในคดีที่ศาลจังหวัดชลบุรี จึงถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลเพื่อจะบังคับเอาแก่ทรัพย์มรดกของ ส. ลูกหนี้การบรรยายฟ้องของโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ในส่วนของข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลเพราะโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ประสงค์จะบังคับเอาทรัพย์สินของ ส. ลูกหนี้ซึ่งตกทอดแก่ทายาท เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่ขาดสาระสำคัญอันเป็นองค์ประกอบความผิดหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 680/2562
เหตุที่โจทก์ขอยึดที่ดินพร้อมทาวน์เฮ้าส์สองชั้นเลขที่ 28/15 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดก็เพื่อบังคับคดีให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายรายเดือน เดือนละ 8,000 บาท นับแต่วันฟ้อง กับค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในคดีที่จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีหนึ่งเท่านั้น แต่ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้นั้น ผู้กระทำยังต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนด้วย เมื่อปรากฏว่าขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมทาวน์เฮ้าส์สองชั้นดังกล่าว โจทก์คงมีสิทธิได้ค่าเสียหายต่าง ๆ และต่อมาขอรับเงินไปเพียง 478,918.72 บาท ยังมีเงินเหลือที่จะต้องคืนแก่จำเลยที่ 1 กว่า 600,000 บาท ดังนั้นในวันที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินอีกแปลงหนึ่งพร้อมทาวน์เฮ้าส์สองชั้นอีกหลังหนึ่งเลขที่ 28/13 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา เจ้าพนักงานบังคับคดีก็มีเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เพียงพอต่อการชำระค่าเสียหายพร้อมค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ทั้งหมดแก่โจทก์อยู่ก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองยังถือไม่ได้ว่ามีเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแต่อย่างใด จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8905/2561
การร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนของโจทก์ในความผิดฐานฉ้อโกง ย่อมนำไปสู่การฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการ ไม่ว่าโจทก์จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการหรือไม่ ก็มีผลเป็นการเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่โจทก์สูญเสียไปจากการกระทำความผิดคืนโดยพนักงานอัยการดำเนินการแทนแล้วตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 โจทก์ไม่ต้องทวงถามหรือฟ้องคดีแพ่งเพื่อบังคับจำเลยชำระหนี้อีก การร้องทุกข์ของโจทก์จึงเป็นกรณีที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยชำระหนี้แล้ว
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 24/2561)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5622 - 5623/2560
แม้จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ย.259/2544 ของศาลชั้นต้น แต่ต่อมาจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 แล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ตกเป็นบุคคลล้มละลาย ในคดีล้มละลายดังกล่าว มีเจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ 6 ราย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายที่ 3 ยื่นขอรับชำระหนี้มูลหนี้ตามคำพิพากษาจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 (จำเลยที่ 1) แบบเจ้าหนี้ไม่มีประกัน จากนั้นจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลาย ที่ประชุมเจ้าหนี้รวมทั้งโจทก์ยอมรับ ไม่คัดค้านการพิจารณาคำขอประนอมหนี้ และศาลล้มละลายกลางไต่สวนแล้ว ไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ที่ 1 ทุจริตหรือกระทำความผิดอันมีโทษทางอาญาเกี่ยวกับกฎหมายล้มละลาย การประนอมหนี้มีข้อความลำดับการใช้หนี้ก่อนหลังถูกต้องตามกฎหมายล้มละลาย เจ้าหนี้มีมติยอมรับ คำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ที่ 1 การประนอมหนี้เป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้โดยทั่วไป ไม่ได้เปรียบแก่กัน จึงมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ของลูกหนี้ที่ 1 ตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ ให้ยกเลิกการล้มละลาย และให้ลูกหนี้ที่ 1 กลับมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของตน ทั้งยังปรากฏว่าต่อมาโจทก์โดย ผู้รับมอบอำนาจยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า โจทก์ได้รับชำระหนี้จากบุคคลภายนอกแทนลูกหนี้จนเป็นที่พอใจแล้ว ไม่ประสงค์ที่จะขอรับชำระหนี้อีกต่อไป จึงขอถอนคำขอรับชำระหนี้ ดังนี้โจทก์จึงผูกมัดโดยข้อตกลงในการประนอมหนี้ดังกล่าวในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 63 ประกอบมาตรา 56 และทำให้จำเลยที่ 1 ไม่มีหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ย.259/2544 ของศาลชั้นต้นต่อโจทก์อีกต่อไป นอกจากนี้ หากจะรับฟังว่าการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสามตกเป็นโมฆะ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิพากษาให้เพิกถอนการโอนก็มิได้หมายความว่า การประนอมหนี้ที่ศาลล้มละลายกลางเห็นชอบต้องถูกยกเลิกไปตามผลแห่งคำพิพากษา ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในกองล้มละลายสามารถยื่นขอรับชำระหนี้จากที่ดินพิพาทได้ กรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ที่จะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์หากนิติกรรมการโอนขายที่ดินพิพาทที่กล่าวอ้างในคดีนี้ว่าเป็นโมฆะเป็นผลหรือไม่เป็นหรือกลับกัน โจทก์จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในที่ดินพิพาท ที่จะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งได้โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 โอนขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 3 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4101/2560
โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ปัญหาว่าฟ้องโจทก์ข้อ 2.1 และ 2.2 ขาดอายุความหรือไม่ ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ ต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด เมื่อโจทก์มิได้ร้องทุกข์เพราะประสงค์ดำเนินคดีเอง โจทก์ต้องฟ้องคดีภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดด้วย เมื่อโจทก์ฎีการับว่าผู้แทนโจทก์ทราบว่า จำเลยโอนโฉนดที่ดินตามฟ้องข้อ 2.1, 2.2 ไปให้บริษัท พ. และ ช. เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2555 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 จึงเกินกว่า 3 เดือน ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงขาดอายุความ ส่วนการที่จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารตามฟ้องให้กับบริษัท พ. เพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน แม้การกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 2.3 อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดมีนบุรี แต่การกระทำความผิดดังกล่าวได้กระทำลงโดยจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดคนเดียวกันและเป็นความผิดที่เกี่ยวพันกัน จึงเป็นกรณีความผิดหลายเรื่องเกี่ยวพันกัน เมื่อความผิดที่โจทก์ฟ้องมีอัตราโทษเท่ากัน และโจทก์ยื่นฟ้องตามฟ้องข้อ 2.3 พร้อมกับคำฟ้องข้อ 2.4 และ 2.5 ต่อศาลชั้นต้นที่เป็นศาลที่ความผิดตามฟ้องข้อ 2.4 และ 2.5 เกิดขึ้น เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งประทับฟ้องไว้แล้ว ศาลชั้นต้นจึงเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาฟ้องของโจทก์ข้อ 2.3 ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวพันกับฟ้องข้อ 2.4 และ 2.5 ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 24 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1074/2560
คดีนี้โจทก์ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ซึ่งเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2546 ส. เป็นเจ้าหนี้ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระค่าเสียหายแก่ตน ระหว่างการพิจารณาคดีดังกล่าว ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2547 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23125 และ 23126 ที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หา โดยไม่ปรากฏว่า ส. ผู้เป็นเจ้าหนี้ทราบเหตุดังกล่าว เมื่อตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 บัญญัติให้การฟ้องเรียกร้องขอเพิกถอนการฉ้อฉลนั้น ห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่เวลาที่เจ้าหนี้ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือพ้นสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมนั้น ดังนี้ อายุความ 1 ปี จึงยังไม่เริ่มนับเนื่องจาก ส. เจ้าหนี้ได้ถึงแก่ความตายไปเสียก่อนวันที่จำเลยทั้งสี่ทำนิติกรรมดังกล่าว ส. จึงมิอาจรู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนได้ แม้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. จะได้ฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีอาญาข้อหาโกงเจ้าหนี้โดยบรรยายฟ้องคดีอาญาว่า โจทก์ทราบการกระทำผิดของจำเลยทั้งสี่เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2550 ก็ตาม ก็ยังไม่อาจถือได้ว่าเจ้าหนี้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลในวันดังกล่าวกรณีจึงต้องบังคับตามอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 ตอนท้าย โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2557 ยังไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2547 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โดยเสน่หา สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 ตอนท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4225/2559
แม้จำเลยมีภาระผูกพันที่ต้องชำระเงินค่าที่ดินคืนแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ แต่การที่จำเลยโอนที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้แก่ น. และ จ. ซึ่งที่ดินพิพาทไม่ใช่ของจำเลยหรือของบิดาจำเลย จึงมิใช่การโอนไปซึ่งทรัพย์สินตาม ป.อ. มาตรา 350 ไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3120/2559
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินรวม 15 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ต้องไปทำสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอีกครั้งหนึ่ง และเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อโจทก์ยังมิได้ชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือ 8,500,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 สิทธิเรียกร้องที่จะให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินรวม 15 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาจะซื้อจะขายยังมิอาจบังคับกันได้ โจทก์ยังไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามความหมายในบทบัญญัติของ ป.อ. มาตรา 350 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่โอนที่ดิน 3 แปลงใน 15 แปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 จึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10570/2558
การที่จำเลยทั้งสองยื่นแบบนำส่งงบการเงินและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นอันแสดงให้ปรากฏว่าผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าหุ้นครบถ้วนแล้ว อันเป็นความเท็จ ส่งผลให้เห็นในทำนองว่าจำเลยที่ 1 ได้รับชำระค่าหุ้นจากผู้ถือหุ้นนั้นครบถ้วนแล้วและสิ้นสิทธิในการเรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งใช้ค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีก ทั้งๆ ที่จำเลยที่ 1 จะต้องได้รับเงินค่าหุ้นจากผู้ถือหุ้นทั้งเจ็ดคนในส่วนที่ยังมิได้ชำระค่าหุ้นครบถ้วน จึงเป็นการซ่อนเร้นสิทธิเรียกร้องในเงินค่าหุ้นที่ยังมิได้ชำระ เพื่อมิให้โจทก์เจ้าหนี้ของตนซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 350 และจำเลยที่ 2 มีความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 40 (1) ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8782/2558
            ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) บัญญัติว่า "ผู้เสียหาย หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง ..." ซึ่งบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดดังกล่าวต้องพิจารณาในขณะที่ความผิดเกิดขึ้นว่า บุคคลนั้นได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดนั้นหรือไม่ อีกทั้งสิทธิของการเป็นผู้เสียหายเป็นสิทธิเฉพาะตัว และไม่อาจโอนสิทธิความเป็นผู้เสียหายไปยังบุคคลอื่นได้ สิทธิในการเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาจึงต้องพิจารณาในขณะที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โจทก์โอนสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาในคดีแพ่งให้แก่บริษัท บ. แล้วก็ตาม แต่วันที่จำเลยกระทำความผิดโจทก์ยังเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าว เมื่อจำเลยโอนขายที่ดินของจำเลยให้แก่ น. เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน โจทก์จึงเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ของจำเลย โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4196/2558
           ทรัพย์ที่ลูกหนี้โอนไปให้ผู้อื่น อันจะเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 นั้น หมายถึงทรัพย์ใด ๆ ของลูกหนี้ที่มีอยู่ได้มีการโอนไป ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากับองค์การคลังสินค้า 2 ฉบับ ฉบับแรกว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 แปรสภาพหัวมันสำปะหลังสดจากเกษตรกรที่นำมาจำนำแก่องค์การคลังสินค้าเป็นแป้งมันสำปะหลัง ฉบับที่สองเป็นสัญญาเก็บแป้งมันสำปะหลังที่คลังสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยองค์การคลังสินค้าเป็นผู้ส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 อันเป็นสัญญาฝากทรัพย์ ดังนั้นแป้งมันสำปะหลังที่จำเลยที่ 1 แปรสภาพแล้วเก็บไว้ในคลังสินค้าของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกรรมสิทธิ์ขององค์การคลังสินค้าหาใช่เป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ของโจทก์ไม่ ทั้งองค์การคลังสินค้าได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อหายักยอก แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะร่วมกันนำเอาแป้งมันสำปะหลังที่เก็บไว้ที่คลังสินค้าของจำเลยที่ 1 ไปขาย ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของตนได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ทั้งแป้งมันสำปะหลังที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันนำไปขายก็มิใช่ทรัพย์ที่ถูกยึดหรืออายัด การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่ใช่การทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสียหรือสูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ถูกยึดหรืออายัด เพื่อจะมิให้การเป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 187

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12250/2557
            โจทก์ร่วมกับจำเลยจดทะเบียนสมรสที่ประเทศออสเตรเลีย และลงทุนทำไร่องุ่น ต่อมาจำเลยย้ายกลับมาอยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้หย่าขาดกับโจทก์ร่วม เงินค่าชดเชยที่รัฐบาลออสเตรเลียจ่ายให้แก่โจทก์ร่วมและจำเลยกรณีเลิกทำไร่องุ่น เป็นเงินที่ได้มาในระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส การที่โจทก์ร่วมส่งเงินชดเชยมาให้แก่จำเลย แล้วจำเลยนำเงินดังกล่าวไปซื้อทรัพย์พิพาท แม้มีการจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว ทรัพย์พิพาทยังคงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย ต่อมาโจทก์ฟ้องหย่าจำเลยขอแบ่งสินสมรสและขอใช้อำนาจปกครองบุตรที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น ขณะคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น จำเลยจดทะเบียนขายฝากทรัพย์พิพาทไว้แก่พันตำรวจเอก ม. จึงมิใช่การทำสัญญาในลักษณะปกติ แม้คดียังมีข้อโต้เถียงกรรมสิทธิ์และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่นก็ตาม ถือว่าโจทก์ (โจทก์ร่วมในคดีนี้) อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจจะฟ้องจำเลยแล้ว จึงเข้าองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย โจทก์ร่วมกับจำเลยจึงเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์พิพาท การที่จำเลยนำทรัพย์พิพาทไปจดทะเบียนขายฝากไว้แก่พันตำรวจเอก ม. โดยโจทก์ร่วมไม่ทราบและไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมก่อน และไม่ไถ่ถอนคืนภายในกำหนดเช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์พิพาทไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก อีกบทหนึ่งด้วย การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าว เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10179/2557
            ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ป.อ. มาตรา 350 บัญญัติว่า "ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษ..." เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้โดยมีจำเลยที่ 2 เบิกความเป็นพยานให้แก่จำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมทราบว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว ต่อมาศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้เมื่อโจทก์ติดตามยึดทรัพย์และยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ที่ดินโฉนดเลขที่ 8237 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ที่จำนองไว้แก่เจ้าหนี้อื่น จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปไถ่ถอนทรัพย์จำนองดังกล่าวและขายให้แก่จำเลยที่ 3 โดยจงใจกำหนดราคาขายพอดีกับราคาไถ่ถอนจำนอง เพื่อไม่ให้มีเงินส่วนเกินจากราคาขายตกแก่จำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นการร่วมกันเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้บางส่วน มีความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5222/2557
            จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 47526 จำเลยที่ 1 เพียงมีชื่อในโฉนดแทนโจทก์เท่านั้น เมื่อธนาคาร ก. มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองที่ดินดังกล่าว ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2547 มีการติดต่อระหว่างจำเลยทั้งสองเพื่อให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ให้ธนาคารดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์และมีสิทธิที่จะยึดที่ดินดังกล่าวมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ แต่ที่ดินติดจำนองอยู่กับธนาคาร ก. ซึ่งจำเลยที่ 2 จะได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ก็ต่อเมื่อธนาคารดังกล่าวในฐานะเจ้าหนี้จำนองได้รับชำระหนี้เงินกู้จากโจทก์ครบถ้วนแล้ว เมื่อโจทก์ไม่ยินยอมชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ต้องเข้าชำระหนี้เงินกู้แทนโจทก์และจำเลยที่ 1 และขอรับโอนที่ดินดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 โดยปลอดจำนองจากธนาคารเป็นการตอบแทน ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 จึงเป็นกระบวนการในการชำระหนี้ที่โจทก์ต้องรับผิดเพราะเป็นการโอนที่ดินของโจทก์ชำระหนี้ของโจทก์เอง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 350

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3140/2557
             โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. ฟ้องต่อศาลแพ่งว่าจำเลยกับพวกครอบครองเงินจากการขายที่ดินของกองมรดกที่จะต้องนำมาแบ่งแก่ทายาท แต่จำเลยเบียดบังไว้ไม่ยอมส่งมอบแก่กองมรดก ขอให้จำเลยกับพวกคืนเงินดังกล่าว ศาลแพ่งวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นลูกหนี้จริงและให้จำเลยชำระเงิน 4,076,230.65 บาท พร้อมดอกเบี้ย คดีถึงที่สุด คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์ทั้งสองและจำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ว่าจำเลยเป็นลูกหนี้จริง เมื่อจำเลยซึ่งเป็นกรรมการบริษัท ธ. โอนขายหุ้นของจำเลยในบริษัทดังกล่าวแก่ ป. ก่อนที่ศาลแพ่งจะมีคำพิพากษาเพียง 1 เดือน จึงเป็นพฤติการณ์ส่อให้เห็นว่าจำเลยกระทำเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนซึ่งใช้สิทธิทางศาลแล้วได้รับชำระหนี้ อันเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2187/2557
            ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 ต้องปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ โดยผู้กระทำต้องรู้ว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ และย้ายไปเสียซึ่งทรัพย์ ซ่อนเร้นทรัพย์ หรือโอนทรัพย์ของลูกหนี้ไปให้แก่ผู้อื่น เพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันโอนชื่อที่ดินของ บ. จาก บ. เป็นผู้รับโอนประเภทมรดกใส่ชื่อจำเลยทั้งสอง ฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองรับโอนที่ดินซึ่งเป็นมรดกของ บ. ที่ตกทอดแก่จำเลยทั้งสองในฐานะที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้รับมรดกของ บ. เท่านั้น ซึ่งโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้กองมรดกของ บ. ยังคงมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกดังกล่าว เมื่อคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้ระบุว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันโอนที่ดินของ บ. ซึ่งเป็นลูกหนี้โจทก์ไปให้แก่ผู้อื่น จึงเป็นฟ้องที่ขาดสาระสำคัญไม่ครบองค์ประกอบแห่งความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1676/2557
            การโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดอันจะเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 นั้น ผู้กระทำต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 รับโอนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 49394 ซึ่งผู้ตายเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์มาเป็นของตนเองนั้น ก็เป็นเพียงการรับโอนทรัพย์มรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามกฎหมาย แม้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของผู้ตายจะสละมรดกในที่ดินโฉนดดังกล่าว แต่สิทธิของเจ้าหนี้ในการว่ากล่าวเอากับทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ทายาทยังคงมีอยู่ตามเดิม มิได้ถูกกระทบกระเทือนเนื่องจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 950/2556
              แม้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 2 หลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดและจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏสารบัญจดทะเบียนในสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.5 ว่า จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ก. ก่อนแล้วจึงจดทะเบียนโอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 ต่อจากนั้นจำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองแก่ธนาคาร อ. โดยกระทำขึ้นในวันเดียวกันทั้งหมด และข้อเท็จจริงยังได้ความจากคำเบิกความของจำเลยทั้งสองว่า เหตุที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 เนื่องจากจำเลยที่ 1 นำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่ธนาคาร ก. ต่อมาจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไม่ตรงตามกำหนด ธนาคารจะฟ้องดำเนินคดี จึงทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาอีก และไม่มีเงินชำระหนี้ จำเลยที่ 1 จึงให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แทน โดยโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อให้จำเลยที่ 2 นำไปเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินจากธนาคาร อ. แล้วนำเงินไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองให้แก่ธนาคาร ก. ส่วนเงินที่เหลือจำเลยที่ 2 นำไปปลูกสร้างบ้านบนที่ดินดังกล่าว ซึ่งจำเลยที่ 1 และหลานก็พักอาศัยอยู่ในบ้านที่จำเลยที่ 2 ปลูกสร้างขึ้นด้วย โดยที่จำเลยที่ 2 มีภาระต้องผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ธนาคาร อ. แม้ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้ค้างชำระอยู่กับธนาคาร ก. จำนวนเท่าใด แต่การที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้จำนองและขายที่ดินที่จำนองเพื่อนำเงินไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองก็เป็นการขายเพื่อชำระหนี้ของตนตามปกติ และเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 จะต้องกระทำเพื่อมิให้ถูกธนาคาร ก. เจ้าหนี้ผู้รับจำนองบังคับจำนองเอาแก่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 อันมีลักษณะเป็นการขายเพื่อปลดเปลื้องภาระหนี้จำนองของตน พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังไม่อาจถือได้ว่า จำเลยที่ 1 ขายที่ดินไปโดยเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระหนี้แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16070 - 16072/2555
             ตาม ป.อ. มาตรา 350 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ผู้ใดเพียงแต่รู้ว่าเจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ แล้วย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใด แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริง ก็ถือว่าเป็นความผิดตามมาตราดังกล่าวแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในเรื่องผิดสัญญาและเรียกค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดพอชำระหนี้แก่โจทก์ ขณะที่คดีแพ่งดังกล่าวอยู่ระหว่างบังคับคดีตามคำพิพากษา จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดิน 3 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา แม้คดีแพ่งดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องแย้ง และผลคดีอาจจะเปลี่ยนแปลงโดยศาลฎีกาอาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชนะคดีตามฟ้องแย้ง ซึ่งไม่แน่ว่าโจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในชั้นที่สุดหรือไม่ก็ตาม ก็ถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้แล้ว ไม่จำต้องถือเอาคำพิพากษาของศาลที่พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดในทางแพ่งมาเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6093/2555
              ศาลพิพากษาให้ขับไล่จำเลยที่ 1 ตามฟ้องของโจทก์ร่วม และบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายเดือนละ 30,000 บาท แก่โจทก์ร่วม ต่อมาจำเลยที่ 1 ขายทรัพย์สินของตนให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อมิให้โจทก์ร่วมได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน การที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเดือนละ 30,000 บาท ในคดีที่โจทก์ร่วมร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในฐานโกงเจ้าหนี้นั้น มิใช่กรณีที่โจทก์ร่วมรับได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินจากการกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ของจำเลยทั้งสอง โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่โจทก์ร่วมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4789/2555
               แม้ขณะจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดิน คดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลก็ตาม แต่ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 มิได้บัญญัติให้เจ้าหนี้หมายถึงบุคคลผู้ชนะคดีและคดีถึงที่สุดแล้วเท่านั้น หากหมายถึงเจ้าหนี้ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิฟ้องให้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาล การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินไปโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อว่าเมื่อโจทก์ชนะคดีแพ่งแล้ว โจทก์อาจไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 701/2553
            จำเลยที่ 1 และที่ 2 สมคบกันทำสัญญากู้ยืมเงินฉบับลงวันที่ 30 กันยายน 2541 จำนวนเงิน 500,000 บาท และฉบับลงวันที่ 30 เมษายน 2542 จำนวนเงิน 200,000 บาท โดยมิได้เป็นหนี้กันจริง แล้วดำเนินคดีและบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 42/2545 ของศาลชั้นต้นต่อที่ดินโฉนดเลขที่ 47781 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1142/2544 ของศาลชั้นต้น บังคับคดีต่อทรัพย์สินดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการจงใจทำผิดกฎหมาย อันเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 สัญญากู้ยืมเงินทั้ง 2 ฉบับและสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 42/2545 ของศาลชั้นต้น จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โดยไม่ต้องเพิกถอน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5367/2551
        โจทก์ทราบว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้โอนที่ดินให้ ท. โจทก์ย่อมมีสิทธิเลือกที่จะฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการให้ระหว่างจำเลยกับ ท. หรือฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาก็ได้ การที่โจทก์เลือกใช้สิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาจึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายโดยชอบ เมื่อจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้ ท. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลได้รับชำระ หนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3973/2551
        การร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนของโจทก์ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ ชำระหนี้ แต่เมื่อร้องทุกข์แล้ว พนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยที่ 1 และขอให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินจำนวน 135,008,163.92 บาท มาด้วย ทั้งโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวและศาลชั้นต้น อนุญาต ดังนี้ จึงมีความหมายโดยนิตินัยว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวและมีคำขอให้บังคับจำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินจำนวน 135,008,163.92 บาท ด้วย เท่ากับว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แล้ว

ขณะจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองได้หย่ากันแล้ว ทั้งจำเลยทั้งสองได้ตกลงกันว่าให้จำเลยที่ 2 ไปดำเนินการโอนที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ยังนำที่ดินไปจำนองด้วย แสดงว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาโอนที่ดินไปเพื่อมิให้โจทก์เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้ประกอบกับคำว่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 350 หมายถึงบุคคลอื่นนอกจากตัวลูกหนี้ การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ของโจทก์โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้ซึ่งมิได้เป็นลูกหนี้ของโจทก์จึงเป็นการโอนทรัพย์สินไปให้แก่ผู้อื่นแล้ว ส่วนต่อมาโจทก์สามารถสืบหาติดตามทรัพย์สินนำมาบังคับคดีได้หรือไม่เพียงใด เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามมาตรา 350

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10314/2550
ในคดีแพ่งโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังโต้เถียงกันถึงความเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ตราบใดที่ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จึงยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าโจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในอันที่จะขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์หรือไม่ โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามความหมายของมาตรา 350 แห่ง ป.อ. ที่จะฟ้องจำเลยทั้งสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8774/2550
ป.อ. มาตรา 350 บัญญัติว่า "ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่ บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า เจ้าหนี้ที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ มิได้หมายถึงเฉพาะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น หากแต่ยังมีความหมายรวมถึงเจ้าหนี้อื่นซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิฟ้องให้ชำระ หนี้ด้วย นอกจากนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ก็บัญญัติว่า "สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้..." แสดงว่าสภาพความเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยเกิดขึ้นทันทีที่ จำเลยเป็นชู้กับภริยาโจทก์ ส่วนคำพิพากษาของศาลที่บังคับให้มีการชดใช้ค่าทดแทนกันมิได้ก่อให้เกิดหนี้ ระหว่างโจทก์และจำเลย แต่เป็นการบังคับความรับผิดแห่งหนี้ที่โจทก์กับจำเลยมีต่อกัน กรณีถือได้ว่าโจทก์อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจฟ้องจำเลยแล้ว การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1363/2550
โจทก์ร่วมกับจำเลยทำสัญญาจำนำข้าวระหว่างกันโดยโจทก์ร่วมยอมให้ข้าวอยู่ในความ ครอบครองของจำเลย ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยมอบข้าวไว้เป็นประกันการชำระหนี้ตามความหมายในประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะจำนำ เมื่อไม่มีการจำนำจึงขาดองค์ประกอบที่จะเป็นความผิดข้อหาโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 349

โจทก์ร่วมเช่าโกดังเก็บข้าวซึ่งเป็นโกดังที่จำเลยใช้ประกอบกิจการโรงสีของจำเลย เมื่อทำสัญญาเช่าแล้วจำเลยเป็นผู้ถือกุญแจโกดังเพียงฝ่ายเดียว จำเลยเป็นผู้ครอบครองโกดังอยู่เช่นเดิม สัญญาเช่าที่ทำไว้มีค่าเช่าเพียงปีละ 100 บาท นับว่าน้อยมากจึงเป็นการทำสัญญาเช่าเป็นแบบพิธีเท่านั้น คู่สัญญาไม่ได้มีเจตนาให้เป็นการเช่าตามกฎหมายอย่างแท้จริง กรณีถือว่าจำเลยยังเป็นผู้ครอบครองโกดังที่เช่าอยู่ตลอดเวลา จำเลยจึงไม่อาจรบกวนการครอบครองของตนเองได้ ไม่มีความผิดฐานบุกรุก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2893/2547
ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 ในเบื้องต้นต้องมีหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้อยู่ก่อน โดยโจทก์อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้และผู้เสียหาย คดีนี้โจทก์อ้างสิทธิว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวจากจำเลยที่ 3 ได้ฟ้องขับไล่โจทก์และ ด. กับพวก แม้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ด. มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวซึ่งเป็นส่วนของทรัพย์มรดกของ ด. ตกได้แก่โจทก์ในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ด. โจทก์จึงมีสิทธิที่จะอาศัยหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินและตึกแถวนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่โจทก์ก็ตาม แต่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ก็ยังมิได้แสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ของจำเลย ที่ 1 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง มิได้พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ การที่โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกในที่ดินและตึกแถวที่เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ร่วม กันระหว่างพี่น้องในส่วนของ ด. เป็นสิทธิในทรัพยสิทธิ มิใช่สิทธิในฐานะเป็นเจ้าหนี้อันเป็นบุคคลสิทธิ สิทธิของโจทก์ดังกล่าวมีอยู่อย่างไรย่อมไม่หมดไป เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกหนี้ของโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แม้จำเลยที่ 1 ทราบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วได้โอนที่ดินและตึกแถวให้แก่จำเลยที่ 2 ไป ในราคาต่ำก็ตาม การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็ไม่ใช่เป็นการกระทำเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนได้รับชำระหนี้อันเป็นความผิด อาญาฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350

หลังจากจำเลยที่ 2 ได้รับโอนที่ดินจากจำเลยที่ 1 มาแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ทำลายตึกแถวตามคำฟ้องและทรัพย์สินส่วนตัวของโจทก์จนเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งมอบตึกแถวแก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2537 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้โอนขายที่ดินและตึกแถวแก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2538 จำเลยที่ 2 นำตึกแถวไปให้จำเลยที่ 3 เช่าทำประโยชน์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทุบทำลายปรับปรุงดัดแปลงตึกแถวเป็นร้านค้าและหอพักมิใช่เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ แต่เป็นการใช้สิทธิตามปรกติโดยเชื่อว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีถูกต้องแล้วซึ่งมีอำนาจทำได้ มิได้มีเจตนาทำลายตึกแถวให้เสียหายแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5590/2536
จำเลยนำข้าวสารและข้าวเปลือกที่จำเลยจำนำแก่โจทก์ไปจำหน่าย ซึ่งตามทางปฎิบัติ ข้าวสารและข้าวเปลือกที่ลูกค้าจำนำแก่โจทก์จะอยู่ในความดูแลของลูกค้า ลูกค้าสามารถนำออกไปจำหน่ายได้โดยไม่ต้องขออนุญาตโจทก์แต่ต้องนำข้าวสารและ ข้าวเปลือกจำนวนใหม่เข้าไปไว้แทน แสดงว่าโจทก์ยอมให้ข้าวสารและข้าวเปลือกอยู่ในความครอบครองของจำเลย ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยมอบข้าวสารและข้าวเปลือกไว้เป็นประกันการชำระหนี้ตาม ความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะจำนำ เมื่อไม่มีการจำนำจึงขาดองค์ประกอบที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 349 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ทวงถามและจำเลยรู้ว่าโจทก์จะใช้ สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยขนย้ายทรัพย์ ไปเพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือไม่ จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350

             การกระทำความผิดอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ ตาม ป.อ.มาตรา 350 จะต้องเป็นการกระทำของลูกหนี้โดยมีเจตนาที่จะไม่ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ แต่ถ้าหากเป็นเรื่องที่เจ้าหนี้กับลูกหนี้แปลความในสัญญากันคนละทาง มิใช่เพราะมีเจตนาที่จะไม่ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้จึงเป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่ง จึงไม่เป็นความผิดทางอาญาฐานโกงเจ้าหนี้(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 13/2517 และครั้งที่ 2/2518) (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 755/2518)

          จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินของตนให้จำเลยที่2 ขณะที่โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนดนั้นให้โดยการครอบครองปรปักษ์ การครอบครองปรปักษ์นั้นมิได้ก่อให้เกิดหนี้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเพียงกฎหมายรับรองหรือให้สิทธิโจทก์ทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีหนี้จะต้องชำระแก่โจทก์ทั้งสอง จึงไม่ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3527/2526)

            ผู้เสียหายให้จำเลยกู้ยืมเงิน 10,000 บาท โดยจำเลยมิได้ทำหลักฐานแห่งการกู้เป็นหนังสือให้ไว้นั้น เป็นการยืมเงินเกิน 50 บาท โดยมิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือ ซึ่งต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องบังคับคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 ฉะนั้น ผู้เสียหายจึงไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลกับจำเลยได้ตามความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1406/2512)

             ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 นั้น เจ้าหนี้จะต้องใช้สิทธิทางศาลให้ชำระหนี้แล้วอย่างหนึ่ง หรือว่าจะใช้สิทธิทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้อีกอย่างหนึ่ง เป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย ฉะนั้น เมื่อเจ้าหนี้ยังไม่ได้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่ง หรือการที่เจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีอาญาก็เพียงเพื่อให้ลูกหนี้หาประกันมาให้เจ้าหนี้เป็นที่พอใจแล้วจะไม่เอาเรื่องแก่ลูกหนี้ อันเป็นการแสดงว่าเจ้าหนี้ยังจะไม่ใช้สิทธิทางศาลเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว การที่ลูกหนี้โอนที่ดินให้ผู้อื่นไป จึงยังไม่ผิดฐานโกงเจ้าหนี้ (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1054/2507)

         การที่พนักงานอัยการฟ้องเป็นคดีแทนผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลย ความผิดอาญาที่ผู้เสียหายได้แจ้งความร้องทุกข์ไว้และมีคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินให้แก่ผู้เสียหาย ทั้งผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวและศาลชั้นต้นอนุญาต กรณีจึงมีผลเท่ากับว่าผู้เสียหายได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยชำระหนี้แล้ว ดังนั้น หากจำเลยโอนทรัพย์สินของตนให้แก่ผู้อื่นโดยมีเจตนาไปเพื่อมิให้โจทก์ร่วมได้รับชำระหนี้ จึงเป็นการโอนทรัพย์สินไปให้แก่ผู้อื่นแล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ตาม ป.อ.มาตรา 350 (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3973/2551)

           การกระทำที่จะเป็นความผิดอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ ตาม ป.อ. มาตรา 350 จะต้องครบองค์ประกอบความผิดนั้นด้วย หากฟ้องไม่ปรากฎว่าในการที่จำเลยโอนขายที่ดินให้แก่ผู้อื่นนั้น จำเลยได้กระทำโดยรู้ว่าเจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ กรณีจึงไม่ครบองค์ความผิดนั้นด้วย หากฟ้องไม่ปรากฎว่าในการที่จำเลยโอนขายที่ดินให้แก่ผู้อื่นนั้น จำเลยได้กระทำโดยรู้ว่าเจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ กรณีจึงไม่ครบองค์ความผิดตามมาตรา 350 (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 392/2506)

        ลูกหนี้โอนที่ดินของตนให้แก่ผู้อื่นเพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งเจ้าหนี้ได้ฟ้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว ลูกหนี้ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ส่วนผู้อื่นที่รับโอนทรัพย์นั้นจะมีความผิดตาม มาตรา 350 ก็ต่อเมื่อรู้ว่าลูกหนี้มีหนี้ที่เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิทางศาลแล้ว ถ้าไม่รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ไม่มีความผิด ตามมาตรา 350 (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 563/2523)

        จำเลยกู้เงินโจทก์ ถึงกำหนดชำระ จำเลยไม่ชำระ กลับขายเรือนของจำเลยให้แก่นายเปลื้องแต่การขายโจทก์เป็นผู้ติดต่อบอกขายและรับชำระหนี้เป็นข้าวเปลือกแทนเงินดังนี้ จะถือว่า จำเลยได้โอนเรือนไปให้แก่ผู้อื่นเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 350 ไม่ได้ (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 411/2508)

       แม้โจทก์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดจากจำเลยที่ 3กับพวก แต่จำเลยที่ 3 ก็ให้การต่อสู้ว่าไม่ต้องรับผิดเมื่อขณะจำเลยที่ 3 โอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นเงินเท่าใด และยังไม่แน่นอนว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 3 หรือไม่ การโอนขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 3 เป็นการโอนโดยชอบ การที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ต่อไป จึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6304/2539)

         ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือผู้อื่นได้รับชำระหนี้ จำเลยเป็นหนี้ธนาคารเป็นเงิน 696,252.59 บาท โดยจำเลยเอาที่ดินจำนองเป็นประกันธนาคารเจ้าหนี้ได้เร่งรัดให้จำเลยชำระหนี้จำเลยจึงได้ขายที่ดินที่จำนองให้แก่ ก. ไปในราคา 700,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ไม่ต่ำกว่าความเป็นจริง แล้วนำเงินนั้นชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้อันเป็นการชำระหนี้ที่จำเลยมีหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องปฏิบัติ แม้จะเป็นการขายภายหลังจากจำเลยทราบว่าเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาแล้วก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยขายที่ดินโดยเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1134/2537) 

          การขายทรัพย์สินเพื่อปลดเปลื้องภาระหนี้จำนองตามปกติ มิใช่มีเจตนาเพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ ไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ตาม ป.อ.มาตรา 350 (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4183/2542)