ความรับผิดในทางอาญา

หมวด ๔

ความรับผิดในทางอาญา

มาตรา ๕๙ บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้

กระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่การกระทำ ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย

มาตรา ๖๐ ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

มาตรา ๖๑ ผู้ใดเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิด ผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่

มาตรา ๖๒ ข้อเท็จจริงใด ถ้ามีอยู่จริงจะทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด หรือทำให้ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ หรือได้รับโทษน้อยลง แม้ข้อเท็จจริงนั้นจะไม่มีอยู่จริง แต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิด หรือได้รับยกเว้นโทษ หรือได้รับโทษน้อยลง แล้วแต่กรณี

ถ้าความไม่รู้ข้อเท็จจริงตามความในวรรคสามแห่งมาตรา ๕๙ หรือความสำคัญผิดว่ามีอยู่จริงตามความในวรรคแรก ได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทของผู้กระทำความผิด ให้ผู้กระทำรับผิดฐานกระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่า การกระทำนั้นผู้กระทำจะต้องรับโทษแม้กระทำโดยประมาท

บุคคลจะต้องรับโทษหนักขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงใด บุคคลนั้นจะต้องได้รู้ข้อเท็จจริงนั้น

มาตรา ๖๓ ถ้าผลของการกระทำความผิดใดทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น ผลของการกระทำความผิดนั้นต้องเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได

มาตรา ๖๔ บุคคลจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้พ้นจากความรับผิดในทางอาญาไม่ได้ แต่ถ้าศาลเห็นว่า ตามสภาพและพฤติการณ์ ผู้กระทำความผิดอาจจะไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด ศาลอาจอนุญาตให้แสดงพยานหลักฐานต่อศาล และถ้าศาลเชื่อว่าผู้กระทำไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้น ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

มาตรา ๖๕ ผู้ใดกระทำความผิด ในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้นแต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

มาตรา ๖๖ ความมึนเมาเพราะเสพย์สุราหรือสิ่งเมาอย่างอื่นจะยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวตามมาตรา ๖๕ ไม่ได้ เว้นแต่ความมึนเมานั้นจะได้เกิดโดยผู้เสพย์ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นจะทำให้มึนเมา หรือได้เสพย์โดยถูกขืนใจให้เสพย์ และได้กระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ ผู้กระทำความผิดจึงจะได้รับยกเว้นโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ถ้าผู้นั้นยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

มาตรา ๖๗ ผู้ใดกระทำความผิดด้วยความจำเป็น

(๑) เพราะอยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ หรือ

(๒) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้ เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตนถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

มาตรา ๖๘ ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด

มาตรา ๖๙ ในกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๗ และมาตรา ๖๘ นั้น ถ้าผู้กระทำได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น หรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ แต่ถ้าการกระทำนั้นเกิดขึ้นจากความตื่นเต้น ความตกใจ หรือความกลัว ศาลจะไม่ลงโทษผู้กระทำก็ได้

มาตรา ๗๐ ผู้ใดกระทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน แม้คำสั่งนั้นจะมิชอบด้วยกฎหมาย ถ้าผู้กระทำมีหน้าที่หรือเชื่อโดยสุจริตว่ามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ เว้นแต่จะรู้ว่าคำสั่งนั้นเป็นคำสั่งซึ่งมิชอบด้วยกฎหมาย

มาตรา ๗๑ ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๓๔ ถึงมาตรา ๓๓๖ วรรคแรกและมาตรา ๓๔๑ ถึงมาตรา ๓๖๔ นั้น ถ้าเป็นการกระทำที่สามีกระทำต่อภริยา หรือภริยากระทำต่อสามี ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ

ความผิดดังระบุมานี้ ถ้าเป็นการกระทำที่ผู้บุพการีกระทำต่อผู้สืบสันดานผู้สืบสันดานกระทำต่อผู้บุพการี หรือพี่หรือน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกระทำต่อกัน แม้กฎหมายมิได้บัญญัติให้เป็นความผิดอันยอมความได้ ก็ให้เป็นความผิดอันยอมความได้ และนอกจากนั้น ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

มาตรา ๗๒ ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

มาตรา ๗๓ เด็กอายุยังไม่เกินสิบปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดเด็กนั้นไม่ต้องรับโทษให้พนักงานสอบสวนส่งตัวเด็กตามวรรคหนึ่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก เพื่อดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

มาตรา ๗๔ เด็กอายุกว่าสิบปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(๑) ว่ากล่าวตักเตือนเด็กนั้นแล้วปล่อยตัวไป และถ้าศาลเห็นสมควรจะเรียกบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาตักเตือนด้วยก็ได้

(๒) ถ้าศาลเห็นว่า บิดา มารดา หรือผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กนั้นได้ ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้แก่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองไป โดยวางข้อกำหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนดซึ่งต้องไม่เกินสามปีและกำหนดจำนวนเงินตามที่เห็นสมควรซึ่งบิดา มารดา หรือผู้ปกครองจะต้องชำระต่อศาลไม่เกินครั้งละหนึ่งหมื่นบาทในเมื่อเด็กนั้นก่อเหตุร้ายขึ้น

ถ้าเด็กนั้นอาศัยอยู่กับบุคคลอื่นนอกจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง และศาลเห็นว่าไม่สมควรจะเรียกบิดา มารดา หรือผู้ปกครองมาวางข้อกำหนดดังกล่าวข้างต้น ศาลจะเรียกตัวบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาสอบถามว่า จะยอมรับข้อกำหนดทำนองที่บัญญัติไว้สำหรับบิดา มารดาหรือผู้ปกครองดังกล่าวมาข้างต้นหรือไม่ก็ได้ ถ้าบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ยอมรับข้อกำหนดเช่นว่านั้นก็ให้ศาลมีคำสั่งมอบตัวเด็กให้แก่บุคคลนั้นไปโดยวางข้อกำหนดดังกล่าว(๓) ในกรณีที่ศาลมอบตัวเด็กให้แก่บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ตาม (๒) ศาลจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้นเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๖ ด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลแต่งตั้งพนักงานคุมประพฤติหรือพนักงานอื่นใดเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้น

(๔) ถ้าเด็กนั้นไม่มีบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง หรือมีแต่ศาลเห็นว่าไม่สามารถดูแลเด็กนั้นได้หรือถ้าเด็กอาศัยอยู่กับบุคคลอื่นนอกจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง และบุคคลนั้นไม่ยอมรับข้อกำหนดดังกล่าวใน (๒) ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้อยู่กับบุคคลหรือองค์การที่ศาลเห็นสมควรเพื่อดูแล อบรม และสั่งสอนตามระยะเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้ในเมื่อบุคคลหรือองค์การนั้นยินยอม ในกรณีเช่นว่านี้ให้บุคคลหรือองค์การนั้นมีอำนาจเช่นผู้ปกครองเฉพาะเพื่อดูแล อบรม และสั่งสอน รวมตลอดถึงการกำหนดที่อยู่และการจัดให้เด็กมีงานทำตามสมควร หรือให้ดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นก็ได้ หรือ

(๕) ส่งตัวเด็กนั้นไปยังโรงเรียน หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก ตลอดระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่อย่าให้เกินกว่าที่เด็กนั้นจะมีอายุครบสิบแปดปี

คำสั่งของศาลดังกล่าวใน (๒) (๓) (๔) และ (๕) นั้น ถ้าในขณะใดภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดไว้ ความปรากฏแก่ศาลโดยศาลรู้เอง หรือตามคำเสนอของผู้มีส่วนได้เสีย พนักงานอัยการหรือบุคคลหรือองค์การที่ศาลมอบตัวเด็กเพื่อดูแล อบรมและสั่งสอน หรือเจ้าพนักงานว่า พฤติการณ์เกี่ยวกับคำสั่งนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป ก็ให้ศาลมีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งนั้น หรือมีคำสั่งใหม่ตามอำนาจในมาตรานี้

มาตรา ๗๕ ผู้ใดอายุกว่าสิบห้าปีแต่ต่ำกว่าสิบแปดปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ให้ศาลพิจารณาถึงความรู้ผิดชอบและสิ่งอื่นทั้งปวงเกี่ยวกับผู้นั้น ในอันที่จะควรวินิจฉัยว่าสมควรพิพากษาลงโทษผู้นั้นหรือไม่ ถ้าศาลเห็นว่าไม่สมควรพิพากษาลงโทษก็ให้จัดการตาม มาตรา ๗๔ หรือถ้าศาลเห็นว่าสมควรพิพากษาลงโทษ ก็ให้ลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดลงกึ่งหนึ่ง

มาตรา ๗๖ ผู้ใดอายุตั้งแต่สิบแปดปีแต่ยังไม่เกินยี่สิบปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นลงหนึ่งในสามหรือกึ่งหนึ่งก็ได้

มาตรา ๗๗ ในกรณีที่ศาลวางข้อกำหนดให้บิดามารดา ผู้ปกครองหรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ ระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้ายตามความในมาตรา ๗๔ (๒) ถ้าเด็กนั้นก่อเหตุร้ายขึ้นภายในเวลาในข้อกำหนด ศาลมีอำนาจบังคับบิดามารดา ผู้ปกครองหรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ ให้ชำระเงินไม่เกินจำนวนในข้อกำหนดนั้น ภายในเวลาที่ศาลเห็นสมควร ถ้าบิดามารดา ผู้ปกครองหรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ไม่ชำระเงิน ศาลจะสั่งให้ยึดทรัพย์สินของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ เพื่อใช้เงินที่จะต้องชำระก็ได้

ในกรณีที่ศาลได้บังคับให้บิดามารดา ผู้ปกครองหรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ชำระเงินตามข้อกำหนดแล้วนั้น ถ้าศาลมิได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งที่ได้วางข้อกำหนดนั้นเป็นอย่างอื่นตามความในมาตรา ๗๔ วรรคท้าย ก็ให้ข้อกำหนดนั้นคงใช้บังคับได้ต่อไปจนสิ้นเวลาที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดนั้น

มาตรา ๗๘ เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ไม่ว่าจะได้มีการเพิ่มหรือการลดโทษตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นแล้วหรือไม่ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้เหตุบรรเทาโทษนั้น ได้แก่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญาตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีคุณความดีมาแต่ก่อน รู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น ลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานหรือให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา หรือเหตุอื่นที่ศาลเห็นว่ามีลักษณะทำนองเดียวกัน

มาตรา ๗๙ ในคดีที่มีโทษปรับสถานเดียว ถ้าผู้ที่ต้องหาว่ากระทำความผิด นำค่าปรับในอัตราอย่างสูงสำหรับความผิดนั้นมาชำระก่อนที่ศาลเริ่มต้นสืบพยาน ให้คดีนั้นเป็นอันระงับไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 724/2563

จำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยให้แก่ราษฎรในหมู่บ้าน นอกจากอาวุธปืนยาวลูกซองเดี่ยวขนาด 12 ที่ใช้ยิงผู้ตาย ซึ่งเป็นอาวุธปืนที่ทางราชการมอบให้ไว้ใช้ตรวจรักษาความปลอดภัยในหมู่บ้านแล้ว จำเลยยังมีอาวุธปืนยาวลูกซองเดี่ยว (NTS) แบบสไลด์ แอ็คชั่น (SLIDE ACTION) บรรจุ 4 นัด ขนาด 12 ที่ใช้ยิงขึ้นฟ้าในวันเกิดเหตุอีก 1 กระบอก จำเลยย่อมมีความชำนาญในการใช้อาวุธปืนและทราบดีอยู่แล้วว่าอาวุธปืนเป็นอาวุธที่ร้ายแรงสามารถทำอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ง่าย แต่จำเลยยังใช้อาวุธปืนยาวลูกซองเดี่ยวขนาด 12 ของกลางที่มีกระสุนบรรจุอยู่ในการข่มขู่ผู้ตาย ในขณะผู้ตายนั่งอยู่บนแคร่ จำเลยเดินถืออาวุธปืนเข้าไปหาผู้ตายเพื่อข่มขู่ โดยปากกระบอกปืนชี้ไปหาผู้ตายในระยะใกล้จนผู้ตายสามารถจับปากกระบอกปืนได้ จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่าอาวุธปืนของกลางอาจลั่นถูกผู้ตายถึงแก่ชีวิตได้ แต่จำเลยยังคงกระทำการดังกล่าว เมื่อเกิดการดึงปืนกันจนปืนลั่นถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาฆ่าผู้ตาย หาใช่เป็นการกระทำโดยประมาทไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6936/2562

แม้ก่อนเกิดเหตุผู้ตายทำร้ายจำเลยฝ่ายเดียว ด้วยการชกต่อยและบีบคอจำเลย อันถือว่าภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายได้เกิดขึ้นแล้วก็ตาม แต่หลังจากเด็กชาย ช. วิ่งออกจากบ้านเข้ามาดึงแยกจำเลยออกจากผู้ตายแล้ว จำเลยก็วิ่งเข้าไปในบ้าน ส่วนผู้ตายวิ่งไปที่รถจักรยานยนต์ ถือได้ว่าภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายดังกล่าวที่มีต่อจำเลยได้หมดไปแล้ว จำเลยจะใช้อ้างเพื่อกระทำการป้องกันสิทธิของตนย่อมหมดไปด้วย แม้ขณะที่จำเลยวิ่งกลับเข้าไปภายในบ้านจะได้ยินผู้ตายตะโกนพูดว่า มึงตายแน่ และเมื่อกลับออกมาก็เห็นผู้ตายยืนเปิดเบาะล้วงเข้าไปหยิบของในกล่องใต้เบาะรถจักรยานยนต์ก็ตาม แต่จำเลยกลับออกมาพร้อมถืออาวุธปืนมาด้วยแล้วใช้อาวุธปืนยิงไปที่ผู้ตาย 1 นัด ทันที โดยไม่ปรากฏว่าผู้ตายได้กระทำการใดเลย จำเลยจึงไม่อาจอ้างเหตุความสำคัญผิดในข้อเท็จจริงโดยเข้าใจว่ากล่องใต้เบาะรถจักรยานยนต์ของผู้ตายมีอาวุธปืนอยู่และผู้ตายล้วงลงไปเพื่อนำอาวุธปืนออกมายิงจำเลยได้ แต่การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องจากการที่ถูกผู้ตายชกต่อยและบีบคอฝ่ายเดียว ซึ่งถือว่าเป็นการข่มเหงจำเลยด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมย่อมก่อให้เกิดโทสะแก่จำเลย การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจึงถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ ตาม ป.อ. มาตรา 72


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5299/2562

การที่ผู้เสียหายกับพวกขว้างปาขวดสุราและไม้เข้าไปยังบริเวณที่จำเลยและ ว. หลบซ่อนอยู่โดยจำเลยและ ว. มิได้ก่อเหตุขึ้นก่อน ย่อมเป็นเหตุทำให้จำเลยสำคัญผิดว่าผู้เสียหายกับพวกซึ่งมีจำนวนมากกว่ามีเจตนาประทุษร้ายจำเลยและ ว. อันเป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง จำเลยจึงมีสิทธิกระทำการป้องกันเพื่อให้พ้นจากภยันตรายดังกล่าว แต่ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายกับพวกมีอาวุธร้ายแรงอื่นใดอีก การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายกับพวกย่อมไม่ได้สัดส่วนกับการป้องกันตัวของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุโดยสำคัญผิด เมื่อกระสุนปืนที่จำเลยยิงถูกผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายสาหัส จำเลยมีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นอันเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุโดยสำคัญผิด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5073/2562

คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน รวม 2 กระทง กระทงละ 3 ปี 6 เดือน และฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร รวม 2 กระทง กระทงละ 2 ปี 6 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยตามระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด เพียงแต่พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในเรื่องการรวมโทษจำคุกทุกกระทงเท่านั้น อันเป็นการแก้ไขเล็กน้อย จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า ขณะจำเลยกระทำความผิด จำเลยเป็นคนมีจิตบกพร่องไม่สมประกอบ โดยพิการทางจิตใจ หรือพฤติกรรมประเภท 4 แต่ยังสามารถรู้สึกผิดชอบได้บ้างหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง อันพึงลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่กระทำลงตาม ป.อ. มาตรา 65 วรรคสอง หรือลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยนั้น ก็ปรากฏว่าในชั้นพิจารณาจำเลยให้การรับสารภาพ อีกทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยให้เหตุผลไว้โดยละเอียดแล้วว่าไม่ปรากฏชัดว่าการกระทำความผิดของจำเลยเกิดจากอาการทางจิตของจำเลยกำเริบขึ้น ทำให้จำเลยหย่อนความสามารถรู้สึกผิดชอบหรือหย่อนความสามารถบังคับตนเอง กรณีไม่มีเหตุให้ศาลลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่กระทำลงตาม ป.อ. มาตรา 65 วรรคสอง ฎีกาของจำเลยเท่ากับเป็นการขอให้ศาลฎีกาใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานแตกต่างไปจากศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4083/2562

การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามความใน ป.อ. มาตรา 68 ต้องเป็นภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง หากภยันตรายยังไม่ใกล้จะถึงเสียแล้วย่อมไม่อาจกระทำการเพื่อป้องกันได้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังว่า ว. เพียงเอาอาวุธปืนชูขึ้นเหนือศีรษะและยิงขึ้นฟ้า 1 นัด ซึ่งเห็นชัดเจนว่าเป็นการข่มขู่จำเลยกับพวกเท่านั้น การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงไปยังรถกระบะที่ ว. นั่งอยู่ทันที โดยไม่ปรากฏว่า ว. กระทำการอื่นใดในลักษณะจะทำร้ายพวกจำเลยจึงยังถือไม่ได้ว่าภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงเกิดขึ้น อันจะเป็นเหตุให้จำเลยอ้างเหตุป้องกันได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3493/2562

พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มาตรา 4 บัญญัติว่า ในพระราชบัญญัตินี้ "ผู้พิมพ์" หมายความว่า บุคคลซึ่งจัดการและรับผิดชอบในการพิมพ์ "ผู้โฆษณา" หมายความว่า บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการจัดให้สิ่งพิมพ์แพร่หลายด้วยประการใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขายหรือให้เปล่า "บรรณาธิการ" หมายความว่า บุคคลผู้รับผิดชอบในการจัดทำ และควบคุมเนื้อหาข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ รวมทั้งวัสดุหรือเอกสารที่แทรกในหนังสือพิมพ์โดยความเห็นชอบของบรรณาธิการด้วย จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นการกำหนดความรับผิดของบุคคลผู้เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ต้องรับผิดชอบในการจัดทำและควบคุมเนื้อหาข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ รับผิดชอบในการพิมพ์ และรับผิดชอบในการจัดให้สิ่งพิมพ์แพร่หลายด้วยประการใด ๆ จำเลยที่ 2 ในฐานะบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ ท. จึงต้องรับผิดชอบในการจัดทำและควบคุมเนื้อหาข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ท. มิให้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เมื่อกฎหมายกำหนดให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณามีหน้าที่กระทำการดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยที่ 2 กลับไม่ได้ใส่ใจตรวจสอบ คัดเลือก หรือควบคุมข่าวที่ลงพิมพ์ โดยปล่อยให้มีการตีพิมพ์ข้อความในหนังสือพิมพ์ ท. ที่ไม่เป็นความจริง กระทบสิทธิและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เป็นการไม่รักษาจริยธรรมของสื่อมวลชน อันเป็นการกระทำการโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคท้าย ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดและต้องรับผิดในข้อความที่ลงพิมพ์ หากข้อความนั้นเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ตาม ป.อ. มาตรา 83


ในคดีหมิ่นประมาทซึ่งศาลมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ป.อ. มาตรา 332 (2) ให้อำนาจศาลสั่งให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมด หรือแต่บางส่วนในหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับหรือหลายฉบับ ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา ดังนั้น แม้โจทก์จะมีคำขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันโฆษณาขอโทษโจทก์ในหนังสือพิมพ์ โดยมิได้มีคำขอให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ แต่เมื่อเป็นอำนาจของศาล การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ ท. 3 ครั้ง ภายใน 1 เดือน โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขออันต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 9/2562)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2813/2562

แม้จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลซึ่งเป็นเพียงบุคคลสมมติโดยอำนาจของกฎหมายต้องดำเนินหรือปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์ของบริษัทผู้แทนนิติบุคคลก็ตาม แต่ความรับผิดทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคลยังคงต้องพิจารณาตามหลักทั่วไปโดยต้องปรากฏว่าผู้แทนนิติบุคคลนั้นได้กระทำผิดโดยเจตนาตาม ป.อ. มาตรา 59 เป็นองค์ประกอบสำคัญ คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ประกาศเลิกกิจการและเลิกจ้างก่อนที่จำเลยที่ 2 มีชื่อเป็นกรรมการ ทั้งจำเลยที่ 2 ไม่เคยแสดงตัวและเจตนาเข้าดำเนินงานจัดการแทนจำเลยที่ 1 เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ถูกใช้ชื่อจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้เป็นกรรมการแทน ก. กรรมการคนก่อนระหว่างรอให้การเลิกกิจการและเลิกจ้างมีผลในวันที่ 1 เมษายน 2557 เท่านั้น พยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 และร่วมกับจำเลยที่ 1 ไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่มีการเลิกจ้างให้ลูกจ้าง ฝ่าฝืนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน โจทก์จึงต้องอุทธรณ์ว่า มีข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์อย่างไรที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจและมีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง การที่โจทก์อุทธรณ์เพียงว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 7 นั้น ยังไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาเป็นกรรมการผู้มีอำนาจและร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องอย่างไร


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1597/2562

การกระทำซึ่งจะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.อ. มาตรา 68 ต้องเป็นการกระทำโดยเจตนา จำเลยเอาอาวุธปืนออกมาขู่ผู้ตายและทำปืนลั่นโดยประมาทถูกผู้ตายถึงแก่ความตายไม่ใช่การกระทำโดยเจตนา การกระทำของจำเลยจึงไม่ใช่การป้องกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8731/2561

คืนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ไปยังที่เกิดเหตุพร้อมกับอาวุธปืน เมื่อจำเลยที่ 2 เห็นผู้เสียหายที่บริเวณหน้าบ้านที่เกิดเหตุเข้าใจว่าเป็นพวกของ บ. จำเลยที่ 2 จึงใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นที่พกติดตัวมายิงไปที่ผู้เสียหายนั่งอยู่เพราะสำคัญผิดคิดว่าผู้เสียหายเป็นพวกของ บ. แต่จำเลยที่ 2 ก็จะยกเอาความสำคัญผิดขึ้นมาเป็นข้อแก้ตัวหาได้ไม่ ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาที่จะกระทำต่อพวกของ บ. เช่นใด ก็ต้องรับผิดในผลของการกระทำที่เกิดขึ้นแก่ผู้เสียหายเช่นนั้นตาม ป.อ. มาตรา 61 การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายโดยสำคัญผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7581/2561

การที่จำเลยที่ 3 มีหน้าที่โดยตรงในการควบคุมและดูแลความปลอดภัยของผู้ต้องหาแต่ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากเหตุอันสมควร จึงเป็นการกระทำโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลคือ อันตรายที่อาจเกิดขึ้นแก่ชีวิตของผู้ตาย เมื่อจำเลยที่ 3 กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามภาวะวิสัยและพฤติการณ์และจำเลยที่ 3 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการกระทำโดยประมาท แม้มีเหตุเพลิงไหม้ทำให้เกิดผลคือความตายของผู้ตายด้วย ก็ไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 3 และผลคือความตายของผู้ตายขาดตอนลง เพราะถ้าจำเลยที่ 3 อยู่ปฏิบัติหน้าที่ย่อมช่วยเหลือผู้ตายได้ทันเนื่องจากห้องทำงานของจำเลยที่ 3 อยู่หน้าห้องขังเยาวชนและติดกับห้องขังหญิง ความตายของผู้ตายจึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 3


การที่จำเลยที่ 3 นำสืบต่อสู้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและพยายามช่วยเหลือผู้ต้องหาทั้งสี่อย่างเต็มที่แล้วแต่ไม่สามารถช่วยได้ แสดงให้เห็นว่านอกจากจำเลยที่ 3 จะต่อสู้ว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องแล้วยังนำสืบต่อสู้ด้วยว่าไม่ได้กระทำโดยประมาท ข้อที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าหลงต่อสู้ ทำให้ไม่มีโอกาสนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้กระทำโดยประมาท จึงฟังไม่ขึ้น แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 3 ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องว่า จำเลยที่ 3 เจตนาฆ่าผู้อื่น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ลงโทษตามข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางพิจารณาได้เพราะการกระทำโดยเจตนาและการกระทำโดยประมาทมิใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญและไม่ถือเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8063/2560

การที่จำเลยมาหาผู้ตายที่บ้าน พ. เชื่อว่าเพื่อมาพูดคุยเรื่องที่ผู้ตายโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กตำหนิจำเลย มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยอ้างว่า เหตุที่มาหาผู้ตายที่บ้าน พ. เพราะถูกผู้ตายถีบรถจักรยานยนต์ของจำเลย เพราะเมื่อจำเลยมาถึงบ้าน พ. พ. ได้ยินจำเลยกับผู้ตายโต้เถียงกันเกี่ยวกับการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กที่ผู้ตายด่าทอจำเลย ไม่ใช่โต้เถียงเรื่องที่ผู้ตายถีบรถจักรยานยนต์ของจำเลยแต่อย่างใด กรณีจึงมิใช่ผู้ตายเป็นฝ่ายเริ่มต้นก่อเหตุวิวาททำร้ายจำเลยก่อน แต่พฤติการณ์ที่ผู้ตายบอกจำเลยให้นำกระเป๋าสะพายไปเก็บที่รถจักรยานยนต์ เมื่อจำเลยหันหลังกลับมาผู้ตายหยิบท่อพลาสติกพีวีซีขนาดยาว 3.50 เมตร ด้วยมือทั้งสองข้างตีที่แขนซ้ายและลำคอของจำเลยจนปรากฏรอยเขียวช้ำ แสดงว่าผู้ตายใช้ท่อพลาสติกพีวีซีตีจำเลยโดยแรงและเป็นฝ่ายเริ่มทำร้ายจำเลยก่อน แต่เมื่อพิจารณาอาวุธที่ผู้ตายใช้เป็นท่อพลาสติกกลวง น้ำหนักไม่มาก ไม่สามารถใช้ทำอันตรายแก่ชีวิตได้ในทันทีทันใด และตีเพียง 1 ครั้ง แม้จำเลยจะมีสิทธิป้องกันตนให้พ้นจากภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายของผู้ตายและเป็นภัยที่ถึงตัวแล้ว แต่จำเลยก็สามารถหาวิธีป้องกันภยันตรายให้เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดี การที่จำเลยใช้ปืนพกจ้องเล็งไปที่ลำตัวในระดับหน้าอกของผู้ตายซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญแล้วยิงไป 1 นัด กระสุนปืนถูกผู้ตายบริเวณราวนมด้านซ้าย หัวกระสุนปืนทะลุเข้าหัวใจ ทะลุออกบริเวณใต้ชายโครงด้านซ้ายจึงเป็นกรณีที่จำเลยป้องกันตนเองเกินกว่ากรณีจำเป็นต้องป้องกัน และไม่ใช่เป็นเรื่องที่กระทำไปด้วยความตื่นเต้นตกใจกลัว ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตาย แต่เป็นการกระทำอันเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5486/2560

จำเลยเห็นผู้ตายขณะมีเพศสัมพันธ์กับภริยาจำเลย จึงเข้าไปชกต่อยต่อสู้กับผู้ตาย เมื่อจำเลยเพลี่ยงพล้ำ ภริยาจำเลยและผู้ตายรีบสวมใส่กางเกง แล้วภริยาจำเลยไปติดเครื่องรถจักรยานยนต์และเรียกผู้ตายขึ้นรถ ผู้ตายก็รีบวิ่งไปนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ภริยาจำเลยขับออกไป ดังนี้ ภยันอันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายได้ผ่านพ้นไปแล้ว การที่จำเลยวิ่งตามไปทันทีแล้วใช้ไม้และเสียมตีผู้ตายจึงไม่อาจอ้างว่าเป็นการป้องกันสิทธิของตนได้ แต่อย่างไรก็ตาม การกระทำดังกล่าวต่อเนื่องกระชั้นชิดกับเหตุการณ์ที่จำเลยเห็นผู้ตายมีเพศสัมพันธ์กับภริยาจำเลย ถือได้ว่าจำเลยถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยใช้ไม้และเสียมตีผู้ตายในขณะนั้น จึงเป็นการฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8346/2559

การที่จำเลยร่วมกับพวกรุมเตะผู้ตายเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำที่รวมอยู่ในความผิดฐานฆ่าผู้ตาย จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้ตายอีกบทหนึ่ง คงเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นเพียงบทเดียวเท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6594/2559

จำเลยที่ 3 ขับรถกระบะพาจำเลยที่ 2 มาตามหาผู้เสียหายในเวลาค่ำคืน แล้วใช้อาวุธปืนยิงบริเวณท้ายซอยห่างจากบ้านของผู้เสียหายและจำเลยที่ 1 ประมาณ 500 เมตร 1 นัด และยังใช้อาวุธปืนยิงบริเวณข้างบ้านจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ใกล้บ้านผู้เสียหายและบ้านจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 2 จะอ้างว่า ยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อข่มขู่ แต่เป็นการกระทำโดยไม่มีเหตุสมควรอันเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย การที่จำเลยที่ 1 กลับไปเอาอาวุธปืนลูกซองยาวของบิดาแล้วไปหลบซ่อนตัวกับผู้เสียหาย จะถือว่าจำเลยที่ 1 สมัครใจทะเลาะวิวาทกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 หาได้ไม่ เพราะบริเวณที่จำเลยที่ 1 และผู้เสียหายหลบซ่อนตัว อยู่บริเวณข้างบ้านจำเลยที่ 1 จึงไม่มีความจำเป็นที่จำเลยที่ 1 จะหลบหนีไปที่ใด และมีสิทธิที่จะกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนหากมีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายได้ แม้ขณะที่จำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนยิงในครั้งหลัง จำเลยที่ 2 จะไม่ทราบว่าผู้เสียหายและจำเลยที่ 1 หลบซ่อนบริเวณใด แต่ตามพฤติการณ์ที่ 2 ใช้อาวุธปืนยิงถึงสองครั้งพร้อมทั้งท้าทายให้ผู้เสียหายออกมา ย่อมมีเหตุให้จำเลยที่ 1 เข้าใจได้ว่าหากจำเลยที่ 2 เห็นจำเลยที่ 1 และผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 อาจใช้อาวุธปืนยิงบริเวณที่จำเลยที่ 1 และผู้เสียหายหลบซ่อนก็ได้ จึงถือว่าเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงไปทางจำเลยที่ 2 ทันทีหลังจากที่จำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนยิงในครั้งหลัง ถือได้ว่าเป็นการป้องกันสิทธิของตนโดยชอบด้วยกฎหมายและพอสมควรแก่เหตุ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14689/2558

จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชี มีหน้าที่จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับเงินเดือนของพนักงาน ได้ดำเนินการให้โจทก์ร่วมโอนเงินเดือนเข้าบัญชีเงินฝากของตนเองและ ส. เกินกว่าเงินเดือนที่มีสิทธิได้รับจริง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ใช้โอกาสที่ตนเองเป็นผู้จัดทำบัญชีเงินเดือนของพนักงานทำการแสวงหาประโยชน์ด้วยการปรับแต่งบัญชีเงินเดือนของพนักงาน เพิ่มเงินเดือนให้แก่ตนเองให้มีอัตราสูงกว่าความเป็นจริง ทำให้จำเลยได้รับเงินจากโจทก์ร่วมไปเป็นเงินทั้งสิ้น 466,500 บาท และจำเลยยังได้ปรับแต่งข้อมูลอัตราเงินเดือนของ ส. ให้สูงขึ้น เป็นเหตุให้ ส. ได้รับเงินเกินไปกว่าเงินเดือนที่แท้จริงจำนวน 96,000 บาท แต่เมื่อ ส. นำเงินส่วนที่ได้รับเกินมาดังกล่าวไปคืนให้แก่จำเลย จำเลยก็นำไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยไม่คืนเงินให้แก่โจทก์ร่วม กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยลักเงินของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้างโดยใช้กลอุบายปรับแต่งบัญชีเงินเดือนให้โจทก์ร่วมนำเงินฝากเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยและ ส. เกินกว่าเงินเดือนที่มีสิทธิได้รับ แล้วจำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตน จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ของนายจ้าง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13908/2558

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ก่อให้จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันฆ่า ส. ผู้เสียหายและ อ. ผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ต่อมา จำเลยที่ 1 กับพวกใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายและผู้ตายหลายนัดโดยเจตนาฆ่าและโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเนื่องจากถูกใช้ จ้าง วาน ยุยงส่งเสริมจากจำเลยที่ 2 เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายและผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 2 ขัดแย้งกับผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 มอบอาวุธปืนและบอกให้จำเลยที่ 1 สั่งสอนผู้เสียหาย การมอบอาวุธปืนมีกระสุนปืนหลายนัดให้จำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 2 ว่าให้จำเลยที่ 1 สั่งสอนผู้เสียหายโดยใช้ปืนยิงและย่อมเล็งเห็นได้ว่าหากผู้เสียหายไม่ตายก็ย่อมได้รับบาดเจ็บจากบาดแผลกระสุนปืน จึงเป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำผิดโดยเจตนาตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสอง เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายจึงเป็นการกระทำตามที่จำเลยที่ 2 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ฆ่าผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนแล้ว เมื่อผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้และรับโทษเสมือนตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 289 (4), 80 ประกอบมาตรา 84 วรรคสอง และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยรู้จัก ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ตาย ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 บอกให้จำเลยที่ 1 ไปสั่งสอนผู้เสียหายให้เข็ดหลาบ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ทราบเหตุการณ์ที่ผู้เสียหายนัดหมายผู้ตายมารับเพื่อเดินทางกลับบ้าน ทั้งจำเลยที่ 2 ไม่ได้ติดตามผู้เสียหายและผู้ตายไป ตามพฤติการณ์จำเลยที่ 2 ไม่อาจคาดหมายว่าจำเลยที่ 1 จะใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายด้วย การที่จำเลยที่ 1 ยิงผู้ตายถึงแก่ความตายเป็นการกระทำเกินขอบเขตที่ใช้ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาก่อให้จำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตาย เมื่อตามฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่ทางพิจารณาโจทก์สืบไม่สมฟ้องในความผิดฐานดังกล่าว จึงต้องยกฟ้องในข้อหานี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13262/2558

เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปส่ง บ. ที่บ้านแล้วย้อนกลับไปยังกระท่อมที่เกิดเหตุอีกครั้งหนึ่ง และร่วมกับจำเลยที่ 1 ยกร่างของผู้ตายขึ้นรถกระบะคันเกิดเหตุ ทั้งขณะที่จำเลยที่ 1 นำฟางมาคลุมร่างของผู้ตาย และนำยางในรถยนต์มาวางทับ แล้วตระเตรียมน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นรถกระบะนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็อยู่ในเหตุการณ์ด้วย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมคาดหมายได้ว่าจำเลยที่ 1 จะต้องจุดไฟเผารถกระบะคันเกิดเหตุและร่างของผู้ตายเพื่ออำพรางคดี จากนั้นจำเลยที่ 3 ก็นั่งไปด้วยในรถกระบะที่จำเลยที่ 1 ขับ โดยมีจำเลยที่ 2 ขับรถอีกคันหนึ่งแล่นติดตามไป แล้วจำเลยทั้งสามร่วมกันจุดไฟเผารถกระบะคันเกิดเหตุพร้อมร่างของผู้ตายซึ่งอยู่ในรถดังกล่าว การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันจุดไฟเผารถกระบะคันเกิดเหตุโดยเข้าใจว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว เป็นการกระทำโดยมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จึงไม่มีเจตนาฆ่าผู้ตาย แต่การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 หาได้ใช้ความระมัดระวังตรวจดูให้ดีก่อนว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วหรือไม่ ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยที่ 2 และที่ 3 จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น


ความผิดฐานร่วมกันซ่อนเร้น ย้าย หรือทำลายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย ตาม ป.อ. มาตรา 199 นั้น การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานนี้ ผู้กระทำจะต้องซ่อนเร้น ย้าย หรือทำลายศพซึ่งหมายความถึงร่างกายของคนที่ตายแล้ว แต่เมื่อขณะที่ผู้ตายถูกเผา ผู้ตายยังไม่ถึงแก่ความตาย ร่างกายของผู้ตายในขณะนั้นจึงไม่ใช่ศพ ย่อมไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันซ่อนเร้น ย้าย หรือทำลายศพ อันเป็นองค์ประกอบความผิด การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดฐานดังกล่าว ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และกรณีเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้อุทธรณ์ฎีกาด้วยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6772/2558

การจะลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้หนักขึ้นตามลักษณะฉกรรจ์ตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสองได้ ก็ต่อเมื่อได้ความว่าขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รู้อยู่แล้วว่ารถกระบะของกลางเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 62 วรรคท้าย เมื่อทางพิจารณาได้ความเพียงว่า รถกระบะของกลางเป็นทรัพย์ที่ น. ได้มาจากการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ไม่ปรากฏว่าขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รู้อยู่แล้วว่ารถกระบะของกลางเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการชิงทรัพย์ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสองได้ คงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 เท่านั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 3 ที่ถอนฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6450/2558

ตามฟ้องที่จำเลยให้การรับสารภาพฟังได้ว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยขับรถยนต์บรรทุกพ่วงในทางเดินรถของจำเลย จำเลยไม่ได้ขับล้ำเข้าไปในทางเดินรถสวน ส่วน ร. ขับรถจักรยานยนต์สวนทางมาโดยขับตามหลังรถอีแต๋นที่ บ. เป็นผู้ขับ แต่ ร. ขับแซงขึ้นหน้ารถอีแต๋นล้ำเข้าไปในทางเดินรถของจำเลย เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ที่ ร. ขับชนกับรถจำเลย หาก ร. ไม่ขับรถล้ำเข้าไปในทางเดินรถของจำเลย เหตุรถทั้งสองคันชนกันก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ แม้จะฟังว่าจำเลยมิได้ขับรถชิดขอบทางด้านซ้าย แต่ก็ยังขับอยู่ในทางเดินรถของจำเลย และตามรายงานชันสูตรพลิกศพเอกสารท้ายฟ้องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องระบุว่า ร. ขับรถตัดหน้ารถจำเลยเป็นเหตุให้ชนกัน แล้วรถจำเลยเสียหลักไปชนรถอีแต๋น แสดงว่า ร. ขับแซงขึ้นหน้ารถอีแต๋นในระยะกระชั้นชิดขณะที่รถจำเลยใกล้จะสวนทางกับรถอีแต๋น การที่รถจำเลยเสียหลักพุ่งชนรถอีแต๋น จึงเป็นผลโดยตรงจาก ร. ขับแซงขึ้นหน้าในระยะกระชั้นชิดเข้าไปในทางเดินรถของจำเลย มิใช่ผลโดยตรงที่จำเลยมิได้ขับรถชิดขอบทางด้านซ้ายหรือไม่ชะลอความเร็ว จะถือว่าจำเลยมีส่วนประมาทด้วยหาได้ไม่ เพราะการที่รถจำเลยเสียการควบคุมไปชนรถอีแต๋นเป็นผลจากความประมาทอย่างร้ายแรงของ ร. ที่ขับแซงขึ้นหน้าในระยะกระชั้นชิด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและรับอันตรายแก่กาย ศาลฎีกามีอำนาจยกฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225 แต่การที่จำเลยขับรถยนต์บรรทุกพ่วงซึ่งเป็นรถขนาดใหญ่บรรทุกหินเต็มคันรถด้วยความเร็วสูงในทางแคบ ถือได้ว่าเป็นการขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16867/2557

ก่อนเกิดเหตุผู้ตายทั้งสอง และผู้เสียหายทั้งสี่ข้ามเรือโดยสารจากคลองสานไปท่าเรือสี่พระยา ขณะเรือเทียบท่าเรือสี่พระยา กลุ่มวัยรุ่นประมาณ 10 คน มีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 รวมอยู่ด้วยลงมาที่เรือ มีผู้ชกต่อยเตะถีบโดยมีคนพูดว่าวันนี้เปิดเทอมวันแรก กลุ่มผู้เสียหายข้ามฝั่งมาทำไม ให้ว่ายน้ำกลับไป มีลักษณะข่มขู่ให้โดดลงแม่น้ำ เป็นเหตุให้ผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ตกลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้ตายทั้งสองจมน้ำหายไป ผู้เสียหายทั้งสี่มีผู้ช่วยขึ้นจากน้ำได้ แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกับพวกทำร้ายผู้เสียหายทั้งสี่และผู้ตายทั้งสองจนตกลงไปหรือยอมกระโดดลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยาก็ตาม แต่หากไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วย น่าจะต้องห้ามปรามพวกของตนไม่ให้กระทำเช่นนั้น หรือหากห้ามปรามแล้วไม่ฟัง ก็น่าจะต้องรีบปลีกตัวออกมาทันที อีกทั้งเมื่อผู้เสียหายทั้งสี่และผู้ตายทั้งสองลงไปอยู่ในแม่น้ำแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ออกไปจากที่เกิดเหตุพร้อมกับพวกคนอื่น แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจกับพวกในการกระทำดังกล่าวด้วย แต่ก่อนเกิดเหตุไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 กับผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่มีสาเหตุโกรธเคืองกันรุนแรงถึงขนาดจะต้องฆ่ากันให้ตายและเมื่อผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ลงไปอยู่ในแม่น้ำแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 กับพวก ก็พากันออกมากจากเรือข้ามฟากที่เกิดเหตุ โดยไม่ได้ขัดขวางหรือห้ามไม่ให้ใครเข้าไปช่วยเหลือผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ กรณีมีเหตุให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เพียงแต่มีเจตนาทำร้ายผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ด้วยความคึกคะนองเพื่อให้เกิดความอับอาย โดยมิได้ประสงค์ให้ผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ถึงแก่ความตาย ก่อนที่จะมีคนช่วยเหลือขึ้นมาจากแม่น้ำ ผู้เสียหายทั้งสี่ยังสามารถพยุงตัวลอยอยู่ในน้ำได้ แสดงว่าขณะนั้นแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้ไหลเชี่ยวมากนัก ขณะที่กระทำการดังกล่าวจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ไม่น่าจะเล็งเห็นอยู่แล้วว่าอาจทำให้ผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ถึงแก่ความตายได้ แต่เมื่อการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดผลเกินเจตนา กล่าวคือเป็นเหตุให้ผู้ตายทั้งสองถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ย่อมต้องมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้ตายทั้งสองเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย และฐานร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายทั้งสี่ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16275/2557

แม้ขณะที่จำเลยทำหนังสือ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ในขณะนั้นจะไม่ปรากฏคำว่า "แกนนำ" แต่ก็เป็นถ้อยคำที่ใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายทั้งในสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ และในสังคมไทยที่มีการชุมนุมกันทางการเมืองของกลุ่มต่าง ๆ มากมาย โดยเป็นการนำความหมายของคำว่า "แกน" ซึ่งเป็นคำนามหมายความว่า วัตถุแข็งที่อยู่ตรงกลางของสิ่งอื่นสำหรับยึดให้อยู่ และความหมายของคำว่า " นำ" ซึ่งเป็นคำกริยาหมายความว่า ไปข้างหน้า เช่น นำขบวนหรือออกหน้ามากล่าวรวมกันเป็น "แกนนำ" เพื่อบ่งบอกว่า ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นแกนนำในการชุมนุมกันทางการเมืองนั้น เป็นผู้ทำหน้าที่เป็นหลักยึดเป็นผู้นำให้แก่ผู้ร่วมชุมนุมนั่นเอง ซึ่งต่อมาพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ก็ให้ความหมายในทำนองนี้ว่า "แกนนำ" เป็นคำนามแปลว่า ผู้ที่เป็นหลักในการเจรจาเพื่อดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จึงอาจถือเอาตามความหมายที่รู้และเข้าใจกันในการสื่อสารในสังคมไทยในขณะนั้นเพื่อพิจารณาว่าข้อความที่จำเลยกล่าวนั้นเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่


จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าโจทก์ซึ่งเป็นลูกน้องคนสนิทของ ด. เป็นแกนนำในการจัดกำลังพนักงานพิทักษ์ป่าและเคลื่อนกำลังไปชนกับกลุ่มของ ส. ที่ชุมนุมกันอยู่ ทำให้เกิดความวุ่นวายและความไม่สงบขึ้นกับบ้านเมืองจริงตามข้อความที่จำเลยเขียน ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบยังไม่ชัดแจ้งเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าโจทก์เป็นแกนนำกระทำการดังที่จำเลยกล่าวใส่ความจริง แต่จำเลยสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง จำเลยย่อมได้รับยกเว้นโทษตาม ป.อ. มาตรา 62 ประกอบมาตรา 330 และปัญหาว่า การกระทำของจำเลยได้รับยกเว้นโทษเพราะสำคัญผิดในข้อที่หาว่าหมิ่นประมาท เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14213/2557

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้บัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายเบิกถอนเงินของผู้เสียหายจากตู้เอทีเอ็มของธนาคารโดยสำคัญผิดว่าจำเลยที่ 3 ผู้มอบบัตรเอทีเอ็มและใช้ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำไปเบิกถอนเงินมีสิทธิที่จะใช้บัตรเอทีเอ็มนั้นได้ แม้ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 3 มีสิทธิใช้บัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายไปเบิกถอนเงินที่ตู้เอทีเอ็มของธนาคารจะไม่มีอยู่จริง แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 สำคัญผิดว่ามีอยู่จริง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 62 วรรคแรก จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้อง แต่ต้องถือว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้กระทำผิดโดยอ้อมโดยใช้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นตัวแทนโดยบริสุทธิ์ (Innocent Agent) เป็นเครื่องมือในการกระทำผิดของจำเลยที่ 3 เอง และแม้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำผิด แต่ทางพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้กระทำผิดโดยอ้อมโดยใช้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นตัวแทนโดยบริสุทธิ์เป็นเครื่องมือในการกระทำผิด ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อแตกต่างกับฟ้องในสาระสำคัญ เพราะไม่ว่าจำเลยที่ 3 จะกระทำผิดด้วยตัวเอง หรือเป็นการกระทำผิดโดยอ้อม จำเลยที่ 3 ก็มีสถานะเป็นผู้กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้องเหมือนกัน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกาจึงย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 3 ตามที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11666/2557

จำเลยกับพวกร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบ้านพักอาศัยของผู้เสียหายที่ 1 แล้วชกต่อยผู้เสียหายที่ 2 แสดงว่าจำเลยกับพวกมีเจตนาแต่แรกเพียงที่จะทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 เท่านั้น แต่ภายหลังจำเลยชกต่อยกับผู้เสียหายที่ 2 แล้ว จำเลยเรียก ว. เข้ามายิงผู้เสียหายที่ 2 ในขณะผู้เสียหายที่ 2 ล้มนอนบนพื้น การที่ ว. ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นเจตนาที่เกิดขึ้นภายหลัง การกระทำของจำเลยกับพวกในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นและร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยพลาด กับความผิดฐานร่วมกันบุกรุก จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10895/2557

สาเหตุที่มีการสมัครใจทำร้ายซึ่งกันและกันในเหตุการณ์ตอนแรก สืบเนื่องมาจาก ม. กับพวกเมาสุรามาก ก่อกวนลูกค้าโต๊ะอื่นในร้าน จนฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่หน้าร้านเข้าไปพา ม. มาพูดคุยที่บริเวณหน้าร้าน เกิดการโต้เถียงและทำร้ายกัน การทำร้ายก็มีแต่การชกต่อยและใช้ไม้กระบองหรือวัตถุอื่นตีซึ่งไม่อาจทำให้ถึงแก่ความตายได้ ต่างฝ่ายต่างไม่มีเจตนาทำร้ายให้ถึงแก่ความตายและมิได้มีเจตนาฆ่าแต่อย่างใด ส่วนสาเหตุที่มีการทำร้ายกันในเหตุกาณ์ตอนหลัง ก็มีแต่จำเลยที่ 1 ผู้เดียวต่อย ช. 1 ที กับตีเข่า 1 ที เท่านั้น จำเลยที่ 2 ส. ป. และ ร. ก็ดี จ. และ ม. ก็ดี ไม่ได้ร่วมหรือถูกทำร้ายร่างกายด้วย ซึ่งการที่จำเลยที่ 1 ต่อยและตีเข่า ช. ก็เห็นได้ว่าไม่มีเจตนาทำร้ายให้ถึงแก่ความตายและมิได้มีเจตนาฆ่าแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองพกอาวุธปืนอยู่คนละกระบอกแต่ก็ไม่เคยชักอาวุธปืนออกมาก่อน ช่วงที่ ม. แอบไปเอาอาวุธปืนจากรถกระบะ จำเลยทั้งสองกับพวกไม่รู้เห็นจึงไม่ได้ระวังตัวว่าจะถูก ม. ยิง พฤติการณ์เช่นนี้เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองไม่อาจคาดหมายได้ว่าการที่จำเลยทั้งสองกับพวกทำร้ายร่างกายฝ่าย ม. จะมีผลถึงกับ ม. ต้องใช้อาวุธปืนยิง ย่อมถือไม่ได้ว่าการที่ ม. ใช้อาวุธปืนยิงเป็นผลจากการทำร้ายร่างกายของฝ่ายจำเลยโดยผิดกฎหมาย จำเลยทั้งสองย่อมอ้างเหตุป้องกันกรณีที่จำเลยทั้งสองยิง ม. ได้ ทั้งก่อนที่จำเลยทั้งสองยิง ม. ม. จ่อยิงศีรษะ ส. ล้มทั้งยืน ยิง ร. ล้มลงกับพื้นยิง ป. ล้มลง ซึ่ง ป. ยืนอยู่ทิศทางเดียวกับจำเลยที่ 1 และ ช. กระสุนปืนไม่ถูกจำเลยที่ 1 แต่ถูก ช. พวกของ ม. สลบไป จำเลยทั้งสองจึงยิง ม. ทั้งปรากฏว่าขณะจำเลยทั้งสองยิง ม. อาวุธปืนที่ ม. ใช้ยิงยังมีกระสุนปืนอยู่ทั้งในแม็กกาซีน 2 นัด และในลำกล้อง 1 นัด กระสุนในลำกล้องจะขัดลำกล้องหรือไม่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของจำเลยทั้งสอง เป็นพฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองเห็นว่าหากจำเลยทั้งสองไม่ยิงก็อาจถูก ม. ยิงเอาได้ จำเลยทั้งสองจำต้องยิงเพื่อป้องกันให้พ้นจากการถูก ม. ยิง และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงทั้งพอสมควรแก่เหตุ การที่จำเลยทั้งสองยิง ม. เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10839/2557

การที่จำเลยไปให้ข่าวและหนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวแพร่หลายทั่วจังหวัดลำปางว่า จำเลยซื้อสลากเลขท้าย 3 ตัวตรงหมายเลข 966 ประจำงวดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 แล้วถูกรางวัล โจทก์ร่วมไม่ยอมจ่ายเงินรางวัลให้แก่จำเลย ซึ่งไม่เป็นความจริง ถือเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมโดยมุ่งประสงค์ให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง และการที่จำเลยให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ จำเลยย่อมทราบดีว่าผู้รับข้อความคือผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน อาจนำเสนอข่าวสารที่ได้รับมาเผยแพร่ต่อบุคคลทั่วไป ทั้งข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการถูกเงินรางวัลแต่ไม่ได้รับเงินรางวัลอันเป็นความหวังของบุคคลทั่วไปที่ซื้อสลาก ซึ่งมีลักษณะเป็นเรื่องที่สนใจของประชาชน ถือว่าจำเลยมีเจตนาเล็งเห็นผลได้ว่าผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ต้องนำข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ตามที่จำเลยให้สัมภาษณ์ เมื่อหนังสือพิมพ์นำข้อความที่ให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพ์โฆษณาสมตามเจตนาของจำเลยแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตาม ป.อ. มาตรา 328


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10139/2557

จำเลยทั้งสี่เอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยมีเจตนาเพื่อจะตรวจดูว่าทรัพย์ที่เอาไปนั้นเป็นของจำเลยทั้งสี่ที่ถูกคนร้ายลักไปหรือไม่เท่านั้น มิใช่เป็นการเอาไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น จึงไม่เป็นการกระทำ "โดยทุจริต" ตามบทนิยามความหมายของคำว่า "โดยทุจริต" ใน ป.อ. มาตรา 1 (1) การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์เพราะขาดเจตนาพิเศษเรื่องการกระทำโดยทุจริตดังกล่าว ซึ่งย่อมส่งผลทำให้การกระทำของจำเลยทั้งสี่ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้องไปด้วย และการกระทำของจำเลยทั้งสี่เช่นนี้หาใช่ว่าจำเลยทั้งสี่กระทำโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด ซึ่งถือว่าจำเลยทั้งสี่ไม่มีเจตนากระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสอง ประกอบวรรคสาม ดังคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3142/2557

แม้จำเลยและผู้เสียหายเป็นเจ้าของรวมในสวนยางพาราที่เกิดเหตุ แต่ก่อนเกิดเหตุจำเลยยอมให้ผู้เสียหายครอบครองและได้ประโยชน์เพียงผู้เดียว การที่จำเลยจ้าง ส. เข้าไปกรีดยางพาราจะเอาน้ำยางพาราไปเพียงผู้เดียว จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง ย่อมเป็นการทุจริตแล้ว เมื่อน้ำยางพาราที่กรีดยังอยู่ในถ้วยรองน้ำยางยังไม่ได้ถูกนำไป เป็นเพียงพยายามกระทำความผิดฐานลักทรัพย์


โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำการลักทรัพย์เอง แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้จ้างวานใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด ซึ่งเป็นการแตกต่างในข้อสาระสำคัญ ศาลไม่อาจลงโทษฐานผู้ใช้ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง คงลงโทษได้ในฐานผู้สนับสนุน


การที่จำเลยเข้าใจว่ามีอำนาจทำได้โดยสุจริตและ ส. ก็กระทำโดยเปิดเผย เป็นการอ้างความไม่รู้ข้อกฎหมายของจำเลยในเรื่องนี้ ซึ่งใช้แก้ตัวให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาไม่ได้ตาม ป.อ. มาตรา 64


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21379/2556

แม้ข้อเท็จจริงที่ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคนร้ายที่ขับรถยนต์และใช้ไม้ถูพื้นไล่ตามทำร้ายผู้ตายกับพวก จะแตกต่างจากที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันขับรถยนต์ไล่ชนทำร้ายผู้ตาย แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็เป็นเพียงข้อแตกต่างเกี่ยวกับวิธีการประทุษร้าย อันมิใช่สาระสำคัญแห่งคดี เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความดังกล่าวได้


การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ไล่ทำร้ายผู้ตายกับพวกในระยะกระชั้นชิดโดยถือไม้ถูพื้นชูออกนอกรถยนต์เพื่อข่มขู่ผู้ตายกับพวกไปตลอดทาง โดยมีเจตนาจะทำร้ายผู้ตายกับพวก และผลจากการกระทำดังกล่าวทำให้ผู้ตายต้องขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูงเพื่อหลบหนีการถูกไล่ทำร้ายจนเกิดเหตุชนกับรถยนต์กระบะที่จอดอยู่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้ตายได้รับอันตรายสาหัสและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 290


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13113/2556

จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์โดยมีจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายไปยังบ้านที่เกิดเหตุพร้อมกับ ว. แล้ว จำเลยที่ 2 เรียกชื่อเล่นของ น. ว่า ปู เมื่อผู้ตายตะโกนว่าปูไม่อยู่ ว. ใช้อาวุธปืนยิงไปที่ประตูบ้านถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย จากนั้นจำเลยทั้งสองและ ว. พากันหลบหนีไป ว. ไปถอดหมวกนิรภัยและเสื้อที่สวมใส่ในขณะก่อเหตุที่บ้านของจำเลยทั้งสองก่อนจะหลบหนีไป การกระทำของจำเลยทั้งสองบ่งชี้ว่ามีเจตนาร่วมกระทำความผิดกับ ว. จึงเป็นตัวการร่วมกัน แต่การที่ ว. ใช้อาวุธปืนยิงไปที่ประตูบ้าน 2 นัด หลังจากผู้ตายตะโกนบอกว่าปูไม่อยู่ กระสุนปืนถูกผู้ตายถึงแก่ความตายนั้นเป็นการกระทำที่เล็งเห็นผลได้ว่ากระสุนปืนอาจถูกคนในบ้านถึงแก่ความตายเท่านั้น มิได้ประสงค์ต่อผลโดยตรงที่จะยิงให้ถูก น. เนื่องจากมองไม่เห็นว่า น. อยู่ที่ใด จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองในฐานเป็นตัวการร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน คงลงโทษได้ในฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น โดยบุคคลจะต้องรับโทษหนักขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงใด บุคคลนั้นจะต้องได้รู้ข้อเท็จจริงนั้นตาม ป.อ. มาตรา 62 วรรคท้าย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11683/2556

จำเลยเบิกความว่า จำเลยเข้าใจว่าผู้เสียหายที่ 1 อายุประมาณ 18 ปี ถึง 19 ปี เพราะรูปร่างสูงใหญ่ ซึ่งในข้อนี้ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ผู้เสียหายที่ 1 มีรูปร่างสูงใหญ่กว่าอายุ หากดูภายนอกเพียงผิวเผินอาจเข้าใจได้ว่ามีอายุเกิน 18 ปีแล้ว เจ้าของร้านอาหารริมชีรับผู้เสียหายที่ 1 เข้าทำงานเนื่องจากเข้าใจว่าผู้เสียหายที่ 1 มีอายุเกิน 18 ปี ส่วนผู้เสียหายที่ 3 ก็เบิกความทำนองเดียวกันว่า หากเทียบกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน ผู้เสียหายที่ 1 จะรูปร่างสูงใหญ่กว่าเพื่อน บุคคลทั่วไปมองผู้เสียหายที่ 1 แล้วอาจเข้าใจได้ว่ามีอายุ 17 ถึง 18 ปี จึงเจือสมกับคำเบิกความของจำเลยดังกล่าว นอกจากนี้ยังปรากฏด้วยว่า ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 เคยทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟที่ร้านอาหารริมชีมาก่อนโดยทำงานตั้งแต่เวลา 9 ถึง 19 นาฬิกา อีกทั้งหลังเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 บอกผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ว่านอกจากจำเลยแล้วยังมีชายอื่นกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 อีก 11 คน จึงมีเหตุผลเชื่อได้ว่ารูปร่างและลักษณะของผู้เสียหายที่ 1 ทำให้ผู้พบเห็นเข้าใจว่าผู้เสียหายที่ 1 มีอายุเกินกว่า 18 ปี จำเลยอาจสำคัญผิดว่าผู้เสียหายที่ 1 อายุเกิน 18 ปี ดังที่อ้างก็เป็นได้ หากเป็นเช่นนี้ย่อมเป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดทั้งสองฐานตามฟ้องและทำให้เป็นการกระทำที่ขาดเจตนาตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10879/2556

แม้ผู้เสียหายเข้าไปภายในบริเวณบ้านจำเลย และ ส. เพื่อปรับความเข้าใจเรื่องที่ผู้เสียหายมีปากเสียงกับจำเลย แต่เมื่อ ส. ไล่ให้ผู้เสียหายกลับไป และจำเลยปิดประตูบ้าน จึงเป็นการใช้สิทธิอันชอบธรรมของจำเลย และ ส. ในฐานะเจ้าของบ้านที่จะไล่ให้ผู้เสียหายออกไปจากบริเวณบ้านของตนได้ เมื่อผู้เสียหายไม่ยอมออกไปจากบริเวณบ้าน ถือเป็นการบุกรุกบ้านของจำเลย การที่จำเลยใช้อาวุธมีดโต้ฟันผู้เสียหายจึงเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นจากภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย แต่ผู้เสียหายไม่ได้ใช้อาวุธใดจะทำร้ายจำเลย การที่จำเลยใช้มีดโต้ฟันผู้เสียหายหลายครั้ง จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัส จึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุตาม ป.อ. มาตรา 69


แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288 แต่ความผิดดังกล่าวรวมการกระทำโดยเจตนาทำร้ายด้วยซึ่งเป็นความผิดอยู่ในตัว เมื่อทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายรับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215, 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9285/2556

เมื่อจำเลยสำคัญผิดว่าผู้เสียหายพ้นวัยผู้เยาว์ โดยเข้าใจว่าผู้เสียหายมีอายุเกินกว่า 18 ปี แล้ว จึงเป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเรื่องอายุอันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 318 วรรคแรก การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนากระทำความผิดฐานดังกล่าวตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6581 - 6582/2556

จำเลยออกเช็คให้ผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายรู้ดีว่าขณะที่ออกเช็คนั้น จำเลยไม่อาจชำระเงินตามเช็คได้ แต่จำเลยอยู่ในภาวะที่ต้องออกเช็คเพื่อเป็นหลักประกันแก่ผู้เสียหายในเวลาที่ผู้เสียหายรู้ว่าจำเลยยังไม่มีเงินที่จะมาชำระหนี้แก่ผู้เสียหาย จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยกับผู้เสียหายมีเจตนาใช้เช็คพิพาทเป็นการชำระหนี้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5729/2556

ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 นั้น จำเลยที่ 1 ต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอก คือ (1) ผู้ใด (2) ฆ่า (3) ผู้อื่น กล่าวคือ รู้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการฆ่า และรู้ด้วยว่า วัตถุแห่งการกระทำคือผู้อื่นนั้นยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งปัญหาว่าจำเลยที่ 1 รู้หรือไม่ว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วนั้น โจทก์ไม่ได้ฎีกา และฎีกาโจทก์รับว่าจำเลยที่ 1 เข้าใจว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ทั้งข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลล่างว่าจำเลยที่ 1 พยายามข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายโดยใช้กำลังประทุษร้ายผู้ตายจนหมดสติแล้วนำไปทิ้งที่อ่างเก็บน้ำโดยเข้าใจว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 มิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดว่าผู้ตายยังไม่ถึงแก่ความตาย จะถือว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลไม่ได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงขาดองค์ประกอบความผิดตามความใน ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19960/2555

ขณะจำเลยรับผู้เสียหายเข้าทำงานไม่ได้ตรวจดูหลักฐานเกี่ยวกับอายุของผู้เสียหายก่อน ผู้เสียหายมีรูปร่างโตกว่าเด็กทั่วไปตัวใหญ่และมีส่วนสูงประมาณ 155 เซนติเมตร และเมื่อพิจารณาภาพถ่ายของผู้เสียหายแล้วก็มีรูปร่างสูงใหญ่และลักษณะสูงใหญ่เกินกว่าเด็กหญิงที่มีอายุ 15 ปี โดยทั่วไป เช่นนี้จึงมีเหตุผลที่จำเลยจะเข้าใจโดยสุจริตว่าผู้เสียหายมีอายุ 17 ถึง 18 ปี การที่จำเลยสำคัญผิดเกี่ยวกับอายุของผู้เสียหายนี้เป็นการไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก ประกอบมาตรา 59 วรรคสาม วรรคสอง และวรรคหนึ่ง แม้จะมีบทบัญญัติความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราในมาตรา 276 วรรคแรก แต่เมื่อผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยกระทำชำเรา การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดมาตรา 276 วรรคแรก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18654/2555

จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายหน้าดินจากจำเลยที่ 2 โดยมิได้ระแวงว่าหน้าดินที่จำเลยที่ 2 เสนอขายจะเป็นที่ดินของผู้ใด หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ให้ ว. กับพวก ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เข้าไปขุดดินในที่ดินของโจทก์ร่วมตามสัญญาซื้อขายดังกล่าว อันเป็นการกระทำโดยสุจริต จึงขาดเจตนารบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์และลักทรัพย์ของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดฐานบุกรุกและลักทรัพย์ ส่วนจำเลยที่ 2 นำหน้าดินของโจทก์ร่วมมาขายให้แก่จำเลยที่ 1 จนลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เข้ามาขุดเอาหน้าดินของโจทก์ร่วมไปโดยใช้ยานพาหนะนั้น นับว่าเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองแล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนารบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข เข้าไปในที่ดินของโจทก์ร่วมและเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต โดยกระทำผ่านจำเลยที่ 1 กับพวก แต่เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิด จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย คงฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานบุกรุกและลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16412/2555

วันเวลาเกิดเหตุจำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นหญิงคนรักนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ระหว่างทางได้เกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับล้มลงทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ตกจากรถจักรยานยนต์ได้รับอันตรายสาหัสนอนหมดสติในพงหญ้าข้างทาง แล้วจำเลยหลบหนีไม่ให้ความช่วยเหลือ ทิ้งให้ผู้เสียหายที่ 2 นอนหมดสติในที่เกิดเหตุ เป็นเวลานานถึง 8 วัน และไม่แจ้งให้ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาทราบ จนมีผู้ไปพบผู้เสียหายที่ 2 จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า การงดเว้นไม่ให้ความช่วยเหลือ ผู้เสียหายที่ 2 อาจถึงแก่ความตายได้ เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 59 วรรคท้าย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15335 - 15336/2555

จำเลยที่ 2 ในฐานะวิศวกรผู้ควบคุมงานของห้าง ช. มีหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้างทุกวัน แต่กลับมอบหมายให้ อ. และ ส. ซึ่งไม่ใช่วิศวกรเป็นผู้ควบคุมงานแทน โดยตนเองไปควบคุมงานเพียงเดือนละ 1 ครั้ง ทำให้จำเลยที่ 2 ไม่มีเวลาพอในการอ่านทำความเข้าใจแบบแปลนที่จำเลยที่ 1 ออกแบบไว้โดยไม่สมบูรณ์จึงไม่มีการปรึกษาหารือกันในส่วนของรางน้ำ คานและหัวเสาที่ยังขาดรายละเอียด ซึ่งในฐานะวิศวกรเชื่อว่าจำเลยที่ 2 สามารถรู้ได้ว่ายังขาดรายละเอียดอย่างไรเพื่อจัดการเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ปลอดภัยเมื่อก่อสร้าง จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ย่อมเล็งเห็นผลของการไม่ควบคุมงานทุกวันได้ว่า ย่อมเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่นได้ และก็ได้เกิดขึ้นจริงๆ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 227 แล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10194/2555

ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานไม่ได้ ซึ่งห้ามเฉพาะในคดีแพ่งเท่านั้น ส่วนในคดีอาญาไม่มีบทกฎหมายใดห้ามมิให้นำตราสารดังกล่าวมารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ เมื่อจำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าซื้อขายที่ดินส่วนที่เหลือ โดยมีสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมาแสดง ก็ถือว่าจำเลยทั้งสองออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คพิพาทถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4


จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ความประสงค์หรือเจตนาแสดงออกโดยผู้แทนนิติบุคคล คือจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการผู้มีอำนาจกระทำการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ค่าซื้อที่ดิน โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและประทับตราสำคัญห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 เป็นการร่วมกันกระทำความผิด จำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างได้ว่าไม่มีเจตนาออกเช็คพิพาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9276/2555

ผู้ตายเป็นผู้ก่อเหตุและวิ่งไล่ทำร้าย ร. จากโรงลิเกจนไปถึงที่เกิดเหตุ แล้วใช้มีดฟันแขน ร. ได้รับบาดเจ็บและเตะถีบ ร. จนล้มลงแล้วใช้อาวุธปืนจ่อ ร. พร้อมจะยิงและพูดว่ามึงตายอันเป็นการหมายเอาชีวิต ร. นับว่าเป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายใกล้จะถึงจำเลยได้ห้ามปรามแล้ว แต่ผู้ตายไม่เชื่อฟัง ในสถานการณ์เช่นนั้นการที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายในทันทีทันใดจึงเป็นการยับยั้งการกระทำของผู้ตาย และป้องกันชีวิต ร. ทั้งจำเลยยิงปืนเพียงนัดเดียว ถือได้ว่าจำเลยกระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.อ. มาตรา 68 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น


สำหรับคดีส่วนแพ่งนั้น เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงหาต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 449 วรรคหนึ่ง การที่ผู้ตายเป็นผู้ก่อเหตุดังกล่าวจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ส. มารดาผู้ตายย่อมไม่มีสิทธิดำเนินคดีแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และไม่มีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 ตลอดจนไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5241/2555

การที่จำเลยนำแผ่นซีดีภาพยนตร์ของกลางซึ่งเป็นของเก่า และมีจำนวนเล็กน้อยเพียง 27 แผ่น ออกมาวางจำหน่ายในร้านแผงลอยปะปนกับสินค้าอื่นอย่างเปิดเผยในราคาที่ต่ำกว่าทุนมาก มิได้มีลักษณะของการค้าเพื่อการแสวงหาผลกำไร จึงมีเหตุผลที่น่าเชื่อว่าเป็นเพราะจำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่า การนำเอาแผ่นซีดีภาพยนตร์เก่าออกมาจำหน่ายในลักษณะดังกล่าว มิใช่เป็นการประกอบกิจการในการจำหน่ายภาพยนตร์ซึ่งต้องได้รับอนุญาตนั่นเอง เพราะไม่มีเหตุผลใดเลยที่จำเลยจะต้องมาสุ่มเสี่ยงต่อโทษปรับในอัตราที่สูงเพียงการได้รับค่าตอบแทนที่น้อยมากเช่นนี้ ตามสภาพและพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลย ฟังได้ว่าจำเลยไม่มีเจตนาที่จะประกอบกิจการจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตโดยถูกต้อง จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ปัญหาดังกล่าวแม้จำเลยมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิดก็ชอบที่ศาลฎีกาจะยกฟ้องโจทก์เสียได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9805/2554

การกระทำโดยเล็งเห็นผลนั้นหมายความว่า ผลนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนเท่าที่บุคคลในภาวะเช่นนั้นจะเล็งเห็นได้ มิใช่เพียงเล็งเห็นว่าผลนั้นอาจเกิดขึ้นได้ ได้ความว่าจำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์โดยมีจำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้าย ขณะที่รถจักรยานยนต์ของจำเลยทั้งสองประกบรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 กระชากกระเป๋าสะพายของผู้เสียหายที่แขวนอยู่ที่กระจกรถจักรยานยนต์อย่างแรง ทำให้รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายล้มลงและผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยทั้งสองไม่อาจเล็งเห็นผลได้แน่นอนว่าการกระชากกระเป๋าสะพายของจำเลยที่ 1 จะทำให้รถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายขับล้มลงเพราะรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายอาจจะล้มหรือไม่ล้มก็ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเพียงวิธีการเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปเท่านั้น แม้รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายจะล้มลงเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายอันเป็นผลมาจากแรงกระชากกระเป๋าสะพายของจำเลยที่ 1 ก็หาใช่จำเลยทั้งสองกระทำโดยมีเจตนาเล็งเห็นผลอันถือเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตามความหมายของกฎหมายแต่ประการใดไม่ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตามฟ้อง คงมีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดเท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9693/2554

เมื่อสายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนได้แล้ว ผู้เสียหายกับพวกเข้าไปจับกุมจำเลยทั้งสาม โดยใช้รถยนต์ 2 คัน คันหนึ่งขับไปขวางหน้ารถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เป็นคนขับ และรถยนต์อีกคันหนึ่งที่มีผู้เสียหายนั่งมาด้วยขับไปขวางทางด้านหลัง ผู้เสียหายลงจากรถยนต์มายืนด้านหลังรถยนต์ของจำเลยที่ 1 พร้อมพูดแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อจับกุมด้วยเสียงดัง จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ถอยหลังพุ่งตรงไปทางผู้เสียหาย ผู้เสียหายกระโดดหลบ รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับชนทางด้านหน้าของรถยนต์ พันตำรวจโท ฉ. ที่ขวางอยู่ด้านหลังได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ถอยหลังดังกล่าวย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าหากผู้เสียหายไม่กระโดดหลบรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับอาจชนผู้เสียหายซึ่งยืนอยู่ทางด้านหลังในระยะห่างเพียง 5 เมตร ถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานกระทำตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 289 (2)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7262/2554

ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมทั้งสองเข้าร่วมเป็นโจทก์โดยถือเอาคำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องของโจทก์ร่วมทั้งสองด้วย ซึ่งตามคำฟ้องดังกล่าวระบุว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัส ต้องทุพพลภาพและเจ็บป่วยด้วยอาการทุกขเวทนาและจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน ดังนั้น ที่โจทก์ร่วมทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ร่วมที่ 2 ได้ถึงแก่ความตายภายหลังโจทก์ร่วมทั้งสองยื่นอุทธรณ์แล้ว การตายของโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นความสัมพันธ์และเป็นผลธรรมดาที่เกิดจากการกระทำของจำเลยย่อมเกิดขึ้นได้ตาม ป.อ. มาตรา 63 อันมีผลทำให้จำเลยต้องได้รับโทษหนักขึ้นนั้น เป็นการอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่แตกต่างจากข้อเท็จจริงที่ระบุในฟ้องดังกล่าว จึงเป็นข้อที่มิได้กล่าวในฟ้องและเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2205/2554

การที่จำเลยที่ 1 ยินยอมไปซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยที่ 2 มาให้เจ้าพนักงานตำรวจครั้งนี้ก็เพราะหวังค่าจ้าง ซึ่งไม่ว่าค่าจ้างนั้นจะเป็นกรณีตามที่โจทก์นำสืบว่าค่าจ้าง คือ แบ่งเมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวนครึ่งเม็ดหรือไม่มีค่าจ้าง จำเลยที่ 1 คงจะไม่ไปดำเนินการซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยที่ 2 มาให้ และการที่เจ้าพนักงานตำรวจให้จำเลยที่ 1 ไปซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 2 เช่นนี้ ถือเป็นการอาศัยจำเลยที่ 1 เป็นเครื่องมือ เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งเป็นผู้เริ่มมิใช่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เริ่มในการไปซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 2 ส่วนการที่เจ้าพนักงานตำรวจมอบธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อให้จำเลยที่ 1 ก็ดี หรือการที่จำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนของกลางมามอบให้เจ้าพนักงานตำรวจก็ดี เป็นวิธีการอย่างหนึ่งของเจ้าพนักงานตำรวจที่เคยให้สายลับไปดำเนินการ ซึ่งโดยปกติเจ้าพนักงานตำรวจก็มักจะให้ค่าตอบแทนแก่สายลับ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของการสืบสวนของเจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยที่ 1 จึงอยู่ในสถานะเดียวกับสายลับ ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนากระทำความผิด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2021/2554

จำเลยใช้มีดขนาดยาวประมาณ 1 ช่วงแขนฟันผู้เสียหายที่ไหล่ขวาขณะหันหลังวิ่งหนี และฟันอย่างแรงจนเกิดบาดแผลยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ลึกประมาณ 4 เซนติเมตร ลักษณะการฟันลงเช่นนี้ส่อว่าจำเลยเลือกจะฟันศีรษะแต่พลาดไปโดนไหล่ขวาแทน จำเลยย่อมต้องเล็งเห็นแล้วว่าหากฟันถูกศีรษะหรือลำคอที่เป็นอวัยวะสำคัญจะทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยจึงมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1644/2554

โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยใช้อาวุธมีดของกลางฟันผู้เสียหายขณะผู้เสียหายกำลังจะแย่งมีดจากจำเลย และเมื่อได้ความว่าบาดแผลของผู้เสียหายไม่ร้ายแรงมากนักจึงเชื่อว่าจำเลยฟันผู้เสียหายไม่รุนแรง ประกอบกับไม่ได้ความว่าบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยใช้อาวุธมีดของกลางฟันผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่า ข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่าจำเลยใช้อาวุธมีดฟันทำร้ายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัสเท่านั้น


ส่วนปัญหาว่าจำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าภายหลังจำเลยมีปากเสียงทะเลาะกับผู้เสียหายและพวกผู้เสียหายแล้ว จำเลยได้ขับรถยนต์ออกไปและกลับมาใหม่พร้อมด้วยอาวุธมีดของกลางและตรงเข้ามาทำร้ายผู้เสียหายเช่นนี้ จำเลยย่อมมีเวลาคิดไตร่ตรองและตัดสินใจ การกระทำดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำเลยมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัสโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1643/2554

ตามพฤติการณ์ที่ผู้ตายยืนร้องตะโกนด่าอยู่หน้าบ้านแล้วจำเลยที่ 2 ออกไปแย่งอาวุธปืนแล้วตีศีรษะผู้ตายโดยแรงทันที แม้ข้างศพผู้ตายจะมีมีดปลายแหลมตกอยู่โดยจำเลยที่ 2 อ้างว่าเมื่อแย่งอาวุธปืนจากผู้ตายแล้วผู้ตายชักอาวุธมีดจะแทงจำเลยที่ 2 แต่การที่จำเลยที่ 2 ตะโกนว่า "ทนไม่ไหวแล้วโว้ย" แล้ววิ่งเข้าไปแย่งอาวุธปืนจากผู้ตายอันมีลักษณะเหมือนจะทำร้ายผู้ตาย จึงมีสภาพเสมือนจำเลยที่ 2 สมัครใจเข้าไปวิวาทกับผู้ตาย ไม่อาจยกเอาการป้องกันสิทธิของตนขึ้นอ้างเพื่อลบล้างความผิดของตนได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1260/2554

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบ มาตรา 80, 83 จำคุก 5 ปี ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมมีกำหนด 4 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ส่งจำเลยไปฝึกและอบรมมีกำหนดขั้นต่ำ 2 ปี ขั้นสูง 3 ปี กรณีเป็นการแก้ไขเฉพาะระยะเวลาการฝึกอบรมซึ่งไม่ใช่โทษตาม ป.อ. มาตรา 18 จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและต้องถือว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 183 และมาตรา 6 ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว


เจตนาฆ่าโดยเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น ผู้กระทำต้องเล็งเห็นผลของการกระทำแล้วว่าจะทำให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตายได้ ซึ่งเป็นผลที่เห็นได้ชัดว่าจะเกิดขึ้น มิใช่เพียงแค่อาจจะเกิดขึ้นเท่านั้น การที่จำเลยกับพวกร่วมกันถีบรถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายทั้งสองขับด้วยความเร็ว 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมงซึ่งเป็นความเร็วไม่มาก ทำให้ผู้เสียหายทั้งสองไถลไปตามไหล่ทางที่มีหญ้าขึ้นปกคลุม และได้รับบาดแผลถลอกเป็นส่วนใหญ่ คงมีแต่ผู้เสียหายที่ 2 ที่นิ้วมือขวาฉีกด้วยเท่านั้น จึงเป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าจำเลยเพียงเจตนาทำร้ายเท่านั้น


แม้จำเลยจะฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย หากศาลฎีกาเห็นว่าศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยหนักเกินไปย่อมมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยให้เหมาะสมแก่ความผิดโดยรอการลงโทษให้ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 935/2554

การที่จำเลยพกมีดปลายแหลมไปตามหาผู้เสียหายที่บ้าน เพราะโกรธผู้เสียหายที่ไปทำร้าย ส. บุตรเขยจำเลย เมื่อผู้เสียหายได้ยินจึงเดินออกจากบ้าน แล้วต่างฝ่ายต่างเดินเข้าหากัน ผู้เสียหายชกต่อยจำเลยไป 1 ครั้ง ขณะเดียวกันจำเลยก็ใช้มีดปลายแหลมแทงผู้เสียหายหลายครั้ง ตามพฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยสมัครใจวิวาทกับผู้เสียหาย จะอ้างเหตุว่าจำต้องกระทำเพื่อป้องกันตัวไม่ได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 864/2554

ในวันเกิดเหตุตอนเช้าเวลาประมาณ 10 นาฬิกา จำเลยที่ 1 มีเหตุชกต่อยกับผู้ตายมาก่อน มีอาจารย์เข้ามาห้ามแต่จำเลยที่ 1 กับพวกก็ยังคงไม่ยุติ ออกติดตามหากลุ่มของผู้ตายต่อไป แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 กับพวก ยังต้องการพบผู้ตายด้วยสาเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด มิฉะนั้นคงไม่ออกติดตามจนกระทั่งมาพบผู้ตายตอนเย็นจำเลยที่ 1 ก็เดินเข้าไปหาผู้ตายทั้งๆ ที่ก็ทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 กับผู้ตายมีเหตุทะเลาะวิวาทกันในตอนเช้า การเดินเข้าไปหาผู้ตายในลักษณะดังกล่าวนั้น ย่อมเล็งเห็นผลแล้วจะต้องเกิดเหตุทะเลาะวิวาทอย่างหนึ่งอย่างใดอย่างแน่นอน ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่ควรเข้าไปหาผู้ตายก่อน เพราะผู้ตายก็ยังมิได้ทำอะไรจำเลยที่ 1 ส่วนเหตุการณ์ในตอนเช้ายุติไปแล้วไม่มีเหตุการณ์ใดๆ ที่จำเลยที่ 1 จะต้องเดินเข้าไปหาผู้ตายอีกการที่จำเลยที่ 1 เดินเข้าไปหาผู้ตายโดยมีอาวุธปืนติดตัวเตรียมพร้อมมาด้วยจึงไม่มีทางฟังเป็นอย่างอื่น นอกจากต้องการมีเรื่องกับผู้ตายอีก การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการสมัครใจทะเลาะวิวาทกับผู้ตาย และเมื่อเป็นการสมัครใจวิวาทซึ่งกันและกันแล้ว การที่ผู้ตายยิงจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ก็ยิงผู้ตายเช่นเดียวกัน จึงหาอาจอ้างว่าเป็นการป้องกันตัวได้ไม่ ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น


อย่างไรก็ตามการที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ภายหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 หยิบอาวุธปืนจากจำเลยที่ 1 แล้ววิ่งออกจากที่เกิดเหตุไป จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นเหตุการณ์คนละตอนกับความผิดตามฟ้องโจทก์ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาวินิจฉัยและพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมานั้น ย่อมเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง อันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยที่ 2 มิได้ฎีกาและความผิดดังกล่าวยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 246/2554

พวกผู้เสียหายทั้งสองขับรถจักรยานยนต์ติดตามจำเลยกับพวกไปโดยมีไม้ปลายแหลมและสนับมือติดตัวไปด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าพวกของผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์เพื่อติดตามจำเลยกับพวกไปเพราะประสงค์จะไปหาเรื่องกับจำเลยเมื่อผู้เสียหายทั้งสองกับพวกติดตามจำเลยกับพวกจนทันแล้ว ผู้เสียหายทั้งสองกับพวกจะเข้ามาทำร้ายจำเลย พวกผู้เสียหายมีอาวุธติดตัวและมีจำนวนคนมากกว่าจำเลยกับพวกย่อมกลัวพวกผู้เสียหายทั้งสองจะใช้อาวุธดังกล่าวทำอันตราย จึงเป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย จำเลยจำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นภยันตรายอันใกล้จะถึง แต่การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงออกไปถึง 6 นัดนับว่าเป็นการป้องกันสิทธิของตนเกินสมควรแก่เหตุ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 69/2554

จำเลยใช้อาวุธปืนยิงเข้าไปในห้องที่ผู้เสียหายนอนอยู่ กระสุนปืนถูกที่แขนของผู้เสียหาย กระดูกต้นแขนซ้ายหัก จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่าอาวุธปืนดังกล่าวเป็นอาวุธร้ายแรงสามารถใช้ยิงคนถึงแก่ความตายได้ แม้จะยิงผ่านฝาหรือประตูห้องเข้าไปถ้าถูกอวัยวะที่สำคัญก็ถึงแก่ความตายได้ เมื่อกระสุนปืนไม่ถูกอวัยวะสำคัญและผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15397/2553

ยาเสพติดให้โทษที่จำเลยนำมาเพื่อจำหน่าย 20 เม็ด เป็นจำนวนเดียวกันกับที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 141 เม็ด การที่จำเลยแบ่งแยกออกมาจากจำนวนเดียวกันเพื่อนำไปจำหน่ายโดยยังไม่มีการจำหน่ายนั้น เป็นเจตนาเดียวกับที่จำเลยมีอยู่เดิมแล้ว ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยเป็นการครอบครองยาเสพติดให้โทษเพื่อจำหน่ายอีกกรรมหนึ่งต่างหาก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12852/2553

ที่ดินที่เกิดเหตุซึ่งโจทก์ร่วมอ้างว่ามีสิทธิครอบครองไม่มีเอกสารสิทธิใดๆ และอยู่นอกเขตโฉนดที่ดินของโจทก์ร่วม มีสภาพเป็นป่าพรุ มีต้นไม้ขึ้นตามธรรมชาติ มีร่องน้ำไหลผ่านออกสู่ทะเลได้ แม้ที่เกิดเหตุมิได้จดทะเบียนเป็นที่สาธารณะหรือออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง แต่ที่เกิดเหตุอาจเป็นที่สาธารณะได้หากเป็นทรัพย์สินที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1304 การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านเชื่อโดยสุจริตว่าที่เกิดเหตุเป็นที่สาธารณะอันเป็นทรัพย์สินของส่วนรวม จึงใช้ให้จำเลยที่ 2 กับพวกเข้าไปปลูกต้นมะพร้าวในที่เกิดเหตุโดยมีเจตนาป้องกันมิให้โจทก์ร่วมบุกรุกเข้าถือครองที่เกิดเหตุ มิได้มีผลประโยชน์แอบแฝง การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงขาดเจตนายังไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันบุกรุก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10497/2553

ผู้ตายเมาสุราก่อเหตุขึ้นก่อน โดยพูดจาทำนองหาเรื่องจำเลยเมื่อจำเลยเดินหนีไม่ตอบโต้ ผู้ตายยังเดินตามและใช้ไม้ตีจำเลยที่หลัง 1 ครั้ง แล้วผู้ตายจะใช้ไม่ตีจำเลยอีก นับเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ การที่จำเลยหันกลับมาชกผู้ตายซึ่งอยู่ในระยะประชิดเพื่อป้องกันตัวแม้จะเป็นการชกโดยแรงแต่ก็เป็นการชกเพียงครั้งเดียว และเมื่อจำเลยชกผู้ตายล้มลงจำเลยก็ไม่ได้ชกผู้ตายซ้ำอีก การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุและไม่เกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 68


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8943/2553

การที่จำเลยขับรถด้วยความเร็วไล่ติดตามชนรถจักรยานยนต์ 3 คัน ของฝ่ายผู้เสียหายโดยขับไล่ชนทีละคัน คันแรก ฟ. หลบหนีลงข้างทางได้ทัน จึงหันมาไล่ชนรถจักรยานยนต์ของ ส. เมื่อ ส. ขับหนีเข้าซอยไปได้ ก็หันมาไล่ชนรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายซึ่งหนีไม่ทันถูกชนท้ายรถจนผู้เสียหายกระเด็นตกจากรถจักรยานยนต์ส่วนรถจักรยานยนต์กระเด็นกระแทกจนถังน้ำมันรั่วมีรอยน้ำมันหกไปตามทางที่รถจักรยานยนต์ไถลไป ส่วนผู้เสียหายตกจากรถแล้วกระเด็นข้ามไปอยู่ในช่องเดินรถสวนอย่างเร็วจนรถแท็กซี่ที่สวนมาห้ามล้อไม่ทันเฉี่ยวชนซ้ำอีก พฤติการณ์ที่จำเลยขับรถติดตามรถจักรยานยนต์ฝ่ายผู้เสียหายมาอย่างกระชั้นชิดด้วยความเร็วและไล่ชนทีละคันเมื่อไล่ทันรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายก็พุ่งชนอย่างแรง ซึ่งรถจำเลยมีขนาดและแรงปะทะมากกว่ารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่า จำเลยเล็งเห็นผลได้ว่าอาจทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ นอกจากนี้เมื่อชนแล้วจำเลยยังลงจากรถพร้อมถือมีดเหวี่ยงไปมาทำท่าไล่ฟันผู้เสียหายจนต้องรีบพยุงกันหนีขึ้นรถแท็กซี่ไปทันที แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8033/2553

นายอำเภอท่ายางออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) สำหรับที่ดินพิพาทให้แก่ ม. และ ย. ในปี 2520 ในที่ดินพิพาทมีโรงสีและบ้านของ ม. ปลูกสร้างอยู่โดยไม่มีชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ใดๆ ในที่ดินพิพาทในลักษณะที่เป็นสาธารณะมานานแล้ว ย่อมเป็นเหตุให้จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่า ม. และ ย. มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและจำเลยยอมเสียค่าตอบแทนเป็นเงินถึง 120,000 บาท ในการซื้อที่ดินพิพาทจาก ม. และ ย. ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่มีเจตนาที่จะบุกรุกที่ดินอันเป็นสาธารณประโยชน์แต่อย่างใด ถึงแม้ต่อมาจำเลยจะได้ทราบจากหนังสือของนายอำเภอท่ายางว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของศาลาสระน้ำหนองขานางสาธารณประโยชน์ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก็เป็นเพียงหลักฐานที่ยังยันกันอยู่กับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่เป็นเอกสารสิทธิของที่ดินพิพาท ทั้งจำเลยก็มิได้ออกจากที่ดินที่พิพาทและกลับเข้าไปยึดถือครอบครองใหม่ แต่ครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเดียวกันตลอดมาโดยจำเลยเข้าใจมาแต่ต้นว่าตนมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทซึ่งไม่อาจถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาบุกรุกที่ดินพิพาท การที่จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมาด้วยเจตนาเดิมและด้วยการกระทำที่ไม่เป็นความผิดมาตั้งแต่แรก จึงไม่อาจถือว่าจำเลยเกิดเจตนาบุกรุกขึ้นมาใหม่หลังจากทราบจากนายอำเภอท่ายางว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7235/2553

กรณีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 299 นั้น ต้องเป็นการชุลมุนต่อสู้กันระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และมีบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และมีบุคคลได้รับอันตรายสาหัสโดยไม่ทราบว่าผู้ใดหรือผู้ใดร่วมกับใครทำร้ายจนได้รับอันตรายสาหัส แต่หากสามารถรู้และแบ่งฝ่ายแบ่งพวกกันได้ ทั้งรู้ว่าผู้ใดหรือฝ่ายใดเป็นผู้ลงมือทำร้ายย่อมลงโทษผู้นั้นกับพวกได้ตามเจตนาและผลของการกระทำ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่าจำเลยกับพวกฝ่ายหนึ่งและผู้เสียหายกับพวกฝ่ายหนึ่งวิวาทต่อสู้กัน แล้วพวกของจำเลยเป็นผู้ใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ย่อมมิใช่กรณีตาม ป.อ. มาตรา 299 และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ที่ใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหาย คือ น. ซึ่งเป็นพวกของจำเลยที่เข้าร่วมในการทะเลาะวิวาทกับผู้เสียหายด้วย จำเลยซึ่งมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายย่อมต้องรับผลอันเป็นธรรมดา ย่อมเกิดขึ้นจากการนั้นในฐานเป็นตัวการแม้มิได้เป็นผู้ลงมือใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายด้วยตนเองก็ตาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7227/2553

คำเบิกความและคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยได้ความว่า ผู้ตายชอบเล่นอาวุธปืน บางครั้งเอากระสุนปืนออกจากลูกโม่แล้วมาจ่อยิงที่ศีรษะตนเองหรือผู้อื่นเพื่อล้อเล่น ในวันเกิดเหตุผู้ตายก็เอาอาวุธปืนมาเล่นอีก แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าขณะที่ผู้ตายเอาอาวุธปืนมาจ่อที่ศีรษะตนเองแล้วจำเลยเข้าแย่งเป็นเหตุให้ปืนลั่นนั้น ผู้ตายจะยิงตนเองหรือผู้ตายเมาสุราจนไม่ได้สติแต่อย่างใด ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยรู้หรือไม่ว่าอาวุธปืนดังกล่าวบรรจุกระสุนปืนหรือไม่ ดังนั้น การที่จำเลยเข้าแย่งอาวุธปืนในสถานการณ์ดังกล่าวถือว่าจำเลยกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ อันเป็นการกระทำโดยประมาทตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสี่


การที่จะอ้างว่าเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นได้นั้น ต้องเป็นเรื่องการกระทำผิดโดยเจตนา แต่คดีนี้จำเลยกระทำความผิดโดยประมาทจึงมิใช่เป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7650/2553

จำเลยจะไม่ยกข้อต่อสู้ว่าจำเลยกระทำโดยป้องกันสิทธิของตนพอสมควรแก่เหตุขึ้นว่ากล่าวมาแต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จึงไม่ต้องห้ามที่จำเลยจะยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


จำเลยขึงเส้นลวดและปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้บริเวณหน้าต่างห้องพักของจำเลยเพื่อป้องกันขโมยเข้ามาลักทรัพย์ในห้องพักของจำเลย จึงเป็นเหตุให้เด็กชาย ก. บุตรเลี้ยงของจำเลยซึ่งลักลอบปีนหน้าต่างเพื่อเข้าไปลักทรัพย์ในห้องพักของจำเลยถูกกระแสไฟฟ้าช็อตถึงแก่ความตาย แม้การกระทำของผู้ตายจะถือเป็นการประทุษร้ายอันเป็นละเมิดต่อกฎหมายและต่อทรัพย์สินของจำเลยที่จำเลยมีสิทธิที่จะป้องกันทรัพย์สินของตนได้ แต่พฤติการณ์ที่จำเลยต่อและปล่อยกระแสไฟฟ้าแรงสูงถึง 220 โวลต์ ไปตามเส้นลวดที่ไม่มีฉนวนหุ้มนั้นย่อมเป็นอันตรายร้ายแรงโดยสภาพที่สามารถทำให้ผู้อื่นที่ไปสัมผัสถูกถึงแก่ความตายได้ ดังนั้น แม้จะเป็นการป้องกันคนร้ายที่จะเข้ามาลักทรัพย์สินในห้องพักของจำเลยและทำร้ายจำเลยกับภรรยาได้ แต่การกระทำของจำเลยก็เป็นการเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ตาม ป.อ. มาตรา 69


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7139/2553

ขณะเกิดเหตุจำเลยเหน็บอาวุธปืนพกไว้ที่เอวอยู่ก่อนแล้ว เมื่อจำเลยตาม โจทก์ร่วมออกมาที่รถดึงประตูด้านคนขับเปิดนั้น จำเลยมีโอกาสดีที่จะชักอาวุธปืนที่เหน็บที่เอวออกมายิงใส่โจทก์ร่วมซึ่งจะสามารถฆ่าโจทก์ร่วมได้โดยง่ายแต่จำเลยไม่ได้ทำ แสดงว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่าโจทก์ร่วมมาแต่แรก จำเลยจึงไม่ได้ชักอาวุธปืนยิงเมื่อมีโอกาสดีดังกล่าว อย่างไรก็ดีจำเลยได้ยิงเมื่อโจทก์ร่วมขับรถออกไปซึ่งเป็นการยิงตามหลังรถ กระสุนถูกตัวถังรถที่ฝากระบะท้าย 1 นัด อีก 1 นัด มีรอยที่ตัวถังด้านข้างเกือบจะถึงขอบรอยต่อกับส่วนห้องผู้โดยสารด้านหน้าที่เรียกว่าแคปหรือที่ว่างให้คนโดยสารนั่งหรือไว้ของด้านหลังเบาะคนขับ รูกระสุนที่ฝากระบะท้ายอยู่ต่ำกว่าขอบบนกระบะ 12 เซนติเมตร และรอยที่ตัวถังด้านข้างต่ำกว่าขอบบนกระบะ 14 เซนติเมตร ถือได้ว่าอยู่ในแนวเดียวกัน เหนือขอบบนกระบะเป็นโครงหลังคาและกระจก โอกาสที่กระสุน 2 นัดที่จำเลยยิงจะถูกโจทก์ร่วมแทบจะไม่มีเลย หากจำเลยต้องการจะให้กระสุนถูกโจทก์ร่วมต้องยิงผ่านกระจกเพราะกระสุนทะลุกระจกได้ง่ายพอจะมีโอกาสไปถูกโจทก์ร่วมได้ แต่จำเลยยิงระดับเดียวกันทั้งสองนัดที่ตัวถังรถ น่าจะเป็นการตั้งใจยิงรถที่ตัวถังรถเพื่อระบายความโกรธ พฤติการณ์ยิงปืนพก 2 นัด ของจำเลยไม่เพียงพอจะชี้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าโจทก์ร่วม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5904/2553

จำเลยใช้อาวุธปืนยิงสวนผู้เสียหายไปในทันทีทันใดในท่านอนตะแคง โดยไม่มีโอกาสเลือกยิงจุดสำคัญของร่างกายผู้เสียหาย เมื่ออาวุธปืนโดยสภาพย่อมเป็นอาวุธที่ใช้ทำอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ในทันทีทันใด ประกอบกับกระสุนปืนก็ถูกที่บริเวณใบหน้าซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงไปที่ผู้เสียหายในระยะใกล้ประชิดติดตัวก็ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่ากระสุนปืนจะต้องถูกผู้เสียหายให้ได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เมื่อผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย หาใช่ไม่มีเจตนาฆ่า และเป็นเพียงความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัสไม่ อย่างไรก็ตามเมื่อจำเลยถูกผู้เสียหายใช้ไม้ตีทำร้ายก่อนซึ่งจำเลยย่อมมีสิทธิป้องกันตัวได้ แต่เมื่อไม้ดังกล่าวมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว และเมื่อตีถูกจำเลยแล้วไม้ดังกล่าว ก็หักทันที อีกทั้งไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายจะกระทำการอย่างใดอื่นอีกที่ส่อแสดงให้เห็นอย่างแจ้งชัดว่ามีเจตนาจะทำร้ายจำเลยเพิ่มเติมให้หนักขึ้นกว่าเดิม การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงสวนไปที่ผู้เสียหายในขณะนั้น โดยมีโอกาสที่จะหยุดยั้งการกระทำของผู้เสียหายได้โดยวิธีอื่นอีก พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมถือได้ว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุอันจะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.อ. มาตรา 69 แต่เป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุตาม ป.อ. มาตรา 69


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5544/2553

ผู้ตายเป็นฝ่ายก่อเหตุทำร้ายจำเลยก่อน ถือได้ว่าการกระทำของผู้ตายเป็นภยันตรายต่อจำเลยซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายแล้ว เมื่อจำเลยพยายามหลีกเลี่ยงการต่อสู้โดยวิ่งหลบหนี แต่ผู้ตายซึ่งถือขวดกับพวกยังคงวิ่งไล่ตามจำเลยและผู้ตายจะขว้างขวดใส่จำเลย อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน หากผู้ตายขว้างขวดใส่จำเลยอาจทำให้จำเลยได้รับอันตรายได้ หรือหากวิ่งทันจำเลยก็อาจทำร้ายจำเลยได้ ภยันตรายที่เกิดจากผู้ตายจึงยังไม่หมดไป จำเลยย่อมมีสิทธิป้องกันตัวได้แต่จำเลยมีอาวุธปืนที่ร้ายแรงกว่า จำเลยจึงอาจยิงขู่หรือเลือกยิงร่างกายส่วนที่สำคัญน้อยหรือเป็นอันตรายน้อยเพื่อยังยั้งผู้ตายกับพวกมิให้เข้าทำร้ายจำเลย แต่จำเลยกลับยิงผู้ตายบริเวณหน้าอกอันเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันเกินกว่ากรณีจำต้องกระทำเพื่อป้องกันตาม ป.อ. มาตรา 69


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2869/2553

ก่อนเกิดเหตุจำเลยขับรถยนต์กระบะแซงรถจักรยานยนต์ของ ป. ล้ำเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนเข้าไปในช่องเดินรถของผู้ตาย ขณะเดียวกันผู้ตายก็ขับรถจักรยานยนต์ล้ำเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนเข้าไปในช่องเดินรถของจำเลยประมาณ 50 เซนติเมตร เป็นเหตุให้รถชนกันเช่นนี้ จำเลยจึงขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นได้รับความเสียหายและผู้อื่นถึงแก่ความตาย แม้ผู้ตายมีส่วนประมาทด้วยก็ไม่ทำให้จำเลยพ้นความรับผิดไปได้


ผู้ตายมีส่วนประมาทอยู่ด้วยจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย สำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) มารดาของผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2865/2553

ผู้กระทำผิดซึ่งเป็นผู้ถูกข่มเหงจะอ้างเหตุบันดาลโทสะได้จะต้องกระทำต่อผู้ข่มเหง ตามข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่า ป. ได้ข่มเหงหรือร่วมกับ น. ข่มเหงจำเลยแต่อย่างใด จำเลยจะใช้อาวุธปืนยิง น. แต่กระสุนปืนไปถูก ป. ซึ่งอยู่ด้านหน้าของ น. จำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำได้ว่ากระสุนปืนที่จำเลยยิงออกไปนั้นจะถูก ป. ที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการกระทำโดยพลาดตาม ป.อ. มาตรา 60 จำเลยจะอ้างว่าจำเลยเจตนาฆ่า น. ด้วยเหตุบันดาลโทสะแต่ผลของการกระทำเกิดแก่ ป. โดยพลาดไป จึงต้องถือว่าจำเลยเจตนาฆ่า ป. ด้วยเหตุบันดาลโทสะด้วยไม่ได้ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเจตนาฆ่า ป. แต่ ป. มิได้เป็นผู้ข่มเหงจำเลย จำเลยจึงไม่อาจอ้างเหตุบันดาลโทสะได้ แม้จะได้ความจากทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า เมื่อ ป. ถูกจำเลยยิงล้มลง น. วิ่งหนีจำเลยใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิง น. ถึงแก่ความตายด้วยเหตุบันดาลโทสะก็ตามก็เป็นคนละตอนและคนละเจตนาแยกต่างหากจากกันกับที่จำเลยยิง ป.


จำเลยใช้อาวุธปืนจ้องยิงผู้เสียหาย 2 นัด จำเลยลงมือกระทำความผิดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลเพราะกระสุนปืนด้าน จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2745/2553

ขณะ บ. ใช้อาวุธปืนเล็งไปที่ผู้ตาย จำเลยที่ 2 พูดกับ บ. ว่า ยิงเลยๆ แล้ว บ. ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการยุยงส่งเสริมให้ บ. ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย เมื่อ บ. ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจนถึงแก่ความตายและกระสุนปืนยังถูกผู้เสียหายได้รับอันตายสาหัส จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288 และมาตรา 288, 80, 60 ประกอบมาตรา 84


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2550/2553

ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน จำเลยนอนในเปลที่ขนำในนากุ้งเพื่อเฝ้าดูแลรักษาทรัพย์สินของตน เมื่อจำเลยเห็นรถยนต์แล่นผ่านเข้ามาใกล้ก็ใช้สปอทไลท์ส่องซึ่งจะทำให้ผู้ที่ผ่านมาทราบว่ามีผู้เฝ้าดูแลอยู่ในบริเวณนั้น อันเป็นการกระทำเพื่อรักษาทรัพย์สินของตน แต่โจทก์ร่วมกลับขับรถแล่นเข้ามาบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งมิใช่ถนนสาธารณะที่ใช้สัญจรทั่วไป แต่เป็นถนนทางเข้านากุ้งในยามวิกาลเวลาประมาณ 3 นาฬิกา แล้วชนรถจักรยานยนต์ของจำเลยซึ่งจอดอยู่หน้าขนำ ย่อมทำให้จำเลยตกใจกลัวและสำคัญผิดว่าเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงจากคนร้ายที่มุ่งเข้าทำร้ายตน การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้าก่อนและยิงอีก 1 นัด ในระยะเวลาที่ใกล้ชิดต่อเนื่องกันขณะ ช. และโจทก์ร่วมกำลังเปิดประตูรถออกมา ย่อมทำให้จำเลยเข้าใจว่าผู้ที่อยู่ในรถมีอาวุธหากจำเลยช้าเพียงเล็กน้อย จำเลยก็อาจได้รับอันตรายร้ายแรงได้ จึงเป็นการป้องกันตนให้พ้นจากภยันตรายที่จำเลยสำคัญผิดว่าจะเกิดขึ้นแก่ตนและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง อีกทั้งหลังจากจำเลยยิงปืนนัดที่สองไปแล้ว จำเลยก็วิ่งหลบหนีไปในทันทีโดยมิได้ยิงหรือทำร้ายโจทก์ร่วมหรือ ช. ซ้ำอีก ทั้งที่มีโอกาสเนื่องจากโจทก์ร่วมถูกกระสุนปืนได้รับบาดเจ็บและลงมาจากรถแล้ว การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการกระทำพอสมควรแก่เหตุเพื่อให้ตนพ้นจากภยันตรายที่จำเลยสำคัญผิดว่าจะเกิดขึ้น อันเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายโดยสำคัญผิดตาม ป.อ. มาตรา 68 ประกอบมาตรา 62 วรรคแรก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1867/2553

จำเลยใช้อาวุธมีดปลายแหลมจี้ขู่ผู้เสียหายและเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายและรถยนต์ของบิดาของผู้เสียหายไป เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายจำเลยก็ต้องรับโทษหนักขึ้น แม้ผู้เสียหายได้รับบาดแผลที่ต้นแขนซ้ายจากมีดของจำเลยเนื่องจากอุบัติเหตุ จำเลยไม่มีเจตนาทำร้ายผู้เสียหาย ก็ไม่ใช่ข้อสำคัญ เพราะการที่จำเลยจะรับโทษหนักขึ้นด้วยเหตุที่ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายนั้น จำเลยไม่จำต้องกระทำโดยมีเจตนา เพียงแต่พิจารณาว่าผลที่ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายนั้น เป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้ตาม ป.อ. มาตรา 63 หรือไม่ เมื่อจำเลยใช้มีดปลายแหลมจี้ผู้เสียหายการที่ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายจากมีดนั้นจึงย่อมเป็นผลธรรมดาที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยแล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายตามมาตรา 339 วรรคสาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1402/2553

ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของพยานทั้งสองว่า หลังจากผู้ตายเปิดประตูรถและเกาะประตูรถถีบจำเลยแล้ว ช. ได้เข้าไปดึงตัวผู้ตายจากรถของจำเลยในเวลานั้นหากจำเลยซึ่งนั่งอยู่ในรถไม่ประสงค์จะมีเรื่องกับผู้ตายก็น่าจะขับรถออกจากบริเวณนั้นไปเสีย แต่จำเลยกลับลงจากรถตามผู้ตายไปจนเกิดเหตุชกต่อยกันแสดงให้เห็นว่าจำเลยสมัครใจลงไปทะเลาะวิวาทกับผู้ตาย ดังนั้น แม้จำเลยจะถูกผู้ตายใช้ไม้ตีที่ศีรษะก่อนและจะตีซ้ำอีกจำเลยจึงใช้มีดแทงผู้ตายถึงแก่ความตายจำเลยก็ไม่อาจอ้างว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.อ. มาตรา 68 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1336/2553

ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเข้าไปรุมทำร้ายจำเลยกับพวก จำเลยใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้า 1 นัด เพื่อขู่ไม่ให้ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเข้ามาทำร้าย ลักษณะจึงเป็นการเตือนก่อน จากนั้นได้ยิงลงพื้นดินระหว่างจำเลยกับกลุ่มผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเพื่อให้ถอยไป เมื่อไม่ได้ผลจึงยิงจนกระสุนปืนหมดลูกโม่ แต่ละนัดที่ยิงจำเลยพยายามยิงลงพื้นและในระดับต่ำเพื่อไม่ให้ถูกอวัยวะส่วนสำคัญของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 กับพวก ลักษณะบาดแผลที่ผู้เสียหายทั้งสี่ได้รับจะอยู่ในระดับต่ำกว่าสะเอวลงมาคงมีเพียงผู้เสียหายที่ 3 ได้รับบาดแผลที่แผ่นหลังเมื่อนอนหมอบลงแล้ว แสดงว่าจำเลยมิได้มุ่งหมายที่จะให้ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยมิได้มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายทั้งสี่ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าตาม ป.อ. มาตรา 288, 80 โดยมิได้บรรยายว่าผู้เสียหายทั้งสี่ทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน เมื่อฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าจะพิพากษาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) มิได้ คงลงโทษได้เพียงตามมาตรา 295


จำเลยกับพวกได้กลับมาที่เกิดเหตุก็เพื่อเอารถจักรยานยนต์ของพวกจำเลยที่จอดทิ้งไว้ มิได้กลับมาหาเรื่องและชวนทะเลาะวิวาทกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวก การที่ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเข้าไปรุมทำร้ายจำเลยกับพวก จำเลยกับพวกไม่มีหน้าที่ที่จะต้องหลบหนีแต่มีอำนาจที่จะป้องกันตนให้พ้นจากภยันตรายที่เกิดจากการรุมทำร้ายของผู้เสียหายที่ 1 กับพวกได้ ทั้งข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกได้ลงมือทำร้ายชกต่อยจำเลยตกจากรถจักรยานยนต์ ภยันตรายที่จำเลยได้รับจึงถึงตัวจำเลยไม่สามารถหลีกเลี่ยงเป็นอย่างอื่น แต่การที่จำเลยใช้อาวุธปืนซึ่งมีอานุภาพร้ายแรงยิงไปทางผู้เสียหายที่ 1 กับพวกจนหมดลูกโม่จำนวน 6 นัด การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการป้องกันสิทธิของตนและผู้อื่นเกินสมควรแก่เหตุตาม ป.อ. มาตรา 69


การที่จำเลยมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ถือว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7 แล้ว เมื่อจำเลยพาอาวุธปืนติดตัวโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีสาเหตุสมควร ทั้งไม่เป็นกรณีต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง อีกกรรมหนึ่งแยกต่างหากจากกัน การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1332/2553

การที่จำเลยด่าแม่โจทก์ร่วมตอบโต้ไป ก่อนเข้าฟันโจทก์ร่วม เท่ากับว่าจำเลยได้ถลำเข้าไปทะเลาะวิวาทกับโจทก์ร่วมด้วยแล้ว เมื่อต่างคนต่างก็ทะเลาะด่าว่าซึ่งกันและกันเช่นนี้ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะเพราะถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมตาม ป.อ. มาตรา 72 และไม่อาจอ้างว่าเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะเพื่อให้ศาลลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับความผิดที่ได้กระทำนั้นได้


การจำเลยใช้มีดอีโต้ซึ่งเป็นมีดทำครัวขนาดใหญ่เลือกฟันอย่างแรงที่ศีรษะลำคอและกลางหลัง ซึ่งล้วนเป็นอวัยวะสำคัญจนเป็นแผลฉกรรจ์ หากรักษาไม่ทันอาจถึงแก่ความตายได้ จำเลยย่อมจะเล็งเห็นผลได้ว่าการกระทำของจำเลยอาจทำให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายถึงแก่ความตายได้ พฤติการณ์ชี้ชัดว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าโจทก์ร่วมแล้ว แม้เมื่อโจทก์ร่วมล้มลงหมดสติไปจำเลยจะไม่ได้ฟันโจทก์ร่วมซ้ำอีกก็ตาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1314/2553

ก่อนที่จำเลยจะใช้มีดสปาต้าฟันผู้เสียหายนั้น ผู้เสียหายยืนปัสสาวะโดยยืนหันหลังให้จำเลย ที่จำเลยใช้มีดฟันผู้เสียหายเป็นเวลาเดียวกับที่ผู้เสียหายหันกลับมาทางจำเลย คมมีดถูกด้านข้างศีรษะของผู้เสียหาย แสดงว่าขณะที่จำเลยกำลังฟันผู้เสียหายยังหันหลังอยู่ จำเลยมีโอกาสที่จะเลือกฟันอวัยวะส่วนใดของผู้เสียหายก็ได้เมื่อจำเลยเลือกฟันที่ศีรษะซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย ทั้งอาวุธที่ใช้เป็นมีดสปาต้าขนาดยาวประมาณ 1 ศอก จัดว่าเป็นอาวุธมีดขนาดใหญ่ และบาดแผลของผู้เสียหายลึกถึงกระดูก ยาวประมาณ 10 เซนติเมตร มีเลือดออกมาก เส้นเลือดแดงขาด บาดแผลเป็นเส้นโค้งครึ่งวงกลม เย็บแผลแล้วไม่มีเลือดออกเพิ่ม แสดงว่าจำเลยฟันผู้เสียหายโดยแรง จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าอาจทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาฆ่าผู้อื่น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1262/2553

ผู้ตายใช้มีดอีโต้ไล่ฟันจำเลยมาแล้ว ต่อมาผู้ตายขับรถยนต์กระบะกลับมาที่บ้านของจำเลยอีกครั้ง โดยผู้ตายเหน็บอาวุธปืนพกลูกซองสั้นไว้ที่เอวด้านหน้าขึ้นบันไดไปหาจำเลยที่ชั้นบนและร้องท้าทายจำเลยให้เอาอาวุธปืนของจำเลยมายิงกันให้ตายกันไปข้างหนึ่ง การกระทำของผู้ตายที่พาอาวุธปืนมาท้าทายจำเลยดังกล่าวหาใช่เป็นการข่มขู่จำเลยตามที่โจทก์ฎีกาไม่ แต่ฟังได้ว่าผู้ตายมีเจตนาจะเข้ามาใช้อาวุธปืนยิงทำร้ายจำเลย จึงนับเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงตัวจำเลย แม้ ย. และ ท. ซึ่งอยู่ใต้ถุนบ้านจะไม่เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ชั้นบน แต่ ย. และ ท. ได้ยินเสียงตึงตังโครมครามและได้ยินเสียงจำเลยร้องให้ช่วยก่อนที่เสียงปืนจะดังขึ้น อันแสดงว่าเมื่อผู้ตายขึ้นไปพบจำเลยแล้วมีการต่อสู้กัน จำเลยจึงชอบที่จะใช้สิทธิป้องกันตนให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายของผู้ตายได้ การที่จำเลยยิงปืน 2 นัด แต่ลูกกระสุนปืนถูกผู้ตายเพียงนัดเดียว เมื่อผู้ตายถูกยิงแล้วจำเลยไม่ได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายอีก จึงเป็นการป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุตาม ป.อ. มาตรา 68


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1190/2553

จำเลยใช้มีดฟันผู้เสียหายเพียงครั้งเดียว เมื่อผู้เสียหายวิ่งหนีไป ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยวิ่งไล่ตามไปทำร้ายผู้เสียหายอีก ซึ่งจำเลยนำสืบต่อสู้ว่าใช้มีดฟันผู้เสียหายเพียงครั้งเดียวเพื่อช่วยเหลือเพื่อนที่ชกต่อยกับผู้เสียหาย โดยไม่ได้เลือกว่าจะฟันผู้เสียหายบริเวณใด หากจำเลยมีเจตนาจะฆ่าผู้เสียหายมาก่อน จำเลยสามารถวิ่งไล่ตามไปใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายได้อีกโดยไม่ปรากฏว่ามีสิ่งใดมาขัดขวางไม่ให้จำเลยทำเช่นนั้น ประกอบกับพวกของจำเลยก็มีหลายคนสามารถวิ่งไล่ตามผู้เสียหายไปได้นอกจากนี้ขณะที่จำเลยใช้มีดฟันผู้เสียหาย ผู้เสียหายเพียงแต่ยกแขนขึ้นบังเท่านั้นไม่ได้ปัดป้องแต่อย่างใด ปรากฏว่าผู้เสียหายมีบาดแผลฉีกขาดบริเวณข้อศอกข้างขวายาวประมาณ 10 เซนติเมตร ซึ่งไม่ใช่บาดแผลฉกรรจ์ แสดงว่าจำเลยไม่ได้ใช้มีดฟันอย่างรุนแรง อีกทั้งจำเลยและผู้เสียหายไม่มีเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนถึงขนาดจะต้องเอาชีวิต พฤติการณ์การกระทำของจำเลยมีเจตนาเพียงแต่จะทำร้ายเท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 900/2553

ผู้ตายเข้าไปลวนลามฉุดมือ ช. แต่มารดาดึงตัว ช. ไว้ได้แล้ว ผู้ตายจึงเดินกลับไปที่รถจักรยานยนต์ ภยันตรายที่เกิดจากการกระทำของผู้ตายได้หมดไปแล้ว กรณีไม่ต้องด้วย ป.อ. มาตรา 68 ที่บัญญัติให้การกระทำโดยป้องกันจะต้องเป็นการป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันเป็นการละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง อย่างไรก็ดี การที่ผู้ตายเข้าไปลวนลาม ช. บุตรสาวของจำเลยถึงบ้าน เป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมและจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายในแทบจะทันใดหลังจากถูกข่มแหงการกระทำของจำเลยเป็นการฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 895/2553

จำเลยขับรถจักรยานยนต์มาที่หน้าร้านอาหารที่เกิดเหตุและใช้อาวุธปืนยิงใส่ผู้เสียหายที่ 2 ที่อยู่บริเวณหน้าร้าน กระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ซึ่งลักษณะบาดแผลของผู้เสียหายที่ 2 ที่ถูกยิงบริเวณหัวไหล่ บ่งชี้ว่าเป็นการยิงไปยังส่วนบนของร่างกายซึ่งจำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่ากระสุนปืนอาจถูกอวัยวะสำคัญของผู้เสียหายที่ 2 ถึงแก่ความตายได้ อันถือเป็นการกระทำโดยเจตนาฆ่า เมื่อการกระทำไม่บรรลุผล จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 2 และกระสุนปืนยังพลาดไปถูกผู้เสียหายที่ 3 ที่บริเวณไหปลาร้า ต้องถือว่าจำเลยกระทำโดยเจตนาฆ่าผู้เสียหายที่ 3 เช่นเดียวกันตาม ป.อ มาตรา 60 แต่การกระทำไม่บรรลุผล จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 3 ด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 513/2553

การที่จำเลยล้วงอาวุธปืนในกระเป๋ากางเกงออกมาจะยิงลำคอของสิบตำรวจโท น. ที่เข้ามาล็อกคอจำเลยทางด้านหลับเพื่อจับกุม แต่ถูกสิบตำรวจโท น. ใช้มือดันปากกระบอกปืนไปทางอื่น และมีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด แล้วจำเลยยังดึงอาวุธปืนมาที่ลำตัวและยิงปืนอีก 1 นัด แม้กระสุนปืนที่จำเลยยิงจะไม่ถูกสิบตำรวจโท น. เพราะสิบตำรวจโท น. ดันข้อมือจำเลยไปก่อน ดังนี้ จำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นได้ว่าอาจเป็นเหตุให้สิบตำรวจโท น. ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 428/2553

จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันมาในที่เกิดเหตุ โดยจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดทำจากใบเลื่อยยาวถึง 1 เมตร ฟันบริเวณแสกหน้าของผู้เสียหายที่ 1 แต่ผู้เสียหายที่ 1 ใช้มือรับไว้ จึงทำให้เอ็นนิ้วนางและนิ้วก้อยของผู้เสียหายที่ 1 ขาด ทั้งยังมีบาดแผลที่ศีรษะด้านขวาลึกเกือบถึงกระดูก หากมาพบแพทย์ไม่ทันต้องเสียเลือดมากและอาจถึงแก่ความตายได้ และจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนปากกายิงผู้เสียหายที่ 2 ถึง 2 นัด แต่กระสุนปืนด้าน จำเลยที่ 3 ใช้กระถางต้นไม้ทุ่มใส่ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับบาดเจ็บที่สะโพกขวา พฤติการณ์การกระทำของจำเลยทั้งสามมีเจตนาร่วมกันที่จะทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองโดยไม่ได้แบ่งแยกว่าแต่ละคนจะแบ่งแยกกันทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองคนใดเป็นการเฉพาะเจาะจง แต่เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสามมีเจตนายอมรับผลที่เกิดจากการกระทำของแต่ละคน จึงมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 424/2553

ผู้เสียหายเป็นฝ่ายเริ่มต้นด่าว่าจำเลยก่อน แม้จำเลยโต้เถียงจนกลายเป็นทะเลาะกัน แต่ไม่ปรากฏว่ามีคำพูดที่เป็นการท้าทายให้ต่อสู้กัน ผู้เสียหายเดินไปหาจำเลยแล้วลงมือทำร้ายจำเลยก่อน จำเลยหยิบมีดปลายแหลมเป็นอาวุธใช้แทงผู้เสียหายย่อมเป็นการกระทำเพื่อป้องกันตนให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง แต่ผู้เสียหายทำร้ายจำเลยด้วยมือเปล่าและต่างเป็นผู้หญิงด้วยกัน น่าจะทำร้ายกันไม่รุนแรงเท่าใดนัก เพียงจำเลยใช้มีดปลายแหลมแทงสักครั้งก็น่าจะหยุดยั้งผู้เสียหายได้แล้ว ฉะนั้นการที่จำเลยใช้มีดแทงผู้เสียหายไม่ต่ำกว่า 5 ที และแทงโดยแรงลึกถึงตับ ม้าม และลำไส้ใหญ่ย่อมถือได้ว่าเป็นการป้องกันสิทธิของจำเลยเกินสมควรแก่เหตุ จำเลยย่อมมีความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 69


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 288/2553

ก่อนเกิดเหตุนักศึกษาของโรงเรียนที่ผู้ตายและผู้เสียหายทั้งสามกับนักศึกษาของโรงเรียนที่จำเลยกับพวกเรียนอยู่มีเรื่องทะเลาะวิวาทกันบ่อยครั้ง อีกทั้งจำเลยพกมีดติดตัวอยู่ย่อมเป็นการผิดปกติวิสัยที่สุจริตชนทั่วไปพึงปฏิบัติ แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าจำเลยกับพวกทุกคนอยู่ในสภาพเตรียมพร้อมที่จะทำการทะเลาะวิวาทกับคู่อริจำเลยก็ย่อมต้องรู้อยู่แก่ใจว่าพวกของจำเลยคนอื่น ๆ ก็จะต้องมีอาวุธร้ายแรงอย่างเช่นอาวุธปืนติดตัวมาด้วยเช่นกัน จำเลยเป็นคนที่เริ่มต้นก่อการวิวาทขึ้น โดยพูดจาท้าทายผู้ตายและผู้เสียหายทั้งสาม แล้วจำเลยกับพวกพากันขึ้นไปทำร้ายผู้ตายและผู้เสียหายทั้งสามบนรถโดยสารทั้งทางประตูหน้าและประตูหลังท้ายรถ เมื่อจำเลยใช้มีดซึ่งมีความยาวทั้งคมมีดและด้ามประมาณ 1 ฟุตครึ่ง เป็นอาวุธฟันผู้เสียหายที่ 2 ที่เท้าซ้าย 1 ครั้ง และใต้เท้าซ้ายอีก 1 ครั้ง จากนั้นพวกของจำเลยยิงอาวุธปืนกระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ 2 ที่บริเวณสะโพกขวา แต่จำเลยก็ยังไม่หยุดทำร้ายผู้อื่นและใช้มีดฟันผู้เสียหายที่ 3 อีกถึง 3 ครั้ง ถูกที่ไหล่ซ้ายและสะบักซ้าย จนกระทั่งมีเสียงปืนดังขึ้นอีก กระสุนปืนถูกผู้ตายที่ราวนมขวา จำเลยกับพวกจึงมีเจตนาร่วมกันที่จะทำการประทุษร้ายผู้ตายและผู้เสียหายทั้งสามมาตั้งแต่ต้นโดยร่วมมือร่วมใจกันคบคิดและตระเตรียมกันหาอาวุธติดตัวเพื่อทำการประทุษร้ายผู้ตายและผู้เสียหายทั้งสามอันเป็นพฤติกรรมที่จำเลยกับพวกเล็งเห็นผลได้ตลอดเวลา จะอ้างว่าผลที่เกิดกับผู้ตายและผู้เสียหายอื่น ๆ มิใช่การกระทำของจำเลยเพราะจำเลยมิได้ร่วมกระทำความผิดอันเกิดจากการกระทำของพวกจำเลยหาได้ไม่


จำเลยกับพวกจำนวนกว่า 10 คน ใช้ทั้งปืนและมีดขนาดใหญ่เป็นอาวุธยิงและฟันตลอดจนกระทืบ เตะและต่อยในลักษณะรุมทำร้ายผู้ตายและผู้เสียหายทั้งสามโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยกับพวกมีสาเหตุโกรธเคืองกันเป็นส่วนตัวมาก่อน ถือได้ว่าจำเลยกับพวกได้กระทำต่อผู้ตายและผู้เสียหายทั้งสามด้วยความรุนแรงอย่างอุกอาจเยี่ยงอันธพาล ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง นับว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมโดยส่วนรวมและเป็นการทำลายภาพพจน์ของชาติบ้านเมืองเป็นอย่างมาก แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยยังเป็นนักศึกษาแต่ก็มีอายุถึงยี่สิบปีบรรลุนิติภาวะแล้ว ย่อมต้องมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่จะไม่กระทำความผิดร้ายแรงเช่นนั้น ทั้งการที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยโดยไม่ลงโทษในความผิดฐานร่วมกับพวกฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามคำฟ้อง นับว่าเป็นผลดีแก่จำเลยมากอยู่แล้ว ทั้งยังเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีแก่บุคคลอื่นอีกต่อไป ส่วนที่จำเลยอ้างความจำเป็นเกี่ยวกับครอบครัวก็เป็นความจำเป็นที่มีอยู่ด้วยกันทุกคน กรณีจึงยังไม่มีเหตุสมควรเพียงพอที่จะรอการลงโทษให้แก่จำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 159/2553

ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บมีบาดแผล คือ 1) บาดแผลฉีกขาดที่บริเวณด้านบนศีรษะข้างซ้ายค่อนมาทางกึ่งกลางศีรษะยาว 7 เซนติเมตร ลึกถึงกะโหลกศีรษะ 2) บาดแผลที่ศีรษะด้านขวาเหนือใบหูยาว 7 เซนติเมตร ลึกถึงกะโหลดศีรษะ 3) บาดแผลที่ต้นคอด้านหลังขวายาว 5 เซนติเมตร 4) บาดแผลที่มือซ้ายตรงฐานนิ้วก้อยยาว 2 เซนติเมตร และบริเวณปลายนิ้วนางยาว 4 เซนติเมตร และได้ความจากนายแพทย์ผู้ตรวจรักษาผู้เสียหายว่าบาดแผลหลักหรือบาดแผลสำคัญคือบาดแผลดังกล่าว ซึ่งแสดงว่าถูกฟันหลายครั้งแต่ไม่สามารถทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ทันที แต่ถ้าไม่รักษาอาจจะเกิดการติดเชื้อทำให้ถึงแก่ความตายได้ แม้ทางการแพทย์จะถือว่าไม่ร้ายแรง แต่การที่จำเลยกับพวกร่วมกันใช้มีดเฉพาะที่ยึดได้จากจำเลยยาว 15 นิ้ว กว้าง 2.5 นิ้ว เป็นอาวุธฟันที่ศีรษะผู้เสียหายอันเป็นอวัยวะสำคัญโดยแรงถึงกับกะโหลกศีรษะแตกร้าว ทั้งเป็นมีดที่มีขนาดใหญ่อาจใช้ทำร้ายคนให้ถึงแก่ชีวิตได้ เมื่อพิเคราะห์ถึงตำแหน่งและสภาพของบาดแผลดังกล่าวที่ต้องใช้เวลาในการรักษาบาดแผลนานประมาณ 6 สัปดาห์ ถ้าไม่มีอาการแทรกซ้อน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาก็อาจติดเชื้อเป็นอันตรายถึงแก่ความตายได้ ย่อมแสดงว่าจำเลยกับพวกฟันผู้เสียหายโดยแรงบริเวณศีรษะอันเป็นอวัยวะสำคัญ จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการทำร้ายผู้เสียหายโดยใช้มีดขนาดใหญ่เป็นอาวุธฟันลงไปที่ศีรษะโดยแรงเช่นนี้ผู้เสียหายได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้น จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 92/2553

การที่จำเลยทั้งสองขับรถจักรยานยนต์หนีโดยมีรถยนต์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจไล่ตามมาติด ๆ เป็นระยะทางหลายกิโลเมตร และจำเลยที่ 2 ขว้างลูกระเบิดไปข้างหลังโดยเล็งเห็นว่าลูกระเบิดที่ขว้างไปดังกล่าวสามารถทำให้ผู้เสียหายและพวกซึ่งอยู่ในรถยนต์ที่ไล่ตามมาอาจถึงแก่ความตายได้หากลูกระเบิดเกิดระเบิดขึ้น จึงเป็นการขว้างโดยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายกับพวก แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่บรรลุผล เพราะลูกระเบิดที่ขว้างไม่เกิดระเบิดเนื่องจากยังไม่ได้ถอดสลักนิรภัยซึ่งอาจเป็นเพราะจำเลยที่ 2 รีบร้อนเกินไป เมื่อปรากฏผลการตรวจพิสูจน์ลูกระเบิดว่าอยู่ในสภาพใช้การได้ หากเกิดระเบิดขึ้นมีอำนาจทำลายสังหารชีวิตมนุษย์ สัตว์ และทรัพย์สินให้เสียหายได้ในรัศมีฉกรรจ์ 10 เมตร จากจุดระเบิดการกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายตาม ป.อ. มาตรา 289 (2) ประกอบด้วยมาตรา 80


การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีลูกระเบิดสังหารไว้ในครอบครองแล้วใช้ลูกระเบิดสังหารดังกล่าวไปขว้างพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289 (2), 80 และ พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ฯ มาตรา 78 วรรคสาม เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21/2553

พฤติการณ์ที่ผู้ตายทำร้าย ส. ล้มลงแล้วจะตามไปทำร้าย ส. อีก เมื่อจำเลยเข้าห้ามปราม ผู้ตายก็ใช้มีดแทงจำเลย ถือว่ามีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ส. และจำเลยแล้ว การที่จำเลยใช้ด้ามพร้าตีผู้ตายจนล้มลงนั้น เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเมื่อผู้ตายพยายามจะลุกขึ้นอีก แต่จำเลยใช้เท้าขวาเหยียบมือผู้ตายที่กำลังถือมีดอยู่แสดงว่าภยันตรายที่เกิดจากการกระทำของผู้ตายนั้นถูกจำเลยควบคุมมิให้ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นอีกได้ ถือว่าภยันตรายที่จะเกิดแก่ ส. และจำเลยหมดไปแล้ว จำเลยไม่จำเป็นต้องทำร้ายผู้ตายอย่างใดอีก ดังนั้น การที่จำเลยใช้มือซ้ายจับคางผู้ตายใช้มือขวาซึ่งถือมีดเชือดคอผู้ตาย 1 ครั้ง และเมื่อผู้ตายยังดิ้นรนอยู่จำเลยยังเอามีดพกส่วนตัวของจำเลยอีกเล่มหนึ่งมาแทงผู้ตายถึง 2 แผลอีก นับเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุตาม ป.อ. มาตรา 69 เพราะหากจำเลยไม่เชือดคอผู้ตาย ผู้ตายก็คงไม่ถึงแก่ความตาย คดีจึงฟังไม่ได้ว่าการที่จำเลยฆ่าผู้ตายเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย


การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดโทษให้จำคุกจำเลย 6 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับพฤติการณ์ที่จำเลยฆ่าผู้ตายโดยวิธีเชือดคอซึ่งเป็นวิธีการที่สยดสยองอย่างยิ่ง กับจำเลยยังเอามีดพกส่วนตัวของจำเลยมาแทงผู้ตายอีก 2 แผลแล้ว นับเป็นกำหนดโทษที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งการกระทำแล้ว คดีไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะกำหนดโทษให้ต่ำไปกว่านี้อีก และเมื่อจำเลยต้องโทษจำคุกเกินสามปี คดีจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลจะรอการลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 56 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8919/2552

การดูหมิ่นผู้อื่น หมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไรเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยาม สบประมาทผู้ที่ถูกกล่าว หรือทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวอับอายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว เมื่อตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายคำว่า "ตอแหล" ว่า เป็นการด่าคนที่พูดเท็จ ซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสีย การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าวต่อผู้เสียหายจึงเป็นการด่าผู้เสียหาย เป็นการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทผู้เสียหายว่าเป็นคนพูดเท็จ จึงเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 393


โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ไม่ได้บรรยายฟ้องและมีคำขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ปัญหาที่ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท และเป็นการป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมหรือไม่ จึงมิใช่ประเด็นแห่งคดี การที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการหมิ่นประมาท และเป็นการป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมอันเป็นเหตุยกเว้นความผิดของจำเลย จึงมิใช่การอุทธรณ์ในประเด็นแห่งคดีและโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4


การกระทำที่จะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 68 นั้น จะต้องเป็นเรื่องที่ ผู้นั้นจำต้องกระทำการนั้นเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยกระทำเนื่องจากเชื่อโดยสุจริตว่าถูกผู้เสียหายกลั่นแกล้ง จึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น แม้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลย 200 บาท ต้องห้ามจำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 194 ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยแต่เพียงว่า เหตุที่จำเลยด่าว่าผู้เสียหาย เนื่องจากเข้าใจว่าถูกผู้เสียหายกลั่นแกล้งในเรื่องการขอสำเนาเอกสาร กับถูกผู้เสียหายกล่าวหาว่าทำร้ายร่างกาย มิใช่เกิดเนื่องจากการที่ผู้เสียหายได้กระทำการตามหน้าที่ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าว จึงไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ขณะที่จำเลยกล่าวถ้อยคำตามฟ้องต่อผู้เสียหายนั้น มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่า จำเลยพยายามแก้ไขความเข้าใจผิดและป้องกันชื่อเสียงของตนที่ถูกใส่ร้าย การตกอยู่ในวงล้อมของเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร และมีการตามเจ้าหน้าที่อื่นๆ ให้เข้ามาอีก ทำให้จำเลยอยู่ในสภาวะคับขันนั้น อุทธรณ์ของจำเลยในส่วนนี้เป็นการอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่นอกเหนือจากที่ศาลชั้นต้นรับฟังมา เพื่อจะนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามจำเลยอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6182/2552

การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายไปที่บริเวณหน้าอกซ้าย เอวข้างซ้าย ศีรษะด้านซ้าย ใบหูซ้ายและแขนข้างซ้ายรวม 16 แผล โดยเฉพาะบาดแผลที่หน้าอกซ้ายทะลุช่องซี่โครงซ้ายตัดกระดูกทะลุโดนปอดซ้ายกลีบบนและเฉี่ยวเยื่อหุ้มหัวใจบาดแผลลึกถึง 16 เซนติเมตร บาดแผลที่สีข้างลึก 6 เซนติเมตร โดยกระเพาะอาหารซึ่งแพทย์ระบุถึงเหตุการตายว่าบาดแผลของมีคมทำลายปอดและกระเพาะอาหาร จากบาดแผลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายโดยแรงหลายครั้งจนบาดแผลลึกถึง 16 เซนติเมตร ทั้งเป็นบริเวณสำคัญของร่างกายอันเป็นอวัยวะส่วนสำคัญที่จำเลยที่ 1 ย่อมเล็งเห็นผลว่าอาจทำให้ถึงแก่ความตายได้ เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายจากบาดแผลที่จำเลยที่ 1 แทง จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา


แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 เป็นพวกจำเลยที่ 1 กลับจากงานแต่งงานมาถึงที่เกิดเหตุและอยู่ในเหตุการณ์ขณะที่จำเลยที่ 1 กำลังต่อสู้กับผู้ตายด้วยก็ตาม แต่โจทก์ก็ไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันเลยว่า เห็นจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ยุยงหรือสนับสนุนอันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกให้จำเลยที่ 1 แทงผู้ตายให้ถึงแก่ความตายแต่อย่างใด การที่ ส. พยานโจทก์อ้างว่าได้ยินเสียงวัยรุ่นทะเลาะกันห่างประมาณ 100 เมตร และได้ยินเสียงร้องตะโกนว่า "เอาให้ตาย" เมื่อไม่ได้ยืนยันว่าเป็นเสียงตะโกนของจำเลยคนใด ก็อาจจะไม่ใช่เสียงร้องตะโกนของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ก็ได้ แต่อาจจะเป็นเสียงร้องตะโกนของจำเลยที่ 1 เองก็อาจเป็นได้ พยานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 สนับสนุนการกระทำของจำเลยที่ 1


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3413/2552

การกระทำความผิดแม้จะกระทำต่อเนื่องและใกล้ชิดกันจะเป็นการกระทำกรรมเดียวหรือต่างกรรมกันนั้น ต้องพิจารณาจากเจตนาของผู้กระทำด้วย เมื่อจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายก่อน 1 นัด ทันทีที่ผู้ตายกระโดดลงจากรถ ผู้ตายล้มลงและหมดสติไป และเมื่อผู้เสียหายกระโดดลงจากรถ จำเลยก็ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายอีก 1 นัด ทันที การกระทำของจำเลยจึงเห็นได้ชัดว่า มีเจตนาประสงค์ต่อผลในการกระทำทั้งสองครั้งแตกต่างกัน กล่าวคือหากผู้เสียหายไม่กระโดดลงจากรถ จำเลยอาจไม่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย จึงเป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3339/2552

แม้ตามทางพิจารณาจะได้ความว่า การกระทำความผิดฐานรับของโจรของจำเลยที่ 2 ได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการชิงทรัพย์ ซึ่งต้องด้วยลักษณะฉกรรจ์ในความผิดฐานรับของโจรตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสอง ก็ตาม แต่การจะลงโทษจำเลยที่ 2 ให้หนักขึ้นตามลักษณะฉกรรจ์ดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อได้ความว่าในขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 ได้รู้อยู่ว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ทั้งนี้ตามมาตรา 62 วรรคท้าย ซึ่งในข้อนี้ตามทางพิจารณาได้ความเพียงว่า จำเลยที่ 2 รับรถยนต์กระบะของกลางมาจาก ข. เท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าขณะกระทำความผิด จำเลยที่ 2 ได้รู้อยู่แล้วว่ารถยนต์กระบะของกลางเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานรับของโจรตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสอง ได้ การกระทำของจำเลยที่ 2 คงเป็นความผิดฐานรับของโจรตามมาตรา 357 วรรคแรก เท่านั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 และเมื่อศาลฎีกาไม่ได้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสอง แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ต่อไปว่าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 357 วรรคสอง นั้นชอบหรือไม่ เพราะไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1133/2552 

การใช้ดุลพินิจลดมาตราส่วนโทษโดยคำนึงถึงความรู้สึกผิดชอบของจำเลยที่ 3 เป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน เมื่อศาลฎีกาลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยที่ 3 ในความผิดฐานที่ไม่ต้องห้ามฎีกาแล้ว ก็มีอำนาจลดมาตราส่วนโทษในความผิดฐานที่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ด้วย 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1761/2552 

จำเลยนำเช็คซึ่งเป็นตั๋วเงินปลอมเข้าบัญชีจำเลยเพื่อเรียกเก็บเงินแทนนาง ยุพาโดยไม่ทราบว่าเป็นตั๋วเงินปลอม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความ ผิด เป็นการขาดเจตนากระทำความผิดฐานใช้ตั๋วเงินปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (4) และมาตรา 59 วรรคสาม วรรคสอง และวรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานร่วมกับพวกใช้ตั๋วเงินปลอม 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7552/2551 

จำเลยเป็นบิดาของผู้เสียหาย คืนเกิดเหตุผู้เสียหายดื่มสุราจนเมา จำเลยได้ไล่ให้ผู้เสียหายไปนอนที่บ้าน ไม่ให้นอนที่กระท่อมของจำเลย ผู้เสียหายไม่ยอมไปได้ด่าจำเลยเสียๆ หายๆ ด่าว่า พ่อหัวควย พ่อเหี้ย พ่อสัตว์ ไม่รักลูก แล้วผู้เสียหายกลับออกไป 2 ถึง 3 นาทีได้กลับมาใหม่เพื่อมาเอาห่อยาเส้น จำเลยไล่ผู้เสียหายกลับไปนอนที่บ้านอีกครั้ง แต่ผู้เสียหายไม่ยอมไป กลับด่าจำเลยเช่นเดียวกับครั้งแรกและด่าให้อวัยวะเพศชายอีก ทั้งผู้เสียหายมีมีดยาว 1 ศอกอยู่ในย่ามและท้าจำเลยให้ออกมาฟันกัน ประกอบกับโจทก์ฎีการับว่า จำเลยโกรธแค้นที่ผู้เสียหายไม่เคารพยำเกรงและด่าจำเลยด้วยถ้อยคำหยาบคาย ดังนั้นการที่จำเลยซึ่งเป็นบิดาใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย กรณีจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5750/2551 

จำเลยเกิดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2533 เหตุคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2547 ดังนั้น ขณะกระทำความผิดจำเลยคงมีอายุเพียง 13 ปีเศษ เท่านั้น หาใช่ 14 ปีเศษ ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา 74 การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดจากพยานหลักฐานในสำนวนและลด มาตราส่วนโทษตาม ป.อ. มาตรา 75 แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยโดยเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกอบรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 104 (2) จึงเป็นการไม่ชอบ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5080/2551 

ก่อนเกิดเหตุ ผู้เสียหายชกจำเลยที่บริเวณใบหน้า 1 ครั้ง แต่จำเลยเองเป็นผู้รบเร้าและยินยอมให้ผู้เสียหายทำร้ายจำเลยเพื่อประสงค์จะ ยุติเรื่องบาดหมางที่มีต่อกัน และได้ความจากผู้เสียหายว่าชกจำเลยเพียงเบาๆ จึงยังถือไม่ได้ว่า ผู้เสียหายข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมดังที่จำเลยกล่าว อ้างในฎีกา ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9264/2551 

ผู้เสียหายทั้งสองเป็นมารดาและตาซึ่งเป็นบุพการีของจำเลย จำเลยใช้ค้อนที่ถืออยู่ในมือขณะตอกตะปูฝาบ้านตีผู้เสียหายที่ 1 แทบจะในทันทีที่ผู้เสียหายที่ 1 พูดห้ามให้หยุดตอกตะปู และใช้ค้อนดังกล่าวตีผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งอยู่คนละบ้านในเวลาต่อเนื่องกัน เมื่อพิจารณาความเกี่ยวพันระหว่างจำเลยและผู้เสียหายทั้งสองแล้ว เหตุที่ผู้เสียหายที่ 1 พูดห้ามปรามจำเลย และผู้เสียหายที่ 2 ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยในขณะนั้น ประกอบกับจำเลยเจ็บป่วยทางจิตประสาทมานานหลายปีแล้ว ฟังได้ว่าจำเลยมิได้มีเจตนาจะฆ่าผู้เสียหายทั้งสองคงมีเพียงเจตนาจะทำร้าย ร่างกายเท่านั้น ขณะที่จำเลยถูกควบคุมตัวระหว่างพิจารณาอยู่ในเรือนจำ จำเลยก่อเหตุทำร้ายร่างกายผู้ที่ถูกควบคุมอยู่ด้วยกันหลายรายเป็นการผิดปกติ เรือนจำจังหวัดนนทบุรีจึงมีหนังสือขออนุญาตศาลส่งตัวจำเลยไปรับการตรวจ วินิจฉัยที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ผลการตรวจพบว่าจำเลยมีอาการจิตหวาดระแวง ขณะประกอบคดีไม่รู้ผิดชอบ ขณะนี้สามารถต่อสู้คดีได้ ทั้งในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในวันสอบคำให้การจำเลยได้บันทึกถึง ความผิดปกติในการพูดของจำเลยมีลักษณะควบคุมเรื่องที่พูดไม่ได้และมีอาการไม่ ปกติ ดังนั้น ข้อเท็จจริงเรื่องผลการวินิจฉัยของแพทย์ดังกล่าวจึงเป็นพยานหลักฐานโดยตรงใน คดีที่ศาลรับฟังได้ และเมื่อรับฟังประกอบคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ว่าจำเลยป่วยทางจิตประสาทมาหลายปี พยานหลักฐานดังกล่าวทำให้เชื่อได้ว่าขณะทำความผิดจำเลยมีความผิดปกติใน ลักษณะที่มีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน แต่เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลย เมื่อจำเลยทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 แล้วก็เดินออกจากบ้านพักเพื่อไปมอบตัวกับเจ้าพนักงานตำรวจแต่ไม่พบ จึงเดินย้อนกลับมา ระหว่างทางผ่านบ้านของผู้เสียหายที่ 2 จึงเข้าไปทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 หลังจากนั้นจำเลยเดินทางไปมอบตัวกับพนักงานสอบสวน พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าขณะกระทำความผิดจำเลยยังพอจะมีความรู้สึก ผิดชอบอยู่บ้าง ซึ่งศาลจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4166/2550 การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิง ส. กระสุนปืนถูก ส. และยังพลาดไปถูก อ. ด้วยนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่า ส. และฐานพยายามฆ่า อ. โดยพลาด แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำโดยพลาด มาด้วย ก็ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าว ในฟ้อง อันจะเป็นเหตุให้ศาลต้องพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 และการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลาย บท 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4299/2550 

ป.อ. มาตรา 55 และ 76 เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลที่จะใช้ดุลพินิจเป็นเรื่องๆไป แล้วแต่พฤติการณ์แห่งคดี หาได้เป็นบทบังคับให้ศาลต้องลดมาตราส่วนโทษให้จำเลย หรือลงโทษจำคุกจำเลยให้น้อยลงอีก หรือยกโทษจำคุก หรือปรับจำเลยแต่อย่างเดียวทุกกรณีเสมอไปไม่ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6025/2550 

แม้โจทก์จะมีส่วนก่อเหตุ โดยเฉพาะกับจำเลยที่เป็นพ่อตาโจทก์ที่ถูกโจทก์กระทำไม่สมควรอย่างยิ่งแต่การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์อันถือว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ร้ายแรง มากกว่าการกระทำของโจทก์ที่เป็นผู้ก่อเหตุคดีนี้ ตามข้อเท็จจริงที่รับฟังมาได้แล้วว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ จึงเป็นการที่จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว กรณีหาใช่ว่าเป็นความยินยอมของโจทก์ไม่ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบด้วยมาตรา 223 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 353 - 354/2550 

จำเลย ที่ 1 และที่ 3 ร่วมเดินทางไปกับจำเลยที่ 2 เพื่อไปยิงแก้แค้น ช. ซึ่งเคยยิงจำเลยที่ 2 มาก่อน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 ทราบดีว่าจำเลยที่ 2 นำอาวุธปืนติดตัวไปด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 2 ฆ่า ช. และเมื่อพบผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 ยิงผู้เสียหายโดยเข้าใจว่าเป็น ช. ย่อมเป็นการกระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิดตาม ป.อ. มาตรา 61 จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 ไม่อาจยกเอาความสำคัญผิดดังกล่าวมาเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้มีเจตนาร่วมฆ่าผู้ เสียหายได้ ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 2 ฆ่าผู้เสียหายด้วย ฉะนั้น เมื่อผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาฆ่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงมีความผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 2 พยายามฆ่าผู้เสียหาย 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5547/2550 

ขณะที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายที่ 1 นั่งซ้อนท้ายไปเที่ยวที่หาดทรายแก้ว ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาผู้เสียหายที่ 1 ก็อยู่บริเวณใกล้ๆ นั้นด้วยหลังจากนั้น 2 ถึง 3 วัน ผู้เสียหายที่ 2 ไปขอร้องให้ น. พาไปพูดกับบิดามารดาจำเลยว่ายอมจะรับเลี้ยงดูผู้เสียหายที่ 1 เป็นสะใภ้หรือไม่ เมื่อบิดามารดาจำเลยบอกว่าจะรับเลี้ยงดูผู้เสียหายที่ 1 เหมือนบุตรสะใภ้ ผู้เสียหายที่ 2 ก็พอใจโดยไม่มีการเรียกสินสอดแต่อย่างใด ต่อมา 2 ถึง 3 วัน ผู้เสียหายที่ 2 ไปขอให้ น. ไปพูดกับบิดามารดาจำเลยว่าให้ทำพิธีสมรส แต่บิดามารดาจำเลยบอกว่าให้รอไว้ก่อน ผู้เสียหายที่ 2 รู้เรื่องดังกล่าวแล้วก็มิได้โต้แย้งหรือคัดค้าน ตามพฤติการณ์ของผู้เสียหายที่ 2 ดังกล่าวเชื่อได้ว่าจำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่บ้านจำเลยและกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 โดยความยินยอมของผู้เสียหายที่ 1 และโดยความรู้เห็นยินยอมของผู้เสียหายที่ 2 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารตาม ป.อ.317 วรรคสาม แม้ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 เกือบจะมีอายุครบ 15 ปี แล้วก็ตาม แต่กรณีจะเป็นเรื่องสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเรื่องอายุของผู้เสียหายที่ 1 อันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม ป.อ. มาตรา 62 วรรคแรก นั้นจะต้องมีพฤติการณ์หรือเหตุชักจูงใจสำคัญผิดโดยสุจริต แต่จำเลยมิได้นำสืบในเรื่องดังกล่าว จำเลยคงเบิกความว่าผู้เสียหายที่ 1 บอกจำเลยว่าผู้เสียหายที่ 1 มีอายุ 16 ปี ส่วน ส.พี่สาวจำเลยให้การชั้นสอบสวนว่า ผู้เสียหายที่ 1 บอก ส. ว่ามีอายุ 16 ปีกว่าแล้ว ส่วน บ. บิดาจำเลยกลับให้การชั้นสอบสวนว่า บ. ได้สอบถามเรื่องอายุ ผู้เสียหายที่ 1 บอกว่ามีอายุ 18 ปี คำเบิกความของจำเลยและคำให้การชั้นสอบสวนของ ส. ไม่สอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนของ บ. เพราะขัดแย้งหรือต่างกันมากถึง 2 ปี ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 1 มีรูปร่างใหญ่กว่าเด็กหญิงทั่วไปอันเป็นเหตุชักจูงใจให้จำเลยสำคัญผิดโดย สุจริต ลำพังคำเบิกความของจำเลยที่ว่าผู้เสียหายที่ 1 บอกว่ามีอายุ 16 ปี เป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย ย่อมไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เมื่อจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 อายุไม่เกิน 15 ปี ซึ่งไม่ใช่ภริยาของตนโดยผู้เสียหายที่ 1 ยินยอม จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3759/2550 

จำเลยใช้อาวุธสปาต้ายาวประมาณ 1 ฟุตครึ่ง ซึ่งเป็นมีดขนาดใหญ่ที่อาจใช้เป็นอาวุธฟันทำอันตรายบุคคลอื่นถึงแก่ความตาย ได้ ฟันบริเวณศีรษะของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญจนกะโหลกศีรษะแตกยุบและสมอง ฉีกขาด แสดงให้เห็นว่าโจทก์ร่วมถูกจำเลยใช้อาวุธสปาต้าฟันอย่างแรง และเป็นการเลือกฟันที่ส่วนสำคัญของร่างกาย ประกอบกับแพทย์ผู้ตรวจร่างกายโจทก์ร่วมให้การว่า บาดแผลของโจทก์ร่วมต้องรีบรักษา หากล่าช้าอาจถึงแก่ความตายได้เนื่องจากเลือดออกมาก บาดแผลติดเชื้อเข้าไปในสมองและมีเลือดคั่งในสมองมาก แม้จำเลยจะฟันโจทก์ร่วมเพียงครั้งเดียว จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าโจทก์ร่วมอาจถึงแก่ความตายได้ ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาพยาบาลจากแพทย์ทันท่วงที การกระทำของจำเลยจึงฟังได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนาฆ่าโจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าโจทก์ร่วม 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 483 - 484/2550 

ก่อนเกิดเหตุจำเลยนั่งอยู่คนละโต๊ะกับผู้ตาย จำเลยเป็นฝ่ายเดินมาหาผู้ตายและถามผู้ตายถึงสาเหตุที่ห้ามจำเลยเข้าไปในร้าน อาหารแห่งหนึ่ง จากนั้นจำเลยกับผู้ตายก็โต้เถียงกัน จนจ่าสิบตำรวจ ส. ต้องลุกขึ้นมานั่งร่วมโต๊ะกับผู้ตายและห้ามปรามไม่ให้จำเลยกับผู้ตายโต้ เถียงกัน จำเลยจึงออกจากร้านเนื่องจากจ่าสิบตำรวจ ส. ร้องขอ หลังจากนั้นประมาณ 5 นาที จำเลยกลับมาใหม่และใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย และเล็งอาวุธปืนมายังสิบตำรวจเอก ย. จนจ่าสิบตำรวจ ส. ต้องเข้าไปแย่งอาวุธปืนจากจำเลย พฤติการณ์ของจำเลยแสดงว่าจำเลยยิงผู้ตายเนื่องจากจำเลยกับผู้ตายโต้เถียงกัน อย่างรุนแรงและจำเลยยังโกรธแค้นอยู่ แม้จะได้ความว่าเมื่อจำเลยเดินออกจากร้านไปจ่าสิบตำรวจ ส. จะต่อว่าผู้ตายว่าเป็นผู้ใหญ่ไม่น่าใช้คำหยาบ และผู้ตายพูดว่า "พี่ผิดไปแล้ว" ก็ตาม คำหยาบดังกล่าวก็เป็นเพียงคำพูดที่ไม่สมควรอาจยั่วยุให้จำเลยรู้สึกเจ็บแค้น และโมโหเท่านั้น หาได้เป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็น ภยันตรายที่ใกล้จะถึง อันจะเป็นเหตุให้จำเลยจำต้องกระทำเพื่อป้องกันตัวไม่ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2803/2550 

จำเลย ที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อบรรทุกทรายเต็มคันรถในเขตชุมชนใกล้ทางแยกเข้าหมู่บ้า นกฤษดานคร ตามหลังรถยนต์กระบะไปตามถนน ควรใช้ความเร็วต่ำและเว้นระยะให้ห่างมากพอที่จะหยุดรถได้ทันโดยไม่ให้ชนรถ คันหน้ายิ่งมีฝนตกและเป็นเวลากลางคืน ควรต้องระมัดระวังเว้นระยะให้ห่างมากขึ้น การที่จำเลยที่ 1 ต้องหักหลบไปทางขวาเมื่อรถยนต์กระบะต้องหยุดรถเพราะมีรถยนต์ออกจากปั๊ม น้ำมัน ก็เกิดจากจำเลยที่ 1 เกรงว่าจะหยุดไม่ทันเนื่องจากบรรทุกของหนักเป็นเครื่องแสดงอยู่ในตัวว่ารถ ยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยที่ 1 ขับจะต้องใช้ความเร็วสูงทั้งไม่เว้นระยะให้ห่างรถยนต์กระบะซึ่งขับอยู่ข้าง หน้าให้อยู่ในระยะที่สามารถหยุดรถได้ทันโดยไม่ต้องหักหลบเช่นนั้น รถของจำเลยที่ 1 จึงล้ำเข้าไปในช่องเดินรถที่ผู้ตายขับรถยนต์สวนมาและเกิดเหตุชนกับรถที่ผู้ ตายขับในช่องเดินรถของผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นผลโดยตรงจากการขับรถโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยที่ 1 จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และจำเลยที่ 1 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จึงเป็นการขับรถโดยประมาทและกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 (4), 157 และ ป.อ. มาตรา 291 แม้จะมีรถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยที่ 2 ขับตามหลังมาไม่สามารถหยุดรถได้ทัน ก็หามีผลให้การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดและการขับรถยนต์ประมาทของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวไม่ตัดความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นแก่ผู้ตาย ส่วนกรณีที่ตรวจพบแอลกอฮอล์ 0.239 กรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดระดับนี้มีผลต่อร่างกาย ทำให้การตัดสินใจผิดพลาดได้นั้น ก็ถือว่าผู้ตายมิได้มีส่วนประมาทก่อให้เกิดเหตุชนกันขึ้น ไม่อาจทำให้ผู้ตายหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุชนกันได้ จึงไม่อาจทำให้จำเลยที่ 1 พ้นผิดไปได้ และกรณีไม่อาจรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 56 ได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8079/2549 

จำเลย และผู้เสียหายมีสาเหตุขุ่นข้องหมองใจกันจนต่างฝ่ายต่างหวาดระแวงว่าอีกฝ่าย จะมาทำร้ายตน ตามพฤติการณ์แห่งคดีที่ผู้เสียหายเรียกชื่อจำเลยและชักอาวุธปืนออกมาจากเอว วิญญูชนเช่นจำเลยย่อมเข้าใจได้ว่าผู้เสียหายจะใช้อาวุธปืนนั้นยิงจำเลย ถือได้ว่าเป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายละเมิดต่อกฎหมายและเป็น ภยันตรายที่ใกล้จะถึงตาม ป.อ. มาตรา 68 แล้ว การที่จำเลยหยิบอาวุธมีดพร้าที่วางอยู่พื้นถนนซึ่งเป็นของบุคคลอื่นฟันทำ ร้ายผู้เสียหายไปเพียงครั้งเดียวแล้ววิ่งหลบหนีไป จึงเป็นการกระทำเพื่อป้องกันพอสมควรแก่เหตุ เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงไม่มีความผิด 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10/2549

กรณีที่จะเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72 นั้น ต้องเป็นเรื่องที่ผู้กระทำความผิดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็น ธรรมและเหตุอันไม่เป็นธรรมนั้นต้องเป็นเรื่องร้ายแรง โดยต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับความรู้สึกของคนธรรมดาหรือวิญญูชนทั่วไปที่ อยู่ในภาวะวิสัยและพฤติการณ์อย่างเดียวกับผู้กระทำความผิด จะถือเอาความรู้สึกนึกคิดของตัวผู้กระทำความผิดเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าผู้ กระทำความผิดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมหรือไม่ไม่ได้ แม้จำเลยจะเป็นญาติผู้ใหญ่ของผู้ตาย และพูดตักเตือนผู้ตายเรื่องการขับรถจักรยานยนต์ในหมู่บ้านว่าไม่ให้ขับเร็ว เพราะเกรงว่าจะชนเด็ก แล้วผู้ตายตอบว่าเป็นรถของผู้ตายเองจะยังคงขับเร็ว และพูดท้าทายจำเลยว่า มึงแก่แล้วอย่ามายุ่งกับกูหากแน่จริงให้ลุกขึ้นมา ซึ่งเป็นการแสดงกิริยายโสโอหัง ไม่สมควรที่จะกระทำต่อจำเลยซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ก็ตาม แต่ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การกระทำของจำเลย จึงมิใช่เป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1431/2549 

จำเลย กับ ณ. ผู้ตาย ทะเลาะชกต่อยกันก่อน จากนั้นจำเลยได้กลับไปเอาอาวุธปืนที่บ้านจำเลยแล้วขับรถจักรยานยนต์ออกตามหา ณ. ผู้ตาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยตระเตรียมเพื่อจะวิวาทหรือต่อสู้กับพวกผู้ตาย จึงเป็นการสมัครใจเข้าทะเลาะวิวาทและต่อสู้กับพวกผู้ตาย แม้ ณ. ผู้ตาย จะเข้ามาต่อยจำเลยและล็อคคอจำเลยไว้รวมทั้ง ว. ผู้ตายอีกคนหนึ่งเงื้ออาวุธมีดจะฟันจำเลยตามที่จำเลยนำสืบก็เป็นเหตุการณ์ จากการสมัครใจทำร้ายกัน จำเลยไม่มีสิทธิใช้อาวุธปืนยิง ณ. และ ว. ผู้ตายทั้งสอง โดยอ้างว่ากระทำไปเพื่อป้องกัน 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7233/2549 

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรม เด็กหญิง ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม จำเลยมิได้ยกข้อต่อสู้ว่าจำเลยสำคัญผิดเข้าใจว่าผู้เสียหายอายุ 17 ปี ถึง 18 ปี ขึ้นต่อสู้โดยตรง แต่เมื่อคดีมีเหตุที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบด้วยมาตรา 215 ผู้เสียหายเป็นลูกครึ่งชาวไทยกับชาวต่างชาติ จากรูปร่างและลักษณะของผู้เสียหายมีเหตุผลทำให้จำเลยเข้าใจว่าผู้เสียหายมี อายุเกินกว่า 15 ปี ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 จำเลยคงมีความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 62 วรรคสาม เท่านั้น 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 191/2549 

ผู้ตายเข้าไปลักแตงโมในไร่ของจำเลยเป็นการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายต่อ ทรัพย์ของจำเลย จำเลยจึงมีสิทธิที่จะป้องกันทรัพย์สินของตนได้ แต่การที่จำเลยต่อและปล่อยกระแสไฟฟ้าซึ่งมีแรงเคลื่อนสูงถึง 220 โวลท์ ที่สามารถดูดคนให้ถึงแก่ความตายได้ ทั้งที่ทรัพย์ที่จำเลยมีสิทธิกระทำป้องกันคือแตงโมมีราคาไม่สูงมากนัก ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำ ต้องกระทำตาม ป.อ. มาตรา 69 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8310/2549 

จำเลยใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นยิงสวนมาทาง ส. กับพวก แต่กระสุนปืนพลาดไปถูกนักศึกษาหญิงหลายคนได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288, 80, 60 อันเป็นความผิดต่อผลของการกระทำโดยพลาดที่เกิดแก่นักศึกษาหญิงผู้เสียหายทุก คนและมีความผิดตามมาตรา 288, 80 อันเป็นผลของการกระทำที่จำเลยใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นยิง ส. กับพวกด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7676/2549

แม้โจทก์จะมีผู้เสียหายทั้งสองและจ่าสิบตำรวจ ส. เบิกความยืนยันว่า เมื่อผู้เสียหายที่ 2 เปิดสัญญากระบองไฟส่งสัญญาณให้จำเลยหยุดรถแต่จำเลยซึ่งชะลอความเร็วรถลงกลับ เร่งความเร็วพุ่งเข้าชนผู้เสียหายทั้งสองก็ตาม แต่ขณะที่จำเลยเร่งความเร็วรถพุ่งเข้าชนผู้เสียหายทั้งสองนั้น รถจำเลยอยู่ห่างผู้เสียหายทั้งสองประมาณ 5 เมตร ซึ่งในระยะดังกล่าวถือได้ว่าเป็นระยะกระชั้นชิดและการเร่งความเร็วรถเพื่อ พุ่งเข้าชนก็เป็นไปโดยกะทันหัน จึงไม่เชื่อว่าผู้เสียหายทั้งสองจะทันระมัดระวังและกระโดดหลบได้ทัน โดยเฉพาะผู้เสียหายที่ 1 ยิ่งไม่น่าจะกระโดดหลบหนีได้เลย เพราะขณะนั้นผู้เสียหายที่ 1 ยืนอยู่ติดกับรถยนต์กระบะที่เจ้าพนักงานตำรวจจอดอยู่ ไม่มีพื้นที่เหลือพอที่จะกระโดดหลบหนีไปได้และรถยนต์ของจำเลยย่อมจะพุ่งเข้า ชนหรือเฉี่ยวชนรถยนต์กระบะด้วย ไม่น่าจะหักหลบรถยนต์กระบะไปได้ทั้งขณะเกิดเหตุจำเลยมีสิ่งของผิดกฎหมายซุก ซ่อนอยู่ในรถ ตามพฤติการณ์และการกระทำดังกล่าวเชื่อว่าจำเลยเพียงแต่มีเจตนาที่จะหลบหนี ให้พ้นการตรวจค้นและจับกุมของผู้เสียหายทั้งสองกับพวกเท่านั้นหาได้มีเจตนา ฆ่าไม่ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5396/2549 

โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่า จำเลยที่ 1 จึงให้จำเลยที่ 2 ไปล็อกกุญแจปิดร้านอาหารเพื่อมิให้โจทก์เช่าต่อไป โดยจำเลยที่ 1 คิดว่าตนเองมีอำนาจกระทำการได้ตามสัญญาเช่าที่ระบุว่าถ้าผู้เช่าผิดสัญญาไม่ ชำระค่าเช่าภายในกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ ผู้ให้เช่าย่อมทรงสิทธิในการกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินที่เช่าตามสัญญานี้ โดยพลัน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการขาดเจตนาที่จะกระทำผิดฐานบุกรุก ทั้งข้อสัญญาดังกล่าวมิได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและมิได้เป็น สัญญาที่ไม่เป็นธรรมจำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานบุกรุก 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5318/2549 

จำเลยจ้างให้บุคคลที่ไม่รู้มาก่อนว่าที่ดินบริเวณที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ป่าสงวน แห่งชาติ ให้นำรถไถไปไถที่ดินบริเวณดังกล่าว จึงไม่ใช่เป็นการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด เพราะผู้ถูกใช้ไม่รู้ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด แต่เป็นการใช้บุคคลเหล่านั้นเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด ถือว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดเองโดยอ้อม จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14 และมาตรา 31 วรรคสอง 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6815/2548 

การลดมาตราส่วนโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 คือ การลดอัตราโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ลงกึ่งหนึ่งแล้วจึงลงโทษ มิใช่ศาลกำหนดโทษลงไว้ก่อนแล้วจึงลดมาตราส่วนโทษจากโทษที่ลงไว้ และความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ บัญญัติให้ลงโทษปรับสำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ เป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมอากรเข้าด้วยแล้ว มิใช่ให้ปรับสำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ แล้วแบ่งปรับเป็นรายบุคคล คนละเท่าๆ กัน เมื่อจำเลยถูกฟ้อง จำเลยจึงเป็นบุคคลเดียวที่ถูกพิพากษาว่ากระทำความผิดและต้องถูกลงโทษตามคำ พิพากษา บุคคลอื่นที่ร่วมกระทำความผิด เมื่อยังไม่ถูกฟ้องย่อมไม่อาจถือเป็นผู้กระทำความผิดอันจะถูกลงโทษตามคำ พิพากษาคดีนี้ได้ กรณีไม่อาจแบ่งแยกลดจำนวนความรับผิดสำหรับโทษปรับครั้งนี้แก่จำเลย 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2903/2548 

ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 15 วรรคสาม (2) ที่บัญญัติว่าการมีแอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีน มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป... ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันเป็นบทสันนิษฐานเด็ดขาดของกฎหมายนั้น จำเลยไม่อาจนำสืบหักล้างเป็นอย่างอื่นได้ ทั้งตาม ป.อ. มาตรา 64 บัญญัติว่า "บุคคลจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้พ้นจากความรับผิดในทางอาญาไม่ได้ แต่ถ้าศาลเห็นว่าตามสภาพและพฤติการณ์ผู้กระทำความผิดอาจจะไม่รู้ว่ากฎหมาย บัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด ศาลอาจอนุญาตให้แสดงพยานหลักฐานต่อศาล และถ้าศาลเชื่อว่า ผู้กระทำไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้น ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้" เมื่อจำเลยมิได้ขออนุญาตแสดงพยานหลักฐานต่อศาลให้เชื่อว่าจำเลยไม่รู้ว่า กฎหมายบัญญัติไว้ตั้งแต่ศาลชั้นต้น ย่อมเป็นปัญหาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง จึงเป็นฎีกาต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2537/2548 

ปัญหาว่าขณะกระทำความผิดจำเลยมีอาการทางจิตหรือไม่เป็นปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อจำเลยไม่ได้ยกเหตุว่ามีอาการทางจิตในขณะกระทำความผิดขึ้นอ้างในศาลชั้น ต้น จึงไม่มีข้อเท็จจริงที่จะนำมาปรับแก่ข้อกฎหมายได้ ทั้งข้อเท็จจริงดังกล่าวมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4904/2548 ผ

ู้ตายและผู้เสียหายทั้งสามถูกกักขังและถูกทำร้ายร่างกายในลักษณะการทรมานอยู่ ในห้องพักที่เกิดเหตุเป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน โดยไม่มีหนทางหลบเลี่ยงให้พ้นจากการถูกทรมานหรือขอความช่วยเหลือจากผู้ใดได้ เห็นได้ว่าผู้เสียหายทั้งสามและผู้ตายต้องตกอยู่ในสภาพถูกบีบคั้นทารุณทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรงติดต่อกันเป็นเวลานาน การที่ผู้ตายตัดสินใจกระโดดจากห้องพักเพื่อฆ่าตัวตายนั้นอาจเป็นเพราะผู้ตาย มีสภาพจิตใจที่เปราะบางกว่าผู้เสียหายอื่น และไม่อาจทนทุกข์ทรมานได้เท่ากับผู้เสียหายอื่นจึงได้ตัดสินใจกระทำเช่นนั้น เพื่อให้พ้นจากการต้องทนทุกข์ทรมาน พฤติการณ์ฟังได้ว่าการตายของผู้ตายมีสาเหตุโดยตรงมาจากการถูกทรมานโดยทารุณ โหดร้าย 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7135/2547

เหตุคดีนี้เกิดเพราะจำเลยเป็นผู้ก่อเหตุขึ้นก่อน และเป็นการสมัครใจทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน มิใช่เป็นภยันอันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย จำเลยจะอ้างว่าการกระทำเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายไม่ได้ การที่ผู้เสียหายถูกจำเลยรัดคอด้วยมือซ้าย ผู้เสียหายจึงดิ้นต่อสู้กอดปล้ำกับจำเลย จำเลยจึงไม่มีโอกาสเลือกแทง แต่แทงไปตามโอกาสที่จะอำนวยและไม่ได้ใช้กำลังแทงรุนแรงนัก ทั้งเมื่อจะแทงอีก ผู้เสียหายปัดมือ จำเลยจึงเปลี่ยนเป็นใช้ด้ามมีดกระแทกศีรษะผู้เสียหายแทน แสดงให้เห็นว่าไม่ต้องการแทงซ้ำ บาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับมีบาดแผลบวมช้ำฉีกขาดกลางศีรษะและบาดแผลฉีกขาด หลังมือซ้ายตัดเอ็นนิ้วนางและนิ้วก้อยขาด ส่วนบาดแผลที่บริเวณหน้าอกด้านขวาระดับซี่โครงที่ 6 ไม่ปรากฏขนาดของบาดแผล ไม่ทะลุเข้าไปในช่องอก แสดงว่าจำเลยไม่ได้แทงอย่างแรง กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย คงมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายเท่านั้น 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4947/2547 

จำเลย ที่ 1 ขับรถยนต์กระบะมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และพวกคนร้ายนั่งอยู่ด้วยไปจอดที่หน้าบ้านเกิดเหตุ คนร้ายส่วนหนึ่งไปเคาะประตูบ้านเกิดเหตุ เรียกให้คนงานเปิดประตูและส่งเงินให้ มิฉะนั้นจะยิง เจ้าพนักงานตำรวจที่ซุ่มอยู่จะเข้าจับกุม คนร้ายดังกล่าววิ่งขึ้นรถยนต์กระบะซึ่งจำเลยที่ 1 ขับย้อนกลับมาพาหลบหนี เจ้าพนักงานตำรวจจึงติดตามจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 กับพวกไว้ได้ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 กับพวกย่อมมีความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์ การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกประสงค์จะปล้นทรัพย์ชาวมอญซึ่งพักอาศัยอยู่ในบ้านเกิดเหตุ และได้ลงมือปล้นทรัพย์โดยสำคัญผิดว่าผู้ที่อยู่ในบ้านเกิดเหตุเป็นชาวมอญ แต่ความจริงเป็น ส. ผู้เสียหาย เช่นนี้ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะยกความสำคัญผิดมาเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้เจตนากระทำต่อ ส. หาได้ไม่ และกรณีไม่ใช่การพยายามกระทำความผิดที่ไม่สามารถบรรจุผลได้อย่างแน่แท้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 522/2546 

หลังจากที่จำเลยกับผู้เสียหายโต้เถียงกันแล้ว ผู้เสียหายกลับไปบ้านพักจำเลยกลัวว่าผู้เสียหายจะไปนำอาวุธปืนมายิงตน จำเลยจึงกลับไปนำเอาอาวุธปืนที่บ้านตน เมื่อกลับมาที่บ้านผู้ตาย จำเลยเห็นบริเวณเอวของผู้เสียหายมีสิ่งของซึ่งเชื่อว่ามีอาวุธปืนพกอยู่ จำเลยจึงยิงผู้เสียหาย 1 นัด กระสุนปืนถูกผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายและถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย เมื่อคำนึงถึงระยะทางและระยะเวลาตลอดทั้งสภาพของตัวจำเลยที่อยู่ในอาการมึน เมา ประกอบกับจำเลยมีอารมณ์โกรธที่ไก่ของจำเลยหลายตัวตายเพราะกินข้าวคลุกยา เบื่อซึ่งจำเลยเชื่อว่าผู้เสียหายเป็นผู้ใช้ข้าวคลุกยาเบื่อให้ไก่ของจำเลย กิน ทำให้จำเลยมีความเครียดและสับสน ทั้งต้องมาโต้เถียงกับผู้เสียหายอย่างรุนแรงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอีก ด้วยสภาวะการณ์เช่นนี้จำเลยไม่สามารถที่จะคิดใคร่ครวญหรือวางแผนในการฆ่าผู้ เสียหาย เพราะการยิงผู้อื่นในลักษณะที่มีผู้คนที่รู้จักคุ้นเคยอยู่ล้อมรอบย่อมเป็น ข้อชี้ชัดว่าจำเลยมิได้คิดทำการให้รอบคอบเพื่อมิให้ตนต้องมีความผิดได้รับ โทษโดยง่าย เชื่อได้ว่าจำเลยมิได้คิดไตร่ตรองไว้ก่อนแต่อย่างใด ปัญหานี้แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นอ้างในฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้น วินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง และมาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 แต่เมื่อจำเลยยิงผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายและผู้ ตายถึงแก่ความตายจำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 288 ประกอบมาตรา 60 อันเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9738/2544 

ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นโจทก์ในคดีได้รับเอกสารที่สูญหายไปจากสำนวนความของศาลคืน มาแล้ว ยังคงเก็บเอกสารดังกล่าวไว้อีก 2 ถึง 3 วัน โดยไม่นำมาส่งคืนศาล การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเช่นนี้มิใช่เป็นเพราะอยู่ในที่บังคับหรือภายใต้ อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ จึงมิใช่กระทำความผิดด้วยความจำเป็นอันจะทำให้ไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 67 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9738/2544 

การกระทำความผิดด้วยความจำเป็นตาม ป.อ. มาตรา 67 แบ่งออกเป็น 2 ประการ ประการแรกเป็นความจำเป็นเพราะอยู่ในที่บังคับซึ่งการบังคับหรือบงการให้ กระทำที่เป็นความผิดนั้นมาจากภายนอก ผู้ถูกบังคับมิได้คิดริเริ่มกระทำการนั้นขึ้นด้วยใจตนเอง แต่เป็นเพราะไม่มีทางที่จะทำอย่างอื่นใด อีกประการหนึ่งก็คือเป็นความจำเป็นซึ่งไม่มีการบังคับหรือบงการให้กระทำแต่ มีภยันตรายที่จะต้องหลีกเลี่ยงและผู้กระทำเลือกหลีกเลี่ยงภยันตรายโดยวิธี กระทำการอันเป็นความผิดด้วยความคิดริเริ่มของตน แม้อาจทำอย่างอื่นได้ แต่การกระทำอย่างอื่นนั้นก็ยังทำความเสียหายแก่ผู้อื่นอยู่นั่นเอง ดังนั้น การกระทำด้วยความจำเป็นตาม ป.อ. มาตรา 67 อันเป็นมูลเหตุแห่งการยกเว้นโทษจึงไม่ใช่สิทธิ แต่เป็นการกระทำที่ไม่ใช่การกระทำโดยผู้กระทำมีจิตใจเป็นอิสระ แต่กระทำโดยถูกผู้อื่นหรือเหตุการณ์อื่นบังคับอีกชั้นหนึ่ง ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาล และการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลก็เป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ เมื่อปรากฏว่าเอกสารที่โจทก์อ้างถึงในคดีสูญหายไปจากสำนวนความของศาล ต่อมาผู้ถูกกล่าวหาได้นำเอกสารเหล่านั้นมามอบคืนศาลชั้นต้น โดยผู้ถูกกล่าวหาเมื่อได้รับเอกสารดังกล่าวคืนมาแล้วยังคงเก็บเอกสารดัง กล่าวไว้อีก 2 ถึง 3 วัน โดยไม่นำมาส่งคืนศาล และการเก็บเอกสารเช่นว่านั้นก็มิได้รับอนุญาตจากศาล การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาหาใช่เป็นเพราะอยู่ในที่บังคับหรือภายใต้อำนาจซึ่ง ไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ การกระทำของผู้กล่าวหาจึงมิใช่กระทำความผิดด้วยความจำเป็นอันจะทำให้ไม่ต้อง รับโทษ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2431/2544 

จำเลย เข้าร่วมทำร้ายผู้ตายกับผู้เสียหายที่ 1 การที่จำเลยกับพวกช่วยกันถีบผู้ตายกับผู้เสียหายที่ 1 ตกจากรถยนต์โดยสารขณะที่รถยนต์นั้นกำลังแล่นด้วยความเร็วประมาณ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าผู้ตายอาจไปกระแทกผู้เสียหายที่ 2 ที่ยืนอยู่ตรงบันไดตกจากรถไปด้วยกันได้และศีรษะกับลำตัวของผู้ตายหรือของผู้ เสียหายทั้งสองอาจกระแทกกับพื้นถนนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังปรากฏว่าผู้ตายมีเลือดออกในผนังหัวใจ ในปอดและกระบังลม เนื้อสมองบวมทั้งสมองอันเกิดจากแรงภายนอกกระทำต่อศีรษะและหน้าอกของผู้ ตายอย่างรุนแรงอันถือได้ว่าเป็นผลธรรมดาจากการกระทำของจำเลยกับพวก การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาฆ่า จำเลยจึงต้องมีความผิดฐานฆ่าผู้ตายและพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสอง 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1125/2538 

จำเลย อุ้มผู้ตายไปจากบ้านย่าของผู้ตายจำเลยพูดจาดีไม่มีสติเลอะเลือนไม่มีอาการ มึนเมาสุรามากแต่อย่างใดหลังจากข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายแล้วจำเลยกลัวว่าจะมี ผู้มาพบศพผู้ตายจำเลยจึงนำศพผู้ตายไปกดให้จมลงติดโคลนใต้ผิวน้ำแสดงว่าจำเลย ยังมีสติและความคิดที่จะเอาตัวรอดอยู่การที่จำเลยสมัครใจดื่มสุราเองและขณะ กระทำความผิดแม้จะมีความมึนเมาสุราแต่ก็ยังมีสติดังนี้จำเลยจะอ้างว่ากระทำ ความผิดเพราะขาดสติสัมปชัญญะและไม่รู้ตัวไม่ได้ การกระทำความผิดครั้งแรกมิใช่เหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7370/2538 

โจทก์ครอบครองเพิงไม้ที่ปลูกอยู่ติดกับข้างอาคารพาณิชย์ที่จำเลยที่ 1 เช่าจากเทศบาลตำบลปากช่อง ซึ่งเทศบาลตำบลปากช่องแจ้งให้ภริยาโจทก์รื้อถอนเพิงไม้ดังกล่าว แต่ภริยาโจทก์อ้างว่าไม่ได้เป็นเจ้าของเพิงไม้นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบล ปากช่องจึงสั่งให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนเพิงไม้ จำเลยที่ 1 เชื่อว่าคำสั่งนั้นเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม ดังนั้นแม้การที่จำเลยที่ 1 กับพวกรื้อถอนเพิงไม้จะเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ.มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362 ก็ตาม จำเลยที่ 1 ก็ย่อมได้รับยกเว้นโทษตาม ป.อ. มาตรา 70 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6344/2531 

นายอำเภอขอความร่วมมือจากประชาชนให้ร่วมกันพัฒนาบริเวณที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ได้ฟันตัดไม้ของโจทก์ในบริเวณนั้นโดยรู้อยู่แล้วว่า เป็นของโจทก์ทั้งจำเลยที่ 2 เคยตัดฟันต้นไม้ของโจทก์มาก่อนจนถูกฟ้องมาแล้วครั้งหนึ่ง แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาทำให้ทรัพย์ของโจทก์เสียหาย การที่นายอำเภอขอความร่วมมือดังกล่าวเป็นแต่เพียงคำแนะนำจำเลยที่ 2 จะกระทำหรือไม่กระทำตามก็ได้มิได้มีลักษณะเป็นคำสั่งตามความหมายของประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 70อันจะทำให้จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับโทษ การกระทำของจำเลยที่ 2จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 570/2499 

โจทก์ ฟ้องขอให้ลงโทษและเพิ่มโทษ ก.ม.อาญา ม.73 แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าจะต้องเพิ่มโทษจำเลยตาม ม.72 ศาลก็เพิ่มโทษจำเลยตาม ม.72 ได้ไม่เป็นการเกินคำขอ