ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์

มาตรา ๓๕๘  ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๓๕๙  ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๓๕๘ ได้กระทำต่อ
(๑) เครื่องกลหรือเครื่องจักรที่ใช้ในการประกอบกสิกรรมหรืออุตสาหกรรม
(๒) ปศุสัตว์
(๓) ยวดยานหรือสัตว์พาหนะที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะหรือในการประกอบกสิกรรมหรืออุตสาหกรรม หรือ
(๔) พืชหรือพืชผลของกสิกร
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๓๖๐  ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๓๖๐ ทวิ[๑๓๖]  ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ตามมาตรา ๓๓๕ ทวิ วรรคหนึ่ง ที่ประดิษฐานอยู่ในสถานที่ตามมาตรา ๓๓๕ ทวิ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]

มาตรา ๓๖๑  ความผิดตามมาตรา ๓๕๘ และมาตรา ๓๕๙ เป็นความผิดอันยอมความได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4275/2562
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายที่ 1 เพื่อร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งยังไม่ถือว่าเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 ตามฟ้อง แต่การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถานของผู้เสียหายที่ 1 เพื่อทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 เป็นการเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายที่ 1 โดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 364 แม้โจทก์ไม่ได้อ้างบทมาตรา 364 แต่ได้ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามบทฉกรรจ์มาตรา 365 และได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีข้อความอันเป็นความผิดตามมาตรา 364 เช่นนี้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามมาตรา 364 และบทฉกรรจ์ตามมาตรา 365 (1) (2) ได้ ทั้งมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง หรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่ นอกจากนี้ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายที่ 1 เพื่อร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้เสียหายที่ 1 ในคราวเดียวและเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายที่ 1 ต่อเนื่องกันไปไม่ขาดตอน การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นและฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้โจทก์บรรยายฟ้องแต่ละข้อหาต่างกรรมกันมา ก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3804/2562
คดีนี้แม้ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าการกระทำของจำเลยในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานพยายามฆ่าตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 แต่ศาลอุทธรณ์ก็ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าอันเป็นความผิดต่อชีวิต ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ. มาตรา 90 มิได้ลงโทษและกำหนดโทษจำเลยในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์แต่อย่างใด เช่นนี้จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 93 ได้ แต่เมื่อภายในห้าปีนับแต่วันพ้นโทษคดีก่อน จำเลยกลับมากระทำความผิดคดีนี้ จึงต้องเพิ่มโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 92 และถึงแม้คดีนี้โจทก์จะขอเพิ่มโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 93 ซึ่งเป็นบทหนักมา ศาลก็มีอำนาจเพิ่มโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 92 ซึ่งเบากว่าได้ ไม่เกินคำขอของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8722/2561
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ต่อมาจำเลยทั้งสามบุกรุกเข้าไปล้อมรั้วและรื้อบ้านของโจทก์ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาท โจทก์ห้ามปรามแล้วแต่จำเลยทั้งสามไม่ฟัง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์และให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยทั้งสามให้การว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์แต่เป็นของ ช. เป็นของจำเลยที่ 3 โดยซื้อมาจาก ช. ตามคำให้การของจำเลยทั้งสามจึงไม่มีปัญหาเรื่องการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ จึงไม่มีการอ้างสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น การที่จำเลยทั้งสามยกเหตุเป็นข้อต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 3 จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองเกิน 1 ปี หรือไม่

การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามโดยกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันบุกรุกเข้าไปในเขตที่ดินและรื้อบ้านพิพาทกับตัดโค่นทำลายพืชผลอาสินของโจทก์ที่ปลูกไว้รอบบ้านแล้วล้อมรั้วรอบเขตที่ดินและบ้านพิพาทไม่ให้โจทก์และครอบครัวอยู่อาศัยใช้ประโยชน์ในที่ดินและบ้านพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์ เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำผิดทางอาญาฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์กับความผิดทางแพ่งฐานละเมิดรวมกันมา โจทก์จึงอาศัยมูลคดีอาญาฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดทางแพ่งฐานละเมิดได้ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และการที่โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีอาญาฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์แล้วถอนฟ้องไปก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ ซึ่งมีผลให้คู่ความกลับสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องทางอาญาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 จึงไม่มีคดีอาญาค้างพิจารณาอยู่ในศาลและศาลยังมิได้มีคำพิพากษาในส่วนอาญา เมื่อมูลคดีนี้ถือว่ายังไม่มีผู้ใดฟ้องจำเลยทั้งสามทางอาญา สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่จะฟ้องทางแพ่งเนื่องจากความผิดทางอาญาย่อมต้องบังคับตามกำหนดเวลาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายเรื่องอายุความฟ้องคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง

เมื่อความผิดทางอาญาที่โจทก์บรรยายฟ้องมาเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทและความผิดฐานบุกรุกที่ได้ร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปมีกำหนดโทษจำคุกสูงที่สุดไม่เกิน 5 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) อายุความฟ้องคดีอาญาจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) จึงต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดบังคับแก่คดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา 90 และเมื่อคำนวณนับแต่วันกระทำผิดถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

กรณีไม่มีการฟ้องคดีอาญาย่อมไม่มีข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาอันถึงที่สุดที่จะให้นำไปถือตามในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งคดีนี้จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดทางอาญาหรือไม่ และในการพิพากษาคดี ข้อความรับผิดเพื่อละเมิดและกำหนดค่าสินไหมทดแทนนั้น ศาลไม่จำต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายลักษณะอาญาอันว่าด้วยการที่จะต้องรับโทษ และไม่จำต้องพิเคราะห์ถึงการที่ผู้กระทำผิดต้องคำพิพากษาลงโทษทางอาญาหรือไม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง และ ป.พ.พ. มาตรา 424

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นของโจทก์ และไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามสามารถอ้างสิทธิใดๆ ที่จะก้าวล่วงเข้าไปในเขตที่ดินและบ้านพิพาทเพื่อกระทำการใดอันเป็นการกระทบกระเทือนสิทธิเหนือทรัพย์สินดังกล่าวของโจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ การที่จำเลยทั้งสามยอมรับตามฟ้องว่า ได้เข้าไปในเขตที่ดินและรื้อบ้านพิพาทแล้วล้อมรั้วที่ดินพิพาทไม่ให้โจทก์และครอบครัวอยู่อาศัย ใช้ประโยชน์จากผลผลิตที่จะได้จากยางพาราและปาล์มซึ่งโจทก์ปลูกไว้ในเขตที่ดินและบ้านพิพาท การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการจงใจกระทำการโดยไม่สุจริต ทั้งส่งผลโดยตรงให้ทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหายและไม่ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น อันเป็นความผิดฐานละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1185/2561
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดตาม ป.อ. 358, 365 (3) ประกอบมาตรา 362 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ระหว่างกำหนดระยะเวลาฎีกา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 สำหรับความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ เป็นความผิดต่อส่วนตัว โจทก์ถอนฟ้องในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องเป็นการไม่ชอบ

แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ถอนฟ้องของศาลชั้นต้น แต่เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง โดยอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและให้จำหน่ายคดีโจทก์ในส่วนความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358 จากสารบบความ สำหรับความผิดฐานบุกรุก เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ และโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องในระหว่างกำหนดระยะเวลาฎีกา ประกอบกับจำเลยที่ 1 ไม่คัดค้าน ศาลฎีกาจึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องในส่วนความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7901/2560
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องจำเลยในความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญ และฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน แต่ยังคงพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต กรรมหนึ่ง และฐานทำให้เสียทรัพย์ อีกกรรมหนึ่งด้วย ดังนี้ สำหรับอาวุธปืนของกลางแม้เป็นอาวุธปืนที่มีทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย แต่การที่จำเลยใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงขึ้นฟ้าเพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 เกิดความกลัวหรือความตกใจและกระสุนปืนถูกบ้านของผู้เสียหายที่ 3 ได้รับความเสียหาย กรณีย่อมถือได้ว่าอาวุธปืนของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 358 อันพึงต้องริบตามมาตรา 33 (1) มิใช่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ริบอาวุธปืนของกลางเพราะจำเลยใช้ในการกระทำความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2406/2560
จำเลยก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างคร่อมลำเหมืองที่เกิดเหตุตั้งแต่ปี 2542 สำหรับความผิดข้อหาบุกรุกและข้อหาทำให้เสียหาย ทำลายทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ตาม ป.อ. มาตรา 362 และมาตรา 360 เมื่อจำเลยบุกรุกเข้าไปและทำให้เสียทรัพย์ ความผิดฐานดังกล่าวย่อมเกิดขึ้นและสำเร็จในทันทีที่บุกรุกเข้าไปและทำให้เสียทรัพย์ ส่วนการยึดถือครอบครองเป็นผลของการบุกรุก เมื่อจำเลยบุกรุกเข้าไปและทำให้เสียทรัพย์ โดยก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างคร่อมลำเหมือง ที่เกิดเหตุตั้งแต่ปี 2542 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้ปี 2557 จึงเกินกำหนด 5 ปี และ 10 ปี นับแต่วันกระทำความผิดข้อหาบุกรุกและข้อหาทำให้เสียหาย ทำลายทรัพย์ ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ตามลำดับ ฟ้องโจทก์ในข้อหาดังกล่าวจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 ส่วนความผิดข้อหาเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ที่ดินของรัฐซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9 และ 108 ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดที่มีขึ้นตั้งแต่จำเลยเข้ายึดถือครอบครองและยังคงมีอยู่ตลอดเวลาที่จำเลยครอบครอง แม้จำเลยจะครอบครองมานานเกิน 10 ปี คดีของโจทก์เฉพาะข้อหาความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9 และ 108 ทวิ วรรคสอง ก็ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10319/2558
        การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันนำยาฆ่าแมลงใส่ในผลมะละกอให้ช้างกิน ช้างได้รับสารพิษทำให้ล้มลงกับพื้น ขณะที่ยังไม่ถึงแก่ความตายจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เลื่อยเหล็กตัดงาช้าง เป็นเหตุให้ช้างได้รับทุกขเวทนาอันไม่จำเป็นและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา แล้วจำเลยทั้งสามร่วมกันลักงาช้างไปโดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด การพาทรัพย์นั้นไปและเพื่อให้พ้นการจับกุม จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ร่วมกันฆ่าสัตว์โดยให้ได้รับทุกขเวทนาอันไม่จำเป็น และร่วมกันลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ แต่การกระทำดังกล่าวมุ่งประสงค์เพื่อลักงาช้างเป็นสำคัญ จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตาม ป.อ. มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3119/2558
การที่จะเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามมาตรา 359 (4) นั้น ต้องได้ความว่าเจ้าของทรัพย์นั้นเป็นกสิกร เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า ข้าวนาปรังที่จำเลยทั้งสามร่วมกันทำให้เสียหายเป็นพืชหรือพืชผลของกสิกร จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสามตาม ป.อ. มาตรา 359 ได้ เท่ากับความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามแต่เพียงมาตรา 358 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และโจทก์อุทธรณ์เฉพาะความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ โดยขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงใหม่ จึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้ในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1355/2558
โจทก์เป็นนิติบุคคลอาคารชุด มี ธ. เป็นผู้จัดการ ธ. จึงเป็นผู้แทนของโจทก์ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 35 ประกอบมาตรา 36 (4) มีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดีแทนโจทก์ คำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทำให้เอกสารของโจทก์เสียหาย อันเป็นการฟ้องร้องดำเนินคดีแทนโจทก์เกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ ไม่ใช่เป็นการฟ้องตามข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดโจทก์ จึงไม่ต้องได้รับความเห็นชอบของที่ประชุมคณะกรรมการและ/หรือที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมตามข้อบังคับดังกล่าว โจทก์มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 811/2558
          จำเลยที่ 1 เป็นภริยาจำเลยที่ 2 ซื้อบ้านมีลักษณะเป็นห้องแถวไม้และใช้ผนังอาคารไม้ทั้งสองด้านร่วมกันกับบ้านสองหลังของโจทก์ร่วม การที่จำเลยทั้งสองว่าจ้าง ช. รื้อผนังอาคารไม้ทั้งสองด้านโดยพลการ เป็นการร่วมกันเข้าไปในบ้านทั้งสองหลังซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมเพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 และเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามมาตรา 364 อีกบทหนึ่ง เมื่อจำเลยทั้งสองร่วมกระทำผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป การกระทำของจำเลยทั้งสองในความผิดฐานบุกรุกจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362 และมาตรา 364 ทั้งยังเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งผนังอาคารไม้ทั้งสองด้านของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยอันเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358 อีกบทหนึ่ง จำเลยทั้งสองร่วมกันว่าจ้างให้ ช. ซ่อมแซมปรับปรุงบ้านของจำเลยที่ 1 โดยให้รื้อฝาผนังร่วมซึ่งเป็นผนังไม้ทั้งสองด้าน คอยควบคุมดูแลการก่อสร้างอยู่ตลอด และทราบว่าการไม่ฉาบปูนผนังอิฐทางด้านบ้านของโจทก์ร่วม เป็นสาเหตุที่ทำให้มีน้ำรั่วซึมเวลาฝนตก การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการสมคบร่วมกันกระทำการรื้อผนังอาคารร่วมทั้งสองด้านซึ่งโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของร่วมด้วย จึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดตามมาตรา 83 หาใช่เป็นเพียงผู้ใช้ให้ ช. กระทำความผิดตามมาตรา 84 ไม่ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีไม่ใช่ค่าเสียหายโดยตรงที่เกิดจากการที่จำเลยทั้งสองบุกรุกและทำให้บ้านทั้งสองหลังของโจทก์ร่วมเสียหาย ส่วนค่าเสียหายต่อจิตใจก็คือค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 446 กำหนดให้เรียกร้องได้เฉพาะในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายอนามัยหรือทำให้เขาเสียเสรีภาพเท่านั้น กรณีความเสียหายต่อทรัพย์สิน มาตรา 446 ไม่เปิดสิทธิให้แก่ผู้ต้องเสียหายเรียกร้องเอาได้ สำหรับค่าเช่าหรือค่าเสียโอกาสใช้สอยบ้านของโจทก์ร่วมนั้น การที่ก่อนเกิดเหตุโจทก์ร่วมไม่ได้ใช้สอยบ้านทั้งสองหลัง ไม่ได้หมายความว่าขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมจะใช้สอยหรือหาประโยชน์จากบ้านทั้งสองหลังของตนไม่ได้ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกและทำให้บ้านทั้งสองหลังของโจทก์ร่วมเสียหาย จึงเป็นผลโดยตรงที่ทำให้โจทก์ร่วมเสียหาย ไม่อาจใช้สอยหรือหาประโยชน์จากบ้านทั้งสองหลังของตนได้ โจทก์บรรยายฟ้องระบุการกระทำผิดฐานบุกรุกว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบริเวณบ้านพักอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยไม่ได้รับอนุญาตและโดยไม่มีเหตุอันสมควรเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข และมีคำขอให้ลงโทษตาม ป.อ.มาตรา 362, 364, 365 ประกอบมาตรา 83 เมื่อการกระทำผิดของจำเลยทั้งสองในความผิดฐานนี้เข้าลักษณะเป็นความผิดทั้งตามมาตรา 362 และมาตรา 364 แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาปรับบทลงโทษเพียงตามมาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362 จึงไม่ถูกต้องครบถ้วน ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 

และการที่ศาลฎีกาเพียงแต่ปรับบทลงโทษโดยมิได้แก้ไขโทษให้หนักขึ้น ก็มิได้เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษอันจักเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 กรณีผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่มีนัยสำคัญบ่งชี้ว่าวิธีพิจารณาความแพ่งเช่นว่านี้ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เช่นเดียวกับคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาทั่วไปดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40 นั่นเอง ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจึงอยู่ในบังคับต้องมีคำพิพากษาสั่งในเรื่องความรับผิดในชั้นที่สุดแห่งค่าฤชาธรรมเนียมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 ประกอบมาตรา 167 เพราะแม้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 253 คำร้องขอตามมาตรา 44/1 ห้ามมิให้เรียกค่าธรรมเนียมก็ตาม แต่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 158 บัญญัติว่า "ถ้าศาลเห็นว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นผู้รับผิดเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมด หรือแต่บางส่วนของคู่ความทั้งสองฝ่าย ให้ศาลพิพากษาในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม โดยสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งนั้นชำระต่อศาลในนามของผู้ที่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลซึ่งค่าธรรมเนียมศาลที่ผู้นั้นได้รับยกเว้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตามที่ศาลเห็นสมควร" และแม้คำว่า "ผู้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล" ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 158 เป็นบทบัญญัติต่อเนื่องมาจากหลักเกณฑ์การขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในการฟ้องหรือต่อสู้คดีตามมาตรา 156 มาตรา 156/1 และมาตรา 157 ก็ตาม แต่ก็ต้องนำมาใช้บังคับแก่กรณีที่ผู้เสียหายใช้สิทธิตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนเองอันเป็นคดีส่วนแพ่ง ซึ่งมาตรา 44/1 วรรคสอง บัญญัติให้ถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. และผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่งนั้นด้วย ในฐานะที่เป็นกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16789/2557
ตามพฤติการณ์เชื่อว่าผู้เสียหายกับพวกครอบครองบ้านเกิดเหตุอยู่โดยอาศัยสิทธิของ จ. และขณะเกิดเหตุบ้านเกิดเหตุยังอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายกับพวก แม้จะรับฟังได้ตามที่จำเลยทั้งสี่นำสืบและฎีกาว่า จ. เคยฟ้องมารดาของจำเลยทั้งสามกับพวกเกี่ยวกับที่ดินที่ปลูกสร้างบ้านที่เกิดเหตุ และศาลมีคำพิพากษาว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ของ จ. ก็ตาม แต่ตามสำเนาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ปรากฏว่า จ. ซึ่งถูกมารดาของจำเลยทั้งสามฟ้องขับไล่ยังคงโต้แย้งสิทธิในที่ดินที่บ้านเกิดเหตุตั้งอยู่ และศาลอุทธรณ์ภาค 9 เพิ่งมีคำพิพากษาภายหลังเกิดเหตุคดีนี้ให้ยกอุทธรณ์ของ จ. ดังนี้ ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายกับพวกจึงยังมีสิทธิอยู่ในบ้านเกิดเหตุ และเมื่อฟังว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ถูกจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำให้เสียหาย ผู้เสียหายจึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ย่อมมีสิทธิร้องทุกข์ในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12387/2557
แม้จำเลยที่ 1 สั่งให้รื้อถอนบ้านของโจทก์ร่วมด้วยความระมัดระวัง ไม่เป็นเหตุให้วัสดุที่รื้อถอนเสียหาย ทั้งนำไปเก็บรักษาไว้อย่างดีเพื่อให้โจทก์ร่วมนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้บ้านของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์สิ้นสภาพไม่เป็นที่อยู่อาศัยอีกต่อไป อันเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่น การที่อำเภอบุณฑริกแต่งตั้งจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกำนันตำบลคอแลนเป็นประธานกรรมการกลางและประธานกรรมการปกครองเพื่อประกวดหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเองนั้นไม่เป็นการเปิดโอกาสให้จำเลยที่ 1 รื้อบ้านของโจทก์ร่วมโดยพลการได้ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7536/2557
ที่ดินของจำเลยและที่ดินของผู้เสียหายกับที่ดินแปลงอื่นแบ่งแยกมาจากที่ดินแปลงใหญ่ โดยตกลงให้มีการกันที่ดินทุกแปลงเป็นทางเดินเพื่อออกสู่ซอยราชดำเนิน 3 เพื่อประโยชน์ของเจ้าของที่ดินในกลุ่มนี้และผู้รับโอนเท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีการจดทะเบียนแบ่งแยกยกให้เป็นทางสาธารณะ แม้บุคคลทั่วไปจะใช้สัญจรไปมาได้ ทางที่กันไว้ก็ไม่ใช่ทางสาธารณะ เมื่อจำเลยสร้างรั้วคอนกรีตและท่อระบายน้ำบนทางเดินดังกล่าวในที่ดินของจำเลยซึ่งไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ จำเลยย่อมไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 360 และ ป.ที่ดิน มาตรา 9 (1), 108 ทวิ วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7008/2557
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นการเลือกตั้งอันมีเหตุจากพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 และบทบัญญัติในมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว กำหนดให้วันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นวันเลือกตั้ง เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้จัดให้มีการเลือกตั้งในวันดังกล่าว และจำเลยได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่เมื่อจำเลยได้รับบัตรเลือกตั้งทั้งสองฉบับแล้วเดินเข้าไปในคูหาและกาเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งทั้งสองฉบับแล้ว จากนั้นได้ออกมาชูมือขึ้นพร้อมทั้งฉีกบัตรเลือกตั้งทั้งสองฉบับ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดสำเร็จขณะที่ฉีกบัตรเลือกตั้งตาม ป.อ. มาตรา 358 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 108 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันดังกล่าว และผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่าการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หามีผลต่อการกระทำความผิดของจำเลยแต่อย่างใดไม่ ส่วนข้อโต้แย้งของจำเลยในส่วนที่ว่า การใช้สิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นการใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีตามมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 นั้น เห็นว่า การใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีดังกล่าวจะต้องเป็นการกระทำที่มิได้ล่วงละเมิดบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ได้บัญญัติไว้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12265 - 12266/2556
          สัญญาเช่าระหว่างโจทก์ร่วมที่ 1 กับจำเลยที่ 1 มีข้อความระบุชัดเจนว่ามีกำหนดอายุของสัญญาเช่าเป็นเวลา 15 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2529 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2544 ซึ่งเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน 3 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 538 บัญญัติให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสัญญาเช่าทุกฉบับมีข้อตกลงในข้อ 7.9 ว่า เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงไม่ว่าด้วยสาเหตุประการใดก็ตาม ผู้เช่าจะต้องออกจากสถานที่เช่าทันที ผู้ให้เช่ามีสิทธิเข้าครอบครองสถานที่เช่า ขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่าออกจากสถานที่เช่าได้โดยปราศจากความรับผิดใด ๆ ข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมใช้บังคับได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น สัญญาเช่าระหว่างโจทก์ร่วมที่ 1 กับจำเลยที่ 1 จึงสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2544 ตามที่ระบุไว้ในสัญญา เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการต่อสัญญาเช่าหรือทำสัญญาเช่ากันใหม่ การที่จำเลยที่ 1 กับพวกกลับเข้าครอบครองพื้นที่เช่าโดยใช้ไม้กระดานปิดกั้นและขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากพื้นที่เช่าไปเก็บไว้ในที่อื่นและพร้อมกับปิดประกาศ ณ บริเวณพื้นที่เช่าชั้นที่ 1 และชั้นที่ 3 ว่า สัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้วให้ผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของนำหลักฐานไปรับทรัพย์สินคืน จึงเป็นการใช้สิทธิโดยชอบตามข้อตกลงแห่งสัญญาเช่า การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก และฐานทำให้เสียทรัพย์ สำหรับข้อหาลักทรัพย์ ได้ความจากพยานโจทก์และโจทก์ร่วมที่ 1 ว่ามีการรื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากพื้นที่เช่าไปเก็บไว้ที่ลานจอดรถชั้นที่ 3 และโกดังชั้นที่ 6 บางส่วนนำไปไว้ที่ทิ้งขยะชั้นล่าง แต่ไม่มีพยานหลักฐานใดยืนยันว่าจำเลยทั้งหกเอาไปซึ่งทรัพย์สินของโจทก์ร่วมที่ 1 ทั้งการที่จำเลยที่ 1 กับพวกรื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินออกจากพื้นที่เช่าก็เพื่อนำไปเก็บรักษาไว้เพื่อให้ผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของนำหลักฐานไปรับทรัพย์สินคืน และยังอ้างด้วยว่าทรัพย์สินนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ตามข้อตกลงในสัญญาถือว่าจำเลยทั้งหกขาดเจตนาทุจริต จึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3024/2556
ทางหรือถนนซึ่งเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน อันจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ย่อมต้องเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน หาได้หมายความรวมถึงทางหรือถนนอันเป็นทรัพย์ของเอกชนหรืออยู่ในที่ดินของเอกชนด้วยไม่ เว้นเสียแต่เจ้าของที่ดินซึ่งเป็นเอกชนจะได้อุทิศให้เป็นทางสาธารณประโยชน์แล้ว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าทางพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของจำเลยที่ 2 แม้มีชาวบ้านใช้ทางพิพาทเข้าออกไปทำนา ทำสวน ทำไร่และขนพืชผลทางการเกษตรมาเป็นเวลานานไม่ต่ำกว่า 50 ปี แต่ไม่มีพยานปากใดเบิกความว่า เจ้าของที่ดินได้อุทิศหรือยกทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณประโยชน์แล้ว การใช้ทางพิพาทเฉพาะผู้ที่มีที่ดินอยู่ด้านในถัดจากที่ดินของจำเลยที่ 2 จึงเป็นลักษณะการถือวิสาสะหรือการใช้ทางจำเป็นหรือภาระจำยอมเท่านั้น มิใช่เป็นการใช้ทางพิพาทเพื่อการสัญจรไปมาตามปกติของพลเมืองหรือประชาชนหมู่มากโดยทั่วไป ทั้งโจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นว่าทางพิพาทมิได้สิ้นสุดเพียงในที่ดินของจำเลยที่ 2 เท่านั้นหรือเชื่อมต่อกับทางสาธารณประโยชน์อื่นด้วย พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังฟังไม่ได้ว่าทางพิพาทเป็นสาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) หรือเป็นที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 2 การกระทำของจำเลยทั้งสองที่เข้าไปทำนาและปลูกต้นกล้วยในทางพิพาทจึงไม่เป็นการร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 333 - 339/2556
       การที่จำเลยทั้งเจ็ดทำลายบัตรเลือกตั้งเป็นการกระทำในคราวเดียวด้วยเจตนาเดียวที่จะทำลายบัตรเลือกตั้ง การกระทำดังกล่าวจึงเป็นกรรมเดียว แต่การกระทำดังกล่าวแม้จะกระทำในคราวเดียววาระเดียวกันต้องด้วยองค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358 และเป็นความผิดฐานทำลายบัตรเลือกตั้งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 108 ก็ตาม แต่เมื่อความผิดฐานทำลายบัตรเลือกตั้งเป็นความผิดเฉพาะตามบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องที่บัญญัติใช้เป็นพิเศษ การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดจึงไม่จำต้องปรับบทความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์อันเป็นบทกฎหมายทั่วไปอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5132/2555
          แม้ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายจะระบุว่า ส. จะขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 แต่เมื่อไปจดทะเบียนโอน ส. กลับทำหนังสือสัญญาขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 โดยมีข้อสัญญาตกลงขายเฉพาะที่ดินไม่เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างแสดงว่าไม่ได้ขายบ้านพิพาทด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทและไม่มีสิทธิเข้าไปในบ้านพิพาท เมื่อจำเลยที่ 1 ทราบอยู่แล้วว่าบ้านพิพาทไม่ใช่ของตน แต่เป็นของโจทก์ร่วมน้องสาวของ ส. การที่จำเลยที่ 1 สั่งให้จำเลยที่ 2 เข้าไปในบ้านพิพาทและทำการรื้อปรับปรุงบ้านพิพาท ทั้งๆ ที่โจทก์ร่วมได้ห้ามปรามแล้ว จึงถือได้ว่าเป็นการเข้าไปรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุขและทำให้บ้านพิพาทของโจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ แต่การที่จำเลยที่ 1 บุกรุกเข้าไปในบ้านพิพาท ก็มีเจตนาเพื่อปรับปรุงห้องครัวและห้องน้ำภายในบ้านพิพาทจึงมีเจตนาเดียว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11118/2553
            การที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ร่วมกันรื้อโครงสร้างไม้ห้องแถวของผู้เสียหายมากองรวมกันไว้แล้วนำไปเผาทำลาย มิใช่เผาทำลายในขณะที่ทรัพย์ยังมีสภาพเป็นโครงสร้างไม้ห้องแถวอยู่ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 มีเพียงเจตนาทำให้ทรัพย์นั้นใช้การไม่ได้โดยการรื้อออกมา ส่วนการเผาเป็นเพียงแค่การทำลายชิ้นส่วนที่รื้อออกมาจนตัวทรัพย์ซึ่งใช้การไม่ได้ไปแล้วเท่านั้น จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 จึงไม่มีเจตนาวางเพลิงเผาทรัพย์ การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 จึงเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358 เพียงบทเดียว หาใช่เป็นความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 217 ด้วยไม่ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7884/2553
โรงงานที่เสียหายเป็นของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของทางราชการที่ไม่ได้แสวงหากำไร เพียงแต่อนุญาตให้สหกรณ์ซึ่งมีผู้เสียหายที่ 2 เป็นประธานเป็นผู้ดูแลเท่านั้น ประชาชนมีสิทธิเป็นสมาชิกและเข้าใช้ประโยชน์ได้ จึงเป็นทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ จึงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ.มาตรา 360

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5597/2553
โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. ฟ้องจำเลยทั้งห้าว่าทำให้ที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ช.เสียหาย ขอให้ลงโทษฐานทำให้เสียทรัพย์ จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพและยื่นคำร้องใจความว่าที่ดินดังกล่าวมิใช่ที่ดินโจทก์ แต่เป็นที่ดินในเขตนิคมท้ายเหมืองที่บริษัท ง. ได้รับประทานบัตรในการทำเหมืองแร่ เมื่อหมดอายุประทานบัตรแล้วบริษัท ง. และโจทก์มิได้ทำประโยชน์ในที่ดิน ที่ดินดังกล่าวมิใช่ทรัพย์มรดกของ ช. จำเลยทั้งห้าเข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเนื่องจากไม่มีที่ทำกิน และมุ่งหวังจะได้สิทธิการเช่าที่ดินจากนิคมท้ายเหมือง ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ ทนายโจทก์แถลงขอเลื่อนคดีเนื่องจากคดีอยู่ระหว่างตกลงเรื่องค่าชดเชยในการขนย้ายให้จำเลยทั้งห้าและทำแผนที่ ต่อมาคู่ความแถลงว่าคดีไม่สามารถตกลงกันได้ขอให้ศาลมีคำพิพากษา ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งห้าตามฟ้อง จำเลยทั้งห้าฎีกาขอให้รอการลงโทษ ดังนี้ เมื่ออ่านคำให้การของจำเลยทั้งห้ารวมกับคำร้องที่ยื่นมาพร้อมกับคำให้การแล้ว จะเห็นได้ว่าจำเลยทั้งห้ายังคงโต้แย้งว่าที่ดินตามฟ้องมิใช่ที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของ ช. เหตุที่จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพอาจเป็นเพราะคดีอยู่ระหว่างเจรจาว่าจะมีการชดใช้ค่าขนย้ายให้แก่จำเลยทั้งห้าตามที่ทนายโจทก์แถลง และจำเลยทั้งห้าอาจเข้าใจว่าการกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นความผิด คำให้การของจำเลยทั้งห้ายังฟังไม่ได้ว่าเป็นคำให้การที่รับสารภาพว่าจำเลยทั้งห้าได้กระทำความผิดจริงตามที่โจทก์ฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานคดีจึงลงโทษจำเลยทั้งห้าไม่ได้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกฟ้องโจทก์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7961/2551
          บ้านที่เกิดเหตุทั้งสองหลังผู้เสียหายทั้งสองใช้เป็นที่อยู่อาศัยร่วมกับบุตรเล็ก ๆ ของผู้เสียหายที่ 2 อีกหลายคนและทำการค้าขาย การที่จำเลยกับพวกร่วมกันเข้าไปที่บริเวณหน้าบ้านและร้านค้าที่เกิดเหตุ และใช้ก้อนอิฐ ก้อนหิน ไม้ และสิ่งของอื่นขว้างปาประตู หน้าต่าง และหลังคาบ้าน รวมทั้งทำลายสิ่งของต่าง ๆ จนเสียหาย ย่อมเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ และยังเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสองโดยปกติสุข อันเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 358, 365 (1) (2) (3) ประกอบด้วยมาตรา 362 การกระทำของจำเลยกับพวกที่บุกรุกเข้าไปขว้างปาบ้านของผู้เสียหายทั้งสองจนได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงต้องลงโทษในความผิดฐานบุกรุกซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6213/2551
          คำว่า ป่า ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (1) หมายความว่า ที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน การเป็นป่าตามความหมายดังกล่าวไม่ใช่กรณีเป็นป่าตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติฯ หากที่ใดแปลงใดเป็นที่ดินที่ยังไม่มีบุคคลใดได้มาตามกฎหมายที่ดิน ที่ดินแปลงนั้นย่อมเป็นป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ ที่ดินแปลงใดแม้จะอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติตามกฎกระทรวงฉบับที่ 616 (พ.ศ.2516) หรือไม่ หากไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของหรือได้สิทธิครอบครองทำกินตาม ป.ที่ดิน ที่ดินแปลงนั้นย่อมเป็นป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ

      จำเลยเข้าไปครอบครองตัดฟันต้นยูคาลิปตัสของสำนักงานป่าไม้เขตจังหวัด เพชรบุรีและก่นสร้าง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่าเพื่อยึดถือครอบครองป่าเป็นของตนหรือผู้อื่นจึงมีความผิด ฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และฐานร่วมกันยึดถือครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถางหรือเผาป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต

         จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้างแผ้วถางป่าโดยตัดฟันต้นยูคาลิปตัสของสำนักงานป่าไม้เขตจังหวัด เพชรบุรี อันเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ และ ป.อ. แยกการกระทำเป็นสองกรรมต่างหากจากกัน แต่เมื่อเป็นการกระทำความผิดต่อต้นยูคาลิปตัสจำนวนเดียวกันและได้กระทำคราว เดียวพร้อมกันต่อเนื่องกันไป จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54, 72 ตรี วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4323/2551
         การที่จำเลยที่ 1 กระชากสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองของโจทก์ร่วมไปในขณะที่จำเลยที่ 1 กำลังทำร้ายโจทก์ร่วม แล้วจำเลยที่ 1 วิ่งอ้อมไปทางด้านหลังและขว้างสร้อยคอและพระดังกล่าวทิ้งที่พงหญ้ามีน้ำขัง ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 20 เมตร ลักษณะการกระทำของจำเลยที่ 1 เช่นนี้ เป็นการแย่งการครอบครองทรัพย์ไปจากโจทก์ร่วมแล้ว และมีลักษณะเป็นการฉกฉวยซึ่งหน้าโดยทุจริต ซึ่งเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ การที่จำเลยที่ 1 ขว้างทรัพย์ทิ้งหลังจากวิ่งไปแล้ว 20 เมตร เป็นเจตนาที่เกิดขึ้นภายหลัง ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ไปได้

        ป.อ. มาตรา 91 ไม่ใช่มาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดและ ป.วิ.อ. มาตรา 158 ก็มิได้ระบุให้โจทก์ต้องอ้างด้วย ประกอบกับคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายการกระทำของจำเลยที่ 1 ต่างเวลากัน แสดงว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนากระทำความผิดแต่ละส่วนแยกจากกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ดังนั้น แม้โจทก์จะไม่ได้ระบุ ป.อ. มาตรา 91 มาในคำขอท้ายฟ้อง ศาลก็ลงโทษจำเลยที่ 1 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3877/2551
       โจทก์ร่วมมีข้อพิพาทกับจำเลยเกี่ยวกับที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2526 นอกจากนี้โจทก์ร่วมได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งตามคดีหมายเลขดำที่ 149/2542 ของศาลชั้นต้น แม้คดีดังกล่าวจะมีประเด็นว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยมิชอบอันเป็นการใช้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 มิได้มีประเด็นว่า โจทก์ร่วมถูกแย่งการครอบครองดังที่โจทก์ร่วมฎีกาก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิครอบครองที่ดิน พิพาทว่าผู้ใดเป็นผู้ครอบครองในที่ดินพิพาท ดังนั้น ในขณะเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยเชื่อโดยชอบว่า จำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองหรือเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยจึงไม่มีเจตนาบุกรุกที่ดินพิพาทหรือทำให้เสียทรัพย์ ส่วนที่ดินพิพาทจะเป็นของผู้ใดหรือผู้ใดเป็นผู้มีสิทธิครอบครองนั้นเป็น เรื่องทางแพ่ง จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3412/2550
        โจทก์ร่วมกับจำเลยทำบันทึกกันไว้ตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานซึ่งมีข้อ ความว่า คู่กรณีตกลงกันแล้วต่างฝ่ายต่างไม่ติดใจเรียกร้องฟ้องกันทั้งทางแพ่งและอาญาต่อกัน โดยจำเลยได้ช่วยเหลือค่าเสียหายของกระบือที่ถูกยิงตายให้โจทก์ร่วมเป็นเงิน 7,000 บาท จะนำเงินมาจ่ายให้หมดในวันที่ 1 ตุลาคม 2544 แล้วลงชื่อโจทก์ร่วมและจำเลย เช่นนี้ จึงเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358, 359 เป็นความผิดอันยอมความได้ จึงมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) แม้ต่อมาจำเลยจะไม่ชำระค่าเสียหายตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ร่วมก็ไม่มีสิทธิร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อ หาทำให้เสียทรัพย์ หลังจากมีการยอมความกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วอีกได้ คงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6550/2548
        แม้ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์จะเป็นความผิดต่อส่วนตัว เมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) แต่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364 ด้วย อันเป็นการกระทำผิดกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท ศาลล่างลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดและความ ผิดฐานดังกล่าวไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว แม้ผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์ก็ไม่ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364 ระงับไป คงระงับไปเฉพาะความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามมาตรา 358 เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1541/2548
       กระจกบานเกล็ดหน้าต่างที่จำเลยทำแตกเสียหายเป็นทรัพย์สินของ อ. เจ้าของหอพัก ซึ่งหลังเกิดเหตุจำเลยได้นำกระจกบานเกล็ดมาเปลี่ยนแทนบานเกล็ดที่แตก โดยความรับรู้ของ ส. สามีของ อ. ซึ่งเป็นผู้ดูแลหอพัก และจำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ ส. เป็นเงิน 500 บาท แล้ว แสดงว่า จำเลยกับเจ้าของหอพักซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์ที่เสียหายได้ยอมความกันโดยชอบมา แต่แรกหลังเกิดเหตุ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์จึงระงับไปตามนัยแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ซึ่งบัญญัติไว้เป็นสาระสำคัญว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปเมื่อยอม ความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย ผู้เสียหายย่อมไม่มีสิทธิร้องทุกข์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7037/2547
      คำว่า "ฉีด" ตามพจนานุกรม ให้ความหมายไว้ว่า "ใช้กำลังอัดหรือดันของเหลวพุ่งออกจากช่องเล็ก ๆ" ดังนั้น กระบอกฉีดยาที่ไม่มีเข็มฉีดยาก็สามารถฉีดของเหลวเข้าสู่ร่างกายกระบือโดยทาง ปากหรือทางทวารได้ และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยมีกระบอกฉีดยาบรรจุสารพิษไว้แล้ว และจำเลยกำลังจับเชือกที่ผูกกระบือของผู้เสียหายซึ่งพร้อมที่จะลงมือฉีดสาร พิษใส่เข้าไปในตัวกระบือ การกระทำของจำเลยดังนี้ใกล้ชิดต่อผลแห่งการกระทำให้เสียทรัพย์ถือว่าเป็นการ ลงมือกระทำความผิดแล้วแต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะผู้เสียหายมาพบและเข้าขัดขวาง เสียก่อน จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามทำให้เสียทรัพย์ และเมื่อศาลฎีกาฟังว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาดังกล่าวถือว่าจำเลย ได้ลงมือกระทำความผิดพ้นขั้นตระเตรียมการแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3314/2545
      การที่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองคลองควายซึ่งเป็นคลองสาธารณะโดยใช้เสาคอนกรีต ปักปิดขวางช่วงปากคลอง ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้ประโยชน์สัญจรผ่านไปมาในคลองเพื่อออกสู่แม่ น้ำได้นั้น การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน และฐานทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ตาม ป.อ. มาตรา 360 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จึงไม่อาจอาศัยบทเบาตาม ป. ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสอง มาบังคับให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินซึ่งจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองตามที่ โจทก์ขอได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 392/2544
     ที่ดินที่ราชการได้รับการให้ แม้ทางราชการมิได้ใช้ทำการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาตามความประสงค์ ของผู้ให้ก็ไม่ได้ทำให้จำเลยทั้งสองเกิดสิทธิที่จะบุกรุกเข้าไปก่อสร้าง อาคารหรือปลูกสร้างท่าจอดเรือลงในแม่น้ำเจ้าพระยาโดยไม่ได้รับอนุญาตและแม้ อาคารที่ก่อสร้างจะถูกรื้อไปแล้วก็ไม่ทำให้ความผิดที่เกิดขึ้นสำเร็จ แล้วกลายเป็นไม่ผิด การกระทำของบริษัทจำเลยที่ 2 ที่กระทำลงไปนั้นจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการต้องร่วมรับผิดในฐานะส่วนตัวด้วยจำเลยทั้งสองจึงมีความผิด ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 108 ทวิ วรรคสอง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2068/2543
    จำเลยก่อสร้างระเบียงรุกล้ำทางเดินเท้าโดยทำพื้นเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กและมี หลังคาอะลูมิเนียมปกคลุม เป็นการยึดถือครอบครองและทำให้เสียหายทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทางเดินเท้า เป็นความผิดฐานยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน และฐานทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้และมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิด ต่อกฎหมายหลายบท เมื่อลงโทษฐานทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้และมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 360 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดแล้ว จึงไม่อาจอาศัยบทเบาตามประมวลกฎหมายที่ดินฯมาตรา 108 ทวิ วรรคสองมาบังคับให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินที่เข้ายึดถือครอบครองได้ เพราะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360ไม่ได้บัญญัติข้อบังคับดังกล่าวไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4409/2543
         จำเลยเข้าไปในที่ดินของผู้เสียหายแล้วตัดโค่นต้นยางพาราจำนวน 17 ต้นและเอาต้นยางพาราดังกล่าวไปโดยใช้รถยนต์บรรทุกอันเป็นความผิดฐานบุกรุกทำ ให้เสียทรัพย์ และลักทรัพย์ การที่จำเลยบุกรุกเข้าไปในที่ดินของผู้เสียหายแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า จำเลยมีความมุ่งหมายที่จะเข้าไปตัดโค่นต้นยางพาราซึ่งอยู่ในที่ดินดังกล่าว แล้วนำออกไปจากที่ดิน โดยใช้รถยนต์บรรทุกสิบล้อบรรทุกต้นยางพาราไป จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาเดียวต่อเนื่องกันตลอดมาไม่ขาดตอนอันเป็นการกระทำ กรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5199/2533
       ความผิดที่กระทำต่อเนื่องอาจเป็นความผิดหลายกระทงได้ หากได้ความว่าผู้กระทำผิดมีเจตนาหลายอย่างแต่ละอย่างเป็นความผิดที่สมบูรณ์แยกจากกันได้ จำเลยฉีกธงชาติไทยอันมีความหมายถึงรัฐเพื่อเหยียดหยามประเทศชาติ และยังใช้ไม้ตีทุบเกศเศียร พระพุทธรูปอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของพุทธศาสนิกชนอันเป็นการเหยียดหยาม ศาสนา อันเป็นคนละเจตนา แต่ละเจตนาเป็นความผิดในตัวเองแยกจากกันเป็นความผิดคนละกระทง แม้กระทำต่อเนื่องกัน และแต่ละกระทงดังกล่าวคือเจตนาในการทำให้เสียทรัพย์เช่นเดียวกัน จึงเป็นความผิดหลายบทในแต่ละกระทงกล่าวคือ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 118,360,90 กระทงหนึ่ง และมาตรา 206,360 ทวิ,90 อีกกระทงหนึ่ง