ตัวการและผู้สนับสนุน


มาตรา ๘๓  ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา ๘๔  ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วานหรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำ หรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ และถ้าผู้ถูกใช้เป็นบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี ผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพ ลูกจ้างหรือผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้ใช้ ผู้ที่มีฐานะยากจน หรือผู้ต้องพึ่งพาผู้ใช้เพราะเหตุป่วยเจ็บหรือไม่ว่าทางใด ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้ใช้กึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับผู้นั้น

มาตรา ๘๕  ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิด และความผิดนั้นมีกำหนดโทษไม่ต่ำกว่าหกเดือน ผู้นั้นต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

ถ้าได้มีการกระทำความผิดเพราะเหตุที่ได้มีการโฆษณาหรือประกาศตามความในวรรคแรก ผู้โฆษณาหรือประกาศต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ

มาตรา ๘๕/๑  ถ้าผู้ถูกใช้ตามมาตรา ๘๔ หรือผู้กระทำตามคำโฆษณา หรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิดตามมาตรา ๘๕ ได้ให้ข้อมูลสำคัญอันเป็นการเปิดเผยถึงการกระทำความผิดของผู้ใช้ให้กระทำความผิดหรือผู้โฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิด และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินคดีแก่บุคคลดังกล่าว ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

มาตรา ๘๖  ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น

มาตรา ๘๗  ในกรณีที่มีการกระทำความผิดเพราะมีผู้ใช้ให้กระทำตามมาตรา ๘๔ เพราะมีผู้โฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิดตามมาตรา ๘๕ หรือโดยมีผู้สนับสนุนตามมาตรา ๘๖ ถ้าความผิดที่เกิดขึ้นนั้น ผู้กระทำได้กระทำไปเกินขอบเขตที่ใช้หรือที่โฆษณาหรือประกาศ หรือเกินไปจากเจตนาของผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำความผิด ผู้โฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิด หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิด แล้วแต่กรณี ต้องรับผิดทางอาญาเพียงสำหรับความผิดเท่าที่อยู่ในขอบเขตที่ใช้ หรือที่โฆษณาหรือประกาศ หรืออยู่ในขอบเขตแห่งเจตนาของผู้สนับสนุนการกระทำความผิดเท่านั้น แต่ถ้าโดยพฤติการณ์อาจเล็งเห็นได้ว่า อาจเกิดการกระทำความผิดเช่นที่เกิดขึ้นนั้นได้จากการใช้ การโฆษณา หรือประกาศ หรือการสนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำความผิด ผู้โฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิด หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิด แล้วแต่กรณี ต้องรับผิดทางอาญาตามความผิดที่เกิดขึ้นนั้น

ในกรณีที่ผู้ถูกใช้ ผู้กระทำตามคำโฆษณา หรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิด หรือตัวการในความผิด จะต้องรับผิดทางอาญามีกำหนดโทษสูงขึ้นเพราะอาศัยผลที่เกิดจากการกระทำความผิด ผู้ใช้ให้กระทำความผิด ผู้โฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิด หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิด แล้วแต่กรณี ต้องรับผิดทางอาญาตามความผิดที่มีกำหนดโทษสูงขึ้นนั้นด้วย แต่ถ้าโดยลักษณะของความผิด ผู้กระทำจะต้องรับผิดทางอาญามีกำหนดโทษสูงขึ้นเฉพาะเมื่อผู้กระทำต้องรู้ หรืออาจเล็งเห็นได้ว่าจะเกิดผลเช่นนั้นขึ้น ผู้ใช้ให้กระทำความผิด ผู้โฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิด หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิด จะต้องรับผิดทางอาญาตามความผิดที่มีกำหนดโทษสูงขึ้นก็เฉพาะเมื่อตนได้รู้ หรืออาจเล็งเห็นได้ว่าจะเกิดผลเช่นที่เกิดขึ้นนั้น

มาตรา ๘๘  ถ้าความผิดที่ได้ใช้ ที่ได้โฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำ หรือที่ได้สนับสนุนให้กระทำ ได้กระทำถึงขั้นลงมือกระทำความผิด แต่เนื่องจากการเข้าขัดขวางของผู้ใช้ ผู้โฆษณาหรือประกาศ หรือผู้สนับสนุน ผู้กระทำได้กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้ใช้หรือผู้โฆษณาหรือประกาศ คงรับผิดเพียงที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘๔ วรรคสอง หรือมาตรา ๘๕ วรรคแรก แล้วแต่กรณี ส่วนผู้สนับสนุนนั้นไม่ต้องรับโทษ

มาตรา ๘๙  ถ้ามีเหตุส่วนตัวอันควรยกเว้นโทษ ลดโทษหรือเพิ่มโทษแก่ผู้กระทำความผิดคนใด จะนำเหตุนั้นไปใช้แก่ผู้กระทำความผิดคนอื่นในการกระทำความผิดนั้นด้วยไม่ได้ แต่ถ้าเหตุอันควรยกเว้นโทษ ลดโทษหรือเพิ่มโทษเป็นเหตุในลักษณะคดี จึงให้ใช้แก่ผู้กระทำความผิดในการกระทำความผิดนั้นด้วยกันทุกคน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5270/2560
จำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์นำหน้าคอยดูต้นทางให้จำเลยที่ 1 ขับรถกระบะนำเมทแอมเฟตามีนไปส่งลูกค้า แม้เมทแอมเฟตามีนไม่ได้อยู่กับจำเลยที่ 2 ก็เป็นเรื่องข้อจำกัดทางกายภาพที่ต้องแบ่งหน้าที่กัน เมื่อจำเลยที่ 2 รู้ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถนำเมทแอมเฟตามีนไปส่งแล้วร่วมมือช่วยเหลือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการลำเลียงเมทแอมเฟตามีนไปส่งลูกค้าให้สำเร็จและได้รับผลประโยชน์ตอบแทน จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 มิใช่เป็นเพียงผู้สนับสนุน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2437/2560
โจทก์ร่วมมีมติให้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานยักยอกเงิน 3,686,160 บาท ของโจทก์ร่วม เป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ร่วมโดยชัดแจ้งว่าโจทก์ร่วมได้กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนโดยมีเจตนาให้จำเลยทั้งสองได้รับโทษในความผิดฐานยักยอกเงิน 3,686,160 บาท ซึ่งรวมเงิน 502,190 บาท ที่เป็นเงินของเดือนมกราคม 2556 ด้วย จึงเป็นคำร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) ส่วนการที่ประธานโจทก์ร่วมแจ้งต่อที่ประชุมว่าตรวจสอบพบจำเลยทั้งสองทุจริตยักยอกเงินนับจากเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2556 เป็นเงิน 3,686,160 บาท เป็นเพียงข้อมูลเกี่ยวกับเวลาเกิดเหตุที่ประธานแจ้งที่ประชุมไม่ครบถ้วนเท่านั้น เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน แม้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดเป็นเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2556 โดยไม่ได้แจ้งถึงเดือนมกราคม 2556 ด้วยก็เป็นความคลาดเคลื่อนของพนักงานสอบสวนในการตรวจสอบและแจ้งข้อเท็จจริงแก่ผู้ต้องหา แต่หาได้มีผลเปลี่ยนแปลงเจตนาของโจทก์ร่วมที่ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองได้รับโทษในความผิดฐานยักยอกไม่ การดำเนินการของโจทก์ร่วมเป็นการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีจำเลยทั้งสองในข้อหายักยอกเงิน 502,190 บาท ประจำเดือนมกราคม 2556 โดยชอบแล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้องข้อหายักยอกเงิน 502,190 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2376/2560
ก่อนจำเลยที่ 1 ถูกจับกุม จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์วนกลับไปกลับมาบนถนนเลียบชายแดนบ้านจะลอ-บ้านลิเซ บริเวณรั้วลวดหนามกั้นชายแดนในเวลากลางคืนหลายรอบ จำเลยที่ 1 ส่งสัญญาณให้จำเลยที่ 2 ออกมาพบเพื่อกลับเข้ามาในราชอาณาจักร แล้วจำเลยทั้งสองต่างขับรถจักรยานยนต์ออกมาจากรั้วลวดหนามไปตามถนนเลียบชายแดนบ้านจะลอ-บ้านลิเซ ส่วนจำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์ย้อนกลับไปทางบ้านจะลอ จนกระทั่งจำเลยที่ 1 ถูกจ่าสิบเอก จ. กับพวกจับกุมได้ ประกอบกับจำเลยที่ 2 เป็นพี่เขยของจำเลยที่ 1 ย่อมไว้ใจให้จำเลยที่ 1 ให้คอยช่วยเหลือ ดังนั้น พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่คอยตรวจตราเส้นทางให้จำเลยที่ 2 ก่อนเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเพียงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นความผิดฐานสนับสนุน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1863/2560
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งให้การในชั้นสอบสวนเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์และพบเห็นเหตุการณ์ด้วยตนเอง มิได้รับฟังมาจากผู้อื่น และจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาเบิกความในชั้นพิจารณาของศาลด้วยตนเอง ทั้งคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเหตุผลเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การไว้ด้วยความสมัครใจ จึงเป็นปัญหาดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน หาใช่กรณีเป็นปัญหาในเรื่องพยานบอกเล่าไม่ แม้บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 จะมีลักษณะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน แต่จำเลยที่ 1 ก็ให้การรับว่า ได้ร่วมกับ พ. ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย จึงไม่ได้เป็นการปัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ให้เป็นความผิดของจำเลยที่ 2 แต่เพียงลำพังเท่านั้น แต่เป็นการให้การถึงเหตุการณ์ที่จำเลยที่ 1 ได้ประสบมายิ่งกว่าเป็นการปรักปรำจำเลยที่ 2 จึงรับฟังบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ อีกทั้งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสาระสำคัญสอดคล้องกับที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การไว้ในฐานะพยาน ยิ่งทำให้บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีน้ำหนักให้รับฟังมากขึ้น และจำเลยที่ 2 ยังนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพโดยทำกริยาท่าทางที่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ไปดูบ้านของผู้ตายก่อนเกิดเหตุ ให้พนักงานสอบสวนถ่ายรูป และบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ ซึ่งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 กระทำไปโดยไม่สมัครใจแต่อย่างใด จึงรับฟังการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวประกอบกับพยานหลักฐานอื่นของโจทก์และโจทก์ร่วมได้เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9661/2559
พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 308 กำหนดความผิดของกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 เบียดบังเอาทรัพย์ของนิติบุคคลเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลอีกแห่งหนึ่ง ไม่ได้เป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของโจทก์ร่วม แม้การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการสั่งจ่ายเช็คที่ไม่มีเงินและไม่มีวงเงินในบัญชีกระแสรายวัน แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 อนุมัติสินเชื่อตั้งวงเงินชั่วคราวโดยมิชอบ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 ได้เงินดังกล่าวไปจากโจทก์ร่วม ซึ่งลักษณะเป็นการร่วมวางแผนและร่วมลงมือมาแต่ต้น แต่ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานเป็นตัวการได้ อย่างไรก็ดี บทบัญญัติมาตรา 315 ได้กำหนดความผิดไว้โดยเฉพาะสำหรับผู้ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 กระทำความผิดตามมาตรา 308 ไม่ว่าก่อนหรือขณะกระทำความผิดแล้ว อาชญากรรมทางธุรกิจมีความซับซ้อนหลายขั้นตอน การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นส่วนหนึ่งในขั้นตอนดังกล่าว อันเป็นความผิดตามมาตรา 315 ประกอบมาตรา 308 จึงไม่ต้องปรับบทตาม ป.อ. มาตรา 86

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8718/2559
จำเลยที่ 2 ใช้มือจับแขนผู้เสียหายอายุ 4 ปีเศษ ไว้ให้จำเลยที่ 1 ใช้นิ้วมือสอดเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหาย ถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของจำเลยที่ 1 โดยการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศของผู้เสียหาย อันเป็นการกระทำชำเราตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม และเป็นความผิดที่ร่วมกันกระทำผิดได้ โดยผู้ร่วมกระทำผิดไม่จำต้องเป็นผู้ลงมือกระทำชำเราด้วยกันทุกคน เพียงแต่คนใดคนหนึ่งกระทำชำเรา ผู้ร่วมกระทำผิดทุกคนก็มีความผิดฐานเป็นตัวการตาม ป.อ. มาตรา 83 ทั้ง ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง บัญญัติแต่เพียงว่า "ผู้ใดกระทำชำเรา..." หาได้บัญญัติให้ลงโทษแต่เฉพาะชายเท่านั้น แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นหญิง แต่เมื่อฟังได้ว่าร่วมกับจำเลยที่ 1 จับผู้เสียหายขึ้นไปบนบ้าน แล้วจำเลยที่ 2 ใช้มือจับแขนผู้เสียหายไว้ให้จำเลยที่ 1 กระทำชำเราผู้เสียหายโดยการใช้นิ้วมือกระทำกับอวัยวะเพศของผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี อันมีลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8209/2559
พฤติการณ์ของจำเลยที่เพียงแต่แสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและสอบถามว่า เสพยาเสพติดหรือไม่แล้วขอตรวจค้นตัวผู้เสียหายทั้งสองก่อนที่จะล้วงเอากระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหายที่ 1 เอาบุหรี่ของผู้เสียหายที่ 2 ไปและบอกว่าจะพาไปตรวจปัสสาวะ หากไม่พบสารเสพติดก็จะปล่อยตัวไปนั้น ไม่ปรากฏว่ามีการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายแต่อย่างใด จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 คดีคงฟังได้เพียงว่า จำเลยร่วมกับพวกที่ยังหลบหนีกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (6) (7) วรรคสอง ซึ่งความผิดฐานนี้เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของความผิดฐานชิงทรัพย์ที่ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษให้ถูกต้องได้เพราะความผิดฐานนี้มีโทษเบากว่าความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย และมาตรา 215 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7086/2559
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ของบริษัท ก. ผู้เสียหายขณะอยู่ในความครอบครองของ ร. แต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาได้ความว่า เจ้าพนักงานตำรวจยืมรถตามฟ้องจากผู้อื่นแล้วให้ ร. นำไปส่งมอบแก่พวกจำเลยแลกกับค่าตอบแทนเป็นเงิน 10,000 บาท หาใช่เป็นการลักรถจักรยานยนต์ตามฟ้องไปจาก ร. ไม่ จึงเป็นกรณีข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลยกฟ้อง จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ และลงโทษฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงไม่ได้เช่นกัน ถือว่าเกินคำขอหรือมิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง และการที่จำเลยทั้งสามชี้ช่องแนะนำให้ ร. ไปทำสัญญาเช่าซื้อและเสนอเงินค่าตอบแทนในการนำรถจักรยานยนต์มาส่งมอบจำนวน 10,000 บาท ดังกล่าว อาจถือว่าเป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ ร. ก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ ต้องเป็นไปตาม ป.อ. มาตรา 86 ที่บัญญัติว่าเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด หมายถึงต้องมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นด้วย จึงจะพิจารณาได้ว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำก่อนหรือขณะกระทำความผิดได้ แตกต่างกับบทบัญญัติแห่งมาตรา 84 วรรคสองตอนท้าย ที่อาจมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ได้แม้ว่าความผิดมิได้กระทำลงก็ตาม เมื่อคดีนี้เกิดจากการวางแผนของเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ก่อน และเป็นการขอยืมรถจักรยานยนต์จากผู้อื่นเพื่อให้ ร. ขับไปทำทีส่งมอบแก่พวกจำเลย หาได้เกิดจาก ร. หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง อันจะถือเป็นการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 เมื่อความผิดตามมาตรา 341 ไม่มีเสียแล้ว ความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดที่ต้องนำความผิดตามมาตรา 341 มาประกอบกับมาตรา 86 ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เช่นกัน จึงไม่อาจพิพากษาลงโทษตามมาตรา 341 ประกอบมาตรา 86 ได้อีกด้วย และกรณีดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีที่ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาให้มิต้องถูกรับโทษดุจจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5958/2559
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 สั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ใช้ชื่อของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เป็นทนายความ และให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความเป็นชื่อของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 แม้จะไม่ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ได้กระทำเช่นนั้นในบริเวณศาลอันจะถือว่าเป็นตัวการ แต่ก็ถือเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 จึงมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1), 33 ประกอบ ป.อ. มาตรา 17 และ 84

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5852/2559
คำให้การชั้นสอบสวนของ ส. เป็นพยานบอกเล่า แต่โจทก์มีข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีแหล่งที่มาเป็นอิสระถือเสมือนเป็นพยานคนกลางไม่มีส่วนได้เสีย จึงเป็นพยานหลักฐานประกอบอื่นที่สนับสนุนให้เห็นพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองว่ามีความเกี่ยวพันกับการขนส่งกัญชาของ ส. อย่างไร จำเลยที่ 1 โทรศัพท์ติดต่อกับ ส. หลายครั้ง ส่วนจำเลยที่ 2 แม้มิได้โทรศัพท์ติดต่อ ส. และ ผ. ผู้ว่าจ้าง แต่ก็ร่วมเดินทางไปกับจำเลยที่ 1 โดยตลอดเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ย่อมรู้เรื่องดี ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองขับรถดูต้นทางให้ ส. จริง จำเลยทั้งสองจึงร่วมกระทำความผิดฐานมีกัญชาของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3237/2559
จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 จะไปรับเมทแอมเฟตามีนของกลางเพื่อขนกลับไปคืนให้แก่ ศ. เมื่อเมทแอมเฟตามีนของกลางมีจำนวนมาก จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมรู้ว่า ศ. มีไว้เพื่อจำหน่าย การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมถือได้ว่ามีเจตนาร่วมกับ ศ. มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

การที่จำเลยที่ 2 เข้าไปที่โรงแรม อ. ขอกุญแจห้องพักหมายเลข 503 จากพนักงานของโรงแรมดังกล่าวและถูกจับกุมขณะกำลังเปิดประตูห้องพัก ส่วนจำเลยที่ 3 เข้าไปที่โรงแรม ล. ขณะกำลังเคาะประตูห้องพักหมายเลข 10 เพื่อจะไปรับเมทแอมเฟตามีนคืนให้ ศ. จึงถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเช่นกัน ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงมือกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแล้ว แม้การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะไม่บรรลุผลสำเร็จก็ตาม การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็เข้าขั้นพยายามมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายไม่ใช่เป็นเพียงความผิดฐานสนับสนุน ศ. มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 712/2559
จำเลยที่ 2 สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจาก อ. ชาวลาวให้ส่งเมทแอมเฟตามีนนั้นจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเข้ามาในประเทศไทย โดยไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2 กับ อ. เป็นพวกเดียวกันและได้วางแผนแบ่งหน้าที่กันกระทำผิดดังกล่าว ทั้งจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นตัวการร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ที่เป็นผู้ขาย แต่ถือเป็นผู้ก่อให้ผู้ขายนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักร จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดดังกล่าว ข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความจึงแตกต่างจากฟ้องในสาระสำคัญ ไม่อาจลงโทษฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายตามที่พิจารณาได้ความ คงลงโทษได้เพียงฐานเป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำผิด ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้

เจ้าพนักงานตำรวจได้เข้าจับกุมจำเลยทั้งสองโดยที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางแก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ยังไม่ได้รับเข้ามาในเงื้อมมือของจำเลยที่ 2 จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ครอบครองเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเป็นความผิดสำเร็จ แต่การที่จำเลยที่ 2 ไปรอรับเมทแอมเฟตามีนของกลางที่จำเลยที่ 1 นำเข้ามาเพื่อส่งมอบให้ที่จุดนัดหมาย ถือว่าเป็นการกระทำที่ใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จ เข้าขั้นลงมือกระทำผิดแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานพยายามมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้กล่าวชัดแจ้งในฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ซึ่งการกระทำผิดของจำเลยที่ 2 ต่อเมทแอมเฟตามีนของกลางดังที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดได้ความว่ามีลักษณะเดียวกับที่จำเลยที่ 2 กระทำต่อกัญชาของกลาง ศาลฎีกาเห็นควรพิพากษาให้มีผลตลอดไปถึงการกระทำผิดเกี่ยวกับกัญชาของกลางซึ่งยุติไปแล้วด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 562/2559
การที่ผู้เสียหายทั้งสี่ยินยอมมอบเงินค่าไถ่รถยนต์ของผู้เสียหายทั้งสี่ให้แก่ ว. ผู้รับจำนำ ซึ่งรับจำนำรถยนต์ของผู้เสียหายทั้งสี่รวม 10 คัน ไว้จาก บ. โดยมิชอบ ตามที่ ว. ขู่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 ผ่าน อ. ภริยาของ บ. ทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ว่า หากผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ยอมให้เงินค่าไถ่รถยนต์แก่ ว. ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 จะไม่ได้รถยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 คืน และ ว. ยังขู่ผู้เสียหายที่ 4 ทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะต่อรองราคาค่าไถ่ว่าถ้าผู้เสียหายที่ 4 ไม่เอาราคานี้ก็ไม่ต้องเอา โดยจะนำรถของผู้เสียหายที่ 4 ไปแยกย่อยเอง ถือเป็นการขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อทรัพย์สินดังกล่าวของผู้เสียหายทั้งสี่ จนผู้เสียหายทั้งสี่จำต้องยินยอมจะให้เงินแก่ ว. เป็นค่าไถ่รถยนต์ตามที่ถูกข่มขืนใจ การกระทำของ ว. ย่อมครบองค์ประกอบความผิดฐานกรรโชกแล้ว แม้ผู้เสียหายทั้งสี่จะยังไม่ได้มอบเงินค่าไถ่รถยนต์ให้แก่ ว. จำเลยที่ 1 รับมอบหมายจาก ว. ให้มารับเงินค่าไถ่รถยนต์จากผู้เสียหายทั้งสี่หลังจากนั้น จึงมิใช่เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกก่อนหรือขณะกระทำความผิดฐานกรรโชก เพราะการกระทำความผิดฐานกรรโชกของ ว. ได้สำเร็จเด็ดขาดไป ทั้งความผิดฐานกรรโชกมิได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ผู้เป็นคนกลางติดต่อรับมอบทรัพย์จากการกรรโชกหลังจากการกระทำความผิดสำเร็จ เป็นความผิดที่ต้องรับโทษ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานกรรโชกตาม ป.อ. มาตรา 86 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14822/2558
ความผิดฐานร่วมกันบุกรุกนั้น แม้จะฟังได้ว่าจำเลยเป็นบุตรของ ญ. ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท แต่โจทก์เป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตและได้รับความยินยอมจาก พ. ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทอีกคนหนึ่ง และเป็นหนึ่งในคณะบุคคลผู้ให้เช่าที่อนุญาตให้โจทก์เข้าใช้สอยทำประโยชน์จากที่ดินพิพาทได้ ย่อมถือว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทและมีอำนาจที่จะป้องกันหรือขัดขวางผู้เข้ารบกวนการครอบครองของโจทก์ได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทราบว่าโจทก์เข้าใช้สอยที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2553 แต่จำเลยไม่ดำเนินการทางกฎหมายแก่โจทก์ในประการใด ต่อมาปี 2555 จำเลยนำเสาเหล็กไปปิดกั้นที่ดินพิพาทและเอาโซ่เหล็กไปคล้องเพื่อปิดกั้นทางเข้าออก จึงเป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่า จำเลยมีเจตนาที่จะรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย การที่จำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362, 83

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13908/2558
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ก่อให้จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันฆ่า ส. ผู้เสียหายและ อ. ผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ต่อมา จำเลยที่ 1 กับพวกใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายและผู้ตายหลายนัดโดยเจตนาฆ่าและโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเนื่องจากถูกใช้ จ้าง วาน ยุยงส่งเสริมจากจำเลยที่ 2 เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายและผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 2 ขัดแย้งกับผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 มอบอาวุธปืนและบอกให้จำเลยที่ 1 สั่งสอนผู้เสียหาย การมอบอาวุธปืนมีกระสุนปืนหลายนัดให้จำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 2 ว่าให้จำเลยที่ 1 สั่งสอนผู้เสียหายโดยใช้ปืนยิงและย่อมเล็งเห็นได้ว่าหากผู้เสียหายไม่ตายก็ย่อมได้รับบาดเจ็บจากบาดแผลกระสุนปืน จึงเป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำผิดโดยเจตนาตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสอง เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายจึงเป็นการกระทำตามที่จำเลยที่ 2 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ฆ่าผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนแล้ว เมื่อผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้และรับโทษเสมือนตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 289 (4), 80 ประกอบมาตรา 84 วรรคสอง และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยรู้จัก ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ตาย ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 บอกให้จำเลยที่ 1 ไปสั่งสอนผู้เสียหายให้เข็ดหลาบ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ทราบเหตุการณ์ที่ผู้เสียหายนัดหมายผู้ตายมารับเพื่อเดินทางกลับบ้าน ทั้งจำเลยที่ 2 ไม่ได้ติดตามผู้เสียหายและผู้ตายไป ตามพฤติการณ์จำเลยที่ 2 ไม่อาจคาดหมายว่าจำเลยที่ 1 จะใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายด้วย การที่จำเลยที่ 1 ยิงผู้ตายถึงแก่ความตายเป็นการกระทำเกินขอบเขตที่ใช้ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาก่อให้จำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตาย เมื่อตามฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่ทางพิจารณาโจทก์สืบไม่สมฟ้องในความผิดฐานดังกล่าว จึงต้องยกฟ้องในข้อหานี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12328/2558
แม้โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยทั้งสามเป็นคนตัดสายคอนโทรลเคเบิล แต่จุดที่มีการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 อยู่ภายในบริเวณรั้วของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นการยากที่บุคคลภายนอกที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องจะเข้าไปตัดสายคอนโทรลเคเบิลในที่เกิดเหตุได้ และการที่สายคอนโทรลเคเบิลถูกตัด มีผลทำให้มิเตอร์ไฟฟ้าคิดค่าไฟฟ้าต่ำกว่าความจริง ทั้งยังพบว่ามีสายไฟฟ้าซึ่งต่อกับสายคอนโทรลเคเบิลถูกลากไปที่โรงเก็บของจำเลยที่ 1 แม้สายไฟฟ้าดังกล่าวถูกตัดไปและไม่พบสวิตช์ควบคุมในโรงเก็บของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่จำเลยทั้งสามไม่ได้นำสืบปฏิเสธว่าสายคอนโทรลเคเบิลไม่ได้ถูกตัด ประกอบกับจำเลยที่ 1 ยอมชำระค่าปรับกรณีละเมิดการใช้ไฟฟ้าและตกลงยอมชำระค่าไฟฟ้าที่มีการปรับปรุงเพิ่ม ตามหนังสือรับสภาพหนี้ ซึ่งเป็นจำนวนเงินค่ากระแสไฟฟ้าที่สูงมาก หากจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำผิดจริงก็ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยที่ 1 จะยอมเสียค่าปรับและทำหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ลักกระแสไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคผู้เสียหาย ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 อยู่ในขณะเกิดเหตุ จึงเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิด ต้องถือว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12269/2558
จำเลยที่ 2 รู้อยู่ก่อนแล้วว่า ฉ. จะไปทำบัตรประจำตัวประชาชนในชื่อของ ก. การที่จำเลยที่ 2 ขอร้องให้จำเลยที่ 1 ช่วยเป็นผู้รับรองเป็นเหตุให้ ฉ. สามารถทำบัตรประจำตัวประชาชนได้สำเร็จ ถือเป็นการให้ความช่วยเหลือ ฉ. ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานสนับสนุน ฉ. ในการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.บัตรประชาชน พ.ศ.2526 ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าวได้เพราะโทษเบากว่าความผิดฐานเป็นตัวการ ไม่ได้เป็นการเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6551/2558
ผู้เสียหายกับจำเลยรู้จักกันมาก่อนและผู้เสียหายรู้ว่าจำเลยมิได้เป็นเจ้าพนักงาน วันเกิดเหตุจำเลยมิได้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานเพียงแต่อ้างว่าพวกของจำเลยเป็นเจ้าพนักงาน การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 145 วรรคแรก แต่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน ซึ่งศาลลงโทษจำเลยได้เพราะมิได้เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4347/2558
จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างประจำ ตำแหน่งนักการ เทศบาลตำบลจักราช มิใช่ข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งหรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ซึ่งมีกฎหมายระบุไว้โดยเฉพาะให้ถือเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมาย เนื่องจาก ป.อ. มาตรา 147, 151, 161 เป็นบทบัญญัติที่ลงโทษแก่บุคคลผู้กระทำความผิดที่เป็นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่เท่านั้น แม้จำเลยที่ 2 จะร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดต่อบทบัญญัติดังกล่าว ก็จะลงโทษจำเลยที่ 2 อย่างเจ้าพนักงานไม่ได้ คงลงโทษจำเลยที่ 2 ได้แต่เพียงในฐานะผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 86 เท่านั้น ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3934 - 3936/2558
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้สนับสนุนการลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปและโดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต้องระวางโทษหนักขึ้นตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ นั้นเป็นการ ไม่ชอบ เพราะ ป.อ. มาตรา 336 ทวิ มีวัตถุประสงค์ลงโทษเฉพาะผู้ใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือพาทรัพย์นั้นไปเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18279/2557
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมกับ ย. วางแผนฆ่าผู้ตายและไม่รู้มาก่อนว่า ย. มีและพาอาวุธปืนติดตัวมาด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามฟ้องและโจทก์มิได้อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้เป็นยุติว่า ขณะที่ ย. ยิงผู้ตายนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วย จำเลยที่ 1 จะมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนให้ ย. ฆ่าผู้ตายนั้น ข้อเท็จจริงต้องฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 รู้มาก่อนแล้วว่า ย. ให้จำเลยที่ 1 ขับรถพาไปหาผู้ตายเพื่อฆ่าผู้ตาย เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวมาก่อน การที่ ย. ยิงผู้ตายนัดแรกขณะที่นั่งซ้อนท้ายรถที่จำเลยที่ 1 ขับมาแล้วลงจากรถตรงไปยิงผู้ตายซ้ำ อันเป็นการกระทำต่อเนื่องกัน แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ขับรถหลบหนีไปจากที่เกิดเหตุ แต่ขับรถวกกลับมารับ ย. ตามเสียงตะโกนเรียกของ ย. และพาหลบหนีไป ก็มิใช่เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ ย. ฆ่าผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14273/2556
จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นข้าราชการครูในพื้นที่ ให้คำรับรองอันเป็นเท็จต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและปลัดอำเภอฝ่ายทะเบียนในการที่ ก. ซึ่งเป็นคนต่างด้าวขอมีบัตรประจำตัวประชาชนว่า ก. คือ พ. ซึ่งความจริงแล้ว ก. มิใช่บุคคลคนเดียวกับ พ. โดยข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมในการที่จำเลยที่ 1 และ ก. แจ้งให้แจ้งหน้าที่ดังกล่าวจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการและร่วมแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชนของ ก. อย่างไร การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นเพียงการกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิด ซึ่งเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6151/2556
จำเลยที่ 3 เพียงแต่ใช้ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ส. จับตัวผู้ตายมาเพื่อค้นหาความจริงเกี่ยวกับรถของจำเลยที่ 3 ที่หายไปเท่านั้น การที่ ส. ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจนผู้ตายถึงแก่ความตายเนื่องจากผู้ตายต่อสู้ไม่ยอมให้จับตัวนั้น เป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า ที่เกิดขึ้นทันทีทันใด โดยจำเลยที่ 3 ไม่อาจคาดหมายได้ว่า ส. จะกระทำเช่นนั้น เป็นการกระทำเกินขอบเขตที่ใช้ พฤติการณ์แห่งคดียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ส. ฆ่าผู้ตาย แต่การที่จำเลยที่ 3 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ส. ไปจับตัวผู้ตายมารีดเค้นหาความจริงดังกล่าว จำเลยที่ 3 ย่อมคาดหมายได้ว่าผู้ตายอาจขัดขืนและในการรีดเค้นความจริงจากผู้ตาย อาจมีการต่อสู้ทำร้ายร่างกายเกิดขึ้น ถือว่าจำเลยที่ 3 ใช้ให้กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ส. ทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 3 แล้วผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ใช้ให้กระทำความผิดจึงต้องรับผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17866/2555
การที่จำเลยสั่งให้ ส. กับพวกทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ด้วยคำพูดของจำเลยที่ว่า "กูจะฆ่ามึง พวกมึงไปจัดการมันเลย" นั้น แม้ตามพฤติการณ์แห่งคดีจะเป็นการพูดด้วยอารมณ์โกรธ และเพียงแต่มีเจตนาใช้ให้ทำร้ายร่างกายเพื่อสั่งสอนเท่านั้น แต่เมื่อการทำร้ายร่างกายผู้เสียหายตามที่จำเลยใช้ให้กระทำความผิดเกิดผลให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสซึ่งผู้ถูกใช้จะต้องรับผิดทางอาญามีกำหนดโทษสูงขึ้น จำเลยเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดย่อมต้องรับผิดทางอาญาตามความผิดที่มีกำหนดโทษสูงขึ้นนั้นด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 297 (8), 84 ประกอบมาตรา 87 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10821/2555
ป.อ. มาตรา 84 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ หมายความว่า เมื่อมีผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดและผู้ถูกใช้ได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนหนึ่งว่าเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดนั้นตาม ป.อ. มาตรา 83 ดังนั้น หากจำเลยเป็นผู้ที่ร่วมกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ และเป็นผู้ใช้เอกสารสิทธิปลอมนั้น ป.อ. มาตรา 268 วรรคสอง บัญญัติให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมแต่เพียงกระทงเดียว เมื่อจำเลยเป็นผู้ใช้เอกสารสิทธิปลอมโดยเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นปลอมเอกสารสิทธิ จึงต้องลงโทษจำเลยเสมือนเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดคือ ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมแต่เพียงกระทงเดียวเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1817/2552
พวกของจำเลยที่ 3 ฉุดดึงผู้เสียหายทั้งสองขึ้นไปบนกระบะด้านท้ายของรถยนต์ จำเลยที่ 3 นั่งอยู่ในรถด้านหน้าแถวเดียวกับคนขับ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 มีส่วนร่วมในการฉุดดึงผู้เสียหายทั้งสองขึ้นรถแต่อย่างใด เมื่อรถมาจอดบริเวณที่เกิดเหตุมีจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก พาผู้เสียหายทั้งสองลงจากรถและข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายทั้งสอง จำเลยที่ 3 ไม่ได้ลงจากรถเข้าไปมีส่วนร่วมในการพาผู้เสียหายลงจากรถหรือมีส่วนร่วมในขณะ ที่ผู้เสียหายทั้งสองถูกข่มขืนกระทำชำเราแต่อย่างใด จนกระทั่งผู้เสียหายที่ 2 ร้องขอความช่วยเหลือขณะถูก พ. ข่มขืนกระทำชำเรา จำเลยที่ 3 จึงลงจากรถไปขอร้อง พ. ให้หยุดกระทำและนำตัวผู้เสียหายที่ 2 ไปนั่งรอในรถด้านหน้ากับจำเลยที่ 3 จากนั้นจำเลยที่ 3 ได้ขอให้ ภ. ขับรถพาผู้เสียหายที่ 2 ไปส่งที่บ้านเพื่อนของจำเลยที่ 3 และให้นอนค้างที่นั้น โดยจำเลยที่ 3 ไม่ได้กระทำลวนลามหรือกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 แม้ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ได้ยิน พ. พูดคุยกับจำเลยที่ 4 ว่าจะพาผู้หญิงชื่อ บ. ไปกระทำชำเรานั้น การที่ผู้ใดรับรู้ว่าผู้อื่นจะกระทำความผิดหรือกระทำความผิดแล้ว จะถือว่าผู้นั้นมีส่วนร่วมกระทำความผิดหรือสนับสนุนผู้อื่นกระทำความผิดด้วย ไม่ได้ ลำพังข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 3 นั่งรถไปกับพวกที่กระทำความผิดนั้นไม่เพียงพอให้รับฟังลงโทษจำเลยที่ 3 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1459/2532
เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้ ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 กับพวกปล้นทรัพย์ของผู้ตาย และผู้ถูกใช้ ได้ กระทำตาม คำสั่งของจำเลยที่ 1แล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมต้อง รับผลของการกระทำของผู้ถูกใช้ ในการปล้นทรัพย์นั้นทั้งสิ้น เมื่อการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายอันเป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340วรรคท้าย จำเลยที่ 1 ในฐานะ ผู้ใช้ ย่อมต้อง รับผิดในผลการกระทำของผู้ถูกใช้ อันเนื่องจากการปล้นทรัพย์เสมือนเป็นตัวการเช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1817/2552
พวกของจำเลยที่ 3 ฉุดดึงผู้เสียหายทั้งสองขึ้นไปบนกระบะด้านท้ายของรถยนต์ จำเลยที่ 3 นั่งอยู่ในรถด้านหน้าแถวเดียวกับคนขับ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 มีส่วนร่วมในการฉุดดึงผู้เสียหายทั้งสองขึ้นรถแต่อย่างใด เมื่อรถมาจอดบริเวณที่เกิดเหตุมีจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก พาผู้เสียหายทั้งสองลงจากรถและข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายทั้งสอง จำเลยที่ 3 ไม่ได้ลงจากรถเข้าไปมีส่วนร่วมในการพาผู้เสียหายลงจากรถหรือมีส่วนร่วมในขณะ ที่ผู้เสียหายทั้งสองถูกข่มขืนกระทำชำเราแต่อย่างใด จนกระทั่งผู้เสียหายที่ 2 ร้องขอความช่วยเหลือขณะถูก พ. ข่มขืนกระทำชำเรา จำเลยที่ 3 จึงลงจากรถไปขอร้อง พ. ให้หยุดกระทำและนำตัวผู้เสียหายที่ 2 ไปนั่งรอในรถด้านหน้ากับจำเลยที่ 3 จากนั้นจำเลยที่ 3 ได้ขอให้ ภ. ขับรถพาผู้เสียหายที่ 2 ไปส่งที่บ้านเพื่อนของจำเลยที่ 3 และให้นอนค้างที่นั้น โดยจำเลยที่ 3 ไม่ได้กระทำลวนลามหรือกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 แม้ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ได้ยิน พ. พูดคุยกับจำเลยที่ 4 ว่าจะพาผู้หญิงชื่อ บ. ไปกระทำชำเรานั้น การที่ผู้ใดรับรู้ว่าผู้อื่นจะกระทำความผิดหรือกระทำความผิดแล้ว จะถือว่าผู้นั้นมีส่วนร่วมกระทำความผิดหรือสนับสนุนผู้อื่นกระทำความผิดด้วย ไม่ได้ ลำพังข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 3 นั่งรถไปกับพวกที่กระทำความผิดนั้นไม่เพียงพอให้รับฟังลงโทษจำเลยที่ 3 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9047/2551
การที่จำเลยที่ 3 ยอมให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกพักที่บ้านของจำเลยที่ 3 เพื่อใช้เป็นสถานที่ปรึกษาหารือกันในการนำธนบัตรปลอมของกลางไปใช้นั้น ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในการนำธนบัตรปลอมของกลางไปใช้ จำเลยที่ 3 จึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2
แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ในฐานเป็นตัวการ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดในฐานเป็นผู้สนับสนุน ศาลฎีกาก็ลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3433/2551
จำเลย ที่ 2 ตอบจำเลยที่ 1 ว่า "ไว้ใจได้ ขายเขาไปเถอะ" เพื่อช่วยในการตัดสินใจของจำเลยที่ 1 ที่จะขายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับให้ง่ายและรวดเร็วขึ้น เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86 แม้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ศาลฎีกาก็ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานนี้ได้เนื่องจากเป็นข้อแตกต่างที่มิใช่สาระสำคัญทั้งจำเลยที่ 2 มิได้หลงต่อสู้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1455/2551
จำเลยทั้งสองเป็นพ่อลูกกันร่วมเดินทางมาด้วยกันแต่ไม่มีเจตนาคบคิดกันที่จะใช้ อาวุธปืนที่จำเลยที่ 1 นำติดตัวมาไปยิงทำร้ายผู้ใดมาก่อน เป็นเรื่องที่มิได้คาดคิด การที่จำเลยที่ 2 พูดว่า ยิงเลยยิงเลย เป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดด้วยการยุยงส่งเสริม จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 84
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกระทำความผิดด้วยกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 84 จึงแตกต่างกับคำฟ้องในสาระสำคัญตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง จะลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดไม่ได้แต่การกระทำของจำเลยที่ 2 ถือได้ว่า เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 86 ด้วยศาลฎีกาลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8583/2550
จำเลยดันรถจักรยานยนต์ไปชนกับรถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายนั่งซ้อนมาจนล้มลง เพื่อให้พวกของจำเลยรุมทำร้ายผู้เสียหายจนผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บสาหัส จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4204/2550
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 คำว่า "ผู้ใดออกเช็ค" มิได้มีความหมายเฉพาะผู้ออกเช็คในฐานะผู้สั่งจ่ายเท่านั้นที่จะเป็นผู้กระทำ ความผิดได้ บุคคลอื่นแม้มิใช่ผู้สั่งจ่ายก็อาจร่วมกระทำความผิดกับผู้ออกเช็คโดยเป็นตัว การร่วมกันตาม ป.อ. มาตรา 83 ได้ ดังนั้น ผู้สลักหลังเช็คจึงอาจเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับผู้ออกเช็คได้ พฤติการณ์ฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาท โดยจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้ออกเช็คพิพาทและจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นตัวการร่วมกันออกเช็คพิพาทชำระหนี้ให้โจทก์ เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินด้วยเหตุมีคำสั่งให้ระงับการจ่าย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3611/2550
ผู้เสียหายและ ว. ไปเที่ยวงานวัด แต่การจราจรติดขัด ว. จอดรถจักรยานยนต์รออยู่บนถนน ขณะเดียวกัน ณ. วิ่งมาต่อยหน้าผู้เสียหาย 1 ครั้ง ผู้เสียหายวิ่งหนีจำเลย น. และ ย. วิ่งไล่ตาม ณ. ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย 1 นัด ผู้เสียหายวิ่งไปได้ 30 เมตรก็หมดแรงล้มลง จำเลย ณ. น. และ ย. เข้าไปรุมทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย โดยจำเลยใช้อาวุธมีดดาบฟันผู้เสียหาย ผู้เสียหายยกมือทั้งสองข้างกันไว้ จึงถูกคมมีด พวกจำเลยรุมเตะผู้เสียหาย แต่มีคนช่วยผู้เสียหายหลบหนีไปได้ ดังนั้น การที่ผู้เสียหายไปเที่ยวงานวัดแล้วพบ ณ. กับจำเลยและพวกนั้นน่าจะเป็นเหตุบังเอิญ และที่ ณ. เข้าไปชกทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทันทีและต่อมาก็ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย นั้นเป็นการกระทำและตัดสินใจของ ณ. โดยลำพัง ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้สมคบกระทำการดังกล่าวกับ ณ. จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในผลการกระทำดังกล่าวร่วมกับ ณ. แต่จำเลยต้องรับผิดเฉพาะผลการกระทำของตน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1367/2550
นับแต่เวลาที่จำเลยที่ 5 เข้าแย่งมีดจากผู้ตาย จนกระทั่งผู้ตายถูกจำเลยที่ 6 ใช้อาวุธปืนยิงถึงแก่ความตายไม่ปรากฏว่ามีผู้อื่นเข้าทำร้ายผู้ตายอีก บาดแผลของผู้ตายที่เกิดจากการถูกแทงด้วยของมีคมจึงต้องเกิดจากการกระทำของ จำเลยที่ 5 ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 5 และที่ 6 ที่ระบุว่าจำเลยที่ 5 เป็นคนใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายก่อนที่จำเลยที่ 6 จะใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจนถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นจำเลยที่ 5 และที่ 6 จึงได้รีบพากันหลบหนีไปด้วยกันโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ ทำให้เชื่อได้ว่าเหตุการณ์เป็นไปตามคำให้การของจำเลยที่ 5 และที่ 6 ในชั้นสอบสวน ซึ่งให้การหลังเกิดเหตุเพียง 2 วัน ยิ่งกว่าจะเป็นไปตามคำเบิกความหลังเกิดเหตุนานถึง 3 ปี การที่จำเลยที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายและใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจนถึงแก่ความตายแล้วรีบ พากันหลบหนีไปด้วยกัน แสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 5 และที่ 6 มีเจตนาร่วมกันฆ่าผู้ตาย จำเลยที่ 5 จึงเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 6 กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ว่า ร่วมกันว่าจ้างจำเลยที่ 5 และที่ 6 ให้ฆ่าผู้ตาย ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 โจทก์มิได้อุทธรณ์ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ถึงที่สุดแล้ว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ว่าจ้างให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 ไปฆ่าผู้ตาย โจทก์คงมีเพียงบันทึกคำให้การในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 5 และที่ 6 ที่ให้การรับสารภาพว่า จำเลยที่ 5 และที่ 6 รับจ้างจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้ไปฆ่าผู้ตาย ซึ่งเป็นพยานบอกเล่ามีน้ำหนักรับฟังน้อย และโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นรับฟังประกอบบันทึกคำให้การดังกล่าวกรณีจึงไม่ อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 5 และที่ 6 ได้รับจ้างจากผู้อื่นให้ไปฆ่าผู้ตายและพยานหลักฐานโจทก์เท่าที่นำสืบมาไม่มี น้ำหนักมั่นคงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 5 และที่ 6 เตรียมวางแผนฆ่าผู้ตายไว้ล่วงหน้าอันจะเป็นการกระทำความผิดโดยไตร่ตรองไว้ ก่อน การกระทำของจำเลยที่ 5 และที่ 6 จึงเป็นเพียงความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 เท่านั้น

ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 5 รู้มาก่อนว่าจำเลยที่ 6 พาอาวุธปืนติดตัวมาด้วยและจะใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย จำเลยที่ 6 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า จำเลยที่ 5 เพียงแต่ร่วมฆ่าผู้ตายโดยใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายอันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในฉับพฉันนั้นเอง ส่วนการที่จำเลยที่ 5 และที่ 6 หลบหนีไปด้วยกัน ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 5 มีส่วนร่วมกับการมีและพาอาวุธปืนของจำเลยที่ 6 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 954/2550
จำเลย ที่ 2 เดินทางไปในที่เกิดเหตุพร้อมกับจำเลยที่ 1 ตามเวลาที่จำเลยที่ 1 นัดส่งมอบยาเสพติดให้โทษแก่สายลับโดยจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 เดินทางไปหาสายลับด้วยกัน ขณะที่จำเลยที่ 1 และสายลับส่งมอบสิ่งของให้แก่กันจำเลยที่ 2 ก็อยู้ด้วย เมื่อถูกจับจำเลยที่ 2 ก็ให้การรับสารภาพทันที แม้จะค้นไม่ได้ของกลางจากจำเลยที่ 2 เลยก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์จำเลยที่ 2 อยู่ในเหตุการณ์มาโดยตลอดถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6377/2549
ข้อเท็จจริงที่เจ้าพนักงานตำรวจค้นไม่ได้ของกลางจากตัวจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ก็ประกอบอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้างเป็นปกติ การกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ที่เพียงช่วยขับรถจักรยานยนต์ไปส่งจำเลยที่ 1 ตามที่รับจ้าง ซึ่งแม้จะรู้ถึงความผิดที่จำเลยที่ 1 กระทำโดยได้รับค่าจ้างเป็นพิเศษ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นแต่เพียงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ที่มีการกระทำถึงขั้นเป็นตัวการ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงคงเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนซึ่งต้องระวางโทษเพียงสองในสามส่วนของ โทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้นตาม ป.อ. มาตรา 86

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5318/2549
จำเลยจ้างให้บุคคลที่ไม่รู้มาก่อนว่าที่ดินบริเวณที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ป่าสงวน แห่งชาติ ให้นำรถไถไปไถที่ดินบริเวณดังกล่าว จึงไม่ใช่เป็นการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด เพราะผู้ถูกใช้ไม่รู้ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด แต่เป็นการใช้บุคคลเหล่านั้นเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด ถือว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดเองโดยอ้อม จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14 และมาตรา 31 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8701/2547
จำเลยทั้งสองวางแผนลวงโจทก์ร่วมไปในที่เกิดเหตุ แล้วจำเลยที่ 1 กระชากคอเสื้อโจทก์ร่วมลงมาจากรถและร้องบอกจำเลยที่ 2 ว่ามาแล้ว จำเลยที่ 2 จึงเดินออกมาจากข้างทาง เมื่อโจทก์ร่วมปฏิเสธไม่ยอมถอดเสื้อผ้าตามคำสั่ง จึงถูกจำเลยที่ 1 ต่อยท้องและใบหน้าหลายครั้งจนล้มคว่ำ จำเลยที่ 2 ร้องบอกว่า "เอามันให้สลบก่อน" จากนั้นจำเลยทั้งสองจึงรุมเตะทำร้ายโจทก์ร่วมจนกระทั่งสิ้นสติไป จำเลยทั้งสองเพียงแต่ใช้หมัดและเท้าทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วม ไม่ปรากฏว่ามีการใช้อาวุธหรือเลือกทำร้ายโจทก์ร่วมตรงบริเวณที่เป็นอวัยวะ สำคัญอันอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ ทั้งที่มีกำลังคนและแรงกายภาพเหนือกว่าอยู่ในทำเลปลอดคน กับมีเวลาและโอกาสที่จะเลือกกระทำแก่โจทก์ร่วมได้ตามอำเภอใจ บาดแผลที่โจทก์ร่วมถูกทำร้ายไม่ร้ายแรงจนทำให้ถึงแก่ความตายได้ แสดงว่าจำเลยทั้งสองมีเพียงเจตนาทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมเท่านั้น จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจนได้ รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 298

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6742/2547
การที่จำเลยซึ่งอยู่ในฝั่งประเทศไทยตะโกนข้ามแม่น้ำเหืองที่กั้นพรมแดนระหว่าง ประเทศไทยกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนและกัญชาจากพวกของจำเลยที่ยืนอยู่ที่ฝั่งลาว โดยจำเลยไม่ได้เดินทางออกนอกประเทศ แม้พวกของจำเลยจะนำเมทแอมเฟตามีนและกัญชาดังกล่าวข้ามเขตมามอบให้ก็น่าจะ เป็นเพราะจำเลยสั่งซื้อ ถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ก่อให้พวกของจำเลยนำเข้าซึ่งยาเสพติดให้โทษตาม ป.อ. มาตรา 84 มิใช่เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดด้วยกันตามมาตรา 83 ดังที่โจทก์ฟ้อง ซึ่งเป็นการแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ ย่อมลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดไม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสอง แต่การตะโกนสั่งซื้อของจำเลยดังกล่าวถือได้ว่าเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับ สนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86 ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3336 - 3337/2547
บทบัญญัติใน ป.อ. มาตรา 84 หมายความว่า ผู้ใช้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดโดยผู้ถูกใช้รู้ว่าการกระทำตามที่ถูกใช้ เป็นความผิด หากผู้ถูกใช้กระทำความผิดตามที่ถูกใช้ ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ หากผู้ถูกใช้ไม่กระทำผิดตามที่ถูกใช้ ผู้ใช้ต้องรับโทษหนึ่งในสามของโทษที่กำหนด คดีนี้ บ. เป็นนักการภารโรงไม่มีส่วนได้เสียในบัญชีเงินกู้และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างหรือให้ประโยชน์แก่ บ. ในการเผาทำลายบัญชีเงินกู้ จึงไม่มีเหตุที่ บ. ต้องเผาบัญชีเงินกู้ หาก บ. ทราบว่าการเผาทำลายบัญชีเงินกู้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย บ. ก็คงไม่กระทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 เนื่องจาก บ. อาจต้องรับโทษโดยที่ตนเองไม่ได้ประโยชน์ แต่ บ. ยอมเผาบัญชีเงินกู้ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาคงเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งที่ชอบ ด้วยกฎหมายของผู้บังคับบัญชา การที่จำเลยที่ 1 สั่งให้ บ. เผาบัญชีเงินกู้นั้น จึงไม่ใช่เป็นการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด เพราะ บ. ผู้ถูกใช้ไม่รู้ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด แต่เป็นการที่จำเลยที่ 1 ใช้ บ. เป็นเครื่องมือของจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิด ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดเองโดยอ้อม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 433/2546
การฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน หมายความว่า ก่อนทำการฆ่าผู้กระทำผิดได้คิดไตร่ตรองทบทวนแล้วจึงตกลงใจกระทำความผิด ไม่ใช่กระทำไปโดยปัจจุบันทันด่วนเพราะเมาสุราหรือบันดาลโทสะ การไตร่ตรองไว้ก่อนเป็นเหตุเกี่ยวกับเจตนาส่วนตัวของผู้กระทำผิด ผู้ร่วมกระทำผิดที่มิได้ไตร่ตรองไว้ก่อนไม่มีความผิดด้วยเพราะกฎหมายมุ่งถึง การไตร่ตรองไว้ก่อนซึ่งเป็นสภาพจิตใจของแต่ละคน การจะเป็นตัวการร่วมกันฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจึงต้องมีลักษณะเป็น การวางแผนการคบคิดกันมาแต่ต้นที่จะไปฆ่าผู้อื่น หรือด้วยการใช้จ้างวาน หรือไปดักฆ่าผู้อื่นโดยมีพฤติการณ์ร่วมกันมาแต่ต้น แต่การที่จำเลยที่ 1 ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ตายมาก่อน และเป็นญาติพี่น้องกับผู้ตาย ทั้งก่อนเกิดเหตุได้มีการดื่มสุรากันโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ร่วมวางแผนกับจำเลยที่ 2มาก่อน การที่จำเลยที่ 1 ร่วมไปฆ่าผู้ตายจึงเป็นการตัดสินใจในทันทีทันใดลักษณะตกกระไดพลอยโจนมากกว่า ดังนี้ จำเลยที่ 1 คงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 เท่านั้นไม่เป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3611/2528
แม้ ล.กับ ป.พยานโจทก์จะมีพฤติการณ์เป็นผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกัน กับจำเลยแต่เมื่อโจทก์ได้กันส.กับ ป.ไว้เป็นพยานคำเบิกความของ พยานทั้งสองปากดังกล่าวอาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้แต่มี น้ำหนักน้อยมิใช่ว่าจะรับฟังไม่ได้เสียเลยทีเดียวถ้าโจทก์มีพยานอื่น ประกอบก็รับฟังลงโทษจำเลยได้ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 401/2496,1769/2509 และ 2001/2514) จำเลยได้ใช้ให้ ส.ฆ่าว. ผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนโดยได้มอบ อาวุธปืนของกลางให้ ส.นำไปหาโอกาสยิงว.ผู้ตายแม้ส.ยังมิได้กระทำผิด เพราะไม่มีโอกาสฆ่าผู้ตายการกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) ประกอบกับมาตรา 85วรรคสอง จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) ประกอบด้วยมาตรา84 วรรคสองซึ่งต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสาม ของโทษที่กำหนดไว้นั้นให้ลดโทษประหารชีวิตหนึ่งในสามเป็นจำคุก ตลอดชีวิตตามมาตรา 52(1) และให้เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิต อันเป็นโทษสองในสามของโทษประหารชีวิตเป็นจำคุก 50 ปีตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 ซึ่งต้องลงโทษเพียงหนึ่งในสาม ของโทษประหารชีวิตคือกึ่งหนึ่งของโทษจำคุก50 ปี จึงเป็นโทษ จำคุก 25 ปี (โปรดดูคำพิพากษาฎีกาที่ 91/2510 ประชุมใหญ่)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4941/2528
จำเลย ที่ 1 ที่ 2 เป็นหญิงโสเภณี โกรธแค้น ว. และบ. ผู้ตาย เรื่องจะสับเปลี่ยนคู่นอนร่วมประเวณี จึงมาเล่าเรื่องและขอให้จำเลยที่ 3 กับพวกไปช่วยสั่งสอนให้หน่อยซึ่งหมายถึงการทำร้ายให้เจ็บตัวเพียงเพื่อ สั่งสอนเท่านั้นหาได้มีเจตนามุ่งหมายถึงกับจะฆ่าให้ตายไม่ ทั้งนี้โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 ก็ร่วมไปยังที่เกิดเหตุกับจำเลยที่3 กับพวกด้วย เพื่อชี้ตัวให้ดูว่าใครคือ ว. และ บ.การที่จำเลยที่ 3 กระทำรุนแรง ถึงขั้นเจตนาฆ่าโดยใช้มีดแทง บ. ผู้ตายถึงแก่ความตาย ย่อมเป็นการเกินเลยไปจากขอบเขตที่ใช้ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 จำเลยที่ 1 ที่2 ต้องรับผิดทางอาญาเพียงสำหรับความผิดเท่าที่อยู่ในขอบเขตที่ใช้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 87 แต่เมื่อการทำร้าย บ. ผู้ตาย เกิดผลรุนแรงถึงตายดังกล่าวจำเลยที่ 1ที่ 2 ย่อมต้องรับผิดฐาน ทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้คนตายตาม มาตรา 290 เพราะการตาย เป็นผลธรรมดาอันย่อมเกิดขึ้นได้จากการทำร้ายตามที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ใช้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงมีความผิดตามมาตรา 290,84ประกอบด้วย มาตรา 87 วรรคสอง หมายเหตุ ประชุมใหญ่ครั้งที่ 13/2528