วิธีเพิ่มโทษ ลดโทษ และรอการลงโทษ

มาตรา ๕๑  ในการเพิ่มโทษ มิให้เพิ่มขึ้นถึงประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกเกินห้าสิบปี

มาตรา ๕๒ ในการลดโทษประหารชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการลดมาตราส่วนโทษหรือลดโทษที่จะลง ให้ลดดังต่อไปนี้
(๑) ถ้าจะลดหนึ่งในสามให้ลดเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต
(๒) ถ้าจะลดกึ่งหนึ่ง ให้ลดเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือโทษจำคุกตั้งแต่ยี่สิบห้าปีถึงห้าสิบปี

มาตรา ๕๓ ในการลดโทษจำคุกตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการลดมาตราส่วนโทษหรือลดโทษที่จะลง ให้เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกห้าสิบปี

มาตรา ๕๔  ในการคำนวณการเพิ่มโทษหรือลดโทษที่จะลง ให้ศาลตั้งกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยเสียก่อนแล้วจึงเพิ่มหรือลด ถ้ามีทั้งการเพิ่มและการลดโทษที่จะลง ให้เพิ่มก่อนแล้วจึงลดจากผลที่เพิ่มแล้วนั้น ถ้าส่วนของการเพิ่มเท่ากับหรือมากกว่าส่วนของการลด และศาลเห็นสมควรจะไม่เพิ่มไม่ลดก็ได้

มาตรา ๕๕  ถ้าโทษจำคุกที่ผู้กระทำความผิดจะต้องรับมีกำหนดเวลาเพียงสามเดือนหรือน้อยกว่า ศาลจะกำหนดโทษจำคุกให้น้อยลงอีกก็ได้ หรือถ้าโทษจำคุกที่ผู้กระทำความผิดจะต้องรับมีกำหนดเวลาเพียงสามเดือนหรือน้อยกว่าและมีโทษปรับด้วย ศาลจะกำหนดโทษจำคุกให้น้อยลง หรือจะยกโทษจำคุกเสีย คงให้ปรับแต่อย่างเดียวก็ได้

มาตรา ๕๖  ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุกหรือปรับ และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปีไม่ว่าจะลงโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตามหรือลงโทษปรับ ถ้าปรากฏว่าผู้นั้น

(๑) ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน หรือ
(๒) เคยรับโทษจำคุกมาก่อนแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ หรือเป็นโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือ
(๓) เคยรับโทษจำคุกมาก่อนแต่พ้นโทษจำคุกมาแล้วเกินกว่าห้าปี แล้วมากระทำความผิดอีก โดยความผิดในครั้งหลังเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

และเมื่อศาลได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ และสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือสภาพความผิด หรือการรู้สึกความผิด และพยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้น หรือเหตุอื่นอันควรปรานีแล้ว ศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษหรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ ไม่ว่าจะเป็นโทษจำคุกหรือปรับอย่างหนึ่งอย่างใดหรือทั้งสองอย่าง เพื่อให้โอกาสกลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลจะได้กำหนดแต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ศาลพิพากษา โดยจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้นั้นด้วยหรือไม่ก็ได้
เงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจกำหนดข้อเดียวหรือหลายข้อตามควรแก่กรณีได้ ดังต่อไปนี้

(๑) ให้ไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานที่ศาลระบุไว้เป็นครั้งคราว เพื่อเจ้าพนักงานจะได้สอบถาม แนะนำ ช่วยเหลือ หรือตักเตือนตามที่เห็นสมควรในเรื่องความประพฤติและการประกอบอาชีพ หรือจัดให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์
(๒) ให้ฝึกหัดหรือทำงานอาชีพอันเป็นกิจจะลักษณะ
(๓) ให้ละเว้นการคบหาสมาคมหรือการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก
(๔) ให้ไปรับการบำบัดรักษาการติดยาเสพติดให้โทษ ความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจ หรือความเจ็บป่วยอย่างอื่น ณ สถานที่และตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด
(๕) ให้เข้ารับการฝึกอบรม ณ สถานที่และตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด
(๖) ห้ามออกนอกสถานที่อยู่อาศัย หรือห้ามเข้าในสถานที่ใดในระหว่างเวลาที่ศาลกำหนด  ทั้งนี้ จะใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางด้วยก็ได้
(๗) ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือเยียวยาความเสียหายโดยวิธีอื่นให้แก่ผู้เสียหายตามที่ผู้กระทำความผิดและผู้เสียหายตกลงกัน
(๘) ให้แก้ไขฟื้นฟูหรือเยียวยาความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพยากรธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อม หรือชดใช้ค่าเสียหายเพื่อการดังกล่าว
(๙) ให้ทำทัณฑ์บนโดยกำหนดจำนวนเงินตามที่ศาลเห็นสมควรว่าจะไม่ก่อเหตุร้าย หรือก่อให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์สิน
(๑๐) เงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดเพื่อแก้ไข ฟื้นฟู หรือป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดกระทำหรือมีโอกาสกระทำความผิดขึ้นอีก หรือเงื่อนไขในการเยียวยาผู้เสียหายตามที่เห็นสมควร

เงื่อนไขตามที่ศาลได้กำหนดตามความในวรรคสองนั้น ถ้าภายหลังความปรากฏแก่ศาลตามคำขอของผู้กระทำความผิด ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้นั้น ผู้อนุบาลของผู้นั้น พนักงานอัยการหรือเจ้าพนักงานว่าพฤติการณ์ที่เกี่ยวแก่การควบคุมความประพฤติของผู้กระทำความผิดได้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อศาลเห็นสมควรศาลอาจแก้ไขเพิ่มเติมหรือเพิกถอนข้อหนึ่งข้อใดเสียก็ได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขข้อใดตามที่กล่าวในวรรคสองที่ศาลยังมิได้กำหนดไว้เพิ่มเติมขึ้นอีกก็ได้ หรือถ้ามีการกระทำผิดทัณฑ์บนให้นำบทบัญญัติมาตรา ๔๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๕๗  เมื่อความปรากฏแก่ศาลเอง หรือความปรากฏตามคำแถลงของพนักงานอัยการหรือเจ้าพนักงานว่า ผู้กระทำความผิดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังที่ศาลกำหนดตามมาตรา ๕๖ ศาลอาจตักเตือนผู้กระทำความผิด หรือจะกำหนดการลงโทษที่ยังไม่ได้กำหนดหรือลงโทษซึ่งรอไว้นั้นก็ได้

มาตรา ๕๘  เมื่อความปรากฏแก่ศาลเอง หรือความปรากฏตามคำแถลงของโจทก์หรือเจ้าพนักงานว่า ภายในเวลาที่ศาลกำหนดตามมาตรา ๕๖ ผู้ที่ถูกศาลพิพากษาได้กระทำความผิดอันมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกสำหรับความผิดนั้น ให้ศาลที่พิพากษาคดีหลังกำหนดโทษที่รอการกำหนดไว้ในคดีก่อนบวกเข้ากับโทษในคดีหลัง หรือบวกโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีหลัง แล้วแต่กรณี

แต่ถ้าภายในเวลาที่ศาลได้กำหนดตามมาตรา ๕๖ ผู้นั้นมิได้กระทำความผิดดังกล่าวมาในวรรคแรก ให้ผู้นั้นพ้นจากการที่จะถูกกำหนดโทษ หรือถูกลงโทษในคดีนั้น แล้วแต่กรณี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6117/2562
สิทธิที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามสัญญาเช่าซื้อไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัว การที่ผู้เสียหายที่ 2 ขอให้จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถกระบะจากผู้เสียหายที่ 1 แทนผู้เสียหายที่ 2 ถือได้ว่า ผู้เสียหายที่ 2 มอบหมายหรือเชิดจำเลยเป็นตัวแทนในการทำสัญญาเช่าซื้อรถกระบะจากผู้เสียหายที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 แม้จำเลยมีชื่อเป็นผู้เช่าซื้อ แต่จำเลยเป็นเพียงตัวแทนของผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองรถที่เช่าซื้อ การที่จำเลยเอารถที่เช่าซื้อไปจากผู้เสียหายที่ 2 เป็นการแย่งการครอบครองและเป็นการบังคับสิทธิทางแพ่งของตนโดยพลการ จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้ว แต่พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องไม่ร้ายแรง หลังเกิดเหตุจำเลยส่งมอบรถคันเกิดเหตุคืนให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี โดยรอการกำหนดโทษไว้ ซึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคม แม้จำเลยไม่ได้กล่าวอ้างปัญหาข้อนี้ในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5073/2562
คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน รวม 2 กระทง กระทงละ 3 ปี 6 เดือน และฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร รวม 2 กระทง กระทงละ 2 ปี 6 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยตามระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด เพียงแต่พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในเรื่องการรวมโทษจำคุกทุกกระทงเท่านั้น อันเป็นการแก้ไขเล็กน้อย จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า ขณะจำเลยกระทำความผิด จำเลยเป็นคนมีจิตบกพร่องไม่สมประกอบ โดยพิการทางจิตใจ หรือพฤติกรรมประเภท 4 แต่ยังสามารถรู้สึกผิดชอบได้บ้างหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง อันพึงลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่กระทำลงตาม ป.อ. มาตรา 65 วรรคสอง หรือลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยนั้น ก็ปรากฏว่าในชั้นพิจารณาจำเลยให้การรับสารภาพ อีกทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยให้เหตุผลไว้โดยละเอียดแล้วว่าไม่ปรากฏชัดว่าการกระทำความผิดของจำเลยเกิดจากอาการทางจิตของจำเลยกำเริบขึ้น ทำให้จำเลยหย่อนความสามารถรู้สึกผิดชอบหรือหย่อนความสามารถบังคับตนเอง กรณีไม่มีเหตุให้ศาลลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่กระทำลงตาม ป.อ. มาตรา 65 วรรคสอง ฎีกาของจำเลยเท่ากับเป็นการขอให้ศาลฎีกาใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานแตกต่างไปจากศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4943/2562
กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดหรือกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 3 นั้น หมายถึงกฎหมายที่บัญญัติถึงการกระทำอันเป็นความผิด หรือบัญญัติถึงกำหนดโทษหรือโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ซึ่งคดีนี้ได้แก่บทบัญญัติความผิดฐานชิงทรัพย์และบทบัญญัติตาม ป.อ. มาตรา 92 โดยศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา 92 ซึ่งขณะจำเลยกระทำความผิดในคดีนี้ ป.อ. มาตรา 94 บัญญัติไม่ให้ถือว่าความผิดซึ่งผู้กระทำได้กระทำในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบเจ็ดปีเป็นความผิดเพื่อการเพิ่มโทษตามความในมาตรา 92 แต่ภายหลัง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2551 มาตรา 8 บัญญัติให้ยกเลิกความในมาตรา 94 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยในมาตรา 94 กฎหมายเดิมและกฎหมายใหม่คงใช้ข้อความทำนองเดียวกันต่างกันแต่เพียงเกณฑ์อายุของผู้กระทำความผิด ซึ่งกฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่ให้ถือว่าความผิดซึ่งผู้กระทำได้กระทำในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีเป็นความผิดเพื่อการเพิ่มโทษตามความในมาตรา 92 หากข้อเท็จจริงเป็นไปดังที่จำเลยอ้างว่าขณะจำเลยกระทำความผิดในคดีของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยมีอายุเพียง 17 ปีเศษ และขณะที่จำเลยกำลังรับโทษในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษคดีนี้ต่อนั้น มีการแก้ไข มาตรา 94 ซึ่งบทกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณกว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด เนื่องจากศาลไม่อาจเพิ่มโทษในคดีนี้ได้นั้น แม้คดีนี้จะถึงที่สุดแล้วก็ตาม แต่ ป.อ. มาตรา 3 (1) บัญญัติให้ศาลกำหนดโทษเสียใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ในกรณีที่จำเลยยังไม่ได้รับโทษหรือกำลังรับโทษในคดีหลังอยู่ถ้าสำนวนความปรากฏแก่ศาลหรือเมื่อผู้กระทำความผิดร้องขอ ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะไต่สวนคำร้องของจำเลยให้ได้ข้อเท็จจริงโดยชัดแจ้งว่าเป็นไปตามที่จำเลยกล่าวอ้างหรือไม่ แล้วมีคำสั่งใหม่ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4515/2562
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยข้อหาเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 4 เดือน และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ ยกฟ้องข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ต่อมาโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 10 ปี 8 เดือน และปรับ 600,000 บาท ส่วนความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนศาลอุทธรณ์คงรอการลงโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อคดีนี้ศาลฎีกาพิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดและลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยให้จำคุกและไม่รอการลงโทษแล้ว จึงเห็นสมควรกำหนดโทษจำเลยสำหรับความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีและการบังคับโทษตามคำพิพากษาโดยไม่ลงโทษจำคุกจำเลยและไม่รอการลงโทษในความผิดฐานนี้ คงให้ลงโทษปรับจำเลยเพียงสถานเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4281/2562
จำเลยเปิดสมุดบัญชีเงินฝากเพื่อให้ ป. ใช้รับโอนเงินค่ายาเสพติดจากลูกค้า จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนหรือช่วยเหลือ ป. ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งการกระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1) ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น จึงต้องระวางโทษจำเลยเช่นเดียวกับ ป. จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3606/2558 ของศาลชั้นต้น เมื่อได้ความว่า การกระทำความผิดของ ป. ต้องด้วยบทกำหนดโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสาม ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต ซึ่งคดีดังกล่าวศาลพิพากษาลงโทษจำคุก ป. ตลอดชีวิต และปรับ 2,000,000 บาท ก่อนเพิ่มโทษและลดโทษกึ่งหนึ่ง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคหนึ่ง และลงโทษจำคุกเพียง 15 ปี จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขโดยปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 อย่างไรก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาแก้ไขโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย อันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3804/2562
คดีนี้แม้ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าการกระทำของจำเลยในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานพยายามฆ่าตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 แต่ศาลอุทธรณ์ก็ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าอันเป็นความผิดต่อชีวิต ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ. มาตรา 90 มิได้ลงโทษและกำหนดโทษจำเลยในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์แต่อย่างใด เช่นนี้จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 93 ได้ แต่เมื่อภายในห้าปีนับแต่วันพ้นโทษคดีก่อน จำเลยกลับมากระทำความผิดคดีนี้ จึงต้องเพิ่มโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 92 และถึงแม้คดีนี้โจทก์จะขอเพิ่มโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 93 ซึ่งเป็นบทหนักมา ศาลก็มีอำนาจเพิ่มโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 92 ซึ่งเบากว่าได้ ไม่เกินคำขอของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2561/2562
คดีนี้และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5614/2549 ของศาลอาญาธนบุรี มีความเกี่ยวพันกันจนอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง การนับโทษต่อจึงต้องอยู่ในบังคับของ ป.อ. มาตรา 91 (3) กล่าวคือ ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษหรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินห้าสิบปี เมื่อปรากฏว่าในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 49 ปี 4 เดือน จึงนับโทษจำคุกคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4614/2549 ของศาลอาญาธนบุรีได้ แต่เมื่อรวมทุกกระทงแล้วต้องจำคุกไม่เกินห้าสิบปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 579/2562
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ก่อนคดีนี้จำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกในความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยพ้นโทษในคดีดังกล่าวแล้วกลับมากระทำความผิดเป็นคดีนี้ภายในเวลาห้าปี นับแต่วันพ้นโทษ ขอให้เพิ่มโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 92 โดยโจทก์แนบรายการประวัติอาชญากรของจำเลยมากับคำฟ้อง คำฟ้องของโจทก์จึงมีรายละเอียดเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจได้ดี เมื่อศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ย่อมถือได้ว่าจำเลยรับว่าได้กระทำความผิดจริงและหมายความรวมถึงรับข้อเท็จจริงว่าจำเลยเคยต้องโทษและพ้นโทษในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษด้วย การสอบถามคำให้การจำเลยจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบ คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยให้ลงโทษจำเลยและเพิ่มโทษจำเลยจึงเป็นคำพิพากษาที่ชอบ ส่วนที่ศาลชั้นต้นคำนวณจำนวนวันและเดือนเพิ่มโทษจำเลยน้อยกว่าความเป็นจริงและไม่ถูกต้องเป็นเรื่องความผิดพลาดในการคำนวณโทษ เมื่อโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ย่อมแก้ไขให้ถูกต้องได้ แต่ศาลอุทธรณ์ไม่แก้ไขโทษที่ศาลชั้นต้นคำนวณโทษที่เพิ่มผิดพลาด กลับพิพากษาไม่เพิ่มโทษจำเลยโดยยกคำร้องขอเพิ่มโทษ เมื่อโจทก์ฎีกาขอให้ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่สอบถามคำให้การจำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี แม้ไม่ได้ขอให้ศาลฎีกาเพิ่มโทษจำเลยโดยตรงก็ตาม แต่เห็นได้ว่าฎีกาโจทก์ประสงค์ให้เพิ่มโทษจำเลยให้ถูกต้องตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์นั่นเอง จึงแปลได้ว่าโจทก์ฎีกาในทำนองขอให้เพิ่มเติมโทษแก่จำเลยแล้ว ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาแก้ไขเพิ่มโทษจำเลยให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8343/2561
คดีที่มีคำขอท้ายฟ้องให้นับโทษต่อจากโทษของจำเลยในคดีนี้ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย และพิพากษาถึงส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อจากโทษในคดีดังกล่าวว่า คดีที่ขอให้นับโทษต่อนั้น ศาลมีคำพิพากษาภายหลัง จึงนับโทษต่อให้ไม่ได้ ตามสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แนบท้ายฎีกาของโจทก์ จำเลยไม่ได้แก้ฎีกาว่าสำเนาคำพิพากษาดังกล่าวไม่ถูกต้อง จึงแสดงให้เห็นว่าการพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวมีขึ้นก่อนคดีนี้ ระหว่างการพิจารณาคดีนี้ของศาลอุทธรณ์จึงปรากฏข้อเท็จจริงต่อศาลอุทธรณ์แล้วว่าคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยแล้ว จึงต้องนับโทษคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ไม่นับโทษต่อให้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7503/2561
สำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งพ้นโทษในคดีก่อนเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2554 นับถึงวันกระทำความผิดคดีนี้แม้จะเกินกว่า 5 ปีก็ตาม แต่เมื่อมากระทำความผิดคดีนี้ซึ่งไม่ใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ จึงไม่อยู่ในเงื่อนไขตาม ป.อ. มาตรา 56 ที่จะรอการกำหนดโทษให้ได้ ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งพ้นโทษในคดีก่อนเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2556 และกลับมากระทำความผิดในคดีนี้อีกเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 จึงยังพ้นโทษมาไม่เกิน 5 ปี ทั้งความผิดในคดีก่อนคือคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 837/2552 ของศาลจังหวัดนางรอง และความผิดคดีนี้ต่างก็ไม่ใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ โดยโทษจำคุกในคดีก่อนมีกำหนด 5 ปี 3 เดือน ซึ่งเป็นโทษจำคุกเกินกว่า 6 เดือน กรณีของจำเลยที่ 2 จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรอการกำหนดโทษให้ได้เช่นเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7264/2561
ตาม ป.อ. มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) บัญญัติว่า ถ้าปรากฏว่าผู้นั้น (1) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน... ศาลจะรอการลงโทษผู้นั้นไว้ก็ได้ นั้น หมายถึงว่า จำเลยไม่ได้รับโทษจำคุกมาก่อนคดีที่ศาลกำลังจะพิพากษา ซึ่งมาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) มิได้ระบุว่าคดีที่จำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อนนั้น ต้องเป็นการกระทำความผิดมาก่อนคดีเรื่องหลัง เมื่อจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและเป็นโทษในความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นโทษจำคุกเกินกว่าหกเดือนและมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตาม ป.อ. มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) ที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4344/2561
คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพทุกข้อหาตามฟ้องโจทก์ ในระหว่างนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้อง ขอให้บวกโทษจำคุกที่ศาลรอการลงโทษไว้ในคดีก่อน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์เพิ่มเติมฟ้อง โดยศาลชั้นต้นไม่ได้สอบถามและโจทก์ไม่ได้นำสืบให้ได้ความว่าจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีก่อนที่โจทก์ขอให้บวกโทษ การที่ศาลชั้นต้นนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนบวกเข้ากับโทษในคดีนี้ของจำเลยจึงไม่ถูกต้อง แต่ในชั้นอุทธรณ์ จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการลงโทษจำคุกของศาลชั้นต้น โดยขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุก และในชั้นฎีกาโจทก์ฎีกาขอให้นำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ โดยได้แนบคำพิพากษาในคดีก่อนที่ขอให้บวกโทษมาท้ายฎีกาด้วย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาและส่งสำเนาให้จำเลยแก้ฎีกาแล้ว แต่จำเลยไม่ยื่นคำแก้ฎีกาภายในกำหนดคัดค้านว่าคำพิพากษาที่ขอให้บวกโทษแนบท้ายฎีกาของโจทก์ดังกล่าวไม่ถูกต้องแต่อย่างใด กรณีถือได้ว่าจำเลยได้ยอมรับในข้อที่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีก่อนที่ขอให้บวกโทษ และความได้ปรากฏแก่ศาลแล้ว เมื่อคดีก่อนที่ขอให้บวกโทษศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด จำเลยกลับมากระทำความผิดในคดีนี้ ภายในกำหนดระยะเวลาที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อน ศาลฎีกาจึงย่อมมีอำนาจนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2543/2561
ภายหลังจากที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ ปรากฏว่าในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั้น ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลย 4 ปี 3 เดือน และปรับ 266,666.67 บาท และคดีเป็นอันถึงที่สุดไปแล้ว กรณีของจำเลยจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ ตาม ป.อ. มาตรา 56 ที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2164/2561
เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลชั้นต้นต้องลดโทษแต่ละกระทงก่อนแล้วจึงรวมโทษ เพราะ ป.อ. มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติว่า "หากกำหนดโทษจำคุกเป็นเดือน ให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน..." การกำหนดโทษ 12 เดือน จึงเท่ากับ 360 วัน แต่หากรวมโทษทุกกระทงเป็นจำคุก 2 ปี แล้วจึงลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี ย่อมเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากกว่า
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2561)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1497/2561
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 32, 33, 80, 83, 91, 138, 140, 289, 358 พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ จำเลยให้การรับสารภาพ และศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยเกี่ยวกับความผิดที่จำเลยกระทำในคำพิพากษาไว้ชัดเจนว่า จำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีหรือใช้อาวุธปืนกับร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด นอกจากนี้จำเลยกับพวกยังร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนกับร่วมกันทำให้เสียทรัพย์เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดเป็นกระทงแรก จำเลยกับพวกยังร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนกับร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนโดยพลาด เป็นการกระทำกรรมเดียวให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเพียงบทเดียวเป็นกระทงที่สอง และจำเลยกับพวกร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเป็นกระทงที่สาม ซึ่งศาลชั้นต้นระวางโทษตาม ป.อ. มาตรา 138 วรรคสอง ประกอบมาตรา 140 วรรคสาม, 289 (2) ประกอบมาตรา 80, มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 358 มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 กับมาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 60 และมาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 ตามลำดับความผิดข้างต้น เมื่อจำเลยอายุ 17 ปีเศษ กรณีไม่อาจระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตจำเลยได้ ตาม ป.อ. มาตรา 18 วรรคสอง ต้องเปลี่ยนระวางโทษเป็นห้าสิบปี ตาม ป.อ. มาตรา 18 วรรคสาม ดังนั้น เมื่อเป็นการพยายามกระทำความผิดต้องระวางโทษกระทงละ 33 ปี 4 เดือน ซึ่งจะต้องลดมาตราส่วนโทษให้แก่จำเลยตามมาตรา 75 กึ่งหนึ่ง และเมื่อลดมาตราส่วนโทษให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่ง แล้วคงลงโทษได้กระทงละ 16 ปี 8 เดือน การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยโดยไม่ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งแล้วจำคุก 25 ปี จึงเป็นการระวางโทษตามความผิดสำเร็จโดยไม่ได้ระวางโทษฐานพยายาม กรณีถือได้ว่าเป็นการพิพากษาโดยผิดหลง เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดโทษเสียใหม่ ชอบที่ศาลชั้นต้นจะแก้ไขคำพิพากษาให้ถูกต้องเพื่อการบังคับคดีตามคำพิพากษาเมื่อจำเลยปฏิบัติผิดเงื่อนไขที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษจำเลยไว้ได้ ทั้งนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 415/2561
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง 57, 67, 91 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง ลดมาตราส่วนโทษและลดโทษกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 5 เดือน และปรับ 7,000 บาท อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 9 จังหวัดสงขลา ขั้นต่ำ 6 เดือน ขั้นสูง 9 เดือน นับแต่วันมีคำพิพากษา หากจำเลยอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์แล้วยังเหลือระยะเวลาฝึกอบรมเท่าใด ให้ส่งจำเลยไปจำคุกในเรือนจำ หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 9 จังหวัดสงขลา แทนค่าปรับแต่ไม่เกินหนึ่งปี ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 145

โจทก์ยื่นคำร้องว่า พ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาที่จำเลยจะต้องชำระค่าปรับต่อศาลแล้ว แต่จำเลยยังไม่ชำระค่าปรับ ขอให้ออกหมายบังคับคดี นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านการใช้ดุลพินิจของศาลชั้นต้นส่วนนี้ว่าไม่ชอบอย่างไร ทั้งมาตรา 145 เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อใช้กับเด็กหรือเยาวชนที่ต้องโทษปรับ ไม่ว่าจะมีโทษจำคุกด้วยหรือไม่ก็ตาม โดยบัญญัติชัดแจ้งว่า ถ้าเด็กหรือเยาวชนไม่ชำระค่าปรับ ห้ามมิให้ศาลกักขังเด็กหรือเยาวชนแทนค่าปรับ แต่ให้ศาลส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมตามเวลาที่ศาลกำหนด แต่ต้องไม่เกิน 1 ปี เท่ากับเจตนารมณ์ของมาตราดังกล่าวเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบังคับคดีในการชำระค่าปรับแก่เด็กหรือเยาวชนที่ไม่มีเงินชำระค่าปรับว่าให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนคือการส่งฝึกอบรมเท่านั้น หาใช่ใช้การกักขังแทนค่าปรับ หรือมุ่งบังคับในทางทรัพย์สินของเด็กและเยาวชนแต่อย่างใด จึงเป็นบทบัญญัติที่ยกเว้น มาตรา 29 หาจำต้องใช้มาตราดังกล่าวแก่จำเลยตามฎีกาของโจทก์ไม่

เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาถึงวิธีการบังคับโทษปรับจำเลยไว้ว่า หากไม่ชำระค่าปรับ ให้ส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมแทนค่าปรับไม่เกินหนึ่งปี ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 145 วรรคหนึ่งแล้ว จึงไม่มีกรณีต้องนำมาตรา 145 วรรคสอง ที่บัญญัติให้นำมาตรา 30/1, 30/2 และ 30/3 แห่ง ป.อ. มาใช้บังคับโดยอนุโลมในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนต้องโทษปรับแต่ไม่มีเงินชำระค่าปรับมาใช้แต่อย่างใด

ทั้ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 21 บัญญัติว่า ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษปรับ ให้พนักงานอัยการร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี เพื่อตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องโทษแทนค่าปรับได้ และไม่กระทบต่อการที่ศาลขังผู้ต้องโทษแทนค่าปรับ เมื่อจำเลยมิได้ชำระค่าปรับและยังมิได้ถูกกักขัง โจทก์จึงสามารถขอออกหมายบังคับคดีได้ ศาลฎีกา เห็นว่า มาตรา 21 วรรคสาม ดังกล่าวหมายถึง กรณีกักขังแทนค่าปรับตาม ป.อ. มาตรา 29 แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็ก คือหากไม่ชำระค่าปรับ ให้ส่งจำเลยไปฝึกอบรมแทนค่าปรับ ตามพ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โดยเฉพาะ กรณีจึงไม่อาจนำวิธีพิจารณาคดียาเสพติดมาตราดังกล่าวมาใช้บังคับได้ แม้ว่าจำเลยจะยังมิได้ชำระค่าปรับ และมิได้ถูกฝึกอบรมแทนค่าปรับ ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของโจทก์จึงชอบแล้ว

อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยเป็นส่งตัวไปฝึกอบรมมีกำหนดขั้นต่ำ 6 เดือน ขั้นสูง 9 เดือน นับแต่วันพิพากษา หากจำเลยอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์แล้วยังเหลือระยะเวลาฝึกอบรมเท่าใด ให้ส่งจำเลยไปจำคุกในเรือนจำ หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 จังหวัดสงขลา แทนค่าปรับแต่ไม่เกินหนึ่งปีนั้น ไม่ชัดเจนเรื่องระยะเวลาจำคุกต่อ และระยะเวลาฝึกอบรมแทนค่าปรับ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ชัดเจน หากจำเลยอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ก่อนกำหนดเวลาฝึกอบรมขั้นต่ำ โดยเห็นควรให้ส่งจำเลยไปจำคุกในเรือนจำเท่าระยะเวลาฝึกอบรมขั้นต่ำที่เหลือ

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 11/2560)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11/2561
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยว่า ภายในเวลาที่ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีรอการลงโทษให้จำเลยไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 465/2557 จำเลยได้กระทำความผิดคดีนี้อีก และคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นให้ลงโทษจำคุกจำเลย 4 เดือน โดยไม่ลงโทษปรับ ไม่คุมความประพฤติจำเลยและไม่รอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์จึงต้องนำโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน ของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีดังกล่าวมาบวกเข้ากับโทษของจำเลยคดีนี้ การที่ศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาให้นำโทษจำคุกของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 465/2557 ของศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี มาบวกเข้ากับโทษจำคุกของจำเลยคดีนี้ด้วยนั้นเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7758 - 7759/2560
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 มีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 75 จำคุก 16 ปี 8 เดือน และลดโทษให้จำเลยที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ตามมาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 คนละ 11 ปี 1 เดือน 10 วัน เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 ไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมมีกำหนดขั้นต่ำ 3 ปี 6 เดือน ขั้นสูง 5 ปี หากอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ยังฝึกอบรมไม่ครบตามกำหนดเวลาให้ส่งไปจำคุกในเรือนจำมีกำหนดตามระยะเวลาขั้นต่ำที่เหลืออยู่ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นอันตรายสาหัสและมีผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย ตาม ป.อ. มาตรา 295, 297 (8) ประกอบมาตรา 83 ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่งตามมาตรา 75 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับอันตรายสาหัสซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 คงจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน ลดโทษให้จำเลยที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 คนละหนึ่งในสามตามมาตรา 78 คงจำคุกคนละ 12 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี คุมความประพฤติตลอดเวลาดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 ไม่เกินสองปีและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังคงลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 ไม่เกินกำหนดที่ว่า ต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 219 ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 มีเจตนาร่วมกันพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ในปัญหานี้มาโดยไม่มีความเห็นแย้งของผู้พิพากษาที่พิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาทำความเห็นแย้งหรือรับรองให้ฎีกาหรืออัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา ย่อมเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5501/2560
ขณะศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จำเลยได้รับโทษจำคุก 14 ปี 12 เดือน ตามคดีหมายเลขแดงของศาลอาญา ในความผิดต่อ พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน และความผิดเกี่ยวกับเอกสาร และได้พ้นโทษในเดือนสิงหาคม 2557 ก่อน โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรอการลงโทษจำคุก ตาม ป.อ. มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3345/2560
เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยแล้วเห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดียังไม่สมควรลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราขั้นต่ำตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 แต่เห็นสมควรลงโทษจำเลยเบากว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ และลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 76 ซึ่งความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อศาลอุทธรณ์ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามแล้ว คงระวางโทษที่จะลงแก่จำเลยจำคุกตั้งแต่สี่เดือนถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่หกพันหกร้อยหกสิบหกบาทหกสิบหกสตางค์ถึงสี่หมื่นบาท ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 76 แล้วจำคุก 3 เดือน เป็นการลงโทษจำคุกจำเลยต่ำกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2385/2560
การที่จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถขับรถบรรทุกสิบล้อ อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของผู้อื่นที่ใช้เส้นทางเดินรถร่วมกับจำเลยได้ทุกขณะเพราะอาการมึนเมาเมทแอมเฟตามีนย่อมทำให้ขาดสติไม่สามารถใช้ความระมัดระวังในการขับรถได้อย่างเต็มที่ดังเช่นในภาวะที่มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนหรือมีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัวหรือมีเหตุอื่นก็ตาม ก็มิใช่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1095 - 1096/2560
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดต่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 โดยแยกฟ้องเป็นสองสำนวน และมีคำขอให้นับโทษของจำเลยแต่ละสำนวนต่อกัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมพิจารณาคดีทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกัน การกระทำของจำเลยในแต่ละสำนวนจึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 โดยเรียงกระทงลงโทษจำเลยในสำนวนแรก จำคุก 25 ปี และปรับ 1,000,000 บาท และสำนวนที่สองจำคุก 25 ปี และปรับ 1,000,000 บาท จึงเป็นการนับโทษจำคุกของจำเลยทุกกระทงในสองสำนวนติดต่อกันแล้ว แม้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกคำขอให้นับโทษต่อ ก็เป็นเพียงการพิพากษาเกินเลยไปเท่านั้น ไม่ทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ถูกต้องจนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องอุทธรณ์แต่อย่างใด เมื่อศาลชั้นต้นนับโทษต่อกันแล้วจึงต้องรวมโทษทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกัน และนำโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ. 2372/2555 มาบวกเข้ากับโทษจำคุกดังกล่าวด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6065/2559
แม้ ป.อ. มาตรา 74 (3) กำหนดให้ศาลมีอำนาจที่จะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมประพฤติเด็ก ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 56 โดยมาตรา 56 (5) กำหนดให้ศาลสามารถกำหนดเงื่อนไขอื่นๆ ตามที่ศาลเห็นสมควร แต่เงื่อนไขดังกล่าว ย่อมต้องเป็นไปเพื่อแก้ไข ฟื้นฟู หรือป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดกระทำหรือมีโอกาสกระทำความผิดขึ้นอีก ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่มุ่งเน้นคุ้มครองสังคมและฟื้นฟูตัวผู้กระทำความผิดเป็นสำคัญ ในขณะเดียวกันก็เพื่อให้ผู้กระทำความผิดหลาบจำไม่ก่อเหตุซ้ำอีก โดยเงื่อนไขดังกล่าวย่อมต้องเป็นไปในทำนองที่บัญญัติไว้ใน (1) (2) (3) หรือ (4) คือเป็นบทบังคับเกี่ยวกับตัวเด็กซึ่งเป็นผู้กระทำความผิด ทั้งมาตรการเยียวยาความเสียหายในทางแพ่งก็มีกฎหมายบัญญัติไว้ต่างหากแล้ว และคดีนี้ศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องเป็นเงิน 520,000 บาท แล้ว การกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติจำเลย โดยกำหนดให้จำเลยและผู้ปกครองเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ร้องเดือนละ 2,000 บาท เป็นเวลา 1 ปี จึงเป็นการซ้ำซ้อนกับค่าสินไหมทดแทนที่ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับจากจำเลย และเงื่อนไขดังกล่าวไม่ได้เป็นไปเพื่อแก้ไข ฟื้นฟู หรือป้องกันไม่ให้กระทำความผิดขึ้นอีก ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 56 (5) การที่ศาลชั้นต้นกำหนดเงื่อนไขการคุมประพฤติดังกล่าวจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2385/2560
การที่จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถขับรถบรรทุกสิบล้อ อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของผู้อื่นที่ใช้เส้นทางเดินรถร่วมกับจำเลยได้ทุกขณะเพราะอาการมึนเมาเมทแอมเฟตามีนย่อมทำให้ขาดสติไม่สามารถใช้ความระมัดระวังในการขับรถได้อย่างเต็มที่ดังเช่นในภาวะที่มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนหรือมีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัวหรือมีเหตุอื่นก็ตาม ก็มิใช่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2894/2559
ตามบทบัญญัติของ ป.อ. มาตรา 58 วรรคแรก จะเห็นได้ว่าโทษที่รอไว้ในคดีก่อนอันจะนำมาบวกกับโทษในคดีหลังนั้น ความผิดในคดีหลังจะต้องกระทำภายในระยะเวลาระหว่างรอการลงโทษตามที่คดีก่อนกำหนดไว้ เมื่อคดีก่อนศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษารอการลงโทษจำคุกจำเลยในปี 2557 แต่คดีนี้จำเลยกระทำผิดวันที่ 16 พฤศจิกายน 2556 ก่อนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะพิพากษาคดีดังกล่าว และก่อนมีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในคดีดังกล่าวให้จำเลยทราบ การกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้จึงมิใช่กระทำภายในเวลาที่ศาลรอการลงโทษตามความใน ป.อ. มาตรา 58 วรรคแรก จะนำโทษในคดีก่อนที่รอการลงโทษไว้มาบวกเข้ากับคดีนี้ไม่ได้ ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 นำโทษจำคุกของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 57/2557 ของศาลอุทธรณ์ภาค 2 มาบวกเข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้จึงเป็นการไม่ชอบ แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 961/2559
แม้ข้อความที่จำเลยแจ้งจะเป็นความเท็จเพราะความจริงโฉนดที่ดินอยู่ที่ ภ. และจำเลยนำรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานที่เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จไปใช้อ้างเพื่อขอให้ออกใบแทนโฉนดที่ดินก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเลยกระทำต่อพันตำรวจโท บ.เจ้าพนักงาน ธ. และ พ. เจ้าพนักงานที่ดิน มิได้กล่าวพาดพิงไปถึง ภ. หรือนำรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานที่เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จไปใช้อ้างต่อ ภ. อันจะถือว่า ภ. ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำของจำเลย อีกทั้งจำเลยมอบให้มารดานำโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับไปเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินกับ ภ. เท่านั้น ซึ่ง ภ. ไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอากับโฉนดที่ดินดังกล่าวได้ตามกฎหมาย ภ. จึงมิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ และใช้หรืออ้างเอกสารราชการซึ่งแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) และไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ ภ. เข้าร่วมเป็นโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ เมื่อ ภ. มิใช่คู่ความในคดีจึงไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของ ภ. จึงเป็นการไม่ชอบเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 636/2559
คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 56 เดือน การที่ระหว่างฎีกาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลนำคดีเข้าสู่กระบวนการสมานฉันท์และสันติวิธี และต่อมายื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่าคดีมีทางตกลงกันได้โดยจำเลยที่ 1 ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายจนเป็นที่พอใจแก่โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 วางเงินต่อศาลชั้นต้น 883,357 บาท ซึ่งคิดเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของค่าเสียหายทั้งหมดที่โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดพิสูจน์ต่อศาล ชดใช้ให้แก่โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดเพื่อบรรเทาผลร้ายแก่โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ด แสดงว่าจำเลยที่ 1 วางเงินจำนวนดังกล่าวโดยมีเจตนาที่จะให้โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดยอมความกับจำเลยที่ 1 ตามที่ศาลชั้นต้นได้นำคดีเข้าสู่กระบวนการสมานฉันท์และสันติวิธี มิใช่เพื่อให้ศาลฎีกาวินิจฉัยเป็นเหตุบรรเทาโทษจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ยกฟ้อง มิได้ขอให้รอการลงโทษแก่จำเลยที่ 1 แต่เมื่อถึงวันนัดสมานฉันท์ครั้งที่ 2 ทนายโจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดแถลงว่า ไม่ประสงค์จะเจรจากับฝ่ายจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 นำมูลเหตุในคดีนี้ไปฟ้องโจทก์บางคนเป็นคดีอาญาและคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวม 6 คดี และหลังจากนั้นโจทก์บางคนซึ่งได้รับหมายนัดของศาลชั้นต้นที่แจ้งให้ทราบว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดและได้นำเงินวางศาลจำนวน 883,357 บาทแล้ว ก็ไม่ได้มารับเงินที่จำเลยที่ 1 วางไว้ไปจากศาลชั้นต้น จนกระทั่งศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่พิพากษายืนให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดไม่ประสงค์ที่จะยอมความกับจำเลยที่ 1 ดังนี้ เมื่อคดีนี้ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาโดยไม่มีการดำเนินการตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556 แล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิที่จะขอถอนเงินที่วางต่อศาลชั้นต้นดังกล่าวคืนไปได้ เพราะเมื่อจำเลยที่ 1 ขอถอนเงินที่วางศาลคืน ย่อมเป็นการพ้นวิสัยที่จะให้เป็นไปตามเจตนาของจำเลยที่ 1 แล้วศาลชั้นต้นมีหนังสือแจ้งผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดมารับเงินก่อนจึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 318/2559
คดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย แม้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จำเลยยังคงต้องถูกบังคับตามคำพิพากษา การที่คดียังไม่ถึงที่สุดไม่ใช่เหตุที่จะนำมานับโทษต่อไม่ได้

จำเลยไม่อาจยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การจากให้การปฏิเสธเป็นรับสารภาพในชั้นฎีกาได้ เพราะการแก้ไขคำให้การต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา แต่การยื่นคำร้องดังกล่าวถือเป็นการรับข้อเท็จจริงว่ากระทำความผิดโดยไม่โต้แย้งคำพิพากษาลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 2

จำเลยหลอกลวงโจทก์ว่าจำเลยเป็นทนายความ ทำให้โจทก์หลงเชื่อมอบเงินให้จำเลย เป็นการกระทำที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ไม่คำนึงถึงความเสียหายและความเดือดร้อนของผู้อื่น ไม่มีเหตุรอการลงโทษ แต่การนำเงินค่าเสียหายมาวางต่อศาลเพื่อชดใช้แก่โจทก์ เป็นการบรรเทาผลร้ายแห่งคดี ถือเป็นเหตุบรรเทาโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14645/2558
ข้อเท็จจริงปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาท้ายอุทธรณ์ของจำเลยว่า คดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษนั้น ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกและปรับ แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ จึงเป็นกรณีที่ความปรากฏแก่ศาลจากอุทธรณ์ของจำเลยว่า ภายในเวลาที่ศาลรอการลงโทษไว้ในคดีก่อน จำเลยมากระทำความผิดเป็นคดีนี้อีก จึงต้องนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้ แม้โจทก์มิได้ขอให้บวกโทษก็ตาม ทั้งกรณีมิใช่การพิพากษาเกินคำขอและไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยเพราะกฎหมายบัญญัติให้ศาลที่พิพากษาคดีหลังบวกโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีหลังด้วยเสมอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12154/2558
เมื่อศาลชั้นต้นนำโทษจำคุกของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 484/2555 บวกเข้ากับโทษในคดีอาญา หมายเลขแดงที่ 1959/2555 แล้ว จึงเป็นกรณีที่ศาลที่พิพากษาคดีหลังบวกโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีหลังแล้วตาม ป.อ. มาตรา 58 วรรคแรก โทษจำคุกของจำเลยที่รอการลงโทษได้ถูกบังคับโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1959/2555 ของศาลชั้นต้นแล้ว จึงไม่อาจนำโทษจำคุกในคดีหมายเลขแดงที่ 484/2555 มาบวกโทษซ้ำในคดีนี้ได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17225/2557
เมื่อจำเลยยื่นคำแถลงและวางเงินเพื่อบรรเทาผลร้ายให้แก่โจทก์ร่วมต่อศาลชั้นต้นแล้ว จำเลยขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธและขอให้การรับสารภาพ กับแถลงขอให้ศาลลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษแก่จำเลย การที่จำเลยวางเงินต่อศาลชั้นต้นดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงว่าจำเลยได้พยายามบรรเทาความเสียหายอันเป็นผลที่เกิดจากจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ร่วมเพื่อประกอบดุลพินิจของศาลในการพิจารณาพิพากษา เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษารอการลงโทษให้แก่จำเลย แม้คดีจะถึงที่สุด โจทก์ร่วมก็ยังมีสิทธิขอรับเงินที่จำเลยวางต่อศาลเพื่อชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วมได้ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายว่าไม่ประสงค์จะรับเงินค่าเสียหายที่จำเลยวางไว้ดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีสิทธิมาขอรับเงินจำนวนดังกล่าวคืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12387/2557
แม้จำเลยที่ 1 สั่งให้รื้อถอนบ้านของโจทก์ร่วมด้วยความระมัดระวัง ไม่เป็นเหตุให้วัสดุที่รื้อถอนเสียหาย ทั้งนำไปเก็บรักษาไว้อย่างดีเพื่อให้โจทก์ร่วมนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้บ้านของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์สิ้นสภาพไม่เป็นที่อยู่อาศัยอีกต่อไป อันเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่น การที่อำเภอบุณฑริกแต่งตั้งจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกำนันตำบลคอแลนเป็นประธานกรรมการกลางและประธานกรรมการปกครองเพื่อประกวดหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเองนั้นไม่เป็นการเปิดโอกาสให้จำเลยที่ 1 รื้อบ้านของโจทก์ร่วมโดยพลการได้ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์วัสดุที่รื้อถอนจากบ้านของโจทก์ร่วม โดยไม่ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ด้วยเป็นเรื่องข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ถือว่าเป็นข้อแตกต่างกันในรายละเอียด มิใช่ข้อสาระสำคัญตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความได้

ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เป็นความผิดอันยอมความได้ การที่โจทก์ร่วมทำหนังสือร้องทุกข์มีใจความสำคัญว่า โจทก์ร่วมขอร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 กับพวกที่ร่วมกันรื้อถอน ทำลายบ้านเรือน ทรัพย์สินและลักเอาทรัพย์สินของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต แม้ไม่มีข้อความระบุให้ชัดเจนว่าประสงค์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานใด ก็แปลเจตนาของโจทก์ร่วมได้ว่าประสงค์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์ พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 และ 121 วรรคสอง ไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ร่วมไม่ได้ร้องทุกข์ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์

จำเลยที่ 1 รื้อบ้านของโจทก์ร่วมซึ่งมีสภาพชำรุดทรุดโทรมและไม่ได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยนานนับสิบปี แล้วสร้างศาลาที่พักสาธารณประโยชน์ขึ้นแทน เพื่อให้ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกันตามโครงการพัฒนาหมู่บ้าน แม้เป็นความผิดต่อกฎหมายที่ไม่ได้ขออนุญาตโจทก์ร่วมก่อน แต่พฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรงนัก จึงให้รอการกำหนดโทษตาม ป.อ. มาตรา 56

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1455/2557
ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกในอัตราขั้นต่ำของกฎหมาย และลดโทษให้จำเลยสูงสุดถึงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี 6 เดือน จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรอการลงโทษให้จำเลยได้ตาม ป.อ. มาตรา 56 แม้ความผิดกระทงอื่นศาลล่างทั้งสองจะลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินกระทงละ 3 ปี ก็สมควรลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดกระทงอื่น ๆ ให้เป็นอย่างเดียวกัน ไม่ควรลงโทษจำคุกความผิดกระทงหนึ่ง แต่ความผิดกระทงอื่น ๆ รอการลงโทษ เพราะจะเป็นการลักลั่นไม่เหมาะสม

สำหรับความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี แม้ภายหลังจะได้ความว่าจำเลยได้รับอนุญาตให้สมรสกับผู้เสียหายที่ 2 แต่ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุเกินกว่า 18 ปี แล้ว กรณีจึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา 227 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20050/2556
คดีก่อนจำเลยที่ 1 ต้องคำพิพากษาให้จำคุก 2 ปี 11 เดือน และปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 4 ปี และภายในระยะเวลาที่ศาลรอการลงโทษ จำเลยที่ 1 กลับมากระทำความผิดคดีนี้ แม้คดีก่อนจะอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็ไม่ใช่เหตุที่ศาลชั้นต้นจะนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกกับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ไม่ได้ แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษาในคดีก่อนให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี 11 เดือน และคดีถึงที่สุดแล้ว ดังนี้ ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ จึงไม่มีโทษจำคุกที่ศาลรอการลงโทษในคดีก่อนที่จะนำมาบวกเข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้อีก อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาในคดีนี้ และโจทก์แก้ฎีกาขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีก่อน ดังนั้น จึงชอบที่จะนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีก่อน ซึ่งเป็นอำนาจของศาลฎีกาที่จะสั่งให้นับโทษต่อได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14102/2556
การที่ระหว่างฎีกา จำเลยยื่นคำร้องขอวางเงิน 20,000 บาท ต่อศาลชั้นต้นเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย แสดงว่าจำเลยวางเงินเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายโดยมีเจตนาที่จะให้ศาลฎีกาวินิจฉัยรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งในคำร้องของจำเลยให้นัดพร้อมเพื่อสอบถามผู้เสียหายว่าประสงค์จะรับเงินจำนวนดังกล่าวหรือไม่แล้ว ทั้งฎีกาของจำเลยก็อ้างเหตุที่จำเลยวางเงิน 20,000 บาท เพื่อบรรเทาความเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย เป็นเหตุหนึ่งที่ขอให้ศาลฎีการอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยด้วย เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้จำเลยมีภาระต้องเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว หรือมีเหตุอื่นดังที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกา ก็มิใช่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษให้แก่จำเลยเท่ากับศาลฎีกาได้วินิจฉัยถึงเหตุที่จำเลยพยายามบรรเทาความเสียหายด้วยการวางเงินต่อศาลชั้นต้นเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายแล้ว ดังนี้ จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นได้ดำเนินการตามคำร้องของจำเลยที่ขอวางเงินเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายและศาลฎีกานำข้อเท็จจริงตามคำร้องดังกล่าวมาวินิจฉัยฎีกาของจำเลยแล้ว แม้ศาลชั้นต้นเพิ่งออกหมายแจ้งให้ผู้เสียหายมารับเงินที่จำเลยวางต่อศาลชั้นต้นหลังจากที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้วก็ตาม แต่การวางเงินเพื่อให้ผู้เสียหายมารับไปย่อมแสดงอยู่ในตัวแล้วว่าจำเลยจะไม่ถอนเงินดังกล่าวกลับไป หากผู้เสียหายยังประสงค์จะรับเงินนั้น เมื่อต่อมาปรากฏตามคำร้องของผู้เสียหายว่าผู้เสียหายประสงค์จะรับเงินจำนวนดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะขอถอนเงินที่วางต่อศาลชั้นต้นดังกล่าวคืนไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4068/2556
พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มีผลให้ล้างมลทินแก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ที่ได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับเท่านั้น จำเลยที่ 1 ได้รับการรอการลงโทษ ย่อมไม่มีวันพ้นโทษ ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงไม่ได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาลสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550

แม้โจทก์ไม่อุทธรณ์ขอให้บวกโทษและไม่ฎีกา ก็เป็นกรณีที่ความปรากฏแก่ศาลเองตาม ป.อ. มาตรา 58 วรรคแรก ศาลย่อมบวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ที่ได้รับการรอการลงโทษไว้ในคดีก่อนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10075/2555
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) วรรคแรก ลงโทษจำคุก 4 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย 4,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงปรับ 2,000 บาท ให้คุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด กับให้จำเลยทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควร มีกำหนด 24 ชั่วโมง ตาม ป.อ. มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มิได้กล่าวในคำพิพากษาให้รอการลงโทษจำเลยก็ตาม แต่กรณีเป็นที่เห็นได้ชัดว่าศาลอุทธรณ์ภาค 5 ใช้ดุลพินิจให้ความปรานีรอการลงโทษแก่จำเลย เป็นแต่มิได้กล่าวบรรยายในคำพิพากษาให้ครบถ้วน อันนับว่าเป็นการพิพากษาโดยผิดหลง ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจให้แก้ไขให้ถูกต้องตามรูปคดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 190 ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12128/2556
การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง จำคุก 6 เดือน ฐานเป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 2,000,000 บาท ฐานร่วมกันมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี รวมโทษจำเลยที่ 1 ทุกกระทงแล้วให้จำคุกตลอดชีวิตและปรับ 2,000,000 บาท แล้วลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 25 ปี และปรับ 1,000,000 บาท และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน เป็นการไม่ชอบเพราะไม่ได้ลดโทษก่อนตามมาตรา 78 แล้วจึงรวมโทษตามมาตรา 91 แต่อย่างไรก็ตามเมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ให้ถูกต้องได้ เนื่องจากเป็นการเพิ่มเติมโทษ ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10282/2555
คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 289 (4), 289 (4) ประกอบมาตรา 80, 371 พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 โดยให้เพิ่มโทษทุกฐานความผิดกระทงละหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92 แต่ข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนต้องระวางโทษประหารชีวิต ไม่อาจเพิ่มโทษได้ จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้ทุกฐานความผิดกระทงละกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 โดยฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนให้จำคุกตลอดชีวิตตาม ป.อ. 52 (2) เมื่อรวมโทษทุกฐานกระทงความผิดแล้ว คงลงโทษจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9121/2555
ตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) ต้องระวางโทษประหารชีวิต การคำนวณโทษกึ่งหนึ่งของโทษประหารชีวิตอย่างใดกฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ จึงต้องนำ ป.อ. มาตรา 52 (2) มาใช้ในการกำหนดโทษ โทษกึ่งหนึ่งที่จะลงแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 คือ โทษจำคุกตลอดชีวิต หรือโทษจำคุกตั้งแต่ยี่สิบปีถึงห้าสิบปี ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตลอดชีวิตตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นก่อนลดมาตราส่วนโทษหนึ่งในสามเป็นจำคุกคนละ 33 ปี 4 เดือน นั้น เป็นการลงโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่กฎหมายกำหนดสำหรับความผิดนั้นแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7253/2555
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เนื่องจากความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) มีโทษประหารชีวิตสถานเดียว การพยายามกระทำความผิดต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษประหารชีวิต ดังนั้น เมื่อลดโทษประหารชีวิตลงหนึ่งในสามจึงเหลือโทษจำคุกตลอดชีวิตตาม ป.อ. มาตรา 52 (1) ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำเลยให้ต่ำกว่านี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3519/2555
การที่ศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีหลังทราบถึงข้อเท็จจริงที่ว่า จำเลยที่ 4 ทำผิดเงื่อนไขคุมประพฤติในระหว่างที่ศาลรอการกำหนดโทษไว้ในคดีแรก แต่พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีทั้งปวงเห็นควรให้รอการกำหนดโทษในคดีหลังไว้ เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นในคดีหลังใช้ดุลพินิจไม่พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 4 ก่อนที่จะทำคำพิพากษาคดีหลังตาม ป.อ. มาตรา 58 ที่ให้ศาลใช้ดุลพินิจรอการกำหนดโทษจำเลยที่ 4 ได้อีก ส่วนการที่ศาลชั้นต้นทราบจากรายงานของเจ้าพนักงานคุมประพฤติว่า จำเลยที่ 4 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมความประพฤติของจำเลยที่ 4 แล้วแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาในคดีแรกจากรอการกำหนดโทษเป็นกำหนดโทษจำคุกจำเลยที่ 4 เป็นการใช้ดุลพินิจหลังจากศาลชั้นต้นในคดีแรกทำคำพิพากษาแล้วโดยอาศัยอำนาจตาม ป.อ. มาตรา 57 ซึ่งเป็นคนละกรณีกับมาตรา 58 จึงมิใช่เป็นการใช้อำนาจซ้ำซ้อนตามที่จำเลยที่ 4 ฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8257/2554
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 33, 58, 83, 91, 288, 289, 371 และขอให้กำหนดโทษของจำเลยที่ 1 ที่รอการกำหนดโทษไว้ในคดีก่อนบวกเข้ากับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ แม้ศาลจะพิพากษาในส่วนของจำเลยที่ 1 ว่ากระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288, 371, 83 ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่ง ลดโทษให้หนึ่งในห้า คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี และปรับ 40 บาท เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยที่ 1 ไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมยังสถานพินิจจนกว่าจำเลยทั้งสองมีอายุครบ 24 ปีบริบรูณ์ หากจำเลยมีอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์แล้ว ให้ส่งจำเลยทั้งสองไปจำคุกในเรือนจำมีกำหนดคนละ 10 ปี โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) และวรรคท้าย แต่การส่งจำเลยที่ 1 ไปจำคุกต่อตามมาตรา 104 วรรคท้ายดังกล่าว มิใช่การพิพากษาให้ลงโทษจำคุกโดยแท้ แต่เป็นหนึ่งในวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน มิใช่การลงโทษจำคุกซึ่งเป็นโทษตาม ป.อ. มาตรา 18 ศาลจึงไม่อาจนำโทษจำคุกในคดีก่อนมาบวกตาม ป.อ. มาตรา 58 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2914/2554
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ซึ่งบัญญัติว่า "เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดดังต่อไปนี้..." ฉะนั้นจากข้อความของบทบัญญัติของมาตรา 91 ที่ว่า "แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม" จะเห็นได้ว่าอัตราโทษสูงสุดตามที่มาตรา 91 กำหนดไว้นั้น ถ้าเป็นกรณีที่มีการเพิ่มโทษหรือลดโทษจะต้องนำมาใช้เมื่อมีการเพิ่มโทษหรือลดโทษแล้ว มิใช่ต้องปรับบทมาตรา 91 เสียก่อนแล้วจึงพิจารณาลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาเรียงกระทงลงโทษจำคุกตลอดชีวิตจำเลยที่ 1 ก่อน 2 กระทง แล้วลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งโดยเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 เหลือโทษจำคุกกระทงละ 25 ปี แล้วจึงนำบทบัญญัติมาตรา 91 (3) มาปรับว่าโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 50 ปี จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 868/2554
การขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์นั้น อาจขู่ตรง ๆ หรือใช้ถ้อยคำ ทำกิริยา หรือทำประการใดให้เข้าใจได้เช่นนั้น เป็นการแสดงให้ผู้ถูกขู่เข็ญเข้าใจว่าจะรับภัยจากการกระทำของผู้ขู่เข็ญการที่จำเลยกับพวกบังคับเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหาย โดย ม. พวกของจำเลยทำท่าทางเหมือนจะชักอาวุธออกมาโดยล้วงเข้าไปในเสื้อบริเวณเอว แม้มิได้ใช้กำลังประทุษร้าย มิได้ใช้อาวุธมาขู่บังคับหรือพูดว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายก็ตาม แต่กิริยาท่าทีของ ม. ดังกล่าว เป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย ทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวว่าจำเลยกับพวกจะใช้กำลังประทุษร้ายจึงต้องจำยอมให้โทรศัพท์เคลื่อนที่แก่จำเลยกับพวกไป การกระทำของจำเลยกับพวกครบองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์แล้ว

ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุไม่เกิน 20 ปี และกระทำผิดโดยมิได้ใช้อาวุธลักษณะเป็นการกระทำของวัยรุ่นที่คึกคะนอง ทั้งจำเลยให้การรับสารภาพตลอดมาและชดใช้เงินแก่ผู้เสียหาย 20,000 บาท ผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความ ปรากฏว่าจำเลยเป็นนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10565/2553
ความผิดฐานเป็นผู้รับใบอนุญาตรวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้าโดยไม่ระบุเดือนและปีที่รวบรวม เดือนและปีที่สิ้นอายุการใช้เพาะปลูกหรือใช้ทำพันธุ์ตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ.2518 มาตรา 22 (2) และความผิดฐานรวบรวมเมล็ดพันธุ์เสื่อมคุณภาพตามมาตรา 36 มีเจตนากระทำความผิดที่แตกต่างกัน จึงเป็นคนละกรรมกัน แม้จำเลยยังไม่ได้จำหน่ายเมล็ดพันธ์ที่รวบรวมก็ไม่ทำให้เป็นความผิดกรรมเดียวกัน

เมล็ดพันธุ์เสื่อมคุณภาพที่รวบรวมเป็นข้าวเปลือกเจ้าพันธุ์สุพรรณบุรี 3 จำนวน 72 กิโลกรัม และพันธุ์ชัยนาท 1 อีก 72 กิโลกรัม รวม 144 กิโลกรัม การกระทำของจำเลยทำให้ผลิตผลของพันธุ์พืชไม่ได้มาตรฐานและเป็นการหลอกลวงเกษตรกรให้ได้รับความเสียหายอันเป็นผลเสียหายโดยตรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง จึงไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษให้จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10338/2553
การที่จำเลยมีอาวุธปืนพกลูกซองชนิดประกอบขึ้นเอง ขนาด .410 ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนประจำอาวุธปืนดังกล่าว พร้อมกระสุนปืนเล็กแบบ 88 ดัดแปลงเพื่อใช้กับอาวุธปืนดังกล่าว 2 นัด ติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควรและไม่ได้รับอนุญาต ทั้งไม่เป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ กฎหมายบัญญัติบทความผิดและบทลงโทษไว้คนละมาตรา ย่อมเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ว่ามีความประสงค์จะแยกความผิดสองฐานนี้ออกจากกัน เจตนาที่มีไว้ในครอบครองย่อมต่างกันการกระทำของจำเลยฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองจึงเป็นการกระทำความผิดสองกรรม

อาวุธปืนเป็นอาวุธร้ายแรงโดยสภาพสามารถใช้ทำอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของผู้อื่นได้โดยง่าย ทั้งอาวุธปืนของกลางไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้ หากนำไปใช้ในการกระทำความผิดอื่นแล้ว ย่อมยากแก่การตรวจสอบหาตัวผู้กระทำความผิดที่แท้จริง การที่จำเลยพาอาวุธปืนกับเครื่องกระสุนปืนของกลางติดตัวไปในที่เกิดเหตุนับว่าเป็นอันตรายต่อประชาชน และกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและจำเลยมีภาระต้องเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว ก็ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะลงโทษจำเลยให้เบาลงหรือรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2553)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8913/2553
การกระทำความผิดตามฟ้องของจำเลยในแต่ละฐานความผิดนั้นเป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุกและโทษปรับ ศาลย่อมมีอำนาจที่จะลงโทษจำคุกหรือลงโทษปรับอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือจะลงโทษทั้งโทษจำคุกและโทษปรับทั้งสองอย่างพร้อมกันก็ได้ ถึงแม้ในคดีนี้จำเลยจะได้ชำระค่าปรับครบถ้วนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วก็ตาม ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมมีอำนาจที่จะลงโทษจำคุกจำเลยอีกได้ และการที่จำเลยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขคุมความประพฤติ ทำงานบริการสังคมและสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรครบถ้วนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วก็ตาม แต่เงื่อนไขการคุมความประพฤติดังกล่าวนั้นก็มิใช่การลงโทษ เป็นแต่เพียงมาตรการทางกฎหมายที่ศาลให้โอกาสผู้กระทำความผิดในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้รอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษเท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการลงโทษจำเลยซ้ำซ้อนจากการกระทำความผิดแต่เพียงครั้งเดียวดังที่จำเลยอ้างมาในฎีกา

จำเลยใช้รถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุบรรทุกดินมีน้ำหนักยานพาหนะรวมน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ถึง 22,410 กิโลกรัม โดยไม่นำพาว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสภาพทางหลวงแผ่นดินซึ่งเป็นสมบัติของส่วนรวมและมีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันของสาธารณชน การกระทำของจำเลยย่อมทำให้ผู้ร่วมใช้เส้นทางสัญจรไปมาต้องเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดจากสภาพของยานพาหนะที่บรรทุกน้ำหนักเป็นจำนวนมากจนเกินกว่าที่ผู้ขับจะควบคุมให้แล่นไปได้อย่างปลอดภัยพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยนับว่าร้ายแรง ที่จำเลยยกขึ้นอ้างฎีกาว่าจำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน มีภาระต้องรับผิดชอบต่อครอบครัวและจำต้องกระทำความผิดในคดีนี้เพราะไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือขัดคำสั่งของนายจ้าง ก็เป็นเพียงเหตุผลและความจำเป็นส่วนตัวของจำเลยเท่านั้น บุคคลทั่ว ๆ ไปในสถานะเช่นเดียวกับจำเลยก็มีภาระที่ไม่แตกต่างไปจากจำเลย จำเลยไม่อาจอ้างภาระความจำเป็นส่วนตัวเพื่อก่อภาระให้แก่สังคมโดยรวมได้ เหตุดังกล่าวไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นลงโทษจำคุก โดยไม่ลงโทษปรับและไม่คุมความประพฤติ และให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทนตาม ป.อ. มาตรา 23 นั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6637/2553
แม้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ก็เป็นเพียงเหตุบรรเทาโทษที่ศาลสามารลดโทษให้ได้ไม่เกินกึ่งหนึ่ง ตาม ป.อ. มาตรา 78 ส่วนที่จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนโดยซัดทอดว่าได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 และต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 2 ได้นั้น ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ให้การในรายละเอียดของคดีเท่านั้น การที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 2 ได้ก็เป็นคดีเดียวกันกับที่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิด ซึ่งโจทก์มีพยานรู้เห็นการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 อยู่แล้ว การที่จะถือว่าจำเลยที่ 1 ให้ข้อมูลสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือพนักงานสอบสวนอันจะเป็นเหตุให้ศาลลงโทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำได้นั้น จะต้องเป็นเรื่องที่นำไปสู่การจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษรายอื่น หรือนำไปสู่การยึดได้ยาเสพติดให้โทษอีกจำนวนหนึ่ง โดยไม่เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษของกลางคดีนี้ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจยึดได้จากที่เกิดเหตุ กรณีของจำเลยที่ 1 จึงไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2

การใช้ดุลพินิจลดโทษกึ่งหนึ่ง เป็นจำคุกตลอดชีวิตหรือโทษจำคุกตั้งแต่ 25 ปี ถึง 50 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 52 (2) นั้น ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงในแต่ละคดีเป็นการเฉพาะ เนื่องจากข้อเท็จจริงในแต่ละคดีไม่เหมือนกัน แม้เป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษเช่นเดียวกันก็ตาม ข้อเท็จจริงในคดีอื่นไม่อาจนำมาใช้แก่คดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6638/2553
จำเลยฎีกาว่าในวันเกิดเหตุเพื่อนของจำเลยให้จำเลยดื่มยาชูกำลังโดยไม่ทราบว่ามียาเสพติดให้โทษผสมอยู่ เป็นฎีกาในทำนองว่าจำเลยมิได้มีเจตนากระทำความผิดตามฟ้องเป็นการขัดกับคำรับสารภาพของจำเลย และเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157 ทวิ ถูกยกเลิกโดย พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2550 และให้ใช้มาตรา 157/1 แทนแต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่แตกต่างกับกฎหมายเดิมที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดลงโทษจำเลย

พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157 ทวิ วรรคสอง มีบทบัญญัติให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย อันเป็นมาตรการทำนองเดียวกันกับวิธีการเพื่อความปลอดภัยในการที่จะคุ้มครองประชาชนทั่วไปมิให้ได้รับอันตรายที่อาจเกิดจากการกระทำของจำเลย และเป็นบทบัญญัติที่บังคับให้ศาลต้องมีคำสั่งดังกล่าวเมื่อศาลพิพากษาลงโทษผู้ใดตามกฎหมายมาตรานี้ โดยไม่จำต้องมีคำขอของโจทก์ระบุมาในคำขอท้ายฟ้องแต่อย่างใด แต่ต้องปรากฏว่าจำเลยมีใบอนุญาตขับขี่ด้วย คดีนี้แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีใบอนุญาตขับขี่ แต่ได้ความตามฎีกาของจำเลยและรายงานการสืบเสาะและพินิจของเจ้าพนักงานคุมประพฤติว่า จำเลยมีใบอนุญาตขับขี่ ศาลจึงมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6022/2553
ศาลชั้นต้นเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังจำเลยแทน แม้โทษที่จะรอการลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 56 ได้จะต้องเป็นโทษจำคุกเท่านั้นก็ตาม แต่การที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษจำคุกก็เท่ากับเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษ อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ (1) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง และให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี โดยไม่ได้กล่าวไว้ในคำพิพากษาว่าไม่เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังก็หาได้เป็นคำพิพากษาที่มิชอบไม่ แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ชัดเจนโดยไม่เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขัง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4825/2553
บทบัญญัติ ป.วิ.อ. มาตรา 134/1 วรรคหนึ่ง เพิ่งจะบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 38 แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 22)ฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 23 ธันวาคม 2547 แต่คดีนี้เหตุเกิดเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 พนักงานสอบสวนทำการสอบคำให้การจำเลยทั้งสองซึ่งมีอายุ 48 ปี และ 37 ปี ตามลำดับ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2547 ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนที่มาตรา 38 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะใช้บังคับ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้ย้อนหลังดังนั้น การสอบสวนและจัดทำบันทึกการสอบสวนจำเลยที่ 1 ซึ่งพนักงานสอบสวนดำเนินการตามบทบัญญัติของกฎหมายเดิมย่อมชอบด้วยกฎหมายในขณะนั้นแล้ว

จำเลยทั้งสองกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลชั้นต้นรวมโทษทุกกระทงแล้วจึงลดโทษให้จำเลยทั้งสองแทนที่จะลดโทษแต่ละกระทงก่อนแล้วจึงรวมโทษ ทั้งอัตราโทษสูงสุดที่จะลงแก่จำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 91 นั้นถ้าเป็นกรณีที่มีการเพิ่มโทษหรือลดโทษแล้วจะต้องมีการเพิ่มโทษหรือลดโทษก่อน มิใช่ต้องปรับบทมาตรา 91 เสียก่อนแล้วจึงจะเพิ่มโทษหรือลดโทษ การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยทั้งสองฐานเดินทางไปนอกราชอาณาจักรปรับคนละ 1,000 บาท ฐานเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายและฐานมีเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย ลงโทษจำเลยทั้งสองให้ประหารชีวิต รวมโทษจำเลยทั้งสองทุกกระทงแล้ว คงประหารชีวิตสถานเดียวแล้วลดโทษให้จำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) หนึ่งในสาม และมาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) กึ่งหนึ่ง ตามลำดับ เป็นจำคุกตลอดชีวิต และศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนเป็นการไม่ชอบเพราะไม่ได้ลดโทษก่อนตามมาตรา 78 แล้วจึงรวมโทษตามมาตรา 91 นอกจากนี้โทษปรับมิใช่การจำคุกดังนั้น แม้จะจำคุตลอดชีวิตแล้วก็ปรับได้ด้วยไม่เป็นการต้องห้ามตามมาตรา 91 ที่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้ลงโทษปรับย่อมเป็นการไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ตามศาลฎีกาก็ไม่อาจลงโทษปรับจำเลยทั้งสองได้เนื่องจากเป็นการเพิ่มเติมโทษซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 587/2553
การที่จำเลยต้องคำพิพากษาให้จำคุก 2 เดือนแต่รอการลงโทษไว้ จำเลยจึงยังมิได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา จึงมิใช่ผู้ต้องโทษตามความหมายของมาตรา 4 และย่อมไม่ได้รับผลแห่ง พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา ศาลจึงชอบที่จะบวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีนี้ได้

จำเลยร่วมกับพวกขับรถจักรยานยนต์ใช้มีดไล่ฟันผู้เสียหายทั้งสองบนท้องถนนต่อหน้าผู้คนที่สัญจรไปมาจำนวนมาก แสดงถึงนิสัยอันธพาลและไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายของจำเลยและทำให้ผู้คนเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินลักษณะการกระทำของจำเลยก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง ประกอบกับจำเลยเคยกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นและศาลให้โอกาสจำเลยด้วยการรอการลงโทษมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่จำเลยไม่เข็ดหลาบมากระทำความผิดคดีนี้อีก แม้จำเลยไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อนมีภาระต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว ตลอดจนสามารถแก้ไขปรับปรุงตัวหลังเกิดเหตุโดยมีความประพฤติไม่เสียหายหรือมีเหตุอื่นก็ไม่เพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษให้จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2696/2550
ศาลชั้นต้นเรียงกระทงลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ให้ประหารชีวิต ฐานร่วมกันมีอาวุธปืน จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืน จำคุกคนละ 6 เดือน รวมโทษทุกกระทงแล้ว ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสองสถานเดียว แล้วจึงลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) เป็นจำคุกคนละตลอดชีวิตนั้นเป็นการไม่ชอบ เพราะที่ถูกต้องแล้วศาลชั้นต้นจะต้องลดโทษให้จำเลยทั้งสองเป็นรายกระทงก่อน แล้วจึงรวมโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 (3) และศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยมิได้พิพากษาแก้ไขให้ถูกต้อง ก็เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขการเรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ 2 เสียใหม่ให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเนื่องจากเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาแก้ไขตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่ไม่ได้ฎีกาด้วยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 292/2550
ป.อ. มาตรา 52 (2) บัญญัติว่า ในการลดโทษประหารชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการลดมาตราส่วนโทษหรือลดโทษที่จะลง ถ้าจะลดกึ่งหนึ่งให้ลดเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือโทษจำคุกตั้งแต่ยี่สิบห้าปีถึงห้าสิบปี จึงเป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องๆ ไปว่าสมควรจะลดโทษเพียงใด และการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยเป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยแต่ละคนในแต่ละ คดีจะถือเอาคำพิพากษาคดีอื่นมาเป็นแนวทางในการกำหนดโทษของจำเลยในคดีนี้หา ได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2291/2551
บ้านของกลางทั้ง 2 หลังที่จำเลยปลูกสร้างขึ้นในเขตอุทยานแห่งชาติมิใช่เครื่องมือ อาวุธ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะหรือเครื่องจักรกลใดๆ ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดโดยตรง ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ มาตรา 74 ทวิ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ มาตรา 29 ป.ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคห้า จึงไม่อาจริบได้

พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ มาตรา 22 มีเจตนารมณ์ให้ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างโดยฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ ออกไปให้พ้นอุทยานแห่งชาติฯ ดังนั้น แม้โจทก์จะมิได้ขอให้ศาลสั่งให้จำเลยรื้อถอนบ้านของกลางทั้ง 2 หลัง แต่เมื่อโจทก์มีคำขอให้ริบบ้านของกลางทั้ง 2 หลัง ศาลก็ย่อมมีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนบ้านของกลางทั้ง 2 หลัง ออกไปให้พ้นอุทยานแห่งชาติได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1571/2551
การที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยยังมีและพาอาวุธปืนพร้อมทั้งเครื่องกระสุนปืนติดตัวไปในที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นเมืองหมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ นับว่าเป็นการกระทำที่ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรงทั้งจำเลยเคยต้องคำพิพากษาของศาลชั้น ต้นให้จำคุกอีก 7 คดี ซึ่งมีทั้งรอการลงโทษและไม่รอการลงโทษ แสดงว่าจำเลยมีลักษณะเป็นผู้กระทำความผิดติดนิสัย ไม่สำนึกหรือเกรงกลัวต่อโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมาย แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาจะมี พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระ ชนมพรรษา 80 พรรษาฯ มาตรา 4 ที่บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ ก็ตาม แต่มีผลเพียงให้ถือว่าจำเลยไม่เคยถูกลงโทษจำคุกเท่านั้น มิได้มีผลถึงกับให้ถือว่าความประพฤติหรือการกระทำอันเป็นเหตุให้จำเลยถูกลง โทษจำคุกถูกลบล้างไปด้วย ประกอบกับศาลฎีกาได้พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีนี้แล้ว กรณียังไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2049/2551
พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 66 วรรคสาม มีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุกตลอดชีวิตและปรับ 1,000,000 บาท ก่อนลดโทษให้กึ่งหนึ่งนั้นเป็นการลงโทษในอัตราโทษขั้นต่ำสุดตามกฎหมายแล้ว ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษเบากว่านี้ได้

จำเลยที่ 1 ถูกจับกุม เจ้าพนักงานตำรวจย่อมนำจำเลยที่ 1 ไปค้นหายาเสพติดให้โทษที่บ้านของจำเลยที่ 1 อยู่แล้ว ทั้งปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนตรวจพบอยู่ในห้องน้ำอย่างเปิดเผย การที่จำเลยที่ 1 ให้ข้อมูลโดยแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่ายังมีเมทแอมเฟตามีนอีกจำนวนหนึ่งซุก ซ่อนอยู่ที่บ้านและนำเจ้าพนักงานตำรวจไปยึดเมทแอมเฟตามีนได้อีกที่บ้านของ จำเลยที่ 1 ยังไม่นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยา เสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2 จึงไม่มีเหตุที่จะลงโทษจำเลยที่ 1 น้อยกว่าโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด

แม้เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 วางโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้วย่อมไม่อาจเพิ่มโทษจำคุกได้อีกก็ตาม แต่ความผิดที่จำเลยที่ 1 กระทำตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 66 วรรคสาม มีโทษจำคุกและปรับ และตามมาตรา 100/1 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวกำหนดให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ โดยคำนึงถึงการลงโทษในทางทรัพย์สินเพื่อป้องปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยา เสพติดให้โทษทั้งโทษปรับเป็นโทษสถานหนึ่งซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็ได้วางโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิตและปรับจำเลยที่ 1 ด้วยการเพิ่มโทษที่จะลงแก่จำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 97 จึงเพิ่มโทษปรับได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 จึงเป็นการมิชอบ แต่โจทก์มิได้ฎีกา ศาลฎีกาย่อมไม่อาจเพิ่มโทษปรับได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ที่ 1 อันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4882/2550
จำเลยไปหาผู้เสียหายโดยมีเจตนาเพื่อทวงหนี้ที่ผู้เสียหายค้างชำระ โดยก่อนเกิดเหตุจำเลยพยายามยกถังแก๊สที่ผู้เสียหายใช้หุงต้มในการขาย ก๋วยเตี๋ยวไปเพื่อการชำระหนี้ แต่จำเลยเอาไปไม่ได้เพราะสามีผู้เสียหายไม่ยอมให้เอาไป ต่อมาจำเลยกับผู้เสียหายก็โต้เถียงกันอีกเรื่องที่ผู้เสียหายไม่ชำระหนี้ให้ จำเลย ทำให้จำเลยโกรธแค้นจึงเข้ากระชากสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายและเอาสร้อยคอ ทองคำของผู้เสียหายไปครึ่งเส้น แม้เพื่อชดเชยที่ผู้เสียหายไม่ยอมชำระหนี้ แต่การบังคับชำระหนี้ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย มิใช่กระชากสร้อยคอทองคำครึ่งเส้นของผู้เสียหายไปโดยพลการ ทั้งมูลหนี้ที่จำเลยมาทวงผู้เสียหายนั้น ผู้เสียหายเบิกความว่าเกิดจากหนี้การพนันหวยใต้ดิน ซึ่งจำเลยก็มิได้โต้แย้ง จึงเป็นมูลหนี้ที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมไม่ก่อให้เกิดหนี้ที่ผู้เสียหายพึงชำระและแม้จำเลยเบิกความว่าเป็นหนี้ เงินยืม จำเลยก็รับว่าที่ผู้เสียหายไม่ยอมชำระหนี้ดังกล่าว ก็เพราะไม่มีลายมือชื่อของผู้เสียหาย หนี้กู้ยืมเงิน 2,000 บาท ของผู้เสียหายจึงไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ยืม จำเลยย่อมฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ กรณีจึงไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยจะฟ้องร้องบังคับคดีต่อผู้เสียหายได้ด้วย ดังนั้น การกระชากสร้อยคอครึ่งเส้นของจำเลยดังกล่าว จึงเป็นการเอาไปโดยทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยย่อมมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 336

ตามพฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยขับรถยนต์ไปพบผู้เสียหายเพื่อทวงหนี้ แต่ผู้เสียหายไม่ยอมชำระหนี้ได้เกิดโต้เถียงกัน จำเลยจึงกระชากสร้อยคอของผู้เสียหายไปได้ครึ่งเส้น เพื่อบังคับชำระหนี้แล้วขับรถยนต์ออกไปจากบริเวณที่เกิดเหตุนั้นยังฟังไม่ ได้ว่าจำเลยมีเจตนาใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้น ไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 336 ทวิ

การกระทำความผิดของจำเลยเป็นการกระทำที่อุกอาจไม่เคารพต่อกฎหมายของบ้าน เมืองส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลซึ่ง อยู่ร่วมกันในสังคม พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง กรณีจึงไม่ควรรอการลงโทษให้จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3981/2550
แม้จำเลยจะได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครอง สิริราชสมบัติครบ 50 ปีฯ ซึ่งให้ถือว่าผู้นั้นมิเคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ ก็มีผลเพียงให้ถือว่าผู้ต้องโทษไม่เคยถูกลงโทษจำคุกเท่านั้น มิได้มีผลถึงกับให้ถือว่าความประพฤติหรือการกระทำอันเป็นเหตุให้บุคคลนั้น ถูกลงโทษจำคุกถูกลบล้างไปด้วย ศาลล่างทั้งสองจึงนำข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยเคยกระทำความผิดมาก่อนตามที่ ปรากฏในรายงานการสืบเสาะและพินิจมาประกอบการใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุก ให้แก่จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4299/2550
ป.อ.มาตรา 55 และ 76 เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลที่จะใช้ดุลพินิจเป็นเรื่องๆไป แล้วแต่พฤติการณ์แห่งคดี หาได้เป็นบทบังคับให้ศาลต้องลดมาตราส่วนโทษให้จำเลย หรือลงโทษจำคุกจำเลยให้น้อยลงอีก หรือยกโทษจำคุก หรือปรับจำเลยแต่อย่างเดียวทุกกรณีเสมอไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2820/2550
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 278 วรรคแรก, 310 วรรคแรก, 317 วรรคสาม ประกอบมาตรา 92 ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 1 ปี 4 เดือน ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร จำคุก 8 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 ปี 8 เดือน การที่ศาลชั้นต้นอ้างบทเพิ่มโทษตาม ป.อ. มาตรา 92 ในคำพิพากษาจึงเป็นกรณีศาลชั้นต้นได้เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามแล้ว เพียงแต่ศาลชั้นต้นไม่ได้ระบุข้อความว่าให้เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามซึ่งเป็น เพียงการไม่สมบูรณ์ชัดเจนเท่านั้น หาทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยเหตุที่ยังมิได้เพิ่มโทษจำเลยดังที่ โจทก์ขอมาแต่อย่างใดไม่ ที่ศาลอุทธรณ์เพิ่มโทษจำเลยอีกจึงเป็นการไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ดีที่ถูกศาลชั้นต้นต้องกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยในแต่ละฐานความ ผิดเสียก่อน แล้วจึงเพิ่มโทษจำเลยแต่ละฐานความผิดหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 54

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยให้เพิ่มเติมโทษจำเลยอีกหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92 เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และยังคงลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดโทษอันเป็น ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1393/2550
จำเลย ชิงทรัพย์โดยใช้อาวุธปืนและเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การที่ ป.อ. มาตรา 340 ตรี บัญญัติให้ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 339 โดยใช้อาวุธปืน ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรา 339 กึ่งหนึ่ง หาใช่เป็นเรื่องการเพิ่มโทษไม่ จะนำ ป.อ. มาตรา 51 มาเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี เพื่อระวางโทษหนักขึ้นอีกกึ่งหนึ่งไม่ได้ จึงนำ ป.อ. มาตรา 340 ตรี มาปรับด้วยไม่ได้ จำเลยคงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7009/2549
จำเลยทั้งสองเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ในการเล่นการพนันสลากกินรวบหลายงวด ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำเป็นอาชีพ พฤติการณ์แห่งคดีนับว่าเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยทั้งสองไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนและมีภาระต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว รวมทั้งอ้างความจำเป็นในการกระทำความผิด ก็มิใช่เหตุเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสอง อย่างไรก็ตามโทษจำคุกที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในแต่ละกระทงมีกำหนดเวลาน้อยกว่าสามเดือน ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำคุกให้น้อยลงอีกได้ ตาม ป.อ. มาตรา 55 แม้จะปรากฏว่าโทษจำคุกที่กำหนดใหม่จะต่ำกว่าอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำตามมาตรา 12 (1) แห่ง พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5509/2549
ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยผิดเงื่อนไขคุมประพฤติ จึงลงโทษจำคุกตามโทษที่รอการลงโทษไว้ เมื่อจำเลยอุทธรณ์คำสั่ง และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ. วิธีดำเนินการคุมความประพฤติตาม ป.อ. ฯ มาตรา 17 วรรคสอง โจทก์จะฎีกาไม่ได้ ที่อัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาและศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์มานั้น เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 161/2549
การยกโทษจำคุกตาม ป.อ. มาตรา 55 เป็นดุลพินิจแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร เพียงแต่โทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดต้องเป็นโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน โดยไม่คำนึงว่าจะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ และผู้นั้นจะเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนหรือไม่ก็ตาม

จำเลยเคยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ใน ครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตมาก่อน และมากระทำความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตอีก แสดงว่าจำเลยมิได้เข็ดหลาบและมิได้เกรงกลัวต่อโทษตามกฎหมาย ศาลจึงไม่ยกโทษจำคุกให้จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6317/2549
ในการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ป.อ. มาตรา 91 ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป เมื่อจำเลยที่ 2 กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน การเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ต้องเพิ่มโทษทุกกระทงของความผิด เว้นแต่ในความผิดฐานใดที่ศาลลงโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกเกินห้าสิบปี ตาม ป.อ. มาตรา 51 ที่ศาลชั้นต้นยกคำขอเพิ่มโทษ และศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่ได้วินิจฉัยและแก้ไขในส่วนนี้เป็นการไม่ชอบ แต่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์และฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลจึงเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ไม่ได้ เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 2 ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212, 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8492/2547
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรกและวรรคสาม, 317 วรรคสาม เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานพรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีเพื่อการอนาจาร จำคุกกระทงละ 8 ปี รวม 2 กระทงจำคุก 16 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน จำคุก 10 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยใช้อาวุธ จำคุกตลอดชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ตาม ป.อ. มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ฐานพรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีเพื่อการอนาจาร คงจำคุกกระทงละ 4 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 8 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน คงจำคุก 5 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยใช้อาวุธ คงจำคุก 25 ปี รวมจำคุก 38 ปี เมื่อวางโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยได้ ยกคำขอให้เพิ่มโทษ นั้น ยังไม่ถูกต้อง เนื่องจากในการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็น กระทงความผิด? ตาม ป.อ. มาตรา 91 เมื่อจำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน การเพิ่มโทษจำเลยต้องเพิ่มทุกกระทงของความผิด เว้นแต่ในความผิดฐานใดที่ศาลลงโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกเกินห้าสิบปี ตาม ป.อ. มาตรา 51 ที่ศาลชั้นต้นยกคำขอเพิ่มโทษและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่ได้วินิจฉัยและแก้ไขในส่วนนี้เป็นการไม่ชอบ แต่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์และฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาจึงเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212, 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12477/2547
ตาม ป.อ. มาตรา 52 (2) ในการลดโทษประหารชีวิตถ้าจะลดกึ่งหนึ่ง ให้ลดเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือโทษจำคุกตั้งแต่ 25 ปี ถึง 50 ปี ซึ่งศาลจะเห็นสมควรลดโทษให้เพียงใดเป็นดุลพินิจของศาล ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดว่าร้ายแรงหรือไม่เพียงใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12060/2547
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) ให้ประหารชีวิต คำให้การรับสารภาพของจำเลยชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การ พิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52 (1) คงจำคุกตลอดชีวิต โจทก์และจำเลยต่างไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นจึงส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาพิพากษาและคำพิพากษาศาล อุทธรณ์จะยังไม่ถึงที่สุด เว้นแต่ศาลอุทธรณ์จะได้พิพากษายืนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง ดังนั้นเมื่อศาลอุทธรณ์ยังคงพิพากษายืน ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนย่อมถึงที่สุดตามบทบัญญัติดังกล่าว ข้างต้น จำเลยไม่อาจจะฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6056/2544
ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยไม่ใส่ใจในการปฏิบัติตามข้อกำหนด อันเป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขการคุมความประพฤติ จึงให้ยกเลิกการคุมความประพฤติและเปลี่ยนโทษจากการรอการลงโทษจำคุกเป็นไม่รอ การลงโทษ เมื่อจำเลยอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.วิธีการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2522 มาตรา 17 วรรคสอง จำเลยจะฎีกาไม่ได้ ทั้งตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีบทมาตราใดที่บัญญัติให้ผู้พิพากษาซึ่ง พิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ดังเช่นคดีอาญาทั่ว ๆ ไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2898/2532
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ มาตรา 100 บัญญัติว่าถ้าผู้กระทำผิดเป็นข้าราชการหรือพนักงานขององค์การและหน่วยงานของ รัฐ จะต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ร่วมกันกระทำความผิดฐานจำหน่ายเฮโรอีนมีปริมาณเกินกว่า 100 กรัม ซึ่งตามมาตรา 66วรรคสองมีโทษสองสถานคือจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิตเมื่อศาลใช้ดุลพินิจ กำหนดโทษจำคุกตลอดชีวิตแก่จำเลยที่ 1 ที่ 4และที่ 6 แล้ว การที่ศาลกำหนดโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5ที่ 7 และที่ 8 ซึ่งเป็นข้าราชการและพนักงานองค์การและหน่วยงานของรัฐ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษให้สูงกว่าโทษของจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 6 นั่นเอง หาใช่เป็นการเปลี่ยนโทษหรือเพิ่มโทษจากจำคุกตลอดชีวิตเป็นประหารชีวิตไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2076/2545
การเพิ่มโทษอีกหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 นั้น จะต้องกำหนดโทษที่จะลงเสียก่อนแล้วจึงเพิ่มโทษ หลังจากนั้นจึงจะลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 54

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2517/2541
โทษจำคุกที่ผู้กระทำความผิดจะต้องรับมีกำหนดเวลาเพียง 3 เดือน หรือน้อยกว่าดังที่บัญญัติไว้ใน ป.อ.มาตรา 55 ต้องถือเอาโทษจำคุกที่ศาลลงในแต่ละกระทงความผิด จะรวมโทษจำคุกทุกกระทงความผิดในคดีนั้นมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาหาได้ไม่ เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำเลยในแต่ละกระทงความผิด ให้จำคุกไม่เกิน 3 เดือน ศาลจึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจยกโทษจำคุกจำเลยตาม ป.อ.มาตรา 55 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1581/2540
จำเลยถูกจับกุมในวันเวลาเกิดเหตุเดียวกันในข้อหาร่วมกันบุกรุกและมีวัตถุออกฤทธิ์ ไว้ในครอบครอง พนักงานอัยการได้แยกฟ้องคดีร่วมกันบุกรุกเป็นอีกคดีหนึ่ง ซึ่งศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลย6 เดือน ส่วนคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาก่อนคดีดังกล่าวให้จำคุก 6 เดือน รอการลงโทษ 2 ปี และคุมความประพฤติไว้การที่จำเลยมิได้ไปรายงานตัวในครั้งที่ 3 ถึงครั้งที่ 5ในคดีนี้ก็เพราะเหตุถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำ จึงไม่เป็นการจงใจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขคุมความประพฤติตามที่ศาล ชั้นต้นกำหนด และกรณีมิใช่จำเลยกระทำความผิดขึ้นอีกหลังจากที่มีคำพิพากษาในคดีนี้แล้ว ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาคดีนี้จากรอการลงโทษเป็นให้ลงโทษที่รอไว้แก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 57 หาได้ไม่