ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน

มาตรา ๒๑๗  ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาท ถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๒๑๘  ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ดังต่อไปนี้
(๑) โรงเรือน เรือ หรือแพที่คนอยู่อาศัย
(๒) โรงเรือน เรือ หรือแพอันเป็นที่เก็บหรือที่ทำสินค้า
(๓) โรงมหรสพหรือสถานที่ประชุม
(๔) โรงเรือนอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นสาธารณสถาน หรือเป็นที่สำหรับประกอบพิธีกรรมตามศาสนา
(๕) สถานีรถไฟ ท่าอากาศยาน หรือที่จอดรถหรือเรือสาธารณะ
(๖) เรือกลไฟ หรือเรือยนต์ อันมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป อากาศยาน หรือรถไฟที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะ
ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี

มาตรา ๒๑๙  ผู้ใดตระเตรียมเพื่อกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรา ๒๑๗ หรือมาตรา ๒๑๘ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับพยายามกระทำความผิดนั้น ๆ

มาตรา ๒๒๐  ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใด ๆ แม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท

ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๑๘ ผู้กระทำต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๑๘
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๒๒๑  ผู้ใดกระทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น หรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๒๒๒  ผู้ใดกระทำให้เกิดระเบิดจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ทรัพย์ดังกล่าวในมาตรา ๒๑๗ หรือมาตรา ๒๑๘ ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ

มาตรา ๒๒๓  ความผิดดังกล่าวในมาตรา ๒๑๗ มาตรา ๒๑๘ มาตรา ๒๒๐ มาตรา ๒๒๑ หรือมาตรา ๒๒๒ นั้น ถ้าทรัพย์ที่เป็นอันตราย หรือที่น่าจะเป็นอันตรายเป็นทรัพย์ที่มีราคาน้อย และการกระทำนั้นไม่น่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๒๒๔  ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรา ๒๑๗ มาตรา ๒๑๘ มาตรา ๒๒๑ หรือมาตรา ๒๒๒ เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

ถ้าเป็นเหตุให้บุคคลอื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี

มาตรา ๒๒๕  ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท และเป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย หรือการกระทำโดยประมาทนั้นน่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๒๒๖  ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ แก่โรงเรือน อู่เรือ ที่จอดรถ หรือเรือสาธารณะ ทุ่นทอดจอดเรือ สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักร เครื่องกล สายไฟฟ้าหรือสิ่งที่ทำไว้เพื่อป้องกันอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ จนน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๒๒๗  ผู้ใดเป็นผู้มีวิชาชีพในการออกแบบ ควบคุม หรือทำการก่อสร้าง ซ่อมแซมหรือรื้อถอน อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ หรือวิธีการอันพึงกระทำการนั้น ๆ โดยประการที่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๒๒๘  ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อให้เกิดอุทกภัย หรือเพื่อให้เกิดขัดข้องแก่การใช้น้ำซึ่งเป็นสาธารณูปโภค ถ้าการกระทำนั้นน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำผิดดังกล่าวในวรรคแรกเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๒๒๙  ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ทางสาธารณะ ประตูน้ำ ทำนบ เขื่อน อันเป็นส่วนของทางสาธารณะ หรือที่ขึ้นลงของอากาศยาน อยู่ในลักษณะอันน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่การจราจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๒๓๐  ผู้ใดเอาสิ่งใด ๆ กีดขวางทางรถไฟหรือทางรถราง ทำให้รางรถไฟหรือรางรถรางหลุด หลวมหรือเคลื่อนจากที่ หรือกระทำแก่เครื่องสัญญาณจนน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่การเดินรถไฟหรือรถราง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๒๓๑  ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ประภาคาร ทุ่น สัญญาณ หรือสิ่งอื่นใด ซึ่งจัดไว้เป็นสัญญาณเพื่อความปลอดภัยในการจราจรทางบก การเดินเรือหรือการเดินอากาศ อยู่ในลักษณะอันน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่การจราจรทางบก การเดินเรือหรือการเดินอากาศ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๒๓๒  ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ยานพาหนะดังต่อไปนี้ อยู่ในลักษณะอันน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคล
(๑) เรือเดินทะเล อากาศยาน รถไฟหรือรถราง
(๒) รถยนต์ที่ใช้สำหรับการขนส่งสาธารณะ หรือ
(๓) เรือกลไฟ หรือเรือยนต์อันมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ที่ใช้สำหรับการขนส่งสาธารณะ
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๒๓๓  ผู้ใดใช้ยานพาหนะรับจ้างขนส่งคนโดยสาร เมื่อยานพาหนะนั้นมีลักษณะหรือมีการบรรทุกจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในยานพาหนะนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๒๓๔  ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ แก่สิ่งที่ใช้ในการผลิต ในการส่งพลังงานไฟฟ้าหรือในการส่งน้ำ จนเป็นเหตุให้ประชาชนขาดความสะดวก หรือน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๒๓๕  ผู้ใดกระทำการด้วยประการใด ๆ ให้การสื่อสารสาธารณะทางไปรษณีย์ ทางโทรเลข ทางโทรศัพท์ หรือทางวิทยุขัดข้อง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๒๓๖  ผู้ใดปลอมปนอาหาร ยาหรือเครื่องอุปโภคบริโภคอื่นใด เพื่อบุคคลอื่นเสพย์หรือใช้ และการปลอมปนนั้นน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพ หรือจำหน่าย หรือเสนอขาย สิ่งเช่นว่านั้นเพื่อบุคคลเสพย์หรือใช้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๒๓๗  ผู้ใดเอาของที่มีพิษหรือสิ่งอื่นที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือลงในอาหาร หรือในน้ำซึ่งอยู่ในบ่อ สระหรือที่ขังน้ำใด ๆ และอาหารหรือน้ำนั้นได้มีอยู่หรือจัดไว้เพื่อประชาชนบริโภค ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๒๓๘  ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๒๒๖ ถึงมาตรา ๒๓๗ เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท

ถ้าเป็นเหตุให้บุคคลอื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๒๓๙  ถ้าการกระทำดังกล่าวในมาตรา ๒๒๖ ถึงมาตรา ๒๓๗ เป็นการกระทำโดยประมาท และใกล้จะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13923/2557
การที่จำเลยที่ 1 ร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง แล้วใช้วัตถุระเบิดดังกล่าวปาใส่บุคคลที่นั่งชมการแสดงหมอลำจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ได้รับอันตรายสาหัส และผู้เสียหายที่ 4 ถึงที่ 8 ได้รับอันตรายแก่กาย เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกันโดยจำเลยที่ 1 มีเจตนาเดียวคือกระทำให้เกิดระเบิดเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย กับผู้เสียหายที่ 2 ถึงที่ 8 ได้รับอันตรายสาหัสและอันตรายแก่กาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้และฐานใช้วัตถุระเบิดดังกล่าวในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ฐานกระทำให้เกิดระเบิดเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตายและรับอันตรายสาหัส ฐานฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8584/2547
จำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกใช้ผ้าปิดปากขวดที่บรรจุน้ำมันและจุดไฟโยนเข้าไปในบริเวณสถานีบริการน้ำมัน จนเกิดระเบิดและน่าจะเกิดความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นการกระทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น เป็นความผิดสำเร็จตาม ป.อ. มาตรา 221 แล้ว กฎหมายหาได้บัญญัติว่าต้องกระทำโดยใช้วัตถุและต้องเกิดความเสียหายเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่นด้วยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4622/2557
คดีนี้โจทก์ร่วมทั้งสองร้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่ทรัพย์สินมาด้วย ซึ่งเป็นคำขอบังคับในคดีส่วนแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง และมาตรา 47 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ แม้จำเลยที่ 2 มิได้กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ทรัพย์สินของโจทก์ร่วมทั้งสองเสียหาย แต่ข้อเท็จจริงก็ได้ความว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดงานเลี้ยงฉลองเทศกาลปีใหม่ขึ้นที่บ้านของตนเอง การจุดพลุเป็นพิธีการส่วนหนึ่งของการเปิดงาน การที่จำเลยที่ 2 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ทำการจุดพลุ อันเป็นสัญญาณเริ่มต้นเปิดงานต้องถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการจุดพลุเปิดงานเลี้ยงฉลองเทศกาลปีใหม่ที่จำเลยที่ 2 จัดให้มีขึ้น เมื่อจำเลยที่ 1 ทำการจุดพลุโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ทรัพย์สินของโจทก์ร่วมทั้งสองเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ร่วมทั้งสอง จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการย่อมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำไปตามคำสั่งที่จำเลยที่ 2 ใช้ให้กระทำแทนจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 ประกอบมาตรา 427 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมทั้งสองด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8064/2556
ผู้เสียหายมีอาชีพทำฟาร์มโค ฟางอัดแท่งที่เก็บอยู่ในโรงเก็บฟาง ไม่ใช่สินค้าที่มีไว้เพื่อการค้าของผู้เสียหาย แต่น่าจะมีไว้เลี้ยงโคผู้เสียหายเองมากกว่า โรงเก็บฟางที่จำเลยวางเพลิงจึงมิใช่โรงเรือนอันเป็นที่เก็บสินค้าตามความหมายของมาตรา 218 (2) แต่เป็นทรัพย์ทั่วไปของผู้อื่นตามมาตรา 217

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15335 - 15336/2555
จำเลยที่ 2 ในฐานะวิศวกรผู้ควบคุมงานของห้าง ช. มีหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้างทุกวัน แต่กลับมอบหมายให้ อ. และ ส. ซึ่งไม่ใช่วิศวกรเป็นผู้ควบคุมงานแทน โดยตนเองไปควบคุมงานเพียงเดือนละ 1 ครั้ง ทำให้จำเลยที่ 2 ไม่มีเวลาพอในการอ่านทำความเข้าใจแบบแปลนที่จำเลยที่ 1 ออกแบบไว้โดยไม่สมบูรณ์จึงไม่มีการปรึกษาหารือกันในส่วนของรางน้ำ คานและหัวเสาที่ยังขาดรายละเอียด ซึ่งในฐานะวิศวกรเชื่อว่าจำเลยที่ 2 สามารถรู้ได้ว่ายังขาดรายละเอียดอย่างไรเพื่อจัดการเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ปลอดภัยเมื่อก่อสร้าง จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ย่อมเล็งเห็นผลของการไม่ควบคุมงานทุกวันได้ว่า ย่อมเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่นได้ และก็ได้เกิดขึ้นจริงๆ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 227 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5889/2554
จำเลยที่ 1 ร่วมอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงตั้งแต่สิบคนขึ้นไปและเป็นผู้จุดไฟเผาทรัพย์สินของผู้อื่นอันเป็นการเข้าร่วมมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปและกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 215 วรรคสอง 217 และ 358 ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจได้ประกาศผ่านเครื่องกระจายเสียงว่าไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงกระทำผิดกฎหมายซึ่งเป็นการสั่งให้เลิกมั่วสุมในการก่อเหตุวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 ได้มั่วสุมและกระทำการก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 216 ที่มุ่งประสงค์ลงโทษผู้ที่ขัดขืนคำสั่งของเจ้าพนักงานอันเป็นการกระทำที่ยังไม่ถึงขั้นความผิดสำเร็จตามมาตรา 215

การวางเพลิงเผาทรัพย์และทำให้เสียทรัพย์ เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15843/2553
ตาม ป.อ. มาตรา 228 จำเลยจะต้องมีเจตนาให้เกิดอุทกภัยโดยตรง จะยกเอาการเล็งเห็นผลของการกระทำตามมาตรา 59 วรรคสอง มาใช้ไม่ได้

ที่นาของผู้เสียหายทั้งสองอยู่สูงกว่าที่นาของจำเลยและมีทางออกสู่คลองส่งน้ำสาธารณะได้ ที่นาของจำเลยซึ่งเป็นที่ลุ่มรองรับน้ำตามธรรมชาติที่ไหลมาจากที่สูงระบายลงสู่คลองส่งน้ำสาธารณะ การที่เจ้าของที่นาของผู้เสียหายที่ 1 ขุดร่องน้ำผ่านที่นาของตนไปยังที่นาของจำเลยทำให้น้ำระบายเข้าสู่ที่นาของจำเลยโดยตรงและไม่ใช่น้ำที่ระบายลงมาสู่ที่ต่ำโดยธรรมชาติ ที่นาของจำเลยจึงมีน้ำท่วมขังตลอดปีเพราะไม่สามารถระบายน้ำออกไปสู่คลองส่งน้ำสาธารณะได้ จำเลยถมดินลงไปในที่นาของตนเองปิดกั้นทางระบายน้ำเพื่อไม่ให้น้ำที่ระบายมาจากร่องระบายน้ำดังกล่าวท่วมที่นาของจำเลย ผู้เสียหายทั้งสองไม่ทำการระบายน้ำออกคลองส่งน้ำสาธารณะซึ่งง่ายและสะดวกกว่าที่จะให้น้ำในที่นาของตนระบายออกโดยทางร่องน้ำที่ขุดขึ้น การกระทำของจำเลยไม่มีเจตนาทำให้เกิดอุทกภัยแก่ที่นาของผู้เสียหายทั้งสองตามมาตรา 228 จึงไม่เป็นความผิด แม้จำเลยมิได้ฎีกาแต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาและเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11963/2553
ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายและครอบครัวย้ายจากบ้านที่เกิดเหตุ ไม่มีใครพักอาศัยอยู่ แต่ผู้เสียหายยังคงไปๆ มาๆ ที่บ้านที่เกิดเหตุ และมีเตียงนอน อุปกรณ์เครื่องนอน โทรทัศน์สีและกระติกน้ำร้อนไฟฟ้าสำหรับใช้ประโยชน์ในการมาพักอาศัยเป็นครั้งคราวอยู่ด้วย จึงรับฟังได้ว่าบ้านที่เกิดเหตุเป็นโรงเรือนที่คนอยู่อาศัย

การกระทำที่จะเป็นความผิดสำเร็จฐานวางเพลิงเผาทรัพย์นั้นไม่หมายความเพียงว่า เอาเพลิงไปวางเท่านั้น หากต้องเป็นการเผาทำให้เกิดเพลิงไหม้ทรัพย์นั้นติดไฟขึ้นด้วย จากสภาพในที่เกิดเหตุ ทรัพย์สินที่ถูกเผาไหม้เสียหายมีเพียงเตียงนอนและเบาะนอน ส่วนฝาบ้านชั้นล่างมีเพียงรอยเกรียม ดำ ยังไม่ไหม้ไฟ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดสำเร็จ คงเป็นความผิดฐานร่วมกันพยายามวางเพลิงเผาโรงเรือนที่คนอยู่อาศัย ตาม ป.อ. มาตรา 218 (1) ประกอบมาตรา 80, 83 เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11118/2553
การที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ร่วมกันรื้อโครงสร้างไม้ห้องแถวของผู้เสียหายมากองรวมกันไว้แล้วนำไปเผาทำลาย มิใช่เผาทำลายในขณะที่ทรัพย์ยังมีสภาพเป็นโครงสร้างไม้ห้องแถวอยู่ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 มีเพียงเจตนาทำให้ทรัพย์นั้นใช้การไม่ได้โดยการรื้อออกมา ส่วนการเผาเป็นเพียงแค่การทำลายชิ้นส่วนที่รื้อออกมาจนตัวทรัพย์ซึ่งใช้การไม่ได้ไปแล้วเท่านั้น จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 จึงไม่มีเจตนาวางเพลิงเผาทรัพย์ การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 จึงเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358 เพียงบทเดียว หาใช่เป็นความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 217 ด้วยไม่ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2757/2552
จำเลยใช้ไฟแช็กแก๊สจุดไฟบริเวณที่ราดน้ำมันซึ่งเป็นพื้นปูนซีเมนต์และประตูหน้า บ้านของผู้เสียหายซึ่งเป็นประตูเหล็ก แต่วัตถุดังกล่าวหาใช่ว่าจะไม่สามารถติดไฟได้เลยอย่างแน่แท้ไม่ เพราะน้ำมันเบนซินเป็นวัตถุไวไฟติดไฟง่ายสามารถเผาผลาญปูนซีเมนต์และเหล็ก ได้ ทั้งเมื่อไฟติดแล้วอาจจะลุกลามกระจายเป็นวงกว้างไปไหม้บ้านของผู้เสียหายได้ การที่จำเลยจุดไฟไม่ติดจึงเป็นเหตุบังเอิญมากกว่า การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานพยายามกระทำความผิดที่ไม่สามารถบรรลุ ผลได้อย่างแน่แท้ตาม ป.อ. มาตรา 81 แต่เป็นความผิดฐานพยายามซึ่งอาจบรรลุผลได้ตาม ป.อ. มาตรา 80

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10823/2551
ตาม ป.อ. ไม่ได้ให้คำนิยามของคำว่า ผู้มีวิชาชีพ ไว้จึงต้องถือตามความหมายที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ให้ความหมายของคำว่า วิชาชีพ หมายถึง อาชีพที่ต้องอาศัยวิชาความรู้ความชำนาญ ส่วนพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายของคำว่า วิชาชีพ หมายถึง วิชาที่จะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น วิชาแพทย์ วิชาช่างไม้ วิชาช่างยนต์ และคำว่า วิชา พจนานุกรมทั้งสองฉบับให้ความหมายว่า ความรู้ ความรู้ที่ได้ด้วยการเล่าเรียนหรือฝึกฝน ดังนั้น คำว่า ผู้มีวิชาชีพ จึงหมายถึง ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องอาศัยวิชาความรู้ความชำนาญหรือผู้ที่มีความรู้ซึ่งอาจ ได้จากการเล่าเรียนโดยตรงหรือจากการทำงานอันเป็นการฝึกฝนในการประกอบอาชีพ เป็นปกติธุระก็ได้ ผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 227 จึงไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ที่ได้เล่าเรียนมาโดยตรงเพื่อเป็นสถาปนิก วิศวกร หรือโฟร์แมน (หัวหน้าคนงาน) บริษัทจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการเพียงคนเดียว ในการรับเหมาก่อสร้างบ้านให้แก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 3 เป็นผู้ทำการแทนจำเลยที่ 1 ตลอดมาตั้งแต่ก่อนทำสัญญารับเหมาก่อสร้างและรับผิดชอบการก่อสร้างในฐานะเป็น เจ้าของกิจการบริษัทจำเลยที่ 1 ทั้งเป็นผู้ทำการแก้ไขแบบแปลนการก่อสร้างเพื่อให้การก่อสร้างเสียค่าใช้จ่าย น้อยลง ดังนี้แม้จำเลยที่ 3 จะไม่ได้จบการศึกษาทางด้านการก่อสร้างอาคารก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 มีความรู้ความชำนาญและใช้ความรู้ด้านการก่อสร้างในการประกอบอาชีพเป็นปกติธุระ จำเลยที่ 3 จึงเป็นผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ ตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 227

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3793/2543
จำเลย ที่ 1 เป็นวิศวกรผู้คำนวณโครงสร้างการรับน้ำหนักของอาคารจำเลยที่ 9 ในการปลูกสร้างย่อมต้องทราบดีอยู่แล้วว่าอาคารดังกล่าวได้กำหนดการรับ น้ำหนักไว้เพียง 4 ชั้นรวมชั้นใต้ดิน แต่จำเลยที่ 1 กลับมาคำนวณออกแบบต่อเติมอาคารโดยที่ทราบดีอยู่แล้วว่าอาคารเดิมรับน้ำหนัก ส่วนที่ต่อเติมไม่ได้และยังใช้ฐานรากและเสาในแนวซีซึ่งออกแบบให้รับน้ำหนัก ไว้เพียง 2 ชั้นเป็นจุดเชื่อมต่ออาคารเดิมและอาคารที่ต่อเติม ทำให้น้ำหนักของอาคารทั้งหมดถ่ายเทลงสู่เสาและฐานรากในแนวซีให้ต้องรับ น้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังเบิกความและยอมรับในฎีกาว่าได้ดูแบบแปลนของอาคารเดิมดูสภาพของอาคารที่มี อยู่เดิมและทราบว่าเสาในแนวซีต้นที่ 176 มีขนาด และส่วนประกอบผิดไปจากแปลน เช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามวิธีการอันพึงกระทำในการออกแบบเพราะเดิมจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ออกแบบ เมื่อพบเห็นสภาพอาคารก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนเช่นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาข้อมูลที่ถูกต้องให้ได้มากที่สุดว่าโครงสร้าง อาคารเดิมมั่นคงแข็งแรงพอจะรับน้ำหนักอาคารในส่วนที่ต่อเติมได้อีกหรือไม่ โดยการสอบถามหรือขอข้อมูลเดิมจากสถาปนิกและวิศวกรที่ออกแบบและคำนวณโครง สร้างอาคารเดิม แต่จำเลยที่ 1 ก็หาได้ทำเช่นนั้นไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้เหตุที่อาคารจำเลยที่ 9 พังทลายจนเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตายก็เป็นเพราะจำเลยที่ 1 คำนวณออกแบบโครงสร้างและการรับน้ำหนักของอาคารไว้ไม่ถูกต้องตามหลักวิชา วิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 โดยตรง การกระทำของจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227 ประกอบกับมาตรา 238

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8584/2547
จำเลย ที่ 1 และที่ 3 กับพวกใช้ผ้าปิดปากขวดที่บรรจุน้ำมันและจุดไฟโยนเข้าไปในบริเวณสถานีบริการ น้ำมัน จนเกิดระเบิดและน่าจะเกิดความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นการกระทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้ อื่น เป็นความผิดสำเร็จตาม ป.อ. มาตรา 221 แล้ว กฎหมายหาได้บัญญัติว่าต้องกระทำโดยใช้วัตถุและต้องเกิดความเสียหายเป็น อันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่นด้วยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 722/2545
ทรัพย์ที่เป็นอันตรายจากการวางเพลิงของจำเลยเป็นเพียงประตูบ้านซึ่งทำด้วยไม้มะค่า และต้นไม้ประดับ คิดเป็นเงินประมาณ 5,000 บาท ถือได้ว่าเป็นทรัพย์ที่มีราคาน้อย และขณะเกิดเหตุผู้เสียหายก็อยู่ในที่เกิดเหตุและสามารถดับไฟได้ทัน การกระทำของจำเลยจึงไม่น่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น กรณีเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218(1) ประกอบด้วยมาตรา 223

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8746/2543
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 218 (1) โดยศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน เมื่อปรากฏว่า กระท่อมนาและทรัพย์สินที่ถูกเพลิงไหม้มีราคาเพียงเล็กน้อย ทั้งกระท่อมนาดังกล่าวปลูกอยู่กลางทุ่งนา รอบกระท่อมนาไม่มีบ้านเรือนบุคคลอื่นอยู่ และขณะเกิดเหตุกระท่อมนาไม่มีบุคคลอยู่อาศัย ย่อมไม่อาจเป็นอันตรายต่อบุคคลอื่นได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 223 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนโดยไม่ได้แก้ไข จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5175 - 5176/2543
แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยาน แต่เจ้าพนักงานตำรวจพบจำเลยทั้งสามในบริเวณใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุวางเพลิง เผาทรัพย์เกือบจะทันทีทันใดภายหลังเกิดเหตุโดยมีอุปกรณ์ซึ่งสามารถใช้ในการ กระทำผิด อุปกรณ์บางอย่างเก็บไว้ในที่ซึ่งบุคคลทั่วไปไม่ใช้เป็นที่เก็บ โดยเศษผ้าลายชุบน้ำมัน 2 ผืนอยู่ในกระเป๋ากางเกงของจำเลยที่ 2 และตามเนื้อตัวเสื้อผ้าของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีรอยเปื้อนน้ำมัน นอกจากนี้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์โดยไม่เปิดไฟหน้าในลักษณะคล้ายกับกระทำผิดมาแล้วจะหลบหนี เมื่อเห็นจุดตรวจจำเลยที่ 2 ได้ขว้างขวดทิ้ง จากการตรวจพบว่าเป็นขวดแก้วมีคราบน้ำมันเป็นพิรุธถือได้ว่าพยานโจทก์เป็น พยานแวดล้อม กรณีบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นตาม ฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 115/2542
เมื่อเกิดเพลิงไหม้แล้วมีจำเลยคนเดียวเท่านั้นที่เดินออกมาจากที่เกิดเหตุเพลิง ไหม้โดยที่เกิดเหตุ มีเศษผ้าที่มีกลิ่นน้ำมันเหลือเป็นเศษให้เห็นอยู่ และจากการ จุดไฟวางเพลิงนี้เองทำให้ไฟไหม้ข้อเท้าทั้งสองข้างของจำเลย บาดแผลที่เกิดจากไฟไหม้จึงปรากฏให้เห็นเป็นรอยแผลสดอยู่ โดยในวันรุ่งขึ้นจำเลยได้ไปทำการรักษาบาดแผลนี้ จึงมิใช่ เป็นเหตุบังเอิญที่จำเลยถูกน้ำร้อนลวกในคืนเกิดเหตุ แล้ววันรุ่งขึ้นจึงได้ไปทำการรักษาดังที่จำเลยอ้าง และที่จำเลยวางเพลิงรถของผู้เสียหายก็เพราะจำเลยโกรธ ที่ผู้เสียหายกีดกันไม่ให้จำเลยคืนดีกับพี่สาวของผู้เสียหาย นั่นเอง ฉะนั้น เมื่อรถที่จำเลยวางเพลิงอยู่ในโรงเก็บรถ ซึ่งอยู่ติดกับอาคารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภัตตาคารและเป็น อาคารที่อยู่อาศัยของผู้เสียหายกับพวกแล้วจำเลยย่อม เล็งเห็นว่าเพลิงนั้นย่อมลุกลามไปเผาผลาญอาคาร ที่ตั้งภัตตาคารและที่ผู้เสียหายกับพวกอยู่อาศัยนั้นด้วย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบรับฟังได้แจ้งชัดว่าจำเลย เป็นผู้วางเพลิงรถของผู้เสียหายและพยายามวางเพลิงอาคาร ที่ผู้เสียหายกับพวกอยู่อาศัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7547/2542
โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1(ข) โดยสรุปว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันดัดแปลงต่อเติมเรือเอี้ยมจุ๊นซึ่งมิใช่เรือที่ทำขึ้น สำหรับขนส่งคนโดยสารโดยไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการและไม่ได้มาตรฐานโดยต่อเติม ชั้นสองของเรือเป็นดาดฟ้าให้บรรทุกขนส่งคนโดยสารได้ ส่วนของโครงหลังคาชั้นสองมีเสาเหล็กรองรับ 17 ต้น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว พื้นดาดฟ้าชั้นสองเป็นเหล็กแผ่นเรียบ หนาประมาณ 1 หุน ยึดติดกับเสาเหล็กไม่แข็งแรง คานรับดาดฟ้าเล็ก และดาดฟ้าสูงจากพื้นชั้นล่าง 2.10 เมตร ซึ่งสูงเกินไปไม่สามารถบรรทุกคนโดยสารได้อย่างปลอดภัยและไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ ที่เจ้าพนักงานกรมเจ้าท่าจะออกใบอนุญาตใช้เรือให้เป็นเรือรับจ้างขนส่งคน โดยสารได้และตามวันเวลาในฟ้องข้อ 1 จำเลยทั้งห้าใช้เรือลำเกิดเหตุบรรทุกคนโดยสารมากถึง 70 คน ซึ่งลักษณะและการบรรทุกน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือ แล้วแล่นไปในบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์และการกระทำของจำเลยทั้งห้า เป็นความประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งจำเลยทั้งห้าจักต้องมีตามวิสัยและ พฤติการณ์ แต่จำเลยทั้งห้าหาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ เมื่อดาดฟ้าชั้นสองไม่สามารถรับน้ำหนักคนโดยสารเป็นจำนวนมากหักลง เรือเสียการทรงตัวและพลิกคว่ำเป็นเหตุให้คนโดยสารจมน้ำตาย 39 คน ดังนี้ คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งห้าได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งห้า เข้าใจข้อหาได้ดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) และครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 233 และองค์ประกอบของการกระทำโดยประมาทตามมาตรา 59 วรรคสี่ คำฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

แม้การตกลงว่าจ้างเรือทั้งสองลำกระทำในคราวเดียวกันและมีวัตถุประสงค์อย่าง เดียวกัน แต่เรือที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ใช้กระทำความผิดในคดีนี้กับเรือที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ใช้กระทำความผิดในคดีอาญาของศาลแขวงขอนแก่น เป็นเรือคนละลำกัน สามารถแยกการกระทำออกจากกันได้กรณีจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ฉะนั้น แม้ศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในคดีอาญาของศาลแขวงขอนแก่น โจทก์ก็ยังมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2และที่ 4 ในคดีนี้ หาเป็นฟ้องซ้ำไม่

พยานโจทก์ทั้งสองจบการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือ หลักสูตร 5 ปี เรือโท ส. รับราชการที่กรมเจ้าท่าในตำแหน่ง เจ้าพนักงานตรวจเรือเป็นเวลาประมาณ 3 ปี มีหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจเรือมาโดยตลอด ส่วนเรือเอก ช. รับราชการเป็นเจ้าท่าภูมิภาคที่ 7 มีตำแหน่งเป็นเจ้าพนักงานตรวจเรือตั้งแต่ปี 2510 ถึง 2530 พยานทั้งสองจึงเป็นผู้ชำนาญการพิเศษในการตรวจเรือความเห็นของพยานทั้งสองจึง เป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยชี้ขาดและมีน้ำหนักให้รับฟังได้

จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมทุนกันซื้อเรือลำเกิดเหตุซึ่งเป็นเรือเอี้ยมจุ๊นมาต่อเติมดัดแปลงเป็น เรือสองชั้นเพื่อรับจ้างขนส่งคนโดยสารไปชมทิวทัศน์ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบล รัตน์ โดยจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ยื่นขอใบอนุญาตใช้เรือต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ดูแลเขื่อนอุบลรัตน์ จำเลยที่ 3มีหน้าที่จัดหาผู้โดยสารเรือ จำเลยที่ 4 มีหน้าที่ออกแบบต่อเติมเรือและได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ควบคุมเรือลำเกิดเหตุซึ่งมีลักษณะน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือนั้น ไปใช้รับจ้างขนส่งคนโดยสารด้วยการบรรทุกจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือ นั้น จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 233 ประกอบด้วยมาตรา 83เมื่อการกระทำนั้นเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4จึงต้องรับโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 238 วรรคหนึ่ง

จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ใช้เรือลำเกิดเหตุรับจ้างขนส่งคนโดยสารโดยเจตนาจนน่าจะเกิดอันตรายแก่บุคคล ในเรือนั้น อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 233 กรณีไม่ใช่กระทำโดยประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสี่ ซึ่งจะต้องเป็นการกระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แม้ผลแห่งการกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตายอันนอกเหนือจากเจตนาที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 238 วรรคหนึ่ง ก็บัญญัติให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 รับโทษหนักขึ้นในผลแห่งการกระทำความผิดตามมาตรา 233จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่มีความผิดฐานกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ ความตายอีกบทหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6666/2542
การที่จำเลยดึงรั้วไม้ไผ่ผ่าซีกที่ยึดติดเป็นแผงซึ่งเป็นรั้วบ้านของโจทก์ร่วม ที่ 1 แล้วนำไปเผาทำลายนั้น เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 เพียงบทเดียวมิใช่กระทำผิดหลายบท เพราะจำเลยมีเจตนาจะทำลายรั้วไม้ไผ่ที่ปักติดเป็นแผงโดยนำไปเผาให้ใช้การได้ เท่านั้น การเผาแผงไม้ไผ่นั้นเป็นการทำลายทรัพย์ของโจทก์ร่วมที่ 1 ให้เสียหาย มิใช่วางเพลิงเผาทรัพย์รั้วบ้านของโจทก์ร่วมที่ 1 เนื่องจากจำเลยมิได้วางเพลิงเผาแผงไม้ไผ่ในขณะที่มีสภาพเป็นรั้วบ้านกั้นขอบ เขตเป็นที่อยู่อาศัย ของโจทก์ร่วมที่ 1 อันจะต้องด้วยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 ราคาทรัพย์ที่เสียหายมีเพียง 1,000 บาท และเป็นความผิดทางอาญาไม่ร้ายแรง ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษอาญามาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลย โดยรอการลงโทษจำคุกเพื่อให้กลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป ดีกว่าจะพิพากษาลงโทษจำคุกซึ่งอาจไม่เป็นผลดีหรือไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมใน การแก้ไขความประพฤติของจำเลย แต่เพื่อให้หลาบจำ ให้ปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5710/2541
จำเลยซึ่งเป็นผู้จุดไฟจนเกิดไฟไหม้บ้านเป็นเจ้าของ บ้านเกิดเหตุรวมอยู่ด้วยและเนื่องจากบทบัญญัติมาตรา 218 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เป็นเหตุฉกรรจ์ของมาตรา 217 โดย มาตรา 218 บัญญัติให้ผู้กระทำความผิดต่อทรัพย์ที่ระบุไว้ ในมาตรา 218(1) ถึง (6) ต้องได้รับโทษหนักขึ้น ดังนั้น การกระทำอันมิได้เป็นความผิดตามมาตรา 217 แม้กระทำต่อ ทรัพย์ที่ระบุในมาตรา 218 ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิดเช่นกัน เมื่อมาตรา 217 บัญญัติไว้แต่เพียงว่า การวางเพลิงเผาทรัพย์ ของผู้อื่นเป็นความผิดโดยไม่มีข้อความว่า "หรือผู้อื่น เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย" ก็เป็นความผิดแล้ว จึงต้อง ตีความคำว่า "ทรัพย์ของผู้อื่น" โดยเคร่งครัด เพราะเป็น การตีความบทกฎหมายที่มีโทษทางอาญา มิอาจตีความขยายความ ออกไปให้รวมถึงทรัพย์ที่ผู้อื่นมีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เพื่อให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยหรือผู้ต้องหาได้ ฉะนั้น เมื่อจำเลยเป็นเจ้าของบ้านเกิดเหตุรวมอยู่ด้วย การกระทำของ จำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 217 และย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 218(1) เช่นเดียวกัน การที่โจทก์ฎีกาว่าหากศาลฎีกาฟังว่าจำเลยไม่มีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218(1) ก็เป็นความผิดตาม มาตรา 220 วรรคสอง แต่เมื่อพิจารณาความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 แล้ว กรณีจะต้องเป็นการกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใด ๆ แม้เป็นของผู้กระทำเองจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น ซึ่งโจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้อง จึงต้องห้ามมิให้พิพากษาลงโทษตามบทบัญญัติดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4548/2540
จำเลย ที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกรวม 6 คน ร่วมกันวางแผนไปกระทำการปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 2 อันเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญาจึงมีความผิดฐานเป็นซ่องโจร และเมื่อจำเลยที่ 4 กับพวกไปปล้นร้านทองของผู้เสียหายที่ 2 ตามแผนที่ร่วมกันวางไว้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ผู้ร่วมงานแผนย่อมมีความผิดฐานเป็นตัวการปล้นร้านทองร่วมกับจำเลยที่ 4 กับพวกด้วย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 213 และความผิดฐานเป็นซ่องโจรกับความผิดฐานปล้นทรัพย์เกี่ยวเนื่องกันเพราะพวก จำเลยกระทำผิดฐานเป็นซ่องโจรเพื่อจะไปปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสองจึง เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานปล้นทรัพย์อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5827/2540
เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218(1),80 แล้ว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 อีก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 วรรคสอง ที่บัญญัติว่าผู้ใดพยายามกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษ สองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น หมายถึงการกำหนดโทษที่จะลงโดยคำนวณโทษจากสองในสามของอัตราโทษที่กฎหมายกำหนด หาใช่ต้องกำหนดโทษความผิดสำเร็จก่อนไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5280/2540
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดฐานกระทำให้เกิด เพลิงไหม้โดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหายตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 225ที่จำเลยฎีกาเพียงว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง เป็นฎีกาที่ไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ชัดแจ้งว่าจำเลยไม่เห็นด้วย กับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อย่างไร ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คำฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยมีเจตนาจุดไฟเผากิ่งมะนาวแห้งในสวนมะนาวของบิดาจำเลย จนเป็นเหตุให้เกิดเพลิงลุกลามไหม้โรงเรือนซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของผู้เสีย หายซึ่งเป็นโจทก์ร่วมทั้งสอง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 จำเลยให้การปฏิเสธ และนำสืบต่อสู้ทำนองว่า เหตุที่เกิดเพลิงไหม้โรงเรือนที่อยู่อาศัยของโจทก์ร่วมทั้งสองมิใช่การกระทำ ของจำเลย เมื่อศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โรงเรือนที่อยู่อาศัยของผู้เสีย หาย แต่เป็นการกระทำโดยประมาท จึงลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทเป็นเหตุให้ ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 225 ดังนี้ เป็นกรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสามซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ โดยมิให้ถือว่าต่างกันในสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่อง ที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษแล้ว ไม่เข้ากรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสี่จำเลยจึงไม่อาจอ้างได้ว่าโจทก์มิได้ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิด ฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 976/2539
ป.อ. มาตรา 218 เป็นบทฉกรรจ์ของมาตรา 217 ซึ่งการกระทำจะเป็นความผิดตามมาตรา 217 จะต้องเป็นการวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นจะตีความให้รวมไปถึงทรัพย์ที่ผู้ อื่นมีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยหาได้ไม่ เพราะมาตราดังกล่าวไม่มีข้อความว่า "หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย" บัญญัติไว้การตีความบทกฎหมายที่มีโทษทางอาญาจะต้องตีความโดยเคร่งครัด จะขยายความไปถึงกรณีที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในตัวบทโดยชัดแจ้งอันจะเป็นผลร้าย แก่จำเลยหาได้ไม่เพราะจะขัดต่อความรับผิดของบุคคลในการรับโทษทางอาญา ตาม ป.อ. มาตรา 2วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 145/2539
พยานโจทก์เบิกความประกอบกันรับฟังได้ว่าลูกจ้างของจำเลยจุดไฟเผากองไม้ในที่ดิน ของจำเลยโดยจำเลยยืนสั่งการกำกับการเผาอยู่อย่างใกล้ชิดถือว่าจำเลยร่วมจุด ไฟเผากองไม้ด้วยเมื่อไม่อาจกันไม่ให้ไฟลุกลามไปติดที่ข้างเคียงได้เป็นเหตุ ให้ไฟลุกลามไหม้ทรัพย์ของโจทก์ร่วมทั้งสี่จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญามาตรา225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4925/2538
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยใช้น้ำหัวเชื้อทางเคมีผสมกับวัตถุทางเคมีจนเป็นแชมพูโดย ไม่ได้รับอนุญาตแล้วบรรจุขวดแชมพูที่มีชื่อรูปรอยประดิษฐ์เป็นเครื่องหมาย การค้า วิดัลแซสซูน เครื่องหมาย แพนทีนโปรวี เครื่องหมายอักษรโรมัน ปาล์มโอลีฟออพติมา และเครื่องหมาย รีจอยส์ อันเป็นเครื่องหมายการค้าและใช้ในการประกอบการค้าของบริษัท ริชาร์ดวินสันวิคส์อิงค์ ของบริษัท คอลเกตปาล์มโอลีฟฯ และของบริษัท เดอะพร็อคเตอร์แอนด์แกรมเบิลฯซึ่งได้จดทะเบียนในประเทศ สหรัฐอเมริกา เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าและการค้าของบริษัทดังกล่าวข้างต้น และ จำหน่ายแก่ประชาชนเมื่อนำไปใช้แล้วจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพผู้บริโภคเป็นการ บรรยายครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา236,272และชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา158(5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1281 - 1282/2538
จำเลย ที่ 2 ถึงที่ 4 ตกลงกันเป็นหุ้นส่วนซื้อเรือเอี้ยมจุ๊นมาต่อเติมดัดแปลงเพื่อใช้ ประโยชน์ร่วมกันในกิจการท่องเที่ยวโดยจำเลยที่2มีหน้าที่ไปติดต่อขอซื้อเรือ ของกลางและเรือลำที่เกิดพลิกคว่ำจำเลยที่3มีหน้าที่เกี่ยวกับการติดต่อจด ทะเบียนและขออนุญาตใช้เรือจำเลยที่4มีหน้าที่ในการออกแบบและต่อเติมเรือทั้ง สองลำให้เป็นสองชั้นและได้จ้างจำเลยที่1ขับเรือของกลางซึ่งมีลักษณะน่าจะ เป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือไปในการรับจ้างขนส่งคนโดยสารด้วยการบรรทุกจนน่า เป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือนั้นจึงเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกระทำความผิด ด้วยกันตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา83 องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา233ที่ว่าน่าจะเป็นอันตรายแก่ บุคคลในยานพาหนะไม่ใช่ผลของการกระทำจำเลยใช้เรือรับจ้างขนส่งคนโดยสารเมื่อ เรือนั้นมีลักษณะหรือมีการบรรทุกจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือนั้นแม้ ยังไม่มีความเสียหายก็ถือเป็นความผิดสำเร็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2143/2536
จำเลยเอายาเบื่อหนูใส่ในโอ่งน้ำดื่มของผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายทราบเสียก่อนไม่ยอมดื่มน้ำดังกล่าวผู้เสียหายจึงไม่ถึงแก่ความ ตาย การกระทำของจำเลยเข้าลักษณะเป็นการปลอมปนเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อบุคคลอื่น เสพหรือใช้และการปลอมปนนั้นน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพ จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 236 และมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80กรณีเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 ซึ่งเป็นบทหนักตามมาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5364/2536
การวางเพลิงเผาทรัพย์ที่ผู้เสียหายเป็นเจ้าของรวมกับจำเลยไม่เป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218 เพราะความผิดตามมาตรา 218 เป็นบทฉกรรจ์ของมาตรา 217 ดังนั้นถ้าการกระทำมิได้เป็นความผิด ตามมาตรา 217 แล้วแม้กระทำต่อทรัพย์ ตามมาตรา 218ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิด ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 ไม่มีข้อความว่า "หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย" จะตีความคำว่า "ทรัพย์ของผู้อื่น"ให้รวมถึงทรัพย์ที่ผู้อื่นมีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ย่อมมิได้เพราะการตีความกฎหมายที่มีโทษทางอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้เสียหายโดยมิได้ระบุว่าการ กระทำของจำเลยน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ของบุคคลอื่นอันจะเป็นความ ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220ย่อมเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158(5)แม้จำเลยมิได้หลงต่อสู้ ก็ลงโทษจำเลยตามมาตรานี้มิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 129/2532
สาเหตุน้ำท่วมนาของโจทก์เนื่องมาจากฝนตกเร็วกว่าปกติและมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าปี ก่อน ๆ ซึ่งจำเลยไม่สามารถทราบล่วงหน้าได้ การที่จำเลยก่อสร้างซ่อมแซมทำนบที่กั้นลำห้วยสาธารณะเพื่อกักน้ำไว้เลี้ยง สัตว์น้ำให้ราษฎรจับเป็นอาหารในฤดูแล้ง จำเลยไม่มีเจตนาทำให้เกิดอุทกภัยหรือทำให้ทรัพย์ของโจทก์เสียหาย จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 228 และ 359

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2190/2531
จำเลยทั้งสองจุดไฟเผาไม้ในที่ดินของตนจนน่าจะเป็นอันตรายแก่สวนยางพาราของผู้อื่น กับมิได้เตรียมป้องกันมิให้เพลิงลุกลามไปไหม้สวนยางพาราข้างเคียง เพียงใช้ไม้ตีไฟให้ดับเท่านั้น ไม่เป็นการระมัดระวังอย่างเพียงพอเมื่อดับไฟไม่ได้และไฟได้ลุกลามไปไหม้สวน ยางพาราของผู้เสียหายจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 วรรคแรก และ 225เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 234/2528
ปกติลูกระเบิดเป็นอาวุธร้ายแรง เมื่อถอดสลักลูกระเบิดหรือสลักนิรภัยออกแล้วย่อมจะต้องระเบิดขึ้นทำอันตราย แก่ชีวิตและทรัพย์สินได้จำเลยทำให้เกิดระเบิดโดยเจตนาฆ่าตัวตายเป็นเหตุให้ ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหายย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 222

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 119/2516
มีการตัดถนนสาธารณะกว้าง 8 เมตร โดยยกร่องพูนดิน ใช้เป็นทางคนเดิน ทางเกวียน ทางรถยนต์ ถนนนี้ได้ทำผ่านที่ของราษฎรหลายราย รวมทั้งของจำเลยด้วย โดยราษฎรและจำเลยยินยอมยกที่ดินตอนที่ถนนตัดผ่านให้ตัดถนนเพื่อใช้เป็นทาง สาธารณะ เมื่อจำเลยทำคันดินขวางถนนอันเป็นทางสาธารณะดังกล่าวให้อยู่ในลักษณะอันน่า จะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่การจราจรจำเลยจึงมีความผิดมาตรา 229