ความผิดเกี่ยวกับการค้า

มาตรา ๒๗๐  ผู้ใดใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ซึ่งเครื่องชั่ง เครื่องตวง หรือเครื่องวัด ที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในการค้า หรือมีเครื่องเช่นว่านั้นไว้เพื่อขาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]


มาตรา ๒๗๑ ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใด ๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพหรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]


มาตรา ๒๗๒  ผู้ใด

(๑) เอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ หรือทำให้ปรากฏที่สินค้า หีบ ห่อ วัตถุที่ใช้หุ้มห่อ แจ้งความ รายการแสดงราคา จดหมายเกี่ยวกับการค้าหรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่นนั้น

(๒) เลียนป้าย หรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกันจนประชาชนน่าจะหลงเชื่อว่าสถานที่การค้าของตนเป็นสถานที่การค้าของผู้อื่นที่ตั้งอยู่ใกล้เคียง

(๓) ไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความเท็จเพื่อให้เสียความเชื่อถือในสถานที่การค้า สินค้า อุตสาหกรรมหรือพาณิชย์การของผู้หนึ่งผู้ใด โดยมุ่งประโยชน์แก่การค้าของตน


ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ


ความผิดตามมาตรานี้ เป็นความผิดอันยอมความได้

[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]


มาตรา ๒๗๓  ผู้ใดปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น ซึ่งได้จดทะเบียนแล้ว ไม่ว่าจะได้จดทะเบียนภายในหรือนอกราชอาณาจักร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]


มาตรา ๒๗๔  ผู้ใดเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นซึ่งได้จดทะเบียนแล้ว ไม่ว่าจะได้จดทะเบียนภายในหรือนอกราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]


มาตรา ๒๗๕  ผู้ใดนำเข้าในราชอาณาจักร จำหน่ายหรือเสนอจำหน่าย ซึ่งสินค้าอันเป็นสินค้าที่มีชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗๒ (๑) หรือสินค้าอันเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นตามความในมาตรา ๒๗๓ หรือมาตรา ๒๗๔ ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2461/2563

เมื่อพิจารณาฉลากสินค้า ของจำเลยทั้งสอง ในภาคส่วนคำว่า เปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าคำว่า ของผู้เสียหาย แล้วจะเห็นได้ว่าเครื่องหมาย ของจำเลยทั้งสองมีสาระสำคัญอยู่ที่คำว่า HITACHI เหมือนกับเครื่องหมายการค้า ของผู้เสียหายทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบตัวอักษรและเสียงเรียกขาน ทั้งคำว่า HITACHI เป็นคำที่มีลักษณะเฉพาะตัว ไม่ใช่คำสามัญที่มีความหมายตามธรรมดาทั่วไป แม้เครื่องหมายของจำเลยทั้งสองที่ด้านหลังของคำว่า HITACHI จะมีเส้นบาง ๆ ต่อเฉียงออกไปทางขวามือ ในลักษณะที่ทำให้ตัวอักษรเป็นสามมิติ แต่ส่วนที่เพิ่มเติมดังกล่าวเป็นเพียงส่วนประกอบปลีกย่อยที่มองเห็นได้ยากและไม่ได้มีลักษณะโดดเด่นเพียงพอที่จะทำให้สาธารณชนแยกแยะความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายของจำเลยทั้งสองและเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายได้ นอกจากนี้ ส่วนประกอบดังกล่าวไม่ได้ทำให้ภาคส่วนสาระสำคัญคำว่า HITACHI ในเครื่องหมายของจำเลยทั้งสองที่เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายเปลี่ยนแปลงหรือสูญเสียลักษณะความเหมือนกันกับเครื่องหมายการค้าคำว่า ของผู้เสียหายไป ภาคส่วนคำว่า HITACHI ในเครื่องหมายของจำเลยทั้งสองยังคงสภาพความเหมือนกับเครื่องหมายการค้าคำว่า ของผู้เสียหายอยู่ ดังนั้น เครื่องหมาย ของจำเลยทั้งสองจึงเป็นเครื่องหมายปลอมเครื่องหมายการค้า ของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตสติกเกอร์ ที่มีเครื่องหมาย รวมอยู่ด้วย แล้วนำไปติดที่สินค้าสายทองแดงที่หุ้มฉนวนของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสินค้าประเภทเดียวกับสินค้าที่ผู้เสียหายได้จดทะเบียนไว้แล้วเพื่อจำหน่ายแก่ลูกค้าของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร และฐานร่วมกันจำหน่าย เสนอจำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหายตามฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5699/2562

โจทก์บรรยายฟ้อง ข้อ (ก) ว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายทั้งสอง โดยนำน้ำมันหล่อลื่นและน้ำมันเครื่องจากแหล่งผลิตอื่นมาบรรจุในกระป๋องน้ำมันและขวดน้ำมัน ซึ่งเป็นภาชนะผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายทั้งสองที่จำเลยทั้งห้าร่วมกันทำปลอมขึ้นดังกล่าว แล้วปิดผนึกฝากระป๋องหรือฝาขวดด้วยเครื่องผนึกอลูมิเนียม แล้วนำไปบรรจุใส่กล่องหรือลังกระดาษจนสำเร็จเป็นสินค้าน้ำมันหล่อลื่นที่มีเครื่องหมายการค้ายี่ห้อเวลลอย ซุปเปอร์ทู ที โลวส์โม๊ค ขนาด 0.5 ลิตร จำนวน 1,824 ขวด น้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อฮาโวลีน ขนาดบรรจุ 0.5 ลิตร จำนวน 40 ขวด และมีสติกเกอร์ยี่ห้อฮาโวลีนจำนวน 4,800 แผ่น แผ่นฟอยล์ปั๊มปิดฝาขวดยี่ห้อคาร์ลเท็กซ์จำนวน 5,000 แผ่น สติกเกอร์ยี่ห้อคาร์ลเท็กซ์จำนวน 300 แผ่น ใบปะหน้าสินค้ายี่ห้อเวลลอยจำนวน 300 แผ่น ฟอยล์ปั๊มปิดฝาขวดน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อเวลลอยจำนวน 1,000 ชิ้น ฝาปิดขวดน้ำมันเครื่องยี่ห้อเวลลอยสีแดงจำนวน 15,000 ฝา ขวดเปล่าน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อเวลลอยสีแดงจำนวน 2,220 ขวด ขวดเปล่าน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อฮาโวลีนสีดำจำนวน 100 ขวด ขวดเปล่าน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อเวลลอยสีขาวจำนวน 50 ขวด กล่องกระดาษบรรจุสินค้ายี่ห้อเวลลอยจำนวน 80 ใบ กล่องกระดาษบรรจุสินค้ายี่ห้อฮาโวลีนจำนวน 115 ใบ ฉลากปิดขวดน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อเวลลอย 2T ภาษาอังกฤษจำนวน 1,050 แผ่น ฉลากปิดขวดน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อเวลลอย ภาษาไทยจำนวน 30,000 แผ่น ภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายทั้งสองที่จำเลยทั้งห้าทำปลอมขึ้นเพื่อจำหน่าย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายทั้งสอง และโดยจำเลยทั้งห้ารู้อยู่แล้วว่าเป็นการปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายทั้งสอง เพื่อให้ผู้อื่นหรือประชาชนทั่วไปหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าและเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหายทั้งสอง และขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 และมาตรา 110 ถือว่าโจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 และฐานร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 ไว้ครบถ้วนแล้ว และประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าในความผิดฐานดังกล่าวด้วย เมื่อจำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งห้ามีความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่ลงโทษจำเลยทั้งห้าในความผิดฐานร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8995/2560

เมื่อเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้า ของจำเลยทั้งสองกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเครื่องหมายการค้า แล้ว เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีภาพวงกลมประดิษฐ์ขนาดเล็กอยู่เหนืออักษรโรมันคำว่า "genufood" และด้านล่างเป็นอักษรจีน ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองมีลักษณะเป็นภาพวงกลมประดิษฐ์ขนาดใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลางและปลายเส้นรอบวงทั้งด้านบนและด้านล่างไม่ติดกัน ตรงกลางมีอักษรโรมันคำว่า "genufood" แม้จะมีอักษรโรมันเป็นคำเดียวกัน แต่เมื่อพิจารณาภาพรวมของเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายแล้วจะเห็นได้ว่าแตกต่างกัน ทั้งจำเลยทั้งสองยังใช้กับสินค้าสบู่สมุนไพรผสมโสมไข่มุกและกาแฟขจัดปัญหาไขมันส่วนเกินซึ่งเป็นคนละจำพวกและรายการสินค้ากับสินค้าอาหารเสริมทำมาจากธัญพืชใช้บำรุงร่างกายตามเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองจึงไม่คล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109 และเมื่อไม่เป็นความผิดตามมาตรา 109 แล้ว การที่จำเลยทั้งสองจำหน่ายหรือเสนอจำหน่ายซึ่งสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นย่อมไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 109 ด้วย


องค์ประกอบความผิดของ ป.อ. มาตรา 272 (1) จะต้องเป็นการเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ และมาตรา 275 เป็นการจำหน่ายหรือเสนอจำหน่ายซึ่งสินค้าอันเป็นสินค้าที่มีชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 272 (1) โดยจะต้องเป็นการนำมาใช้ในชื่อหรือข้อความเดียวกันหรือในรูปรอยประดิษฐ์ที่ตั้งใจให้เหมือนกันในลักษณะปลอม ไม่ใช่เพียงแต่เลียนแบบ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าของโจทก์คือ และ กับเครื่องหมายการค้า ของจำเลยทั้งสอง จะเห็นได้ว่าไม่เหมือนกัน จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้เป็นชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของจำเลยทั้งสอง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) เมื่อไม่เป็นความผิดตามมาตรา 272 (1) แม้จำเลยทั้งสองจำหน่ายหรือเสนอจำหน่ายซึ่งสินค้าดังกล่าว จำเลยทั้งสองก็ไม่มีความผิดตามมาตรา 275 ประกอบมาตรา 272 (1) อีกเช่นกัน


เครื่องหมายการค้าบนวัตถุพยานคือคำว่า "genufood" และมีคำว่า "VICTOR" กับเครื่องหมายคล้ายรวงข้าวประกอบ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ใช้เครื่องหมายการค้า ในการโฆษณาขายสินค้าซึ่งไม่ได้บรรยายฟ้องว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า "genugood" และมีคำว่า "VICTOR" เป็นการทำเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ใช้หรือทำให้ปรากฏเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่สินค้าของจำเลยทั้งสองและเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่สินค้าตามวัตถุพยานจึงเป็นข้อที่โจทก์ไม่ได้กล่าวมาในฟ้อง คำวินิจฉัยในส่วนนี้ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3153/2559

เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ฟังได้เพียงว่าจำเลยทั้งสองได้ละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนทั้งสองของโจทก์ด้วยการนำเครื่องหมายการค้าทั้งสองของโจทก์ดังกล่าวไปใช้กับสินค้าท่อเหล็กกลมดำของจำเลยทั้งสองจำนวน 10 ท่อ โดยที่ยังไม่ได้นำออกจำหน่ายเพราะถูกยึดไว้เป็นของกลางเสียก่อน โจทก์จึงยังไม่ได้รับความเสียหายจากการขาดกำไรในการจำหน่ายสินค้าท่อเหล็กของโจทก์เพราะเหตุที่จำเลยทั้งสองขายสินค้าท่อเหล็กกลมดำดังกล่าว เมื่อไม่มีผู้บริโภครายใดได้ซื้อสินค้าท่อเหล็กดำดังกล่าว จึงไม่มีผู้บริโภครายใดที่หลงเชื่อว่าสินค้าท่อเหล็กนี้เป็นสินค้าของโจทก์และพบว่าเป็นสินค้าที่ไม่มีคุณภาพดีเทียบเท่ากับสินค้าของโจทก์จนทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายในชื่อเสียงของสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนทั้งสองของโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในค่าเสียหายที่โจทก์เสียชื่อเสียงได้


ค่าเสียหายที่อ้างว่าโจทก์ต้องว่าจ้างพนักงานเป็นการเฉพาะเพื่อชี้แจงเรื่องท่อเหล็กปลอมต่อบรรดาลูกค้าผู้ซื้อสินค้าท่อเหล็กของโจทก์กับกลุ่มที่จะซื้อสินค้าของโจทก์นั้น หากโจทก์ได้เสียค่าใช้จ่ายไปจริง ก็หาได้เป็นความเสียหายอันเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากการที่จำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าทั้งสองของโจทก์ เพราะจำเลยทั้งสองยังมิได้จำหน่ายสินค้าท่อเหล็กดำกลมจำนวน 10 ท่อ เนื่องจากถูกจับและเจ้าพนักงานยึดสินค้าท่อเหล็กดำดังกล่าวเป็นของกลางเสียก่อน โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้จากจำเลยทั้งสองได้ โจทก์คงได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวในส่วนที่จำเลยทั้งสองมิได้จ่ายค่าแห่งการใช้เครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนทั้งสองของโจทก์เท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2662/2559

ความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 บัญญัติให้เฉพาะการเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นซึ่งได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรเท่านั้นเป็นความผิดทางอาญา โดยมิได้คุ้มครองสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วนอกราชอาณาจักร ส่วนการเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นซึ่งได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักร จะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 275 ประกอบมาตรา 273 คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานจำหน่าย เสนอจำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 6 ที่จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร และของผู้เสียหายที่ 7 ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วนอกราชอาณาจักร เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามฟ้องว่า สินค้าในคดีนี้มีทั้งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วทั้งในราชอาณาจักรและนอกราชอาณาจักร การกระทำของจำเลยในส่วนของการจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนในราชอาณาจักรของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 6 จึงเป็นความผิดฐานจำหน่ายและเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 ส่วนการกระทำของจำเลยในส่วนของการจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ 7 เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 275 ประกอบมาตรา 273 อีกบทหนึ่งต่างหาก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 50/2559

โจทก์บรรยายฟ้องสำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) ว่า ผู้เสียหายที่ 1 ประกอบอาชีพขายสินค้าต่าง ๆ รวมทั้งผ้าหมึกใช้สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์และหมึกที่บรรจุในคาร์ทริดจ์สำหรับใช้กับเครื่องพิมพ์ ภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า โดยนำออกจำหน่ายในฐานะเจ้าของสินค้าในเครื่องหมายการค้าดังกล่าว และผู้เสียหายที่ 1 ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับใช้กับสินค้าจำพวก 16 รายการสินค้า ผ้าหมึกใช้สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ และสำหรับสินค้าจำพวก 2 รายการสินค้า หมึกที่บรรจุในคาร์ทริดจ์สำหรับใช้กับเครื่องพิมพ์ ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว จำเลยทั้งสองได้บังอาจร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าคำว่า ของผู้เสียหายที่ 1 ดังกล่าว แล้วนำไปทำให้ปรากฏบนผลิตภัณฑ์ ภาชนะบรรจุ หีบห่อ ฉลาก และสติกเกอร์ของผลิตภัณฑ์สินค้าที่ทำปลอม โดยนำตลับคาร์ทริดจ์เปล่ามาถอดออกแล้วเติมผงหมึกปลอมลงไปในตลับหมึก จากนั้นประกอบเข้าที่เดิมพร้อมใส่ลูกกลิ้งหมึกพิมพ์ลงไปแล้วนำมาบรรจุใส่ถุงปิดกระดาษที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า ปลอม และนำสติกเกอร์ที่ชื่อ รูป รอยประดิษฐ์คำว่า มาติดลงบนหีบห่อที่ใช้บรรจุสินค้า เป็นการเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์มาใช้ให้ปรากฏบนสินค้าเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของผู้เสียหายที่ 1 ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเห็นได้ว่าชื่อ รูป รอยประดิษฐ์คำว่า ที่โจทก์อ้างก็คือเครื่องหมายเดียวกับเครื่องหมายการค้าคำว่า ที่ผู้เสียหายที่ 1 ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร การที่จำเลยทั้งสองนำตลับคาร์ทริดจ์เปล่ามาถอดออกแล้วเติมผงหมึกปลอมลงไปในตลับหมึกพร้อมใส่ลูกกลิ้งหมึกพิมพ์ลงไปแล้วนำมาบรรจุใส่ถุงปิดกระดาษที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า ของผู้เสียหายที่ 1 และนำสติกเกอร์ที่มีชื่อ รูป รอยประดิษฐ์คำว่า มาติดลงบนหีบห่อที่ใช้บรรจุสินค้าตลับหมึกคาร์ทริดจ์นั้นถือเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า ของผู้เสียหายที่ 1 กับสินค้าตลับหมึกคาร์ทริดจ์ตัวพิมพ์สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า อันเป็นความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 เพราะการใช้เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของบุคคลอื่นกับสินค้าปลอมอาจเป็นการใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับตัวสินค้าหรือหีบห่อบรรจุสินค้านั้นก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดสินค้าว่าโดยสภาพของสินค้าสามารถติดเครื่องหมายการค้าที่ตัวสินค้าได้หรือไม่ สำหรับสินค้าหมึกคาร์ทริดจ์ในคดีนี้เห็นได้โดยสภาพของสินค้าว่าไม่อาจติดเครื่องหมายการค้าที่สินค้าหมึกได้แต่ต้องติดเครื่องหมายการค้าที่หีบห่อบรรจุสินค้าหมึกคาร์ทริดจ์เท่านั้น การที่จำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า ของผู้เสียหายที่ 1 โดยปิดที่ถุงกระดาษบรรจุตลับหมึกและนำสติกเกอร์ที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า ปลอมไปติดบนหีบห่อที่บรรจุสินค้าตลับหมึกคาร์ทริดจ์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายที่ 1 อันเป็นความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวย่อมไม่อาจเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) อีก ส่วนการเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นมาใช้โดยทำให้ปรากฏที่หีบห่อบรรจุสินค้าโดยมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของผู้อื่นอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) นั้นต้องเป็นการเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนในราชอาณาจักรมาใช้เท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13584/2558

การเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้า ของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักรสำหรับสินค้าที่จำพวกที่ 9 รายการสินค้า ตลับคาร์ทริดจ์ตัวพิมพ์ (สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์) มาใช้โดยทำให้ปรากฏที่ซองถุงลมกันกระแทกสำหรับบรรจุตลับคาร์ทริดจ์ตัวพิมพ์ (สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์) ถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักรของผู้เสียหายกับสินค้าตลับคาร์ทริดจ์ตัวพิมพ์ (สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์) ของจำเลยทั้งสอง โดยมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าสินค้าที่อยู่ในซองถุงลมกันกระแทกดังกล่าวเป็นสินค้าของผู้เสียหาย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักรตามที่ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 บัญญัติไว้เป็นความผิดโดยเฉพาะแล้ว ดังนี้ การเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นมาใช้โดยทำให้ปรากฏที่หีบห่อบรรจุสินค้าเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของผู้อื่นอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) นั้นต้องเป็นการเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนในราชอาณาจักรมาใช้เท่านั้น เพราะหากเป็นเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร การกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าดังที่ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 ได้บัญญัติไว้เป็นบทเฉพาะอยู่แล้ว บทบัญญัติ ป.อ. มาตรา 272 (1) จึงมีวัตถุประสงค์ให้ความคุ้มครองแก่ชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความที่เป็นเครื่องหมายการค้าเฉพาะที่เป็นเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียน เมื่อเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร การเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของผู้เสียหายมาใช้โดยทำให้ปรากฏที่หีบห่อเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของผู้เสียหายจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว การกระทำดังกล่าวจึงไม่อาจเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) ได้อีก แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามที่โจทก์ฟ้องก็ตาม ไม่ใช่เรื่องการกระทำกรรมเดียวอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตาม ป.อ. มาตรา 90 ปัญหานี้แม้โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13583/2558

ความผิดฐานเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ หรือทำให้ปรากฏที่สินค้า หีบ ห่อ วัตถุที่ใช้หุ้มห่อแจ้งความ รายการแสดงราคา จดหมายเกี่ยวกับการค้าหรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่นนั้น แม้รูป Seiken ตามเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายจะเป็นรูป รอยประดิษฐ์ที่ใช้ในการประกอบการค้าของผู้เสียหายด้วยก็ตาม แต่เมื่อผู้เสียหายได้นำรูป รอยประดิษฐ์ดังกล่าวไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจนมีสภาพเป็นเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ในราชอาณาจักร อันมีผลทำให้ได้รับความคุ้มครองอย่างเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนที่หากผู้อื่นปลอมเครื่องหมายการค้าจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) อีก ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12268/2558

ความผิดฐานร่วมกันผลิตปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการค้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานร่วมกันผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการค้าแต่ไม่นำมาขึ้นทะเบียน ฐานร่วมกันขายปุ๋ยเคมีที่ผลิตขึ้นเพื่อการค้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานร่วมกันขายปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตขึ้นเพื่อการค้าแต่ไม่นำมาขึ้นทะเบียน กับฐานร่วมกันโฆษณาขายปุ๋ยเคมีที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นปุ๋ยที่ได้มาตรฐานเหล่านี้ ลักษณะของความผิดและการกระทำความผิดในแต่ละข้อหาที่โจทก์บรรยายฟ้องมาอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแตกต่างแยกจากกันได้ และบางข้อหาเป็นความผิดสำเร็จในตัวเอง และถึงแม้ปุ๋ยอินทรีย์ตามคำฟ้องข้อ 2 และ 3 บางส่วน จะเป็นปุ๋ยอินทรีย์จำนวนเดียวกัน แต่คำฟ้องข้อ 3 โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องว่ามีปุ๋ยอินทรีย์จำนวนหนึ่งจำนวนเท่าใดไม่ปรากฏแน่ชัดซึ่งเป็นปุ๋ยคนละจำนวนกับคำฟ้องข้อ 2 ทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ให้การรับสารภาพ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 ส่วนเจตนาและความมุ่งหมายเดียวกันเพื่อนำออกจำหน่ายของจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น เป็นเจตนาที่จะใช้ประโยชน์จากปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์ของกลางที่ได้มาจากการกระทำความผิด มิใช่เจตนาในการกระทำความผิด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3377/2558

โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า ไซยาโนเทค ไบโอแอสติน (Bioastin) เมื่อประมาณต้นปี 2555 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันถึงวันฟ้อง จำเลยได้ลงโฆษณาสินค้าทางอินเทอร์เน็ท ชื่อเว็บไซต์ www.เจ้าแม่อาหารเสริม.com อ้างว่าจำเลยเป็นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมประเภทสาหร่ายแดงไบโอแอสติน (Bioastin) ซึ่งเป็นความเท็จ รายละเอียดปรากฏตามคำโฆษณาของจำเลยในเว็บไซต์ แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเอาชื่อ รูป และรอยประดิษฐ์ ไซยาโนเทค ไบโอแอสติน (Bioastin) ในการประกอบการค้าของบริษัทไซยาโนเทค จำกัด และโจทก์มาใช้หรือทำให้ปรากฏที่สินค้าหีบ ห่อ วัตถุที่ใช้หุ้มห่อ แจ้งความ รายการแสดงราคา จดหมายเกี่ยวกับการค้าหรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกัน โดยมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าไซยาโนเทค ไบโอแอสติน (Bioastin) หรือการค้าของบริษัทไซยาโนเทค จำกัด และโจทก์ และจำเลยไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความเท็จอย่างไรเพื่อให้เสียความเชื่อถือในสถานที่การค้า สินค้า อุตสาหกรรมหรือพาณิชย์การของบริษัทไซยาโนเทค จำกัด และโจทก์ โดยมุ่งประโยชน์แก่การค้าของจำเลยซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) (3) และ 275 และโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า สินค้าที่จำเลยจำหน่ายหรือเสนอจำหน่ายนั้นเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าของบริษัทไซยาโนเทค จำกัด และโจทก์ และจำเลยเป็นผู้ปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 108, 109 และ ป.อ. มาตรา 273, 274 หรือจำเลยเป็นผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักร จำหน่าย เสนอจำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมตามมาตรา 108 หรือที่เลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นตามมาตรา 109 อันจะเป็นความผิดตามมาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 หรือ 109 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ทั้งโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า บริษัทไซยาโนเทค จำกัด เป็นเจ้าของสิทธิบัตรในผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีใด และสินค้าที่จำเลยจำหน่ายหรือเสนอจำหน่ายนั้นเป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นหรือใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตรของบริษัทไซยาโนเทค จำกัด อย่างไรอันจะเป็นความผิดตามมาตรา 36, 38 และ 85 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 ซึ่งโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยมาอีกเช่นกัน ฟ้องโจทก์จึงมิได้แสดงข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับการกระทำนั้นๆ พอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาความผิดดังกล่าวได้ดีตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 127/2556

ปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องในข้อหาความผิดฐานขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 52 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 30 วรรคหนึ่ง เนื่องจากโจทก์ไม่ได้นำสืบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดในข้อหาดังกล่าว แต่จำเลยได้ขอแก้ไขคำให้การก่อนสืบพยานจำเลยเป็นให้การรับสารภาพในข้อหานี้แล้ว เป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ นั้น ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 222 ข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 26 มีนาคม 2552 ซึ่งเป็นวันนัดพร้อมว่า ในวันดังกล่าวโจทก์ จำเลย และทนายจำเลยมาศาล จำเลยแถลงขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 52 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 30 วรรคหนึ่ง ตามฟ้อง ส่วนข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 275 ประกอบมาตรา 273 ยังคงยืนยันให้การปฏิเสธ ตามคำให้การจำเลยที่ศาลบันทึกไว้ การให้การรับสารภาพของจำเลยในข้อหาความผิดฐานขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 52 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 30 วรรคหนึ่ง ตามฟ้อง เป็นการให้การรับสารภาพโดยสมัครใจและเป็นการร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยก่อนศาลพิพากษา เมื่อความผิดฐานขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 52 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 30 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงไม่ใช่ความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้นตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง จึงไม่อยู่ในบังคับที่โจทก์จะต้องสืบพยานหลักฐานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยและศาลไม่จำต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์เสียก่อนหากศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามคำรับสารภาพ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดดังกล่าวได้ ดังนั้น คดีนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำความผิดในฐานขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 52 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 30 วรรคหนึ่ง ตามฟ้องได้โดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานของโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดฐานนี้โดยระบุในคำพิพากษาว่าจำเลยให้การปฏิเสธและโจทก์ไม่ได้นำสืบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดในข้อหาความผิดฐานดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง


แม้ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นใช้ในภายหลังมีบทบัญญัติในมาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 บัญญัติให้เฉพาะการเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรเท่านั้น เป็นความผิดทางอาญา โดยมิได้คุ้มครองสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักรที่จะดำเนินคดีอาญาแก่ผู้เสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวปลอมดังเช่นที่บทบัญญัติใน ป.อ. มาตรา 275 ประกอบมาตรา 273 ซึ่งออกมาใช้บังคับก่อน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ให้ความคุ้มครองไว้ กรณีก็ไม่อาจถือได้ว่าบทบัญญัติใน ป.อ. ดังกล่าวขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และเมื่อ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 อันเป็นบทกฎหมายเฉพาะซึ่งใช้บังคับในภายหลัง มาตรา 3 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ยกเลิกเฉพาะ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 และ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3 ) พ.ศ.2504 เท่านั้น ศาลจึงชอบที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยฐานเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นซึ่งได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักรตาม ป.อ. มาตรา 275 ประกอบมาตรา 273 ได้ เพราะบทบัญญัติมาตรา 275 ประกอบมาตรา 273 แห่ง ป.อ. ดังกล่าวมิได้ถูกยกเลิกไปโดย พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534


ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่จำเลยผลิตและจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "POSH RACING PROJECT" มิใช่การละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักร แต่เป็นกรณีที่จำเลยคิดเครื่องหมายการค้าคำว่า "POSH RACING PROJECT" ขึ้นเอง มิใช่การปลอมเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวโดยสุจริตตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27 โจทก์ร่วมมิได้นำสินค้าของโจทก์ร่วมเข้ามาวางจำหน่ายในประเทศไทย จำเลยมิได้มีเจตนาปลอมเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักร พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มิได้ห้ามผู้จำหน่ายสินค้าจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของจำเลยจึงมิใช่เรื่องแปลกดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยนั้น อุทธรณ์ดังกล่าวทั้งหมดเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษปรับจำเลยในข้อหานี้ 5,000 บาท และไม่ปรากฏว่ามีผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งรับรองว่ามีเหตุอันสมควรอุทธรณ์ได้ อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 39


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9798/2555

แม้ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มีบทบัญญัติในมาตรา 110(1) ประกอบมาตรา 108 บัญญัติให้เฉพาะการเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรเท่านั้นเป็นความผิดทางอาญา โดยมิได้คุ้มครองสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักรที่จะดำเนินคดีอาญาแก่ผู้เสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวปลอมดังเช่นบทบัญญัติใน ป.อ. มาตรา 275 ประกอบมาตรา 273 ซึ่งออกมาใช้บังคับก่อน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ให้ความคุ้มครองไว้ กรณีก็ไม่อาจถือได้ว่าบทบัญญัติใน ป.อ. ดังกล่าวขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และเมื่อ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 3 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ยกเลิกเฉพาะ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 และ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2504 เท่านั้น ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 275 ประกอบมาตรา 273 มิได้ถูกยกเลิกด้วย


สินค้าและภาชนะบรรจุสินค้าของกลางมีเครื่องหมายการค้าคำว่า "POSH" ประกอบอยู่ด้วย ส่วนคำอื่นที่ประกอบเพิ่มเติมมีขนาดเล็กจนมองแทบไม่เห็นความแตกต่าง แสดงว่าสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้ามีคำว่า "POSH" เช่นเดียวกันกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม และเครื่องหมายการค้าที่ตัวผลิตภัณฑ์ใช้เครื่องหมายการค้าแตกต่างจากที่จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ แม้ป้ายหุ้มห่อผลิตภัณฑ์ใช้เครื่องหมายการค้าที่จำเลยกับพวกร่วมกันจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ แต่ไม่มีฉลากสินค้าแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับตัวผู้ผลิตสินค้าที่จะเป็นองค์ประกอบเพิ่มเติมให้ประชาชนผู้บริโภคหรือผู้ซื้อสินค้าสามารถแยกความแตกต่าง จึงมีโอกาสที่จะทำให้ประชาชนผู้ซื้อสินค้าหลงเชื่อไปได้ว่าสินค้าของกลางเป็นสินค้าของโจทก์ร่วมหรือโจทก์ร่วมมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย อันส่อให้เห็นเจตนาไม่สุจริตว่าประสงค์จะใช้หรือแสวงหาประโยชน์จากเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น ถือได้ว่าสินค้าของกลางเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วนอกราชอาณาจักร


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3129/2555

แม้ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) เป็นความผิดอันยอมความได้ ซึ่งผู้เสียหายจะต้องร้องทุกข์หรือฟ้องคดีเสียภายในกำหนดสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้นคดีเป็นอันขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 แต่คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่กระทำการตามฟ้องอันเป็นการฝ่าฝืน ป.อ. มาตรา 272 (1) เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2553 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งหมายถึงวันที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้อันเป็นการบรรยายฟ้องว่าการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่ยังคงกระทำสืบเนื่องตลอดมาจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2553 อันเป็นวันที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายยื่นฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดในคดีนี้ ดังนั้นคดีอาญาในความผิดข้อหาดังกล่าวย่อมไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2451/2555

การบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตาม ป.อ. มาตรา 271 โจทก์ต้องบรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยทั้งสามให้ครบองค์ประกอบความผิดตามที่มาตราดังกล่าวบัญญัติไว้ และบรรยายถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำความผิดนั้นรวมทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งสามเข้าใจข้อหาได้ดี ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ด้วย กล่าวคือ โจทก์ต้องบรรยายข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสามขายของสิ่งใด โดยหลอกลวงด้วยวิธีใดให้โจทก์ผู้ซื้อหลงเชื่อว่าของนั้นมีแหล่งกำเนิดมาจากที่ใด หรือสภาพของนั้นเป็นอย่างไร หรือคุณภาพของนั้นเป็นอย่างไร หรือปริมาณแห่งของนั้นว่ามีจำนวนเท่าใดซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงของนั้นมีแหล่งกำเนิดจากที่ใดหรือมีสภาพหรือคุณภาพเป็นอย่างไรหรือมีปริมาณจำนวนเท่าใด แต่โจทก์กลับบรรยายฟ้องยืนยันข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสามส่งมอบสินค้าผิดรุ่นไม่ตรงตามที่โจทก์สั่งซื้อ มิใช่การส่งมอบสินค้าตรงกับรุ่นที่โจทก์สั่งซื้อแต่สินค้านั้นเป็นสินค้าปลอมแต่อย่างใด มูลคดีที่โจทก์บรรยายฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสามปฏิบัติผิดสัญญาซื้อขายเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นมูลคดีแพ่ง คดีโจทก์จึงไม่มีมูลเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 271


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5017/2554

การเอาชื่อ รูป และรอยประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนไว้สำหรับสินค้านมข้นหวานในจำพวก 29 มาใช้โดยทำให้ปรากฏที่กล่องหรือลังกระดาษสำหรับบรรจุ ซึ่งเท่ากับเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้านมกระป๋องดังกล่าวโดยมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าสินค้าที่อยู่ในกล่องกระดาษหรือลังดังกล่าวเป็นสินค้าของโจทก์ร่วมถือได้ว่าเป็นการปลอมเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรตามที่ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 บัญญัติไว้เป็นความผิดโดยเฉพาะแล้ว ดังนั้น การเอาชื่อ รูป หรือรอยประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นมาใช้โดยทำให้ปรากฏที่หีบห่อบรรจุสินค้าโดยมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของผู้อื่นอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 271 (1) นั้น จึงต้องเป็นการเอาชื่อ รูป หรือรอยประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนในราชอาณาจักรมาใช้เท่านั้น เพราะหากเป็นเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร การกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าดังที่ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 บัญญัติไว้เป็นบทเฉพาะซึ่งมีระวางโทษหนักกว่า


เมื่อการเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ร่วมมาใช้โดยทำให้ปรากฏที่หีบห่อเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของโจทก์ร่วมเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว การกระทำดังกล่าวจึงไม่อาจเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) ได้อีก แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามที่โจทก์ฟ้องก็ตาม ไม่ใช่เรื่องการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทตาม ป.อ. มาตรา 90


เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มีวัตถุประสงค์ในการควบคุมคุณภาพของอาหารเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค ความผิดฐานจำหน่ายอาหารปลอมตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 59 ประกอบมาตรา 25 (2) และ 27 จึงเป็นความผิดต่อรัฐ รัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานนี้ โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานนี้ ไม่อาจอุทธรณ์ในข้อหาความผิดฐานนี้ได้


แม้ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรปลอมได้ ก็ต้องริบนมกระป๋องตรามะลิปลอมของกลางตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 115


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4862/2554

โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "BOSCH" ที่โจทก์ร่วมใช้กับสินค้าต่างๆ ในการประกอบการค้าของโจทก์ร่วมและได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าหลายชนิดของโจทก์ร่วมในราชอาณาจักร การที่มีบุคคลอื่นผลิตสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์นำมาให้จำเลยจำหน่ายโดยที่สินค้า กล่องบรรจุสินค้า และสมุดคู่มือการใช้สินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์ดังกล่าวใช้คำว่า "BOSCH HID" ติดอยู่กับสินค้า ซึ่งคำดังกล่าวมีตัวอักษรเป็นตัวพิมพ์ใหญ่สีแดงเช่นเดียวกันกับเครื่องหมายการค้าคำว่า "BOSCH" ของโจทก์ร่วม อีกทั้งข้างกล่องบรรจุสินค้ายังติดสติกเกอร์ระบุคำว่า "GERMANY BOSCH" เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "BOSCH" ของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศเยอรมนี แม้โจทก์ร่วมจะไม่มีสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์นั้นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในราชอาณาจักร แต่สินค้าดังกล่าวก็เป็นสินค้าชนิดเดียวกับสินค้าไฮดรอลิก ซึ่งเป็นชิ้นส่วนของยานพาหนะของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนไว้ในราชอาณาจักร ย่อมถือได้ว่าเจ้าของสินค้าที่ผลิตสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์ดังกล่าวเอาเครื่องหมายการค้าคำว่า "BOSCH" ของโจทก์ร่วมทุกตัวอักษรที่ยังไม่ได้จดทะเบียนไว้กับสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์มาใช้โดยเจตนาให้ประชาชนผู้ซื้อสินค้าดังกล่าวหลงเชื่อว่าสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์นั้นเป็นสินค้าของโจทก์ร่วม และแม้จะปรากฏว่าคำที่ใช้กับสินค้าดังกล่าวมีคำว่า "HID" ต่อจากคำว่า "BOSCH" ด้วยก็ตาม คำว่า "HID" เป็นเพียงสิ่งบ่งบอกถึงคุณสมบัติของสินค้าที่หมายถึงให้ความเข้มข้นของแสงไฟสูงเท่านั้น ไม่ใช่การเพิ่มเติมในส่วนสาระสำคัญเพียงพอที่จะทำให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าคำว่า "BOSCH" และ คำว่า "BOSCH HID" จึงหาทำให้ประชาชนผู้ซื้อสินค้าไม่อาจหลงเชื่อว่าสินค้านั้นไม่ใช่สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "BOSCH" ของโจทก์ร่วมไม่ อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า บริษัท บ. เจ้าของสินค้าได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมให้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "BOSCH" กับสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์หรือไม่ ซึ่งหากได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมแล้ว การที่จำเลยเสนอจำหน่ายสินค้าดังกล่าวย่อมไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 275 ประกอบมาตรา 272 (1) ได้ เพราะเป็นการเสนอขายสินค้าที่มิได้มีการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีความสงสัยตามสมควร ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5340/2553

การกระทำที่จะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) นั้น จะต้องได้ความว่า ผู้กระทำมีเจตนาพิเศษในการเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ หรือทำให้ปรากฏที่สินค้า หีบ ห่อ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่น เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าคำว่า Q-MATIC จึงเป็นการใช้ตามสิทธิที่จำเลยทั้งสองได้รับอนุญาตจากโจทก์ ไม่ใช่เป็นการกระทำอันมีลักษณะเป็นการเอาชื่อ รูป หรือรอยประดิษฐ์ในการประกอบการค้าคำว่า Q-MATIC ของโจทก์ไปใช้กับการประกอบการค้าของจำเลยที่ 1 โดยไม่มีสิทธิหรือโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ และมีเจตนาพิเศษเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของโจทก์แต่อย่างใด แม้ต่อมาโจทก์จะได้แจ้งยกเลิกการอนุญาตให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ และไม่ประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 ใช้คำว่า Q-MATIC ประกอบการค้าของจำเลยที่ 1 ต่อไป หากจำเลยทั้งสองยังคงใช้คำดังกล่าวต่อไปอีกก็เป็นเพียงความรับผิดทางแพ่งของจำเลยทั้งสองเท่านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองยังไม่มีเจตนาอันเป็นองค์ประกอบของการกระทำความผิดทางอาญาตาม ป.อ. มาตรา 272 (1)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1255/2552

การกระทำอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 271 ต้องมีองค์ประกอบความผิด คือ ผู้กระทำต้อง "ขายของ" โดยหลอกลวงด้วยประการใดๆ โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันเอาชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้า PENTHOUSE ของโจทก์ไปใช้กับกิจการให้บริการโรงแรม และได้ใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้า PENTHOUSE ของโจทก์ประกอบเป็นชื่อ Domain name www.penthouse@penthousehotel.com เพื่อโฆษณากิจการของโรงแรมดังกล่าว กับใช้ชื่อจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ว่า penthouse@penthousehotel.com เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตามคำบรรยายฟ้องดังกล่าวโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสามให้ "บริการ" กิจการโรงแรม ไม่ได้กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสามขายของ ดังนี้ แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำฟ้องของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสามก็ไม่อาจเป็นความผิดตามมาตรา 271


การกระทำที่จะถือเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) นั้นจึงต้องเป็นการนำชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใดๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ ซึ่งชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใดๆ ที่นำมาใช้นี้ต้องนำมาใช้ในชื่อหรือข้อความเดียวกันในลักษณะปลอม ไม่ใช่เพียงแต่เลียนแบบ เมื่อเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ได้ใช้ในการประกอบการค้านั้น คือ อักษรโรมันพิมพ์ใหญ่ว่า "PENTHOUSE" ส่วนรูปหรือรอยประดิษฐ์หรือข้อความที่จำเลยทั้งสามใช้ในการประกอบกิจการค้าตามที่โจทก์นำสืบคือ


ซึ่งมีลักษณะเป็นการประดิษฐ์รูปและคำประกอบกันมิได้มีลักษณะเป็นตัวอักษรโรมันพิมพ์ใหญ่เช่นของโจทก์ ส่วน Domain name ที่จำเลยทั้งสามใช้ในการสื่อสารเกี่ยวกับธุรกิจโรงแรมของจำเลยทั้งสามคือ www.penthousehotel.com และจดหมายอิเล็กทรอนิกส์คือ penthouse@penthousehotel.com ไม่ได้ใช้เพียงชื่อว่า PENTHOUSE การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่อาจมีมูลเป็นความผิดฐานเอาชื่อหรือข้อความใดๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ หรือทำให้ปรากฏที่แจ้งความ จดหมายเกี่ยวกับการค้าหรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นการค้าของผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 272 (1)


การกระทำอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 274 นี้ได้ เครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ถูกเลียนจึงต้องเป็นเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในหรือนอกราชอาณาจักร โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า PENTHOUSE ไว้ในประเทศสหรัฐอเมริกากับสินค้าจำพวก 38, 16 รายการสินค้า นิตยสาร ปฏิทิน และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศไทยกับสินค้าจำพวก 16, 41 รายการสินค้า นิตยสาร กับจดทะเบียนเครื่องหมายดังกล่าวเป็นเครื่องหมายบริการกับรายการสินค้า ผลิตและแจกจ่ายรายการโทรทัศน์ บริการไนต์คลับและบ่อนกาสิโนเท่านั้นแต่ตามคำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสามเลียนเครื่องหมายบริการของโจทก์เพื่อใช้กับกิจการโรงแรม อันเป็นเครื่องหมายบริการที่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้จดทะเบียนไว้แล้วทั้งในและนอกราชอาณาจักร ส่วนที่กล่าวอ้างว่า จำเลยเลียนเครื่องหมายบริการของโจทก์เพื่อใช้กับกิจการและบริการต่างๆ ของโรงแรมด้วย โจทก์ก็กล่าวถึงกิจการบริการต่างๆ ดังกล่าวไว้เฉพาะกิจการบริการสปา และสระว่ายน้ำภายในโรงแรมอันเป็นเครื่องหมายบริการที่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้จดทะเบียนไว้แล้วทั้งในและนอกราชอาณาจักร คดีโจทก์จึงไม่มีมูลในข้อหานี้เช่นกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 629/2551

เมื่อเปรียบเทียบรูปและคำของเครื่องหมายในภาพถ่ายแผ่นป้ายหน้าร้านที่เกิดเหตุกับ เครื่องหมายบริการของผู้เสียหายจะเห็นว่าแผ่นป้ายดังกล่าวอยู่ในแนวตั้ง มีสีเหลืองและมีตัวอักษรภาษาอังกฤษ (โรมัน) สีแดงเรียงจากด้านบนมาด้านล่างว่า N PHOTO EXPRESS โดยอักษร N ทำเป็นตัวอักษรที่ประดิษฐ์ขึ้นซึ่งมีลักษณะคล้ายอักษรประดิษฐ์ตัว K ของผู้เสียหาย ส่วนคำว่า EXPRESS ก็มีลักษณะของการวางตัวอักษร ลวดลาย และสีก็คล้ายคลึงกับเครื่องหมายบริการคำว่า K KODAK EXPRESS ของผู้เสียหาย แม้คำว่า PHOTO ของเครื่องหมายในแผ่นป้ายหน้าร้านจะไม่คล้ายคำว่า KODAK ของผู้เสียหาย และผู้เสียหายปฏิเสธสิทธิว่าจะไม่ใช้คำว่า EXPRESS แต่เพียงผู้เดียว แต่การพิจารณาความเหมือนหรือคล้ายต้องพิจารณาป้ายบริการทั้งหมดประกอบกัน มิใช่พิจารณาจากตัวอักษรหรือคำใดคำหนึ่ง จึงเห็นว่าเครื่องหมายบริการในแผ่นป้ายหน้าร้านที่เกิดเหตุมีลักษณะโดยรวม คล้ายกับเครื่องหมายบริการของผู้เสียหายดังกล่าว เป็นการเลียนแบบเครื่องหมายของผู้เสียหาย


เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าจำเลยไม่มี ความผิดฐานเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม และโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยให้บริการหรือเสนอบริการเลียนแบบเครื่อง หมายบริการของผู้เสียหาย จึงไม่ต้องปรับบทว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 และโจทก์ก็มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ หรือทำให้ปรากฏที่สินค้า หีบ ห่อ วัตถุที่ใช้ห่อหุ้มเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นการค้าของผู้เสียหาย อันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) ด้วย จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานนี้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทดังที่ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษา แต่เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวในฐานเลียนเครื่องหมายบริการของผู้เสียหาย อันเป็นความผิดกฎหมายบทเดียว คือ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 269/2549

เมื่อจำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109 และ 110 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 274 และ 275 แต่มาตรา 3 วรรคสอง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ให้ใช้มาตรา 109 และ 110 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแทนบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับการเลียนเครื่อง หมายการค้าที่ได้จดทะเบียนภายในราชอาณาจักรตามมาตรา 274 และการปฏิบัติต่อสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวตามมาตรา 275 แห่งประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ในการปรับบทกฎหมายจึงไม่ต้องอ้างบทบัญญัติในมาตรา 274 และ 275 อีก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4816/2548

ผู้เสียหาย ตาม ป.อ. มาตรา 271 หมายถึง ผู้ซื้อของซึ่งหลงเชื่อการขายของโดยหลอกลวง ไม่ใช่เจ้าของรูปรอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้า และตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 39 บัญญัติให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการ... เพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่ผู้กระทำการละเมิดสิทธิของผู้ บริโภคในศาล คำว่า ผู้เสียหาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 3 หมายความว่า ผู้ซื้อหรือได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจ ฯลฯ เมื่อโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของเครื่องหมายบริการและเครื่องหมายการค้า โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 จึงไม่มีสิทธิเข้าเป็นโจทก์ร่วมในความผิดตามมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และ มาตรา 271 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและไม่มีอำนาจอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศกลาง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5275/2548

ความผิดฐานเสนอจำหน่ายสินค้า ซึ่งเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ หรือทำให้ปรากฏที่สินค้า หีบ ห่อ วัตถุที่ใช้ห่อหุ้ม หรือสิ่งอื่นในทำนองเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 275 ประกอบมาตรา 272 (1) นั้น เป็นบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องเครื่องหมายของสินค้า มิได้บังคับในเรื่องรูปทรง ลวดลายของสินค้าหรือสิ่งผลิต ซึ่งหากมีผู้นำชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ ไปทำเป็นรูปร่างของสินค้า ผู้มีสิทธิในชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ อาจได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายในลักษณะอื่น เช่น กฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ จำพวกงานศิลปกรรม หรือกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตร จำพวกการออกแบบผลิตภัณฑ์ เป็นต้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2557/2548

เครื่องหมายบริการแถบสี "น้ำเงิน - เขียว" ที่ไม่มีลักษณะพิเศษ ไม่ใช่ชื่อ รูปรอยประดิษฐ์ หรือข้อความใด ๆ ในความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) โจทก์จึงไม่อาจฟ้องให้จำเลยรับผิดเกี่ยวกับเครื่องหมายบริการ ตามบทกฎหมายดังกล่าวได้ ส่วนรูปสัญลักษณ์และข้อความ "เราคนไทยใช้บางจาก" นั้น จำเลยใช้ป้ายรณรงค์ที่เลียนแบบเครื่องหมายสัญลักษณ์มือของโจทก์เพียงแต่ของ โจทก์ใช้สัญลักษณ์มือขวา ส่วนของจำเลยนำสัญลักษณ์มือซ้ายมาใช้ นอกจากนั้น ยังมีข้อความล้อเลียน โดยใช้คำว่า "เราชาวไทย" แต่ ความผิดตามมาตรา 272 (1) จะต้องเป็นการตั้งใจให้เหมือนของโจทก์ในลักษณะปลอมไม่ใช่เพียงแต่เลียนแบบ จึงไม่มีความผิด และความผิดตามมาตรา 272 (2) จะต้องเป็นการเลียนป้ายหรือสิ่งอื่นในทำนองเดียวกัน จนประชาชนน่าจะหลงเชื่อว่าสถานที่การค้าของตนเป็นสถานที่การค้าของผู้อื่น ที่ตั้งอยู่ใกล้เคียง เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องมาด้วยว่าสถานที่ประกอบการค้าของโจทก์อยู่ใกล้ เคียง ฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานนี้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12540/2547

แม้รูปลายเส้นคล้ายปีกนกตามเครื่องหมายการค้าของโจทก์จะเป็นรูป รอยประดิษฐ์ที่ใช้ในการประกอบการค้าของโจทก์ด้วยก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ได้นำรูป รอยประดิษฐ์นี้ไปจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าจนมีสภาพเป็นเครื่องหมายการ ค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ในราชอาณาจักร อันมีผลให้ได้รับความคุ้มครองอย่างเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนที่หากผู้ อื่นปลอมเครื่องหมายการค้าจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 108 โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่ต้องปรับบทความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) อีก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 299/2547

โจทก์ร่วมทำสัญญากับจำเลยซึ่งประกอบธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน โดยให้จำเลยมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมได้ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องซื้อน้ำมันจากโจทก์ร่วมมาจำหน่ายเท่านั้น จำเลยผิดสัญญาโดยไปซื้อน้ำมันจากแหล่งอื่นมาจำหน่าย โจทก์ร่วมบอกเลิกสัญญาให้จำเลยส่งคืนสถานีบริการน้ำมันแก่โจทก์ร่วม รวมทั้งเพิกถอนความยินยอมให้ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม แต่จำเลยก็ยังคงประกอบการค้าต่อไปโดยซื้อน้ำมันจากที่อื่นมาจำหน่าย และยังคงติดป้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมอยู่บริเวณสถานีบริการน้ำมัน โดยมิได้แสดงเครื่องหมายให้ประชาชนเข้าใจว่าสถานีบริการน้ำมันนี้ไม่ได้เป็น ตัวแทนจำหน่ายน้ำมันของโจทก์ร่วม แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาที่จะขายสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ ร่วม เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าสินค้าที่จำเลยจำหน่ายนั้นเป็นสินค้าของโจทก์ ร่วม จึงเป็นการขายของโดยหลอกลวงให้ผู้อื่นหลงเชื่อในแหล่งกำเนิดแห่งของอันเป็น เท็จตาม ป.อ. มาตรา 271


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1835/2545

เมื่อพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 อันเป็นบทกฎหมายเฉพาะซึ่งใช้บังคับในภายหลัง มาตรา 3 วรรคแรก บัญญัติให้ยกเลิกเฉพาะพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 และพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2504 เท่านั้น มิได้บัญญัติให้ยกเลิกความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบมาตรา 273 ด้วย ทั้งไม่อาจถือได้ว่าบทบัญญัติมาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เป็นบทกฎหมายซึ่งขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติมาตรา 110(1) ประกอบด้วยมาตรา 108 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บทบัญญัติมาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273แห่งประมวลกฎหมายอาญาจึงมิได้ถูกยกเลิกไปโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการ ค้าพ.ศ. 2534


จำเลยเสนอจำหน่ายสินค้ากระเป๋าที่มีเครื่องหมายการค้าซึ่งมีผู้ทำปลอม เครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักรจึงเป็น ความผิดและต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2712/2543

การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานมีเครื่องชั่งซึ่งไม่ถูกต้องตามความประสงค์ทุก ประการของ พ.ร.บ. มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 ไว้เพื่อใช้ในกิจการต่อเนื่องกับผู้อื่นและในพาณิชยกิจจำเลยตาม พ.ร.บ. มาตรา ชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 มาตรา 31 กับฐานมีไว้เพื่อใช้ซึ่งเครื่องชั่งที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในการค้าตาม ป.อ. มาตรา 270 ฐานใช้เครื่องชั่งซึ่งไม่ถูกต้องตามความประสงค์ทุกประการของ พ.ร.บ. มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 ในกิจการ ต่อเนื่องกับผู้อื่นและในพาณิชยกิจของจำเลยตาม พ.ร.บ. มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 มาตรา 31 กับฐานใช้เครื่องชั่ง ที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในการค้าตาม ป.อ. มาตรา 270 เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ความผิดฐานมีไว้เพื่อใช้ซึ่งเครื่องชั่งที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในการค้า และฐานใช้เครื่องชั่งที่ผิดอัตราเพื่อ เอาเปรียบในการค้า ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดมีระวางโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานใช้เครื่องชั่งที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในการค้าตาม ป.อ. มาตรา 90 กระทงหนึ่ง และมีความผิดฐานลดเครื่องชั่งซึ่งเจ้าพนักงานตรวจสอบให้คำรับรองแล้วตาม พ.ร.บ. มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 มาตรา 32 วรรคหนึ่ง อีกกระทงหนึ่ง การที่ศาลล่างทั้งสอง ปรับบทลงโทษจำเลยไม่ครบถ้วน และพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานใช้เครื่องชั่ง ซึ่งไม่ถูกต้องตามความประสงค์ ทุกประการฯ ว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 มาตรา 32 วรรคสอง อันเป็นบทลงโทษผู้ใช้เครื่องชั่งโดยรู้อยู่ว่าเป็นเครื่องชั่งที่ถูกแก้ เปลี่ยน และมิได้พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานลดเครื่องชั่งซึ่ง เจ้าพนักงานตรวจสอบให้คำรับรองแล้ว ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็ปรับลงโทษและพิพากษาให้ถูกต้องได้ ส่วนโทษที่ลงแก่จำเลยคงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เพราะต้องห้ามเพิ่มเติม โทษจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225


ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามี พ.ร.บ. มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2542 ใช้บังคับ ให้ยกเลิก พ.ร.บ. มาตราชั่ง ตวง วัดเดิมทุกฉบับ ซึ่งตาม พ.ร.บ. มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2542 ได้บัญญัติความผิดฐานใช้หรือมีเครื่องชั่งโดยรู้ว่าเครื่องชั่งนั้นมีความ เที่ยงผิดอัตราไว้ในมาตรา 79 ฐานกระทำการใด ๆ เพื่อให้เครื่องชั่งที่มีการให้คำรับรองแล้วแสดงน้ำหนักผิดไปจากที่ได้รับ การตรวจสอบความเที่ยงไว้ในมาตรา 75 และมีระวางโทษเป็นคุณกว่าโทษตาม พ.ร.บ. มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 มาตรา 31 และมาตรา 32 วรรคหนึ่ง จึงต้องใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 วรรคหนึ่ง ด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 357 - 358/2535

จำเลยทั้งสามตกลงทำการชั่งเศษทองแดงที่จำเลยทั้งสามตกลงซื้อจากโจทก์ร่วมรวม 13 ครั้ง ต่างวันเวลากันด้วยเครื่องชั่งที่ผิดอัตราซึ่งถูกแก้ไขโดยเจตนาลดเครื่อง ชั่งทำให้ได้เศษทองแดงเกินไป เป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 270และพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 มาตรา 31หลายกรรมต่างกัน รวม 13 ครั้ง แต่การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามแต่ละครั้งนั้น จำเลยทั้งสามมีและใช้เครื่องชั่งในวันเวลาเดียวกัน เท่ากับจำเลยทั้งสามมีเจตนาเดียวกันเป็นกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 270 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ตามมาตรา 90


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1645/2532

จำเลยมีเครื่องชั่งไว้ชั่ง ซื้อ ข้าวเปลือกจากผู้ขาย การที่เครื่องชั่งของจำเลยชั่ง วัตถุที่มีน้ำหนักจริง 500 กิโลกรัม ได้น้ำหนัก 502 กิโลกรัม ทำให้ผู้ขายได้ น้ำหนักเพิ่มขึ้น 2 กิโลกรัมถือ ไม่ได้ว่าจำเลยมีเครื่องชั่งดังกล่าวไว้เพื่อเอาเปรียบในการค้าตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 270 คงมีความผิดตาม พระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 มาตรา 31,38 เท่านั้น