โทษ

มาตรา ๑๘ โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดมีดังนี้

(๑) ประหารชีวิต

(๒) จำคุก

(๓) กักขัง

(๔) ปรับ

(๕) ริบทรัพย์สิน

โทษประหารชีวิตและโทษจำคุกตลอดชีวิตมิให้นำมาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี

ในกรณีผู้ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีได้กระทำความผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ให้ถือว่าระวางโทษดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นระวางโทษจำคุกห้าสิบปี

มาตรา ๑๙ ผู้ใดต้องโทษประหารชีวิต ให้ดำเนินการด้วยวิธีฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย

หลักเกณฑ์และวิธีการประหารชีวิต ให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๒๐ บรรดาความผิดที่กฎหมายกำหนดให้ลงโทษทั้งจำคุกและปรับด้วยนั้นถ้าศาลเห็นสมควรจะลงแต่โทษจำคุกก็ได้

มาตรา ๒๑ ในการคำนวณระยะเวลาจำคุก ให้นับวันเริ่มจำคุกรวมคำนวณเข้าด้วยและให้นับเป็นหนึ่งวันเต็มโดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนชั่วโมงถ้าระยะเวลาที่คำนวณนั้นกำหนดเป็นเดือน ให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน ถ้ากำหนดเป็นปี ให้คำนวณตามปีปฏิทินในราชการ

เมื่อผู้ต้องคำพิพากษาถูกจำคุกครบกำหนดแล้ว ให้ปล่อยตัวในวันถัดจากวันที่ครบกำหนด

มาตรา ๒๒ โทษจำคุก ให้เริ่มแต่วันมีคำพิพากษา แต่ถ้าผู้ต้องคำพิพากษาถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษา ให้หักจำนวนวันที่ถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษา เว้นแต่คำพิพากษานั้นจะกล่าวไว้เป็นอย่างอื่นในกรณีที่คำพิพากษากล่าวไว้เป็นอย่างอื่น โทษจำคุกตามคำพิพากษาเมื่อรวมจำนวน

วันที่ถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษาในคดีเรื่องนั้นเข้าด้วยแล้ว ต้องไม่เกินอัตราโทษขั้นสูงของกฎหมายที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่ได้กระทำลงนั้น ทั้งนี้ ไม่เป็นการกระทบกระเทือนบทบัญญัติในมาตรา ๙๑

มาตรา ๒๓ ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุก และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อน แต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ ศาลจะพิพากษาให้ลงโทษกักขังไม่

เกินสามเดือนแทนโทษจำคุกนั้นก็ได้มาตรา ๒๔ ผู้ใดต้องโทษกักขัง ให้กักตัวไว้ในสถานที่กักขังซึ่งกำหนดไว้อันมิใช่เรือนจำ สถานีตำรวจ หรือสถานที่ควบคุมผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวนถ้าศาลเห็นเป็นการสมควร จะสั่งในคำพิพากษาให้กักขังผู้กระทำความผิดไว้ในที่อาศัยของผู้นั้นเอง หรือของผู้อื่นที่ยินยอมรับผู้นั้นไว้ หรือสถานที่อื่นที่อาจกักขังได้ เพื่อให้เหมาะสมกับประเภทหรือสภาพของผู้ถูกกักขังก็ได้ 

ถ้าความปรากฏแก่ศาลว่า การกักขังผู้ต้องโทษกักขังไว้ในสถานที่กักขังตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้นั้น หรือทำให้ผู้ซึ่งต้องพึ่งพาผู้ต้องโทษกักขังในการดำรงชีพได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร หรือมีพฤติการณ์พิเศษประการอื่นที่แสดงให้เห็นว่าไม่สมควร

กักขังผู้ต้องโทษกักขังในสถานที่ดังกล่าว ศาลจะมีคำสั่งให้กักขังผู้ต้องโทษกักขังในสถานที่อื่นซึ่งมิใช่ทีอยู่อาศัยของผู้นั้นเองโดยได้รับความยินยอมจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่ก็ได้ กรณีเช่นว่านี้้ให้ศาลมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดให้ผู้ต้องโทษกักขังปฏิบัติ และหากเจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่ดังกล่าวยินยอม ศาลอาจมีคำสั่งแต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้ควบคุมดูแลและให้ถือว่าผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายนี้

มาตรา ๒๕ ผู้ต้องโทษกักขังในสถานที่ซึ่งกำหนด จะได้รับการเลี้ยงดูจากสถานที่นั้นแต่ภายใต้ข้อบังคับของสถานที่ ผู้ต้องโทษกักขังมีสิทธิที่จะรับอาหารจากภายนอกโดยค่าใช้จ่ายของตนเอง ใช้เสื้อผ้าของตนเอง ได้รับการเยี่ยมอย่างน้อยวันละหนึ่งชั่วโมง และรับและส่งจดหมายได้ผู้ต้องโทษกักขังจะต้องทำงานตามระเบียบ ข้อบังคับและวินัย ถ้าผู้ต้องโทษกักขังประสงค์จะทำงานอย่างอื่นก็ให้อนุญาตให้เลือกทำได้ตามประเภทงานที่ตนสมัคร แต่ต้องไม่ขัดต่อระเบียบ ข้อบังคับ วินัย หรือความปลอดภัยของสถานที่นั้น

มาตรา ๒๖ ถ้าผู้ต้องโทษกักขังถูกกักขังในที่อาศัยของผู้นั้นเอง หรือของผู้อื่นที่ยินยอมรับผู้นั้นไว้ ผู้ต้องโทษกักขังนั้นมีสิทธิที่จะดำเนินการในวิชาชีพหรืออาชีพของตนในสถานที่ดังกล่าวได้ ในการนี้ ศาลจะกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ต้องโทษกักขังปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่ก็ได้แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร

มาตรา ๒๗ ถ้าในระหว่างที่ผู้ต้องโทษกักขังตามมาตรา ๒๓ ได้รับโทษกักขังอยู่ความปรากฏแก่ศาลเอง หรือปรากฏแก่ศาลตามคำแถลงของพนักงานอัยการหรือผู้ควบคุมดูแลสถานที่กักขังว่า

(๑) ผู้ต้องโทษกักขังฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับ หรือวินัยของสถานที่กักขัง

(๒) ผู้ต้องโทษกักขังไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด หรือ

(๓) ผู้ต้องโทษกักขังต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก

ศาลอาจเปลี่ยนโทษกักขังเป็นโทษจำคุกมีกำหนดเวลาตามที่ศาลเห็นสมควร แต่ต้องไม่เกินกำหนดเวลาของโทษกักขังที่ผู้ต้องโทษกักขังจะต้องได้รับต่อไป

มาตรา ๒๘ ผู้ใดต้องโทษปรับ ผู้นั้นจะต้องชำระเงินตามจำนวนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาต่อศาล

มาตรา ๒๙ ผู้ใดต้องโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับหรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ แต่ถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันหรือจะสั่งให้กักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้ความในวรรคสองของมาตรา ๒๔ มิให้นำมาใช้บังคับแก่การกักขังแทนค่าปรับ

มาตรา ๒๙/๑ ในกรณีที่ผู้ต้องโทษปรับไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง ให้ศาลมีอำนาจออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อใช้ค่าปรับ

การบังคับคดีตามวรรคหนึ่ง ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้เจ้าพนักงานศาลที่ได้รับแต่งตั้งและพนักงานอัยการเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการบังคับคดีและให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจหน้าที่ยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของผู้ต้องโทษปรับและขายทอดตลาดตามที่ได้รับแจ้งจากศาลหรือพนักงานอัยการ ทั้งนี้ มิให้หน่วยงานของรัฐเรียกค่าฤชาธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายจากผู้ดำเนินการบังคับคดี 

การตรวจสอบหาทรัพย์สินของผู้ต้องโทษปรับโดยพนักงานอัยการเพื่อการบังคับคดีตามวรรคสอง ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในข้อบังคับของอัยการสูงสุด บทบัญญัติมาตรานี้ไม่กระทบต่อการที่ศาลจะมีคำสั่งตามมาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง มาตรา ๓๐

ในการกักขังแทนค่าปรับ ให้ถืออัตราห้าร้อยบาทต่อหนึ่งวัน และไม่ว่าในกรณีความผิดกระทงเดียวหรือหลายกระทง ห้ามกักขังเกินกำหนดหนึ่งปี เว้นแต่ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ปรับตั้งแต่สองแสนบาทขึ้นไป ศาลจะสั่งให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาเกินกว่าหนึ่งปีแต่ไม่เกินสองปีก็ได้

ในการคำนวณระยะเวลานั้น ให้นับวันเริ่มกักขังแทนค่าปรับรวมเข้าด้วยและให้นับเป็นหนึ่งวันเต็มโดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนชั่วโมง

ในกรณีที่ผู้ต้องโทษปรับถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษา ให้หักจำนวนวันที่ถูกคุมขังนั้นออกจากจำนวนเงินค่าปรับ โดยถืออัตราห้าร้อยบาทต่อหนึ่งวัน เว้นแต่ผู้นั้นต้องคำพิพากษาให้ลงโทษทั้งจำคุกและปรับ ในกรณีเช่นว่านี้ ถ้าจะต้องหักจำนวนวันที่ถูกคุมขังออกจากเวลาจำคุกตาม มาตรา ๒๒ก็ให้หักออกเสียก่อนเหลือเท่าใดจึงให้หักออกจากเงินค่าปรับ

เมื่อผู้ต้องโทษปรับถูกกักขังแทนค่าปรับครบกำหนดแล้ว ให้ปล่อยตัวในวันถัดจากวันที่ครบกำหนด ถ้านำเงินค่าปรับมาชำระครบแล้ว ให้ปล่อยตัวไปทันที

มาตรา ๓๐/๑ ในกรณีที่ศาลพิพากษาปรับ ผู้ต้องโทษปรับซึ่งมิใช่นิติบุคคลและไม่มีเงินชำระค่าปรับอาจยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นที่พิพากษาคดีเพื่อขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ หรือถ้าความปรากฏแก่ศาลในขณะที่พิพากษาคดีว่าผู้ต้องโทษปรับรายใดอยู่ในเกณฑ์ที่จะทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์ตามมาตรานี้ได้ และถ้าผู้ต้องโทษปรับยินยอม ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้นั้นทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับก็ได้

การพิจารณาคำร้องตามวรรคแรก เมื่อศาลได้พิจารณาถึงฐานะการเงิน ประวัติและสภาพความผิดของผู้ต้องโทษปรับแล้ว เห็นเป็นการสมควร ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้นั้นทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับก็ได้ ทั้งนี้ ภายใต้การดูแลของพนักงานคุมประพฤติเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์การซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการบริการสังคม การกุศล สาธารณะหรือสาธารณประโยชน์ที่ยินยอมรับดูแล


กรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ผู้ต้องโทษปรับท ำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ ให้ศาลกำหนดลักษณะหรือประเภทของงานผู้ดูแลการทำงาน วันเริ่มทำงาน ระยะเวลาทำงาน และจำนวนชั่วโมงที่ถือเป็นการทำงานหนึ่งวัน ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงเพศอายุ ประวัติ การนับถือศาสนา ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัยอาชีพ สิ่งแวดล้อมหรือสภาพความผิดของผู้ต้องโทษปรับประกอบด้วย และศาลจะกำหนดเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดให้ผู้ต้องโทษปรับปฏิบัติเพื่อแก้ไขฟื้นฟูหรือป้องกันมิให้ผู้นั้นกระทำความผิดขึ้นอีกก็ได้

ถ้าภายหลังความปรากฏแก่ศาลว่าพฤติการณ์เกี่ยวกับการทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์ของผู้ต้องโทษปรับได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลอาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งที่กำหนดไว้นั้นก็ได้ตามที่เห็นสมควร

ในการกำหนดระยะเวลาทำงานแทนค่าปรับตามวรรคสาม ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม และในกรณีที่ศาลมิได้กำหนดให้ผู้ต้องโทษปรับทำงานติดต่อกันไป การทำงานดังกล่าวต้องอยู่ภายในกำหนดระยะเวลาสองปีนับแต่วันเริ่มทำงานตามที่ศาลกำหนด

เพื่อประโยชน์ในการกำหนดจำนวนชั่วโมงทำงานตามวรรคสาม ให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจออกระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมกำหนดจำนวนชั่วโมงที่ถือเป็นการทำงานหนึ่งวัน สำหรับงานบริการสังคมหรืองานสาธารณประโยชน์แต่ละประเภทได้ตามที่เห็นสมควร

มาตรา ๓๐/๒ ถ้าภายหลังศาลมีคำสั่งอนุญาตตามมาตรา ๓๐/๑ แล้ว ความปรากฏแก่ศาลเองหรือความปรากฏตามคำแถลงของโจทก์หรือเจ้าพนักงานว่าผู้ต้องโทษปรับมีเงินพอชำระค่าปรับได้ในเวลาที่ยื่นคำร้องตามมาตรา ๓๐/๑ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือเงื่อนไขที่ศาลกำหนด ศาลจะเพิกถอนคำสั่งอนุญาตดังกล่าวและปรับ หรือกักขังแทนค่าปรับ โดยให้หักจำนวนวันที่ทำงานมาแล้วออกจากจำนวนเงินค่าปรับก็ได้

ในระหว่างการทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับหากผู้ต้องโทษปรับไม่ประสงค์จะทำงานดังกล่าวต่อไป อาจขอเปลี่ยนเป็นรับโทษปรับ หรือกักขังแทนค่าปรับก็ได้ ในกรณีนี้ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้อง โดยให้หักจำนวนวันที่ทำงานมาแล้วออกจากจำนวนเงินค่าปรับ

มาตรา ๓๐/๓ คำสั่งศาลตามมาตรา ๓๐/๑ และมาตรา ๓๐/๒ ให้เป็นที่สุด

มาตรา ๓๑ ในกรณีที่ศาลจะพิพากษาให้ปรับผู้กระทำความผิดหลายคน ในความผิดอันเดียวกัน ในกรณีเดียวกัน ให้ศาลลงโทษปรับเรียงตามรายตัวบุคคล

มาตรา ๓๒ ทรัพย์สินใดที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด ให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าเป็นของผู้กระทำความผิด และมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

มาตรา ๓๓ ในการริบทรัพย์สิน นอกจากศาลจะมีอำนาจริบตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบทรัพย์สินดังต่อไปนี้อีกด้วย คือ

(๑) ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือ

(๒) ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้มาโดยได้กระทำความผิด

เว้นแต่ทรัพย์สินเหล่านี้เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด

มาตรา ๓๔ บรรดาทรัพย์สิน

(๑) ซึ่งได้ให้ตามความในมาตรา ๑๔๓ มาตรา ๑๔๔ มาตรา ๑๔๙ มาตรา ๑๕๐

มาตรา ๑๖๗ มาตรา ๒๐๑ หรือมาตรา ๒๐๒ หรือ

(๒) ซึ่งได้ให้เพื่อจูงใจบุคคลให้กระทำความผิด หรือเพื่อเป็นรางวัลในการที่บุคคลได้

กระทำความผิด

ให้ริบเสียทั้งสิ้น เว้นแต่ทรัพย์สินนั้นเป็นของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด

มาตรา ๓๕ ทรัพย์สินซึ่งศาลพิพากษาให้ริบให้ตกเป็นของแผ่นดิน แต่ศาลจะพิพากษาให้ทำให้ทรัพย์สินนั้นใช้ไม่ได้หรือทำลายทรัพย์สินนั้นเสียก็ได้

มาตรา ๓๖ ในกรณีที่ศาลสั่งให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา ๓๓ หรือ มาตรา ๓๔ ไปแล้วหากปรากฏในภายหลังโดยคำเสนอของเจ้าของแท้จริงว่า ผู้เป็นเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ก็ให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สิน ถ้าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงาน แต่คำเสนอของเจ้าของแท้จริงนั้นจะต้องกระทำต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด

มาตรา ๓๗ ถ้าผู้ที่ศาลสั่งให้ส่งทรัพย์สินที่ริบไม่ส่งภายในเวลาที่ศาลกำหนด ให้ศาลมีอำนาจสั่งดังต่อไปนี้

(๑) ให้ยึดทรัพย์สินนั้น

(๒) ให้ชำระราคาหรือสั่งยึดทรัพย์สินอื่นของผู้นั้นชดใช้ราคาจนเต็ม หรือ

(๓) ในกรณีที่ศาลเห็นว่า ผู้นั้นจะส่งทรัพย์สินที่สั่งให้ส่งได้ แต่ไม่ส่ง หรือชำระราคาทรัพย์สินนั้นได้ แต่ไม่ชำระ ให้ศาลมีอำนาจกักขังผู้นั้นไว้จนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่ง แต่ไม่เกินหนึ่งปีแต่ถ้าภายหลังปรากฏแก่ศาลเอง หรือโดยคำเสนอของผู้นั้นว่า ผู้นั้นไม่สามารถส่งทรัพย์สินหรือชำระราคาได้ ศาลจะสั่งให้ปล่อยตัวผู้นั้นไปก่อนครบกำหนดก็ได้

มาตรา ๓๘ โทษให้เป็นอันระงับไปด้วยความตายของผู้กระทำความผิด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7119/2562

ตามใบคู่มือจดทะเบียนรถจักรยานยนต์มีชื่อผู้ร้องเป็นเจ้าของ ซึ่งตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 17/1 วรรคสอง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้มีชื่อเป็นเจ้าของในทะเบียนรถยนต์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้ร้องจึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว แต่พฤติการณ์การใช้รถจักรยานยนต์ของกลางของ น. แสดงให้เห็นว่า ผู้ร้องซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางมาเพื่อประโยชน์ของ น. บุตรของผู้ร้องเป็นสำคัญ เห็นได้จากการที่ น. ครอบครองใช้ขับไปทำงานอยู่เป็นประจำ และวันเกิดเหตุช่วงเวลากลางคืนยังขับรถจักรยานยนต์ของกลางไปบ้าน ว. เพื่อนของ น. โดยไม่ได้ขออนุญาตผู้ร้อง กุญแจรถจักรยานยนต์ของกลางถูกเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานซึ่งตั้งอยู่ที่ห้องโถง บุคคลทุกคนในครอบครัวต่างก็รับรู้ถึงสถานที่เก็บกุญแจรถจักรยานยนต์ และอยู่ในวิสัยที่นำไปใช้ได้ แสดงว่าผู้ร้องมิได้เข้มงวดในการอนุญาตให้ น. นำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้อย่างแท้จริง และการที่ น. สามารถนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยไม่ขออนุญาตเช่นนี้ได้ ก็ถือได้ว่าผู้ร้องอนุญาตโดยปริยายให้ น. นำรถจักรยานยนต์ไปใช้ได้ตลอดเวลา โดยไม่คำนึงถึงว่า น. จะนำไปใช้ในกิจการใดหรือจะอนุญาตให้ผู้อื่นนำไปใช้ต่อด้วยหรือไม่ ถือได้ว่าผู้ร้องมีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยคดีนี้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลาง ทั้งตามพฤติการณ์ผู้ร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลางโดยมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อประโยชน์ให้ น. บุตรของผู้ร้องสามารถนำรถจักรยานยนต์ของกลางกลับไปใช้ได้เท่านั้น อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตอีกด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6724/2562

ป.อ. มาตรา 23 บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุก และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อนหรือปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อน แต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ศาลจะพิพากษาให้ลงโทษกักขังไม่เกินสามเดือนแทนโทษจำคุกนั้นก็ได้" เห็นได้ว่าบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวให้อำนาจศาลในการที่จะใช้ดุลพินิจลงโทษกักขังแทนโทษจำคุกก็ได้ หากเข้าเงื่อนไขตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายดังกล่าว แต่โทษกักขังดังกล่าว เป็นการใช้โทษกักขังแทนโทษจำคุกในคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน และที่กฎหมายบัญญัติให้กักขังไม่เกินสามเดือนแทนโทษจำคุกนั้น เพื่อให้การกำหนดโทษกักขังเป็นเช่นเดียวกับโทษจำคุกดังกล่าว ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ใช้ดุลพินิจเปลี่ยนโทษจำคุก 1 เดือน เป็นโทษกักขังแทน มีกำหนด 2 เดือน ซึ่งไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6260/2562

ผู้ร้องมีรถบรรทุกของกลางไว้เพื่อประกอบกิจการขนส่งสินค้าทางการเกษตร การที่ผู้ร้องกำชับจำเลยมิให้นำรถไปใช้ผิดกฎหมายหรือบรรทุกน้ำหนักเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นเพียงวิธีการควบคุมเบื้องต้นและเป็นเรื่องภายในระหว่างผู้ร้องกับจำเลยเท่านั้น แต่ผู้ร้องยังมีหน้าที่ตรวจตราโดยหาวิธีอื่นมาควบคุมมิให้จำเลยบรรทุกน้ำหนักเกินอีกด้วย และแม้จะฟังได้ว่ามีการนำรถบรรทุกของกลางไปตรวจชั่งน้ำหนักจริงก็ตาม แต่การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างให้จำเลยไปตรวจชั่งน้ำหนักที่สถานที่ตรวจชั่งน้ำหนักของเอกชนซึ่งมีมาตรฐานแตกต่างกับทางราชการจนทำให้มีการบรรทุกน้ำหนักเกินไปถึง 800 กิโลกรัมนั้น ส่อแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องปล่อยปละละเลยจนจำเลยขับรถบรรทุกของกลางบรรทุกมันสำปะหลังน้ำหนักเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด อันถือได้ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4275/2562

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายที่ 1 เพื่อร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งยังไม่ถือว่าเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 ตามฟ้อง แต่การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถานของผู้เสียหายที่ 1 เพื่อทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 เป็นการเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายที่ 1 โดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 364 แม้โจทก์ไม่ได้อ้างบทมาตรา 364 แต่ได้ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามบทฉกรรจ์มาตรา 365 และได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีข้อความอันเป็นความผิดตามมาตรา 364 เช่นนี้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามมาตรา 364 และบทฉกรรจ์ตามมาตรา 365 (1) (2) ได้ ทั้งมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง หรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่ นอกจากนี้ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายที่ 1 เพื่อร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้เสียหายที่ 1 ในคราวเดียวและเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายที่ 1 ต่อเนื่องกันไปไม่ขาดตอน การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นและฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้โจทก์บรรยายฟ้องแต่ละข้อหาต่างกรรมกันมา ก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3659 - 3661/2562

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 บัญญัติมาตรการทางกฎหมายไว้ 2 ส่วน ได้แก่ มาตรการทางอาญาฐานฟอกเงิน และมาตรการทางแพ่งที่ดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด โดยมาตรการส่วนหลังเป็นกระบวนการยึดทรัพย์สินทางแพ่ง (Civil forfeiture) ซึ่งพิจารณาตัวทรัพย์สินที่ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินว่ามีแหล่งที่มาจากการกระทำผิดอาญาที่เป็นความผิดมูลฐานของพระราชบัญญัติฉบับนี้หรือไม่ โดยไม่ต้องพิจารณาความผิดของบุคคลที่เป็นเจ้าของทรัพย์ ซึ่งจะต้องพิสูจน์ตามหลักการพิสูจน์พยานหลักฐานในคดีอาญา มาตรการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินจึงมิใช่โทษทางอาญาตาม ป.อ. มาตรา 18 (5)

แม้ความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (15) จะบัญญัติเพิ่มเติมภายหลังจากที่ได้กระทำความผิด ก็ไม่ถือว่าเป็นการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังเป็นโทษแก่บุคคล และเมื่อมีการบัญญัติเพิ่มเติมความผิดมูลฐานดังกล่าวย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับย้อนหลังไปทันที นับแต่วันที่มีการกระทำความผิดมูลฐานนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6566/2562

อาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธปืนมีทะเบียนจึงไม่ใช่ทรัพย์ที่มีไว้เป็นความผิดที่กฎหมายกำหนดให้ต้องริบเสียทั้งสิ้นตาม ป.อ. มาตรา 32 แต่เป็นทรัพย์ซึ่งจำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดซึ่งศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจที่จะสั่งให้ริบหรือไม่ริบก็ได้ตามมาตรา 33 (1) คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลยสถานเดียว และริบอาวุธปืนของกลาง ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เฉพาะให้คืนอาวุธปืนของกลางแก่จำเลยเท่านั้น จึงเป็นการพิพากษาแก้ไขเล็กน้อย ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3042/2562

แม้ขณะศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยทั้งสอง ศาลชั้นต้นมิได้สอบจำเลยทั้งสองว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อหรือไม่ก็ตาม แต่หากปรากฏข้อเท็จจริงชัดแจ้งว่าจำเลยทั้งสองเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อจริง ก็ชอบที่จะนับโทษต่อตามที่โจทก์ขอได้ และเมื่อคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อคือคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1545/2555 ของศาลชั้นต้นนั้น สำนวนคดีดังกล่าวจำเลยทั้งสองยื่นฎีกาเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.12/2561 ของศาลฎีกา ซึ่งศาลฎีกาได้ตรวจดูแล้วพบว่าจำเลยทั้งสองเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั่นเอง จึงนับโทษต่อให้ตามที่โจทก์ร้องขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2817/2562

เมื่อรถบรรทุกของกลางเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องซื้อมาด้วยเงินที่ได้มาระหว่างสมรส ผู้ร้องกับจำเลยจึงมีส่วนเป็นเจ้าของรวมกันคนละครึ่ง เมื่อจำเลยนำรถบรรทุกของกลางไปใช้ในการกระทำความผิดจนถูกศาลพิพากษาให้ริบไปแล้ว ผู้ร้องซึ่งมิได้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยด้วย ย่อมมีสิทธิขอคืนได้กึ่งหนึ่ง ส่วนอีกกึ่งหนึ่งตกเป็นของอันพึงต้องริบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2440/2562

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงานและฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงานตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 27, 54 แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีการตราพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไปและตามมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิก พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 แต่กำหนดให้ความผิดฐานรับคนต่างด้าวเข้าทำงานที่กำหนดและฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงานยังคงเป็นความผิดอยู่ตามมาตรา 9, 72 และกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนไว้ในมาตรา 102 มาตรา 122 ภายหลังจากนั้นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีคำสั่งที่ 33/2560 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ข้อ 1 ในมาตรา 101 มาตรา 102 มาตรา 119 และมาตรา 122 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป อันมีผลให้ความผิดฐานรับคนต่างด้าวเข้าทำงานที่กำหนดและฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงานตามมาตรา 9, 72 ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวไม่มีบทกำหนดโทษตาม ป.อ. มาตรา 18 อันจะเป็นความผิดทางอาญา ดังนั้น คดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 27, 54 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้วโดยผลของ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มาตรา 3 มาปรับใช้แก่คดีนี้ได้ ทั้งไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มาตรา 102 และมาตรา 122 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้อีกเช่นกัน เพราะคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าว ข้อ 1 กำหนดให้มาตรา 102 และมาตรา 122 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป จึงมีผลให้การกระทำความผิดที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 เป็นกรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังบัญญัติให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดอีกต่อไปตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง มิใช่ไม่มีผลบังคับในระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ดังที่ฎีกาเท่านั้น เมื่อจำเลยกระทำความผิดในวันที่ 20 ธันวาคม 2559 อันเป็นการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 จึงเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติในภายหลังบัญญัติให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1968/2562

การนับโทษต่อจากสำนวนคดีเรื่องใดจะต้องปรากฏว่าคดีเรื่องนั้นศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยไว้ก่อนแล้ว คดีเรื่องหลังจึงจะนับโทษต่อจากกำหนดโทษในสำนวนคดีเรื่องก่อนได้ แต่คดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั้น ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2557 ภายหลังจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำพิพากษาคดีนี้ กรณีจึงไม่อาจนับโทษคดีนี้ต่อจากโทษในคดีดังกล่าวได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดแจ้งพอที่จะวินิจฉัยได้ จึงไม่มีความจำเป็นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะต้องสั่งให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องเสียก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้แก้ไขหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดเสียใหม่เป็นไม่นับโทษต่อจึงชอบแล้ว และไม่ถือว่าเป็นการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องของการบังคับคดีที่ศาลจะต้องออกหมายบังคับคดีถึงที่สุดให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1291/2562

แม้ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 24 ศาลเยาวชนและครอบครัวต้องมีผู้พิพากษาไม่น้อยกว่าสองคน และผู้พิพากษาสมทบอีกสองคน ซึ่งอย่างน้อยคนหนึ่งต้องเป็นสตรี จึงเป็นองค์คณะพิจารณาคดีได้.. ก็ตาม แต่การพิจารณาคดีของศาลเยาวชนและครอบครัวตามบทบัญญัติดังกล่าวนั้นก็เป็นการพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 (1) ถึง (5) คดีนี้เดิมเป็นเรื่องที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดอาญา การดำเนินกระบวนพิจารณาที่เกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนจึงต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 เมื่อพิจารณาคดีที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดเสร็จแล้ว ในหมวด 11 การพิพากษาคดีอาญา กำหนดให้มีการประชุมปรึกษาคดีเพื่อมีคำพิพากษาตามมาตรา 134 แสดงให้เห็นว่า การพิจารณาพิพากษาคดีที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดต้องมีการประชุมปรึกษาและให้ถามความเห็นของผู้พิพากษาสมทบก่อนมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง แต่บทบาทของผู้พิพากษาสมทบในการร่วมนั่งพิจารณาคดีกับผู้พิพากษาเป็นการมุ่งเน้นไปที่พฤติกรรมการกระทำความผิดของเด็กหรือเยาวชน รวมทั้งการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูเด็กหรือเยาวชนเป็นสำคัญ เพื่อนำไปสู่การใช้วิธีการให้เหมาะสมแก่เด็กหรือเยาวชนที่กระทำความผิด ดังที่บทบัญญัติไว้ในหมวด 12 สำหรับคดีร้องขอคืนของกลางในคดีที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด เป็นกรณีตาม ป.อ. มาตรา 36 แม้มีผลสืบเนื่องมาจากคดีที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดอาญาก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงคดีสาขา เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโดยจำเลยหาได้เป็นคู่ความในคดีร้องขอคืนของกลางไม่ และปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามคำร้องของผู้ร้องมีเพียงว่า ศาลจะสั่งคืนของกลางให้แก่เจ้าของซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของเด็กหรือเยาวชน (จำเลย) หรือไม่ เท่านั้น ไม่มีปัญหาที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นความผิด หรือต้องพิจารณาเกี่ยวกับการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูเด็กหรือเยาวชนแต่อย่างใด และไม่ได้พิจารณาเนื้อหาของคดีที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญาของเด็กหรือเยาวชนโดยตรง การพิจารณาพิพากษาคดีขอคืนของกลาง มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กหรือเยาวชน หรือมีผลกระทบต่อเด็กหรือเยาวชนไม่ว่าในทางใด แต่เป็นการมุ่งถึงตัวทรัพย์สินที่ศาลมีคำสั่งริบเป็นสำคัญ จึงไม่มีเหตุที่จะต้องมีผู้พิพากษาสมทบร่วมเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง รวมทั้งไม่ต้องสอบถามความเห็นของผู้พิพากษาสมทบก่อนมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามมาตรา 134 ด้วย เมื่อคดีนี้มีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นสองคนร่วมกันเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีร้องขอคืนของกลาง โดยไม่มีผู้พิพากษาสมทบร่วมเป็นองค์คณะ ก็เป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหรือคดีอาญาทั้งปวง ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 946/2562

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83 แต่ให้รอการกำหนดโทษและคุมประพฤติไว้ จึงไม่เป็นการลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 18 และต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี เมื่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืนจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 182/1 ที่จำเลยฎีกาพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิด เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 232/2562

จำเลยอุทธรณ์ว่า เจ้าพนักงานไม่ได้ยึดอาวุธปืนและรถจักรยานยนต์เป็นของกลาง ดังนั้น ที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยลักอาวุธปืนโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะในการกระทำความผิด และพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ และจำเลยฎีกาต่อมา ศาลฎีกาเห็นว่าปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยซึ่งเป็นข้อยกเว้นให้คู่ความมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ แม้ว่าจะมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้วเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยใหม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ป.วิ.อ. มาตรา 158 บัญญัติว่า "ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี (1)....(5) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี" ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติแต่เพียงว่าคำฟ้องต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีเท่านั้น ส่วนรายละเอียดที่ว่าเจ้าพนักงานยึดของกลางได้หรือไม่ อย่างไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์อาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณา โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวในฟ้อง เพราะข้อเท็จจริงดังกล่าวมิใช่สาระสำคัญแห่งการกระทำผิดของจำเลย ทั้งคดีนี้เดิมจำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพโดยมิได้หลงต่อสู้แสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย

จำเลยฎีกาว่า จำเลยถูกจับกุมเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2558 และถูกคุมขังมาโดยตลอดจึงต้องหักวันต้องขังให้แก่จำเลย ตาม ป.อ. มาตรา 22 วรรคหนึ่ง หรือไม่นั้น เห็นว่า ฎีกาจำเลยดังกล่าวเป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี ซึ่งมิใช่เป็นการฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองว่าพิพากษาคดีไม่ถูกต้องแต่ประการใด จึงเป็นเรื่องที่จำเลยต้องดำเนินการให้เป็นไปตามลำดับชั้นศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 และมาตรา 216 หากจำเลยเห็นว่าศาลชั้นต้นบังคับคดีไม่ถูกต้องตามคำพิพากษาก็ชอบที่จะยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลชั้นต้นโดยขอให้แก้ไขให้ถูกต้องเสียก่อน หากศาลชั้นต้นมีคำสั่งเป็นประการใดแล้วจำเลยจึงจะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อมาได้เป็นลำดับ การที่จำเลยยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ฎีกาและศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้ของจำเลยมานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

จำเลยฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับคำขอให้นับโทษต่อไม่ชัดแจ้ง และจำเลยต้องโทษหลายคดี หากบังคับนับโทษต่อจากคดีที่จำเลยต้องโทษเป็นคดีสุดท้าย ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย อาจทำให้การบังคับโทษจำคุกไม่ชอบด้วย ป.อ. มาตรา 91 และมาตรา 98 เมื่อกรณียังมีข้อสงสัยต้องยกคำขอให้นับโทษต่อนั้น เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.5084/2558 และหมายเลขแดงที่ อ.5230/2558 ของศาลชั้นต้น กับขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาดังกล่าวถือว่าฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงว่า จำเลยถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีที่ขอให้นับโทษต่อดังกล่าวแล้ว โดยไม่จำต้องระบุรายละเอียดว่าต้องนับโทษในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีใด อย่างไร เพราะการขอให้นับโทษต่อหาได้มีกฎหมายบัญญัติว่าต้องกล่าวรายละเอียดมาในคำฟ้องหรือเป็นหน้าที่โจทก์ที่ต้องแถลงวิธีการนับโทษต่อให้ศาลทราบดังที่จำเลยฎีกาไม่ เมื่อจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงในข้อที่ว่า จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.5084/2558 และหมายเลขแดงที่ อ.5230/2558 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อตามคำให้การฉบับลงวันที่ 19 มกราคม 2560 โดยไม่ได้คัดค้านว่าไม่อาจนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาดังกล่าวได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้นับโทษของจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.5084/2558 และหมายเลขแดงที่ อ.5230/2558 ของศาลชั้นต้น มานั้น จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8586/2561

ตามบทบัญญัติของกฎหมาย ผู้ใดต้องโทษปรับตามคำพิพากษาของศาล และไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับหรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับตาม ป.อ. มาตรา 29 (เดิม) เมื่อจำเลยมิได้ชำระค่าปรับ การที่ศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยเพื่อบังคับเป็นค่าปรับจึงเป็นการดำเนินการไปตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ส่วนที่จำเลยได้รับพระราชทานอภัยโทษ ตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2558 มาตรา 5 บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นการพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษเด็ดขาด ในกรณีที่ผู้นั้นยังไม่ได้รับโทษกักขังแทนโทษจำคุก หรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับให้ได้รับการปล่อยตัวไปโดยไม่ต้องรับโทษเท่านั้น แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงการยึดทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อนำมาขายทอดตลาดชำระเป็นค่าปรับด้วย การยึดทรัพย์สินเพื่อบังคับเป็นค่าปรับจึงมิได้รับการพระราชทานอภัยโทษไปแต่อย่างใด ส่วนการบังคับโทษปรับตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 21 แม้จะเป็นกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับภายหลังจากคดีของจำเลยถึงที่สุดแล้วก็ตามก็เป็นเพียงการกำหนดแนวทางหรือวิธีปฏิบัติในการบังคับโทษปรับให้ชัดเจนขึ้น โดยให้พนักงานอัยการร้องขอต่อศาลให้ออกหมายบังคับคดี กับให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้สำนักงาน ป.ป.ส. มีอำนาจตรวจสอบทรัพย์สินและให้ถือเป็นเจ้าหนี้คำพิพากษาเท่านั้น กรณีหาใช่เป็นการนำกฎหมายย้อนหลังมาบังคับแก่ทรัพย์สินของจำเลยทำให้จำเลยไม่ได้รับความเป็นธรรมไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8646/2561

มูลเหตุการกระทำความผิดในคดีนี้เกิดจากการนำเรือกลประมงทะเลชั้น 1 ขนาด 40.39 ตันกรอส ออกจากท่า โดยไม่มีคนใช้เครื่องจักรยนต์ชั้นหนึ่งตามที่แจ้งต่อเจ้าพนักงานก่อนนำเรือออกจากท่า ซึ่งเป็นการใช้เรือผิดจากเงื่อนไขหรือข้อกำหนดในใบอนุญาตใช้เรือและเป็นเรือประมงซึ่งปฏิบัติไม่ครบถ้วนตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย และการที่จำเลยยินยอมให้ผู้ควบคุมเรือนำเรือประมงซึ่งปฏิบัติไม่ครบถ้วนตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยออกจากท่า ไม่ปรากฏว่าเรือของจำเลยเป็นเรือที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ได้รับอนุญาตแต่อย่างใด การกระทำความผิดของจำเลยเป็นเพียงการผิดเงื่อนไขหรือข้อกำหนดในใบอนุญาตใช้เรือและยินยอมให้ผู้ควบคุมเรือกระทำการดังกล่าว เรือประมงของกลางจึงมิใช่ทรัพย์ที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8480/2561

มูลเหตุการกระทำความผิดในคดีนี้เกิดจากการนำเรือกลประมงทะเลชั้น 1 ขนาด 43.14 ตันกรอส ออกจากท่า โดยไม่มีคนใช้เครื่องจักรยนต์ชั้นหนึ่งตามที่แจ้งต่อเจ้าพนักงานก่อนนำเรือออกจากท่า ซึ่งเป็นการใช้เรือผิดเงื่อนไขหรือข้อกำหนดในใบอนุญาตใช้เรือและเป็นเรือประมงซึ่งปฏิบัติไม่ครบตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย และการที่จำเลยยินยอมให้ผู้ควบคุมเรือกระทำการดังกล่าว ไม่ปรากฏว่าเรือของจำเลยเป็นเรือที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ได้รับใบอนุญาตแต่อย่างใด เรือประมงของกลางจึงมิใช่ทรัพย์ที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ริบเรือประมงของกลางจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8343/2561

คดีที่มีคำขอท้ายฟ้องให้นับโทษต่อจากโทษของจำเลยในคดีนี้ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย และพิพากษาถึงส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อจากโทษในคดีดังกล่าวว่า คดีที่ขอให้นับโทษต่อนั้น ศาลมีคำพิพากษาภายหลัง จึงนับโทษต่อให้ไม่ได้ ตามสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แนบท้ายฎีกาของโจทก์ จำเลยไม่ได้แก้ฎีกาว่าสำเนาคำพิพากษาดังกล่าวไม่ถูกต้อง จึงแสดงให้เห็นว่าการพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวมีขึ้นก่อนคดีนี้ ระหว่างการพิจารณาคดีนี้ของศาลอุทธรณ์จึงปรากฏข้อเท็จจริงต่อศาลอุทธรณ์แล้วว่าคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยแล้ว จึงต้องนับโทษคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ไม่นับโทษต่อให้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5747/2561

เจตนารมณ์ของการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดในชั้นที่ถูกกล่าวหาตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง เพื่อเยียวยาแก้ไขเสียก่อนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในชั้นศาล และเป็นบทบังคับให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาซึ่งเป็นบุคคลเข้าหลักเกณฑ์ตามมาตราดังกล่าวไปศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด คดีนี้จำเลยทั้งสามถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำหน่ายเมทแอมเฟตามีน และเสพเมทแอมเฟตามีน รวม 3 ฐาน แต่พนักงานสอบสวนไม่ได้นำตัวจำเลยทั้งสามไปศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เมื่อพนักงานสอบสวนมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์มาตรา 19 จึงเป็นการสอบสวนโดยไม่ชอบ เท่ากับว่าไม่มีการสอบสวนคดีนี้มาก่อน เพราะเมื่อพนักงานสอบสวนได้กล่าวหาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิด 3 ฐาน หากจำเลยทั้งสามได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจนครบถ้วนตามที่กำหนดในแผนและผลการฟื้นฟูเป็นที่พอใจแก่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ก็จะพ้นจากความผิดทุกข้อหาที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 19 ในทางกลับกันการที่พนักงานสอบสวนไม่ปฏิบัติตามตัวบทกฎหมาย ย่อมส่งผลให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องทุกข้อกล่าวหาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 หาใช่เป็นดุลพินิจของโจทก์ที่จะพิจารณาสั่งฟ้องเป็นรายข้อหาเฉพาะความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนไม่

แม้โจทก์ไม่ได้ฟ้องข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน แต่ข้อเท็จจริงปรากฏในสำนวนว่า จำเลยทั้งสามถูกแจ้งข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีนด้วย จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นได้สอบถามจำเลยทั้งสามในห้องพิจารณา จำเลยทั้งสามรับว่าเสพเมทแอมเฟตามีน กรณีจึงเป็นเรื่องที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่า จำเลยทั้งสามมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เสี่ยงต่อการกระทำความผิดหรืออาจถูกชักนำให้กระทำความผิดได้ หาใช่เป็นการวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนไม่ เพราะมิได้ปรับบทกฎหมายหรือกำหนดโทษฐานนี้ ศาลชั้นต้นมีอำนาจคุมความประพฤติจำเลยทั้งสามตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 138 มิใช่การพิพากษาเกินคำขอ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง จึงไม่ชอบเพราะศาลมิได้พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง มิใช่ทรัพย์ใช้ในการกระทำความผิด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยได้กระทำความผิดซึ่งหมายถึงความผิดตามฐานที่ฟ้อง จึงไม่อาจริบได้ ให้คืนแก่เจ้าของตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 และ ป.อ. มาตรา 32, 33

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 999/2561

การที่ จ. ติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีนกับจำเลยที่ 3 ทางโทรศัพท์ โดย จ. ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปส่งมอบแก่จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่จะติดต่อส่งมอบเมทแอมเฟตามีนกันทางโทรศัพท์ ลักษณะการตกลงกันเพื่อให้มีการขายและส่งมอบของกลางเช่นนี้ถือว่าเป็นการร่วมคบคิดกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงมีความผิดฐานสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง และเมื่อจำเลยที่ 3 ฝ่ายผู้ซื้อยังไม่ได้รับมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยที่ 1 ฝ่ายผู้ขาย จำเลยที่ 3 จึงไม่เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลาง เพราะจำเลยที่ 3 ฝ่ายผู้ซื้อไม่อาจครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางร่วมกับจำเลยที่ 1 ฝ่ายผู้ขายได้ในขณะเดียวกัน จำเลยที่ 3 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และเมื่อการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนของกลางยังไม่สำเร็จ จำเลยที่ 3 จึงไม่มีความผิดฐานสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง แต่การที่จำเลยที่ 3 ไปรอรับเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยที่ 1 ที่จุดนัดหมาย ถือเป็นการกระทำที่ใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จเข้าขั้นลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผล จำเลยที่ 3 จึงมีความผิดฐานพยายามมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้เช่นเดียวกับความผิดสำเร็จฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7 และเงินที่จำเลยที่ 3 เตรียมไว้สำหรับซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้นำมาส่งมอบให้ เงินดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินซึ่งมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ศาลจึงมีอำนาจริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 416/2561

พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 145 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีเด็กหรือเยาวชนต้องโทษปรับ... ห้ามมิให้ศาลสั่งกักขังเด็กหรือเยาวชนแทนค่าปรับ แต่ให้ศาลส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมในสถานที่ที่กำหนดไว้..." และวรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนต้องโทษปรับ แต่ไม่มีเงินชำระค่าปรับ ให้นำบทบัญญัติมาตรา 30/1 มาตรา 30/2 และมาตรา 30/3 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาใช้บังคับโดยอนุโลม" จากบทบัญญัติดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า กรณีเด็กหรือเยาวชนต้องโทษปรับ ไม่ให้มีการกักขังแทนค่าปรับ คงให้ส่งไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมเท่านั้น ซึ่งเป็นบทบัญญัติเฉพาะและเป็นข้อยกเว้น ป.อ. มาตรา 29 ที่ให้กักขังแทนค่าปรับ หรือยึดทรัพย์สิน อายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับ ซึ่งเป็นบททั่วไปเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิ สวัสดิภาพ และวิธีปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนให้สามารถที่จะดำเนินชีวิตต่อไปได้และกลับคืนสู่สังคมในสภาพที่ดีขึ้น เมื่อการบังคับคดีตามคำพิพากษาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนเสร็จสิ้น โดยจะเห็นได้จากวรรคสองแห่งมาตรา 145 ดังกล่าว ที่ให้นำมาตรา 30/1 มาตรา 30/2 และมาตรา 30/3 แห่ง ป.อ. มาใช้โดยอนุโลมเท่านั้น มิได้กล่าวถึงมาตรา 29 แห่ง ป.อ. แต่ประการใด โจทก์ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ออกหมายยึดทรัพย์สินหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยใช้ค่าปรับตามคำพิพากษาในกรณีที่จำเลยเป็นเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 29 วรรคหนึ่ง

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 11/2560)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 415/2561

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง 57, 67, 91 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง ลดมาตราส่วนโทษและลดโทษกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 5 เดือน และปรับ 7,000 บาท อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 9 จังหวัดสงขลา ขั้นต่ำ 6 เดือน ขั้นสูง 9 เดือน นับแต่วันมีคำพิพากษา หากจำเลยอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์แล้วยังเหลือระยะเวลาฝึกอบรมเท่าใด ให้ส่งจำเลยไปจำคุกในเรือนจำ หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 9 จังหวัดสงขลา แทนค่าปรับแต่ไม่เกินหนึ่งปี ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 145

โจทก์ยื่นคำร้องว่า พ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาที่จำเลยจะต้องชำระค่าปรับต่อศาลแล้ว แต่จำเลยยังไม่ชำระค่าปรับ ขอให้ออกหมายบังคับคดี นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านการใช้ดุลพินิจของศาลชั้นต้นส่วนนี้ว่าไม่ชอบอย่างไร ทั้งมาตรา 145 เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อใช้กับเด็กหรือเยาวชนที่ต้องโทษปรับ ไม่ว่าจะมีโทษจำคุกด้วยหรือไม่ก็ตาม โดยบัญญัติชัดแจ้งว่า ถ้าเด็กหรือเยาวชนไม่ชำระค่าปรับ ห้ามมิให้ศาลกักขังเด็กหรือเยาวชนแทนค่าปรับ แต่ให้ศาลส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมตามเวลาที่ศาลกำหนด แต่ต้องไม่เกิน 1 ปี เท่ากับเจตนารมณ์ของมาตราดังกล่าวเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบังคับคดีในการชำระค่าปรับแก่เด็กหรือเยาวชนที่ไม่มีเงินชำระค่าปรับว่าให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนคือการส่งฝึกอบรมเท่านั้น หาใช่ใช้การกักขังแทนค่าปรับ หรือมุ่งบังคับในทางทรัพย์สินของเด็กและเยาวชนแต่อย่างใด จึงเป็นบทบัญญัติที่ยกเว้น มาตรา 29 หาจำต้องใช้มาตราดังกล่าวแก่จำเลยตามฎีกาของโจทก์ไม่

เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาถึงวิธีการบังคับโทษปรับจำเลยไว้ว่า หากไม่ชำระค่าปรับ ให้ส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมแทนค่าปรับไม่เกินหนึ่งปี ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 145 วรรคหนึ่งแล้ว จึงไม่มีกรณีต้องนำมาตรา 145 วรรคสอง ที่บัญญัติให้นำมาตรา 30/1, 30/2 และ 30/3 แห่ง ป.อ. มาใช้บังคับโดยอนุโลมในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนต้องโทษปรับแต่ไม่มีเงินชำระค่าปรับมาใช้แต่อย่างใด

ทั้ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 21 บัญญัติว่า ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษปรับ ให้พนักงานอัยการร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี เพื่อตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องโทษแทนค่าปรับได้ และไม่กระทบต่อการที่ศาลขังผู้ต้องโทษแทนค่าปรับ เมื่อจำเลยมิได้ชำระค่าปรับและยังมิได้ถูกกักขัง โจทก์จึงสามารถขอออกหมายบังคับคดีได้ ศาลฎีกา เห็นว่า มาตรา 21 วรรคสาม ดังกล่าวหมายถึง กรณีกักขังแทนค่าปรับตาม ป.อ. มาตรา 29 แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็ก คือหากไม่ชำระค่าปรับ ให้ส่งจำเลยไปฝึกอบรมแทนค่าปรับ ตามพ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โดยเฉพาะ กรณีจึงไม่อาจนำวิธีพิจารณาคดียาเสพติดมาตราดังกล่าวมาใช้บังคับได้ แม้ว่าจำเลยจะยังมิได้ชำระค่าปรับ และมิได้ถูกฝึกอบรมแทนค่าปรับ ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของโจทก์จึงชอบแล้ว

อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยเป็นส่งตัวไปฝึกอบรมมีกำหนดขั้นต่ำ 6 เดือน ขั้นสูง 9 เดือน นับแต่วันพิพากษา หากจำเลยอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์แล้วยังเหลือระยะเวลาฝึกอบรมเท่าใด ให้ส่งจำเลยไปจำคุกในเรือนจำ หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 จังหวัดสงขลา แทนค่าปรับแต่ไม่เกินหนึ่งปีนั้น ไม่ชัดเจนเรื่องระยะเวลาจำคุกต่อ และระยะเวลาฝึกอบรมแทนค่าปรับ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ชัดเจน หากจำเลยอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ก่อนกำหนดเวลาฝึกอบรมขั้นต่ำ โดยเห็นควรให้ส่งจำเลยไปจำคุกในเรือนจำเท่าระยะเวลาฝึกอบรมขั้นต่ำที่เหลือ

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 11/2560)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2543/2561

ภายหลังจากที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ ปรากฏว่าในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั้น ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลย 4 ปี 3 เดือน และปรับ 266,666.67 บาท และคดีเป็นอันถึงที่สุดไปแล้ว กรณีของจำเลยจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ ตาม ป.อ. มาตรา 56 ที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2164/2561

เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลชั้นต้นต้องลดโทษแต่ละกระทงก่อนแล้วจึงรวมโทษ เพราะ ป.อ. มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติว่า "หากกำหนดโทษจำคุกเป็นเดือน ให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน..." การกำหนดโทษ 12 เดือน จึงเท่ากับ 360 วัน แต่หากรวมโทษทุกกระทงเป็นจำคุก 2 ปี แล้วจึงลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี ย่อมเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากกว่า

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2561)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 504 - 506/2561

ความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม จำคุก 6 ปี เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกอบรมขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 5 ปี ขั้นสูงไม่เกินกว่า 7 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกอบรมกำหนดขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1 ปี ขั้นสูงไม่เกิน 2 ปี อันเป็นการพิพากษาแก้ไขเฉพาะระยะเวลาการฝึกอบรม ซึ่งไม่ใช่โทษตาม ป.อ. มาตรา 18 จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและต้องถือว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 3 และที่ 5 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 6 ปี เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นฝึกอบรมขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 5 ปี ขั้นสูงไม่เกินกว่า 7 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 279 รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกอบรมขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1 ปี ขั้นสูงไม่เกิน 2 ปี จึงเป็นการพิพากษาแก้ทั้งบทลงโทษและแก้ไขระยะเวลาฝึกอบรมอันเป็นการแก้ไขมาก แต่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ที่โจทก์ฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่า อวัยวะเพศของจำเลยได้ผ่านอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 3 และที่ 5 เข้าไปแล้วจึงเป็นความผิดสำเร็จฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 3 และที่ 5 เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 4 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 317 วรรคสาม ให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน ปรากฏว่าโทษจำคุกตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน ส่วนโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะมีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิมต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายเดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย

คดีนี้ จำเลยถูกควบคุมตัวในระหว่างอุทธรณ์ โดยสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครศรีธรรมราช รับตัวจำเลยไว้ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2559 หากผู้อำนวยการสถานพินิจเห็นสมควรย้ายเด็กหรือเยาวชนไปควบคุมในสถานพินิจอื่นหรือสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมวด 4 ของ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน เว้นแต่ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินจะย้ายเด็กหรือเยาวชนไปก่อนก็ได้ แต่ต้องรายงานให้ศาลทราบโดยเร็ว ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 41 (7) แต่คดีนี้ไม่ปรากฏว่าสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับอนุญาตจากศาลให้ย้ายเด็กหรือเยาวชนไปเข้ารับการฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านบึงก่อน หรือหากจะถือว่ามีเหตุฉุกเฉินที่จะย้ายเด็กหรือเยาวชนไปก่อนก็ไม่ปรากฏว่ามีการรายงานให้ศาลทราบ การส่งตัวจำเลยไปเข้ารับการฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านบึงจึงเป็นการไม่ชอบ และการที่ศาลชั้นต้นพิจารณาปล่อยจำเลยไปเมื่อครบกำหนดฝึกอบรมขั้นต่ำทั้งที่คดียังไม่ถึงที่สุดก็เป็นการไม่ชอบเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อจำเลยถูกควบคุมในระหว่างพิจารณาคดีจึงให้หักจำนวนวันที่จำเลยอยู่ในความควบคุมตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 83 วรรคหนึ่งด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7901/2560

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องจำเลยในความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญ และฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน แต่ยังคงพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต กรรมหนึ่ง และฐานทำให้เสียทรัพย์ อีกกรรมหนึ่งด้วย ดังนี้ สำหรับอาวุธปืนของกลางแม้เป็นอาวุธปืนที่มีทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย แต่การที่จำเลยใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงขึ้นฟ้าเพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 เกิดความกลัวหรือความตกใจและกระสุนปืนถูกบ้านของผู้เสียหายที่ 3 ได้รับความเสียหาย กรณีย่อมถือได้ว่าอาวุธปืนของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 358 อันพึงต้องริบตามมาตรา 33 (1) มิใช่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ริบอาวุธปืนของกลางเพราะจำเลยใช้ในการกระทำความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6733/2560

ร้อยตำรวจเอก ท. และดาบตำรวจ บ. กับพวกตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนของกลางได้จากจำเลยที่อำเภอปากพนัง ซึ่งอยู่ในอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรปากพนัง การสอบสวนโดยพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองนครศรีธรรมราช จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ คดีนี้กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ไม่ได้กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน กรณีจึงมิใช่ความผิดส่วนหนึ่งกระทำในท้องที่หนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งในอีกท้องที่หนึ่งอันทำให้พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองนครศรีธรรมราช มีอำนาจสอบสวนได้

แม้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องก็ชอบที่จะต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางที่โจทก์มีคำขอให้ริบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) ประกอบมาตรา 215 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยเกี่ยวกับของกลางดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ เมื่อเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จึงให้ริบตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง โจทก์ขอให้ศาลสั่งริบโดยอ้างว่าจำเลยใช้ในการติดต่อจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แต่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมื่อคำเบิกความของพยานโจทก์มีข้อพิรุธน่าสงสัยว่าจะมีการวางแผนล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยหรือไม่ ทั้งโจทก์มิได้นำสืบถึงรายการการใช้โทรศัพท์ระหว่างโทรศัพท์ของสายลับกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง ข้อเท็จจริงจึงยังรับฟังไม่ได้ว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะหรือวัตถุอื่นใดซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรง และไม่ใช่ทรัพย์สิน ที่จำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยได้กระทำความผิดซึ่งหมายถึงความผิดตามฐานที่โจทก์ฟ้องเท่านั้น จึงไม่อาจริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 และ ป.อ. มาตรา 33 ทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด อันจะต้องริบเสียทั้งสิ้นตาม ป.อ. มาตรา 32

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6665/2560

การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษเป็นเรื่องความรับผิดทางอาญา เมื่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4 มิได้บัญญัติความหมายพิเศษของคำว่า มีไว้ในครอบครองไว้ จึงต้องถือตามความหมายทั่วไปว่า การมียาเสพติดให้โทษอยู่ในความยึดถือหรือปกครองดูแลของตนโดยรู้ว่าเป็นยาเสพติดให้โทษเป็นการมีไว้ในครอบครองแล้ว ขณะเกิดเหตุเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใส 2 ซอง คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.395 กรัม ของกลางวางอยู่ใกล้ตัวจำเลยที่ 3 และเมื่อจำเลยที่ 3 เห็นพันตำรวจโท ป. กับพวก ก็นำเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใสดังกล่าวไปซ่อนไว้ในเสื้อชั้นในทันที ถือว่าเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใส อยู่ในความยึดถือหรือปกครองดูแลของจำเลยที่ 3 แล้ว เมื่อจำเลยที่ 3 รู้ว่าเป็นเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใส จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 มีเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใส ของกลางไว้ในครอบครอง และเมื่อของกลาง คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.395 กรัม กรณีจึงต้องด้วยบทสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) จำเลยที่ 3 จึงมีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6521/2560

แม้คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ แต่โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับรถยนต์ของกลางว่า เป็นยานพาหนะที่จำเลยกับพวกใช้ขับมาร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อ โดยไม่ปรากฏว่ามีการใช้รถยนต์ของกลางซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีนของกลางหรือมีการใช้รถยนต์ของกลางในการร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางอย่างไร จำเลยเพียงแต่ขับรถยนต์ของกลางมายังสถานที่เกิดเหตุเพื่อมารับเงินค่าเมทแอมเฟตามีนของกลางเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยนำรถยนต์ของกลางมาใช้เป็นยานพาหนะสำหรับการนำเมทแอมเฟตามีนของกลางมาส่งให้แก่สายลับดังกล่าว หรือจำเลยมีเจตนาที่จะใช้รถยนต์ของกลางเป็นประโยชน์ในการกระทำความผิดคดีนี้อย่างไร รถยนต์ของกลางจึงเป็นเพียงยานพาหนะที่จำเลยใช้ในการเดินทางมายังสถานที่เกิดเหตุมิใช่เครื่องมือ เครื่องใช้ ที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรง และไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยได้กระทำความผิด จึงไม่อาจริบรถยนต์ของกลางตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 และ ป.อ. มาตรา 33 ทั้งรถยนต์ของกลางก็ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด อันจะต้องริบเสียทั้งสิ้นตาม ป.อ. มาตรา 32

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5307/2560

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง และขอให้บวกโทษจำคุกที่เปลี่ยนเป็นคุมความประพฤติของจำเลยไว้ในคดีของศาลเยาวชนและครอบครัวคดีก่อน เข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ก่อนคดีนี้จำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 14 ปี 6 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ หากแต่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมในศูนย์ฝึกอบรมตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ซึ่งเป็นวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน มีกำหนด 5 ปี หลังจากนั้นภายในกำหนดเวลาที่ถูกคุมความประพฤติซึ่งเป็นเงื่อนไขในการปล่อยตัวจำเลยในคดีก่อน จำเลยกลับมากระทำผิดในคดีนี้อีกหลังมีอายุพ้นเกณฑ์การเป็นเยาวชน ซึ่งชอบที่จะว่ากล่าวไปตามวิธีการที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะใน พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ไม่อาจนำมาเทียบเคียงว่ากรณีเช่นนี้ของจำเลยเป็นการกลับมากระทำความผิดภายในกำหนดเวลาที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 58 ฉะนั้น แม้คดีนี้ศาลฎีกาพิพากษาให้ลงโทษจำคุกก็ไม่อาจนำโทษจำคุกของจำเลยในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5035/2560

จำเลยขับรถจักรยานยนต์ของกลางในขณะเมาสุรา และขับรถด้วยความเร็วสูงปาดหน้ารถคันอื่นไปมาบนถนนสาธารณะในลักษณะเปลี่ยนช่องทางเพื่อหลบหนีการจับกุมของเจ้าพนักงานตำรวจ โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ร้ายแรง รถจักรยานยนต์ของกลางที่จำเลยใช้ขับในขณะเมาสุราและขับโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความเดือดร้อนของผู้อื่น จึงเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง อันพึงริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)

การที่จำเลยขับรถในขณะเมาสุราและขับรถด้วยความเร็วสูงเปลี่ยนช่องทางไปมาโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น ขณะที่จำเลยยังคงมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 131 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ แสดงว่าจำเลยกระทำผิดทั้งสองฐานในขณะเดียวกันและต่อเนื่องกัน โดยจำเลยมีเจตนาเดียวคือขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษจำเลยในความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุรา ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ซึ่งศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน และลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดมานั้น เป็นการมิชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์และฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4333/2560

โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1341/2556 ของศาลชั้นต้น กับขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาดังกล่าว ถือว่าฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงว่า จำเลยถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1341/2556 ของศาลชั้นต้นแล้ว โดยไม่จำต้องระบุรายละเอียดว่าคดีดังกล่าวศาลพิพากษาลงโทษจำเลยหรือไม่ อย่างไร เพราะการขอให้นับโทษต่อหาได้มีกฎหมายบัญญัติว่าต้องกล่าวรายละเอียดดังกล่าวมาในคำฟ้อง เมื่อจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงในข้อที่ว่า จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น โดยไม่ได้คัดค้านว่าไม่อาจนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาดังกล่าวได้ จึงนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1341/2556 ของศาลชั้นต้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2469/2560

ป.อ. มาตรา 22 วรรคหนึ่ง เป็นบทกำหนดหลักเกณฑ์ในการบังคับโทษจำคุกว่าให้เริ่มนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา โดยมีข้อยกเว้นในกรณีที่ศาลจะมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น การใช้ดุลพินิจให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่น จึงเป็นข้อยกเว้นไม่ให้เริ่มนับแต่วันมีคำพิพากษา โจทก์มีคำขอให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 191/2554 ของศาลจังหวัดสิงห์บุรี และฟ้องโจทก์ก็บรรยายด้วยว่าระหว่างสอบสวนจำเลยถูกจำคุกอยู่ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 191/2555 ของศาลจังหวัดสิงห์บุรีที่เรือนจำจังหวัดอ่างทอง จำเลยเป็นคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 191/2554 ของศาลจังหวัดสิงห์บุรี เห็นได้ชัดเจนว่า โจทก์พิมพ์เลข พ.ศ. ของคดีที่ขอให้นับโทษต่อผิดพลาดถือเป็นเรื่องเล็กน้อย ตามสำเนาคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 191/2555 ของศาลจังหวัดสิงห์บุรีท้ายฎีกาโจทก์ ก็ระบุว่าเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 191/2555 ของศาลจังหวัดสิงห์บุรี โดยจำเลยมิได้แก้ฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่น แม้จำเลยให้การรับว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 191/2554 ของศาลจังหวัดสิงห์บุรี ที่มีเลข พ.ศ. คลาดเคลื่อน แต่จำเลยย่อมเข้าใจได้ว่าเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 191/2555 ของศาลจังหวัดสิงห์บุรี ศาลย่อมใช้ดุลพินิจให้เริ่มนับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 191/2555 ของศาลจังหวัดสิงห์บุรีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1415/2560

คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 388/2558 ของศาลชั้นต้น โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีช้างซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าช้างเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และศาลชั้นต้นริบช้างของกลางตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 58 และ ป.อ. มาตรา 32 ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนช้างของกลาง จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเพียงว่า ศาลจะสั่งคืนช้างของกลางให้แก่เจ้าของซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่เท่านั้น ส่วนประเด็นที่ว่าศาลสั่งริบช้างของกลางได้หรือไม่นั้นยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจะยกประเด็นโดยอ้างว่าช้างของกลางเป็นช้างบ้านที่มีตั๋วรูปพรรณช้าง (ส.พ. 5) เพื่อให้ฟังว่ามิใช่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองขึ้นมาในคำร้องขอคืนช้างของกลางต่อไปอีกไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

กรณีที่ศาลสั่งริบสัตว์ป่าคุ้มครองของกลางที่บุคคลมีไว้เนื่องจากการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 58 และเป็นทรัพย์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดมีไว้เป็นความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 32 นั้น พระราชบัญญัติดังกล่าวและประมวลกฎหมายอาญา ตลอดจนกฎหมายอื่นไม่มีบทบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ใดยื่นคำร้องขอคืนของกลางที่ศาลชั้นต้นริบในกรณีดังกล่าวได้ ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอคืนช้างของกลางคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1095 - 1096/2560

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดต่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 โดยแยกฟ้องเป็นสองสำนวน และมีคำขอให้นับโทษของจำเลยแต่ละสำนวนต่อกัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมพิจารณาคดีทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกัน การกระทำของจำเลยในแต่ละสำนวนจึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 โดยเรียงกระทงลงโทษจำเลยในสำนวนแรก จำคุก 25 ปี และปรับ 1,000,000 บาท และสำนวนที่สองจำคุก 25 ปี และปรับ 1,000,000 บาท จึงเป็นการนับโทษจำคุกของจำเลยทุกกระทงในสองสำนวนติดต่อกันแล้ว แม้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกคำขอให้นับโทษต่อ ก็เป็นเพียงการพิพากษาเกินเลยไปเท่านั้น ไม่ทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ถูกต้องจนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องอุทธรณ์แต่อย่างใด เมื่อศาลชั้นต้นนับโทษต่อกันแล้วจึงต้องรวมโทษทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกัน และนำโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ. 2372/2555 มาบวกเข้ากับโทษจำคุกดังกล่าวด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 415/2560

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคแรก ประกอบมาตรา 340 ตรี และมาตรา 83 จำคุกคนละ 7 ปี 6 เดือน อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวจำเลยทั้งสองไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 4 จังหวัดขอนแก่น มีกำหนดขั้นต่ำ 3 ปี ขั้นสูง 4 ปี ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นอันเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลยซึ่งไม่เป็นการลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 18 ต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองเกินห้าปี เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 และมาตรา 183 ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมารับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยทั้งสองมา เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย พิพากษายกฎีกาของจำเลยทั้งสอง

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17/2559)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9999/2559

การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า ตัวรถลากจูงบรรทุกน้ำหนักเกินไปเท่าใด และตัวพ่วงบรรทุกน้ำหนักเกินไปเท่าใด น้ำหนักบรรทุกที่กดทับลงสู่พื้นถนนผ่านล้อแต่ละล้อจึงไม่เป็นการทำลายพื้นถนนมากนัก คำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมแสดงถึงเหตุผลในการตัดสินคดีเพื่อประกอบดุลพินิจในการรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (6) ประกอบมาตรา 215 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 โดยมิใช่เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกเหนือจากที่จำเลยให้การรับสารภาพ หรือเป็นข้อที่จำเลยไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบแต่อย่างใด คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงชอบด้วยกฎหมาย

การที่จำเลยใช้รถบรรทุกคันเกิดเหตุบรรทุกทรายมีน้ำหนักยานพาหนะรวมน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ถึง 20,750 กิโลกรัม แม้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าน้ำหนักบรรทุกของรถบรรทุกคันเกิดเหตุที่กดทับลงสู่พื้นถนนผ่านล้อแต่ละล้อจะมีน้ำหนักเท่าใดก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยไม่นำพาว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสภาพทางหลวงแผ่นดินซึ่งเป็นสมบัติของส่วนรวม และมีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันของสาธารณชน ทั้งทำให้ผู้ร่วมใช้เส้นทางสัญจรไปมาต้องเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดจากสภาพของยานพาหนะที่บรรทุกน้ำหนักเป็นจำนวนมากจนเกินกว่าที่ผู้ขับจะควบคุมให้แล่นไปได้อย่างปลอดภัย พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรงไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ แต่เห็นสมควรเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน ตาม ป.อ. มาตรา 23

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9675/2559

จำเลยดัดแปลงหรือเปลี่ยนแปลงสภาพรถจักรยานยนต์ของกลางเพื่อนำไปสู่การแข่งรถจักรยานยนต์ในทาง รถจักรยานยนต์ของกลางจึงเป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานส่งเสริมหรือสนับสนุนให้มีการแข่งรถจักรยานยนต์ในทางโดยตรงซึ่งศาลมีอำนาจริบได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9648/2559

พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180 บัญญัติว่า คดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งแล้ว ให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดา เว้นแต่ในกรณีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างหนึ่งอย่างใด... คดีนี้ จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะเนื้อหาแห่งคดีในปัญหาข้อเท็จจริงว่า จำเลยมิได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด โดยมิได้อุทธรณ์เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนมาด้วย ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอย่างคดีธรรมดาเท่านั้น ซึ่งเมื่อนำ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 มาประกอบแล้ว ก็คือ บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ซึ่งห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อคดีโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 295 ซึ่งระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295, 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนให้ตาม ป.อ. มาตรา 75 กึ่งหนึ่ง จำคุก 2 ปี อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนจังหวัดนครสวรรค์ มีกำหนด 2 ปี แต่ไม่เกินไปกว่าที่จำเลยมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลย ไม่เป็นการลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 18 อันจะเข้ากรณียกเว้นที่จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า พยานโจทก์ให้การในชั้นสอบสวนและเบิกความต่อศาลขัดแย้งในข้อหาสาระสำคัญทำให้ไม่น่าเชื่อถือ อันเป็นอุทธรณ์โต้แย้งในเนื้อหาแห่งคดีเกี่ยวกับการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น มิใช่อุทธรณ์เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง อันต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น แม้จำเลยจะยื่นอุทธรณ์โดยมีผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ก็ตาม แต่การอนุญาตให้อุทธรณ์ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 181 ซึ่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจะอนุญาตให้อุทธรณ์ได้เฉพาะในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180 เท่านั้น มิได้ให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ในกรณีดังกล่าวได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวเป็นผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นในอันที่จะอนุญาตให้อุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยและศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับวินิจฉัยอุทธรณ์มานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 225 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9572/2559

การยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับเป็นมาตรการในการบังคับตามคำพิพากษาซึ่งเป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการผู้ร้องที่ต้องดำเนินการบังคับคดีอาญาในส่วนการยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับโดยไม่อาจถือได้ว่ารัฐหรือศาลหรือโจทก์เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พุทธศักราช 2483 แม้จำเลยที่ 1 จะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วอำนาจในการจัดการกิจการและทรัพย์สินตกแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวก็ตาม แต่การบังคับโทษปรับแก่จำเลยที่ 1 เป็นการใช้อำนาจรัฐเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางคดีอาญา โดยศาลและพนักงานอัยการเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายอาญาที่จะต้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับเต็มจำนวนตามคำพิพากษาดังที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 29 โดยไม่จำต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าปรับต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านเช่นเดียวกับหนี้เงินในทางแพ่ง จึงไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ที่ผู้ร้องจะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8393/2559

ฎีกาของโจทก์ยอมรับว่าเมทแอมเฟตามีน 1,844 เม็ด ที่ยึดได้จาก ห. กับเมทแอมเฟตามีน 27 เม็ด ที่ยึดได้จากจำเลย มีการแบ่งแยกกันเป็นคนละส่วน คนละจำนวน และจำเลยได้มาคนละคราวกัน ดังนี้ เมื่อปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนที่ยึดได้จากจำเลยและ ห. มิได้มีลักษณะหรือสีเหมือนกัน ประกอบกับชั้นจับกุมจำเลยให้การทันทีว่าซื้อเมทแอมเฟตามีน 27 เม็ด เพื่อเสพ และชั้นสอบสวนจำเลยให้การว่า รับจ้างจาก ฉ. นำเมทแอมเฟตามีนไม่ทราบจำนวนบรรจุอยู่ในห่อไปส่งที่จังหวัดพังงามี ห. มารับเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไป จึงฟังได้ว่าเมทแอมเฟตามีน 27 เม็ดที่ยึดได้จากจำเลย เป็นเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยได้มาคนละคราวกับเมทแอมเฟตามีน 1,844 เม็ด ที่จำเลยจำหน่ายให้แก่ ห. เมทแอมเฟตามีนเป็นคนละจำนวนกัน จำเลยมีเจตนามีเมทแอมเฟตามีน 27 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแยกต่างหากจากการมีเมทแอมเฟตามีน 1,844 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

แม้จำเลยให้การรับสารภาพ แต่ความผิดที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นความผิดซึ่งมีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต ศาลต้องฟังพยานหลักฐานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 13 เมื่อพยานหลักฐานโจทก์นำสืบได้ความเพียงว่า พันตำรวจโท อ. ยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางได้จากจำเลยเท่านั้น โดยไม่มีพยานนำสืบให้เห็นว่าจำเลยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางติดต่อซื้อขายและส่งมอบเมทแอมเฟตามีนในคดีนี้อย่างใด โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางของจำเลยจึงมิใช่เครื่องมือ เครื่องใช้ ที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรง และไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยได้กระทำความผิด จึงไม่อาจริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางของจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 และ ป.อ. มาตรา 33 ทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางก็ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด อันจะต้องริบเสียทั้งสิ้นตาม ป.อ. มาตรา 32

อนึ่ง เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 25) พ.ศ.2559 ใช้บังคับ โดยมาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 30 และให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่งกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณกว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด จึงให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7111/2559

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกรวม 5 ปี 6 เดือน อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 4 จังหวัดขอนแก่น มีกำหนด 3 ปี นับแต่วันพิพากษา ริบของกลาง และศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนโดยเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมซึ่งมิใช่การลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 18 ต้องถือว่าศาลล่างทั้งสองมิได้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 และมาตรา 183 ซึ่งกรณีนี้จำเลยจะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 แต่คดีนี้จำเลยยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา และผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาซึ่งไม่ถูกต้อง แต่อย่างไรก็ดีปรากฏว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลายื่นฎีกาได้จนถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2558 และจำเลยยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 19 สิงหาคม 2558 ซึ่งหากผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งคำร้องของจำเลยโดยถูกต้องว่าไม่มีอำนาจอนุญาตให้จำเลยฎีกาได้ และศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยแต่แรกแล้ว จำเลยย่อมมีเวลาเพียงพอที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดบกพร่องดังกล่าวด้วยการยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาเพื่อขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 4 อนุญาตให้จำเลยฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นเสียใหม่ให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7005/2559

การที่จำเลยขอให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ในคดีที่โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงของศาลชั้นต้นอีกคดีหนึ่ง และโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องขอให้นับโทษคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีดังกล่าว ทั้งความก็ปรากฏต่อศาลชั้นต้นว่า คดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั้น ได้มีคำพิพากษาตัดสินคดีแล้ว ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจในการใช้ดุลพินิจนับโทษต่อได้ เพราะข้อเท็จจริงดังกล่าวปรากฏต่อศาลเอง โดยจำเลยไม่ได้แถลงหรืออุทธรณ์คัดค้านให้เห็นเป็นอย่างอื่น การที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจนับโทษจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีดังกล่าว จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7110/2559

จำเลยใช้รถบรรทุกลากจูงและรถบรรทุกกึ่งพ่วงของกลางมีน้ำหนักบรรทุกรวมน้ำหนักรถเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ถึง 10,400 กิโลกรัม เพื่อประโยชน์ส่วนตัว โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ทางหลวงแผ่นดิน ทั้งยังมีผลกระทบต่อผู้ร่วมใช้เส้นทางสัญจรไปมาที่ต้องเสี่ยงต่ออันตรายอันเกิดจากสภาพแห่งท้องถนนที่ได้รับความเสียหาย ทำให้ยากต่อการควบคุมให้รถแล่นไปได้อย่างปลอดภัย ซึ่งอาจมีผลก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่นได้ ดังนั้น รถบรรทุกลากจูงและรถบรรทุกกึ่งพ่วงของกลางซึ่งใช้ในการกระทำความผิดจึงเป็นทรัพย์ที่สมควรต้องริบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6788/2559

การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษปรับจำเลยที่ 1 หมายความว่าจำเลยที่ 1 ผู้ต้องคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จะต้องนำค่าปรับมาชำระ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับแล้ว จำเลยที่ 1 ต้องถูกยึดทรัพย์สิน ใช้ค่าปรับหรือมิฉะนั้นต้องถูกกักขังแทนค่าปรับตาม ป.อ. มาตรา 29 วรรคหนึ่ง เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้อง วิธีการยึดทรัพย์ใช้ค่าปรับหรือการกักขังแทนค่าปรับดังกล่าว เป็นวิธีที่จะกระทำเพื่อเป็นการชดใช้ค่าปรับซึ่งเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่นำค่าปรับมาชำระตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว แม้จำเลยที่ 1 ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับและในที่สุดศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ก็ไม่มีเหตุที่ต้องจ่ายเงินค่าปรับที่จำเลยที่ 1 ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ทั้งกรณีไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 4 มาใช้บังคับกับคดีนี้ซึ่งเป็นคดีอาญาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5548/2559

คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อย.2203/2555 ของศาลชั้นต้น และมีคำขอให้นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีดังกล่าว จำเลยที่ 2 ให้การรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 1 ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีนี้ ความปรากฏต่อศาลชั้นต้นว่า คดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อย.3747/2556 ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าว ซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจกระทำได้ตาม ป.อ. มาตรา 22 แม้ว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวศาลไม่อาจรู้เองได้แต่การจะนับโทษจำเลยต่อจากคดีอื่นหรือไม่ เป็นดุลพินิจของศาล เมื่อศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อเพราะมีข้อเท็จจริงปรากฏต่อศาลชั้นต้นเองว่า คดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ศาลชั้นต้นในคดีนั้นพิพากษาว่าอย่างไร จึงสามารถใช้ดุลพินิจนับโทษต่อได้โดยไม่จำต้องให้โจทก์แถลงเพราะไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่โจทก์ต้องนำสืบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5252/2559

การบังคับโทษปรับเป็นการใช้อำนาจรัฐเกี่ยวกับการลงโทษทางอาญาแก่จำเลยที่ 1 เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วเป็นอำนาจของศาลที่จะบังคับโทษปรับแก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องในฐานะพนักงานอัยการมีอำนาจบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับเต็มจำนวนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา

การที่จำเลยที่ 1 ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และบรรดาเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 จะต้องขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ต่อผู้คัดค้านตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2583 มาตรา 27, 91 วรรคหนึ่ง และมาตรา 94 แต่คดีนี้ศาลและผู้ร้องมิใช่เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 อีกทั้งค่าปรับก็มิใช่หนี้ตามที่บัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย แต่การชำระเงินค่าปรับหรือการบังคับโทษปรับเป็นการใช้อำนาจรัฐเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยศาลและพนักงานอัยการเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายเพื่อให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 29 โดยไม่จำต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อผู้คัดค้านเช่นเดียวกับหนี้เงินในคดีแพ่ง มิฉะนั้นแล้วการลงโทษทางอาญาจะไม่ต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพราะกฎหมายอาญาจัดเป็นกฎหมายมหาชนว่าด้วยความผิดและโทษทางอาญาเป็นบทบัญญัติถึงความเกี่ยวพันระหว่างเอกชนกับรัฐ ทั้งการกระทำความผิดนั้นยังได้ชื่อว่ากระทบกระเทือนต่อมหาชนเป็นส่วนรวม จึงไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติล้มละลายซึ่งผู้ร้องจะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4953/2559

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2643/2556 และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2645/2556 และมีคำขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีดังกล่าว จำเลยให้การรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ แม้โจทก์ไม่ได้แถลงให้ศาลทราบว่าคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยหรือไม่ อย่างไร ทั้งไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ศาลรู้เอง แต่การจะนับโทษจำเลยต่อจากคดีอื่นหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาล ประกอบกับก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีนี้ ข้อเท็จจริงปรากฏต่อศาลเองว่า คดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4682/2556 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4687/2556 ศาลชั้นต้นจึงใช้ดุลพินิจนับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีดังกล่าวได้โดยไม่จำต้องให้โจทก์แถลงเพราะไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่โจทก์จะต้องนำสืบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3069/2559

ตามคำร้องขอคืนของกลางของผู้ร้องมีประเด็นเพียงว่า ศาลจะสั่งคืนรถบรรทุกลากจูงและรถกึ่งพ่วงของกลางให้แก่เจ้าของซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่เท่านั้น ส่วนประเด็นที่ว่าสมควรริบรถบรรทุกลากจูงและรถกึ่งพ่วงหรือไม่ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีหลักซึ่งถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจะยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาในคำร้องขอคืนรถบรรทุกลากจูงและรถกึ่งพ่วงของกลางต่อไปอีกไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

แม้จำเลยจงใจฝ่าฝืนระเบียบและประกาศของผู้ร้องเกี่ยวกับการบรรทุกน้ำหนักเกินก็ตาม แต่ระเบียบและประกาศดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผู้ร้องใช้บังคับต่อจำเลยเท่านั้น ผู้ร้องยังต้องมีหน้าที่ตรวจตราว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามระเบียบและประกาศของผู้ร้องดังกล่าวหรือไม่เพื่อมิให้มีการบรรทุกน้ำหนักเกินอีกด้วย ทั้งการตรวจตรามิใช่เพียงแต่มีระเบียบและประกาศให้จำเลยปฏิบัติตามหรือหัวหน้างานโทรศัพท์สอบถามจากจำเลยเท่านั้น นอกจากนี้การที่ผู้ร้องไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องในขณะที่มีการขนถ่ายสินค้าภายในโรงงานของบริษัท น. ได้ ก็มิใช่ว่าผู้ร้องไม่อาจตรวจตราได้ว่ามีการบรรทุกน้ำหนักเกินหรือไม่ เมื่อผู้ร้องไม่มีการควบคุมตรวจสอบอีกชั้นหนึ่งว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามระเบียบและประกาศของผู้ร้องหรือไม่ ย่อมเป็นช่องทางให้จำเลยฝ่าฝืนระเบียบและประกาศของผู้ร้องได้โดยง่าย ซึ่งผู้ร้องย่อมทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดี ดังนี้ การที่ผู้ร้องปล่อยปละละเลยให้จำเลยฝ่าฝืนระเบียบและประกาศของผู้ร้องจนจำเลยบรรทุกน้ำหนักเกินเนื่องจากจำเลยเข้าใจว่าน้ำหนักน้ำมันรถจะขาดหายไปพอดีกับน้ำหนักที่กฎหมายกำหนดไว้และจำเลยต้องการทำเวลาเพื่อจะได้ขับรถได้จำนวนหลายรอบ ย่อมถือได้ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1755/2559

แม้ศาลอุทธรณ์รวมโทษจำคุกของจำเลยทั้งสามสิบกระทงเข้าด้วยกันแล้วจึงลดโทษ จะเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากกว่าลดโทษแต่ละกระทงเสียก่อนแล้วจึงรวมเข้าด้วยกัน เพราะการกำหนดโทษจำคุก 12 เดือน ย่อมมีกำหนดเท่ากับ 360 วัน น้อยกว่าจำนวนวันตามปีปฏิทินที่อาจมีถึง 365 วัน หรือ 366 วัน สุดแล้วแต่ว่าจะเป็นปีอธิกสุรทินหรือปีจันทรคติก็ตาม แต่คดีนี้ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 147 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปีหรือจำคุกตลอดชีวิต เมื่อศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 5 ปี รวม 30 กระทง เป็นจำคุก 150 ปี ไม่ว่าศาลอุทธรณ์จะรวมโทษก่อนแล้วลดโทษเป็นจำคุก 75 ปี หรือลดโทษก่อนแล้วรวมโทษเป็นจำคุก 60 ปี 180 เดือน ก็ตาม ศาลอุทธรณ์ก็ต้องลงโทษจำคุกจำเลย 50 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 91 (3) การรวมโทษก่อนลดโทษให้แก่จำเลยย่อมไม่เป็นผลร้ายแก่จำเลยจนถึงกับต้องแก้ไขโทษจำคุกจำเลยเสียใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1949/2559

ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาคดีนี้และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1757/2555 ของศาลชั้นต้นในวันเดียวกันและต่อเนื่องกัน โดยพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1757/2555 ของศาลชั้นต้นก่อน ต่อจากนั้นจึงพิพากษาคดีนี้ โจทก์ย่อมไม่อาจแถลงต่อศาลชั้นต้นได้ว่า คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1757/2555 ของศาลชั้นต้นนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาอย่างไร ถือได้ว่าความปรากฏต่อศาลชัดแจ้งแล้วว่า คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1757/2555 ของศาลชั้นต้นนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย ไม่จำต้องให้โจทก์แถลงต่อศาลซ้ำอีก จึงนับโทษต่อได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1670/2559

ศาลชั้นต้นสั่งริบรถจักรยานยนต์ของกลางสืบเนื่องจากจำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 จึงมิใช่ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ดังนี้ เมื่อผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของผู้ร้องจึงเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่จะพิจารณาพิพากษาคดี การที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิจารณาพิพากษาอุทธรณ์คำสั่งของผู้ร้องจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 318/2559

คดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย แม้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จำเลยยังคงต้องถูกบังคับตามคำพิพากษา การที่คดียังไม่ถึงที่สุดไม่ใช่เหตุที่จะนำมานับโทษต่อไม่ได้

จำเลยไม่อาจยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การจากให้การปฏิเสธเป็นรับสารภาพในชั้นฎีกาได้ เพราะการแก้ไขคำให้การต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา แต่การยื่นคำร้องดังกล่าวถือเป็นการรับข้อเท็จจริงว่ากระทำความผิดโดยไม่โต้แย้งคำพิพากษาลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 2

จำเลยหลอกลวงโจทก์ว่าจำเลยเป็นทนายความ ทำให้โจทก์หลงเชื่อมอบเงินให้จำเลย เป็นการกระทำที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ไม่คำนึงถึงความเสียหายและความเดือดร้อนของผู้อื่น ไม่มีเหตุรอการลงโทษ แต่การนำเงินค่าเสียหายมาวางต่อศาลเพื่อชดใช้แก่โจทก์ เป็นการบรรเทาผลร้ายแห่งคดี ถือเป็นเหตุบรรเทาโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15055/2558

ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า มีการจับกุม ป. โดยการล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนเมื่อเวลา 18.25 นาฬิกา หลังจากนั้นพันตำรวจตรี ธ. ขอให้ศาลออกหมายค้นร้านเสริมสวยพูนศิริบิวตี้และไปตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนพร้อมกับอาวุธปืนและกระสุนปืนแล้วจึงนำตัว ป. มาที่กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งย่อมจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการตามที่กล่าวพอสมควร ในเวลาประมาณ 20 นาฬิกา พันตำรวจตรี ธ. ได้ควบคุม ป. มายังห้องสืบสวนกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ เหตุที่ยังไม่ได้นำตัว ป. ไปยังสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองศรีสะเกษเนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการสืบสวนขยายผล สอดคล้องกับบันทึกการจับกุม ป. ที่ระบุว่า ทำขึ้นเมื่อเวลา 20.30 นาฬิกา ของวันที่ 25 เมษายน 2549 เชื่อว่าในขณะนั้นพันตำรวจตรี ธ. ยังไม่ได้นำตัว ป. ส่งพนักงานสอบสวน ป. จึงยังอยู่ในการควบคุมของพันตำรวจตรี ธ.

ต่อมาเวลาประมาณ 21 นาฬิกา จำเลยมาพบพันตำรวจตรี ธ. แจ้งว่าเป็นน้องชาย ป. และเสนอจะให้เงิน 400,000 บาท ถ้าปล่อยตัว ป. พันตำรวจตรี ธ. รับปากจะช่วยเหลือ จำเลยนัดจะนำเงินมาให้ในวันรุ่งขึ้นเวลา 9 นาฬิกา หลังจากนั้นพันตำรวจตรี ธ. ได้รายงานผู้บังคับบัญชาและไปขอลงรายงานประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองศรีสะเกษเพื่อวางแผนจับกุมตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ซึ่งร้อยตำรวจตรี ม. เป็นผู้บันทึก ต่อมาวันรุ่งขึ้นเวลาประมาณ 10 นาฬิกา จำเลยถือถุงกระดาษสีน้ำตาลมาหาพันตำรวจตรี ธ. ที่ห้องสืบสวนกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ จำเลยแจ้งว่าเงินครบ แล้วล้วงเอาธนบัตรจำนวน 400,000 บาท ออกมาจากถุง พันตำรวจตรี ธ. จึงจับกุมจำเลยพร้อมยึดธนบัตรจำนวนดังกล่าวเป็นของกลาง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานให้และขอให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงาน เพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 144 และเงินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิด จึงต้องริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)

พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 (2) บัญญัติว่า ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดผู้ใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น...(2) จัดหาหรือให้เงิน... เพื่อมิให้ผู้กระทำผิดถูกลงโทษ... และมาตรา 3 นิยามคำว่า "ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด" หมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด... โจทก์บรรยายฟ้องในข้อหานี้ว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 พันตำรวจตรี ธ. กับพวกร่วมกันจับกุม ป. ผู้ต้องหา พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เป็นของกลางเพื่อดำเนินคดี ต่อมาจำเลยได้เสนอขอให้และให้เงินสินบน 400,000 บาท แก่ผู้จับกุม เพื่อจูงใจให้ปล่อยตัว ป. ไปเสีย การกระทำของจำเลยเป็นการจัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานผู้จับกุม ป. ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2260/2549 ของศาลชั้นต้น เพื่อมิให้ ป. ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดถูกลงโทษ จำเลยจึงต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดฐานนั้น เห็นได้ว่า ป. ต้องกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฐานใดฐานหนึ่ง และจำเลยให้เงินเพื่อมิให้ ป. ถูกลงโทษ จึงต้องระวางโทษจำเลยเช่นเดียวกับ ป. ในความผิดฐานนั้น ดังนั้น โจทก์ต้องบรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่า ป. ได้กระทำความผิดในข้อหาใด ปริมาณยาเสพติดให้โทษมีเพียงใด และศาลลงโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 บทมาตราใด โจทก์จะบรรยายคลุมๆ ว่า ป. กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไม่ได้ เพราะหากจำเลยมีความผิดก็ต้องระวางโทษจำเลยเช่นเดียวกับ ป. เมื่อไม่ได้บรรยายความผิดของ ป. ตามที่กล่าว ศาลไม่อาจลงโทษจำเลยได้ แม้โจทก์จะระบุหมายเลขคดีที่ ป. ถูกลงโทษมาในฟ้อง แต่ก็ไม่มีรายละเอียด เมื่อฟ้องโจทก์ขาดข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14961/2558

โจทก์บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1144/2555 ของศาลชั้นต้น กับขอให้นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาดังกล่าว ถือว่าฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1144/2555 ของศาลชั้นต้นแล้ว โดยไม่จำต้องระบุรายละเอียดว่าคดีดังกล่าวศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 หรือไม่ อย่างไร เพราะการขอให้นับโทษต่อหาได้มีกฎหมายบัญญัติว่าต้องกล่าวรายละเอียดมาในคำฟ้องหรือเป็นหน้าที่โจทก์ที่ต้องแถลงผลคดีให้ศาลทราบไม่ เมื่อจำเลยที่ 2 ยอมรับข้อเท็จจริงในข้อที่ว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1144/2555 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อตามคำให้การฉบับลงวันที่ 25 เมษายน 2557 โดยไม่ได้คัดค้านว่าไม่อาจนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1144/2555 ของศาลชั้นต้น จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14477/2558

คำว่า "ปรากฏ" ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า สำแดงออกมาให้เห็น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับอาวุธปืนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองว่า เป็นอาวุธปืนที่ไม่ปรากฏเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับ จึงมีความหมายว่า เป็นอาวุธปืนที่ไม่สำแดงออกมาให้เห็นถึงเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับ กรณีจึงยังไม่เป็นการแน่นอนว่าอาวุธปืนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองนั้น เป็นอาวุธปืนที่มีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้หรือไม่ จึงต้องฟังข้อเท็จจริงให้เป็นคุณแก่จำเลยว่า อาวุธปืนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น เป็นอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย ซึ่งเป็นความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และความผิดดังกล่าวอยู่ที่การไม่ได้รับใบอนุญาต หาทำให้อาวุธปืนของกลางที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นอาวุธปืนผิดกฎหมายไปไม่ อาวุธปืนของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่มีไว้เป็นความผิดอันจะพึงต้องริบ และไม่ใช่ทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 32, 33 ไม่อาจริบตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ได้ ชอบที่จะต้องส่งคืนแก่เจ้าของ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14712/2558

โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 12 ธันวาคม 2557 ซึ่งคำฟ้องระบุว่า จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5130/2557 ของศาลชั้นต้น โดยศาลชั้นต้นเบิกจำเลยมาสอบคำให้การทั้งสองคดีในวันที่ 15 ธันวาคม 2557 และมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยในวันดังกล่าว โดยศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5130/2557 ของศาลชั้นต้นก่อนคดีนี้ ดังนี้ ศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5130/2557 ของศาลชั้นต้นกับคดีนี้ติดต่อกันไป เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5130/2557 ของศาลชั้นต้น โจทก์ย่อมไม่อาจแถลงต่อศาลชั้นต้นได้ว่าคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5130/2557 ของศาลชั้นต้นนั้นมีหมายเลขคดีแดงที่เท่าใด ถือได้ว่าความปรากฏต่อศาลและคู่ความชัดแจ้งแล้วว่าคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5130/2557 ของศาลชั้นต้นนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้วโดยไม่จำต้องให้โจทก์แถลงต่อศาลซ้ำอีก จึงนับโทษจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5130/2557 ของศาลชั้นต้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12797/2558

ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 364 นั้น แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะระบุอ้าง ป.อ. มาตรา 364 ไว้ด้วย แต่โจทก์ไม่ได้กล่าวบรรยายในคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสามเข้าไปในเคหสถานในความครอบครองของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร อันจะเป็นความผิดตามมาตรา 364 ดังนั้น ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามตาม ป.อ. มาตรา 364 ไม่ได้ เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพและคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไปแล้วและไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ตามบันทึกการตรวจยึดและบัญชีของกลางคดีอาญาระบุว่า ป้ายผ้าผืนแรกมีข้อความว่า "ที่ดินคนไทย ทำไมให้ต่างชาติทำกิน" ผืนที่สองมีข้อความว่า "แผ่นดินไทยแต่คนไทยไม่มีที่ทำกิน ต้องยกเลิกสัญญา" ส่วนไม้กระดานอัดแผ่นแรกเขียนข้อความเกี่ยวกับระเบียบการเข้ามาอยู่ในที่ดินที่เกิดเหตุและแผ่นที่สองเขียนข้อความเกี่ยวกับค่าสมัครสมาชิก แม้ป้ายผ้าและไม้กระดานอัดซึ่งมีข้อความดังกล่าวแขวนหรือติดไว้ในที่เกิดเหตุ แต่ป้ายผ้าและไม้กระดานอัดไม่ใช่ทรัพย์สินที่บุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดในคดีนี้โดยตรง จึงริบทรัพย์สินดังกล่าวไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษาให้ริบทรัพย์สิน ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 เมื่อไม่ริบทรัพย์สินดังกล่าวจึงต้องคืนแก่เจ้าของ แม้โจทก์มิได้มีคำขอมาก็ตาม ศาลฎีกามีอำนาจสั่งคืนของกลางแก่เจ้าของได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 49 ประกอบมาตรา 186 (9)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12315/2558

กฎหมายที่มีโทษทางอาญา เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติ การริบทรัพย์สินเป็นโทษทางอาญาประการหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 18 (5) ดังนั้น การริบทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นที่มิได้กระทำผิด ย่อมมีผลเท่ากับลงโทษผู้ที่มิได้กระทำความผิดซึ่งกระทำมิได้ แม้ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติฯ มาตรา 35 ที่โจทก์อ้างบัญญัติให้ริบเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใด ๆ ซึ่งบุคคลใช้หรือได้มาโดยการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่คำนึงว่าเป็นของผู้กระทำความผิด หรือมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ ก็มิได้มีบทบัญญัติบังคับให้กระทำเช่นนั้นเพียงแต่ให้ริบเสียก่อนเท่านั้น ส่วนการขอคืนทรัพย์สินที่ถูกริบย่อมเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาอันเป็นหลักทั่วไป ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถไถของกลางและไม่รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด จึงให้คืนของกลางแก่ผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13584/2558

การเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้า ของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักรสำหรับสินค้าที่จำพวกที่ 9 รายการสินค้า ตลับคาร์ทริดจ์ตัวพิมพ์ (สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์) มาใช้โดยทำให้ปรากฏที่ซองถุงลมกันกระแทกสำหรับบรรจุตลับคาร์ทริดจ์ตัวพิมพ์ (สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์) ถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักรของผู้เสียหายกับสินค้าตลับคาร์ทริดจ์ตัวพิมพ์ (สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์) ของจำเลยทั้งสอง โดยมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าสินค้าที่อยู่ในซองถุงลมกันกระแทกดังกล่าวเป็นสินค้าของผู้เสียหาย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักรตามที่ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 บัญญัติไว้เป็นความผิดโดยเฉพาะแล้ว ดังนี้ การเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นมาใช้โดยทำให้ปรากฏที่หีบห่อบรรจุสินค้าเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของผู้อื่นอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) นั้นต้องเป็นการเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนในราชอาณาจักรมาใช้เท่านั้น เพราะหากเป็นเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร การกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าดังที่ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 ได้บัญญัติไว้เป็นบทเฉพาะอยู่แล้ว บทบัญญัติ ป.อ. มาตรา 272 (1) จึงมีวัตถุประสงค์ให้ความคุ้มครองแก่ชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความที่เป็นเครื่องหมายการค้าเฉพาะที่เป็นเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียน เมื่อเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร การเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของผู้เสียหายมาใช้โดยทำให้ปรากฏที่หีบห่อเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของผู้เสียหายจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว การกระทำดังกล่าวจึงไม่อาจเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) ได้อีก แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามที่โจทก์ฟ้องก็ตาม ไม่ใช่เรื่องการกระทำกรรมเดียวอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตาม ป.อ. มาตรา 90 ปัญหานี้แม้โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) ได้

ป.อ. มาตรา 29 บัญญัติว่า "ผู้ใดต้องโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ..." คำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่พิพากษาว่า หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนค่าปรับตาม ป.อ. มาตรา 30 โดยไม่ได้ระบุให้บังคับตาม ป.อ. มาตรา 29 และ 30 เป็นการบังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าปรับโดยไม่ได้ยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 มาชดใช้ค่าปรับก่อนแล้วให้กักขังจำเลยที่ 2 แทนค่าปรับทันที ซึ่งเป็นการพิพากษาบังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าปรับที่ไม่ชอบด้วย ป.อ. มาตรา 29

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12315/2558

กฎหมายที่มีโทษทางอาญา เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติ การริบทรัพย์สินเป็นโทษทางอาญาประการหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 18 (5) ดังนั้น การริบทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นที่มิได้กระทำความผิด ย่อมมีผลเท่ากับลงโทษผู้ที่มิได้กระทำความผิดซึ่งกระทำมิได้ แม้ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 35 ที่โจทก์อ้างบัญญัติให้ริบเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใด ๆ ซึ่งบุคคลใช้หรือได้มาโดยการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่คำนึงว่าเป็นของผู้กระทำความผิด หรือมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ ก็มิได้มีบทบัญญัติบังคับให้กระทำเช่นนั้นเพียงแต่ให้ริบเสียก่อนเท่านั้น ส่วนการขอคืนทรัพย์สินที่ถูกริบย่อมเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา อันเป็นหลักทั่วไป ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถไถของกลางและไม่รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด จึงให้คืนของกลางแก่ผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12152/2558

คดีร้องขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบนั้น ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำร้องของผู้ร้องมีเพียงว่าศาลจะสั่งคืนอาวุธปืนของกลางให้แก่เจ้าของซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่เท่านั้นส่วนอาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธปืนที่มีเครื่องหมายทะเบียนหรือไม่ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีหลักซึ่งถึงที่สุดแล้ว ที่ผู้ร้องทั้งสองอ้างว่า ผู้ร้องที่ 1 ให้จำเลยยืมอาวุธปืนของกลาง ส่วนผู้ร้องที่ 2 ฝากอาวุธปืนของกลางอีกกระบอกหนึ่งไว้กับจำเลย เมื่อผู้ร้องทั้งสองทราบว่าจำเลยถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับอาวุธปืนของกลาง ผู้ร้องทั้งสองย่อมนำใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนของกลางให้จำเลยต่อสู้ในคดีหลักเพื่อพิสูจน์ว่าอาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธปืนที่มีเครื่องหมายทะเบียนหรือไม่ได้ เมื่อจำเลยไม่ได้ต่อสู้ในคดีหลัก ผู้ร้องทั้งสองจะยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาในคำร้องขอคืนของกลางต่อไปอีกไม่ได้

ป.อ. มาตรา 36 บัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลสั่งให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา 33 หรือมาตรา 34 ไปแล้ว หากปรากฏในภายหลังโดยคำเสนอของเจ้าของที่แท้จริงว่า ผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ก็ให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สิน..." เมื่อคดีหลักของคดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบอาวุธปืนของกลางตาม ป.อ. มาตรา 32 ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ผู้ร้องทั้งสองจึงไม่มีอำนาจยื่นคำขอให้คืนอาวุธปืนของกลางตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10825/2558

พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ได้บัญญัติเกี่ยวกับการบังคับโทษปรับในกรณีเด็กและเยาวชนต้องโทษปรับแต่ไม่มีการชำระค่าปรับไว้ในมาตรา 145 เป็น 2 กรณี คือ กรณีเด็กหรือเยาวชนไม่ชำระค่าปรับ ให้ศาลเปลี่ยนโทษปรับเป็นส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมภายใต้เงื่อนไขตามกฎหมาย กับกรณีเด็กหรือเยาวชนไม่มีเงินชำระค่าปรับ แต่ประสงค์จะขอทำงานบริการสังคมหรืองานสาธารณะประโยชน์แทนค่าปรับ จึงเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนแล้วว่าต้องดำเนินการในทางใดได้บ้าง ไม่มีกรณีที่ให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินของเด็กและเยาวชนได้ ในทำนองเดียวกับกรณีที่ผู้กระทำความผิดมิใช่เด็กและเยาวชนตาม ป.อ. มาตรา 29 เมื่อพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ เป็นกฎหมายเฉพาะ ที่บัญญัติไว้ชัดเจนแล้ว ก็ไม่อาจนำบทบัญญัติที่เป็นกฎหมายทั่วไปมาบังคับในกรณีนี้ได้ สำหรับคดีนี้เมื่อปรากฏว่าจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ก็ต้องส่งจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมแทนการชำระค่าปรับเพียงประการเดียวตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย แม้ในระหว่างฝึกอบรม จำเลยอาจจะขอชำระค่าปรับที่ยังคงเหลือให้เสร็จสิ้นไปได้ ก็เป็นวิธีการที่กำหนดขึ้นเพื่อให้สิทธิแก่จำเลย ไม่ทำให้โจทก์มีสิทธิขอตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยชำระแทนค่าปรับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6418/2558

ป.อ. มาตรา 36 บัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลสั่งให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา 33 หรือมาตรา 34 ไปแล้ว หากปรากฏในภายหลังโดยคำเสนอของเจ้าของที่แท้จริงว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของแท้จริง มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ก็ให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สิน ...." เมื่อคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1666/2555 ของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นคดีหลักของคดีนี้ โจทก์ขอให้ริบอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางตาม ป.อ. มาตรา 32 และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ซึ่งเป็นการริบทรัพย์สินตาม ป.อ. มาตรา 32 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้คืนอาวุธปืนของกลางตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5828/2558

การใช้อวัยวะเพศของจำเลยกระทำกับอวัยวะเพศของผู้เสียหายโดยจ่อและดัน ข่มขู่ว่าจะทำร้ายผู้เสียหายและใช้นิ้วมือสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหาย เป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราสำเร็จแล้ว อวัยวะเพศของจำเลยสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายหรือไม่ ไม่มีผลทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด

การส่งจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมเป็นวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน มิใช่การลงโทษจำคุกซึ่งเป็นโทษตาม ป.อ. มาตรา 18 ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมจึงไม่ใช่กรณีศาลในคดีหลังพิพากษาให้ลงโทษจำคุกซึ่งจะต้องกำหนดโทษที่รอการลงโทษไว้มาบวกตาม ป.อ. มาตรา 58 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 158/2555 ของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครสวรรค์มาบวกกับโทษจำคุกของจำเลยก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นส่งจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5826/2558

จำเลยฎีกาโดยคัดลอกข้อความตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 และกล่าวไว้ในท้ายฎีกาว่า ขอให้ศาลฎีกาพิจารณาพิพากษาใหม่อีกครั้งหนึ่งและขอถือเอาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นส่วนหนึ่งในฎีกาของจำเลย ไม่มีข้อความระบุว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ส่วนใดมีข้อวินิจฉัยผิดพลาดคลาดเคลื่อนอย่างไร และที่ถูกต้องควรเป็นอย่างใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาของจำเลยก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่อาจรับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาพิพากษาได้เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

ป.อ. มาตรา 18 วรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีผู้ซึ่งกระทำผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ได้กระทำความผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตให้ถือว่าระวางโทษดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นระวางโทษห้าสิบปี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) ประกอบกับมาตรา 80 และ 83 ขณะกระทำผิดจำเลยอายุ 15 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 75 ประกอบมาตรา 18 วรรคสอง และวรรคสาม แล้วคงจำคุก 25 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 74 คงจำคุก 12 ปี 6 เดือนนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะจะทำให้เด็กได้รับโทษเท่ากับผู้ใหญ่ ต้องเปลี่ยนโทษประหารชีวิตเป็นห้าสิบปีเสียก่อน แล้วจึงนำ ป.อ. มาตรา 80 ที่ให้ระวางโทษสองในสามของโทษห้าสิบปีมาปรับ ดังนั้นเมื่อลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 75 ประกอบมาตรา 18 วรรคสาม แล้ว โทษจำคุกที่กำหนดแก่จำเลย คือ 16 ปี 8 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 แล้วคงจำคุกเพียง 8 ปี 4 เดือน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4339/2558

โจทก์ระบุข้อหาของจำเลยมาในช่องฐานความผิดที่หน้าฟ้องว่า ตั้งและประกอบกิจการโรงงาน (ในท้องที่ห้ามตั้งโรงงาน) โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 มาตรา 12, 32 (1), 50 โดยบทบัญญัติแห่งมาตรา 50 นี้มีความว่า "ผู้ใดประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง หรือตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 12 วรรคสอง ต้องระวางโทษ...ในกรณีที่โรงงานตามวรรคหนึ่ง เป็นโรงงานประเภทหรือชนิดที่กำหนดจำนวนหรือขนาดที่จะให้ตั้งหรือไม่ให้ตั้งในท้องที่ใดตามประกาศที่ออกตามมาตรา 32 (1) ผู้กระทำต้องระวางโทษ..." ดังนี้ แม้โจทก์จะไม่ได้ใช้ถ้อยคำในกฎหมายว่า "โดยไม่ได้รับใบอนุญาต" มาในฟ้อง ก็ตาม แต่ตามฟ้องโจทก์ก็ได้กล่าวมาแล้วว่า จำเลยบังอาจตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานทำการดูดทราย...โดยใช้เครื่องจักรเป็นเรือดูดทรายขนาดประมาณ 50 ถึง 60 แรงม้า 1 ลำ ทำการดูดทราย อันเป็นการตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ซึ่งโรงงานของจำเลยเป็นโรงงานประเภทหรือชนิดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดจำนวนหรือขนาดที่ไม่อาจให้ตั้งในท้องที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ และไม่เป็นโรงงานที่เข้าข้อยกเว้นที่ให้ตั้งได้ โดยได้แนบประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดประเภทหรือชนิดของโรงงานที่จะให้ตั้งหรือไม่ให้ตั้งในเขตท้องที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางปะอิน และอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พ.ศ.2550 ซึ่งออกตามมาตรา 32 (1) แห่ง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 มาท้ายฟ้องด้วย และกล่าวสรุปในตอนท้ายว่า อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงเท่ากับยืนยันมาในฟ้องว่าการตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ของจำเลยได้กระทำไปโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายนั่นเอง ไม่ใช่ไม่ชัดแจ้งว่าการกระทำของจำเลยฝ่าฝืนต่อกฎหมายในเรื่องใดดังฎีกาของจำเลยแต่อย่างใด ฟ้องโจทก์ครบองค์ประกอบความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3148/2558

ดาบตำรวจ ศ. ผู้ร่วมจับกุมเบิกความว่า จำเลยรับว่าใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางติดต่อในการขนส่งเมทแอมเฟตามีน และจำเลยให้การในชั้นสอบสวนว่า ชายที่ให้จำเลยขนเมทแอมเฟตามีนเป็นคนมอบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางให้จำเลยใช้โดยให้รับสายอย่างเดียว แม้คำรับและคำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าวเป็นเพียงพยานบอกเล่า แต่ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมที่จำเลยมีหน้าที่ขับรถนำเมทแอมเฟตามีนจำนวนมากไปส่งให้แก่ผู้รับ เชื่อว่าผู้ว่าจ้างต้องมอบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางให้จำเลยไว้ใช้ติดต่อในการส่งมอบเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางในการติดต่อส่งมอบเมทแอมเฟตามีน จึงต้องริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2381/2558

แม้รถยนต์หมายเลขทะเบียน กค 812 ปราจีนบุรี ของกลาง เป็นยานพาหนะที่จำเลยที่ 3 ร่วมกับพวกใช้ในการนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปส่งให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อ อันเป็นยานพาหนะที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 บัญญัติให้ริบเสียทั้งสิ้นก็ตาม แต่รถยนต์ของกลางไม่ใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดดังที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 32 ดังนั้น เมื่อโจทก์มีคำขอให้ริบของกลางทั้งหมดที่เจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้ ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง เจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้ ดังนี้ เท่ากับโจทก์ขอให้ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางเท่านั้น โจทก์มิได้มีคำขอให้ริบรถยนต์ของกลาง เช่นนี้ศาลย่อมไม่อาจสั่งริบรถยนต์ของกลางได้เพราะจะเป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอ ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 797/2558

คดีหลักโจทก์บรรยายฟ้องว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามกฎหมาย รถยนต์ของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด คดีนี้จึงมิใช่คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 15 ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา แต่เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่จะพิจารณาพิพากษาคดี การที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิจารณาพิพากษาคดีนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแล้ว เพื่อมิให้คดีล่าช้าศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยคดีไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยก่อน

เมื่อผู้ร้องและ ว. ตกลงซื้อขายรถยนต์ของกลาง โดย ว. ชำระราคารถยนต์ของกลางครบถ้วนและได้รับมอบรถยนต์ของกลางแล้วก่อนวันที่จำเลยนำรถยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด จึงเป็นการซื้อขายกันเสร็จเด็ดขาด ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 458 กรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลางตกไปเป็นของ ว. แล้ว นับแต่วันที่ผู้ร้องและ ว. ตกลงซื้อขายรถยนต์ของกลางกัน แม้จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงรายการทางทะเบียนจากชื่อผู้ร้องเป็นชื่อ ว. การซื้อขายก็สมบูรณ์เพราะรายการจดทะเบียนมิใช่หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลาง ดังนี้ขณะเกิดเหตุผู้ร้องจึงไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลาง ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลาง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18280/2557

จำเลยเป็นนักโทษเด็ดขาดและยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับก่อนที่พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2553 ใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว บัญญัติว่า "ผู้ต้องโทษ ดังต่อไปนี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป (1) ผู้ต้องกักขัง..." และมาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติว่า "กรณีผู้ต้องกักขังตามวรรคหนึ่ง (1) ซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาดและยังไม่ได้รับโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับ ให้ผู้ต้องกักขังนั้นได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไปในส่วนของโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือในส่วนของการกักขังแทนค่าปรับ แล้วแต่กรณี" ดังนั้น จำเลยจึงได้รับประโยชน์ตามมาตรา 5 วรรคสอง แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เฉพาะในส่วนที่ไม่ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับหากจำเลยยังไม่ชำระค่าปรับ แต่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวไม่ได้ให้จำเลยพ้นจากโทษปรับด้วย โทษปรับตามคำพิพากษาของจำเลยยังคงมีอยู่ เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าปรับ โจทก์จึงขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องเงินของจำเลยจำนวน 100,000 บาท ได้ กรณีไม่มีเหตุที่จะยกเลิกหมายบังคับคดีและคืนเงินดังกล่าวให้แก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15450/2557

คดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 นั้น ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานผู้ขับรถเสพเมทแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง อันเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท และต้องลงโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 เท่ากับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ด้วย เพียงแต่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเท่านั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 กรณีฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนในครั้งหลังจึงต้องเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97

โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4068/2554 ของศาลชั้นต้น กับขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาดังกล่าว ถือว่าฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4068/2554 ของศาลชั้นต้นแล้ว โดยไม่จำต้องระบุรายละเอียดว่าคดีดังกล่าวศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 หรือไม่อย่างไรเพราะการขอให้นับโทษต่อหาได้มีกฎหมายบัญญัติว่าต้องกล่าวรายละเอียดมาในคำฟ้อง เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้คัดค้านว่าไม่อาจนับโทษต่อได้ จึงนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4068/2554 ของศาลชั้นต้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14917/2557

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3590/2556 ของศาลชั้นต้น กับขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาดังกล่าว ถือว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงว่า จำเลยถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3590/2556 ของศาลชั้นต้นแล้ว โดยไม่จำต้องระบุรายละเอียดว่า คดีดังกล่าวศาลพิพากษาลงโทษจำเลยหรือไม่ อย่างไร เพราะการขอให้นับโทษต่อหาได้มีกฎหมายบัญญัติว่าต้องกล่าวรายละเอียดดังกล่าวมาในคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13415/2557

ตามบทบัญญัติแห่ง ป.อ. มาตรา 36 แม้จะไม่ได้บัญญัติไว้โดยตรงห้ามจำเลยขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบก็ตาม แต่ก็เห็นได้ว่าเป็นเรื่องให้สิทธิแก่บุคคลภายนอก ซึ่งมิใช่จำเลยในคดีนั้นเท่านั้นที่จะมีสิทธิขอคืนทรัพย์สินของกลางที่ศาลสั่งริบโดยอ้างว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด มิใช่ให้สิทธิแก่จำเลยในคดีที่จะใช้สิทธิเช่นนั้นได้ด้วย เพราะหากจำเลยเป็นเจ้าของอันแท้จริงในทรัพย์สินของกลางและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด จำเลยก็ย่อมมีสิทธินำพยานเข้าสืบในชั้นพิจารณาคดีนั้นเพื่อแสดงว่าจำเลยเป็นเจ้าของทรัพย์สินของกลางแท้จริงและมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด ดังนั้น เมื่อผู้ร้องเป็นจำเลย ในคดีที่ศาลมีคำสั่งริบรถใช้ในงานเกษตรดังกล่าวของกลางและคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งคืนรถใช้ในงานเกษตรข้างต้นของกลางได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8474/2557

จำเลยกระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ความผิดจึงอยู่ที่การไม่ได้รับใบอนุญาต หาทำให้อาวุธปืนและซองกระสุนปืนที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนผิดกฎหมายไปไม่ อาวุธปืนดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นทรัพย์สินที่มีไว้เป็นความผิดอันจะพึงต้องริบ และไม่ใช่ทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 32, 33 ไม่อาจริบตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ได้ ชอบที่จะต้องส่งคืนแก่เจ้าของ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8411/2557

แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ แผ่นป้ายเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปีและใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ที่มีผู้ทำปลอมขึ้นเป็นทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติว่าผู้ใดทำขึ้นเป็นความผิดซึ่งต้องริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นของผู้กระทำความผิด และมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ ตาม ป.อ. มาตรา 32

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1831/2557

ป.อ. มาตรา 22 วรรคแรก เป็นบทบัญญัติที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการบังคับโทษจำคุกจำเลยว่าให้เริ่มนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา โดยมีข้อยกเว้นในกรณีที่ศาลจะมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น ซึ่งวันมีคำพิพากษาตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึงวันที่ศาลอ่านคำพิพากษาโดยเปิดเผยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 182 และ 188 โดยคำพิพากษาไม่จำเป็นต้องถึงที่สุด เพราะเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้วจำเลยย่อมต้องถูกบังคับโทษตามคำพิพากษานั้น แม้ต่อมาภายหลังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาจะแก้โทษจำคุกก็ไม่มีผลต่อวันเริ่มโทษจำคุกแต่อย่างใด คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังแล้ว โดยให้ลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิต และนับโทษจำเลยต่อจากโทษจำคุกจำเลยในคดีอาญาอื่น ย่อมมีความหมายว่าคำพิพากษาได้กล่าวถึงเวลาเริ่มบังคับโทษจำคุกไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น การเริ่มนับโทษจำคุกจำเลยจึงต้องเริ่มนับเมื่อจำเลยได้รับโทษจำคุกในคดีอาญาอื่นครบถ้วนแล้ว แม้ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาแก้โทษของจำเลยเหลือเพียง 36 ปี 8 เดือน แต่ก็ยังคงให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาดังกล่าว จึงไม่มีผลต่อวันเริ่มนับโทษจำคุกของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3584/2557

ป.อ. มาตรา 20 เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจในกรณีที่ความผิดที่กฎหมายกำหนด ให้ลงโทษจำคุกและปรับ ถ้าศาลเห็นสมควรก็อาจใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยเพียงสถานเดียว โดยไม่ลงโทษปรับด้วยก็ได้ มิใช่เป็นบทบัญญัติที่กฎหมายบัญญัติเป็นบทความผิดและบทกำหนดโทษ ที่ศาลจะต้องระบุตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (7) แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำคุกจำเลยเพียงสถานเดียวโดยไม่ได้อ้าง ป.อ.มาตรา 20 ด้วย ก็ไม่เป็นเหตุให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 186 (7)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2799/2557

ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยและริบรถจักรยานยนต์ของกลางในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าเป็นเจ้าของรถและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ขอให้คืนรถจักรยานยนต์ตาม ป.อ. มาตรา 36 ดังนี้ แม้ผู้ร้องจะยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายอาญาก็ตาม แต่ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ศาลลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 คดีนี้จึงเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ด้วย ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คู่ความอาจฎีกาได้โดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาเพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกคำร้อง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุด การที่ผู้ร้องยื่นฎีกาโดยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1021/2557

ป.อ. มาตรา 20 เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจในกรณีที่ความผิดที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ลงโทษจำคุกและปรับ ถ้าศาลเห็นสมควรก็อาจใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกเพียงสถานเดียว โดยไม่ลงโทษปรับด้วยก็ได้ บทบัญญัติของมาตรานี้มิใช่เป็นบทบัญญัติที่กฎหมายบัญญัติเป็นบทความผิดและบทกำหนดโทษที่จะต้องระบุในคำพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา186 (7) การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำคุกจำเลยเพียงสถานเดียวโดยไม่ได้อ้าง ป.อ. มาตรา 20 ด้วย ก็ไม่เป็นเหตุให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 186 (7) ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21554/2556

ป.อ. มาตรา 20 เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจในกรณีบรรดาความผิดที่กฎหมายกำหนดให้ลงโทษจำคุกและปรับ ถ้าศาลเห็นสมควรก็อาจใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยเพียงสถานเดียวโดยไม่ลงโทษปรับด้วยก็ได้ มิใช่บทบัญญัติที่กฎหมายบัญญัติเป็นบทความผิดหรือบทกำหนดโทษ แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้ปรับบทดังกล่าวแล้วลงโทษจำคุกจำเลยเพียงสถานเดียว ก็ไม่เป็นเหตุให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 186 (7)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21553/2556

ป.อ. มาตรา 29 กำหนดวิธีการบังคับค่าปรับไว้ 2 วิธี เพื่อให้ศาลเลือกใช้ได้ตามสมควรแก่รูปคดี มิใช่ให้ศาลเลือกใช้วิธีการบังคับได้เพียงวิธีการใดวิธีการหนึ่งเท่านั้น ดังนี้ แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระค่าปรับรายวันแล้วก็ตาม ศาลชั้นต้นย่อมมีคำสั่งกักขังจำเลยแทนค่าปรับได้

ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษปรับจำเลยโดยกำหนดว่า หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 แต่มิได้ระบุว่าให้กักขังเกิน 1 ปี หรือไม่ มีกำหนดเท่าใด ถือเป็นกรณีที่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้สั่งให้กักขังจำเลยไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น หากจะกักขังจำเลยแทนค่าปรับก็กักขังได้เพียง 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 30 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้กักขังจำเลยแทนค่าปรับเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20050/2556

คดีก่อนจำเลยที่ 1 ต้องคำพิพากษาให้จำคุก 2 ปี 11 เดือน และปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 4 ปี และภายในระยะเวลาที่ศาลรอการลงโทษ จำเลยที่ 1 กลับมากระทำความผิดคดีนี้ แม้คดีก่อนจะอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็ไม่ใช่เหตุที่ศาลชั้นต้นจะนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกกับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ไม่ได้ แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษาในคดีก่อนให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี 11 เดือน และคดีถึงที่สุดแล้ว ดังนี้ ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ จึงไม่มีโทษจำคุกที่ศาลรอการลงโทษในคดีก่อนที่จะนำมาบวกเข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้อีก อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาในคดีนี้ และโจทก์แก้ฎีกาขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีก่อน ดังนั้น จึงชอบที่จะนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีก่อน ซึ่งเป็นอำนาจของศาลฎีกาที่จะสั่งให้นับโทษต่อได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2580/2556

แม้ผู้ร้องที่ 1 เคยรับจ้างขนแร่ให้แก่บริษัท จ. มาก่อน และไม่เคยถูกจับกุม แต่ก็มิใช่ว่าการกระทำความผิดเกี่ยวกับการขนแร่โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจะไม่เกิดขึ้น การที่ผู้ร้องที่ 1 กำชับให้จำเลยตรวจสอบใบอนุญาตให้ถูกต้องแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องที่ 1 ทราบว่าอาจมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการขนแร่โดยไม่ได้รับใบอนุญาตเกิดขึ้นได้ และการกำชับดังกล่าวเป็นเพียงวิธีการควบคุมเบื้องต้นซึ่งเป็นเรื่องภายในระหว่างผู้ร้องที่ 1 กับจำเลยเท่านั้น ผู้ร้องที่ 1 ยังมีหน้าที่ต้องคอยควบคุมดูแลมิให้จำเลยขนแร่โดยไม่มีใบอนุญาตขนแร่ที่ถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย การที่ผู้ร้องที่ 1 ปล่อยปละละเลยให้จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้ร้องที่ 1 นำรถพ่วงของกลางไปบรรทุกแร่ โดยเป็นผู้ตรวจสอบใบอนุญาตขนแร่เองทั้ง ๆ ที่จำเลยไม่รู้ว่าใบอนุญาตขนแร่ที่ถูกต้องตามกฎหมายมีลักษณะอย่างไร ถือได้ว่า ผู้ร้องที่ 1 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรที่จะป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดขนแร่โดยไม่ได้รับใบอนุญาตเกิดขึ้นอีกด้วย จึงให้ริบรถพ่วงของกลางและยกคำร้องของผู้ร้องที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22722/2555

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยมียาสูบซึ่งผลิตในต่างประเทศโดยมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบหลายยี่ห้อ รวม 861 ซอง โดยมิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบดังกล่าว แม้ในฟ้องจะระบุฐานความผิดว่า ขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบและมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวก็ตาม ซึ่งก็มิใช่การบรรยายฟ้องในส่วนที่เป็นองค์ประกอบความผิดเพื่อให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) อีกทั้งการที่จำเลยมียาสูบของกลางจำนวนมากไว้ในครอบครอง ก็ไม่มีกฎหมายสันนิษฐานว่ามีไว้ขายหรือเพื่อขาย แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจรับฟังว่าจำเลยกระทำความผิดฐานขายหรือมีไว้เพื่อขายตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ได้

เมื่อคดีฟังไม่ได้ว่ามีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 จึงไม่อาจริบบุหรี่ของกลางเป็นของกรมสรรพสามิตตาม พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 44 ทั้งไม่ใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด และไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด จึงไม่อาจริบของกลางดังกล่าวตาม ป.อ. มาตรา 32 และมาตรา 33 อีกทั้งคดีนี้ศาลไม่ได้ลงโทษจำเลย จึงไม่อาจพิพากษาให้จ่ายสินบนและรางวัลตาม พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 7, 8 ตามที่โจทก์ขอ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17282/2555

การพิจารณาว่ากฎหมายบทใดมีโทษหนักกว่ากันต้องถือตามลำดับที่วางไว้ใน ป.อ. มาตรา 18 และหากเป็นโทษในลำดับเดียวกันให้ถือตามบทที่มีอัตราโทษขั้นสูงกว่าเป็นเกณฑ์ เมื่อความผิดฐานร่วมกันทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง กำหนดอัตราโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง กำหนดอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท โทษจำคุกตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง จึงเป็นบทหนักกว่า และเมื่อใช้บทบัญญัติที่มีโทษหนักแล้วก็ใช้บทดังกล่าวเป็นบทลงโทษแต่บทเดียว ถึงแม้บทหนักจะไม่มีโทษขั้นต่ำ แต่บทเบากว่ามีโทษขั้นต่ำ ศาลก็ชอบที่จะลงโทษตามบทที่หนักโดยไม่ต้องคำนึงถึงโทษขั้นต่ำในบทที่เบากว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงโทษจำเลยทั้งห้าตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 42 วรรคสอง (3), 54 วรรคหนึ่ง จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14517 - 14520/2555

ศาลสั่งให้รวมการพิจารณาพิพากษาคดีที่โจทก์แยกฟ้องมารวมสี่สำนวน โดยโจทก์ไม่ได้ขอให้นับโทษจำเลยติดต่อกัน จึงนับโทษต่อกันไม่ได้เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำคุกจำเลยกระทงละ 1 เดือน รวม 9 กระทง จำคุก 9 เดือน นั้น มีผลเท่ากับนับโทษจำคุกจำเลยติดต่อกันทั้งสี่สำนวน จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13598/2556

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15, 57, 66, 91 และ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ, 157/1 อันเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 5 ด้วย ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว บัญญัติว่า "ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยมิชักช้า และภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 16 และมาตรา 19 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด" และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่งแล้ว คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้" เมื่อจำเลยฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 ถือเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นไม่ได้สั่งให้กักขังจำเลยไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น หากจะกักขังจำเลยแทนค่าปรับก็กักขังได้เพียง 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 30 วรรคแรก การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังไม่เกิน 2 ปี โดยโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ถือว่าเป็นการเพิ่มโทษจำเลย ซึ่งเป็นการไม่ชอบ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง และปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9822/2556

ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ทุกประเภทแก่บุคคลทั่วไป ส. นำรถยนต์ของกลางมาทำสัญญาเช่าซื้อไว้กับผู้ร้อง ผู้ร้องย่อมไม่อาจจะรู้ว่าจำเลยที่ 2 พี่สาวของผู้เช่าซื้อและจำเลยที่ 1 ผู้เป็นสามีจะนำรถยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด และตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 6 ก็ระบุความโดยสรุปว่า หากรถถูกใช้เป็นพาหนะในการกระทำความผิด หรือใช้รถในลักษณะที่ผิดกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง หรือข้อบังคับใด ๆ หรือใช้รถโดยประการอื่นใด เป็นเหตุให้รถถูกริบ ยึด อายัด ตกเป็นของรัฐ ให้ถือว่าสัญญานี้สิ้นสุดลงทันที และผู้เช่าซื้อจะต้องชดใช้ค่าเสียหายตามที่กำหนดไว้ตามสัญญาข้อ 5 วรรคสอง และเมื่อผู้ร้องมีหนังสือยืนยันการเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว การที่ในช่วงเวลาต่อเนื่องกันมาผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอคืนของกลาง ก็เป็นการที่ผู้ร้องใช้สิทธิดำเนินการภายในกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ซึ่งเป็นช่องทางการเยียวยาและบรรเทาความเสียหายของผู้ร้องทางหนึ่ง ไม่อาจถือได้ว่าผู้ร้องเพิกเฉยไม่ติดตามรถยนต์ของกลางทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่ามีการนำรถยนต์ของกลางไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมายหรือยื่นคำร้องเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นอันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6650/2556

ปัญหาว่าการกักขังแทนค่าปรับถูกต้องหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย โจทก์ผู้อุทธรณ์จึงยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 195 วรรคสอง

การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ในกรณีต้องกักขังจำเลยคดีนี้แทนค่าปรับก็ให้กักขังจำเลยคดีนี้ได้ไม่เกินกำหนด 6 เดือน แม้ศาลชั้นต้นจะใช้คำว่าแบ่งกักขังซึ่งตาม ป.อ. มาตรา 30 มิได้บัญญัติไว้เช่นนั้นก็ตาม แต่เป็นการกำหนดเงื่อนไขเพื่อบังคับโทษปรับ เพราะ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ร่วมกระทำความผิดทุกคนรวมกันเป็นเงินรวมสี่เท่าของราคาของบวกค่าอากรเข้าด้วยแล้ว โดยต้องถือว่าค่าปรับจำเลยทุกคนเป็นจำนวนเดียวกัน ศาลชั้นต้นจึงได้กำหนดเงื่อนไขในการบังคับโทษปรับคดีนี้เพื่อมิให้ลงโทษเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18217/2555

ผู้ร้องเป็นผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ของกลาง แม้ผู้ร้องมิได้นำสืบให้เห็นว่า ฉ. ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อให้ผู้ร้องแล้วกี่งวด เป็นเงินจำนวนเท่าใดและยังค้างชำระอยู่จำนวนเท่าใด ก็มิใช่ข้อที่แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 และการที่ผู้ร้องรับชำระค่าเช่าซื้อหลังจากที่รถยนต์ของกลางถูกยึดแล้ว ก็มิใช่เป็นการบ่งชี้ว่าผู้ให้เช่าซื้อกระทำโดยไม่สุจริตเสมอไป เมื่อโจทก์ไม่มีพยานมานำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่าผู้ร้องไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด และผู้ร้องจะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อกี่ครั้งหรือเมื่อบอกเลิกสัญญาแล้วผู้ร้องจะดำเนินคดีทางแพ่งเรียกค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อจาก ฉ. หรือไม่ ย่อมเป็นสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อที่ผู้ร้องจะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ เมื่อผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางย่อมมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของกลางที่ให้เช่าซื้อคืนได้ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางจึงเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้ร้องโดยตรง พฤติการณ์แห่งคดียังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เมื่อผู้ร้องไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงต้องคืนรถยนต์ของกลางให้ผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12598/2555

โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดนครราชสีมาซึ่งเป็นศาลจังหวัดแห่งท้องที่ที่ความผิดเกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 47 วรรคหนึ่ง และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางขอให้ศาลจังหวัดนครราชสีมาดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ อันมิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีแทนตามความจำเป็นไปตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าวในวรรคสองด้วยแล้ว ดังนี้ ศาลจังหวัดนครราชสีมาย่อมมีอำนาจดำเนินการออกหมายขังหรือปล่อยชั่วคราวจำเลยได้ตามบทกฎหมายดังกล่าวในวรรคสาม ซึ่งเมื่อศาลจังหวัดนครราชสีมาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยเพื่อไปหาเงินมาชำระค่าปรับตามคำพิพากษาโดยผู้ประกันได้ทำสัญญาประกันให้ไว้ต่อศาลดังกล่าว แต่ต่อมาผู้ประกันไม่ส่งตัวจำเลยต่อศาลตามกำหนดนัดส่งตัวจำเลย ศาลจังหวัดนครราชสีมาย่อมมีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งในเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติหรือบังคับตามสัญญาประกันต่อผู้ประกันซึ่งเป็นคู่สัญญาได้

การที่จำเลยขออนุญาตให้ขยายระยะเวลาการชำระค่าปรับตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางและผู้ประกันขอให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างระยะเวลาที่จะชำระค่าปรับ ก็เพื่อที่จะไม่ต้องถูกกักขังไปพลางก่อน จึงไม่ใช่กรณีที่เมื่อมีการขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์คำพิพากษาและยื่นอุทธรณ์แล้วจะเป็นเหตุให้ผู้ประกันไม่ต้องปฏิบัติตามสัญญาประกันในอันที่จะต้องส่งตัวจำเลยต่อศาลตามกำหนดนัด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6728/2555

การจะพิจารณาว่าสัญญาประกันที่มีกรมธรรม์ประกันอิสรภาพของผู้ร้องเป็นหลักประกันนั้นเป็นสัญญาประกันตัวจำเลยเพื่อให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราว หรือเป็นสัญญาประกันการชำระหนี้ค่าปรับ ต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ รูปแบบ และเนื้อความแห่งสัญญาประกันที่ศาลเลือกใช้ ในคดีนี้ปรากฏว่า กรมธรรม์ประกันอิสรภาพที่ผู้ร้องออกให้ไว้แก่ศาลนั้น ผู้ร้องรับรองต่อศาลว่าหากจำเลยไม่มาศาล ผู้ร้องก็จะชำระเงินให้แก่ศาลในวงเงิน 90,000 บาท ข้อความตามสัญญาประกันในคดีนี้จึงมีลักษณะเป็นการรับรองว่าจำเลยจะมาศาลเมื่อถึงวันครบกำหนดชำระค่าปรับตามที่ศาลอนุญาตให้ผัดชำระค่าปรับ อันเป็นสัญญาประกันตัวจำเลยเพื่อขอให้ศาลปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวไม่ใช่สัญญาประกันเพื่อการชำระหนี้ค่าปรับที่ในชั้นที่สุดจะบังคับเป็นส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดของค่าปรับตามคำพิพากษา จึงจะนำเงินที่ผู้ร้องนำมาชำระค่าปรับตามสัญญามาเป็นส่วนหนึ่งแห่งค่าปรับตามคำพิพากษาไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8639/2555

ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม (2) พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 12 (2) และริบรถกะบะของกลาง การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนรถกระบะของกลางตาม ป.อ. มาตรา 36 เป็นผลสืบเนื่องมาจากคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 คดีของผู้ร้องจึงเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ด้วย ดังนั้น เมื่อผู้ร้องฎีกาโดยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ที่บัญญัติให้คู่ความยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัย คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีของผู้ร้องจึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5990/2555

ตามสัญญาเช่าซื้อ ระบุว่า หากผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ 3 งวด ติดต่อกัน ให้เจ้าของมีสิทธิจะเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ทันที และยึดรถจักรยานยนต์กลับคืนมาได้ ในระหว่างสัญญาเช่าซื้อจำเลยที่ 4 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อรวม 6 งวด ติดต่อกัน ผู้ร้องไม่ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อหรือติดตามยึดรถจักรยานยนต์ของกลางคืนจากจำเลยที่ 4 ผู้ร้องยอมรับชำระค่าเช่าซื้อจากจำเลยที่ 4 ต่อไปอีกรวม 3 งวด จากนั้นมาจำเลยที่ 4 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตลอดมาโดยไม่มีการบอกเลิกสัญญาจากผู้ร้อง เป็นเวลาเกือบ 2 ปี ผู้ร้องจึงมอบหมายให้พนักงานของผู้ร้องไปติดตามยึดรถจักรยานยนต์ของกลางคืน ก่อนหน้าวันที่ศาลมีคำสั่งริบ ผู้ร้องยังไม่ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและยังไม่ได้ติดตามยึดรถจักรยานยนต์ของกลางคืนจากจำเลยที่ 4 ผู้ร้องยังเปิดทางให้จำเลยที่ 4 หรือผู้ค้ำประกันชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องได้และผู้ร้องจะดำเนินการให้จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางต่อไป ผู้ร้องจึงมีเจตนาเพียงต้องการที่จะได้รับเงินค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น ส่อแสดงว่าการร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลางของผู้ร้องเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 4 ผู้เช่าซื้อ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เข้าลักษณะผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 4 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอคืนรถจักรยายนต์ของกลาง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5698/2555

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และขอให้ศาลสั่งริบโทรศัพท์เคลื่อนที่และรถจักรยานยนต์ของกลางโดยอ้างว่าจำเลยใช้ติดต่อและใช้เป็นยานพาหนะในการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อขายเมทแอมเฟตามีนโดยนัดส่งมอบบริเวณที่เกิดเหตุ ต่อมาจำเลยนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปบริเวณที่เกิดเหตุและเจ้าพนักงานตำรวจยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางได้ที่ตัวจำเลย โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางจึงเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ หรือวัตถุอื่นซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอันพึงต้องริบตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102

ส่วนรถจักรยานยนต์ของกลาง ทางนำสืบโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยนำมาใช้เป็นยานพาหนะสำหรับการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และเจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้ค้นพบเมทแอมเฟตามีนที่รถจักรยานยนต์ของกลาง ดังนี้ รถจักรยานยนต์ของกลางจึงเป็นเพียงยานพาหนะที่จำเลยใช้เดินทางมายังที่เกิดเหตุ ไม่ใช่เครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะหรือวัตถุอื่นซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 และไม่ใช่ทรัพย์สินที่ทำหรือมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยได้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 32, 33 (2) จึงไม่อาจริบได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4093/2555

ความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนต์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง, 79 และมาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 82 สาระสำคัญของการกระทำความผิดอยู่ที่จำเลยประกอบกิจการโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ดังนั้น แผ่นวีซีดีภาพยนต์ แผ่นดีวีดีภาพยนต์ และแผ่นวีดิทัศน์ (วีซีดีคาราโอเกะ) ของกลางดังกล่าว จึงไม่ใช่ทรัพย์ที่จำเลยมีไว้เป็นความผิดหรือได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด อันจะพึงริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 32 และ 33 และให้คืนแก่เจ้าของ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12008/2554

ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 121 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะจำเลยยื่นอุทธรณ์ กำหนดว่า จำเลยจะอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดโดยมิได้อุทธรณ์เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนได้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอย่างคดีธรรมดา ซึ่งเมื่อนำ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6 มาประกอบแล้ว ก็คือ บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ซึ่งห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157 ซึ่งระวางโทษปรับตั้งแต่สี่ร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท และศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 12 ปีเศษ ยังไม่ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา 74 (1) (2) (3) ศาลชั้นต้นได้ว่ากล่าวตักเตือนจำเลยแล้วมอบตัวให้ผู้ปกครองรับไปอบรมดูแล โดยวางข้อกำหนดผู้ปกครองต้องระวังมิให้จำเลยก่อเหตุร้ายอีกภายใน 2 ปี นับแต่วันพิพากษา มิฉะนั้นผู้ปกครองของจำเลยต้องชำระเงินต่อศาลครั้งละ 3,000 บาท และให้คุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลย ไม่เป็นการลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 18 อันจะเข้ากรณียกเว้นที่จะมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยไม่ได้กระทำโดยประมาท เป็นอุทธรณ์โต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น มิใช่อุทธรณ์เกี่ยวกับดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงอันต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยยื่นอุทธรณ์โดยขอให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ แต่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวไม่ได้มีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์ ก็เป็นการชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 122 เพราะผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจะอนุญาตให้อุทธรณ์ได้เฉพาะในคดีซึ่งห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 121 เท่านั้น มิได้ให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ในกรณีดังกล่าวได้ แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาจะรับอุทธรณ์ของจำเลยก็ตาม แต่ก็มิได้มีข้อความที่จะจับใจความได้ว่าได้ใช้ดุลพินิจอนุญาตให้อุทธรณ์ได้และจำเลยก็มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี จึงถือว่าคดีไม่มีการอนุญาตหรือรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์มานั้นชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษาใหม่อีก ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 21) มาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 74 วรรคแรก แห่ง ประมวลกฎหมายอาญาและให้ใช้ข้อความใหม่แทน มาตรา 74 (2) (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะกระทำความผิดกำหนดไว้ว่า ถ้าศาลเห็นว่า บิดา มารดา หรือผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กนั้นได้ ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้แก่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองไป โดยวางข้อกำหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนด ซึ่งต้องไม่เกิน 3 ปี และกำหนดจำนวนเงินตามที่เห็นสมควร ซึ่งบิดา มารดา หรือผู้ปกครองต้องชำระต่อศาลไม่เกินครั้งละ 1,000 บาท ในเมื่อเด็กนั้นก่อเหตุร้ายขึ้น โดยตาม มาตรา 74 (2) ที่แก้ไขใหม่ กำหนดไว้ว่า ให้ศาลกำหนดจำนวนเงินตามที่เห็นสมควร ซึ่งบิดา มารดา หรือผู้ปกครองต้องชำระต่อศาลไม่เกินครั้งละ 10,000 บาท ในเมื่อเด็กนั้นก่อเหตุร้ายขึ้น ดังนั้นกฎหมายเดิมจึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าจึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับแก่จำเลย ตาม ป.อ. มาตรา 3 ที่ศาลชั้นต้นนำมาตรา 74 (2) ซึ่งเป็นกฎหมายที่แก้ไขใหม่มาบังคับแก่จำเลยนั้นจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11445/2554

เมื่อมีกฎหมายใหม่กำหนดเงื่อนไขในการขอคืนของกลางตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30 วรรคสี่ ผู้คัดค้านก็ต้องปฏิบัติตามบทกฎหมายดังกล่าว กล่าวคือ ต้องพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว จึงจะขอให้ปล่อยทรัพย์สินได้ ลำพังผู้คัดค้านไม่รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 36 แต่เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะขอคืนของกลางได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10521/2554

แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายว่าเมทแอมเฟตามีน 30 เม็ด ที่จำหน่ายให้แก่สายลับมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เท่าใด แต่โจทก์บรรยายฟ้องมาแล้วว่า เมทแอมเฟตามีนของกลาง 160 เม็ด ที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีน้ำหนัก 14.86 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 2.847 กรัม ซึ่งคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป อันเป็นการบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง และเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยที่ 1 จำหน่ายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่โจทก์บรรยายฟ้อง และเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนของกลาง จึงคำนวณสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีน 30 เม็ด ดังกล่าวได้เช่นเดียวกันว่าคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.5338 กรัม ซึ่งเป็นปริมาณตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป กรณีจึงลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคสอง ได้ ซึ่งตามมาตรา 100/1 บัญญัติว่า ตามผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษจำคุกและปรับ ให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ โดยคำนึงถึงการลงโทษในทางทรัพย์สินเพื่อป้องปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ปรับด้วยนั้น จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษปรับได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8257/2554

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 33, 58, 83, 91, 288, 289, 371 และขอให้กำหนดโทษของจำเลยที่ 1 ที่รอการกำหนดโทษไว้ในคดีก่อนบวกเข้ากับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ แม้ศาลจะพิพากษาในส่วนของจำเลยที่ 1 ว่ากระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288, 371, 83 ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่ง ลดโทษให้หนึ่งในห้า คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี และปรับ 40 บาท เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยที่ 1 ไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมยังสถานพินิจจนกว่าจำเลยทั้งสองมีอายุครบ 24 ปีบริบรูณ์ หากจำเลยมีอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์แล้ว ให้ส่งจำเลยทั้งสองไปจำคุกในเรือนจำมีกำหนดคนละ 10 ปี โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) และวรรคท้าย แต่การส่งจำเลยที่ 1 ไปจำคุกต่อตามมาตรา 104 วรรคท้ายดังกล่าว มิใช่การพิพากษาให้ลงโทษจำคุกโดยแท้ แต่เป็นหนึ่งในวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน มิใช่การลงโทษจำคุกซึ่งเป็นโทษตาม ป.อ. มาตรา 18 ศาลจึงไม่อาจนำโทษจำคุกในคดีก่อนมาบวกตาม ป.อ. มาตรา 58 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7713/2554

ป.วิ.อ. มาตรา 158 บัญญัติว่า ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมีรายการต่าง ๆ ที่จะต้องมีในคำฟ้องอีกรวม 7 อนุมาตรา แต่มิได้มีเงื่อนไขเกี่ยวกับทรัพย์ที่จะขอให้ศาลสั่งริบว่าจะต้องมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง เมื่อโจทก์ได้บรรยายมาในคำฟ้องว่าเจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้พร้อมกับยึดเครื่องสูบน้ำเป็นของกลางและมีคำขอให้ริบเครื่องสูบน้ำดังกล่าวจึงเป็นการเพียงพอแล้ว ไม่จำต้องบรรยายมาในฟ้องว่าเป็นของผู้ใดและใช้ในการกระทำความผิดอย่างไร

เมื่อโจทก์มีคำขอให้ริบเครื่องสูบน้ำของกลางแล้ว แต่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยว่าจะริบเครื่องสูบน้ำของกลางหรือไม่ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และการริบทรัพย์สินแม้ ป.อ. มาตรา 18 จะบัญญัติว่าเป็นโทษสถานหนึ่ง แต่เป็นโทษที่มุ่งถึงตัวทรัพย์เป็นสำคัญต่างกับโทษสถานอื่นซึ่งแม้จำเลยจะไม่ได้กระทำความผิดหรือกระทำความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ ศาลก็มีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินของกลางได้ จึงมิใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ย่อมมีอำนาจสั่งริบของกลางได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8332/2554

ความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31 วรรคสอง (3) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเพียง 2 ปี เป็นการลงโทษในระวางโทษจำคุกขั้นต่ำตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ทั้งยังลดโทษให้จำเลยอีกกึ่งหนึ่งซึ่งเป็นอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษให้เบากว่านี้ได้อีก ส่วนที่จำเลยขอให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทนตาม ป.อ. มาตรา 23 นั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 ลดโทษให้จำเลยแล้วคงจำคุก 1 ปี ซึ่งเป็นการลงโทษจำคุกเกิน 3 เดือน จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทนโทษจำคุกให้จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7193/2554

สัญญาเช่าซื้อได้ระบุแบ่งแยกสิทธิเรียกค่าเสียหายของเจ้าของหรือผู้ให้เช่าซื้อไว้ 2 กรณี คือ กรณีรถถูกริบโดยไม่ใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อ ส่วนอีกกรณีหนึ่ง คือ กรณีที่รถถูกริบไปเพราะความผิดของผู้เช่าซื้อ ข้อสัญญาดังกล่าวยังไม่อาจถือได้ว่าผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อต้องการราคาเช่าซื้อเป็นสำคัญโดยผู้เช่าซื้อจะนำทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อไปใช้อย่างไรก็ได้ คดีจึงฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนรถกระบะของกลางเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่นอันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและไม่อาจถือว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสาม ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอคืนของกลางได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6274/2554

ป.อ. มาตรา 29 บัญญัติว่า "ผู้ใดต้องโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ แต่ถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันหรือจะสั่งให้กักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้" บทบัญญัติดังกล่าวบังคับให้ผู้ต้องโทษปรับชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา หากไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดดังกล่าว ก็ให้อำนาจศาลที่จะสั่งให้ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือจะสั่งให้ใช้วิธีกักขังแทนค่าปรับก็ได้ แต่ก่อนที่จะครบสามสิบวันถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ต้องโทษปรับจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันโดยให้ทำสัญญาประกันว่าจะชำระเงินค่าปรับภายในเวลาที่กำหนด หรือจะสั่งกักขังผู้ต้องโทษปรับไปพลางก่อนก็ได้ และแม้จะครบกำหนดสามสิบวันแล้ว ถ้าศาลยังมีเหตุสมควร เช่น การกักขังไปพลางก่อนยังไม่เหมาะกับสภาพการบังคับโทษแก่ผู้ต้องโทษรายใด หรือการด่วนยึดทรัพย์สินเพื่อบังคับโทษปรับยังไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ ศาลก็อาจจะให้ผู้ต้องโทษปรับขอผัดเวลาชำระค่าปรับต่อไปก่อนได้ โดยยังไม่ยึดทรัพย์สินหรือกักขังในทันทีที่ครบสามสิบวัน ดังนั้น การที่ศาลจะสั่งเรียกประกันไปก่อนโดยยังไม่บังคับโทษปรับไปเสียทีเดียว จึงทำได้เพื่อการปล่อยตัวผู้ต้องโทษปรับชั่วคราวให้ไปหาเงินนำมาชำระค่าปรับ หากในชั้นที่สุดหลบหนีไปหรือมาศาลแต่ไม่สามารถนำเงินมาชำระค่าปรับได้ ศาลก็ต้องใช้วิธีการยึดทรัพย์สินหรือจัดการเพื่อให้มีการกักขังแทนค่าปรับ

จากความเป็นมาของเรื่อง รูปแบบ และเนื้อความแห่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางใช้ รวมทั้งเนื้อความแห่งกรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพ สัญญาประกันในคดีนี้จึงมีลักษณะเป็นสัญญาประกันตัวชั่วคราวไม่ให้ศาลกักขังจำเลยแทนค่าปรับไปพลางก่อน โดยเป็นการสัญญาว่าจะมาศาลเพื่อชำระค่าปรับภายในกำหนด ไม่ใช่สัญญาประกันเพื่อในชั้นที่สุดจะให้บังคับเป็นส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดของค่าปรับตามคำพิพากษา จึงจะนำเงินที่ผู้ร้องนำมาชำระค่าปรับตามสัญญามาเป็นส่วนหนึ่งแห่งค่าปรับไม่ได้ และเมื่อสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาประกันตัวชั่วคราว ดังนั้น ในชั้นที่สุดเมื่อมีการนำตัวจำเลยมาศาลได้ ศาลจึงมีอำนาจลดค่าปรับสำหรับผู้ร้องลงได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7196/2554

ข้อเท็จจริงได้ความตามฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดฐานให้เช่าภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตามฟ้องข้อ (ค) ในวันเวลาเดียวกันกับความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่าภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามฟ้องข้อ (ข) โดยแผ่นภาพยนตร์และแผ่นวีดิทัศน์ของกลางเป็นจำนวนเดียวกัน และเป็นการกระทำในคราวเดียวกันโดยจำเลยมีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผล คือ นำแผ่นภาพยนตร์และแผ่นวีดิทัศน์ดังกล่าวออกให้เช่าเช่นเดียวกัน การกระทำของจำเลยตามฟ้องข้อ (ค) จึงเป็นกรรมเดียวกับความผิดตามฟ้องข้อ (ข)

แผ่นภาพยนตร์กับแผ่นวีดิทัศน์ของกลางมิใช่ทรัพย์สินที่จำเลยมีไว้เป็นความผิด ได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่าภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต และความผิดฐานให้เช่าภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์อันพึงริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 32 และมาตรา 33 เนื่องจากสาระสำคัญของการกระทำความผิดอยู่ที่การไม่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการและไม่นำภาพยนตร์กับวีดิทัศน์ไปให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตรวจพิจารณาอนุญาตก่อนนำออกให้เช่า

สมุดรายการเช่าของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยใช้ในการประกอบกิจการให้เช่าภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตโดยตรง กล่าวคือ สมุดรายการเช่าเป็นปัจจัยหลักและส่วนสำคัญที่ใช้ในการกระทำความผิดเพราะเป็นหลักฐานในการเช่า ติดตามแผ่นภาพยนตร์และแผ่นวีดิทัศน์ที่ให้เช่า ตลอดจนคิดค่าปรับต่าง ๆ จึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิด อันพึงริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5671/2554

หลังจากที่ผู้ร้องทราบว่าเจ้าพนักงานยึดรถยนต์ของกลางเนื่องจากเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดแล้วอันเป็นเหตุที่ผู้ร้องอาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ตามข้อ 3. ของสัญญาเช่าซื้อ แต่ผู้ร้องก็ไม่ได้ใช้สิทธิดังกล่าว ยังคงรับชำระค่าเช่าซื้อต่อไป โดยผู้ร้องก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นข้อเท็จจริงว่าผู้เช่าซื้อไม่ได้ร่วมหรือเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดหรือยินยอมให้จำเลยที่ 1 กับพวกนำรถยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด ผู้ร้องจึงไม่อาจบอกเลิกสัญญาได้ การที่ผู้ร้องยังคงรับชำระค่าเช่าซื้อโดยไม่บอกเลิกสัญญา และมาขอคืนรถยนต์ของกลาง ซึ่งหากศาลมีคำสั่งคืนรถยนต์ของกลางตามคำร้องของผู้ร้องและผู้เช่าซื้อได้ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วน รถยนต์ของกลางย่อมตกเป็นของผู้เช่าซื้อ พฤติกรรมของผู้ร้องมีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้เช่าซื้อโดยต้องการได้แต่ค่าเช่าซื้อเท่านั้น ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตในการขอคืนของกลาง เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนของกลาง ผู้ร้องย่อมมีภาระการพิสูจน์ว่าตนไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 กับพวก แต่ตามพยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบมากลับปรากฏพฤติการณ์การใช้สิทธิโดยไม่สุจริตของผู้ร้อง จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 กับพวก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5184/2554

ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลาง หมายเลขทะเบียน บน 5774 ลพบุรี จำเลยเช่าซื้อรถยนต์ของกลางไป ต่อมาจำเลยนำรถยนต์ของกลางไปใช้กระทำความผิด และศาลมีคำพิพากษาให้ริบ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้คืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย ข้อเท็จจริงต้องรับฟังตามพยานหลักฐานของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย แม้สัญญาเช่าซื้อระบุให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชอบค่าเสียหายเท่าราคาเช่าซื้อที่ค้างชำระในกรณีทรัพย์สินที่เช่าซื้อถูกยึดหรือถูกริบ และผู้ร้องไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างหรือบอกเลิกสัญญา แต่ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นข้อสัญญาที่ให้สิทธิแก่ผู้ร้องในฐานะผู้ให้เช่าซื้อ ซึ่งผู้ร้องจะใช้สิทธิตามสัญญาดังกล่าวหรือไม่ก็ได้ การที่ผู้ร้องไม่ใช้สิทธิดังกล่าวกับผู้เช่าซื้อและร้องขอรถยนต์ของกลางคืนเป็นเพียงการไม่ถือเอาประโยชน์จากข้อสัญญาที่กำหนดไว้เท่านั้น และเมื่อผู้เช่าซื้อผิดสัญญา ผู้ร้องในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของกลางที่ให้เช่าซื้อคืนได้ ทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าหลังจากที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อหรือศาลมีคำพิพากษาให้ริบรถยนต์ของกลางแล้ว ผู้ร้องยังคงรับชำระค่าเช่าซื้อจากผู้เช่าซื้ออีก กรณียังไม่พอฟังว่าผู้ร้องมีเจตนาเพียงต้องการที่จะได้รับค่าเช่าซื้อหรือขอคืนรถยนต์ของกลางเพื่อประโยชน์แก่ผู้เช่าซื้อ อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3017/2554

การให้ถ้อยคำของผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนเป็นสิทธิของผู้ต้องหาที่จะให้การอย่างไรหรือไม่ให้การก็ได้ ในกรณีที่ผู้ต้องหาให้การเหมือนๆ กันหรือทำนองเดียวกัน บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของผู้ต้องหาย่อมมีโอกาสเหมือนหรือคล้ายกัน และในการทำความเห็นสั่งฟ้องคดี หากพนักงานอัยการเห็นว่าการสอบสวนไม่ชอบ ไม่ถูกต้อง ย่อมจะส่งสำนวนการสอบสวนกลับไปให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมหรือปฏิบัติเสียใหม่ให้ถูกต้อง ประกอบกับวิทยาการสมัยใหม่ที่เอกสารสอบสวนสองฉบับจะมีข้อความตรงกันย่อมเกิดขึ้นได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่ได้ลงชื่อในบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา ย่อมถือว่าการสอบสวนคดีนี้ชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 3 ยกเลิก พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 แต่ตามมาตรา 27 ของกฎหมายใหม่ยังคงบัญญัติห้ามมิให้บุคคลใดรับคนต่างด้าวเข้าทำงานเช่นเดียวกันกับกฎหมายเดิม เว้นแต่คนต่างด้าวซึ่งมีใบอนุญาตทำงาน กรณีจึงไม่ถือว่ากฎหมายใหม่ยกเลิกความผิดของจำเลยที่ 1 อย่างไรก็ตามโทษปรับในความผิดฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงาน ตามกฎหมายเดิมเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 มากกว่า จึงต้องใช้โทษปรับตามกฎหมายเดิมบังคับแก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 3

ก่อนคดีนี้ จำเลยที่ 1 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ ลงโทษปรับ 240,000 บาท และต้องคำพิพากษาในความผิดเดียวกัน ให้ลงโทษจำคุก 3 เดือน และปรับ 22,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี คดีนี้ จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ อีก ซึ่งพ้นโทษในคดีก่อนยังไม่ครบ 5 ปี กรณีต้องมีการวางโทษทวีคูณแก่จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 4 บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำความผิดคดีนี้หลังจากได้ชำระค่าปรับครบถ้วนและพ้นกำหนดรอการลงโทษจำคุกในคดีก่อนที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้วางโทษทวีคูณคดีนี้แล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ต้องโทษและได้พ้นโทษในคดีก่อนไปแล้วก่อนที่พระราชบัญญัตินี้จะใช้บังคับและได้รับการล้างมลทินโดยถือว่าจำเลยที่ 1 มิเคยถูกลงโทษในความผิดนี้มาก่อนตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงไม่อาจวางโทษทวีคูณแก่จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ได้

ป.อ. มาตรา 29 บัญญัติว่า "ผู้ใดต้องโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ..." การที่ศาลทรัพย์สินฯ พิพากษาว่า "หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนค่าปรับ" ไปเสียเลย จึงเป็นการบังคับค่าปรับผิดลำดับตามบทกฎหมาย ต้องแก้เป็นว่า หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการ ตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 หากจะกักขังให้กักขังแทนค่าปรับไม่เกิน 1 ปี

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2553)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2920/2554

การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลยโดยมิได้กำหนดวิธีการบังคับค่าปรับเมื่อ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับวิธีการบังคับค่าปรับไว้จึงต้องนำ ป.อ. มาตรา 29, 30 ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไปเกี่ยวกับการยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับและการกักขังแทนค่าปรับอันเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลมาใช้บังคับตาม ป.อ. มาตรา 17 ทั้งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 9 ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และเมื่อศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดวิธีการบังคับค่าปรับไว้ ดังนี้ จะกักขังแทนค่าปรับเกินกำหนด 1 ปีไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1265/2554

การที่ศาลชั้นต้นอันเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ฯ มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีกำหนดขั้นต่ำ 2 ปี ขั้นสูง 4 ปี นับแต่วันพิพากษาหากไม่ชำระค่าปรับให้ส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดภูเก็ต มีกำหนด 1 วัน ไม่ถือเป็นการลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 18 และต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน จำเลยยื่นฎีกาขณะ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ฯ มีผลใช้บังคับ ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ฯ มาตรา 124 ที่จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 2 นั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว

แม้จำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจากผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นก็เป็นการไม่ชอบ เนื่องจากผู้พิพากษาที่จะอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในกรณีนี้ได้คือ ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 8 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ส่วนฎีกาของจำเลยที่ขอให้รอการลงโทษแทนการส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมหรือกำหนดระยะเวลาการฝึกและอบรมให้ต่ำลง อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับการกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา 104 (2) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ฯ ซึ่งต้องห้ามฎีกาในปัญหาดังกล่าว ตามมาตรา 124 ประกอบมาตรา 121 (2) ทั้งเป็นกรณีที่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวหรืออธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวไม่อาจอนุญาตให้ฎีกาได้ เพราะหากกฎหมายประสงค์จะให้มีการอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวได้ก็ชอบที่จะบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งเช่นเดียวกับการอนุญาตให้อุทธรณ์ตามมาตรา 122 และในกรณีนี้ไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 221 โดยอาศัย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ฯ มาตรา 6 มาใช้บังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 660/2554

กรณีที่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 เมื่อปรากฏว่าขณะกระทำความผิดในคดีนี้ จำเลยที่ 1 อายุ 17 ปีเศษ จึงต้องใช้บทบัญญัติมาตรา 75 ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดอันเป็นกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับ แม้จำเลยที่ 1 มิได้ฎีกาในปัญหานี้ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 149/2554

ผู้ร้องให้จำเลยเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไปโดยไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดของจำเลย จึงต้องคืนรถจักรยานยนต์ให้แก่ผู้ร้อง การที่ผู้ร้องไม่ใช้สิทธิทางแพ่งกับจำเลยและร้องขอรถจักรยานยนต์ของกลางคืน เป็นเพียงการไม่ถือเอาประโยชน์จากข้อสัญญาที่กำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งเป็นสิทธิที่ผู้ร้องจะใช้หรือไม่ก็ได้และเมื่อจำเลยผิดสัญญา ผู้ร้องในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของกลางที่ให้เช่าซื้อคืนได้ กรณียังไม่พอฟังว่าเป็นการช่วยเหลือจำเลยมิให้ต้องรับโทษเต็มตามคำพิพากษา อันเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตแต่อย่างใดเพราะกฎหมายสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13379/2553

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 254,155.78 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนไม่เกินหนึ่งปี เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ยังคงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษปรับสถานเดียวตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เพียงแต่กำหนดวิธีการเพื่อการบังคับคดีในกรณีที่จำเลยที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับเท่านั้น จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ที่ว่า ไม่สมควรลงโทษปรับจำเลยที่ 3 สถานเดียว แต่ขอให้รอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษ เป็นการฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11277/2553

ผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนของกลางตาม ป.อ. มาตรา 36 หมายถึง เจ้าของทรัพย์สินขณะที่มีการกระทำความผิด มิใช่เจ้าของทรัพย์สินหลังการกระทำความผิด คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ร้องเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางจากผู้ให้เช่าซื้อตั้งแต่ก่อนศาลชั้นต้นสั่งริบรถจักรยานยนต์ของกลาง แต่ผู้ร้องรับโอนกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์ของกลางภายหลังเวลาที่จำเลยกระทำความผิดและศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางให้ตกเป็นของแผ่นดินแล้ว โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา คำพิพากษาดังกล่าวจึงเป็นอันถึงที่สุด และกรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์ของกลางตกเป็นของแผ่นดินแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลาง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8913/2553

การกระทำความผิดตามฟ้องของจำเลยในแต่ละฐานความผิดนั้นเป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุกและโทษปรับ ศาลย่อมมีอำนาจที่จะลงโทษจำคุกหรือลงโทษปรับอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือจะลงโทษทั้งโทษจำคุกและโทษปรับทั้งสองอย่างพร้อมกันก็ได้ ถึงแม้ในคดีนี้จำเลยจะได้ชำระค่าปรับครบถ้วนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วก็ตาม ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมมีอำนาจที่จะลงโทษจำคุกจำเลยอีกได้ และการที่จำเลยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขคุมความประพฤติ ทำงานบริการสังคมและสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรครบถ้วนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วก็ตาม แต่เงื่อนไขการคุมความประพฤติดังกล่าวนั้นก็มิใช่การลงโทษ เป็นแต่เพียงมาตรการทางกฎหมายที่ศาลให้โอกาสผู้กระทำความผิดในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้รอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษเท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการลงโทษจำเลยซ้ำซ้อนจากการกระทำความผิดแต่เพียงครั้งเดียวดังที่จำเลยอ้างมาในฎีกา

จำเลยใช้รถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุบรรทุกดินมีน้ำหนักยานพาหนะรวมน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ถึง 22,410 กิโลกรัม โดยไม่นำพาว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสภาพทางหลวงแผ่นดินซึ่งเป็นสมบัติของส่วนรวมและมีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันของสาธารณชน การกระทำของจำเลยย่อมทำให้ผู้ร่วมใช้เส้นทางสัญจรไปมาต้องเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดจากสภาพของยานพาหนะที่บรรทุกน้ำหนักเป็นจำนวนมากจนเกินกว่าที่ผู้ขับจะควบคุมให้แล่นไปได้อย่างปลอดภัยพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยนับว่าร้ายแรง ที่จำเลยยกขึ้นอ้างฎีกาว่าจำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน มีภาระต้องรับผิดชอบต่อครอบครัวและจำต้องกระทำความผิดในคดีนี้เพราะไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือขัดคำสั่งของนายจ้าง ก็เป็นเพียงเหตุผลและความจำเป็นส่วนตัวของจำเลยเท่านั้น บุคคลทั่ว ๆ ไปในสถานะเช่นเดียวกับจำเลยก็มีภาระที่ไม่แตกต่างไปจากจำเลย จำเลยไม่อาจอ้างภาระความจำเป็นส่วนตัวเพื่อก่อภาระให้แก่สังคมโดยรวมได้ เหตุดังกล่าวไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นลงโทษจำคุก โดยไม่ลงโทษปรับและไม่คุมความประพฤติ และให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทนตาม ป.อ. มาตรา 23 นั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2069/2553

พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 73 บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำความผิดต้องระวางโทษตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อพ้นโทษแล้วยังไม่ครบกำหนดห้าปีกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัตินี้อีกต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น" บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าการพ้นโทษจะต้องเป็นการพ้นโทษจำคุกอย่างเดียว การปรับก็ถือว่าเป็นโทษอย่างหนึ่งตามป.อ. มาตรา 18 (4) ดังนั้น แม้คดีก่อนศาลจะลงโทษจำคุกและรอการลงโทษให้จำเลย แต่ปรากฏว่า คดีนั้นศาลก็ได้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งด้วย เมื่อมีการชำระค่าปรับครบถ้วนในวันเวลาใด ย่อมถือว่าจำเลยได้พ้นโทษในวันที่ชำระค่าปรับนั้นแล้ว ได้ความว่าขณะกระทำความผิดคดีนี้ จำเลยยังชำระค่าปรับในคดีก่อนไม่ครบถ้วน จึงเป็นกรณีที่จำเลยยังไม่ได้พ้นโทษในคดีก่อนและเมื่อกลับมากระทำความผิดคดีนี้ ซึ่งแม้จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เช่นเดียวกันก็ไม่อาจระวางโทษสองเท่าแก่จำเลยตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 73 ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางระวางโทษสองเท่าแก่จำเลยตามมาตรานี้ จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1711/2553

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 และ 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 76 ประกอบ ป.อ. มาตรา 18 วรรคสาม แล้ว คงจำคุก 25 ปี อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นฝึกและอบรม ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับให้ยกฟ้อง ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่เนื่องจาก ป.อ. มาตรา 18 วรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีผู้ซึ่งกระทำผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ได้กระทำผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต ให้ถือว่าระวางโทษดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นระวางโทษจำคุก 50 ปี ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นวางโทษฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนแล้วลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งโดยประกอบ ป.อ. มาตรา 18 วรรคสาม คงจำคุก 25 ปี นั้นไม่ถูกต้อง เพราะ จะทำให้จำเลยซึ่งมีอายุเกินสิบแปดปีไม่ได้รับประโยชน์ตามเจตนารมณ์ของมาตรา 18 วรรคสาม และจะทำให้เด็กได้รับโทษเท่ากับผู้ใหญ่ จึงให้เปลี่ยนโทษประหารชีวิตเป็นห้าสิบปีเสียก่อน แล้วจึงนำ ป.อ. มาตรา 80 ซึ่งให้ระวางโทษสองในสามของโทษห้าสิบปีมาปรับ หลังจากนั้นจึงลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 76 ประกอบมาตรา 18 วรรคสาม ดังนั้น จึงคงจำคุกเพียง 16 ปี 8 เดือน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโทษให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14306/2553

ศาลอุทธรณ์พิพากษาปรับจำเลยทั้งสองเกินแปดหมื่นบาท และมิได้สั่งว่าจะบังคับชำระค่าปรับอย่างไร ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาให้ชัดเจน โดยพิพากษาว่าหากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับไม่เกิน 1 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7884/2553

โรงงานที่เสียหายเป็นของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของทางราชการที่ไม่ได้แสวงหากำไร เพียงแต่อนุญาตให้สหกรณ์ซึ่งมีผู้เสียหายที่ 2 เป็นประธานเป็นผู้ดูแลเท่านั้น ประชาชนมีสิทธิเป็นสมาชิกและเข้าใช้ประโยชน์ได้ จึงเป็นทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ จึงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ.มาตรา 360

ความเสียหายที่จำเลยก่อกับทรัพย์ไม่ถึงกับทำให้ทรัพย์ใช้งานไม่ได้อีกต่อไป ทั้งจำเลยกระทำระหว่างสมาชิกหยุดใช้งานโรงรมยางพาราเพราะอยู่ในช่วงยางพาราผลัดใบ ประกอบกับจำเลยกระทำเพราะเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมที่ไม่ได้ผลประโยชน์ตอบแทนจากที่ยินยอมให้สร้างโรงรมยางพาราในที่ดินของจำเลย จึงเห็นสมควรลงโทษจำเลยสถานเบาและรอการลงโทษให้ ตาม ป.อ. มาตรา 29, 30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7007/2553

ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 15 เม็ด ของกลางเป็นแอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีนที่ผสมอยู่จำนวน 15 หน่วยการใช้ มีน้ำหนักรวม 4.480 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 1.457 กรัม กรณีต้องด้วย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ที่บัญญัติว่า "การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามปริมาณดังต่อไปนี้ ให้ถือว่า เป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย... (2) แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป..." ซึ่งเป็นบทสันนิษฐานเด็ดขาด แม้ทางนำสืบของโจทก์จะได้ความเพียงว่า มีผู้แจ้งว่าจำเลยจำหน่ายยาเสพติดให้โทษโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่ส่อแสดงว่าจำเลยมีพฤติการณ์จำหน่ายยาเสพติดให้โทษก็ตาม จำเลยก็มีความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

ข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 มีระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท มีอายุความ 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) คดีนี้จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2545 นับถึงวันฟ้องคือวันที่ 16 มกราคม 2547 คดีของโจทก์ในความผิดดังกล่าว จึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) ชอบที่ศาลจะต้องยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดดังกล่าว ปัญหาข้างต้นเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบ มาตรา 215, 225

ศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลยเกินแปดหมื่นบาท โดยพิพากษาว่าไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 แต่มิได้ระบุให้กักขังเกิน 1 ปี หรือไม่ เช่นนี้จะกักขังเกิน 1 ปี ไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรระบุในคำพิพากษาให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้มีปัญหาในชั้นบังคับตามคำพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3919/2553

ตามบทบัญญัติแห่ง ป.อ. มาตรา 39 ในกรณีที่ศาลจะสั่งคืนทรัพย์สินที่ริบได้นั้นนอกจากความเป็นเจ้าของแล้วยังต้องได้ความว่าผู้เป็นเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดและย่อมมีความหมายถึงเจ้าของทรัพย์สินในขณะที่มีการกระทำความผิดด้วย ทั้งการขอให้ศาลสั่งคืนของกลางที่ศาลสั่งริบแล้วดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคดีอาญา นอกจากผู้ร้องมีหน้าที่นำสืบว่าผู้ร้องไม่รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดแล้วผู้ร้องก็ยังมีหน้าที่นำสืบว่าเจ้าของทรัพย์สินไปขณะกระทำผิดไม่รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ผู้ร้องมีตัวผู้ร้องและจำเลยเบิกความเป็นพยานว่า ผู้ร้องให้จำเลยเช่ารถยนต์กระบะของกลางไป ผู้ร้องไม่รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย โดยผู้ร้องมิได้นำสืบให้เห็นว่าบริษัท จ. เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะของกลางในขณะที่จำเลยกระทำความผิดรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ เมื่อผู้ร้องมิได้นำสืบดังกล่าวจึงฟังไม่ได้ว่าบริษัท จ. เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะของกลางในขณะกระทำความผิดไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย นอกจากนี้ผู้ร้องให้การในชั้นสอบสวนว่า ผู้ร้องไม่รู้ว่าจำเลยนำรถยนต์กระบะของกลางไปใช้กระทำความผิดเพราะผู้ร้องไปค้าขายที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยให้จำเลยใช้รถยนต์กระบะของกลางบรรทุกยางพาราแตกต่างจากที่ผู้ร้องและจำเลยเบิกความว่าจำเลยเช่ารถยนต์กระบะของกลางจากผู้ร้องเป็นพิรุธไม่มีน้ำหนักรับฟัง จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1639/2553

ตามบทบัญญัติแห่ง ป.อ. มาตรา 36 ในกรณีที่ศาลจะสั่งคืนทรัพย์สินที่ริบได้นั้นนอกจากความเป็นเจ้าของแล้วยังต้องได้ความว่าผู้เป็นเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว และย่อมมีความหมายถึงเจ้าของทรัพย์สินในขณะที่มีการกระทำความผิดด้วย ทั้งการขอให้ศาลสั่งคืนของกลางที่ศาลสั่งริบแล้วดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคดีอาญา นอกจากผู้ร้องมีหน้าที่นำสืบว่าผู้ร้องไม่รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดแล้ว ผู้ร้องก็ยังมีหน้าที่นำสืบว่าเจ้าของทรัพย์สินในขณะกระทำความผิดไม่รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดซึ่งคดีนี้ผู้ร้องมิได้นำสืบให้เห็นว่า จ. เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะของกลางในขณะที่จำเลยกระทำความผิดรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่จึงฟังไม่ได้ว่า จ. เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะของกลางในขณะกระทำความผิดไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอคืนรถยนต์กระบะของกลาง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8405/2552

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลางเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2550 โดยในคำร้องระบุว่าจำเลยกับพวกได้นำรถจักรยานยนต์ของกลางไปจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่ผู้ล่อซื้อซึ่งต่อมาศาลมีคำพิพากษาให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางดังนี้ แสดงว่าผู้ร้องต้องรู้มาก่อนวันที่ 15 พฤษภาคม 2550 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าศาลชั้นต้นพิพากษาริบรถจักรยานยนต์ของกลางแล้ว แต่ผู้ร้องก็เพิกเฉยไม่ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและมายื่นคำร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลางในคดีนี้ ทั้งยังคงรับชำระเงินค่าเช่าซื้อจากผู้เช่าซื้อต่อไปอีก ประกอบกับหนังสือสัญญาเช่าซื้อข้อ 3.3 ระบุว่า ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชำระค่าเช่าซื้อให้ครบถ้วนตามสัญญาในกรณีทรัพย์สินที่เช่าซื้อสูญหาย ถูกทำลาย ถูกยึดหรือถูกริบ โดยความผิดของผู้เช่าซื้อเองและในกรณีมิใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชอบชดใช้ราคาทรัพย์สินที่เช่าซื้อพร้อมด้วยค่าเสียหาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องมีเจตนาเพียงต้องการที่จะได้รับเงินค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น ผู้ร้องจึงเพิกเฉยไม่ติดตามเอารถจักรยานยนต์ของกลางที่ให้เช่าซื้อคืน ทั้งๆ ที่ผู้ร้องรู้อยู่แล้วว่ามีการนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ในทางผิดกฎหมายอันเป็นการผิดสัญญาเช่าซื้อ การที่ผู้ร้องมาขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลางเห็นได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้เช่าซื้อ เข้าลักษณะผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลาง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7025/2552

การที่จำเลยใช้กระแสไฟฟ้าทำการประมงในบริเวณลำคลองสาธารณะ โดยได้ปลาเบญจพรรณมากถึง 10 กิโลกรัมนั้น ทำให้พันธุ์สัตว์น้ำต่าง ๆ ที่อยู่ในรัศมีของกระแสไฟฟ้าถูกทำลายโดยตรง และยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของสัตว์น้ำและพืชพันธุ์ที่อยู่ในน้ำอย่างมาก ซึ่งธรรมชาติต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการเยียวยาและปรับสมดุลของตัวเอง เมื่อเปรียบเทียบกับการกระทำของจำเลยที่ใช้เวลาเพียงเล็กน้อย ถือเป็นการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีค่ายิ่งของสังคมส่วนรวม พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยมีภาระต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูครอบครัว ก็ไม่เพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยแต่เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนจึงเห็นสมควรให้ลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11181/2551

คดีร้องขอคืนของกลางมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำร้องของผู้ร้องเพียงว่า ศาลจะสั่งคืนรถยนต์บรรทุกของกลางให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่เท่านั้น ส่วนประเด็นที่ว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดเพราะจำเลยไม่รู้ว่ารถยนต์บรรทุกของกลางบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเป็นเรื่องที่จำเลยต้องยกขึ้นต่อสู้ในคดีหลัก ผู้ร้องจะยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาว่ากล่าวในชั้นร้องขอคืนรถยนต์บรรทุกของกลางไม่ได้

ในคดีหลักศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้ริบรถยนต์บรรทุกของกลางและคดีถึงที่สุดแล้ว แม้คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้คืนรถยนต์บรรทุกของกลางแก่ผู้ร้องกึ่งหนึ่ง ศาลชั้นต้นก็ไม่จำต้องสั่งให้ริบรถยนต์บรรทุกของกลางเพียงกึ่งหนึ่งอีกเพราะเป็นการสั่งซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9174/2551

เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยจำหน่ายให้ ศ. และ ร. ในแต่ละครั้งเป็นเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายหมดไปในแต่ละคราว การกระทำของจำเลยในแต่ละครั้งซึ่งเป็นทั้งความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจึงเป็นกรรมเดียวกันต้องลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักสุด แต่ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนมีระวางโทษเท่ากัน จำเลยจึงควรรับโทษฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน อย่างไรก็ดี ที่ศาลชั้นต้นรวมโทษทั้งสองกระทงเข้าด้วยกันแล้วจึงลดโทษ ย่อมเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากกว่าลดโทษแต่ละกระทงเสียก่อนแล้วจึงรวมเข้าด้วยกัน แม้มีเศษเป็นเดือนก็คงให้เป็นเดือนต่อไปโดยไม่ปรับเป็นปีเพราะ ป.อ. มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติว่า หากกำหนดโทษจำคุกเป็นเดือน ให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน แล้วถ้ากำหนดเป็นปี ให้คำนวณตามปีปฏิทินในราชการ เมื่อเป็นเช่นนี้การกำหนดโทษจำคุก 12 เดือน ย่อมมีกำหนดเท่ากับ 360 วัน ซึ่งน้อยกว่าจำนวนวันตามปีปฏิทินที่อาจมีถึง 366 วัน หรือ 365 วัน สุดแท้แต่ว่าจะเป็นปีอธิกสุรทินหรือปีจันทรคติ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5126/2551

การที่ศาลจะสั่งริบทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดย การกระทำความผิดได้ก็ต่อเมื่อมีการกระทำความผิดนั้น และโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดนั้นด้วย เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อ กฎหมาย และฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อ จำหน่าย โทรศัพท์เคลื่อนที่และธนบัตรที่จำเลยได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนก่อน หน้านี้จึงมิใช่เครื่องมือ เครื่องใช้ หรือวัตถุซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในคดีนี้ ตามมาตรา 102 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ทั้งมิใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดหรือ ได้มาโดยกระทำความผิดซึ่งหมายถึงเฉพาะความผิดที่ได้กระทำในคดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา 32, 33 (2) จึงไม่อาจริบได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1827/2551

โจทก์ บรรยายฟ้องว่า เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยทั้งสองได้พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน โทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้และมีไว้เพื่อใช้เป็นเครื่องมือและอุปกรณ์ในการ ติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่าย และรถจักรยานยนต์ 1 คัน ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้และมีไว้เพื่อใช้เป็นยานพาหนะในการติดต่อซื้อขาย และนำเมทแอมเฟตามีนออกไปเพื่อจำหน่าย เป็นของกลาง เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ จึงต้องฟังว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่และรถจักรยานยนต์ของกลางเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้และยานพาหนะที่จำเลยทั้งสองได้ใช้ในการกระทำความผิด ซึ่งศาลมีอำนาจริบได้ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2496/2551

ขณะที่ผู้ร้องและจำเลยทำสัญญาซื้อขายรถยนต์ของกลางกันจำเลยยังไม่ได้ส่งมอบรถยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้องและผู้ร้องยังค้างชำระราคาเป็นเงิน 50,000 บาท โดยจำเลยจะส่งมอบรถยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้องในวันที่ได้รับชำระราคาส่วนที่ เหลือ จึงเป็นสัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไขตาม ป.พ.พ. มาตรา 459 กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ของกลางยังไม่โอนไปจนกว่าผู้ร้องจะได้ชำระราคาและโอน ทะเบียนกัน ผู้ร้องจึงไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลางที่แท้จริง ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางตาม ป.อ. มาตรา 36 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 595/2551 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์ด้วยความประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บและไม่คำนึง ถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 160 และ ป.อ. มาตรา 390 เจ้าพนักงานยึดรถยนต์ซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดเป็นของกลาง โจทก์ได้อ้าง ป.อ. มาตรา 33 และขอให้ริบรถยนต์ของกลางด้วย เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ จึงฟังเป็นยุติว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด จำเลยจะฎีกาโต้แย้งว่ารถยนต์ของกลางมิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดอีก ไม่ได้ และแม้ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดที่ใช้ลงโทษแก่จำเลยจะไม่มีบทบัญญัติให้ ริบทรัพย์ดังกล่าว แต่จะถือว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วจึงไม่อาจนำหลัก ทั่วไปในประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับหาได้ไม่ เนื่องจาก ป.อ. มาตรา 33 กำหนดให้ศาลริบทรัพย์ได้นอกเหนือไปจากกรณีที่กฎหมายอื่นได้บัญญัติไว้ด้วย ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาริบรถยนต์ของกลางได้ตาม ป.อ. มาตรา 17, 33 (1) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 181/2551 

จำเลย ที่ 2 ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับไว้ด้วยประการใด ๆ ซึ่งบุหรี่ซิกาแรตของกลางที่มีผู้ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยง อากร แล้วมีไว้ในครอบครองและมีไว้เพื่อขายซึ่งบุหรี่จำนวนเดียวกันอันเป็นยาสูบ ที่มีน้ำหนักเกินกว่าห้าร้อยกรัมซึ่งมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามกฎหมาย เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับไว้ด้วยประการใด ๆ ซึ่งยาสูบที่มีผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด และเมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางลงโทษจำเลยตามบท บัญญัติดังกล่าวอันเป็นบทหนักแล้ว ศาลย่อมไม่อาจริบบุหรี่ซิกาแรตของกลางเป็นของกรมสรรพสามิต ตาม พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 44 วรรคสอง ประกอบมาตรา 24 ได้ เพราะศาลไม่ได้ลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายดังกล่าว แต่เมื่อโจทก์มีคำขอให้ริบตาม ป.อ. มาตรา 33 ด้วย ศาลย่อมริบตามกฎหมายที่ถูกต้องได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6636/2551 

ซองกระสุนปืนเป็นอาวุธปืนตามความหมายแห่ง พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4 (1) ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2491) ออกตามความใน พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ข้อ 1 แม้ซองกระสุนปืนของกลางสามารถใช้ร่วมกับอาวุธปืนของกลางที่นายทะเบียนออกใบ อนุญาตให้ได้ก็ตาม หากเป็นซองกระสุนที่สามารถบรรจุกระสุนได้เกินกว่า 10 นัด แล้วก็เป็นซองกระสุนปืนชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตามกฎ กระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2491) ออกตามความใน พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ข้อ 2 (12) จำเลยจึงมีความผิดฐานมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง และซองกระสุนปืนของกลางเป็นทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดมีไว้เป็น ความผิด จึงให้ริบตาม ป.อ. มาตรา 32 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5126/2551 

การที่ศาลจะสั่งริบทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดย การกระทำความผิดได้ก็ต่อเมื่อมีการกระทำความผิดนั้น และโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดนั้นด้วย เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อ กฎหมาย และฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อ จำหน่าย โทรศัพท์เคลื่อนที่และธนบัตรที่จำเลยได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนก่อน หน้านี้จึงมิใช่เครื่องมือ เครื่องใช้ หรือวัตถุซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในคดีนี้ ตามมาตรา 102 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ทั้งมิใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดหรือ ได้มาโดยกระทำความผิดซึ่งหมายถึงเฉพาะความผิดที่ได้กระทำในคดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา 32, 33 (2) จึงไม่อาจริบได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3125/2550 

ผู้ร้องมีรถบรรทุกของกลางไว้เพื่อรับจ้าง การที่ผู้ร้องขึงผ้ากระสอบไว้เพื่อกำหนดความสูงมิให้จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้าง บรรทุกน้ำหนักเกิน และกำชับจำเลยไม่ให้บรรทุกน้ำหนักเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นเพียงวิธีการควบคุมเบื้องต้นและเป็นเรื่องภายในระหว่างผู้ร้องกับจำเลย เท่านั้น แต่ผู้ร้องยังมีหน้าที่ตรวจตราโดยหาวิธีอื่นมาควบคุมมิให้จำเลยบรรทุก น้ำหนักเกินอีกด้วย มิใช่ปล่อยให้จำเลยขับรถบรรทุกของกลางไปบรรทุกข้าวเปลือกโดยไม่ควบคุมดูแลการ บรรทุก ดังนั้น การที่ผู้ร้องปล่อยปละละเลยจนจำเลยขับรถบรรทุกของกลางบรรทุกข้าวเปลือก น้ำหนักเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ย่อมถือได้ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2331/2550 

การขอคืนของกลางตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 36 ซึ่งเจ้าของมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ย่อมมีสิทธิขอคืนต่อศาลได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด คำว่า "วันคำพิพากษาถึงที่สุด" ย่อมหมายความถึงคำพิพากษาในคดีที่ศาลมีคำสั่งให้ริบทรัพย์ คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4338/2546 ของศาลชั้นต้นกับคดีนี้เป็นกรณีเดียวกัน แต่ฟ้องคดีคนละคราวกัน ทรัพย์สินที่ยึดได้ก็เป็นทรัพย์สินรายเดียวกัน ทรัพย์สินต่าง ๆ รวมทั้งรถยนต์กระบะของกลางจึงเป็นของกลางที่ศาลพิพากษาให้ริบไปแล้วในคดี อาญาหมายเลขแดงที่ 4338/2546 ของศาลชั้นต้นก่อนคดีนี้ แม้โจทก์จะมีคำขอให้ริบรถยนต์กระบะของกลางในคดีนี้และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ ริบรถยนต์กระบะของกลาง ก็ไม่อยู่ในอำนาจของศาลในคดีนี้ซึ่งเป็นคดีหลังที่จะสั่งให้ริบรถยนต์กระบะ ของกลางซ้ำอีก รถยนต์กระบะของกลางจึงมิใช่ของกลางในคดีนี้ที่ศาลจะพึงวินิจฉัยสั่งด้วย เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาและมีคำสั่งให้ริบรถยนต์กระบะของกลางแล้วในคดีอาญา หมายเลขแดงที่ 4338/2546 และคดีดังกล่าวถึงที่สุดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2546 ผู้ร้องมายื่นคำร้องในคดีนี้ขอคืนรถยนต์กระบะของกลางเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2547 จึงเป็นการยื่นคำร้องภายหลังวันที่คำพิพากษาในคดีที่ศาลมีคำสั่งให้ริบรถ ยนต์กระบะของกลางถึงที่สุดแล้วเกิน 1 ปี คำร้องของผู้ร้องจึงต้องห้ามตาม ป.อ. มาตรา 36 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8688/2550 

โจทก์ขอให้ศาลสั่งริบรถยนต์ของกลางโดยอ้างว่าจำเลยทั้งสองใช้ซุกซ่อนเมทแอมเฟตา มีนและใช้เป็นพาหนะในการขนส่งเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย ขอให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางโดยอ้างว่าเป็นยานพาหนะที่ได้ใช้ในการติดต่อ ซื้อขายเมทแอมเฟตามีนกับขอให้ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางของจำเลยที่ 1 โดยอ้างว่าเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ได้ใช้ในการติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีน แต่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบได้ความเพียงว่า จำเลยที่ 1 ถูกจับขณะขับรถจักรยานยนต์ของกลาง และเจ้าพนักงานตำรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีน 2,000 เม็ด ในกระเป๋ากางเกงข้างขวาที่จำเลยที่ 1 สวมใส่ พบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางของจำเลยที่ 1 และพบเมทแอมเฟตามีน 82,000 เม็ด ในกระโปรงท้ายรถยนต์ของกลาง ดังนั้น รถจักรยานยนต์ รถยนต์ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะหรือวัตถุอื่นใดซึ่งจำเลยทั้งสองได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานมีเมทแอ มเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรง และไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสองได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความ ผิด หรือได้มาโดยได้กระทำความผิด ซึ่งหมายถึงความผิดตามฐานที่โจทก์ฟ้องเท่านั้น จึงไม่อาจริบรถจักรยานยนต์ รถยนต์ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 102 และ ป.อ. มาตรา 33 ทั้งรถจักรยานยนต์ รถยนต์ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความ ผิดอันจะต้องริบเสียทั้งสิ้นตาม ป.อ. มาตรา 32 และปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 155 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6721/2550 

เหล็ก แทงรังนก เชือก และถุงกระสอบที่คนร้ายใช้เป็นอุปกรณ์ในการร่วมกันเข้าไปเก็บรังนกอีแอ่นใน เขตสัมปทานโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดซึ่งเห็นสมควรให้ริบ ส่วนรังนกอีแอ่นของกลางเป็นทรัพย์สินซึ่งเก็บโดยไม่ได้รับสัมปทานจากคณะ กรรมการ จึงเป็นทรัพย์สินซึ่งได้มาโดยฝ่าฝืน พ.ร.บ.อากรรังนกอีแอ่นฯ มาตรา 14 วรรหนึ่ง สมควรให้ริบเสียด้วย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1756/2550 

เมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ซึ่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 บัญญัติให้รับเสียทั้งสิ้น ทั้งเป็นทรัพย์ที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 บัญญัติให้ริบเสียทั้งสิ้นไม่ว่าเป็นของผู้กระทำความผิดและมีผู้ถูกลงโทษตาม คำพิพากษาหรือไม่ จึงต้องริบเมทแอมเฟตามีนของกลางตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องก็ตาม 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 991/2550 

อาวุธปืนพกออโตเมติกของกลาง ซึ่งเป็นอาวุธปืนที่มีใบอนุญาตให้มีและใช้นั้นเป็นของบิดาจำเลยโดยถูกต้อง ความผิดของจำเลยอยู่ที่การมีอาวุธปืนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบ อนุญาต และพาอาวุธปืนดังกล่าวไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งเป็นความผิดเฉพาะตัว อาวุธปืนของกลางดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่มีไว้เป็นความผิดอันจะต้องริบ ทั้งไม่ปรากฎว่าเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยได้กระทำความผิด จึงไม่อาจริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 32, 33 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 990/2550 

ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 อายุ 18 ปี 11 เดือน ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นคุณตาม ป.อ. มาตรา 18 วรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2546 จึงไม่ต้องห้ามมิให้นำโทษประหารชีวิตและโทษจำคุกตลอดชีวิตมาบังคับใช้แก่ จำเลยที่ 1 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 770/2550

การเพิ่มโทษตาม ป.อ. มาตรา 92 เป็นการเพิ่มโทษหนึ่งในสามของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลังเมื่อ จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ จึงต้องระวางโทษตามมาตรา 335 วรรคสอง มาคำนวณประกอบกับระวางโทษตามมาตรา 336 ทวิ เพื่อกำหนดโทษสำหรับความผิดในคดีนี้ แล้วจึงเพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา 92 ความผิดที่จำเลยกระทำกฎหมายกำหนดให้ลงโทษทั้งจำคุกและปรับ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลงแต่โทษจำคุกเพียงสถานเดียวก็ได้แต่ลงโทษปรับเพียงสถาน เดียวไม่ได้ ตามป.อ. มาตรา 20 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5347/2550 

ป.อ. มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติว่า "ถ้าระยะเวลาที่คำนวณนั้นกำหนดเป็นเดือนให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน ถ้ากำหนดเป็นปี ให้คำนวณตามปีปฏิทินในราชการ" ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 6 เดือน รวม 18 กระทง เป็นโทษจำคุก 9 ปี นั้น ไม่ถูกต้อง เพราะการวางโทษเป็นปีทำให้จำเลยต้องรับโทษมากกว่าการวางโทษจำคุกเป็นเดือน ตามบทบัญญัติดังกล่าว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3475/2550 

ป.อ.มาตรา 22 วรรคแรก บัญญัติว่า "โทษจำคุกให้เริ่มแต่วันมีคำพิพากษา แต่ถ้าผู้ต้องคำพิพากษาถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษา ให้หักจำนวนวันที่ถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษา เว้นแต่คำพิพากษานั้นจะกล่าวไว้เป็นอย่างอื่น" คำว่า ถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษานั้น หมายความว่า ต้องถูกคุมขังอยู่ในคดีที่ศาลมีคำพิพากษา การที่จำเลยถูกคุมขังในคดีอื่นและผู้ประกันมิได้ร้องขอส่งตัวจำเลย เพื่อให้ศาลออกหมายขังจำเลยในคดีนี้จึงไม่อาจหักวันที่ถูกคุมขังออกจากระยะ เวลาจำคุกในคดีนี้ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1089/2550 

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมาย เลขแดงที่ 964/2546 ของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลพิพากษาให้จำคุก 4 ปี 6 เดือน จำเลยยังต้องถูกบังคับตามคำพิพากษาอยู่ แม้คดีดังกล่าวจะยังไม่ถึงที่สุดและอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ ก็ไม่ใช่เหตุที่จะนำมานับโทษจำคุกต่อไม่ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4899/2550 

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลย จำเลยจะต้องชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตาม ป.อ. มาตรา 29 จำเลยจะขอชำระค่าปรับเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคหนึ่ง หาได้ไม่ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4897/2550 

แม้ ป.วิ.อ.มาตรา 245 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้าก็ตาม แต่ตาม ป.อ.มาตรา 29 วรรคแรก ได้บัญญัติถึงวิธีการบังคับชำระค่าปรับไว้โดยเฉพาะแล้ว โดยบัญญัติว่า ผู้ใดต้องโทษปรับ และไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ แต่ถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันหรือจะสั่งกักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้ และตาม ป.วิ.อ.มาตรา 188 บัญญัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผยเป็นต้นไป ดังนั้น หากการบังคับชำระค่าปรับจะกระทำได้ต่อเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว กฎหมายย่อมบัญญัติไว้เช่นนั้นโดยตรง นอกจากนี้ ป.อ.มาตรา 29 วรรคแรก ได้บัญญัติถึงมาตรการชั่วคราวก่อนการบังคับชำระค่าปรับ ถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันหรือจะสั่งกักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้ จึงมีผลว่าศาลอาจมีคำสั่งให้กักขังแทนค่าปรับได้ทันทีตั้งแต่มีคำพิพากษา แต่การกักขังแทนค่าปรับไปพลางก่อนนั้นกฎหมายยังให้เวลาผู้ต้องโทษปรับจัดการ ให้ได้เงินมาชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา เมื่อครบกำหนดสามสิบวันแล้ว แม้จะมีอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษานั้นก็ไม่เป็นเหตุขัดขวางการที่ศาลจะบังคับ คดีไปตาม ป.อ.มาตรา 29 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4895/2550 

แม้ ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้าก็ตาม แต่ตาม ป.อ. มาตรา 29 วรรคแรก ได้บัญญัติถึงวิธีการบังคับชำระค่าปรับไว้โดยเฉพาะแล้ว โดยบัญญัติว่าผู้ใดต้องโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ แต่ถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันหรือสั่งกักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้ และตาม ป.วิ.อ. มาตรา 188 บัญญัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผยเป็นต้นไป จึงมีผลว่าศาลอาจมีคำสั่งให้กักขังแทนค่าปรับได้ทันทีตั้งแต่มีคำพิพากษา และกฎหมายให้เวลาผู้ต้องโทษปรับจัดการให้ได้เงินมาชำระค่าปรับภายในสามสิบ วันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา เมื่อครบกำหนดสามสิบวันแล้วแม้จะมีการอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษานั้นก็ไม่ เป็นเหตุขัดขวางการที่ศาลจะบังคับคดี เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังเมื่อ วันที่ 7 ตุลาคม 2546 จำเลยจะต้องชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นพิพากษา จำเลยจะขอชำระค่าปรับเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วหาได้ไม่ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 681/2550 

การกระทำของจำเลยนอกจากจะเป็นความผิดฐานร่วมกันบุกรุกที่ดินราชพัสดุตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) แล้ว ยังเป็นความผิดฐานเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้างและทำด้วยประการใดให้เป็นการทำลายหรือทำให้เสื่อมสภาพที่ดินของรัฐ อันเป็นความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9 (1) (2), 108 ทวิ วรรคหนึ่ง ด้วย ซึ่งตาม ป.ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสี่ บัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งในคำพิพากษาให้ผู้กระทำความผิด คนงาน ผู้รับจ้างและบริวารของผู้กระทำความผิดออกจากที่ดินนั้นได้ อันมิใช่โทษตาม ป.อ. มาตรา 18 แต่เป็นมาตรการที่มุ่งประสงค์ให้รัฐสามารถเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินได้โดยไม่ จำต้องฟ้องขับไล่จำเลยเป็นคดีแพ่งอีกต่างหาก ดังนั้น แม้ศาลจะลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตาม ป.อ. มาตรา 90 แต่เมื่อเป็นความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคหนึ่ง ด้วย ศาลก็มีอำนาจสั่งให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออกไปจากที่ดิน ของรัฐได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7529/2549 

ศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลย โดยกำหนดว่า หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 แต่มิได้ระบุให้กักขังเกิน 1 ปี หรือไม่ มีกำหนดเท่าใดและศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้แก้ไขส่วนนี้ เช่นนี้ จะกักขังแทนค่าปรับเกินกำหนด 1 ปี ไม่ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8343/2549 

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพียงกระทงเดียวมิได้ฟ้องขอให้ ลงโทษจำเลยในความผิดฐานเสพกัญชา โจทก์จะขอให้ศาลสั่งริบบ้องกัญชาที่จำเลยมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดฐาน เสพกัญชาหาได้ไม่ แม้จำเลยจะรับสารภาพว่ามีบ้องกัญชาดังกล่าวไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดฐาน เสพกัญชา ศาลก็ไม่มีอำนาจสั่งริบเพราะไม่ใช่เครื่องมือ เครื่องใช้หรือวัตถุอื่นซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้ โทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 102 และไม่ใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดหรือ ได้มาโดยกระทำความผิดซึ่งหมายถึงเฉพาะความผิดที่กระทำในคดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา 32, 33 (1) จึงไม่อาจริบได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6324/2549 

กระสุนปืนลูกซองของกลางจำนวน 4 นัด ได้ใช้ทดลองยิงหมดแล้ว การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ริบกระสุนปืนลูกซองจำนวน 4 นัด ของกลางด้วยนั้นจึงไม่ถูกต้อง เพราะการริบทรัพย์สินเป็นการเอาทรัพย์สินที่ริบเป็นของแผ่นดิน ดังนั้นทรัพย์สินที่จะริบต้องมีตัวอยู่ ถ้าทรัพย์สินที่จะริบไม่มีอยู่ย่อมสั่งริบไม่ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4617/2549 

เหตุที่จำเลยอ้างว่าการกักขังไม่เป็นผลดีต่อครอบครัวจำเลย จำเลยมีภริยาและบุตรที่ต้องอุปการะเลี้ยงดู ต้องขับรถไปส่งภริยาเพื่อไปค้าขายที่ตลาดทุกวันเพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว จึงขอให้จำเลยถูกกักขังอยู่ที่บ้านของจำเลย โดยให้ภรรยาเป็นผู้ควบคุมความประพฤติของจำเลยนั้น ยังไม่พอฟังว่าการกักขังจำเลยไว้ที่บ้านของจำเลยจะมีความเหมาะสมกับประเภท หรือสภาพของจำเลยอย่างไร จึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะสั่งให้กักขังจำเลยไว้ที่บ้านของจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 24 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8635/2549 

การคุมประพฤติโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ และให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เป็นเพียงวิธีการที่ศาลกำหนด เงื่อนไขประกอบการใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยเท่านั้น ไม่ใช่โทษตามกฎหมาย แม้จำเลยจะปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว ก็ไม่ถือว่าจำเลยได้รับโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4278/2549 

ศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลยเป็นเงิน 50 บาท แต่ ป.อ. มาตรา 30 บัญญัติว่า ในการกักขังแทนค่าปรับ ให้ถืออัตราสองร้อยบาทต่อหนึ่งวัน ฉะนั้น การบังคับค่าปรับจึงกักขังแทนค่าปรับไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 จึงเป็นการไม่ถูกต้อง แต่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้แก้ไข ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องเป็นว่า หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4019/2549 

ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 3 อายุต่ำกว่าสิบแปดปีจึงเข้าหลักเกณฑ์ ตาม ป.อ. มาตรา 18 วรรคสาม ที่จะเปลี่ยนระวางโทษสำหรับจำเลยที่ 3 เป็นจำคุกห้าสิบปี แต่กรณีของจำเลยที่ 2 มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.อ. มาตรา 18 วรรคสาม ที่จะเปลี่ยนเป็นระวางโทษจำคุกห้าสิบปีเช่นเดียวกับจำเลยที่ 3 ได้ การลดมาตราส่วนโทษตาม ป.อ. มาตรา 76 เป็นการลดมาตราส่วนโทษเพราะเหตุอายุของผู้กระทำความผิด เมื่อศาลใช้ดุลพินิจลดมาตราส่วนโทษให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วก็จำต้องลดโทษให้ทุกกระทงความผิด แม้ความผิดฐานมีอาวุธปืนและฐานพาอาวุธปืนจะยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้น ต้นก็ตาม แต่ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 671/2548 

รถยนต์ของกลางเป็นพาหนะที่คนต่างด้าวโดยสาร เพื่อพาคนต่างด้าวให้พ้นจากการจับกุม ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ทำหรือมีไว้เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 32 ทั้งไม่ใช่ทรัพย์สินซึ่งได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) รถยนต์ของกลางโดยสภาพมีไว้เพื่อบรรทุกคนและสิ่งของจากที่หนึ่งไปยังที่อื่น อันเป็นวัตถุประสงค์ทั่วไป จึงริบรถยนต์ของกลางไม่ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4418/2548 

ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ริบรถยนต์กระบะของกลางของจำเลยที่ 1 ทั้งที่ได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 1 เพียงแต่ใช้รถยนต์กระบะเป็นยานพาหนะเดินทางไปยังที่เกิดเหตุ มิได้ใช้ในการกระทำความผิดในคดีนี้โดยตรง และพิพากษาให้ริบรถยนต์กระบะของกลางของจำเลยที่ 2 ทั้งที่จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายแล้วและสิทธินำคดีอาญามาฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ระงับลงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) และโทษย่อมระงับไปด้วยความตายของผู้กระทำผิดตาม ป.อ. มาตรา 38 จึงเป็นการไม่ชอบ แม้ฝ่ายจำเลยมิได้ฎีกาในปัญหานี้ แต่เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขให้ถูกต้องได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5558/2548 

ศาลฎีกาพิพากษาให้ลงโทษปรับจำเลยและจำเลยถูกคุมขังอยู่ตั้งแต่ก่อนวันที่ศาลมี คำพิพากษา การเริ่มนับวันกักขังตามหมายกักขังคดีถึงที่สุดดังกล่าวจึงต้องนับย้อนให้ ถึงวันที่ศาลชั้นต้นออกหมายกักขังระหว่างอุทธรณ์ฎีกา 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1573/2548 

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 ถือเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นไม่ได้สั่งให้กักขังจำเลยไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น จึงกักขังจำเลยแทนค่าปรับได้เพียง 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 30 วรรคแรก การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้กักขังจำเลย 2 ปี แทนค่าปรับ 200,000 บาท จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5481/2548 

พ.ร.บ. การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 118 บัญญัติว่า "ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 117? ต้องระวางโทษปรับโดยคำนวณตามพื้นที่ของอาคารหรือสิ่งอื่นใดในอัตราไม่น้อย กว่าตารางเมตรละห้าร้อยบาท แต่ไม่เกินตารางเมตรละหนึ่งหมื่นบาท" ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่าผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.เดินเรือในน่านน้ำไทย ฐานนี้จะต้องถูกลงโทษปรับโดยคำนวณตามพื้นที่ของอาคารหรือสิ่งอื่นใดในอัตรา ไม่น้อยกว่าตารางเมตรละห้าร้อยบาท แต่ไม่เกินตารางเมตรละหนึ่งหมื่นบาท มิได้มีข้อจำกัดว่าถ้ามีผู้ร่วมกระทำความผิดหลายคนให้ปรับรวมกันตามพื้นที่ ของอาคารหรือสิ่งอื่นใด ซึ่ง ป.อ. มาตรา 17 บัญญัติว่า "บทบัญญัติในภาค 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ให้ใช้ในกรณีความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย เว้นแต่กฎหมายนั้น ๆ จะได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น" เมื่อ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทยมิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องลงโทษปรับจำเลยทั้งสองเรียงตามรายตัวบุคคลตาม ป.อ. มาตรา 31 ซึ่งบัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลจะพิพากษาให้ปรับผู้กระทำความผิดหลายคนในความผิดอันเดียวกัน ในกรณีเดียวกัน ให้ศาลลงโทษปรับเรียงตามรายตัวบุคคล" ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษปรับจำเลยทั้งสองเรียงตามรายตัวบุคคลชอบแล้ว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4171/2546 

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 คำว่า "มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด" บ่งชี้ว่าต้องมีความผิดเกิดขึ้นศาลจึงจะมีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินได้ นอกจากนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18(5) การริบทรัพย์สินเป็นโทษอย่างหนึ่งสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดศาลจะสั่งริบ ทรัพย์ที่จำเลยมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดได้ต่อเมื่อมีการกระทำความผิด เกิดขึ้น และโจทก์ต้องฟ้องขอให้ลงโทษในความผิดนั้นด้วย แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องเพียงว่าจำเลยมีกัญชาอัดแท่งและมีกัญชาผสมยาเส้นไว้ใน ครอบครองเพื่อจำหน่ายเท่านั้น โจทก์มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานผลิตกัญชาและฐานเสพกัญชาโจทก์จึง ขอให้ศาลสั่งริบถุงพลาสติกใส มีด เขียงพลาสติก และบ้องกัญชาด้วยไม่ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9226/2547 

ความผิดฐานมีอาวุธปืน ฐานพาอาวุธปืน และฐานยิงปืนโดยใช่เหตุ ผู้กระทำมีเจตนาในการกระทำความผิดเป็นคนละอันแตกต่างกัน และเป็นความผิดต่างฐานกัน แม้จำเลยจะกระทำความผิดทั้งสามฐานนี้ในเวลาเดียวกัน การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91 หาใช่เป็นการกระทำเพียงกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทไม่ อาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียน ผู้ใดมีไว้ย่อมเป็นความผิด การที่ศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษาให้ริบจึงชอบด้วย ป.อ. มาตรา 32 แม้จะมิได้ระบุในคำพิพากษาให้ชัดเจนว่าเป็นการริบของกลางตามบทบัญญัติใด ก็ถือว่าได้มีคำวินิจฉัยในเรื่องของกลางตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) แล้ว เพราะบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บังคับให้ศาลต้องยกบทกฎหมายที่เกี่ยวกับการริบ ของกลางขึ้นปรับในคำพิพากษาด้วยแต่ประการใด 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1819/2546 

เดิมบริษัทเงินทุน ท. เป็นเจ้าของรถยนต์ให้จำเลยเช่าซื้อเมื่อวันที่ 1 เมษายน2540 จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2541 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบรถยนต์เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2541 และผู้ร้องซื้อทรัพย์สินประเภทสัญญาเช่าซื้อจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบ สถาบันการเงินในนามและแทนบริษัทเงินทุน ท. เมื่อวันที่30 กรกฎาคม 2541 แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 188 จะบัญญัติว่า "คำพิพากษาหรือคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผยเป็นต้นไป"แต่ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบรถยนต์ ก็ยังไม่ทำให้รถยนต์ตกเป็นของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 35 ทันที เพราะคดียังไม่ถึงที่สุด ดังนั้นในระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุด บริษัทเงินทุน ท. ย่อมมีสิทธิโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ให้แก่ผู้ร้องได้โดยชอบและไม่มีบทกฎหมายใด บัญญัติห้ามโอนกรรมสิทธิ์กันไว้ ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์หลังจากคดีถึงที่สุดแล้วได้ภายใน กำหนด 1 ปี แต่ผู้ร้องยื่นคำร้องเกิน 1 ปี นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ประกอบกับพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 มาตรา 25 ก็มิได้บัญญัติยกเว้นการใช้บังคับบทบัญญัติการขอคืนทรัพย์สินที่ศาลสั่งให้ ริบไว้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5048/2545 

ความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาตรา 27 ทวิ กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษปรับสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ เป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว มิใช่ปรับสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ แล้วแบ่งปรับเป็นรายบุคคลคนละเท่า ๆ กัน เมื่อจำเลยถูกฟ้องคดีนี้เพียงผู้เดียว จำเลยจึงเป็นบุคคลเดียวที่กระทำความผิดและต้องถูกลงโทษตามคำพิพากษา บุคคลอื่นที่ร่วมกระทำความผิดเมื่อยังไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลย ย่อมไม่อาจถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดอันจะถูกลงโทษคำพิพากษาในคดีนี้ร่วมกับ จำเลยได้ กรณีไม่อาจแบ่งแยกลดจำนวนความรับผิดสำหรับโทษในความผิดครั้งแรกนี้แก่จำเลย ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2568/2545 

ทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดที่จะตกเป็นของแผ่น ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1327 นั้น หมายถึงทรัพย์สินที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐเก็บรักษาไว้โดยไม่มีการฟ้อง ร้องต่อศาล หรือหากมีการฟ้องร้องก็ต้องเป็นกรณีที่ศาลมิได้พิพากษาให้ริบหรือสั่งคืน ทรัพย์สินของกลางให้แก่เจ้าของ ทั้งนี้เพราะมาตรา 1327 อยู่ภายในบังคับแห่งกฎหมายอาญา ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 35 และ 36 บัญญัติเรื่องนี้ว่า ทรัพย์สินซึ่งศาลพิพากษาให้ริบให้ตกเป็นของแผ่นดิน เว้นแต่เจ้าของที่แท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดร้องขอคืน ภายใน 1 ปี นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด เมื่อการเรียกเอาทรัพย์สินตามมาตรา 1327 วรรคหนึ่ง กับการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอทรัพย์สินที่ถูกริบคืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 มีหลักเกณฑ์และวิธีการแตกต่างกัน หลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1327 วรรคหนึ่ง จึงมิใช่บทขยายระยะเวลายื่นคำร้องขอคืนทรัพย์สินของกลางที่ศาลพิพากษาให้ริบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 36 ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะเพิ่งทราบว่าทรัพย์สินของตนถูกศาลพิพากษาให้ริบหลังจากคดีถึง ที่สุดแล้ว ระยะเวลายื่นคำร้องขอคืนของกลางก็ไม่ผ่อนเวลาออกไปเป็น 5 ปี 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6831/2544 

อาวุธปืนออโตเมติกขนาด9มม. จำนวน 1 กระบอก ซองบรรจุกระสุน 1 อัน กระสุนปืนขนาด 9 มม. จำนวน 2 นัด ซองพก 1 ซองและปลอกกระสุนปืนขนาด 9 มม. 1 ปลอก ของกลาง ที่ ย. ใช้ยิงต่อสู้เจ้าพนักงานตำรวจเป็นของ ย. แต่ ย. ถูกยิงตายสิทธินำคดีอาญามาฟ้อง ย. ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(1) และโทษย่อมระงับไปด้วยความตายของผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 38 จึงไม่อาจริบของกลางดังกล่าวได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 403/2517 

คดีมีแต่ปัญหาข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้นศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาล อุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญามาตรา 222 แต่ถ้าศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงมา ศาลฎีกาเห็นสมควรก็วินิจฉัยข้อเท็จจริงโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาล อุทธรณ์วินิจฉัยก่อน ผู้ต้องโทษกักขังแทนค่าปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29ในระหว่างรับโทษกักขังอยู่ทำผิดข้อกำหนดตามมาตรา 27 ศาลอาจเปลี่ยนโทษกักขังเป็นโทษจำคุกได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3829/2542 

ทรัพย์สินซึ่งศาลพิพากษาให้ริบจะตกเป็นของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 35 ก็ต่อเมื่อคดีถึงที่สุด แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะมีคำพิพากษาให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง แต่เมื่อมีการฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในข้อดังกล่าวและคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา รถจักรยานยนต์ของกลางดังกล่าว จึงยังหาตกเป็นของแผ่นดินไม่ ดังนั้น เจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์ของกลางย่อมโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ร้องได้ เพราะไม่มีกฎหมายใดบัญญัติห้ามโอนกรรมสิทธิ์กันไว้ ผู้ร้องจึงเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางที่แท้จริง และมีสิทธิยื่นคำร้อง ขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลางหลังจากศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วภายใน กำหนด 1 ปีได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5883/2541 

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ.มาตรา 144, 33 และให้ริบเงินสดของกลางที่จำเลยได้ให้แก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้เจ้า พนักงานปล่อยตัวจำเลยไป โดยไม่ต้องนำส่งพนักงานสอบสวน การที่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำวินิจฉัยในเรื่องของกลางดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ ด้วย ป.วิ.อ.มาตรา 186(9) ปัญหาข้อนี้เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้โจทก์จะมิได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องและพิพากษาให้ริบของกลางได้ ไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย