ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม


มาตรา ๒๐๐  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาหรือจัดการให้เป็นไปตามหมายอาญา กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด ๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อจะช่วยบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องโทษ หรือให้รับโทษน้อยลง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท

ถ้าการกระทำหรือไม่กระทำนั้น เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องรับโทษ รับโทษหนักขึ้น หรือต้องถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]


มาตรา ๒๐๑  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]


มาตรา ๒๐๒  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด ๆ ในตำแหน่ง โดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ซึ่งตนได้เรียก รับ หรือยอมจะรับไว้ก่อนที่ตนได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]


มาตรา ๒๐๓  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ป้องกันหรือขัดขวางมิให้การเป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]


มาตรา ๒๐๔  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีตำแหน่งหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ที่ต้องคุมขังตามอำนาจของศาล ของพนักงานสอบสวน หรือของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา กระทำด้วยประการใด ๆ ให้ผู้ที่อยู่ในระหว่างคุมขังนั้นหลุดพ้นจากการคุมขังไป ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท

ถ้าผู้ที่หลุดพ้นจากการคุมขังไปนั้นเป็นบุคคลที่ต้องคำพิพากษาของศาลหนึ่งศาลใดให้ลงโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป หรือมีจำนวนตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]


มาตรา ๒๐๕  ถ้าการกระทำดังกล่าวในมาตรา ๒๐๔ เป็นการกระทำโดยประมาท ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าผู้ที่หลุดพ้นจากการคุมขังไปด้วยการกระทำโดยประมาทนั้น เป็นบุคคลที่ต้องคำพิพากษาของศาลหนึ่งศาลใดให้ลงโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป หรือมีจำนวนตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าผู้กระทำความผิด จัดให้ได้ตัวผู้ที่หลุดพ้นจากการคุมขังคืนมาภายในสามเดือน ให้งดการลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดนั้น
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2689/2560
แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยซึ่งบัญญัติเรื่องการดำเนินคดีอาญาแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไว้เป็นการเฉพาะไม่มีผลใช้บังคับแล้ว แต่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ยังมีผลใช้บังคับอยู่ และมีข้อกำหนดทำนองเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภาตามจำนวนที่กำหนดมีสิทธิเข้าชื่อร้องขอว่า กรรมการ ป.ป.ช. ผู้ใดร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และเมื่อประธานวุฒิสภาได้รับคำร้องให้ส่งคำร้องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (3) บัญญัติรับรองให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น จึงเป็นการกำหนดช่องทางและวิธีการนำคดีอาญาดังกล่าวขึ้นสู่การพิจารณาของศาล และกำหนดศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีไว้เป็นการเฉพาะ มีผลเป็นการตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องคณะกรรมการ ป.ป.ช.ต่อศาลตาม ป.วิ.อ.
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 16/2559)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3130/2556
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหาได้มีอำนาจที่จะตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม รายงานการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติก็มิได้ชี้มูลความผิดฐานนี้ การที่อนุกรรมการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการไต่สวนในความผิดฐานนี้มาด้วย จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ และแม้การสอบสวนของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงซึ่งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชรแต่งตั้งจะพบการกระทำความผิดฐานนี้ ก็มิใช่การสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อหานี้ให้จำเลยทราบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว

จำเลยเป็นพนักงานสอบสวนแก้ไขข้อความในสำนวนการสอบสวนจากเดิมที่มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาเป็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาหลังจากเสนอสำนวนการสอบสวนให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นลงชื่อแล้วเพื่อช่วยผู้ต้องหามิให้ต้องโทษ จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และ 200 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3509/2549
จำเลยซึ่งเป็นพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัท ส. และ ป. ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทโจทก์ ทั้งที่หนังสือพิมพ์ ด. ซึ่งบริษัท ส. เป็นเจ้าของและ ป. เป็นบรรณาธิการ ลงข้อความในหนังสือพิมพ์เป็นความเท็จ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เป็นการใช้ดุลพินิจที่มิได้อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล แต่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ จึงเกินล้ำออกนอกของเขตของความชอบด้วยกฎหมายและในฐานะที่จำเลยเป็นข้าราชการ อัยการชั้นสูง จำเลยย่อมทราบดีถึงเกณฑ์วินิจฉัยมูลความผิดของพนักงานอัยการ การใช้ดุลพินิจผิดกฎหมายในกรณีนี้ จำเลยเห็นได้อยู่ในตัวแล้วว่าเป็นการมิชอบและมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสีย หายแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย อีกทั้งเพื่อจะช่วยบริษัท ส. และ ป. มิให้ต้องโทษจากการกระทำความผิดของตนอีกด้วย จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และมาตรา 200 วรรคหนึ่ง

การกระทำของจำเลยที่เป็นความผิดคือการใช้อำนาจในฐานะพนักงานอัยการสั่งไม่ ฟ้องผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทโจทก์ ผลของการกระทำของจำเลยคือ โจทก์ในฐานะผู้เสียหายไม่ได้รับการเยียวยาตามกฎหมาย ดังนั้น โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายจากการกระทำผิดของจำเลยโดยตรง โจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5211/2540
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149,157 และตามคำฟ้องโจทก์บรรยายยืนยันว่าจำเลยเรียกและรับเงินจำนวน 20,000 บาท จาก อ.สำหรับตนเองโดยมิชอบ เพื่อจะได้เปิดกุญแจห้องขังและปล่อยตัว อ. ให้หลบหนีไปจากห้องควบคุม เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่พนักงานสอบสวน กรมตำรวจ ซึ่งเห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบเมื่อปรากฎข้อเท็จจริงว่า จำเลยกระทำการโดยประมาทหลับนอนขณะมีหน้าที่ควบคุมผู้ต้องขัง เป็นเหตุให้ อ.หลบหนีการควบคุมไปอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 205 ซึ่งโจทก์มิได้บรรยายฟ้องและขอให้ศาลพิพากษาลงโทษไว้ ข้อแตกต่างตามคำฟ้องกับที่พิจารณาได้ความมิใช่ข้อแตกต่างระหว่างความผิดโดย เจตนาหรือประมาท แต่เป็นข้อแตกต่างที่ถือได้ว่าเป็นสาระสำคัญที่โจทก์มิได้ประสงค์จะให้ลงโทษ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 205 ตามที่พิจารณาได้ความไม่ได้เพราะเกินคำขอ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ อ. หลุดพ้นจากการคุมขังโดยที่จำเลยมิได้อุทธรณ์ในปัญหานี้นั้น เมื่อปรากฏว่าคดีนี้โจทก์มิได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำผิดตามประมวล กฎหมายอาญามาตรา 204,205 แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว ซึ่งเป็นข้อที่โจทก์มิได้ประสงค์จะให้ลงโทษ กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องโจทก์ เสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 929/2537
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 139 บัญญัติให้พนักงานสอบสวนบันทึกการสอบสวนตามหลักทั่วไปในประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความอาญาอันว่าด้วยการสอบสวนและให้เอาบันทึกเอกสารอื่นซึ่งได้มา อีกทั้งบันทึกและเอกสารทั้งหลายซึ่งเจ้าพนักงานอื่นผู้สอบสวนคดีเดียวกัน นั้นส่งมารวมเข้าสำนวนไว้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนจะอ้างว่าได้ทำบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาและผู้กล่าว หาใหม่แล้วของเดิมไม่สำคัญ หรือผู้ให้ถ้อยคำไม่ประสงค์จะใช้ของเดิมจึงไม่นำเข้ารวมสำนวนไว้หาได้ไม่ การที่จำเลยที่ 1 เอาไปเสียซึ่งคำให้การฉบับเดิมของผู้ต้องหาและผู้กล่าวหาซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ปกครองดูแลรักษาไว้ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 158 นั้น ก็โดยเจตนาเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหามิให้ต้องโทษ ซึ่งเป็นการกระทำการในตำแหน่งพนักงานสอบสวนโดยมิชอบอันเป็นความผิด ตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157,200 วรรคแรกด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดกรรมเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4677/2534
จำเลยซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนปล่อยตัวผู้ต้องหารวม 3 คน แล้วนำผู้มีชื่อเข้าเป็นผู้ต้องหาแทนขณะควบคุมผู้ต้องหาทั้งสามดังกล่าวกับ พวกจากศาลจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อไปคุมขังที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอพระประแดง แต่จำเลยมิได้เรียกหรือรับเงินจากผู้ต้องหาเป็นการตอบแทนที่จำเลยปล่อยผู้ ต้องหาดังกล่าวไป ทั้งผู้มีชื่อที่จำเลยนำเข้ามาแทนผู้ต้องหาทั้งสามที่จำเลยปล่อยตัวไปก็ไม่ ปรากฏว่าเข้ามาแทนที่โดยไม่สมัครใจ ส่วนศาลจังหวัดสมุทรปราการ แม้จะได้อนุญาตให้ผัดฟ้องฝากขังผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวนก็เป็นไป ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อควบคุมการดำเนินคดีของพนักงานสอบ สวนให้เป็นไปโดยถูกต้อง มิใช่ผู้ที่จะเข้าไปมีส่วนรับผิดชอบจากการดำเนินคดีหรือไม่ดำเนินคดีกับผู้ ต้องหาแต่อย่างใด คดีจึงยังไม่พอฟังว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ศาล จังหวัดสมุทรปราการ ผู้มีชื่อ หรือโดยเจตนาทุจริต อันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 204วรรคสอง เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 931/2532
จำเลยบอกให้ ล. ลงลายมือชื่อแทน ท. ได้ ล. จึงปลอมลายมือชื่อ ท. ลงในคำร้องขอประกัน แล้วจำเลยร่วมกับ ล.ขอประกันตัว อ.ผู้ต้องหาในคดีอาญาโดยใช้โฉนดที่ดินของท.เป็นหลักทรัพย์ เสนอต่อพันตำรวจตรี ช.จนพันตำรวจตรีช.อนุญาตให้ประกันตัว อ. ได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันทำเอกสารปลอมกระทงหนึ่ง และฐานใช้เอกสารปลอมอีกกระทงหนึ่งและการที่จำเลยเป็นพนักงานสอบสวนมีหน้าที่ เสนอความเห็นต่อผู้บังคับบัญชาเกี่ยวกับการอนุญาตให้ประกัน อ. ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าล. ปลอมลายมือชื่อ ท. ผู้ขอประกัน จำเลยก็ยังเสนอความเห็นว่าควรให้ประกัน อ. ทั้งจำเลยยังรับทรัพย์สินสำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อกระทำการให้ อ. ได้รับประกันตัวไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ มาตรา 201 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4436/2531
การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจสืบสวนสอบสวนคดีอาญาได้รับแจ้งความ จาก ช. ว่ามีคนร้ายลักเรือและเครื่องยนต์ของผู้เสียหายไป แต่ไม่ยอมลงรับแจ้งความในประจำวันเป็นหลักฐานและเมื่อจับคนร้ายที่ลักทรัพย์ ดังกล่าวแล้ว จำเลยกลับปล่อยตัวคนร้ายไปเสีย ถือได้ว่าจำเลยได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และยังเป็นการกระทำการในตำแหน่งหน้าที่อันเป็นการมิชอบเพื่อจะช่วยคนร้ายมิ ให้ต้องโทษตามมาตรา 200 วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทหนัก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3598/2531
แม้การที่พนักงานสอบสวนจะรับตัวผู้ต้องหาควบคุมไว้โดยมิได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอ หมายขังอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 ก็ตาม แต่การควบคุมนั้นก็ยังคงเป็นการควบคุมตามอำนาจของพนักงานสอบสวนอยู่ ดังนั้นจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ต้องขังตาม อำนาจของพนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวผู้ต้องขังไป จึงเป็นการกระทำให้ผู้ที่อยู่ในระหว่างคุมขังนั้นหลุดพ้นจากการคุมขัง จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 204

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 975/2531
จำเลยซึ่งเป็นพนักงานอัยการฟ้องโจทก์ในข้อหาดูหมิ่นหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ โดยบรรยายฟ้องเป็นสองตอน คือตอนแรกเป็นข้อความที่อ้างว่าโจทก์เป็นผู้กล่าวซึ่งได้ระบุไว้ในเครื่อง หมายอัญประกาศ ส่วนตอนหลังมีใจความเป็นการแปลหรืออธิบายความหมายของข้อความในตอนแรก ดังนี้ เมื่อพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ประกอบด้วยแล้ว แสดงว่าข้อความที่พนักงานอัยการระบุไว้ในเครื่องหมายอัญประกาศ คือ 'ถ้อยคำพูด' ที่พนักงานอัยการต้องกล่าวไว้ในฟ้องตามบทกฎหมายดังกล่าว และข้อความตอนหลังเป็นการอธิบายความหมายเท่านั้น เมื่อข้อความที่โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยบรรยายฟ้องอันเป็นความเท็จเป็นส่วน หนึ่งของคำบรรยายฟ้องในตอนหลังและมีลักษณะเป็นการอธิบายความหมายด้วยเช่นกัน จึงเห็นได้ว่าข้อความที่โจทก์อ้างว่าเป็นเท็จนั้นพนักงานอัยการมีความ ประสงค์จะอธิบายความหมายของถ้อยคำพูดของโจทก์เท่านั้น แม้จะใช้ถ้อยคำผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปบ้าง กรณีก็ไม่อาจถือได้ว่าพนักงานอัยการยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จ ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 และจำเลยย่อมไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์แต่อย่างใด กับไม่มีมูลเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2707/2530
การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจปล่อยตัวนาย ข. ที่เข้าไปคว้าเงินของผู้เสียหายภายในร้าน โดยไม่ส่งตัวไปให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีเพราะจำเลยเห็นว่า นาย ข. เป็นสายลับตำรวจเข้าไปยึดเงินดังกล่าวเพื่อเป็นหลักฐานในการเล่นการพนันนั้น เป็นเรื่องที่จำเลยเข้าใจและใช้ดุลพินิจว่านาย ข. ไม่ได้กระทำผิดฐานชิงทรัพย์ การกระทำของจำเลยจึงไม่มีเจตนาจะช่วยเหลือนาย ข. มิให้ต้องรับโทษ ยังไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2719/2528
ไม่มีข้อความตอนใดในมาตรา 86 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2497ห้างคณะกรรมการสอบสวนมิให้ทำรายงานการสอบสวนว่าการกระทำของข้า ราชการที่ถูกสอบสวนทางวินัยมีมูลความผิดทางอาญาด้วยและไม่มีกฎหมายใดระบุ ไว้เช่นนั้น ดังนี้ ถ้าในการสอบสวนโจทก์ปรากฏว่ามี มูลความผิดทางอาญาคณะกรรมการสอบสวนก็มีอำนาจที่จะทำความเห็น ให้ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ได้การที่จำเลยซึ่งเป็นกรรมการ สอบสวนโจทก์ทางวินัยได้ทำความเห็นเสนอต่อนายกรัฐมนตรีว่า การกระทำของโจทก์มีมูลความผิดทางอาญาให้พิจารณาสั่งการ ตามที่เห็นสมควรจึงเป็นการเสนอความเห็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายไม่มีเจตนาร้าย หรือกลั่นแกล้งปรักปรำโจทก์จำเลยจึงไม่ มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2239/2528
โจทก์ฟ้องอ้างว่า ช. ผู้สมัครรับเลือกตั้งกระทำผิด พระราชบัญญัติ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 มาตรา 26 และ บ. ซึ่งเป็น ผู้ว่าราชการจังหวัดกระทำผิด พระราชบัญญัติเลือกตั้งฯ มาตรา 26 และ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,165 โจทก์ได้ร้องเรียนไปยังจำเลยทั้งห้า ให้มีการสอบสวนดำเนินคดีกับช. และ บ.และจำเลยทั้งห้ามิได้ดำเนินคดีกับบุคคลทั้งสองขอให้ลงโทษจำเลยทั้ง ห้าตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,165,200 เช่นนี้ เมื่อโจทก์มิใช่บุคคล ที่อาจร้องคัดค้านการเลือกตั้งได้ ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งฯ มาตรา 78 จึงมิใช่ ผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้เสียหายเนื่องจากการกระทำผิดพระราชบัญญัติการเลือก ตั้งฯ มาตรา 26 ดังนั้นการที่โจทก์ ร้องเรียน ต่อจำเลยทั้งห้าให้ดำเนินคดีกับ ช. และ บ. และจำเลยทั้งห้ามิได้ดำเนินคดี กับบุคคลทั้งสองเมื่อ โจทก์มิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในกรณีที่ ช. และ บ. กระทำผิดดังกล่าวโจทก์ย่อมมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย สำหรับความผิดที่โจทก์ ฟ้องจำเลยทั้งห้าด้วยโจทก์จึงไม่ มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งห้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 300/2527
จำเลยที่ 1 เป็นนายอำเภอ จึงเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา มาตรา 2และเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติซึ่งเป็นพนักงาน ฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วยในการจับกุมปราบ ปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับป่าสงวนแห่งชาติจำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจสืบสวนสอบสวนความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ ความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ หรือความผิดอาญาอื่นใดที่เกิดขึ้นภายในเขตอำนาจของตนได้ระเบียบของกระทรวง มหาดไทยที่ให้ตำรวจเป็นผู้ทำการสอบสวนฝ่ายเดียวนั้นเป็นแต่ระเบียบภายใน กระทรวง หาได้ลบล้างอำนาจตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ไม่ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ไปจับกุมผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติ ป่าไม้และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติด้วยตนเองได้ทั้งผู้ต้องหาและไม้กับ รถยนต์มาเป็นของกลาง การที่จำเลยที่ 1 สั่งให้สิบตำรวจเอกพ. ทำบันทึกว่าได้แต่ไม้ของกลางอย่างเดียว แสดงว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์จะช่วยผู้กระทำความผิดไม่ให้ต้องรับโทษและในการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปล่อยผู้ต้องหาไปนั้น จำเลยที่ 1 ได้เป็นผู้สั่งการและรู้เห็นด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 จำเลยที่ 2 เป็นป่าไม้อำเภอ ได้ร่วมไปจับกุมผู้ต้องหากับจำเลยที่ 1 ด้วย ชั้นแรกจำเลยที่ 2 ได้ให้สิบตำรวจเอก พ. เขียนบันทึกการจับกุมว่าได้ผู้ต้องหา 7 คน แต่ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้สั่งให้ทำบันทึกการจับกุมขึ้นใหม่ว่าจับผู้ต้องหาไม่ได้เลย และให้ผู้ร่วมจับกุมรวมทั้งจำเลยที่ 2 ลงชื่อไว้ การที่จำเลยที่ 2 ยอมลงชื่อในบันทึกการจับกุมฉบับหลังนั้น จำเลยที่ 2 ย่อมทราบอยู่แล้วว่าบันทึกฉบับนี้ทำขึ้นฝ่าฝืนต่อความจริงเพื่อจะช่วยเหลือ ผู้ต้องหาที่ถูกจับมิให้ต้องรับโทษ จำเลยที่ 2 ทราบดีว่าคำสั่งของจำเลยที่ 1 เป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 จะอ้างว่ากระทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาหาได้ไม่ จำเลยที่ 2 ย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ด้วย ทั้งจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นสารวัตรปกครองป้องกัน และจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนต่างทราบแล้วว่า ผู้ต้องหาทั้ง 7 คนที่ถูกจับมาต้องหาว่ากระทำผิดฐานลักลอบตัดไม้ในป่า แต่แทนที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 จะดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหาในข้อหาดังกล่าว จำเลยที่ 3 กลับตั้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหาเหล่านี้ว่ากระทำผิดฐานขับขี่รถยนต์ไม่มีใบ อนุญาตขับขี่และไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนติดตัวและให้จำเลยที่ 4 ทำการเปรียบเทียบปรับแล้วปล่อยผู้ต้องหาและรถของกลางไป การกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4จึงเป็นการกระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบเพื่อจะช่วยเหลือผู้กระทำผิดมิ ให้ต้องรับโทษ จำเลยที่ 3 ที่ 4 จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 และที่จำเลยที่ 3ที่ 4 อ้างว่าปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชานั้นเมื่อคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ในเรื่องนี้มิใช่คำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายซึ่งจำเลยที่ 3 ที่ 4 ทราบดีอยู่แล้วจึงจะอ้างมาเป็นเหตุยกเว้นโทษหาได้ไม่ จำเลยที่ 5 เป็นสารวัตรใหญ่ซึ่งทราบดีว่าในการจับกุมผู้ลักลอบตัดไม้รายนี้ นอกจากไม้แล้วยังได้ตัวผู้ต้องหาและได้รถยนต์บรรทุกไม้มาเป็นของกลางด้วย แต่จำเลยที่ 5กลับบิดเบือนข้อเท็จจริงว่าไม่มีผู้กระทำผิดและให้มีการเปรียบเทียบปรับผู้ ต้องหาในข้อหาอื่นที่มิใช่ข้อหาเกี่ยวกับการลักลอบตัดไม้ และเป็นผู้สรุปความเห็นให้งดการสอบสวนเสนอต่อผู้กำกับการตำรวจว่าจับไม้ไม่ ได้ตัวผู้กระทำผิด ได้แต่ไม้ของกลาง การกระทำของจำเลยที่ 5 ดังกล่าวจึงเป็นการร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ช่วยเจ้าของรถยนต์เจ้าของไม้ และช่วยผู้ต้องหาที่ถูกจับมิให้ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลงอันเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2212/2526
ตำรวจจับกุมและนำผู้ต้องหาพร้อมไม้ของกลางมาที่สถานีตำรวจและมอบให้แก่จำเลยซึ่ง เป็นพนักงานสอบสวน แต่จำเลยไม่ดำเนินการต่อไปตามหน้าที่ โดยเห็นว่านายอำเภอจะเอาไม้ไปทำฝายกั้นน้ำเพื่อสาธารณประโยชน์ จึงปล่อยตัวผู้ต้องหาและของกลางไป จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 200