วิธีการเพื่อความปลอดภัย

มาตรา ๓๙  วิธีการเพื่อความปลอดภัย มีดังนี้
(๑) กักกัน
(๒) ห้ามเข้าเขตกำหนด
(๓) เรียกประกันทัณฑ์บน
(๔) คุมตัวไว้ในสถานพยาบาล
(๕) ห้ามการประกอบอาชีพบางอย่าง

มาตรา ๔๐  กักกัน คือการควบคุมผู้กระทำความผิดติดนิสัยไว้ภายในเขตกำหนด เพื่อป้องกันการกระทำความผิด เพื่อดัดนิสัย และเพื่อฝึกหัดอาชีพ

มาตรา ๔๑  ผู้ใดเคยถูกศาลพิพากษาให้กักกันมาแล้ว หรือเคยถูกศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่าหกเดือนมาแล้วไม่น้อยกว่าสองครั้งในความผิดดังต่อไปนี้ คือ
(๑) ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๐๙ ถึงมาตรา ๒๑๖
(๒) ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๑๗ ถึงมาตรา ๒๒๔
(๓) ความผิดเกี่ยวกับเงินตรา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔๐ ถึงมาตรา ๒๔๖
(๔) ความผิดเกี่ยวกับเพศ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗๖ ถึงมาตรา ๒๘๖
(๕) ความผิดต่อชีวิต ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๘ ถึงมาตรา ๒๙๐ มาตรา ๒๙๒ ถึงมาตรา ๒๙๔
(๖) ความผิดต่อร่างกาย ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๙๕ ถึงมาตรา ๒๙๙
(๗) ความผิดต่อเสรีภาพ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐๙ ถึงมาตรา ๓๒๐
(๘) ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๓๔ ถึงมาตรา ๓๔๐ มาตรา ๓๕๔ และมาตรา ๓๕๗
และภายในเวลาสิบปีนับแต่วันที่ผู้นั้นได้พ้นจากการกักกัน หรือพ้นโทษ แล้วแต่กรณี ผู้นั้นได้กระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดในบรรดาที่ระบุไว้นั้นอีกจนศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่าหกเดือนสำหรับการกระทำความผิดนั้น ศาลอาจถือว่า ผู้นั้นเป็นผู้กระทำความผิดติดนิสัย และจะพิพากษาให้กักกันมีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่าสามปีและไม่เกินสิบปีก็ได้

ความผิดซึ่งผู้กระทำได้กระทำในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีนั้น มิให้ถือเป็นความผิดที่จะนำมาพิจารณากักกันตามมาตรานี้

มาตรา ๔๒  ในการคำนวณระยะเวลากักกัน ให้นับวันที่ศาลพิพากษาเป็นวันเริ่มกักกัน แต่ถ้ายังมีโทษจำคุกหรือกักขังที่ผู้ต้องกักกันนั้นจะต้องรับอยู่ก็ให้จำคุกหรือกักขังเสียก่อน และให้นับวันถัดจากวันที่พ้นโทษจำคุกหรือพ้นจากกักขังเป็นวันเริ่มกักกัน

ระยะเวลากักกัน และการปล่อยตัวผู้ถูกกักกัน ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๔๓  การฟ้องขอให้กักกันเป็นอำนาจของพนักงานอัยการโดยเฉพาะ และจะขอรวมกันไปในฟ้องคดีอันเป็นมูลให้เกิดอำนาจฟ้องขอให้กักกันหรือจะฟ้องภายหลังก็ได้

มาตรา ๔๔  ห้ามเข้าเขตกำหนด คือการห้ามมิให้เข้าไปในท้องที่หรือสถานที่ที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา

มาตรา ๔๕  เมื่อศาลพิพากษาให้ลงโทษผู้ใด และศาลเห็นสมควรเพื่อความปลอดภัยของประชาชน ไม่ว่าจะมีคำขอหรือไม่ ศาลอาจสั่งในคำพิพากษาว่าเมื่อผู้นั้นพ้นโทษตามคำพิพากษาแล้ว ห้ามมิให้ผู้นั้นเข้าในเขตกำหนดเป็นเวลาไม่เกินห้าปี

มาตรา ๔๖  ถ้าความปรากฏแก่ศาลตามข้อเสนอของพนักงานอัยการว่าผู้ใดจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น หรือจะกระทำการใดให้เกิดความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ในการพิจารณาคดีความผิดใด ไม่ว่าศาลจะลงโทษผู้ถูกฟ้องหรือไม่ก็ตาม เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ถูกฟ้องน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น หรือจะกระทำความผิดให้เกิดความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งผู้นั้นให้ทำทัณฑ์บนโดยกำหนดจำนวนเงินไม่เกินกว่าห้าหมื่นบาทว่าผู้นั้นจะไม่ก่อเหตุร้ายหรือจะไม่กระทำความผิดดังกล่าวแล้วตลอดเวลาที่ศาลกำหนด แต่ไม่เกินสองปี และจะสั่งให้มีประกันด้วยหรือไม่ก็ได้

ถ้าผู้นั้นไม่ยอมทำทัณฑ์บนหรือหาประกันไม่ได้ ให้ศาลมีอำนาจสั่งกักขังผู้นั้นจนกว่าจะทำทัณฑ์บนหรือหาประกันได้ แต่ไม่ให้กักขังเกินกว่าหกเดือน หรือจะสั่งห้ามผู้นั้นเข้าในเขตกำหนดตามมาตรา ๔๕ ก็ได้

การกระทำของผู้ซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีมิให้อยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติตามมาตรานี้

มาตรา ๔๗  ถ้าผู้ทำทัณฑ์บนตามความในมาตรา ๔๖ กระทำผิดทัณฑ์บน ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้นั้นชำระเงินไม่เกินจำนวนที่ได้กำหนดไว้ในทัณฑ์บน ถ้าผู้นั้นไม่ชำระให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๒๙ และมาตรา ๓๐ มาใช้บังคับ

มาตรา ๔๘  ถ้าศาลเห็นว่า การปล่อยตัวผู้มีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ซึ่งไม่ต้องรับโทษหรือได้รับการลดโทษตามมาตรา ๖๕ จะเป็นการไม่ปลอดภัยแก่ประชาชน ศาลจะสั่งให้ส่งไปคุมตัวไว้ในสถานพยาบาลก็ได้ และคำสั่งนี้ศาลจะเพิกถอนเสียเมื่อใดก็ได้

มาตรา ๔๙  ในกรณีที่ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก หรือพิพากษาว่ามีความผิดแต่รอการกำหนดโทษ หรือรอการลงโทษบุคคลใด ถ้าศาลเห็นว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเสพย์สุราเป็นอาจิณ หรือการเป็นผู้ติดยาเสพย์ติดให้โทษ ศาลจะกำหนดในคำพิพากษาว่า บุคคลนั้นจะต้องไม่เสพย์สุรา ยาเสพย์ติดให้โทษอย่างหนึ่งอย่างใด หรือทั้งสองอย่าง ภายในระยะเวลาไม่เกินสองปีนับแต่วันพ้นโทษ หรือวันปล่อยตัวเพราะรอการกำหนดโทษ หรือรอการลงโทษก็ได้

ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวในวรรคแรกไม่ปฏิบัติตามที่ศาลกำหนด ศาลจะสั่งให้ส่งไปคุมตัวไว้ในสถานพยาบาลเป็นเวลาไม่เกินสองปีก็ได้

มาตรา ๕๐  เมื่อศาลพิพากษาให้ลงโทษผู้ใด ถ้าศาลเห็นว่าผู้นั้นกระทำความผิดโดยอาศัยโอกาสจากการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ หรือเนื่องจากการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ และเห็นว่าหากผู้นั้นประกอบอาชีพหรือวิชาชีพนั้นต่อไปอาจจะกระทำความผิดเช่นนั้นขึ้นอีก ศาลจะสั่งไว้ในคำพิพากษาห้ามการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพนั้นมีกำหนดเวลาไม่เกินห้าปีนับแต่วันพ้นโทษไปแล้วก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 698/2563
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรและบรรยายฟ้องด้วยว่าจำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่าหกเดือนในความผิดฐานลักทรัพย์มาแล้ว 6 คดี หลังจากพ้นโทษทั้งหกคดีแล้ว จำเลยกลับมากระทำความผิดคดีนี้อีกภายในเวลาสิบปีนับแต่จำเลยพ้นโทษ ซึ่งเป็นความผิดที่ระบุไว้ ตาม ป.อ. มาตรา 41 (8) เมื่อความผิดที่โจทก์ฟ้องมิใช่ข้อหาในความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น จึงไม่อยู่ในบังคับที่ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานลักทรัพย์และรับว่าเคยต้องโทษจำคุกและพ้นโทษตามฟ้องจริง โจทก์จึงไม่ต้องนำพยานเข้าสืบ และศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามคำรับสารภาพดังกล่าวได้ ทั้งเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำให้การของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดคดีนี้ กับเคยต้องโทษจำคุกและพ้นโทษในคดีอื่นๆ อีก 6 คดี ซึ่งศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่าหกเดือนในความผิดฐานลักทรัพย์และจำเลยกระทำผิดในขณะที่มีอายุเกินกว่าสิบแปดปี จำเลยพ้นโทษในคดีดังกล่าวแล้ว ภายในเวลาสิบปีจำเลยมากระทำผิดคดีนี้ฐานลักทรัพย์ ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกเกินกว่าหกเดือนอีก จึงเข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลชั้นต้นจะนำมาพิจารณากักกันจำเลย ตาม ป.อ. มาตรา 41 (8) ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6530/2556
การที่ศาลจะนำ ป.อ. มาตรา 50 มาใช้บังคับต้องได้ความว่า จำเลยประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ และได้กระทำความผิดโดยอาศัยโอกาสจากการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ หรือเนื่องจากการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ และศาลเห็นว่าหากจำเลยประกอบอาชีพหรือวิชาชีพนั้นต่อไป อาจกระทำความผิดเช่นนั้นขึ้นอีก ศาลจะสั่งไว้ในคำพิพากษาห้ามประกอบอาชีพหรือวิชาชีพนั้นมีกำหนดเวลาไม่เกินห้าปีนับแต่วันพ้นโทษไปแล้วก็ได้ แต่ความผิดของจำเลยเป็นความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 ตรี วรรคสี่ ไม่เกี่ยวกับอาชีพหรือวิชาชีพที่จำเลยประกอบอยู่ คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองที่ให้เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลของจำเลย จึงหาใช่คำสั่งตาม ป.อ. มาตรา 50 ไม่ แต่เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย กรณีจึงไม่อาจนำ ป.อ. มาตรา 50 มาใช้บังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8886/2549
จำเลย ทั้งสองกระทำความผิดฐานรับของโจรรถกระบะของกลาง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 80,100 บาท แก่ผู้เสียหาย ซึ่งรวมถึงโทรศัทพ์เคลื่อนที่ราคา 3,900 บาท สินค้าอุปโภคบริโภคราคา 40,000 บาท กล้องถ่ายรูปราคา 9,000 บาท ซึ่งมิใช่ทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองรับของโจรและรถกระบะของกลางนั้นผู้เสียหายก็ ได้รับคืนไปแล้ว แม้ได้รับคืนในสภาพที่ถูกถอดชิ้นส่วนบางส่วนซึ่งคิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 27,200 บาท พนักงานอัยการโจทก์ก็ขอให้คืนหรือใช้ราคาไม่ได้ เพราะ ป.วิ.อ. มาตรา 43 ไม่ได้ให้อำนาจไว้ เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายจะต้องไปว่ากล่าวเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเอา เองเป็นคดีใหม่ จะให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่มิได้รับของโจรกับมูลค่าความเสีย หายของรถกระบะของกลางที่ถูกถอดชิ้นส่วนบางส่วนนั้นย่อมไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6986/2546
คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2512 ถึงวันที่ 18 กรกฎาคม2512 จำเลยบุกรุกเข้ายึดถือครอบครองที่ดินหนองกก ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันเนื้อที่ 9 ไร่ 2 งาน 80 ตารางวา ปลูกบ้านอยู่อาศัยและปลูกต้นไม้คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2541 จำเลยได้เข้าไปยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้างที่ดินเลี้ยงสัตว์หนองกกสาธารณประโยชน์ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน รวมเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ โดยใช้รถไถเข้าไปไถปรับที่ดินเพื่อทำประโยชน์ แม้คดีก่อนศาลฎีกาจะพิพากษายกคำขอให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาทแต่ก็ฟังข้อเท็จ จริงว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ซึ่งจำเลยเข้ายึดถือครอบครองหลังจากประมวล กฎหมายที่ดินใช้บังคับแล้ว เป็นการครอบครองสืบเนื่องมาก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2514 ใช้บังคับ จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9,108 ส่วนคดีนี้จำเลยใช้รถไถเข้าไปไถปรับที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2541 โดยไม่มีสิทธิครอบครองและมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9(1),108 ทวิ วรรคสองซึ่งเป็นการกระทำหลังจากวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์2514 มีผลใช้บังคับ การกระทำจึงต่างกรรมต่างวาระแยกต่างหากจากการกระทำในคดีก่อน และความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 กับมาตรา 108 ทวิมีองค์ประกอบแตกต่างกัน ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7607/2542
คดีความผิดต่อส่วนตัวจำเลยที่ 3 ฎีกาแต่ผู้เดียว ต่อมาระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาโจทก์ยื่นคำร้อง ขอถอนฟ้อง เมื่อปรากฏว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่คัดค้าน ศาลฎีกาจึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยได้และสิทธินำ คดีอาญามาฟ้องย่อมระงับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ศาลฎีกาให้จำหน่ายคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 124/2515
ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำคุกจำเลย และให้เพิ่มโทษตามมาตรา93 กึ่งหนึ่งกับลดโทษตามมาตรา 78 กึ่งหนึ่ง ดังนี้ส่วนของการเพิ่มเท่ากับส่วนของการลด ศาลมีอำนาจใช้ ดุลพินิจเห็นสมควรไม่เพิ่มไม่ลดโทษที่กำหนดไว้นั้นได้ ตามมาตรา 54 ประมวลกฎหมายอาญา จำเลยไม่อาจอ้างได้ว่าส่วนของการเพิ่มน้อยกว่าส่วนของการลด ถ้าหากเพิ่มโทษ เสียก่อนแล้วลดในภายหลัง

จำเลยพ้นจากการกักกันภาย หลังวันที่ 13 พฤษภาคม 2500ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติล้างมลทินฯ ใช้บังคับย่อมไม่ได้รับผลการล้างมลทินตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จำเลยอาจถูกพิพากษาให้กักกันในฐานที่เป็นผู้เคยถูกศาลพิพากษาให้กักกันมา แล้วได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 632/2513
พระราชบัญญัติล้างมลทินในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2499 มาตรา 3 ล้างมลทินให้แต่เฉพาะผู้ต้องคำพิพากษาให้ลงโทษที่ได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือ วันที่กฎหมายนี้ใช้บังคับ คือ วันที่ 13 พฤษภาคม 2500เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันดังกล่าว จำเลยยังรับโทษกักกันอยู่ในคดีก่อนจำเลยจึงไม่ได้รับการล้างมลทิน และเมื่อจำเลยกระทำผิดฐานลักทรัพย์ภายในระยะ 10 ปี นับแต่วันที่จำเลยพ้นจากการกักกันในคดีก่อนศาลย่อมพิพากษาให้กักกันจำเลยอีก ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 41

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 24/2513
ผู้ว่าคดีศาลแขวงย่อมอยู่ในความหมายของคำว่า พนักงานอัยการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 43 ทั้งนี้โดยนัยแห่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง มาตรา 5 ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(5) ฉะนั้นจึงย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้กักกันจำเลยได้

กักกันมิใช่โทษอาญา แต่เป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 39(1) ซึ่งมีลักษณะเบากว่าโทษจำคุก(คำพิพากษาฎีกาในที่ประชุมใหญ่ที่ 1455/2511) ฉะนั้น จึงย่อมอยู่ในอำนาจของศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาให้กักกันจำเลยตามที่ผู้ ว่าคดีฟ้องขอมาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 30/2511
จำเลยต้องคำพิพากษาให้จำคุกไม่ต่ำกว่า 6 เดือนมาแล้ว 3 ครั้งแต่ปรากฏว่าสองคดีก่อน จำเลยพ้นโทษไปก่อนวันใช้พระราชบัญญัติล้างมลทินฯ จำเลยจึงได้รับการล้างมลทินหมดไปแล้วตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติล้างมลทินฯพ.ศ.2499 จะถือว่าจำเลยเคยต้องคำพิพากษาลงโทษจำคุกมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ครั้งไม่ได้ ดังนี้ ศาลย่อมไม่มีอำนาจพิพากษาให้กักกันจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 41

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 196/2510
ฟ้องขอให้กักกันหาใช่ฟ้องเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยเพื่อให้ศาลลงโทษตามความ ผิดไม่ จึงไม่ต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ และแม้จะมิได้บรรยายว่าโจทก์ฟ้องคดีอันเป็นมูลให้เกิดอำนาจฟ้องขอให้กักกัน วันเดือนปีใด ไม่อาจทราบว่าภายในอายุความหรือไม่ก็ตาม เมื่อคดีนั้นเป็นคดีของศาลชั้นต้นโจทก์ได้ระบุอ้างเป็นพยานไว้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะเอาสำนวนคดีนั้นมา ตรวจดูได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1083/2507
แม้จำเลยจะได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษให้ลดโทษลง เพียงใด ถึงขั้นปล่อยตัวไปก็ตาม คำพิพากษาของศาลที่กำหนดโทษไว้เดิมนั้นก็หาได้ถูกลบล้างไปไม่

การที่ศาลทหารกล่าวไว้ในคำพิพากษาให้ยกคำขอที่ ขอให้กักกันจำเลยเพราะไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหารนั้น หาตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องขอให้กักกันจำเลยต่อศาลทีมีอำนาจไม่