ความผิดฐานกรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์

มาตรา ๓๓๗  ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญหรือของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกรรโชก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
ถ้าความผิดฐานกรรโชกได้กระทำโดย
(๑) ขู่ว่าจะฆ่า ขู่ว่าจะทำร้ายร่างกายให้ผู้ถูกข่มขืนใจ หรือผู้อื่นให้ได้รับอันตรายสาหัส หรือขู่ว่าจะทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์ของผู้ถูกข่มขืนใจหรือผู้อื่น หรือ
(๒) มีอาวุธติดตัวมาขู่เข็ญ
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๓๓๘  ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่น ให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับซึ่งการเปิดเผยนั้นจะทำให้ผู้ถูกขู่เข็ญหรือบุคคลที่สามเสียหาย จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๓๓๙  ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ
(๑) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป
(๒) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น
(๓) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้
(๔) ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือ
(๕) ให้พ้นจากการจับกุม
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท

ถ้าความผิดนั้นเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดแห่งมาตรา ๓๓๕ หรือเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกลหรือเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสามแสนบาท[๑๒๙]

ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท

ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงสี่แสนบาท

ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๓๓๙ ทวิ  ถ้าการชิงทรัพย์ได้กระทำต่อทรัพย์ตามมาตรา ๓๓๕ ทวิ วรรคแรก ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสามแสนบาท[๑๓๑]

ถ้าการชิงทรัพย์นั้นเป็นการกระทำในสถานที่ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๓๕ ทวิ วรรคสองด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท

ถ้าการชิงทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงสี่แสนบาท

ถ้าการชิงทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี

ถ้าการชิงทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๓๔๐ ผู้ใดชิงทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสามแสนบาท

ถ้าในการปล้นทรัพย์ ผู้กระทำแม้แต่คนหนึ่งคนใดมีอาวุธติดตัวไปด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบสองปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนสี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท

ถ้าการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี

ถ้าการปล้นทรัพย์ได้กระทำโดยแสดงความทารุณจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ใช้ปืนยิง ใช้วัตถุระเบิด หรือกระทำทรมาน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
ถ้าการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๓๔๐ ทวิ  ถ้าการปล้นทรัพย์ได้กระทำต่อทรัพย์ตามมาตรา ๓๓๕ ทวิ วรรคแรก ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท

ถ้าการปล้นทรัพย์นั้นเป็นการกระทำในสถานที่ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๓๕ ทวิ วรรคสองด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงสี่แสนบาท

ถ้าการปล้นทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสอง ผู้กระทำแม้แต่คนหนึ่งคนใดมีอาวุธติดตัวไปด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี

ถ้าการปล้นทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต

ถ้าการปล้นทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสองได้กระทำโดยแสดงความทารุณจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ใช้ปืนยิง ใช้วัตถุระเบิดหรือกระทำทรมาน ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
ถ้าการปล้นทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]


มาตรา ๓๔๐ ตรี  ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา ๓๓๙ มาตรา ๓๓๙ ทวิ มาตรา ๓๔๐ หรือมาตรา ๓๔๐ ทวิ โดยแต่งเครื่องแบบทหารหรือตำรวจหรือแต่งกายให้เข้าใจว่าเป็นทหารหรือตำรวจ หรือโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ กึ่งหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 285/2563
ขณะเกิดเหตุจำเลยใช้อาวุธจี้ที่หลังผู้เสียหายในขณะที่ผู้เสียหายนั่งคร่อมอยู่บนรถจักรยานยนต์ ผู้เสียหายเบิกความและให้การว่า เมื่อหันไปมอง คนร้ายก็ร้องห้ามในทันทีว่าไม่ให้หันไปมอง เชื่อว่า ผู้เสียหายต้องเกิดความกลัวและไม่กล้าหันมองไปอีก ผู้เสียหายจึงมีเวลาหันไปมองอาวุธที่จำเลยใช้จี้หลังผู้เสียหายในระยะเวลาอันสั้นมาก ทำให้สงสัยว่าผู้เสียหายมีโอกาสเห็นอาวุธที่คนร้ายใช้จี้หลังผู้เสียหายเป็นอาวุธปืนดังที่ให้การในชั้นสอบสวนหรือไม่ หรือเป็นเพียงความเข้าใจของผู้เสียหายเองว่าเป็นอาวุธปืน จึงฟังไม่ได้ว่าผู้เสียหายเห็นอาวุธที่จำเลยใช้จี้ชิงรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายว่าเป็นอาวุธปืน ประกอบกับเจ้าพนักงานตำรวจไม่สามารถตรวจยึดอาวุธปืนได้จากจำเลย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยมีและใช้อาวุธปืนชิงรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคแรก เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์เป็นที่สงสัยว่าจำเลยมีและใช้อาวุธปืนในการชิงรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายหรือไม่ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองและพาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แม้ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตาม ป.อ. มาตรา 371 ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงก็ตาม ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกฟ้องในความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาตได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225 เนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1513/2562
จำเลยขับรถจักรยานยนต์ติดตามผู้เสียหายมาถึงที่เกิดเหตุ ผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ไปจอดที่ลานจอดรถในมหาวิทยาลัย น. ผู้เสียหายยังไม่ได้ลงจากรถ จำเลยเดินมาจากด้านหลังของผู้เสียหายแล้วถามผู้เสียหายว่ามีเงินเท่าใด จากนั้นเข้าประชิดตัวผู้เสียหายพร้อมกับทำท่าจะล้วงอาวุธจากขอบกางเกงข้างหลัง ลักษณะการกระทำของจำเลยดังกล่าวเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นการข่มขู่คุกคามผู้เสียหาย โดยเฉพาะจำเลยเป็นชายอยู่ในวัยฉกรรจ์ ร่างกายล่ำกำยำ สูงกว่าผู้เสียหายมาก ส่วนผู้เสียหายเป็นหญิง กำลังศึกษา ย่อมเกิดความเกรงกลัวจำเลย พฤติการณ์ของจำเลยถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายว่า ในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย การที่จำเลยกระทำและพูดกับผู้เสียหายเช่นนั้น เพื่อให้ผู้เสียหายส่งเงินให้แก่จำเลย เมื่อผู้เสียหายส่งเงินให้ 240 บาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ตาม ป.อ. มาตรา 339 (2) วรรคสาม ประกอบมาตรา 340 ตรี โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยเป็นผู้หยิบเอาทรัพย์นั้นเอง หรือผู้เสียหายเป็นผู้หยิบส่งให้ไป

การที่ผู้เสียหายเบิกความว่า หลังจากส่งเงินให้จำเลยแล้ว จำเลยกอดปล้ำพยายามดึงกางเกง ผู้เสียหาย ผู้เสียหายกลัวจำเลยจะข่มขืนกระทำชำเรา จึงถอดสร้อยคอทองคำที่สวมให้จำเลยไปเอง โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยขู่เข็ญหรือใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อมุ่งประสงค์ต่อสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายแต่อย่างใด หากแต่ผู้เสียหายคิดว่า เมื่อจำเลยได้สร้อยคอทองคำแล้ว จะปล่อยตัวผู้เสียหายไป การที่จำเลยรับสร้อยคอทองคำไป จึงเป็นเจตนาทุจริตที่เกิดขึ้นภายหลัง การกระทำของจำเลยในส่วนนี้ไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 334 อีกกระทงหนึ่งแยกต่างหากจากฐานชิงทรัพย์เงิน 240 บาท เมื่อความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นความผิดที่รวมการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์อยู่ด้วย แม้โจทก์ฟ้องให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์เงินสดและสร้อยคอทองคำ แต่เมื่อพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์สร้อยคอทองคำ ศาลย่อมมีอำนาจปรับบทความผิดและบทลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา192 วรรคท้าย, 195 วรรคสอง, 225 แต่เนื่องจากโจทก์มิได้อุทธรณ์หรือฎีกา ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์อีกกระทงได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มโทษ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8192/2561
แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกวางแผนที่จะเข้าไปลักทรัพย์ภายในโรงงานของผู้เสียหายที่ 1 แต่ไม่ปรากฏว่ามีการวางแผนแบ่งหน้าที่รับมากระทำเป็นส่วน ๆ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อสะดวกแก่การลักทรัพย์ พาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์ ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือให้พ้นจากการจับกุมอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์ รวมไปถึงการทำร้ายร่างกายและปล้นเงินของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยในโรงงานของผู้เสียหายที่ 1 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้เพียงว่า พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่เพียงขับรถยนต์ไปส่งจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกที่โรงงานของผู้เสียหายที่ 1 แล้วขับรถไปรอที่ปั๊มน้ำมัน เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกลักทรัพย์ได้แล้ว พวกของจำเลยที่ 1 และที่ 3 โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ไปรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกพร้อมทรัพย์ที่ลักมา ซึ่งเป็นการเข้ามาร่วมกระทำผิดด้วยเมื่อมีการตัดสายไฟแล้วขนย้ายเคลื่อนที่อันเป็นการลักทรัพย์สำเร็จเท่านั้น ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ที่อื่นห่างไกลจากสถานที่เกิดเหตุจึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 โดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม และหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นตามฟ้อง แต่มีความผิดเพียงฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ผู้เสียหายที่ 1 ในเวลากลางคืนโดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป โดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ และมาตรา 86 อันเป็นการกระทำซึ่งเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเองและรวมอยู่ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย และจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 คืนเงิน 3,900 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 แต่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 คืนเงิน 280,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1188/2561
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยนำภาพและวิดีโอลามกส่งเข้าระบบคอมพิวเตอร์ ส่งให้บุตรสาวโจทก์ดูเพื่อประจานโจทก์ ซึ่งมีเพียงจำเลยและบุตรสาวโจทก์เท่านั้นที่มีรหัสในการเข้าดูประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าดูได้หากไม่ทราบรหัส จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (4)

จำเลยส่งข้อความทางผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตถึงโจทก์หลายครั้ง ขู่เข็ญโจทก์ให้จ่ายเงินจำเลย มิเช่นนั้นจะเปิดเผยความลับรูปภาพและวิดีโอที่โจทก์ไปมีความสัมพันธ์ทางเพศกับชายอื่น ในขณะที่ยังไม่ได้หย่าขาดจากจำเลย การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการข่มขืนใจผู้อื่น ให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยขู่เข็ญจะเปิดเผยความลับ ซึ่งการเปิดเผยนั้นจะทำให้ผู้ถูกขู่เข็ญหรือบุคคลที่สามเสียหายครบองค์ประกอบความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ เมื่อโจทก์ไม่ยินยอมมอบเงินให้ตามที่จำเลยขู่เข็ญ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามรีดเอาทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8209/2559
พฤติการณ์ของจำเลยที่เพียงแต่แสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและสอบถามว่า เสพยาเสพติดหรือไม่แล้วขอตรวจค้นตัวผู้เสียหายทั้งสองก่อนที่จะล้วงเอากระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหายที่ 1 เอาบุหรี่ของผู้เสียหายที่ 2 ไปและบอกว่าจะพาไปตรวจปัสสาวะ หากไม่พบสารเสพติดก็จะปล่อยตัวไปนั้น ไม่ปรากฏว่ามีการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายแต่อย่างใด จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 คดีคงฟังได้เพียงว่า จำเลยร่วมกับพวกที่ยังหลบหนีกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (6) (7) วรรคสอง ซึ่งความผิดฐานนี้เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของความผิดฐานชิงทรัพย์ที่ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษให้ถูกต้องได้เพราะความผิดฐานนี้มีโทษเบากว่าความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย และมาตรา 215 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 562/2559
       การที่ผู้เสียหายทั้งสี่ยินยอมมอบเงินค่าไถ่รถยนต์ของผู้เสียหายทั้งสี่ให้แก่ ว. ผู้รับจำนำ ซึ่งรับจำนำรถยนต์ของผู้เสียหายทั้งสี่รวม 10 คัน ไว้จาก บ. โดยมิชอบ ตามที่ ว. ขู่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 ผ่าน อ. ภริยาของ บ. ทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ว่า หากผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ยอมให้เงินค่าไถ่รถยนต์แก่ ว. ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 จะไม่ได้รถยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 คืน และ ว. ยังขู่ผู้เสียหายที่ 4 ทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะต่อรองราคาค่าไถ่ว่าถ้าผู้เสียหายที่ 4 ไม่เอาราคานี้ก็ไม่ต้องเอา โดยจะนำรถของผู้เสียหายที่ 4 ไปแยกย่อยเอง ถือเป็นการขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อทรัพย์สินดังกล่าวของผู้เสียหายทั้งสี่ จนผู้เสียหายทั้งสี่จำต้องยินยอมจะให้เงินแก่ ว. เป็นค่าไถ่รถยนต์ตามที่ถูกข่มขืนใจ การกระทำของ ว. ย่อมครบองค์ประกอบความผิดฐานกรรโชกแล้ว แม้ผู้เสียหายทั้งสี่จะยังไม่ได้มอบเงินค่าไถ่รถยนต์ให้แก่ ว. จำเลยที่ 1 รับมอบหมายจาก ว. ให้มารับเงินค่าไถ่รถยนต์จากผู้เสียหายทั้งสี่หลังจากนั้น จึงมิใช่เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกก่อนหรือขณะกระทำความผิดฐานกรรโชก เพราะการกระทำความผิดฐานกรรโชกของ ว. ได้สำเร็จเด็ดขาดไป ทั้งความผิดฐานกรรโชกมิได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ผู้เป็นคนกลางติดต่อรับมอบทรัพย์จากการกรรโชกหลังจากการกระทำความผิดสำเร็จ เป็นความผิดที่ต้องรับโทษ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานกรรโชกตาม ป.อ. มาตรา 86 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 478/2559
           จำเลยที่ 1 ข่มขู่บังคับให้โจทก์ร่วมไปโอนขายสิทธิการเช่าที่ราชพัสดุซึ่งมีชื่อของ ส. บุตรโจทก์ร่วมถือสิทธิ และโจทก์ร่วมยอมไปขอร้อง ส. ให้โอนขายสิทธิการเช่าดังกล่าวโดยอ้างว่าโจทก์ร่วมกำลังเดือดร้อน ส. ยอมโอนขายสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุให้ผู้อื่น เงินที่ขายได้เข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วม จะเห็นได้ว่าการกระทำตามคำขู่บังคับของจำเลยที่ 1 ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 ได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยตรงย่อมไม่เป็นความผิดฐานกรรโชก แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการข่มขืนใจโจทก์ร่วมให้ไปขอร้อง ส. ให้โอนขายสิทธิการเช่าที่ราชพัสดุ โดยทำให้โจทก์ร่วมกลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่โจทก์ร่วมและคนในครอบครัว โจทก์ร่วมเกิดความกลัวยอมกระทำการตามที่จำเลยที่ 1 ข่มขู่บังคับ จึงเป็นความผิดต่อเสรีภาพตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคแรก ซึ่งเป็นความผิดที่รวมอยู่ในความผิดฐานกรรโชกตามที่โจทก์ฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12685/2558
          การขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 338 หมายความว่า การขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยเหตุการณ์ข้อเท็จจริงที่ไม่ประจักษ์แก่บุคคลทั่วไป และเป็นข้อเท็จจริงที่เจ้าของความลับประสงค์จะปกปิดไม่ให้บุคคลอื่นรู้ ดังนี้ ความลับจึงไม่จำเป็นต้องเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือผิดศีลธรรมอันดีของประชาชน หากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและเจ้าของข้อเท็จจริงประสงค์จะปกปิดไม่ให้บุคคลอื่นรู้ก็ถือว่าเป็นความลับแล้ว เมื่อฎีกาของจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีภริยาอยู่แล้ว แต่จำเลยกับผู้เสียหายสมัครใจมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกันมาประมาณ 1 ปี ข้อเท็จจริงที่จำเลยกับผู้เสียหายมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกันจึงเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง เมื่อเป็นการกระทำที่ผิดศีลธรรมอันดีของประชาชน แสดงว่าผู้เสียหายประสงค์จะปกปิดไม่ให้บุคคลอื่นโดยเฉพาะภริยาจำเลยรู้เรื่องดังกล่าว เรื่องนั้นจึงเป็นความลับของผู้เสียหาย การที่จำเลยขู่เข็ญผู้เสียหายว่าหากผู้เสียหายไม่นำเงินจำนวน 20,000 บาท มาให้จำเลย จำเลยจะนำเรื่องความสัมพันธ์ฉันชู้สาวระหว่างจำเลยซึ่งมีครอบครัวแล้วกับผู้เสียหายไปเปิดเผยต่อบุคคลอื่น จึงเป็นการขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับของผู้เสียหาย ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 338

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12222/2558
จำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องโดยผู้เสียหายว่าจ้างให้จำเลยมาช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ให้แก่ ณ. แต่จำเลยทำผิดหน้าที่โดยฉกฉวยโอกาสนำสำเนาหมายจับปลอมมาใช้แสดงต่อ ณ. ทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวว่า ณ. จะถูกจับกุมดำเนินคดีตามสำเนาหมายจับปลอมดังกล่าว และผู้เสียหายยอมให้ทรัพย์สินแก่จำเลยไป แม้จำเลยจะไม่ได้แสดงการขู่เข็ญด้วยตัวของจำเลยเอง แต่การกระทำของจำเลยที่นำสำเนาหมายจับปลอมมาใช้ประกอบการขู่เข็ญ ทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวว่าจะเป็นอันตรายต่อเสรีภาพของ ณ. บุตรสาวผู้เสียหายซึ่งเป็นบุคคลที่สาม การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดฐานกรรโชกแล้ว และเป็นการกระทำกรรมเดียวกับความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10915/2558
        โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ของ ส. ไปและร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย ผลักและฉุดกระชาก ส. เข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวก อันเป็นการข่มขืนใจ ส. ให้ต้องจำยอมเข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวกด้วยการทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือเสรีภาพ และขณะนี้ไม่ทราบว่า ส. ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ แม้คำบรรยายฟ้องจะแสดงว่า จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันใช้กำลังทำร้าย ส. แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องยืนยันว่า ส. เสียชีวิตแล้ว กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่า ส. ถูกทำร้ายถึงตายตามความหมายของกฎหมาย แม้ต่อมาศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งว่า ส. เป็นคนสาบสูญซึ่งถือว่าถึงแก่ความตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 62 ก็ตาม แต่ก็เป็นการตายโดยผลของกฎหมาย มิใช่เป็นกรณีถูกทำร้ายถึงตายตามความเป็นจริง ขณะที่ภริยาและผู้สืบสันดานของ ส. ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในปี 2547 และปี 2548 ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ส. ถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ ประกอบกับโจทก์แถลงยอมรับต่อศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาว่า อ. ภริยาของ ส. ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของ อ. โจทก์ร่วมที่ 1 และบุตรของ ส. โจทก์ร่วมที่ 2 ถึงที่ 5 จึงเป็นไปโดยถูกต้องและชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12091/2558
ก่อนจับกุมโจทก์ทั้งสองได้มีการจับกุม ช. กับพวกในข้อหาลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ช. ให้การว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ใช้จ้างวาน จึงมีการสอบสวน ขยายผลและจับกุมโจทก์ทั้งสองมาลงบันทึกประจำวันไว้ และตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีระบุว่า พันตำรวจเอก ส. ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลพระโขนง สั่งให้จำเลยทั้งสิบสามซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนปราบปรามนำตัว ช. ไปสอบสวนขยายผล โดยนัดโจทก์ที่ 2 มารับรถยนต์ที่หน้าห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนหากต้องไปขอหมายจับจากศาลชั้นต้นแล้วผู้ร่วมกระทำความผิดอาจหลบหนีไปได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (3) ทั้งรถที่ถูกลักอยู่ที่บ้านของโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 2 เป็นผู้พาเจ้าพนักงานตำรวจไปทำการตรวจค้นเอง จึงไม่จำต้องขอหมายค้นจากศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92 (4) และมาตรา 94 การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งการโดยชอบ จึงไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 157

ฟ้องของโจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยทั้งสิบสามร่วมกันทำร้ายร่างกายโจทก์ทั้งสองขณะโจทก์ทั้งสองถูกควบคุมตัว ฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงมิได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยทั้งสิบสามกระทำความผิด เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

การที่จำเลยทั้งสิบสามจับกุมโจทก์ทั้งสองสืบเนื่องจากคำซัดทอดของ ช. กับพวก ต่อมามีการแจ้งข้อหาและทำหลักฐานการจับกุม การระบุวันที่จับกุมและบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนคลาดเคลื่อนไปบ้างเป็นเพียงรายละเอียด แต่สาระสำคัญมีความถูกต้องตามพฤติการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และมีการนำสืบพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาไปตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งจำเลยทั้งสิบสามอาจเชื่อว่าโจทก์ทั้งสองมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จึงมิใช่เป็นพยานหลักฐานเท็จ การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ หรือนำสืบพยานหลักฐานอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 162, 172, 173, 174, 179 และ 180

โจทก์ที่ 2 พาเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นที่บ้านของโจทก์ที่ 2 โดยความยินยอมของโจทก์ที่ 2 เอง การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลเป็นความผิดฐานบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนตาม ป.อ. มาตรา 365 (3) ประกอบมาตรา 362

ของกลางทั้งหมดเจ้าพนักงานตำรวจนำไปเป็นของกลางคดีอาญา ทั้งโจทก์ทั้งสองได้อ่านข้อความในบันทึกการจับกุมที่ระบุว่ามีการยึดเงินสด ธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท 20 ฉบับ รวมเป็นเงิน 20,000 บาท แล้วมิได้โต้แย้งว่าจำนวนเงินดังกล่าวไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงแต่อย่างใด เชื่อว่าเจ้าพนักงานตำรวจบันทึกข้อความในบันทึกการจับกุมโดยถูกต้องแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 340

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10915/2558
โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ของ ส. ไปและร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย ผลักและฉุดกระชาก ส. เข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวก อันเป็นการข่มขืนใจ ส. ให้ต้องจำยอมเข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวกด้วยการทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือเสรีภาพ และขณะนี้ไม่ทราบว่า ส. ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ แม้คำบรรยายฟ้องจะแสดงว่า จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันใช้กำลังทำร้าย ส. แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องยืนยันว่า ส. เสียชีวิตแล้ว กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่า ส. ถูกทำร้ายถึงตายตามความหมายของกฎหมาย แม้ต่อมาศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งว่า ส. เป็นคนสาบสูญซึ่งถือว่าถึงแก่ความตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 62 ก็ตาม แต่ก็เป็นการตายโดยผลของกฎหมาย มิใช่เป็นกรณีถูกทำร้ายถึงตายตามความเป็นจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6984/2558
          จำเลยทั้งสามบุกรุกเข้าไปในสถานที่เก็บรักษาสายไฟฟ้า ทั้งยังทำร้ายผู้เสียหายซึ่งครอบครองดูแลสถานที่นั้น อันเป็นส่วนหนึ่งของการปล้นทรัพย์ จึงเป็นการลงมือกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ไม่ใช่แค่เพียงตระเตรียมการ แม้จำเลยทั้งสามจะหลบหนีไปก่อนโดยไม่แตะต้องสายไฟฟ้าก็เป็นการลงมือกระทำความผิดแล้วแต่กระทำไปไม่ตลอด การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการร่วมกันพยายามกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15732/2557
จำเลยที่ 2 อ้างว่า ผู้เสียหายเป็นหนี้แล้วไม่จ่าย ขอให้จำเลยที่ 1 จัดการกับผู้เสียหายโดยวิธีใดก็ได้ให้ผู้เสียหายไปอยู่ที่อื่น หรือหายไปจากโลกได้ยิ่งดีแล้วจะมีรางวัลให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 50,000 บาท ข้อความดังกล่าวย่อมหมายความว่าจำเลยที่ 2 ใช้จำเลยที่ 1 ไปทำให้ผู้เสียหายเกรงกลัวไม่อาจใช้ชีวิตอยู่ในที่อยู่อาศัยจนต้องย้ายไปอยู่ที่อื่นหรือฆ่าผู้เสียหายอันเป็นผลกระทบต่อจิตใจและชีวิตของผู้เสียหายเท่านั้น มิได้มุ่งประสงค์ต่อผลในการแสวงหาประโยชน์จากทรัพย์ของผู้เสียหาย จึงมิได้มีเจตนาให้จำเลยที่ 1 ไปชิงทรัพย์ผู้เสียหาย การที่จำเลยที่ 1 ไปชิงทรัพย์ผู้เสียหายย่อมเกินไปจากขอบเขตที่จำเลยที่ 2 ใช้ และโดยพฤติการณ์จำเลยที่ 2 ไม่อาจเล็งเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 จะไปชิงทรัพย์ผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับผู้อื่นชิงทรัพย์ผู้เสียหาย ตาม ป.อ. มาตรา 87 วรรคแรก และไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15518/2557
จำเลยกับพวกร่วมกันกระชากตัวโจทก์ร่วมลงจากรถแท็กซี่และรุมทำร้ายโจทก์ร่วม แล้วนำตัวโจทก์ร่วมขึ้นรถกระบะแล่นออกไปยังบ่อปลาแห่งหนึ่งโดยระหว่างที่อยู่ในรถกระบะจำเลยกับพวกทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมตลอดทางโดยใช้ขวดเบียร์และท่อนเหล็กเป็นอาวุธ และจำเลยได้ล้วงเงิน 10,000 บาท ของโจทก์ร่วมไป เมื่อจำเลยกระทำความผิดโดยมีอาวุธในเวลากลางคืนและใช้ยานพาหนะ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 335 (1) (7), 340 ตรี

การที่จำเลยและ น. เรียกร้องเงินจำนวน 23,000 บาท เพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวโจทก์ร่วม โดยจำเลยเชื่อว่าโจทก์ร่วมโกงเงิน น. ย่อมเป็นเพียงความเชื่อของจำเลย หาเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมเป็นหนี้ น. ไม่ ดังนั้น เงินจำนวน 23,000 บาท ที่จำเลยเรียกร้องเพื่อแลกกับการปล่อยตัวโจทก์ร่วมจึงเป็นค่าไถ่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดต่อเสรีภาพตามมาตรา 313 วรรคแรก

อนึ่ง เนื่องจากจำเลยจัดให้โจทก์ร่วมได้รับเสรีภาพก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาโดยโจทก์ร่วมมิได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต จึงลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 316

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10139/2557
        จำเลยทั้งสี่เอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยมีเจตนาเพื่อจะตรวจดูว่าทรัพย์ที่เอาไปนั้นเป็นของจำเลยทั้งสี่ที่ถูกคนร้ายลักไปหรือไม่เท่านั้น มิใช่เป็นการเอาไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น จึงไม่เป็นการกระทำ "โดยทุจริต" ตามบทนิยามความหมายของคำว่า "โดยทุจริต" ใน ป.อ. มาตรา 1 (1) การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์เพราะขาดเจตนาพิเศษเรื่องการกระทำโดยทุจริตดังกล่าว ซึ่งย่อมส่งผลทำให้การกระทำของจำเลยทั้งสี่ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้องไปด้วย และการกระทำของจำเลยทั้งสี่เช่นนี้หาใช่ว่าจำเลยทั้งสี่กระทำโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด ซึ่งถือว่าจำเลยทั้งสี่ไม่มีเจตนากระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสอง ประกอบวรรคสาม ดังคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8076/2557
           การที่จำเลยที่ 2 ขึ้นไปบนรถโดยสารประจำทางคันเกิดเหตุโดยพาอาวุธมีดติดตัวไป แม้จะไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายด้วย และเป็นผู้ที่พูดข่มขืนใจให้ผู้เสียหายส่งมอบเสื้อชุดฝึกปฏิบัติงานโรงงานให้ก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 ก็อยู่ร่วมกับจำเลยที่ 1 กับพวกโดยตลอดในลักษณะที่พร้อมจะช่วยเหลือกันทันท่วงทีหากมีเหตุให้ต้องช่วยเหลือ ประกอบกับหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ก็หลบหนีไปพร้อมกันกับจำเลยที่ 1 และพวก พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 และพวกกระทำความผิด ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณารับฟังได้ว่า หลังจากจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันชกต่อยและใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายแล้ว จำเลยทั้งสองกับพวกจึงร่วมกันพูดข่มขืนใจให้ผู้เสียหายส่งมอบเสื้อชุดฝึกปฏิบัติงานโรงงานออกให้ มิฉะนั้นจะฟันผู้เสียหายอีก แสดงให้เห็นว่าในตอนแรกที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันทำร้ายผู้เสียหาย จำเลยทั้งสองกับพวกยังไม่มีเจตนาที่จะข่มขืนใจผู้เสียหายให้ส่งมอบเสื้อดังกล่าวให้ แต่หลังจากหยุดทำร้ายผู้เสียหายแล้ว จำเลยทั้งสองกับพวกจึงเกิดเจตนาข่มขืนใจผู้เสียหาย เจตนาข่มขืนใจดังกล่าวจึงเป็นคนละตอนคนละเจตนากับการทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7532/2557
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับ ป. ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายโดยใช้มีดปอกผลไม้ปลายแหลม 1 เล่ม ฟันข้อมือขวาของผู้เสียหาย 1 ครั้ง มิได้บรรยายว่า จำเลยกับพวกร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายโดยใช้สายไฟของเครื่องเป่าผมผูกมัดประตูห้องน้ำไว้กับประตูระเบียงห้องจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายไม่สามารถออกจากห้องน้ำได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวจำเลยและ ป. มิได้ใช้แรงกายภาพกระทำต่อผู้เสียหาย ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ คงเป็นการกระทำที่เป็นการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 310 ซึ่งมิใช่เป็นการกระทำที่โจทก์บรรยายฟ้องและประสงค์จะให้ลงโทษจำเลย ส่วนการที่ผู้เสียหายใช้มือข้างขวาเปิดบานเกล็ด ป. ใช้มีดปอกผลไม้ปลายแหลมฟันข้อมือผู้เสียหาย 1 ครั้ง เป็นเหตุให้มีบาดแผลยาว 1 ซ.ม. เมื่อผู้เสียหายร้องขอให้จำเลยเอายามาให้ ป. เอายามาให้ผู้เสียหาย นับว่าผิดวิสัยของคนร้ายที่ประสงค์ทำร้ายร่างกายเจ้าของทรัพย์เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์ การกระทำของ ป. จึงเป็นการกระทำที่มิได้เกี่ยวเนื่องกับการลักทรัพย์และเป็นเรื่องเฉพาะตัวของ ป. เอง เพราะจากคำเบิกความของผู้เสียหายไม่ปรากฏว่าจำเลยรู้เห็นด้วยในลักษณะอย่างใด จำเลยคงมีความผิดฐานลักทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6864/2557
เมื่ออาวุธปืนของกลางเป็นสิ่งเทียมอาวุธปืนตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4 (5) ที่ทำเลียนแบบปืนพกออโตเมติกจึงถือไม่ได้ว่าสิ่งเทียมอาวุธปืนเป็นอาวุธโดยสภาพตามความหมายของบทนิยามในมาตรา 1 (5) แห่ง ป.อ. การพาสิ่งเทียมอาวุธปืนไปในเมืองหรือทางสาธารณะจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 ทั้งไม่ถือว่าการปล้นทรัพย์รายนี้ผู้กระทำแม้แต่คนหนึ่งคนใดมีอาวุธติดตัวไปด้วยตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคสอง คงเป็นความผิดตามมาตรา 340 วรรคแรก เท่านั้น แม้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 ไม่ได้ฎีกาในประเด็นนี้ก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และมีอำนาจวินิจฉัยไปถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ได้ฎีกาขึ้นมาด้วย เนื่องจากเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2273/2556
ผู้เสียหายที่ 2 ที่ถูกหน่วงเหนี่ยว ขวางทาง ฉุดรั้งและข่มขืนใจโดยถูกประทุษร้ายเพื่อให้ยอมไม่เข้าร่วมเสนอราคาไม่ได้ยอมตามที่ถูกกระทำดังกล่าว กลับได้เข้าไปยื่นซองเสนอราคาและร้องเรียนต่อเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้อง จนการจัดประกวดราคาในวันดังกล่าวถูกยกเลิก การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกจึงเป็นเพียงการพยายามกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 6 และ ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22746/2555
         จำเลยขับรถจักรยานยนต์มาที่วินรถจักรยานยนต์พูดว่า หากใครไม่จ่ายไม่ให้จอด ระวังจะจำเบอร์ไม่ได้ จำซอยไม่ได้ ขับเงียบ ๆ ใกล้จะหมดเวลาของพวกมึงแล้ว มีลักษณะเป็นการข่มขู่ผู้เสียหายทั้งสามว่าอาจถูกทำร้าย หลังจากมีการแจ้งความร้องทุกข์แล้วแต่ไม่มีการควบคุมตัวจำเลยในระหว่างดำเนินคดี ผู้เสียหายทั้งสามเกรงจะได้รับอันตรายและถูกห้ามขับรถจักรยานยนต์รับจ้างในซอยเกิดเหตุจึงต้องจำยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยวันละ 15 บาท ตามที่จำเลยเรียกร้อง แต่ข้อเท็จจริงที่ผู้เสียหายทั้งสามจำยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยวันละ 15 บาท ภายหลังมีการแจ้งความร้องทุกข์แล้วนั้น ปรากฏแต่ในทางพิจารณาโดยโจทก์ไม่ได้กล่าวไว้ในฟ้อง ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ จึงต้องห้ามมิให้ศาลลงโทษจำเลยโดยอาศัยข้อเท็จจริงนั้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาจึงลงโทษจำเลยได้แต่ในความผิดฐานพยายามกรรโชกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก ประกอบมาตรา 80 เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22246/2555
ป.อ. มาตรา 340 ตรี มุ่งหมายที่จะลงโทษหนักขึ้นเฉพาะผู้มีหรือใช้อาวุธปืนเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายเดินทางไปกับจำเลยที่ 1 เพื่อไปติดต่อล่อซื้อและจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ โดยผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยที่ 1 เอาอาวุธปืนของผู้เสียหายไปเก็บรักษาไว้เพราะเคยรู้จักกับจำเลยที่ 1 มาก่อน ขณะที่จำเลยที่ 1 เก็บอาวุธปืนไว้แล้วผู้เสียหายและจำเลยที่ 1 ต่างลงจากรถ จำเลยที่ 1 บอกให้ผู้เสียหายหยุด อย่าขยับตัว ผู้เสียหายแย่งปืนจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงเข้าร่วมทำร้ายผู้เสียหาย โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีอาวุธปืนมาก่อน จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมชิงทรัพย์โดยมีอาวุธปืนตาม ป.อ. มาตรา 340 ตรี แต่การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนตีผู้เสียหายในการชิงทรัพย์นั้น แม้จะเป็นอาวุธปืนของผู้เสียหายที่จำเลยทั้งสองร่วมกันชิงเอามาจากผู้เสียหายก็ตาม แต่การชิงทรัพย์ยังไม่ขาดตอน การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนตีผู้เสียหาย จึงเป็นส่วนหนึ่งของการชิงทรัพย์ จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนในการชิงทรัพย์ ดังนั้น เฉพาะจำเลยที่ 1 ย่อมต้องรับโทษหนักขึ้นตาม ป.อ. มาตรา 340 ตรี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12564/2555
ขณะเกิดเหตุช่วงแรกที่จำเลยที่ 1 ขอโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายนั้น จำเลยที่ 2 นั่งอยู่ที่ม้าหินอ่อนหันหลังให้ผู้เสียหายและขณะที่ผู้เสียหายยื้อแย่งโทรศัพท์มือถือกับจำเลยที่ 1 และถูกจำเลยที่ 1 ผลักอก ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีท่าทีลุกขึ้นมาช่วยเหลือจำเลยที่ 1 หรือไม่ อย่างไร รวมทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 พูดจาข่มขู่ผู้เสียหายให้ยอมทำตามคำขอของจำเลยที่ 1 และก่อนเกิดเหตุไม่นานขณะจำเลยที่ 1 ไปพูดขอยืมรถจักรยานยนต์จากผู้เสียหายที่ร้านเกม ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มากับจำเลยที่ 1 ด้วย แม้จำเลยที่ 2 ช่วยถอดซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหาย ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ใช้ให้ถอด ตามพยานหลักฐานของโจทก์จึงมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 2 ร่วมคบคิดกับจำเลยที่ 1 วางแผนชิงทรัพย์โทรศัพท์มือถือจากผู้เสียหายหรือไม่ แต่การที่จำเลยที่ 2 อยู่ในที่เกิดเหตุและใกล้ชิดกับเหตุการณ์ย่อมต้องได้ยินคำพูดโต้ตอบระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยที่ 1 ว่า ผู้เสียหายไม่ยอมให้จำเลยที่ 1 ยืมโทรศัพท์มือถือและขอโทรศัพท์มือถือคืนจากจำเลยที่ 1 รวมทั้งเห็นผู้เสียหายยื้อแย่งโทรศัพท์มือถือคืนจากจำเลยที่ 1 ย่อมต้องรู้ว่าจำเลยที่ 1 เอาโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายไปโดยมิชอบ การที่จำเลยที่ 1 ไม่ยินยอมคืนโทรศัพท์มือถือให้ผู้เสียหาย และเมื่อถูกผู้เสียหายยื้อแย่ง จำเลยที่ 1 ส่งโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายให้จำเลยที่ 2 รับไว้ จากนั้นจำเลยทั้งสองวิ่งขึ้นรถจักรยานยนต์ขับหลบหนีไป ถือเป็นการให้ความช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ขณะกระทำความผิด จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานสนับสนุนจำเลยที่ 1 ชิงทรัพย์ผู้เสียหายโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อพาทรัพย์นั้นไป ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดดังกล่าวได้เพราะโทษเบากว่าความผิดฐานเป็นตัวการ จึงมิได้เป็นการเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10262/2555
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันใช้อุบายข่มขืนใจ อ. ให้ยอมให้ หรือยอมจะให้จำเลยกับพวกได้รับเงินจำนวน 80,000 บาท อันเป็นประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยจำเลยกับพวกขู่เข็ญ แจ้งเท็จแก่ อ. ว่าผู้เสียหายถูกเจ้าพนักงานตำรวจ สถานีตำรวจนครบาลดอนเมืองจับไปโดยไม่ทราบข้อหา หากมีเงินสองแสนบาทจะเอาไปประกันตัวผู้เสียหายที่สถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง และบอกว่าจะช่วยเต็มที่ เป็นเหตุให้ อ. หลงเชื่อและเกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อร่างกาย เสรีภาพ และชื่อเสียงของผู้เสียหายยอมมอบเงิน 80,000 บาท ให้แก่จำเลยกับพวก เห็นว่า การที่จำเลยบอกว่าผู้เสียหายถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม ย่อมไม่ใช่คำพูดที่เป็นการขู่เข็ญหรือข่มขู่ว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สิน ทั้งไม่ใช่เป็นการใช้กำลังประทุษร้าย คำบอกดังกล่าวบอกด้วยว่าหากมีเงินก็จะเอาไปประกันตัวผู้เสียหาย ซึ่งมีความหมายอยู่ในตัวว่าถ้าไม่มีเงินก็คงไม่ไปประกันตัวผู้เสียหาย การที่ผู้เสียหายถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานตำรวจที่จะดำเนินการตามกฎหมาย การขอประกันตัวผู้ต้องหาหรือเจ้าพนักงานตำรวจจะให้ประกันผู้ต้องหาก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่การข่มขู่หรือการขู่เข็ญ คำบรรยายฟ้องของโจทก์จึงขาดองค์ประกอบของการกระทำอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9844/2555
โทษตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 340 ตรี เมื่อเป็นความผิดฐานพยายาม ศาลอาจกำหนดโทษจำเลยได้ 33 ปี 4 เดือน หรือกำหนดจากกรอบระวางโทษได้ตั้งแต่ 15 ถึง 20 ปี ศาลล่างทั้งสองกำหนดโทษจำคุกจำเลย 30 ปีนั้น ไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขและกำหนดโทษจำเลยเสียใหม่ให้เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6151/2555
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นคนที่ถูกผู้อื่นหลอกลวงได้ง่ายและพฤติการณ์ในคดีก็ได้ความว่าอาของจำเลยเป็นผู้ใช้ให้จำเลยไปชิงทรัพย์ และอาของจำเลยขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายไปทิ้งให้อยู่ในที่เกิดเหตุ จนกระทั่งจำเลยมาชิงทรัพย์ผู้เสียหายแล้วหลบหนีไปเพียงลำพัง โดยอาของจำเลยไม่ได้กลับมาที่เกิดเหตุอีกเลย จำเลยกับอาของจำเลยจึงมิใช่ตัวการร่วมกันชิงทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 83 แต่เป็นกรณีจำเลยชิงทรัพย์ตามที่อาของจำเลยใช้เท่านั้น และตามพฤติการณ์ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยใช้รถจักรยานยนต์เพื่อกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์อันจะเป็นเหตุให้จำเลยต้องรับโทษหนักขึ้น ตาม ป.อ. มาตรา 340 ตรี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5117/2555
         โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามข่มขืนใจผู้เสียหายให้มอบเงิน 40,000 บาท ผู้เสียหายต่อรองเหลือ 35,000 บาท แต่ทางพิจารณาได้ความผู้เสียหายให้เงิน 50,000 บาท ถือเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียดเพราะไม่ว่าเป็นเงินเท่าใดก็เป็นความผิด และไม่มีจำเลยคนใดหลงต่อสู้ ศาลฎีกาลงโทษจำเลยทั้งสามได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 จำเลยทั้งสามร่วมกันล่อหลอกให้ผู้เสียหายไปหา แล้วใช้อาวุธปืนขู่บังคับให้ผู้เสียหายขึ้นรถยนต์ ระหว่างอยู่ในรถมีทั้งการทำร้ายร่างกายผู้เสียหายขู่เข็ญให้ผู้เสียหายไปล่อซื้อยาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นวิธีการที่จะให้ผู้เสียหายยอมให้หรือยอมจะให้พวกตนได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน และเอาทรัพย์สินของผู้เสียหายไป พวกจำเลยยังนำบัตรเอทีเอ็มไปถอนเงินของผู้เสียหายออกมาและขู่เข็ญผู้เสียหายจนยอมที่จะให้เงินแก่พวกจำเลยเป็นการทดแทนที่จะให้ไปล่อซื้อยาเสพติดให้โทษ แสดงว่า จำเลยทั้งสามมีเจตนาที่จะให้ได้ทรัพย์สินของผู้เสียหายมากที่สุดโดยไม่คำนึงถึงวิธีการและจะให้ได้มาอย่างไร การกระทำความผิดมีลักษณะต่อเนื่องไม่ขาดตอน และการกระทำที่เป็นองค์ประกอบแห่งความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์กับความผิดฐานร่วมกันกรรโชกเกิดขึ้นซ้อนกัน ทั้งความผิดฐานร่วมกันกรรโชกเป็นความผิดสำเร็จแล้วตั้งแต่ผู้เสียหายยอมให้ทรัพย์สินที่พวกจำเลยเอาไปและยอมจะให้เงินแก่พวกจำเลยอีกในภายหลัง การที่จำเลยทั้งสามจะได้เงินส่วนที่ผู้เสียหายตกลงจะให้ในภายหลังหรือไม่ หามีผลให้การกระทำความผิดฐานร่วมกันกรรโชกไม่เป็นความผิดสำเร็จไม่ การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันกรรโชกและร่วมกันปล้นทรัพย์จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 869/2555
จำเลยใช้อาวุธปืนจี้ขู่เข็ญผู้เสียหายว่าอย่าส่งเสียงและให้ส่งของมีค่าให้ เมื่อผู้เสียหายส่งกระเป๋าสะพายให้และพูดว่า จะเอาอะไรก็เอาไปขอบัตรประจำตัวประชาชนไว้ จำเลยค้นกระเป๋าสะพายแล้วเห็นว่าไม่มีของมีค่าจึงส่งกระเป๋าสะพายคืนให้ และคลำที่คอผู้เสียหายเพื่อหาสร้อยคอ ผู้เสียหายบอกจำเลยว่าไม่มีของมีค่าติดตัวมา จำเลยจึงปล่อยตัวผู้เสียหายแล้วเดินหนีไป แสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้ประสงค์จะแย่งเอากระเป๋าสะพายของผู้เสียหายไปเป็นของตน เพียงแต่ต้องการค้นหาของมีค่าในกระเป๋าสะพายเท่านั้น มิฉะนั้นเมื่อจำเลยได้กระเป๋าสะพายแล้วก็ต้องหลบหนีไปทันทีโดยไม่ต้องเปิดดูและคืนกระเป๋าสะพายให้ผู้เสียหาย ดังนั้น เมื่อจำเลยยังไม่ได้ของมีค่าตรงตามเจตนาของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นการชิงทรัพย์สำเร็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 74/2555
จำเลยที่ 2 ร่วมวางแผนกับจำเลยที่ 1 และ ส. มาก่อนเกิดเหตุเพื่อที่จะมากระทำความผิด แต่ขณะที่จำเลยที่ 1 และ ส. กระทำความผิดเอาทรัพย์ของผู้ตายไป จำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์แยกทางออกไปก่อน ไม่ได้รออยู่ใกล้กับที่เกิดเหตุที่จะมีเวลาเพียงพอที่จะช่วยเหลือจำเลยที่ 1 และ ส. ในขณะกระทำความผิดได้ จึงไม่ใช่เป็นการแบ่งหน้าที่กันทำอันจะเป็นตัวการในการกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และ ส. ได้ จำเลยที่ 2 คงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเท่านั้น หาใช่ร่วมกันเป็นตัวการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป อันจะเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ด้วยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11865/2554
ข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะพวกของจำเลยซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่กำลังขับตามผู้เสียหายไปถามผู้เสียหายว่า จะรีบไปไหน พวกของจำเลยดังกล่าวเพียงแต่มีมีดถืออยู่ในมือ และในขณะผู้เสียหายวิ่งหนี พวกของจำเลยได้วิ่งไล่ตามผู้เสียหายไปจนทัน แล้วกระชากสร้อยคอทองคำที่ผู้เสียหายสวมอยู่ขาดติดมือพวกของจำเลยไป โดยพวกของจำเลยไม่ได้ใช้มีดที่ถืออยู่จี้ขู่เข็ญ หรือแสดงท่าทีใดๆ ให้เห็นว่าเป็นการขู่เข็ญว่าจะใช้มีดที่ถืออยู่ฟันหรือแทงประทุษร้ายหากขัดขืนไม่ให้พวกของจำเลยกระชากเอาสร้อยคอทองคำไป พฤติการณ์ของจำเลยกับพวกตามที่ได้ความดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายเพื่อความสะดวกในการลักทรัพย์ การกระทำของจำเลยกับพวกไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์แต่เป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11466/2554
          จำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งหกและขู่ผู้เสียหายทั้งหกจนผู้เสียหายทั้งหกหาเงินมาให้จำเลยคนละ 1,000 บาท แม้จำเลยจะปักใจเชื่อโดยสุจริตว่า ผู้เสียหายทั้งหกลักเงินจำเลยไป จำเลยก็ชอบที่จะใช้สิทธิตามกฎหมายโดยไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ผู้เสียหายทั้งหกได้ในทันที จำเลยหามีสิทธิตามกฎหมายที่จะดำเนินการได้ด้วยตนเองไม่ ทั้งวิธีการที่จำเลยทำเป็นสิ่งที่ผิดต่อกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายและกรรโชกอันเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10288/2554
คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนและบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพก็เป็นพยานบอกเล่า และจำเลยนำสืบปฏิเสธว่ามิได้เกิดจากความสมัครใจเช่นนี้ คำให้การดังกล่าวโดยลำพังไม่อาจรับฟังเพื่อลงโทษจำเลยได้ กรณีมีความสงสัยตามสมควรว่าผู้เสียหายจำจำเลยได้ว่าเป็นคนร้ายที่ชิงทรัพย์ของผู้เสียหายหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง พฤติการณ์ของจำเลยที่ซื้อรถจักรยานยนต์ดังกล่าวมาในสภาพที่มีร่องรอยการขูดลบแก้ไขหมายเลขเครื่องยนต์และหมายเลขตัวถังรถ ไม่มีแผ่นป้ายทะเบียน ไม่ติดแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษี และไม่ได้สมุดคู่มือจดทะเบียน ซึ่งเป็นสภาพที่ผิดปกติจากการซื้อขายรถจักรยานยนต์ทั่วไป จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้ซื้อไว้โดยสุจริต และย่อมรู้ว่าเป็นรถจักรยานยนต์ที่ได้มาจากการกระทำความผิด แต่ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบยังรับฟังไม่ได้ว่าขณะซื้อรถจักรยานยนต์ดังกล่าวจำเลยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการชิงทรัพย์ การกระทำของจำเลยคงเป็นความผิดฐานรับของโจรตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคแรก เท่านั้น แม้โจทก์จะไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานรับของโจร และข้อเท็จจริงที่ปรากฏในระหว่างการพิจารณาแตกต่างกับที่กล่าวในฟ้อง แต่เป็นข้อแตกต่างระหว่างการกระทำความผิดฐานรับของโจรและชิงทรัพย์ ซึ่งความผิดฐานชิงทรัพย์ได้รวมการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์อยู่ด้วยแล้ว จึงไม่ให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อพิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องที่เกินคำขอหรือโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เมื่อจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจรได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9805/2554
การกระทำโดยเล็งเห็นผลนั้นหมายความว่า ผลนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนเท่าที่บุคคลในภาวะเช่นนั้นจะเล็งเห็นได้ มิใช่เพียงเล็งเห็นว่าผลนั้นอาจเกิดขึ้นได้ ได้ความว่าจำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์โดยมีจำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้าย ขณะที่รถจักรยานยนต์ของจำเลยทั้งสองประกบรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 กระชากกระเป๋าสะพายของผู้เสียหายที่แขวนอยู่ที่กระจกรถจักรยานยนต์อย่างแรง ทำให้รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายล้มลงและผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยทั้งสองไม่อาจเล็งเห็นผลได้แน่นอนว่าการกระชากกระเป๋าสะพายของจำเลยที่ 1 จะทำให้รถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายขับล้มลงเพราะรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายอาจจะล้มหรือไม่ล้มก็ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเพียงวิธีการเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปเท่านั้น แม้รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายจะล้มลงเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายอันเป็นผลมาจากแรงกระชากกระเป๋าสะพายของจำเลยที่ 1 ก็หาใช่จำเลยทั้งสองกระทำโดยมีเจตนาเล็งเห็นผลอันถือเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตามความหมายของกฎหมายแต่ประการใดไม่ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตามฟ้อง คงมีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6475/2554
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยใช้อาวุธปืนสั้นชิงทรัพย์สร้อยคอทองคำราคา 7,000 บาท พระเครื่องเลี่ยมทองคำราคา 1,800 บาท โทรศัพท์เคลื่อนที่ราคา 4,000 บาท กระเป๋าสตางค์ราคา 1,300 บาท ภายในบรรจุบัตรประจำตัวประชาชน ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ บัตรเอทีเอ็ม ธนบัตร 4,400 บาท รวมเป็นเงิน 18,100 บาท ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต โดยจำเลยใช้อาวุธปืนจี้ขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อาวุธปืนยิงให้ตายหากขัดขืน เพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์ พาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์และให้พ้นจากการจับกุม อันเป็นการกล่าวถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว แม้โจทก์จะไม่ได้ระบุชื่อผู้เสียหายที่เป็นเจ้าของทรัพย์ แต่ความผิดฐานลักทรัพย์หรือชิงทรัพย์องค์ประกอบแห่งความผิดดังกล่าวอยู่ที่การเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ซึ่งเมื่ออ่านคำฟ้องโดยตลอดแล้ว ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริตย่อมเข้าใจได้ว่าจำเลยลักเอาทรัพย์ของผู้อื่นซึ่งไม่ใช่ทรัพย์ของจำเลยหรือเป็นทรัพย์ไม่มีเจ้าของไปโดยทุจริต เช่นนี้ฟ้องของโจทก์จึงระบุรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลและสิ่งของพอสมควรที่จำเลยจะต่อสู้คดีได้แล้ว โดยไม่จำต้องระบุชื่อผู้เสียหาย มิฉะนั้นหากไม่ทราบชื่อของผู้เสียหายก็จะทำให้ไม่มีทางที่จะฟ้องคดีในความผิดฐานลักทรัพย์หรือชิงทรัพย์ได้ซึ่งไม่ใช่เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2385 - 2387/2554
          จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ร่วมกันขับรถยนต์ปาดหน้ารถยนต์โจทก์ร่วม แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจแล้วคุมตัวโจทก์ร่วมไปเจรจาหนี้สินกันโดยบังคับโจทก์ร่วมให้ใช้หนี้แก่จำเลยที่ 7 แทนจำเลยที่ 3 พฤติการณ์เป็นการร่วมกันวางแผนโดยแบ่งหน้าที่กันทำอันเป็นการกระทำความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้จำยอมต่อจำเลยทั้งเจ็ดกับพวก โดยกระทำให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพของผู้อื่น อันเป็นการกระทำผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคสอง และหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ยืนล้อมคุมเชิงโต๊ะเจรจาระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 4 และที่ 7 ไว้ เป็นพฤติการณ์ในเชิงข่มขู่โจทก์ร่วมอยู่ในตัว เพราะก่อนมีการเจรจา โจทก์ร่วมถูกบังคับใส่กุญแจมือมาพบจำเลยที่ 4 และที่ 7 ทั้งจำเลยที่ 4 ยังได้เตรียมแบบพิมพ์สัญญายืมและสัญญาค้ำประกันที่มีการกรอกข้อความว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้ยืมสิ่งของจากจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน โจทก์ร่วมซึ่งตกอยู่ในภาวะดังกล่าวจำยอมต้องลงชื่อในสัญญาดังกล่าว ดังนี้ แม้โจทก์ร่วมจะเป็นหนี้จำเลยที่ 3 อยู่ก็ตาม แต่จำเลยทั้งเจ็ดก็ไม่มีสิทธิใช้วิธีการที่ผิดกฎหมายในการบังคับให้โจทก์ร่วมจำยอมต้องชำระหนี้แทนจำเลยที่ 3 จึงเป็นการร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้ตนเองได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน ทำสัญญายืมสร้อยคอทองคำ ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิจากจำเลยทั้งเจ็ด อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก อีกฐานหนึ่งด้วย แต่การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นการกระทำผิดต่อเนื่องและมีเจตนาเดียวกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท หลังจากจำเลยที่ 1 ขับรถปาดหน้ารถยนต์ของโจทก์ร่วมให้หยุดรถ จำเลยที่ 6 ซึ่งไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานตำรวจได้เดินมาที่รถโจทก์ร่วมและบอกโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ว่า เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ แล้วจับโจทก์ร่วมใส่กุญแจมือควบคุมตัวไปพบจำเลยที่ 4 และที่ 7 ถือได้ว่าจำเลยที่ 6 แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ การกระทำของจำเลยที่ 6 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 145 วรรคแรกด้วย แต่เป็นการกระทำต่อเนื่องกันไปโดยมีเจตนาเดียวเพื่อบังคับให้โจทก์ร่วมชำระหนี้ให้จำเลยที่ 7 แทนจำเลยที่ 3 จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษจำเลยที่ 6 ตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียว ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 213/2554
จำเลยรู้จักกับบุตรชายผู้เสียหายที่ 1 เจ้าของรถจักรยานยนต์ และผู้เสียหายที่ 2 มาก่อน ทั้งเคยประสบอุบัติเหตุได้รับความกระทบกระเทือนทางสมอง หากมีใครขัดใจจะแสดงอาการโวยวายคล้ายคนอารมณ์เสีย ก่อนนำรถจักรยานยนต์ไป จำเลยพูดขอยืมรถจักรยานยนต์จากผู้เสียหายที่ 2 ครั้นเมื่อผู้เสียหายที่ 2 ไม่ให้ จำเลยพูดขู่บังคับเอารถจักรยานยนต์โดยขู่ว่าจะตบ ผู้เสียหายที่ 2 เกิดความกลัวจึงให้รถจักรยานยนต์แก่จำเลยไป ดังนั้น การข่มขู่ว่าจะทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 เป็นเพียงการแสดงลักษณะนิสัยจำเลยเท่านั้น มิใช่เป็นการมุ่งหมายเพื่อจะเอารถจักรยานยนต์นั้นไปเป็นของจำเลย

แม้จะได้ความว่าต่อมาจำเลยนำรถจักรยานยนต์ดังกล่าวไปให้บุคคลอื่นยึดไว้เป็นประกันค่าอาหาร แต่ราคาอาหารไม่มากนัก เชื่อว่าจำเลยตั้งใจไถ่คืน จึงเป็นการบังคับเอาทรัพย์ผู้อื่นไปใช้ชั่วคราว ถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาลักทรัพย์ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ คงเป็นความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคแรก เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15718/2553
        จำเลยกับพวกวางแผนขับรถยนต์แท็กซี่ชนรถยนต์ปิกอัพของผู้เสียหาย แล้วลงจากรถเรียกค่าเสียหายจากผู้เสียหายอ้างว่าเสียหายเป็นจำนวนมาก แต่ขอเรียกเพียง 5,000 บาท ผู้เสียหายต่อรอง พวกของจำเลย พูดขู่ว่าหากพูดไม่รู้เรื่องจะเรียกตำรวจ ผู้เสียหายยอมจ่ายเงินให้ 500 บาท แล้วจำเลยกับพวกแยกย้ายหลบหนีไปทันที ดังนั้น การที่จำเลยขู่ว่าจะเรียกเจ้าพนักงานตำรวจมา จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยชอบ แต่เป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อเสรีภาพและชื่อเสียงของผู้เสียหาย เป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมมอบเงินให้ ถือได้ว่าจำเลยร่วมกับพวกข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมให้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินแก่จำเลยแล้ว จึงเป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11052/2553
ความแตกต่างระหว่างความผิดฐานชิงทรัพย์กับความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ตามบทบัญญัติของกฎหมายมิได้อยู่ที่จำนวนทรัพย์สินที่ผู้กระทำผิดได้ไปว่าจะเป็นทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน เพราะไม่ว่าคนร้ายจะได้ทรัพย์สินไปเพียงใด การกระทำความผิดก็เกิดขึ้นแล้วเช่นกัน แต่ข้อสาระสำคัญอยู่ที่ว่าความผิดฐานชิงทรัพย์ต้องมีฐานเดิมจากความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 โดยคนร้ายใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าของหรือมีครอบครองทรัพย์นั้น หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้นตามความใน ป.อ. มาตรา 339 (2) โดยการลักทรัพย์กับการใช้กำลังประทุษร้ายต้องไม่ขาดตอน หรือเป็นการลักทรัพย์ที่ต้องขู่เข็ญให้ปรากฏว่าในทันทีทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายต่อเนื่องกันไป เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่า ถูกจำเลยตบหน้าทันทีที่เปิดประตูห้องเมื่อ ช. ตามเข้าไปปิดประตูห้อง จำเลยก็ล้วงมีดพับออกมาจี้ที่แก้มผู้เสียหายขู่ขอเงินไปซื้อสุรา พฤติการณ์ของจำเลยเช่นนั้นบ่งชี้ไปในทำนองว่าหากผู้เสียหายขัดขืนไม่ให้เงินก็จะถูกประทุษร้ายต่อเนื่องไปในทันใดนั้น แสดงให้เห็นว่ามุ่งหมายมาทำร้ายและขู่เข็ญผู้เสียหายโดยประสงค์ต่อทรัพย์มาแต่แรก ไม่ใช่เป็นการข่มขืนใจให้ผู้เสียหายยอมให้เงินบางส่วนโดยใช้กำลังประทุษร้ายตามที่จำเลยฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10850/2553
การที่จำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเป็นกรรมหนึ่งต่างหากและขาดตอนไปแล้ว ต่อมาผู้เสียหายจะหยิบโทรศัพท์เคลื่อนที่ในกระเป๋าถือเพื่อโทรศัพท์ติดต่อสามี จำเลยแย่งกระเป๋าถือแล้วเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่กับเงิน 9,000 บาท ในกระเป๋าถือไป และทิ้งกระเป๋าถือไว้ใต้ถุนบ้าน พฤติการณ์แห่งคดีอาจเป็นไปได้ว่าจำเลยกระทำไปเพียงเพื่อป้องกันมิให้ผู้เสียหายใช้โทรศัพท์ติดต่อกับสามี คดีจึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตในการเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง จึงไม่เป็นความผิดฐานลักหรือชิงโทรศัพท์มือถือ ส่วนเงิน 9,000 บาท เมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์ จำเลยจึงคืนให้ 8,000 บาท ส่วนอีก 1,000 บาท จำเลยไม่ยอมคืนจนกว่าผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์ทั้ง ๆ ที่จำเลยไม่มีสิทธิเอาเงินไปและไม่มีเหตุผลให้รับฟังได้ว่าจำเลยเอาเงินไปเพียงเพราะโกรธผู้เสียหาย กรรมจึงเป็นเครื่องชี้เจตนาให้รับฟังได้ว่า จำเลยกระทำไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง จำเลยจึงมีเจตนาทุจริตอันเข้าองค์ประกอบความผิดฐานลักเงินดังกล่าวแล้ว แต่การที่จำเลยดึงกระเป๋าถือโดยยื้อแย่งกันจนสายกระเป๋าขาดติดมือผู้เสียหายโดยไม่ได้ผลักผู้เสียหาย ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยใช้กำลังประทุษร้ายแก่กายหรือจิตใจของผู้เสียหาย จำเลยไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่การกระทำเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ซึ่งเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเองรวมอยู่ในข้อหาชิงทรัพย์ แม้โจทก์ฟ้องความผิดฐานชิงทรัพย์มาศาลย่อมลงโทษในความผิดฐานลักทรัพย์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10843/2553
แม้เรื่องที่จำเลยนำไปขู่เข็ญผู้เสียหายซึ่งเป็นภิกษุว่า ผู้เสียหายมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงจะไม่เป็นความจริง จึงไม่ถือเป็นความลับอันเป็นความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 338 ดังที่โจทก์ฟ้องก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยดังกล่าวก็เป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชื่อเสียงของผู้เสียหายผู้ถูกขู่เข็ญจนผู้เสียหายผู้ถูกข่มขืนใจยอมใช้เงินแก่จำเลยอันเป็นความผิดฐานกรรโชก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก ซึ่งแม้ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจะแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง แต่ก็เป็นเพียงข้อแตกต่างกันในรายละเอียดเท่านั้น มิใช่ข้อแตกต่างในข้อสาระสำคัญ ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณานั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ จึงลงโทษจำเลยในความผิดฐานกรรโชกได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 192 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4337/2552
       ป.อ.มาตรา 340 ตรี บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 339 มาตรา 339 ทวิ มาตรา 340 หรือมาตรา 340 ทวิ โดยแต่งเครื่องแบบทหารหรือตำรวจหรือแต่งกายให้เข้าใจว่าเป็นทหารหรือตำรวจ หรือโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุมต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่ง" ซึ่งจะเห็นได้ว่า นอกจากการกระทำอันเป็นความผิดตามมาตรา 339 มาตรา 339 ทวิ มาตรา 340 หรือมาตรา 340 ทวิ แล้ว ยังจะต้องประกอบด้วยการกระทำอื่นตามที่บัญญัติในมาตรานี้ด้วย ผู้กระทำความผิดตามมาตราดังกล่าวจึงจะมีความผิดและถูกลงโทษตามมาตรานี้ได้ ดังนั้นมาตรานี้ย่อมเป็นบทบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ซึ่งโจทก์ต้องระบุมาในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) ด้วย และตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่งเกินคำขอ หรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง" อันเป็นการกำหนดกรอบอำนาจการพิพากษาคดี หรือการมีคำสั่งชี้ขาดคดีของศาลไว้ 2 ประการ คือ ห้ามมิให้ศาลพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอประการหนึ่ง กับห้ามมิให้ศาลพิพากษาหรือสั่งในข้อที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องอีกประการ หนึ่ง ซึ่งศาลอยู่ในบังคับที่จะพิพากษาหรือสั่งเกินประการหนึ่งประการใดมิได้ และทั้งสองประการดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องระบุในฟ้อง แม้โจทก์จะบรรยายข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 340 ตรี และจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ แต่เมื่อคำขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองโจทก์ไม่ระบุมาตรา 340 ตรี มาด้วย จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามมาตรา 340 ตรี และเป็นการเกินคำขอ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่ ศาลจึงพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอมิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4268/2552
       ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกระทำความผิดด้วย ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ผู้เสียหายตามฟ้อง จำเลยทั้งสามมิได้อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชิงทรัพย์ผู้เสียหายจึงเป็นอันยุติ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ด้วยและพิพากษาแก้เฉพาะบทจากความผิดฐานชิง ทรัพย์เป็นปล้นทรัพย์ มิได้แก้ไขโทษ เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 เกินห้าปี แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคสอง แต่จำเลยที่ 1 คงมีสิทธิฎีกาได้เฉพาะในปัญหาว่าจำเลยที่ 3 มิได้ร่วมกระทำความผิดด้วยอันจะทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์เท่านั้น จำเลยที่ 1 จะหวนกลับมาใช้สิทธิฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ร่วมกันชิงทรัพย์ผู้เสียหายอีกไม่ได้ ดังนั้นที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า พยานหลักฐานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันเอาทรัพย์ของผู้เสียหาย ไป ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานทำร้ายร่างกาย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาล อุทธรณ์ภาค 1 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2907/2551
จำเลยเดินไปหยิบเอาเงินเหรียญกษาปณ์ของผู้เสียหาย โดยจำเลยไม่ได้พูดหรือทำกิริยาอาการอย่างใดที่ขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้ กำลังประทุษร้ายหรือได้ใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย แต่หลังจากจำเลยหยิบเอาเงินเหรียญกษาปณ์ของผู้เสียหายแล้วได้วิ่งหนีไปนั่งรถจักรยานยนต์ของจำเลยซึ่งจอดอยู่หน้าร้านค้าที่เกิดเหตุเพื่อหลบหนีและผู้ เสียหายวิ่งตามไปทันขณะจำเลยนั่งอยู่บนรถจักรยานยนต์ดังกล่าว แล้วจำเลยถูกผู้เสียหายกระชากคอเสื้อและบิดกุญแจรถดับเครื่องยนต์เพื่อแย่งเอาเงินคืน จำเลยได้เตะผู้เสียหาย 1 ครั้ง การกระทำของจำเลยดังกล่าวยังต่อเนื่องเกี่ยวพันกันโดยตลอดและยังไม่ขาดตอนจากการเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต การที่จำเลยเตะผู้เสียหายในขณะที่ผู้เสียหายตามไปแย่งเอาเงินคืนนั้นจึงเป็นพฤติการณ์ที่ชี้ชัดว่าจำเลยกระทำโดยมีเจตนาขู่เข็ญไม่ให้ผู้เสียหายขัดขวางการหลบหนีเพื่อให้พ้นจากการจับกุมและเพื่อการพาทรัพย์ไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์

จำเลยขับรถจักรยานยนต์มาที่เกิดเหตุแล้วก่อเหตุทั้งเมื่อจำเลยได้ทรัพย์ของ ผู้เสียหายไปแล้วจำเลยก็วิ่งหนีไปนั่งรถจักรยานยนต์ของจำเลยซึ่งจอดไว้หน้า ร้านค้าที่เกิดเหตุและติดเครื่องยนต์แต่ผู้เสียหายวิ่งตามไปทันจึงกระชากคอ เสื้อจำเลยแล้วบิดกุญแจรถดับเครื่องยนต์ พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยกระทำโดยมีเจตนาจะใช้รถ จักรยานยนต์มาที่เกิดเหตุแล้วก่อเหตุและใช้รถจักรยานยนต์พาทรัพย์นั้นไปจากที่เกิดเหตุ การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นการใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 ตรี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1111/2551
พยานโจทก์เบิกความได้สอดคล้องต้องกัน และไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาก่อน คำเบิกความของพยานโจทก์จึงน่าเชื่อถือ พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกมาด้วยกันและหลบหนีไปด้วยกัน แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะไม่มีอาวุธปืนติดตัวไปด้วย และไม่ใช่เจ้าของรถจักรยานยนต์ที่ใช้เป็นยานพาหนะในการกระทำผิดก็ตาม แต่พวกของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เอาทรัพย์สินของผู้เสียหายไป ทั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์และจำเลยที่ 3 นั่งเป็นคนแรกพาคนร้ายมาและพากันหลบหนีไป โดยใช้ถุงพลาสติกครอบปิดป้ายทะเบียนรถไว้ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าวถือได้ว่าร่วมกระทำความผิดด้วยกัน จึงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3630/2550
เหตุที่จำเลยทำร้ายทุบบริเวณท้ายทอยและหลังของผู้เสียหายที่ 2 ในตอนแรก มีสาเหตุจากการที่ผู้เสียหายที่ 2 เข้าไปปลุกจำเลยขณะหลับอยู่บนรถโดยสารมินิบัสของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งขณะนั้นจำเลยมีการเมาสุรา เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ถามจำเลยว่าจะลงจากรถหรือไม่ จำเลยตอบว่าลง และเดินไปที่ประตูด้านหลังของรถยนต์มินิบัสแต่กลับย้อนมาทำร้ายผู้เสียหาย ที่ 2 อีก ผู้เสียหายที่ 2 พยายามใช้กระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารต่อสู้กับจำเลย ดังนั้น การที่จำเลยแย่งเอากระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารแล้วลงจากรถวิ่งหนีไปเป็น เพราะจำเลยเมาสุราและไม่ประสงค์จะต่อสู้กับผู้เสียหายที่ 2 ประกอบกับผู้เสียหายที่ 2 ใช้กระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารทำร้ายจำเลยด้วย การที่จำเลยแย่งเอากระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารจากผู้เสียหายที่ 2 ไป ก็เพราะไม่ประสงค์ให้ผู้เสียหายที่ 2 ใช้กระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารติดตามมาทำร้ายจำเลยอีก หากจำเลยประสงค์จะชิงทรัพย์จำเลยอาจหยิบเอาเฉพาะเงินจากกระบอกตั๋วเก็บเงิน ค่าโดยสาร ทิ้งกระบอกตั๋วไว้แล้วหลบหนีไปก็อาจกระทำได้ การที่จำเลยยังคงมีกระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารติดตัวอยู่ ทำให้เห็นว่าจำเลยไม่ประสงค์ให้ผู้ใดนำกระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารมาทำร้าย จำเลยอีก การกระทำของจำเลยแม้จะเป็นการพาเอาทรัพย์ไปจากผู้เสียหายที่ 2 แต่ไม่ได้เกิดโดยเจตนาทุจริต จึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1393/2550
จำเลยชิงทรัพย์โดยใช้อาวุธปืนและเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การที่ ป.อ. มาตรา 340 ตรี บัญญัติให้ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 339 โดยใช้อาวุธปืน ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรา 339 กึ่งหนึ่ง หาใช่เป็นเรื่องการเพิ่มโทษไม่ จะนำ ป.อ. มาตรา 51 มาเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี เพื่อระวางโทษหนักขึ้นอีกกึ่งหนึ่งไม่ได้ จึงนำ ป.อ. มาตรา 340 ตรี มาปรับด้วยไม่ได้ จำเลยคงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5889/2550
ผู้เสียหายเป็นหนี้มารดาของจำเลย และผิดนัดไม่ชำระหนี้อันเป็นกรณีที่มารดาของจำเลยถูกโต้แย้งสิทธิและต้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้ผู้เสียหายให้ชำระหนี้ตามที่บัญญัติในมาตรา 55 และบทบัญญัติทั้งปวงแห่ง ป.วิ.พ.ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยในการข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมหรือจะยอม ชำระหนี้นั้นให้มารดาจำเลย และไม่ทำให้การกระทำของจำเลยที่เป็นความผิดฐานกรรโชกตาม ป.อ. มาตรา 337 กลายเป็นการกระทำที่ไม่เป็นความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2912/2550
จำเลยขู่เข็ญผู้เสียหายโดยกล่าวอ้างแสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ และขู่ว่าจะยัดยาบ้าให้เท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ขู่เข็ญผู้เสียหายไม่เข้าลักษณะเป็นการขู่เข็ญว่าในทัน ใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย อันจะเป็นความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 แต่เข้าลักษณะเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมให้จำเลยได้ประโยชน์ในลักษณะ ที่เป็นทรัพย์สินโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพของผู้เสียหายผู้ถูกขู่ เข็ญ อันเป็นความผิดฐานกรรโชกตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคหนึ่ง ซึ่งแม้ข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความจะแตกต่างจากที่โจทก์กล่าวในฟ้องก็ตาม แต่การชิงทรัพย์และกรรโชกก็เป็นการขู่เข็ญเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปเช่น เดียวกัน จึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับฟ้องในสาระสำคัญ อันจะเป็นเหตุให้ศาลต้องยกฟ้อง เมื่อจำเลยไม่หลงต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานร่วมกันกรรโชกตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบวรรคสอง และมาตรา 215 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6354/2549
การที่จำเลยใช้อาวุธมีดจี้ที่เอวด้านหลังของผู้เสียหาย เป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป ครบองค์ประกอบความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสองแล้ว หาจำต้องมีการประทุษร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับ อันตรายแก่กายแต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1347/2549
พวกจำเลยคนหนึ่งขับรถจักรยานยนต์แซงรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย จำเลยซึ่งนั่งซ้อนท้ายกระชากสร้อยคอทองคำและพระเลี่ยมทองของผู้เสียหาย แม้จำเลยไม่ได้ขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือได้ใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย แต่หลังจากกระชากสร้อยคอแล้วจำเลยกับพวกขับจักรยานยนต์หลบหนี ผู้เสียหายกับพวกติดตามไปทันทีจนพบและจะเข้าจับจำเลย จำเลยใช้ขวดตีผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยดังกล่าวยังต่อเนื่องและเกี่ยวพันกันโดยตลอดและยังไม่ขาดตอนจากการวิ่งราวทรัพย์ ถือว่าจำเลยมีเจตนาใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายเพื่อให้พ้นจากการจับกุม จึงเป็นความผิดฐานร่วมกับพวกสองคนชิงทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธ และโดยใช้ยานพาหนะในการกระทำความผิดพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นจากการจับกุม ตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83,340 ตรี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2898/2549
โจทก์มิได้บรรยายในคำฟ้องว่า ภาพเปลือยของผู้เสียหายที่จำเลยทั้งสองขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยเป็นความลับซึ่ง การเปิดเผยนั้นจะทำให้ผู้เสียหายหรือบุคคลที่สามเสียหาย ทั้งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ เพราะหากไม่ใช่ความลับที่เปิดเผยแล้วจะทำให้ผู้เสียหายหรือบุคคลที่สามต้อง เสียหาย ก็ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าไม่ใช่ความลับที่ผู้เสียหายประสงค์จะปกปิดเอาไว้มิ ให้เปิดเผยแก่บุคคลทั่วไปอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 338 ดังนั้น คำฟ้องของโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้จำเลยทั้งสองจะเข้าใจข้อหาในคำฟ้องได้ดีและไม่หลงต่อสู้ ศาลก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องที่ไม่ชอบได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 662/2548
ผู้เสียหายทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานที่ดินได้รับคำสั่งจากกรมที่ดินให้ปฏิบัติงาน ตามโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินทั้งตำบลและเปลี่ยน น.ส. 3 ก เป็นโฉนดที่ดิน ระหว่างปฏิบัติหน้าที่มีผู้ร้องเรียนไปยังกรมที่ดินว่าผู้เสียหายที่ 1 เรียกและรับเงินค่าออกโฉนด กรมที่ดินจึงมีคำสั่งเรียกตัวกลับกรมที่ดินโดยขณะนั้นผู้เสียหายที่ 1 ไม่ทราบสาเหตุ จำเลยเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ได้โทรศัพท์ติดต่อผู้เสียหาย ที่ 1 และได้ไปพบผู้เสียหายทั้งสองพร้อมมอบนามบัตรจำเลยให้ผู้เสียหายทั้งสอง และแจ้งถึงเหตุที่ผู้เสียหายที่ 1 ถูกเรียกตัวกลับ จำเลยเป็นผู้ดำเนินการทำหนังสือร้องเรียนและลงข่าวในหนังสือพิมพ์สองฉบับ แล้วครั้งหนึ่ง ต่อมาจำเลยได้เรียกร้องเงินจากผู้เสียหายทั้งสอง เพื่อแลกกับการที่จำเลยจะไม่ลงข่าวที่ผู้เสียหายที่ 2 เรียกและรับเงินค่าออกโฉนดอีกท้องที่หนึ่งกับท้องที่ที่ถูกร้องเรียนครั้ง แรก ผู้เสียหายที่ 1 ขอให้จำเลยอย่าเพิ่งลงข่าว ผู้เสียหายที่ 1 กำลังหาเงิน ผู้เสียหายที่ 1 จะกู้เงินสหกรณ์มาให้จำเลย แต่ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 1 ได้ดำเนินการกู้เงินสหกรณ์ตามที่อ้าง หลังจากนั้นจำเลยได้โทรศัพท์ขู่ผู้เสียหายที่ 2 หลายครั้งเพื่อเร่งรัดผู้เสียหายที่ 1 หากผู้เสียหายที่ 1 ไม่มีก็ให้ผู้เสียหายที่ 2 ออกเงินให้แทน ผู้เสียหายทั้งสองจึงแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจและวางแผนจับกุมจำเลยได้ พร้อมธนบัตรที่มอบให้จำเลยกับเครื่องบันทึกเสียงพร้อมเทปที่ตัวจำเลย โดยเทปดังกล่าวบันทึกเสียงที่จำเลยสอบถามชาวบ้านเรื่องที่ผู้เสียหายที่ 1 เรียกรับเงินกับเสียงพูดระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 ขอร้องไม่ให้ลงข่าวและจะส่งเอกสารให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยมีความผิดฐานพยายามรีดเอาทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 80,338

จำเลยประกอบอาชีพเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ ซึ่งต้องมีจรรยาบรรณในการเสนอข่าวตามความเป็นจริงและเป็นธรรมไม่ลำเอียง แต่จำเลยกลับแสวงหาประโยชน์ที่มิชอบจากอาชีพของตนเป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและสังคม จึงไม่สมควรที่จะรอการลงโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1484/2549
จำเลยขู่เข็ญให้ผู้เสียหายที่ 1 นำเงินจำนวน 5,500 บาท มามอบให้เป็นค่าไถ่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายที่ 1 และหากไม่นำมาให้จะไม่ได้รับโทรศัพท์คืน จำเลยจะนำไปขายให้แก่บุคคลอื่น เข้าลักษณะเป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายที่ 1 โดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญคือขายโทรศัพท์ เคลื่อนที่ของผู้เสียหายที่ 1 ไป ซึ่งทำให้ผู้เสียหายที่ 1 เกิดความกลัวและยินยอมจะนำเงินจำนวน 5,500 บาท ไปให้จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเข้าลักษณะความผิดฐานกรรโชก ตาม ป.อ. มาตรา 337

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8104/2548
ปัญหาว่าจะลงโทษจำเลยที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง ฐานร่วมชิงทรัพย์โดยมีอาวุธได้หรือไม่ ในกรณีที่จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 มีอาวุธติดตัวมาและไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการใช้อาวุธข่มขู่ผู้เสียหาย และปัญหาว่าจะลงโทษจำเลยที่ 2 หนักขึ้นตาม ป.อ. มาตรา 340 ตรี ฐานใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นจากการจับกุมได้หรือไม่ เนื่องจากจำเลยที่ 2 เพียงนำรถจักรยานยนต์เที่ยวเตร่กับจำเลยที่ 1 หลังเกิดเหตุยังคงขับรถเที่ยวโดยไม่ได้หลบหนีนั้น แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 แต่ปัญหาทั้งสองประการเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 2 จึงยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225

ในความผิดฐานชิงทรัพย์โดยมีอาวุธ ถ้าผู้ร่วมกระทำความผิดแม้คนใดคนหนึ่งมีอาวุธติดตัวไปด้วย ผู้กระทำความผิดที่ไม่มีอาวุธหรือไม่รู้ว่าผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันมีอาวุธติดตัวไป ก็ย่อมมีความผิดฐานชิงทรัพย์โดยมีอาวุธด้วย ตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง ทั้งยังเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้น ไปตามบทกฎหมายเดียวกัน

จำเลยทั้งสองร่วมกันชิงทรัพย์ของผู้เสียหาย แล้วขับรถจักรยานยนต์พาทรัพย์ของผู้เสียหายไปจากที่เกิดเหตุ ก็เป็นการชิงทรัพย์โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะพาทรัพย์นั้นไปตาม ป.อ. มาตรา 340 ตรี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6546/2548
ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน ผู้เสียหายกำลังขับรถแท็กซี่โดยมีจำเลยซึ่งเป็นผู้โดยสารและไม่เคยรู้จักกันมาก่อนนั่งอยู่ด้านหลัง ใช้วัตถุจี้ที่เอวผู้เสียหายพร้อมกับพูดว่ามีสตางค์เท่าไหร่เอามาให้หมด ในขณะนั้นผู้เสียหายไม่อาจทราบได้ว่าวัตถุที่จำเลยใช้จี้เอวเป็นไม้เสียบลูกชิ้น แต่การที่ผู้เสียหายรู้สึกเจ็บ ทำให้ผู้เสียหายเข้าใจว่าวัตถุที่จำเลยใช้จี้เป็นอาวุธที่มีลักษณะปลายแหลม สามารถใช้ประทุษร้ายร่างกายผู้เสียหายได้ ในสถานการณ์เช่นนี้ผู้เสียหายย่อมจะต้องเกิดความกลัวและไม่กล้าขัดขืนยอมมอบเงินให้แก่จำเลยไป การกระทำดังกล่าวของจำเลยถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลัง ประทุษร้ายผู้เสียหายตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคแรก แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6316/2548
ขณะผู้เสียหายที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ไปตามถนน จำเลยได้ขับรถจักรยานยนต์ของกลางโดยมี ศ. นั่งซ้อนท้ายตามหลังรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายที่ 2 แสดงว่าจำเลยกับ ศ. ขับรถจักรยานยนต์ของกลางตามรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายที่ 2 มาด้วยกันตั้งแต่ต้น เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายที่ 2 เครื่องดับ ศ. ได้เล็งอาวุธปืนมาที่ผู้เสียหายที่ 2 แล้วใช้อาวุธปืนตีศีรษะผู้เสียหายที่ 2 รถจักรยานยนต์ผู้เสียหายที่ 2 ได้ล้มลง ศ. เข้ามาขับรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายที่ 2 หลบหนีพร้อมกับจำเลย แม้จำเลยจะมิได้ทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 และมิได้พารถจักรยานยนต์ ผู้เสียหายที่ 2 ไป แต่จำเลยก็อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุตลอดเวลา หลังจากเกิดเหตุจำเลยก็ขับรถจักรยานยนต์ของกลางหลบหนีไปพร้อมกับ ศ. พฤติการณ์ของจำเลยกับ ศ. เป็นการวางแผนกันมาก่อนและเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ จำเลยจึงเป็นตัวการสมคบร่วมกระทำความผิดกับ ศ. เพื่อชิงทรัพย์มาตั้งแต่ต้น มิใช่เจตนาเพียงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด

จำเลยกับ ศ. สมคบกันมาตั้งแต่ต้นเพื่อชิงทรัพย์ผู้เสียหายที่ 2 ในชั้นสอบสวนจำเลยก็ให้การว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยเห็น ศ. พกอาวุธปืนมาด้วย ซึ่งการสมคบกันมาชิงทรัพย์นี้จำเลยย่อมคาดหมายได้ว่า ศ. ย่อมจะใช้อาวุธปืนในการชิงทรัพย์ จำเลยจะอ้างว่าจำเลยไม่ทราบและไม่เกี่ยวข้องด้วยหาได้ไม่ ประกอบกับในการชิงทรัพย์ผู้เสียหายที่ 2 จำเลยเป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์ของกลางพา ศ. มาชิงทรัพย์ ซึ่ง ศ. ได้เล็งอาวุธปืนไปที่ผู้เสียหายที่ 2 แล้วใช้อาวุธปืนตีศีรษะผู้เสียหายที่ 2 เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย แล้วจำเลยขับรถจักรยานยนต์ของกลางหลบหนีไป การกระทำของจำเลยย่อมเป็นการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กาย โดยใช้ยานพาหนะ

จำเลยเป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์ของกลางโดยมี ศ. นั่งซ้อนท้ายติดตามรถจักรยานยนต์คันที่ผู้เสียหายที่ 2 ขับมาตั้งแต่ต้นจนกระทั่งติดตามมาทันเนื่องจากรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย ที่ 2 เกิดเหตุเครื่องดับกะทันหัน แล้วจำเลยกับ ศ. ร่วมกันชิงเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 2 จากนั้นจำเลยได้ขับรถจักรยานยนต์ของกลางหลบหนีไป แสดงให้เห็นว่า หากจำเลยกับ ศ. ไม่ใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะขับติดตามรถจักรยานยนต์ของผู้เสีย หายที่ 2 ก็จะไม่สามารถติดตามผู้เสียหายที่ 2 ได้ทัน และทำการชิงเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 2 สำเร็จ รถจักรยานยนต์ของกลางจึงเป็นยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ อันพึงต้องริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8523/2547
การที่จำเลยกับพวกนำรถจักรยานยนต์มาที่บริษัทผู้เสียหายในครั้งแรกนั้นก็เพื่อ ให้ผู้เสียหายจัดไฟแนนซ์รถจักรยานยนต์ให้ จึงมิใช่เป็นการใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำความผิด ต่อมาหลังจากจำเลยกับพวกทำร้ายร่างกายผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายแล้ว ล้วงเอาเงินในกระเป๋าเสื้อของผู้เสียหายไป จากนั้นจำเลยใช้มีดแทงหลังกับจับศีรษะผู้เสียหายกระแทกกับโถส้วมหลายครั้งจน ผู้เสียหายหมดสติไป การกระทำของจำเลยกับพวกเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับ อันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสาม เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 131/2546
วันเกิดเหตุขณะผู้เสียหายกำลังจัดของอยู่กลางร้าน จำเลยทั้งสี่เข้ามาในร้านผู้เสียหายถามว่ามาซื้ออะไร จำเลยที่ 1 บอกว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมาดูแลความเรียบร้อยในร้าน ต้องการเงิน 5,000 บาท เป็นค่าดูแล ผู้เสียหายรู้สึกไม่ปลอดภัยจึงเดินไปหลังร้านโทรศัพท์ไปที่สถานีตำรวจแต่ไม่ ติด เมื่อเดินออกมาหน้าร้านก็เห็นจำเลยทั้งสี่เดินขึ้นรถยนต์กระบะไป จะเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 เพียงแต่อ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและพูดขอเงินเป็นค่าดูแลร้านเท่านั้น ซึ่งผู้เสียหายจะให้หรือไม่ก็ได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้เสียหายหรือบุคคลที่สามแต่อย่างใด และจำเลยทั้งสี่ไม่ได้รอเอาเงินจากผู้เสียหายตามที่พูด คำพูดของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพและทรัพย์สินของผู้เสียหาย ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5483/2543
โจทก์ทำำสัญญาเช่าร้านอาหารพิพาทจากจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 2 กับชายคนหนึ่งซึ่งพกอาวุธปืนติดตัวได้พากันไปที่ร้านอาหารพิพาทซึ่งมี ลูกจ้างโจทก์เฝ้าดูแลอยู่ จำเลยที่ 2 สั่งลูกจ้างโจทก์ให้ออกจากร้านมิฉะนั้นจะปิดกุญแจขัง ลูกจ้างโจทก์กลัวจึงยอมออกจากร้าน จำเลยที่ 2 ได้ปิดกุญแจร้านอาหารพิพาททำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถประกอบ กิจการร้านอาหารและไม่สามารถนำอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ของโจทก์ซึ่งซื้อ มาใช้ในการประกอบกิจการออกจากร้านอาหารพิพาทได้หลังจากนั้นอีก 3 ถึง 4 วัน จำเลยที่ 1 ได้ให้บุคคลอื่นเข้าทำกิจการร้านอาหารพิพาทแทน โจทก์ยังได้นำสืบอีกว่าไม่เคยค้างชำระค่าเช่าจำเลยที่ 1 ดังนี้ ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเกี่ยวกับความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ.มาตรา 362,364 และ 365 จึงมีมูล ศาลล่างทั้งสองด่วนวินิจฉัยว่าโจทก์ผิดสัญญาเช่า จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจกลับเข้าครอบครองทรัพย์ที่เช่าตามสัญญาจึงไม่ชอบ

จำเลยที่ 2 ให้ จ.ออกจากร้านอาหารพิพาทเพื่อปิดร้าน มิใช่การกระทำเพื่อให้ได้รับประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน ไม่เป็นความผิดฐานกรรโชก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3768/2541
เมื่อจำเลยใช้ไม้ตีทำร้ายผู้เสียหายล้มลงและ ในทันทีทันใดนั้นจำเลยก็ได้ลักเอาอาวุธปืนสั้นของผู้เสียหายไปซึ่งการกระทำ ทั้งสองอย่างดังกล่าวยังต่อเนื่องติดพันกันตามพฤติการณ์แสดงว่าขณะจำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจำเลยมีเจตนาเพื่อประสงค์ต่อทรัพย์ของผู้เสียหายด้วย จึงเป็นการกระทำที่ครบองค์ประกอบความผิดชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 แล้ว แม้เจตนาเดิมจำเลยจะใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อให้พ้นการจับกุมใน ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ที่ร้านทองก็ตาม แต่เมื่อจำเลยได้กระทำความผิดฐานชิงทรัพย์แล้วจำเลยก็ได้ใช้รถจักรยานยนต์ คันดังกล่าวเป็นยานพาหนะ ขับหลบหนีไป แสดงว่าจำเลยยังมีเจตนาที่จะใช้รถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับมาจอดไว้นั้นเป็น ยานพาหนะในการหลบหนีเพื่อให้พ้นการจับกุมในความผิดฐานชิงทรัพย์นี้ด้วย การกระทำของจำเลย จึงเป็นการชิงทรัพย์โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อให้พ้นจากการจับ กุมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3105/2541
จำเลย ที่ 2 ร่วมกับพวกอีก 2 คน กระทำความผิดฐานพยายาม ปล้นทรัพย์โดยใช้ปืนยิง โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้วางแผนการปล้นทรัพย์ผู้เสียหายโดยกำหนดให้จำเลยที่ 2 และ ส.กับพวกเข้าไปปล้นทรัพย์ในบ้านผู้เสียหาย ส่วนจำเลยที่ 3กับจำเลยที่ 1 ร่วมกันไปส่งจำเลยที่ 2 กับพวกเข้าทำการปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย จากนั้นจำเลยที่ 3 และที่ 1 ไปรออยู่ที่ร้านอาหาร และย้อนกลับมาดูจำเลยที่ 2 กับพวก เมื่อทราบว่าจำเลยที่ 2 กับพวกปล้นทรัพย์ผู้เสียหายไม่สำเร็จและจำเลยที่ 2 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจสกัดจับโดยพวกของจำเลยที่ 2 หลบหนีไปได้การที่จำเลยที่ 3 อยู่กับจำเลยที่ 1และที่ 2 ในเวลาใกล้ชิดกับเวลาเกิดเหตุ และจำเลยที่ 3เป็นผู้วางแผนในการปล้นทรัพย์ครั้งนี้ แม้จำเลยที่ 3จะไม่ได้ร่วมลงมือกระทำการปล้นทรัพย์กับจำเลยที่ 2 และพวกอีก 2 คนก็ตาม แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 กับพวกดังกล่าวคิดจะไปปล้นทรัพย์ผู้เสียหายอยู่ก่อนแล้ว กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ก่อหรือผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวการร่วมกันปล้นทรัพย์กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และพวกอีก 2 คนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ก่อหรือผู้ใช้อื่นกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 จึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญย่อมไม่อาจลงโทษจำเลย ที่ 3 ฐานเป็นตัวการผู้ร่วมกระทำความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์ได้ตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสอง แต่การที่จำเลยที่ 3 เป็นผู้วางแผนในการปล้นทรัพย์ และจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1 ไปส่งจำเลยที่ 2 กับพวกอีก 2 คน ลงจากรถยนต์กระบะไปทำการปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย ถือได้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่น กระทำความผิดก่อนกระทำความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์โดยใช้ปืนยิง จึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคสี่ ประกอบด้วยมาตรา 80 และ 86 และลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานดังกล่าวได้ ไม่เกินคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคหนึ่ง แม้ในการปล้นทรัพย์ครั้งนี้มีการใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้กับผู้เสียหาย แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที 2 หรือจำเลยที่ 3 เป็นผู้มีอาวุธปืนกระบอกดังกล่าวไว้ในครอบครองและพาติดตัวมาใช้ในการปล้น ทรัพย์ครั้งนี้ และไม่ปรากฏว่าคนร้ายคนใดเป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิง ทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ให้การปฏิเสธในข้อหามีและพาอาวุธปืนตลอดมา จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดฐานร่วมกันมีและพาอาวุธปืนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำเลยที่ 1 เพียงแต่ขับรถยนต์กระบะไปส่งจำเลยที่ 2กับพวกอีก 2 คน ไปทำการปล้นทรัพย์บ้านผู้เสียหายและกลับไปพบจำเลยที่ 2 กับพวก ภายหลังจากที่ปล้นทรัพย์ผู้เสียหายไม่สำเร็จและรับจำเลยที่ 2 กับพวกขึ้นรถแล้วมาถูกจับเท่านั้น กรณีเช่นนี้จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 กับพวกใช้รถยนต์ดังกล่าวเป็นยานพาหนะเพื่อกระทำความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์ หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม และเมื่อฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดในข้อหาร่วมกันมีและพาอาวุธปืนดังกล่าว และไม่อาจทราบได้ว่าผู้ที่ร่วมลงมือปล้นทรัพย์ครั้งนี้ผู้ใดเป็นผู้มีและใช้ อาวุธปืน และยังฟังไม่ได้ว่าได้มีการใช้ยานพาหนะในการกระทำความผิดฐาน พยายามปล้นทรัพย์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์โดยใช้ปืนยิงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสี่ประกอบมาตรา 80 และ 86 เท่านั้น ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 3ต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าวกรณีไม่อาจลงโทษ จำเลยที่ 2 ฐานพยายามปล้นทรัพย์โดยมีหรือใช้อาวุธปืนและใช้ยานพาหนะและลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3ฐานเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าวได้ และจะปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรีด้วยมิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9761/2539
จำเลยใช้มีดปลายแหลมจี้เอาสร้อยคอทองคำและเงินสดของผู้เสียหายทั้งสามแล้ววิ่งไป ขึ้นรถจักรยานยนต์ที่จอดเตรียมอยู่ขับหลบหนี แม้ทรัพย์ที่จำเลยชิงไปจะเป็นของเล็กสามารถพาไปได้โดยไม่ต้องใช้รถจักรยานยนต์ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยใช้รถจักรยานยนต์พาทรัพย์ที่ชิงได้ไป แสดงว่าจำเลยมีเจตนาจะใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะพาทรัพย์ที่ชิงได้นั้นไป จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2894/2537
จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ออกนอกเส้นทางพาผู้เสียหายไปที่เกิดเหตุ ซึ่งมีจำเลยที่ 2 คอยอยู่แล้วปล่อยให้ผู้เสียหายอยู่ในที่เกิดเหตุ ขณะจำเลยที่ 2 ชิงทรัพย์ผู้เสียหาย จำเลยที่ 1ไม่ได้อยู่คอยช่วยเหลือจำเลยที่ 2 จึงยังไม่ถือว่าเป็นตัวการร่วมกันชิงทรัพย์ผู้เสียหาย เป็นเพียงผู้สนับสนุนเท่านั้น ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1869/2536
จำเลยกับพวกร่วมกันข่มขืนใจโจทก์ร่วมให้ยอมให้หรือยอมจะให้เงินจำนวน 350,000 บาท แก่จำเลยกับพวก โดยขู่เข็ญว่าถ้าไม่ให้จะนำวีดีโอเทปการร่วมประเวณีระหว่างโจทก์ร่วมกับ จำเลยไปฉายให้ประชาชนดู จะฟ้องต่อเจ้าคณะจังหวัดกรมการศาสนา และจะลงหนังสือพิมพ์แต่โจทก์ร่วมไม่ได้มอบเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยกับ พวกการกระทำของจำเลยกับพวกเข้าองค์ประกอบของความผิดฐานพยายามรีดเอาทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 338 ประกอบมาตรา 80

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2226/2531
เงินในตู้บริจาคของศาลเจ้าและเงินของผู้ดูแลศาลเจ้า แม้จะเก็บรักษาไว้ในศาลเจ้า ก็มิใช่วัตถุในทางศาสนา การที่จำเลยกับพวกปล้นทรัพย์ดังกล่าวจึงมิได้กระทำต่อทรัพย์ตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 335 ทวิ วรรคแรกและไม่อาจเป็นความผิดตามมาตรา 335 ทวิ วรรคสองได้ ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 340 ทวิ