ความผิดฐานฉ้อโกง

มาตรา ๓๔๑  ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๓๔๒  ถ้าในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ผู้กระทำ
(๑) แสดงตนเป็นคนอื่น หรือ
(๒) อาศัยความเบาปัญญาของผู้ถูกหลอกลวงซึ่งเป็นเด็ก หรืออาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้ถูกหลอกลวง
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๓๔๓  ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๓๔๑ ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ต้องด้วยลักษณะดังกล่าวในมาตรา ๓๔๒ อนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๓๔๔  ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปให้ประกอบการงานอย่างใด ๆ ให้แก่ตนหรือให้แก่บุคคลที่สาม โดยจะไม่ใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างแก่บุคคลเหล่านั้น หรือโดยจะใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างแก่บุคคลเหล่านั้นต่ำกว่าที่ตกลงกัน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๓๔๕  ผู้ใดสั่งซื้อและบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่ม หรือเข้าอยู่ในโรงแรม โดยรู้ว่าตนไม่สามารถชำระเงินค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม หรือค่าอยู่ในโรงแรมนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๓๔๖  ผู้ใดเพื่อเอาทรัพย์สินของผู้อื่นเป็นของตนหรือของบุคคลที่สาม ชักจูงผู้หนึ่งผู้ใดให้จำหน่ายโดยเสียเปรียบซึ่งทรัพย์สิน โดยอาศัยเหตุที่ผู้ถูกชักจูงมีจิตอ่อนแอ หรือเป็นเด็กเบาปัญญา และไม่สามารถเข้าใจตามควรซึ่งสาระสำคัญแห่งการกระทำของตน จนผู้ถูกชักจูงจำหน่ายซึ่งทรัพย์สินนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๓๔๗  ผู้ใดเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการประกันวินาศภัย แกล้งทำให้เกิดเสียหายแก่ทรัพย์สินอันเป็นวัตถุที่เอาประกันภัย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๓๔๘  ความผิดในหมวดนี้ นอกจากความผิดตามมาตรา ๓๔๓ เป็นความผิดอันยอมความได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 335/2563
     พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมฟังได้ว่า จำเลยกับพวกกล่าวอ้างว่า สามารถช่วยเหลือฝากโจทก์ร่วมเข้าทำงานรับราชการในองค์การบริหารส่วนตำบล หรือเทศบาลในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ได้ อันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่สามารถช่วยเหลือฝากโจทก์ร่วมเข้าทำงานรับราชการในองค์การบริหารส่วนตำบล หรือเทศบาลในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ตามที่กล่าวอ้างได้ โดยการหลอกลวงของจำเลยกับพวกเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อว่าเป็นความจริงและมอบเงิน 550,000 บาท ให้จำเลยไปดำเนินการตามที่จำเลยกับพวกกล่าวอ้าง ถือว่าโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีในข้อหานี้ได้ ส่วนที่โจทก์ร่วมมอบเงิน 550,000 บาท ให้จำเลยไปนั้นล้วนเกิดขึ้นเพราะถูกจำเลยหลอกลวง ถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำความผิด โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมีสิทธิร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 333/2563
        จำเลยซึ่งเป็นมารดา พ. อายุ 74 ปี อ่านหนังสือไม่ออก แต่เขียนชื่อของตนเองได้ นำสำเนามรณบัตร สำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี สำเนารายงานการชันสูตรพลิกศพซึ่งเป็นเอกสารราชการปลอมที่ พ. ปลอมขึ้นทั้งฉบับและรับรองสำเนาไว้ก่อนแล้ว นำไปยื่นต่อ ค. พนักงานของโจทก์ร่วม และ น. พนักงานของธนาคาร ท. โดยจำเลยไม่ทราบว่าเป็นเอกสารราชการปลอม เพื่อขอรับสินไหมทดแทนมรณกรรมของกรมธรรม์ประกันชีวิตของ พ. และขอไถ่ถอนจำนองกับธนาคาร โดยเข้าใจว่ายื่นเพื่อขอรับเงินกู้ที่เคยทำสัญญาไว้ตามที่ พ. แจ้งขั้นตอนและวิธีการให้ทำในลักษณะถูกใช้เป็นเครื่องมือ จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยร่วมกับ พ. ปลอมเอกสารราชการ ใช้เอกสารราชการปลอมและฉ้อโกง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6741/2562
      การที่ผู้ร้องทั้งสองส่งมอบรถยนต์ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ในวันที่ 18 ธันวาคม 2557 และในวันที่ 22 ธันวาคม 2557 โดยในระยะแรกผู้ร้องทั้งสองได้รับค่าเช่ารถยนต์ตามสัญญา ต่อมาเมื่อผู้ร้องทั้งสองไม่ได้รับค่าเช่า ผู้ร้องทั้งสองจึงทราบว่าผู้ร้องทั้งสองถูกฉ้อโกง ต่อมามีการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำความผิด ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิดฐานฉ้อโกง กรณีไม่อาจถือว่าในวันที่ผู้ร้องทั้งสองส่งมอบรถยนต์เป็นวันที่ความผิดสำเร็จอันจะถือเป็นวันวินาศภัยซึ่งจะส่งผลว่าผู้ร้องทั้งสองยื่นคำเสนอข้อพิพาทเมื่อพ้นกำหนดสองปี ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการซึ่งหากมีการยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งหากมีการยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวย่อมเป็นผลให้ผู้ร้องทั้งสองเสียประโยชน์ เพราะข้อเท็จจริงย่อมเป็นการยากต่อวิญญูชนคนทั่วไปที่จะทราบว่าถูกฉ้อโกงมาตั้งแต่วันที่มีการส่งมอบรถยนต์ไปตามสัญญา กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่า วันวินาศภัยให้นับตั้งแต่วันที่มีการส่งมอบรถยนต์ตามสัญญา การชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการย่อมขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงเห็นได้ว่า กรณีมีเหตุที่จะเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5302/2562
      การที่ อ. รับฟังจากจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเพื่อนของ อ. แนะนำว่าจำเลยที่ 2 สามารถฝากผู้เข้าสอบเข้ารับราชการเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรได้ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 แสดงออกให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วไปถึงเรื่องดังกล่าวอย่างไร เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องด้วยกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และมิได้ร่วมมือกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยรับหน้าที่ให้มากระจายข่าวในหมู่ผู้เข้าสอบให้แพร่หลาย เมื่อ อ. ไปพบกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่บ้านเพื่อให้ช่วยเหลือโจทก์ทั้งสองเข้ารับราชการตำรวจ โดยยอมเสียค่าใช้จ่ายตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกร้อง เห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันหลอกลวงโจทก์ทั้งสองเป็นการส่วนตัวเท่านั้น หาได้มีพฤติการณ์อันเป็นการหลอกลวงประชาชนโดยทั่วไปไม่ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเพียงความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 โจทก์ทั้งสองทราบการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2558 โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 จึงล่วงเลยกำหนดระยะเวลา 3 เดือน จึงขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ทั้งสองย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)  

      ส่วนคำขอในส่วนแพ่งเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามมาตรา 46 เมื่อคำพิพากษาส่วนอาญาวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ทั้งสองจริง เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพ เท่ากับรับว่าร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ทั้งสอง คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง เงินที่โจทก์ทั้งสองจ่ายให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไป จึงไม่มีลักษณะเป็นสินบนเพื่อจูงใจเจ้าพนักงานอื่นกระทำการใดๆ เพื่อช่วยเหลือโจทก์ทั้งสองโดยมิชอบ แต่มีลักษณะเป็นสินน้ำใจที่สมนาคุณแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ช่วยเหลือทำให้โจทก์ทั้งสองสามารถบรรจุเข้ารับราชการได้ตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวง โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องคดีในส่วนแพ่งซึ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้เงินที่ร่วมกันฉ้อโกงไปพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5069/2562
      สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปเมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) นั้น นอกจากจำเลยจะต้องเป็นบุคคลคนเดียวกันและศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว คดีต้องมีประเด็นข้อกล่าวหาในมูลเหตุอย่างเดียวกันด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของบุคคลไม่ให้ถูกดำเนินคดีถึงสองครั้งในการกระทำความผิดครั้งเดียว คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามโดยอ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันหลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 2 และผู้เสียหายที่ 4 ให้ซื้อและฉีดสารที่อ้างว่าเป็นสเต็มเซลล์ โปรตีนและวิตามินซีเข้าสู่ร่างกาย โดยสารดังกล่าวไม่ใช่สเต็มเซลล์และไม่ได้มีสรรพคุณตามที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้าง แต่ข้อเท็จจริงในคดีก่อนเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 โดยชักชวนให้ร่วมลงทุนในธุรกิจสเต็มเซลล์แต่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้จริงตามที่กล่าวอ้าง ประเด็นข้อกล่าวหาของแต่ละคดีจึงต่างกันและเป็นการกระทำต่างกรรมกัน แม้จะเป็นการฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อหาฉ้อโกงเหมือนกันก็ตาม แต่เมื่อประเด็นข้อกล่าวหาในคดีนี้เป็นคนละมูลเหตุกับประเด็นข้อกล่าวหาในคดีก่อน ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องคดีก่อน 

        ในการขายสารที่อ้างว่าเป็นสเต็มเซลล์ โปรตีนและวิตามินซีนั้น จำเลยที่ 1 จะบริการฉีดสารดังกล่าวให้ภายหลังการขาย โดยจะติดตามไปฉีดให้แก่ลูกค้าที่สถานที่ที่ลูกค้าสะดวกในลักษณะเป็นการบริการหลังการขาย อันถือเป็นส่วนหนึ่งของการขาย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ขายสารดังกล่าว ย่อมต้องทราบทางปฏิบัติว่าจะต้องมีบริการฉีดสารดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายลูกค้าด้วยเสมอ พฤติการณ์ที่มีเพียงจำเลยที่ 1 เป็นผู้ฉีดนั้นจึงถือเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยจำเลยทั้งสามมีเจตนาร่วมกันในการฉีดสารดังกล่าวให้แก่ลูกค้า เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้รับใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งมีเจตนาร่วมกันจึงต้องรับผลแห่งการกระทำของจำเลยที่ 1 ด้วย จึงมีความผิดฐานร่วมกันประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทหรือหลายกรรมต่างกันนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 

        การที่จำเลยทั้งสามหลอกลวงผู้เสียหายว่าสารที่ตนนำมาขายให้แก่ผู้เสียหายคือสเต็มเซลล์ที่แท้จริง ก็เพื่อประสงค์จะขายสารดังกล่าวให้แก่ผู้เสียหายเป็นสำคัญ การหลอกลวงกับการขายจึงเกลื่อนกลืนกันไปเป็นเจตนาเดียว ความผิดฐานฉ้อโกง พยายามฉ้อโกง ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และขายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่การหลอกขายสเต็มเซลล์ให้แก่ผู้เสียหายนั้น มีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผู้เสียหายแต่ละรายแตกต่างกันไป ทั้งยังต่างวัน เวลา และสถานที่ จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ความผิดฐานร่วมกันประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น กฎหมายมุ่งคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนให้ปลอดภัยจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน ในทุก ๆ ครั้งที่ประชาชนได้รับบริการดังกล่าว จำเลยที่ 1 ฉีดยาให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 เสร็จสิ้นในแต่ละครั้งเป็นการกระทำต่างวันเวลา จึงเป็นความผิดที่แยกต่างหากจากกัน เป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนครั้งที่ฉีด แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามมาเพียงกรรมเดียวและโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ จึงไม่อาจพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสามได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4305/2562
       คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ความผิดฐานฉ้อโกง และขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันรับของโจร การที่จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธว่าไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดมาโดยตลอด แต่กลับฎีกาโดยให้การรับสารภาพว่าร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานฉ้อโกง ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์นั้น ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้หยิบยกข้อเท็จจริงขึ้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า พฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 ที่นำแคชเชียร์เช็คไปฝากเข้าบัญชีธนาคารโดยเปิดบัญชีใหม่ทั้งที่จำเลยที่ 3 มีบัญชีอยู่แล้ว หลังจากนั้นมีการโอนเงินให้จำเลยที่ 1 และในวันรุ่งขึ้นถอนเงินออกจากบัญชีทั้งหมดและปิดบัญชีทันทีนั้น เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 3 ทราบดีว่าแคชเชียร์เช็คที่รับมาดำเนินการเป็นแคชเชียร์เช็คที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้มาจากการกระทำความผิดและนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 นั้น ถือได้ว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคแรก ประกอบมาตรา 225  

       จำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ด้วยการเสนอขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นบ้านไม้สักสามชั้นของจำเลยที่ 2 แก่โจทก์ ความจริงแล้วที่ดินที่จำเลยที่ 1 ขายฝากไม่ใช่แปลงที่จำเลยที่ 1 พาโจทก์ไปดู โจทก์ตกลงทำสัญญาซื้อฝากที่ดินได้มอบแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 หรือผู้ถือแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยจำเลยทั้งสองยังไม่ได้รับเงินตามวัตถุประสงค์สุดท้าย แคชเชียร์เช็คจึงเป็นเพียงทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้มาโดยในขั้นตอนการพยายามกระทำความผิด ไม่ใช่ความผิดสำเร็จฐานฉ้อโกง พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 3 รับแคชเชียร์เช็คจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาแล้วนำไปขึ้นเงินจากธนาคารเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์สุดท้ายคือเงินที่ได้จากการหลอกลวงของจำเลยที่ 1 และที่ 2 อันเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง การที่จำเลยที่ 3 รับแคชเชียร์เช็คไว้แล้วนำไปฝากเข้าบัญชีของจำเลยที่ 3 จึงไม่ใช่การกระทำความผิดฐานรับของโจร แต่เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง จำเลยที่ 3 จึงมีความรับผิดในฐานะเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานฉ้อโกง การปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยซึ่งศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง 

       เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ในข้อหารับของโจร แต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง จึงไม่ใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญ ทั้งจำเลยที่ 3 ไม่ได้หลงต่อสู้ จึงลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานร่วมกันฉ้อโกงตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการพิจารณาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม ความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงเป็นความผิดต่อส่วนตัวอันจะถอนฟ้องหรือยอมความในเวลาใดก่อนคดีนี้ถึงที่สุดก็ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 35 วรรคสอง เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ในระหว่างระยะเวลายื่นฎีกา คดียังไม่ถึงที่สุด และจำเลยที่ 3 ไม่ได้คัดค้าน จึงเป็นการถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ย่อมระงับไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3759/2562
        พฤติการณ์ในการดำเนินการเพื่อให้ได้รับเงินกู้จากกองทุนของผู้ร้องคัดค้านที่ดำเนินการในนามบริษัท บ. ซึ่งมี ส. เป็นผู้มีอำนาจจัดการที่แท้จริง และเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากเงินที่กู้ยืมมาจากกองทุนทั้งสามครั้ง รวม 3,000,000,000 บาท เชื่อได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีการกำหนดขั้นตอนไว้เพียงเพื่อให้ได้เงินมาจากกองทุนในเวลาอันรวดเร็ว และการยกเลิกอาวัลที่ทำให้หลักประกันของกองทุนหมดสิ้นไปถือได้ว่าเป็นการไม่สุจริต พฤติการณ์เป็นการหลอกลวงเพื่อให้ได้เงินจากกองทุนในการกู้ยืม จากนั้นก็ถอนหรือโอนเงินไปเพื่อการต่าง ๆ ของกลุ่มบริษัทในเครือของตนเองและพวกพ้อง โดยไม่ได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่เสนอโครงการกับกองทุน ทั้งการที่กู้เงินจากกองทุนโดยยอมเสียดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี เพื่อนำไปให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 4.5 ต่อปี และปล่อยกู้เพียง 72,000,000 บาท คิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 4 ต่อปี ย่อมเห็นได้ว่าเป็นการประกอบธุรกิจที่ไม่น่าจะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าพอที่จะใช้เงินคืนได้ นอกจากนั้นการที่อ้างว่าปล่อยเงินกู้ให้แก่คณะกรรมการกองทุนโดยไม่ได้ทำสัญญากู้ ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่น่าเชื่อว่าเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ทั้งการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ก้อนแรกก็เป็นการนำเงินที่กู้มานั้นจ่ายเป็นดอกเบี้ย พฤติการณ์น่าเชื่อว่าการกู้เงินจากกองทุนทั้งสามครั้งมีเจตนาไม่สุจริตแต่แรกต่อเนื่องกัน อันเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น และความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงหรือยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (5) และ (18) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ส. รับโอนเงินกู้ยืมที่ได้รับมาเข้าบัญชีตนเองกว่า 100,000,000 บาท จากนั้นไม่กี่วันก็ซื้อที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องร้องขอให้ยึดในคดีนี้ในช่วงเวลาที่มีการกระทำความผิดมูลฐาน โดย ส. หรือผู้อื่นไม่ยื่นคำคัดค้าน จึงเชื่อได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน ซึ่งเมื่อผู้ร้องคัดค้านหน่วยงานต้นสังกัดของกองทุนเป็นผู้เสียหายร้องขอให้คืนทรัพย์สินหรือชดใช้คืน ประกอบกับผู้ร้องไม่คัดค้านและได้แก้ไขคำร้องตามที่ผู้ร้องคัดค้านยื่นคำร้องเข้ามา จึงสมควรให้คืนหรือนำทรัพย์สินไปชดใช้คืนแก่ผู้ร้องคัดค้านตามมาตรา 49 วรรคหก แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2562
       ความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 306 และฐานฉ้อโกงประชาชน ตาม ป.อ. มาตรา 343 มีองค์ประกอบที่เหมือนกันอย่างหนึ่ง คือ หลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล โดยทุจริต หลอกลวง ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน โดยนำข้อมูลเท็จไปเผยแพร่ในงบการเงินประจำปี 2547 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของตลาดหลักทรัพย์เปิดเผยแก่ประชาชนทั่วไป แล้วผู้เสียหายซึ่งเป็นประชาชนเข้ามาดูข้อมูลเท็จในงบการเงินผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่างบการเงินเป็นความจริง จึงตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทจนเหลือหุ้นที่ยังไม่ได้ขาย 140,000 หุ้น คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 878,169.19 บาท และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นทำให้จำเลยที่ 1 ได้ไปซึ่งเงินลงทุนจำนวนดังกล่าวจากผู้เสียหายซึ่งเป็นประชาชนผู้ถูกหลอกลวง เห็นได้ว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานดังกล่าวเพียงคนเดียว การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีความผิดฐานดังกล่าวมาด้วยนั้น เป็นการพิพากษาเกินคำขอและที่มิได้กล่าวในฟ้อง เป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง แม้คู่ความไม่ได้ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2411/2562
         ความผิดฐานเรียก รับหรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจเจ้าพนักงานโดยวิธีอันทุจริตหรือผิดกฎหมายตาม ป.อ. มาตรา 143 เป็นความผิดต่อแผ่นดิน พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนในความผิดดังกล่าวได้เอง โดยไม่จำต้องอาศัยคำร้องทุกข์หรือการมอบคดีจากผู้เสียหาย แม้ผู้เสียหายจะไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยก็ไม่มีอำนาจร้องทุกข์ในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวเท่านั้น หามีผลกระทบต่ออำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวน ซึ่งสามารถดำเนินการสอบสวนความผิดตามมาตรา 143 ได้โดยชอบไม่ เมื่อพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนแล้ว ต่อมาพนักงานอัยการเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดฐานร่วมกันเรียก รับเงิน และมีคำสั่งให้แจ้งข้อหาเพิ่มเติม เมื่อได้มีการแจ้งข้อหาดังกล่าวแก่จำเลยทั้งสามเพิ่มเติม ถือได้ว่าคดีในความผิดตามมาตรา 143 ได้มีการสอบสวนโดยชอบแล้ว พนักงานอัยการโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120  

         โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันเรียกและรับเงิน 9,000,000 บาท ไปจากผู้เสียหายเป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งอดีตประธานศาลฎีกาและประธานศาลฎีกาโดยวิธีอันทุจริต ให้กระทำการตามหน้าที่โดยยกเลิกคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ตัดสินให้ จ. เป็นฝ่ายแพ้คดี และมีคำสั่งใหม่ให้ จ. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ เป็นการบรรยายฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 143 แล้ว ส่วนจำเลยทั้งสามจะได้ไปจูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งอดีตประธานศาลฎีกาและประธานศาลฎีกาให้กระทำการในหน้าที่ให้เป็นคุณแก่ จ. หรือไม่ หาใช่องค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 143 ไม่ แม้คดีดังกล่าวถึงที่สุดไปก่อนที่จำเลยทั้งสามจะร่วมกันเรียกและรับเงินจากผู้เสียหาย ซึ่งจำเลยทั้งสามไม่สามารถจูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งอดีตประธานศาลฎีกาและประธานศาลฎีกาให้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นคุณแก่ จ. ได้ก็ตาม ก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นความผิดเพราะขาดองค์ประกอบความผิดไปแต่อย่างใด 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8967/2561
        การกระทำความผิดตาม ป.รัษฎากร มาตรา 37 ต้องมีเจตนาตาม ป.อ. มาตรา 59 ด้วย โดยจำเลยทั้งสองต้องมีเจตนาร่วมกันหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรนั้น และต้องร่วมกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบายหรือโดยวิธีการอื่นทำนองเดียวกัน ซึ่งการหลีกเลี่ยงภาษีอากรที่ต้องเสียตามลักษณะนี้ ต้องเป็นการหลีกเลี่ยงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (Tax Evasion) มิใช่เป็นการที่ผู้เสียภาษีใช้วิธีไม่ผิดกฎหมายทำให้เสียภาษีอากรน้อยลงหรือไม่ต้องเสียภาษี โดยใช้ความคลุมเครือของกฎหมายหรือใช้ช่องโหว่ของกฎหมายหรือความบกพร่องของกฎหมาย อันเป็นเพียงการหลบหลีกภาษี (Tax Avoidance) ซึ่งยังไม่เป็นความผิดตามมาตรา 37 การไม่ใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินมิได้หมายความว่าจะถือเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 37 เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ แม้จำนวนภาษีดังกล่าวจะยุติตามการประเมินก็ฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 1 กระทำการหลบหลีกภาษีอากรที่ยอมรับไม่ได้ (Unacceptable Tax Avoidance) หรือเป็นการหลบหลีกภาษีอากรที่ไม่บริสุทธิ์ (Abusive Tax Avoidance) ซึ่งมีโทษเบี้ยปรับและเงินเพิ่มอันเป็นโทษทางแพ่งเท่านั้น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8257/2561
      โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง ตาม ป.อ. มาตรา 341 (เดิม), 83 โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายให้ร่วมลงทุนเป็นเจ้ามือการพนันเมล็ดฟักทองกับจำเลยและพวกเพื่อหลอกเอาเงินจาก ป. ซึ่งเป็นพวกของจำเลย ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงนำเงิน 5,330,000 บาท และสร้อยคอทองคำหนัก 6 บาท พร้อมพระเครื่องหลวงพ่อโสธรเลี่ยมทอง 1 องค์ ราคา 300,000 บาท มาร่วมลงทุน โดยจำเลยกับพวกไม่มีเจตนาที่จะเล่นการพนัน ไม่มีเจตนาที่จะชักชวนผู้เสียหายให้ร่วมลงทุนเป็นเจ้ามือการพนันและไม่ได้ร่วมกันเล่นการพนันดังกล่าว แต่จำเลยกับพวกมีเจตนาหลอกเอาเงินและทรัพย์สินจากผู้เสียหายมาแต่ต้น โดยใช้วิธีการวางแผนเป็นกระบวนการโดยแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อให้ผู้เสียหายร่วมลงทุนเป็นเจ้ามือการพนัน และให้ ป. เป็นผู้เล่นเพื่อหลอกเอาเงินและทรัพย์สินจากผู้เสียหายให้แนบเนียน ทั้งที่ผู้เสียหายไม่มีเจตนาที่จะร่วมเล่นการพนันกับพวกจำเลยมาแต่ต้น การที่ผู้เสียหายมอบเงินและทรัพย์สินให้แก่จำเลยกับพวกเพื่อเล่นการพนันเป็นการตกหลุมพรางที่วางไว้ ถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายร่วมเล่นการพนันกับพวกจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงอันจะเป็นการร่วมกับจำเลยกระทำความผิด ผู้เสียหายจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง และพนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ เนื่องจากความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง ตาม ป.อ. มาตรา 341 (เดิม), 83 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คู่ความจึงอาจต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง 

     เมื่อศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าจำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงเห็นสมควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาดังกล่าว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8013/2561
     โจทก์ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดอันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ฟ้อง และเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในภายหลังด้วย ดังนั้น ข้อตกลงในเรื่องดอกเบี้ยที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายเท่านั้นที่โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอาจากจำเลยที่ 2 ได้ แต่ในส่วนที่เป็นต้นเงินกู้นั้นโจทก์ยังคงมีสิทธิที่จะบังคับเอาจากจำเลยที่ 2 ได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ใช้เอกสารปลอมหลอกลวงโจทก์จนเป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อยอมให้จำเลยที่ 2 กู้ยืมโดยมอบเงินให้ไป การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง และโจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานดังกล่าวนี้ด้วย สำหรับจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และโจทก์รู้อยู่ว่าจำเลยที่ 1 จะนำเงินไปปล่อยกู้และเรียกเอาผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ยในอัตราเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดอันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ฟ้อง แสดงให้เห็นว่าโจทก์เจตนาทุจริตมุ่งประสงค์ต่อผลประโยชน์อันเกิดจากการกระทำที่ผิดกฎหมาย แม้จะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 นำเงินที่กู้ยืมดังกล่าวไปปล่อยกู้โดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ก็ตาม ถือว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะนำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานฉ้อโกง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7677/2561
     จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ใช้ชื่อว่า บริษัท ด. จำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการให้บริการรับจองตั๋วเครื่องบิน ที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว รวมทั้งกิจการอื่นที่เกี่ยวข้อง ถือได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามบทนิยามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 แล้ว เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้ดำเนินการยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวจากนายทะเบียน แต่ได้ร่วมกันขายโปรแกรมการท่องเที่ยวและจัดบริการให้แก่ผู้เสียหาย เพื่อนำเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตและกระบี่ และผู้เสียหายได้โอนเงินเข้าบัญชีจำเลยทั้งสอง แต่ความจริงแล้วจำเลยทั้งสองไม่ได้ติดต่อซื้อตั๋วเครื่องบิน หรือจองที่พักให้แก่จำเลยทั้งสองเลย นอกจากความผิดฐานฉ้อโกงแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองยังเป็นความผิดฐานร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 80 ด้วยอีกกระทงหนึ่ง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7054/2561
       เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 จำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ด้วยการปลอมโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 2 ว่า เป็นของตนและนำสำเนาโฉนดที่ดินมาวางเป็นประกันหนี้ โจทก์หลงเชื่อจึงให้จำเลยที่ 1 กู้เงินโดยทำสัญญากู้เงินและมอบเงิน 140,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฉ้อโกงสำเร็จในวันดังกล่าวแล้ว แม้ต่อมาในวันที่ 28 สิงหาคม 2558 จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงโจทก์อีกว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินและขอใช้โฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ต่อไป โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ไว้ให้แก่โจทก์ด้วย โจทก์จึงหลงเชื่อยอมรับหลักประกันดังกล่าวและขยายระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 1 ก็เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นใหม่หลังจากที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฉ้อโกงเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 สำเร็จไปแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าในการหลอกลวงครั้งหลังจำเลยทั้งสองได้รับทรัพย์สินจากโจทก์เพิ่มเติมนอกเหนือจากเงินกู้ 140,000 บาท ที่ได้รับไปแล้ว แม้ว่าโจทก์จะทำสัญญากู้เงินฉบับใหม่กับจำเลยที่ 1 แต่ก็เป็นเพียงขยายระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 1 เท่านั้น หาได้ทำให้โจทก์เสื่อมเสียสิทธิในสัญญากู้เงินฉบับเดิมแต่อย่างใดไม่ ทั้งปรากฏว่าโจทก์ได้นำสัญญากู้เงินดังกล่าวไปฟ้องคดีแพ่งและศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์แล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองในวันที่ 28 สิงหาคม 2558 จึงมิได้มีผลให้โจทก์หรือทำให้โจทก์ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิอันจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้อง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 596/2561
  การชักชวนให้บุคคลทั่วไปหรืออย่างน้อยตั้งแต่สิบคนขึ้นไปมาทำการกู้ยืมเงินกันโดยการโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชน คือการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วๆไป ไม่จำกัดว่าด้วยการโฆษณาทางสื่อมวลชนหรือป่าวประกาศต่อประชาชนในสถานที่ต่างๆ จึงไม่จำเป็นที่จำเลยทั้งสองกับพวกจะต้องกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเองตั้งแต่ต้นทุกครั้งเป็นคราวๆไป เพียงแต่จำเลยทั้งสองกับพวกแสดงข้อความหลอกลวงให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายบางคนแล้วเป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อและนำเงินมาลงทุนกับจำเลยทั้งสองกับพวกก็ถือเป็นความผิดสำเร็จแล้ว จำเลยที่ 2 จะอยู่ด้วยกับจำเลยที่ 1 และ พ. หรือไม่ ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6404/2560 
     การที่จำเลยทั้งสองประสงค์ให้ร้าน ก. ของจำเลยทั้งสองได้รับงานรับจ้างทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. จึงหลอกลวงนำหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ก. ที่มีข้อความว่า ธนาคารยอมผูกพันตนโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะค้ำประกันชนิดเพิกถอนไม่ได้เช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้นในการชำระเงินให้ตามสิทธิเรียกร้องของโรงพยาบาล ช. ผู้ว่าจ้าง ในกรณีที่ร้านของจำเลยทั้งสองผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ หรือต้องชำระค่าปรับหรือค่าใช้จ่ายใดๆ หรือร้านของจำเลยทั้งสองผู้รับจ้างมิได้ปฏิบัติตามภาระหน้าที่ใดๆ ที่กำหนดในสัญญาจ้างมาแสดง แต่ความจริงแล้วธนาคารมิได้ออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสอง อันเป็นการหลอกลวงผู้เสียหายและการหลอกลวงดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตกลงทำสัญญาจ้างร้านของจำเลยทั้งสองทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. และได้ทรัพย์สินเป็นค่าจ้างจากการทำงาน 108,000 บาท ถือว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกงแล้ว แม้ภายหลังจำเลยทั้งสองจะเข้าทำความสะอาดโรงพยาบาลจริงและได้รับค่าจ้างดังกล่าว ก็ไม่เป็นเหตุให้การกระทำความผิดอาญาของจำเลยทั้งสองที่เกิดขึ้นแล้วกลับกลายเป็นไม่มีความผิด  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4732/2560
 จำเลยร่วมรับรู้ถึงการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของ บ. และ ม. ตลอดมา อีกทั้งจำเลยยังเป็นผู้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้เช่าที่ทำการของ บ. และเช่าหมายเลขโทรศัพท์จากบริษัท ซ. เพื่อดำเนินการติดต่อธุรกิจของ บ. ซึ่งก็คือการติดต่อซื้อขายหลักทรัพย์ ทั้งยังสามารถทำการแทน บ. ตั้งแต่การเช่าสถานที่ตั้งที่ทำการ และซื้อหลักทรัพย์จากบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และกลุ่มของ บ. แล้วนำมาจำหน่ายต่อให้แก่นักลงทุน รวมทั้งออกใบหุ้นให้แก่ลูกค้าทั่วไป พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยแสดงให้เห็นว่าจำเลยกับบุคคลที่ยังไม่ปรากฏชัดเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดฐานประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และค้าหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 90, 289 ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 การกระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 ตั้งแต่โทรศัพท์หลองลวงผู้เสียหายทั้งสี่ขณะที่ผู้เสียหายทั้งสี่อยู่ที่ประเทศออสเตรเลียจนกระทั่งผู้เสียหายทั้งสี่โอนเงินเข้าบัญชีที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกงเป็นความผิดที่กระทำนอกราชอาณาจักรตาม ป.วิ.อ. มาตรา 20 เมื่อพันตำรวจโท อ. เสนอความเห็นต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นเพื่อขอให้อัยการสูงสุดมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ต่อมาอัยการสูงสุดมีคำสั่งมอบหมายให้พนักงานสอบสวนตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบ ถือว่าคณะพนักงานสอบสวนดังกล่าวมีอำนาจทำการสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 20 วรรคหนึ่ง การสอบสวนในคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3918/2560
        พฤติการณ์ของจำเลยที่ลักสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ก. สาขาพระราม 3 ของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งมีชื่อผู้เสียหายที่ 1 เป็นเจ้าของบัญชี ไปกรอกข้อความและปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 1 ในใบคำขอถอนเงินของผู้เสียหายที่ 2 แล้วนำสมุดบัญชีเงินฝากดังกล่าวไปแสดงต่อพนักงานของผู้เสียหายที่ 2 และได้รับเงินไปจำนวน 59,000 บาท เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อจะให้ได้เงินจากผู้เสียหายที่ 2 เป็นหลักจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 คำฟ้องของโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 342 โดยไม่ได้อ้างมาตรา 341 มาด้วย แต่ความผิดฐานดังกล่าวเป็นการกระทำที่เป็นองค์ประกอบมาจากความผิดฐานฉ้อโกง ตาม ป.อ. มาตรา 341 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 342 (1) ได้ กรณีไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1113/2560
    มูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้งสามฉบับเกิดจากการที่จำเลยตกลงชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองเพื่อบรรเทาความเสียหายจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงของ ช. กรณีจึงต้องถือว่า จำเลยยอมเข้าผูกพันเป็นผู้ชำระหนี้แทน ช. โดยมิได้เป็นการขัดกับเจตนาของคู่กรณีหรือโดยฝืนใจลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 314 ข้อตกลงดังกล่าวจึงมิใช่เป็นสัญญาต่างตอบแทนดังที่จำเลยฎีกา เมื่อจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งสามฉบับ จึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คชำระเงิน 3,000,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง, 914 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 778/2560
แม้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามฟ้องว่า จำเลยได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 แต่เหตุที่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 มอบเงินสดให้แก่จำเลย เนื่องจากโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นฝ่ายติดต่อขอให้จำเลยช่วยเหลือ และจำเลยแจ้งว่าในการเสนอโครงการติดตั้งป้ายโฆษณาจะต้องมีค่าใช้จ่าย การที่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 จ่ายเงินให้แก่จำเลย จึงมิใช่เป็นผลโดยตรงจากการที่จำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ด้วยการยืนยันข้อเท็จจริงใดอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยทำงานเป็นคณะกรรมาธิการอยู่ที่อาคารรัฐสภา และสามารถติดต่อช่วยเหลือให้โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ได้รับงานการทำป้ายโฆษณา การกระทำของจำเลยไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4225/2559
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเสนอขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยแจ้งว่าเป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิการครอบครองและรับรองว่าสามารถจดทะเบียนโอนให้โจทก์ได้ แต่เนื่องจากที่ดินติดจำนองธนาคาร จำเลยจะนำเงินที่ได้จากโจทก์ไปไถ่ถอนจำนองมาจดทะเบียนโอนให้โจทก์ภายในเดือนเมษายน 2555 ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2555 โจทก์ตรวจสอบพบว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดิน ส.ป.ก. 4 - 01 โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา จึงฟังได้ว่าโจทก์ทราบเรื่องที่ถูกหลอกว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดิน ส.ป.ก. 4 - 01 มิใช่ที่ดินมีเอกสารสิทธิที่จะสามารถโอนให้กันได้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2555 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 เกิน 3 เดือน นับแต่โจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความ กรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์เพิ่งทราบเรื่องความผิดฐานฉ้อโกงในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2556 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยรับรองว่าจะไม่จำหน่าย จำนำ หรือก่อภาระผูกพัน ในที่ดินพิพาทให้กระทบสิทธิของโจทก์เพราะเป็นการตกลงกันภายหลัง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2555 มิได้เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่โจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 831/2559
การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญ โดยจะเห็นได้จากวิธีการหลอกลวง เมื่อจำเลยทั้งสี่กับพวกจัดตั้งระบบอุปกรณ์โทรศัพท์และระบบคอมพิวเตอร์ในรูปสำนักงานเครือข่ายโทรศัพท์ ขึ้นในต่างประเทศ และใช้การสื่อสารทางเสียงผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ต ด้วยวิธีการสุ่มหมายเลขโทรศัพท์ของประชาชนที่ปรากฏข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลยทั้งสี่กับพวก แล้วโทรศัพท์หรือส่งข้อความทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อไปยังประชาชนทั่วไป รวมทั้งประชาชนไทยในราชอาณาจักร และแจ้งแก่ผู้ที่ได้รับการติดต่อด้วยข้อความอันเป็นเท็จต่าง ๆ ในลักษณะอ้างตนเองเป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หลอกลวงผู้ได้รับการติดต่อว่าผู้นั้นเป็นหนี้บัตรเครดิต หรือมียอดการใช้เงินในบัญชีสูงผิดปกติ ให้ไปตรวจดูยอดเงินในบัญชี หรือให้ไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงรหัสข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีธนาคารที่ประชาชนผู้ถูกหลอกลวงใช้บริการหรือให้ไปดำเนินการใส่รหัสผ่าน หรือรหัสสั่งให้ระงับการทำรายการในบัญชีเงินฝาก บัตรเบิกถอนเงินสดเอทีเอ็มหรือรหัสระงับบัญชีธนาคาร หรือรหัสป้องกันมิให้ข้อมูลรั่วไหล โดยแจ้งว่าเพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้อื่นเบิกถอนเงินออกจากบัญชีของประชาชนผู้ถูกหลอกลวงได้ ซึ่งเป็นการหลอกลวงเหมือนกัน อันมีลักษณะเป็นการหลอกลวงทั่วไป มิได้มุ่งหมายเจาะจงหลอกลวงคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ ขึ้นอยู่กับว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกจะสุ่มได้หมายเลขโทรศัพท์ของประชาชนคนใดที่ปรากฏข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลยทั้งสี่กับพวกเพื่อทำการหลอกลวง การกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องจึงเป็นการร่วมกันฉ้อโกงประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 274/2559
การที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงเอาทรัพย์ไปจากผู้เสียหายที่ 1 ในขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 มีอาการป่วยทางจิต ซึ่งเป็นบุคคลที่มีภาวะแห่งจิตต่ำกว่าปกติ และย่อมถูกหลอกลวงได้โดยง่ายกว่าคนปกติทั่วไปนั้น ถือเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงโดยอาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้เสียหายที่ 1 ผู้ถูกหลอกลวง จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 342 (2) หาใช่เป็นเพียงความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ แต่เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมมิได้ฎีกา ศาลฎีกาจึงเพียงแก้ไขปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสี่เสียใหม่ให้ถูกต้อง แต่ก็ไม่อาจเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสี่ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 95/2559
แม้โจทก์บรรยายฟ้องและเบิกความแยกการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มาเป็น 3 วัน แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องและเบิกความว่าจำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ขอให้ช่วยเหลือทางการเงินแก่จำเลยที่ 2 ในการนำเงินที่จำเลยที่ 2 ร่วมลงทุนค้าทองคำและอัญมณีกับสมาคมพ่อค้าจีนในสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามายังประเทศไทย เนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่มีค่าดำเนินการ แล้วจำเลยที่ 2 จะจ่ายค่าตอบแทนแก่โจทก์เป็นจำนวนเงินที่สูงกว่า โจทก์หลงเชื่อจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รับไปเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2555 วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 และวันที่ 27 มิถุนายน 2555 จำนวน 2,500,000 บาท 1,300,000 บาท และ 152,000 บาท ตามลำดับ การที่โจทก์โอนเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในแต่ละครั้งเป็นผลสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 หลอกลวงให้โจทก์ช่วยเหลือทางการเงินแก่จำเลยที่ 2 อันเป็นการกระทำต่อเนื่องกันด้วยเจตนาอย่างเดียวเพื่อที่จะฉ้อโกงโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงเป็นความผิดกรรมเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12888/2558
            ประธานกรรมการโจทก์ร่วมรู้ว่าจำเลยที่ 1 โกงเงินของโจทก์ร่วมไปตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ทำบันทึกคำรับสารภาพให้ไว้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550 แล้ว แต่โจทก์ร่วมฎีกาว่าไม่รู้เรื่องความผิดตั้งแต่วันดังกล่าว เนื่องจากยังไม่ได้ตรวจสอบรายละเอียดว่าจำเลยที่ 1 โกงเงินโจทก์ร่วมไปเมื่อใด จำนวนเท่าใด และโกงอย่างไร แต่เมื่อโจทก์ร่วมมิได้นำสืบให้ชัดแจ้งว่าโจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดตั้งแต่วันใดที่มิใช่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550 ที่จำเลยที่ 1 ทำบันทึกคำรับสารภาพไว้ และรู้เรื่องความผิดก่อนไปแจ้งความร้องทุกข์ไม่เกิน 3 เดือน คดีจึงไม่ปรากฏชัดว่าโจทก์ร่วมรู้ตัวผู้กระทำผิดและรู้เรื่องความผิดตั้งแต่เมื่อใดก่อนวันที่ 14 กรกฎาคม 2550 อันเป็นวันร้องทุกข์ไม่เกิน 3 เดือน กรณีไม่อาจทราบแน่ชัดว่าคดียังไม่ขาดอายุความ หรือไม่แน่ชัดว่าโจทก์ร่วมมีสิทธิฟ้องคดีได้หรือไม่ จึงสมควรยกประโยชน์ให้แก่จำเลยทั้งสองว่าสำหรับข้อหาฉ้อโกงนั้น คดีขาดอายุความแล้ว โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิฟ้องคดีข้อหานี้ ความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้องคดีนี้บรรยายว่าจำเลยทั้งสองรับเงินจากธนาคารตามเช็คไปเป็นของจำเลยทั้งสองโดยทุจริตอันครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ เป็นการบรรยายฟ้องรวมการกระทำอื่นซึ่งอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลจะลงโทษจำเลยทั้งสองในการกระทำผิดอื่นนั้นตามที่พิจารณาได้ความก็ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 มิได้พิจารณาลงโทษความผิดของจำเลยทั้งสองตามที่พิจารณาได้ความ ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิจารณาตามมาตรานี้โดยอาศัย ป.วิ.อ. มาตรา 215 และมาตรา 225 ได้เพราะข้อเท็จจริงยุติว่าจำเลยที่ 1 ได้มอบเช็คให้จำเลยที่ 2 ไปขึ้นเงินที่ธนาคารจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วม ได้เงินของโจทก์ร่วมมาจำนวน 125,616 บาท โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยที่ 2 มอบเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 มอบเงินคืนให้โจทก์ร่วมแล้วดังที่จำเลยทั้งสองนำสืบต่อสู้ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วมจึงมีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) (11) วรรคสอง ส่วนจำเลยที่ 2 มิได้เป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วม ย่อมไม่อาจร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างได้ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก ซึ่งมิใช่ความผิดอันยอมความได้และมีอายุความ 10 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ แม้ความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้องรวมการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างด้วย ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษในความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225 ก็ตาม แต่ศาลฎีกาไม่อาจกำหนดโทษจำเลยทั้งสองให้สูงกว่าโทษที่ศาลชั้นต้นพิพากษามา เพราะจะเป็นการพิจารณาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสอง โดยที่โจทก์ร่วมมิได้ฎีกาขอให้เพิ่มเติมโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9667/2558
ข้อความตามบันทึกระบุได้ความว่า จำเลยนำเหรียญหลวงพ่อคูณมาขายให้โจทก์ร่วมหลายครั้ง เป็นเงิน 1,030,000 บาท ซึ่งปรากฏว่าเป็นเหรียญปลอม ทำเลียนแบบ จำเลยยอมรับที่จะนำเงินมาคืนโจทก์ร่วมเป็นเงิน 1,030,000 บาท โดยจะผ่อนชำระให้เดือนละ 50,000 บาท ทุกเดือน เริ่มงวดแรกวันที่ 2 ธันวาคม 2552 เป็นต้นไป จนกว่าจะผ่อนหมด หากจำเลยผิดเงื่อนไขไม่ว่างวดใดงวดหนึ่ง ยินยอมให้โจทก์ร่วมดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาได้ทันที เมื่อไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่า โจทก์ร่วมตกลงระงับข้อพิพาทหรือสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสอง จึงมิใช่การยอมความ แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คฉบับละ 50,000 บาท อีก 14 ฉบับ รวมเป็นเงิน 700,000 บาท ให้โจทก์ร่วม เพื่อชำระเงินตามบันทึก ส่วนที่เหลืออีก 280,000 บาท จะชำระเป็นเงินสด เมื่อเช็คถึงกำหนด โจทก์ร่วมนำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในเช็ค 2 ฉบับ ต่อมาพนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยต่อศาลแขวงพระนครใต้ โดยโจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์ และศาลแขวงพระนครใต้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 แล้ว ส่วนเช็คฉบับอื่น เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้ว โจทก์ร่วมจึงไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คทั้ง 14 ฉบับให้โจทก์ร่วมนั้น เป็นการสั่งจ่ายเช็คเพื่อผ่อนชำระหนี้ตามที่ตกลงในบันทึกเท่านั้น ทั้งเช็ค 14 ฉบับก็ไม่ได้ชำระหนี้ทั้งหมด ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมสละสิทธิหรือไม่ยึดถือสิทธิใดๆ รวมทั้งสิทธิที่จะดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงด้วย พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และโจทก์ร่วมดังกล่าวเป็นเพียงการชำระหนี้ในทางแพ่งตามข้อตกลงในบันทึกเท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกันอันทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6966 - 6967/2558
         จำเลยทั้งสองนำใบถอนเงินซึ่งประทับตราสำคัญของโจทก์ร่วมที่เป็นตราประทับปลอมไปหลอกลวงจนกระทั่งเจ้าหน้าที่ธนาคารหลงเชื่อ เงินที่จำเลยทั้งสองกับพวกได้รับไปจึงเป็นเงินของธนาคาร มิใช่เงินของโจทก์ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกงกับฐานรับของโจร เมื่อไม่ปรากฏว่าธนาคารซึ่งเป็นเจ้าของเงินได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองกับพวก พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงกับฐานรับของโจร แม้ความผิดฐานรับของโจรเป็นความผิดต่อแผ่นดินซึ่งพนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนโดยไม่มีการร้องทุกข์ก็ตาม แต่โจทก์ร่วมไม่ใช่เจ้าของเงินและไม่ใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่าความผิดฐานฉ้อโกงกับฐานรับของโจรเป็นฟ้องที่ขัดกัน เป็นฟ้องเคลือบคลุมและจำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานร่วมกันยักยอก ดังนั้นเท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานฉ้อโกงกับฐานรับของโจรและฐานยักยอก เมื่อพนักงานอัยการโจทก์ไม่ฎีกา โจทก์ร่วมซึ่งมิใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจยื่นฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานดังกล่าวตามฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสองมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5566/2558
           จำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท อ. ประกอบกิจการก่อสร้างบ้านพร้อมจัดสรรที่ดินขายให้แก่ลูกค้า ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโดยมีเนื้อที่ โฉนดที่ดินและที่ตั้งตรงกับที่ดินพิพาท ทั้งรูปแผนที่ก็ตรงตามผังแสดงแนวเขตที่ดินของที่ดินทุกแปลง เพียงแต่ตอนนำชี้ก่อนที่จะตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขาย ได้ชี้แนวเขตที่ดินเพียงคร่าว ๆ ครั้นรังวัดแนวเขตชัดเจนแล้วปรากฏว่า ทิศทางและแนวเขตแตกต่างไปจากที่เจรจาตกลงกันตอนแรก ที่โจทก์และโจทก์ร่วมอ้างว่า การก่อสร้างกำแพงตามแนวเขตดังกล่าว ทำให้บดบังทัศนียภาพของท้องน้ำนั้น เมื่อดูจากภาพถ่ายก็ยังสามารถมองเห็นทัศนียภาพของท้องน้ำได้อย่างชัดเจน พิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ที่โจทก์ร่วมกับจำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและบ้านรวมราคากว่า 7,000,000 บาท แต่โจทก์ร่วมชำระเงินไปเพียง 400,000 บาท หลังจากรังวัดแล้ว เนื้อที่ดินทั้งหมดก็ยังเป็นไปตามสัญญาจะซื้อจะขาย การที่จำเลยชี้แนวเขตที่ดินในตอนแรกโดยที่ยังไม่มีการรังวัด เป็นการกะประมาณเท่านั้น การกระทำของจำเลยยังไม่พอที่จะฟังว่าจำเลยมีเจตนาหลอกลวงโจทก์ร่วมด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2062/2558
             ความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 ไม่ได้จำกัดว่าผู้ที่ถูกหลอกลวงจะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ แม้ทรัพย์นั้นจะเป็นของผู้หลอกลวง ถ้าหากผู้หลอกลวงโดยทุจริตหลอกลวงผู้ถูกหลอกลวงและโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงก็เป็นความผิดฐานฉ้อโกง โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยโดยเจตนาทุจริตใช้อุบายหลอกลวงให้โจทก์ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 30277 และ 30301 ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ให้แก่จำเลยอ้างว่าจะนำโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงไปดำเนินการยื่นคำร้องขอแบ่งแยกและโอนเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ โจทก์หลงเชื่อจึงได้มอบโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่จำเลยไปซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงจำเลยกลับนำที่ดินทั้งสองแปลงไปโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ ค. ซึ่งเกี่ยวดองเป็นญาติทางการสมรสกับจำเลย ถือว่าโจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงที่ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 341 แล้ว ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11089/2557
           สัญญาซื้อขายแร่เหล็กระหว่างจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจผู้ขายกับโจทก์ผู้ซื้อ ไม่ได้ระบุว่าแร่เหล็กที่จะขายให้โจทก์นั้นจะต้องนำมาจากที่ใด โดยกำหนดแต่เพียงคุณภาพ ขนาด ราคา การขนส่ง การตรวจสอบ ตลอดจนการชำระราคาเท่านั้น แม้จำเลยที่ 2 นำหนังสือมอบอำนาจจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ท.เหมืองแร่ ที่ให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนในการติดต่อกับพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 ตลอดจนภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินแสดงต่อโจทก์ แต่ตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไม่ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 นำแร่เหล็กไปขาย เพียงแต่ให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนไปติดต่อกับพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อปฏิบัติการตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 ในกิจการที่ระบุไว้เท่านั้น โจทก์ก็มีแร่เหล็กในที่ดินของโจทก์แต่ไม่มีประทานบัตรจึงนำออกมาไม่ได้ ต้องอาศัยประทานบัตรของบุคคลอื่นโดยต้องเสียค่าตอบแทน แสดงว่าโจทก์เองก็ทราบดีว่าการที่จำเลยที่ 1 นำประทานบัตรและหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมาแสดง ก็เพื่อยืนยันว่าจำเลยที่ 1 สามารถขนแร่เหล็กของจำเลยที่ 1 มาขายให้แก่โจทก์ได้ โดยอาศัยประทานบัตรดังกล่าว เช่นเดียวกับโจทก์ที่ต้องขนแร่เหล็กในส่วนของตนไปขายให้แก่ลูกค้าที่ประเทศจีนก็ใช้วิธีการเดียวกัน ดังนี้ หากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถหาแร่เหล็กมาส่งให้แก่โจทก์ตามสัญญาได้ก็เป็นการผิดสัญญาเท่านั้น หาใช่เป็นการกระทำโดยทุจริตปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่โจทก์อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6793/2557
           แม้โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งเป็นคดีความผิดต่อแผ่นดิน แต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกงและลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม และยังไม่มีคำพิพากษาศาลสูงเปลี่ยนแปลงแก้ไข กรณีย่อมถือว่าคดีนี้เป็นความผิดต่อส่วนตัว ซึ่งโจทก์ชอบที่จะถอนฟ้องในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องโดยจำเลยไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้ และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6792/2557
           คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุเดียวกัน จำเลยเป็นทั้งคนร้ายที่เป็นตัวการร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ ใช้เอกสารสิทธิปลอมและฉ้อโกงเอาเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วม แล้วจำเลยยังกระทำความผิดฐานรับของโจรในวันเวลาเดียวกัน โดยจำเลยรับของโจรเงินที่จำเลยร่วมกันฉ้อโกงมาได้ ซึ่งองค์ประกอบความผิดฐานรับของโจรเป็นความผิดอันเกิดจากการช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งทรัพย์อันได้มาจากการที่ผู้อื่นกระทำความผิดอันเกี่ยวกับทรัพย์ หาได้เป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงของจำเลยเอง ฟ้องของโจทก์ในความผิดสองฐานดังกล่าวจึงเป็นฟ้องที่ขัดแย้งกันเอง อันเป็นฟ้องเคลือบคลุม ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3987/2557
           ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ตามปกติโจทก์ร่วมจ่ายเงินค่าซื้อข้าวโพดหวานให้เกษตรกรภายใน 7 วัน ถึง 15 วัน นับแต่วันที่ซื้อ หากเกษตรกรรายใดประสงค์จะขอรับเงินก่อนภายใน 1 ถึง 2 วัน จะต้องขายลดสิทธิการรับเงิน โดยเกษตรกรต้องแจ้งให้จำเลยทราบแล้วจำเลยเป็นผู้มีหน้าที่รวบรวมเอกสารเสนอเพื่อขออนุมัติกับกรรมการผู้จัดการของโจทก์ร่วมก่อน เมื่ออนุมัติแล้ว ม. กรรมการผู้จัดการของโจทก์ร่วมจะสั่งจ่ายเงินจากบัญชีของตนเองจ่ายไปก่อน การจ่ายเงินของ ม. ดังกล่าวจึงเป็นเงินส่วนตัวของ ม.ทั้งสิ้นหาใช่เงินของโจทก์ร่วมซึ่งมีฐานะเป็นบุคคลต่างหากจาก ม. ไม่ แม้ ม. มีความสัมพันธ์ในฐานะเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์ร่วมก็ตาม แต่ ม. ก็ได้รับเงินส่วนต่างจากการขายลดสิทธิที่เป็นกำไรเป็นของตนเองแต่เพียงผู้เดียวตามที่โจทก์ร่วมยอมรับในคำแก้อุทธรณ์ ส่วนข้อที่กล่าวอ้างว่าให้ ม. จ่ายเงินส่วนตัวไปก่อนเพื่อมิให้ผิดหลักการการจ่ายเงินในการซื้อวัตถุดิบไม่ให้เสียระบบการจ่ายเงินนั้นไม่สมเหตุสมผล ทั้งไม่มีผลทำให้โจทก์ร่วมซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหายอยู่แล้วกลายเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายแต่อย่างใด โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3021/2557
           การกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก และความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 เป็นการกระทำโดยหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและได้เงินหรือทรัพย์สินไปจากผู้ถูกหลอกลวง โดยผู้กระทำความผิดมีเจตนาให้เกิดผลต่อผู้ถูกหลอกลวงแต่ละคนแยกต่างหากจากกัน จึงเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้ที่ถูกหลอกลวงแต่ละคน ส่วนเหตุการณ์ในภายหลังที่ผู้กระทำความผิดได้เงินหรือทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงแต่ละคนอีกหลายคราว ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการหลอกลวงในครั้งแรก หาใช่เป็นการกระทำใหม่อีกกรรมหนึ่งไม่ ผู้เสียหายทั้งสิบได้นำนากหญ้าจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกไปเลี้ยงตามคำแนะนำเชิญชวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก โดยจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก คู่ละ 20,000 บาท แม้ต่อมาผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 8 นำนากหญ้าไปเลี้ยงเพิ่มขึ้นจากครั้งแรกและจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก เพิ่มเติมอีก 1 ครั้ง 1 ครั้ง และ 2 ครั้ง ตามลำดับ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกไม่ได้กล่าวข้อความหลอกลวงใด ๆ ขึ้นใหม่ การได้รับเงินในครั้งต่อมาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก เป็นเพียงผลสืบเนื่องจากการกระทำครั้งแรก โดยมีเจตนาอันเดียวกันเพื่อให้ได้รับเงินไปจากผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 8 แม้จะต่างวาระกันก็เป็นความผิดกรรมเดียวกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้เสียหายแต่ละคน รวม 10 กรรม ตามจำนวนผู้เสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21183/2556
           การที่จำเลยแอบอ้างขอสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจากผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 15 โดยอ้างว่าจะนำไปเข้าร่วมโครงการต่อต้านยาเสพติดให้โทษ แต่กลับนำไปใช้เป็นเอกสารยื่นคำขอและทำสัญญาเช่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับผู้เสียหายที่ 16 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 188 และ 341

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13480/2556
           ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของทั้งสองฝ่ายตรงกันเพียงว่า โจทก์ประสงค์จะได้ตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โจทก์เชื่อตามที่จำเลยที่ 1 บอกโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 สามารถช่วยเหลือได้เพราะจำเลยที่ 2 สนิทสนมกับอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งสนิทสนมกับพลเอก ว. ซึ่งเป็นคณะปฏิรูปการปกครองในขณะนั้นซึ่งต้องใช้เงินเป็นค่าประสานงาน 10,000,000 บาท โจทก์ต่อรองเหลือ 7,500,000 บาท และโจทก์จ่ายเงินให้จำเลยทั้งสองไปเป็นเงิน 2,500,000 บาท เพื่อให้โจทก์ได้รับตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ให้เงินดังกล่าวแก่จำเลยทั้งสองเพื่อให้จำเลยทั้งสองนำไปให้แก่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการจัดสรรตำแหน่งดังกล่าวให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยทุจริต จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนร่วมในการใช้ให้เจ้าพนักงานกระทำความผิด เมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายจากการหลงเชื่อจำเลยที่ 1 กับพวก โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายและมีสิทธิดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานฉ้อโกงได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12544/2556
           จังหวัดอุทัยธานีไม่เคยมีโครงการจัดซื้อรถจักรยานยนต์ เพื่อมอบแก่เจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจ และไม่มีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นตามที่กลุ่มคนร้ายโทรศัพท์มาหลอกลวงโจทก์ร่วม ทั้งการที่โจทก์ร่วมมอบเงินแก่คนร้ายไปนั้น ก็หาได้ประสงค์เพื่อนำไปให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน แต่มอบเงินแก่คนร้ายก็ด้วยเหตุที่โจทก์ร่วมหลงเชื่อการหลอกลวงของกลุ่มคนร้ายด้วยข้อความอันเป็นเท็จ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมได้ร่วมกับกลุ่มคนร้ายนำสินบนไปให้เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการโดยมิชอบด้วยหน้าที่ เมื่อโจทก์ร่วมมอบเงินแก่คนร้ายไป โจทก์ร่วมย่อมได้รับความเสียหายจากการกระทำของกลุ่มคนร้ายโดยตรงและเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12037/2556
           แม้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ แผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ประจำปี แผ่นป้ายแสดงการประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์และสมุดใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ปลอมของกลางจะเป็นเอกสารและเอกสารราชการต่างประเภทกันแยกออกจากกันเป็นคนละฉบับ แต่การติดแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ แผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ประจำปีและแผ่นป้ายแสดงการประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์ปลอมของกลางไว้ที่รถยนต์ของกลางคันเดียว พร้อมกับนำสมุดใบคู่มือจดทะเบียนรถปลอมของกลางไปใช้แสดงต่อผู้เสียหายในคราวเดียวกันโดยเห็นได้อย่างชัดเจนว่าจำเลยมีเจตนาอย่างเดียวกันเพื่อประกอบข้อความอันเป็นเท็จในการฉ้อโกงโดยมุ่งหมายให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่ารถยนต์ของกลางเป็นของจำเลยที่ได้จดทะเบียนและเสียภาษีถูกต้องตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5612/2556
           โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341, 83 โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหาย ให้ผู้เสียหายนำเงินมาร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 และพวกเล่นการพนันเพื่อเอาเงินจากจำเลยที่ 2 ซึ่งมีเงินเป็นจำนวนมาก ผู้เสียหายถูกหลอกนำเงิน 3,000,000 บาท มาร่วมลงทุนเล่นการพนันโดยจำเลยทั้งสองกับพวกมิได้มีเจตนาที่จะเล่นการพนันเอาทรัพย์สินกัน แต่การพนันเป็นเพียงแผนการที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันสร้างขึ้นมาเพื่อหลอกเอาเงินของผู้เสียหายให้แนบเนียน ทั้งผู้เสียหายก็ไม่มีเจตนาที่จะร่วมเล่นการพนันกับพวกจำเลยทั้งสองมาตั้งแต่ต้น การที่ผู้เสียหายมอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสองกับพวกเพื่อเล่นการพนันดังกล่าวเป็นการตกหลุมพรางที่วางไว้ ถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายเข้าร่วมเล่นการพนันกับพวกจำเลยทั้งสอง ทั้งถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง จึงถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายร่วมเล่นการพนันกับจำเลยทั้งสองโดยไม่ได้รับอนุญาต อันจะเป็นการร่วมกับจำเลยทั้งสองกระทำผิด ผู้เสียหายจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงและพนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3812 - 3814/2556
           จำเลยเป็นเสมียนตราอำเภอโนนแดง มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินและบัญชีของอำเภอโนนแดง เงินค่าวัสดุก่อสร้างโครงการฝายประชาอาสาทั้งสี่โครงการรวม 1,308,104.40 บาท เป็นเงินที่ทางอำเภอโนนแดงต้องเบิกจากทางจังหวัดนครราชสีมาไปชำระให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด น. และห้างหุ้นส่วนจำกัด ต. แต่จำเลยไม่ได้เป็นกรรมการรับเงินที่จะมีอำนาจหน้าที่ไปเบิกและรับเงินค่าวัสดุก่อสร้างดังกล่าว การที่จำเลยใช้คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการรับเงินซึ่งไม่ใช่คำสั่งที่ผู้ลงชื่อประสงค์จะตั้งจำเลยไปดำเนินการดังกล่าว ทั้งบางคำสั่งก็ตั้งกรรมการไม่ครบตามกฎระเบียบไปแสดงต่อเสมียนตราจังหวัดเพื่อขอเบิกและรับเงินโครงการดังกล่าว เมื่อได้รับเช็คแล้วนำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคารเอาไปโดยทุจริต เป็นการกระทำในส่วนที่นอกอำนาจหน้าที่รับผิดชอบของตน ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำความผิดในฐานะเจ้าพนักงาน จึงไม่อาจลงโทษจำเลยฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 147 ตามฟ้องอันเป็นบทเฉพาะได้ แต่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกทรัพย์เงินดังกล่าว ซึ่งเป็นความผิดในตัวเองและเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องมาได้ อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นจำเลยไม่ได้รับมอบทรัพย์โดยชอบแล้วเบียดบังไว้โดยทุจริตอันจะเป็นความผิดฐานยักยอก แต่จำเลยได้รับเช็คจาก ก. เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีประจำที่ทำการปกครองจังหวัดนครราชสีมาโดยแสดงคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวต่อ ก. เพื่อให้เข้าใจว่าตนได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการรับเงินโดยชอบ จน ก. หลงเชื่อมอบเช็คดังกล่าวให้ไป แล้วจำเลยแสดงคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารในการนำเช็คไปขอเบิกเงินสดจากธนาคารตามเช็คด้วย ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการหลอกลวงผู้อื่นแล้วได้มาซึ่งเช็คและเงิน ย่อมเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษฐานนี้ก็ตาม แต่เมื่อศาลอาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกได้ จึงเป็นการแตกต่างกันระหว่างการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง และยักยอก เมื่อจำเลยไม่หลงต่อสู้ จึงลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงที่ได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง และวรรคสาม แต่อำเภอโนนแดงร้องทุกข์เมื่อล่วงพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 936/2556
            การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานรับของโจรตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคแรกนั้น ต้องได้ความว่าผู้กระทำได้รับซื้อทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดลักษณะหนึ่งในแปดลักษณะ ซึ่งมีความผิดฐานฉ้อโกงรวมอยู่ด้วย ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานรับของโจรหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับว่าโจทก์นำสืบให้เห็นว่าซิมการ์ดของกลางที่จำเลยที่ 1 ซื้อมานั้น เป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำผิดฐานฉ้อโกง ส่วนผู้ใดจะเป็นผู้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงนั้นเป็นเพียงรายละเอียดมิใช่องค์ประกอบความผิดของความผิดฐานรับของโจร แม้โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นรายละเอียดดังกล่าว แต่โจทก์ได้นำสืบส่วนที่เป็นองค์ประกอบความผิดครบถ้วนศาลก็ย่อมลงโทษจำเลยที่ 1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17705/2555
            จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ร่วมกับจำเลยที่ 2 และพวกอีกหลายคนที่ยังหลบหนีแบ่งหน้าที่กันทำโดยให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ท. หลอกลวงสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า เป็นผู้มีชื่อตามหางบัตรที่ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการร่วมออกรางวัล ซึ่งจะตักตลับลูกบอลในภาชนะที่ตนอยู่ประจำหลักด้วยวิธีเสี่ยงทาย ความจริงแล้วจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ท. มิได้เป็นผู้มีชื่อตามหางบัตรที่แท้จริง และจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ท. ได้ทำเครื่องหมายที่ตลับลูกบอลด้วยสารเคมีตามวิธีการที่วางแผนซักซ้อมกันมา แล้วจะเลือกตักเอาลูกบอลที่มีเครื่องหมายดังกล่าวซึ่งเป็นลูกบอลหมายเลข 1 โดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากบุคคลที่สาม จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตามฟ้อง นอกจากนั้นการที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมประชุมวางแผนแบ่งหน้าที่กันกับจำเลยที่ 2 และพวกอีกหลายคนที่ยังหลบหนีเพื่อจะกระทำความผิดดังกล่าว ย่อมเป็นการสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อตระเตรียมกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จึงเป็นความผิดฐานซ่องโจรด้วย ความผิดฐานซ่องโจรกฎหมายเอาโทษไว้ก็เพราะการที่บุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพียงที่ตกลงกันจะกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาภาค 2 ซึ่งแม้ยังไม่ทันได้กระทำความผิด ก็เป็นอันตรายแก่สังคมแล้ว กรณีนี้กรรมในเรื่องการสมคบกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกงอันเป็นความผิดฐานซ่องโจรได้กระทำสำเร็จไปแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ได้กระทำกรรมใหม่ขึ้นอีก ด้วยการร่วมกับจำเลยอื่นที่เหลือหลอกลวงสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ เป็นเหตุให้ได้รับทรัพย์สินจากบุคคลที่สาม การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 กับพวกดังกล่าวจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16889/2555
           จำเลยเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายซึ่งประกอบอาชีพค้าขายทองคำและเป็นผู้จัดการร้าน มีหน้าที่ขายทองคำของผู้เสียหายให้แก่ลูกค้า และยังมีหน้าที่รับจำนำทองคำของลูกค้าด้วย จำเลยใช้กลอุบายนำสร้อยคอทองคำ สร้อยข้อมือทองคำ แหวนทองคำ และแหวนพลอยของผู้เสียหายที่จำเลยมีหน้าที่ขายให้แก่ลูกค้าไปบอกแก่พนักงานเก็บเงินในร้านของผู้เสียหายว่าเป็นของลูกค้าที่นำมาจำนำแก่ทางร้าน เมื่อพนักงานเก็บเงินส่งมอบเงินซึ่งเป็นของผู้เสียหายที่จะต้องนำไปมอบให้แก่ลูกค้าที่นำทรัพย์มาจำนำให้แก่จำเลยตามที่จำเลยอ้าง จำเลยก็รับเอาเงินดังกล่าวไปเป็นของตน การกระทำของจำเลยมิใช่เอาเงินของผู้เสียหายไปโดยพลการโดยทุจริต หากแต่เป็นการหลอกลวงพนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าสร้อยคอทองคำ สร้อยข้อมือทองคำ แหวนทองคำ และแหวนพลอยของผู้เสียหายเป็นของลูกค้าที่นำมาจำนำ การที่จำเลยได้เงินของผู้เสียหายไปจึงเกิดจากการที่พนักงานเก็บเงินซึ่งเป็นตัวแทนของผู้เสียหายหลงเชื่อการหลอกลวงของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14783/2555
     การที่จำเลยมอบเช็คปลอมให้พนักงานของผู้เสียหายนำไปเบิกเงินจากธนาคารตามเช็คด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเป็นลายมือชื่อแท้จริงของ ธ. กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วม เงินที่จำเลยได้ไปจึงเป็นเงินของธนาคารมิใช่เงินของโจทก์ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานลักเงินของโจทก์ร่วมแต่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงธนาคาร โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลักเงินของโจทก์ร่วม แต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาฟังไม่ได้ว่าจำเลยลักเงินโจทก์ร่วม และฟังได้ว่าจำเลยฉ้อโกงธนาคารเป็นความผิดต่อผู้เสียหายต่างคนจากที่โจทก์บรรยายฟ้อง จึงเป็นข้อเท็จจริงแตกต่างจากที่กล่าวในฟ้องในสาระสำคัญ ไม่อาจลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง และไม่อาจสั่งให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ร่วมได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12338/2555
         จำเลยทำทีเป็นเก็บกระเป๋าสตางค์ได้ โดยพวกของจำเลยถามจำเลยว่าในกระเป๋ามีทองเต็มใช่หรือไม่ จำเลยเปิดกระเป๋าสตางค์ออกดู ผู้เสียหายมองเห็นทองรูปพรรณในกระเป๋า 3 ถึง 4 เส้น จำเลยพูดว่าจะให้เงินผู้เสียหาย 10,000 บาท แต่อย่าบอกผู้ใด และบอกให้ผู้เสียหายถอดสร้อยคอทองคำพร้อมพระเครื่องเอามารวมไว้ในห่อผ้าเช็ดหน้า แล้วผูกผ้าเช็ดหน้าให้ผู้เสียหายถือไว้และให้ยืนรอ โดยจำเลยจะนำเงินมาให้ ผู้เสียหายรออยู่ 1 ชั่วโมง จำเลยไม่กลับมา ผู้เสียหายแกะห่อผ้าเช็ดหน้าออกดู พบว่ามีเงินเหรียญบาท 32 เหรียญ ดังนี้จำเลยกับพวกมีเจตนาที่จะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปตั้งแต่แรก การที่จำเลยหลอกลวงว่าจะให้เงินผู้เสียหาย 10,000 บาท และให้ถอดสร้อยคอทองคำพร้อมพระเครื่องเอามารวมไว้ ล้วนเป็นการใช้กลอุบายเพื่อให้ได้ไปซึ่งสร้อยคอทองคำพร้อมพระเครื่องของผู้เสียหาย แม้ผู้เสียหายจะหลงเชื่อ แต่ผู้เสียหายก็ไม่ได้มีเจตนาส่งมอบสร้อยคอทองคำพร้อมพระเครื่องให้แก่จำเลย สาเหตุที่จำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปได้ เชื่อว่าเกิดจากการสับเปลี่ยนห่อผ้าเช็ดหน้า ซึ่งเป็นการแย่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของผู้เสียหาย จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาจะต่างกันระหว่างการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงและลักทรัพย์ก็ไม่ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญและจำเลยก็มิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปได้ แต่ไม่อาจลงโทษจำเลยให้เป็นไปตามอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10510/2555
         ส. ผู้เสียหายซึ่งเป็นนักข่าวสถานีโทรทัศน์ อ. กำลังทำรายการ "ทำผิดอย่าเผลอ" ได้รับเรื่องร้องเรียนจาก ม. ว่าถูกจำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นกลุ่มหลอกขายเหล็กไหลหลอกลวงจนต้องสูญเงินไปหลายแสนบาท ผู้เสียหายกับ ม. จึงดำเนินการวางแผนเพื่อการจับกุมด้วยการติดต่อกับกลุ่มของจำเลยทั้งห้า หลังจากที่มีการติดต่อกับกลุ่มบุคคลดังกล่าวจนทราบแน่ชัดว่ามีพฤติกรรมในการหลอกลวงจริง จึงประสานงานกับเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อจับกุม โดยผู้เสียหายนำเงินที่จะต้องวางประกันในการทำสัญญาจะซื้อจะขายเหล็กไหลไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานก็เพื่อจะได้เป็นหลักฐานของการกระทำความผิด จึงเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายดำเนินการแสวงหาพยานหลักฐานด้วยตนเอง โดยการหลอกล่อกลุ่มบุคคลดังกล่าวซึ่งก็คือจำเลยทั้งห้ามากระทำความผิดอันเป็นการก่อให้จำเลยทั้งห้ากระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้อง มิใช่เป็นเพราะจำเลยทั้งห้ามีเจตนาจะฉ้อโกงผู้เสียหายมาตั้งแต่ต้น กรณีดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่าผู้เสียหายเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย การแจ้งความร้องทุกข์ในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้จึงไม่ใช่การแจ้งความร้องทุกข์ตามกฎหมาย มีผลทำให้การสอบสวนในความผิดดังกล่าวไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7439/2555
          พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ลงบันทึกรายการน้ำหนักชิ้นงานที่ตกแต่งเสร็จแล้วให้สูงกว่าน้ำหนักชิ้นงานที่แท้จริงโดยมีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เพื่อเอาผงเงินและเศษชิ้นงานของโจทก์ร่วมไป ถือว่าเป็นการร่วมกันวางแผนโดยมีเจตนาลักทรัพย์ซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7960/2551
       แม้ตามสัญญาเช่าซื้อจะมีข้อสัญญาห้ามมิให้ผู้เช่าซื้อนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไป จำหน่ายให้แก่บุคคลอื่นก็ตาม ก็เป็นเรื่องระหว่างผู้ให้เช่าซื้อกับผู้เสียหายซึ่งจะต้องไปว่ากล่าวกันอีก ส่วนหนึ่ง ทั้งข้อเท็จจริงยังได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่าผู้เสียหายแจ้งให้ บริษัทผู้ให้เช่าซื้อทราบแล้วว่าจะทำสัญญาเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อเป็นจำเลย เมื่อจำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายให้ขายดาวน์รถยนต์แก่จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายโดยตรง โดยผู้เสียหายไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงด้วย อีกทั้งขณะเกิดเหตุผู้เสียหายเป็นผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์จากรถยนต์คันดัง กล่าวในฐานะผู้เช่าซื้อ จึงเป็นผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ผู้เสียหายจึงมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6364/2551
       พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ มาตรา 4 วรรคแรก บัญญัติว่า "ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชน หรือกระทำด้วยประการใดๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่า ในการกู้ยืนเงินตนหรือบุคคลใดจะจ่ายหรืออาจจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ตาม พฤติการณ์แห่งการกู้ยืมเงิน ในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วย ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ โดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนหรือบุคคลนั้นจะนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินรายนั้นหรือรายอื่นมาจ่ายหมุน เวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือโดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนหรือบุคคลนั้นไม่สามารถประกอบกิจการใดๆ โดยชอบด้วยกฎหมาย ที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ และในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้กู้ยืมเงินไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน" การโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือการกระทำด้วยประการใดๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป อันจะทำให้เป็นความผิดสำเร็จฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนนั้น เพียงแต่จำเลยแสดงข้อความดังกล่าวให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายบางคน แล้วเป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อและนำเงินมาให้จำเลยกู้ยืม ก็ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยไปชักชวนผู้เสียหายแต่ละคน คนละหลายครั้ง ดังนั้น การที่ผู้เสียหายแต่ละคนนำเงินมาให้กู้ยืมและจำเลยรับไว้ ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้เสียหายแต่ละคน จึงเป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนผู้เสียหาย คือ 14 กรรม ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้ แต่เนื่องจากโจทก์มิได้ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยหลายกรรม ศาลฎีกาไม่อาจแก้ไขเรื่องโทษได้ เพราะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4005/2551
การที่จำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมโดยกล่าวเท็จชักชวนโจทก์ร่วมให้นำเงินไปซื้อเบี้ย เลี้ยงทหารล่วงหน้ารายละ 2,000 บาท จากยอดเบี้ยเลี้ยงทหารที่สามารถเบิกจ่ายได้จริงรายละ 2,600 บาท ซึ่งความจริงจำเลยไม่สามารถนำเงินไปซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารและมิได้มีส่วน เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยงแต่อย่างใด เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อตกลงซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารรวม 118 ราย และมอบเงินรวม 236,000 บาท ให้แก่จำเลยไป การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341

เมื่อไม่ปรากฏว่ามีข้อห้ามการซื้อขายเบี้ยเลี้ยงทหาร ดังนั้น การซื้อขายเบี้ยเลี้ยงทหารที่จำเลยหลอกโจทก์ร่วมจึงไม่ใช่กิจการที่มีวัตถุ ประสงค์เป็นการต้องห้ามแต่เป็นเพียงข้ออ้างของจำเลยเพื่อจูงใจให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อและยินยอมมอบเงินให้จำเลย ซึ่งโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย

การกระทำความผิดของจำเลยไม่สุจริตมุ่งเอาประโยชน์ในทรัพย์ของผู้อื่นเป็น เงินจำนวนมาก โดยจำเลยไม่ได้กระทำการใดที่แสดงว่าสำนึกผิดและมีเหตุอันควรปรานี แม้จำเลยจะไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัวก็ไม่มี เหตุสมควรรอการลงโทษจำคุก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1894/2550
เหตุที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งเจ็ดว่า จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฟื้นฟูเกษตรกรไทย จังหวัดมหาสารคาม มีโครงการให้เกษตรกรกู้ยืมเงิน ก็เพื่อให้ผู้เสียหายทั้งเจ็ดมอบโฉนดที่ดิน สำเนาทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่จำเลยเพื่อใช้ประกอบการขอกู้ยืมเงิน แม้ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนกับความผิดฐานทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งเจ็ดจะต่างวาระกัน แต่ก็เป็นเจตนาของจำเลยที่จะหลอกลวงผู้เสียหายทั้งเจ็ดเพื่อทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งเจ็ดนั่นเอง ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและความผิดฐานทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารของผู้อื่น จึงเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงเป็นกรรมเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4212/2550
ส. และสามีมิได้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ และทางราชการมิได้ยึดทรัพย์สินของ ส. การที่ ส. มอบเงิน 305,000 บาท แก่จำเลยสืบเนื่องมาจากการหลอกลวงของจำเลยด้วยข้อความอันเป็นเท็จ มิใช่ ส. หรือสามีกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษแล้ว ส. มอบเงินแก่จำเลยเพื่อให้สินบนแก่เจ้าพนักงานเพื่อให้ ส. หรือสามีพ้นจากความผิด จึงถือไม่ได้ว่า ส. ได้ร่วมกับจำเลยนำสินบนไปให้แก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ ส. ย่อมเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย มีสิทธิที่จะร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานฉ้อโกงได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3559/2550
โจกท์ร่วมและบิดามารดากับ อ. พี่สาวโจทก์ร่วมได้ตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร้านทองร่วมกัน โดยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น เข้าลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 ประกอบมาตรา 1025 เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนมิได้ตกลงกันไว้ในกระบวนจัดการห้างหุ้นส่วนไว้ ผู้เป็นหุ้นส่วนย่อมจัดการห้างหุ้นส่วนนั้นได้ทุกคนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1033 ดังนั้น โจทก์ร่วมซึ่งเป็นหุ้นส่วนในกิจการร้านทอง ย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้สอบสวนคดีนี้ได้ โดยไม่จำต้องมีหลักฐานการมอบอำนาจให้โจทก์ร่วมมีอำนาจดำเนินคดีแทนร้านทอง

จำเลยกับพวกหลอกลวงโจทก์ร่วมว่าจะรับทองรูปพรรณจากร้านทองของโจทก์ร่วมไป จำหน่ายแก่ลูกค้าซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ โดยขอใบบันทึกรายการขายของร้านทองของโจทก์ร่วมไปให้ลูกค้าชำระเงินค่าทอง รูปพรรณให้แก่โจทก์ร่วมด้วยบัตรเครดิต โจทก์ร่วมหลงเชื่อจึงมอบทองรูปพรรณและใบบันทึกรายการขายที่รูดกับเครื่องรูด บัตรของทางร้านซึ่งปรากฏชื่อร้านและหมายเลขสมาชิกของร้านทองแล้วให้จำเลยไป เมื่อจำเลยขายทองรูปพรรณให้แก่ลูกค้าได้แล้ว จำเลยจะได้จัดให้ลูกค้านำบัตรเครดิตของลูกค้ามารูดกับเครื่องรูดบัตรอีก เพื่อให้ปรากฏหมายเลขบัตรของลูกค้า วันหมดอายุบัตร และขออนุมัติวงเงินจากธนาคาร กรอกรายละเอียดวันที่ จำนวนเงินที่ลูกค้าชำระ และให้ลูกค้าลงลายมือชื่อในใบบันทึกรายการขายแล้วจำเลยจะได้ส่งใบบันทึก รายการขายนั้นให้แก่โจทก์ร่วมเพื่อให้โจกท์ร่วมนำไปขอรับเงินจากธนาคารต่อไป แต่เมื่อหลอกลวงได้ทองรูปพรรณและใบบันทึกรายการขายจากโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยกลับใช้บัตรเครดิตปลอมมารูดกับเครื่องรูดบัตรเพื่อลงใบบันทึกรายการขาย แล้วส่งใบบันทึกรายการขายปลอมดังกล่าวมาให้โจทก์ร่วมเพื่อขอรับเอาทอง รูปพรรณและใบบันทึกรายการขายไปจากโจทก์ร่วมอีก โจทก์ร่วมหลงเชื่อมอบทองรูปพรรณให้จำเลยรับไปคิดเป็นเงิน 889,400 บาท ซึ่งเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้อง และจำเลยยังได้ร่วมกับพวกใช้ใบบันทึกรายการขายปลอมเป็นเอกสารประกอบการฉ้อ โกงโดยส่งไปให้โจทก์ร่วม เพื่อให้โจทก์ร่วมนำส่งใบบันทึกรายการขายปลอมนั้นไปขอรับเงินจากธนาคาร ก. และธนาคาร ท. แต่ละวันแยกต่างหากจากกันตามที่ปรากฏในใบบันทึกรายการขาย การกระทำของจำเลยกับพวกในส่วนนี้จึงเป็นความผิดฐานใช้มบบันทึกรายการขายซึ่ง เป็นเอกสารสิทธิปลอมรวม 24 กระทง ตามฟ้อง

การที่จำเลยกับพวกใช้ใบบันทึกรายการขายทั้ง 24 กรรมนั้น จำเลยได้กระทำโดยมีเจตนาเดียวเพื่อฉ้อโกงโจทก์ร่วม บันทึกรายการขายปลอมที่จำเลยกับพวกร่วมกันใช้โดยจัดส่งไปให้โจทก์ร่วมก็ เพื่อเป็นอุบายหลอกลวงให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อมอบทองรูปพรรณให้จำเลยกับพวกนั่น เอง ความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ร่วมที่จำเลยกับพวกกระทำต่อโจทก์ร่วมจึงเป็น กรรมเดียวกับความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมทั้ง 24 กระทง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 870/2549
การโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป อันจะทำให้เป็นความผิดสำเร็จฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนไม่จำเป็น ที่จำเลยที่ 1 จะต้องกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเองตั้งแต่ต้นทุกครั้ง เป็นคราว ๆ ไป เพียงแต่จำเลยที่ 1 แสดงข้อความดังกล่าวให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายแม้เพียงบางคน แต่เป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อและนำเงินมาให้จำเลยที่ 1 กู้ยืม ก็ถือว่าเป็นการกระทำความผิดแล้ว ข้อสำคัญที่ทำให้ความผิดสำเร็จอยู่ที่ในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้ เงินกู้ยืมไปจากผู้ถูกหลอกลวง ดังนั้นการที่ผู้เสียหายแต่ละคนนำเงินมาให้กู้ยืมและจำเลยที่ 1 รับไว้ ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้เสียหายแต่ละคน จึงเป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนผู้เสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6645 - 6646/2548
การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 ไม่ได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงว่ามากหรือน้อย แต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญโดยจะพิจารณาจาก วิธีการในการหลอกลวง จำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงมาประกอบด้วยเท่านั้น คดีนี้แม้ผู้เสียหายตามฟ้องจะมีเพียง 11 คน แต่ตามบันทึกการตกลงชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งมีผู้เสียหายที่ตกลงกับจำเลยทั้ง สองถึง 35 คน แสดงว่าจำเลยทั้งสองมิได้ติดต่อชักชวนเฉพาะผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดในคดีนี้ เท่านั้น ทั้งพฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองไปพบผู้เสียหายแต่ละคนที่บ้านแล้วแจ้งเงื่อนไข การไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียซึ่งจะได้รับเงินเดือนตั้งแต่ 8,000 บาท ถึง 11,000 บาท โดยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางรวมคนละ 17,000 บาท แต่ต้องจ่ายเงิน 5,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อน เหมือนกันทุกคน ลักษณะการชักชวนเป็นการชักชวนทั่วไป มิได้มุ่งเจาะจงชักชวนคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษโดยเฉพาะหากผู้ใดปฏิบัติตาม เงื่อนไขดังกล่าวได้ก็สามารถสมัครไปทำงานได้ ขึ้นอยู่กับข้อที่ว่าจะจ่ายเงินให้ตามเงื่อนไขที่แจ้งไปหรือไม่เป็นสำคัญ การหลอกลวงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อ แม้จะมิได้มีการป่าวประกาศหรือแจ้งให้ผู้ถูกหลอกลวงแต่ละคนไปชักชวนต่อ แต่ลักษณะการชักชวนอย่างเดียวกันโดยผู้ถูกชักชวนย่อมบอกต่อกันไปได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 แล้ว

ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว แม้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดถอนคำร้องทุกข์แล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานนี้ก็ยังไม่ระงับไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4379/2547
จำเลยทั้งสองร่วมกับ จ. และ ว. เป็นหุ้นส่วนร่วมกันจัดสรรที่ดินพร้อมสร้างอาคารพาณิชย์และทาวน์เฮาส์ขายให้ แก่ประชาชน โดยใช้ชื่อว่า โครงการหมู่บ้านศรีเมืองทองฯ แม้จำเลยทั้งสองจะไม่ได้จดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล และไม่ได้ขออนุญาตจัดสรรที่ดินตามกฎหมาย ก็ไม่ใช่สาระสำคัญจะบ่งชี้ได้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาที่จะฉ้อโกงโจทก์ร่วม ที่ 2 และที่ 5 และประชาชน การที่โจทก์ร่วมที่ 2 และที่ 5 เข้าจองซื้อที่ดินและบ้านของโครงการดังกล่าว ก็ได้รับการชักชวนจาก จ. ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของจำเลยทั้งสองและเป็นการชักชวนกันของโจทก์ร่วมทั้งแปด หาใช่เป็นเพราะเชื่อถือว่าโครงการดังกล่าวจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ทั้งจำเลยทั้งสองก็ได้ดำเนินการก่อสร้างทาวน์เฮาส์และอาคารพาณิชย์ไปแล้วบางส่วน และยังดำเนินการแบ่งแยกที่ดินจดทะเบียนเป็นทางภาระจำยอม มีการจัดการสาธารณูปโภคเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมของโครงการ และได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ให้แก่ผู้ซื้อบางส่วนแล้ว แม้ต่อมาจำเลยทั้งสองไม่สามารถก่อสร้างทาวน์เฮาส์และอาคารพาณิชย์จนแล้ว เสร็จสมบูรณ์ตามโครงการและโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ร่วมที่ 2 และที่ 5 ได้ครบตามสัญญาทุกรายก็เป็นเพียงผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นจำเลยทั้งสองจึงไม่ มีความผิดฐานฉ้อโกง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2261/2547
โจทก์ร่วมตกลงจะให้จำเลยกู้เงินตามที่ ภ. แนะนำมา แต่จำเลยไม่มีชื่อในโฉนดที่ดิน โจทก์ร่วมจึงให้ชายที่อ้างเป็น ถ. ทำสัญญากู้เงินแทนและยึดโฉนดที่ดินของ ถ. ไว้เป็นประกัน หากจำเลยไม่มีหลักทรัพย์มาวางเป็นประกันการชำระหนี้แล้วโจทก์ร่วมคงจะไม่ให้ จำเลยกู้เงินแน่ การที่จำเลยร่วมกับชายที่อ้างเป็น ถ. นำโฉนดที่ดินของปลอมมาหลอกลวงโจทก์ร่วม ทำให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อจ่ายเงินให้แก่จำเลยและชายคนดังกล่าวไป หลังจากนั้นโจทก์ร่วมติดต่อให้จำเลยชำระดอกเบี้ยและโจทก์ร่วมให้จำเลยไปพบ ที่ทำงานกับแจ้งให้ทราบว่า ถ. นำโฉนดที่ดินปลอมมาวางเป็นหลักประกัน ประมาณต้นเดือนเมษายน 2540 จำเลยทำสัญญากู้เงินจำนวน 500,000 บาท ไว้ให้แก่โจทก์ร่วม ตามสัญญากู้เงินกับสั่งจ่ายเช็คธนาคาร ส. จำกัด (มหาชน) จำนวน 500,000 บาท ประมาณปลายเดือนเมษายน 2540 จำเลยนำเช็คธนาคาร ก. จำกัด (มหาชน) สาขาสีลม จำนวนเงิน 50,000 บาท มาชำระค่าดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมนำไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คและใบคืนเช็ค แม้โจทก์ร่วมจะเบิกความตอบทนายจำเลยขออนุญาตศาลถามว่า โจทก์ร่วมมอบเงินให้แก่ชายที่อ้างเป็น ถ. ไปแต่จำเลยเป็นผู้นับเงินซึ่งเจือสมกับที่จำเลยนำสืบว่าที่อ้างเป็น ถ. เป็นผู้ตรวจนับเงิน จำเลยตรวจนับ 1 ปึก จำนวน 100,000 บาท จึงมิได้เป็นพิรุธว่าพยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความไม่อยู่แก่ร่องแก่รอยแต่ อย่างใด การที่จำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกู้เงินและเข้าร่วมลงลายมือชื่อเป็นพยาน ในสัญญากู้เงินเป็นการผิดวิสัยของการเป็นนายหน้าหาเงินกู้ นอกจากนี้จำเลยยังทำสัญญากู้เงินและสั่งจ่ายเช็คตามจำนวนกู้เงินไปให้แก่ โจทก์ร่วมรวมทั้งจ่ายเช็คชำระหนี้ค่าดอกเบี้ยไว้อีก แสดงให้เห็นว่าจำเลยร่วมกับพวกแบ่งหน้าที่กันทำโดยนำโฉนดที่ดินปลอมไปวาง เป็นหลักประกันเงินกู้ อันเป็นการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงอันควรบอกให้แจ้ง ทำให้จำเลยกับพวกได้เงินไปจากโจทก์ร่วม พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมฟังได้ว่า จำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมและฉ้อโกง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3962/2546
จำเลย ที่ 1 ขับรถยนต์ไปส่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่บ้านผู้เสียหายเพื่อให้จำเลยที่ 2ที่ 3 กู้เงินผู้เสียหายโดยใช้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ สำเนาทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวประชาชนปลอมเป็นหลักฐานการขอกู้เงิน และไปจอดรถรออยู่ริมบึง ซึ่งพันตำรวจตรี บ. ผู้ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสามได้วางกำลังเจ้าพนักงานตำรวจไว้รอบบึงเจ้าพนักงาน ตำรวจได้วิทยุแจ้งเหตุการณ์ให้ทราบ ตั้งแต่ขณะจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ไปส่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วไปจอดรถรออยู่ระหว่างจับกุมจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 1รู้ตัวจึงขับรถยนต์หลบหนี เจ้าพนักงานตำรวจวิทยุสกัดจับกุมไว้ได้ ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 รับว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในการปลอมเอกสารนำเอกสารที่ช่วยกันทำปลอมขึ้นไปถ่ายสำเนาหลายครั้งและขับรถ ยนต์ไปส่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตั้งแต่วันแรกและไปนอนค้างคืนที่โรงแรมในอำเภอ และวันรุ่งขึ้นก็ยังขับรถยนต์ไปส่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่บ้านผู้เสียหายอีก และขณะถูกจับกุมเจ้าพนักงานตำรวจค้นในรถก็พบกระเป๋าเสื้อผ้าของจำเลยที่ 2 และที่ 3 พยานหลักฐานโจทก์จึงปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานร่วมกันพยายามฉ้อโกงและฐานร่วมกันใช้เอกสารราชการและเอกสารสิทธิอันเป็น เอกสารราชการปลอม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1895/2546
การปลอมเอกสารไม่จำต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อน และไม่ต้องทำให้เหมือนของจริงก็เป็นเอกสารปลอมได้ จำเลยที่ 2 กับพวกหลอกลวง ต. ว่า จำเลยที่ 2 คือ ย. เจ้าของรถยนต์บรรทุกมีความประสงค์จะขายรถยนต์คันดังกล่าว ต. ตกลงรับซื้อไว้และทำสัญญาซื้อขายรถยนต์กัน โดยพวกของจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ ย. ในช่องผู้ขายในสัญญาดังกล่าว มอบให้ ต. ยึดถือไว้ การกระทำของจำเลยที่ 2 กับพวกมีเจตนาทุจริตเพื่อให้ได้เงินจาก ต. และไม่ให้ ต. ใช้สัญญาซื้อขายรถยนต์นั้นเป็นหลักฐานฟ้องร้องเรียกเงินคืน ทำให้ ต. ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 กับพวก จึงมีความผิดฐานร่วมกันปลอมหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์อันเป็นเอกสารสิทธิ เมื่อจำเลยที่ 2 กับพวกได้มอบหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์นั้นให้ ต. ยึดถือไว้ จำเลยที่ 2 กับพวกจึงมีความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอมอีกกระทงหนึ่ง รวมทั้งมีความผิดฐานฉ้อโกงด้วย

ความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมโดยจำเลยที่ 2กับพวกเป็นผู้ปลอมเอกสารเอง ต้องลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมแต่กระทงเดียวและความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิ ปลอมกับความผิดฐานฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอมซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบด้วยมาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3303/2531
ในคดีฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 344 พนักงานอัยการไม่มีอำนาจที่จะขอให้จำเลยใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างที่จำเลยยัง ไม่จ่ายแก่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 43 เพราะค่าแรงงานหรือค่าจ้างไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดของจำเลย แต่เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายชอบที่จะไปฟ้องบังคับให้จำเลยชดใช้ในทางแพ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2197/2516
เงินค่าเข้าอยู่ในโรงแรมเป็นเพียงเงินค่าบริการที่ผู้เสียหายควรจะได้มาเท่านั้น ไม่ใช่ทรัพย์สินหรือราคาที่ผู้เสียหายได้สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 345 พนักงานอัยการจึงไม่มีสิทธิเรียกเงินดังกล่าวแทนผู้เสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1077/2511
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 345 หมายความว่า การสั่งซื้ออาหารหรือเครื่องดื่มมาบริโภคนั้น เป็นที่เข้าใจกันว่าจะชำระราคาให้เมื่อได้บริโภคเสร็จแล้วในเวลาและในสถาน การค้าของผู้ขาย จำเลยให้คนไปเอาสุราที่ร้านผู้เสียหาย โดยให้บอกแก่ผู้เสียหายว่าจะนำเงินไปชำระให้ภายหลัง แล้วในวันรุ่งขึ้นได้ให้คนไปเอามาอีกซึ่งผู้เสียหายก็ยอมมอบให้มา เช่นนี้ เป็นเรื่องผู้เสียหายตกลงให้จำเลยซื้อของเชื่อ กรณีไม่เข้าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 345

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1686/2505
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 345 เป็นเรื่องสั่งซื้ออาหารและบริโภคด้วย อันเป็นการกระทำต่อเนื่องกันในเวลานั้น ซึ่งตามปกติก็บริโภคกันที่ร้านขายอาหารนั่นเอง โดยเป็นที่เข้าใจกันว่าผู้สั่งซื้อสามารถจะชำระค่าอาหารได้

จำเลยจะแต่งงานบุตรสาวจึงไปติดต่อสั่งอาหารล่วงหน้า 18 โต๊ะ ๆ ละ 200 บาท และให้นำไปเลี้ยงกันในสถานที่อีกแห่งหนึ่ง ดังนี้ มีลักษณะเป็นสัญญาจ้างเหมา เมื่อจำเลยไม่ชำระราคาก็เป็นผิดสัญญาทางแพ่ง หาผิดอาญาไม่