ความผิดฐานบุกรุก

มาตรา ๓๖๒  ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๓๖๓  ผู้ใดเพื่อถือเอาอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเป็นของตนหรือของบุคคลที่สาม ยักย้ายหรือทำลายเครื่องหมายเขตแห่งอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๓๖๔  ผู้ใดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เข้าไปหรือซ่อนตัวอยู่ในเคหสถาน อาคารเก็บรักษาทรัพย์หรือสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่น หรือไม่ยอมออกไปจากสถานที่เช่นว่านั้นเมื่อผู้มีสิทธิที่จะห้ามมิให้เข้าไปได้ไล่ให้ออก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๓๖๕  ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๓๖๒ มาตรา ๓๖๓ หรือมาตรา ๓๖๔ ได้กระทำ
(๑) โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย
(๒) โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป หรือ
(๓) ในเวลากลางคืน
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๓๖๖  ความผิดในหมวดนี้ นอกจากความผิดตามมาตรา ๓๖๕ เป็นความผิดอันยอมความได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1457/2563
      โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปในเคหสถานที่อยู่อาศัยของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันสมควร โดยไม่ได้บรรยายฟ้องถึงองค์ประกอบความผิดว่าจำเลยกระทำโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย แม้โจทก์มีคำขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 365 ศาลก็พิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 365 (1) ไม่ได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7499/2562
      ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นของโจทก์ร่วม จำเลยอ้างว่าเข้าไปขุดบ่อน้ำเพื่อรดต้นยูคาลิปตัสนั้น เป็นการนำสืบไม่มีเหตุผล และไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย พยานหลักฐานโจทก์มีเหตุผลและน้ำหนักมั่นคง พยานหลักฐานของจำเลยไม่อาจหักล้างได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยว่าจ้างบุคคลอื่นบุกรุกเข้าไปลักดินและทรายในที่ดินของโจทก์ร่วม ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกคำขอที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์นั้น เห็นว่า การที่กฎหมายให้อำนาจพนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจเรียกให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายนั้น ถือเป็นคำขอในส่วนแพ่งที่กฎหมายมีเจตนารมณ์ให้ศาลพิจารณาและพิพากษาทั้งคดีอาญาและส่วนแพ่งให้เสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน โดยการพิจารณาคดีส่วนแพ่ง ย่อมต้องบังคับไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง และศาลต้องวินิจฉัยค่าเสียหายโดยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายแล้วกำหนดค่าเสียหายในส่วนแพ่งให้ตามที่เห็นสมควร  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6905/2562
       จำเลยพกพาอาวุธมีดขนาดใหญ่บุกรุกเข้าไปข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ในห้องนอน โดยขณะกระทำชำเราจำเลยวางอาวุธมีดไว้ข้างตัวใกล้มือจำเลย ซึ่งพร้อมจะหยิบฉวยได้ทันที พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเด็กหญิงเกิดความกลัวว่าจะถูกทำร้ายด้วยอาวุธมีดนั้นจึงไม่กล้าขัดขืน ถือได้ว่าเป็นการใช้อาวุธมีดข่มขู่ผู้เสียหายที่ 2 เป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 โดยใช้อาวุธตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสี่  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4275/2562
        จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายที่ 1 เพื่อร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งยังไม่ถือว่าเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 ตามฟ้อง แต่การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถานของผู้เสียหายที่ 1 เพื่อทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 เป็นการเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายที่ 1 โดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 364 แม้โจทก์ไม่ได้อ้างบทมาตรา 364 แต่ได้ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามบทฉกรรจ์มาตรา 365 และได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีข้อความอันเป็นความผิดตามมาตรา 364 เช่นนี้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามมาตรา 364 และบทฉกรรจ์ตามมาตรา 365 (1) (2) ได้ ทั้งมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง หรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่ นอกจากนี้ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายที่ 1 เพื่อร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้เสียหายที่ 1 ในคราวเดียวและเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายที่ 1 ต่อเนื่องกันไปไม่ขาดตอน การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นและฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้โจทก์บรรยายฟ้องแต่ละข้อหาต่างกรรมกันมา ก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3885/2562
       เดิมพนักงานอัยการจังหวัดจันทบุรีฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นคดีอาญาข้อหาบุกรุกเข้าไปก่นสร้าง แผ้วถาง กระทำด้วยประการใด ๆ ในที่ดินพิพาทอันเป็นการทำลายป่า และเข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 54 และ 72 ตรี ศาลฎีกาในคดีดังกล่าววินิจฉัยว่า ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (1) ที่ดินแปลงใดที่ยังไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของหรือได้สิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินย่อมเป็นป่าทั้งสิ้นโดยไม่จำต้องมีเอกสารสิทธิในที่ดินหรือหลักฐานของทางราชการมาแสดงว่าเป็นป่าแต่อย่างใด จำเลย (โจทก์ในคดีนี้) พิสูจน์ไม่ได้ว่าตนได้ที่ดินพิพาทมาโดยชอบตามประมวลกฎหมายที่ดิน เท่ากับวินิจฉัยแล้วว่าไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทอันจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้รัฐได้ จึงมีความผิดตามฟ้อง การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้เพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยชอบในที่ดินพิพาท ขอให้ห้ามจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในคดีนี้ก็ย่อมเป็นประเด็นเดียวกันกับคดีอาญาดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 837/2562
      ข้อเท็จจริงตามฟ้องคดีก่อนอาคารของจำเลยมีขนาดกว้าง 3.50 เมตร ยาว 25 เมตร เป็นเพิงทำด้วยไม้ ส่วนคดีนี้อาคารของจำเลยมีขนาดกว้าง 4.30 เมตร ยาว 21.50 เมตร เป็นอาคารคอนกรีตก่ออิฐถือปูน เห็นได้ชัดว่าเป็นอาคารที่ก่อสร้างขึ้นมาใหม่ภายหลังเกิดเหตุคลื่นยักษ์สึนามิ การที่จำเลยก่อสร้างอาคารขึ้นใหม่แทนอาคารหลังเดิมและเข้ายึดถือครอบครองใหม่โดยเข้าไปก่อสร้างอาคารคอนกรีตในที่เกิดเหตุ จึงเป็นเจตนาที่เกิดขึ้นใหม่หาใช่เจตนาสืบเนื่องต่อกันมาไม่ และไม่ถือว่ามีเหตุชั่วคราวมาขัดขวางมิให้จำเลยยึดถือที่ดินที่เกิดเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 วรรคสอง การกระทำของจำเลยตามฟ้องคดีนี้จึงเป็นคนละคราวกับคดีก่อน ดังนั้น ถึงแม้ในคดีก่อนศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลย ก็มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปเฉพาะความผิดกรรมดังกล่าวเท่านั้น หาได้มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องสำหรับความผิดกรรมอื่น ๆ ระงับไปด้วยไม่ จะถือว่าเป็นเรื่องที่มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดฐานบุกรุกเข้ายึดถือครอบครอง ก่อสร้าง แผ้วถางและทำให้เสียหายแก่ที่ดินซึ่งเป็นป่าและเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันมิได้ ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำและสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8722/2561
       โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ต่อมาจำเลยทั้งสามบุกรุกเข้าไปล้อมรั้วและรื้อบ้านของโจทก์ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาท โจทก์ห้ามปรามแล้วแต่จำเลยทั้งสามไม่ฟัง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์และให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยทั้งสามให้การว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์แต่เป็นของ ช. เป็นของจำเลยที่ 3 โดยซื้อมาจาก ช. ตามคำให้การของจำเลยทั้งสามจึงไม่มีปัญหาเรื่องการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ จึงไม่มีการอ้างสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น การที่จำเลยทั้งสามยกเหตุเป็นข้อต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 3 จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองเกิน 1 ปี หรือไม่ การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามโดยกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันบุกรุกเข้าไปในเขตที่ดินและรื้อบ้านพิพาทกับตัดโค่นทำลายพืชผลอาสินของโจทก์ที่ปลูกไว้รอบบ้านแล้วล้อมรั้วรอบเขตที่ดินและบ้านพิพาทไม่ให้โจทก์และครอบครัวอยู่อาศัยใช้ประโยชน์ในที่ดินและบ้านพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์ เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำผิดทางอาญาฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์กับความผิดทางแพ่งฐานละเมิดรวมกันมา โจทก์จึงอาศัยมูลคดีอาญาฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดทางแพ่งฐานละเมิดได้ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และการที่โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีอาญาฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์แล้วถอนฟ้องไปก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ ซึ่งมีผลให้คู่ความกลับสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องทางอาญาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 จึงไม่มีคดีอาญาค้างพิจารณาอยู่ในศาลและศาลยังมิได้มีคำพิพากษาในส่วนอาญา 

          เมื่อมูลคดีนี้ถือว่ายังไม่มีผู้ใดฟ้องจำเลยทั้งสามทางอาญา สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่จะฟ้องทางแพ่งเนื่องจากความผิดทางอาญาย่อมต้องบังคับตามกำหนดเวลาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายเรื่องอายุความฟ้องคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง เมื่อความผิดทางอาญาที่โจทก์บรรยายฟ้องมาเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทและความผิดฐานบุกรุกที่ได้ร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปมีกำหนดโทษจำคุกสูงที่สุดไม่เกิน 5 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) อายุความฟ้องคดีอาญาจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) จึงต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดบังคับแก่คดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา 90 และเมื่อคำนวณนับแต่วันกระทำผิดถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ กรณีไม่มีการฟ้องคดีอาญาย่อมไม่มีข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาอันถึงที่สุดที่จะให้นำไปถือตามในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งคดีนี้จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดทางอาญาหรือไม่ และในการพิพากษาคดี ข้อความรับผิดเพื่อละเมิดและกำหนดค่าสินไหมทดแทนนั้น ศาลไม่จำต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายลักษณะอาญาอันว่าด้วยการที่จะต้องรับโทษ และไม่จำต้องพิเคราะห์ถึงการที่ผู้กระทำผิดต้องคำพิพากษาลงโทษทางอาญาหรือไม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง และ ป.พ.พ. มาตรา 424 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นของโจทก์ และไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามสามารถอ้างสิทธิใดๆ ที่จะก้าวล่วงเข้าไปในเขตที่ดินและบ้านพิพาทเพื่อกระทำการใดอันเป็นการกระทบกระเทือนสิทธิเหนือทรัพย์สินดังกล่าวของโจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ 

        การที่จำเลยทั้งสามยอมรับตามฟ้องว่า ได้เข้าไปในเขตที่ดินและรื้อบ้านพิพาทแล้วล้อมรั้วที่ดินพิพาทไม่ให้โจทก์และครอบครัวอยู่อาศัย ใช้ประโยชน์จากผลผลิตที่จะได้จากยางพาราและปาล์มซึ่งโจทก์ปลูกไว้ในเขตที่ดินและบ้านพิพาท การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการจงใจกระทำการโดยไม่สุจริต ทั้งส่งผลโดยตรงให้ทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหายและไม่ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น อันเป็นความผิดฐานละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6006/2561
        ที่ดินอันตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เพียงแต่ทางภาระจำยอมนี้ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์นั้นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1387 โดยจำเลยที่ 1 ยังมีสิทธิในทางภาระจำยอมอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เช่นเดิม เพียงแต่มาตรา 1390 ห้ามเจ้าของภารยทรัพย์ประกอบกรรมใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกเท่านั้น การใช้สิทธิเหนือที่ดินส่วนที่เป็นทางภาระจำยอมในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 ต่อไป แม้หากจำเลยทั้งสองก่อสร้างกำแพงคอนกรีต โครงเหล็กเป็นโรงจอดรถยนต์และบันไดคอนกรีตอันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ก็เป็นการกระทำลงบนที่ดินของจำเลยที่ 1 เอง หาใช่เป็นการเข้าไปกระทำในที่ดินของโจทก์ไม่ หากโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไรชอบที่จะไปว่ากล่าวกันในทางแพ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่มีมูลในความผิดฐานบุกรุก 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1185/2561
       ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดตาม ป.อ. 358, 365 (3) ประกอบมาตรา 362 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ระหว่างกำหนดระยะเวลาฎีกา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 สำหรับความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ เป็นความผิดต่อส่วนตัว โจทก์ถอนฟ้องในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องเป็นการไม่ชอบ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ถอนฟ้องของศาลชั้นต้น แต่เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง โดยอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและให้จำหน่ายคดีโจทก์ในส่วนความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358 จากสารบบความ สำหรับความผิดฐานบุกรุก เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ และโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องในระหว่างกำหนดระยะเวลาฎีกา ประกอบกับจำเลยที่ 1 ไม่คัดค้าน ศาลฎีกาจึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องในส่วนความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362 ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2406/2560
      จำเลยก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างคร่อมลำเหมืองที่เกิดเหตุตั้งแต่ปี 2542 สำหรับความผิดข้อหาบุกรุกและข้อหาทำให้เสียหาย ทำลายทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ตาม ป.อ. มาตรา 362 และมาตรา 360 เมื่อจำเลยบุกรุกเข้าไปและทำให้เสียทรัพย์ ความผิดฐานดังกล่าวย่อมเกิดขึ้นและสำเร็จในทันทีที่บุกรุกเข้าไปและทำให้เสียทรัพย์ ส่วนการยึดถือครอบครองเป็นผลของการบุกรุก เมื่อจำเลยบุกรุกเข้าไปและทำให้เสียทรัพย์ โดยก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างคร่อมลำเหมือง ที่เกิดเหตุตั้งแต่ปี 2542 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้ปี 2557 จึงเกินกำหนด 5 ปี และ 10 ปี นับแต่วันกระทำความผิดข้อหาบุกรุกและข้อหาทำให้เสียหาย ทำลายทรัพย์ ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ตามลำดับ ฟ้องโจทก์ในข้อหาดังกล่าวจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 ส่วนความผิดข้อหาเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ที่ดินของรัฐซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9 และ 108 ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดที่มีขึ้นตั้งแต่จำเลยเข้ายึดถือครอบครองและยังคงมีอยู่ตลอดเวลาที่จำเลยครอบครอง แม้จำเลยจะครอบครองมานานเกิน 10 ปี คดีของโจทก์เฉพาะข้อหาความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9 และ 108 ทวิ วรรคสอง ก็ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 289/2560
       โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย ณ. ตาม ป.อ. มาตรา 83, 295 และข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปทำร้ายร่างกาย ณ. ในเคหสถานซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วม ซึ่งวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตลอดจนสาระแห่งการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเหตุการณ์เดียวกันกับข้อเท็จจริงที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ จึงเป็นเรื่องการกระทำกรรมเดียวกันแต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตาม ป.อ. มาตรา 90 แม้คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย ณ. ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ถือได้ว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว ดังนั้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยทั้งสองของโจทก์ในคดีนี้ย่อมเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8832/2559
การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 เข้าไปด่าโจทก์ในบริเวณบ้านของโจทก์ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 แต่การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 เข้าไปในบริเวณบ้านอันเป็นเคหสถานของโจทก์เพื่อด่าโจทก์ด้วยถ้อยคำหยาบคาย เป็นการเข้าไปในเคหสถานของโจทก์โดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 364 แม้โจทก์ไม่ได้อ้างมาตรา 364 แต่ได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีข้อความอันเป็นความผิดตามมาตรา 364 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เช่นนี้ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามมาตรา 364 และบทฉกรรจ์ ตามมาตรา 365 (2) ได้ ทั้งไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่ และมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6256/2559
พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 16 (1) ให้อำนาจอธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรีอนุญาตให้โจทก์เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติเท่านั้น โจทก์จึงไม่ใช่ผู้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ป่าสงวนแห่งชาติที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัย ที่ดินดังกล่าวจึงยังไม่เป็นของโจทก์ แม้จำเลยจะเข้ายึดถือครอบครองก็ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการรบกวนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองของโจทก์โดยตรง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 362

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14822/2558
ความผิดฐานร่วมกันบุกรุกนั้น แม้จะฟังได้ว่าจำเลยเป็นบุตรของ ญ. ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท แต่โจทก์เป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตและได้รับความยินยอมจาก พ. ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทอีกคนหนึ่ง และเป็นหนึ่งในคณะบุคคลผู้ให้เช่าที่อนุญาตให้โจทก์เข้าใช้สอยทำประโยชน์จากที่ดินพิพาทได้ ย่อมถือว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทและมีอำนาจที่จะป้องกันหรือขัดขวางผู้เข้ารบกวนการครอบครองของโจทก์ได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทราบว่าโจทก์เข้าใช้สอยที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2553 แต่จำเลยไม่ดำเนินการทางกฎหมายแก่โจทก์ในประการใด ต่อมาปี 2555 จำเลยนำเสาเหล็กไปปิดกั้นที่ดินพิพาทและเอาโซ่เหล็กไปคล้องเพื่อปิดกั้นทางเข้าออก จึงเป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่า จำเลยมีเจตนาที่จะรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย การที่จำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362, 83

สำหรับความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์นั้น แม้ขณะเกิดเหตุจะฟังได้ว่า พวกของจำเลยเป็นผู้ยกเอาเก้าอี้ของโจทก์ไปโดยความรู้เห็นของจำเลยก็ตาม แต่พวกของจำเลยนำเก้าอี้ไปตั้งวางไว้ที่บริเวณหลังร้านของโจทก์ในระยะห่างจากจุดเดิมเพียงไม่กี่เมตร โดยจำเลยต่อสู้ว่านำเก้าอี้ไปใช้นั่งพูดคุยกันซึ่งก็มีเหตุผลควรแก่การรับฟัง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยสั่งการให้ขนเคลื่อนย้ายเก้าอี้ไปไว้ในบ้านจำเลยหรือนำเก้าอี้ไปทำประโยชน์อื่นใด ดังนั้นการที่จำเลยไม่ยอมคืนเก้าอี้ให้แก่โจทก์ในตอนแรกจึงเป็นเพียงพฤติการณ์ที่เกะกะระรานสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่โจทก์มากกว่าจะเป็นการเอาเก้าอี้ไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับจำเลยหรือพวกของจำเลย คดียังมีเหตุอันควรสงสัยรับฟังไม่ได้แน่ชัดว่า จำเลยกับพวกเอาเก้าอี้ของโจทก์ไปโดยทุจริตหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง จึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12091/2558
      ก่อนจับกุมโจทก์ทั้งสองได้มีการจับกุม ช. กับพวกในข้อหาลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ช. ให้การว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ใช้จ้างวาน จึงมีการสอบสวน ขยายผลและจับกุมโจทก์ทั้งสองมาลงบันทึกประจำวันไว้ และตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีระบุว่า พันตำรวจเอก ส. ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลพระโขนง สั่งให้จำเลยทั้งสิบสามซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนปราบปรามนำตัว ช. ไปสอบสวนขยายผล โดยนัดโจทก์ที่ 2 มารับรถยนต์ที่หน้าห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนหากต้องไปขอหมายจับจากศาลชั้นต้นแล้วผู้ร่วมกระทำความผิดอาจหลบหนีไปได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (3) ทั้งรถที่ถูกลักอยู่ที่บ้านของโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 2 เป็นผู้พาเจ้าพนักงานตำรวจไปทำการตรวจค้นเอง จึงไม่จำต้องขอหมายค้นจากศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92 (4) และมาตรา 94 การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งการโดยชอบ จึงไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 157 ฟ้องของโจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยทั้งสิบสามร่วมกันทำร้ายร่างกายโจทก์ทั้งสองขณะโจทก์ทั้งสองถูกควบคุมตัว ฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงมิได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยทั้งสิบสามกระทำความผิด เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) การที่จำเลยทั้งสิบสามจับกุมโจทก์ทั้งสองสืบเนื่องจากคำซัดทอดของ ช. กับพวก ต่อมามีการแจ้งข้อหาและทำหลักฐานการจับกุม การระบุวันที่จับกุมและบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนคลาดเคลื่อนไปบ้างเป็นเพียงรายละเอียด แต่สาระสำคัญมีความถูกต้องตามพฤติการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และมีการนำสืบพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาไปตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งจำเลยทั้งสิบสามอาจเชื่อว่าโจทก์ทั้งสองมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จึงมิใช่เป็นพยานหลักฐานเท็จ การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ หรือนำสืบพยานหลักฐานอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 162, 172, 173, 174, 179 และ 180 โจทก์ที่ 2 พาเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นที่บ้านของโจทก์ที่ 2 โดยความยินยอมของโจทก์ที่ 2 เอง การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลเป็นความผิดฐานบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนตาม ป.อ. มาตรา 365 (3) ประกอบมาตรา 362 ของกลางทั้งหมดเจ้าพนักงานตำรวจนำไปเป็นของกลางคดีอาญา ทั้งโจทก์ทั้งสองได้อ่านข้อความในบันทึกการจับกุมที่ระบุว่ามีการยึดเงินสด ธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท 20 ฉบับ รวมเป็นเงิน 20,000 บาท แล้วมิได้โต้แย้งว่าจำนวนเงินดังกล่าวไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงแต่อย่างใด เชื่อว่าเจ้าพนักงานตำรวจบันทึกข้อความในบันทึกการจับกุมโดยถูกต้องแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 340

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6984/2558
       จำเลยทั้งสามบุกรุกเข้าไปในสถานที่เก็บรักษาสายไฟฟ้า ทั้งยังทำร้ายผู้เสียหายซึ่งครอบครองดูแลสถานที่นั้น อันเป็นส่วนหนึ่งของการปล้นทรัพย์ จึงเป็นการลงมือกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ไม่ใช่แค่เพียงตระเตรียมการ แม้จำเลยทั้งสามจะหลบหนีไปก่อนโดยไม่แตะต้องสายไฟฟ้าก็เป็นการลงมือกระทำความผิดแล้วแต่กระทำไปไม่ตลอด การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการร่วมกันพยายามกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5740/2558
        แม้ในคดีแพ่งที่ผู้เสียหายฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของผู้เสียหายโดยให้เหตุผลว่าผู้เสียหายยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาหลังจากที่จำเลยที่ 1 เข้าไปปลูกข้าวในที่นาพิพาทเป็นเวลาหลายเดือนจนข้าวจะเก็บเกี่ยวได้แล้ว การยื่นคำร้องขอของผู้เสียหายจึงล่วงเลยเวลาอันสมควร ทั้งหากจะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้ ก็ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 1 จึงยังไม่สมควรจะนำวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254 (2) มาใช้แก่จำเลยที่ 1 อันอาจเป็นเหตุทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิเข้าไปเก็บเกี่ยวข้าวในที่นาพิพาท เพราะเชื่อว่าเป็นต้นข้าวที่จำเลยที่ 1 ปลูกไว้ก็ตาม แต่ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยที่ 1 กับพวกว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานบุกรุกที่นาพิพาทของผู้เสียหาย อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าที่นาพิพาทเป็นของผู้เสียหาย และผลของคำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวย่อมทำให้จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเข้าไปกระทำการใด ๆ ในที่นาพิพาท เนื่องจากคำพิพากษาศาลชั้นต้นย่อมมีผลผูกพันคู่ความจนกว่าคำพิพากษานั้นถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสีย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แต่ในวันเกิดเหตุหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีอาญาดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กลับเข้าไปเกี่ยวข้าวซึ่งปลูกอยู่ในที่นาพิพาทเนื้อที่ประมาณ 1 งาน ได้ข้าวจำนวน 50 มัด นำไปวางไว้บนคันนาอีก เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามพยานหลักฐานของโจทก์ว่า ข้าวในที่นาพิพาทเป็นของผู้เสียหาย การที่จำเลยที่ 4 เข้าไปเกี่ยวข้าวในที่นาพิพาทร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จึงถือว่าจำเลยที่ 4 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันลักข้าวเปลือกที่เป็นของผู้มีอาชีพกสิกรรม แต่ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าทรัพย์ที่ถูกลักไปนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ พืชพันธุ์ หรือได้มาจากการกสิกรรมนั้น ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 335 (12) เพราะลำพังการลักทรัพย์อื่นของผู้มีอาชีพกสิกรรมย่อมไม่เป็นความผิดตามอนุมาตรานี้ ดังนั้น จำเลยทั้งสี่จึงมีความผิดตามมาตรา 335 (7) เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5568/2558
      เจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นที่เกิดเหตุโดยมีหมายค้น แต่คนที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุไม่มีใครยอมเปิดประตูให้ การที่เจ้าพนักงานตำรวจงัดกุญแจประตูรั้วบ้าน และเข้าไปดำเนินการตรวจค้นเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและเป็นการกระทำตามสมควรเพื่อให้สามารถเข้าไปในที่เกิดเหตุได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4758/2558
           ความผิดฐานบุกรุกสำเร็จแล้วตั้งแต่จำเลยทั้งสองเข้าไปปลูกเพิงขายอาหารชั่วคราวในที่ดินโจทก์ร่วมเมื่อปี 2547 การที่จำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินโจทก์ร่วมต่อมาหลังจากนั้นด้วยการก่อสร้างต่อเติมอาคารคอนกรีตชั้นเดียวจนถึงช่วงเกิดเหตุตามฟ้องคือ ระหว่างเดือนสิงหาคม 2550 ถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2554 เป็นเพียงผลของการบุกรุกเท่านั้น ไม่ใช่เป็นความผิดต่อเนื่องในอันที่จำเลยทั้งสองจะมีความผิดฐานบุกรุกขึ้นมาอีก การกระทำของจำเลยทั้งสองในช่วงเกิดเหตุตามฟ้องจึงไม่มีความผิดฐานบุกรุก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 811/2558
            จำเลยที่ 1 เป็นภริยาจำเลยที่ 2 ซื้อบ้านมีลักษณะเป็นห้องแถวไม้และใช้ผนังอาคารไม้ทั้งสองด้านร่วมกันกับบ้านสองหลังของโจทก์ร่วม การที่จำเลยทั้งสองว่าจ้าง ช. รื้อผนังอาคารไม้ทั้งสองด้านโดยพลการ เป็นการร่วมกันเข้าไปในบ้านทั้งสองหลังซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมเพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 และเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามมาตรา 364 อีกบทหนึ่ง เมื่อจำเลยทั้งสองร่วมกระทำผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป การกระทำของจำเลยทั้งสองในความผิดฐานบุกรุกจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362 และมาตรา 364 ทั้งยังเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งผนังอาคารไม้ทั้งสองด้านของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยอันเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358 อีกบทหนึ่ง จำเลยทั้งสองร่วมกันว่าจ้างให้ ช. ซ่อมแซมปรับปรุงบ้านของจำเลยที่ 1 โดยให้รื้อฝาผนังร่วมซึ่งเป็นผนังไม้ทั้งสองด้าน คอยควบคุมดูแลการก่อสร้างอยู่ตลอด และทราบว่าการไม่ฉาบปูนผนังอิฐทางด้านบ้านของโจทก์ร่วม เป็นสาเหตุที่ทำให้มีน้ำรั่วซึมเวลาฝนตก การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการสมคบร่วมกันกระทำการรื้อผนังอาคารร่วมทั้งสองด้านซึ่งโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของร่วมด้วย จึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดตามมาตรา 83 หาใช่เป็นเพียงผู้ใช้ให้ ช. กระทำความผิดตามมาตรา 84 ไม่ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีไม่ใช่ค่าเสียหายโดยตรงที่เกิดจากการที่จำเลยทั้งสองบุกรุกและทำให้บ้านทั้งสองหลังของโจทก์ร่วมเสียหาย ส่วนค่าเสียหายต่อจิตใจก็คือค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 446 กำหนดให้เรียกร้องได้เฉพาะในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายอนามัยหรือทำให้เขาเสียเสรีภาพเท่านั้น กรณีความเสียหายต่อทรัพย์สิน มาตรา 446 ไม่เปิดสิทธิให้แก่ผู้ต้องเสียหายเรียกร้องเอาได้ สำหรับค่าเช่าหรือค่าเสียโอกาสใช้สอยบ้านของโจทก์ร่วมนั้น การที่ก่อนเกิดเหตุโจทก์ร่วมไม่ได้ใช้สอยบ้านทั้งสองหลัง ไม่ได้หมายความว่าขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมจะใช้สอยหรือหาประโยชน์จากบ้านทั้งสองหลังของตนไม่ได้ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกและทำให้บ้านทั้งสองหลังของโจทก์ร่วมเสียหาย จึงเป็นผลโดยตรงที่ทำให้โจทก์ร่วมเสียหาย ไม่อาจใช้สอยหรือหาประโยชน์จากบ้านทั้งสองหลังของตนได้ โจทก์บรรยายฟ้องระบุการกระทำผิดฐานบุกรุกว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบริเวณบ้านพักอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยไม่ได้รับอนุญาตและโดยไม่มีเหตุอันสมควรเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข และมีคำขอให้ลงโทษตาม ป.อ.มาตรา 362, 364, 365 ประกอบมาตรา 83 เมื่อการกระทำผิดของจำเลยทั้งสองในความผิดฐานนี้เข้าลักษณะเป็นความผิดทั้งตามมาตรา 362 และมาตรา 364 แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาปรับบทลงโทษเพียงตามมาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362 จึงไม่ถูกต้องครบถ้วน ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และการที่ศาลฎีกาเพียงแต่ปรับบทลงโทษโดยมิได้แก้ไขโทษให้หนักขึ้น ก็มิได้เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษอันจักเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

         กรณีผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่มีนัยสำคัญบ่งชี้ว่าวิธีพิจารณาความแพ่งเช่นว่านี้ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เช่นเดียวกับคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาทั่วไปดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40 นั่นเอง ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจึงอยู่ในบังคับต้องมีคำพิพากษาสั่งในเรื่องความรับผิดในชั้นที่สุดแห่งค่าฤชาธรรมเนียมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 ประกอบมาตรา 167 เพราะแม้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 253 คำร้องขอตามมาตรา 44/1 ห้ามมิให้เรียกค่าธรรมเนียมก็ตาม แต่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 158 บัญญัติว่า "ถ้าศาลเห็นว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นผู้รับผิดเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมด หรือแต่บางส่วนของคู่ความทั้งสองฝ่าย ให้ศาลพิพากษาในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม โดยสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งนั้นชำระต่อศาลในนามของผู้ที่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลซึ่งค่าธรรมเนียมศาลที่ผู้นั้นได้รับยกเว้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตามที่ศาลเห็นสมควร" และแม้คำว่า "ผู้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล" ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 158 เป็นบทบัญญัติต่อเนื่องมาจากหลักเกณฑ์การขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในการฟ้องหรือต่อสู้คดีตามมาตรา 156 มาตรา 156/1 และมาตรา 157 ก็ตาม แต่ก็ต้องนำมาใช้บังคับแก่กรณีที่ผู้เสียหายใช้สิทธิตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนเองอันเป็นคดีส่วนแพ่ง ซึ่งมาตรา 44/1 วรรคสอง บัญญัติให้ถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. และผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่งนั้นด้วย ในฐานะที่เป็นกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18803/2557
       ศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อปี 2547 โดยวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ย่อมมีผลผูกพันคู่ความรวมทั้งโจทก์ด้วย และเมื่อเป็นคำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทว่าเป็นของโจทก์ อันเป็นคุณแก่โจทก์จึงอาจใช้ยันจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีดังกล่าวได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง (2) ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 กับ จ. เป็นจำเลยต่อศาลแขวงอุบลราชธานี จึงมิใช่กรณียังไม่เป็นที่ยุติว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ ต่อมาเมื่อปี 2551 จำเลยที่ 1 กับ จ. ได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาทของโจทก์จนศาลพิพากษาลงโทษและให้ออกไปจากที่ดินพิพาท จากนั้นปี 2552 จำเลยทั้งสองยังเข้าไปในที่ดินพิพาทอีกจนถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ ถือว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนากระทำความผิดฐานบุกรุกที่ดินพิพาทแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16789/2557
          จำเลยทั้งสี่นำสืบว่า จำเลยที่ 1 เรียกให้ผู้เสียหายกับพวกออกมาที่หน้าบ้านเกิดเหตุ และจำเลยที่ 1 ชกต่อยกับผู้เสียหายกับพวกที่บริเวณหน้าบ้าน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เข้าห้ามปรามโดยจำเลยทั้งสี่ไม่ได้เข้าไปในบ้านเกิดเหตุ ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ที่ว่า จำเลยที่ 1 เข้าไปในบ้านเกิดเหตุโดยขาดเจตนาในการกระทำความผิด จึงไม่มีความผิดฐานบุกรุก จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็ไม่มีความผิดฐานบุกรุกด้วยเพราะเป็นเหตุในลักษณะคดี จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ตามพฤติการณ์เชื่อว่าผู้เสียหายกับพวกครอบครองบ้านเกิดเหตุอยู่โดยอาศัยสิทธิของ จ. และขณะเกิดเหตุบ้านเกิดเหตุยังอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายกับพวก แม้จะรับฟังได้ตามที่จำเลยทั้งสี่นำสืบและฎีกาว่า จ. เคยฟ้องมารดาของจำเลยทั้งสามกับพวกเกี่ยวกับที่ดินที่ปลูกสร้างบ้านที่เกิดเหตุ และศาลมีคำพิพากษาว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ของ จ. ก็ตาม แต่ตามสำเนาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ปรากฏว่า จ. ซึ่งถูกมารดาของจำเลยทั้งสามฟ้องขับไล่ยังคงโต้แย้งสิทธิในที่ดินที่บ้านเกิดเหตุตั้งอยู่ และศาลอุทธรณ์ภาค 9 เพิ่งมีคำพิพากษาภายหลังเกิดเหตุคดีนี้ให้ยกอุทธรณ์ของ จ. ดังนี้ ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายกับพวกจึงยังมีสิทธิอยู่ในบ้านเกิดเหตุ และเมื่อฟังว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ถูกจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำให้เสียหาย ผู้เสียหายจึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ย่อมมีสิทธิร้องทุกข์ในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวได้ ฟ้องโจทก์บรรยายการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่กับพวกในข้อหาร่วมกันบุกรุกและข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนมาในข้อเดียวกันคือ ข้อ ค. โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องแยกแยะการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่กับพวกให้ปรากฏชัดแจ้งพอที่จะเห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องข้อ ค. ในแต่ละข้อหาเป็นแต่ละกรรมแยกต่างหากจากกัน เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันบุกรุกและร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายเป็นสองกรรมเกินจากที่ได้กล่าวในฟ้องหาได้ไม่ เพราะเป็นการขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสี่มีเจตนาร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบ้านเกิดเหตุเพื่อถามหาน้องชายของผู้เสียหาย แต่เมื่อไม่พบจึงได้ร่วมกันทำลายทรัพย์ของผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเจตนาแยกต่างหากจากเจตนาแรกที่บุกรุกเข้าไปถามหาน้องชายของผู้เสียหาย ความผิดฐานร่วมกันบุกรุกจึงเป็นความผิดต่างกรรมกับความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15933/2557
         การที่จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุระหว่างที่โจทก์ร่วมครอบครองอยู่ แม้ขณะนั้นที่ดินที่เกิดเหตุเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ออกหนังสืออนุญาตให้จำเลยเข้าทำประโยชน์แล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยยังไม่ได้สิทธิครอบครองอย่างสมบูรณ์ เพราะมิได้เข้าครอบครองที่ดินที่ทางราชการจัดสรรให้ โดยโจทก์ร่วมกลับเป็นฝ่ายครอบครองอยู่ก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการขัดขวางรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุขของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) มีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กับทั้งความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืนเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนได้โดยไม่ต้องมีคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้ออื่น จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14704/2557
        โจทก์และจำเลยยังนำสืบโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในการครอบครองที่ดินพิพาทกันอยู่ แม้โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 6869 แต่ก็รับว่าไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ส่วนจำเลยนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยได้สิทธิในที่ดินพิพาทมาจากเจ้าของที่ดินเดิมโดยการส่งมอบการครอบครอง และมีกรณีฟ้องร้องเพราะเหตุที่มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 2434 โดยไม่ชอบทับที่ดินของบุคคลอื่นอีกหลายคดี ซึ่งที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์แบ่งแยกมาจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว เท่ากับจำเลยยืนยันโดยมีเหตุผลตามสมควรว่า จำเลยมีสิทธิครอบครอง เป็นเรื่องที่ต้องว่ากล่าวโต้แย้งกันทางแพ่ง จึงต้องรับฟังว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิด การกระทำของจำเลยย่อมไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3153/2557
           โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้เสียหาย แล้วลักเงิน 20,000 บาท ซึ่งอยู่ในกระเป๋าสะพายของผู้เสียหายไป ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วรื้อค้นลิ้นชักพลาสติกที่เชิงบันได โดยเมื่อค้นในลิ้นชักอันบนสุดพบกระเป๋าสะพายและกระเป๋าสตางค์ใบเล็ก จำเลยก็ดึงออกมาจากลิ้นชักแล้วค้นหาสิ่งของในกระเป๋าสะพายและกระเป๋าสตางค์ดังกล่าว จากนั้นจำเลยเดินขึ้นบันไดไปบนระเบียงชั้นบนของบ้านและค้นหาสิ่งของที่กองเครื่องมือของใช้ที่วางอยู่บนระเบียงเป็นเวลานาน แล้วกลับลงไปรื้อค้นหาสิ่งของที่ลิ้นชักพลาสติกชั้นอื่นทุกลิ้นชัก เห็นได้ว่า จำเลยมีเจตนาค้นหาเงินและของมีค่าอื่นในจุดที่จำเลยคาดว่าผู้เสียหายหรือบุคคลในครอบครัวผู้เสียหายน่าจะเก็บหรือซุกซ่อนไว้ ฟังได้ว่ามีเจตนาค้นหาและประสงค์จะลักเงินของผู้เสียหายไปนั่นเอง ถือว่าจำเลยได้ลงมือกระทำความผิดและกระทำไปตลอดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผลเพราะไม่มีเงินที่จะลักอยู่ในกระเป๋าสะพายและจุดรื้อค้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพยายามลักเงินของผู้เสียหาย แต่การกระทำไม่อาจบรรลุผลได้อย่างแน่แท้เพราะเหตุวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อ เป็นการพยายามกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถานตาม ป.อ. มาตรา 335 (8) วรรคแรก ประกอบมาตรา 81

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13674/2556
          การที่จำเลยจะมีความผิดฐานบุกรุกตามฟ้องได้ต้องปรากฏด้วยว่า จำเลยมีเจตนาที่จะเข้าไปในที่ดินพิพาทเพื่อแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากผู้ร้องทั้งๆ ที่จำเลยทราบดีอยู่แล้วว่า ผู้ร้องมีสิทธิดีกว่าตน แต่เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ของจำเลยที่ได้โต้แย้งสิทธิของนายสมนึกและผู้ร้องในที่ดินพิพาทโดยกล่าวอ้างถึงสิทธิของตนในที่ดินพิพาทและท้าทายให้ไปฟ้องศาลตลอดมา ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ได้ความว่าผู้ร้องกับจำเลยเป็นญาติกัน ทั้งจำเลยยังเป็นทายาทคนหนึ่งของ จ. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทมาตั้งแต่เดิมด้วยแล้ว เห็นว่า จำเลยอาจเข้าใจโดยสุจริตว่าช่วงเวลาเกิดเหตุยังอยู่ในช่วงที่โต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกันอยู่และจำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าผู้ร้องก็เป็นได้ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีข้อน่าสงสัยตามสมควรว่า จำเลยมีเจตนาบุกรุกที่ดินพิพาทหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานบุกรุกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น อย่างไรก็ตามแม้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดอาญาเพราะขาดเจตนา แต่การกระทำของจำเลยเป็นการเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทโดยไม่มีสิทธิที่จะกระทำได้ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ร้อง แม้ในคดีส่วนอาญาจำเลยจะไม่มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง แต่ในคดีส่วนแพ่งก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคแรก ดังนั้นเมื่อผู้ร้องไม่ประสงค์ให้จำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไป จำเลยจึงต้องออกไปจากที่ดินพิพาทและชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12265 - 12266/2556
             สัญญาเช่าระหว่างโจทก์ร่วมที่ 1 กับจำเลยที่ 1 มีข้อความระบุชัดเจนว่ามีกำหนดอายุของสัญญาเช่าเป็นเวลา 15 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2529 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2544 ซึ่งเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน 3 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 538 บัญญัติให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสัญญาเช่าทุกฉบับมีข้อตกลงในข้อ 7.9 ว่า เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงไม่ว่าด้วยสาเหตุประการใดก็ตาม ผู้เช่าจะต้องออกจากสถานที่เช่าทันที ผู้ให้เช่ามีสิทธิเข้าครอบครองสถานที่เช่า ขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่าออกจากสถานที่เช่าได้โดยปราศจากความรับผิดใด ๆ ข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมใช้บังคับได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น สัญญาเช่าระหว่างโจทก์ร่วมที่ 1 กับจำเลยที่ 1 จึงสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2544 ตามที่ระบุไว้ในสัญญา เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการต่อสัญญาเช่าหรือทำสัญญาเช่ากันใหม่ การที่จำเลยที่ 1 กับพวกกลับเข้าครอบครองพื้นที่เช่าโดยใช้ไม้กระดานปิดกั้นและขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากพื้นที่เช่าไปเก็บไว้ในที่อื่นและพร้อมกับปิดประกาศ ณ บริเวณพื้นที่เช่าชั้นที่ 1 และชั้นที่ 3 ว่า สัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้วให้ผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของนำหลักฐานไปรับทรัพย์สินคืน จึงเป็นการใช้สิทธิโดยชอบตามข้อตกลงแห่งสัญญาเช่า การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก และฐานทำให้เสียทรัพย์ สำหรับข้อหาลักทรัพย์ ได้ความจากพยานโจทก์และโจทก์ร่วมที่ 1 ว่ามีการรื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากพื้นที่เช่าไปเก็บไว้ที่ลานจอดรถชั้นที่ 3 และโกดังชั้นที่ 6 บางส่วนนำไปไว้ที่ทิ้งขยะชั้นล่าง แต่ไม่มีพยานหลักฐานใดยืนยันว่าจำเลยทั้งหกเอาไปซึ่งทรัพย์สินของโจทก์ร่วมที่ 1 ทั้งการที่จำเลยที่ 1 กับพวกรื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินออกจากพื้นที่เช่าก็เพื่อนำไปเก็บรักษาไว้เพื่อให้ผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของนำหลักฐานไปรับทรัพย์สินคืน และยังอ้างด้วยว่าทรัพย์สินนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ตามข้อตกลงในสัญญาถือว่าจำเลยทั้งหกขาดเจตนาทุจริต จึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ อนึ่ง ตามฟ้องโจทก์ขอคืนของกลางตามบัญชีทรัพย์ที่ตรวจพบแก่โจทก์ร่วมที่ 1 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่ได้มีคำสั่งเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าทรัพย์ของกลางตามบัญชีทรัพย์เป็นของโจทก์ร่วมที่ 1 จึงให้คืนแก่เจ้าของตาม ป.วิ.อ. มาตรา 49 และ 186 (9) ส่วนการคืนหรือใช้ราคาทรัพย์อื่น ๆ เมื่อจำเลยทั้งหกไม่ได้กระทำผิด จึงไม่มีหน้าที่ต้องคืนหรือใช้ราคาทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10542/2556
         ผู้เสียหายเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) บริเวณที่ดินพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) แต่ปรากฏว่าระหว่างที่ดินพิพาทและที่ดินของผู้เสียหายมีถนนสาธารณะกั้นตลอดแนว ทำให้ที่ดินพิพาทไม่ติดกับที่ดินของผู้เสียหายเนื่องจากมีทางสาธารณะคั่น ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ที่งอกริมตลิ่งไม่ตกเป็นทรัพย์สินของผู้เสียหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1308 ที่ดินพิพาทจึงเป็นชายตลิ่งอันเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การที่จำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทย่อมไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362, 365 ซึ่งมุ่งประสงค์จะลงโทษผู้บุกรุกอสังหาริมทรัพย์ที่เอกชนเป็นเจ้าของเท่านั้น จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7479/2556
         แม้ได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยขับรถจักรยานยนต์เข้าไปจอดในบริเวณบ้านของผู้เสียหายและสอบถามหาผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายออกจากห้องครัวมา จำเลยสอบถามเรื่องไก่ของจำเลยที่หายไปและให้ผู้เสียหายดูแลคนงานของผู้เสียหายให้ดี ๆ จนเกิดการโต้เถียงกัน ผู้เสียหายไล่ให้จำเลยออกจากบ้าน จำเลยยังไม่ยอมออก จากนั้นประมาณ 3 ถึง 4 นาที จำเลยจึงเดินไปที่รถจักรยานยนต์ของจำเลย ขับออกไปจากบ้านผู้เสียหาย แต่เมื่อพิจารณาลักษณะและสภาพที่ตั้งบ้านของผู้เสียหาย เป็นบ้านชั้นเดียว มีเสารั้วปูนปักรั้วล้อมรอบและขึงด้วยลวดหนามเว้นช่องทางเข้าบ้านไว้ ไม่มีประตูกั้น ถนนหน้าบ้านผู้เสียหายไม่ได้หวงกั้น บุคคลใดจะเข้าออกก็ได้และเป็นการสะดวกแสดงว่าผู้เสียหายมิได้หวงห้ามในการที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์เข้าไปในบริเวณบ้านของผู้เสียหาย และที่จำเลยเข้าไปสอบถามเกี่ยวกับเรื่องไก่ที่หายไปนั้น ถือได้ว่าจำเลยมีเหตุอันสมควรที่จะเข้าไปเพื่อสอบถามผู้เสียหาย เมื่อเกิดมีการโต้เถียงกันและผู้เสียหายไล่จำเลยออกไป แม้จำเลยยังไม่ออกไปทันที แต่หลังจากนั้นไม่นานเพียงประมาณ 3 ถึง 4 นาที จำเลยก็เดินไปที่รถจักรยานยนต์แล้วขับออกไปจากบ้านจำเลย พฤติการณ์ดังกล่าวนั้น ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยไม่ยอมออกไปจากสถานที่เช่นว่านั้นเมื่อผู้มีสิทธิที่จะห้ามมิได้เข้าไปได้ไล่ให้ออก อันจะเป็นความผิดฐานบุกรุก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3874/2556
        ขณะเกิดเหตุ ร้านเสริมสวยของผู้เสียหายที่ 1 ยังเปิดให้บริการอยู่ ประชาชนทั่วไปรวมทั้งจำเลยทั้งสองมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ ไม่ถือเป็นเคหสถาน ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองกับพวกเข้าไปในร้านดังกล่าวแล้วร่วมกันพยายามกรรโชก และใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหายทั้งสอง จึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกเคหสถาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18654/2555
            จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายหน้าดินจากจำเลยที่ 2 โดยมิได้ระแวงว่าหน้าดินที่จำเลยที่ 2 เสนอขายจะเป็นที่ดินของผู้ใด หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ให้ ว. กับพวก ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เข้าไปขุดดินในที่ดินของโจทก์ร่วมตามสัญญาซื้อขายดังกล่าว อันเป็นการกระทำโดยสุจริต จึงขาดเจตนารบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์และลักทรัพย์ของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดฐานบุกรุกและลักทรัพย์ ส่วนจำเลยที่ 2 นำหน้าดินของโจทก์ร่วมมาขายให้แก่จำเลยที่ 1 จนลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เข้ามาขุดเอาหน้าดินของโจทก์ร่วมไปโดยใช้ยานพาหนะนั้น นับว่าเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองแล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนารบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข เข้าไปในที่ดินของโจทก์ร่วมและเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต โดยกระทำผ่านจำเลยที่ 1 กับพวก แต่เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิด จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย คงฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานบุกรุกและลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5132/2555
         แม้ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายจะระบุว่า ส. จะขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 แต่เมื่อไปจดทะเบียนโอน ส. กลับทำหนังสือสัญญาขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 โดยมีข้อสัญญาตกลงขายเฉพาะที่ดินไม่เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างแสดงว่าไม่ได้ขายบ้านพิพาทด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทและไม่มีสิทธิเข้าไปในบ้านพิพาท เมื่อจำเลยที่ 1 ทราบอยู่แล้วว่าบ้านพิพาทไม่ใช่ของตน แต่เป็นของโจทก์ร่วมน้องสาวของ ส. การที่จำเลยที่ 1 สั่งให้จำเลยที่ 2 เข้าไปในบ้านพิพาทและทำการรื้อปรับปรุงบ้านพิพาท ทั้งๆ ที่โจทก์ร่วมได้ห้ามปรามแล้ว จึงถือได้ว่าเป็นการเข้าไปรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุขและทำให้บ้านพิพาทของโจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ แต่การที่จำเลยที่ 1 บุกรุกเข้าไปในบ้านพิพาท ก็มีเจตนาเพื่อปรับปรุงห้องครัวและห้องน้ำภายในบ้านพิพาทจึงมีเจตนาเดียว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2277/2554
            จำเลยทั้งสองเข้าไปในบริเวณบ้านผู้เสียหายทั้งสองและใช้ก้อนหินขว้างผู้เสียหายทั้งสอง ก้อนหิน ไม่ถูกผู้เสียหายทั้งสองแต่เป็นเหตุให้กระเบื้องหลังคาแตก 2 แผ่น ซึ่งเป็นความผิดฐานพยายามทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งสองและฐานบุกรุกเคหสถานตั้งแต่สองคนขึ้นไปในเวลากลางคืน อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่สำหรับความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายว่า เพียงก้อนหินที่ขว้างไปถูกกระเบื้องหลังคา แสดงว่าเป็นเพราะพลาดไปถูกหลังคา มิได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาทำให้เสียทรัพย์ด้วย จะถือเอาเจตนาที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองเป็นเจตนาทำให้เสียทรัพย์โดยพลาดตาม ป.อ. มาตรา 60 ด้วยไม่ได้เพราะเจตนาทำร้ายผู้อื่นเป็นเจตนาคนละประเภทกับเจตนาทำให้เสียทรัพย์อีกทั้งกรรมของการกระทำก็ต่างกัน จึงถือว่าเป็นการกระทำโดยพลาดมิได้ แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 อาจจะกระทำโดยประมาท แต่การทำให้เสียทรัพย์โดยประมาทไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดอาญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2137/2554
         ผู้เสียหายใช้บ้านพักอาศัยส่วนหนึ่งเปิดเป็นร้านซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ในเวลาที่ผู้เสียหายเปิดบริการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ บริเวณดังกล่าวย่อมเป็นสาธารณสถาน ซึ่งประชาชนทั่วไปรวมทั้งจำเลยที่ 1 มีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ แต่เมื่อผู้เสียหายปิดร้านหรือหมดเวลาให้บริการในแต่ละวันแล้ว บริเวณดังกล่าวจึงจะเป็นเคหสถานที่ใช้อยู่อาศัย ดังนั้น เมื่อขณะเกิดเหตุผู้เสียหายยังเปิดให้บริการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ การที่จำเลยที่ 1 เข้าไปในร้านดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกเคหสถาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 540/2554
            ที่เกิดเหตุมีโต๊ะสนุกเกอร์เปิดบริการให้บุคคลทั่วไปเล่นได้และขณะเกิดเหตุยังคงเปิดบริการอยู่ การที่จำเลยทั้งสามเข้าไปทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 ในบริเวณที่บุคคลทั่วไปย่อมจะเข้าไปได้นั้น ย่อมไม่มีความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 364 และ 365

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12852/2553
         ที่ดินที่เกิดเหตุซึ่งโจทก์ร่วมอ้างว่ามีสิทธิครอบครองไม่มีเอกสารสิทธิใดๆ และอยู่นอกเขตโฉนดที่ดินของโจทก์ร่วม มีสภาพเป็นป่าพรุ มีต้นไม้ขึ้นตามธรรมชาติ มีร่องน้ำไหลผ่านออกสู่ทะเลได้ แม้ที่เกิดเหตุมิได้จดทะเบียนเป็นที่สาธารณะหรือออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง แต่ที่เกิดเหตุอาจเป็นที่สาธารณะได้หากเป็นทรัพย์สินที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1304 การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านเชื่อโดยสุจริตว่าที่เกิดเหตุเป็นที่สาธารณะอันเป็นทรัพย์สินของส่วนรวม จึงใช้ให้จำเลยที่ 2 กับพวกเข้าไปปลูกต้นมะพร้าวในที่เกิดเหตุโดยมีเจตนาป้องกันมิให้โจทก์ร่วมบุกรุกเข้าถือครองที่เกิดเหตุ มิได้มีผลประโยชน์แอบแฝง การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงขาดเจตนายังไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันบุกรุก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11810/2553
         จำเลยที่ 1 กับพวกเข้าไปในบริเวณโรงงานซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายแล้วทุบอิฐบล็อกและคอนกรีตที่ก่อสร้าง กับรื้อเหล็กโครงสร้างของอาคารห้องพักคนงานของผู้เสียหายจนไม่สามารถใช้งานได้ แล้วเอาเหล็กโครงสร้างอาคารดังกล่าวไปอันเป็นความผิดฐานบุกรุก ทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์ แต่เป็นการกระทำต่อเนื่องกันโดยจำเลยมีเจตนาเดียวคือเพื่อเอาเหล็กโครงสร้างอาคารไปโดยทุจริตเท่านั้น จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตาม ป.อ. มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10832/2553
        โจทก์ร่วมทั้งสี่เข้าพักอาศัยในห้องที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ชั้นสองของอาคารที่ตั้งบริษัท ร. เนื่องจากโจทก์ร่วมที่ 1 เคยเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ส่วนโจทก์ร่วมที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทและเป็นพนักงานของบริษัท ห้องพักของโจทก์ร่วมทั้งสี่ย่อมอยู่ในความครอบครองของบริษัท ร. โดยโจทก์ร่วมทั้งสี่อาศัยสิทธิของบริษัทพักอาศัยในฐานะพนักงานของบริษัทเท่านั้น การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการบริษัท มีหน้าที่ดูแลกิจการทั่วไปของบริษัท เปลี่ยนกุญแจห้องพักของโจทก์ร่วมทั้งสี่รวมถึงเปลี่ยนกุญแจตามจุดต่างๆ ในบริษัทตามคำสั่งของ ว. กรรมการผู้จัดการบริษัท เนื่องจากขณะเกิดเหตุมีทรัพย์สินของบริษัทสูญหาย จึงเป็นการกระทำในนามของบริษัทเพื่อดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินและความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในบริษัทด้วยความสุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยขาดเจตนาบุกรุก และโจทก์ร่วมทั้งสี่ก็ไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองห้องพิพาทที่อ้างว่าจำเลยเข้าไปรบกวนการครอบครอง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8207/2553
         โจทก์ร่วมกับจำเลยตกลงยกบ้านที่เกิดเหตุให้แก่บุตร และให้บุตรอยู่ในอำนาจปกครองของโจทก์ร่วม อีกทั้งยังได้มีการย้ายชื่อจำเลยออกจากบ้านเกิดเหตุไปแล้วภายหลังจากจดทะเบียนหย่า 8 วัน ย่อมแสดงว่าบ้านที่เกิดเหตุเป็นบ้านที่โจทก์ร่วมกับบุตรพักอาศัยอยู่ด้วยกันภายหลังจากที่โจทก์ร่วมกับจำเลยหย่าขาดจากกันแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะมาพักอาศัยอยู่ในบ้านเกิดเหตุอีก มิฉะนั้นการหย่าและข้อตกลงเรื่องจดทะเบียนหย่าระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยจะไม่มีผลแต่ประการใด เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิพักอาศัยอยู่ในบ้านเกิดเหตุ การกระทำของจำเลยที่เข้าไปในบ้านเกิดเหตุช่วงเวลาดึกประมาณเที่ยงคืนถึงหนึ่งนาฬิกาเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการเข้าไปในเคหสถานซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6167/2553
          จำเลยเข้าไปในที่ดินของ อ. ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งมีรั้วล้อมรอบโดยตัดโซ่คล้องประตูรั้ว แม้มีเจตนาจะเข้าไปนำรถยนต์พิพาทซึ่งยังมีข้อสงสัยอยู่ว่าตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ 2 แล้วหรือยังเป็นกรรมสิทธิ์ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ที่จำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งจอดอยู่ในที่ดินดังกล่าวออกไป จำเลยก็ชอบที่จะดำเนินการตามกฎหมาย จำเลยไม่มีอำนาจกระทำโดยพลการด้วยการตัดโซ่คล้องประตูรั้วล้อมรอบที่ดินของผู้เสียหายที่ 1 อันเป็นการล่วงล้ำอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 จึงเป็นการเข้าไปกระทำการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 1 โดยปกติสุขมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5471/2553
        โจทก์ฟ้องว่า เหตุเกิดระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2540 ถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2540 เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกันตลอดมา โดยข้อเท็จจริงตามทางนำสืบได้ความว่าพยานโจทก์เห็นจำเลยบุกรุกในเวลากลางวัน ดังนั้น ความผิดฐานบุกรุกจึงเกิดขึ้นและสำเร็จตั้งแต่ขณะที่จำเลยเข้าไปในที่ดินในเวลากลางวันแล้ว การที่จำเลยอาศัยอยู่ในที่ดินอันเป็นการบุกรุกต่อเนื่องถึงเวลากลางคืนและวันต่อมาทั้งเวลากลางวันและกลางคืน จึงเป็นเพียงผลของการกระทำความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางวันเท่านั้น จะถือว่าจำเลยกระทำความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืนอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) ไม่ได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 เท่านั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นอ้างและแก้ไขปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ดังนั้นเมื่อได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 แล้ว คดีนี้จึงเป็นคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว เมื่อโจทก์ร่วมยื่นคำร้องว่าไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยและขอถอนคำแก้ฎีกาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ถือว่าโจทก์ร่วมและจำเลยยอมความกันแล้ว สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3490/2553
        การที่จะเป็นความผิดฐานบุกรุกจำเลยจะต้องกระทำโดยมีเจตนาบุกรุกด้วยกล่าวคือ จำเลยจะต้องรู้ว่าที่ดินที่หาว่าจำเลยบุกรุกนั้นเป็นของผู้เสียหายทั้งสาม แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการครอบครองที่ดินหรือความเป็นเจ้าของที่ดินที่หาว่าจำเลยบุกรุกโจทก์และจำเลยยังนำสืบโต้แย้งกันอยู่ โดยโจทก์นำสืบว่าที่ดินเป็นของผู้เสียหายทั้งสามผู้เสียหายทั้งสามครอบครองที่ดินตลอดมาตั้งแต่ปี 2525 ส่วนจำเลยนำสืบว่าที่ดินเป็นของจำเลย จำเลยซื้อมาจาก ช. ตั้งแต่ปี 2537 แล้วจำเลยครอบครองตลอดมาฝ่ายผู้เสียหายมิได้ครอบครองแต่อย่างใด ที่ดินไม่ใช่เป็นของผู้เสียหายทั้งสาม แม้ทางราชการออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้เสียหายทั้งสาม จำเลยก็นำสืบอยู่ว่าโฉนดที่ดินออกมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งจำเลยไม่รู้มาก่อนและไม่ยอมรับว่าที่ดินเป็นของผู้เสียหายทั้งสาม เมื่อผู้เสียหายทั้งสามกับจำเลยยังคงโต้เถียงความเป็นเจ้าของกันเช่นนี้ กรณีจึงเป็นเรื่องทางแพ่ง ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำโดยมีเจตนาบุกรุก การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานบุกรุก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2616/2553
       การที่จำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหายเพื่อบอกให้ผู้เสียหายเบาวิทยุที่เปิดเสียงดังหรือการที่จำเลยเข้าไปหานาง ก. นั้น ถือว่ามีเหตุอันสมควร การเข้าไปของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก แต่เมื่อผู้เสียหายไล่ให้จำเลยออกจากบ้านแล้ว จำเลยก็ไม่มีสิทธิที่จะอยู่อีก การที่จำเลยยังคงอยู่และใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหาย จำเลยจึงมีความผิดฐานบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย มีอาวุธมีดและกระทำในเวลากลางคืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9795/2552
     ป.อ. มาตรา 1 (4) "เคหสถาน" หมายความว่า ที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัย เช่น เรือน โรง เรือ หรือแพ ซึ่งคนอยู่อาศัยและให้หมายรวมถึงบริเวณของที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัย จะมีรั้วล้อมหรือไม่ก็ตาม บ้านของผู้เสียหายไม่มีรั้วล้อม กับบริเวณหลังบ้านผู้เสียหายอยู่ติดกับถนนส่วนบุคคล กรณีจะถือเอาเพียงฝาผนังและประตูเหล็กด้านหลังเป็นแนวของเคหสถานย่อมจะไม่ ได้ เพราะเคหสถานตามกฎหมายให้หมายความรวมถึง บริเวณของที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยนั้นด้วย ผู้เสียหายใช้ประโยชน์บริเวณรอบบ้านเป็นที่วางสิ่งของกับมีหลังคาบ้านยื่น ออกมาคลุม การที่จำเลยทั้งสองไปอยู่บริเวณประตูหลังบ้านผู้เสียหาย ย่อมถือว่าเป็นการเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายแล้ว จำเลยทั้งสองเข้าไปในขณะที่ผู้เสียหายไม่อยู่บ้าน ทั้งผู้เสียหายกับจำเลยทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน จึงยิ่งไม่มีเหตุสมควรที่จะเข้าไปอยู่บริเวณประตูหลังบ้านผู้เสียหาย พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานบุกรุกเข้าไปใน เคหสถานของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9337/2552
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปในห้องนอนอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์ ของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตและโดยไม่มีเหตุอันสมควร อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุข โดยไม่ได้บรรยายฟ้องถึงองค์ประกอบความผิด ว่าจำเลยกระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายตาม ป.อ. มาตรา 365 (1) แม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 365 ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 365 (1) ไม่ได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7961/2551
บ้านที่เกิดเหตุทั้งสองหลังผู้เสียหายทั้งสองใช้เป็นที่อยู่อาศัยร่วมกับบุตร เล็ก ๆ ของผู้เสียหายที่ 2 อีกหลายคนและทำการค้าขาย การที่จำเลยกับพวกร่วมกันเข้าไปที่บริเวณหน้าบ้านและร้านค้าที่เกิดเหตุ และใช้ก้อนอิฐ ก้อนหิน ไม้ และสิ่งของอื่นขว้างปาประตู หน้าต่าง และหลังคาบ้าน รวมทั้งทำลายสิ่งของต่าง ๆ จนเสียหาย ย่อมเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ และยังเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสองโดยปกติ สุข อันเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 358, 365 (1) (2) (3) ประกอบด้วยมาตรา 362

การกระทำของจำเลยกับพวกที่บุกรุกเข้าไปขว้างปาบ้านของผู้เสียหายทั้งสองจน ได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงต้องลงโทษในความผิดฐานบุกรุกซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4101/2551
โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 มาตรา 5, 7, 29, 30 การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยจะเข้าดำเนินการวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ ด้วยตนเองหรือตั้งตัวแทน ตัวแทนค้าต่างเข้าไปดำเนินการแทนก็ได้ หาได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะว่าการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยต้องเข้าไปดำเนิน การด้วยตนเองเท่านั้นไม่ เมื่อการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้ประกาศเรื่องการสำรวจเพื่อการสร้างระบบ การขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ และมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบพร้อมทั้งให้โจทก์ไปรับค่าทดแทนแล้ว จึงเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายครบถ้วนทุกประการ การที่จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาให้ใช้สิทธิในแนวเขตระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อกับการปิโตรเลียม แห่งประเทศไทย แล้วเข้าไป ขุด วางท่อขนส่งปิโตรเลียมและลำเลียงส่งปิโตรเลียมผ่านทางท่อขนส่งในที่ดินโจทก์ ถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำไปในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3877/2551
โจทก์ร่วมมีข้อพิพาทกับจำเลยเกี่ยวกับที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2526 นอกจากนี้โจทก์ร่วมได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งตามคดีหมายเลขดำที่ 149/2542 ของศาลชั้นต้น แม้คดีดังกล่าวจะมีประเด็นว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยมิชอบอันเป็นการใช้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 มิได้มีประเด็นว่า โจทก์ร่วมถูกแย่งการครอบครองดังที่โจทก์ร่วมฎีกาก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิครอบครองที่ดิน พิพาทว่าผู้ใดเป็นผู้ครอบครองในที่ดินพิพาท ดังนั้น ในขณะเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยเชื่อโดยชอบว่า จำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองหรือเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยจึงไม่มีเจตนาบุกรุกที่ดินพิพาทหรือทำให้เสียทรัพย์ ส่วนที่ดินพิพาทจะเป็นของผู้ใดหรือผู้ใดเป็นผู้มีสิทธิครอบครองนั้นเป็น เรื่องทางแพ่ง จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2768/2551
ที่ดินที่ถูกกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าบุกรุกนำสินค้ามาวางขายเป็นของโจทก์ร่วมและโจทก์ ร่วมไม่ได้อนุญาตให้จำเลยนำไปให้ผู้ใดเช่า การที่จำเลยนำที่ดินดังกล่าวไปให้บุคคลดังกล่าวเช่าโดยไม่มีอำนาจ จำเลยจึงมีความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2720/2551
จำเลย ที่ 2 ทำประโยชน์อยู่ในที่ดินพิพาทหลังจากโจทก์ร่วมซื้อที่ดินพิพาทมาแล้วโดยได้ รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดินพิพาทเดิมและโจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าของคนต่อมา แม้จำเลยที่ 2 ตกลงว่าจะออกไปจากที่ดินพิพาทเมื่อเก็บเกี่ยวเผือกเสร็จแล้วแต่ไม่ออกไป ทั้งยังจ้างจำเลยที่ 1 ให้ทำการไถที่ดินพิพาทเพื่อปรับสภาพที่ดินเพื่อทำนาข้าวอีก และโจทก์ร่วมได้ห้ามปรามแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ไม่เชื่อ ก็ไม่อาจถือว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนากระทำผิดอาญาฐานบุกรุก เพราะจำเลยที่ 2 กระทำต่อเนื่องจากการที่โจทก์ร่วมยินยอมให้จำเลยที่ 2 ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ทำผิดข้อตกลงที่ตกลงไว้กับโจทก์ อันเป็นการกระทำละเมิดในทางแพ่ง ไม่เป็นความผิดอาญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 489/2551
โรงอาหารที่เกิดเหตุเป็นส่วนหนึ่งของอาคารสถาบันราชภัฎ น. โดยมีการปรับปรุงพื้นที่ชั้นล่างของอาคารเป็นห้องติดเครื่องปรับอากาศใช้ เป็นสถานที่จำหน่ายอาหารให้แก่นักศึกษา อาจารย์และเจ้าหน้าที่ของสถาบัน ตามสัญญาเช่าสถานที่จำหน่ายอาหารที่โจทก์ทำกับสถาบันคงมีเพียงข้อสัญญาว่า สถาบันตกลงให้โจทก์เช่าโรงอาหารมีระยะเวลาที่กำหนด และกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ที่โจทก์ต้องปฏิบัติในการเข้าประกอบการไว้ ส่วนลักษณะสภาพการใช้โรงอาหารในการจำหน่ายอาหารของโจทก์นั้นไม่ปรากฏจากข้อ สัญญาชัดแจ้งว่ามีการส่งมอบโรงอาหารที่เช่าให้โจทก์ครอบครองอย่างเป็นสิทธิ ครอบครองของโจทก์ทีเดียว หรือเป็นแต่เพียงให้โจทก์มีสิทธิเข้าใช้ประโยชน์โรงอาหารเพื่อจำหน่ายอาหาร เท่านั้น จากประกาศสถาบันราชภัฎ น. ซึ่งเป็นที่มาของการเข้าทำสัญญาเช่าของโจทก์ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ออกประกาศให้ผู้สนใจเข้าประกอบการจำหน่ายอาหารภายในโรงอาหารของสถาบันยื่น แบบแจ้งความประสงค์ต่อสถาบัน โดยมีการกำหนดเงื่อนไขการประกอบการไว้ในประกาศข้อ 4 และ 5 ว่า การเข้าประกอบการจำหน่ายอาหารภายในโรงอาหารของสถาบันอยู่ในความควบคุมของงาน กิจการนักศึกษา โดยเป็นไปเพื่อสวัสดิการนักศึกษา และผู้เข้าประกอบการต้องยินดีปฏิบัติตามเงื่อนไขของคณะกรรมการที่ได้รับมอบ หมายให้ดูแลกิจการโรงอาหารของสถาบัน โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงความประสงค์เข้าประกอบการจำหน่ายอาหารต่อสถาบันตาม ประกาศดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้รับทราบข้อความและยินยอมตกลงตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน ประกาศนั้นด้วย การใช้โรงอาหารเป็นสถานที่จำหน่ายอาหารของโจทก์ตามสัญญาเช่าจึงตกอยู่ในความ ควบคุมดูแลของคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ของสถาบัน โรงอาหารที่โจทก์เช่าใช้พื้นที่ห้องชั้นล่างของอาคารในบริเวณสถาบันเป็นที่ จำหน่ายอาหารจึงมีสภาพเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันอันเป็นสถานศึกษาของทางราชการ ที่เจ้าหน้าที่ของสถาบันอาจต้องเข้าไปตรวจตราในบางโอกาสเพื่อดูแลเกี่ยวกับ ความปลอดภัยและรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย และหลังจากทำสัญญาเจ้าหน้าที่มอบลูกกุญแจโรงอาหารให้โจทก์ 1 ชุด และทางสถาบันเก็บไว้ 1 ชุด แสดงว่าโจทก์ทราบและยอมรับในการที่ทางสถาบันยังรักษาสิทธิที่จะให้เจ้า หน้าที่เข้าไปในโรงอาหารในเวลาหนึ่งเวลาใดได้อยู่เสมอ เห็นได้ว่าโจทก์และสถาบันมีเจตนาทำสัญญาเช่าโดยมีวัตถุประสงค์เพียงแต่ให้ โจทก์ได้เข้าใช้ประโยชน์โรงอาหารของสถาบันในการจำหน่ายอาหารในพื้นที่ที่จัด ไว้ในเวลาเปิดบริการตามระเบียบของสถาบันเท่านั้น หาได้มอบการครอบครองโรงอาหารให้เป็นสิทธิขาดแก่โจทก์ดังเช่นการเช่า อสังหาริมทรัพย์ตามธรรมดาไม่ การมอบลูกกุญแจโรงอาหารให้โจทก์ก็เพื่อให้ความสะดวกในการเข้าไปใช้พื้นที่ โรงอาหารในการประกอบการของโจทก์เท่านั้น โดยสถาบันอนุญาตโจทก์รวมทั้งผู้เช่าช่วงพื้นที่จำหน่ายอาหารจากโจทก์สามารถ เข้าไปใช้โรงอาหารที่เช่าเพื่อประกอบการจำหน่ายอาหารโดยใช้ลูกกุญแจที่มอบ ให้ไว้แก่โจทก์ เมื่อโรงอาหารที่เกิดเหตุยังอยู่ในความครอบครองของสถาบันราชภัฎ น. การสั่งการของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในการให้เข้าไปขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ในโรงอาหารที่เกิดเหตุ จึงไม่เป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข อันจะเป็นความผิดฐานบุกรุก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7088/2550
ที่เกิดเหตุอยู่บริเวณหน้าห้องพักของผู้เสียหายที่ 1 มีการกั้นผนังด้วยอิฐบล็อกและมีช่องประตูทางเข้ากั้นไว้เป็นสัดส่วน บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ใช้สอยของผู้เสียหายที่ 1 บุคคลอื่นไม่สามารถที่จะเข้าไปใช้สอยได้ ที่เกิดเหตุถือได้ว่าเป็นเคหสถานของผู้เสียหายที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 1 (4) การที่จำเลยกับพวกเข้าไปรุมชกต่อย เตะผู้เสียหายทั้งสองที่บริเวณหน้าห้องพักของผู้เสียหายที่ 1 ถือว่าเป็นการเข้าไปในเคหสถานของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถานของผู้อื่นในเวลากลาง คืนตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) (3) ประกอบมาตรา 364

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5613/2550
จำเลย ที่ 1 และที่ 4 เข้าไปชกต่อย น. บริเวณแคร่หน้าบ้านของ ล. ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นมารดาของ น. จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งมีอาวุธมีดเข้าไปช่วยจำเลยที่ 1 และที่ 4 น. วิ่งเข้าไปในบ้านของผู้เสียหาย จำเลยทั้งสี่วิ่งตามเข้าไปโดยมีเจตนาทำร้าย น. แม้เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องจากการที่จำเลยทั้งสี่ทำร้าย น. มาก่อน แต่เมื่อผู้เสียหายไล่ให้จำเลยทั้งสี่ออกจากบ้าน จำเลยทั้งสี่ก็ออกจากบ้านทันที จะถือว่าเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขยัง ไม่ได้ แต่ถือได้ว่าเป็นการเข้าไปในบ้านโดยไม่มีเหตุอันสมควร โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธ และโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป จึงมีความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 และมาตรา 365 (1) (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5613/2550
จำเลย ที่ 1 และที่ 4 เข้าไปชกต่อย น. บริเวณแคร่หน้าบ้านของ ล. ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นมารดาของ น. จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งมีอาวุธมีดเข้าไปช่วยจำเลยที่ 1 และที่ 4 น. วิ่งเข้าไปในบ้านของผู้เสียหาย จำเลยทั้งสี่วิ่งตามเข้าไปโดยมีเจตนาทำร้าย น. แม้เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องจากการที่จำเลยทั้งสี่ทำร้าย น. มาก่อน แต่เมื่อผู้เสียหายไล่ให้จำเลยทั้งสี่ออกจากบ้าน จำเลยทั้งสี่ก็ออกจากบ้านทันที จะถือว่าเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขยัง ไม่ได้ แต่ถือได้ว่าเป็นการเข้าไปในบ้านโดยไม่มีเหตุอันสมควร โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธ และโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป จึงมีความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 และมาตรา 365 (1) (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4316/2550
คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่สาธารณประโยชน์ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐ บริเวณชายแดนประเทศไทยและประเทศมาเลเซียด้วยการเข้าไปปลูกบ้านพักอาศัย กว้างประมาณ 7 เมตร ยาว 9 เมตร ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองปลูกสร้างบ้านพักอาศัยกว้าง 20 เมตร ยาว 7 เมตร ในที่ดินรกร้างว่างเปล่าบริเวณแนวพรมแดนประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันและเป็นที่ดินของรัฐ วันเวลาที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดคดีนี้เป็นเวลาภายหลังจากที่ จำเลยกระทำความผิดคดีก่อนและจำนวนเนื้อที่ดินที่จำเลยบุกรุกก็มีจำนวนแตก ต่างกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชน ใช้ร่วมกันและเป็นที่ดินของรัฐจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสอง แต่ไม่เป็นความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 362 เพราะบทบัญญัติดังกล่าวมุ่งประสงค์ลงโทษผู้บุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น ไม่ใช่บทบัญญัติที่จะลงโทษผู้บุกรุกที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1363/2550
โจทก์ร่วมกับจำเลยทำสัญญาจำนำข้าวระหว่างกันโดยโจทก์ร่วมยอมให้ข้าวอยู่ในความ ครอบครองของจำเลย ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยมอบข้าวไว้เป็นประกันการชำระหนี้ตามความหมายในประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะจำนำ เมื่อไม่มีการจำนำจึงขาดองค์ประกอบที่จะเป็นความผิดข้อหาโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 349

โจทก์ร่วมเช่าโกดังเก็บข้าวซึ่งเป็นโกดังที่จำเลยใช้ประกอบกิจการโรงสีของ จำเลย เมื่อทำสัญญาเช่าแล้วจำเลยเป็นผู้ถือกุญแจโกดังเพียงฝ่ายเดียว จำเลยเป็นผู้ครอบครองโกดังอยู่เช่นเดิม สัญญาเช่าที่ทำไว้มีค่าเช่าเพียงปีละ 100 บาท นับว่าน้อยมาก จึงเป็นการทำสัญญาเช่าเป็นแบบพิธีเท่านั้น คู่สัญญาไม่ได้มีเจตนาให้เป็นการเช่าตามกฎหมายอย่างแท้จริง กรณีถือว่าจำเลยยังเป็นผู้ครอบครองโกดังที่เช่าอยู่ตลอดเวลา จำเลยจึงไม่อาจรบกวนการครอบครองของตนเองได้ ไม่มีความผิดฐานบุกรุก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5177/2549
จำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหายโดยการเชิญชวนของบุตรสาวผู้เสียหาย แม้ผู้เสียหายจะมิได้อนุญาตให้จำเลยเข้าไปในบ้านก็ตาม แต่จำเลยก็ได้รับอนุญาตจากบุตรสาวผู้เสียหายให้เข้าไปในบ้านดังกล่าวแล้ว การกระทำของจำเลยจึงมิใช่เป็นการเข้าไปในบ้านผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือโดยไม่มีเหตุอันสมควร ทั้งมิใช่เป็นการเข้าไปเพื่อกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขตาม ป.อ.มาตรา 362, 364

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3654/2548
จำเลย มิได้ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 ทันทีที่บุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายที่ 1 แต่จำเลยทำร้ายร่างกาย ผู้เสียหายที่ 2 หลังจากที่จำเลยถามหาผู้เสียหายที่ 1 แล้วผู้เสียหายที่ 2 ตอบว่าผู้เสียหายที่ 1 ไปธุระนอกบ้าน แสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้มีเจตนาแต่แรกที่จะเข้าทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 เจตนาที่จะบุกรุกบ้านของผู้เสียหายที่ 1 กับเจตนาที่จะทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 จึงแยกจากกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดสองกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2269/2538
จำเลย บุกรุกที่ดินโจทก์แต่ในทางพิจารณาโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยเริ่มบุกรุก ที่ดินของโจทก์ในเวลากลางวันหรือกลางคืนจึงฟังให้เป็นคุณแก่จำเลยว่าจำเลย บุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ในเวลากลางวันความผิดฐานบุกรุกเกิดขึ้นตั้งแต่ ครั้งแรกที่จำเลยเข้าไปรบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์ส่วนการที่จำเลยครอบ ครองที่ดินต่อมาเป็นเพียงผลของการบุกรุกไม่ใช่เป็นความผิดต่อเนื่องการกระทำ ของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา362บทเดียวหาเป็นความผิดตาม มาตรา365(3)อีกบทหนึ่งไม่ซึ่งมาตรา366บัญญัติว่าเป็นความผิดอันยอมความได้ อายุความฟ้องร้องตามมาตรา95ต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา96ผู้เสียหายต้อง ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดมิ ฉะนั้นขาดอายุความโจทก์มาร้องทุกข์เมื่อวันที่7พฤษภาคม2534ทั้งๆที่ทราบ เรื่องจำเลยบุกรุกตั้งแต่ต้นปี2526คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวล กฎหมายอาญามาตรา96

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 527/2538
จำเลย สั่งให้ ท. กับพวกรื้อรั้วซึ่งเป็นเครื่องหมายเขตแห่งที่ดินและเข้าไปปิดกั้นรั้วของ โจทก์ร่วมในที่ดินโฉนดเลขที่ 7992 โดย ท. กับพวกทำตามคำสั่งของจำเลยโดยไม่มีเจตนาร่วมกระทำความผิดด้วย กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดฐานทำลายเครื่องหมายเขต แห่งอสังหาริมทรัพย์ และเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมเพื่อถือเอาที่ดินบางส่วนตามโฉนดเลขที่ 7992 ของโจทก์ร่วมเป็นของจำเลย อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362และ 363 โดยจำเลยใช้ ท. กับพวกเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2431/2532
การที่ศาลจะมีอำนาจสั่งให้บุคคลใดออกไปจากที่ดินของรัฐนั้นต้องเป็นกรณีที่ศาล พิพากษาว่า บุคคลดังกล่าวได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ แล้ว เมื่อที่พิพาทยังไม่อาจฟังได้แน่ชัดว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์และจำเลยยึดถือ ครอบครองอยู่โดยเชื่อว่าตนมีสิทธิครอบครองต่อจากบิดา จึงไม่เป็นความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลไม่อาจสั่งให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่พิพาทได้

การที่จำเลยไม่ยอมออกจากที่พิพาทตามคำสั่งของ นายอำเภอเพราะเชื่อว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอันเดียว เกี่ยวพันกันกับที่วินิจฉัยมาแล้วว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 แม้ปัญหานี้ยุติแล้วในศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบมาตรา215 และ 225.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2253/2531
จำเลยเข้าไปปักเสาและปลูกต้นมะขามในที่ดินของโจทก์ก็เพื่อถือการครอบครองที่ดิน ของโจทก์ ดังนั้น ความผิดฐานบุกรุกได้เกิดขึ้นและสำเร็จแล้วเมื่อจำเลยเข้าไปกระทำการดังกล่าว ส่วนการครอบครองที่ดินต่อมาเป็นเพียงผลของการบุกรุก การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดต่อเนื่องตราบเท่าที่จำเลยยังถือการครอบ ครองที่ดินของโจทก์

โจทก์บรรยายฟ้องว่า เหตุเกิดระหว่างวันที่ 1 ถึง 10 สิงหาคม 2528เวลาใดไม่ปรากฏชัด ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362และ 363 โดยมิได้บรรยายฟ้องว่าเหตุเกิดเวลากลางคืน แม้จะมีข้อความตอนหนึ่งว่าขณะนี้จำเลยยังคงบุกรุกอยู่ ซึ่งพอเข้าใจได้ว่าจำเลยบุกรุกที่ดินตามฟ้องทั้งเวลากลางวันและกลางคืนแต่ โจทก์ก็มิได้ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(3)จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(3) อันเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน เมื่อความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 และ 363 เป็นความผิดอันยอมความกันได้ โจทก์มิได้ร้องทุกข์และได้ฟ้องคดีเองเมื่อพ้นกำหนดสามเดือนนับแต่วันรู้ เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96.
(วรรคแรกวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 8/2531)