อายุความอาญา

มาตรา ๙๕ ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ

(๑) ยี่สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี

(๒) สิบห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี

(๓) สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี

(๔) ห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี

(๕) หนึ่งปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนลงมา หรือต้องระวางโทษอย่างอื่นถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว ผู้กระทำความผิดหลบหนีหรือวิกลจริต และศาลสั่งงดการพิจารณาไว้จนเกินกำหนดดังกล่าวแล้วนับแต่วันที่หลบหนีหรือวันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา ก็ให้ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกัน

มาตรา ๙๖ ภายใต้บังคับมาตรา ๙๕ ในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ

มาตรา ๙๗ ในการฟ้องขอให้กักกัน ถ้าจะฟ้องภายหลังการฟ้องคดีอันเป็นมูลให้เกิดอำนาจฟ้องขอให้กักกัน ต้องฟ้องภายในกำหนดหกเดือนนับแต่วันที่ฟ้องคดีนั้น มิฉะนั้น เป็นอันขาดอายุความ

มาตรา ๙๘ เมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้ใด ผู้นั้นยังมิได้รับโทษก็ดี ได้รับโทษแต่ยังไม่ครบถ้วนโดยหลบหนีก็ดี ถ้ายังมิได้ตัวผู้นั้นมาเพื่อรับโทษนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดหรือนับแต่วันที่ผู้กระทำความผิดหลบหนี แล้วแต่กรณี เกินกำหนดเวลาดังต่อไปนี้ เป็นอันล่วงเลยการลงโทษ จะลงโทษผู้นั้นมิได้

(๑) ยี่สิบปี สำหรับโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกยี่สิบปี

(๒) สิบห้าปี สำหรับโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี

(๓) สิบปี สำหรับโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี

(๔) ห้าปี สำหรับโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีลงมาหรือโทษอย่างอื่น

มาตรา ๙๙ การยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับหรือการกักขังแทนค่าปรับ ถ้ามิได้ทำภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด จะยึดทรัพย์สินอายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สิน หรือกักขังไม่ได้ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับในกรณีการกักขังแทนค่าปรับซึ่งทำต่อเนื่องกับการลงโทษจำคุก

มาตรา ๑๐๐ เมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้กักกันผู้ใด ถ้าผู้นั้นยังมิได้รับการกักกันก็ดีได้รับการกักกันแต่ยังไม่ครบถ้วนโดยหลบหนีก็ดี ถ้าพ้นกำหนดสามปีนับแต่วันที่พ้นโทษ โดยได้รับโทษตามคำพิพากษาแล้วหรือโดยล่วงเลยการลงโทษ หรือนับแต่วันที่ผู้นั้นหลบหนีระหว่างเวลาที่ต้องกักกัน เป็นอันล่วงเลยการกักกัน จะกักกันผู้นั้นไม่ได้

มาตรา ๑๐๑ การบังคับตามคำสั่งของศาลตามความในมาตรา ๔๖ หรือการร้องขอให้ศาลสั่งให้ใช้เงินเมื่อผู้ทำทัณฑ์บนประพฤติผิดทัณฑ์บนตามความในมาตรา ๔๗ นั้น ถ้ามิได้บังคับหรือร้องขอภายในกำหนดสองปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง หรือนับแต่วันที่ผู้ทำทัณฑ์บนประพฤติผิดทัณฑ์บน จะบังคับหรือร้องขอมิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6532/2562
ความผิดฐานยักยอกเป็นความผิดอันยอมความได้ กรณีจะขาดอายุความได้หากผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 96 ถึงแม้ว่าโจทก์ทั้งห้าจะทราบเรื่องเวนคืนของที่ดินแปลงอื่นในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1379/2553 และจากคำให้การที่จำเลยให้การต่อสู้คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 201/2551 ว่าที่ดินพิพาท ค่าเวนคืนและค่าเช่าของจำเลยตามที่จำเลยฎีกาอันจะส่อว่ารู้ตัวผู้กระทำความผิดก็ตาม แต่โจทก์ทั้งห้ายังไม่รู้เรื่องความผิด จนกระทั่งได้รับหนังสือตอบปฏิเสธจากจำเลยเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560 ว่าจำเลยไม่ส่งมอบเงินคืนให้กองมรดก การที่โจทก์ทั้งห้าไปร้องทุกข์ในวันที่ 20 เมษายน 2560 ว่าจำเลยไม่ส่งมอบเงินคืนให้กองมรดก และนำคดีมาฟ้องหลังจากวันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีของโจทก์ทั้งห้าจึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5337/2562
คดีของโจทก์มิใช่เป็นกรณีที่อัยการสูงสุดเป็นผู้ฟ้องคดีหรือประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ฟ้องคดีในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นอัยการสูงสุด จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 97 วรรคหนึ่ง ที่ศาลจะมีคำสั่งให้ประทับฟ้องโดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง

จำเลยที่ 1 และที่ 2 มาศาลในวันที่ศาลประทับฟ้องครั้งแรกซึ่งอยู่ในกำหนดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 แม้การประทับฟ้องครั้งดังกล่าวจะเป็นการผิดพลาดและศาลชั้นต้นต้องนัดไต่สวนมูลฟ้องใหม่ และวันที่ศาลชั้นต้นสั่งคดีมีมูลจะพ้นกำหนดอายุความไปแล้ว แต่เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้ามาแสดงตนในวันที่ศาลสั่งประทับฟ้องครั้งแรก และออกหมายขังจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไว้ จึงถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 อยู่ในอำนาจศาลแล้ว ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3870/2562
โจทก์ทราบว่า จำเลยทั้งห้าร้องเรียนโจทก์ว่าทุจริตต่อหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557 ประกอบกับได้ความจากคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงว่า เคยเรียกโจทก์และจำเลยทั้งห้ามาพูดคุยไกล่เกลี่ยในปี 2557 เนื่องจากเห็นว่าโจทก์และจำเลยทั้งห้าเป็นเพื่อนร่วมงานกัน จึงเชื่อว่าโจทก์ทราบมูลความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดว่าเป็นจำเลยทั้งห้าตั้งแต่วันที่มีการร้องเรียนในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557 เมื่อความผิดที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตาม ป.อ. มาตรา 326 และ 328 เป็นความผิดอันยอมความได้ แต่โจทก์มิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด โดยโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2559 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากมีการร้องเรียนแล้วกว่า 2 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3079/2562
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 มีอายุความสิบห้าปี ความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และความผิดตาม ป.อ. มาตรา 177 วรรคแรก มีอายุความสิบปี โจทก์จึงต้องฟ้องและได้ตัวจำเลยผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดอายุความดังกล่าว นับตั้งแต่วันกระทำผิด มิฉะนั้นคดีโจทก์ย่อมขาดอายุความ

โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 จำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 กระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม 2541 ถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2541 โจทก์ต้องฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 มาศาลอย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 กับฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 มาศาลอย่างช้าภายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2551 ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 177 วรรคแรก โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 6 ที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 ว่ากระทำความผิดในวันที่ 21 มิถุนายน 2549 จำเลยที่ 7 และที่ 10 กระทำความผิดในวันที่ 22 มิถุนายน 2549 จำเลยที่ 1 กระทำความผิดในวันที่ 28 กรกฎาคม 2549 โจทก์ต้องฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 6 ที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 มาศาลภายในวันที่ 21 มิถุนายน 2559 ฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 7 และที่ 10 มาศาลภายในวันที่ 22 มิถุนายน 2559 กับฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 1 มาศาลภายในวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2550 ซึ่งแม้จะยังอยู่ภายในกำหนดอายุความสิบห้าปีและสิบปีก็ตาม แต่เมื่อคดีโจทก์ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนมูลฟ้อง กรณีจึงไม่อาจถือว่าได้ตัวจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 12 มาอยู่ในอำนาจของศาลแล้ว เนื่องจากตราบใดที่ศาลยังไม่ประทับฟ้อง ป.วิ.อ. มาตรา 165 วรรคสาม มิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น อันเป็นเหตุให้อายุความไม่หยุดนับ เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องคดีนี้เสร็จสิ้นในวันที่ 13 มีนาคม 2560 จึงเป็นระยะเวลาที่ล่วงเลยอายุความสิบห้าปีและสิบปีแล้ว คดีโจทก์สำหรับจำเลยแต่ละคนจึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6812/2561
การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า ร. ปลัดอำเภอรักษาการในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายทะเบียนและบัตร มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร บัตรประจำตัวประชาชนและการทะเบียนอื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมการปกครอง ส่วนร้อยตรี ช. รับราชการในตำแหน่งนายอำเภอ มีหน้าที่ปกครองบังคับบัญชาข้าราชการในอำเภอ ตลอดจนควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของสำนักทะเบียนอำเภอ เมื่อระหว่างวันที่ 21 สิงหาคม 2544 ถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2544 ร. และร้อยตรี ช. อาศัยโอกาสที่ตนเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดังกล่าว ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือ ย. ซึ่งเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยให้เป็นผู้มีสัญชาติไทย โดยการเพิ่มชื่อ ย. ในทะเบียนบ้านและดำเนินการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้ ย. โดยมีจำเลยทั้งสามให้ความสนับสนุน ช่วยเหลือ และให้ความสะดวกแก่ ร. และร้อยตรี ช. ในการกระทำความผิด และในวันเดียวกัน ย. ซึ่งเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยได้มายื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนต่อเจ้าพนักงานซึ่งรับผิดชอบงานบัตรประจำตัวประชาชน ให้หลงเชื่อว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทยจริง ตามพฤติการณ์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามมุ่งประสงค์ให้เพิ่มชื่อ ย. ในทะเบียนบ้านและให้ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ ย. ในที่สุดนั่นเอง กระบวนการในการกระทำความผิดดังกล่าวสำเร็จลงด้วยการออกบัตรประจำตัวประชาชนในวันที่ 27 สิงหาคม 2544 ดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในวันที่ 25 สิงหาคม 2554 ซึ่งยังไม่เกินกำหนด 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9811/2560
ตามเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ก็เพื่อกำหนดมาตรการต่างๆ ให้สามารถดำเนินการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพและตัดวงจรการประกอบอาชญากรรม จึงมีการกำหนดมาตรการทางอาญาที่ดำเนินคดีต่อบุคคลที่กระทำความผิดฐานฟอกเงินซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลที่พิจารณาคดีอาญา โดยกำหนดโทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดด้วยการจำคุก ปรับ หรือริบทรัพย์ทางอาญา และกำหนดมาตรการทางแพ่งในการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 6 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 ไว้และให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าวกฎหมายบัญญัติให้ยื่นต่อศาลแพ่งและให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคหนึ่ง และไม่ว่าจะจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดจะถูกลงโทษหรือไม่ ก็สามารถดำเนินการต่อทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นการดำเนินการคนละส่วนกับมาตรการทางอาญาที่ดำเนินคดีต่อบุคคลที่กระทำความผิดฐานฟอกเงิน การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินจึงมิใช่คดีอาญา ย่อมไม่อยู่ในบังคับอายุความทางอาญาตาม ป.อ. มาตรา 95 แต่เป็นมาตรการทางแพ่งที่ให้อำนาจรัฐในการติดตามทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจากผู้ที่ครอบครองทรัพย์สินโดยมิชอบเพื่อไม่ให้ยึดถือทรัพย์สินไว้ได้ต่อไปโดยให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน อันเป็นหลักการและเหตุผลตามที่บัญญัติเพื่อป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งต่างจากหนี้ที่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิในการที่จะบังคับให้ลูกหนี้กระทำการหรืองดเว้นการอันใดอันหนึ่ง เพื่อชำระหนี้ตามมูลหนี้ที่สามารถบังคับกันได้ตามกฎหมายดังเช่นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ต้องกระทำภายในกำหนดอายุความทางแพ่ง กรณีย่อมไม่อยู่ในบังคับว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 6 ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้โดยไม่มีอายุความ
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 14/2560)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4631/2560
ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ได้ความว่า บทความของโจทก์ที่ได้เผยแพร่ทางเว็บไซต์นั้น มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับข่าวเศรษฐกิจและบทสัมภาษณ์บุคคล ซึ่งล้วนแต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม 2558 ทั้งสิ้น แม้ฟ้องไม่ได้ระบุว่าบทความนั้นทำขึ้นเมื่อใด แต่ก็เห็นได้ชัดว่าบทความดังกล่าวทำขึ้นในปี 2558 ดังนั้น ในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 14 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 13 มีนาคม 2558 ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งเจ็ดกระทำความผิดจึงยังอยู่ในอายุแห่งความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ถือได้ว่าฟ้องของโจทก์ได้บรรยายแล้วว่าโจทก์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอันเป็นองค์ประกอบของความผิดข้อหนึ่งแล้ว ในกรณีนี้ ฟ้องของโจทก์ไม่จำต้องบรรยายวันที่โจทก์โฆษณางานครั้งแรกแต่อย่างใด เพราะโจทก์ได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ทันทีที่สร้างสรรค์งานวรรณกรรมบทความดังกล่าวเสร็จตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง (1)

ตามฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดที่โจทก์อ้างว่าเป็นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์และวันเวลาที่เกิดการกระทำละเมิดดังกล่าวอันเป็นการบรรยายฟ้องเพียงพอที่จะทำให้จำเลยทั้งเจ็ดเข้าใจได้ว่าโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งเจ็ดกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันอย่างไรแล้ว ถือได้ว่าเป็นการบรรยายฟ้องถึงการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันโดยชอบ ส่วนการที่คำบรรยายฟ้องอาจไม่มีความชัดเจนว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดเป็นจำนวนกี่กรรมนั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นการบรรยายฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะปัญหาว่าการกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดจะเป็นความผิดหลายกรรมตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องวินิจฉัยชี้ขาดจากพยานหลักฐานในสำนวน

แม้คดีนี้จะเป็นความผิดอันยอมความได้ซึ่งหากโจทก์มิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดจะเป็นอันขาดอายุความตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 66 และ ป.อ. มาตรา 96 ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ฟ้องคดีภายในสามเดือนแล้ว แม้โจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์ก็ไม่เป็นเหตุให้คดีนี้ขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4603/2560
แม้ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติขององค์การคลังสินค้าผู้เสียหายจะกำหนดให้มีผู้ประสานงานในจังหวัดเป็นผู้แทนของผู้เสียหายในจังหวัดพื้นที่รับผิดชอบ และรายงานการตรวจสอบข้าวที่หน่วยรับฝากไว้แก่ผู้เสียหายอย่างช้าไม่เกิน 10 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น แต่ผู้เสียหายเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.จัดตั้งองค์กรของรัฐบาล พ.ศ.2496 มาตรา 4 และ พ.ร.ก.จัดตั้งคลังสินค้า พ.ศ.2498 ซึ่งมาตรา 26 บัญญัติว่าในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้อำนวยการเป็นตัวแทนองค์การ และเพื่อการนี้ผู้อำนวยการอาจมอบให้บุคคลใด ๆ ปฏิบัติกิจการบางอย่างแทนในเมื่อคณะกรรมการกำหนด และตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง บัญญัติว่า ความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล ดังนั้นการแสดงออกของผู้เสียหายย่อมต้องแสดงออกโดยผู้อำนวยการ แม้ข้อเท็จจริงจะฟังว่า พ. ทราบเหตุที่ข้าวสารในหน่วยที่รับฝากไว้สูญหายไปตามฟ้องก่อนแล้ว แต่ พ. เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานของผู้เสียหายซึ่งมีหน้าที่ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชารับทราบตามลำดับชั้นเท่านั้น ไม่มีอำนาจที่จะร้องทุกข์หรือดำเนินคดี จึงถือไม่ได้ว่า พ. เป็นผู้แทนของผู้เสียหายในการรับรู้เรื่องอายุความ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงมีหนังสือแจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่าไม่มีข้าวสารในโรงสีของจำเลยที่ 1 ให้ตรวจรับ ตามหนังสือลงวันที่ 15 สิงหาคม 2557 จึงต้องถือว่าผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดเมื่อได้รับแจ้งจากผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2557 จึงเป็นการร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิด คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2406/2560
จำเลยก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างคร่อมลำเหมืองที่เกิดเหตุตั้งแต่ปี 2542 สำหรับความผิดข้อหาบุกรุกและข้อหาทำให้เสียหาย ทำลายทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ตาม ป.อ. มาตรา 362 และมาตรา 360 เมื่อจำเลยบุกรุกเข้าไปและทำให้เสียทรัพย์ ความผิดฐานดังกล่าวย่อมเกิดขึ้นและสำเร็จในทันทีที่บุกรุกเข้าไปและทำให้เสียทรัพย์ ส่วนการยึดถือครอบครองเป็นผลของการบุกรุก เมื่อจำเลยบุกรุกเข้าไปและทำให้เสียทรัพย์ โดยก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างคร่อมลำเหมือง ที่เกิดเหตุตั้งแต่ปี 2542 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้ปี 2557 จึงเกินกำหนด 5 ปี และ 10 ปี นับแต่วันกระทำความผิดข้อหาบุกรุกและข้อหาทำให้เสียหาย ทำลายทรัพย์ ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ตามลำดับ ฟ้องโจทก์ในข้อหาดังกล่าวจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 ส่วนความผิดข้อหาเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ที่ดินของรัฐซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9 และ 108 ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดที่มีขึ้นตั้งแต่จำเลยเข้ายึดถือครอบครองและยังคงมีอยู่ตลอดเวลาที่จำเลยครอบครอง แม้จำเลยจะครอบครองมานานเกิน 10 ปี คดีของโจทก์เฉพาะข้อหาความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9 และ 108 ทวิ วรรคสอง ก็ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8627/2559
อายุความฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาซึ่งมาตรา 51 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้มีกำหนดเวลาดังที่บัญญัติไว้ในเรื่องอายุความฟ้องคดีอาญาตาม ป.อ. มาตรา 95 (1) ถึง (5) แล้วแต่กรณีนั้นเป็นอันสะดุดหยุดลงเมื่อมีการฟ้องคดีอาญาต่อศาล และได้ตัวผู้ถูกฟ้องมายังศาลด้วยแล้ว ระยะเวลาที่ล้วงพ้นไปก่อนนั้นไม่คิดนับเข้าในอายุความตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ และเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดแล้ว จึงให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น ตามมาตรา 193/15 วรรคสอง โดยอายุความจะเริ่มนับใหม่เมื่อศาลในคดีอาญามีคำพิพากษาอย่างใดอย่างหนึ่งและคดีเด็ดขาดแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4085/2559
คำร้องให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ไม่ใช่คำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (3) เพราะเป็นแต่คำร้องให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยด้วยเท่านั้น ยังไม่มีผู้ใดเสนอข้อหาต่อศาลโดยการสอดเข้ามาในคดี คำร้องดังกล่าวจึงไม่มีกรณีที่จะเป็นคำฟ้องเคลือบคลุม และเมื่อศาลหมายเรียกจำเลยร่วมทั้งสองเข้ามาเป็นคู่ความในคดีแล้ว หากศาลเห็นว่าจำเลยร่วมจะต้องรับผิดก็ย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยร่วมชดใช้ค่าเสียหายได้ ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือที่ปรากฏในคำฟ้อง

พนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมที่ 1 เป็นจำเลยในคดีส่วนอาญาว่าขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้โจทก์รับอันตรายแก่กายและทรัพย์สินเสียหาย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยร่วมที่ 1 ผู้เดียวเป็นฝ่ายประมาท ในคดีส่วนแพ่งจึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยร่วมที่ 1 ผู้เดียวทำละเมิดต่อโจทก์

เมื่อพนักงานอัยการฟ้องจำเลยร่วมที่ 1 เป็นคดีส่วนอาญา อายุความที่โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยร่วมที่ 1 เป็นคดีส่วนแพ่งย่อมสะดุดหยุดลง ตาม ป.อ. มาตรา 95 ทั้งนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสอง โจทก์ขอหมายเรียกจำเลยร่วมที่ 1 เข้ามาเป็นจำเลยร่วมในระหว่างคดีส่วนอาญายังไม่ถึงที่สุด ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วมที่ 1 จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12888/2558
ประธานกรรมการโจทก์ร่วมรู้ว่าจำเลยที่ 1 โกงเงินของโจทก์ร่วมไปตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ทำบันทึกคำรับสารภาพให้ไว้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550 แล้ว แต่โจทก์ร่วมฎีกาว่าไม่รู้เรื่องความผิดตั้งแต่วันดังกล่าว เนื่องจากยังไม่ได้ตรวจสอบรายละเอียดว่าจำเลยที่ 1 โกงเงินโจทก์ร่วมไปเมื่อใด จำนวนเท่าใด และโกงอย่างไร แต่เมื่อโจทก์ร่วมมิได้นำสืบให้ชัดแจ้งว่าโจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดตั้งแต่วันใดที่มิใช่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550 ที่จำเลยที่ 1 ทำบันทึกคำรับสารภาพไว้ และรู้เรื่องความผิดก่อนไปแจ้งความร้องทุกข์ไม่เกิน 3 เดือน คดีจึงไม่ปรากฏชัดว่าโจทก์ร่วมรู้ตัวผู้กระทำผิดและรู้เรื่องความผิดตั้งแต่เมื่อใดก่อนวันที่ 14 กรกฎาคม 2550 อันเป็นวันร้องทุกข์ไม่เกิน 3 เดือน กรณีไม่อาจทราบแน่ชัดว่าคดียังไม่ขาดอายุความ หรือไม่แน่ชัดว่าโจทก์ร่วมมีสิทธิฟ้องคดีได้หรือไม่ จึงสมควรยกประโยชน์ให้แก่จำเลยทั้งสองว่าสำหรับข้อหาฉ้อโกงนั้น คดีขาดอายุความแล้ว โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิฟ้องคดีข้อหานี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12675/2558
ความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 เป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ร่วมต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้น คดีเป็นอันขาดอายุความ ตาม ป.อ. มาตรา 96 คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำเบิกความของโจทก์ร่วมเองว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 จำเลยยอมรับกับโจทก์ร่วมว่าได้ยักยอกเงินค่าจำหน่ายสินค้าของโจทก์ร่วมไปจริง ดังนี้ จึงเท่ากับโจทก์ร่วมได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันดังกล่าวแล้ว การที่โจทก์ร่วมให้จำเลยนำเงินมาชดใช้คืนและจะตรวจสอบบัญชีเพื่อทราบยอดเงินที่สูญหายไปให้ชัดแจ้งอีกครั้งดังที่อ้าง เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมยอมผ่อนผันหรือให้โอกาสแก่จำเลยในฐานะที่เคยเป็นลูกจ้างของตนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิในการร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมขยายออกไป ดังนั้นเมื่อโจทก์ร่วมเพิ่งไปร้องทุกข์เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555 จึงพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว คดีของโจทก์และโจทก์ร่วมในความผิดฐานยักยอกจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10494/2558
บทบัญญัติ ป.อ. มาตรา 98 มีความหมาย 2 กรณี คือเมื่อมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้ใด กรณีแรก ถ้าผู้กระทำความผิดยังมิได้รับโทษ ซึ่งหมายถึงหลบหนีไปก่อนศาลมีคำพิพากษาลงโทษ หรือหลบหนีไปเมื่อศาลมีคำพิพากษาลงโทษแล้วและยังไม่ได้ตัวผู้กระทำความผิดมาเพื่อรับโทษ นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด เกินกำหนดเวลาที่กำหนดไว้จะลงโทษผู้กระทำความผิดไม่ได้ กรณีที่สอง ถ้าผู้กระทำความผิดได้รับโทษแต่ยังไม่ครบถ้วนโดยหลบหนีไป ซึ่งหมายถึงหลบหนีไประหว่างต้องโทษและยังไม่ได้ตัวผู้กระทำความผิดมาเพื่อรับโทษ นับแต่วันที่ผู้กระทำความผิดหลบหนีเกินกำหนดเวลาที่กำหนดไว้จะลงโทษผู้กระทำความผิดไม่ได้ ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีไปไม่มาฟังคำสั่งศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และคำพิพากษาศาลฎีกา จึงเป็นกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหายังไม่ได้รับโทษตามคำพิพากษา การนับระยะเวลาว่าจะลงโทษผู้ถูกกล่าวหาได้หรือไม่ จึงต้องนับแต่วันที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหา เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความฟังวันที่ 24 เมษายน 2555 คดีจึงถึงที่สุดในวันดังกล่าว เมื่อนับถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งเป็นวันที่ได้ตัวผู้ถูกกล่าวหามาจึงไม่เกินห้าปีอันล่วงเลยการลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 98 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10166/2558
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 32 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งใช้บังคับในวันฟ้องคดีนี้ มาตรา 39 วรรคหนึ่ง บัญญัติเช่นเดียวกันว่า "บุคคลไม่ต้องรับโทษทางอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดไม่ได้" บทบัญญัติเรื่องอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 แม้ไม่ใช่บทบัญญัติที่เกี่ยวกับโทษจะลงแก่ผู้กระทำความผิด แต่ก็เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับระยะเวลาที่บุคคลอาจต้องรับโทษทางอาญาซึ่งเกี่ยวพันกับบทกำหนดโทษ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 74/1 ที่มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ ย่อมทำให้ระยะเวลาที่บุคคลอาจต้องรับโทษอาญาเพิ่มขึ้นหรือหนักกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ตาม ป.อ. มาตรา 95 ซึ่งมิได้มีบทบัญญัติเช่นมาตรา 74/1 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงต้องใช้บทบัญญัติเรื่องอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิด อันเป็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ หาใช่เป็นการสนับสนุนผู้กระทำความผิดให้ไม่ต้องรับโทษ การใช้บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 74/1 บังคับแก่คดีนี้ จะเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองและคุ้มครอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9955/2558
ขณะเกิดเหตุ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ที่ให้เพิ่มความตามมาตรา 98 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งให้นำมาตรา 74/1 มาใช้บังคับโดยอนุโลมยังไม่มีผลใช้บังคับ เมื่อมาตรา 98 ประกอบมาตรา 74/1 เป็นบทบัญญัติที่มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความด้วย ประกอบกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มิได้มีบทเฉพาะกาลให้นำมาตรา 98 ประกอบมาตรา 74/1 มาใช้บังคับแก่คดีที่เกิดขึ้นก่อน พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ การตีความกฎหมายจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด จะขยายความไปถึงคดีที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวใช้บังคับโดยที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดอันจะเป็นผลร้ายแก่จำเลยหาได้ไม่ เพราะจะขัดต่อความรับผิดของบุคคลในการรับโทษทางอาญา ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง กรณีจึงนำมาตรา 98 ประกอบมาตรา 74/1 มาใช้ย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่จำเลยมิได้ อายุความการฟ้องคดีอาญาแก่จำเลยที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไต่สวนแล้วมีมติแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลย จึงต้องพิจารณาตามความใน ป.อ. มาตรา 95 เมื่อความผิดตาม ป.อ. มาตรา 148 ประกอบมาตรา 83 และ 86 ที่โจทก์ฟ้องมีอายุความยี่สิบปีนับแต่วันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 95 (1) การที่โจทก์ฟ้องและได้ตัวจำเลยมาดำเนินคดีนี้เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 เกินกว่ายี่สิบปีนับแต่วันกระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9696/2558
การกระทำอันจะเป็นความผิดฐานฟ้องเท็จตาม ป.อ. มาตรา 175 ต้องเป็นการนำความเท็จในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญาไปแกล้งฟ้องผู้อื่นให้รับโทษ ทั้งที่ไม่เป็นความจริง ส่วนเรื่องอายุความนั้น ป.อ. มาตรา 95 และมาตรา 96 ได้บัญญัติไว้ต่างหากเพื่อเป็นหลักเกณฑ์ในการฟ้องคดี ซึ่งเป็นเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญาโดยตรง ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างในฟ้องคดีก่อนว่าคดีของจำเลยที่ 1 ยังไม่ขาดอายุความนั้นแม้จะไม่เป็นความจริง จำเลยทั้งหกก็หามีความผิดฐานฟ้องเท็จไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4902/2558
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยพรากเด็กชาย ม. ซึ่งมีอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากโจทก์ซึ่งเป็นบิดาผู้ใช้อำนาจปกครองและหน่วงเหนี่ยวกักขังเด็กชาย ม. ให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ซึ่งโจทก์เป็นผู้เสียหายในความผิดที่จำเลยพรากเด็กชาย ม. ซึ่งมีอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปจากโจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยให้รับผิดในทางแพ่งฐานละเมิดโดยอาศัยมูลคดีอาญาความผิดดังกล่าว อันเป็นการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา แม้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญาจำเลยเฉพาะความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ไม่ได้ฟ้องจำเลยในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล และคดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดโดยข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยที่หน่วงเหนี่ยวกักขังเด็กชาย ม. ให้ปราศจากเสรีภาพโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้ใช้อำนาจปกครองย่อมเป็นการพาและแยกเด็กชาย ม. ไปจากความปกครองดูแลของโจทก์ทำให้ความปกครองดูแลของโจทก์ที่มีต่อเด็กชาย ม. ถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลด้วย เมื่อมูลคดีนี้ไม่มีผู้ใดฟ้องจำเลยทางอาญา สิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยทางแพ่งเนื่องจากความผิดนั้นต้องนำ ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง มาใช้บังคับ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคแรก มีอายุความทางอาญา 15 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (2) ซึ่งเป็นกำหนดอายุความที่ยาวกว่าอายุความทางแพ่งในมูลละเมิด จึงต้องเอาอายุความ 15 ปี มาใช้บังคับ จำเลยกระทำละเมิดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2550 และโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 ยังไม่พ้นกำหนด 15 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18122/2557
อายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 แบ่งเป็นอายุความฟ้องคดีแพ่งตามมาตรา 63 และอายุความฟ้องคดีอาญาตามมาตรา 66 โดยอายุความคดีอาญาต้องนำ ป.อ. มาตรา 95 มาใช้บังคับ เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมบรรยายฟ้องซึ่งต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท อายุความในคดีนี้จึงเป็นอายุความฟ้องคดีอาญาสำหรับความผิดต้องระวางโทษอย่างอื่นซึ่งไม่ใช่โทษจำคุก ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) อันมีอายุความหนึ่งปีนับแต่วันกระทำความผิด เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2552 ถึงวันที่ 22 ธันวาคม 2552 แต่ฟ้องและได้ตัวจำเลยทั้งสามมายังศาลในวันที่ 17 ธันวาคม 2555 ฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคหนึ่งจึงขาดอายุความแล้ว ทั้งหากเทียบเคียงกับกฎหมายลิขสิทธิ์ก่อนหน้านั้นจะเห็นได้ว่ากฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยบัญญัติแยกอายุความคดีแพ่งและคดีอาญาจากกันตลอดมา โดยปัจจุบัน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 กำหนดอายุความคดีแพ่งไว้ในมาตรา 63 ส่วนมาตรา 66 มิได้กำหนดอายุความคดีอาญาไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา ภาค 1 หมวด 9 ว่าด้วยอายุความมาใช้กับความผิดในคดีนี้ ฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมจึงขาดอายุความและสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15866/2557
ความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนดนั้นเกิดขึ้นเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่วันที่มีการให้กู้ยืมเงินด้วยการทำสัญญากันและจำเลยเรียกดอกเบี้ยจากผู้เสียหายเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนด หาใช่ความผิดต่อเนื่องตลอดระยะเวลาตราบเท่าที่จำเลยยังคงเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราอยู่และผู้เสียหายแต่ละคนได้ผ่อนชำระดอกเบี้ยนั้นดังที่โจทก์ฎีกาไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 25 กันยายน 2551 เกินกว่า 5 ปี นับแต่วันกระทำผิดสำเร็จ จึงเป็นอันขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11108/2557
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดโดยแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับคดีอาญาแก่พนักงานสอบสวนว่า โจทก์กับพวกร่วมกันปลอมเอกสารราชการหนังสือรับรองการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บ. และใช้เอกสารราชการปลอม อันเป็นความผิดและมีโทษตาม ป.อ. มาตรา 172 173 174 วรรคสอง และ 181 (1) ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาซึ่งมีกำหนดอายุความทางอาญา 10 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งภายในกำหนด 10 ปี ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้ถอนคำร้องทุกข์คดีอาญา ถือว่าความผิดทางอาญาฐานแจ้งความเท็จยังไม่เกิดขึ้น จึงต้องใช้อายุความละเมิดทั่วไปในทางแพ่ง 1 ปี โจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่วันที่รู้เหตุแห่งการทำละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิด ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความนั้น ฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5486/2557
ผู้เสียหายเป็นร้านค้าชุมชนก่อตั้งโดยราษฎรในชุมชนมีสมาชิกประมาณ 700 คน สมาชิกแต่ละคนต้องลงหุ้นคนละ 1 หุ้น ส. เป็นผู้ถือหุ้นและเป็นประธานกรรมการของผู้เสียหาย ภายหลังจาก ว. พนักงานบัญชีของผู้เสียหายตรวจสอบพบว่า สินค้าในร้านหายไป ว. แจ้งให้ ส. และคณะกรรมการทราบถึงกรณีสินค้าขาดจำนวนภายในเดือนมีนาคม 2553 และคณะกรรมการลงมติให้มีหนังสือถึงจำเลยพนักงานขายของผู้เสียหายให้ไปชี้แจง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ส. และคณะกรรมการรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดภายในเดือนดังกล่าว ส. เป็นสมาชิกของผู้เสียหายโดยเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง ส. จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยข้อหายักยอกด้วย เมื่อ ส. ไปร้องทุกข์ภายในเดือนสิงหาคม 2553 ซึ่งพ้นกำหนดสามเดือนนับแต่วันที่ ส. และคณะกรรมการรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18180/2556
ความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) เป็นความผิดเกิดขึ้นและสำเร็จแล้วตั้งแต่ผู้ให้กู้ให้กู้เงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด การชำระดอกเบี้ยต่อเนื่องกันมาเป็นผลของการกระทำความผิดเท่านั้น ไม่ใช่ความผิดต่อเนื่อง จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันให้โจทก์ร่วมกู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2541 และโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2547 เกินกว่า 5 ปี นับแต่วันกระทำความผิด คดีจึงเป็นอันขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14689/2556
การนับอายุความให้เริ่มนับตั้งแต่วันกระทำความผิด การที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 กับพวกออกไปตรวจพิสูจน์ที่ดินแล้วสรุปข้อเท็จจริงผลการตรวจพิสูจน์เป็นเท็จว่าที่ดินไม่ได้อยู่ในเขตป่าพร้อมความเห็นเสนอนายอำเภอ หากเป็นการสรุปความเห็นที่เกิดจากการกระทำปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยราชการ หรือเกิดจากการกระทำโดยทุจริตก็เป็นความผิดทันทีที่เสนอความเห็นต่อนายอำเภอ ส่วนนายอำเภอจะลงนามในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เมื่อใดเป็นแต่เพียงผลที่เกิดจากการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 4 กับพวก มิฉะนั้นแล้วจะกลายเป็นว่า หากนายอำเภอไม่เห็นด้วยกับความเห็นของจำเลยที่ 1 และที่ 4 กับพวกโดยไม่ลงนามในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ก็จะทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 4 กับพวกไม่เป็นความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12454/2556
จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมดำเนินคดีอาญาตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 แม้พนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งเป็นอำนาจของพนักงานอัยการที่มีความเห็นในการสั่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ตาม แต่เป็นกรณีถือได้ว่าไม่มีผู้ใดฟ้องทางอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ทั้งคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยเป็นการทำลาย ทำให้สูญหายและเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐที่โจทก์มีหน้าที่ดูแลรักษา ส่งเสริม ทำนุบำรุงป่าและการเกี่ยวกับการป่าไม้ ฯลฯ ทำให้พื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารและติดอยู่ในเขตพื้นที่โซนอนุรักษ์ตามมติคณะรัฐมนตรีได้รับความเสียหายทางด้านป่าไม้ คิดเป็นค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 97 และมีโทษทางอาญาตามมาตรา 99 ประกอบมาตรา 43 ถือว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายฟ้องทางแพ่งเนื่องจากความผิดทางอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคหนึ่ง จึงต้องใช้อายุความฟ้องคดีอาญาตามมาตรา 99 ดังกล่าวซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3812 - 3814/2556
จำเลยเป็นเสมียนตราอำเภอโนนแดง มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินและบัญชีของอำเภอโนนแดง เงินค่าวัสดุก่อสร้างโครงการฝายประชาอาสาทั้งสี่โครงการรวม 1,308,104.40 บาท เป็นเงินที่ทางอำเภอโนนแดงต้องเบิกจากทางจังหวัดนครราชสีมาไปชำระให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด น. และห้างหุ้นส่วนจำกัด ต. แต่จำเลยไม่ได้เป็นกรรมการรับเงินที่จะมีอำนาจหน้าที่ไปเบิกและรับเงินค่าวัสดุก่อสร้างดังกล่าว การที่จำเลยใช้คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการรับเงินซึ่งไม่ใช่คำสั่งที่ผู้ลงชื่อประสงค์จะตั้งจำเลยไปดำเนินการดังกล่าว ทั้งบางคำสั่งก็ตั้งกรรมการไม่ครบตามกฎระเบียบไปแสดงต่อเสมียนตราจังหวัดเพื่อขอเบิกและรับเงินโครงการดังกล่าว เมื่อได้รับเช็คแล้วนำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคารเอาไปโดยทุจริต เป็นการกระทำในส่วนที่นอกอำนาจหน้าที่รับผิดชอบของตน ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำความผิดในฐานะเจ้าพนักงาน จึงไม่อาจลงโทษจำเลยฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 147 ตามฟ้องอันเป็นบทเฉพาะได้ แต่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกทรัพย์เงินดังกล่าว ซึ่งเป็นความผิดในตัวเองและเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องมาได้ อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นจำเลยไม่ได้รับมอบทรัพย์โดยชอบแล้วเบียดบังไว้โดยทุจริตอันจะเป็นความผิดฐานยักยอก แต่จำเลยได้รับเช็คจาก ก. เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีประจำที่ทำการปกครองจังหวัดนครราชสีมาโดยแสดงคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวต่อ ก. เพื่อให้เข้าใจว่าตนได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการรับเงินโดยชอบ จน ก. หลงเชื่อมอบเช็คดังกล่าวให้ไป แล้วจำเลยแสดงคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารในการนำเช็คไปขอเบิกเงินสดจากธนาคารตามเช็คด้วย ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการหลอกลวงผู้อื่นแล้วได้มาซึ่งเช็คและเงิน ย่อมเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษฐานนี้ก็ตาม แต่เมื่อศาลอาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกได้ จึงเป็นการแตกต่างกันระหว่างการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง และยักยอก เมื่อจำเลยไม่หลงต่อสู้ จึงลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงที่ได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง และวรรคสาม แต่อำเภอโนนแดงร้องทุกข์เมื่อล่วงพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 693/2556
ช. ผู้จัดการโจทก์ สาขาสำโรง เป็นเพียงลูกจ้างของโจทก์ แม้ ช. รู้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดก็จะถือว่าผู้แทนโจทก์รู้ด้วยไม่ได้ ผ. เป็นกรรมการคนหนึ่งของโจทก์ ซึ่งเป็นผู้แทนของโจทก์ เมื่อกรรมการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงทำรายงานเสนอ ผ. ว่าจำเลยทั้งสองได้หลอกลวง ช. อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง และ ผ. ลงลายมือชื่อรับทราบในรายงานดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2537 จึงต้องถือว่าโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2537

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 353/2556
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี โจทก์จึงต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำผิดมายังศาลภายใน 15 ปีนับแต่วันกระทำความผิด คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดระหว่างวันที่ 24 ตุลาคม 2537 ถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2537 แม้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552 ภายในอายุความ 15 ปี นับแต่วันกระทำความผิด แต่การที่ศาลชั้นต้นต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องของโจทก์ต่อไประหว่างนั้นจะถือว่าได้ตัวจำเลยทั้งสองมาศาล และจำเลยทั้งสองอยู่ในอำนาจศาลไม่ได้ อายุความจึงยังไม่หยุดนับ เมื่อปรากฏว่าขณะที่ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 18 มกราคม 2553 นั้นเป็นเวลาเกิน 15 ปี นับแต่วันที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง คดีโจทก์สำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ย่อมขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9568/2555
ในความผิดฐานเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการมรดกยักยอกทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาลหรือตามพินัยกรรมกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 354 ประกอบมาตรา 353 มีอายุความสิบปี ป.อ. มาตรา 95 (3) บัญญัติว่า หากมิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดสิบปี นับแต่วันกระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ หมายความว่า อายุความในการฟ้องคดีเริ่มนับแต่วันกระทำความผิดเป็นต้นไป

จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ บ. ตามคำสั่งศาลร่วมกับ ห. โดยเจตนาทุจริตเบียดบังทรัพย์มรดกที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) จดทะเบียนโอนเป็นชื่อของตนในฐานะผู้จัดการมรดก แล้วจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกทั้งสามแปลงแก่ ห. เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2537 จึงถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่จำเลยกระทำความผิด อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2537 มิใช่อายุความเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2549 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ทั้งคู่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 96 อายุความตามมาตรา 96 เป็นอายุความร้องทุกข์ซึ่งต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 95 ด้วย การที่โจทก์ทั้งสองนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 เกินกำหนดระยะเวลาสิบปีนับตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2537 ที่จำเลยกระทำความผิด ฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) สิทธินำคดีอาญาย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ.มาตรา 39 (6)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4494/2555
พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 119 วรรคสอง กำหนดโทษสำหรับผู้กระทำความผิดฐานขายหรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาปลอมโดยไม่รู้ว่าเป็นยาปลอมไว้ให้ปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงห้าพันบาท ซึ่งโจทก์จะต้องฟ้องคดีและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันกระทำความผิด มิฉะนั้นคดีเป็นอันขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) แต่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดนี้ล่วงเลยกำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่วันกระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์ในข้อหานี้จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7455/2554
คดีโจทก์ขาดอายุความวันที่ 6 ธันวาคม 2549 ดังนั้น แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสองภายในกำหนดอายุความแล้วก็ตาม แต่โจทก์จะต้องได้ตัวจำเลยทั้งสองมาศาลภายในวันสุดท้ายของกำหนดอายุความคือ ภายในวันที่ 6 ธันวาคม 2549 ด้วย การที่จำเลยแต่งตั้งทนายความเข้าซักค้านพยานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง เป็นการใช้สิทธิตาม ป.วิ.อ. มาตรา 165 วรรคท้าย และจำเลยยังไม่อยู่ในฐานะจำเลย จึงมิใช่เป็นการได้ตัวจำเลยมาศาล

จำเลยที่ 1 มาศาลโดยการนำมาของทนายโจทก์ มิใช่มาศาลเพราะทราบว่าถูกฟ้องและมาตามหมายเรียกโดยมีเจตนาที่จะมาให้การรับหรือปฏิเสธข้อกล่าวหาของโจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการได้ตัวจำเลยที่ 1 มาศาล และการที่ศาลออกหมายจับจำเลยที่ 2 ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการได้ตัวจำเลยที่ 2 มาศาลแล้วเช่นกันเพราะมิฉะนั้นจะมีผลทำให้อายุความในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องคดีเอง ขยายออกไปยาวนานกว่าคดีที่ราษฎรร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5445/2554
จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการ มีดีวีดีและวีซีดีภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ที่ภาพและเสียงของเรื่องไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานไว้ในสถานประกอบกิจการ และฐานผู้ได้รับอนุญาตมีภาพยนตร์ที่ไม่ได้แสดงเครื่องหมายการอนุญาต ประเภทภาพยนตร์และหมายเลขรหัสไว้ในสถานประกอบการเพื่อจำหน่ายอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 35 (1) และมาตรา 36 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2549 อันเป็นเวลาขณะที่ พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 ยังใช้บังคับ ซึ่งความผิดตามมาตรา 35 (1) มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดตามมาตรา 36 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (4) จำเลยถูกฟ้องเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ซึ่งขณะนั้น พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ใช้บังคับแล้วโดยมีผลยกเลิก พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 และการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 78 และมาตรา 43 ประกอบมาตรา 80 ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่มีระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาทและระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท โดยไม่มีโทษจำคุก จึงมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) ดังนั้น กฎหมายใหม่จึงเป็นคุณแก่จำเลยต้องใช้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาบังคับใช้แก่การกระทำความผิดของจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 จึงต้องนำอายุความตามกฎหมายใหม่มาใช้บังคับแก่จำเลย เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3129/2555
แม้ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) เป็นความผิดอันยอมความได้ ซึ่งผู้เสียหายจะต้องร้องทุกข์หรือฟ้องคดีเสียภายในกำหนดสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้นคดีเป็นอันขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 แต่คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่กระทำการตามฟ้องอันเป็นการฝ่าฝืน ป.อ. มาตรา 272 (1) เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2553 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งหมายถึงวันที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้อันเป็นการบรรยายฟ้องว่าการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่ยังคงกระทำสืบเนื่องตลอดมาจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2553 อันเป็นวันที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายยื่นฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดในคดีนี้ ดังนั้นคดีอาญาในความผิดข้อหาดังกล่าวย่อมไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11465/2554
จำเลยเป็นคนนำรถเกรดถนนของ ส. ที่ฝากไว้แก่ผู้เสียหายไปจากความครอบครองของผู้เสียหาย ตามที่ผู้เสียหายแจ้งให้จำเลยเคลื่อนย้ายไปจากปั้มแก๊สของผู้เสียหาย เป็นกรณีที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้มีสิทธิครอบครองทรัพย์ส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลยด้วยความสมัครใจ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์

แม้จำเลยรับรถเกรดถนนไปเพราะได้รับความยินยอมจากผู้เสียหาย ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องนำรถเกรดถนนไปคืนแก่ทายาทของ ส. การที่จำเลยไม่นำไปคืน แต่กลับนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตนด้วยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งๆ ที่ไม่ใช่รถเกรดถนนของตน ถือได้ว่าเมื่อจำเลยรับรถเกรดถนนไว้ในครอบครองแล้ว จำเลยมีเจตนาทุจริตเบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 แต่เป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก

ผู้จัดการมรดกของ ส. รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิดและร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยจำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่ามีการร้องทุกข์ภายในสามเดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7541/2554
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคแรก เป็นความผิดอันยอมความได้ตาม ป.อ. มาตรา 281 ปรากฏตามฟ้องของโจทก์ระบุว่า เหตุเกิดเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2539 และเดือนมิถุนายน 2539 ทั้งตามคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายเอกสารหมาย จ.5 ระบุว่า จำเลยข่มขืนกระทำชำเราครั้งแรกเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม 2539 ครั้งที่สองห่างจากครั้งแรกประมาณ 2 ถึง 3 วัน โดยให้การเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2539 ดังนี้จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องจนถึงวันที่ผู้เสียหายมาให้การต่อพนักงานสอบสวนเป็นเวลาเกิน 3 เดือนแล้ว และระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ผู้เสียหายรวมทั้งผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเลย คดีจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1777/2554
เมื่อศาลมีคำสั่งตั้ง จ. เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกแล้วย่อมถือว่า จ. เป็นตัวแทนของทายาททั้งหมด มีหน้าที่ในการรวบรวมทรัพย์มรดก ทั้งดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาต่อผู้ที่กระทำความเสียหายแก่กองมรดกด้วย ดังนั้นเมื่อ จ. นำคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดกไปดำเนินการที่ธนาคาร ก. สาขาวังทอง เพื่อขอรับเงินในบัญชีของเจ้ามรดก แต่เจ้าหน้าที่ธนาคารแจ้งว่าจำเลยนำคำสั่งศาลแต่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกมารับเงินในบัญชีไปแล้ว ย่อมถือว่า จ. รู้เรื่องผู้กระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว และต้องถือว่าโจทก์ร่วมในฐานะทายาททราบเรื่องกระทำผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดแล้วด้วย

แม้วันสุดท้ายที่โจทก์ร่วมมีสิทธิร้องทุกข์ จะตรงกับวันหยุดราชการ แต่การร้องทุกข์สามารถกระทำได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ โจทก์ร่วมไม่ร้องทุกข์ในวันสุดท้าย คดีจึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1809/2554
ความผิดข้อหาก่อสร้างดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเกิดขึ้นนับแต่วันทำการก่อสร้างอาคารต่อเนื่องกันไปจนถึงวันปลูกสร้างอาคารเสร็จ อายุความฟ้องร้องต้องนับถัดจากวันที่ก่อสร้างดัดแปลงเสร็จลง มิใช่เป็นความผิดต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลาที่ผู้กระทำยังไม่ได้รื้ออาคาร ส่วนเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนหรือร้องขอต่อศาลให้บังคับให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารรื้อถอนได้เสมอตราบเท่าที่อาคารที่ฝ่าฝืนยังคงอยู่ เป็นเรื่องความรับผิดในทางแพ่ง

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดข้อหาก่อสร้างดัดแปลงอาคารเพื่อใช้เป็นอาคารพาณิชยกรรมขายอาหารตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21 ต้องระวางโทษตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง จำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และถือเป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรมตามมาตรา 70 ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น จึงระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี อายุความฟ้องร้องมีกำหนด 5 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (4) เมื่อการก่อสร้างดัดแปลงอาคารได้เสร็จลงก่อนวันที่ 30 กรกฎาคม 2540 โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 5 พฤศจิกายน 2545 จึงเกินกว่า 5 ปี ล่วงเลยกำหนดเวลาฟ้องร้อง ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9650/2553
ในคดีเกิดเหตุจำเลยร่วมกับพวกทำร้ายผู้ตายโดยใช้กำลังชกต่อย แม้จำเลยจะไม่มีส่วนร่วมในการฆ่าผู้ตายซึ่งเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในภายหลัง แต่จำเลยก็ยังต้องรับผิดในการกระทำของตน อย่างไรก็ตามจากทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความว่าการที่จำเลยชกต่อยผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายเกิดอันตรายแก่การหรือจิตใจอย่างไร ทั้งตามรายงานการชันสูตรพลิกศพผู้ตาย ก็ระบุว่าผู้ตายมีเพียงบาดแผลลักษณะถูกฟันและแทงด้วยวัตถุของแข็งมีคมที่บริเวณใต้ราวนมข้างซ้าย 1 แผล กับที่ด้านข้างแขนซ้ายท่อนบนเหนือข้อศอก 1 แผลเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีบาดแผลอื่นที่น่าเชื่อว่าเกิดขึ้นจากการถูกจำเลยชกต่อยอีก เช่นนี้จำเลยจึงมีความผิดเพียงฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 ซึ่งแม้ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย แต่การจะลงโทษจำเลยตามที่ได้ความจากทางพิจารณาก็จะต้องพิจารณาว่าคดีขาดอายุความหรือไม่ด้วย ซึ่งความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนจึงมีอายุความหนึ่งปีตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2536 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2544 เป็นเวลาเกินกว่าหนึ่งปีแล้ว คดีจึงขาดอายุความ ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1465/2552
       ใบจองหุ้นสามัญเป็นเพียงหลักฐานให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิในการเป็นผู้ซื้อหุ้นที่บริษัท ห. จะจัดสรรให้เมื่อมีการจดทะเบียนเพิ่มทุนแล้ว แม้โจทก์จะทำสัญญาจองซื้อหุ้นเป็นเวลานานเป็นปีแล้ว แต่โจทก์ยังไม่ได้รับใบหุ้นและพยายามทวงถามจำเลยทั้งสองก็ตาม โจทก์ย่อมไม่ทราบว่าถูกจำเลยทั้งสองหลอกลวงหรือไม่ เพราะอาจมีปัญหาเกี่ยวกับบริษัทโดยตรงที่ไม่สามารถจดทะเบียนเพิ่มทุนได้ ระหว่างที่รอโจทก์จึงไม่สามารถทราบได้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาฉ้อโกงโจทก์ จนกระทั่งวันที่ 20 มีนาคม 2541 จำเลยทั้งสองยอมรับกับโจทก์ว่าไม่มีการจดทะเบียนเพิ่มทุน จึงไม่มีหุ้นโอนให้โจทก์ พร้อมคืนเงินค่าจองหุ้นและชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์รวมเป็นเงิน 2,000,000 บาท เพื่อไม่ให้โจทก์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง โจทก์จึงทราบว่าจำเลยทั้งสองหลอกลวงโจทก์ในวันดังกล่าว เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1086/2552
        โจทก์รับราชการตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสุโขทัย ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรง สถานที่ทำการตามตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์คือ วิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรงวิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรงจึงเป็นภูมิลำเนาของโจทก์ ซึ่งเป็นข้าราชการตาม ป.พ.พ. มาตรา 46 ผู้อำนวยการกองการศึกษาอาชีพมีหนังสือถึงโจทก์ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงพร้อมกับ แนบหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของจำเลยที่ 2 อันมีข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ไปให้โจทก์ทราบด้วย หนังสือดังกล่าวได้ส่งถึงวิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรงเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2542 โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้รับหนังสือไว้แทนโจทก์ และได้ทำบันทึกนำเสนอโจทก์พร้อมลงวันที่กำกับในวันเดียวกัน โจทก์ไม่นำสืบว่าวันนั้นโจทก์ยังไม่ได้รับหนังสือตามที่เจ้าหน้าที่เสนอ และไม่นำสืบว่าเหตุใดจึงเพิ่งเกษียณส่งหนังสือในวันที่ 2 มีนาคม 2542 แม้โจทก์ลงลายมือชื่อรับทราบและสั่งการให้ดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริงในวัน ที่ 2 มีนาคม 2542 ก็เป็นวิธีการดำเนินการตามระบบราชการเท่านั้น ถือได้ว่าโจทก์รับหนังสือดังกล่าวในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2542 และโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดในวันเดียวกัน คดีนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์และฟ้องคดีนี้ภายใน 3 เดือน คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 596/2552
       ฎีกาของจำเลยทั้งสามที่ว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามรับผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 เพื่อให้ได้ค่าปรับและค่าภาษีอากรที่ขาดอันเนื่องมาจากการสำแดงราคาเท็จ ซึ่งตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะแล้วในมาตรา 10 วรรคสาม ให้มีอายุความ 10 ปี จึงต้องถือเอาอายุความตามนั้น จะเทียบเคียงใช้อายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (2) มิได้ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้น 10 ปี แล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายดัง กล่าวมาแล้ว และยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงแนวคำวินิจฉัยเดิม ฎีกาของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 386/2551
       แม้ผู้เช่าซื้อยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกยังเป็นของผู้ให้เช่าซื้อ แต่ผู้เช่าซื้อก็มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์และมีหน้าที่ต้องส่งคืนรถยนต์ บรรทุกที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยแก่ผู้ให้เช่าซื้อหากมีกรณีต้องคืน เมื่อจำเลยทั้งสองยักยอกชิ้นส่วนอุปกรณ์ของรถยนต์บรรทุกดังกล่าวไปจากผู้ เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อย่อมได้รับความเสียหายจึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์ให้ ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองได้เช่นเดียวกับผู้ให้เช่าซื้อ คดีนี้เป็นกรณีความผิดอันยอมความได้ เมื่อผู้เช่าซื้อมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิด และรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ป.อ. มาตรา 96

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 150/2550
คดีความผิดอันยอมความได้ โจทก์ร่วมต้องร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 96 ซึ่งความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 เกิดขึ้นเมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน มิใช่เกิดขึ้นในวันที่ลงในเช็คพิพาท ดังนี้ เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินวันที่ 24 กรกฎาคม 2538 จึงถือว่าความผิดของจำเลยทั้งสองเกิดขึ้นในวันดังกล่าว ฉะนั้น การเริ่มนับอายุความต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2538 ซึ่งเป็นวันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเป็นต้นไป มิใช่นับแต่วันที่ 25 เมษายน 2538 อันเป็นวันที่ลงในเช็คพิพาท เมื่อโจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในวันที่ 20 ตุลาคม 2538 ภายในกำหนดระยะเวลา 3 เดือน คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 920/2550
กฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติถึงวิธีการกำหนดนับระยะเวลาอายุความคดีอาญาไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น การนับระยะเวลาอายุความคดีอาญาจึงอยู่ในบังคับของหลักทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/3 วรรคสอง ซึ่งกำหนดมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน จึงเริ่มนับอายุความในวันรุ่งขึ้น คดีนี้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับแรก เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 การนับอายุความต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2539 และจะครบกำหนด 3 เดือน วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดอายุความวันสุดท้าย คดีโจทก์ตามเช็คฉบับแรกจึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 845/2550
อายุความการฟ้องคดีอาญาแก่ผู้ถูกกล่าวหาที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการ ทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ไต่สวนแล้วมีมติว่า ผู้ถูกกล่าวหามีความผิดทางอาญา ต้องพิจารณาตามความใน ป.อ. มาตรา 95 กำหนดระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ตามความใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 84 เป็นเพียงกำหนดระยะเวลาที่กำหนดให้ผู้กล่าวหาต้องยื่นคำกล่าวหาเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อของตนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. นับถัดจากวันที่ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและมิใช่บุคคลตาม มาตรา 66 ได้พ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น หาใช่อายุความฟ้องร้องคดีอาญาไม่ เมื่อความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 147 มีอัตราโทษจำคุกขั้นสูงคือ จำคุกตลอดชีวิต และความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม ป.อ. มาตรา 157 มีอัตราโทษจำคุกขั้นสูงคือ 10 ปี อายุความการฟ้องคดีอาญาในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงเป็นไปตาม ป.อ. มาตรา 95 (1) และ (2) คือ 20 ปี และ 15 ปี ตามลำดับ จำเลยที่ 1 กระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวนี้เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2543 เวลากลางคืนหลังเที่ยง โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 วันที่ 20 พฤษภาคม 2546 เป็นเวลาห่างกันเพียง 3 ปีเศษ คดียังไม่ขาดอายุความ โจทก์มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7095/2549
ในการพิจารณากำหนดอายุความฟ้องผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 95 นั้นต้องถือเอาตามข้อหาหรือฐานความผิดที่ศาลพิจารณาได้ความ คดีนี้จำเลยถูกศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 147 ซึ่งมีอายุความฟ้องภายใน 20 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (1) คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ แม้การกระทำความผิดของจำเลยจะเป็นการกระทำด้วยเจตนาในการกระทำผิดอย่างเดียว กันคือเบียดบังเอาเงินซึ่งจำเลยมีหน้าที่จัดการหรือรักษาไว้ไปเป็นของจำเลย เองโดยทุจริต แต่จำเลยก็ได้รับเงินแล้วเบียดบังเอาเป็นของตนเองโดยทุจริตจากบุคคลต่างราย แต่ละรายเกิดขึ้นต่างวันเวลากัน อันเป็นการกระทำที่ต่างกรรมต่างวาระกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6168/2548
ความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองฯ ตาม ป.อ. มาตรา 371 มีระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาทจึงมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2543 เมื่อนับแต่วันที่ 17 กันยายน 2535 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยกระทำความผิดแล้วเป็นเวลาเกิน 1 ปี ความผิดฐานนี้จึงขาดอายุความ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จะไม่ได้ยก ขึ้นว่ากันมาในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1399/2548
ความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์ของแผ่นดินโดยไม่ได้รับ อนุญาต ย่อมมีขึ้น ตั้งแต่จำเลยเข้ายึดถือครอบครองและยังคงมีอยู่ตลอดเวลาที่จำเลยครอบครอง ที่ดินสาธารณประโยชน์อยู่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะที่โจทก์ฟ้อง จำเลยยังคงยึดถือครอบครองที่ดินอยู่ แม้จำเลยจะครอบครองมานานเกิน 10 ปี คดีของโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5002/2545 แจ้งแก้ไขข้อมูล พระ ราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 มุ่งประสงค์จะลงโทษผู้กระทำความผิดสำเร็จตามบทมาตราที่ระบุไว้ทั้งสองวรรคไป ในคราวเดียวกันกล่าวคือนอกจากผู้กระทำความผิดสำเร็จจะต้องรับโทษทั้งจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 65 วรรคหนึ่งแล้ว ยังจะต้องรับโทษปรับเป็นรายวันตามมาตรา 65 วรรคสองพร้อมกันไปในคราวเดียวกันด้วย การนับอายุความสำหรับความผิดตามมาตรา 65 จึงต้องใช้ระวางโทษในวรรคหนึ่งซึ่งมีโทษหนักที่สุดเป็นเกณฑ์ หาใช่นับอายุความในแต่ละวรรคแยกต่างหากจากกันไม่ ส่วนโทษปรับตามมาตรา 65 วรรคสอง คณะกรรมการเปรียบเทียบคดีจะมีอำนาจเปรียบเทียบตามมาตรา 74 หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวกับการนับอายุความ เมื่อมาตรา 65 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษขั้นสูงให้จำคุกไม่เกิน3 เดือน จึงมีอายุความฟ้องร้อง 5 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(4) โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2543 ยังไม่พ้นกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2540ซึ่งเป็นวันที่จำเลยทั้งสามเริ่มกระทำความผิด คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1579/2521
โทษปรับนิติบุคคลถูกกักขังแทนค่าปรับไม่ได้ การขอผ่อนชำระค่าปรับถือว่าจำเลยไม่ชำระค่าปรับไม่ได้ ศาลผ่อนผันให้จำเลยชำระค่าปรับช้าเร็วเพียงใด แล้วแต่ดุลพินิจตามความยุติธรรมและเหมาะสมการยึดทรัพย์อาจทำได้ภายใน 5 ปีตาม มาตรา 99 ไม่เป็นการขยายเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ซึ่งใช้สำหรับกฎหมายวิธีพิจารณา นำมาใช้กับกฎหมายสารบัญญัติไม่ได้ ศาลกำหนดให้จำเลยผ่อนชำระค่าปรับเป็นงวดๆ แต่เมื่อครบงวดปีที่ 4 ให้จำเลยหาธนาคารมาค้ำประกันโดยให้จำเลยทำทัณฑ์บนไว้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 196/2510 แจ้งแก้ไขข้อมูล ฟ้อง ขอให้กักกันหาใช่ฟ้องเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยเพื่อให้ศาลลงโทษตามความ ผิดไม่ จึงไม่ต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ และแม้จะมิได้บรรยายว่าโจทก์ฟ้องคดีอันเป็นมูลให้เกิดอำนาจฟ้องขอให้กักกัน วันเดือนปีใด ไม่อาจทราบว่าภายในอายุความหรือไม่ก็ตาม เมื่อคดีนั้นเป็นคดีของศาลชั้นต้นโจทก์ได้ระบุอ้างเป็นพยานไว้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะเอาสำนวนคดีนั้นมา ตรวจดูได้